แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการพูดกันครั้งที่ ๕ นี้ ผมอยากจะพูดในลักษณะที่แนะให้สังเกตหลักการ หรือกฎเกณฑ์ วิธีการในการเผยแผ่ธรรมะตามที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้ จะเรียกว่าคำแนะนำหรือคำสั่งก็ได้ทั้งนั้น นั่นคือบทที่เรากำลังสวดกันอยู่ตอนเช้าแทบทุกวัน แต่มันเป็นบทสวดที่กลับกันคือเอามาสรรเสริญคุณของพระองค์ แต่มีข้อความเหมือนกันกับข้อความที่พระองค์ตรัสเมื่อส่งภิกษุ ๖๐ รูป ออกไปประกาศพระศาสนา ส่วนที่เป็นหลักการสำคัญนั้นคือคำที่ตรัสว่า จงแสดงธรรมไพเราะเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย จงประกาศพรหมจรรย์ให้มีอรรถ มีพยัญชนะบริสุทธิ์สิ้นเชิง (นาทีที่ 2.09) ธัมมัง เทเสสิ อาทิกัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปะริโยสานะกัลยาณัง นี่เครื่องแสดงธรรม ไพเราะเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย (นาทีที่ 2.24 สาตถัง สะพยัญชะนัง เกวะละปะริปุณณัง ปะริสุทธัง พรหมะจะริยัง ปะกาเสสิ จึงประกาศพรหมจรรย์ มีอรรถ มีพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง แยกตัวออกไปสำหรับศึกษา ผู้ที่รู้บาลีอยู่บ้างแล้วมันก็ไม่ยาก แต่อย่างไรก็ดีคำศัพท์นี้มีความหมายอย่างไรแน่ เป็นที่ถกเถียงกันมากในหมู่นักศึกษา หรือแม้แต่พระอรรถกถาจารย์ ตีความไว้หลายแง่หลายมุม เพราะมันเป็นคำอธิบายรุ่นหลัง ตั้งพันปี เป็นคำแรกที่ตรัสไว้นั้นมีอยู่อย่างนั้น ในส่วนแสดงธรรมตรัสว่า แสดงธรรมไพเราะเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ในส่วนประกาศพรหมจรรย์ทรงกำหนดว่า ให้ประกาศพรหมจรรย์ให้มี สาตถัง คือมีอรรถ สะพยัญชะนัง มีพยัญชนะ (นาทีที่ 3.58)เกวะละปะริสุทธัง ปะริปุณณัง เกวะละปะริสุทธัง (เกวะละปะริปุณณัง ปะริสุทธัง) นี่บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง นี่ควรจะเข้าใจอย่างยิ่ง และเชื่อว่าถ้าเข้าใจได้แล้วก็จะต้องทำได้ดี ทำงานได้ดี สำเร็จตามที่ทรงประสงค์ ฉะนั้นเราจะพิจารณากันทีละตอน สองตอนนี้จะพิจารณากันทีละตอน
แสดงธรรมไพเราะเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย มันก็มีปัญหาตรงที่ว่าอะไรเบื้องต้น อะไรท่ามกลาง อะไรเบื้องปลาย อรรถกถาก็พูดไว้หลายรูปแบบอย่างเอาเปรียบ อันไหนก็ได้ แล้วที่เราก็ชอบอธิบายกันให้มันเผื่อไว้มาก ๆ เช่น เบื้องต้นว่าก็ว่า ปริยัติ ท่ามกลางว่า ปฏิบัติ เบื้องปลายว่า ปฏิเวธ ทีนี้บางคนก็ว่า เบื้องต้น ศีล ท่ามกลาง สมาธิ เบื้องปลาย ปัญญา เรียกว่าเป็นเรื่องโลกนี้ โลกหน้า หรือเหนือโลก มันก็ล้วนแต่สามสถานทั้งนั้น แล้วก็ไม่ได้มีจำกัดชัดเจนไว้ที่ตรงไหน เราก็ต้องคิดเอาเอง อธิบายเอาเอง วางหลักเอาเอง ให้มันเข้ารูปไอ้กฎเกณฑ์อันนั้นก็แล้วกัน ดังนั้นอย่าลืมว่าจะต้องนึกถึง เบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย บางทีเราจะต้องมีไว้หลาย ๆ ชุด ไว้ใช้กับผู้ฟังชนิดนี้ ผู้ฟังชนิดนี้ ผู้ฟังชนิดนี้ แล้วก็กำหนดเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลายให้เหมาะกับผู้ฟังแต่ละชนิด แต่ละชนิด สมมติว่าเราจะพูดกับชาวนา ก็ต้องมีเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ชุดหนึ่ง จะพูดกับข้าราชการก็ต้องมีชุดหนึ่ง พูดด้วยนักศึกษาก็อีกชุดหนึ่ง พูดด้วยชั้นครูบาอาจารย์มันก็ต้องพูดอีกชุดหนึ่ง ฉะนั้นเตรียมไว้หลาย ๆ ชุด
ผมรู้สึกว่าที่มันจะใช้ได้มาก ใช้ได้ในขอบเขตที่กว้างหรือเกือบทุกอย่างก็คือ เรื่องไม่ทำบาป ทำกุศลให้ถึงพร้อม แล้วทำจิตให้บริสุทธิ์ นี่สามชั้นนี้ จะใช้ได้แก่คนทุกพวก ที่จริงคนในโลกจำนวนมากเขาไม่ค่อยจะสนใจเรื่องเหนือโลก เรื่องโลกุตตระ เรื่องเหนือโลก เรื่องนิพพาน ไม่ค่อยจะสนใจ เขาสนใจแต่เรื่องที่นี่ ที่รู้สึก เกี่ยวข้องกันอยู่ ถ้าจะพูดถึงเรื่องโลกุตตระ เรื่องนิพพานแล้วก็คงจะลำบากแหละ คือพูดไม่ได้แก่คนทุกพวก คนทุกพวกฟังไม่เข้าใจ หรือว่าไม่อยากจะสนใจ ดังนั้นก็ต้องปรับปรุงเอาเองว่า ไอ้คำว่าทำจิตให้บริสุทธิ์นั้นเป็นอย่างไร ชั้นแรกว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง ไม่ทำความชั่วทุกอย่าง กุสะลัสสูปะสัมปะทา ทำกุศลให้ถึงพร้อม สะจิตตะปะริโยทะปะนัง ชำระจิตให้ผุดผ่อง ขาวรอบ จะพูดเรื่องไม่ทำบาปทั้งปวงให้น่าฟัง ให้ชวนฟัง ให้ฟังแล้วจับใจ จะพูดอย่างไร เพราะไอ้เรื่องบาปนี้มันเป็นเรื่องไม่น่าฟัง การแสดงบาปหรือผลของบาปให้ฟัง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มันเป็นอุบายหยาบ ชั้นต่ำชั้นเลว ใช้กับม้าชั้นเลว เมื่อตรัสกับนายเกสี ผู้ฝึกม้า มาสนทนากันเรื่องการฝึกม้า จะมีอุบายอย่างไร ต่างฝ่ายต่างก็มีอุบายชั้นหยาบ ชั้นกลาง ชั้นละเอียด ถึงทีนายเกสีเขาก็บอก ชั้นหยาบก็คือตีมันตรงนั้น คือไอ้ใช้กำลังบังคับ หักโหม ตี อุบายชั้นกลางก็คือ ปลอบโยน เอาอกเอาใจ อุบายชั้นละเอียด นี้ก็แสดงความเมตตาปราณีกันไปตามเรื่อง ถึงทีพระพุทธเจ้าตรัสอุบายชั้นหยาบก็คือ แสดงบาป แสดงนรก อุบายชั้นกลางก็แสดงสวรรค์ บุญ สวรรค์ อุบายชั้นละเอียดก็เรื่องหลุดพ้น เราจะต้องแสดงแม้อุบายชั้นหยาบ น่าเกลียด น่าชัง น่ากลัว นั้นให้ไพเราะได้อย่างไร คือหมายความว่าให้มันชวนฟัง ให้สำเร็จประโยชน์ในการที่จะให้เขาทำตาม
เกิดคำพูดขึ้นมาในหมู่นักสังเกตว่า เอานรกมาขู่ เอาสวรรค์มาล่อ ผมได้ยินคำพูดอย่างนี้ของคนหลาย ๆ คน รวมทั้งคนที่เขาไม่อยากจะเชื่อ ไม่อยากจะนับถือธรรมะด้วยซ้ำไป หาว่าพุทธศาสนานี้ยังมีวิธีการ คือเอานรกมาขู่ เอาสวรรค์มาล่อ ถ้าเป็นเรื่องขู่กันมันก็ไม่น่าฟัง มันก็ไม่อยากจะรับ(นาทีที่11.12 ด้วยซ้ำ) มันต้องพูดชนิดที่ให้เห็นว่า มันน่ารังเกียจ ขึ้นชื่อว่าบาป อกุศลแล้วมันก็น่ารังเกียจ อย่างมีคำเปรียบเทียบไว้ว่า อุจจาระแม้แต่นิดหนึ่งก็เหม็น น่ารังเกียจ ชื่อว่าติดอะไรมานิดหนึ่ง มองไม่ค่อยจะเห็น มันก็ยังเหม็น นี่ขึ้นชื่อว่าบาป ว่าอกุศล เราพูดกับเขาอย่างเป็นเพื่อน คำว่า กัลยาณัง มันเป็นคำกลางมาก ถ้าว่าทางเสียงก็คือไพเราะ ถ้าทางรสก็อร่อย ทางกลิ่นก็หอมแหละ คำว่ากัลยาณังคำนี้คงจะพบหลายความหมาย คือมันจะใช้ได้กับไอ้ทุกความหมายของการสัมผัส ทางตาก็สวย เห็นทางตา กัลยาณังก็คือสวย ทางหูก็ไพเราะ ทางจมูกก็หอม ทางลิ้นก็อร่อย ทางผิวหนังก็คือนิ่มนวล กัลยาณัง แม้แต่เรื่องเบื้องต้น ให้เกลียดบาป ให้กลัวบาป มี หิริ โอตตัปปะ เรื่องเบื้องต้นที่สุด ก็ยังต้องพูดให้มันน่าฟัง ในคำพูดที่น่าฟังนี่ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย จะเป็นเรื่องทางศาสนา หรือไม่ใช่ศาสนา เป็นเรื่องนอกออกไปอะไร เขาก็นิยมการพูดจาที่น่าฟัง
ไอ้เรื่องลูกเศรษฐีสี่คน ขอเนื้อจากนายพราน ผมเข้าใจว่าทุกองค์คงจะได้ยินได้ฟังมาแล้ว แต่ว่าอาจจะไม่ได้เคยฟังบางองค์ หรือว่าไม่เคยคิดความหมาย ลูกเศรษฐีสี่คน เขาออกไปเที่ยวนอกเมือง เห็นนายพรานบรรทุกเนื้อมาเต็มเกวียนจากป่า ไอ้ลูกเศรษฐีเหล่านี้เขาก็ท้าทายกันว่าใครจะมีวาทะดีขอเนื้อจากนายพรานได้มากกว่ากัน ก็ไปดักเกวียน ไอ้ลูกเศรษฐีคนโตมันว่า เฮ้ย,พรานให้เนื้อกูบ้าง ถ้าเขายอมรับสถาบันอันนั้นมันก็เป็นคำที่น่าฟังอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ประชาชนเขาไม่ยอมรับ มันก็ฟังเป็นของดูถูก ดูหมิ่น และน่าเกลียดน่าชัง ไอ้คนนั้นมันคงจะโง่มาก มันชะล่าใจว่าเรามันลูกเศรษฐี คำพูดอย่างนั้นมันก็พอดีแล้ว นายพรานเขาว่า คำพูดนี้เหมือนกับพังผืด ดังนั้นเราให้พังผืดแก่เธอ ตัดเนื้อที่เต็มไปด้วยพังผืดให้ ไอ้ลูกเศรษฐีคนที่สองเขาใช้คำว่า พี่ พี่พราน พี่ให้เนื้อแก่ฉันบ้าง นายพรานเขาก็รู้สึกดี รู้สึกไปในทางเป็นพี่เป็นน้อง ก็เหมือนกับเนื้อ เหมือนกับเนื้อล่ำ ๆ ความหมายมันเหมือนกับเนื้อล่ำ ๆ เขาก็ตัดไอ้เนื้อล่ำ ๆ ให้ไป กล้ามเนื้อดี ๆ ให้ไป คนที่สามเขาว่า พ่อ เรียกนายพรานว่า พ่อ พ่อพรานให้เนื้อฉันบ้าง นายพรานเขาว่า ไอ้คำว่าพ่อนี่มันดูดดื่มถึงขั้วหัวใจเมื่อได้ยิน เมื่อได้ยินเขาเรียกเราว่าพ่อ มันดูดดื่มถึงจิตใจ ถึงขั้วหัวใจ เขาก็เลยตัดหัวใจ เนื้อในเกวียนให้ไป ให้พวงหัวใจ ไอ้คนสุดท้าย ตามเรื่องราวว่าเป็นโพธิสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์ เขาก็ว่าเพื่อน สหายเอ๋ยให้เนื้อเราบ้าง นี่ใช้คำว่า เพื่อน นายพรานเขาถือว่าคำว่าเพื่อนนั้นมีความหมายครอบโลกครอบจักรวาล ทุกคนเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายกันทั้งนั้น ก็มีความหมายครอบโลก ก็เลยให้เนื้อหมดทั้งเกวียน รวมทั้งให้ตัวเองเป็นทาสใช้สอยด้วย นี่มันคงจะมุ่งหมายให้เราสังเกตเรื่องความหมาย ความหมายแห่งถ้อยคำ ว่าความไพเราะมันอยู่ที่ตรงไหน พูดอย่างหยาบคาย เมื่อมันมีไพเราะกันได้แต่ในพวกที่ยอมรับ แต่ที่จริงแม้แต่พวกทาส พวกไอ้บ่าวไพร่มันก็ไม่อยาก ไม่อยากจะฟัง ไม่อยากจะยอมรับ แต่สถานการณ์ทำให้ยอมรับ พูดว่าพี่ชายน้องชาย มันก็เป็นกันเอง พอพูดว่าพ่อ มันก็ยอดสุดที่รัก ความไพเราะเป็นชั้น ๆ อย่างนี้ พอพูดว่าเพื่อน มันก็แผ่ซ่านรอบโลกทั่วโลก รู้ว่ามันมีความไพเราะหลายชั้น หลายระดับ ก็ใช้ให้ถูกแก่เรื่อง แล้วมันจะต้องพูดให้มีความหมายไปในทางเป็นเพื่อนกันแหละ ผมคิดว่าอย่างนั้น คำพูดของเราที่แสดงออกไปในการเผยแผ่กับเขานั่น ขอให้มันมีความไพเราะไปในทางที่ว่ามันเป็นเพื่อน เพราะมันก็มีหลักอยู่แล้วว่าเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น คำพูดที่พูดออกไปมันเป็นคำพูดของเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น มันจะจับใจผู้ฟัง จับเอาขั้วหัวใจ จิตใจอะไรไปทั้งหมด ลึกซึ้งถึงส่วนลึก มันก็จะได้ผล
เดี๋ยวนี้เราก็ดูจะทำหวัด ๆ กันทั้งนั้น พูดตามสบายเสียมากกว่า แล้วมักจะพูดยกตัวเองในลักษณะที่ว่าผู้ฟังเป็นคนโง่ ผู้พูดเป็นคนฉลาด ฉะนั้นอะไรมันจะเกิดขึ้นคุณลองคิดดู ที่เราพูดออกไปมันแสดงถึงความรู้สึกในจิตใจ หรือบางทีมันก็พูดชนิดที่ไม่มีอะไรที่ผูกพันเกื้อกูลกัน พูดไปตามเนื้อผ้า ก็ใช้คำโวหารเรียกว่าเนื้อผ้า พูดไปตามเนื้อผ้า ตามธรรมเนียม หรือบางทีก็อ่านใบลาน อ่านหนังสือตามที่มีอยู่ในใบลานนี่มันลำบากแหละ มันจะไม่ได้ผลในชนิดที่ว่าดึงดูดจิตใจในฐานะเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ในไอ้คำนำบท อารัมภกถา ของไอ้หนังสือมิลินทปัญหา เขาเขียนไว้ดีมาก ว่าเมื่อภิกษุขึ้นธรรมาสน์จะแสดงธรรม แล้วจะก้าวขาขึ้นไปบนธรรมาสน์จะแสดงธรรม ให้ทำจิตใจอย่างไร เพราะโดยปกติยิ่งถ้าเป็นครั้งแรกแล้ว พระนั้นสั่นเทิ้มไปหมด ขึ้นไปนั่งแล้วพูดไม่ออก นี่มันคือไม่มีเทคนิค ถึงแนะให้ทำในใจให้มันถูกต้องมีอยู่หลาย ๆ ๆ ข้อ ถ้าเกี่ยวกับความรัก ก็ให้ถือผู้ฟังเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นพี่ เป็นน้า เป็นป้า เป็นอา เป็นลูก เป็นหลาน เหลนของเรา เราทำในใจอย่างนี้สิมันก็ไม่ ไม่เกิดความกลัว
ทีนี้พอพูดถึงความรู้ ก็ทำตัวเองเหมือนกับราชสีห์ จะพูดให้ผู้ฟังซึ่งเป็นเสมือนเนื้อ เนื้อในป่า มันก็อยู่ใต้อำนาจของราชสีห์ทั้งนั้น ดังนั้นราชสีห์จะต้องไปกลัวอะไรกับเนื้อในป่าทั้งหลาย นี่ทำตัวเหมือนกับราชสีห์ และยังมีอะไรอีกสองสามข้อดี ๆ ทั้งนั้น แบ่งเป็นมุม ๆ แง่ ๆ ไป นี่มันจะไม่กลัว จะไม่ประหม่า จะไม่สะท้าน มิฉะนั้นมันจะกลัว จะประหม่า จะสะท้านในใจ จะสูญเสียสมาธิ อะไรก็นึกไม่ออก แม้ว่าเราจะทำในใจว่าทั้งหมดนี้เป็นเพื่อนของเราก็ยังจะได้ ก็ดูเขาเขียนไว้ในลักษณะที่รุนแรง เป็นญาติของเรา เขาก็จะไม่ตำหนิติเตียนเราแม้เราจะพูดผิดไปบ้าง เขาก็จะช่วยป้องกันด้วยซ้ำไป แล้วก็เรามีความรู้มากกว่าเขา ในเรื่องของความรู้เรามีอยู่เหนือเขา ฉะนั้นเราเป็นราชสีห์เขาก็เป็นสัตว์ธรรมดา ไอ้ความกลัวมันก็หายไป สำรวมจิตใจให้ได้อย่างนี้แล้วก็ว่าไป การทำจิตใจให้เป็นปกติให้เกลี้ยงให้อะไรเสียก่อนนั้นเป็นเคล็ดที่สำคัญมาก เขาใช้กันทั้งโลก ถึงผมเองก็ถือหลักอย่างนั้น ก่อนแต่จะพูดไอ้คำแรกอะไรออกไปมันมีจิตใจที่เกลี้ยง ที่เป็นอิสระ เหมือนกับเครื่องจักร พูดไป มันก็ไม่ต้องติดขัดอะไร ผมเห็นพระญี่ปุ่นเขามาแสดงปาฐกถาที่กรุงเทพที่สามัคยาจารย์ ผมไปฟังพอเขาออกมาจากข้าง ๆ ข้าง ๆ ซึ่งเป็นม่านกั้นไว้ ยืนตรงหน้าเวทีเขามายืน ยืนเอามือไขว้กัน ห้อยอยู่ หลับตา มันนานเกินไป ไม่อยากจะพูด ว่านี่มันเป็นยังไง นี่มันบ้าหรือดี มันนานเกินไป แล้วมันจึงพูดออกมาอย่างฉาดฉาน นี่เขาทำจิตเหนือ เหนือผู้ฟังก่อนเสมอจึงจะพูดออกไป เมื่อพูดแก่ชนชาวบ้านชั้นต่ำ ๆ ก็ไม่ควรจะประหม่า แต่ว่าสำหรับบางคนมันก็ช่วยไม่ได้ มันก็ประหม่าไปทั้งนั้นแหละ ก็ต้องหาวิธี ไม่ต้องประหม่า ต้องแน่ใจในเรื่องที่จะพูด ฉะนั้นเราต้องแน่ใจแจ่มแจ้งในเรื่องที่จะพูด มันก็จะไปได้ในบทตอนที่สอง ที่ว่า ปริสุท ปะริปุณณัง ปะริสุทธัง พรัหมะจะริยัง คือ ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง คือในความรู้มันพอ ความรู้มันเพียงพอ มันทำให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิงได้ ดังนั้นเราต้องเตรียมไอ้เรื่องที่เรามันแจ่มแจ้ง แตกฉานไปพูด ก็จะพูดได้สบาย คล่องใจ มันก็มีความไพเราะได้ทั้ง เบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย
ในเบื้องต้น ไม่ทำบาป นี่มันก็จะพูดกันได้ไม่ยาก และทำบุญนี่ก็ยังไม่ยากเท่าไร แต่พอเรื่องทำจิตให้บริสุทธิ์นี่ มันจะยาก มันจะมืดมัว มันจะสลัวไปหมดไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ในเมื่อตัวเองก็ไม่เคยทำจิตให้บริสุทธิ์ได้ ไม่รู้ว่าจิตบริสุทธิ์นั้นเป็นอย่างไร ถ้าขยายความหมายนั้นขึ้นไปถึงเรื่องของนิพพานด้วยแล้ว คงจะลำบากมากเลยพูดไม่ถูก พูดให้ไพเราะไม่ได้ มันพูดไปไม่ได้ก็มีแต่ตะกุกตะกักแล้วก็มี แล้วมันจะผิดเลย พูดผิดไปเลย พูดผิด ๆ ไปเลย ดังนั้นขอให้ระวังให้ดีว่า เมื่อจะต้องการให้มันไพเราะทั้งเบื้องต้น ทั้งท่ามกลาง ทั้งเบื้องปลายแล้วก็ เลือกเอาแต่เรื่องที่รู้แจ่มแจ้ง ถนัดชัดเจนมา ก็มาแยกดูว่าเบื้องต้นจะพูดเรื่องอะไร เบื้องกลาง เบื้องปลายจะพูดเรื่องอะไร และแม้ที่สุดแต่ว่าเราจะตัดแบ่งตามความสะดวกของเรา ว่าพูดเรื่องเดียวกันนี้ เช่น พูดเรื่องไม่ทำบาป ไม่ทำชั่ว เรื่องเดียวนี้ เราจะแบ่งเป็นสามตอน ตอนต้น ตอนกลาง ตอนปลาย ก็ยังได้ จะต้องพูดให้ถูกต้องและไพเราะ พูดเรื่องทำกุศลให้ถึงพร้อมนี่ก็แบ่งเป็นสามตอน ตอนต้น ตอนกลาง ตอนปลาย ของการพูดจะพูดด้วยเรื่องอะไร ตอนสุดท้ายนี่เป็นเรื่องยากก็ต้องแบ่งเป็นสามตอนก็ได้ ถ้าว่าเราไม่พูดทีเดียวทั้งสามเรื่องนะ นี่พูดธรรมะเพียงข้อเดียว แล้วก็แบ่งเป็นสามตอนก็จะทำได้ง่าย มากกว่าพูดทีเดียวสามเรื่อง โดยเอาเรื่องกรรมมาก่อน เรื่องถนัดกลางมาทีหลัง เรื่องสูงสุดมาเป็นอันสุดท้ายก็ได้ ถ้าคิดว่าเราเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งนั้นเราต้องเคยศึกษามาก่อน เราก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนั้นมาก่อนแล้ว ทุกแง่ทุกมุมของเรื่องที่เราจะพูด
ถ้าถือตามหลักที่หาพบได้ในพระบาลี ในพระพุทธภาษิต จะพบว่าท่านนิยมแสดงว่า มันเรียกว่าอะไร มันเรียกว่าอะไร มันมีลักษณะอย่างไร มันมีแบ่งได้กี่ประเภท กี่อย่าง แล้วมันมีอุปมาอย่างไร แล้วมันมีสมุฏฐาน เหตุปัจจัยให้ในเกิดอย่างไร แล้วมันจะดับลงไปในลักษณะอย่างไร ประโยชน์ของมันอย่างไร และถ้าว่าฉลาดพูดนะ จะพูดได้ถึงกับว่าไอ้เรื่องนี้ มันยั่วยวนอย่างไร ยวนใจอย่างไร เขาเรียกว่า อัสสาทะ แล้วก็จะพูดได้ด้วยว่าเรื่องนี้มันมีความเลวร้ายอย่างไร ยกตัวอย่างเช่นพูดเรื่องเงิน เงินมี อัสสาทะ ยั่วยวนมาก เสน่ห์มาก แล้วเงินก็มี อาทีนวะ คือความเลวทรามมากอย่างนั้น ๆ มันทุกเรื่อง มันก็จะพูดให้มีทั้ง อัสสาทะ ทั้ง อาทีนวะ แม้แต่อุจจาระ ถ้าพูดเป็น มันก็พูดได้ทั้งมี อัสสาทะ และมี อาทีนวะ แล้วก็พูดถึง อาทีนวะ นี่มันเลื่อนขึ้นไปถึงไอ้ระดับที่จะต่อสู้กันแล้ว คือไอ้ใน อนุปุพพิกถา ทาน ศีล สวรรค์ และ อาทีนวะ อาทีนพ นั่นแหละ มันแสดงความร้ายของสิ่งนั้นแล้ว แล้วจึงแสดงทางออกมาเสีย คือ เนกขัมมะ เพราะถ้าแสดงไปถึงอาทีนวะ ก็คือโทษอันตรายรอบด้าน ก็ต้องแสดงทางออก เรื่องสุดท้าย เรียกว่า นิสสรณะ จะไปจบลงที่ นิสสรณะ คือทางออกจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากสิ่งนั้น ๆ เสมอไป อย่างนี้คือสมบูรณ์ที่สุดแหละ ถ้าจะพูดกันให้สมบูรณ์ที่สุดมันก็มีอย่างนี้ ถ้าเมื่อไรมันแตกฉานในหัวข้อเหล่านี้แล้วก็พูดให้ไพเราะได้โดยไม่ยาก มันคืออะไร มันมีลักษณะอย่างไร มันควรจะเปรียบเทียบด้วยอุปมาอย่างไร มันมีกี่ชั้น กี่ประเภท กี่ขนาด มันเกิดขึ้นอย่างไร มันจะดับลงไปอย่างไร ประโยชน์สูงสุดที่จะได้รับ ให้จากมันมีอย่างไร แสดงทั้งในฝ่ายที่มันน่ารัก น่าพอใจ แสดงทั้งในฝ่ายที่มันน่าเกลียด น่าชัง มันไปหาเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้นเรื่อง อาทีนวะ แล้วก็แสดงหนทางออก อย่าไปหลงรักมัน อย่าไปเป็นทาสมัน บ่าวมัน นี่คือความไพเราะ ไพเราะตามทางธรรมะ คือเป็นเรื่องที่ช่วยให้สบายใจ นี่ชื่นอกชื่นใจก็เป็นความไพเราะได้เอง
จำหัวข้อเหล่านี้ไว้บ้าง มันเหมือนกับหลักทางตรรกวิทยา มันคืออะไร มันมีลักษณะอย่างไร มันมีธรรมชาติอย่างไร มันมีอยู่ในโลกนี้ ในตำแหน่งไหน มันมีกี่อย่าง มันมีกี่ชั้น กี่ประเภท อันไหนจะเปรียบเทียบหรืออุปมาได้ว่าอย่างไร ในผลประโยชน์ของมันอย่างไร ในความน่าอันตรายของมันอย่างไร สรุปท้ายว่าเราจะเอาชนะมันได้อย่างไร นี่เขาเรียก นิสสรณะ อย่างเราจะพูดเรื่องความสุข เอาความสุขขึ้นมาเป็นเรื่องสำหรับพูด ขอให้ดูเถอะสุขนี้มันมีชื่ออย่างไร มันโดยตัวหนังสือว่าอย่างไร โดยอรรถว่าอย่างไร มันมีลักษณะอย่างไร ควรจะเปรียบเทียบกับอะไร มูลเหตุคืออะไร ความสิ้นสุดคืออะไร เสน่ห์ของมันคืออะไร ความเลวร้ายของมันคืออะไร เดี๋ยวจะพูดไม่เป็น ไอ้ความสุขนี่ใคร ๆ ก็ต้องการ แล้วมาพูดให้เห็นว่าไอ้ความที่น่ารักมันก็มีอยู่ แต่ไอ้ความที่อันตรายเลวร้ายของมันก็มีอยู่ ฉะนั้นเราจะเอาชนะความสุขให้ได้ โดยที่ไม่ให้ความสุขนั้นทำอันตรายแก่เรา ให้เป็นเพียงเครื่องอำนวยความสะดวกสบายก็ได้ ก็เรียกว่าถูกที่สุดนั้นก็ว่าเรื่องนี้ ผมคิดว่าอย่างนี้คือการแสดงที่ไพเราะบริสุทธิ์บริบูรณ์ ไพเราะทั้งท่ามกลาง ทั้งเบื้องปลาย ไพเราะเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ไม่ขาดตกบกพร่องในสิ่งที่ควรจะแสดง
ทีนี้ก็ดูเอาเองว่าไอ้คำว่าจะแสดงธรรม แสดงธรรมกับคำว่าประกาศพรหมจรรย์มันคำเดียวกันหรือเปล่า ที่จริงมันก็แทนกัน เป็นคำที่ใช้แทนกันได้ เพราะการประกาศพรหมจรรย์ มันก็ประกาศด้วยการแสดงธรรม คำว่าแสดงธรรมก็ไม่ควรจะพูดแต่เพียงว่าแสดงด้วยปาก มันแสดงด้วยท่าทางก็ได้ แสดงด้วยการกระทำก็ได้ เป็นการทำตัวอย่างให้ดูก็ได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องพูดด้วยปากไปเสียทั้งหมด ดังนั้นการที่ทำให้เขารู้ ให้เขาเข้าใจ และให้เขาประพฤติถูกต้อง ได้รับผลดีมีความสุขแท้จริงนั้นคือประกาศพรหมจรรย์ ความหมายของเรื่องคือประกาศพรหมจรรย์ การแสดงธรรมนั้นเป็นอุปกรณ์ หรือวิธีการของการประกาศพรหมจรรย์เท่านั้นเอง แต่เราก็เห็นในพระพุทธดำรัสตามบาลีนั้น ท่านตรัสถึงให้แสดงธรรมไพเราะเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลายก่อน ให้ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถ พยัญชนะก่อน ด้วยตามมา ทีนี้คำว่า บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง นี่คงจะไม่เข้าใจยากนัก บริสุทธิ์คือมันถูกต้อง บริบูรณ์คือมันครบถ้วน ไม่ขาดส่วนที่ควรจะแสดง บริสุทธิ์นั้นมันถูกต้อง หมายความว่าคนนั้นมันรู้จริง มันก็พูดถูกต้อง ถ้าพูดผิด ไอ้คำพูดคำแสดงนั้นไม่บริสุทธิ์แล้ว ผิดเสียแล้ว ฉะนั้นอย่าพูดให้ผิดก็คือ บริสุทธิ์ พูดให้ครบก็คือบริบูรณ์ แล้วก็มีคำว่าสิ้นเชิง ๆ ทั้งหมดบริสุทธิ์ บริสุทธิ์ทั้งหมด บริบูรณ์ก็บริบูรณ์ทั้งหมดถึงที่สุด ใช้คำว่า เกวะลัง เกวะละ แปลว่า ทั้งหมด คำนี้แปลว่า ทั้งหมด ไม่ยกเว้นอะไร ไม่แบ่งแยกอะไรไว้ บริสุทธิ์บริบูรณ์ทั้งหมด ก็แปลว่าเรื่องที่เราแสดงออกไปนั้นมันถูกต้อง ไม่มีข้อผิดพลาด แล้วก็ครบถ้วนทุกแง่มุมที่ควรนำมาแสดง
ดังนั้นผู้ที่ไม่ประมาทก็ต้องนึกคิดรอบคอบว่าจะแสดงอะไรจึงจะครบ จะเรียกว่าครบ ไม่เสียเหลี่ยมธรรมกถึก ไอ้เรื่องนี้ลำบากเพราะมันอาจจะนึกไม่ออก ฉะนั้นเพื่อให้ช่วยได้ก็ต้องจดหัวข้อไปสิ ให้เขียนเป็นเค้าโครง เค้าโครงเป็นเหมือนกับรูปต้นไม้ มีกิ่งมีก้านอะไรนั่น แล้วก็เอาไปช่วยความจำอยู่ตรงหน้า พูดอันนั้นแล้ว พูดอันนั้นแล้ว พูดอันนั้นแล้ว พูดอันนั้น อันนั้นพูดอย่างนั้น ๆ อย่างนี้มันช่วยให้พูดได้สมบูรณ์แบบ ไม่อย่างนั้นมันลืม แม้ว่าเรารู้นี่ เรารู้อยู่นี่มันนึกไม่ออกมันลืม เพราะว่าพอสมองมันเหนื่อยเข้า พอพูดไปสักพักหนึ่งสมองมันเหนื่อยเข้าแล้วมันก็จะลืม ไปลืมสิ่งเราเคยจำได้ นี่เป็นของธรรมดา ดังนั้นเพื่อไม่ให้ลืมได้ เราก็เขียนใส่กระดาษโน้ตไปวางไว้ตรงหน้า เขาก็ทำกันอย่างนี้ทั้งนั้น อย่างน้อย ที่ไม่สามารถก็เขียนไปอ่านเลย นั้นมันก็ปลอดภัยไปอย่าง แต่ถ้าว่าเราจะทำอย่างไอ้นักธรรมกถึกนี้ก็ไม่ต้องเขียนไปอ่านเลย ทำหัวข้อไปแล้วก็พูดให้ครบ ทำหัวข้อ
ทีนี้ก็เหลือคำอยู่สองคำที่ผมเข้าใจว่าทุกคนไม่ค่อยรู้ ถึงผมก็ไม่ค่อยรู้เหมือนกันแหละว่า สาตถัง มีอรรถ สะพยัญชะนัง มีพยัญชนะ หมายความว่าอะไร เท่าที่สังเกตมาเรื่อย ๆ หลายสิบปีมานี้ เดี๋ยวนี้ประมวลใจความสำคัญได้ว่า ประกอบด้วยเนื้อความพิสดาร และหัวข้อย่อสำหรับจดจำ เนื้อความพิสดารมีอย่างไรเรียกว่า อรรถ หัวข้อสองสามคำ สองสามพยางค์สำหรับจดจำนี่เรียกว่า พยัญชนะ เพราะมันจะเป็นคำพูดเพียงไม่กี่คำ คือเราไปเห็นได้ในรูปแบบของคัมภีร์ในประเทศอินเดีย โดยเฉพาะในฝ่ายพระเวท ที่มันมีมากมายมหาศาล คัมภีร์พระเวทมีมากมายมหาศาลเป็นพวก ๆ เป็นเรื่อง ๆ คือจะแต่งในรูปที่มันมีหัวข้อ แล้วก็มีคำอธิบาย ไอ้หัวข้อนั้นบางทีสองพยางค์ สามพยางค์ แล้วก็อ่านไม่ค่อยรู้ ฟังไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก มันเป็นย่อความทั้งหมด ป้ายไว้ก่อนตรงนี้ บางทีสองสามพยางค์ว่า นั้น หรือบางทีมีแต่เพียงคำว่านั้นมาก่อน อะไรทำนองนี้ ถ้าอ่านแต่ตรงนั้นไม่รู้เรื่อง แล้วก็มาอ่านคำอธิบายมากมายถึงรู้ แต่ไม่เห็นเขาเรียกว่าพยัญชนะอย่างเมื่อก่อน เขาเรียกว่าสูตร เขาไปเรียกว่าสูตร ซึ่งเราเอามาใช้เรียกสูตรยาว ๆ ไอ้เรื่องยาว ๆ เรียกว่าสูตร ไอ้คัมภีร์ฝ่ายพระเวท คำว่าสูตรจะหมายถึง หัวข้อเพียงสองสามพยางค์ อยู่ตอนต้นของคำบรรยายทั้งหลาย ผมเลยเข้าใจว่านี่คือไอ้ที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าพยัญชนะ หัวข้อจดจำง่าย ๆ ลองจับจดจำหัวข้อนี้ได้ แล้วก็ไม่ลืม ที่ในฝ่ายบาลีเราเห็นง่าย ๆ เช่น สูตรกัจจายน คัมภีร์มูลกัจจายน เขาจะแต่งไว้อย่างนี้ มีตัวสูตรสั้น ๆ สักไม่กี่พยางค์แล้วมีคำอธิบายต่าง ๆ ฉะนั้นสูตรนั้นต้องท่อง ๆ กันมากมาย ท่องไว้ให้จำได้ให้ขึ้นอกขึ้นใจ เกี่ยวกับไวยากรณ์ทั้งนั้น เรื่องนาม เรื่องอาขยาต เรื่องกิต หรืออะไรก็ตาม มันขึ้นต้นด้วยคำว่าสูตรสองสามพยางค์ แล้วมันก็มีคำอธิบายจนครบเรื่อง ไอ้ส่วนที่เอาไว้จำสองสามคำเป็นหลักแม่นยำเปลี่ยนไม่ได้นี่เรียกว่า สูตร แต่เราจะมาเรียกอันนี้ว่า พยัญชนะ โดยพยัญชนะ โดยตัวหนังสือ แต่ละตัว ๆ ซึ่งมีความหมายมากอยู่ในนั้น ส่วนข้อความทั้งหลาย มันก็คืออรรถ ไอ้ตามหลักไวยากรณ์โบราณ มูลปัจจัยนั้นก็ถือว่า อรรถนั้นแหละสำเร็จประโยชน์ ไอ้พยัญชนะนั้นไม่ เพราะว่ามันไม่ มันไม่มีความหมาย แล้วมันต้องมีความหมาย ไอ้พยัญชนะมันจึงจะมีประโยชน์ขึ้นมา ก็หมายความว่าเราต้องรู้ความหมายของพยัญชนะนั้น ๆ ทีนี้ถ้าว่ามาพูดถึงธรรมะที่เราใช้แสดงธรรมในการเผยแผ่พระศาสนา คำว่าพยัญชนะนี่มันก็จะได้แก่หัวข้อกระทู้ หัวข้อกระทู้สั้น ๆ ที่ให้นักเรียนหัดแต่งกระทู้ ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ไอ้หัวข้อนั้นมันคือพยัญชนะ ส่วนคำอธิบายยาว ๆ ๆ จนกว่าจะ นั่นเรียกว่าอรรถ ทีนี้มาดูถึงที่แล้วมา ไอ้ใจความของธรรมะนี่เขาเคยเอามาผูกให้เป็นคำเหมือนกับว่าสูตร อย่างฝ่ายพระเวท คือเป็นคำสั้น ๆ ให้จำไว้แล้วคำอธิบายละเอียดมันมาเอง มันลากมาเอง
ที่เราเห็นว่าไพเราะมาก น่าอัศจรรย์มากก็เช่นที่เขาเรียกกันว่า สุภาษิตพระร่วง เลี้ยงลูกอ่อนอย่ากอดรัด หลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหาร ให้เป็นลูกเอาไฟสุมต้น นี่เขาพูดกันสั้น ๆ ๆ ๆ นั้นมันมีความหมายมาก บางทีจะมากกว่ากระทู้ธรรมที่นักเรียน นักธรรมใช้เรียนเสียอีก คำว่า ลูกอ่อนอย่ากอดรัด คือถ้าไปรัด ไปกอดรัด คือไปรัดเข้ามันก็จะเสีย ไอ้หลวงเจ้าวัดนี่คือกิเลส คืออวิชชา คืออะไร อย่าไปให้อาหารมันเข้า ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่ผมเคยชอบ จะให้เป็นลูกเอาไฟสุมต้น เด็ก ๆ แรกได้ยินมันก็ว่าบ้า เอาไฟสุมต้นมันก็ตาย แต่เรื่องนี้ก็เป็นไอ้เรื่องที่ครูบาอาจารย์ยุคนั้นสมัยนั้นที่พูด ๆ คำนี้เขาสังเกตเห็นแล้ว เขาก็เอาเรื่องธรรมดาสามัญมาใช้กับธรรมะ ไอ้เช่นต้นผลไม้ในเรือกในสวนนี่ถ้าต้นไหนมันเกิดวิปริต ไม่เกิด ไม่ออกลูก ไม่เป็นลูก นี่เขาใช้ไฟลน หรือทำให้มันตกใจเหมือนจะตาย โดยมากใช้ไฟลน มันก็เป็นลูก ถ้าเผอิญไม่ตายเสียต่อไปมันก็มีลูก ที่นี่เมื่อผมแรกมาอยู่ยังจำข้อนี้ได้ แล้วก็ยังลองดู ไอ้มะพร้าวตรงนั้นต้นหนึ่งไม่เคยเป็น ตั้งแต่เรามาอยู่กี่ปี ๆ มันก็ไม่เคยเป็น เอาถ่านสุมโคนแล้วจุด เกือบตายแล้วมันก็เป็น แล้วก็เป็นมากด้วย ตลกดีโว้ย ไม่เป็นลูกก็เอาไฟสุมต้น ครูบาอาจารย์นั้นเขาสังเกตเห็นข้อนี้อยู่แล้วมาแต่ก่อน เขาจึงนำมาใช้เป็นคำเปรียบในเรื่องของพระธรรม ถ้าไม่เป็นลูกก็คือไม่เกิดมรรคเกิดผล ให้เอาไฟสุมต้น นั่นคือตบะ ตบะความเพียรนั่นมันเปรียบเหมือนกับไฟ ก็เร่งไฟ เร่งตบะ เร่งความเพียร ดังนั้นการที่ทำความเพียรเป็นพิเศษกันเสียบ้างนั่นแหละดี อย่าปล่อยตามสบาย เมื่อไรบำเพ็ญความเพียรอย่างเคร่งครัดเป็นพิเศษ เรื่องธุดงค์ก็ดี เรื่องศีลก็ดี อันนี้ก็ดี นั่นเหมือนกับว่าเอาไฟสุมต้นสักที มันก็จะออกลูก ทีนี้เรามาสังเกตดู เอ้อ,มันก็จริง ไอ้คำพูดชนิดนี้มีประโยชน์ ผมก็เลยพยายามจะทำบ้าง วันก่อนลองทำดู เดี๋ยวนี้ก็ชักจะลืมไปหมดแล้ว หัวข้อที่จะใช้เป็นหลักนี้ ไม้อิงสามขา ศาสตราสามอัน อะไรลืมหมดแล้ว แต่มันมีจดไว้ ไม้อิงสามขาจะเอาไว้พูดเรื่อง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศาสตราสามอัน จะเอาไว้พูดเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา โจรฉกรรจ์สามก๊ก นี่จะเอาไว้พูดเรื่องกิเลส เป็นโลภะ โทสะ โมหะ นี่ว่าไปจนถึงพระนิพพาน นี่ก็เพื่อจะให้เขาได้รับทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ ให้มันมีทั้งอรรถ และมันมีทั้งพยัญชนะ
เดี๋ยวนี้ผมกำลังพูดวิทยุประจำเดือนอยู่ เดือนละครั้ง ก็ใช้หลัก ใช้หลักเกณฑ์ที่จะให้มีทั้งอรรถ มีทั้งพยัญชนะ โดยทำหัวข้อที่จะเรียกว่าพยัญชนะขึ้นไว้ แล้วอธิบายกว่าจะหมดเรื่องของมันครั้งละข้อ ที่หลายเดือนมาแล้วเรื่องคงเส้นคงวา คงเส้นคงวา คือทางมาแห่งศีลธรรมให้มนุษย์อยู่รอด มีสันติสุข สันติภาพ ทำอะไรให้คงเส้นคงวา เพราะมนุษย์เขาไม่ค่อยจะทำอะไรให้คงเส้นคงวา แล้วก็พูดเรื่องคงเส้นคงวาเสียเป็นการใหญ่ยกใหญ่ ให้เข้าใจให้ดี แล้วเหลือทิ้งไว้ให้เพียงสี่พยางค์ว่า คงเส้นคงวา แล้วครั้งถัดมาใช้คำว่า ถูกฝาถูกตัว ที่มันทำอะไรไม่ถูกฝาถูกตัว ไม่ลงกับเรื่องนั้นมันไม่ได้ผล ที่ว่ามันถูกฝาถูกตัวคืออย่างไร ผิดฝาผิดตัวคืออย่างไร มันผิดโดยอะไรนี่ แล้วก็สรุปว่ามันถูกฝาถูกตัว ครั้งต่อมาว่า มีหัวมีหาง คือให้มี มีสูงมีต่ำ มีใหญ่มีเล็ก เช่น มีครูบาอาจารย์แล้วก็มีลูกศิษย์ มีบิดามารดา มีลูก มีผู้บังคับบัญชา มีผู้ใต้บังคับบัญชา มีเจ้ามีนาย มีบ่าวมีไพร่ อย่าให้มันเสมอกันไปเสียหมด ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าถ้าอยู่เสมอกันแล้วจะเกิดเรื่อง จะเป็นทุกข์ ฉะนั้นเดี๋ยวนี้ประชาธิปไตยบ้าบออะไรก็ไม่รู้ มันก็ไม่ค่อยจะมีสูงมีต่ำ คือไม่ค่อยมีหัวมีหาง ไม่เคารพกันระหว่างผู้บังคับบัญชา แม้แต่อาจารย์กับลูกศิษย์มันก็ไม่มีความเคารพ มันทำเสมอกันไปหมด มันจะเอามาจากไหนก็ไม่รู้ แต่มันทำผิดที่มันมีเสมอกันเสียหมด ไม่มีสูงไม่มีต่ำ ไม่มีที่เคารพ ตามหลักธรรมะต้องมีที่เคารพตามสมควรแก่เหตุการณ์ที่จะควรเคารพ ที่ดีที่สุดก็คือว่าเขาสูงกว่าโดยคุณธรรม ที่สูงกว่าโดยอายุหรือสูงกว่าโดยชาติกำเนิด ตระกูลนี่มันก็ดีเหมือนกันแหละ มันก็ไม่ต้องถือว่าผิด แต่มันต้องให้มีสูงกว่าโดยคุณธรรมเสมอ
ฉะนั้นขออยู่กันอย่างมีหัวมีหาง ที่เราอยู่กันเดี๋ยวนี้ ขอให้อย่าอยู่กันอย่างเสมอกันไปหมด อยู่อย่างมีหัวมีหางบังคับบัญชากันได้ แต่ต้องด้วยความรัก ความเมตตา ไพเราะ อย่าใช้ไอ้กิริยาอันธพาล วาจากักขฬะไม่น่าฟัง ถึงแม้ว่าเราจะอยู่กันอย่างมีสูงมีต่ำมันก็ยังทำได้ แต่ว่ามีกายกรรมประกอบด้วยเมตตา วจีกรรมประกอบด้วยเมตตา มโนกรรมประกอบด้วยเมตตา อย่างนี้มันก็ยังทำได้ มันจะเสียหายไปไหน จะอยู่กันอย่างมีสูงมีต่ำ ตามวินัยด้วย ตามธรรมะด้วย เดี๋ยวพูดมันเกี่ยวกับการเมืองหน่อย ต่อการบ้านการเมืองหน่อย ข้อต่อไปมันว่าระวังคางระวังคอ มีหัวมีหางเสร็จไปเรื่องแล้ว วันหลังพูดเรื่องระวังคางระวังคอ อย่าไปงับเอาของสกปรกมา แล้วอย่ากลืนของสกปรกเข้าไป ไอ้คางไปงับเอามา แล้วคอมันกลืนเข้าไป นี่เราใช้หัวข้อระวังคางระวังคอ อย่าไปงับไปดึงเอาของสกปรกมา แล้วถ้างับเอามาคอนี่อย่ากลืนเข้าไป คายทิ้งเสีย นี่เรียกว่าระวังคางระวังคอ ตั้งใจจะพูดกับพวกคอรัปชั่น ยังมีอยู่มาก ฉ้อราษฎร์บังหลวง คำถัดมา ถอนตอแล้วลงหลัก ไอ้ตอคือเรื่องผิด ๆ มิจฉาทิฏฐิ ไอ้หลักคือเรื่องถูก ๆ เป็นสัมมาทิฏฐิ ไอ้ตอถอนทิ้งเสีย แล้วเอาหลักไว้อย่างแน่นแฟ้น
แล้ววันถัดมาว่า รู้ว่ากงจักรหรือดอกบัว ไอ้กงจักรคือไอ้สิ่งที่เป็นโทษเป็นอันตราย เป็นพิษ แต่มันงดงาม น่ารักน่าพอใจนี่กงจักร คนเขาไม่เห็นโทษของมัน เห็นน่ารักก็ไปเอาเข้า แล้วมันกลายเป็นกงจักร คนโบราณเขาว่าเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เรื่องในอรรถกถามีเรื่องเกี่ยวกับเปรต มีกงจักรพัดหัวเลือดไหลแดงเข้ามา ในหมู่บ้านเด็กหนุ่มคนหนึ่ง มันอยากได้กงจักรเพราะมันสวยดี เปรตก็บอกว่ากงจักรนะ มันก็ยังไม่เชื่อ แล้วมันก็รับออกไปให้พัดหัวมัน นี่ก็เหมือนกับเดี๋ยวนี้เราไม่เห็นว่าอะไรกงจักร ว่าอะไรเป็นดอกบัว ดังนั้นคนจำนวนมากจึงถลำเข้าไปในเรื่องของกงจักร ถึงกับวินาศฉิบหาย จวนฉิบหาย เดือดร้อนระส่ำระสายกันอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะมันไม่รู้จักว่านี่กงจักรหรือดอกบัว เดือนต่อมาพูดว่า กิเลสเป็นตัวธรรมะเป็นตน ไอ้ตัวกู ตัวกู มันเป็นความโง่ของกิเลส ไอ้ตนที่แท้จริงคือ ธรรมะ เอาเป็นตัวเป็นตนได้ เป็นที่พึ่งของตนได้ กิเลสเป็นตัวธรรมะเป็นตน นี่เดือนต่อมาพูดว่า เป็นเพียงคนยังมิใช่มนุษย์ เป็นเพียงคนยังมิใช่มนุษย์ มนุษย์ต้องมีอะไร ๆ ครบถ้วนจึงจะเป็นมนุษย์ คนนั้นเพียงแต่เกิดมาก็เรียกว่าคนแล้ว ให้ทำอะไรเสียให้ครบถ้วนโดยเร็วจะได้เป็นมนุษย์ แต่บางทีเขาก็ใช้คำว่าคนอยู่ตามเดิมก็มี ยังไม่เป็นคน ทำคนให้เป็นคนก็มี แต่มันดิ้นได้ กำกวม เขาใช้ให้มันชัดว่า คนนี่อย่างหนึ่ง มนุษย์นี่อย่างหนึ่ง เป็นเพียงคนยังมิใช่มนุษย์ และครั้งต่อมาพูดว่า เป็นชาวพุทธก็หมดปัญหา นี่มันออกจะท้าทายหน่อย หรือมันกระทบกระเทือนศาสนาอื่นหน่อย แต่เราก็พูดด้วยใจจริงว่าถ้าเป็นชาวพุทธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานได้แล้วปัญหาหมดแหละ ปัญหาทุกอย่างจะหมด ปัญหาทางกาย ทางจิต ทางสติปัญญา ทางอะไร หมดปัญหา ขอให้เป็นชาวพุทธอย่างเดียว เรื่องกิน เรื่องปาก เรื่องท้อง เรื่องลูก เรื่องเมีย เรื่องผัว เรื่องบ้าน เรื่องเรือน หมดปัญหาขอให้เป็นชาวพุทธอย่างเดียว ถ้าเป็นชาวพุทธก็หมดปัญหา
ครั้งที่แล้วมาที่พูดว่า ปัญญาต้องคู่กันกับสติ ถ้าไม่มีสติแล้วปัญญาจะเป็นหมัน จะใช้ผิด ๆ หรือว่าจะใช้ไม่ทัน ไม่ทันแก่เวลา ดังนั้นปัญญาต้องคู่กับสติเสมอ ครั้งต่อไปนี้จะพูดว่า ทิฏฐิต้องเป็นสัมมา ทิฏฐิจะเป็นมิจฉาไม่ได้ ทิฏฐิต้องเป็นสัมมา เพราะสิ่งที่เรียกว่าทิฏฐิ มันก็คือคน ๆ นั้นแหละ นี่เรามันไปพูดจนไม่รู้ว่าคนอยู่ที่ไหน ทิฏฐิคืออะไร ที่เรียกว่ามนุษย์คนไหน คน ๆ ไหน ตัวตนคนไหนของใคร มันก็คือทิฏฐิของคน ๆ นั้นแหละ เพราะคนนั้นมันจะต้องทำไปตามทิฏฐิเสมอ ไม่แปลกไปจากทิฏฐิของตน ฉะนั้นคนก็คือ ทิฏฐิ ทิฏฐิก็คือคน ๆ นั้น ดังนั้นทิฏฐินั้นต้องเป็นสัมมา คนจึงจะเป็นสัมมา หรือดีหรือถูกต้อง ไม่อย่างนั้นจะเป็นอันธพาล หรือมิจฉาทิฏฐิ ก็อยากจะฝากให้ไปเอาไปคิด ที่คำพูดที่ว่าคน ๆ นั้นก็คือทิฏฐิของคน ๆ นั้น ทิฏฐินั่นแหละคือคน เอาไปคิดเถอะ เอาไปคิด อยากจะค้านไม่เชื่อก็ได้ เอาไปคิดเถอะ ผมท้าเอาไปคิดเถอะจะมีประโยชน์ แล้วคุณจะเห็นจริง ๆ ว่าไอ้คนนั่นคือ ทิฏฐิ ทิฏฐิ ก็คือคน คนนั้นคือ ทิฏฐิ คนนั้น ทิฏฐิของคนนั้นก็คือคน ๆ นั้น อย่างนี้ผมอยากจะเรียกว่า พยัญชนะ มีพยัญชนะให้เขาแล้ว แล้วก็จำง่าย ๆ ท่องจำว่า คงเส้นคงวา ถูกฝาถูกตัว มีหัวมีหาง ระวังคาง ระวังคอ ถอนตอลงหลัก รู้ว่ากงจักรหรือดอกบัว กิเลสเป็นตัว ธรรมะเป็นตน เป็นคนยังไม่ใช่มนุษย์ ถ้าเป็นชาวพุทธก็หมดปัญหา ปัญญาต้องคู่กับสติ
ผมเห็นว่าอย่างนี้ คือเห็นว่าเราไม่ได้บกพร่องแล้ว เราทำตามคำสั่งของพระพุทธเจ้าที่สุดแล้ว ให้มันมีทั้งอรรถ ให้มันมีทั้งพยัญชนะ แล้วเราพูดตั้งสามสิบนาที เพื่ออธิบายหัวข้อเพียงสามสี่พยางค์ สามสี่พยางค์ เรียกว่าคงเส้นคงวา อธิบายกันตั้งสามสิบนาที บางทีก็หาเรื่องอธิบายไปทั่วโลก ควานไปทั่วโลก ว่าโลกเดี๋ยวนี้ไม่มีความคงเส้นคงวา ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ไม่คงที่ ไม่แน่นอน ดังนั้นลองไปคิดดูเถอะว่า ถ้าเราจะพูดอะไรให้เขาเป็นเรื่องเป็นราว เป็นชิ้นเป็นอันแล้วก็ ขอให้สรุปเป็นหัวข้อสั้น ๆ สำหรับเขาจำง่ายไว้ด้วย จะได้ผลดีกว่าพูดแล้วก็ลืมหมด นี้ถ้าว่าอันไหนมันสำเร็จประโยชน์ก็มาใช้กันอยู่เป็นประจำ เป็นหัวข้อสองสามคำ แต่ว่ามีความหมายลึกซึ้งที่สุด เช่นคำว่า ตถตา แปลว่าเป็นเช่นนั้นเองนี่ เป็นคำที่มีความหมายกว้างที่สุดจนไม่รู้อะไรจะกว้างเท่า ตถา หรือ ตถาตา เช่นนั้นเอง มันไม่มีอะไรที่มิใช่เช่นนั้นเอง มันไม่มีอะไรที่ไม่เป็นไปตามกฎเช่นนั้นเอง ของมันเอง แล้วมันเป็นอันว่าเราจะยึดหลักที่พระพุทธองค์ทรงกำชับไว้แล้วเมื่อวันส่งภิกษุไปประกาศพระศาสนาชุดแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ก็ขอให้ทำเพื่อประโยชน์สุข เกื้อกูลแก่มหาชนทั้งเทวดา และมนุษย์ นี่ความมุ่งหมาย จงแสดงธรรมให้ไพเราะทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย จงประกาศพรหมจรรย์ให้มีอรรถ ให้มีพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ไปคัดบาลีมาท่องไว้ด้วย ไปจำคำแปลนี้ไว้ด้วย ว่าพระพุทธองค์ได้ทรงสั่งไว้อย่างนี้ ซึ่งเราจะต้องระมัดระวังให้เป็นอย่างดี สนองพระพุทธประสงค์ด้วย เห็นแก่มนุษย์ทั้งโลกด้วย และเป็นหน้าที่ของเราด้วย แสดงธรรมให้มีความงามเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ประกาศพรหมจรรย์ให้มีอรรถ พยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ถ้าสามารถใช้หลักเกณฑ์อันนี้ได้สำเร็จ ผมคิดว่าต้องเป็นธรรมทูตที่ใช้ได้ คือเป็นธรรมทูตที่ไม่ควรถูกตำหนิ แล้วเรื่องที่จะพูดวันนี้ก็มีเท่านี้ ให้ใช้หลักการธรรมทูต ตามกฎเกณฑ์ที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ หรือขอร้องไว้ ในวันส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา ๖๐รูปแรกในโลก ครั้งแรกในโลก ขอยุติการบรรยาย