แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายเรื่องอธิจิตตาโยคะ ในครั้งที่ ๕ นี้ จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า แนวสังเขปแห่งอานาปานสติก่อนลงมือฝึก หมายความว่า เรื่องย่อๆ ของอานาปานสติที่ผู้ปฏิบัติจะต้องทราบไว้ก่อนการลงมือฝึก ทำไมจึงได้พูดเรื่องนี้โดยหัวข้อนี้ เชื่อว่าทุกคนพอจะเข้าใจได้ กล่าวคือ เมื่อใครผู้ใด จะทำอะไร ที่เป็นเรื่องใหญ่ เขาจะต้องทราบถึงแผนการ หรืออะไรต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้นพอสมควรเสียก่อน เช่น จะปลูกบ้าน ก็ต้องเขียนแปลนก่อน จึงจะทำไปได้โดยไม่ผิดพลาด เรื่องอานาปานสติ อันซับซ้อนยืดยาวนี้ก็เหมือนกัน ผู้ที่จะลงมือฝึก จะต้องทราบรูปโครงหรือว่าคล้ายกับแปลนของรูปโครงนี้เสียก่อน จึงจะสะดวกในการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นจึงได้เอาเรื่องนี้มากล่าวเป็นเรื่องแรกสำหรับเรื่องที่เกี่ยวกับอานาปานสติโดยตรง ขอให้กำหนดไว้ในใจให้ดีว่า จะกล่าวในลักษณะแนวสังเขป เป็นรูปโครงในลักษณะที่เป็นแบบแปลน ที่จะต้องเป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งเสียก่อน แล้วจึงลงมือกระทำ สำหรับรูปโครงนั้น โดยส่วนใหญ่ มันก็มีเรื่องการตระเตรียมในเบื้องต้น นี้ตอนหนึ่ง และก็มีตัวการปฏิบัติโดยสมบูรณ์นี้อีกตอนหนึ่ง ตอนสุดท้ายถ้าจะพูดกัน ก็พูดกันเรื่องอานิสงค์ หรือประโยชน์ ที่นี้สำหรับเรื่องเบื้องต้น หรือเรื่องการตระเตรียมนั้น มันก็เหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะปฏิบัติ สมาธิภาวนา ระบบไหน การตระเตรียมในเบื้องต้นเหมือนๆ กัน เช่นไปสู่ที่สงัด ตั้งกายตรงดำรงสติสัมปชัญญะ แล้วก็ปฏิบัตินี้มันเหมือนๆ กัน ทีนี้ส่วนตัวการปฏิบัตินั้นมันไม่เหมือนกัน มันมีแบบหรือว่ามีหลักเกณฑ์มีอะไรเฉพาะเรื่อง ส่วนอานิสงค์นั้น มันก็ขึ้นอยู่กับระบบนั้น ๆ ว่าจะให้อานิสงค์ได้มากน้อยเพียงไร
ทีนี้ก็จะต้องพูดกันถึงไอ้ตัวการปฏิบัติแท้ๆ นั้น ว่ามีรูปโครงอย่างไร ในขั้นแรกที่สุด จะต้องเข้าใจความหมายอันถูกต้องของชื่อๆ นี้ คือชื่อว่า อานาปานสติ ผู้ที่เป็นเปรียญย่อมแปลคำๆ นี้ได้ด้วยตนเอง แต่จะถูกตามข้อเท็จจริง หรือไม่ นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก เพราะว่าคำสมาสคำหนึ่งย่อมแปลได้หลายนัย แล้วแต่เราจะถือว่ามันเป็นสมาสอะไร ที่นี้ลองคิดดูว่า อานาปานสติ นี่จะแปลว่าอะไร เขาแปลกันอย่างตามตัวพยัญชนะ ในลักษณะที่สะเพร่าหรือว่าไม่รู้เท่าถึงการณ์ เพราะไม่เคยสนใจเรื่องอานาปานสติตัวจริงมาก่อน ก็เลยแปลลุ่นๆ ว่า สติ กำหนดลมหายใจออก-เข้า สติ แปลว่าสติ อานะ แปลว่า ออก อาปานะแปลว่าเข้า ก็เลย สติ แปลว่า กำหนดลมหายใจออก-เข้า ทางสมาสถูกเผงเลยไม่มีทางผิดได้ ส่วนการปฏิบัตินั้นถูกนิดเดียว เพราะว่าอานาปานสติทั้งระบบนี่มิได้กำหนดลมหายใจออก-เข้า ไปจนตลอดสาย กำหนดลมหายใจในขั้นต้นๆ ๒-๓ ขั้นเท่านั้น แล้วก็กำหนดอย่างอื่น ทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า ทีนี้ผู้เป็นนักบาลีลองทายดูทีว่าจะแปลว่าอะไร เมื่อแปลว่าสติกำหนดลมหายใจออก-เข้า ถูกนิดเดียวหรือไม่ถูกเลยนี่ จะแปลว่าอะไร พอตั้งสมาสใหม่แปลว่า สติที่กำหนดสภาวะธรรมอันใดอันหนึ่งอยู่ ทุกครั้งที่มีการหายใจออกและการหายใจเข้า นั่นน่ะจะถูกเผง สติที่กำหนดสภาวะธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอารมณ์อยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจออกหายใจเข้า แล้วก็ลองเปรียบเทียบดูสิว่ามันต่างกันอย่างไร ว่าสติกำหนดที่ลมหายใจออก-เข้า กับสติที่กำหนดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง สิ่งอื่นทุกครั้งที่มีการหายใจออก-เข้า นี่ผมสังเกตเห็นการแปลชื่อนี้ในวงกว้างๆ ที่ประเทศลังกา ประเทศพม่า มันก็แปลแต่กำหนดลมหายใจออก-เข้า my fullest on หรือoff breathing นี่มันเป็นสติที่กำหนดลมหายใจทั้งนั้น ชื่อหนังสือก็ให้ชื่อกันอย่างนี้ มาพิจารณาดูแล้วไม่ถูกเลย กำหนดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า สำหรับคำว่าหายใจออก หรือเข้านี่ เถียงกันมาก ในอรรถกถาก็เถียงกัน ว่าอานะนี่ ออก หรือ เข้า อาปานะ นั่นออก หรือเข้า บางอาจารย์ก็ให้แปลว่า เข้า ออก บางอาจารย์ก็ให้กลับกัน ออก และเข้า ผมอยู่ในพวกที่ว่า ออก และเข้า อัสสาสิสามิ (นาทีที่ 9.34) แปลว่าหายใจออก ปัสสะสิสามิ (นาทีที่ 9.38) หายใจเข้า มีเหตุผลแย้งกัน เท่าๆ กัน ถ้าจะแย้งก็แย้งกันได้ มีเหตุผลเท่าๆ กัน แต่มีเหตุผล นิดหนึ่งที่ว่าสัตว์จะต้องหายใจออกก่อน มันจึงจะหายใจเข้าทีหลัง เพราะว่าเมื่อเราเกิดมาจากท้องแม่นั้น มันมีอะไรอุดอยู่ในจมูก จะหายใจเข้าได้อย่างไร มันต้องหายใจออกก่อน ให้ของสกปรกในจมูกออกเสียก่อน แล้วจึงจะหายใจเข้าเป็นลมเข้าไปได้ นี่ถือคล้ายๆ กับ กำปั้นทุบดิน ไม่สำคัญหรอกที่ว่า จะแปลตัวไหนว่าออก จะแปลตัวไหนว่าเข้า อย่าไปมัวเถียงกันให้ลำบาก ในที่นี้จะใช้คำว่าออก และเข้า อัสสะ แปลว่าออก ปัสสะ แปลว่าเข้า สติกำหนดสภาวธรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะไม่ซ้ำกัน มันเปลี่ยนไปเรื่อย ทุกครั้งที่หายใจออก- เข้า ผมจะไล่ไปตามลำดับ ฟังดูให้ดี
สำหรับอานาปานสติ ๑๖ ขั้นนี้แบ่งเป็น ๔ หมวดๆ ละ ๔ ขั้น แล้วเรียงลำดับกันไปจนครบ ๑๖ ขั้น เพื่อจะให้รู้ชัดตรงที่ว่า มันกำหนดสภาวธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่างกันอย่างไร ไม่ซ้ำกันเลย ขอให้จดหรือจำไว้ให้แม่นยำด้วย
ขั้นที่ ๑ กำหนดลมหายใจยาว อยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจออก-เข้า ขั้นที่ ๒ กำหนดลมหายใจสั้น อยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจออก- เข้า ขั้นที่ ๓ กำหนดลมหายใจที่ทำหน้าที่ปรุงแต่งร่างกาย ลมหายใจที่ทำหน้าที่ปรุงแต่งร่างกาย นี่ขั้นที่ ๔ กำหนดการระงับของลมหายใจที่ปรุงแต่งร่างกาย นี่ ๔ ขั้นละ นี้เป็นหมวดที่ ๑ ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า กายานุปัสนาสติปัฏฐาน
นี้ขั้นที่ ๕ ขึ้นหมวดที่ ๒ ขั้นที่ ๕ กำหนดปีติอยู่ทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า ขั้นที่ ๖ กำหนดความสุขอยู่ทุกครั้งหายใจออก-เข้า ขั้นที่ ๗ กำหนดความที่เวทนานี้ปรุงแต่งจิต เวทนา ๒ อย่างข้างต้นนี้ปรุงแต่งจิต นี้ขั้นที่ ๘ กำหนดการที่จิตสังขารอันนี้ระงับลง คือปีติ และสุข ที่เรียกว่า เวทนานั้นแหละระงับลง ระงับลง หมวดที่ ๒ ที่เรียกว่า เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน นี้ก็จบ
ที่นี้ขึ้นหมวดที่ ๓ ก็คือขั้นที่ ๙ กำหนดลักษณะต่างๆ ของจิตในขณะนั้น อยู่ทุกลมหายใจออก-เข้า อันนี้ไม่ต้องบอกละนะ ต่อไปไม่ต้องบอกแล้วนะว่า อยู่ทุกลมหายใจออก-เข้า ที่นี้ไม่ต้องบอกแล้ว ทุกขั้นเลย ขั้นที่ ๑๐ กำหนดถึงการทำจิตให้ปราโมทย์ ขั้นที่ ๑๑ กำหนดการทำจิตให้ตั้งมั่น ขั้นที่ ๑๒ กำหนดการทำจิตให้ปลดเปลื้องจากสิ่งที่มาห่อหุ้มจิต หมวดที่ ๓ ที่เรียกว่าจิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน จบ
ที่นี้หมวดสุดท้ายก็ขั้นที่ ๑๓ กำหนดความเป็นอนิจจังของสังขารทั้งปวง ที่มันเกี่ยวข้องอยู่ในขณะนั้น กำหนดความเป็นอนิจจัง เขียนอย่างนี้ก็พอ ทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า ขั้นที่ ๑๔ กำหนดวิราคะ ที่เป็นผลของการเห็นอนิจจัง กำหนดวิราคะอยู่ทุกลมหายใจออก-เข้า ขั้นที่ ๑๕ กำหนดนิโรธะ คือความดับของกิเลสของความทุกข์ กำหนดนิโรธะทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า นี้ขั้นที่ ๑๖ กำหนดปฏินิสสัคคะ คือการสลัดคืนสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นออกไปเสียได้ กำหนดปฏินิสสัคคะ เราเขียนเป็นคำบาลีก็ได้ รู้เอาเองว่ามัน ปฏิ น่ะ คืน กลับ นิสสัคคะ แปลว่า สละ ไม่เหลือ คือสละออกไป สละกลับคืนออกไป นี่เป็นอันสุดท้ายของหมวดที่ ๔ ซึ่งเรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
สังเกตที่มันแบ่งเป็น ๔ หมวด หมวดละ ๔ แต่ละหมวดละหมวดก็ คือ สติปัฏฐาน หนึ่งๆ อันแรกเรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๒ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๓ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และก็หมวด ๔ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี่ขอให้สังเกตดูว่า มันไม่เหมือนกับในสติปัฏฐาน ๔ ที่กล่าวไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรอันยืดยาว ในทีฆนิกาย หรือไม่เหมือนกับสติปัฏฐาน ๔ ที่สอนกันอยู่ในโรงเรียน จะต้องตั้งข้อสังเกตอันนี้ไว้ เดี๋ยวก็จะเห็น ในชั้นนี้ก็เพื่อจะเห็นว่า การแปลคำๆ นี้ว่า สติกำหนดลมหายใจเข้าออกนั่นมันผิดเท่าไหร่ มันกำหนดสิ่งถึง ๑๖ สิ่ง แต่ละสิ่ง ละสิ่ง กำหนดอยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจออก-เข้า ไม่ต้องจด ผมจะไล่ให้ฟังอีกทีหนึ่ง
ขั้นที่๑ กำหนดลมหายใจยาวอยู่ตลอดเวลาที่หายใจออก-เข้า
ขั้นที่ ๒ กำหนดลมหายใจสั้นอยู่ตลอดเวลาที่หายใจออก-เข้า
ขั้นที่ ๓ กำหนดเรียกว่ากายทั้งปวง คือข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับลมหายใจ ที่มันปรุงแต่งกาย อยู่ทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า
ขั้นที่ ๔ กำหนดอยู่ที่การทำให้เครื่องปรุงแต่งกายระงับลง คือลมหายใจนั่นแหละ มันระงับลง ลมหายใจเป็นกายสังขารในที่นี้ กายสังขารนี้ระงับลง ระงับลง กำหนดอยู่ที่นั่นทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า
นี่ขึ้นหมวดที่ ๒ ขั้นที่ ๖ มันเนื่องมาแต่ข้างบน เมื่อลมหายใจระงับลง ระงับลง มันเกิดความระงับในร่างกาย ให้ความรู้สึกปีติก็เกิดขึ้น จึงมากำหนดที่ปีติ ทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า และมีความสุขเกิดขึ้น กำหนดที่ความสุขทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า แล้วมันกำหนดอยู่ที่ว่า ไอ้ปีติ และสุขที่เป็นเวทนานี้ มันเป็นการปรุงแต่งจิต ให้ชื่อมันว่า จิตสังขาร นั้นจึงกำหนดอยู่ที่จิตสังขารนั้น ทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า
ขั้นที่ ๘ ก็กำหนดอยู่ที่การทำให้จิตสังขารนี้อ่อนกำลังลง คือไม่ให้ปรุงแต่งจิต เรียกว่าทำจิตสังขารให้ระงับอยู่ กำหนดอยู่ที่ความที่ จิตสังขาร ระงับลง ระงับลง อยู่ทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า หมวดที่ ๒ หมดไป หมวดที่ ๓ มา
ขั้นที่ ๙ กำหนดอยู่ที่ จิตที่กำลังมีลักษณะอย่างไร จิตกำลังมีราคะ หรือไม่มีราคะ มีโทสะหรือไม่มีโทสะจิต เป็นอย่างไรก็ตามในที่เขายกตัวอย่างไว้ตั้ง ๘ คู่ ๑๖ อย่าง กำหนดลักษณะต่าง ๆ ของจิตในเวลานั้น หรือว่าจิตกำลังมีลักษณะอย่างไรในเวลานั้นอยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจออก-เข้า ที่นี้ก็เริ่มชักจูงจิต บังคับจิต อะไรเป็นไปตามความต้องการ คือทำจิตให้ปราโมทย์ บันเทิงอยู่ เขากำหนดความที่จิตนั้นปราโมทย์บันเทิงอยู่ทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า
ที่นี้ขั้นต่อไป ๑๑ กำหนดจิตที่ตั้งมั่นอยู่ คือทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ และกำหนดความที่จิตตั้งมั่นอยู่ทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า และ
ขั้นที่ ๑๒ ทำจิตให้หลุดออกมาจากสิ่งที่มาห่อหุ้มผูกพัน หรือว่าทำสิ่งที่ห่อหุ้มผูกพันให้หลุดไปจากจิต ก็เหมือนกันทั้งนั้น ใช้คำว่า เปลื้องจิตออกเสียจากสิ่งห่อหุ้มผูกพัน บางทีก็แปลว่า ทำจิตให้ปล่อยอยู่ ได้ทั้งนั้นนะ กำหนดอยู่ที่ความที่จิตปล่อยไอ้สิ่งที่ห่อหุ้มผูกพันอยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจออก-เข้า ในขั้นนี้ นี่หมวดที่ ๓ จบแล้ว คราวนี้ก็หมวดที่ ๔
ขั้นที่ ๑๓ เห็นอนิจจังของทุกสิ่งที่ได้ผ่านมา แต่ต้นจนบัดนี้ ลมหายใจหรืออะไรก็ตาม ทุกอย่างที่มันปรากฏอยู่ในความรู้สึกนี่ มองดูทีละอย่างๆ ให้เห็นความเป็นอนิจจัง กำหนดอยู่ที่ความเป็นอนิจจังของสิ่งเหล่านั้น อยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจออก-เข้า
อันดับต่อไป ๑๔ ขั้นที่ ๑๔ ก็วิราคะ คือจิตจางคลาย จากความยึดมั่นถือมั่น เรียกว่าวิราคะกำหนดสภาพของวิราคะอยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจออก-เข้า
ขั้นที่ ๑๕ หลังจากวิราคะ ก็มี นิโรธะ คือดับลง สิ้นสุดลงแห่งกิเลส แห่งสังขารทั้งปวงก็ได้ แล้วกำหนดความดับ ความดับลงของการปรุงแต่งของจิต เรียกว่ากำหนดอยู่ที่ นิโรธะ อยู่ตลอดเวลาที่มีการหายใจออก-เข้า
อันสุดท้าย กำหนดที่ ปฏินิสสัคคะ ว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีอะไร ที่มาแตะต้องเรา ทุกอย่างถูกกระเด็น ทำให้กระเด็นกลับไปหมด เรียกว่า ปฏินิสสัคคะ กำหนดอยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจออก-เข้า
ทั้ง ๑๖ ขั้นนี้มันเนื่องกัน ไม่ขาดตอนเลย ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจในข้อนี้กันให้ชัดเจนที่สุด ทั้ง ๑๖ ขั้นนี้ มันจะติดต่อกันมาเป็น เหมือนกับลูกโซ่ คือมันจะให้ส่งต่อๆ กันไป โดยไม่ขาดตอนเลย เป็น ๑๖ ๑๖ ขั้นด้วยกัน ถ้าทำอย่างนี้ เรียกว่า อานาปานสติที่สมบูรณ์แบบ ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส หรือแนะนำ ทีนี้ อานาปานสติที่ไม่สมบูรณ์แบบ ก็คือ กำหนดลมหายใจ พอสักว่าจิตมีความสงบ ระงับบ้างเป็นสมาธินิดหน่อย ก็กระโดดข้ามไปกำหนด อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตาเลย แล้วก็มีวิราคะ มีนิโรธะ มีปฏินิสัคคะ เหมือนกัน แต่ไม่กำหนดก็ได้ เห็นอนิจจัง แล้วก็มีวิราคะเกิดขึ้น มันก็มีนิโรธะ ก็ดับทุกข์ ดับกิเลสก็พอกันที สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการจะทำอย่างสมบูรณ์แบบ หรืออย่างที่เรียกว่าเป็นนักปฏิบัติถึงที่สุด
เพราะฉะนั้นคนทั่วไปก็ทำอานาปานสติ แต่เพียงว่า ทำลมหายใจนี่ กำหนดลมหายใจ พอสร้างกายก่อนให้พอปกติแล้ว ก็กำหนดอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา เลย อยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก แล้วก็ประสบผลตามที่ต้องการได้เหมือนกัน ความสำคัญมันอยู่ที่ กำหนดอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา แล้วทำอย่างจริงจัง ถ้าอย่างนี้ มันไม่สมบูรณ์แบบ ไม่เรียกว่า สติปัฏฐานทั้ง ๔ โดยตรง มันเป็นโดยอ้อม โดยไม่รู้สึกตัว แล้วเราก็ไม่กำหนด แยกออกไปเป็น เวทนา เป็นจิตอะไร กำหนดรวมๆ กันไปเลย อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา ในสิ่งที่มันเป็นปัญหาเฉพาะหน้าแก่เราอยู่ทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า จนกว่ามันจะเกิดความรู้สึกที่เบื่อหน่าย คลายกำหนัด
ทีนี้จะร่ายไปตามลำดับอีกครั้งหนึ่ง คอยฟังให้ดี คือจะแสดงในแง่ที่มันเกี่ยวข้องกันอย่างไร เพิ่มขึ้น มันจำเป็นต้องทำอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นมันไม่มีทางจะเข้าใจ เท่าที่ผมสังเกตมาแล้ว นั้นก็ทนฟังหน่อย มันไม่มีทางทำอย่างอื่นที่ทำให้เข้าใจได้ ชัดเจน ชัดแจ๋ว
เริ่มขั้นที่ ๑ กำหนดที่ลมหายใจยาว อยู่ทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า เพราะมีการกำหนดทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า จึงเรียกว่า อานาปานสติ เดี๋ยวนี้ก็เอาลมหายใจนั่นเอง เป็นอารมณ์ของอานาปานสติ กำหนดลมหายใจยาว เพื่อให้รู้ลักษณะของลมหายใจยาว ว่าเป็นอย่างไร ว่าลมหายใจยาวนี้มีอิทธิต่อร่างกายของเราอย่างไร นี่รู้กันเพียงเท่านี้ สรุปสั้นๆ ว่า เมื่อเรามีความ เมื่อเราหายใจยาวๆ เรามีความรู้สึกอย่างไร ทางกาย หรือทางใจเองก็ตาม เรียกว่ารู้จักตัวลมหายใจยาว รู้จักอิทธิพลของลมหายใจยาว ที่มีต่อร่างกายอยู่ ทีนี้อย่างนี้แล้ว ก็สังเกตดูว่า บางทีมันยาว บางทีมันสั้น แล้วก็กำหนดที่ลมหายใจสั้น ว่ามันเป็นอย่างไรที่เรียกว่าสั้น แล้วเมื่อมันเปลี่ยนเป็นลมหายใจสั้นนี้ มันมีอิทธิพลต่อร่างกาย เปลี่ยนไปอย่างไร ลมหายใจยาวทำให้ร่างกายสบาย ลมหายใจสั้นก็ทำให้ร่างกายไม่สู้สบาย ลมหายใจยาว ปรุงแต่งร่างกายไปในทางสงบ ระงับ ลมหายใจสั้น ก็ปรุงแต่งร่างกายในทางให้ไม่สงบ ระงับ เท่าที่ควร เราก็รู้ได้ว่า อิทธิพลของลมหายใจสั้น กับลมหายใจยาว นี่ไม่เหมือนกันนะ ก็เลยรู้จักดี ทั้งลมหายใจยาว และลมหายใจสั้น นี่แหละขั้นที่ ๒ รู้ความที่ต่างกันระหว่างลมหายใจยาว กับลมหายใจสั้น แล้วอาจจะฝึกไปได้ จนถึงกับว่า ลมหายใจยาว มีอารมณ์ดีอย่างไร พอถึงลมหายใจสั้น แล้วก็บังคับให้มีอารมณ์ดีอย่างนั้น อย่างนี้ก็ได้ ก็ยิ่งดี ที่รายละเอียดเกี่ยวกับสั้น เกี่ยวกับยาวนี้ มันมีเรื่องนับเรื่องอะไรอีกมากมาย ยุ่งยากลำบาก ยังไม่พูดถึงก็ได้
ที่นี้ต่อไปก็คือว่า เมื่อเรารู้จักอิทธิพลของลมหายใจที่มีต่อร่างกาย จะเห็นชัดขึ้นมาเอง ว่าอ้าว, ก็แล้วลมหายใจนี่เอง มันปรุงแต่งร่างกาย ลมหายใจกับร่างกายนี้เนื่องกันอยู่ เพราะลมหายใจเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งร่างกาย เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกลมหายใจนั้นว่า กายสังขาร เครื่องปรุงแต่งกาย นี่ขั้นที่ ๓ ก็กำหนดจุดไอ้ ลักษณะที่ลมหายใจมันปรุงแต่งกาย ปรุงแต่งอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็รู้ทันทีว่า พอลมหายใจหยาบ ร่างกายหยาบ พอลมหายใจละเอียด ร่างกายละเอียด ลมหายใจไม่ระงับ ร่างกายก็ไม่ระงับ ลมหายใจระงับ ร่างกายก็ระงับ ดังนี้เป็นต้น ดูจากข้อเท็จจริงอันนี้ ดูไอ้ตัวกายสังขารนี่ อยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจออก-เข้า นี้ขอให้เข้าใจว่า ไม่ใช่ทำติดต่อไปอย่างนี้ มันทำขั้นใดขั้นหนึ่งอยู่เป็นเวลานาน จนคล่องแคล่วแล้วจึงค่อยเลื่อนไปตามลำดับ ไม่ใช่ว่าการหายใจครั้งนี้กำหนดขั้นนี้ การหายใจครั้งต่อไปกำหนดขั้นต่อไป ไม่ใช่อย่างนั้น ที่นี้เมื่อขั้นที่ ๓ ทำได้ดีแล้ว ก็ทำขั้นที่ ๔ ซึ่งจะต้องยืดยาวมาก คือทำกายสังขาร ให้ระงับอยู่ คือบังคับลมหายใจที่ปรุงแต่งร่างกายให้ละเอียดๆๆ ตามที่เราต้องการอย่างนั้น อย่างนี้ นี่ก็คือทำให้จิตสงบ ระงับลงไปด้วย กายสงบระงับลงไปด้วย ได้สิ่งที่เรียกว่าสมาธิ หรือฌานกันที่ตรงนี้ นี้ก็หมด หมวดที่ ๑ ที่เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีผลทำให้สามารถบังคับกายสังขารให้สงบระงับได้ตามที่ต้องการ มีผลเป็น ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานได้ เป็นที่สุด หมวดนี้เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่า ลมหายใจนั้นมันเป็นสิ่งเดียวกันกับกาย ให้บทเรียนเป็นลมหายใจ มันจะเป็นสิ่งเดียวกันกับกายนั่นเอง จึงมีพระพุทธภาษิต ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวลมหายใจออกหรือเข้า ว่าเป็นกาย อย่างหนึ่งๆ ในบรรดากายทั้งหลาย หมายความว่าสิ่งที่เรียกว่ากายมีหลายอย่าง ลมหายใจนี่ก็เป็นกายอย่างหนึ่งในบรรดากายทั้งหลาย หรือพูดให้ละเอียดกว่านั้น ว่าลมหายใจครั้งหนึ่งก็เป็นกายอันหนึ่ง ในบรรดากายคือลมหายใจมากครั้ง
นี่เห็นชัดแล้วว่า ไอ้ทั้ง ๔ ขั้นที่แล้วมามันเนื่องกันมา คือมันต้องปฏิบัติอันต้นได้ มันจึงจะปฏิบัติอันถัดไปได้ มันเนื่องกันอย่างนั้น ทีนี้มาจบอยู่ที่ว่า ทำกายสังขารระงับแล้ว มีผลเป็นฌาน รูปฌาน อันใดอันหนึ่งแล้ว หรือแม้แต่จะไม่ถึงรูปฌาน ยังไม่ถึง อัปปนาสมาธิ ทำได้เพียง อุปปจารสมาธิ พอใจเสียแล้ว จะไม่ทำต่อไปก็ได้ แต่มันก็ต้องมีสมาธิ เป็นผลสุดท้ายอยู่ที่อันดับขั้นที่ ๔ นี้ นั้นในสมาธินั้น มันมีความรู้สึกที่เป็นปีติ และสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปฐมฌาน มีวิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา นั้นเงื่อนที่ต่อกันตรงนี้ก็คือว่า เมื่อทำขั้นที่ ๔ ให้อยู่ในลักษณะที่เป็นปฐมฌาน มีองค์ทั้ง ๕ นี้แล้ว ก็จะทำให้หมวดถัดไปคือ เวทนานุปัสนาสติปัฏฐาน อันที่ ๕ ก็จะโผล่ขึ้นมา คือการกำหนดอยู่ที่ปีติ อยู่ทุกครั้งหายใจเข้า-ออก นี่คือดึงปีติออกมาจาก ปีติ ที่เป็นองค์ของปฐมฌาน อย่างนี้ง่ายที่สุด นี้ขั้นที่ ๖ ก็กำหนดอยู่ที่ความสุข ปีติ กับสุข นี้ไม่ค่อยแยกกัน มันตามหลังกันมา ปีติก็เป็นเวทนาชนิดหนึ่ง สุขก็เป็นเวทนาชนิดหนึ่ง ขั้นที่ ๕ กำหนดเวทนาคือปีติ ขั้นที่ ๖ กำหนดเวทนาคือสุข โดยเหตุที่ปีติกับสุข มันตามหลังกันมานี่ ต้องถือว่าเนื่องกัน ปีติหยาบกว่าสุข มันจึงมาก่อน สุขละเอียดระงับกว่าปีติ
ที่นี้ขั้นต่อไปอีก ก็กำหนดขั้นที่ ๗ กำหนดความที่ปีติหรือสุขนั้นมีอิทธิพลต่อจิต คือปรุงแต่งจิต บรรดาเวทนาทั้งหลาย เวทนาที่เป็นสุขนี่มีอิทธิพลเหนือจิตอย่างยิ่งกว่าเวทนาใด เดี๋ยวนี้เรามาดูกันในข้อนี้ คือดูเวทนาที่มีอิทธิพลมากที่สุดคือความสุข ว่าปรุงแต่งจิตอย่างไร ถ้าเราจัดการกับเวทนาชั้นเยี่ยมยอดนี้ได้ ไอ้เวทนาอันอื่นๆ มันก็เป็นอันงวดได้ นี่ดูที่มันปรุงแต่งจิตอย่างไร วิธีใด ท่าไหนเพื่อหาทางที่จะควบคุมมัน ทีนี้พอถึงขั้นที่ ๘ เพื่อควบคุมมันให้ระงับลง คือไม่ให้มีอิทธิพลแก่กล้าในการที่จะปรุงแต่งจิต จึงเรียกว่าทำจิตสังขารให้ระงับอยู่ และหายใจออก-เข้า เป็นอย่างนี้เรื่อยไป จนทำได้นะ และก็จบหมวดที่สอง ที่เรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทั้ง ๔ ขั้นนี้เรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีพระพุทธภาษิตว่า เรากล่าวความรู้สึกซึมทราบทั่วถึงเป็นอย่างดี ในลมหายใจออกและเข้านั้น ว่าเป็นเวทนา อย่างหนึ่งๆ ในเวทนาทั้งหลาย เราเคยเรียนนักธรรม เรียนบาลีมาไม่เคยได้รับคำอธิบายอย่างนี้ แต่นี้เป็นพุทธภาษิตในตัวสูตรนั่นเอง เรารู้แต่เวทนาคือสุข เวทนาคือทุกข์ เวทนาคืออสุขมทุกข์ แต่เดี๋ยวนี้ พุทธภาษิตนี้กลับระบุไปยังไอ้ความที่รู้สึกอยู่ต่อเวทนา ต่อลมหายใจนั่นแหละ เป็นเวทนา ตัวลมหายใจนั้นเป็นกาย ความรู้สึกที่ปฏิเวธะ รู้แจ้ง แทงตลอดเฉพาะอยู่ ต่อลมหายใจนั้น นั่นคือเวทนาหนึ่งในบรรดาเวทนาทั้งหลาย หมายความว่า สิ่งที่เรียกว่า เวทนา มีอยู่หลายชนิด หลายอย่าง นี้ก็คือเวทนาอย่างหนึ่ง ในเวทนาทั้งหลาย เช่นเดียวกับที่ตรัสไว้ข้างต้นว่า ลมหายใจนั้นคือกายอย่างหนึ่ง ในบรรดากายทั้งหลาย ขอให้จำไว้ให้ดี สังเกตให้ดีว่ามันแปลกจากที่เราเคยเรียน หรือเคยสอนกันในโรงเรียนนักธรรม ที่นี้จำไว้ว่า เดี๋ยวนี้ก็ได้รู้จักทำสิ่งที่ปรุงแต่งจิตนั้นให้ถอยกำลัง คือทำจิตสังขารให้ถอยกำลัง ก็หมายความว่า เราสามารถควบคุมจิตได้โดยทางเวทนา ควบคุมจิตสังขารได้ โดยทางที่เราทำให้มันถอยกำลัง เพราะว่าจิตเริ่มอยู่ในอำนาจของเรา
ทีนี้ขึ้นหมวดต่อไป หมวดจิตตานุปัสสนา ขั้นที่ ๙ ดูจิตในลักษณะต่างๆ นั้นก็เพื่อให้เห็นว่า จิตสังขารชนิดไหนมันปรุงแต่งให้เกิดจิตในลักษณะไหน จิตในลักษณะหนึ่งๆ ก็มาจากจิตสังขารหนึ่งๆ เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นจิตว่า ประกอบด้วยราคะบ้าง ไม่ประกอบด้วยราคะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ไม่ประกอบด้วยโทสะบ้าง หดหู่บ้าง ไม่หดหู่บ้าง ผ่องใสบ้าง ไม่ผ่องใสบ้าง กระทั่งว่า บางครั้งเป็นจิตที่ดีที่สุด เป็นที่พอใจที่สุด ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าบ้างอย่างนี้ นี่ก็เป็นผลของความรู้ ที่รู้ดีมาแต่ในอันสุดท้ายของหมวดที่ ๒ อันแรกของหมวดที่ ๓ นี่ก็ถึงทำให้สามารถรู้จักจิตในลักษณะต่างๆ ได้ดี นี่ก็เรียกว่า จิตตะปฏิสังเวที (นาทีที่ 40.10) รู้พร้อมเฉพาะถึงจิต ในลักษณะต่างๆ กันอยู่ทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า นี่ก็แปลว่ารู้เรื่องอะไร ความลับ หรือว่าธรรมชาติ หรือว่าอะไรต่างๆ ของจิต ดีมากพอที่จะลอง ที่จะสามารถบังคับจิตได้ตามต้องการ แล้วก็ลองดู เช่นบังคับจิตให้รู้สึกปราโมทย์ ปีติอย่างยิ่ง แล้วก็ทำได้ ทำจิตให้ปราโมทย์ และก็กำหนดความปราโมทย์ของจิตนั้นอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้า-ออก นี้ลองดูอย่างอื่นบ้าง ปราโมทย์อย่างเดียวไม่แน่ว่าชนะถึงที่สุดแล้ว ก็ลองบังคับจิตให้หยุด หยุดปราโมทย์ ให้ตั้งมั่นให้หยุด ก็ทำได้อีก
ดังนั้นในขั้นที่ ๑๐ นี้จึงกำหนดความที่จิตตั้งมั่น แน่วแน่นี่ ตอนนี้ไม่ใช่ตั้งมั่นแน่วแน่แบบทำให้เกิดฌานแบบตอนต้นๆ โน้น มันเป็นการตั้งมั่นเพราะบังคับ เพราะชักจูงได้ตามต้องการ กำหนดความที่จิตตั้งมั่นอยู่เป็นอารมณ์ทุกครั้งที่มีการหายใจออก-เข้าเรื่อยไป ที่นี้เมื่อเป็นที่พอใจแล้ว มันก็เลื่อนขั้นต่อไปถึงที่ว่า ทำจิตให้ปลดเปลื้อง ปราศจากสิ่งรบกวนห่อหุ้ม ความรู้สึกใดๆ ที่ปรากฏอยู่กับจิต หัดบังคับสลัดออกไป ความรู้สึกเป็นกิเลสเล็กๆ น้อยๆ นั่น นี่ โน่น ที่จิต ที่จะปรุงแต่งกันขึ้นมาในจิตนี่ สลัดออกไปได้โดยง่ายดาย ได้ง่ายดาย ง่ายดายๆ คือทำจิตให้เกลี้ยงเกลาอยู่ได้ นี่เป็นอันสุดท้ายของหมวดที่ ๓
ในที่นี้มีข้อสังเกตอีกอันอีกแหละ ที่มันผิดจากที่เราเคยเรียนเคยสอนกันในโรงเรียนนักธรรม พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวอานาปานสติ ว่าเป็นสิ่งที่มีได้แต่ผู้ที่มีสติหลงลืมแล้ว ปราศจากสัมปชัญญะ นี่แปลกตรงที่ว่า หมายความว่า เพราะมีสติสัมปชัญญะอยู่ใน ในการปฏิบัติหมวดนี้ จึงถือว่าการปฏิบัติหมวดนี้ เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า จิต เอาความมีสติสัมปชัญญะนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิต หรือเป็นจิต แต่ที่แท้มันก็เอาจิตเป็นอารมณ์อยู่ทุกอย่างแล้ว แต่ทำไม พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสอย่างนี้อีก ในเมื่อ เมื่อจะอธิบายว่า ทำไมจึงเรียก ไอ้ ๔ อย่างหมวดนี้ว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ท่านตรัสไว้อย่างนี้ เมื่อมีสติ ไม่ลืมหลง มีสัมปชัญญะ เต็มที่ นี่กล่าวว่า อานาปานสติหมวดนี้ ทีนี้เราบังคับจิตได้ตามต้องการถึงขนาดว่า ให้มันปราโมทย์ก็ได้ ให้มันหยุดอยู่เฉย ก็ได้ ให้มันปลดเปลื้องอะไรออกไปเสียให้ เกลี้ยงเกลาก็ได้ ที่นี้ก็จะดูไอ้สิ่งต่างๆ ที่มันจะเกิดขึ้นนี่ ในการที่มันมาเกี่ยวข้องกันอยู่กับจิต การปฏิบัติขั้นถัดไป คือขั้นที่ ๑๓ ในหมวด ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น ก็คือจะดูลักษณะของความไม่เที่ยง ที่ทุกสิ่งที่มันปรากฏอยู่ในความรู้สึกในขณะนั้น ถ้าลมหายใจปรากฏ ก็ดูลมหายใจว่าไม่เที่ยงอย่างไร ถ้าลมหายใจที่เป็นตัวกายสังขาร มันระงับลงไปเพราะการกระทำอย่างไร ก็ดูความไม่เที่ยงของลมหายใจชั่วเดี๋ยวนี้มันระงับลง เมื่อตะกี้มันไม่ได้ระงับเลย ดูทุกอย่าง ดูทีละอย่าง ทีละอย่าง ทุกอย่าง แม้ผลที่มันเกิดขึ้น เช่น ฌาน หรือ รูปฌาน ต่างๆ นี่ ก็ดูความไม่เที่ยง ของรูปฌานต่างๆ นั้น ในขั้นที่กำหนดปีติเป็นอารมณ์อยู่ ก็ดูความไม่เที่ยงของปีตินั้น นี่หมายความว่า เราปฏิบัติอยู่ในขั้นที่ ๑๓ นี่ ดูความไม่เที่ยงนี้ จะต้องย้อนหลังไปปฏิบัติ มาแต่ขั้นที่ ๑ เพื่อจะดูความไม่เที่ยงในขั้นที่ ๑ ดูวามไม่เที่ยงในขั้นที่ ๒ ดูความไม่เที่ยงในขั้นที่ ๓ จนมาถึงไอ้อันสุดท้ายขั้นที่ ๑๓ นั้นตามบัญชีหางว่าวนี้ ก็ดูความไม่เที่ยงของลมหายใจยาว ดูความไม่เที่ยงของลมหายใจสั้น ดูความไม่เที่ยงของกายสังขาร ดูความไม่เที่ยงของการที่กายสังขารระงับลง ดูความไม่เที่ยงของปีติ ดูความไม่เที่ยงของสุข ดูความไม่เที่ยงของจิตสังขาร ดูความไม่เที่ยงของการที่จิตสังขารระงับลง และก็ดูความไม่เที่ยงของจิตที่เปลี่ยนไปในลักษณะนั้น ในลักษณะนี้ ดูความไม่เที่ยงของจิตที่กำลังปราโมทย์อยู่ ดูความไม่เที่ยงของจิตที่กำลังตั้งมั่นอยู่ ดูความไม่เที่ยงของจิตที่กำลังปลดเปลื้องอยู่ นี่คืออนิจจานุปัสสี กำหนดอยู่ที่ความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวงเหล่านี้อยู่ตลอดเวลาที่หายใจเข้า-ออก
พรุ่งนี้ขยายความออกไปถึงอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา หมดเลยก็ได้ และดูในความเป็นความสัมพันธ์เกี่ยวโยง คือดึงเอา ปฏิจจสมุปบาท มาเกี่ยวข้องด้วยก็ได้ เพราะว่าลักษณะของปฏิจจสมุปบาทนั้น แสดงความไม่เที่ยงได้ดีที่สุด ที่นี้การเกิดขึ้นแห่งกิเลสครั้งหนึ่ง ก็เป็นปฏิจจสมุปบาท วงหนึ่ง แล้วดูความไม่เที่ยงที่นี่ ที่วงของปฏิจจสมุปบาท นั้นน่ะ เป็นการดูความไม่เที่ยงอย่างลึกซึ้งที่สุด ดูความไม่เที่ยงของขันธ์ ของธาตุ ของอายนะต่างๆ ก็เห็นความไม่เที่ยงอยู่มากเหมือนกัน แต่ไม่ละเอียด ไม่ลึกซึ้ง ไม่นักเลง เท่าที่ดูความไม่เที่ยง ในขณะของ ปฏิจจสมุปบาท ปฏิสัมภิทามรรค แนะนำไว้อย่างนี้ ดูความไม่เที่ยงนี้ ดูกันมากมาย ดูกันจนมัน กว่ามันจะเกิดความรู้สึกที่เป็นวิราคะ ถ้ามันยังไม่เกิดความรู้สึกที่เป็นวิราคะ ก็ดูมันเรื่อยไป จะปฏิบัติในขั้นนี้ กี่วัน กี่เดือน กี่ปี ก็ตามใจ ที่นี้เมื่อมันประสบความสำเร็จ มันก็เกิดความรู้สึกที่เป็นวิราคะ คือเบื่อหน่าย หรือคลายกำหนัดปรากฏขึ้นมาในความรู้สึก ก็ดูไอ้ความคลายกำหนัดนี้ ดูตัวธรรมะ คือความคลายกำหนัด ที่เป็นสิ่งที่เกิดอยู่ในจิต หรือในความรู้สึก เพ่งไอ้ตัววิราคะ วิราคะ นั้น อยู่ในขั้นนี้ คือขั้นที่ ๑๔ แล้ววิราคะนี้มันก็ส่งให้เกิดนิโรธะ อย่างไม่มีทางจะไปไหนได้ มันมีลักษณะของนิพพาน ในนี้เราจากวิราคะไปถึงนิพพาน เลย เราเคยมีลำดับที่ละเอียด ที่ใช้ท่องกัน นิพพิทา วิราคะ วิมุตติสุข สันติ นิพพานนี่ มีอะไรแทรกอยู่ตรงนั้นตั้ง ๒-๓ อย่าง แต่เดี๋ยวนี้มันทีเดียวไปถึงนิพพาน หรือนิโรธะกันเลย คือความดับของกิเลส ของความทุกข์ คือว่าหัวข้อเขาย่อไว้เพียงเท่านี้ ที่แท้มันก็ผ่านไปอย่างที่ละเอียด ว่าเป็นกี่อย่างอีกก็ได้ นิพพิทา วิราคะ วิมุตติ วิสุทธิ์ สันติเหล่านี้ แล้วจะแยกซอยไปสักเท่าไหร่ก็ได้ นี่หัวข้อมันจะมากนัก เช่นเดียวพูดถึงอนิจจังอย่างเดียว ก็คลุมไปถึงทุกข์ขัง อนัตตาด้วย พูดถึงวิราคะ กับ นิโรธะ เพียง ๒ ชื่อเท่านั้น แล้วมันก็ครอบคลุมไปถึงชื่อต่าง ๆ ถ้ามันจะแยกซอยออกไปได้ระหว่างนั้น ก็มีอยู่ในนั้น ทีนี้มันมีความแน่นอนอยู่อย่างหนึ่งว่า ถ้าเห็นอนิจจังแล้วมันก็ต้องเกิดวิราคะ มันเกิดวิราคะ แล้วก็เกิดนิโรธะ โดยที่มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้ามันได้ปฏิบัติถูกต้องมาถึงการเห็นอนิจจังแล้ว ไอ้เรื่องวิราคะ นิโรธะ นี่ไม่ต้องสงสัย มันต้องไปตามเรื่องของมัน คือต้องเกิดขึ้นมาจนได้ เมื่อเห็นความดับของกิเลสหรือความทุกข์แล้ว มันก็เรียกว่า อันสุดท้ายนั่น ดู ดู เพียงว่ามันเป็นอย่างนั้นแล้ว ความดับลงแห่งกิเลส หรือความทุกข์นี้มันคล้ายๆ กับว่า เป็นการสาดเทออกไปจาก จาก จากจิต นี่จึงเขาใช้คำว่า ปฏินิสสัคคะ ผมชอบพูดอุปมาในข้อนี้ว่า คืนเจ้าของเดิม ปฏินิสสัคคะ นี้คืนให้เจ้าของเดิม คือสิ่งต่างๆ เป็นธรรมชาติ เป็นของธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ที่นี้จิตมันโง่ มันไปเอามาเป็นของกู เป็นตัวกู มายึดมั่นถือมั่น เป็นของกู พอปฏิบัติถึงตอนนี้ ไอ้นิโรธะ เป็นความดับไอ้ความโง่อันนี้ ดับแห่งตัวกู ของกู มันก็มีลักษณะเหมือนเอาไปคืนเจ้าของเดิม ให้ธรรมชาติกลับไป ก่อนหน้านี้เราเป็นโจรปล้นเอามาเป็นของเรา เพราะความโง่ ยึดถือว่านั่นของกู นี่ตัวกู พอมันฉลาดขึ้นมา มันก็เหมือนกับคืนกลับเจ้าของเดิม ไม่ยึดถือว่าอะไรเป็นตัวกู ของกูอีกต่อไป เรื่องมันจบ
ในรอบนี้ ผมมุ่งหมายต้องการจะให้ทุกท่านดูไอ้ความที่มันสัมพันธ์กันทั้ง ๑๖ ขั้น อย่างเป็นสาย ที่มันจะขาดตอนไม่ได้ ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็เรียกว่าถูก ทีนี้ถึงตอนสุดท้ายที่เป็น ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนี่ เราชอบอธิบายเอาอย่างง่าย ๆ นี่ เราเรียนและสอนกันอยู่ในโรงเรียนนักธรรมว่า ธรรมะที่เรียกชื่อว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ นี่ ถูกเอามาพิจารณากันในตอนนี้ อย่างที่เขียนไว้ในมหาสติปัฎฐานสูตรทีฆนิกาย ดังนั้นจึงเรียกการปฏิบัติกลุ่มนี้ว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่พระพุทธภาษิตในสูตรนี้กลับเขียนเป็นอย่างอื่น ว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้น เป็นผู้เพ่งเฉพาะอย่างดีแล้ว เพราะเห็นการละเสียได้ ซึ่งอภิชชาและโทมนัสด้วยปัญญา ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เดี๋ยวนี้มันมีการละอภิชชา นำอภิชชาและโทมนัส ออกเสียได้ นำอภิชชาและโทมนัสในโลกนี้ออกเสียได้ อภิชชาและโทมนัส ในที่นี้คือความยึดมั่น ยึดมั่นทางชอบ ทางไม่ชอบ ในโลกนี้คือในอารมณ์ทั้งปวง เดี๋ยวนี้นำออกได้ แล้วดูความจริงข้อนี้ อันนี้เป็นธรรม ธรรมนี้เป็นอารมณ์ของสติในเวลานี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกสตินี้ว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นไหมว่ามันผิดกับที่เราเคยเรียนเคยสอนกันอยู่ในโรงเรียน และอันนี้ก็คือสิ่งที่ผมเรียกว่าแนวสังเขปของอานาปานสติ ที่ทุกคนจะต้องเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ก่อนลงมือปฏิบัติ กลับไปนี้ก็ขอให้ไปทบทวน เอาไอ้รายการ ๑๖ นี้ ไปทบทวนไม่นั้นจะเฝือแล้วจะลืม ไปทบทวนให้เข้าใจอย่างที่ผมพูดมาแล้ว ที่ฟังแล้วเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง หรือเข้าใจแล้วจะเริ่มเลือนเสียนี่ ไปทบทวนให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ถ้าเราจะได้พูดกันต่อไป จนถึงกับสามารถจะลงมือปฏิบัติลองดู เมื่อทำทั้ง ๑๖ ขั้นอย่างนี้แล้ว เรียกว่าทำสติปัฏฐานทั้ง ๔ สมบูรณ์แล้ว เมื่อสติปัฏฐานทั้ง ๔ สมบูรณ์แล้ว โพชฌงค์ ๗ ย่อมบริบูรณ์ คือว่าจะหาพบไอ้ธรรมะทั้ง ๗ ข้อนั้น ในสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเราจะคอยดูกันทีหลัง เมื่อโพชฌงค์ ๗ สมบูรณ์ในลักษณะนี้แล้ว วิชชาและวิมุตติ ย่อมสมบูรณ์ เพราะว่าการเจริญอานาปานสติ หรือสติปัฏฐาน หรือว่าโพชฌงค์แบบนี้ มันมีแต่น้อมไปเพื่อนิพพาน ไม่น้อมไปเพื่ออย่างอื่น โวสสัคคะปริณานิง ใช้คำว่าอย่างนั้น มีแต่น้อมไปเพื่อโวสสัคคะ เพื่อนิพพาน มันไม่น้อมไปเพื่ออิทธิปาฏิหารย์ หรือไม่น้อมไปเพื่อหูทิพย์ ตาทิพย์ อะไรก็ไม่รู้ มีแต่จะน้อมไปเพื่อนิพพาน เพราะฉะนั้นจึงทำให้วิชชาและวิมุตติสมบูรณ์ได้ เรื่องมันก็จบกัน แค่วิชชาและวิมุตติ
อานาปานสติ สติกำหนดสภาวะธรรม อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๑๖ อย่างนี้ อยู่ทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า และ ๑๖ ขั้นนี้ แบ่งเป็น ๔ หมวด ตามชื่อของ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นเมื่อทำครบทั้ง ๑๖ ขั้นแล้ว ย่อมได้ชื่อว่า สติปัฏฐาน ๔ ย่อมสมบูรณ์ เมื่อสติปัฏฐาน ๔ สมบูรณ์แล้ว ย่อมทำโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้สมบูรณ์ เมื่อโพชฌงค์ทั้ง ๗ สมบูรณ์แล้ว วิชชา และวิมุตติ ย่อมสมบูรณ์ นี่จบแนวสังเขป หรือ outline ของระบบอานาปานสติ เท่านี้ พอดีก็หมดเวลาที่เรามี