แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายวันนี้ ก็อยากจะให้เป็นการบรรยายเพื่อประโยชน์แก่ผู้บวชใหม่ต่อไปอีก เนื่องจากเห็นว่ามีไอ้ความคิดหรืออุดมคติบางอย่างที่เป็นของเก่าๆ ยังมีอยู่แล้วก็ไม่เป็นที่ทราบกันในหมู่คนปัจจุบัน ในหมู่ภิกษุสามเณรในปัจจุบัน มันนั้นก็เป็นสิ่งที่เคยช่วยให้คนก่อนๆ ให้รอดตัวมาได้ ข้อนี้หมายความว่า คนก่อน ๆนั้น ภิกษุ สามเณร อุปัชฌาย์อาจารย์ก่อนๆ เขาไม่ได้รู้อะไรมาก แต่แล้วก็เอาตัวรอดมาได้ สืบศาสนามาถึงพวกเราได้ นี้เราควรจะเสียเวลา ยอมเสียเวลาพิจารณาดูกันบ้าง อาจารย์ผู้เฒ่าคนหนึ่งซึ่งคุ้นเคยกับผม แกพูดว่า สมัยนี้เขาเป็นพระวิทยาศาสตร์กันทั้งเพ ผมสมัครเป็นพระธรรมชาติ ท่านว่าอย่างนั้น แกแบ่งพระออกเป็น ๒ พวก เป็นพระวิทยาศาสตร์ กับ พระธรรมชาติ ท่านไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรท่านเรียกด้วยคำ ๒ คำนี้ พระวิทยาศาสตร์ก็เป็นพระสมัยใหม่ ปรูดปราดในการศึกษาเล่าเรียน การอะไรต่างๆ พระธรรมชาติก็ไม่ค่อยจะรู้อะไร ดูมันทึมๆไปตามแบบเก่า หรือคนหัวเก่า และต่อมาก็พระธรรมชาตินี้ก็ค่อยๆ หายไปยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น พระวิทยาศาสตร์ก็มีมากขึ้น มากขึ้น จนเต็มไปหมด ท่านว่าอย่างนั้น นี่เป็นเรื่องในไม่กี่ปีมานี้เอง ไอ้พระธรรมชาติของท่าน ก็คือ พระที่เอาตามแบบเก่าไม่รู้อะไรมากรู้แต่กิจวัตร ๑๐ อย่างเท่านั้น แล้วก็ปฏิบัติอย่างสุดชีวิตจิตใจ แล้วก็รอดมาได้ ให้เราลองฟังดูว่าไอ้ ๑๐ อย่างนี่มันเป็นอย่างไร? แล้วก็ถ้าทำกันอย่างเต็มที่ก็ทำให้เป็น พระธรรมชาติ พระป่า พระเถื่อน พระอะไรทำนองนั้น แต่ว่าเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ทันสมัย โบรงโบราณเต็มที ที่เรียกว่ากิจวัตร ๑๐ ประการนี้มันพูดรวมๆ กันไป ทั้ง กิจ และ วัตร ไอ้กิจ นี้คือ บังคับให้ต้องทำ ไอ้วัตรนั้น ปล่อยตามใจชอบ รวมกันเป็น กิจวัตร เพราะว่าข้อนี้มันเอาแน่ไม่ได้ บางทีไอ้ที่บางคนเห็นว่าจำเป็น อีกคนหนึ่งก็ไม่เห็นว่าจำเป็น หรือไอ้สิ่งที่เรียกว่า วัตร นั้นคือ ปล่อยตามใจชอบนั้น บางคนเห็นว่าสำคัญบังคับให้ต้องทำ ดังนั้น อาจารย์ อาจารย์แต่โบรมโบราณท่านไม่ค่อยแยกกัน ไม่แยกกันโดยตัวหนังสือ ไม่แยกกันให้มันยุ่งในทางคำพูด รวมเรียกว่า กิจวัตร ก็แล้วกัน
ข้อที่ ๑ บิณฑบาต
ข้อ ๒ กวาดวัด
ข้อ ๓ ปลงอาบัติ
นี่ ท่องกันง่ายๆ อย่างนี้ เรียกว่า กิจวัตร
ข้อ ๑ บิณฑบาต ฟังทีแรกก็คล้ายกับว่ามันต้องไปบิณฑบาตเพราะถ้าไม่ไปก็ไม่มีอะไรฉัน มันก็เลยจำเป็น แต่ว่าครูบาอาจารย์สมัยโบราณเขาไม่ได้ถืออย่างนั้น เขาถือเป็น ของศักดิ์สิทธิ์ ไปบิณฑบาตนี้เป็นการกระทำที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ไปก็ไม่เป็นพระ ถือกันอย่างนั้น ไม่ต้องอธิบาย ไม่ต้องอธิบายให้มาก นี่คือ วิธีการของคนสมัยเก่าไม่ต้องอธิบายกันมาก ยกให้เป็นความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ทำก็ใช้ไม่ได้ เขาถือว่าอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงต้องไปบิณฑบาต ที่จริงมันก็ตรงกับหลักใน นิสสัย ๔ ที่บอก อนุศาสน์ กันตั้งแต่วันบวชว่า บรรพชาอาศัยการบิณฑบาต ดังนั้น ก็ต้องถือกันเป็นหลักว่า เป็น พระ ก็ต้องไป บิณฑบาต ยกให้เป็นข้อศักดิ์สิทธิ์เสีย
ทีนี้เรามามองดูว่า ไอ้บิณฑบาตนั้นมันมีความหมายอย่างไร? ก็ความหมายอันแรกมันตั้งต้นได้ว่า ไม่ให้หุงข้าวกิน คำว่า หุงข้าวกินนั้นมันไม่ได้มีความหมายแต่เพียงว่าหุงข้าวกิน มันมีความหมายเหมือนว่า มันตามใจตัว หรือว่ามันจะเอาตามใจตัว หรือมันผิด ผิดความมุ่งหมาย ผิดเจตนารมณ์ของการเป็นนักบวช จึงห้ามไม่ให้นักบวชหุงข้าวกิน ถ้าหุงข้าวกินก็เป็น อาบัติ ก็คือ กินในสิ่งที่ทำให้เป็น อาบัติ ก็กิน อาบัติ เข้าไป แม้แต่สะสมอาหารไว้ในที่อยู่ก็ยังไม่ได้ รับ ประเคน เก็บไว้ค้างคืนก็ไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น อย่า อย่าให้มันแคบตามตัวหนังสือ ให้มันกว้างว่าเราจะได้ประโยชน์กี่อย่าง กี่มากอย่าง ไม่หุงข้าวกินเพราะมันผิดเรื่องของพระ ก็ขยายความออกไปว่าไม่ทำอาหารกิน ไม่ปรุงอะไรกิน ไม่ทำตามปาก-ตามลิ้น แล้วก็ไม่มีภาระในการสะสมอาหาร ทีนี้ มองไปข้างนอกมันก็เป็นการลดตัวเองให้เป็นคนขอทาน ก็ไปขออย่างคนขอทาน นี่มันช่วยลดไอ้ความยกหู-ชูหาง ไอ้ถือเนื้อ-ถือตัว แล้วก็ยังมีผลอย่างอื่นอีกมาก เช่นว่า มันต้องไม่ขี้เกียจไปบิณฑบาต ไม่บิณฑบาต ก็คือ ขี้เกียจ หรือนอนสาย ทีนี้ มันก็ต้องไม่ขี้เกียจ ลองนึกดูบางวันขี้เกียจจะไปบิณฑบาต แล้วมันยังได้สิ่งที่มองไม่เห็น หรือว่าไม่มอง คือว่า อนามัย มันก็ต้องเดินไปออกกำลัง อากาศเช้าๆ ก็ยังดี มันก็เป็นเรื่อง อนามัย ทีนี้ เกี่ยวกับผู้อื่น มันก็เป็นการทำให้ผู้อื่นได้บุญ ทำให้มีความมั่นคงของแก่การตั้งอยู่ของศาสนา อะไรอย่างนี้ เป็นต้น มันมากเหลือเกินเพียงแต่คำพูดแค่ว่า บิณฑบาต คำเดียว เพราะฉะนั้น คนโบราณ ครูบาอาจารย์แต่กาลก่อนเขาถือเป็นคำศักดิ์สิทธิ์คำหนึ่ง เป็น กิจวัตร ข้อแรกที่ว่า จะต้อง บิณฑบาต นี่ผมพูดให้ฟังแต่ใจความย่อๆ ไปคิดเอาเองให้มันมากออกไปก็ได้
ทีนี้ กิจวัตรข้อที่ ๒ ก็ กวาดวัด ตามตัวหนังสือ ก็คือ กวาดลานวัด การกวาดลานวันนี้เป็นของศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน เป็นการกระทำที่ศักดิ์สิทธิ์ สมัยก่อนเขาทำในฐานะที่มันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ต้องใช้ คือว่า อุปัชฌาย์อาจารย์ไม่ต้องใช้ จะมีพระกวาดวัดด้วยความเชื่อในทำนองศักดิ์สิทธิ์ ไม่กวาดก็ใช้ไม่ได้ หรือไม่เป็นพระหรืออะไรกันไปเลย เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเห็นวัดสมัยโบราณแล้วก็จะเห็นไม้กวาดมีมาก ไม้กวาดมีมากเกินจำนวนพระ-เณร ผู้ถวายไม้กวาดเขาถือว่าเป็นอานิสงส์อย่างยิ่ง เขาอุตส่าห์เอาไอ้ไม้กวาดหรืออุปกรณ์การทำไม้กวาดมาให้ มันเป็นก้านต้นปาล์มชนิดหนึ่งก้านยาวแข็งเท่าดินสอ เอามามัดมาถักกันดีๆ แล้วก็เป็นไม้ที่เขาเรียก ไม้กราด ที่แท้ก็คือไม้กวาด มันยาวตั้ง ๖ ศอก ๘ ศอกก็มี จับที่ตรงกลางแล้วมันมีแรงเหวี่ยง แรงเหวี่ยง ๒ ข้างก็เหวี่ยง ไอ้ไม้กราดชนิดนี้ผมทันเห็น และทันใช้ และทันกวาดแรกบวชใหม่ๆ เดี๋ยวนี้หายหมด เหงื่อโทรม การใช้ไม้กวาดชนิดนี้ กลับมาจาก บิณฑบาต ก็จับไม้กวาดแล้วเหงื่อโทรม พักหนึ่งก็ไปอาบน้ำแล้วตีกลองฉัน เพราะฉะนั้น หญ้ามันขึ้นไม่ได้ด้วยอำนาจของไม้กวาดชนิดนี้ มันเเรงมาก ไอ้เม็ดของหญ้าที่มันตกลงและจะงอกเป็นหน่อหญ้าขึ้นมานี้ ถูกกวาดไปหมด แล้วยังกวาดลานที่ปูกระเบื้อง กวาดลานพระเจดีย์ ฐานพระเจดีย์ ต้นโพธิ์นี้ เขาไม่ได้มุ่งหมายความสะอาดเพราะการกวาดนั้นอย่างเดียว แล้วก็มุ่งหมายเหมือนกันในเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาดของวัดวาอารามเป็นเครื่องประทับใจ แต่เขามุ่งหมายส่วนใหญ่ คือ ให้กวาดหัวใจของคนกวาด คือ กวาดความเห็นแก่ตัว ท่านลองสังเกตดู เอาไม้กวาดแล้วไปกวาดแล้วสังเกตดูว่ามันกวาดหัวใจของเราหรือเปล่า? ไม้กวาดมันไม่ได้กวาดแต่พื้นดิน มันกวาดหัวใจของคนกวาดให้สะอาดด้วย เพราะถ้าใครกวาดอยู่ได้คนนั้นก็ต้องมีความเสียสละความเห็นแก่ตัวออกไป มันกวาดความเห็นแก่ตัว เรียกว่า กวาดกิเลส ก็ได้เหมือนกัน ความเห็นแก่ตัวนี้ทำให้ โลภ ทำให้ โกรธ ทำให้ หลง มาจากความเห็นแก่ตัว กวาดความเห็นแก่ตัว คือ กวาดกิเลส เพราะฉะนั้น เมื่อกวาดดิน กวาดพื้นดินมันทำให้กวาดกิเลสในใจ แต่แล้วก็ไม่มีใครรู้สึก ไม่ต้องการพิสูจน์เลยไม่รู้สึก นี่, คนประเภทนี้ที่เรียกว่า พระธรรมชาติไม่ใช่พระวิทยาศาสตร์ พระธรรมชาตินี้มีอะไรสำหรับทำให้มีความเป็นพระมากโดยไม่ต้องเล่าเรียน โดยไม่ได้เล่า ไม่ได้เรียน ไม่ได้สอบ ไล่ไม่ได้อะไร แต่มันมีกวาดกิเลสอยู่โดยไม่รู้สึกตัวหลาย ๆอย่าง ไอ้ความเป็นพระมันถึงน่าดูกว่าพระวิทยาศาสตร์ เรียนเก่ง พูดมาก แต่ก็ยกหู-ชูหางเสียสูง ความเป็นพระมันก็น้อยเพราะจิตใจมันไม่ถูกกวาด นี่เขาถึงเรียกว่าเป็น กิจวัตรข้อสำคัญข้อที่ ๒-กวาดวัด มุ่งหมายผลว่าเป็นการกวาดหรือทำลายกิเลส-ความเห็นแก่ตัวออกไปเสีย แล้วก็เห็นแก่ส่วนรวม เห็นแก่พระศาสนา ส่วนที่ว่าเป็นอนามัยในการออกกำลังตอนเช้าเหงื่อไหลนี้มันก็มีอยู่เหมือนกัน เขาก็ไม่ได้รู้ไม่ได้นึกกันในแง่นี้ ถ้านึกในแง่นี้มันเป็นธรรมดาไม่ศักดิ์สิทธิ์ กวาดลานพระเจดีย์ กวาดลานต้นโพธิ์นี้มีมากในคัมภีร์เก่าๆจะพูดถึง เดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยกวาดกัน แม้พระบ้านนอกก็ไม่กวาด พระในกรุงก็มีลูกจ้างของวัดคอยทำให้ มันก็เลยเปลี่ยนแปลงหมด ไอ้ผลที่เคยได้-ก็ไม่ได้ ไอ้ความศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองจิตใจอย่างลึกซึ้งอย่างมองไม่เห็นนี้ก็เลยหมดไป หมดไป นี่, ลองไปคิดดู ลองเป็นพระธรรมชาติถือเอาประโยชน์ในแนวนี้กันดูบ้าง
ทีนี้ ข้อที่ ๓ เรียกว่า ปลงอาบัติ / บิณฑบาต กวาดวัตร ปลงอาบัติ ก็ถือเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์อีกเหมือนกัน พอฉันข้าวเสร็จเท่านั้น ก็ลุกย่องๆ ปลงอาบัติ ที่โรงฉันนั้นเอง เป็นคู่ เป็นคู่ เป็นคู่ไป เต็มไปทั้งโรงฉันถ้ามีพระมากๆเขาทำกันอย่างนี้ ด้วยความยึดมั่น-ถือมั่นในเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ทีนี้ มันเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา บางคนก็คิดไปในแง่ว่างมงาย ทำอย่างงมงาย อาบัติต้องหรือไม่ต้องหรือก็ตามใจ พอฉันข้าวเสร็จก็ลุกขึ้นนั่งยองๆ เป็นคู่ๆ ปลงอาบัติ ทุกองค์ก็ท่องจำได้แม่นยำ ปลงอาบัติ แล้วส่วนมากก็ไม่รู้หรอกว่าอะไร แต่ในใจรู้ว่านี่ ปลงอาบัติ ไอ้ ปลงอาบัติ นั้นมีในวินัย ในบาลีระบุชัดว่าเรารู้ว่าเราเป็น อาบัติ อะไร แล้วก็ไปบอกเพื่อนให้รู้ สัญญาว่าจะไม่ทำอีก อย่างนี้เรียกว่า ปลงอาบัติ พวกที่ถืออย่างนั้นมันก็ไม่ค่อยได้ ปลงอาบัติ นะ บางทีก็เถลไถลไปเสีย ไอ้พวกที่ถืออย่างงมงายนี้ ปลงอาบัติ ทุกวัน ทุกวัน ให้เราดูไอ้เจตนาของไอ้วินัยหรือว่าระเบียบธรรมเนียมข้อนี้ ก็คือ ต้องการให้เป็นคนไม่ปกปิดความลับ เป็นคนเปิดเผย เป็นคนว่าง่าย แต่แล้วมักจะทำกันเสียความมุ่งหมาย คือว่า ทำตามธรรมเนียม ทำพอเป็นพิธี แต่ถึงอย่างไรก็ตามเถิดสังเกตดูแล้วยังรู้สึกว่ายังมี หิริโอตตัปปะ กันอยู่มากกว่า กว่าพวกที่เห็นว่า ปลงอาบัติ แบบนี้มันงมงาย ทีนี้อีกทีหนึ่งหลังจากฉันอาหารแล้ว พอค่ำลงสวดมนต์หัวค่ำแบบนี้ก็มี ปลง อีกเหมือนกัน ปลงก่อนหรือปลงหลังก็เห็นมีปลงกันอยู่มาก เพราะฉะนั้น อย่างน้อยก็วันละ ๒ ครั้งแล้ว ฉันข้าวเสร็จครั้งหนึ่ง แล้วพอจะทำวัตรสวดมนต์เย็นนี้หรือว่าเสร็จแล้วก็ตามอีกครั้งหนึ่ง วันละ ๒ ครั้ง ปลงอาบัติ มีหรือไม่มีก็ไม่รู้ ก็เลยต้องเลยใช้ไอ้คำพูดสำหรับ ปลงอาบัติ นั้นแปลกออกไปจากที่ในบาลี คือในบาลีเขาเขียนว่าเขาระบุให้ชัดว่าเราต้องอาบัติ ชื่ออะไร? เพราะเหตุใด? อะไร? เพราะฉะนั้น ทีนี้ก็วิธีนี้มันก็ไม่รู้ต้อง อาบัติ อะไรก็เลยใช้รวม ๆ กันว่า อาบัติทั้งปวง นะ อาบัติ ที่ถ้าจะต้อง ที่ข้าพเจ้าต้อง อาบัติ ทุกอย่าง เป็นคำว่า อาบัติทั้งปวง ก็มี มันก็เป็นสิ่งที่น่านึกดูว่าคนงมงายแบบนั้น กับคนที่ไม่ทำเสียเลยนี้ อันไหนมันจะดีกว่ากัน? คือว่า อันนั้นจะช่วยสร้างนิสัยจิตใจของเราให้เป็นผู้ไม่ปิดปังความชั่ว ให้เป็นผู้พร้อมเสมอที่จะเปิดเผยความผิดความชั่วอะไรของตัวเอง ถ้ามันมีผลในทำนองนี้อยู่แล้วก็ควรทำอย่างยิ่งเป็นประจำวัน เขาถึงเรียกว่า กิจวัตร การ ปลงอาบัติ เป็น กิจวัตร เช่นเดียวกับการไป บิณฑบาต ทุกวัน กวาดวัดทุกวัน ปลงอาบัติ ทุกวัน ส่วนวันพิเศษนั้นไม่ต้องพูดถึง ที่ในการที่จะไปร่วม สังฆกรรม หรือทำ ปาติโมกข์อะไร ต่ออะไร ปลงอาบัติ ก่อนนะ ก่อนจะไปลง ปาติโมกข์ นั้น ปลงอาบัติ ก่อน แล้วก็เป็นที่แน่ว่าเราไม่มีอาบัติ เพราะฉะนั้น เมื่อเขาถาม ไล่ สิกขาบท ไปทีละข้อ ละข้อ ๆ เราก็ไม่มี อาบัติ เราก็นิ่งอยู่ได้ การนิ่งอยู่ของเราก็เป็นสิ่งที่มีความหมาย ถ้าเราต้อง อาบัติ แล้วยังนิ่งอยู่-นี้ก็ผิด ก็มี อาบัติ เกิดขึ้นที่นั้นทันทีคือ อาบัติ นิ่งทั้งรู้อยู่ว่าเรามี อาบัติ ก็เกิดเป็น อาบัติ ใหม่ทันที แล้วถ้าเป็นสังฆกรรมแม้ไม่ใช่ลง ปาติโมกข์ เช่น ไปบวชนาค ไปนั่งขัดตะหมาด ก็จะ ปลงอาบัติ กันก่อนนะ จึงจะเข้าไปนั่งขัดตะหมาด ก็ทำให้ดีที่สุดว่าให้ทุกคนไม่มี อาบัติ แล้วก็ไปนั่งประชุมกันเป็นสงฆ์ เพื่อทำการ อุปสมบท เขามีเจตนาอย่างนั้น แปลว่า เป็นผู้ที่ระมัดระวังดีอยู่มาก ควรจะไปศึกษาเรื่อง ปลงอาบัติ แม้ว่ามันจะดูงมงายไปสักหน่อยถ้าหากว่าปลงทุกวัน นี่ก็ถือว่าเรามุ่งหมายที่จะฝึกนิสัยให้มันเป็นคนเปิดเผย ก็ยังมีทางออก ดีกว่าจะให้มันปล่อยๆไปจนลืมไปเลย จนกระทั่ง อาบัติ ไม่ถูก หรือว่าจนไม่มีการปลงอาบัติ ก็เป็นเหตุให้เป็นไปในทางที่จะปิดบัง อาบัติ หนักเข้า หนักเข้า แล้วมันก็ลืมตัวมากเข้า มากเข้า นี่ก็เป็นพระวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์แห่งการหลอกลวง ไม่เป็นพระธรรมชาติที่บริสุทธิ์หรือเปิดเผย เพราะฉะนั้น เมื่อบวชใหม่ๆก็อย่าได้ประมาทในข้อนี้ เป็นธรรมเนียมเก่าแก่ที่เดี๋ยวนี้เขาเห็นเป็นงมงาย แต่ผมว่ายังดีอยู่ ยังมีประโยชน์มากอยู่
เป็นอันว่า ปลงอาบัติ ทั้งทุกวัน ทั้งเช้า ทั้งเย็น เพื่อสร้างนิสัยเป็นผู้เปิดเผย สมัยนั้นเขาไม่มีการศึกษาเล่าเรียน ไม่รู้ว่าเรื่อง ปาติโมกข์ นี้ก็ไม่รู้ ฟังก็ฟังอย่างนั้นเป็นภาษาบาลี แล้วก็ไม่รู้กระทั่งว่า อาบัติ อะไรคืออะไร แต่มีมีนิสัยกลัวบาป กลัว อาบัติ เต็มที่ ระวังเท่าที่จะทำได้ ละเว้นระวังเท่าที่จะทำได้เสมอ แล้วก็ ปลงอาบัติ ป้องกันตัวอยู่เรื่อย ทั้งเช้า ทั้งเย็น นี่คือ พระธรรมชาติ พระป่า พระเถื่อน ไม่ใช่พระวิทยาศาสตร์ ที่เป็นพระรู้มาก แก้ตัวได้มาก แก้ตัวได้จนไม่มี อาบัติ เขาเรียนเพื่อ..เพื่อแก้ตัว หรือป้องกันตัว เหมือนที่เดียวนี้เขาเรียนกฎหมายกันเพื่อช่วยคนผิด หรือช่วยตัวเองในการทำผิด โลกมันก็เปลี่ยนแปลงไปมาก
ทีนี้ กิจวัตรข้อที่ ๔ เรื่อง ทำวัตรสวดมนต์ ทบทวนมาดูเถิด บิณฑบาต กวาดวัด ปลงอาบัติ แล้วก็ ทำวัตรสวดมนต์ นี่เราทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น แล้วก็แถมมีสวดมนต์เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ ทำวัตร กับ สวดมนต์ นั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกันนะ ทำวัตร นั้นมันไปทำให้เป็น กิจวัตร แต่ในการแปลเหมือนกับไปเฝ้าพระพุทธเจ้าประจำวัน ส่วน สวดมนต์ มันเป็น การศึกษาเล่าเรียน เรียนมนต์ เรียนเอาความรู้ บท ทำวัตร ก็คือ นมัสการหรือสดุดีสรรเสริญรวมทั้งอ้อนวอนให้เกิดความสุข ใน บททำวัตร เช้า-เย็น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าทำถูกวิธีมันจะมีเหมือน มีอาการเหมือนว่าเราไปเฝ้าพระพุทธองค์ทั้งเช้า-ทั้งเย็น คล้ายๆกับว่าเกิดอยู่ในสมัยเดียวกัน ตอนเช้า-ไปพบพระพุทธเจ้าครั้งหนึ่ง ตอนเย็น-ไปพบพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง เหมือนพระครั้งพุทธกาล เพราะฉะนั้น เราจะต้อง ทำวัตร ให้ถึงขนาดด้วยจิตใจที่ซึมซาบอยู่ในคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ซึมซาบอยู่จริงๆ เหมือนกับมีพระพุทธเจ้ามาจริง ๆ หรือเหมือนกับเราไปหาพระพุทธเจ้าถึงตัวจริง ๆ อย่างนี้เรียกว่า ทำวัตร
เดี๋ยวนี้เราก็มีคำแปลรู้ได้ง่าย สมัยผมแรกบวชไม่รู้ว่าอะไร หาคำแปลดูที่ไหนก็ไม่ได้ ก็ยังทำ ยังทำด้วยความยึดมั่น-ถือมั่นเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เดี๋ยวนี้มันก็ทำให้เป็นจริงของจริงขึ้นมาได้ โดยรู้คำแปล ทำจิตใจให้ซึมซาบ รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ รู้สึกซึมซาบ เอิบอาบ พอใจ ยินดี มีความสุข มีจิตใจเหมือนพระพุทธเจ้า เหมือนพระธรรม พระสงฆ์ขณะหนึ่ง ชั่วขณะหนึ่งก็ยังดี ก็ยังดีกว่าไม่ทำ เพราะเมื่อไปนั่ง ทำวัตร-สวดมนต์ นั้นทำจริงๆ พอลุกขึ้นไปแล้วมันก็ติดไปด้วย มันไม่ใช่หมดเลย มันเกิดเป็นการสร้าง นิสสัย ขึ้นมาใหม่อีกอันหนึ่ง อีกทางหนึ่ง คือ มีจิตใจเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่เป็นประจำ ที่เรียกว่า ได้บุญ ได้กุศลอะไร แล้วแต่จะเรียกในการ ทำวัตร-สวดมนต์ เพราะฉะนั้น ขอร้องให้พิจารณาดูให้ดีๆอย่างนี้ อย่า อย่าทำแต่เพียงว่าเกรงใจผู้ใด หรือว่าเป็นระเบียบบังคับแล้วก็ไปทำ อย่างนี้มันไม่ค่อยได้บุญ ทีนี้ เราก็ทำเพื่อคิดว่าจะฝึกหัดนิสัยให้เป็นคนสม่ำเสมอ ตรงต่อเวลา ขยันทำจิตใจให้ประกอบไปด้วยธรรมะเหมือนพระพุทธเจ้า วันละ ๒ ครั้ง คือ ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ทีนี้ ผู้ที่จริงกว่านั้น เขาก็ยังมีทำตามแบบที่เขาวางไว้สำหรับจะทำเวลาจะนอน หรือว่าเวลาอื่นๆที่เขาพอใจจะทำก็มี ก็เกินวันละ ๒ ครั้ง อาจารย์ผู้เฒ่าท่านเป็นอย่างนั้น ทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น ในโบสถ์ในศาลานี้ท่านไม่นับ ท่านว่ามันเป็นตามธรรมเนียมตามระเบียบกัน พอจะนอนนี่ก็ทำอีก พอตื่นนอนหัวรุ่งก่อนไก่ขันก่อนรุ่งนี้ก็ยังทำอีก อย่างนี้ไม่ทำเป็นหมู่ ทำเฉพาะตัว ก็ถือเป็นเรื่องทำไอ้สมาธิภาวนาอะไรไปด้วยเสร็จ แต่เขาก็สวดอย่างเดียวกันกับเดี๋ยวนี้ มันก็เลยเป็นตั้ง ๔ ครั้งนะ ถ้านับที่ทำอย่างระเบียบในโบสถ์ในศาลานั้น เช้า เย็น แล้วยังทำเวลาจะนอน หรือเวลาตื่นนอนอีกทีหนึ่ง เป็น ๔ ครั้ง มีจิตใจใกล้ชิดพระพุทธเจ้าวันหนึ่ง ๔ ครั้ง เป็นตามธรรมชาติอย่างนั้น ไม่รู้อะไรมากหรอก รู้แต่ว่ามันได้บุญ เป็นที่สบายใจเหมือนกับไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
ข้อนี้มองเห็นได้เลยว่ามันเหมือนกันทุกศาสนา เพราะกำหนดวันเวลาไว้เป็นระยะๆที่จะให้บริษัท หรือ ศาสนิกมีจิตใจเป็นพิเศษ คือ เข้าถึงพระ-เข้าถึงพระเจ้า วันหนึ่งกี่ครั้ง อย่างศาสนาอิสลามที่ทำละหมาดมี ๕ ครั้ง อย่างน้อย ๕ ครั้ง กำหนดไว้เวลาอย่างนั้น อย่างนั้น ดังนั้น ผู้ที่นับถือศาสนาไม่บกพร่องเขาจะทำครบ ๕ ครั้ง ให้สังเกตดูพวกที่ถือศาสนาอิสลามนั้นจะทำ พยายามจะทำให้ครบ ๕ ครั้ง พวกผู้ที่อยู่ในร้านขายของก็พอถึงเวลามันก็ปลีกตัวแวบหนึ่งไปทำละหมาด แล้วก็วิ่งออกมาขายของ พวกที่เดินทางอยู่ในรถไฟผมก็เคยเห็น ทำในรถไฟ แล้วครั้งสุดท้ายตอนเย็น ตอนนี้ก็ทำตอนที่อาบน้ำ ตามริมลำธารริมที่ไปอาบน้ำ ครบ ๕ ครั้งเสมอนะ ศาสนาอื่นมันก็มีไอ้ไปตามรูปตามแบบของเขา ซึ่งความมุ่งหมายมันเหมือนกันหมด เป็นเวลาที่เราไปหาพระเจ้า ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า หรือไปหาพระเจ้าตามแบบของเขา เพราะฉะนั้น มันจึงมีผล คือว่า มีนิสัยที่น่าเลื่อมใส น่านับถือ ซื่อตรง หรือว่าเอาจริง หรือว่าบึกบึน มันเป็นคนตรงต่อเวลา มันเป็นคนจริง บึกบึน แล้วมันมีความเป็นสมาธิ หัดความเป็นสมาธิ ให้มันมีอยู่เป็นระยะ ระยะ ระยะ ระยะ นิสัยของความเป็นสมาธิมันก็มีมากเข้า คนพวกนี้มันมีสมาธิอยู่โดยกำเนิดโดยในสายเลือด ทีนี้ระวังให้ดี พวกเราจะโลเล-เหลาะแหละ อ่อนแอ อ่อนแอ จะสู้พวกนั้นไม่ได้ พวกที่ทำละหมาด ๕ ครั้งจะเก่งกว่าเรา ที่มากกว่านั้นก็ยังถือลูกประคำ ทำสมาธิง่ายๆด้วยลูกประคำอยู่ตลอดเวลา แม้จะเดินไปเที่ยวเล่นหรือจะทำอะไร แม้แต่ขายของบางทีถ้ามีโอกาสทำได้เขาก็ทำในจิตในใจ นี่ก็หัดสมาธิ หัดความเป็นสมาธิ เพราะฉะนั้น คำว่า ไหว้พระ-สวดมนต์นี้ได้คุ้มครองพระธรรมชาติมากนะแต่หนหลัง พระวิทยาศาสตร์ก็ไม่ทำ นี่, ความแตกต่างระหว่างใหม่กับเก่า เขาถือเป็นกิจวัตรว่า ทำวัตร-สวดมนต์ มีความหมายหลายอย่าง แต่ส่วนใหญ่ก็มุ่งหมายให้พวกเราไปถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นพิเศษ-ประจำวัน เพราะระเบียบมันบังคับให้ทำจนกว่าจะซื่อตรงต่อตัวเอง โดยระเบียบไม่ต้องบังคับให้ทำก็ทำ ก่อนแต่นอนหรือว่าตื่นนอนขึ้นมา เป็นคนที่มีนิสัยใจคอ จิตใจเป็นระเบียบ หนักแน่น มั่นคง
ทีนี้ข้อต่อไป พูดให้จำง่ายให้มันเนื่องๆ กันไป ขวนขวายปัจจเวกขณ์ภาวนา ทบทวนดู บิณฑบาต กวาดวัด ปลงอาบัติ ทำวัตรสวดมนต์ ขวนขวายปัจจเวกขณ์ภาวนา เรียกสั้นๆ ว่า ปัจจเวกขณ์ / ปัจจเวกขณ์ นี้ก็เป็นกิจวัตรที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่มีผลอย่างยิ่ง เสร็จแล้วก็เหมือนกันอีกแหละ ก็ทำไปในรูปที่ว่า งมงาย ปัจจเวกขณ์โดยเฉพาะ ก็คือ ปัจจเวกขณ์ปัจจัย ๔ - จีวร บิณฑบาต พิจารณาเสนาสนะ เภสัช ที่เราสวดกันอยู่ สวดปัจจเวกขณ์ สวดเป็นสวดมนต์ไปอย่างนั้น เอามาสวดแปลสวดเหมือนเป็นสวดมนต์ไป เพราะ ปัจจเวกขณ์ จริงๆมันต้องทำตามลำพังทำอยู่ในใจ พิจารณาให้ได้ความจริงตามแนวนั้น ตามแนวของคำพูดที่มีอยู่ใน บทปัจจเวกขณ์ สมัยโบราณนี้ไม่รู้ ผมก็ไม่รู้ เมื่อบวชเข้ามาก็ไม่รู้ แต่ก็ขยัน ปัจจเวกขณ์ มีความหมายที่เหมาๆเอา เมื่อ ปัจจเวกขณ์ - จีวร บิณฑบาต พิจารณาเสนาสนะ ศิลานเภสัช [นาทีที่ 42.43] นับตั้งแต่ได้บุญ แล้วก็ขลัง แต่ถ้าเราดูตามความหมายของถ้อยคำนั้นมันเป็นธรรมะอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะ บทฐาตุปัจจเวกขณ์ เป็น หัวใจของพระพุทธศาสนา การที่ ปัจจเวกขณ์ อยู่อย่างนั้น ก็คือ เอาหัวใจของพระพุทธศาสนามาพิจารณา มาทำให้อยู่กับเนื้อ-กับตัว-กับจิต-กับใจ สมัยแรกทีเดียวมันคงทำสำเร็จประโยชน์ตรงตามนั้น ทีนี้ต่อมา มันเสื่อมมันเปลี่ยนแปลงมันถึงยุคถึงสมัยที่เสื่อม มันก็ไม่รู้แต่ก็ยังทำกันอยู่ก็ยังดี พอเราบวชเข้ามาเพื่อนก็จะบอกว่า ถ้าไม่ ปัจจเวกขณ์ ก็ตายไปเป็นวัวเป็นควายใช้หนี้ข้าวปลาอาหารที่ไปเอาของชาวบ้านมาฉัน เพียงเท่านี้ก็พอแล้ว กลัวพอแล้ว มันต้อง ขยันปัจจเวกขณ์ มีเครื่องนับที่เขาเรียกว่า สายประคำ อันหนึ่งมี ๑๐๘ เม็ดถ้าเต็มที่ แล้วก็เลื่อนไปทีละเม็ด ทีละเม็ด จนครบหัวถึงท้ายก็คือว่าเราได้ ปัจจเวกขณ์ ไป ๑๐๘ ครั้ง ถ้าลูกประคำนั้นมันมีเพียงครึ่งหนึ่ง มีเท่าไหร่? มี ๕๔ ก็ต้องทำ ๒ เที่ยว ทำ ๒ รอบมันจึงจะได้ ๑๐๘ หัวรุ่งก็ ๑๐๘ จะนอนก็ต้อง ๑๐๘ / ๑๐๘ เที่ยว ก็ไม่รู้ว่าอะไร เดี๋ยวนี้เรารู้ คำแปลมี รู้ได้ว่า หัวใจของพระพุทธศาสนา เรื่อง สุญญตา เรื่อง นิสสัตโต นิชชีโว [นาทีที่45.10] หัวใจแท้จริงของพระพุทธศาสนา บวชเข้าก็ให้เรียน เรียนแล้วก็ ปัจจเวกขณ์ ทุกวัน ทุกวัน วันละ ๑๐๘ ครั้ง มันก็น่าเลื่อมใส น่าชื่นใจนะ อนุโมทนา
เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นเรื่องเหลวไหล-งมงายไปแล้ว เมื่อบวชเรียนในระยะอันสั้น บวชพรรษาเดียวในระยะอันสั้น ก็ตั้งใจทำให้มันดีที่สุดทุกอย่างนะ เรียกว่า เป็นเวลาที่ทำได้มาก หรือรวยกันใหญ่สักทีหนึ่ง อะไรต่าง ๆ ที่มันทำได้ ที่มันมีเจตนารมณ์ถูกต้องแท้จริง บริสุทธิ์ ประเสริฐนี้ทำให้ได้ บิณฑบาต กวาดวัด ปลงอาบัติ ทำวัตรสวดมนต์ ขวนขวายปัจจเวกขณ์ภาวนา จะเป็นพระธรรมชาติ พ้นจากความเป็นพระวิทยาศาสตร์ ผมเห็นว่าจำเป็น และเหมาะสม ถึงกับจำเป็นสำหรับพวกเราที่อยู่ที่นี้ อยู่ตามแบบนี้ ถ้าไม่อย่างนั้นจะมาอยู่ที่นี้ทำไม? อยู่-เพื่อเป็นโอกาสให้ทำสิ่งเหล่านี้สุดฝีไม้ลายมือ สุดความสามารถ ให้ได้ผลทางจิตใจมากๆ นี่, ช่วยกันจำไว้ พระอุปัชฌาย์อาจารย์แต่ก่อนท่านทำมาอย่างนี้ รอดตัวกันมาได้อย่างนี้เพื่อเป็นพระธรรมชาติไม่เป็นพระวิทยาศาสตร์ แม้งมงายมันก็คุ้มกันได้ เดี๋ยวนี้เราพ้นจากความงมงายเพราะเรารู้ รู้ รู้สิ่งเหล่านั้นความมุ่งหมายอย่างไร? ว่าอย่างไร?
วันนี้มันก็มีเวลาพูดได้ครึ่งหนึ่ง คือ ๕ อย่างของกิจวัตรทั้ง ๑๐ อย่าง บิณฑบาต กวาดวัด ปลงอาบัติ ทำวัตรสวดมนต์ ขวนขวายปัจจเวกขณ์ภาวนา ไอ้ ปัจจเวกขณ์ นั้นเป็น ภาวนา อยู่ในตัวเสร็จ พิจารณาปัจจัยตามแนวที่ได้วางไว้นั้นแหละ เป็น ปัจจเวกขณ์ ด้วยแล้วก็เป็น ภาวนา ด้วย ภาวนา มุ่งหมายให้เป็น กรรมฐาน ให้เป็นการ เจริญกรรมฐาน มันก็เหมือนกัน ปัจจเวกขณ์ ก็แปลว่า พิจารณา ปฏิ ก็แปลว่า เฉพาะ อิกขะ ก็แปลว่า ดู ปฏิอิกขะ นี่, มันสำเร็จรูปเป็น ปัจจเวกขณ คือ ดูเฉพาะเจาะจง เรียก ปัจจเวกขณ์ ก็เฉพาะ ปัจจัย ๔ แล้วยังมีบทอื่นอีก อภิณหปัจจเวกขณ์ หรือว่า ทศธรรม ก็ยังมีอีก นี่, ปัจจเวกขณ์ ๔ นี่, ทำลงไปก็เป็น ปัจจเวกขณ์ ก็เป็น ภาวนา เครื่องนุ่งห่ม ของกิน เรื่องที่อยู่อาศัย เยียวยารักษาโรค เขาไม่ได้ไปทำ กรรมฐาน อะไรพิเศษ หรือว่าให้มันดีให้มันเด่นให้มันอุตริวิตถารให้เป็นบ้าไปเลย เพียงเท่านี้นี่มันพอสำหรับที่เรียกว่า ทำ กรรมฐาน ทำ ภาวนา ทำ ปัจจเวกขณ์ ถ้าพิจารณา สุญญตา อนัตตา นิสสัตโต นิชชีโว [นาทีที่49.30] อยู่ นี่ก็คือ หัวใจของพระพุทธศาสนา ให้ขวนขวายกันให้เต็มที่ ให้สูงขึ้น สูงขึ้น ละเอียดลออขึ้น กว้างขว้างขึ้น แล้วก็ได้ผล...ได้ผลแท้จริง คือไม่ใช่พิธีรีตอง เดี๋ยวนี้เขาไปทำเป็นพิธีรีตองด้วยความเห่อ เห่อกันไปอีกแบบหนึ่ง เพื่อที่จะได้เป็นพระโสดา สกิคา อนาคา มีอยู่มากมันก็ยิ่งเหลวไปอีก เราไม่หวังที่จะเป็นนั่น เป็นนี่ เราหวังที่จะพิจารณาให้รู้ ให้เห็นจริง ให้ไม่มีทางที่จะเกิดกิเลส มันจะเป็นอะไรก็ตามใจมันก็ต้องเป็นในพวกนั้นเหมือนกัน แต่เราไม่อยากรู้ชื่อว่า โสดา สกิทาคา อะไรก็ไม่อยากจะรู้ชื่อ ไปรู้เข้า มันก็กลายเป็นให้โทษทันที คือ มันยึดมั่น-ถือมั่น จองหอง-ผองขนขึ้นมาโดยไม่ทันรู้ตัวก็เป็นได้ อย่าไปรู้ดีกว่า แต่ว่าทำเต็มที่ในลักษณะที่มันจะขูดเกลากิเลส
เพราะฉะนั้น อย่า..อย่าเห็นแก่ความสุขในการนอน นี่เป็นไอ้เป็นหลักอีกอันหนึ่งที่เข้ามาช่วยได้ อย่าขี้เกียจนอนหัวค่ำเกินไป ต้องทำอะไร คิดนึกทางจิตทางใจพอสมควร แล้วก็นอนลงไปด้วยสติ-สัมปชัญญะ นี่ค่อยพูดกันอีกคราวอื่น แล้วขยันตื่นให้มัน.. คือ ไม่นอนสาย จะได้มีเวลาคิดนึก ปัจจเวกขณ์ อะไรกันได้ เพราะฉะนั้น อย่าทำที่นอนให้มันสบายนัก เครื่องใช้เครื่องนอนอย่าให้มันสบายนัก มันจะนอนมากจนเกินสมควร ทีนี้ เราก็จะสามารถทำกิจวัตรต่างๆได้ ถ้าเราเห็นแก่นอน เห็นแก่สบาย เห็นแก่อะไรมันก็จะทำไม่ได้ นี่ก็เห็นว่าสิ่งนี้ดีวิเศษ คือ ดีสำหรับผู้ที่บวชใหม่และก็บวชในระยะอันจำกัด ให้รีบกอบโกยเอาประโยชน์ วันนี้ก็พอกันเท่านี้ได้ ๕ อย่าง