แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำอธิบายเรื่องการฝึกจิตสำหรับคนหนุ่มโดยเฉพาะ ในวันนี้ก็จะได้พูดถึงขั้นสุดท้าย ซึ่งมันเป็นการบรรยายครั้งสุดท้าย ขอให้คิดทบทวนดูให้ดีนะว่ามันมีลำดับมาอย่างไร ที่เป็นขั้นพื้นฐานก็คือโกรน เหมือนกับโกรนเรือโกรน ที่ตรงกลางตัวมันจริงๆ มันก็เหมือนกับทำให้มันเป็นเรือสำเร็จรูปขึ้นมา อันสุดท้ายมันก็ต้องมีการใส่เครื่องประกอบที่เป็นขั้นสูงสุดมันแล้วแต่ว่าเรือชนิดไหน เครื่องมือที่ทำให้ไปได้เร็ว เช่น พาย เช่น แจว กระทั่งเช่นใบ เช่นเครื่องจักรเครื่องกล มันจึงมีส่วนที่สุดยอดตลอดทั้งคันประดับประดา ในชั้นนี้มันหมายถึงการฝึกจิตชนิดที่ใช้อุบายยิ่งขึ้นไปอีก คือเป็นอุบายในขั้นปัญญา ใช้ความรู้มากกว่าที่จะใช้กำลังบังคับ จะต้องนึกถึงพระพุทธภาษิตที่ว่า เป็นอยู่ให้ถูกต้องแล้วก็โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ เมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานท่านตรัสไว้อย่างนี้ หากภิกษุเหล่านี้จะพึงเป็นอยู่โดยถูกต้องไซร้โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ มีความหมายไปในทางที่ว่าอยู่ให้ถูกต้อง แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่านั้น แล้วมันก็ไม่อาจจะเกิดกิเลส เมื่อกิเลสมันไม่มีโอกาสจะเกิดบ่อยเข้า บ่อยเข้า มันก็เปลี่ยนสภาพ ที่ว่าไอ้ความเคยชินของกิเลสนั้นจะเปลี่ยนสภาพ เป็นไม่เคยชินจนกระทั่งไม่เกิด เราเป็นอยู่ชนิดที่ว่ามัน มันไม่เกิดความโลภขึ้นมาได้ ไม่เกิดความโกรธขึ้นมาได้ ไม่เกิดความหลงขึ้นมาได้ ไม่เท่าไหร่มันจะหมดความเคยชินที่จะเกิดได้นั่นเรียกว่าสิ้นกิเลส เดี๋ยวนี้เพียงแต่กิเลสมันไม่เกิดไม่มากวนแต่มันยังไม่สิ้นความเคยชินของการเกิดกิเลส อย่างนี้เขาเรียกว่าไม่สิ้นอนุสัย ฉะนั้นต้องทำให้มันสิ้นอนุสัย คือความเคยชินของกิเลส ราวกับว่านอนอยู่ในสันดาน มันราวกับว่านะ ทำให้หมดอาการอันนี้ที่ว่าเคยชิน ชินที่จะเกิด ง่ายที่สุดราวกับว่ามันนอนรออยู่ในสันดาน ถ้าเป็นอยู่ให้ถูกต้องมันก็ไม่ ไม่ ไม่มีทางที่จะเกิดเป็นกิเลสขึ้นอีก ทั้งในความเป็นอนุสัย หรืออนุสัยนั่นเองมันร่อยหลอไป ร่อยหลอไป ให้นึกถึงไอ้คำพูดที่พูดไปแล้วว่าเกิดกิเลสทีหนึ่งก็เพิ่มอนุสัยเข้าไว้นิดหนึ่ง คือความเคยชินที่จะเกิดกิเลสมันจะถูกเพิ่มขึ้นทุกคราวที่เกิดกิเลสเดี๋ยวนี้ไม่ให้กิเลสมันเกิดเพราะฉะนั้นมันก็ลดอนุสัย ลดความเป็นอนุสัยลงไปทุกคราวที่ว่าเราไม่ให้เกิดกิเลสได้ นัยน์ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส สัมผัสผิวหนังอะไรต่างๆ มันมีการระวังดี ไม่ให้เกิดกิเลสได้ทุกคราวไปมันก็ลดความเคยชินที่จะเกิดกิเลส ลดอนุสัยลงไปจนร่อยหลอ ร่อยหลอ ถึงวันหนึ่งคืนหนึ่งมันหมดไป อย่างนี้เรียกว่าเป็นอยู่โดยชอบ อยู่โดยลักษณะอาการที่ว่ากิเลสเกิดไม่ได้ เราฆ่าอนุสัย ลดอนุสัยที่อยู่ในตัวทีละนิดละนิดละนิด ถ้าโลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ จะมีคนเป็นพระอรหันต์ได้จากการเป็นอยู่โดยชอบอย่างนี้ นี่ก็ยิ่งเป็นอุบายมากขึ้นไปอีก อุบายขนาดที่ว่าไม่ต้องทำอะไร ควรระวังอย่าให้มันเกิดขึ้นมา ถ้าพูดถึงผลว่ามันเย็นอยู่แล้วอย่าไปทำให้มันร้อน ไอ้ที่เรียกว่าไม่เกิดคือไม่เกิดอย่างนี้ ไม่ใช่ ไม่ใช่เกิดอย่างเกิดจากท้องแม่ คือมันไม่เกิดกิเลสแล้วมันก็ไม่มีความทุกข์ ระวังอย่าให้เกิดก็คืออย่าให้เกิดกิเลส เกิดกิเลสชนิดไหนก็ตามใจนั้นมันคือการเกิดขึ้นอย่างตัวกูของกู เกิดความโลภ ตัวกูของกูมันต้องการ กิเลสที่เป็นความต้องการตัวกู ตัวกูมันต้องการที่จะได้ เป็นความโลภ ถ้าความโกรธหรือโทสะ ตัวกูมันอยากจะฆ่าจะทำลายจะอะไรเขา ตัวกูประเภทโทสะ ทีนี้ก็ตัวกูประเภทโมหะมันก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแน่ มันสงสัย มันวนเวียนวิตกกังวล มันกลัว นี่ก็เป็นตัวกูชนิดหนึ่งในสามชนิดที่ว่ามาแล้วเมื่อวานนี้ ตาม ตามอำนาจของอาการที่เรียกว่าความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเป็นตัวกูชนิดหนึ่งๆ ในตัวกูอย่างนี้เกิดขึ้นแล้วก็เรียกว่าคนเกิดขึ้นโดย เหมือนกับคนเกิดขึ้นเรียกว่าตัวกูเกิดขึ้น เหมือนคนเกิดขึ้นหรือคนเกิดขึ้นก็ตาม เกิดเมื่อไหร่เป็นทุกข์เมื่อนั้น เกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที เกิดมากเป็นทุกข์มาก เกิดน้อยเป็นทุกข์น้อย เกิดทุกทีเพิ่มความเคยชินของการเกิดทุกที เพิ่มอนุสัยมากขึ้นทุกที เกิดราคะครั้งหนึ่ง โลภะหรือราคะครั้งหนึ่ง เพิ่มราคาอนุสัยครั้งหนึ่ง เกิดโทสะหรือโกรธะครั้งหนึ่งก็เพิ่มปฏิฆานุสัยครั้งหนึ่ง เกิดโมหะขึ้นมาครั้งหนึ่งก็เพิ่มเอาอวิชชานุสัยครั้งหนึ่งหรือนิดหนึ่งทุกทีไป ชื่อของอนุสัยก็เป็นไปตามชื่อของกิเลสนั้น โลภะ ราคะ นี่ก็เรียกว่าราคานุสัย โทสะ โกรธะ นี่ก็เรียกว่าปฏิคาอนุสัย โมหะรียกว่า อวิชชานุสัย ส่วนที่เป็นกิเลสก็เรียกชื่อ โลภะ โทสะ โมหะ ส่วนที่จะเป็นความเคยชินของกิเลสพอกพูนขึ้นในสันดาน ก็เรียกว่าอนุสัย ซึ่งเขามักจะเรียกกันว่ากิเลสอย่างละเอียดนอนเนื่องอยู่ในสันดาน นั่นพูดอย่างนั้นมันสมมุติเกินไปแล้วทำให้เข้าใจผิดได้ ไม่มีอะไรที่จะเกิดตายตัวโดยที่ไม่ต้องดับ ทุกสิ่งจะต้องมีการเกิดดับ เว้นแต่ความไม่เกิดคือนิพพาน ทีนี้กิเลสก็ตามอนุสัยก็ตามต้องเกิดดับเกิดดับ เกิดดับอย่างนี้ด้วยกัน มีสิ่งที่นอนนิ่งเนื่องไม่เที่ยงแท้ถาวรเป็นอนุสัยนั้นมันพูดผิด เข้าใจผิด ทั้งก็ไม่มีทางจะดับได้ ทีนี้เราก็เป็นอยู่ชนิดที่กิเลสไม่เกิด ไม่พอกพูนอนุสัย อนุสัยไม่ได้การพอกพูนก็ลดลง ลดลง ลดลง ถึงวันหนึ่งมันก็สิ้นไป สิ้นไปในระดับสุดท้ายสิ้นเชิงเขาเรียกว่าเป็นพระอรหันต์ รองลงมาก็เป็นพระอนาคามี สกิทาคามี โสดาบัน.....(นาทีที่ 11.59) เป็นอยู่ให้ถูกต้องแล้วมันจะมีความเป็นพระอริยบุคคลจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ ตรงนี้อยากจะพูดถึงความเป็นพระอรหันต์นิดหนึ่ง พระอรหันต์ทันที พระอรหันต์ใหม่ พระอรหันต์ที่เป็นพระอรหันต์ในทันทีนั้นเราเรียกว่าพระอรหันต์ที่ยังอุ่นอยู่ นี่ผมเรียกเอาเองให้จำง่าย แล้วต่อมาจึงจะเป็นพระอรหันต์เย็นสนิท จะใช้เวลาเท่าไหร่ไม่แน่ มันต่างกันเป็นคนคนไปอธิบายไว้ในคัมภีร์อย่างนี้ สิ้นกิเลสจบกิจพรหมจรรย์ทันทีนั้นจะเรียกว่าเป็นผู้บรรลุ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ คือนิพพานธาตุที่ยังมีอุปาทิเหลือ ความที่เคยชิน เคยร้อน เคยเป็นทุกข์น่ะมันยังไม่หมดสิ้นไปเลยทีเดียว แม้ว่ากิเลสจะหมดสิ้นแล้ว ความเคยชินในส่วนผลส่วนวิบากส่วนเสวยผลนั้นยังไม่ทันจะสิ้นไป ฉะนั้นเมื่อได้รับอารมณ์ ได้รับเวทนา มีเวทนาเกิดขึ้น จึงรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์บ้างไปตามสมควร ข้อนี้เองเค้าเรียกว่าอุปาทิเหลือ ถ้าตายลงในขณะนี้ จะเรียกว่าตายลงอย่างที่ตายลงไปด้วยสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ยังไม่ทันเย็นสนิทถ้าร่างกายแตกดับลงไปขณะนั้น นิพพาน ปรินิพพานด้วย สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ อยู่ไปจนเย็นสนิทอย่างไร อย่างไรก็ไม่รู้สึกกระทบกระเทือนเป็นทุกข์ อนุปาทิเสสนิพพานธาตุคือพระอรหันต์ที่เย็นสนิทแล้วเหมือนพระพุทธเจ้านิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ จำง่ายๆ ก็เปรียบด้วยหม้อที่เอาออกมาจากเตาไฟที่เผา เตาเผาหม้อเตาเผาหม้อสุกก็ปิด ปิดเตา เอาหม้อออกมาจากเตา หม้อนั้นก็สุกดีแล้วแต่ยังร้อนอยู่ยังจับไม่ได้ ต้องเอาหม้อนั้นออกมาให้เย็นสนิทอีกทีหนึ่ง หม้อที่แรกสุก สุกใหม่ๆ นั้นมันยังร้อนอยู่ยังอุ่นอยู่ต้องรอจนกว่าจะเย็น ในความสิ้นกิเลสก็ยังมี ๒ ระยะอย่างนี้ ถ้าความเคยชินมันมากเกินไปตั้งแต่เกิดมากว่าจะเป็นพระอรหันต์มันมากเกินไป มันชินมากเกินไป ทีนี้เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กายมันยังดีอยู่ ความเคยชินเหลือซากอยู่ มันคงจะรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์บ้าง เวทนายังไม่เป็นของเย็นสนิท ต่อไปนี้เมื่อถึงโอกาสหนึ่งจะช้าหรือเร็วก็ไม่แน่ตามบุคคล เวทนาจะเป็นของเย็น เวทนาเกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางอะไรก็ตามจะเป็นของเย็นคือไม่เป็นของร้อน ไม่เป็นกิเลส ไม่เป็นที่ตั้งให้อุปาทาน ความเป็นอรหันต์ที่สมบูรณ์เป็นอย่างนี้ นี่ยอดสุดของมันไปเพียงเท่านี้ไม่มีอะไรเหนือนี้ เป็นอยู่โดยชอบโลกไม่ว่างจากพระอรหันต์หมายความว่าอย่างนี้ มีอยู่ ๒ พระอรหันต์ พระอรหันต์ที่มีสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ พระอรหันต์ที่ถึงขนาดเป็นอนุปาทิเสสนิพพานธาตุจนร่างกายไม่เอาเป็นประมาณ แล้วทีนี้มันก็มีเรื่องว่าจะใช้อุบายอันละเอียดที่สุดสูงสุดคือปัญญานี้อย่างไรกันจึงจะบังคับจิตได้หรือว่าทำให้มันสิ้นความเคยชินที่จะเกิดกิเลส จะเห็นได้ว่าไม่บังคับกันตรงๆ ไม่ได้บังคับโดยวิธีเทคนิคอะไรมากมาย หรือเป็นเทคนิคอย่างยิ่ง ตรงที่ว่าอยู่ให้ถูกวิธีกิเลสเกิดไม่ได้ เรียกง่ายๆว่ากิเลสไม่มีโอกาสจะได้อาหาร ทางกาย ทางหู ทางจมูก ทางไหน มันก็ไม่ได้อาหาร ทีนี้มันเหตุปัจจัยกิเลสมันร่อยหรอลงไปร่อยหรอลงไป ความเคยชินของกิเลสก็ร่อยหรอลงไปมันก็ตาย เรียกว่าตาย สิ้นกิเลส อยู่ให้ดีๆ อยู่นิ่งๆ ภาษา ภาษาของพุทธศาสนิกชนบางพวกเขาว่า เขาสรุปไอ้ความปฏิบัติทั้งหมดนี้ว่าอยู่นิ่งๆ อยู่นิ่งๆ กิเลสเกิดไม่ได้ ทีนี้คนฟังไม่ถูกคิดว่าอยู่นิ่งๆไม่ต้องทำอะไร อยู่แข็งเป็นท่อนไม้หรือว่าเข้าสมาธิอะไรอยู่เรื่อย อยู่นิ่งๆ ทางวิญญาณหมายความว่า อยู่ให้ถูกวิธีที่กิเลสเกิดไม่ได้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางใจ เกิดไม่ได้ ก็หมายความว่ามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์พอจะป้องกันไม่ให้เกิดกิเลสได้ จนกว่ามันจะสิ้นความเคยชินแห่งกิเลส ทีนี้ไม่มีสติสัมปชัญญะก็เหมือนกับมีสติสัมปชัญญะแล้ว ไม่ต้องตั้งสติสัมปชัญญะมันก็เหมือนมีสติสัมปชัญญะนี่คือความเป็นพระอรหันต์ นี่เรื่องที่จะต้องรู้มันก็สูงขึ้นไป คือรู้วิธีการที่กิเลสมันจะเกิด อยู่โดยวิธีใดกิเลสจึงจะไม่เกิด ไอ้ที่กิเลสมันจะเกิดก็หมายความว่าเราอยู่ในโลกนี้มันก็ต้องกระทบอารมณ์ภายนอก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจเอง มันก็เผลอสติ เพราะว่าเวลานั้นมันไม่มีความรู้ เรื่อง เรื่องที่จะทำให้ไม่มีกิเลสน่ะมันไม่มีความรู้ หรือว่ามีความรู้อยู่บ้างแล้วมันเผลอไปมันมีผลเท่ากัน ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่าไม่มีความรู้ ตอนนั้นไม่มีความรู้คือไม่มีสติไม่มีความรู้สึกที่จะจัดให้มันถูกต้องในเรื่องจิตใจ ฉะนั้นการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่นอะไรก็ตามนี่ มันจะทำให้เกิดเป็นเวทนาชนิดที่เป็นที่ตั้งของกิเลส เกิดตัณหาหรืออุปาทานไปตามลำดับในเวทนานั้น จากเวทนานั้น ตัณหาคือกิเลส จากตัณหาก็เกิดอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น เกิดภพเกิดชาติ นี่คือเกิดตัวกูของกู เช่นเห็นรูปสวยผ่านมารูปเพศตรงกันข้ามก็ได้แล้วสวยด้วยผ่านมา เรามีปัญหาอยู่ว่า ก็มีความรู้สึกที่เป็นสติสัมปชัญญะที่รู้อยู่ต่อสิ่งเหล่านี้หรือไม่ ว่ามันจะเกิดกิเลสและความทุกข์อย่างไร ไม่รู้ ดังนั้นเมื่อจิตเดินไปตามธรรมชาติของปุถุชน สวยจับใจแล้วก็เป็นเพศตรงกันข้ามด้วยยิ่งมีแรงมาก ก็สบายตา สบาย อร่อยใจเขาเรียกว่าเป็นเวทนาเกิดขึ้น เกิดตัณหาอยากอย่างนั้น อยากอย่างนี้ไปตามเวทนา อยากได้ อยากเอา อยากยึดครอง อยากมี ตัวกูก็ก่อเป็นรูปความรู้สึกขึ้นมา กูอยาก กูได้ กูจะได้ตรงนี้ นี่เป็นอุปาทาน ว่าทำอย่างนี้ก็เป็นการเกิดแห่งตัวกูไปตามลำดับ ในแวบเดียวไม่ต้องกินเวลาเหมือนกับจะเดินหมากรุก มัน มันไวมากจะไวยิ่งกว่าไอ้ความไวของเรื่องไฟฟ้าด้วยซ้ำไป มันแวบไปเลย แต่ในแวบนั้นมันมีอยู่หลายตอน นับตั้งแต่เห็นนับตั้งแต่เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ เป็นตัวกู ร้อนอยู่ในราคะหรือโลภะ ถ้าไม่มีความรู้เรื่องนี้ก็หมายความว่าไม่มีความรู้เรื่องวิมุติ ไอ้คนเราเกิดมาจะรู้จักวิมุติรู้เรื่องวิมุติโดยชื่อนั้นมันไม่ได้หรอก แต่ที่จริงอันนั้นคือ คือเรื่องของวิมุติ ถ้ารู้ว่าไปรักไปเกลียดอะไรมันเข้าแล้วมันก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่ไปรักไม่ไปเกลียดอะไรเข้าก็ไม่ต้องเป็นทุกข์นี่คือความรู้เรื่องวิมุติ มีบาลีเช่นมหาตัณหาสังขยสูตร พูดเรื่องนี่ไว้ชัดว่าไอ้ทารกนั้นมันไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ ใช้คำว่าอย่างนี้ ทารกเล็กๆนะมันกลายรูป(นาทีที่ 24.44) เป็นต้น มันก็เกิดความรู้สึกที่เป็นกิเลสก็เกิดทุกข์ได้ แต่ว่าทารกนี้ต้องไม่ใช่ว่านอนแบเบาะอยู่ไม่ใช่ มันต้องมีความรู้จักรูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ตามสมควรแล้ว มีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นเป็นแล้ว ถ้ายังเป็นเด็กอยู่เด็กนี้ไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ ที่จะบังคับจิตข่มจิตไม่ให้ยึดถือก็ทำไม่เป็น จะใช้ปัญญาความรู้ปลอบจิตใจอย่ายึดถือมันก็ทำไม่เป็นนี้จึงเรียกว่าไม่มีความรู้ทั้งปัญญาวิมุติ ทั้งเจโตวิมุติกับปัญญาวิมุติ ฉะนั้นก็ต้องมีจิตที่ไหลไปตามอารมณ์นั้น จนเกิดกระแสปฏิจจสมุปบาทขึ้นในจิตของเด็กนั้นแล้วก็เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้น ทีนี้ผู้ใหญ่ก็ยิ่งเป็นอย่างนั้นมากขึ้น มากขึ้น จนกว่าจะมีความรู้เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ รู้ว่าอย่างนี้กิเลสเกิดขึ้นอย่างนี้กิเลสไม่เกิด ทำในวิธีที่กิเลสจะไม่เกิด ก็เป็นวิมุติชนิดชั่วคราวชั่วขณะด้วยการระมัดระวังอยู่เรื่อยๆ อยู่เรื่อยๆไป จนกว่ามันจะเป็นวิมุติจริงๆ คือไม่ต้องระวังแล้วก็ไม่ต้องไม่มีมาเกิด เดี๋ยวนี้เรามีความรู้เรื่องนี้ เรื่องที่พูดอยู่นี้ก็คือความรู้เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ รู้ไปตามสมควร แล้วก็ปฏิบัติไปเรื่อยๆ เพื่อการป้องกันให้เป็นอยู่ถูกต้อง ชนิดที่ว่ากิเลสมันจะไม่เกิดขึ้น คือจะไม่ไหลไปตามอารมณ์ที่เข้ามากระทบ นี่คือเป็นอยู่ชอบเป็นอยู่ถูกวิธี ทีนี้ก็มีจิตใจที่เป็นอิสระกิเลสไม่ครอบงำ เราจะทำอะไรก็ได้ทำการทำงานอะไรก็ได้ หรือแม้แต่จะเสวย บริโภคอารมณ์นั้นๆก็ได้ ไม่ใช่ห้ามไม่ให้เกี่ยวข้องกับอารมณ์ แล้วไม่ ไม่ ไม่ใช้ประโยชน์จากอารมณ์ใดๆที่มากระทบ ไอ้อย่างนั้นมันไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้เป็นสิงที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าคนเข้าใจผิดจะเข้าใจว่าสอนอย่างนั้น แล้วมันบ้าเอง พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น คนเราจะต้องมีอารมณ์กระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอยู่เรื่อยไป จะต้องรู้สึกไอ้สิ่งนั้นๆตามสมควร ขอแต่อย่าให้รู้สึกไปในทางที่มันจะเกิดกิเลส ให้รู้สึกไปในทางที่กิเลสมันเกิดไม่ได้ เพราะเราตั้งหลักไว้ดี ทีนี้เราจะดูอะไรสวยๆ ทางตาก็ได้ ฟังอะไรไพเราะทางหูก็ได้ถ้าจำเป็นหรือว่ามันสมควร แต่ว่าอย่างน้อยสุดเราต้องกินอาหารทางลิ้นก็ต้องมีความรู้สึกอร่อยหรือไม่อร่อย ถ้าจะอร่อยก็ให้มันรู้สึกว่าอร่อยและไม่เผลอสติที่จะไปหลงในความอร่อย นี่คือเราเป็นอิสระเราไม่ต้องเป็นทุกข์ด้วย แล้วเราไม่ทำอะไรผิดๆด้วย เขาเรียกว่าควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อยู่อย่างนี้ตลอด ตลอดวันตลอดปีมีสติ ใช้ประโยชน์จากทุกสิ่งที่ควรจะใช้ประโยชน์ได้ จะเป็นรูปเสียงกลิ่นรสอะไรก็ได้ เมื่อมันไม่จำเป็นไม่เกี่ยวข้องกันหรือไม่เป็นประโยชน์อะไรก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ก็ปล่อยให้มันผ่านไปเฉยๆ เกิดเฉยๆ ดับไปเฉยๆ เราทอดสายตาไปทางไหนก็ต้องเห็นรูป ก็ต้องได้ยินเสียง มัน มัน มันหลีกข้อนี้ไม่พ้น แต่ว่าเมื่อมันเข้ามากระทบแล้วมันต้องจัดการให้ดี คือตั้งหลักไว้ให้ดี อย่าเกิดกิเลส จะทำอะไรกับมันก็ทำไป มีอาการอย่างนี้คือเป็นอยู่ชอบประเภทที่ทำให้โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ เป็นหลักที่ใช้ได้กับทุกคนแม้แต่เด็กๆก็ทำไปตามประสาเด็ก อะไรมากระทบเข้าก็อย่าโกรธ อย่าโลภ อย่าโกรธ อย่าโลภ อย่าหลง ผู้ใหญ่ก็ทำไปตามประสาผู้ใหญ่ บรรพชิตก็ทำได้สูงตามแบบของบรรพชิตจนกระทั่งมันหมดการเกิดกิเลส เราเข้าใจว่าไอ้เรื่องป้องกันหรือละกิเลสนี้เป็นเรื่องสำหรับพระอยู่ในป่า มันเป็นเรื่องที่ต้องทำต้องใช้สำหรับทุกคนล่ะแม้แต่เด็กๆ ทีนี้สอนกันผิดๆสอนกันอย่างโง่ๆว่าเรื่องการละกิเลสเรื่องอยู่เหนืออำนาจกิเลสนี้ชาวบ้านไม่ต้องสนใจ ให้นึกถึงคำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เสมอว่าไอ้เรื่องที่เกี่ยวกับสุญญตา ว่างจากกิเลสเป็นประโยชน์เกื้อกูลที่สุดแก่พวกฆราวาสทั้งหลายตลอดกาลนาน เป็นพุทธภาษิตอย่างนี้ ฉะนั้นทุกคนจะต้องมีความรู้เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ แม้แต่เด็กๆ จะได้เป็นอยู่ชนิดที่ไม่เสียเปรียบกิเลส อย่างน้อยก็ได้เปรียบกิเลสเต็มที่ มันไม่เกิดได้ มันฉลาด แม้เด็กเล็กๆที่เค้าอบรมอย่างวิธีนับสิบก่อนในนิทานอีสปหรือนิทานอะไรสุภาษิตให้เด็กเล็กๆ อ่านเรียน ก็คนจะโกรธขึ้นมาให้นับสิบก่อนจึงค่อยพูด กว่าจะนับถึงสิบมันหายโกรธแล้ว วิธีที่จะป้องกันความโลภ ความโกรธ ความหลงต้องมีตามลำดับเอา ของของคน ของวัยของคน ก็ทำให้ถูกต้อง เป็นชาวบ้านก็ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ตามแบบของประสาชาวบ้าน แล้วมันก็ไปทางเดียวกัน ในที่สุดมันก็ไปสู่ความหมดสิ้นแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลง สนใจให้ละเอียดละออมากที่สุดที่จะทำได้ ที่เราจะอยู่ชนิดที่ไม่เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ง่ายๆ หรือไม่เกิดเลยได้ก็ยิ่งดี จนกว่ามันจะหมดสิ้นแรงของความเคยชินที่มันจะเกิดกิเลส นี่เขาเรียกว่ารู้ความลับเกี่ยวกับเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติตั้งแต่เด็กไป ทีนี้ไอ้ความรู้โดยเฉพาะที่มันจะป้องกันไม่ให้เกิดกิเลส หรือว่ากิเลสเกิดขึ้นแล้วจะหยุดมันอย่างไรด้วยความรู้ความจริงของธรรมชาติทั้งปวง ส่วนที่มาเกี่ยวข้องกับมนุษย์แล้วจะต้องเป็น อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา อนิจจังคือเปลี่ยนแปลง ทุกข์ขังคือทำความทุกข์ให้เมื่อไปยึดถือมัน อนัตตาก็คือความจริงที่ว่ามันไม่ใช่เป็นตัวเป็นตนของใครหรือของตัวมันเองก็ไม่ใช่ อนิจจังแปลว่าไม่เที่ยง หมายความว่ามันเปลี่ยนแปลงไหลเชี่ยวเป็นเกรียวไปเลย ความเปลี่ยนแปลงไปศึกษาเอาเองก็ได้พอมองเห็นได้ เดี๋ยวนี้ก็มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของวัตถุ ของอะไรต่างๆได้ดี ทีนี้ทางจิตใจก็หมายความว่าไอ้ตัวจิตใจเองที่ไปเห็นอะไรเข้าก็เปลี่ยนแปลง ไปสัมผัสอารมณ์อะไรเข้ามันมีความเปลี่ยนแปลงเป็นกระแสไปเหมือนกัน ข้างนอกก็เปลี่ยนแปลงข้างในก็เปลี่ยนแปลง เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างหนึ่ง คิดได้ว่าไอ้สิ่งนั้นมันเปลี่ยนแปลง เราจะไปยึดถือให้มันมาเป็นเราเป็นของเรามันก็ต้องเป็นทุกข์แน่นอน ฉะนั้นจึงใช้คำพูดอีกคำหนึ่งว่ามันเป็นอนัตตา อนัตตาคือว่าไม่มีส่วนที่จะควรเรียกว่าเป็นตัวเป็นตนหรือเป็นคนหรือเป็นตัวกูหรือเป็นตัวสูอะไร ทีนี้เรามาเกิดไอ้ความรู้สึกที่ว่าเป็นตัว เป็น Identity เป็นตัวเป็นตัวของฉัน Ego Ego นั่นมันโง่ไปเอง ในเมื่อไม่มีตัวก็คือธรรมชาติไปตามธรรมชาติก็เปลี่ยนแปลงตามเหตุตามปัจจัยของมัน นี่คือหัวใจพุทธศาสนา ไม่มีอะไรที่เป็นตัวหรือว่าไม่ใช่ไม่มีอะไรเสียเลย มีแต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ ตรงนี้ต้องจำไว้ให้แม่น มัน มัน มันพูดกันผิดๆ อยู่ตลอดเวลา พูดว่าไม่มี ไม่มีฝ่าย Positive ไม่มีฝ่าย Negative ให้พูดว่าตนอัตตาตนไม่มี แล้วก็ตรงกันข้ามจากนั้นมันก็ไม่มี แต่มันมีที่ตรงกลางที่ว่าเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี พุทธศาสนาจะสอนอย่างนี้ แล้วคำนี้ก็ไม่ค่อยรู้กันเรียกกันไม่ค่อยถูก แต่มันก็เป็นคำที่มีอยู่ในพระบาลีในพุทธภาษิตเขาเรียกว่าอิทัปปัจจยตาคงจะแปลกหูสำหรับทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ นักศึกษา แต่ถ้าคนแก่เรียนเคยอ่านบาลีก็จะพบไอ้คำนี้มีอยู่ทั่วๆไป อิทะ อิทะแปลว่านี้ อิทัปปัจจยตาความเป็นไปตามปัจจัยนี้นี้ นั่นน่ะคือตัวพุทธศาสนา มันมีแต่เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมีมันส่งทยอยไปอย่างเรื่อยๆ ก็เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท มีแต่ปฏิจจสมุปบาท เขาถามว่าเรียกว่าอะไรก็เรียกว่าอิทัปปัจจยตาความที่มันเป็นไปตามปัจจัยนี้นี้ ถ้าพูดว่ามีก็ผิด พูดว่าไม่มีก็ผิด พูดว่ามีตัวตนก็ผิด พูดว่าไม่มีตัวตนก็ไม่ผิด ต้องพูดว่ามีแต่สิ่งนี้ ไม่มีตัวตนในที่นี้หมายถึงไม่มีอะไรเสียเลย มันเป็นไป เป็นไปในที่นี้…(นาทีที่ 39.03)ไม่มีอะไรเสียเลย เป็นนัตถิกทิฏฐิ ถ้าว่ามีมันก็เป็นสัสสตทิฏฐิ ฉะนั้นภาษาชั้นลึกภาษาชั้นปรมัตอันนี้มันตรงกันข้ามกับภาษาชาวบ้านพูด ชาวบ้านก็ต้องพูดว่ามี มีตัวฉัน หรือบางพวกจะพูดว่าไม่มีก็ได้แล้วแต่เขาจะมองเห็น ดังนั้นชาวบ้านจะต้องมีความรู้สึกเป็นคู่ๆ ว่ามีว่าไม่มี ว่าได้ว่าเสีย ว่าสุขว่าทุกข์ ว่าสุดโต่งฝ่ายนี้เป็น Positive สุดโต่งฝ่านนี้เป็น Negative นี้ล้วนแต่ผิดทั้งนั้น ไม่ใช่สายกลางไม่อยู่ตรงกลาง อยู่ตรงกลางเรียกว่าอิทัปปัจจยตาเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึง พูดเหมือนกับคนบ้า นั่นแหละคือตัวพุทธศาสนาที่พูดฟังดูคล้ายกับคนบ้าเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ฉะนั้นจะไปเรียกว่าดีก็ไม่ได้จะเรียกว่าชั่วก็ไม่ได้ นั่นมันบัญญัติตามบุคคลผู้รู้สึก ถ้าได้อย่างใจเขาเรียกว่าดีไม่ได้อย่างใจก็เรียกว่าชั่ว ได้อย่างถูกอกถูกใจก็เรียกว่าบุญ ไม่ถูกอกถูกใจก็เรียกว่าบาป เพราะฉะนั้นจึงรักบุญเกลียดบาป ทำบุญไม่ทำบาปไปตามเรื่องของคนที่ยังเป็นคนธรรมดานะ ถ้าเป็นผู้รู้ รู้ธรรมะในพุทธศาสนาถึงขนาดจะเป็นพระอรหันต์นี้มันปัด ตัดทิ้งไปหมด และท่านเตะกระเด็นไปหมดทั้งได้ทั้งเสีย ทั้งบุญทั้งบาป ทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งสุขทั้งทุกข์ เพราะว่ามันเป็นแต่เพียงอิทัปปัจจยตาเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยนี้นี้นี้อยู่เรื่อย มันไปยึดถือเข้าเป็นทุกข์ทั้งนั้น จึงไม่ยึดถือสิ่งใดเขาเรียกว่าหลุดพ้น เรียกว่าวิมุติ เรียกว่าหลุดพ้น ในเรื่องปัญญามันเป็นอย่างนี้ ปัญญาในพุทธศาสนานะไม่ใช่ปัญญาในภาษาชาวบ้านหรือว่าปัญญาในลัทธิอื่น ปรัชญาอื่น ปัญญาความรู้ในพุทธศาสนาเขาเรียกว่า ยะถาภูตะ ญาณทัสสนะในขั้นแรกๆก็มี ขั้นกลางๆก็มี ขั้นสูงสุดก็มี ชื่ออื่นก็มีแต่ความหมายเหมือนกันหมดยะถา ภูตะ ญาณทัสสนะ ญาณะแปลว่ารู้ ทัศนะแปลว่าเห็น ยะถาภูตะแปลว่าตามที่มันเป็นจริงนั่นคือปัญญา ก็คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเพราะจิตมันไม่ไปยึดถือสิ่งใด บางทีก็เรียกว่ายะถาภูตะ สัมมัปปัญญา สัมมัปปัญานี่…(นาทีที่ 42.38)ยะถาภูตะแปลว่าตามเป็นจริง สัมมัปแปลว่าถูกต้อง ปัญญาก็แปลว่าปัญญาอย่างนี้เรียกว่าปัญญา ปัญญาถูกต้องตามที่เป็นจริง สัมมัปปัญญา ยะถาภูตะ สัมมัปปัญญา บางทีไม่เรียกว่าปัญญาแต่ไปเรียกว่าญาณทัศนะ ยะถาภูตะ ญาณทัศนะเหมือนกันสิ่งเดียวกัน เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริงแล้วจะไม่ไปหลงรักหลงเกลียดมัน เดี๋ยวนี้คนในโลกไม่เห็นตามสิ่งที่เป็นจริงก็ไปรักสิ่งที่น่ารักไปเกลียดสิ่งที่น่าเกลียดไปกลัวสิ่งที่น่ากลัว แล้วมันโง่มันบ้า เพราะมันขาดปัญญาชนิดนี้ ทีนี้ปัญญา ปัญญาจริงๆมันทำหน้าที่อย่างนี้ คือให้เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงไม่ไปรักอะไรไม่ไปเกลียดอะไร โลภะ โทสะ โมหะก็เกิดไม่ได้ทั้งนั้น ส่วนปัญญาภาษาคนชาวบ้านนั้นมันปัญญาภาษาชาวบ้าน ปัญญาหลอกลวง ไปรักไอ้ที่หลงรักน่ารัก ไปเกลียดไอ้สิ่งที่เกลียด ไปรักเพื่อนไปเกลียดศัตรูไปอะไร ยุ่งกันไปหมดจนได้รบราฆ่าฟันกัน ปัญญาอย่างนี้แล้วจะไปโลกพระจันทร์ได้เพราะไม่เรียกว่าปัญญาในพุทธศาสนา จำไว้ให้ดีว่ามันมีภาษาสองภาษา ภาษาคน ภาษาธรรม พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสด้วยภาษาสองภาษา ตรัสสำหรับคนธรรมดาฟังก็ตรัสภาษาคน ตรัสสำหรับผู้รู้รู้ก็ตรัสภาษาธรรม เพราะฉะนั้นในบางคราวพระพุทธเจ้าจึงพูดภาษาคนภาษาสัสสตทิฏฐิ ว่ามีฉัน มีตถาคต แล้วก็มีเธอ แล้วพูดว่าจงทำดีจะได้ดีตายแล้วก็ยังจะได้ดี จะไปเกิดดีอะไรดีนั้นน่ะเรียกว่าภาษาคนภาษาสัสสตะ นี้ก็เพื่อคนธรรมดาเขาจะได้ทำดี เพราะว่าคนธรรมดาจะทำอะไรมากกว่านั้นไม่ได้ก็ให้มันทำดีไปก่อน พูดตามหลักทั่วไปมันทำดีจะได้ไปสวรรค์ เป็นผู้ยึดครองสวรรค์ได้ความสุขก็พูดไปตามภาษาคนภาษาสัสสตะ เมื่อถึงคราวที่ท่านจะพูดจริงเข้าท่านพูดภาษาธรรม สวรรค์ก็บ้าเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงเต็มไปด้วยความหลงใหลแล้วคนก็ไม่ได้มี มีแต่อิทัปปัจจยตาความที่มันเป็นไปตามปัจจัยนี้นี้ อัตตาคือตัวตนก็ไม่มี คนก็ไม่มี คถาคตก็ไม่มี ที่เคยพูดว่าเราตถาคตก็ไม่พูด ถ้าพูดก็พูดโดยสมมติโดยไม่ยึดถือเหมือนไอ้ที่ภาษาคน เพราะว่าเราต้องพูดกับคนอื่นโดยภาษาคนมันจึงต้องพูดอย่างสมมติแม้เป็นพระอรหันต์แล้วก็ต้องพูดกับชาวบ้านอย่างภาษาคน มีฉันมีท่าน มีบุญมีบาป มีได้มีเสีย แต่ใจของท่านไม่มีความรู้สึกเป็นคนเป็นสัตว์เป็นอะไร ไม่มีได้ไม่มีเสียไม่มีบุญไม่มีบาป นี่เขาเรียกว่าพูดไปตามภาษาชาวบ้านพูดไปตามโวหารชาวบ้านแต่ไม่ได้ยึดถือความหมายอย่างเดียวกับชาวบ้าน นั่นคือพวกพระอรหันต์ จิตใจรู้อย่างไรก็รู้อยู่อย่างนั้น ฉะนั้นจึงไม่มีคนไม่มีตัวไม่มีตน ดังนั้นหลักพระพุทธศาสนาจึงเป็นของที่เข้าใจยาก ยิ่งพูดไปในรูปปรัชญาก็ยิ่งเข้าใจยาก คนที่ไม่ใช่พุทธบริษัทก็เข้าใจไม่ได้ พูดว่ามีอยู่ก็ผิดพูดว่าไม่มีอยู่ก็ผิด เพราะมันพูดออกไปโดยส่วนเดียวว่ามีอยู่หรือไม่มีอยู่ ไม่พูดว่าเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ถ้าว่าสิ่งนี้ดับสิ่งนี้ก็ดับ สิ่งนี้ดับสิ่งนี้ก็ดับมันเป็นอย่างนี้ อิทัปปัจจยตาเป็นอย่างนี้ นี่เรียกว่าสายกลาง ไอ้มัชฌิมาปฏิปทาทางสายกลางที่สูงสุดอยู่ที่พวกนี้ทั้งนั้น มัชฌิมาปฏิปทาทั่วไปหรือชนิดที่ต่ำๆต้นๆก็เรื่องสัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต มีความเห็นชอบ ดำริชอบ พูดจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ พากเพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบ ถ้าพูดอย่างมีตัวตนก็ได้ ทำตัวตนให้มีอย่างนั้น มัชฌิมาปฏิปทาระดับทั่วไประดับต้นๆ มาถึงระดับสูงสุดที่จะเป็นพระอรหันต์ คือสัมมาทิฎฐินั้นเองมันขยายตัวมันถึงรู้ ลึกกว่านั้น รู้อริยสัจแล้วก็ไปรู้สูงถึงกับว่ามันอยู่ตรงกลาง พูดว่ามีก็ไม่ได้พูดว่าไม่มีก็ไม่ได้ พูดว่าตายแล้วเกิดก็ไม่ได้ตายแล้วไม่เกิดก็ไม่ได้ พูดว่าทำเอาเองก็ไม่ได้พูดว่าผู้อื่นทำให้ก็ไม่ได้ผิดทั้งนั้น มันอยู่ที่ตรงกลางคำเดียวว่าอิทัปปัจจยตา เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ถามว่าบุญบาปนี้ทำเองหรือถ้าชาวบ้านเขาตอบว่าทำเองนั้นถูกต้อง แต่ถ้ามาถึงชั้นนี้แล้วผิด บุญบาปนี้ทำเองก็ผิดบุญบาปคนอื่นสิ่งอื่นทำให้ก็ผิด มันมีแต่อิทัปปัจจยตาคือความเป็นไปตามปัจจัย เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี จึงไม่เรียกว่าทำเองหรือไม่เรียกว่าผู้อื่นทำให้ คือมันไม่มีตัวตนนี่มันสูงกันถึงอย่างนี้ พวกที่มีตัวตนมันก็อ้างตัวตนเพราะว่าคนมันยังไม่รู้ว่ามีตัวตนกันไปก่อน พอมันรู้ มันเห็นว่าไม่มีตัวตน ก็ไม่ถามอีกว่าใครทำให้หรือตนทำเอง มันมีแต่เหตุปัจจัยตามธรรมชาติเป็นไป ธรรมชาติล้วนๆ เป็นไป ไม่มีตัวตนก็เมื่อไม่มีตัวตนก็ไม่มีเรา ไม่มีคนอื่น ทุกๆ คู่มันหมดไปเลย ดีชั่ว บุญบาป สุขทุกข์ ก็หมดไป ตัวตนก็หมดไป ไม่มีตัวตนก็หมดไป ไม่เป็นที่ตั้งให้ความยึดถืออย่างใดอย่างหนึ่งเลย นี่ผมตั้งใจพูดเสียให้หมดให้มันหมดเรื่องครั้งสุดท้ายเกี่ยวกับอุบายชนิดที่ว่าจะทำจิตให้มันอยู่ในลักษณะที่เป็นทุกข์ไม่ได้ ให้คนเราเกิดมาแล้วก็ได้รู้สิ่งที่มันจะทำให้เป็นทุกข์ไม่ได้มันก็ต้องรู้สิ่งนี้ เขาเรียกว่าการอบรมจิตให้สูงขึ้นไปอย่างที่มันเป็นทุกข์ไม่ได้ ถึงที่สุดจริงๆ มีความงามในขั้นสุดท้าย ธรรมะหรือพระศาสนาหรือพรหมจรรย์นี้มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในขั้นสุดท้าย ไอ้ทำอย่างหยาบๆ นี่งามในเบื้องต้น ทำตรงกลางนี่ให้เป็นรูปเป็นร่างงามในท่ามกลาง แล้วทำเสร็จสุดท้ายนี้เป็นงามในที่สุดจะเรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญา ศีลงามในเบื้องต้น สมาธิงามตรงกลาง ปัญญางามสุดท้ายแล้วแต่จะเรียก มันมีอยู่เป็นสาม ในขั้นสุดท้ายก็หมายถึงปัญญาชนิดที่เพิกถอนตัวตนหมด ไม่มีบุคคลผู้จะได้อะไรจะทำอะไรหรือจะได้อะไรมันมีแต่อิทัปปัจจยตา ความที่สิ่งต่างๆเป็นไปตามปัจจัยนี้นี้นี้ นี่คือคำพูดที่ ที่ถูกต้องที่สุดเป็นพุทธศาสนาที่สุด ที่ไม่เข้าใจก็จำไว้ก่อนก็แล้วกัน ถ้าเผื่อเขาถามจะได้ตอบให้ถูก ถ้าคนต่างศาสนาถามก็ตอบให้ถูก พระศาสนาสอนเหมือนกับคนบ้าเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ดับสิ่งนี้จึงดับ เพราะสิ่งนี้ดับสิ่งนี้จึงดับ ไม่ได้พูดอะไรมากกว่านี้ ถ้ามันมีมีมีเกิดเกิดก็คือทุกข์ ถ้ามันดับดับดับก็คือดับทุกข์ ถ้ามันมีมีอยู่เฉยๆมันไม่ไปยึดมั่นถือมั่นเข้าก็ไม่มีใครเป็นทุกข์แล้วก็ไม่ต้องดับทุกข์ ไม่เหนื่อยไม่ลำบากไม่ยุ่งยากอยู่นิ่งๆ อยู่เฉยๆ อยู่ให้ถูกต้อง โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ แต่ว่าสิ่งนี้มี สิ่งนี้มีไปในทางที่จะยึดถือก็เป็นทุกข์ ดังนั้นต้องดับดับดับลงไป เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ดับ ก็ไม่เป็นทุกข์มีเท่านี้ เราไม่มีพูดทำนองบัญญัติเป็นดีชั่ว บุญบาป สุขทุกข์ เราเขา หรือว่าเรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องแพ้เรื่องชนะไม่มีทั้งนั้น มันลึกละเอียดอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึงว่ามันลึกไม่อยากสอน ตรัสรู้ใหม่ๆ รู้สึกว่าไม่อยากสอน พวกคนปุถุชนบ้าๆ ทั้งโลก มันคงฟังไม่ถูกแน่ ต่อมาขณะหนึ่งพระทัยเปลี่ยนไปว่า โอ้,มันมีบางคนโว้ยที่อาจจะรู้ได้ ฉะนั้นสอนคนพวกนี้ก็แล้วกันแม้จะมีสัก .๐๐๐๑% มันก็ยังมีอยู่ในโลก ดังนั้นสอนคนพวกนี้ หมื่นคนแสนคน จะรู้ได้สักคนหนึ่งก็ยังดีก็เลยสอนเรื่องนี้ เรื่องที่อยู่เหนือโลกทั้งโลก ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง รู้ไม่มีอะไรที่เป็นคู่ คู่ คู่ มีแต่อิทัปปัจจยตา สิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้มีสิ่งนี้ดับจึงดับๆๆ อยู่อย่างนั้น เมื่อเข้าใจถูกต้องเหมือนอย่างว่าชาวบ้านที่เขาเรียกว่าเงิน เงินทอง ทรัพย์สมบัติ เขาก็เรียกว่าเงินทองทรัพย์สมบัติ พระอรหันต์ก็มองเห็นเป็นอิทัปปัจจยตา เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ก็มีความอยาก คือ ตัณหา มันก็มีปริเยสนา แสวงหาไปตามความอยาก แล้วมันก็มีการกระทำ มันมีการได้มา แล้วมันก็ยึดถือยึดครอง ว่าเป็นทรัพย์สมบัติของกู นี่มันก็บ้าเท่านี้เอง เป็นทรัพย์สมบัติของกูเป็นเงินเป็นทอง เป็นลูกเป็นเมีย เป็นอะไร เขาก็คิดว่าทรัพย์สมบัติของเรา ทีนี้ก็พูดกันในหมู่ปุถุชนอย่างนี้ มันก็มีกฎหมายมีอะไรออกมาให้เข้าเรื่องเข้ารูปกันกับอย่างนี้ จึงมีเรื่องทรัพย์สมบัติเรื่องอะไรไปตามเรื่องของภาษาปุถุชน พระอริยเจ้าเห็นแต่เป็นอิทัปปัจจยตา เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้จึงมี มันมันโง่จึงไปหลงรัก พอมันหมดโง่มันก็ไม่หลงรัก ไม่หลงรักก็เหมือนกับไม่มี ทรัพย์สมบัติ เงินทอง ข้าวของ บุตรภรรยา ถ้าไม่หลงไม่ยึดถือ ก็เหมือนกับไม่มี พอไปหลงยึดถือเข้ามันก็มีทั้งนั้น นี่ก็อยู่ในกฏเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา ถ้าไปหลงรักมันจึงมีขึ้นมาเมื่อไม่หลงรักมันก็ไม่มี สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอิทัปปัจจยตา เป็นความเกิดที่ทยอยกันไปหรือเป็นความดับที่ทยอยลงมา ไม่มีอะไรที่เป็นจริงมีจริงอะไรจริงไม่มี มันมีแต่การไหล กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง ไหลจนกว่ามันจะดับคือไม่เกิด มันจึงจะว่าหยุดหรือว่าจบกันไม่มีทุกข์เป็นนิพพาน ทีนี้จิตไม่ไปตามกระแสของกิเลสคือไม่หลงใหลไปอย่างนั้น เขาเรียกว่าจิตบรรลุถึงนิพพาน ประสบกับสิ่งที่เรียกว่านิพพานคือหยุด หยุดดับแห่งกิเลส แห่งความทุกข์ มันก็เป็นไม่มีความทุกข์แล้ว เอาเป็นเพียงเท่าว่าไม่มีความทุกข์เลย ปลายจบของอิทัปปัจจยตาฝ่ายดับ(นาทีที่ 57:03)ก็ไม่มีความทุกข์เลย ถ้าเป็นฝ่ายเกิดก็มีความทุกข์เรื่อย รู้อย่างนี้เรียกว่ามีความรู้เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ แล้วก็รู้จักที่จะไม่ไปยึดมั่นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนี้เรียกว่าอินทรีย์ทั้งหลายเหล่านี้มันก็เย็นสนิท เวทนามันก็เย็นสนิท อะไรมันก็เย็นสนิทไม่มีร้อน นี่เรื่องที่สามที่จะบังคับจิต อบรมจิต เรื่องที่สามคือปัญญา เรื่องที่หนึ่งคือศีล เรื่องที่สองคือสมาธิ เรื่องที่สามคือปัญญารวมกันเป็นตัวพุทธศาสนานำไปสู่ความรู้ว่าไม่มีอะไร ไม่มีPositiveไม่มีNegative มีแต่อิทัปปัจจยตากำลังไหลไป ในทางเกิดหรือในทางดับ มีเกิดก็มีดับ รู้จักทำให้เกิดมันก็ไม่ดับ เอ่อ,ก็ไม่ต้องมีดับคือดับอยู่ตลอดกาล ไม่ต้องเกิดไม่ต้องดับ เป็นอนันตะใหญ่โตไม่มีที่สิ้นสุด เป็นนิพพาน ภาพที่ตรงนั้นมีอยู่ภาพหนึ่ง ภาพตีระฆัง จากอนันตะสู่อนันตะ ฝ่ายเกิดก็ไม่มีสิ้นสุด ฝ่ายดับก็ไม่มีสิ้นสุด เหมือนกับเสียงระฆัง ทำให้ออกมาเท่าไหร่ก็ได้ แล้วความสิ้นสุดก็ไม่สิ้นสุด เพราะมันออกมาเท่าไหร่มันก็ดับได้ทั้งนั้น ฉะนั้นอย่าให้มันเกิดเป็นความไม่สิ้นสุดที่ถูกต้อง คือไม่มีความทุกข์ ทุกข์ก็ไม่มีที่สิ้นสุดจะดับทุกข์ก็ไม่มีที่สิ้นสุดคือไม่รู้จักเต็ม ฉะนั้นสรุปความว่าบวชในวัยหนุ่ม เพื่อให้รู้จักตัวชีวิต รู้จักโลก รู้จักความจริงของชีวิตของโลก รู้อย่างไร ตั้งจิตไว้อย่างไร ปฏิบัติอย่างไรจึงจะไม่มีความทุกข์นั่นคือบทเรียน คือสิ่งที่ต้องเรียน เรียนรู้เรียนเข้าใจก็เป็นบัณฑิต สึกออกไปก็ครองโลกครองชีวิตในลักษณะที่น่าดูกว่าฉลาดกว่าไอ้พวกที่มันไม่รู้ เมื่อเขาทุกข์เราไม่ทุกข์ก็มีเท่านั้นเอง เมื่อคนอื่นเขาร้องไห้ เราไม่ต้องร้องไห้ เมื่อคนอื่นเขาบ้าอย่างนั้นบ้าอย่างนี้เราก็ไม่ต้องบ้า เพราะเราไม่หลงในความสุขหรือความทุกข์ เราเป็นอิสระ นี่ประโยชน์ของการบวชหรือศึกษาอย่างนี้ในวัยหนุ่มมันก็มีประโยชน์มาก มากที่สุด ทำให้เข้าใจสิ่งที่ดีที่สุดแล้วก็ได้สิ่งที่ดีที่สุด ก่อนแต่ตายก่อนแต่ร่างกายมันจะแตกตายทำลายไป เอาละพอกันที