แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่ ๔ นี้ จะได้กล่าวถึงสมาธิภาวนา หรืออธิจิตตาโยคโดยการเปรียบเทียบ ในครั้งที่แล้วมาได้พูดถึง ประเภทของสมาธิภาวนาหรืออธิจิตตาโยคโดยปริทัศน์ คือการมองดูอย่างกว้างๆ เพื่อให้รู้จักไว้ทุกแบบหรือทุกประเภท เพื่อจะสามารถเลือกเอาแบบที่เหมาะที่สุดสำหรับงานธรรมทูตในโลกยุคปัจจุบัน และผมได้แสดงความคิดเห็นไว้แล้วว่า แบบที่เรียกว่าอานาปานสติภาวนา เป็นแบบที่เหมาะสมที่สุด เพราะได้รวมไว้ทุกสิ่งที่โลกสมัยปัจจุบันต้องการไว้อย่างครบถ้วน ในการปฏิบัติเพียงระบอบเดียวหรือแบบเดียว
ดังนั้น ในวันนี้จะกล่าวในลักษณะที่เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นชัดยิ่งขึ้นไปอีกในระหว่างแบบหลายๆ แบบเหล่านั้น ทำไมจึงต้องพูดไปในรูปของการเปรียบเทียบ เพราะว่าการเลือกหาแบบที่เหมาะสม เป็นความจำเป็นและการเลือกหาแบบนั้น มันทำได้ด้วยการเปรียบเทียบ หรือว่าการเปรียบเทียบต้องประมวลมาทุกแบบอย่างครบถ้วน เปรียบเทียบแล้วก็เลือกเอา เพราะเหตุฉะนี้แหละเราต้องมีการเปรียบเทียบ สำหรับแบบต่างๆ ของสมาธิภาวนาหรืออธิจิตตาโยคนี้ มีทางที่จะนำมาเปรียบเทียบกันได้หลายวิธี คือแล้วแต่ว่าเราจะเปรียบเทียบโดยอาศัยอะไรเป็นหลักสำหรับการเปรียบเทียบนั้นๆ
สำหรับการเจริญสมาธิภาวนานี้ ก็เป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้วว่า เป็นการประพฤติหรือปฏิบัติเกี่ยวกับ สิ่งที่เรียกว่าจิต เป็นการทำจิตให้ยิ่งขึ้นไปตามลำดับ คือเป็นสมาธิ แล้วก็มีความรู้แจ้งในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง จนกระทั่งจิตใจนั้นเป็นอิสระจากสิ่งที่เคยหลง เคยมัวเมา เคยอะไร เป็นต้น หลักที่จะใช้เป็นเครื่องเปรียบเทียบในเบื้องแรก ก็คือว่า แบบไหนจะนำให้เกิดสมาธิได้มากน้อยเพียงไร นี้เรียกว่าเราจะเปรียบเทียบโดยถือเอาสิ่งที่เรียกว่าฌานหรืออัปปนาสมาธินั้นเป็นหลักเปรียบเทียบ ถ้าถือเอาสิ่งที่เรียกว่าฌานหรืออัปปนาสมาธิเป็นหลักเปรียบเทียบแล้วเราก็อาจจะแบ่งไอ้ แบบต่างๆ ของสมาธิ ภาวนานั้น ออกเป็นประเภท คือว่า สมาธิ ภาวนาประเภทไหนสามารถให้เกิดฌานหรืออัปปนาสมาธิ และสมาธิ ภาวนาแบบไหน แม้จะปฏิบัติไปก็ไม่สามารถที่จะให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าฌานและสมาธิ ในอัปปนาสมาธิได้ เนื่องจากมีความมุ่งหมายจะเปรียบเทียบอย่างนี้ เราก็พบหลักเกณฑ์ที่ว่า การเจริญสมาธิแบบที่มีนามธรรมเป็นอารมณ์ นี้จะไม่มีผลถึงกับเป็นฌานหรือเป็นอัปปนาสมาธิ แต่ถ้าเป็นแบบที่มีรูปธรรมเป็นอารมณ์ แบบเหล่านั้นจะมีผลให้บรรลุถึงสิ่งที่เรียกว่าฌานหรืออัปปนาสมาธิ สรุปความง่ายๆ ก็คือว่าแบบที่มีนามธรรมเป็นอารมณ์กับ แบบที่เป็นรูปธรรมเป็นอารมณ์ ใน ๒ แบบนี้แบบที่มีรูปธรรมเป็นอารมณ์จะไปได้ไกลถึง สิ่งที่เรียกว่าฌานหรืออัปปนาสมาธิ
ตอนนี้อยากจะขอร้องให้พวกเราที่เคยเล่าเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแล้วจากโรงเรียน ขอให้ตั้งต้นด้วยการยกเอาไอ้หมวดธรรมต่างๆ ที่เราเคยเรียน มาเป็นหลัก หมวดที่เรียกว่าอารักขกรรมฐาน คือพุทธานุสติ เมตตา อสุภ และมรณสติ ๔ อย่างนี้เป็นกรรมฐานที่ควรเจริญ พุทธานุสตินั้น มีการปฏิบัติที่ถือเอาคุณของพระพุทธเจ้ามาเป็นอารมณ์ สำหรับให้จิตกำหนด ทีนี้คุณของพระพุทธเจ้านั้นมันเป็นนามธรรมมันไม่ใช่รูปธรรม แม้ว่าจะเอาสิ่งที่เรียกว่าเมตตา คือความตั้งจิตแผ่มิตรภาพไปในสัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง นี่ก็เอาสิ่งที่เรียกว่าเป็นนามธรรมคือมิตรภาพนั้นมาเป็นอารมณ์ ไอ้สิ่งที่เรียกว่า อสุภ ในที่นี้ มิได้หมายเอาตัวซากศพมาเป็นอารมณ์ แต่เอาความน่าเกลียดหรือความไม่งามของสิ่งต่างๆ มาเป็นอารมณ์ โดยเฉพาะความไม่งามของร่างกายนี้มาเป็นอารมณ์ ไอ้ความไม่งามนั้นมันเป็นนามธรรม มิได้ใช้ไอ้ศพจริงๆ เป็นอารมณ์ แต่เอาความไม่งามของร่างกายเป็นต้นมาเป็นอารมณ์ นี้สิ่งที่เรียกว่ามรณสติ นั้นระลึกถึงความตายที่ยังไม่มาถึง ก็เรียกว่าเอาไอ้นามธรรมคือความตายที่เราจะพิจารณาอย่างไรได้ ได้อย่างไรนั้นมาเป็นอารมณ์ ทั้ง ๔ อย่างนี้อยู่ในพวกที่มันมีนามธรรมเป็นอารมณ์ ไม่สามารถจะสร้างอุคคหนิมิต หรือปฏิภาคนิมิตได้ มันจึงเป็นเพียงอุปจารยสมาธิ เรื่อยๆ ไปแล้วก็ได้รับประโยชน์ตามสมควรแก่การปฏิบัติ โดยไม่ต้องมีฌานหรือไม่มีอัปปนาสมาธิเกิดขึ้น จะวางไว้เป็นหลักทั่วๆ ไป เป็นพื้นฐานสำหรับคนทั่วๆ ไป จะพึงกระทำเท่านั้น ไม่ถึงขนาดที่จะกล่าวได้ว่าเป็นฌานนั่น ฌานนี่ หรือเป็นอัปปนาสมาธิ นั่นเอง
นี้หมวดต่อไป ขอให้ระลึกนึกถึง อนุสติ ๑๐ ทุกคนเคยท่องเคยจำมาแล้ว แต่จะไม่สังเกตก็ได้ ว่าอนุสติ ๑๐ อย่างนั้น มันมีอยู่อย่างหนึ่งซึ่งแปลกกว่าเขา คือ อานาปานสติ ขอให้สังเกตถ้อยคำที่เป็นชื่อของการปฏิบัติทั้ง ๑๐ แบบนี้ดู คอยสังเกตดูให้ดี เรามีคำว่าพุทธานุสติ พุทธ อนุสติ แล้วธรรมานุสติ สังเกตคำว่า อนุสติไว้ สังฆานุสติ ศีลานุสติ จาคานุสติ เทวตานุสติ มรณานุสติ กายคตาสติ อานาปานสติ และอุปสมานุสสติ ไอ้ที่ลงท้ายด้วยอนุสติ นั่นเป็นนามธรรมทั้งนั้น เช่น พุทธานุสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ในฐานะที่เป็นพระคุณ ธรรมานุสติ ก็พระคุณของพระธรรม สังฆานุสติก็พระคุณของพระสงฆ์ ศีลนุสติก็คุณของศีล จาคานุสติก็คุณของทาน เทวตานุสติ ก็คุณ หรือธรรมที่มีคุณทำให้เป็นเทวดา มรณานุสติก็ความตาย กระทั่งอุปสมานุสสติระลึกถึงนิพพาน ก็คือคุณของนิพพาน แต่คำว่ากายคตาสติ และอานาปานสติ นั้น มันไม่มีคำว่า อนุ มีแต่คำว่าสติ นั้นเราจะสังเกตเห็นได้ทันทีว่า ไอ้ชื่อไหนมีคำว่าอนุสติแล้ว ชื่อนั้นเล็งถึงอารมณ์ที่เป็นนามธรรม ทั้งนั้น ส่วนกายคตาสติ หรืออานาปานสติ ซึ่งไม่มีคำว่า อนุ นี่มันเล็งถึงการปฏิบัติที่มีรูปธรรมเป็นอารมณ์สำหรับ อานาปานสติ นั้นเล็งถึงลมหายใจเป็นอารมณ์ ลมหายใจเป็นวัตถุธรรมหรือเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เป็นเพียงคุณ หรือลักษณะอย่างอันอื่นๆ ส่วนกายคตาสติ มัน ๒ ความหมาย ขอให้เข้าใจไว้ด้วยเช่นเดียวกับคำว่า อสุภ นี่คำว่า กายคตาสติ นี่มัน ๒ ความหมาย ถ้าคำว่า กาย หมายถึง ร่างกายหมายถึงซากศพอย่างนี้ก็เป็นรูปธรรม ถ้าคำว่ากาย หมายถึงความน่าเกลียด ความไม่งามของกาย แล้วก็เป็นนามธรรม ในอนุสติ ๑๐ อย่างนี้ ที่แน่นอนที่สุดก็มีชัดเจนอยู่อย่างหนึ่ง คืออานาปานสติ นั่นเอง เป็นรูปธรรม ในอนุสติ ๑๐ อย่างนี้ มันก็มีนามธรรมเสียตั้ง ๙ อย่าง อะสัก ๘ อย่าง แล้วกำกวมอยู่อย่างหนึ่ง แล้วที่แน่นอนที่สุดอย่างเดียวเท่านั้น คือ อานาปานสติ ที่เป็นรูปธรรม การเจริญอนุสติ ๑๐ นั้น พวกที่ไปไม่ได้ถึงฌาน หรือถึงอัปปนาสมาธิ ก็คือ ๘ ชนิดที่เป็นนามธรรมล้วน แล้วก็ที่จะไปได้โดยแน่นอน ก็คืออานาปานสติ ส่วนกายคตาสตินั้น แล้วแต่ว่าเราจะปฏิบัติในแง่ไหน คือว่าในแง่ที่จะใช้รูปธรรมหรือจะใช้นามธรรมเป็นอารมณ์ นี่ก็ได้พูดเป็นหลักขึ้นมาแล้วว่า ถ้ามีนามธรรมเป็นอารมณ์ ก็ไม่มีผลเป็นฌานหรืออัปปนาสมาธิ อย่างน้อยก็ให้มีรูปธรรมเป็นอารมณ์
ทีนี้เราจะมองดูถึงไอ้กลุ่มกรรมฐาน ที่มีรูปธรรมเป็นอารมณ์โดยเฉพาะ แล้วก็แบ่งได้เป็น ๒ พวกคือรูปธรรมภายนอก หรือรูปธรรมภายใน ที่เป็นรูปธรรมภายนอกตัวเราก็เช่น กสิณ ๑๐ หรืออสุภ ๑๐ คำว่ากสิณนี้มันก็เป็นชื่อของสิ่งที่เป็นวง หรือเป็นดวง หรือเป็นก้อน ก็ถือเอาวงที่มีสีเขียว สีแดง สีเหลือง สีดำ หรือแม้ที่สุดแต่เอาสิ่งที่เรียกว่าอากาศ มันก็เป็นรูปธรรมเพราะว่าต้องดูด้วยตา เช่นเจาะช่องฝาให้เป็นรู กลม แล้วก็เพ่งดูที่ช่องนั้น เพื่อดูอากาศข้างนอก ก็ขอให้ถือว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าอากาศนั้นก็เป็นรูปธรรม คำว่าอากาศอย่างนี้ หมายถึงอากาศที่ดูด้วยตา ไม่ใช่อากาศ ในคำว่า อากาสานัญจายตนะ ในอรูปฌาน นั้นดวงกสิณทั้งหมดเป็นรูปธรรม เป็นสิ่งที่เป็นดุ้นเป็นก้อน ที่มองเห็นได้ชัดด้วยตา สำหรับอสุภ ๑๐ นี่ก็ แสดงอยู่ชัดแล้วว่าเป็นรูปธรรม เป็นซากศพ ๑๐ ชนิด หยิบชนิดใดชนิดหนึ่งมาเป็นอารมณ์ มันก็เป็นรูปธรรม นี้เรียกว่ารูปธรรมทางภายนอกที่อยู่นอกกายเรา ทีนี้รูปธรรมที่เนื่องอยู่ด้วยกายเรา คือเป็นภายใน ก็คือลมหายใจ ลมหายใจเป็นรูปธรรมที่เนื่องอยู่กับร่างกายนี้ถือว่าเป็นภายใน หรือที่จะให้ละเอียดไปกว่านั้น ถ้าจะถือเอาเวทนา ที่รู้สึกทางกาย ในฐานะที่เป็นโผฎฐัพพะชนิดหนึ่งที่มากระทบผิวหนัง อย่างนี้ก็เรียกว่ามีรูปธรรมภายในเป็นอารมณ์ได้เหมือนกัน
ทีนี้สิ่งที่ต้องพิจารณากันต่อไปก็คือว่า กสิณก็ดี อสุภก็ดี มันเป็นรูปธรรมชัดเจน นั้นตาเพ่งลงไปที่นั่นมันก็เพ่งได้ชัดเจน คือเป็นอารมณ์ที่จิตเข้าไปกำหนดได้ง่าย ชัดเจนที่สุด ง่ายที่สุด ไม่เหมือนจะไปกำหนดคุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์ คุณทาน คุณศีล กระทั่งทุกอย่างที่มันเป็นเพียงนามธรรม นี่จิตมันไม่รู้จะกำหนดไว้ที่วัตถุอะไร ก็ได้แต่กำหนดไปที่นามธรรมนั้นๆ นี่มีบางคนก็ยักแบบ คือว่า ให้ประมวล ให้ชักจูงตัวเอง แนะนำตัวเอง ให้ประมวลคุณธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทั้งปวงแล้วมาสรุปรวมอยู่ด้วยคำพูดว่า พุทโธ พุทโธ แล้วพูดว่า พุทโธ พุทโธ ให้หูได้ยิน กลายเป็นเสียงขึ้นมา เสียงเป็นรูปธรรม อย่างนี้มันก็เรียกว่าโดยอ้อมหรือนอกแบบ แล้วถึงอย่างนั้นมันก็ไม่สามารถจะใช้ไอ้เสียงว่า พุทโธ นั้นให้เป็นอารมณ์อย่างเป็นรูปธรรม ชนิดที่จะให้เกิดฌานหรืออัปปนาสมาธิได้ เพราะมันไม่ใช่รูปธรรมโดยตรงอย่างพวกกสิณ หรืออสุภ หรือลมหายใจ นี่เราก็เกิดได้เป็น ๒ พวก ว่าพวกที่ใช้นามธรรมเป็นอารมณ์ไม่มีเป็นผลเป็นฌานหรืออัปปนาสมาธิ พวกที่มีรูปธรรมเป็นอารมณ์มีผลได้ถึงฌานหรืออัปปนาสมาธิ
ทีนี้ใน ๒ พวกนี้ อันไหนจะดีกว่าหรือเหมาะสมกว่า หรืออะไรกว่า ในที่สุดก็จะพบว่าอานาปานสติดีที่สุดกว่าทุกระบบ ไอ้ที่ดีนำหน้าตามความมุ่งหมายก็คือว่า เป็นไปได้ถึงฌาน และถึงอัปปนา ทีนี้ที่เป็นไปได้ถึงฌานถึงอัปปนาด้วยกันยังมีอีกหลายอย่างนั้น สู้อานาปานสติไม่ได้ เพราะเหตุที่ว่าอานาปานสตินั้น เป็นการเจริญสมาธิที่ไม่โกลาหลวุ่นวาย ไม่น่าเกลียดน่ากลัว ถ้าเจริญกสิณ ก็ต้องโกลาหลวุ่นวาย ทำดวงกสิณ ถ้าจะเจริญอสุภ คือซากศพ มันก็ทั้งโกลาหลวุ่นวาย และทั้งน่าเกลียด น่ากลัว ทีนี้ถ้าจะนึกไปถึงข้อที่ว่า เอาความสะดวกเป็นหลัก ไม่มีอันไหนจะสะดวกเท่าอานาปานสติเพราะเหตุที่ว่ามันเนื่องกันอยู่กับร่างกายของเรา เราไปที่ไหนเราก็มีการหายใจ เราก็มีการหายใจอยู่ตามธรรมชาติ หยุดไม่ได้ เราจะไปนั่งเจริญตรงไหน ยืนเจริญตรงไหน นอนเจริญตรงไหนมันก็มีการหายใจและก็ให้ความสะดวกที่สุด ถ้าเจริญอสุภกรรมฐานก็ต้องไปที่ป่าช้า ถ้าจะเจริญกสิณ ก็ต้องไปนั่งตรงที่มันมีดวงกสิณ หรือมิฉะนั้นก็ต้องหอบหิ้วเอาไป นี่มันไม่มีความสะดวกอย่างนี้ นี่ขอให้คอยกำหนด สังเกตให้ดีๆ แล้วให้คะแนนแก่สิ่งเหล่านี้อย่างยุติธรรม ว่าในบรรดากรรมฐานประเภทมีรูปธรรมเป็นอารมณ์กันนั้น อานาปานสติไปได้ถึงอัปปนากับเขาด้วยเหมือนกัน แต่ได้เปรียบตรงที่ว่าไม่โกลาหล วุ่นวาย ไม่น่าเกลียดน่าชัง มีความสะดวกที่สุด มีความสงบ ระงับตั้งแต่ต้นจนปลายเลย ไม่มีความโกลาหลวุ่นวาย นั้นในบรรดากรรมฐานที่มีผลเป็นอัปปนาสมาธิหรือเป็นฌานได้ อานาปานสติได้เปรียบหรือว่าเหมาะสมที่สุด สำหรับไอ้สมาธิประเภทอรูปฌานนั้น ถ้ามีความสงสัยว่ามันจะอยู่ในพวกไหน ในประเภทไหนขึ้นมา ก็ให้ถือว่ามันเป็นประเภทพิเศษ คือเป็นประเภท อเนญชาสมาธิ มันต้องการจะให้มีความสงบเงียบหายไป ไม่ต้องการจะดำรงอยู่ในสมาธิ หรือในอัปปนาสมาธิอะไร นั้นเราจึงไม่เอาเข้ามาสู่ความเป็นคู่เปรียบ และอีกอย่างหนึ่งมันก็ไม่มีความเหมาะสม ที่จะนำมายื่นให้แก่บุคคลธรรมดาสามัญ
ทีนี้ก็จะมองดูต่อไปถึงการเปรียบเทียบโดยถือเอาผลที่จะพึงได้รับ นี่มาเป็นหลักสำหรับการเปรียบเทียบ นี่ระวังให้ดีนะว่ามันจะปนกันยุ่ง ที่แล้วมาเราเปรียบเทียบด้วยการที่ว่าอันไหนไปได้ถึงอัปปนาสมาธิ อันไหนไปไม่ได้ถึง อัปปนาสมาธิ เอาความเป็นอัปปนาสมาธิหรือไม่นั้นเป็นหลัก ทีนี้เราจะเอาผลที่ได้รับเป็นที่น่าพอใจเป็นหลัก สำหรับผลของการเจริญสมาธิภาวนานั้นได้พูดกันแล้วในครั้งก่อนๆ ซึ่งจะซ้อมความจำในทีนี้โดยย่อก็คือว่า ผลของสมาธิภาวนามีอยู่ ๔ อย่าง คือความสุขทันตาเห็นที่นี่และเดี๋ยวนี้ แล้ว ๒ คุณสมบัติที่เป็นทิพย์ที่พิเศษไปกว่าธรรมดา หูทิพย์ ตาทิพย์ อำนาจทิพย์ แล้ว ๓ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และ ๔ ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ นี่มีอยู่ ๔ อย่างอย่างนี้ ให้ไปพิจารณาดูว่ากรรมฐาน หรือสมาธิภาวนาระบบไหนที่มันจะให้ผลได้ทั้ง ๔ อย่างนี้ เอาล่ะแล้วเราจะพูดถึงข้อที่ว่าไอ้หลักเดิมของเรามีอยู่อย่างไรก่อน หลักเดิมก็มีอยู่ว่า คือตามพระพุทธภาษิตนั้น มีอยู่ว่า ถ้าต้องการความสุขที่นี่เดี๋ยวนี้ให้เจริญสมาธิประเภทที่ให้เกิดฌาน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานก็ตาม สมาธิประเภทที่ให้เกิดฌานนี้คือให้ผลเป็นสุข และที่ให้มีหูทิพย์ ตาทิพย์ อะไรทิพย์ ทิพย์นั่น ให้เจริญไอ้พวกที่มันจะทำให้เกิดสิ่งนั้นขึ้นมา คือ อาโลกสัญญา ทิวาสัญญา (นาทีที่ 28:52) อะไร เป็นต้น ถ้าจะให้เกิดสติสัมปชัญญะสมบูรณ์นี่ วางหลักไว้ใหญ่ๆ ว่า ให้คอยกำหนดการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของเวทนา สัญญา และวิตก ออกมากระทั่งทางอิริยาบถเคลื่อนไหวทางกาย ยุบหนอ พองหนอ อะไรอย่างนี้ ส่วนที่จะมีผลเป็นความสิ้นอาสวะนั้น ต้องกำหนดความเกิดขึ้น ดับไปแห่งเบญจขันธ์ ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน คือการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แห่งสิ่งที่เราเรียกกันใหม่ๆ ว่าตัวกู ว่าของกู นั้นเป็นการบัญญัติเฉพาะ เฉพาะเรื่อง เฉพาะอัน มีผลเฉพาะเรื่อง เฉพาะอันไป
ทีนี้เรามาตั้งปัญหาว่า ในระบบการเจริญสมาธินานาชนิดที่มีอยู่นั้น ระบบไหนบ้างที่จะให้ผลทั้ง ๔ อย่างนี้ อย่างมาก ในที่สุดไปพิจารณาดู จะพบว่า อานาปานสติภาวนา จะทำให้ได้รับผล ๔ อย่างนี้ครบถ้วน แม้ว่าจะมีบางอย่างเป็นไปโดยอ้อม เพราะว่าระบบการเจริญอานาปานสติ นี้เราหมายถึงระบบที่สมบูรณ์ที่ถูกต้อง คือระบบที่กล่าวไว้ในอานาปานสติสูตรนั่นเอง ขอให้ศึกษา สนใจกันอย่างละเอียดต่อไปซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า ไม่ได้หมายถึงอานาปานสติกระท่อนกระแท่น อย่างที่กล่าวไว้ใน มหาสติปัฏฐานสูตร ฑีฆนิกาย ที่ยกมากล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นต้น คัมภีร์วิสุทธิมรรค อธิบายอานาปานสติกระท่อนกระแท่นคือเพียงหมวดเดียว หมวดแรกของอานาปานสติทั้งหมดที่กล่าวไว้ในอานาปานสติสูตร นี่ให้ไปสอบดู ผมกำลังบอกว่า อานาปานสติ ในมหาสติปัฏฐานสูตร ฑีฆะนิกาย ก็ดีหรือที่ยกมากล่าวไว้ในคัมภีร์ชั้นหลังอย่างละเอียดลออ เช่นวิสุทธิมรรคก็ดี มันกระท่อนกระแท่นคือเป็นส่วนหนึ่งของอานาปานสติทั้งหมดเท่านั้น คือกล่าวเพียง ๔ ขั้นตอนต้นเท่านั้น ส่วนอานาปานสติสมบูรณ์แบบในอานาปานสติสูตรและที่อื่นๆ อีกนั้นมีถึง ๑๖ ขั้น แบ่งเป็น ๔ หมวด หมวดละ ๔ ขั้น เป็น ๑๖ ขั้น มีอยู่ในรูปของพระพุทธภาษิตโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสูตรชื่อ อานาปานสติสูตร อุปริปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย แล้วก็มีทั่วไปแม้ในวินัยปิฏก ที่พูดถึงอานาปนาสติ แล้วจะพูดถึง อานาปานสติ ๑๖ ขั้นนี้ทั้งนั้น ในสังยุตตนิกาย มีอานาปานสติสังยุตต์ พูดถึงอานาปานสติสมบูรณ์แบบ ๑๖ ขั้นทั้งนั้น แล้วคัมภีร์อธิบาย คัมภีร์ที่อธิบายอานาปานสติ ๑๖ ขั้นนี้ก็อยู่ในพระไตรปิฎกนั่นเอง คือคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ขอให้ไปดูให้ละเอียดลออ จะพบเรื่องอานาปานสติที่สมบูรณ์แบบที่สุด ในลักษณะอย่างนี้
ถ้าคำว่าอานาปานสติ หมายถึง อานาปานสติสมบูรณ์แบบนี้แล้ว ย่อมให้เกิดผลครบถ้วนทั้ง ๔ อย่างนั้นได้โดยง่ายดาย อานาปานสติหมวดที่ ๑ ซึ่งมีอยู่ ๔ ขั้น อันสุดท้ายที่ว่าทำกายสังขารให้ระงับอยู่ หายใจเข้าหายใจออกนั่นแหล่ะ คือการบรรลุฌาน ที่เรียกว่ามีความสุขที่นี่ และเดี๋ยวนี้ อานิสงค์ข้อแรก สำหรับหูทิพย์ตาทิพย์นั้นจะต้องพักไว้ก่อน เพราะมันจะมีมาโดยอ้อม ก็เลยไปถึงอันที่สาม คือ ความมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ นี้จะเห็นได้ชัดว่า ในการกำหนดลมหายใจเข้า- ออกนั่นแหล่ะ เป็นการทำให้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ยิ่งกว่ายุบหนอพองหนอ หรือยิ่งกว่าที่คอยกำหนดการเกิดขึ้นและดับไปของเวทนา สัญญา และวิตก การกำหนดของลมหายใจเข้า- ออกไม่ให้ขาดตอน ไม่ให้ขาดสายนี้ ทำได้ง่ายกว่าทำได้จริงจังกว่า ทีนี้อานาปานสติ ๑๖ ขั้นนี้ ใน ๔ ขั้นสุดท้าย คือหมวดที่ ๔ ซึ่งมีอยู่ ๔ ขั้นและอยู่ตอนสุดท้ายนั้น เป็นการปฏิบัติที่เป็นความสิ้นอาสวะ กระทั่งเป็นผลของความสิ้นอาสวะด้วย อนิจจานุปัสสี อวิราคานุปัสสี นิโรธานุปัสสี ปฏินิสสัคคานุปัสสี ทั้ง ๔ ขั้นนี้ คือ เรื่องเกี่ยวกับความสิ้นอาสวะ นับตั้งแต่ทำให้สิ้นอาสวะ แล้วก็รู้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว ก็เป็นอันว่า อานาปานสติสมบูรณ์แบบ ๑๖ ขั้นนี้ ให้อานิสงค์ประเภทความสุขที่นี่และเดี๋ยวนี้ ให้ผลเป็นความมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ให้ถึงความสิ้นอาสวะเป็นที่สุด ส่วนเรื่องทิพย์ต่างๆ นั้นมันจะต้องเปลี่ยนนิดหน่อย คือว่า เมื่อหลังจากเจริญอานาปานสติมีผลเป็นสมาธิแล้วจึงเปลี่ยนให้เป็นไปในทางของ ทิวาสัญญา หรืออาโลกสัญญา แต่ทีนี้ผมอยากจะเสนอว่ามันยังมีดีกว่านั้น เพราะคำว่าทิพย์นี่พระพุทธเจ้าท่านเรียกผลของสมาธิ เมื่อเป็นการมีความสุขอย่างเป็นทิพย์ ที่พูดถึงทิพยวิหาร หรือว่าอาสนทิพย์ นี่ก็หมายถึง การอยู่ด้วยความสุขที่เกิดจากรูปฌาน จะเป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานก็ตาม ทั้ง ๔ นี้เรียกว่าคุณสมบัติที่เป็นทิพย์ทั้งนั้น ถ้าถืออย่างนี้เป็นหลักแล้วอานาปานสติก็สมบูรณ์ที่สุด ในการให้อานิสงค์ทั้ง ๔ ประการนั้น ให้ไปเทียบดู นอกนั้นจะให้ได้แต่เพียงบางอย่างและบางอย่างที่ให้นั้นก็ให้ได้เพียงบางระดับ มิอาจจะถึงที่สุดได้ ไปไล่ดูตามลำดับเถอะ พุทธานุสติ เมตตา อสุภ มรณะสติ หรืออะไรก็ตาม อนุสติทั้งหมดนอกจากอานาปานสติก็ตาม กสิณ อสุภ อะไรก็ตาม นี่มันไม่สามารถจะให้อานิสงค์ทั้ง ๔ อย่างนั้น อย่างเต็มที่ ครบถ้วนได้ นี่เราจึงถือว่า เมื่อเปรียบเทียบกัน โดยเอาผลที่จะพึงได้รับเป็นหลักแล้ว การปฏิบัติอานาปานสติภาวนา ให้ผลครบถ้วน หรือกว้างขวางที่สุด และถึงที่สุดของสิ่งนั้นๆ
แล้วทีนี้ เราจะมีทางเปรียบเทียบกันต่อไปอีก โดยลักษณะอื่น ซึ่งค่อนข้างจะเรียกว่าเบ็ดเตล็ด เพราะว่าหลักใหญ่ๆ มันมีอยู่เท่าที่กล่าวมาแล้ว ว่าอันไหนจะไปถึงอัปปนาสมาธิ แล้วว่าอันไหนจะให้ผลตามความมุ่งหมายของการเจริญสมาธิได้ครบถ้วนและถึงที่สุด แล้วก็พบว่าในทั้งหมดนั้น อานาปานสติมีคุณสมบัติเต็มที่เพื่อวัตถุประสงค์อันนั้น อ้าว ทีนี้จะมาเปรียบเทียบกันดูโดยอาการเบ็ดเตล็ดเป็นคู่ๆ สมาธิที่ถึงขนาดที่จะให้เกิด เจโตสมาธิ หรือว่าไม่ถึงขนาดที่จะให้เกิดเจโตสมาธิ ถ้าถามอย่างนี้มันก็ระบุไปยังอานาปานสติ เป็นระบบที่ถึงขนาดที่ให้เกิดเจโตสมาธิอย่างแน่นอน อันอื่นก็มีเหมือนกันที่ว่าให้เกิดเจโตสมาธิ ก็อันที่ไม่ให้เกิดเจโตสมาธิได้ไม่ถึงขนาดนี้ก็มีอยู่มาก นั้นเราไม่พูดถึง นี้ในพวกที่ให้ถึงขนาดเจโตสมาธิด้วยกันแล้ว อานาปานสติก็นำมาข้างหน้า ก็ให้เกิดอานิสงค์ ผลอย่างอื่นดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า มันสะดวกแก่การกระทำ มันไม่มีโกลาหล วุ่นวาย น่าเกลียดน่ากลัว มันจึงออกหน้ามาในลักษณะอย่างนี้
ทีนี้ที่สำคัญกว่านั้นผมอยากจะแนะให้สังเกต ว่าการปฏิบัติสมาธิระบบไหน เราอาจจะปฏิบัติไปได้จนถึงจุดหมายปลายทางคือความสิ้นอาสวะ โดยไม่เปลี่ยนหลักการไม่ต้องเปลี่ยนระบบ ถ้าถามอย่างนี้แล้วระบบอานาปานสติระบบเดียวเท่านั้น ไม่มีระบบอื่น ที่มันจะเป็นไปได้จนถึงสิ้นอาสวะ โดยไม่ต้องเปลี่ยนระบบ สมมุติว่าเจริญอสุภกรรมฐาน มันก็ได้อัปปนาสมาธิและมันก็สิ้นสุดแค่นั้นต้องเปลี่ยนเป็นระบบเจริญปัญญา เป็นระบบพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันอยู่นอกขอบเขตของระบบที่เรียกว่า อสุภ ส่วนอานาปานสติ ๑๖ ขั้นนั้นมันมีเป็นลำดับไปทีละขั้นๆ ๆ จนถึงความสิ้นอาสวะ พูดให้ชัดกว่านี้ก็คือ เราไม่ต้องเปลี่ยนไปฝึกระบบระบบไหน ระบบใดอีกแล้ว ปฏิบัติอานาปานสติ อย่างเดียวล้วนเรื่อยไป ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด คือบรรลุนิพพานแล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนระบบกรรมฐาน ถ้าใช้อย่างอื่นจะต้องเปลี่ยนระบบนั้น ต่อไปจากระบบนั้น ระบบนั้นต่อไปจากระบบนั้น นี่เป็นความไม่สะดวกอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน
ระบบอานาปานสติจะเริ่มตั้งต้น ตั้งแต่ให้เกิดสมาธิ แล้วก็เป็นวิปัสสนา แล้วก็เป็นมรรค ผล และนิพพาน ไปในสายเดี่ยวนั้น อันดับที่ ๑๖ ของอานาปานสติก็คือ รู้ว่าบรรลุ มรรค ผล นิพพานแล้ว นับว่าเป็นการได้เปรียบอย่างยิ่ง ไม่ต้องยุ่งยากหลายระบบ มาติดต่อกันหรือมาเปลี่ยนแปลงเป็นอันอื่นไปตามลำดับ นี่จะถามกันอย่างเบ็ดเตล็ดอย่างนั้นก็คืออันไหนสะดวก อันไหนไม่สะดวก ระบบอานาปานสติแสนที่จะสะดวก ทีนี้ระบบไหน สงบ ระงับไปตั้งแต่ต้นมือ อันไหนไม่สงบ ระงับ ไปตั้งแต่ต้นมื้อ ก็ตอบว่าระบบอานาปานสติจะมีสงบ ระงับ เหมือนกับว่าจะบรรลุความสุขอย่างพระนิพพาน ไปตั้งแต่ต้นมือ ยกตัวอย่างเปรียบเทียบง่ายๆ เช่นว่าเราจะไปเจริญกสิณอย่างนี้ ไม่มีความสงบระงับไปตั้งแต่ต้นมือ มันเกะกะ โกลาหล วุ่นวายด้วยดวงกสิณ ด้วย หรือด้วยขนนึง (นาทีที่ 44.08) แม้เมื่อลงมือเพ่งลงไปที่ดวงกสิณ มันก็ไม่เกิดความสงบ ระงับ อย่างกับที่เราจะพึงได้รับจากการที่กำหนดลมหายใจสั้นหรือยาว เพราะสักว่ากำหนดลมหายใจสั้นหรือยาวเท่านั้น ความสงบ ระงับ ในแบบลักษณะของนิพพานก็จะเข้ามาทันที และก็เป็นอย่างนั้นมากขึ้นๆ จนถึงความสงบระงับ แท้จริงหรือสูงสุด อย่างนี้เราเรียกว่าสงบ ระงับไปตั้งแต่ต้นมือ ไม่มีอันไหนจะดีเท่าระบบอานาปานสติ นี้ถามว่าระบบไหนให้ความสะดุ้ง หวาดเสียว ทุลักทุเลมาก ระบบไหนไม่ให้ความสะดุ้ง หวาดเสียว ทุลักทุเลเลย มันก็ต้องตอบระบบอานาปานสติอยู่นั่นเอง ทีนี้จะถามว่าระบบไหนให้โอกาสแก่การเกิดนิวรณ์ได้ง่ายๆ ระบบไหนไม่ให้โอกาสแก่การเกิดของนิวรณ์โดยง่ายๆ มันก็ต้องตอบว่าระบบอานาปานสติ คือมันติดต่อกันไปไม่ขาดและมีอารมณ์ คือลมหายใจที่ชัดเจน แจ่มแจ้ง ชัดเจน แน่วแน่ ถ้าเราไปปฏิบัติอย่างพุทธานุสติ พิจารณาคุณของพระพุทธเจ้าอยู่นี่ มันเป็นสิ่งที่เลือน มันไม่ชัดเจน แจ่มแจ้ง เหมือนไอ้วัตถุ รูปธรรม แล้วมันก็มีโอกาส มีช่องที่นิวรณ์จะแทรกสุมเข้ามารบกวนได้มากได้ง่าย ระบบอื่นๆ ที่มีผลคล้ายกับอานาปานสติในข้อนี้ก็มีเหมือนกัน แต่แล้วก็ไม่ได้คะแนนเท่าอานาปานสติ ตรงที่ว่ามันไม่ให้ความสะดวกอย่างอื่นๆ เหมือนที่อานาปานสติจะมีให้ เป็นต้น
ทีนี้ก็มาถึงว่าอันไหนกลมกลืนกับธรรมชาติที่สุด เป็นไปตามกฎของธรรมชาติโดยง่ายดายที่สุด โดยไม่ต้องฝืนธรรมชาติและมีโอกาสที่จะฝังตัวเข้าไปในธรรมชาติได้ โดยง่าย โดยลึกซึ้งแนบเนียนที่สุด ถ้าถามอย่างนี้ คะแนนก็คงได้แก่ระบบอานาปานสติไปตามเดิม แล้วอันสุดท้ายที่จะถามเพื่อการเปรียบเทียบว่าในบรรดาระบบสมาธิภาวนา กรรมฐานอะไรทั้งหมดนี้ ระบบไหนพระพุทธเจ้าท่านทรงสรรเสริญ และแนะนำมากที่สุด นี่ไม่ต้องเชื่อผม ไปเปิดดูในบาลี คือพระพุทธเจ้าท่านทรงแนะนำ ทรงสรรเสริญ ทรงชักชวนในระบบอานาปานสติ พร่ำแล้วพร่ำอีก โดยตรัสถึงเหตุผลที่ว่ามันสะดวก มันไม่น่ากลัว มันสงบ ระงับไปตั้งแต่ต้น นี่คนไม่ค่อยสนใจที่จะสังเกตหรือทดสอบดูให้ดีว่าในพระบาลี ในพระคัมภีร์ทั้งหมดนั้น พระพุทธเจ้าท่านทรงแนะนำระบบไหน ท่านเสนอระบบไหน ท่านโฆษณาให้สนใจในระบบไหนมากที่สุด คือระบบอานาปานสติ ไม่มีปรากฏ ระบบอื่นที่ทรงสรรเสริญมากเหมือนระบบอานาปานสติ เพราะเหตุผลนิดเดียว คือว่ามันสะดวก และสงบ ระงับ ไม่โกลาหล วุ่นวาย ไม่น่าเกลียดน่ากลัว ไปตั้งแต่ต้นมื้อ ลองไปทำอย่างอื่นเข้ามันก็มีโกลาหลวุ่นวายบ้าง น่าเกลียดน่ากลัว ทุลักทุเล ไปตั้งแต่ต้นมือบ้าง หรือว่าถ้าไม่อย่างนั้น มันก็ไม่ชัดเจน แน่วแน่ ง่ายหรือสะดวกแก่การกำหนด เราจึงถือเป็นระบบที่พระพุทธเจ้าท่านทรงแนะนำเอง ทรงสรรเสริญ ไว้ด้วยพระองค์เอง ขอให้ไปค้นดูเองในที่มา ในสูตรนั้นๆ และเป็นสิ่งที่ได้รับเกียรติยศมากที่สุดจากพระพุทธองค์ในลักษณะอย่างนี้
นี่ทั้งหมดนี้ คือ การเปรียบเทียบในระหว่างบรรดาระบบต่างๆ ที่เราเรียกว่า สมาธิภาวนาหรือ อธิจิตตาโยค ระบบหนึ่งๆ ในที่สุดจะพบว่าอานาปานสติ อย่างที่ผมขอเสนอและยืนยันไว้แล้วตั้งแต่วันก่อน นั้นขอให้ไปทบทวนดูให้ดีๆ จะได้มีความศรัทธา และมีความแน่ใจในระบบนี้ แล้วก็จะได้พูดกันโดยละเอียดลออที่สุดต่อไปในวันหลังๆ วันนี้ผมตั้งใจจะพูดแต่เพียงการเปรียบเทียบให้เห็นเท่านั้น แล้วมันก็พอแล้วสำหรับการเปรียบเทียบ จึงยุติคำบรรยายวันนี้ลงไว้เพียงเท่านี้ และก่อนเวลาที่กำหนดไว้เล็กน้อย