แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ของพวกเราที่นี่พูดเรื่องเกี่ยวกับตัวตนแง่ใดแง่หนึ่งทุกคราวที่แล้วมา ขอให้เข้าใจอย่างนี้ต่อไปข้างหน้าด้วย แต่ว่าวันนี้อยากจะพูดเป็นพิเศษไม่เหมือนทุกทีคล้ายๆ กับว่าเป็นวันปวารณา เราทำปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือนตลอดทั้งปี แต่มีอยู่วันหนึ่งทำปวารณา นี่เรียกว่าแปลกออกไป นั่นเป็นปาฏิโมกข์วินัยหรือปวารณาอย่างวินัย เดี๋ยวนี้เรามีธรรมปาฏิโมกข์ ปาฏิโมกข์อย่างธรรม นี่ถ้าจะมีปวารณาบ้าง มันก็จะต้องเป็นปวารณาอย่างธรรม ฉะนั้นขอให้ถือเสียว่าวันนี้เนื่องในวันปีใหม่ก็จะพูดเรื่องธรรมปวารณาลองดูที แต่มันก็ไม่พ้นไปจากเรื่องที่เกี่ยวกับตัวตน สำหรับความมุ่งหมายที่แท้จริงนั้นก็ต้องการจะพูดโดยความหมายของคำว่าปวารณา ทีนี้มันมีได้เป็น ๒ อย่าง มันก็ต่างกัน เช่นเดียวกับว่าวินัยก็ต่างจากธรรมะ ธรรมะก็ต่างจากวินัย ทีนี้เมื่อจะเทียบเคียงกันก็จะต้องเอาเรื่องวินัยมาพูดบ้างก่อน มันจึงจะเทียบกันได้
ตามหลักของวินัย มันก็มีหลักอยู่ที่เป็นการบังคับ นี่ธรรมะไม่บังคับ ใครสมัครใจอย่างไรก็เอา แต่ว่าวินัยเป็นเรื่องที่ต้องบังคับ นี่ความต่างอย่างใหญ่หลวงอย่างยิ่งมันก็อยู่ที่ตรงนี้ คือวินัยไว้สำหรับคนหน้าด้าน ธรรมะนี้สำหรับสุภาพบุรุษ ฉะนั้นจึงไม่บังคับ เรื่องของคนหน้าด้านมันเลยต้องบังคับทั้งนั้น พระพุทธเจ้าก็ยังตรัสว่าวินัยนี้มีเพื่อข่มขี่คนหน้าด้าน ซึ่งบาลีเรียกว่าทุมฺมงฺกุ ทุมฺมงฺกุ ตัวหนังสือมันแปลว่าเก้อยาก คือมันอายยาก มันละอายยาก มันเก้อเขินยาก มันไม่รู้จักเก้อเขิน มันไม่รู้จักละอาย เขาเรียกว่าทุมฺมงฺกุ พูดตรงๆ ก็คือคนหน้าด้าน วินัยนี้มันก็เพื่อจะข่มขี่คนหน้าด้าน จะเป็นเรื่องปาฏิโมกข์หรือเป็นเรื่องปวารณาก็ดี มันเจาะจงคนที่ยังจะต้องบังคับกัน โดยส่วนตัวก็ตามโดยส่วนหมู่คณะก็ตาม กฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นไปเพื่อบังคับทั้งนั้น เพราะว่ามันมีตัวกูที่เลวมาก เพราะว่ามันมีตัวกูชนิดที่หยาบคายมาก ยังมีตัวกูที่รุนแรง ฉะนั้นจึงต้องมีการบังคับ มันก็ถากหรือโกลนกันตรงๆ นี่ มันไม่ใช่การตกแต่งอย่างประณีตอะไรนัก หรือเรียกอีกทีหนึ่งก็ว่ามันยังไม่ใช่การประดับประดาเพื่อความสวยงาม แต่มันเป็นเรื่องถากหรือโกลนหรือว่าเชือดหรือผ่าตัด ฉะนั้นเรื่องวินัยทั้งหมดมันก็เป็นเรื่องโกลาหลวุ่นวายหรือเป็นเรื่องที่น่าพรั่นพรึง พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าอุบายหยาบ,อุบายหยาบ คือใช้วิธีหยาบๆ ใช้กับคนที่ยังมีนิสัยสันดานหยาบหรือเก้อยาก
ฉะนั้นการปวารณาจึงต้องจับตัวมาทำสัญญากันทางวินัย ว่ามาพูดกัน ว่าปวารณาด้วยปากว่าข้าพเจ้าขอปวารณาเพื่อให้ท่านว่ากล่าวตักเตือน และข้าพเจ้าก็จะไม่โกรธหรือไม่อะไรหมดในเมื่อท่านว่ากล่าวตักเตือน นั่นคิดดูสิว่ามันยังมีตัวกูยกหูชูหาง คนเขาไม่กล้าเตือนไม่กล้าว่า ฉะนั้นจึงมีระเบียบบังคับให้ทำปวารณาตามวินัยนั้น แล้วคนส่วนมากในโลกก็เป็นอย่างนี้แหละ ไม่ใช่แต่พระแต่เณรหรอก แต่ว่าพระเณรก็ยังเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นก็น่านึกน่าคิดที่ว่าเป็นพระเป็นเณรแล้วก็ยังต้องมีระเบียบอย่างนี้ ก็เพราะมันมาใหม่ มันเพิ่งมา เข้ามาสู่ธรรมวินัยนี้ตอนแรกๆ มันก็ต้องเข้ามาในระเบียบ ยังไม่เข้าถึงธรรมะ เรื่องนี้ก็รู้ไว้ได้ว่ายิ่งตกมาถึงสมัยนี้แล้ว คนเข้ามาสู่ธรรมวินัยนี้โดยไม่รู้ธรรมะไม่เห็นธรรมะนี่ มันเห่อๆ ตามๆ กันมา หรือว่าเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับศาสนาเสียเลยก็มี คือต้องการจะใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ตัวนี้ เช่นการศึกษาเล่าเรียนเป็นต้น มันก็มีจิตใจหยาบ ไม่ค่อยเอื้อเฟื้อในพระธรรม ดังนั้นจึงต้องใช้กฎเกณฑ์ที่มันหยาบคือการบังคับให้ทำปวารณา
ทีนี้เมื่อใช้บังคับแก่คนหยาบๆ อย่างนี้แล้ว มันก็ยากเหมือนกันที่จะเลือกว่าใครเป็นคนไม่หยาบ เป็นคนไม่กระด้างนี่ มันเลือกไม่ได้ มันก็เลยต้องให้ถือกันไปหมด ทั้งที่คนที่บวชนานแล้ว มีจิตใจประณีตสุขุมสงบระงับแล้ว ก็ยังต้องทำปวารณาเพื่อให้มันไม่มีข้อเกี่ยงงอนกัน เพราะฉะนั้นการที่ว่าถ้าเกิดมีพระอรหันต์อยู่ในคณะสงฆ์นั้นแล้วต้องทำปวารณา มันก็ได้เหมือนกัน ท่านมีหลักว่าทำเพื่อเป็นประโยชน์แก่คนอื่น ทำเพื่อเป็นทิฏฐานุคติแก่คนอื่น คือคนอื่นเขาจะได้เห็นว่าพระอรหันต์ยังทำปวารณา หรือผู้ที่ได้รับสมมติเป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังทำปวารณา ฉะนั้นทุกคนก็จะได้ขยันขันแข็งเอาจริงเอาจังในการทำปวารณา เรื่องมันก็ดีขึ้น ฉะนั้นจึงมีระเบียบว่าพระอรหันต์ก็จะลงอุโบสถปวารณาก็ได้ จะแสดงอาบัติก็ได้ ทั้งที่เรื่องมันอยู่เหนือไปหมดแล้ว ก็เพื่อเป็นทิฏฐานุคติ
แต่ทีนี้มันต่างกันมากว่า พระอรหันต์เป็นผู้หมดตัวตนแล้ว ปุถุชนหยกๆ นี้มันยังเต็มอยู่ด้วยตัวตน ทีนี้การทำปวารณามันก็คนละความหมาย อันหนึ่งทำเพื่อข่มขี่ตัวตน อันหนึ่งทำเพื่อเป็นเครื่องจูงใจหรือเป็นตัวอย่างให้คนสมัครทำเพื่อข่มขี่ตัวตนนี่ ก็เลยทำด้วยกันได้ แม้เป็นเรื่องปวารณาอย่างพระวินัย นี่ขอให้สนใจกันอย่างนี้
ทีนี้ก็อยากจะแยกเอาจิตใจของพระอรหันต์นี้มาเป็นเรื่องปวารณาอย่างธรรม,อย่างพระธรรมอย่างธรรม คือความไม่มีตัวตน แล้วมันก็จะเข้าใจได้ถึงคนทั่วไปว่าการปวารณาสูงสุดโดยอัตโนมัตินั้นคือความยอมลดตัวตนหรือยอมไม่มีตัวตนเสีย กระทั่งมันหมดตนจริงๆ คือหมดกิเลสจริงๆ แล้วการปวารณาทั้งหมดก็จะง่ายเข้า นี่พูดให้รัดกุมอีกทีหนึ่งก็ว่าปวารณาอย่างวินัยนั้นบังคับให้ต้องทำปวารณา ไม่ทำไม่ได้ ถ้าทำปวารณาอย่างธรรมอย่างพระธรรมก็คือว่ายอมลดตัวตนเสีย มันก็เป็นปวารณาเองเต็มที่
ฉะนั้นการที่เรารู้จักเรื่องตัวกูของกู รู้จักควบคุมตัวกูของกู กระทั่งทำให้มันหมดสิ้นไป นั้นแหละคือเป็นปวารณาอย่างยิ่ง นับตั้งแต่ว่ามันไม่มีตัวกูที่จะดื้อหรือที่จะหน้าด้าน นี่มันก็ไม่มีอะไรที่จะต้องตักเตือนถูกตักเตือน ฉะนั้นเมื่อไม่มีตัวกูนี้มันไม่มีอะไรไปทั้งหมด มันยกเลิกไปทั้งหมด ไม่เฉพาะแต่เรื่องอย่างปวารณานี้เป็นต้น เพราะความหมายของคำว่าปวารณามันมีอยู่คำเดียวเท่านั้นแหละ คือไม่ยอม คำว่าไม่ยอมคำเดียวเท่านั้นแหละคือต้นเหตุอันร้ายกาจของการที่ต้องทำปวารณาเพื่อให้ผู้อื่นมาว่ากล่าวตักเตือนได้ ฉะนั้นถ้ามันมีเรื่องยอมเสียอย่างเดียว มันก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่สำหรับจะปวารณาโดยแท้จริงโดยจิตใจ และก็ไม่ต้องปวารณาด้วยปากกับใครก็ได้ ถ้าเป็นผู้ยอมเสียโดยหลักของธรรมะของพระธรรมนี้ ตัวกูชนิดที่ลุกขึ้นมาออกรับ มาอะไรมากๆ นั่นแหละคือความไม่ยอมนั้น อย่ามี มันก็เป็นการยอมตลอดเวลา เป็นการปวารณาโดยอัตโนมัติ และมีประโยชน์อย่างยิ่งเกินกว่าที่ว่าปวารณาโดยวินัย ปวารณาโดยวินัยนั้นเมื่อเขาจับได้นั่น เมื่อทำชั่วจนเขาจับได้ เขาเอามาโจทก์ มาท้วง มาว่า มากล่าวในเมื่อเขาจับได้ ถ้าเขายังจับไม่ได้มันก็สกปรกอยู่ที่นั่น
ส่วนธรรมะไม่ได้มุ่งหมายอย่างนั้น ไม่ต้องการให้ใครมาจับ เรามันต้องการที่จะทำเอง เป็นผู้ยินยอม นับได้ว่าเป็นผู้มีความละอาย มีความกลัวคือมีหิริและโอตตัปปะ และก็มีความยอมทุกอย่าง ฉะนั้นผมอยากจะพูดคำว่ายอมทุกอย่างสักหน่อย
คำว่ายอมทุกอย่าง นี้ ไม่ใช่เป็นหลักธรรมะที่ว่าเอาเอง พระพุทธเจ้าตรัสไว้และทรงประสงค์อย่างนั้น คือประสงค์ให้เรายอมทุกอย่างแม้เราเป็นผู้ถูก แต่ถ้าเขาว่าเราก็ยอม ยอมหมดเลย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถ้าไม่ยอมจะเกิดเรื่อง มีพระบาลีในธรรมบทก็ยังมีว่า คนพาลนั้นไม่รู้จักยอม ยืนยันว่าตัวเป็นฝ่ายถูกเรื่อย ต่างฝ่ายต่างไม่ยอม จนฉิบหายกันไปทั้งสองฝ่าย พระพุทธภาษิตมีอย่างนี้ แล้วที่เห็นได้ง่ายๆ เช่นเรื่องสังฆเภท เรื่องโกสัมพิกขันธ์ในวินัยในอะไรนี้ มีปัญหานิดๆ หน่อยๆ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมจนเกิดสังฆเภท จนเดือนร้อนกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง ใจความสั้นๆ ก็เรื่องถือวินัยเกี่ยวกับน้ำที่ล้างในส้วม น้ำล้างอุจจาระในส้วม เทไม่หมด พวกเคร่งวินัยมันก็ปรับ พวกนั้นมันไม่สู้จะเคร่งมันก็ไม่ยอม ทีนี้พวกเคร่งวินัยมันก็ไม่ยอม จะปรับให้ได้ พวกนู้นมันก็ไม่ยอมให้ปรับ มันบ้ากันทั้งสองฝ่าย มันก็เลยแตกกันเป็นพวกๆ ในวัดนั้น เป็น ๒ พวก ทะเลาะกันเรื่อย ไม่ยอมอุโบสถสังฆกรรมกัน จนแตกเป็นพวกออกไปๆ ใครเป็นพวกใคร ก็ถือพวกกัน ต่างฝ่ายต่างไม่ยอม กระทั่งพระพุทธเจ้ามาตรัสให้ยอม ให้เป็นอันยกเลิกกันไป ก็ไม่ยอมนี่ หน้าด้านขนาดที่ว่าดื้อกระทั่งพระพุทธเจ้า มันก็มีสังฆเภท จนพระพุทธเจ้าต้องเสด็จหลีกหนีไปอยู่ที่ป่า ป่านั้นชื่อว่าปาริไลยกะ ป่าปาริไลยกะเพราะมีช้างชื่อนั้นอยู่ที่นั่น ถือตามอรรถกถามันจะอย่างนี้ จนพระพุทธเจ้าต้องหนี หนีแล้วไม่มีอะไรจะฉัน ต้องฉันอะไรจากที่ลิงเอามาให้ ที่รูปภาพปั้นนั้นมีอยู่รูปหนึ่ง ไม่รู้อะไรที่ลิงเอามาให้ มีอะไรจะฉัน จนช้างต้องมาปรนนิบัติ จนกว่ามันจะเกิดเรื่องใหญ่ไปถึงว่าชาวบ้านเขาโกรธว่า นี่ ทำไมพระพุทธเจ้าหายไปไหน ไม่เห็นพระพุทธเจ้านานแล้ว จึงรู้เรื่องว่าเพราะคนไม่ยอม ๒ พวกนี้มันไม่ยอม มันแตกกัน มันไม่ยอมจนพระพุทธองค์ต้องหนีไป มันก็เลยไม่ใส่บาตร ถ้าว่าไม่ได้พระพุทธเจ้ากลับมา จะไม่ใส่บาตรพระองค์ไหนหมด แล้วเรื่องมันก็จบโดยที่ว่าพระเหล่านั้นมันยอม ยอมให้ประนีประนอมและยอมยกเลิกเรื่องเป็นเยภุยยสิกาเป็นอะไรไปตามเรื่อง
นี่ความไม่ยอมในทางธรรม มีกิเลสยกหูชูหาง ต่างฝ่ายต่างไม่ยอม พระพุทธเจ้าบอกให้ยอมมันก็ไม่ยอม เรื่องในอรรถกถาไม่น่าเชื่อที่ว่าพระพุทธเจ้ามาบอกให้ยอมมันยังไม่ยอม แต่มันก็ยังอาจจะเป็นได้ ไม่อย่างนั้นมันจะมามีอยู่ในบาลีธรรมบทเป็นข้อความที่ว่า พวกฉิบหายพวกคนพาลนี้มันไม่รู้จักความยอมจนต้องฉิบหายกันไปทั้งสองฝ่าย ก็มีหลักว่าแม้เราจะเป็นฝ่ายถูก ถ้าเขาว่าอย่างนั้นไม่ยอมไม่เอา เราก็ยอมได้ ยอมตามที่เขาต้องการ เรื่องมันก็เลิกกันถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยอมอย่างนั้น นี้เป็นเรื่องตัวอย่างในวินัยของความไม่ยอมจนเกิดสังฆเภท จนพระพุทธองค์ต้องหนี จนชาวบ้านไม่ใส่บาตร แล้วพระที่มีกิเลสเหล่านั้นมันก็แพ้แก่หม้อข้าว มันก็ต้องยอมดีกัน
ทีนี้เรื่องที่สูงขึ้นไป ดูเหมือนจะมีในบาลีด้วย เรื่องพระอานนท์ มีคนโจทก์ท้วงอาบัติท่าน ทั้งที่ท่านไม่ได้เป็นอาบัติ ท่านก็ยอมหมดทุกอย่างเลย นั่นจำไว้ ให้แสดงอาบัติ ให้แสดงหมดเลยทั้งที่รู้สึกตัวว่าไม่มีความผิด เช่นว่าเวลาเย็บจีวรให้พระพุทธเจ้าเอาเท้าหนีบ อย่างนี้ปรับอาบัติไม่เคารพพระพุทธเจ้า เป็นอาบัติทุกกฎบ้างอะไรบ้าง ก็ยอม ไม่ปริปาก มีหลายอย่าง อย่างนี้ก็ยอมหมด กระทั่งเรื่องที่ไม่น่าจะว่ากัน ก็ว่าพระอานนท์นี้ไม่ทูลทัดทานเมื่อพระองค์ทรงแสดงนิมิตว่าปลงสังขารจะปรินิพพานใน ๓ เดือนนี้ แล้วยังตรัสว่าถ้าเจริญอิทธิบาทก็จะมีอายุสังขารเพิ่มขึ้นสำหรับจะอยู่สักกัปหนึ่งกัลป์หนึ่งก็ยังได้ ทำไมพระอานนท์ไม่ทูลขอร้องให้ทำอย่างนั้น พระสงฆ์ก็ปรับอาบัติพระอานนท์ ละเลยหน้าที่และตามใจ พระอานนท์ก็ยอม ยอมหมดทุกข้อ กี่ข้อผมก็จำไม่ค่อยได้ แต่ว่ายอมหมดทุกข้อ ไม่ปริปากว่าผมอย่างนั้นผมอย่างนี้ นี่เป็นเรื่องยอมโดยไม่ต้องมีข้อแม้ เพื่อว่าให้เรื่องมันเรียบร้อยทันทีเลย เอ้า,ถ้าลองพระอานนท์ไม่ยอม จะทำอย่างไร คณะสงฆ์ทั้งหลายก็ต้องปั่นป่วน เรื่องทำสังคายนาอะไรก็ทำไม่ได้ เพราะกำลังปั่นป่วนเรื่องจะให้พระอานนท์เป็นผู้มีอาบัติที่จะต้องแสดงให้เสร็จเสียก่อนอะไรอย่างนี้เป็นต้น นี่สัตบุรุษเป็นอย่างนั้น คือว่ายอมทั้งที่ตัวไม่ได้มีความผิดหรอก เอ้า,เมื่อว่าผิดก็เอา ก็ยอม ให้แสดงอาบัติก็แสดง หรือจะปรับอย่างไรก็ได้ ยอม ยอมทำคืนหมดทุกอย่าง นี่ก็เปรียบเทียบดูกันสิ กับพระที่ทะเลาะกันที่เมืองโกสัมพีซึ่งไม่รู้จักยอม อย่างนี้มันยอมหมดทุกอย่าง ความยอมนั่นแหละคือการปวารณาหรือว่าคือการรับเอาปวารณา คือการทำให้ปวารณาสำเร็จประโยชน์ ฉะนั้นมีความสำคัญมากคำว่ายอม คำว่ายอมนี้มีความสำคัญมาก ที่เรามีกิเลสที่จะต้องละกันอยู่เรื่อยเดี๋ยวนี้ยังไม่บรรลุพระอรหันต์นี้ก็เพราะความไม่ยอมทั้งนั้น เพราะความไม่ยอมนั่นแหละ มันมีกิเลสที่เป็นเหตุให้ไม่ยอมอยู่เรื่อย มันสงวนกิเลสไว้ ความดื้อความอะไรก็มีก็เห็นกันอยู่ ทุกคนมีความดื้อคือความไม่ยอม ไม่ยอมแพ้ แล้วไม่ยอมด้อย ไม่ยอมให้ใครเห็นว่าด้อย ก็ต่อสู้ตะพึด ก็เลยกิเลสละไม่ได้ เมื่อมีการกระทำอยู่อย่างนี้กิเลสไม่มีทางละได้ ทั้งความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่มีทางละได้ มันยกหูชูหางเรื่องไม่ยอมอยู่เรื่อยไป ฉะนั้นไปดูให้ดีๆ แต่ละวันๆ นั้นมันมีกิเลสที่ไม่ยอมกี่อย่างหรือกี่ครั้ง และขอให้รู้ไว้เถิดว่านั่นแหละเป็นการเพิ่มอนุสัย เพิ่มสังโยชน์เพิ่มอาสวะมากขึ้นในการที่จะไม่ยอมที่เรียกว่ามานะความกระด้าง แม้ว่ามันเป็นกิเลสชนิดที่พระอรหันต์จะต้องละก็จริง แต่ว่ามันก็ควรจะถือว่าทุกคนจะต้องละ กิเลสตัวนี้มันสูงสุด มันเหลืออยู่จนกระทั่งพระอรหันต์จะต้องละ พระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคา จะละได้บ้าง จะละได้แต่ไม่หมด มันไปหมดเอาเมื่อการละด้วยอรหัตตมรรค
เดี๋ยวนี้เราก็พูดกันแต่เรื่องในทั่วๆ ไปนี้ อย่างอยู่กันตามธรรมดาสามัญนี้ มันก็ลำบากอยู่ด้วยเรื่องไม่ยอม การทะเลาะวิวาทก็เกิดขึ้นเพราะการไม่ยอม การไม่ร่วมมือก็เกิดมาจากไม่ยอม กระทั่งการที่ไม่กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเองมันก็มาจากความไม่ยอม ตัวเองไม่ทำประโยชน์ไม่ทำความดีแก่ตัวเอง มันก็มีมูลมาจากความไม่ยอม แต่ว่ามันเป็นการไม่ยอมที่ลึกคือไม่ยอมเสียสละความดื้อความหน้าด้านนั่นเอง เพราะว่าถ้ายอมมันก็ต้องยอมปฏิบัติตามสิกขาตามวินัย ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า เดี๋ยวนี้ไม่ยอมเพราะเห็นแก่กิเลส อยากจะเกียจคร้านเสีย อยากจะนอนเสีย หรืออยากจะทำอะไรเล่นตามสบายใจเสีย จะอ่านหนังสือพิมพ์ดีกว่าอ่านหนังสือธรรมะ สะสมแสตมป์เล่นดีกว่าสะสมข้อธรรมะ นี่อย่ายกตัวอย่างมากเดี๋ยวมันจะกระเทือน แต่นี้คือความไม่ยอม ก็ไม่ยอมสละอันนี้เพื่อจะให้เป็นไปตามธรรมตามวินัย
ทีนี้ดูทั่วไปทั้งโลก เดี๋ยวนี้โลกวินาศฉิบหายร่อยหรอไปทุกทีเพราะคำๆ เดียวนี้ คือความไม่ยอม เมื่อไม่มีความยอมและไม่มีการประนีประนอม คือการประนีประนอมเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการยอมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นฝ่ายกรรมกรก็ไม่ยอม ฝ่ายนายทุนก็ไม่ยอม คอมมิวนิสต์ก็ไม่ยอม ประชาธิปไตยก็ไม่ยอม มันก็เลยแบ่งแยกลงมากระทั่งในประเทศหนึ่งๆ ประเทศเล็กๆ นี้ก็ยังอุตสาห์แบ่ง ๒ฝ่าย แล้วก็ไม่ยอม ไม่รู้จักยอมต่อกัน ทำไมมันจึงไม่ยอม ส่วนใหญ่มันก็เพราะว่ากิเลสตัวนี้ ถ้าอย่างนั้นก็ลองนึกถึงเรื่องพระวินัยธรกับพระธรรมกถึกทำสังฆเภทที่ไม่ยอมแก่พระพุทธเจ้าในเรื่องปาริไลยกะนั้น มันไม่ยอมแก่พระพุทธเจ้าทั้งที่พระพุทธเจ้าขอให้ยอมกัน มันก็ยังไม่ยอม เดี๋ยวนี้มนุษย์ก็ไม่ยอมและไม่ยอมยิ่งขึ้น ทีนี้ความเลวมากขึ้น มันไม่ยอมแม้แก่บิดา มารดา ไม่ยอมแม้แก่ครูบาอาจารย์ คุณมองเห็นไหม เดี๋ยวนี้มันมีการไม่ยอมแม้แก่บิดามารดาแล้ว มันสมัครตายมากกว่าที่จะสมัครทำตามคำของบิดามารดานี่ มันฆ่าอาจารย์เสียก็ได้ดีกว่าที่จะยอมทำตามคำของครูบาอาจารย์ นี่การศึกษาของมนุษย์มันกำลังเดินไปในแบบไหนก็ไม่รู้ จะสร้างแต่ความไม่ยอมยิ่งขึ้นๆ ฉะนั้นเราเห็นข่าวหนังสือพิมพ์ก็มีอยู่แล้ว มีตีรันชกต่อยฆ่าแกงกันในโรงเรียนในมหาวิทยาลัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ที่เขาสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดนิสัยแห่งการยอมคือสนามกีฬานั้น มันยิ่งบ้าใหญ่เดี๋ยวนี้ สนามกีฬาแล้วยิ่งเอาเปรียบ ยิ่งไม่ยอม ยิ่งอันธพาล ที่จริงความมุ่งหมายอันนี้เขาต้องการเพื่อให้เกิดการยอม ที่เรียกว่าเล่นกีฬา sporting spirit นี้เพื่อให้ยอม เขาเตะเราเจ็บนี้ เราก็ไม่เตะตอบ เขาเอาเปรียบเราอย่างเลวๆ นี้ เราก็ไม่เอาเปรียบอย่างนั้น เราก็ไม่แก้แค้นอะไรแบบนั้น
เดี๋ยวนี้ผมฟังข่าววิทยุเรื่องกีฬาอยู่บ่อยๆ แล้วเศร้าหรือว่าเวทนาที่สุดแหละที่มันมีคำว่าแก้แค้นในผู้ประกาศเรื่องกีฬาเรื่องสถานีวิทยุที่อยู่ทุกวันนี้ มีคำว่าฝ่ายนั้นแก้แค้น ฝ่ายนี้แก้แค้น นี่ภาษาบ้าที่สุดเลยที่เอามาใช้ในวงกีฬา เพราะในวงกีฬามันต้องการให้ยอม ไม่ต้องแก้แค้น จะใช้คำว่ากู้หน้าก็ค่อยยังชั่ว ใช้คำว่าแก้แค้นนี้มันหมด หมด sporting spirit ฉะนั้นในวงการกีฬาก็ไม่มีความยอม การเมืองยิ่งไม่มีความยอม การทหารยิ่งไม่มีความยอม การเศรษฐกิจแล้วยิ่งไม่มีความยอม เพราะมันต้องการจะเอาเปรียบกันให้ลึกซึ้งที่สุด มันก็เลยเป็นโลกแห่งความไม่ยอม มันพูดแต่ปาก แต่ไปถามดูเถอะ บูชาความยอมนั่นแหละที่เขาเรียก tolerance,tolerance อะไรนี้แปลว่าความยอมนี้ พูดกันทั้งนั้นแหละ สรรเสริญยกย่องบูชานี่ มันพูดแต่ปาก เป็นคนโกหกซึ่งหน้า ปากพูดว่าบูชาความยอม แต่การกระทำไม่มีความยอม ไม่มีการยอม เพราะฉะนั้นโลกนี้จะต้องมีวิกฤตการณ์อย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าจะรู้จักยอม
เดี๋ยวนี้เราก็ไม่คิดว่ามันจะมีการยอม ยิ่งยุคปิงปองนี้ ยิ่งจะยิ่งหลอกลวงมากขึ้น ยุคปัจจุบันนี้เขาเรียกว่ายุคปิงปอง ถัดมาจากยุคอวกาศ ก็หมายความว่าจะหลอกลวงกันมากขึ้น มันก็ยอมต่อหน้าเพื่อหลอกเขา เป็นความยอมหลอก ไม่มีความยอมจริง มันก็ต้องฉิบหายกันไปเรื่อยๆ หนักขึ้นไปอีก จนกว่าเมื่อไหร่มันเศร้ามันสังเวช นั่นแหละมันจึงจะมีความยอมจริง สมัครยอมด้วยใจจริง ถอยหลังกลับ ทีนี้อะไรก็จะยอมแหละ จะยอมขึ้นมา เราจะเสียเปรียบสักหน่อย เสียเปรียบ ๓ ต่อ ๔ อะไรก็ยอม กระทั่งเสียเปรียบ ๑ ต่อ ๒ ก็ยอม,ยอมได้ นี่มันจะมีความสงบระงับมีสันติสุขเพราะความยอม เพราะฉะนั้นคำพูดที่ว่าเราเป็นฝ่ายถูก เราไม่ยอม นั่นมันดูๆ จะโง่สองชั้น ภิกษุหนุ่มสามเณรระวังกันให้ดีๆ ฤทธิ์มันกำลังกล้า คนหนุ่มนั้นฤทธิ์มันกำลังกล้า ถ้ากูเป็นฝ่ายถูก กูไม่ยอมเป็นอันขาด
แต่ธรรมะไม่ได้เป็นอย่างนั้น นั่นมันไปแก้ตัวกับกฎหมายกับวินัยก็พอจะได้ แต่จะแก้ตัวกับธรรมะแล้วไม่ได้ เพราะธรรมะต้องการให้ยอมโดยไม่มีเงื่อนไข คือทำลายความยึดมั่นถือมั่นตัวกูของกูยกหูชูหางอยู่ทุกอย่างทุกชนิดตลอดเวลา ทุกหนทุกแห่ง นี่หลักธรรมะมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นไปในทางที่ต้องการให้ยอม ถ้าเราเป็นฝ่ายผิด ไม่ยอม อย่างนี้มันก็ยิ่งใช้ไม่ได้ ทีนี้เราเป็นฝ่ายถูก เรารู้อยู่เป็นฝ่ายถูก แต่เขาไม่รู้ เขาจะให้เป็นฝ่ายผิด เราก็ไม่ยอม อย่างนี้มันก็ยังใช้ไม่ได้ มันควรจะยอมแล้วมาหัวเราะเล่นอยู่คนเดียวจะดีกว่า จะถูกกว่า
ถ้าหากว่าการไม่ยอมนั้นจะทำให้เกิดความฉิบหายของหมู่คณะแล้ว รีบยอมเร็วๆ ดีกว่า ทั้งที่เราเป็นฝ่ายถูก เพราะพระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนั้นท่านต้องการอย่างนั้น ในประวัติศาสตร์ของโลกนี้ก็อาจจะมีนะ ผมเชื่อว่าคนที่ยอมให้เขาตราหน้าว่าเป็นคนชั่วคนเลว เขาตายไปแล้วนะ ทั้งที่เขาเป็นคนถูกไม่มีความชั่ว ได้ทำประโยชน์อย่างลึกซึ้งซึ่งคนอื่นไม่รู้ กลับปรับเขาว่าเป็นความเข้าใจผิดนี่ ชนิดที่มารู้เรื่องทีหลังก็ขุดกระดูกของเขาขึ้นมาตั้งเป็นนักบุญเป็นพระอรหันต์ก็มี อย่างนี้ก็มี นั่นแหละคือความยอมของคนชนิดนั้น ยอมขนาดที่ว่าทั้งโลกมันตราหน้าว่าเป็นคนเลวทำผิดทำชั่ว ลงโทษตายไปแล้ว ทีหลังจึงมาพูดว่ามันไม่ได้ผิด แต่มันสมัครยอมเพื่อไม่ให้เรื่องมันเกิด หรือว่าเพราะไม่ต้องเอาความดี ไม่ต้องการเอาหน้าเอาตา มันก็ยอมให้เกียรติหรือนั่นไปได้แก่คนอื่น เรากลายเป็นคนเลวไป ยอมให้เขาเข้าใจว่าเป็นคนเลวไปเรื่องจึงจะสงบ อย่างนี้ก็ยอม ถ้าไม่อย่างนั้นเรื่องมันยุติไม่ได้หรือมันจะฆ่ากันต่อไปอีกหรือมันจะอะไรก็ตามใจ เรียกว่ามันไม่เกิดความสงบได้ มันก็เลยยอม ยอมตาย ยอมเสียชื่อ ยอมเสียชื่อในประวัติศาสตร์ แต่มันหายากเต็มทีแหละ มันจะหายากยิ่งกว่าหาเข็มในมหาสมุทรเสียอีก
แต่ในฐานะที่ว่าเป็นพุทธบริษัทหรือว่าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้านี้ อย่าลืมว่าท่านสอนให้ยอม การยอมนี้คือการปวารณาอย่างลึกซึ้งถึงที่สุด เป็นธรรมปวารณา ไม่ใช่วินัยปวารณาอย่างที่ทำเวลาออกพรรษา นั่นมันอย่างวินัย เอาหลักฐาน เอาพยาน เอาเขาจับได้อะไรนั่นหลักยังไม่สูงสุด ใช้ได้แก่คนหน้าด้าน เขาเกิดเป็นคนไม่หน้าด้านขึ้นมา เรื่องเหล่านี้ก็เลยเป็นอันระงับไปเหมือนกับไม่มี แต่เดี๋ยวนี้เรากำลังพูดถึงคนดีไม่ใช่คนหน้าด้าน คนที่ดีคนที่ตั้งใจจะทำให้ดี มีหิริ มีโอตตัปปะ มีความหวังที่จะทำที่สุดแห่งความทุกข์นี้ มันยังมีกิเลสที่แทรกเข้ามาที่ถลำเข้ามาขวางหน้าขวางตา เป็นเหตุให้ไม่ยอม
ฉะนั้นถ้ามีความยอมโดยนึกถึงเรื่องที่แสดงตัวอย่างมาแล้วกระทั่งที่เป็นพระพุทธประสงค์นี้ มันก็ไม่มีอะไร เรื่องทะเลาะวิวาทจะไม่มี เรื่องขุ่นหมองอะไรก็ไม่มี เรื่องโกรธครูบาอาจารย์อยู่ในใจก็ไม่มี เรื่องโกรธพ่อแม่อยู่ในใจก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี นี้มันประโยชน์สูงสุดอยู่แล้วเพียงเท่านี้
ทีนี้มันยังมีประโยชน์ที่พร้อมกันนั้นอีกหลายอย่าง คือว่าการละกิเลสมันจะเป็นไปได้ง่ายเข้า ให้เขาเปลี่ยนนิสัยเป็นคนอ่อนโยน อย่างบทสวดกรวดน้ำทุกทีที่มีทำปาฏิโมกข์เสร็จแล้วก็สวด มุทุ อนติมานี ๒ คำเท่านั้นแหละจำให้ดีๆ สุวโจ จสฺส มุทุ อนติมานี ๓ คำ,เว้ย สุวโจ คำหนึ่ง มุทุ คำหนึ่ง อนติมานี ๓ คำ นั่นแหละคือคำไม่ยอม ที่ตรงกันข้ามกับไม่ยอม สุวโจ แปลว่าว่าง่าย สุ แปลว่าง่าย วโจ แปลว่าว่า,ผู้ที่เขาว่า อย่าแปลเหมือนพวกฝรั่งนะ พวกฝรั่งเขาไปแปลว่าพูดดี สุวโจ นี้ พระไตรปิฎกฝรั่งแปลว่าพูดดี ผมเห็นแล้วมันน่าหัวเราะน่าสงสาร เมืองไทยเราแปล สุวโจ ว่า ว่าง่าย,พูดง่าย,ว่าง่าย เป็นผู้ที่บุคคลอื่นว่ากล่าวได้โดยง่าย,สุวโจ แล้ว มุทุ แปลว่าอ่อน คืออ่อนน้อมถ่อมตัวนั่นแหละเรียกว่ามุทุ หรือจะเป็นนามศัพท์อีกรูปหนึ่งว่ามทฺทว,มทฺทวํ มุทุ มีความอ่อนน้อมถ่อมตัว แล้ว อนติมานี ไม่กระด้างด้วยทิฏฐิ นี่จำไว้ ๓ คำ สุวโจ มุทุ อนติมานี ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่กระด้าง รวมกันแล้วคือยอม เราก็สวดอยู่ทุกคราวที่กรวดน้ำทำปาฏิโมกข์เสร็จก็กรวดน้ำ เมตฺตญฺจ สพฺพโลกสฺมึ นี้มันก็จะต้องไปออกบทนี้แหละ และเมื่อเรามาสวดอยู่ประจำก็หมายความว่ามันเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องประพฤติอยู่เป็นประจำ ถ้ามี สุวโจ มุทุ อนติมานี แล้ว จะเป็นคนยอม จะไม่เถียง จะยอมแม้กระทั่งว่าตัวเป็นฝ่ายถูก เขาหาว่าผิดก็ยอม เหมือนพระอานนท์ ในกรณีพระอานนท์
นี่ผมเรียกว่านะ คนอื่นจะเรียกไม่เรียกก็ตามใจ ผมเรียกว่าธรรมปวารณา ไม่ต้องไปปวารณาสัญญิงสัญญาอะไรกับบุคคลที่ ๒ หรอก ทำกับตัวเองคนเดียว นี่มันเป็นปวารณาที่ลึกกว่าที่จริงกว่า ไม่ต้องไปเอาใครมาเป็นผู้รับฟังคำปฏิญญาเป็นพยานเป็นผู้คอยท้วงติง ไม่,ไม่ต้อง เราถือหลักที่พระพุทธเจ้าว่าจงท้วงตัวเองด้วยตัวเอง อตฺตนา โจทยตฺตานํ นี่ จงท้วงตนด้วยตน ปฏิมํเสตมตฺตนา พิจารณาตนด้วยตน นี้เป็นเหตุให้เกิดปวารณาชนิดที่มันเป็นผลเสียเลย ไม่ต้องเป็นเพียงการกระทำค้างเติ่งอยู่ รอกว่าจะมีเรื่องมีอะไร มันเป็นการปวารณาแท้จริงและเป็นผลเสร็จแล้ว แล้วก็ยังเป็นการช่วยให้ละกิเลสทั้งหลายได้โดยง่ายด้วย
สำหรับข้อนี้จะต้องพูดว่ามันมีความมุ่งหมายส่วนนี้ตรงกันทั้งปวารณาอย่างวินัยและปวารณาอย่างธรรมะแหละ คือมุ่งหมายจะทำลายตัวกูจะกดหัวตัวกูลงไป นั่นแหละปวารณา ปวารณาทางวินัยก็จะกดหัวคนหน้าด้าน ปวารณาทางธรรมก็จะกดหัวตัวกูชนิดละเอียดสุขุมประณีต ชนิดที่เกือบจะไม่รู้ว่าตัวกู คือตัวกูของสุภาพบุรุษ พูดเทียบคู่กันก็ต้องพูดว่า ปวารณาอย่างวินัยจะกดหัวตัวกูของคนอันธพาล ทีนี้ปวารณาอย่างธรรมะก็คือจะกดหัวตัวกูของบุคคลที่เป็นสุภาพบุรุษ มันก็ยังมีตัวกูกันอยู่ทั้งอันธพาลและทั้งสุภาพบุรุษ เพียงแต่หยาบหรือละเอียดหรือลึกซึ้งกว่ากันเท่านั้น เมื่อมันไม่มีปัญหาเกี่ยวกับตัวกูที่หยาบแล้ว ก็มีปัญหามีหน้าที่มีบทเรียนเหลืออยู่สำหรับจะปฏิบัติต่อตัวกูที่ละเอียดต่อไปอีก ฉะนั้นอย่าเพิ่งอวดดี อย่าเพิ่งกระด้างด้วยมานะ ไม่ยอม เราถูกเราไม่ยอม เราควรจะได้ชื่อเสียง เราไม่ยอม เราควรจะได้เป็นนั่นเป็นนี่ ไม่ได้เป็นเราไม่ยอม อย่างนี้ก็กลับไปเป็นอันธพาลอีก
นี่ลองนึกถึงข้อที่ว่ายังถือธรรม ถือธรรมะนั้นเป็นหลัก เมื่อปวารณาอย่างวินัยถือวินัยเป็นหลัก ปวารณาอย่างธรรมะก็ถือพระธรรมเป็นหลัก ในที่สุดมันก็ไปเข้ารูปที่ว่าจงมีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นที่พึ่ง เดี๋ยวนี้พระพุทธภาษิตที่ว่าจงมีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นที่พึ่งนี้ คนเข้าใจผิดกันอยู่ มีตนเป็นที่พึ่ง คล้ายๆ จะเอาตนเอากิเลสที่ยึดถือตัวตนเป็นที่พึ่ง มันก็ไม่ถูก เพราะข้อความมันบ่งชัดอยู่แล้วว่าเอาตนเป็นที่พึ่ง เอาธรรมะเป็นที่พึ่งนั้น มันเป็นสิ่งเดียวกัน มีความหมายอันเดียวกันอย่างเดียวกัน เอาตนเป็นที่พึ่งได้ต่อเมื่อทำตนให้มันเป็นธรรมะไปเสียด้วยตนเอง ถ้ายังเป็นตนของกิเลส เป็นตัวกูของกูของกิเลสแล้ว ตนนั้นยังไม่ใช่ธรรมะ ยังเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริงไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังเป็นที่พึ่งของอันธพาลนั่นแหละ อันธพาลมันมีถือตัวถือตน มีตัวกูของกูยกหูชูหาง อันนั้นแหละมันก็เป็นที่พึ่งของอันธพาลเพื่อให้เป็นอันธพาลต่อไปนี่
ฉะนั้นถ้าพูดอย่างธรรมาธิษฐานกันก็คือว่าเมื่อเบญจขันธ์นี้ถูกอุปาทานยึดครองกลายเป็นปัญจุปาทานขันธ์ไปแล้ว มันเกิดตัวกูแล้ว ก็เป็นที่ชอบใจ เป็นที่พอใจ เป็นที่ได้อย่างใจของคนพาลนั้น ความจะได้เป็นที่ชอบใจพอใจของคนพาลนั้น นั่นแหละเขาเรียกว่าที่พึ่งของมัน ที่พึ่งของคนพาลนั้น ตัวกูที่เกิดขึ้นจากกิเลส เกิดเป็นอัตตาตัวตนขึ้นมานั้น ก็เป็นที่พึ่งของคนอันธพาลเพื่อจะมีความเป็นอันธพาล เพราะเขาต้องการจะเป็นอันธพาล ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็ไม่มีตัวไม่มีตนขึ้นมาได้เหมือนกันถ้าไม่มีกิเลสนี้ ตอนนี้ก็เอากิเลสเป็นตัวตน เอาตนเป็นที่พึ่งของคนพาล มันคนละเรื่องกัน จะอธิบายว่ามีตัวตนเป็นที่พึ่งในรูปนั้นมันก็ยังถูกตามตัวหนังสือตามตัวพยัญชนะได้ทั้งนั้น ถ้าเอาตนเป็นที่พึ่ง มีตัวตนก็คือกิเลส เอากิเลสเป็นที่พึ่งก็ของคนมีกิเลส เพราะคนมีกิเลสต้องอาศัยกิเลสเป็นที่พึ่ง
แต่ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามีตนเป็นที่พึ่ง เลยตรัสควบกันไปเลยว่ามีธรรมะเป็นที่พึ่ง อตฺตทีปา อตฺตสรณา, ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา พูดติดกันไปเลยไม่ค้างไว้ มีตนเป็นที่พึ่งนั้นคือมีธรรมเป็นที่พึ่ง ก็ต้องทำลายอัตตาตัวตนให้หมดไปเสีย ให้เหลือแต่ธรรมที่บริสุทธิ์ มีแต่ขันธ์ที่บริสุทธิ์ ทำลายปัญจุปาทานขันธ์ให้เหลือแต่ปัญจขันธ์ที่บริสุทธิ์ มันก็เป็นธรรม หรือธรรมนั้นแหละเป็นที่พึ่งได้คือไม่เป็นทุกข์ ทำตนให้เป็นที่พึ่งด้วยการทำตนให้เป็นธรรมที่แท้จริงเสีย นี่มันคล้ายๆ กับอะไร คล้ายๆ กับเชื้อเยื่อใยมันมาจากลัทธิที่เขาถือว่ามีตัวตน คือลัทธิฝ่ายพราหมณ์ฝ่ายอุปนิษัทอะไรที่คู่แข่งขันกันกับพุทธศาสนาในสมัยโบราณนั้น พวกนู้นเขาถือว่ามีตัวตนสูงสุดนั่นแหละไปจบที่มีตัวตนแล้วก็เป็นตัวตนถาวรมีตัวตน เรียกว่าปรมาตมันบ้าง เรียกว่าพรหมมาบ้าง แล้วแต่จะเรียก คือไปเป็นตัวตนที่แท้จริง เข้าไปไปรวมกันเป็นตัวตนที่แท้จริง นั้นเป็นการได้รอดหลุดพ้นหมดหน้าที่
ทีนี้ทางพุทธศาสนาจะไม่เรียกภาวะอย่างนั้น แม้ถ้าจะมีก็ไม่เรียกว่าตัวตน เรียกว่าธรรมะอยู่เรื่อย เรียกว่าธรรมอยู่เรื่อย คือธรรมที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น คงเป็นธรรมอยู่เรื่อย เรียกว่าธรรมอยู่เรื่อย เพียงแต่ว่าเดี๋ยวนี้มันเป็นธรรมที่เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ ไม่ใช่ธรรมชาติสกปรก มันเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์เพราะไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าตัวตน และถ้าต้องการจะมีตัวตนก็ให้เรียกอันนี้ว่าตัวตนโดยสมมติไปอีกทีหนึ่งก็ได้ เลยกลายเป็นว่าเราอยากจะมีตัวตนที่แท้จริง ตัวตนที่ไม่แท้ไม่จริงเช่นเบญจขันธ์เป็นต้นนี้ละไปหมดแล้ว ทีนี้ก็ไปมีตัวตนอื่นที่ว่าอะไรก็ไม่รู้ อยากจะให้มันมีตัวตนไว้เรื่อยนี่ เขาสอนกันอย่างนี้ก็มี แต่แล้วก็ถูกล้อว่าเป็นพวกขันธ์ ๖ คือมีขันธ์ที่ ๖ เมื่อขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวตนกันแล้วยังมีขันธ์ที่ ๖ เหลืออยู่ซึ่งอะไรก็ไม่รู้ อันนี้เป็นตัวตน นี่เขาสอนกันอย่างนี้ เป็นจิตอมตะบ้างเป็นอะไรบ้าง ตอนนี้ชักจะเงียบๆ ไป เมื่อ ๒๐-๓๐ ปีมาแล้วสอนกันมาก พระเถระผู้ใหญ่ก็สอน ก็มีคนสอนอยู่หลายๆ กลุ่มที่ว่าเมื่อขันธ์ ๕ ออกไปแล้วยังมีอะไรเหลืออยู่อีกอันหนึ่งซึ่งจะเป็นตัวตนได้ และเขาก็อธิบายไม่ถูก เขาใช้คำว่าจิตอมตะอะไรบ้าง ผมคิดว่าเขาคงเล็งถึงนิพพานนั่นแหละให้มาเป็นตัวตนให้เขาอีกทีหนึ่ง ธรรมะสูงสุดธรรมะระดับสุดท้ายเป็นนิพพาน เป็นที่ดับไปแห่งสังขารทั้งหลายนี่ ให้เป็นตัวตนขึ้นมาอีกที
อย่างนี้มันก็ได้แต่พูด แต่ความจริงมันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าถ้ามีความรู้สึกอย่างนั้นก็มีความยึดมั่นถือมั่นเหลืออยู่ ฉะนั้นต้องเลิก ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่เรียกว่าตัวตน ก็เรียกว่าธรรมชาติอันบริสุทธิ์คือธรรมเฉยๆ หรือยิ่งกว่านั้นก็เรียกว่า ว่าง ไปเลย หรือจะรวมเรียกว่าอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ก็ได้เหมือนกัน เป็นธรรมะประเภทอนัตตา ประเภทสุญญตา ประเภทนิพพาน เป็นที่ดับไปแห่งสังขารคือความคิดว่าตัวตน ธรรมะนี้มันเป็นที่พึ่งในบทว่า ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา ความไม่มีตัวตนอย่างนี้คิดดูเถิด มันไม่มีตัวตนจะยกหูชูหาง เพราะฉะนั้นมันเป็นการยอม ยอมโดยไม่ต้องมีใครมาขอให้ยอม มันเป็นการยอมอยู่โดยสภาพโดยอัตโนมัติ เพราะมันไม่มีตัวตนที่จะโผล่ขึ้นมาเป็นตัวกูเป็นดื้อดึงเป็นต้านทานอะไร มันไม่มี ฉะนั้นจึงเป็นความยอมอยู่ถึงที่สุดโดยอัตโนมัติและแท้จริง ฉะนั้นการที่ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติเพื่อจะถอนเสียซึ่งความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนนี้ มันเป็นการปฏิบัติครบถ้วนทุกอย่าง ไม่ว่าจะมองกันในแง่ไหนสายไหน ถูกหมดเลย เป็นการกระทำที่ถูกต้องทุกๆ ชั้น ทุกๆ ระดับ ทุกๆ ความหมาย กระทั่งถึงคำว่ายอมหรือปวารณาอยู่โดยอัตโนมัติ จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นเป็นอันขาด คือมันเป็นยอมอย่างตามธรรมชาติตลอดกาลเสียอย่างนั้น นี่ผมอยากจะเรียก แม้ว่าคนอื่นจะไม่ยอมเรียก ผมก็อยากจะเรียกแบบนี้คือปวารณาอย่างธรรมะ เรียกว่าธรรมปวารณาคู่กันกับธรรมปาฏิโมกข์ที่ทำอยู่เป็นประจำ และในรอบปีก็มีธรรมปวารณาเสียสักวันหนึ่ง เช่นเดียวกับวันปวารณาออกพรรษา มันจะได้ช่วยให้สิ่งต่างๆ ง่ายขึ้น
การที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้ทำปวารณาออกพรรษาเสียวันหนึ่งนั้นก็เพื่อให้การรักษาปาฏิโมกข์มันเป็นไปได้สะดวกขึ้น เพราะถ้าคนไม่ยอมปวารณา คนหัวแข็งไม่ยอม ปาฏิโมกข์ที่แสดงกันอยู่ทุกกึ่งเดือนนั้น มันก็จะไม่เป็นประโยชน์ก็ได้ เพราะไม่มีใครยอมถือ เพื่อจะช่วยให้ปาฏิโมกข์มีผลหรือสัมฤทธิผลได้ง่ายขึ้น ก็ให้ทำปวารณาเสียด้วย
ธรรมะนี้ก็เหมือนกัน มีหลักมากมายอย่างนั้นอย่างนี้ พูดกันจนตายก็ไม่จบ เพราะมันมีแง่ที่ให้พูด แต่ว่าถ้ามันมีการทำชนิดปวารณาคือยอมเสียบ้างคำเดียวเท่านั้นแหละ การละโลภะ โทสะ โมหะ จะง่ายขึ้นเหลือประมาณ ฉะนั้นถือคำว่ายอม,ยอมได้ในทุกกรณี แม้ในกรณีที่เราเป็นฝ่ายถูกนี้ ยอมคำเดียวนี้จะทำให้การละกิเลสทุกชนิดง่ายขึ้น จะทำให้มีศีลสมาธิปัญญาง่ายขึ้น ไม่ดื้อดึงครูบาอาจารย์ ไม่ดื้อดึงบิดามารดา ไม่ดื้อดึงต่อพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ที่ต้องขอขมากันทุกคืนๆ กาเยน วาจาย เจตสา วา นี่ เดี๋ยวขอขมาพระพุทธ เดี๋ยวขอขมาพระธรรมพระสงฆ์ เพราะมันหัวไม่ยอม ถ้ามียอมเสียอย่างเดียว ยอมต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ไม่มีเรื่องที่จะต้อง กาเยน วาจาย กันอีกต่อไป เพราะฉะนั้นผมจึงยืนยันว่ายอมคำเดียวนี้ช่วยได้มาก เป็นปวารณาทางฝ่ายธรรมะ สำหรับบุคคลผู้มีความเป็นสุภาพบุรุษ มีจิตใจละเอียดประณีตสุขุม จวนจะหลุดพ้นจากกิเลสอยู่แล้ว เอาล่ะ,ธรรมปวารณา พอกันที/