แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
31 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ธรรมะปาฏิโมกข์ของพวกเราที่นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกู ตามที่รู้กันอยู่แล้วไปตามเดิม มันยังมีแง่มุมที่จะให้พูดอีกมาก แล้วก็ได้พูดกันมาในส่วนกฎเกณฑ์หรือหลักเกณฑ์หรืออะไรต่างๆมากมายแล้วด้วย ก็ยังเหลือที่จะต้องพูดให้มากเป็นพิเศษ ก็เรื่องเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติ
วันนี้จะพูดถึงเรื่องตัวกู เกิดเมื่อไรในแง่ที่จะต้องรู้ ที่จะต้องรู้ในแง่เกี่ยวกับที่จะต้องปฏิบัติ ที่ไม่เกี่ยวกับปฏิบัติก็คือบอกไปตามเรื่องในทางธรรมดาของธรรมชาติ อย่างนั้นเรียกว่าอย่างนั้น อย่างนี้เรียกว่าอย่างนี้ แต่แล้วสังเกตดูเห็นว่ายังไม่เข้าใจ ยังไม่เข้าใจพอจึงไม่สนใจพอ จึงป้องกันการเกิดแห่งตัวกูไม่ได้ นี่คือข้อที่สังเกตเห็นอยู่ เนื่องจากมันเป็นเรื่องที่พูดยาก มันก็ต้องเข้าใจยาก มันก็ต้องกินเวลามาก เพราะฉะนั้นขอให้อดทนหน่อย อย่าพึ่งท้อแท้ ในการที่จะเข้าใจ หรือแม้แต่ในการที่จะระมัดระวังเพื่อปฏิบัติ การที่เรารู้ให้มันชัดว่าตัวกูเกิดเมื่อไรนั้นมันมีประโยชน์สำหรับที่จะได้ป้องกันได้ ไม่ให้เกิด หรือเกิดแล้วก็ให้รู้สึกได้เร็ว มีสติได้เร็ว มันสลัดออกไปได้เร็ว
การที่ถามว่าตัวกูเกิดเมื่อไรก็เท่ากับถามว่ากิเลสเกิดเมื่อไร เพราะตัวกูมันก็คือกิเลส หรือว่าจอมกิเลส หรือว่าเป็นต้นตอของกิเลสพวกกิเลส เป็นอุปาทานก็เรียกว่าเป็นพวกกิเลส ทีนี้ในตัวบทที่พูดนี้มันก็แสดงอยู่แล้วว่า เกิด ว่าเกิดเมื่อไร งั้นต้องเข้าใจกันเสียให้ถูกว่ามันเกิดและมันพึ่งเกิด ไม่ใช่มันเกิดอยู่ตลอดเวลา ทีนี้ความยากลำบากที่มีอยู่เวลานี้ก็คือ มีคนไปถือเสียว่ากิเลสมีอยู่ตลอดเวลา กิเลสมีอยู่ข้างในตลอดเวลา เพียงแต่ว่าจะโผล่ออกมาเมื่อไรเท่านั้น ถ้าไปคิดอย่างนั้นแล้วก็ไม่ตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัส เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าแม้แต่อวิชชาก็พึ่งเกิด แม้แต่ความโง่ก็พึ่งเกิด ไม่ใช่ว่าจะโง่อยู่ตลอดเวลาเป็นสันดาน เป็นความโง่ที่ตายตัวอยู่ในสันดาน
งั้นขอให้ถือเอาใจความของคำพูดนี้ให้ถูกต้อง ว่าแม้แต่อวิชชาก็พึ่งเกิดพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนั้นก็คือกิเลสนั่นเอง อวิชชาก็เป็นกิเลส กิเลสมันเกิดในลักษณะอย่างนั้นเรียกว่าอวิชชา ต่อมาลักษณะอย่างนั้นเรียกว่าโลภะ อย่างนั้นเรียกว่าโทสะ อย่างนั้นเรียกว่าโมหะ ถ้ามันเกิดในรูปของอุปาทานก็ คือทำให้รู้สึกว่ามีเป็นตัวตนเป็นตัวฉันขึ้นมา มันไม่ได้แสดงอาการเกิดให้เราเห็น มันเกิดเหมือนคนเกิด สุนัขเกิด มันเป็นความรู้สึกชนิดที่มันกลัดกลุ้มอยู่ แล้วเราก็ไม่รู้สึกว่าเป็นตัวเราได้ เพราะว่าเรามันถือว่า เรารู้สึกว่ามันเป็นตัวเราเสียจนไม่มีทางที่จะรู้สึกว่านี่มันเป็นตัวเราที่พึ่งเกิด
ความยากลำบากของกิเลสมันก็อยู่ที่ตรงนี้ เพราะกิเลสมันก็เป็นตัวเราเสียเอง แล้วใครจะไปดูล่ะว่ากิเลสเกิด
เรื่องตัวกูนี่ก็เหมือนกัน กิเลสประเภทตัวกูนี่มันก็เกิดขึ้นมา ก็กิเลสนั้นมันเป็นตัวกูเสียเอง มันก็มีตัวกูตัวนั้นมันก็ไม่มีตัวกูที่ตัวไหนที่จะไปดูว่าไอ้ตัวกูที่ไหนเกิดอีก
ขอให้สังเกตดูว่าเมื่อเรามีความโลภขึ้นมา มีความโกรธเกิดขึ้นมา หรือมีความเศร้า มีความกลัว มีความอะไรเกิดขึ้น มันไม่มีจิตใจอีกอันหนึ่งที่จะแยกออกไปดูสิ่งนั้นว่าเป็นความกลัวแล้วก็พึ่งเกิดขึ้นเป็นต้น มันก็กลัวซะเลยก็เลยไม่มีใครจะรู้ว่าความกลัวนี้เกิดอย่างไรเกิดเมื่อไร ยังแถมไม่รู้ว่าพึ่งเกิดอีกด้วย กลัวก็กลัว ไม่กลัวก็ไม่กลัว มันไปรู้สึกแต่เพียงเท่านี้ ไม่รู้สึกสำหรับที่จะมีจิตใจอีกส่วนหนึ่งที่จะคอยดูให้เห็นว่า เอ้าเดี๋ยวนี้จิตใจนี้โกรธแล้ว คล้ายกับเป็นสองจิตใจอย่างนั้น ให้รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้เราโกรธแล้วก็ยังดี ว่าเราโกรธเสียแล้วก็ยังดี อะไรจะเป็นผู้ดูก็ตามใจ นี้ก็เรียกว่าสติหรือสัมปชัญญะ หรือญาณหรือปัญญานี่มันจะเป็นผู้ดู ว่านี่เกิดโกรธแล้วและเรานี่ล่ะโกรธ แต่ว่ามันไม่มีแยกกันว่าเราโกรธ มันโกรธเสียแล้วและเราเป็นเจ้าเรือนอยู่เสียแล้ว มันก็โกรธแล้ว เพราะฉะนั้นความยากลำบากมันอยู่ที่ตรงนี้เอง ที่จะรู้ว่าตัวเราเกิดเมื่อไร กิเลสเมื่อไร ความทุกข์เกิดเมื่อไร ทั้งที่มันเป็นของพึ่งเกิด
เพราะเหตุนี้เราจึงต้องศึกษาในส่วนของวิชชา ในส่วนหลักเกณฑ์หรือส่วนทฤษฏี ให้รู้อะไรมันเป็นอย่างไรกันเสียทีหนึ่งก่อน แล้วจึงคอยเฝ้าจับสังเกตดูว่าไอ้ตัวจริงมันเป็นอย่างไร มันตรงตามหลักทฤษฏีที่ว่านั้นหรือไม่ ทีนี้มันจะไม่ค่อยเห็น หรือไม่ค่อยรู้สึกอย่างนั้นเพราะว่าการเกิดนี้มันเร็วเกินไป มันเร็วเหมือนกับฟ้าแลบหรือยิ่งกว่าฟ้าแลบ มันเร็วยิ่งกว่าฟ้าแลบมันก็เลยไม่สังเกตเห็นว่ากิเลสได้เกิดขึ้นแล้ว ความโกรธได้เกิดขึ้นแล้ว ตัวกูได้เกิดขึ้นแล้ว มันจึงต้องสังเกตอยู่ตลอดเวลา มันเกิดแล้วก็มาศึกษาดูสังเกตดู สังเกตดูพอมันจะเกิดมันเป็นยังไง ที่ว่ามันแน่นอนที่สุดคือว่า เมื่อมันร้อนเป็นไฟนั้นนะคือมันโกรธแล้ว มันเกิดแล้ว ตัวกูมันเกิดแล้ว เป็นความโลภก็มีความโกรธก็มีความหลงก็มี ทีนี้ถอยลงไปจากนั้นก็หมายความว่า มันมีอวิชชาเกิดก่อน มันจึงเกิดความโลภความโกรธความหลงได้ ถ้าไม่มีอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้อง ความโลภความโกรธความหลงนี่ก็จะไม่รู้ ไม่รู้ว่าจะเกิดได้อย่างไร ไม่มีทางที่จะเกิดได้อย่างไร เพราะฉะนั้นตัวกูจึงเกิดเมื่ออวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้อง เข้ามาแทรกแซง
ในเมื่อมันมีการเห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู ได้กลิ่นด้วยจมูกนี้เป็นต้น ภาษิตของพระสารีบุตรเรียกว่า มหาหัตถิปโทปมสูตร พูดชัดมากว่าสูตรอื่นๆ แม้สูตรที่เป็นพุทธภาษิตก็ยังไม่ชัดเท่าสูตรนี้ซึ่งเป็นสูตรของพระสารีบุตร กล่าวว่าเมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูฟังเสียงเป็นต้น ถ้ามันมีน้ำหนักมากถึงขนาดที่ว่ามันละจากสภาพเดิม คือละจากสภาพที่เรียกว่าภวังคจิต มาเป็นจิตที่จะรู้สึกถึงอารมณ์นั้น เรียกชื่อรวมๆกันว่า สมันนาหารจิต ที่ขึ้นมาถึงขั้นนี้ก็จะเป็นโอกาสของอวิชชาที่จะเข้าไปแทรกแซง ถ้ายังไปไม่ถึงขั้นนี้มันก็ยังไม่รู้ที่ไปแทรกแซงกันที่ตรงไหน ที่เรียกว่าภวังคจิตก็นึกถึงเวลาที่จิตมันไม่ได้คิดนึกรู้สึกอะไรเลย ทีนี้พอตาเหลือบไปเห็นอะไรเข้า หูไปได้ยินเสียงอะไรเข้านี่มันก็มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงตัว ละจากสภาพอย่างนั้นมาสู่ไอ้สภาพของจิตที่จะทำหน้าที่ต่อๆไป ก็เลยเป็นโอกาสเป็นอะไรก็ตามที่ว่ามันจะผสมกันเข้าไปด้วยความโง่ หรือว่าความฉลาด คือความรู้เท่าหรือความไม่รู้เท่า
ถ้าคุณทอดตาไปตามธรรมดาที่ตรงหน้า มองไปนี่มันไม่มีความหมายอะไรก็ได้ ทั้งที่ตาก็ลืมอยุ่แล้วก็เห็นภาพเหล่านั้น แต่แล้วมันก็ไม่แปรสภาพไปสู่สิ่งที่เรียกว่า สมันนาหารจิต มันก็มองเหม่อๆไปรอบด้านรอบตัว มันก็ไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้ามันมีอะไรในภาพที่เห็นนั้น มีความหมายเพียงพอมีน้ำหนักเพียงพอ หรือเป็นอารมณ์ที่เพียงพอ จิตมันจะไม่เห็นสักว่าเห็นแล้ว มันจะไปทำความหมายให้เกิดขึ้น ว่าเป็นรูปนั้น มีความหมายอย่างนั้น ตอนนี้ละที่ว่าอวิชชาจะแทรกหรือจะไม่แทรก เพราะถ้าอวิชชาเข้าไปแทรกในจิตที่กำลังเป็นอย่างนั้น ก็เกิดจิตอันนี้ขึ้นมา คือเป็นสมันนาหารจิตซึ่งต่อไปนี้ก็จะเรียกว่าวิญญาณ ตามพระบาลีที่ว่าอาศัยตากับรูปเกิดจักษุวิญญาณขึ้น ทีนี้ไอ้วิญญาณอันนี้ถ้ามันไม่ถูกอวิชชาเข้าไปแทรกแซง ผัสสะที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็ไม่เป็นอวิชชาผัสสะ มันเป็นผัสสะธรรมดาไม่มีอวิชชาเจือ แต่ถ้ามันมีความหมายมาก มีความยั่วยุในไอ้สิ่งที่เห็นนั้นมาก และจิตมันก็เผลอ สติมันไม่มี มันเผลอความเคยชินมันมีแต่ในทางที่จะเกิดความรู้สึกสำคัญมั่นหมาย สติมันก็เผลอ อวิชชาก็เกิดขึ้น
ไอ้ที่นี้ก็หมายถึงว่ามันจะปรุงเกิดขึ้นเป็นความโง่ไปตามธรรมดาที่เราเคยโง่มาแต่อ้อนแต่ออก เมื่อเห็นรูปก็ไม่รู้ว่าอะไร เมื่อฟังเสียงก็ไม่รู้ว่าอะไร เมื่อดมกลิ่นก็ไม่รู้ว่าอะไร มันแยกทางเดินกันที่ตรงนี้ อาศัยตากับรูปเกิดจักษุวิญญาณ อยู่ในพวกที่เรียกว่า สมันนาหารจิต คือจิตที่มันจะทำเรื่อง พอวิญญาณอันนี้มีก็มีปัญหาว่าปัญญานี้จะโง่หรือไม่โง่ ขณะนั้นคนเราจะโง่หรือไม่โง่ ถ้าโง่ก็หมายความว่ามีอวิชชา ถ้าไม่โง่คือมีสติมีปัญญามีอะไรรู้สึกตัวอยู่ มันก็ไม่มีอวิชชา งั้นสัมผัสที่เกิดจากวิญญาณจึงแยกเป็นสองประเภท คือ อวิชชาสัมผัส หรือว่าสติสัมผัส ธรรมดามันก็เป็นอวิชชาสัมผัส สำหรับปุถุชนผู้ไม่เคยได้ยินได้ฟังคิดนึกศึกษา ไม่เคยได้ตั้งใจจะสำรวมอะไร เขาเรียกปุถุชนแท้ๆ มันก็เป็นโอกาสจะให้อวิชชาเข้ามาประกอบอยู่ในการเห็นรูปในคราวนี้ งั้นการเห็นรูปอันนี้จึงเรียกว่าอวิชชาสัมผัสของคนนั้น คือ ตาสัมผัสรูปด้วยอำนาจของอวิชชา ทีนี้อีกคนหนึ่งเป็นพระอริยเจ้า เป็นอริยสาวก ได้ยินได้ฟังมาก ได้ฝึกฝนมาก ได้รับคำแนะนำมาก มีสติสัมปชัญญะอยู่ ว่าตากระทบรูป อาศัยความที่เคยชินในการมีสตินี้ มันก็มีสติไม่เปิดโอกาสให้อวิชชาเข้ามาปรุงเกิดขึ้นได้ งั้นการเห็นอันนั้นมันก็ไม่ใช่อวิชชาสัมผัส มันก็กลายเป็นสติสัมผัส หรือวิชาสัมผัส ตาสัมผัสรูปนั้นด้วยการที่มีวิชา คือการรู้ตัว สัมปชัญญะหรือว่าสติมันอยู่ด้วย สัมผัสนั้นเลยไม่เป็นอวิชชาสัมผัส นี่มันแยกกันเดินอย่างนี้
เมื่อปุถุชนเห็นรูป แต่ตาก็สัมผัสรูปนั้นด้วยอวิชชา เมื่อพระอริยสาวกเห็นรูปด้วยตา ก็สัมผัสรูปนั้น ตาสัมผัสรู้นั้นด้วยสติก็ได้ สัมปชัญญะก็ได้ วิชชาก็ได้ ปัญญาก็ได้ โพธิก็ได้แล้วแต่จะเรียกอันไหน คำใดคำหนึ่งซึ่งไม่ใช่อวิชชาก็แล้วกัน ทีนี้เรื่องมันก็เดินมาถึงว่า ไอ้สัมผัสอารมณ์ภายนอกนั้นด้วยอวิชชา เป้นอวิชชาสัมผัส ก็อย่าลืมว่าอวิชชามันเจืออยู่ในนั้น นั่นน่ะมันจะเป็นรกรากและจะเกิดเป็นกิเลสเป็นตัวกู เพราะมันโง่เข้าแล้ว ที่นี้พอมันสัมผัสด้วยอวิชชาแล้วมันก็มีเวทนาเกิดขึ้นจากสัมผัสนั้น ดังนั้นเวทนานั้นก็เลยเป็นเวทนาที่เกิดมาจากสัมผัสของอวิชชา ตรงนี้ต้องพูดกันซ้ำซากที่สุด ให้รู้จักแยกว่าเวทนาก็มีสองอย่างอีกนะ ในเมื่อสัมผัสมันมีสองอย่าง สัมผัสด้วยอวิชชา หรือสัมผัสด้วยวิชา พอสัมผัสก็ให้เกิดเวทนา เวทนาก็ต้องมีสองอย่างเหมือนสัมผัส คือเวทนาที่เกิดจากอวิชชาสัมผัส และเวทนาที่เกิดจากวิชชาสัมผัส เรียกกันง่ายๆเป็นคู่ตรงกันข้าม
บุคคลนั้นได้เห็นรูปแล้ว สัมผัสรูปด้วยอวิชชาแล้ว เวทนาที่เกิดขึ้นก็เป็นเวทนาที่มาจากอวิชชา งั้นเวทนานี้ก็จะต้องทำให้โง่ต่อไปคือเป็นตัณหา อวิชชาให้เกิดตัณหา พอเป็นตัณหาแล้วก็ไม่ต้องแยกแล้ว เพราะตัณหาจะไม่มีเป็นฝ่ายวิชชาหรือฝ่ายอวิชชา ตัณหาจะต้องมีแต่ฝ่ายอวิชชา ตัณหาที่เป็นฝ่ายวิชชานั่นไม่มี ไม่ใช้เรียก เพราะว่าตัณหาจะต้องมาจากเวทนาที่เกิดมาจากอวิชชาสัมผัส คือสัมผัสอะไรเข้าไปด้วยจิตใจที่โง่ทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ทางลิ้นก็ได้ ทางผิวหนังก็ได้ ทางจิตล้วนๆก็ได้ พอเกิดตัณหาแล้วมันก็เรียกว่า อวิชชาเต็มที่เดินไป เป็นอุปาทาน นี่เต็มที่ก็คือเป็นตัวกู ด้วยความรู้สึกที่มีความหมายเป็นตัวกู ตัวกูอย่างนั้น ตัวกูอย่างนี้ เป็นความโลภบ้าง ความโกรธบ้าง ความหลงบ้าง หรือว่าจะเป็นเรื่องขลาด เรื่องกลัว เรื่องเศร้าเรื่องอะไรก็ตามแต่ ต่อไปนี้มันจะเป็นทุกข์แล้ว ช่วยไม่ได้แล้ว ถ้ามันถึงขนาดที่เป็นอุปาทานแล้วมันดับไม่ไหวแล้ว ก็เพราะอุปาทานแล้วมันก็มีภพ คือปรุงเป็นความเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา เป็นตัวกูชนิดไหน
ตัวกูนี้ก็มีได้หลายแบบ ตัวกูอย่างมนุษย์ ตัวกูอย่างเทวดา ตัวกูอย่างสัตว์เดรัจฉาน ตัวกูอย่างแม่ ตัวกูอย่างลูก ตัวกูอย่างนายตัวกูอย่างบ่าว และมีนับไม่ไหว มันเป็นอุปาทานเป็นภพเป็นชาติ มันก็ต้องมีความทุกข์ไปตามแบบแห่งตัวกูนั้นๆ แล้วแต่มันจะถูกตัวกูไหนมา
ทีนี้ถ้าสังเกตดูให้ดี ในพระบาลียังมีพูดถึงว่า เมื่อตัณหาเกิดขึ้นแล้วสติสัมปชัญญะมี หยุดตัณหาได้นี้ มันก็พอมีทางจะทำได้ แต่เป็นกรณีพิเศษหรือว่าเก่งเต็มทีถึงจะทำได้ เพราะโดยมากมันหยุดไม่ทัน เป็นตัณหาแล้วมันจะเป็นอุปาทานภพชาติไปเลย ที่เขาสอนกันอยู่ในโรงเรียนหรือตามสำนักต่างๆ เขาไม่ถือว่าตัณหานี้จะหยุดได้จะกลายเป็นดับตัณหาแล้วก็ไม่เกิดทุกข์ แต่มีพระบาลีบางแห่งหรือพระสูตรบางแห่งก็มีพูดถึงว่า เกิดตัณหาถ้ามีสติสัมปชัญญะ และตัณหาหยุดลงไปก็ไม่ต้องเป็นภพเป็นชาติเป็นทุกข์ ข้อนี้ก็ไปสังเกตเอาเองก็แล้วกัน คือในกรณีที่มันสัมผัสอารมณ์ด้วยอวิชชา เกิดผัสสะอย่างอวิชชา เกิดเวทนาอย่างอวิชชา เกิดตัณหาอย่างอวิชชา แล้วจะมีสติสัมปชัญญะมาหยุดก็แค่นั้นจะได้หรือไม่ ลองสังเกตตัวเองก็แล้วกัน ถ้าหยุดไม่ได้ตรงนี้แล้วต่อไปนี้ก็ไม่มีทางจะหยุด ต้องเป็นทุกข์ ต้องเป็นทุกข์แน่
ทีนี้ในกรณีที่มันตรงกันข้ามเลย คือพระอริยสาวก เมื่อตาเห็นรูป อวิชชาไม่ได้โอกาส สติสัมปชัญญะมันอยู่เรื่อย งั้นการเห็นรูปนั้นเกิดจักษุวิญญาณ ไม่มีทางที่อวิชชาจะแทรกแซง จักษุสัมผัสนั้นก็เลยเป็นจักษุสัมผัสธรรมดาที่ไม่มีอวิชชา หรือว่าจะเป็นจักษุสัมผัสชนิดที่ประกอบอยู่ด้วยปัญญาก็ได้ มันได้ทั้งสองอย่าง คือเป็นธรรมดาไม่ประกอบด้วยอวิชชาก็ได้ หรือดีกว่านั้นคือประกอบด้วยสติสัมปชัญญะหรือปัญญา ไอ้ผัสสะนั้นก็ไม่ใช่อวิชชาสัมผัส ทีนี้ถ้าเวทนาเกิดจากการเห็นรูปอันนั้น มันก็ไม่ใช่เวทนาที่เกิดมาจากอวิชชาสัมผัส มันไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าตัณหา ตัณหาตามความหมายปกติต้องมาจากอวิชชาเสมอ ทีนี้เมื่อเวทนานี้มันไม่มาจากอวิชชา มันมาจากความรู้สึกตัวอยู่ มีสติอยู่ สัมปชัญญะอยู่ เวทนานี้ก็ไม่ปรุงตัณหา ทางฝ่ายตัณหาทางฝ่ายอุปาทานมันก็เลิกกัน ไม่มีทางที่จะเกิด
ทีนี้มันก็มาทางฝ่ายวิชชา เพราะมันตั้งต้นด้วยวิชชา ว่าเมื่อเราเห็นรูปนี้แล้ว รูปนี้เป็นอย่างไร เมื่อเกิดเวทนานี้ขึ้นเมื่อเห็นรูปนี้แล้ว เช่นสวยหรือไม่สวยหรืออะไรก็ตาม วิชชาปัญญามันก็ยังทำหน้าที่ต่อไปว่าควรทำอย่างไรกับรูปนี้ ซึ่งให้ความสบายตาแก่เรา หรือให้ความไม่สบายตาแก่เรา หรือให้มีความกลางๆแก่เรานี่ มันก็กลายเป็นการศึกษาไป การกระทบทางอยาตนะของพระอริยสาวกนั้นก็กลายเป็นการศึกษาไปว่ามันเป็นอย่างไร คืออะไร เราควรจะทำอย่างไร ถ้าควรจะทำอย่างไรแน่ก็ทำ จัดการกับรูปนั้น เพื่อไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นอะไร เมื่อมีประโยชน์ก็เก็บไว้หรือบำรุงรักษาไว้สุดแท้แต่ที่ควรจะทำ ถ้ามันไม่เกี่ยวข้องกับเรา หรือไม่ควรจะเกี่ยวข้องก็เฉยเสียก็เลิกกัน เรื่องก็หมดกัน ไม่ต้องไปยินดียินร้ายให้เกิดความโลภความโกรธความหลง
นี่การที่ตากับรูปพบกันเกิดวิญญาณขึ้นมานี้ เกิดจักษุวิญญาณขึ้นมานี่มันแยกทางว่าจะไปทาง ว่าจะมาทางฝ่ายอวิชชาหรือว่าจะมาทางฝ่ายวิชชา ถ้าไปทางฝ่ายโน้นก็คือฝ่ายอวิชชาเรียกว่าอวิชชาสัมผัส เกิดเวทนาที่มาจากอวิชชาสัมผัส ก็เกิดตัณหาที่เป็นกิเลส และเกิดอุปาทานภพชาติแล้วก็ได้ทุกข์แน่นอน นี้ทางนี้ตาอาศัยรูป ตากับรูปอาศัยกันเกิดจักษุวิญญาณ อวิชชาไม่มาแทรกแซง แต่สติสัมปชัญญะหรือปัญญาเข้ามาแทรกแซง มันก็เกิดไอ้สัมผัสชนิดที่ไม่ใช่อวิชชา สัมผัสด้วยวิชาสัมผัสด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ตานั้นก็มองรูปนั้นด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ที่นี้เวทนาเกิดขึ้นเวทนานี้ก็ไม่ลวง ไม่อาจจะลวงเพราะมันมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี นี่คือเวทนาที่เกิดมาจากปัญญาสัมผัส วิชาสัมผัส ก็ไม่เกิดตัณหา ทีนี้ก็เกิดความรู้ เกิดการศึกษาเพิ่มความฉลาด เพิ่มวิชชา เพิ่มปัญญา เพิ่มอะไรให้มากขึ้นอีกเพราะว่าได้สัมผัสสิ่งต่างๆมากขึ้น
ทางตานี้เป็นอย่างไร ทางหูก็เป็นอย่างนั้น ทางจมูกทางลิ้นทางผิวหนังทางใจนี่ก็เหมือนกันหมด ด้วยหลักเดียวกันหมด แม้ว่าอวัยวะสัมผัสจะต่างกัน นี้เราก็มองเห็นได้ชัดว่า เมื่อสัมผัสรูปเสียงกลิ่นรสนั้นด้วยอวิชชาคือโง่ไปเผลอไปมันก็เพิ่มกิเลส กิเลสคือความเคยชินที่จะเกิดกิเลส คือความเคยชินในการที่จะเกิดกิเลสนี่มันเพิ่มให้เรา ที่จริงน่ะเมื่อเป็นเด็กอยู่ในท้องมารดาคลอดออกมามันก็ไม่ค่อยมีกิเลส ไม่ค่อยมีความเคยชินที่จะเกิดกิเลส แต่แล้วมันเพิ่มขึ้นๆๆ มาตั้งแต่เด็กมันรู้ความ มันรู้ภาษา มันก็เพิ่มมาจนบัดนี้ เพราะฉะนั้นความเคยชินที่จะเกิดกิเลสน่ะ ความเคยชินที่จะเอียงไปในทางโง่ทางอวิชชานี้มาก มันจึงเป็นธรรมดาไป การที่จะฝืนธรรมดากันก็ต้องมีการอบรมกันไป แต่ก็ไม่มีวัฒนธรรมของชาติไหนภาษาไหนที่จะอบรมเด็กเล็กๆให้มีความรู้เรื่องนี้ มีแต่ปล่อยไปตามบุญตามกรรมของคน คนก็เลยมีการเพิ่มอวิชชา เพิ่มกิเลสเพิ่มตัณหาเพิ่มความเคยชินในการเกิดกิเลสตัณหา อันนี้เขาก็เรียกว่าอนุสัย ครั้งแรกเกิดกิเลสครั้งหนึ่งก็เรียกว่ากิเลสได้ แต่พอเกิดกิเลสครั้งที่สอง มันก็มีกิเลสสองหนแล้ว และมันก็ได้กำไรมาเป็นอนุสัย คือความเคยชินที่จะเกิดกิเลสชนิดนั้นขึ้นมาอีก ทีนี้พอเกิดกิเลสครั้งที่สาม เราได้กิเลสสามหนแล้ว ก็เพิ่มความเคยชินที่จะเกิดกิเลสนั้น นี่ขึ้นมาสองเท่า ก็นับดูซิมันกี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นกี่แสนกว่าจะโตเป็นคนขึ้นมาเท่านี้อายุเท่านี้
นี่มันจึงทำความลำบากที่สุดให้แก่ผู้ที่รู้สึกว่าจะต้องละกิเลส ผู้ที่ไม่รู้สึกว่าจะต้องละกิเลสก็ไม่มีอะไรก็ปล่อยมันไปตามเรื่องของกิเลส พอผู้ที่มีความรู้สึกว่าจะต้องละกิเลสขึ้นมาก็ลองคำนวณดูซิ จะละความเคยชินตั้งร้อยครั้งพันครั้งหมื่นครั้งแสนครั้งในเวลากะทันหันอย่างนี้มันยาก มันจะต้องฝึกให้ดี ให้ดีกว่าให้แรงกว่าให้มันชดเชยกัน มีสติสัมปชัญญะให้มากอย่าทำเล่นกับสิ่งนี้ ไม่ประมาทอย่างยิ่ง เพื่อจะแก้ไขความเคยชินที่มีมาแต่อ้อนแต่ออกจนถึงเวลานี้ มันมากขนาดนี้ ที่นี้ถ้าสมมติว่ามันเป็นบ้านเป็นเมืองที่ประเสริฐวิเศษ พอเด็กคลอดออกมาพ่อแม่ก็สอนเรื่องนี้ ให้เข้าใจเรื่องนี้สอนให้ควบคุมเรื่องนี้ สอนให้ระวังเรื่องนี้มาแต่เสียตั้งแต่เด็กๆเล็กๆจนโตขึ้นมา อย่างนี้มันก็ง่าย คล้ายๆจะอบรมให้เป็นพระอริยเจ้ากันมาตั้งแต่ต้น ทีนี้เด็กคนหนุ่มคนสาวเหล่านั้นก็สามารถที่จะควบคุมตาหูจมูกลิ้นกายใจ เมื่อเห็นรูปฟังเสียงดมกลิ่นลิ้มรสก็ไม่เผลอไม่ปล่อยให้มีอวิชชาสัมผัส มีแต่วิชชาสัมผัส ที่เราสัมผัสสิ่งทั้งหลายรอบตัวเราด้วยอำนาจของวิชชา ทางตาก็ได้ทางหูก็ได้ทางจมูกก็ได้ทางลิ้นก็ได้ ล้วนแต่สัมผัสสิ่งรอบตัวเราด้วยวิชชาคือความรู้ หรือเรียกว่าสติ ความรู้ที่มาเร็วๆเรียกว่าสติ ไอ้โลกนั้นคงเป็นโลกพระอริยเจ้าไปหมด เป็นโลกที่ไม่มีปัญหา เดี๋ยวนี้มันไม่มีหรอกในครั้งพุทธกาลก็ไม่ได้มีอย่างนั้น มีแต่ปล่อยให้เด็กเกิดออกมาแล้วก็เติบโตขึ้นมาด้วยความเคยชินในการที่จะเกิดกิเลสตัณหา ก็เรียกว่าอนุสัย อนุสัยในสันดานที่จะเคยชินสำหรับกิเลสที่มากขึ้นๆ ก็มาตั้งหน้าตั้งตาละอนุสัยนี้กันเป็นการใหญ่
ทีนี้วิธีที่จะละอันนี้มันก็ยาก ต้องอาศัยการแนะนำของพระพุทธเจ้า ลำพังพวกเราทำไม่ได้แน่ มันเคยชินกันมาแต่สิบๆปีไม่รู้กี่สิบปี จะมาละกันเดี๋ยวนี้ มันต้องมีวิธีการพิเศษที่ฉลาด พระพุทธเจ้าจึงแนะวิธีที่ว่าให้ระวังให้สำรวม ให้ระวังเมื่อมีการสัมผัสทางตาหูจมูกลิ้นกายใจให้เต็มอยู่ในสติสัมปชัญญะ มันก็แก้ความเคยชินเหล่านั้นให้ตีกลับให้มันน้อยลงไปๆๆ พอความเคยชินนั้นหมดกิเลสมันก็ไม่มีเกิด ก็เป็นพระอรหันต์เพราะมันไม่มีทางที่จะเกิดกิเลส ทีนี้ก็ดูซิว่าตัวกูมันเกิดตรงไหน เรามีความเคยชินที่จะเกิดกิเลสเป็นต้นทุนเป็นทุนสำรอง เป็นเดิมพันอยู่ในนิสัยสันดาน ก็เรียกว่าเรามีความเคยชินของความโง่ ความเคยชินในการที่จะเกิดความโง่ ยังไม่ได้เป็นความโง่ยังไม่ใช่ตัวความโง่ แต่มีความเคยชินในการที่จะเกิดความโง่พอพูนมากไว้ในสันดาน พอตาเห็นรูปก็โง่ หูฟังเสียงก็โง่ จมูกดมกลิ่นก็โง่ ลิ้นชิมรสอาหารก็โง่ มีอะไรมาสัมผัสทางผิวหนังก็โง่ จิตจะคิดนึกไปตามสบายบ้างก็คิดนึกไปอย่างโง่ๆ นั่นละจึงได้โง่อยู่ตลอดวัน จากสาเหตุทางตาบ้างทางหูบ้างทางจมูกบ้างทางลิ้นบ้างทางผิวหนังบ้างนึกเอาเองบ้าง มีโอกาสที่จะโง่ตลอดวัน
โง่ทีหนึ่งคือตัวกูทีหนึ่งๆ เป็นตัวกูอย่างโลภบ้าง ตัวกูอย่างโกรธบ้าง ตัวกูอย่างหลงบ้าง สามประเภทด้วยกัน ตัวกูอย่างโลภนั้นมีโรคะ มีโลภะนั้นคือมันจะเอา มันจะเอาเข้ามาเป็นของตัว นี้ตัวกูอย่างโทสะหรือโกรธะนั้น มันจะตีออกไปมันจะฆ่าเสียให้ตาย เพราะว่ามันเป็นศัตรูกัน นี่มันจึงเกิดโทสะโกรธะ ส่วนตัวกูอย่างโมหะนั้นมันไม่รู้อะไรเป็นอะไร มันก็ได้แต่เก็บเอาไว้ด้วยความสนใจสำหรับจะวิตกกังวล สำหรับจะสงสัยสำหรับจะลังเลไปตามเรื่อง เป็นความทุกข์ไปอีกแบบหนึ่ง ตัวกูโลภก็มีความทุกข์ไปตามแบบโลภ มันโลภตกนรกชนิดนั้นไป ตัวกูโกรธมามันก็ตกนรกชนิดโกรธ ชนิดไฟที่เป็นความโกรธ ตัวกูที่เป็นโมหะชนิดหลงก็ตกนรกมืดนรกหลงนรกอะไรไปตามเรื่อง นรกอย่างนี้น่ากลัวมาก อญัตตะนิกนรก (นาทีที่ 33:04) พระพุทธเจ้าเรียกว่า อญัตตะนิกนรกหรือชื่อคล้ายๆนี้ละ คือนรกที่เกิดขึ้นทางอายตนะ นรกที่เกิดขึ้นที่ตาหูจมูกลิ้นกาย ครูบาอาจารย์ไม่สอนเรื่องนรกข้อนี้ ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้แล้วว่าน่ากลัวมาก ไปสอนกันแต่นรกใต้ดินตกตายแล้ว มันก็ทำให้โง่มากขึ้นไปอีก คนถูกสอนก็โง่มากขึ้นอีก
ไอ้นรกที่ร้ายกาจกว่าอยู่ที่นี่แล้ว อยู่ที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ เมื่อมันโง่นี้เป็นนรก อเวจีนรก โลหะกุมภีนรกไปแล้ว แล้วแต่ว่ามันจะเป็นนรกเย็นหรือนรกร้อนหรือนรกมืด นี่ละนรกในตัวกูหรือตัวกูที่เป็นนรก มีตัวกูเมื่อไรก็มีนรกเมื่อนั้น ทางตาก็ได้ทางหูก็ได้ทางจมูกก็ได้ทางลิ้นก็ได้ทางผิวหนังก็ได้ ทางใจล้วนๆก็ได้ นี่เรามองดูทีเดียวตลอด เพราะตัวกูเกิดขึ้นอย่างนี้และมีปัญหาอย่างนี้ แล้วก็ย้อนไปดูข้างต้นสักหน่อย แล้วถามมันเกิดอย่างไรจะเกิดเมื่อไร ตามที่พูดมาแล้วนี้ก็ตอบได้ทันทีว่า เกิดเมื่อมันสัมผัสโลกด้วยความโง่ ผมคิดว่าเป็นคำพูดที่ประหยัดดีมาก ตัวกูนี่มันเกิดเมื่อจิตสัมผัสโลกด้วยความโง่ จิตที่นอนนิ่งอยู่เฉยๆเป็นภวังคจิตนั้นมันทนอยู่ไม่ได้ มันต้องเป็นสมันนาหารจิตขึ้นมารับอารมณ์ ทีนี้มันมารับด้วยความโง่จะทำอย่างไรได้ เพราะมันเป็นโอกาสแห่งความโง่ เพราะมันเคยชินแต่ที่จะโง่ แล้วมันมีอะไรอื่นขึ้นมาช่วย ทำให้มีแต่ความโง่ งั้นจิตนี้มันสัมผัสโลกคือสิ่งทั้งหลายรอบตัวเราด้วยความโง่ จิตชนิดนี้จะเกิดสิ่งที่เป็นตัวกูของกูขึ้นแล้วเป็นทุกข์ ความเอร็ดอร่อยนั่นละมันทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นตัวกูขึ้นมา พอรู้สึกอร่อยมันก็จะรู้สึกว่าฉันอร่อย พอไม่อร่อยก็จะรู้สึกฉันไม่อร่อย พอมันน่าสงสัยน่าพิศวงมันก็ว่าฉันสงสัย ฉันพิศวงฉันลังเล เพราะฉะนั้นคำว่าฉันตัวฉันนี่ละเกิดเป็นตัวกู มันเป็นเรื่องลมๆแล้งๆ มันจึงเข้าใจยากเพราะมันไม่มีตัวจริง เป็นลมๆแล้งๆ
ความโง่สร้างเป็นความรู้สึกขึ้นมานิดหนึ่งๆ ชั่วขณะๆนั่นละคือตัวกูแล้วก็เกิดเมื่อนั้น ทีนี้จิตนี่มันเป็นของเบาของไว มันจึงสัมผัสโลกสัมผัสสิ่งต่างๆรอบตัวด้วยลักษณะที่เบาไว ที่ควบคุมยาก ทีนี้มันมีความเคยชินไปทางไหนมันก็ดันไปทางนั้น ก็เปรียบเหมือนกันปลาหรือสัตว์น้ำทั้งหลาย พอจับมันโยนขึ้นมาบนบก มันก็แถกไถลงไปในน้ำเรื่อยไป เพราะมันมีความเคยชินอย่างนั้น ที่จิตมันก็เคยชินแต่ที่จะเป็นทาสของอารมณ์ ยินดีในอารมณ์ที่น่ายินดี ยินร้ายในอารมณ์ที่น่ายินร้าย พะวงสงสัยในอารมณ์ที่น่าพะวงสงสัย นี่มีอยู่อย่างนี้ ชินมาอย่างนี้เรียกว่า คนเขาเรียกว่าโกคะแปลว่าน้ำ แปลว่าทะเล( นาทีที่ 36:48) โกคะแปลว่าน้ำ โกคะตรีเคยชินแต่อย่างนี้ จิตนี่ก็เหมือนกับปลา นี่เคยชินแต่น้ำอย่างนี้มันไม่เคยอยู่บนบก มันไม่เคยชินกับการที่อยู่บนบกแล้วมันไม่อยู่บนบก มันเป็นสัตว์บกไม่ได้ งั้นความเคยชินจึงมีแต่ที่จะโง่ต่ออารมณ์นั้นๆ จึงไปยินดีเข้าบ้างยินร้ายเข้าบ้าง พะวงหลงใหลเข้าบ้าง
ทีนี้เราจึงมองเห็นฝ่ายตรงกันข้ามขึ้นว่า ตัวกูมันไม่เกิดเพราะจิตมันไม่สัมผัสโลกด้วยความโง่ ก็ตรงกันข้ามตัวกูมันเกิดเพราะจิตมันสัมผัสโลกนี้ด้วยความโง่ ทีนี้ตัวกูมันไม่อาจจะเกิดอยู่เพราะจิตมันไม่สัมผัสโลกนี้ด้วยความโง่ อยู่เฉยๆก็ยังดี แต่ถ้าไปสัมผัสทางตาทางหูสัมผัสด้วยปัญญาเสมอไปงั้นจำข้อความสองคำนี้ไปคิดๆ ไปคิดวันๆเดือนๆปีๆ แล้วก็ไม่ใช่เพียงแต่คิด ก็ต้องมองเข้าไปให้เห็นชัดว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง เมื่อไรจิตนี้สัมผัสโลกนี้ด้วยความโง่ทางตา ทางหู ทางอะไรก็ตามเมื่อนั้น ไอ้ความรู้สึกว่าตัวฉันตัวกูมันจะยกหูชูหางขึ้นมาทันที เกิดแป๊บขึ้นมาในรูปใดรูปหนึ่ง นี่มีสติอยู่เสมอ สัมผัสโลกด้วยสติด้วยปัญญาอยู่เสมอ ตัวกูไม่มีทางเกิด แล้วทีนี้ทำไปอย่างนี้ทำไปอย่างนี้ ก็ชินไปแต่ในทางไม่เกิด ชินไปแต่ในทางที่ไม่เกิด ความเคยชินที่จะเกิดมันก็หมดไป มันก็เป็นพระอรหันต์
งั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้อย่างน่าสนใจที่สุดอีกคำหนึ่งว่า อยู่ให้มันดีๆอยู่ให้มันถูกต้อง โลกนี้มันก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์ ถ้าทุกคนอยู่อย่างดีอยู่อย่างถูกต้อง มันอยู่ชนิดที่ตัวกูเกิดไม่ได้ อยู่ในสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลานี่อยู่ดีอยู่ถูกต้อง ตัวกูเกิดไม่ได้ มันก็หมดความเคยชินที่จะเกิดใหม่ แต่นี่มันไม่เกิด เปรียบเหมือนกับเราไม่ให้แสงแดดแก่เมล็ดพืชอะไรสักอันเลย ไม่เท่าไรเมล็ดพืชเมล็ดนั้นก็จะหมดยางที่จะงอกงาม มันเป็นเมล็ดพืชที่เพาะไม่ขึ้น นี่คือเราไม่ต้องทำอะไร นี่ให้เราอยู่เฉยๆอยู่ให้ถูกวิธี อย่าให้มันเกิด อย่าให้มันเกิดได้ มันก็จะเสื่อมคุณภาพหรือเรียกว่าเน่าลีบตายไปเลย ความเคยชินที่จะเกิดมันก็หร้อยหรอจนเหือดแห้งไป เลยพระพุทธเจ้าท่านใช้คำที่ไม่น่าเชื่อว่า อยู่ๆให้ดีๆอยู่ให้ถูกต้องโลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ แต่คำว่าอยู่ถูกต้องนี้พวกเราไม่ค่อยจะรู้ว่าอยู่อย่างไร แล้วทีนี้ก็หมายความว่าอยู่ถูกต้องในลักษณะที่ตัวกูไม่อาจจะเกิดขึ้นมาได้วันทุกวันๆ คือนานๆเกิดได้สักครั้งหนึ่งก็ได้แต่ให้มันนานออกไปทุกทีๆ จนกระทั่งเกิดปีละครั้ง หลายปีต่อครั้งสักวันหนึ่งมันก็ไม่มีเกิด คือจะต้องมีการระวัง อวิชชาสัมผัสอย่าให้มีอวิชชาสัมผัส อย่าให้มีสัมผัสโลกนี้ด้วยความโง่ ต้องให้มีแต่วิชชาสัมผัส สัมผัสโลกนี้ด้วยวิชชาด้วยแสงสว่างด้วยปัญญา
เราตั้งใจจะพูดกันแต่เพียงว่าตัวกูเกิดเมื่อไรเท่านั้นละ แต่มันจะบอกหรือตอบคำถามเพียงเท่านั้นมันไม่ได้มันมองไม่เห็น มันเลยต้องบอกให้ฟังหมดจนตลอดสายว่ามันตั้งต้นอย่างไร เพาะตัวเองขึ้นมาอย่างไร เกิดอย่างไรมีผลอย่างไร กระทั่งเป็นทุกข์อย่างไร ขอให้ไปดูกันจริงๆดูอย่างที่เรียกว่าทำวิปัสสนา ดูกันให้จริงๆให้เห็นว่ามันเป็นอย่างนี้ หรือว่าเป็นทุกวันๆ แล้วอะไรเป็นสิ่งที่ยั่วใจที่สุดอันนั้นนะระวังให้มาก เรื่องทางตามันก็ไม่ใช่หยอก แล้วก็มันจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพศตรงกันข้าม เรื่องทางหูนี่ยังไม่ค่อยเท่าไหร่ เรื่องทางตานี้มากกว่าระวังยากกว่า ทางจมูกก็ยังไม่เท่าไหร่ ทางลิ้นนี่ร้ายกาจอีกอย่างหนึ่ง สังเกตความหงุดหงิดที่สุดเกิดขึ้นเป็นประจำวัน จะพบว่าไอ้ทางลิ้นเรื่องกินอาหารน่ะ ได้อย่างใจไม่ได้อย่างใจอะไรนี่ เรื่องกินนี่ละจะร้ายกาจหรือรุนแรงมากกว่าทางหูหรือทางจมูก ทีนี้พอมาถึงอันที่ห้าคือทางผิวหนังนี้ นี่ยิ่งร้ายใหญ่ เพราะว่าผิวหนังเป็นที่ตั้งแห่งการที่สัมผัสให้เกิดความรู้สึกทางกามารมณ์ทางอะไรมากมายนัก นี่ก็ยิ่งยากยิ่งเป็นของยากเป็นบทเรียนที่ยากกว่าทางตาหรือทางลิ้นนี่เสียอีก
ทีนี้อันสุดท้ายนี้คือใจ นี่ก็ยิ่งยากมากเพราะใจเป็นของหวิวเป็นของเบาเป็นของเร็วเหลือที่จะคุม จะควบคุม ไม่มีเรื่องอะไรมันฝันเอาเองก็ได้ สมมติว่าหลับตาเสียปิดหูเสียปิดจมูกเสียผิวหนังก็ไม่ได้กระทบอะไรนี่ แต่มันก็ฝันเอาเองถึงเรื่องในอดีต งั้นความครุ่นคิดถึงสัญญาในอดีตเรื่องรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสในอดีต อะไรที่ในอดีตนี่ก็เอามาเป็นอารมณ์สำหรับจิตจะสัมผัสด้วยอวิชชาหรือด้วยวิชชาได้เหมือนกัน งั้นมันยากมาก ถ้าอย่างนั้นถ้าเราคิดถัวดูแล้วจะรู้สึกว่า ไอ้ตัวกูเกิดด้วยเรื่องทางใจนี่ละมากเหลือเกิน อะไรก็ต้องผ่านใจทั้งนั้นละแม้แต่ทางตาทางหูมันก็ต้องผ่านใจ แต่ถ้าอาศัยตาหูเรายกให้เป็นเรื่องตาหู แต่เมื่อไม่ได้อาศัยตาหูมันฝันเอาเองได้ นี่มันลำบาก พอเรานึกถึงคนที่เป็นศัตรูเท่านั้นละมันก็เป็นไฟขึ้นมาในจิตใจ โดยไม่ต้องเห็นตัวเขา มันก็เป็นอารมณ์ทางจิตใจ ก็มีความโกรธอย่างยิ่งได้ มีความอาฆาตพยาบาทเป็นทุกข์ทนหม่นหมองอยู่นั่นได้ ทีนี้ไม่ใช่เรื่องจริงแม้แต่เรื่องเขาหลอกเล่น มันก็ยังเอามาโกรธได้เป็นอารมณ์ที่มีความทุกข์ได้ งั้นตัวกูเกิดได้แม้แต่เมื่อเขาหลอก เขาหลอกเล่นเขาล้อเล่นมันก็เกิดได้
รวมความแล้วมันก็อยู่ในเรื่องที่เราสัมผัสสิ่งรอบตัวเราด้วยความโง่ หรือด้วยความฉลาด ไอ้สิ่งที่อยู่รอบตัวเรา เราเรียกว่า โลก เป็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะพะธรรมารมณ์อะไรก็ตามใจเรา เรียกว่าโลก คือสิ่งที่อยู่รอบตัวเราจะเข้ามาสู่จิตใจของเรานี่เรียกว่า โลกภายนอก นี่โลกภายนอกนี่ระวังให้ดีนับไม่ไหว ไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนกี่ล้านชนิด เป็นเรื่องๆรายๆไป เมื่อใดจิตสัมผัสโลกนี้ด้วยความโง่เมื่อนั้นเกิดตัวกูทันที เป็นวัฎสงสารเดือดพล่านขึ้นมาทันที นี้ถ้าว่ามันมีสติสัมปชัญญะไม่มีการสัมผัสโลกนี้ด้วยความโง่ มันก็ไม่มีทุกข์ไม่เกิดตัวกู ไม่เกิดตัวกูคือเป็นนิพพาน นิพพานเนือยๆนิพพานน้อยๆนิพพานชิมลองนิพพานตัวอย่างนิพพานตั้งต้นนี่ละ
คำนี้ผมพบในบาลีไม่ใช่ว่าเอาเอง เขาเรียกว่า สามายิกัง (นาทีที่ 46:28) นิพพานัง นิพพานชั่วสมัย นิพพานชั่วขณะ นิพพานที่เป็นไปตามสมัย คือสมัยที่เรามีสติสัมปชัญญะ ตลอดเวลาที่เรามีสติสัมปชัญญะ หรือเวลาที่ตัวกูไม่เกิดก็แล้วกัน ชั่วเวลานั้นละมันเป็นสามายิกัง นิพพานนังได้ นิพพานชั่วขณะนิพพานชั่วสมัย ก็เลยพูดได้ขึ้นมาอีกคู่หนึ่งว่า พอตัวเกิดก็เป็นสังสารวัฏ พอตัวกูว่างอยู่ไม่เกิดก็เป็นนิพพานชนิดใดชนิดหนึ่ง งั้นตัวกูเกิดกิเลสเกิดสังสารวัฏเกิด ปัญจุปาทานขันธ์(นาทีที่ 47:14) เกิดเมื่อสัมผัสโลกด้วยความโง่ เมื่อไม่เกิดก็เป็นความหยุดเป็นความสงบ เป็นความไม่มีทุกข์มีความหมายของนิพพาน เรื่องละเอียดมันมีนี่ก็ว่าเรื่องรูปมันมีเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นขันธ์ทั้งห้า นี่มันก็พึ่งเกิดแบบสำหรับจะเป็นทุกข์ ธรรมดามันไม่ได้เป็นทุกข์แล้วก็ไม่ได้เรียกว่ามีด้วย มีค่าเท่ากับไม่มี ให้รู้ว่าเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณตามปกตินั้นไม่มีปัญหาไม่มีความทุกข์ไม่เรียกว่าปัญจุปาทานขันธ์ แต่พอจิตมันบ้ามันสัมผัสโลกด้วยความโง่เมื่อนั้นละทั้งรูปทั้งเวทนาทั้งสัญญาทั้งสังขารทั้งวิญญาณเป็นปัญจุปาทานขันธ์ขึ้นมา นั่นเรียกว่าเกิด ปัญจุปาทานขันธ์เกิด พอปัญจุปาทานขันธ์เกิดก็คือตัวทุกข์เกิด มันก็มีทางนี้
งั้นเราจงระวังให้เบญจขันธ์นี้เป็นเบญจขันธ์ตามปกติ ไม่มีอุปาทานไม่มีความโง่เข้าไปผสม อย่างที่เรานั่งฟังอยู่อย่างนี้มันก็เป็นเบญจขันธ์ปกติ รูปก็มีเวทนาก็มีสัญญาก็มีสังขารก็มีวิญญาณก็มี ได้ยินได้ฟังได้รู้สึกได้ต่างๆ มันเป็นเบญจขันธ์ปกติ แต่ถ้าพออวิชชาเข้ามาครอบงำจะปรุงไปในแง่ที่เป็นปัญจุปาทานขันธ์ พอเข้ามาแทรกเท่านั้นละ มันก็เป็นปัญจปาทานขันธ์ครบไปหมด เรณูปาทานขันธ์ เวทนาปาทานขันธ์สัณญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์(นาทีที่ 49:03) อย่างที่เราสวดทุกวันนั่นละมันก็คือความทุกข์ ก็เลยพูดได้ด้วยหลักอันนี้อีกทีว่า ตัวกูเกิดเมื่อปัญจุปัปาทานขันธ์เกิด เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังไม่เป็นปัญจุปาทานขันธ์ตัวกูก็ยังไม่มี ทีนี้เผลอโง่เมื่อไร เกิดอวิชชาแทรกแซงในการสัมผัสนั้น เมื่อนั้นก็เกิดปัญจุปาทานขันธ์ ทีนี้คำพูดก็พูดได้มากพูดได้อีกอันหนึ่งว่า ตัวกูเกิดเมื่อปัญจุปาทานขันธ์เกิด ถูกที่สุดทั้งนั้นเลยแล้วแต่ว่าจะพูดอย่างไหนมันก็ถูกทั้งนั้นเลย เพราะมันเรื่องเดียวกัน แต่เราแยกพูดทีละแง่ทีละมุม เมื่อมีอวิชชาสัมผัสเมื่อนั้นมันก็เกิดปัญจุปาทาน เมื่อเผลอสติมันก็เกิดตัวกูของกู เกิดสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เรียกกันเพียงสิ่งเดียวก็คือว่า เกิดอวิชชาสัมผัส สัมผัสโลกด้วยอวิชชา เมื่อเกิดอันนี้เป็นเกิดหมด เกิดอะไรที่ไม่พึงปรารถนาก็เกิดหมดตอนที่มีอวิชชาสัมผัส เมื่อไรมีอวิชชาสัมผัสเมื่อนั้นจะเกิดมีสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาทุกอย่างทุกประการ
ทีนี้ถ้าเกิดมีวิชชาสัมผัส เมื่อนั้นก็จะมีอยู่ด้วยกันแต่สิ่งที่เป็นสุข เป็นความสงบสุขไม่มีทุกข์ และมีความเฉลียวฉลาดมีสติปัญญา มีโพธิอะไรเพิ่มขึ้นๆ อยู่อย่างนี้เรียกว่าเป็นอยู่ชอบเป็นอยู่อย่างพระโพธิสัตว์ โพธิสัตว์แปลว่าผู้ที่อยู่ด้วยโพธิ สัตว์ที่อยู่ด้วยโพธิคือปัญญา ต้นโพธิ์นี่เจริญงอกงามเรื่อยๆไปด้วยสติปัญญาไม่เท่าไรก็เป็นพระพุทธเจ้า หรือว่าเป็นพระอรหันต์ ถ้าสั้นก็ดูแค่ตัวกูเกิดเมื่อจิตสัมผัสโลกด้วยอวิชชาสัมผัส นี่คำเป็นคำรวมเป็นคำสรุปยอด ตัวกูเกิดเมื่อสัมผัสโลกด้วยอวิชชา เรียกว่าอวิชชาสัมผัส ทีนี้หน้าที่ต่อไปนี้ก็เป็นของทุกๆคนจะต้องระวัง เดี๋ยวสัมผัสทางตา เดี๋ยวสัมผัสหู เดี๋ยวก็สัมผัสทางจมูก หกสัมผัสนี่ระวังเป็นประจำวัน อย่าให้เป็นการสัมผัสด้วยอวิชชา อย่าอวดดีอย่าประมาทเลย อย่ามัวแต่หัวเราะ กินข้าวก็หัวเราะอาบน้ำก็หัวเราะนั่งคุยกันก็หัวเราะ อย่างนั้นมันเต็มไปด้วยความประมาทไม่มีความระมัดระวัง มันก็เป็นช่องทางของอวิชชาของความเผลอ จะพูดก็ต้องระวัง อย่าให้มันเป็นโอกาสของอวิชชา จะกินอาหารหรือว่าทุกอย่างละก็จะต้องระวังสำรวม ในความไม่ประมาทอยู่เรื่อยไป ปิดโอกาสไม่ให้มันเกิด แล้วมันก็เหี่ยวๆเหือดแห้งหายไป ความเคยชินที่จะเป็นตัวกูก็จะค่อยๆเหือดแห้งหายไป
แล้วก็อย่าลืมว่าตามหลักของพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "มันพึ่งเกิด" ไม่ใช่มันเกิดอยู่อย่างตายตัวนอนอยู่ในจิตใจเป็นก้อนเป็นดุ้นอะไรอยู่ตลอดเวลา ให้รู้ว่าพึ่งเกิดเมื่อเผลอสติสัมผัสโลกด้วยอวิชชา แต่ว่าสิ่งที่นอนอยู่ในสันดานของเรานั้นคือความเคยชิน ความเคยชินที่จะเกิด ก็ตั้งแต่อ้อนแต่ออกเรามีความเคยชินอย่างนี้ ช่วยกันแก้ไขให้ตัวเอง แก้ไขความเคยชินที่ชินแต่จะเกิดอวิชชาสัมผัส ให้เปลี่ยนมาเป็นความเคยชินคือเป็นวิชชาสัมผัส สติสัมผัส สัมผัสด้วยสติ สัมผัสสิ่งทั้งหลายด้วยสติ ไม่มีสติแล้วก็อย่าสัมผัสอะไรเลยเสียดีกว่า ถ้าสัมผัสต้องสัมผัสด้วยสติ ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางผิวหนังทางจิตใจ รับพรที่ว่า ตัวกูเกิดเมื่อสัมผัสโลกด้วยอวิชชาสัมผัส ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ นี้จะพูดกันอีก