แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ของพวกเราที่นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูไปตามเคย ดังที่รู้กันอยู่แล้วว่าไม่เปลี่ยนแปลง เรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูนี่พูดได้หลาย หลายแง่หลายมุม หรือว่าหลายร้อยแง่หลายร้อยมุม พูดหว่านล้อม พูดหว่านล้อม แวดล้อมเข้ามาทุกแง่ทุกมุม เพื่อให้รู้จัก สิ่งนี้ถึงที่สุด เพราะมันเป็นเพียงเรื่องเดียว หรือเป็นปัญหาเพียงข้อเดียวสำหรับมนุษย์เรา ปัญหาที่เห็นชัดที่สุดว่า อ้าว ก็เรามีตัวกูของกู แล้วทำไมจึงพูดว่าไม่มีตัวกูของกู คนที่อยากจะเชื่อว่าไม่มีตัวกูของกู ก็ไม่รู้ว่าจะเชื่อว่าอย่างไร จะเชื่ออย่างไรดี งั้นจึงต้องพูดกันไปเรื่อยๆ แวดล้อมเข้ามาทีละนิดทีละหน่อย ทุกทิศทุกทางเพื่อให้เกิดความเข้าใจ พร้อมกันนั้นถ้ามันไม่เกิดความเข้าใจได้ก็ต้องพูดไปในทำนองที่ว่า ปลอดภัยไว้ก่อน ขอให้สังเกตุดูให้ดีๆ ถ้าเราไม่อาจจะทำอะไรให้แน่นอนลงไปได้ เราต้องทำอย่างชนิดว่าปลอดภัยไว้ก่อน คือไม่มีทางที่จะผิดได้ แต่นี่เรื่องมันไม่มีทางที่จะเอาแผ่ เอามาแฉให้ดูได้ เพราะมันไม่มองเห็นตัว ตัวกูที่นี่ เดี๋ยวนี้ มันก็ไม่มองเห็นตัว ตัวกูที่แล้วมาให้อดีตมันก็ไม่มองเห็นตัว ตัวกูในอนาคตที่ว่าตายแล้วจะไปเกิดอีก มันก็ไม่มองเห็นตัว งั้นเราจะถืออย่างไร จะปฏิบัติอย่างไร มันจึงจะเป็นการปลอดภัยที่สุดในเรื่องที่ เดี๋ยวนี้ก็ยังมองไม่เห็นตัว เพราะฉะนั้นในวันนี้จะพูดเรื่อง ความถูกต้องสำหรับตัวกูของกู พูดให้ชัดลงไปหน่อยก็ว่าความถูกต้องที่ตัวกูของกูมันจะต้องรู้จักและปฏิบัติ เดี๋ยวนี้มันละตัวกูของกูไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไรดี จะบอกให้ก็อาจจะเชื่อหรือไม่เชื่อว่าไอ้ความ ความรู้สึกว่ามีตัวกูของกูนั้นเป็นความผิด เป็นความไม่ถูกต้อง ความไม่รู้สึกว่าเป็นตัวกูของกูนั้นเป็นความถูกต้อง แต่แล้วก็เข้าใจไม่ได้ แล้วก็ไม่ยอมด้วย เพราะว่าเรามันยังรู้สึกว่าเป็นตัวกูของกู ถ้าไม่มีตัวกูของกูแล้วเราก็ไม่ได้อะไร เพราะว่าเรายังอยากจะได้อะไรจะมีอะไร จะเป็นอะไร กระทั่งไม่อยากจะตาย เขาจึงรู้สึกว่ามีตัวกูของกูอยู่เรื่อย ทีนี่ก็มาต่อรองกัน ว่าถ้าคุณยังไม่ยอมเชื่อ ว่าไม่มีตัวกูของกู คุณก็ต้องเอาอย่างที่ปลอดภัยไว้ก่อน คือว่าทำอย่างไรเสียก็ไม่มีทางขาดทุนหรือผิดพลาด นี่เราจะเรียกในที่นี่สั้นๆที่สุดว่าความถูกต้อง เมื่อพูดว่าความถูกต้อง ก็ขอให้ระลึกแว้ปไปถึงพุทธภาษิตที่ว่าภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะอยู่กันโดยชอบไซร้ โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ อยู่กันโดยชอบคือความถูกต้อง จะเข้าใจไม่เข้าใจก็ขอให้นึกถึงข้อนั้นไว้ก่อน ว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อย่างนี้ว่าอยู่ให้ถูกต้องโลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์
เอาละทีนี่เราจะพูดถึงคำว่า ถูกต้อง ผู้ฟังก็จะพูด โอ้ย ว่าเอาเอง ถูกต้องนี่ว่าเอาเอง เอาอะไรมาพิสูจน์ว่ามันถูกต้อง มันเป็นการเกณฑ์ให้เชื่อ นี่เราก็บอกว่าไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ต้องเกณฑ์ให้เชื่อ แต่จะให้มองเห็นว่าความถูกต้องต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าจะถามว่าเป็นอย่างไร พูดสั้นๆก็ว่า ไอ้ความถูกต้องนั้นไม่มีความผิดพลาด ไม่มีความขาดทุนหรือเสียหาย ทั้งที่คุณจะเชื่อว่าตัวกูมีหรือตัวกูไม่มีก็ตามใจ เดี๋ยวนี้คุณจะเชื่อว่าตัวกูมี ตายแล้วเกิดอีกก็ได้ จะเชื่อว่าตัวกูไม่มี ตายแล้วไม่เกิดก็ได้ จะเชื่ออย่างไหนก็ได้ ความถูกต้องนี่จะมีประโยชน์เสมอไป เมื่อพูดอย่างนี้ก็นึกถึงในพระบาลีในกาลามสูตรที่พระพุทธเจ้าสอนให้พวกกาลามเชื่อและปฏิบัติอย่างนี้ แล้วมันจะมีผลว่า ถ้าชาติหน้ามีอีก แกก็ยังได้กำไรมาก แต่ถ้าสมมติชาติหน้าไม่มี แกก็ได้กำไรเต็มที่อยู่แล้วในชาตินี้ ไม่มีทางขาดทุนเลย อย่างนี้คือความถูกต้อง งั้นเราอย่าไปเชื่อคำสอนของคณะนั้นคณะนี้ สอนอย่างนั้นสอนอย่างนี้ ว่าถูกต้องของคนอื่นผิด ของเราถูกต้อง มันต้องให้รู้ประจักษ์ชัดอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ว่ามันถูกต้อง คือเราไม่มีความทุกข์ มันก็พอจะเห็นได้ ได้ไม่ยากทุกคนว่า ไอ้ไม่มีความทุกข์เป็นความถูกต้อง งั้นคุณจงทำชนิดที่เราจะพิสูจน์ให้เห็นเดี๋ยวนี้เลยว่ามันไม่มีความทุกข์
เพราะฉะนั้นจึงพูดตรงไปยัง ไอ้ความที่ไม่มีความทุกข์ โดยตั้งต้นว่าความทุกข์มาจากอะไรให้เห็นชัด แล้วก็จะดับมันอย่างไร คำพูดคำแรกจะพูดอย่างนี้ เราจะไม่ตั้งต้นด้วยคำว่ามา มา สมาทานตัวเป็นพุทธบริษัท ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ปฏิบัติสมาคมให้ดี รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ทำสมาธิ ทำปัญญา ซึ่งมันมากมาย พูดกันทั้งวันก็ไม่จบ กี่วันก็ไม่จบ แล้วพอจะให้ถือเคร่งครัดหน่อย เดี๋ยวมันก็ท้อแท้ยอมแพ้เสีย เพราะเรื่องมันมากนัก ไม่เคยมีที่พระพุทธเจ้าท่านจะตรัสว่ามาอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ ไม่รู้สิ้นสุด แต่จะตรัสว่า ว่ามาพูดกันเรื่องความทุกข์ ความดับทุกข์โดยตรงก่อน พูดกันเรื่องนี้รู้เรื่อง คนเขาก็รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ขึ้นมาเอง แล้วก็ถืออยู่ในตัวเอง ปฏิญญานับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตลอดชีวิตเอง
ก็มีเรื่องเป็นหลักฐานอยู่มากในพระไตรปิฎกนั้น ฆารวาสก็มี พระก็มี มาถึงก็ตั้งปัญหาถามพระพุทธเจ้าว่า ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด ปัญหาที่เนื่องกันคล้ายๆนี้ ถามหลายข้อ พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่ต้องพูด เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องพูด ที่จะพูดว่าตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง โลกมีที่สุดหรือไม่มีที่สุด เรื่องนี้ไม่ต้องพูด แล้วก็ไม่ยอมพูด แต่คนมันมีปัญหาอยู่ในใจ มันอยากรู้ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด มันก็รบเร้าให้พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าก็ไม่ตรัส พระบางองค์ไปท้าว่าถ้าไม่ตรัสเรื่องนี้ก็จะสึก พระพุทธเจ้าก็บอกว่าก็สึกสิ เพราะไม่ได้สัญญากันว่ามาบวชเพื่อจะรู้เรื่องนี้นี่ พรหมจรรย์นี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อให้เธอรู้เรื่องนี้ แล้วก็ไม่ได้สัญญากับเธอว่าเธอมาบวชแล้วจะสอนเรื่องนี้ งั้นจึงไม่พูด ว่าตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด ถ้าว่าไม่พูดเรื่องนี้แล้วจะพูดเรื่องอะไร จะพูดว่า จะตั้งต้นขึ้นมาว่า ทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่าไร นี่ เรื่องนี้ก่อน คือเรื่องความทุกข์นี้ แกมีหรือไม่ ถามเข้ามันก็ทุกคน มันจะต้องยอมรับว่ามี ความทุกข์นี่ แล้วก็เห็นๆ อยู่ด้วยว่ามีความทุกข์ แต่ว่ายังไม่รู้ว่ามันมาจากอะไร งั้นจึงเห็นได้ทันทีว่านี่เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ ไม่ต้องเกณฑ์ให้เชื่อ ไม่ต้องบังคับให้เชื่อว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ มันรู้สึกขึ้นมาได้เองว่าเรื่องนี้ต้องมีประโยชน์แล้ว ว่าเรามันมีความทุกข์ แล้วเราก็อยากจะไม่มี ไม่มีความทุกข์ เราก็อยากจะดับทุกข์ งั้นพระพุทธเจ้าจึงเรียกว่านี่คืออาทิพรหมจรรย์ อาทิพรหมจรรย์แปลว่าเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ ถ้าเราจับกันเข้าที่เรื่องนี้ มันก็จะถูกตัวพรหมจรรย์เป็นลำดับไป เป็นลำดับไป เป็นลำดับไป แล้วก็ถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์ได้ ถ้าเราจะพูดเรื่องว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด มันเป็นเรื่องบ้า มันไม่เป็นอาทิพรหมจรรย์ มันไม่ทำ มันไม่นำไปสู่ที่สุดของพรหมจรรย์ ถ้าไปยึดมั่นอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วมันผิดทั้งนั้นเลย พูดว่าตายแล้วเกิดก็ผิด ตายแล้วไม่เกิดก็ผิด ตายแล้วเกิดก็เป็นสัสสตทิฏฐิ ตายแล้วไม่เกิดก็เป็นอุจเฉททิฏฐิ นี่มันผิด นี่มันลัทธิพวกอื่น คนอื่นเขาพูด ในศาสนานี้ไม่มีพูดอย่างนี้ ใน ในศาสนานี้จะพูดแต่ว่าอะไรเป็นความถูกต้อง คือดับทุกข์ได้ งั้นต้องรู้เรื่องทุกข์เสียก่อนแล้วก็ดับทุกข์ให้ได้ การดับทุกข์ให้ได้นั้นเป็นความถูกต้อง มันก็เลยต้องพูดกันถึงเรื่องความถูกต้องเรื่องความถูกต้องนี้มันวิเศษตรงที่ว่า เมื่อประพฤติความถูกต้องอยู่อย่างนี้นะ มันมีประโยชน์ แม้แต่คนที่เชื่อว่าตายแล้วไม่เกิดและ คนที่เชื่อว่าตายแล้วเกิด เวลานี้เขาจะมีความคิดว่าตายแล้วเกิดได้ แต่ขอให้ประพฤติให้ถูกต้องอย่างนี้ ก็ได้ประโยชน์อยู่นั่นแหละ แล้วตายแล้วไปเกิดอีก ถ้า ถ้ามันมี ชาติ ชาติหน้ามีเกิดอีก มันก็ยิ่งได้ประโยชน์ ถ้าชาติหน้าไม่มีเกิด มันก็ได้ประโยชน์เต็มที่เสียแล้ว แต่ความประสงค์แท้จริงมุ่งหมายจะให้ได้ประโยชน์เต็มที่จนหมดปัญหาเรื่องตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด เพราะว่าถ้าเขาประพฤติอย่างถูกต้อง ถึงที่สุดแล้วมันจะรู้ว่าไม่มีคน ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลตัวตนเรา เขา คือไม่มีตัวกู ไม่มีของกูนั่น มันก็เลยหมดไปเอง ปัญหาว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด เพราะการนี้ การที่จะตายแล้วเกิดหรือไม่เกิดมันต้องมีตัวกู ที่จะตายหรือที่จะเกิด นี่ความถูกต้องมันไปถึงที่สุด ถึงทิฏฐิถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิถูกต้องถึงที่สุดแล้ว มันรู้ว่าอ้าว ไม่ตัวกู แม้ที่นี่เดี๋ยวนี้ เวลานี้ ก็ไม่มีตัวกู ไม่มีตัวกูที่อยู่หรือเกิดหรือตาย ปัญหามันหมดไปเอง มันก็เป็นการเสียเวลาหรือจะพูดหยาบคายก็ว่าบ้าบอที่สุด ที่จะไปพูดในปัญหาว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด พระพุทธเจ้าท่านไม่ยอมตอบปัญหานี้ และไม่ยอมพูดด้วยในเมื่อจะชวนตอบ ชวนสนทนาด้วยปัญหานี้ ปฏิเสธว่าอย่าพูด ไม่ใช่อาทิพรหมจรรย์ เมื่อพูดว่าทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความไม่มีทุกข์เป็นอย่าง ทางให้ถึงความไม่มีทุกข์เป็นอย่างไร ๔ เรื่องนี้ที่เรียกว่าเรื่องอริยสัจ นี่คือเรื่องความถูกต้อง
เมื่อพูดไปเข้าใจขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปฏิบัติไป มันก็หมดทุกข์และหมดความอยากรู้ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด ไอ้ความหมดทุกข์น่ะมันมีได้ เพราะรู้ว่าไม่มีตัวกูสำหรับจะอยู่หรือจะตายหรือจะเกิด มันก็เลยเป็นเรื่องยกเลิกปัญหาไอ้เรื่องตายเกิด เหลือแต่ว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีทุกข์ได้อย่างไรเท่านั้น ฉะนั้นไอ้เรื่องปฏิบัติถูกต้องนั่นน่ะ มันไม่เกี่ยวกับตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด ปฏิบัติไปอย่างว่าตายแล้วเกิดก็ไม่ถูกต้อง ปฏิบัติไปว่าอย่างตายแล้วไม่เกิดก็ไม่ถูกต้อง ช่วยจำไว้ด้วย ถ้าเขาด่าให้ด่าผมสิ ผมยอมรับทั้งนั้น คือผมบอกว่าปฏิบัติอย่างที่เรียกว่าตายแล้วเกิดนี่ก็ไม่ถูกต้อง ปฏิบัติว่าตายแล้วเกิดก็ไม่ถูกต้อง ตายแล้วไม่เกิดก็ไม่ถูกต้อง แต่ถ้าปฏิบัติเพื่อให้รู้ว่าไม่มีคนที่จะตายแล้วเกิดน่ะถูกต้อง มีแต่อิทัปปัจจยตา คือความที่เมื่อมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ สิ่งนี้ จึงเกิดขึ้น มีสิ่งนี้ สิ่งนี้ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ สิ่งนี้ จึงเกิดขึ้น ที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตาที่เราพูดกันมาหลายเว หลายคราวแล้ว นั่นแหละเป็นตัวพุทธศาสนา นั่นแหละเป็นตัวถูกต้อง เป็นความถูกต้องที่บอกว่าไม่มีอะไร นอกจากอิทัปปัจจยตา ความเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมหรือธรรมดา ว่าเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ ไม่มีส่วนใดที่พูดได้โดยส่วนเดียวว่าเป็นตัวตน หรือเป็นตัวกูของกู กระแสนี้มันยังไม่ขาด มันก็เป็นไปตามกระแสแห่งความทุกข์ ถ้ากระแสนี้สิ้นสุดลง มันก็เป็นความดับทุกข์
งั้นรู้เรื่องนี้คือรู้ คือความรู้ที่ถูกต้อง งั้นปฏิบัติเรื่องนี้คือการปฏิบัติที่ถูกต้อง ความถูกต้องมันอยู่ที่ตรงนี้ นั้นขอทบทวนอีกครั้งว่า เมื่อปฏิบัติอยู่ตรงนี้ ในลักษณะที่จะไม่ให้เกิด เกิดทุกข์ หรือเกิดเหตุให้เกิดทุกข์ได้ เป็นความถูกต้องอย่างนี้ มันมีประโยชน์ทั้งแก่คนโง่ที่เชื่อว่าตายแล้วเกิด ทั้งแก่คนโง่ที่เชื่อว่าตายแล้วไม่เกิด เอาสิ เอามาสิ คนไหน คนที่มีจริงอยู่ในโลกนี้ก็ได้ ในเวลานี้ก็ได้ คนไหนชื่ออะไรอยู่ที่ไหนที่มันเชื่ออยู่ว่าตายแล้วไม่เกิดน่ะ เช่นคุณปุ่น (นาทีที่ 16:56) เป็นต้น หรือว่าที่ว่าว่าตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด เช่นคนธรรมดาสามัญทั่วไป เอามาสิ แล้วก็มาพิสูจน์ให้ ให้ใ ห้ดูว่า เมื่อปฏิบัติอย่างนี้ มันมีประโยชน์แก่ทั้งสองคนแหละ ปฏิบัติ ระวังการสัมผัสทางอายตนะ อย่าให้อวิชชาเข้าไปผสมโรง ให้เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทานน่ะ ปฏิบัติอยู่อย่างนี้แหละ จะมีประโยชน์ทั้งกับคนที่กำลังเชื่อว่าตายแล้วเกิด และกำลังเชื่อว่าตายแล้วไม่เกิด งั้นเสียเวลาพูดกันเรื่องนี้เป็นวันๆ เดือนๆ ไปเลย พูดกับคนนั้นน่ะ คนที่เชื่อว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด เพราะคุณต้องปฏิบัติอย่างนี้ คือคุณจะต้องดูให้เห็นว่าไอ้ความทุกข์ที่มันเกิดมาอย่างนี้ ก็เกิดมาโดยลักษณะอย่างนี้ ทบทวนปฏิจจสมุปบาท นั้นก็อย่างนั้นอีกละ ถ้าตาอาศัยรูป อาศัยตากับรูปเกิดจากสื่อวิญญาณ ความประจวบแห่งธรรม ๓ ประการที่เรียกว่า ผัสสะ แล้วผัสสะนี้มันเป็นอวิชชาผัสสะ อวิชชาสัมผัส เพราะมันไม่มีวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มีความรู้เรื่องวิมุตต์เข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะที่ตาเห็นรูปเกิดจากสื่อวิญญาณนั้น นั้นต้องให้รู้แน่ชัดว่าสัมผัสนั้นเป็นอวิชชาสัมผัส คือการสัมผัสที่ประกอบอยู่ด้วยอวิชชา เพราะฉะนั้นมันจึงปรุงเวทนาขึ้นมาในลักษณะที่จะเป็นทุกข์ เวทนานี้เขาเรียกว่าอวิชชาสัมผัสสชาเวทนา (นาทีที่ 18:36) ผมกล้าท้าว่าพวกนักธรรมตรี โท เอกนี้ไม่เคยได้ยิน เพราะมันมีในพระไตรปิฎกในสุตันตมยุตินิกาย (นาทีที่ 18:45) ที่พูดชัดอย่างนี้ ว่าอวิชชาสัมผัสสชาเวทนา (นาทีที่ 18:55) เนี่ยเวทนานี้มันชัดเผงลงไปว่าจะเป็นเวทนาที่สร้างตัณหาและเกิดทุกข์ พวกนักธรรมจะได้ยินแต่ว่า ผัสสชา จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ซึ่งยังไม่ชัดลงไปว่ามันมีอวิชชาหรือไม่มีอวิชชา งั้นจึงยังไม่ใช่ปฏิจจสมุปบาทที่จะเป็นทุกข์ แต่ในบาลีปฏิจจสมุปบาท พระพุทธเจ้าจะตรัสเผงลงไปเลยว่า อวิชชาสัมผัสสชาเวทนา (นาทีที่ 19:18) เวทนาที่มาจากอวิชชาสัมผัส จะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นเวทนาที่มาจากอวิชชาสัมผัส นั้นเราจะต้องรู้ว่าวันหนึ่งๆ เราเสวยเวทนา รู้สึกเวทนาหลายๆ หลายๆ ครั้ง มันประกอบด้วยอวิชชาสัมผัสหรือเปล่า เช่นเห็น มัน ตามันได้เห็น หูได้ยิน มันเหม่อๆ ลอยๆ นี่ยังไม่เป็นอวิชชาชนิดนั้น มันก็ไม่มีเรื่องอะไร เห็นแล้วก็แล้วไป เลิกกัน แต่ถ้าอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้อง มันจะไปรักรูปที่น่ารักเมื่อเห็น จะเกลียดรูปที่น่าเกลียดเมื่อเห็น แล้วมันจะสงสัยลังเลในรูปที่ยังไม่รู้ว่าอะไรแน่ มันก็เป็นอวิชชาไปหมด สัมผัสชนิดนี้ให้เกิดเวทนาชนิดที่จะเป็นทุกข์ คือเป็นตัณหาเป็นอุปาทาน เพราะเมื่อมีตัณหาแล้วมันก็ต้องมีอุปาทานมีภพมีชาติมีทุกข์ คือยึดมั่นในชาติ ชรา มรณะว่าของกูอย่างนี้มันก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดมั่นในชาติ ชรา มรณะว่าเป็นของกู มันก็ไม่เป็นทุกข์เหมือนกัน อย่าไปโทษมัน ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นต้นนั้น มันเป็นทุกข์ต่อเมื่อไปยึดมั่นว่าของกู ว่าความเกิดของกู ความแก่ของกู ความตายของกูมันจึงจะเป็นทุกข์ ถ้ามันอยู่เฉยๆ ไม่ไปยึดมั่น มันก็ไม่เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ชัด แต่ว่าคนฟังไม่ถูกเอง ฟังผิดเป็นว่ามันเป็นทุกข์เกิดจะตะพรึดไปหมด ให้ระลึกถึงที่ตรัสว่า ขันติเตนะ... (นาทีที่ 21:08) ขันธ์ทั้ง ๕ ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานยึดมั่นถือมั่นเท่านั้น ที่จะเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นไอ้สังขารธรรม ไอ้ความเกิดความแก่ความตายนี้ไม่ถูกยึดมั่นว่าเป็นของกู มันก็ไม่เป็น ไม่เป็นทุกข์แก่จิตใจของบุคคลนั้น
นี่เราต้องเข้าใจว่าทุกข์มันเกิดขึ้นมาได้ในลักษณะนี้ นับตั้งต้นมาแต่ว่าอายตนะภายนอก อายตนะภายในสัมผัสกันเกิดวิญญาณขึ้นมา ๓ ประการนี้ ๓ ส่วนนี้ผสมกัน เนื่องกันนี้ เรียกว่าผัสสะและเจืออยู่ด้วยอวิชชาเพราะตอนนั้นไม่มีความรู้ หรือเผลอไป ก็มีเวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพชาติและเป็นทุกข์ นี่คือความผิด เพราะฉะนั้นความถูกต้องคือตรงกันข้ามจากนี้ มันก็เหลืออยู่คู่หนึ่งว่าความผิดกับความถูก ความผิดคือไม่มีสติ ไม่มีความรู้ในขณะที่มีการสัมผัสทางตาเป็นต้น เกิดอวิชชาสัมผัส เกิดเวทนาที่มาจากอวิชชาสัมผัส เกิดตัณหา อุปาทาน ภพชาติเป็นทุกข์ นี้คือความผิด ความกระทำผิด หรือเรียกว่าความผิด ความผิดพลาด ถ้าตรงกันข้ามนี้เป็นความถูกต้อง คือเมื่อตาเห็นรูป ตาอาศัย ตากับรูปอาศัยการเกิดจากสื่อวิญญาณขึ้นมา ถ้าขณะนั้นมีวิชชา มีความรู้เท่าที่เราได้เรียนมา ได้รู้ ได้อะไรมา เข้าไปผสมโรง ผัสสะอันนั้นไม่ใช่อวิชชาสัมผัส ผัสสะนั้นเป็นวิชชาสัมผัส เหมือนกับเราเรียนอะไรมามากแล้วอย่างนี้ พอตาเห็นรูปเรามีสติไหวทันว่าอันนี้ตาเห็นรูป เกิดกิเลสอย่างนั้น มีสติด้วย มีสัมปชัญญะด้วย มีปัญญาด้วย มันก็ไหวทัน เท่ากับตาเห็นรูปนั้นแล้วก็ไม่ ไม่ ไม่มีอวิชชาเกิดขึ้นได้ มีโอกาสที่อวิชชาจะเกิดขึ้นในสัมผัสนั้น นี่สัมผัสนั้นก็ไม่ไม่เป็นอวิชชาสัมผัส กลายเป็นตรงกันข้าม คือเป็นวิชชาสัมผัส เวทนาใดที่เกิดจากวิชชาสัมผัสมันก็เป็นวิชชาสัมผัสสชาเวทนา นี่ผลมันจึงไม่เกิดตัณหาอุปาทาน ภพชาติไปได้ เพราะมันเป็นเวทนาที่ประกอบอยู่ด้วยวิชชา มันไปหยุดเสีย แค่ตัณหาอุปาทาน มันดับเสีย มันจึงไม่มีทุกข์ นี่คือความถูกต้อง งั้นขอให้อยู่ด้วยความถูกต้องอันนี้
เราเรียนรู้แล้วรูปเป็นที่ตั้งแห่งความรักเป็นอย่างนั้น รูปเป็นที่ตั้งแห่งความชังเป็นอย่างนั้น รูปบ้าๆ บอๆ ชวนฉงนสนเท่ห์เป็นอย่างนั้น นี่เราเรียนรู้อยู่เสมอ และพอมันกระทบเข้าจริง มันก็มีปัญหาว่าเราจะเผลอสติหรือไม่ เราต้องไม่เผลอสติอีกครั้งหนึ่ง ความรู้ที่เราเรียนๆ ไว้มันจึงจะมา นี่ความรู้ก็มา แล้วก็ได้เห็นรูปนั้น เช่นผู้ชายเห็นรูปผู้หญิง ผู้หญิงเห็นรูปผู้ชายทำนองนี้ ถ้าสติ สัมปชัญญะมี ความรู้มี วิชามี มันก็ไม่บ้า มันรู้สึกว่านี้เป็นอย่างไร นี้คืออะไร นี้เพื่ออะไร มันจะเกิดอะไรขึ้น เราควรจะทำอย่างไรกับมัน แล้วก็ทำไปแต่ในทางที่ไม่ให้เกิดความทุกข์ เพราะฉะนั้น ความทุกข์จึงไม่อาจจะเกิด นี้ถ้ามันไม่มีความรู้อันนี้ หรือมันมีแต่มันเผลอสติ มันก็หลง หลงรัก ที่น่ารักก็หลงรัก ที่น่าเกลียดก็หลงเกลียด ที่ชวนสนเท่ห์สงสัยก็มัวสนเท่ห์สงสัย นั้นคือฝ่ายผิด เป็นความผิด เรียกว่าสัมมัตตะ ก็ได้ เรียกว่ามิจฉัตตะ ความผิด นี่ถ้ามีสติปัญญาสัมปชัญญะ มันก็เห็นถูก รู้ถูกไป เป็นฝ่ายสัมมัตตะ คือความถูก สัมมะแปลว่าถูก อัตตะนี่แปลว่าความ สัมมัตตะแปลว่าความถูก งั้นเราจึงรู้จักความถูก เป็นอยู่ด้วยความถูก เมื่อเป็นอยู่ด้วยความถูกอย่างนี้นะ สมมติว่าเดี๋ยวนี้เรายังเชื่ออยู่ว่า คนเราตายแล้วเกิด มันก็ไม่เป็นไร ขอแต่ให้มันทำความถูกนี้อยู่เถอะ แม้เราจะเชื่อว่าตายแล้วไม่เกิดก็ตาม ตายแล้วเกิดก็ตาม มันไม่เป็นไร ไอ้ความถูกนี้มันช่วยได้ มันช่วยยืนยันไว้ได้ มันไม่เกิดทุกข์ก็แล้วกัน เรื่อย เรื่อย เรื่อย เรื่อยไปจนกว่าจะถึงที่สุดมันก็เปลี่ยนเองว่า มันเปลี่ยนไป มันเกิดขึ้นมาเองว่า ไม่มีปัญหา เรื่องตายแล้วเกิด เกิดหรือไม่เกิด ไม่ต้องสนใจ ทิ้งไปหมดเลย ทั้งเรื่องตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด มาสนใจแต่เรื่องว่าทำอย่างไรจะถูกต้องยิ่งๆ ขึ้นไปถึงที่สุด มันก็ทำถูกต้องยิ่งๆ ขึ้นไปถึงที่สุด โลกก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์เพราะข้อนี้
นี่เดี๋ยวนี้คนพวกไหนก็ตามใจที่เชื่ออยู่ว่าตายแล้วไม่เกิด ก็เป็นเพียงวัตถุ รู้แต่เพียงไบโอโลยี่ (Biology) วัตถุนี้ก็ได้เหมือนกัน ถ้าหากว่าเขาจะมาปฏิบัติตามความถูกต้องที่พระพุทธเจ้าท่านแสดงไว้เห็นชัดทีเดียวว่า ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ นี้ นี้ และจงอยู่อย่างที่ความทุกข์เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาเชื่อตัวเอง ไม่เชื่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ได้เพียงบอกว่าเป็นอย่างนี้ แล้วเขามองดูเห็นชัดว่าต้องเป็นอย่างนี้ แล้วก็เชื่อตัวเอง เชื่อถูกต้อง เห็นถูกต้องว่าเป็นอย่างนี้ มันก็พอแล้ว ไอ้ความคิดที่ว่าตาย ความเชื่อที่ว่าตายแล้วเกิด ตายแล้วไม่เกิด มันเป็นหมันไปเอง มันยกเลิกไปเอง นั้นแหละตัดไปเสียได้ ตัดความโง่ เรื่องไอ้ยึดมั่นนั้น ถือมั่นนั้นไปเสียได้ มันก็เหลือแต่ความถูก นี้เรียกว่าเราเป็นอยู่ถูกต้อง คือเป็นอยู่ด้วยความถูกต้อง ทั้งทางกายทั้งทางวาจาทั้งทางใจ
ฉะนั้นพูดอีกซ้ำๆ ซากๆ ก็ได้ พอจะรู้ได้เองมั้งว่า ถ้าเราอยู่โดยมีสติสัมปชัญญะอย่างนี้ เป็นความถูกต้องอยู่แล้ว ทั้งกายวาจาใจ เมื่อเห็นอยู่ว่าถ้าเผลอไปรักไปเกลียดไป มันเป็นทุกข์ ระวังตาหูจมูกลิ้นกายใจอยู่เสมอ ไม่ให้เกิดความรู้สึกที่จะไปรู้สึกอยากไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นๆ เนี่ย เรียกความถูกต้อง ความถูกต้องนี้จะถูกต้องทั้งทางกายทั้งทางวาจา ทั้งทางใจ เพราะใจมันถูกต้องเสียแล้ว ทางกายทางวาจามันก็ผิดไม่ได้ แล้วถ้าเมื่อมันเป็นอยู่ทั้งอย่างนี้ มันมีทั้งศีลสมาธิปัญญา เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ มันจะไปทำผิดศีลได้อย่างไร มันเห็นชัดอยู่ต่อสิ่งทั้งหลายอย่างนี้ เกี่ยวข้องกับรูปเสียงกลิ่นรสอย่างนี้ มันผิดศีลไม่ได้ และจิตมันก็ไม่ฟุ้งซ่านไปไหน มันก็เลยเป็นสมาธิอยู่โดยอัตโนมัติ แล้วความรู้อันนี้คือปัญญาอยู่แล้วในตัว ปัญญาที่เรียกว่าปัญญาที่ประเสริฐน่ะ ปัญญาที่แท้จริง ปัญญาที่ถูกต้อง มันมีอยู่แล้วในตัว งั้นคนนั้นจึงมีศีลสมาธิปัญญาชั้นดีเลิศอยู่แล้วในตัว
ทีนี้ถ้าจะกระจาย กระจายไปว่า มรรคมีองค์ ๘ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจาสัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คุณก็ไปดูเอาเองสิ มันมีอันไหนผิดได้ เมื่อมันอยู่ด้วยสติปัญญาที่ถูกต้องว่า อันนี้เป็นอย่างนี้ มันก็ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโปอยู่ในตัว มันต้องการดับทุกข์อยู่ในตัว การพูดจาผิดไม่ได้ เพราะมันพูดออกมาจากจิตใจ การงานทำผิดไม่ได้ เพราะมันมีจิตใจที่รู้สึกอยู่ถูกต้อง เลี้ยงชีวิตก็ถูกต้อง ความพยายามอยู่มันก็พยายามไปตามความถูกต้องนั้น สติก็มีสมบูรณ์อยู่อย่างนี้ สมาธิก็มี คือมันมีจิตใจที่มั่นคงแน่วแน่อยู่อย่างนี้ มันก็เลยมีอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือมีองค์ ๘ แห่งอริยมรรค เพราะการกระทำถูกต้องต่ออารมณ์ที่มากระทบทางตาทางหูทางจมูกทางกายเป็นต้น นี่จึงว่าไม่ต้องนึกถึงเรื่องอื่น นึกถึงสติปัญญาสัมปชัญญะ มีให้พอ ในเมื่อมีการกระทบอารมณ์ทางตา เป็นต้น เท่านั้นเอง เมื่อทำอยู่อย่างนั้นมันก็เรียกว่ามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในนั้น มีศีลสมาธิปัญญาอยู่ในนั้น มีกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตอยู่ในนั้น หรือมีมรรคมีองค์ ๘ อยู่ในนั้น มีความถูกต้องอยู่ในนั้น ความถูกต้องคำเดียวเท่านั้น คือทั้งหมด
นี้จะ จะระบุไปตรงไหนเป็นความถูกต้องที่รับประกันได้ ก็ระบุลงไปที่ไม่มีความทุกข์ เมื่ออยู่อย่างนั้น มันไม่มีความทุกข์ แล้วจะเอาอะไรกันอีกอะ มันไม่มีความทุกข์ มันหมด หมดเรื่อง นั่นน่ะเป็นความถูกต้อง ในสูตรบางสูตร เช่นสฬายตนวิภังคสูตร(นาทีที่ 31:28) ซึ่งว่าเรื่องตาหูจมูกลิ้นกายใจนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นหลักว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ สมบูรณ์ บริบูรณ์เมื่อบุคคลไม่ยึดมั่นในเวทนา ประโยคอย่างนี้ผมขอร้องนะ ขอวิงวอนด้วย ให้ช่วยจำไว้ด้วย ให้ช่วยจำไว้อย่างแม่นยำ ว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ สมบูรณ์ เมื่อไม่มีการยึดมั่นในเวทนา แล้วนี้ก็ไม่ต้อง ไม่ต้องเชื่อผม เชื่อในพระพุทธเจ้า ทีนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ต้องเชื่อฉัน ให้เชื่อตัวเอง มันก็เป็นหน้าที่คุณจะต้องดูให้เห็นเองว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ สมบูรณ์ เมื่อไม่ยึดมั่นในเวทนานั้นเป็นอย่างไร ผมอธิบายมาแล้วข้างต้นอย่างชัดเจน ว่าไม่ยึดมั่นในเวทนานั้นคือเป็นอย่างไร ก็ทบทวนอีกทีก็ว่าเมื่อตากับรูป อาศัยกันเกิดจักษุวิญญาณขึ้น ความประจวบแห่งตาและรูปกับจักษุวิญญาณ ๓ ประการนี้เรียกว่าผัสสะ นี่ผัสสะนี้มีปัญหาว่าเป็นอวิชชาผัสสะหรือวิชชาผัสสะ ถ้าเราไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่มีความรู้เรื่องวิมุตต์ เรื่องดับทุกข์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตอนนั้นเป็นอวิชชาผัสสะ เป็นอวิชชาสัมผัส พออวิชชาสัมผัสทำหน้าที่เสร็จแล้วมันก็สร้างเวทนาประเภทอวิชชาสัมผัสสชาเวทนา (นาทีที่ 33:19) เวทนานี้จะถูกยึดมั่นถือมั่น เพราะมันโง่มาทีแรก มันมีอวิชชามาแต่ทีแรก พอเกิดเป็นเวทนาขึ้นมันก็มีตัณหามีอุปาทาน ว่าฉาบฉวย งั้นเวทนานี้ถูกยึดมั่นแล้ว นี้จะไม่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ในขณะนั้น มีแต่สิ่งที่ตรงกันข้าม คือมีมิจฉามรรค มีสัม มีมิจฉัตตะ มีมิจฉามรรค เกิดขึ้นในขณะนั้น เรียกว่าเห็นผิด ดำริผิด พูดผิด ทำผิด เลี้ยงชีวิตผิด คือผิดอยู่หมดในขณะนั้น
อ้าวทีนี้ ในกรณีที่ตรงกันข้าม เมื่อตาอาศัยรูปเกิดจักษุวิญญาณขึ้น รับนั้นตารู้ ที่รู้ถูกต้องในเรื่องทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ตามที่เคยได้ยินได้ฟังมา ได้ผ่าน ได้รู้สึกมา มา วิ่งมาทันท่วงที สัมผัสนั้นก็เลยเป็นวิชชาสัมผัส ไม่เป็นอวิชชาสัมผัส แต่เป็นวิชชาสัมผัส คือเราสัมผัสโลกด้วยวิชา ด้วยลืมหูลืมตา มันก็เกิดไอ้เวทนาขึ้นมาชนิดหนึ่ง คือเวทนาที่ประกอบอยู่ด้วยวิชา ด้วยปัญญา ด้วยญาณทัศนะ เราจึงเรียกเวทนานี้ว่าเป็นเวทนาที่เกิดมาจากวิชชาสัมผัสสชาเวทนา เวทนาที่เกิดมาจากการสัมผัสที่เกี่ยวกันอยู่กับวิชชา เวทนานี้จะไม่ถูกยึดมั่นถือมั่น เพราะจิตมันมีวิชชามีปัญญาอยู่ในขณะนั้น อวิชชาไม่ได้เกิด วิชชาอยู่ นั้นเวทนานั้นไม่ถูกยึดมั่นว่าอร่อย ว่าสวย ว่างาม ว่าตัวกู ว่าของกู ในเวทนาที่ไม่ถูกยึดมั่นนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่ามีอริยมรรคมีองค์ ๘ สมบูรณ์อยู่ที่นั้น จริงไม่จริง ก็ไม่ต้องเชื่อคนอื่น เมื่อเราไม่ยึดถือในเวทนา เราก็ ก็ปลอดภัย คือไม่มีความทุกข์เกิดขึ้น ถ้ามันเป็นสิ่งที่ต้องจัดการ ก็จัดการไปสิ จะทิ้งเสีย หรือจะเอาไว้ หรือจะอย่างไรก็ทำไป ในทางที่ถูกที่ควร ในทางที่ถูกที่ควรคือว่าเวทนาก็สักว่าเวทนา เวทนาจงเป็นสักแต่ว่าเวทนา นี่เราก็ทำหน้าที่หรือทำกิจการไปตามที่ต้องการที่มันถูก ที่มันถูกต้อง ให้สำเร็จไปตามหน้าที่การงานที่ควรทำ ไม่ ไม่หลงในเวทนานั้น ไม่ยึดมั่นในเวทนานั้น เวทนานั้นเลยไม่เป็นโทษไม่เป็นภัย ไม่เป็นอันตราย ไม่ถูกยึดมั่นถือมั่น แต่แล้วมันมีประโยชน์ในทางเป็นการศึกษา ความอร่อย ความไม่อร่อย ความหอม ความเหม็น ความอะไรก็ตามใจ ถ้าเราไม่ไปโง่กับมันแล้ว มันก็เป็นเรื่องสำหรับการศึกษาให้รู้จักสิ่งเหล่านี้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก มัน มันกลับเป็นประโยชน์อย่างนี้ แต่ถ้าเราไปโง่กับมัน ไปอวิชชากับมัน มันก็ใส่ความทุกข์ให้ มันมอบความทุกข์ให้ มันก็มีเท่านี้แหละ ถ้ามีการมอบความทุกข์ให้แล้วก็เรียกว่าผิดแล้ว เป็นความผิดแล้ว ถ้าไม่ใส่ความทุกข์ให้ แล้วก็ยังเป็นไอ้วิชาความรู้ต่อไปอีก นี่เรียกว่าความถูกต้อง งั้นขอให้ทุกคนอยู่ในความถูกต้อง คือไม่มีความยึดมั่นในเวทนาใด นี่คือความถูกต้อง คือความไม่ยึดมั่นในเวทนาใด เมื่อนั้นความถูกต้อง ๘ ประการจะเกิดขึ้นเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาหรือว่าอริยมรรคก็ตามใจ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการแห่งความถูกต้อง มันก็มีอยู่ที่นั่น แล้วอันนี้เป็นทางแห่งความดับทุกข์ เพราะฉะนั้นมันจึงมีแต่ความดับทุกข์ทั้งนั้น นี่เรียกว่าความถูกต้องเพียงคำเดียว ในความถูกต้องนั้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตัวกูของกู นั้นในความรู้สึก ในสังขาร สังขารธรรมอันใดมีตัวกูของกู นั้นไม่ใช่สิ่งถูกต้อง งั้นความถูกต้องคือความรู้สึกที่ปราศจากตัวกูของกู นี่ความผิด ผิด ผิดพลาดจะเต็มไปด้วยความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกู จะยกหูชูหาง ทั้งเป็นพระเป็นเณร เป็นความผิดมากถึงขนาดนั้น
นี่ผมอยากจะพูดเพียงคำเดียวเรื่องความถูกต้องมันมีอยู่อย่างนี้ ในความถูกต้องไม่มีตัวกูของกู ในความผิดตรงกันข้ามนั้นมีตัวกูของกู ขอให้ทุกคนพยายามอยู่ด้วยความถูกต้อง เพราะจะมีรากฐานเดิมเชื่อมาว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด ก็ตามใจเขาเถิด อย่า อย่า อย่าชวนพูดเรื่องนั้น จะห้ามไม่ให้เขาพูดเรื่องนั้น แต่จะให้มาพูดเรื่องนี้ คือเรื่องที่อยู่ตรงกลาง ตรงกลางระหว่างความเกิดกับความไม่เกิด อยู่ตรงกลางที่ว่าความถูกต้องนี้ เราไม่พูดให้เขา ให้เขาเสียใจว่าคุณเห็นผิด อย่างพระพุทธเจ้าท่านไม่ใช่คำหยาบคายเหมือนผม ผมอดไม่ค่อยได้ ท่านบอกว่าเรื่องนี้ไม่พูด ท่านว่าแต่เท่านี้ แต่ผมจะพูดว่าไอ้บ้านี้ นี่ มันเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจะบอกว่าเรื่องนี้ไม่พูด เรื่องนี้ไม่ใช่อาทิพรหมจรรย์ ขอยกไว้ก่อน เราจะพูดว่าทุกข์คืออะไร เหตุให้เกิดทุกข์คืออะไร ความไม่มีทุกข์คืออะไร ทางของความดับทุกข์คืออะไร นี่คือความถูกต้อง ถ้ารู้อันนี้ถูกต้อง คือความถูกต้อง งั้นเราจะต้องมีอริยมรรคมีองค์ ๘ คือความเห็น ความคิดความเห็นก็ถูกต้อง ความปรารถนาใฝ่ฝันก็ถูกต้อง การพูดจาก็ถูกต้อง การทำการงานก็ถูกต้อง การเลี้ยงชีวิตก็ถูกต้อง ความพยายามก็ถูกต้อง สมาธิก็ถูกต้อง เอ้ สติก็ถูกต้อง สมาธิก็ถูกต้องเป็น ๘ ถูกต้องรวมเป็น หนึ่ง หนึ่ง หนึ่งหนทางคือความถูกต้อง ๘ ประการ เราไม่พูดถึงว่าตายแล้วเกิด ไม่พูด จะพูดแต่ว่าทำอย่างไรจึงจะเกิดเป็นความถูกต้อง ๘ ประการถ้าเขาถามว่าจำเป็นอย่างไร ก็จำเป็นว่าทุกข์เป็นอย่างนี้นั้นมันมาจากคุณอยู่โดยไม่ถูกต้อง ไม่มีความถูกต้อง ๘ ประการนี้ ทุกข์จึงเกิดขึ้น ถ้าเขาต้องการคำอธิบายละเอียดก็พูดเรื่องปฏิจจสมุปบาท อย่างที่ว่านั้น เขาจะเห็นชัดว่า ทุกข์เกิดมาจากความยึดมั่นถือมั่นในเวทนา เพราะโง่ เพราะมีอวิชชา เรื่องมันก็มีเท่านั้นเอง นี่คนนั้นก็เลยเห็นธรรม บรรลุธรรมที่ตรงนั้น เกิดดวงตาเห็นธรรมที่ตรงนั้น มอบกายถวายชีวิตแก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อ้างตนเป็นผู้ถึงพระรัตนตรัยจนตลอดชีวิตที่ตรงนั้น นั้นเป็นอย่างนั้น เรื่องมัน ไม่ใช่บอก ไม่ใช่จับตัวมาให้รับศีล จับตัวมาให้ถือสรณคมตั้งแต่ทีแรกที่เขายังไม่รู้อะไรเป็นอะไร มันไม่เคยมีในเรื่องของพระพุทธเจ้า มันมีแต่จะพูดกันให้รู้เรื่องความถูกต้องนี้ แล้วเขาสมัครมาเป็นอุบาสกอุบาสิกาพุทธบริษัทเอง แล้วคนส่วนมากที่มาถามพระพุทธเจ้า ได้ยินเสียงเล่าลือว่าเป็นผู้รู้ทุกอย่างนี้ ส่วนมากจะมาถามแต่เรื่องตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด ในบาลีที่เราอ่านพบ คน คน คนทั่วไป คนนอกที่มาเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วจะถามแต่เรื่องนี้ หรือว่าที่มันเกี่ยวกับเรื่องนี้คือถามปัญหาเกี่ยวกับสัสสตทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ สองอย่างนี้เท่านั้น ตั้งปัญหาต่างๆ กัน แต่โดยมากปัญหานั้นจะไปรวมอยู่ที่ตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด เช่นว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยงเหล่านี้ คือสัสสตทิฏฐิ อุจเฉททิฏฐิโลกมีที่สุด หรือไม่มีที่สุด นี่ก็คือสัสสตทิฏฐิ อุจเฉททิฏฐินั่นจะแบ่งกันบ้างหรือไม่บ้าง มันก็อยู่ในเครือสัสสตทิฏฐิ อุจเฉททิฏฐิ แล้วถามว่าสัตว์ตายแล้ว เกิดหรือไม่เกิด ถ้าตายแล้วเกิด ตายแล้วไม่เกิด รวมอยู่แต่ว่าอย่างนี้ จึงว่าเป็นปัญหาของมนุษย์ที่นั้น สมัยนั้น ถ้าถามพระพุทธเจ้า หรือบางคนก็มาแสดงทิฏฐิของตัว แสดงความรู้ของตัว คล้ายๆจะมาสอนพระพุทธเจ้านั้นน่ะ ว่า มาสอนให้เชื่อว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด ท้ายที่สุดในที่เรื่องอัตถิตาและนัตถิตาให้ยืนยันว่ามี หรือ ให้ยืนยันว่าไม่มี อย่างนี้ก็อยู่ในเครือเดียวกันแหละ เครือสัสสตทิฏฐิ อุจเฉททิฏฐิ ทั้งนั้นแหละ พระพุทธเจ้าท่านไม่เอาทั้งนั้น จะให้พูดว่ามีหรือให้พูดว่าไม่มีกี่ครั้งท่านก็บอกว่าไม่เอา จะให้พูดว่า เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้นพูดอย่างนี้ ไม่ยืนยันว่ามีหรือว่าไม่มี
งั้นขอให้รู้ว่าพุทธศาสนาที่เรานับถืออยู่ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่นั้นจะไม่มีคำว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด จะไม่มีคำว่ามีหรือคำว่าไม่มี โดย โดยส่วนเดียว จะอยู่ตรงกลางระหว่าง ๒ สิ่งนั้น เพราะว่าสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี แต่จะไม่เรียกว่าตายหรือเกิด ตายแล้วก็ไม่มีคน เพราะก็ไม่ถือว่ามีหรือไม่มีโดยส่วนเดียว เพราะว่ามันมีชั่วขณะ เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ไม่เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงดับลง มันมีแต่เท่านี้ นี่คือความถูกต้อง นั้นใครพูดว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิดมันก็ผิด ใครพูดว่าตัวตนมีหรือตัวตนไม่มีมันก็ผิด พูดให้ไม่ผิด ก็ต้องให้พูดอย่างพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าเพราะสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น หรือเมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ นั่นน่ะพูดยาก แต่นี่เราก็พลอยไปผสมโรงกับเขาว่าตายแล้วเกิด มันอยู่โดยมาก เพราะไปสอนเรื่องไอ้ทิฏฐิชั้น ชั้น ชั้นต้นๆ นี่จะพูดเสียเลยก็ได้ พูดแล้วหลายหนแล้วก็พูดอีก ว่าสัมมาทิฏฐิชั้นต้นๆ ที่สอนคนชั้นเดียวกับเด็กอมมือ ที่สอนว่า โลกนี้โลกหน้ามี นรกมีสวรรค์มี บุญมีบาปมี บิดามีมารดามี สัตว์เป็นอุปปาติกะมี พูดว่ามีๆ อย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสได้ นี่พระพุทธเจ้าก็ตรัสอย่างนี้ ถ้าหากว่ามันเป็นสัมมาทิฏฐิ ระดับธรรมที่สุด คือสัมมาทิฏฐิในกุศลกรรมบท ในกุศลกรรมบถและอุกศลกรรมบถนั้นมันจะมีหมวดมโนทุจริตที่พูดถึงมิจฉาทิฏฐิและสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิที่พูดถึงในหมวดกุศลกรรมบถนี่จะมีเพียงแค่นี้ ว่าโลกนี้มี โลกอื่นมี ใช้คำว่าโลกอื่นมี บิดามี มารดามี นรกมี สวรรค์มี สัตว์อุปปาติกะมี พระพุทธเจ้านั่นแหละตรัส แล้วก็ตรัสว่ามีด้วย แต่ถ้าในสัมมาทิฏฐิชั้นสูงขึ้นไป ท่านจะไม่พูดอย่างนี้ แต่ถึงแม้ท่านพูดอย่างนี้ เราก็ต้องเข้าใจได้ว่าท่านพูดสำหรับคนชั้นนี้ และคำว่ามีในที่นี้ก็คือมีชั่วขณะ คือมีชั่วที่เหตุปัจจัยมันมีอยู่ คือโลกนี้ก็ตาม โลกหน้าก็ตาม เมื่อเหตุปัจจัยมันมีอยู่ชั่วขณะนี้ มันเรียกว่ามี เพราะพระองค์ตรัสไว้ว่าเพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ไม่เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงดับลง แม้ท่านจะพูดว่า โลกนี้มี โลกอื่นมี นรกมี สวรรค์มี ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการยืนยันด้วยตัว ด้วยตัวตน มันมีอย่างไม่เป็นตัวตนก็ได้ นรก สวรรค์ ก็ไม่ใช่ตัวตน ท่านพูดว่ามี ก็พูดอย่างพอให้ถูกใจ หรือว่าจูงใจคนที่ยังเป็นเด็กอมมือ เขาจะได้กลัวนรก จะได้รักสวรรค์แล้วจะได้ทำความดี ยึดถือความดีไปก่อน ที่จะเลิกยึดถือความดีนั้นไว้พูดกันทีหลัง เดี๋ยวนี้ขอให้ยึดถือความดี ให้ละความชั่วมาทำความดี อย่างนี้เราเรียกว่า สัมมาทิฏฐิชั้นต้น ชั้นปฐม หรือว่าชั้นโลกียะอะไรก็ได้ เรียกกันอย่างนั้นก็ได้ ในสัมมาทิฏฐิที่เกี่ยวกับในกุศลกรรมบถ ๑๐ นี้ ไม่เคยอ้างถึงสัมมาทิฏฐิในอัตถาทิฏฐมรรค (นาทีที่ 47:37) สัมมาทิฏฐิในอัตถาทิฏฐมรรคเกิดในสมมติว่า ทุกเขญานัง ทุกขสมุทเยญานัง ทุกขนิโร ธะคามินีปทายะญานัง (นาทีที่ 47: 48) ๔ ญานังนี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ นี่จะมีแต่ในเรื่องชั้น ชั้นกลาง หรือชั้นทั่วไป คือสูงขึ้นมา ในกุศลกรรมบถ ๑๐ไม่มีอธิบายเรื่องสัมมาทิฏฐิอย่างนี้ เพราะนั้นเป็นเรื่องชั้นเด็ก นี่พอว่ามาถึงชั้นกลางชั้นผู้ใหญ่ จะพูดระบุไปอย่างการรู้อริยสัจ ๔ ว่า สัมมาทิฏฐิ
ทีนี้พอมาถึงขั้นสูงสุด สัมมาทิฏฐินั้น จะตรงระบุที่ตรงอิทัปปัจจยตา ถ้าไม่เชื่อจะเอาที่มาก็ได้ ในพระไตรปิฎกเยอะแยะไป ว่าการรู้ปฏิจจสมุปบาททั้งฝ่ายสมุทยวาร ฝ่ายนิโรธวารนั้น คือสัมมาทิฏฐิ ในเรียกกสั้นๆ ก็คือว่ารู้อิทัปปัจจยตานั้น คือสัมมาทิฏฐิ และการปฏิบัติเพื่อจะละ จะดับทุกข์เสียตามวิธีแห่งปฏิจจสมุปบาทนี้ เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา เรื่องมันเลื่อนชั้นขึ้นไป มัชฌิมาปฏิปทาระดับกลางทั่วไปนั้น จะระบุตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี่คือมัชฌิมาปฏิปทา แต่พอถึงชั้นสูงสุดดันมีหลักว่าไม่ไปฝ่ายสัสสตทิฏฐิ ไม่ไปฝ่ายอุจเฉททิฏฐินั่นคือมัชฌิมาปฏิปทา ไม่เป็นไปในทางมี ไม่เป็นไปในทางไม่มี นั่นคือมัชฌิมาปฏิปทา มันก็คือไอ้อิทัปปัจจยตา เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี สิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ นี่คือมัชฌิมาปฏิปทา ไม่เป็นสัสสตทิฏฐิ ไม่เป็นอุจเฉททิฏฐิ
เราควรจะจำไว้ว่า สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันถูกต้องนี้ มันมีถึง ๓ ชั้น ชั้นที่กล่าวในกุศลกรรมบถ ๑๐ นั้น เป็นชั้นระดับพื้นฐานทั่วไปสำหรับคนแรกเข้ามา แล้วก็ชั้นกลางคืออย่างที่ตรัสไว้ในเรื่องอริยสัจ ๔ สำหรับเป็นหลักทั่วไป แต่ถ้าชั้นสูงสุด จะเรียกว่าเป็นชั้นปรัชญา สูงสุดอะไรกันแล้ว จะตัดเรื่องอิทัปปัจจยตาว่าความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตานั้นคือสัมมาทิฏฐิ เพื่อจะสะกัดเสียซึ่งสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิไม่เอียงไปในฝ่ายมีหรือฝ่ายไม่มี มันอยู่ตรงกลางอย่างนี้ นั้นจึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทาสูงสุด นั้นคือความถูกต้องอย่างยิ่ง งั้นความถูกต้องในสัมมาทิฏฐิขั้นพื้นฐานให้เชื่อว่านรกมี สวรรค์มี บุญมี บาปมี ทำไปกันนี้ถูกต้อง เป็นความถูกต้องชั้นเตรียม นี่พอมาถึงชั้นอริยสัจ ๔ นี่ก็เป็นความถูกต้อง ชั้นที่เรียกว่าชั้นปฐม ชั้นมัธยมอะไรขึ้นมา คือเป็นพื้นฐาน พอชั้นสูงสุดก็สรุปคำเดียวว่า มีความเห็นถูกต้องในอิทัปปัจจยตา ซึ่งมีหลักว่าถ้าสิ่งนี้มีสิ่งนี้มี สิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ไม่มี ที่จะเรียกว่าถัตตะตา (นาทีที่ 51:08) หรืออย่างอื่นอีกหลายอย่างค่อยพูดกันวันหลังดีกว่า นี่สัมมาทิฏฐิมีอยู่อย่างนี้ แล้วก็เป็นความถูกต้องทั้งนั้น เป็นความถูกต้องอย่างเด็ก เป็นความถูกต้องอย่างผู้ใหญ่ เป็นความถูกต้องอย่างคนสูงอายุแก่เฒ่าแก่นี้เรียกว่าเป็นความถูกต้องชั้นต่ำ เป็นความถูกต้องชั้นกลาง หรือทั่วไป แล้วก็เป็นความถูกต้องชั้นสูงสุดลึกซึ้ง นี่เป็นความถูกต้อง ๓ สามความถูกต้องในทางความคิดเห็น
ทีนี่เมื่อความคิดเห็นถูกต้องแล้ว ไม่ต้องกลัวในทางการปฏิบัติทางการกระทำทางกายทางวาจาก็ถูกต้อง มันจึงรวมเป็นความถูกต้องทั้งทางกายทางวาจาทางใจ ถ้าอยู่กันในลักษณะดังนี้ โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ และความเป็นอยู่หรือความถูกต้องอย่างนี้รับได้ทั้งพวกที่ว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด หรือพูดอย่างสมัยใหม่หน่อยก็ว่าไอ้พวกเพสสิมิสติก (Pessimistic) หรือออพทิมิสติก (Optimistic) ก็รับได้ทั้งสอง พวกพอสิทิวิซั่ม (Positivism) เนกาทิวิซั่ม (Negativism) ก็รับได้สองพวก เพราะเราระบุความถูกต้องที่มันอยู่ตรงกลาง มันไม่เอียงไปทางไหน ไม่เอียงไปทางซ้ายทางขวา เพราะฉะนั้นในเวลานี้คนในโลกนี้เขาจะมีความคิดเห็นกันอยู่อย่างไร ก็ตามใจเขาสิ เรามีหน้าที่แต่แสดงความถูกต้องชนิดที่เขาอาจจะยอมรับได้ ไม่ว่าพวกไหน เมื่อเอาความถูกต้องชนิดนี้ก็เข้าไปให้ ยื่นให้กัน มันจะไม่ขัด ไม่ขัดกันกับศาสนาไหนในโลกนี้ ในเวลานี้ งั้นเราพยายามจะให้ทำความเข้าใจกันระหว่างศาสนา ไม่ให้เกลียดชังกันระหว่างศาสนา ก็ต้องอาศัยความถูกต้องนี้ เป็นของที่จะเสนอให้แก่กันและกัน นี้เค้าอาจจะรับได้โดยแน่นอนเพราะเป็นความถูกต้องที่พิสูจน์ได้อยู่ในตัว แล้วก็อย่าลืมว่าที่พูดไว้เมื่อตะกี้นี้ ที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านพูด ท่านตรัสไว้ว่าเมื่อปฏิบัติอยู่อย่างนี้ไม่มีทางผิด ถ้าสมมติว่าโลกหน้ามี แกก็ยิ่งได้กำไร ถ้าสมมติว่าโลกหน้าไม่มี แกก็ไม่ขาดทุนอะไร เพราะแกได้มาเต็มที่แล้ว เต็มที่ที่ควรจะได้แล้ว นี่แสดงว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ยืนยันว่าโลกหน้ามีหรือโลกหน้าไม่มีในเมื่อพูดกันอย่างผู้รู้นะ ไม่ใช่พูดกับเด็กๆนะ ดังนั้นท่านจึงต้องใช้คำกับพวกกาลามเหล่านั้นว่าถ้าโลกหน้ามี เธอก็ได้รับประโยชน์ที่จะทำให้เดี๋ยวนี้เต็มที่ให้มีกำไร ถ้าโลกหน้าไม่มีเธอก็ได้เต็มที่แล้วที่เธอควรจะได้ อะไรได้หมด ทีนี่ในโลกนี้ นี่อย่าไปทำให้พระพุทธเจ้าแปดเปื้อนไป เพราะคำ เพระความไม่รู้ของเรา ไปหาว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่าโลกหน้ามี โลกหน้าไม่มี อะไรไม่รู้ ท่านจะตรัสแต่เหตุอิทัปปัจจยตา ถ้าสิ่งนี้มีสิ่งนี้มี ถ้าสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี ถ้าสิ่งนี้ เอ้อ เพราะสิ่งนั้นเกิดขึ้น สิ่งนั้นจึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ดับลง สิ่งนี้จึงดับลง เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น นี่จึงต้องใช้คำที่เรียกว่ามันแล้วแต่เหตุและปัจจัย นั่นน่ะคือเรื่องปฏิจจสมุปบาท นั่นน่ะคือเรื่องอิทัปปัจจยตาซึ่งนับว่าเป็นความถูกต้องสูงสุดในพุทธศาสนา นี่ผมพูดวันนี้เรื่องความถูกต้อง ถ้ามีตัวกูของกู ไม่มีความถูกต้อง ถ้าว่างจากตัวกูของกูนั่นน่ะคือความถูกต้อง เมื่อว่างจากตัวกูของกูแล้วไม่มีปัญหาว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด เพราะว่ามันไม่มีใครที่จะอยู่ ที่จะตาย หรือจะเกิด โดยมากก็ทบทวนที่พูดมาแล้ว แล้วก็ขยายความบางอย่างให้ชัดแจ้งออกไป นี่เลยอธิษฐานจิตว่าถ้าพูดธรรมปาฏิโมกข์แล้วจะพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับตัวกูของกูเท่านั้น เรื่องอื่นไม่พูด