แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
การบรรยายธรรมปาฏิโมกข์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูไปตามเดิม ในวันนี้ตั้งใจว่าจะพูดเรื่องเกี่ยวกับการเกิดและการดับของตัวกู คำว่าตัวกูของกูนี้พูดมานานแล้ว ชินหูพอแล้ว อยากจะใช้คำที่ยังไม่เคยชินหูให้กลายเป็นคำที่ชินหูกันเสียบ้าง ก็คือคำว่า “อิทับปัจจยตา” ซึ่งเพิ่งจะเอามาพูดกัน และอิทับปัจจยตานั่นแหละมันคือตัวกูหรือของกูก็ตาม ตัวกูก็คืออิทับปัจจยตา ของกูก็คืออิทับปัจจยตา ตัวกูเกิดก็เกิดเพราะ อิทับปัจจยตา ตัวกูดับก็ดับเพราะอิทับปัจจยตา จะหยุดการเวียนเกิดเวียนดับของตัวกูนี้ก็ต้องโดยความรู้เรื่องอิทับปัจจยตา คือถ้าอิทับปัจจยตาหยุดไปได้แล้วก็มันก็ไม่เกิด ไม่มีทางที่จะเกิดตัวกูของกู จำง่ายก็มันก็ว่าเหมือนกับว่า “หนามยอกเอาหนามบ่ง” อิทับปัจจยตาชนิดหนึ่งหรือในลักษณะหนึ่งมันก็มีอย่างเดียว แต่มันมีหลายลักษณะหลายอาการ ในลักษณะหนึ่งมันทำให้เกิดตัวกูของกู ในลักษณะหนึ่งมันก็เป็นการดับ ทำให้ดับซึ่งตัวกูของกู อันเนี้ยคืออะไร จะใช้คำเรียกว่าอะไรดี พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า “ธาตุ” ธา-ตุ ธาตุ อิทับปัจจยตาเป็นศักดิ์ว่าธาตุ แต่คำว่าธาตุเนี่ยมันมีความหมายหลายความหมาย บางความหมายคนธรรมดาไม่รู้ เช่นว่านิพพานก็เป็นธาตุ อย่างนี้คนธรรมดาไม่รู้และไม่เข้าใจได้ นิพพานน่ะ ธา-ตุ ธาตุคือนิพพาน มี 2 อย่าง “สอุปาทิเสสะ” “อนุปาทิเสสะ” นิพพานน่ะธาตุ แม้แต่นิพพานก็เป็นธาตุ คนเคยรู้กันแต่เรื่องธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มันพูดกันแต่เพียงเท่านั้น วิญญาณธาตุ อากาศธาตุก็ไม่ค่อยพูดกัน รูปธาตุ อรูปธาตุ นิโรธธาตุก็ไม่ค่อยพูดกัน นิโรธธาตุ ธาตุแห่งความดับนั่นแหละคือธาตุที่ไม่ค่อยรู้จัก แต่ว่าจะเป็นธาตุไหนก็ตามใจมันเป็นอิทับปัจจยตาทั้งนั้น ทุกธาตุจะต้องเป็นสิ่งที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น อย่างน้อยก็ปรากฏขึ้น การดับทุกข์ที่เป็นนิพพานน่ะ ตัวการดับทุกข์ก็ต้องอาศัยกฎของไอ้อิทับปัจจยตา ไอ้นิพพานเองนั้นไม่มีปัจจัย ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย แต่ก็ปรากฏได้เพราะการปฏิบัติที่ถูกต้องเกี่ยวกับอิทับปัจจยตา สำหรับสังคตธาตุนั้นก็เป็น อิทับปัจจยตาโดยตรง ที่จะทำให้เกิดขึ้นหรือดับลง แต่ถ้าพวกอสังคตธาตุก็เป็นเพียงว่า กฎอันนี้ถ้าใครรู้และปฏิบัติแล้ว มันทำให้ไอ้อสังคตธาตุเหล่านั้นหรือนิพพานเป็นต้นนั้นปรากฏได้ งั้นเราเลยพูดได้เลยว่าทุกเรื่องเกี่ยวกันกับอิทับปัจจยตาในฐานะเป็นปัจจัยโดยตรงก็มี ในฐานะเป็นเครื่องทำให้ปรากฏก็มีไอ้คำว่าธาตุ ธา-ตุ เนี่ยมันจึงมีความหมายลึกซึ้ง แม้แต่อิทับปัจจยตาเองก็เป็นธาตุอันหนึ่ง ก็ได้ความว่าสิ่งที่เรียกว่าธาตุ ธาตุนี้ก็คือสิ่งที่มันมีอยู่นั่นเอง สิ่งที่มันได้มีอยู่จริงน่ะเรียกว่าธาตุ เรียกอีกทีหนึ่งเขาเรียกว่า “ธรรมธาตุ” บาลีตอนนี้ควรจะจำกันไว้ทุกคน “อุปปาทา วา ตถาคตานัง อนุปปาทา วา ตถาคตานัง ฐิตาวะ สา ธาตุ ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทับปัจจยตา” แปลตามตัวหนังสือก็ว่า “อุปปาทา วา ตถาคตานัง” พระตถาคตเจ้าทั้งหลายจะบังเกิดขึ้นก็ตาม “อนุปปาทา วา ตถาคตานัง” พระตถาคตเจ้าทั้งหลายจะไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม “ฐิตาวะ สา ธาตุ” ธาตุนั้นยังคงตั้งอยู่เสมอไป “ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทับปัจจยตา” คือ “ธัมมัฏฐิตตา” การตั้งอยู่เป็นธรรมดา “ธัมมนิยามตา” ลักษณะตายตัวของธรรม “อิทับปัจจยตา” ความที่มีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัยแล้วเกิดขึ้น รวมเรียกกันก็ว่า “อิทับปัจจยตา” ก็แล้วกัน หรือเรียกให้สั้นกว่านั้นก็เรียกว่า “ตถตา” อย่างที่เคยอธิบายแล้ววันก่อน เรียกว่าเพียง 3 พยางค์ว่า ตถตา แปลว่า ความเป็นอย่างนั้น นั่นน่ะคืออิทับปัจจยตา ความไม่เป็นอย่างอื่นเรียกว่า “อนัญญถตา” แล้วก็ “อวิตถตา” ความไม่แปลกไปจากความเป็นอย่างนั้น เนี่ยคืออิทับปัจจยตา ทั้งหมดนี้เป็นเพียงธาตุอันหนึ่ง คือเป็นธรรมธาตุอันหนึ่ง พูดภาษาสมัยใหม่ก็เรียกว่ามันเป็นกฎอันหนึ่ง เรียกว่ากฎธรรมชาติ แต่ในที่นี้เรียกว่าธาตุ ธาตุนั้นยังคงตั้งอยู่เสมอไป พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือพระพุทธเจ้าจะไม่เกิดขึ้นไม่รู้ไม่ชี้ ธาตุนั้นยังตั้งอยู่เสมอไป นี้คืออิทับปัจจยตา ก็เพราะว่ากฎนั้นน่ะมันมีอยู่ตลอดไป พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ไอ้กฎอย่างนี้หรือธาตุอย่างนี้บางทีก็เรียกว่า “ธรรม” เฉยๆ ธรรม “พระธรรม” หรือธรรม พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นพระธรรมก็ยังคงอยู่ แล้วก็มีอยู่ก่อนสิ่งใดด้วย ถ้าพระธรรมไม่มีอยู่ก่อนแล้วพระพุทธเจ้าจะค้นพบพระธรรมพบได้ยังไง พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด จะค้นหรือไม่ค้น พระธรรมนั้นยังอยู่เสมอไป เนี่ยคือข้อความนี้ที่ว่าธาตุนั้นตั้งอยู่ตลอดเวลา เสมอไป พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด เพราะฉะนั้นธรรมนี้ต้องมีอยู่ก่อนสิ่งใดหมด ก็คือกฎของธรรมชาติมีอยู่ก่อนสิ่งใดหมด ในที่นี้เราเรียกว่าอิทับปัจจยตา
ทีนี้ก็มาถึงความหมายของคำว่า “อิทับปัจจยตา” ซึ่งหมายความว่า มันอยู่นิ่งไม่ได้ ไม่มีอะไรสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่นิ่ง พอสัมพันธ์กันแล้วมันปรุงแต่งกัน ก็ว่า “อิทับ” นี้ “ปัจจย” ปัจจัย ปัจจัยนี้ ความมีปัจจัยนี้ ไอ้ความมีปัจจัยนี้คือต้นเหตุ แล้วก็ทำให้เกิดอีกอันหนึ่งขึ้นมา แล้วอันที่เกิดขึ้นมาใหม่นั่นน่ะซึ่งก็เป็นผลอยู่หยกๆเนี่ย ก็กลายเป็นเหตุอีก กลายเป็นเหตุที่จะทำให้มีผลแก่อันอื่นอีก คือจะเป็นเหตุให้เกิดอันอื่นอีก อันนั้นเกิดขึ้นมาแล้ว เป็นผลแล้ว เดี๋ยวเดียวก็เปลี่ยนเป็นเหตุอีก ลักษณะอย่างนี้เขาเรียกว่าอิทับปัจจยตา ไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยเหตุเนี้ยโลกมันจึงเกิดขึ้นมาได้ สมมติว่าโลกเกิดมาร้อยพันล้านปี ล้วนแต่เป็นกระแสแห่งอิทับปัจจยตาทั้งนั้น พันล้านปีเนี่ยไม่มีอะไร สิ่งนี้ปรุงแต่งสิ่งนี้ สิ่งนี้ปรุงแต่งสิ่งนี้ สิ่งนี้ปรุงแต่งสิ่งนี้ ตลอดเวลาล้านๆปี หรือกี่ล้านๆปีก็ตามใจ เป็นกระแสเดียวกันมาเรื่อย จนมามีโลกในสภาพอย่างนี้ เวลานี้ แล้วก็กำลังเปลี่ยนเรื่อย นี่คือความเป็นอิทับปัจจยตา ถ้ามองเห็นอย่างนี้แล้วก็พอเห็นได้ว่าตัวกูนี่เป็นเรื่องเล็กตัวกูนี่เป็นเรื่องเกิดจากอิทับปัจจยตาหรือว่าเป็นอิทับปัจจยตาเองอยู่ในตัว ตาเห็นรูป เกิดจักษุวิญญาณอย่างนี้ก็เป็นอิทับปัจจยตาแก่กันขั้นหนึ่งแล้ว เพราะตาเห็นรูปจึงเกิดจักษุวิญญาณ ถ้า 3 อย่างนี้มีอยู่ก็มีผัสสะ ก็เกิดผัสสะ ผัสสะให้เกิดเวทนา เวทนาให้เกิดตัณหา ตัณหาให้เกิดอุปาทานนั่นน่ะคือตัวกูของกู สิ่งที่เรียกว่าอุปาทาน มันเบิกบานเต็มที่ก็เป็นภพเป็นชาติ ทีนี้ตัวกูจะเป็นทุกข์แล้ว จะเป็นทุกข์เพราะความเกิดแก่เจ็บตาย เป็นปัญหาขึ้นมา งั้นตัวกูมันก็คือกระแสแห่งอิทับปัจจยตา เกิดมาจากอิทับปัจจยตา กำลังเป็นอิทับปัจจยตา แล้วก็กำลังเป็นต่อไป นี่เรียกว่าไอ้ตัวกูเกิดขึ้นมานั่นก็คืออิทับปัจจยตาทำหน้าที่ พอทีตัวกูจะดับลงก็เหมือนกันอีก พอสิ่งนี้เข้ามา สิ่งนี้จึงดับลง พอสิ่งนี้เข้ามาสิ่งนี้จึงดับลง พอสติมีมา ปัญญาวิชามีมา สติมีมา มันก็เป็นเหตุให้เกิดความรู้ขึ้นมา รู้แจ้งขึ้นมา มันก็ดับไอ้อำนาจการปรุงแต่งที่จะเป็นกิเลสตัณหานั้นเสีย มันก็หยุดไปพักหนึ่ง งั้นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนี้ ฝ่ายสมุทยวาร แล้วก็ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวารนี้ ทั้ง 2 สาขานี้เป็นตัวอย่างอันดีที่ทำให้เห็นว่าทุกข์ก็เกิดขึ้นเพราะอิทับปัจจยตา ทุกข์ก็ดับลงเพราะอิทับปัจจยตา มัวแต่ขึ้นลง ขึ้นลงกันอยู่อย่างนี้ จนกว่าจะมีความรู้เรื่องอิทับปัจจยตาสูงสุด ทำให้หยุดเวียนขึ้นเวียนลง แล้วก็เป็นนิพพานโดยสมบูรณ์ งั้นจึงพูดว่าตัวกูก็คืออิทับปัจจยตา เกิดขึ้นเพราะอิทับปัจจยตา การดับแห่งตัวกูก็เป็นอิทับปัจจยตา มีได้เพราะอิทับปัจจยตา ทีนี้ตัวกูจะจบ จะสิ้นสุด จะจบบทบาทก็เพราะว่าปฏิบัติถูกในเรื่องอิทับปัจจยตาในอันดับสูงสูด อันดับสุดท้าย แล้วก็ไม่มาเวียนเกิดเวียนดับอีกต่อไป นี้มันเป็นเรื่องที่แสดงสิ่งซึ่งลึกลับยิ่งขึ้นทุกที เราพูดเรื่องนี้กันมาหลายปีแล้ว ไม่ได้พูดเรื่องอื่นเลย มันก็เลื่อนมา เลื่อนมาตามลำดับ จนมาถึงไอ้เรื่องที่มันลึก แล้วมันก็ลึกได้เพียงเท่านี้ ไม่มีเรื่องไหนที่จะลึกไปกว่าเรื่องอิทับปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาทเขาเรียกการเกิดขึ้นแห่งอิทับปัจจยตา กระแสที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องทำให้มันมีขึ้นมา และกระแสแห่งอิทับปัจจยตา หรือฝ่ายดับมันก็ดับลงไป เพราะมีสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับ เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนั้นจึงดับ เพราะสิ่งนั้นดับ สิ่งนั้นจึงดับ เป็นอย่างนั้น ก็ยังเรียกว่าอิทับปัจจยตาเหมือนกัน ฝ่ายดับ ไม่มีสิ่งใดดับได้ตามลำพัง ต้องมีเหตุมีปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งดับก่อนอันนั้นมันอยู่ไม่ได้ เช่นสมมติว่าถ้าแผ่นดินเนี่ยมันดับ คือมันสลายลงไป มันกลายเป็นอากาศธาตุ สูญสิ้นไปไม่มีแผ่นดิน แล้วต้นไม้ และสัตว์ และคนมันจะอยู่ยังไงได้ล่ะ มันก็ถึงไอ้ความดับลงไปด้วย ทีนี้อะไรต่างๆที่มันเกี่ยวกับคนมันก็พลอยดับไปด้วย งั้นให้รู้ไว้เสียว่าแม้ฝ่ายดับมันก็ต้องมีเหตุมีปัจจัยเช่นเดียวกับฝ่ายเกิด ไม่มีพ่อแม่ พ่อแม่ตาย ลูกก็ไม่มี เว้นไว้แต่ลูกมันมีอยู่ เหลืออยู่ก่อนสำหรับเป็นพ่อแม่ เดี๋ยวนี้เราก็ไม่รู้ว่าอะไร อะไรมีก่อนอะไรมีหลัง เป็นปัญหาที่ไม่ค่อยจะมองกัน แล้วก็มองยาก มันไกลเกินไปกว่าที่จะมองได้ เหมือนคนที่เขาคิดมอง คิดแล้วมอง มองแล้วคิดกันจนจะเป็นบ้าตายอยู่แล้ว เพราะยังไม่รู้ว่าไก่เกิดก่อนไข่หรือไข่เกิดก่อนไก่ เนี่ยไปถามดู ใครคนไหนเป็นนักปราชญ์ชั้นเลิศน่ะถามดูว่าไก่เกิดก่อนไข่หรือไข่เกิดก่อนไก่ มันมีทางขั้นนะ ถ้าว่าไข่เกิดมาจากไก่ งั้นไก่ตัวนั้นมันมาจากไหนมันก็ต้องมาจากไข่เรื่อย ไอ้ไข่ตัวนั้นก็มาจากไก่อีก พูดกันสักร้อยครั้งพันครั้งหมื่นกันตั้งกี่ จนตายมันก็ไม่รู้ได้ว่าอะไรมันมาจากอะไรแน่
นี่ก็คือเรื่องต้นตอของธรรมะที่รู้ได้ยาก ที่เรียกว่า “อวิชชา” ปฏิจจสมุปบาทในฝ่ายทฤษฎีตั้งต้นด้วยอวิชชา ถ้าถามอวิชชามาจากไหนมันก็มาจากอาสวะ อาสวะมาจากไหนก็มาจากอวิชชา อวิชชามาจากไหนก็มาจากอาสวะ อาสวะมาจากไหนก็มาจากอวิชชา เช่นเดียวกับไข่กับไก่ “อาสวะ” ก็คือไอ้ความเคยชินของความโง่ ความเชื่อของความโง่ที่มีประจำอยู่เป็นความเคยชิน มันก็คลอดอวิชชาออกมา อวิชชาเกิดขึ้นทีไรมันก็เพิ่มไอ้ความเคยชินของอวิชชา ของความโง่เข้าไว้อีก มันวนเวียนกันอยู่ที่ตรงนี้ ระหว่างอวิชชากับ อาสวะ ในที่สุดอาสวะเองก็เป็นอวิชชา เขาเรียกว่า “อวิชชาสวะ” ก็เรียกว่า “อวิชชา” คำเดียวก็พอ อวิชชามาจากอวิชชา ลูกอวิชชามาจากแม่อวิชชา แม่อวิชชามาจากลูกอวิชชา นี้มันเป็นมูลเหตุอันแรกของสิ่งที่เรียกว่า “ตัวกูของกู” ทีนี้ปฏิบัติไป ปฏิบัติมันก็แสดงชัดว่าพอตากระทบรูป เกิดจักษุวิญญาณ 3 ประการนั้นเรียกว่า ผัสสะ ไอ้ผัสสะนั้นเอาอวิชชามาจากไหนล่ะ มันก็คล้ายๆว่าอวิชชาพร้อมอยู่เสมอที่จะเกิด ที่จะมีขึ้นมาผสมในผัสสะนั้น อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ มันเป็นเรื่องนามธรรมคือไม่มีตัวไม่มีตน ถ้าพูดกันตรงๆง่ายๆก็ว่าความโง่นี่มันมาจากไหนล่ะ ทำไมมันจึงลืม ทำไมมันจึงเผลอ มันจึงโง่ มันมาจากไหนล่ะ ทั้งๆที่เราก็เรียนเรื่องนี้อยู่แล้วมันก็ยังเผลอและยังโง่ได้ เลยพูดเหมาๆ สมมติเหมาๆ ไอ้ความโง่เนี่ยคืออวิชชา แล้วก็มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะในจิตใจ ในสันดานของมนุษย์ที่เป็นปุถุชน งั้นเราจึงโง่ได้ไม่ทันรู้สึก พอตาได้อาศัยรูป เกิดจักษุวิญญาณ เป็นผัสสะขึ้นมา มันก็เป็นอวิชชาสัมผัสเสียแล้ว อวิชชาสัมผัสแปลว่าสัมผัสด้วยอวิชชา คือไปแตะต้องสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าด้วยอวิชชา อาศัยทางตา เมื่อผัสสะเป็นอวิชชา เวทนาที่เกิดจากผัสสะนั้นก็เป็นอวิชชา เวทนาที่เกิดจากผัสสะนั้นก็เป็นเวทนาอวิชชา ทีนี้เวทนาอวิชชาก็ปรุงไอ้ความอยากที่เป็นอวิชชาคือตัณหา ตัณหาก็ปรุงอุปาทานอวิชชา อุปาทานด้วยอำนาจอวิชชา มันก็เกิดความรู้สึกหมายมั่นเป็นตัวกูเป็นของกู ก็เป็นผลของอวิชชาล้วน ทั้งเนื้อทั้งตัวเป็นผลของอวิชชา ความสำคัญในจิตใจว่าเรา ว่าของเรา ว่ากู ว่าของกู ว่ามึง ว่าของมึง ว่าอะไรล้วนแต่ซึ่งเป็นเรื่องตัวตน เนี่ยมันเป็นของที่ออกมาจากอวิชชามาตามลำดับ ตามลำดับ ตามลำดับจนเป็นอวิชชาชนิดที่เรียกว่าเป็นตัวกู เพราะฉะนั้นมันก็ต้องเป็นไปตามเรื่องของอวิชชา คือโง่ คือหลง คือมืด คืออะไร ในที่สุดมันก็ได้แต่ไอ้ความทุกข์ที่น่ารังเกียจ งั้นเมื่อพูดถึงคำว่าตัวกูว่าของกูนี่ มันเป็นคำที่น่าเกลียด น่าชัง น่าขยะแขยง น่ากลัว น่าอะไรที่สุดเลย แต่คนมันไม่รู้ มันก็ไม่เกลียด ไม่ขยะแขยง ไม่กลัว เมื่อไม่เกลียด ไม่กลัว ไม่ขยะแขยงมันก็ไม่ตั้งใจที่จะกำจัด ที่จะศึกษา ที่จะกำจัด พูดแต่ปาก เรียนธรรมะ เรียนอะไรต่างๆนี่เรียนแต่ปาก พูดแต่ปาก รู้แต่ปาก ไม่ได้ตั้งใจที่จะกำจัดไอ้ตัวมารร้ายคือตัวกูของกูนี่ ไม่ได้ตั้งใจกำจัดก็เพราะว่าไม่รู้ ไม่รู้จักแล้วก็ไม่เกลียด แล้วก็ไม่กลัว คนไม่ได้กลัวกิเลส ไม่ได้เกลียดกิเลสตามที่ว่ากิเลสมันน่าเกลียดที่สุด น่ากลัวที่สุด งั้นเราจึงละกิเลสไม่ได้ ละตัวกูไม่ได้ ยังเต็มอยู่ด้วยตัวกู มันก็เห็นแก่ตัว มีตัวกูอย่างเดียวก็เกิดความเห็นแก่ตัวอีกหลายร้อยอย่าง มันก็เลยอยู่กันอย่างนี้ อยู่กันอย่างไม่มีความสงบสุขทั้งโดยส่วนบุคคลและโดยส่วนรวม โดยส่วนตัวก็ไม่นอนหลับสนิท สะดุ้งอยู่เรื่อย หลับก็สะดุ้ง ตื่นก็สะดุ้ง นี่โดยส่วนตัวมันก็ไม่มีความสงบระงับ เพราะมันมีความรู้สึกที่เป็นตัวกูและเห็นแก่ตัวนี้ ทีนี้โดยส่วนสังคมมันก็เบียดเบียนกัน นี่เห็นมั้ย ความเห็นแก่ตัวทำให้มีความรู้สึกที่จะเอาเปรียบผู้อื่น ดูให้ดี พูดกันตรงนี้ให้หลายๆหน ว่าเด็กๆพอเกิดมามันก็มีการอบรมผิด เพราะว่ามันเกิดมาจากพ่อแม่ที่เต็มอัดไปด้วยตัวกูของกู พอคลอดลูกออกมา มันก็ไม่มีการอบรมที่จะให้รู้จักตัวกูของกูและละเสีย ทีนี้เด็กก็เจริญขึ้นด้วยอวิชชา ซึ่งมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง เพราะเด็กๆก็เริ่มรู้จักมีตัวกูและเห็นแก่ตัวกู เมื่ออายุมันพอสมควรเข้า พอมันเห็นแก่ตัวกูมันก็จะเอาเปรียบ แม้ว่าจะเป็นการเอาเปรียบที่เขาเรียกกันว่ายุติธรรมก็เป็นการเอาเปรียบ แต่แล้วส่วนมากที่สุดการเอาเปรียบนั้นไม่มีหรอกเรื่องยุติธรรม บัญญัติการเอาเปรียบบางอย่างว่ายุติธรรมนั้นก็เพราะมันเป็นเรื่องมนุษย์ที่มีกิเลสเป็นผู้บัญญัติ เด็กเริ่มรู้จักการเอาเปรียบ จะเอาอะไรก็จะเอาให้มากกว่าเพื่อนนี่ ไอ้เด็กเล็กๆ พี่น้องกันอย่างเนี้ย ต่างคนต่างก็คิดว่าจะเอาให้มากกว่าเสมอ จะได้ให้มากกว่า แม้แต่แม่ก็อยากให้แม่เรารักเรามากกว่ารักคนอื่น ความคิดอย่างนี้คือความคิดที่เรียกว่าเอาเปรียบ เพราะมันเห็นแก่ตัวกู เห็นแก่ตัว มันก็อยากให้ตัวได้มากกว่า มันก็เลยมีความคิดที่จะเอาเปรียบเนี่ยฝังรกราก โดยได้รับคำสั่งสอนว่าถ้าเราจะเก่ง เราก็ต้องอุตส่าห์เรียน พอเรียนแล้วเราเก่ง ถ้าเราเก่งแล้วเราเอาอะไรได้มากกว่าเพื่อน ในโลกนี้เราจะเอาอะไรได้มากกว่าเพื่อน เราจะหาเงินได้มากกว่าเพื่อน เราจะเอาอะไรๆได้มากกว่าเพื่อน จนไม่มีขอบเขต เราเรียนก็เพื่อจะเอาเปรียบผู้อื่น ให้ได้มากกว่าผู้อื่น รวมกระทั่งว่าไอ้ที่เราจะดี เราจะเป็นเด็กดีนี่ก็ ไอ้เด็กนั่นมันก็คิดว่าเราจะมีโอกาสได้อะไรมากกว่าคนอื่น เพราะเราเป็นเด็กดี งั้นจึงพยายามทำดี เพื่อให้มีอะไรดี แล้วก็จะได้มีโอกาสสำหรับจะได้อะไรมากกว่าคนอื่น นี่เขาเรียกว่าเอาเปรียบโดยยุติธรรม หรือแข่งขันกันเป็นความยุติธรรม แต่ถ้ามองไปในทางฝ่ายกิเลส ในฝ่ายธรรมะแล้วมันก็คือรกรากของความเห็นแก่ตัวที่จะเอาเปรียบ ทีนี้เด็กคนหนึ่งมันชั่ว มันไม่ยอมให้เอาเปรียบ มันก็ต่อสู้อย่างอันธพาลอย่างนี้ ก็เป็นการเอาเปรียบชนิดหนึ่งนะ เมื่อเราทำโดยยุติธรรมไม่ได้ เราก็ใช้อุบายหรือเครื่องมือที่ไม่ยุติธรรมเพื่อให้ได้มาเหมือนกัน ก็เป็นการเอาเปรียบชนิดหนึ่ง ทีนี้คนเราตั้งต้นขึ้นมาด้วยชีวิตที่มีแต่ความรู้เรื่องการเอาเปรียบ นั่นแหละคือเรื่องตัวกูของกู ดูให้ดี ตั้งแต่อ้อนแต่ออกมาแล้ว เมื่อเด็กคนนี้โตขึ้นมาเป็นบิดามารดาอีก มันก็อย่างเดียวกันอีกนั่นแหละ มันก็ต้องคลอดลูกชนิดมาสำหรับเป็นอย่างนี้ งั้นจึงมีคำที่น่าหัวที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า กุมารนี้ไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันจะดับเสียซึ่งอาสวะนั้น คำอย่างนี้ผมก็ไม่ค่อยเคยได้ยินแต่ก่อน เพิ่งจะอ่านพบ เด็กน้อยๆนี้ไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ เพื่อจะดับเสียซึ่งอาสวะ แล้วมันจริงที่สุดเลย เด็กอยู่ในครรภ์คลอดออกมาจากท้องแม่นี่ไม่มีหรอก ความรู้เรื่องเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ มันก็ไปตามอวิชชา ไปตามการบงการของอวิชชา แล้วเราก็เติบโตมาด้วยอวิชชา พร้อมที่จะมีตัวกูของกู พร้อมที่จะเอาเปรียบเอามากกว่าของคนอื่น ที่นี้มันก็เกิดปัญหาขึ้นว่าจะต้องแก้ไข จะต้องมีการศึกษาแก้ไข อบรมให้มันตรงกันข้าม ให้มีความเมตตากรุณา ให้รักผู้อื่น ให้เห็นแก่ความเป็นธรรม ยุติธรรมนี่ แล้วมันก็ไม่สำเร็จ ยิ่งไม่สำเร็จ ไอ้การศึกษาสมัยนี้ยิ่งไม่สำเร็จ เพราะครูผู้สอนก็ตัวกูของกูจัด เอาเปรียบคนอื่นจัด ตัวเองสูบบุหรี่แล้วก็บอกไม่ให้นักเรียนสูบ แล้วจะทำกันยังไงล่ะ เพราะงั้นครูที่จะมาสอนคนให้หยุดความเข้าใจผิด ให้เดินตามความเข้าใจถูกนั้นยิ่งไม่มี ยิ่งหาได้ยากขึ้นทุกทีในโลกนี้ การศึกษาก็เพื่อตัวกูของกู การกีฬาก็เพื่อตัวกูของกู อะไรก็ล้วนแต่เพื่อตัวกูของกู การรักชาตินี่ก็เพื่อตัวกูของกู งั้นไอ้โรคตัวกูของกูมันก็หนาแน่นไปหมด ผลก็คือว่าอยู่กันไม่เป็นความสงบสุขยิ่งขึ้นทุกที เนี่ยดูความเกิดแห่งตัวกูของกู แล้วก็ดูผลที่มันเกิดมาจากตัวกูของกู เป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุด แล้วเป็นเรื่องที่น่าเกลียดที่สุด แล้วก็ไม่มีใครเกลียดไม่มีใครกลัว แปลว่าทุกคนในโลกมันน่าด้าน มันไม่มีหิริและโอตัปปะ หิริ แปลว่า ความละอาย โอตัปปะ แปลว่า ความกลัว หิริที่แปลว่าความละอายนั้นแปลว่าความเกลียดก็ได้ ของชั่วของเลว ของสกปรก เราเกลียดหรือเราละอาย ไม่อยากจะแตะต้อง โอตัปปะนั้นคือความกลัว เดี๋ยวนี้คนในโลกไม่มีความละอาย หรือความเกลียด หรือความกลัวต่อความชั่ว เอาแต่ได้เข้าว่า เพราะอำนาจอะไร มันก็เพราะอำนาจของตัวกูของกูมันเดือดจัด มันอบรมไว้มานานแล้วมันเดือดจัดขึ้นทุกที ทุกที มันก็ได้รบราฆ่าฟันกันในทางสังคม แล้วส่วนปัจเจกชนคนหนึ่งๆก็นอนไม่หลับ นอนไม่หลับสนิท เป็นผู้สะดุ้งอยู่ทั้งหลับและตื่น เป็นผู้ระแวง หวาดเสียว กลัวอยู่ กลัวตัวกูจะตาย กลัวตัวกูจะไม่ได้ประโยชน์เนี่ยอยู่ทั้งหลับและตื่น งั้นมันจึงเป็นโรคเส้นประสาทหรือโรคจิตกันมากขึ้นทุกที มากขึ้นทุกที หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งวันนี้ อ่านพบการสำรวจของคณะแพทย์อะไรคณะหนึ่งบอกว่า เดี๋ยวนี้บ้ากันครึ่งต่อครึ่งแล้ว สมัยหลวงวิเชียรพูดว่าบ้ากัน 15 เปอร์เซ็นต์นั้นน่ะคนในโลก เดี๋ยวนี้บ้าครึ่งต่อครึ่ง ก็พูดว่าให้ระวังให้ดี เพื่อนฝูงของเราที่คบหาสมาคม แวดล้อมตัวเราอยู่ในรั้วมันเป็นโรคจิต 50 เปอร์เซ็นต์ จำนวนนะ ครึ่งต่อครึ่ง นี่จริงไม่จริงก็ตามใจ แต่ก็ได้พูดอย่างนี้ซะ แล้วมันก็น่าหัวที่สุด แต่ผมก็เชื่อว่าจริง เพราะว่าไอ้ที่เป็นโรคตัวกูของกูเกินขอบเขตนั่นมันมากขึ้น มี 1 ต่อ 1 แล้ว เนี่ยที่เรานั่งอยู่ที่นี่ บางทีบ้าอยู่ 50 เปอร์เซ็นต์ บ้าอยู่ว่าจำนวนคน 20 คน บ้า 10 คน ไม่บ้า 10 คนนั้น ระวังให้ดี เพราะไอ้โรคตัวกูของกูนี้มันถึงขนาดหนึ่งแล้วก็ต้องเรียกว่าเป็นโรคจิต คือเป็นบ้า ความคิดไม่มีร่องไม่มีรอย ไม่มีรูปไม่มีร่าง ไม่รู้จะทำอะไร ไม่รู้จะจัดยังไง จะวางจิตใจยังไง ไม่รู้ทั้งนั้นแหละ มันก็อยู่เพ้อๆไปโดยที่ว่าแล้วแต่ว่ามันจะเป็นไปยังไง ก็เลยเดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็รัก เดี๋ยวก็เกลียด เดี๋ยวก็กลัว เดี๋ยวก็อย่างนั้น เดี๋ยวก็อย่างนี้ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดวัน เนี่ยอิทธิพลหรือว่าความร้ายกาจ ความมีพิษร้ายของไอ้กิเลสตัวกูของกู ถ้าที่ในหมู่ชาวบ้านหรือว่าที่เมืองนอกแถวอเมริกาแถวนู้นที่เขาพูดนี่ เป็นกันมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์นะ ในวัดนี้คงจะไม่ถึง คำนวณไว้ว่าคงไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าเรามันยังนึก ยังคิด และยังพูดเตือนกันอยู่เสมอ นั่นเขาไม่เคยพูดเรื่องนี้ เขาไม่เคยเตือนกันเรื่องนี้ มีแต่ว่าเอากัน เอากัน เอากันอะไร ใครจะแข่งขัน แย่งชิง เอามาได้เท่าไหร่ก็เอากัน มีแต่อย่างนั้น เล่าเรียนเพื่อให้ฉลาด ก็เพื่อจะเอาเปรียบคนอื่นให้ได้มาก ตามที่เขาบัญญัติเอาไว้ว่าอย่างนี้ไม่โกง เอาเปรียบชนิดที่ว่าไม่โกง เดี๋ยวนี้เขาเรียนกันโดยไม่รู้ว่าจะจบจะสิ้นจะสุดได้ยังไง จะเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ปริญญาอะไรอีกก็ไม่รู้ แล้วก็จะหาเงินไม่มีขอบเขตที่ว่าเท่าไหร่พอ แล้วเป็นบ้าเป็นหลังบูชาแต่ปริญญา เด็กหนุ่มเด็กสาวเดี๋ยวนี้บูชาปริญญาเป็นพระเจ้า เพราะว่าปริญญาจะช่วยให้ได้เปรียบมั้ง ได้เปรียบคนอื่น ใครถือปริญญามาคนนั้นก็ได้ก่อน ได้โอกาสก่อน ได้อะไรก่อน โดยบูชาปริญญาเป็นพระเจ้า โลกนี้กำลังเป็นอย่างนี้ เนี่ยคุณมองดูสิว่ามันอะไร คือตัวกูของกู ถ้ามองให้ลึกก็คือ อิทับปัจจยตา เรื่องนี้ทำให้เกิดเรื่องนี้ เรื่องนี้ทำให้เกิดเรื่องนี้ เรื่องนี้ทำให้เกิดเรื่องนี้ หรือว่าความคิดอย่างนี้ทำให้เกิดความคิดอย่างนั้น แล้วความคิดอย่างนั้นทำให้เกิดความคิดอย่างโน้นต่อไป ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด แล้วก็มาอยู่ในรูปปัจจุบันคือมนุษย์อยู่ด้วยความรู้สึกเป็นตัวกูของกู มุ่งมั่นแต่ที่ว่าจะให้ได้เปรียบคนอื่น ไอ้ลักษณะที่เขาเรียกว่าเป็นการแข่งขันกันอย่างยุติธรรม แต่ถ้าไม่ได้ก็เอาอย่างยุติธรรมเลย เอากันซึ่งหน้าอย่างโกงซึ่งหน้า แล้วที่เรียกว่ายุติธรรม มันก็เป็นไปไม่ได้เพราะว่าทุกคนมันมีกิเลส คนที่เรียกว่ายุติธรรมนั้นมันก็ยังมีกิเลสที่เห็นแก่ตัว แล้วมันไม่ยุติธรรมตรงที่ว่าบางคนมีโอกาส บางคนไม่มีโอกาส บางคนว่าโอกาสดีกว่า บางคนมีพวกมีพ้อง บางคนมีอะไร มันก็ไม่มีอะไรที่ยุติธรรมได้ ก็กลายเป็นเรื่องกิเลส เราลำบากกันอยู่ด้วยกิเลสตัวนี้ เห็นแก่ตัวเป็นตัวกูของกู แล้วก็ไม่ใช่อะไรอื่นคือกฎของธรรมชาติมันมีอยู่อย่างนั้น เมื่อสมัครเดินแนวนี้มันก็ได้อย่างนี้ เมื่อสมัครเดินแนวอื่นมันก็ได้อย่างอื่น เดี๋ยวนี้เรามันยิ่งกว่าสมัครก็คือว่าบูชาหรืออะไร บูชาแนวไอ้ที่ว่าตัวกูของกูนี่จะเจริญ จะงอกงาม จะได้ จะเด่นนี่ไปทางโน้นเลย ผมก็อยากให้รู้มาจากไอ้สิ่งนี้ สิ่งเดียวนี้ ต้นตอของสิ่งทั้งหลาย งั้นก็จะคิดว่าจะพูดแต่เรื่องนี้กันสักพักหนึ่ง สักยุคหนึ่งเลย เรียกว่าสักยุค จะกี่เดือนหรือกี่ปีก็ตามใจ ไอ้คำพูดที่ว่าตัวกูของกูเนี่ยก็จะเปลี่ยนคำพูดว่าอิทับปัจจยตา ในแง่กิเลสนี้ เพื่อให้รู้จักลึกลงไป ลึกไปกว่าตัวกูของกู ให้รู้จักต้นตอของไอ้สิ่งที่เรียกว่าตัวกูของกู มันจะละกิเลส ละอวิชชา ละอาสวะได้ ในเมื่อมันเกลียด หรือขยะแขยงไอ้ตัวกูของกูเนี่ยมากขึ้น กลัว กลัวกิเลส เกลียดกิเลสมากขึ้น เดี๋ยวนี้ยังไม่เกลียด ไม่กลัวกิเลสเท่าที่ควร
ทีนี้เหลือหน่อยหนึ่งก็จะพูดว่า “ดับตัวกูของกู” ก็เป็นอิทับปัจจยตา ที่ว่าต้องมีเหตุมีปัจจัยฝ่ายดับ เหตุปัจจัยฝ่ายเกิดคือความโง่อวิชชา เหตุปัจจัยฝ่ายดับก็คือความฉลาด ความรู้แจ้งที่เรียกว่าวิชชา ความไม่รู้นั้นเป็นมูลเหตุฝ่ายเกิด ความรู้นั้นเป็นมูลเหตุฝ่ายดับ ก็เป็นอันว่าเราเพิ่ม เราสนใจ ขวนขวายใฝ่ความรู้ ที่นี้ไอ้เรื่องรู้นี่มีกี่รู้มีกี่อย่าง เคยพูดกันมาแล้วหลายสิบครั้งโน้น ไอ้รู้อย่างที่ว่าอ่านเอา ได้ฟังเขาพูด อันนี้รู้อย่างนี้มันยังช่วยไม่ได้ รู้อย่างคิดให้เข้าใจตามเหตุผลมันก็ยังไม่ได้ เดี๋ยวเหตุผลมันก็เปลี่ยนแปลง เดี๋ยวมันก็ลืม มันต้องรู้ชนิดที่เป็นความรู้สึกอยู่ในใจโดยประจักษ์ในใจไม่ต้องใช้เหตุผล เช่น โลภะเกิดขึ้นร้อนเป็นไฟยังไงนี่ไม่ต้องใช้เหตุผล ราคะเกิดขึ้นมันร้อนเป็นไฟยังไงอย่างนี้ไม่ต้องใช้เหตุผล รู้จริง มันต้องเคย มันต้องเคยมีโลภะ มีราคะ มีโทสะ มันก็รู้ว่าร้อน เพียงแต่ตัวหนังสือบอกว่าร้อนเนี่ยมันก็เหมือนกับเป่าปี่ให้แรดฟัง คือคิดว่าจะร้อนนี่มันก็รวนเร โลเลอยู่โดยเหตุผลของมัน มันต้องรู้โดยประจักษ์คือร้อนจริงๆ แก่ใจ รู้มาแล้ว ร้อนมาแล้ว ตั้งแต่เด็กๆเกิดมามันก็เคยรู้มาทั้งนั้นแหละ ไอ้ความร้อนความอะไรนี่ ความทุกข์นี้มันก็รู้ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัวนี่มันก็รู้ แต่มันไม่เอามาสนใจที่จะคิดพิจารณา มันก็เท่ากับไม่รู้ รู้สึกทีหนึ่งก็นั่งร้องไห้อยู่พักหนึ่งแล้วก็เลิกกัน ไม่มาคิดหรอกเพราะเหตุไร เช่นเดียวกับพวกชาวบ้านมาเที่ยวที่นี่ เดินมาถึงตรงนั้นว่า แหมสบายใจจริง สบายใจบอกไม่ถูก มันก็เลิกกันไม่ได้คิดว่าทำไมมันจึงสบายใจ บอกไม่ถูก มันเป็นเสียอย่างนี้ เมื่อเป็นทุกข์ก็ไม่คิดว่าทำไมมันจึงทุกข์ เมื่อเป็นสุขสบายใจมันก็ไม่คิดว่าทำไมมันจึงเป็นสุข ถ้าคิดกันสักหน่อย หรือค้นใจสักหน่อยมันก็จะรู้กันได้ง่ายๆกันว่ามันทุกข์ เมื่อจิตมันประกอบอยู่ในตัวกูของกู มันไม่ทุกข์มันสบายใจบอกไม่ถูกนี่ก็เพราะว่าจิตมันกำลังไม่ประกอบอยู่ในตัวกูของกู มีเท่านี้เอง ทีนี้ก็ตั้งต้นจิตไม่ประกอบอยู่ด้วยตัวกูของกูเช่นอย่างไรบ้าง และทำมาได้อย่างไร ที่มันเป็นเองนั้นมันก็มี เช่นเราเดินไปในที่บางแห่ง ไปนั่งนอนอยู่ในที่บางแห่ง มันสบายใจบอกไม่ถูก อย่างนี้มันเป็นเอง มันไม่ใช่ความสามารถของเรา อย่าเอามาอวด ถ้าอยู่ตรงไหนก็ตามเราสามารถทำให้สบายใจอย่างนั้นได้นั่นน่ะเก่ง นั่นน่ะคือความสามารถของเรา เราจะร่ำรวยหรือจะยากจน เราจะเป็นสบายหรือเจ็บไข้หรืออะไรก็ตามใจ เรามีจิตใจปกติอย่างนั้นอยู่ได้นั่นน่ะคือเก่ง กระทั่งเราจะตายลงเนี่ยเราก็ยังมีใจปกติอยู่ได้ อย่างนี้เรียกว่าเก่ง ทำอย่างไรจึงจะเป็นอย่างนั้น มันก็ต้องศึกษาไอ้เรื่องที่เฉียบขาด เด็ดขาดเนี่ยให้รู้และให้เข้าใจ และให้ปฏิบัติได้ คือศึกษาเรื่องอิทับปัจจยตาให้แจ่มแจ้ง ให้ปฏิบัติได้ เพราะว่านั่นน่ะคือตัวการที่จะทำให้เป็นทุกข์ งั้นก็ศึกษาให้รู้จนรู้จักทำให้มันเปลี่ยนเป็นฝ่ายที่มันตรงกันข้าม อิทับปัจจยตาฝ่ายตรงข้าม งั้นจึงเรียกว่าหนามยอกเอาหนามบ่ง หนามด้วยกันแต่มันทำหน้าที่คนละชนิด เรื่องนี้เคยเล่าให้ฟังบ่อยๆ กลัวว่าจะไม่สนใจอีกนั่นเอง ไอ้หนามที่ชายทะเล หนามเล่มใหญ่ๆมันตำเข้าไปที่ส้นนี่เอาออกยาก ให้ใช้หนามบ่มคือเอาหนามที่ดีๆมาอีก 2 หนามมาขนาบเอา 2 ข้าง ปักลงไปข้างๆแล้วงัดขึ้นมาพร้อมๆกัน ไอ้หนามอันนั้นก็ขึ้นมา นี่หมายความว่าไอ้หนามทั้ง 3 เล่มเนี่ยจากต้นเดียวกันแหละ จากต้นไม้ต้นเดียวกันนั่นแหละ ไอ้หนามทีแรกก็จากต้นไม้ต้นนี้ แต่มันเก่าหน่อย มันตกอยู่ ไปเหยียบเข้า ตำติดอยู่ในเนื้อ ต้องไปตัดหนามสดๆแข็งดี ไม่หักมา 2 เล่ม มาปักลงไป 2 ข้างขนาบหนามที่ปักอยู่ในเนื้อ แล้วงัดอย่างคานดีดพร้อมๆกัน มันก็ถอนขึ้นมา หนามเหมือนกัน จากต้นไม้ต้นเดียวกัน อันหนึ่งเป็นหนามสำหรับยอก อันหนึ่งเป็นหนามสำหรับบ่งให้ออก เนี่ยอิทับปัจจยตาทั้ง 2 ฝ่ายมันเป็นมาจากต้นตอเดียวกัน ถือเป็นธรรมธาตุ หรือเป็นไอ้ธา-ตุ เป็นสาธาตุชนิดที่ว่ามันอยู่อย่างนั้นน่ะ พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือพระพุทธเจ้าจะไม่เกิดมันอยู่ของมันอย่างนั้นแหละ แต่อย่าลืมว่าอันหนึ่งมันเป็นหนามยอก อันหนึ่งมันเป็นหนามบ่ง ฝ่ายสมุทยวารเป็นหนามสำหรับยอกอกให้เจ็บปวด ฝ่ายนิโรธวารมันเป็นรักษาให้หาย ให้เย็น ให้ศึกษาให้ดีเรื่องอิทับปัจจยตา ฝ่ายสมุทยวาร ฝ่ายนิโรธวาร นั่นคือเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่พูดแล้ว เดี๋ยวนี้เรามันไม่รู้ไม่ชี้ หนามยอกก็ร้องไห้ ยิ่งกระโดดโลดเต้นก็ยิ่งเข้าไปลึก ถ้านั่งร้องไห้อยู่มันจะหายได้ยังไง งั้นก็ต้องจัดการเอาออกให้ถูกวิธี นี่คือเรียกว่าตัวกูฝ่ายเกิด ตัวกูฝ่ายดับ ตัวกูฝ่ายเกิดคือหนามยอก ตัวกูฝ่ายดับคือหนามบ่ง ทั้ง 2 ตัวกูนี้ล้วนแต่เป็นกฎธรมชาติหรืออิทับปัจจยตา ที่มีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ไม่รู้เกิดมาแต่ครั้งไหน ธรรมะอันนี้ กฎธรรมชาติอันนี้ไม่รู้ว่าเกิดกันมาแต่ครั้งไหน เกิดมาพร้อมกับที่ธรรมชาติมี เดี๋ยวนี้มันก็ยังอยู่ นี่เราคนหนึ่งๆมันก็คือส่วนหนึ่ง ตอนหนึ่ง ส่วนหนึ่งของไอ้กระแสอันนี้ จับพลัดจับผลูขึ้นมาเป็นมนุษย์คนนี้ แล้วก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์อันนี้ นั่งร้องไห้อยู่ ถ้าแก้ไขได้มันก็อยู่เหนือความเป็นอย่างนั้น ถ้าแก้ไขไม่ได้ก็ต้องไปตามกระแสนั้น เรียกว่าลอยคออยู่ในวัฏสงสาร ก็ต้องไปอย่างนั้น ถ้าแก้ไขได้มันก็ขึ้นบกตรงกันข้าม เป็นอยู่เหนือวัฏสงสาร เดี๋ยวนี้มันก็เป็นวัฏสงสารเสียเป็นส่วนมาก คือเป็นเรื่องของความทุกข์เสียเป็นส่วนมาก เวลาที่ไม่มีทุกข์ว่างจากทุกข์น่ะมันมีน้อย ใครทำให้มันว่างจากทุกข์ได้มากเข้าเรียกว่าดี เรียกว่ามีบุญไปก่อน จนกว่าจะหมดปัญหาที่จะต้องทำ วิธีลัดของเราคือว่าตายเสียก่อนตาย นี่ก็เป็นอิทับปัจจยตา คุณอย่าเข้าใจผิด ความหมายของคำว่าตายเสียก่อนตายก็คือสติปัญญาชนิดหนึ่ง เป็นไปตามอิทับปัจจยตาฝ่ายวิชชา ฝ่ายความสว่างไสว รู้ว่าอย่ามีตัวกู อย่ามีตัวกู อย่ามีของกู เป็นๆอย่างนี้ อย่ามีตัวกู อย่ามีของกู เรียกว่าตายเสียแล้วก่อนตาย นี่ก็คืออิทับปัจจยตาส่วนที่มันจะเป็นฝ่ายดับ ความรู้เรื่องอิทับปัจจยตา ก็เป็นอิทับปัจจยตา แล้วก็เป็นเหตุให้เกิดการปฏิบัติตามนั้น มันก็เป็นอิทับปัจจยตา แล้วมันก็เป็นเหตุให้ได้รับผลของการปฏิบัตินั้น มันก็เป็นอิทับปัจจยตา แม้แต่ความดับทุกข์เกิดขึ้น ไม่มีทุกข์เลย มันก็เป็นอิทับปัจจยตาอยู่นั่นแหละ ความดับแห่งทุกข์มันเป็นผลออกมาจากการปฏิบัติที่ถูกต้อง แล้วมองดูให้ดีเพราะมันไม่มีอะไรที่ไม่ใช่อิทับปัจจยตาเต็มไปหมดเลย ทั้งในตัวเรา ทั้งนอกตัวเรา ไปทำวิปัสสนาในที่สงบสงัดแล้วก็มองดูอย่างนี้กันเสียบ้างว่าไม่มีอะไร เหลียวไปทางไหนรอบตัว ข้างบน ข้างล่างมันมีแต่อิทับปัจจยตา ในตัวเรา ร่างกายนี่ก็เป็นไอ้กระแสของอิทับปัจจยตา ปรุงแต่งกันอยู่อย่างนี้ เป็นร่างกายอยู่เรื่อยอย่างนี้ เพราะการปรุงแต่งอยู่เรื่อย กิน อาบ ถ่าย อะไรก็ตามไปปรุงแต่งอยู่เรื่อย ทีนี้จิตใจนั่นน่ะยิ่งเป็นอิทับปัจจยตา คือยิ่งปรุงแต่งเร็ว เปลี่ยนแปลงเร็ว ไหลเชี่ยวเป็นเกลียวไปเลย ไอ้ความคิดนึก ความรู้สึกอะไรต่างๆนี่ แล้วกายและใจมันก็เป็นอิทับปัจจยตา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ไอ้ขี้ไคลอะไรก็ตามใจมันเป็นอิทับปัจจยตา ความรู้สึกสุขทุกข์ อุเบกขาอะไรก็เป็นอิทับปัจจยตา ข้างในของเรานี่หมดเลย คนอื่นก็เหมือนกัน แม้สุนัขและแมวก็เหมือนกัน นี่บรรดาสิ่งที่มีชีวิต ให้ดูข้างนอกเข้าไปตั้งแต่คนอื่น ตั้งแต่ผู้อื่น สัตว์อื่น ต้นไม้ ภูเขา ก้อนดิน มันก็เป็นอิทับปัจจยตาหมด ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้บ้างแล้วก็มีหวังนะ ถ้ายังไม่เกิดความรู้สึกอย่างนี้เสียเลยแล้วก็ยังไม่มีหวัง เช่น มีสัสสตทิฐิที่เป็นเชื้อ เป็นอนุสัย เป็นอะไรหนักแน่นหนา เป็นตัวกูของกูอย่างแน่นหนา งั้นเหลียวไปทางไหนเห็นอิทับปัจจยตาเต็มไปหมดนั่นน่ะใช้ได้แล้ว คือว่าเห็นธรรมนิยาม ธรรมฐิติ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไหลเชี่ยวเป็นเกลียวไป ไม่มีหยุด ไม่มีหยุดเลย จะเป็นเรื่องสุขเรื่องทุกข์ เรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องบุญเรื่องบาป ก็ล้วนแต่ไหลเชี่ยวเป็นเกลียวติดต่อกันไป เกลียวเดียวกันด้วย เกลียวนั้นน่ะเดี๋ยวมันเป็นดำเดี๋ยวมันเป็นขาว เดี๋ยวมันเป็นบุญเดี๋ยวมันเป็นบาป เดี๋ยวมันเป็นสุขเดี๋ยวมันเป็นทุกข์ กระแสที่ไหลไปในจิตใจของสิ่งที่มีจิตใจ เดี๋ยวเราดีใจ เดี๋ยวเราเสียใจ เดี๋ยวเรากลัว เดี๋ยวเราโกรธ เดี๋ยวเราสบายใจ เดี๋ยวเราไม่สบายใจ เดี๋ยวใจดี เดี๋ยวใจเลว จนกว่ามันจะถึงที่สิ้นสุดของกระแสที่จะไหล ถ้ามันยังเป็นอยู่อย่างนี้มันก็เป็นอย่างนี้ นี่ก็เรียกว่าตถาตา คำที่ถูกประณามว่าเป็นฝ่ายมหายานเนี่ย แต่มีในพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาท พูดว่าเป็นอย่างนี้คำเดียวพอ มันเป็นอย่างนี้ แม้ว่ามันจะกลายเป็นนิพพานขึ้นมามันก็เป็นอย่างนี้นั่นแหละ มันก็เป็นอย่างนี้นั่นแหละ ตถาตามันหมายความอย่างนั้น จะเป็นสังคตะหรือ อสังคตะมันก็เป็นอย่างนี้ เรียกว่าตถาตาได้เหมือนกันหมด สังขารก็ตถาตา วิสังขารก็ตถาตา ส่วนที่เป็น อิทับปัจจยตาเนี่ยหมายความว่ายังไม่ดับ งั้นความเป็นตถาตาของมัน มันก็เป็นในครึ่งหนึ่ง คือสำหรับฝ่ายสังคตธรรมหรือสังขารธรรม ส่วนตถตาอีกครึ่งหนึ่งมันฝ่ายอสังคตะ ฝ่ายวิสังขาร ทีนี้รวมกันทั้ง 2 ฝ่ายมันก็เป็นตถตาสมบูรณ์ ความเป็นอย่างนั้น ความเป็นอย่างนั้น ตถตาแปลว่าความเป็นอย่างนั้น ความไม่เป็นอย่างอื่นไปได้ นี่เรียกว่าตถตา ให้รู้จัก ก็ยังจะไม่มีใครสนใจ เพียงแต่ได้ยินได้ฟังเขาพูดบ้าง หรือนึกๆเดาๆเอาบ้าง เริ่มสนใจเพราะรู้สึกว่ามันแปลกดี คำที่เรียกว่าเห็นธรรมนิยาม เห็นธรรมฐิติ เห็นอะไรที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สาฐิตา ว ธาตุ” ก็คือเห็นอย่างนี้ สิ่งที่มันมีแน่นอนตายตัว ไม่เปลี่ยนแปลงนี้ อยู่อย่างนี้ พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือจะไม่เกิดไม่มีผลกระทบกระทั่งไอ้สิ่งนี้เลย สิ่งนี้ยังคงเป็นอย่างนี้อยู่เรื่อย งั้นเราต้องเห็นว่าเนี่ยมันยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า หรือยิ่งกว่าพระเจ้า หรือยิ่งกว่าอะไรหมด คือมันไม่ฟังเสียงใคร มันไม่อยู่ในอำนาจของผู้ใด งั้นถ้าจะมีพระพุทธเจ้าก็ควรจะมีที่สิ่งนั้น จะมีพระเป็นเจ้าก็มีที่สิ่งนั้นเสียดีกว่า คือมันเหนือสูงสุดสิ่งใด ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสหมายถึงพระพุทธเจ้าที่เป็นคนๆนี่ ตถาคตที่เป็นคนๆนี่จึงพูดได้ ตถาคตจะเกิดหรือตถาคตจะไม่เกิดก็ตาม ตัวตถตาจะเป็นอยู่อย่างนั้นเสมอไม่เปลี่ยนแปลง นั่นน่ะคือธา-ตุ เรียกสั้นๆคำเดียวว่า ธา-ตุ ธาตุ ความหมายมหาศาล ไอ้ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุนี่เรื่องขี้ผง เรื่องเล็กน้อย แต่คนโง่ๆก็ยังไม่รู้ ไม่รู้เรื่องธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศ วิญญาณ เนี่ยเป็นธาตุเล็กๆเป็นธาตุขี้ผง ก็ยังไม่รู้ ยังจะ ปัจจเวกก็ยังไม่ถูก แล้วจะไปรู้จักไอ้ธาตุตัวใหญ่ ธาตุมหาศาล ธาตุครอบงำทุกสิ่งได้ไง
งั้นขอให้สนใจคำว่า “ตถตา” หรือ “อิทับปัจจยตา” ซึ่งเป็นทั้งหมดของทุกสิ่ง แต่เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกสิ่ง เรารู้เท่าที่จำเป็นที่เราจะต้องรู้คือที่มันเกี่ยวกับตัวกูของกู การเกิดแห่งตัวกูของกู การดับแห่งตัวกูของกู เท่านี้พอ นอกนั้นไม่ต้องรู้เพราะมันมากนัก มันทุกสิ่ง ให้ระลึกถึงคำที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า เรารู้เท่ากับใบไม้ทั้งป่า เราสอนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว นึกถึงใบไม้กำมือเดียวสิ แล้วก็ใบไม้ทั้งป่าหรือทั้งโลกนี่มันเท่าไหร่ ใบไม้เพียงแค่ในสวนโมกข์ทั้งหมดนี่มันก็ไม่ไหวแล้ว เอามาใช้นั่นน่ะเพียงกำมือเดียว ในเรื่องตถตามันก็เท่าใบไม้ทั้งป่า แต่พระพุทธเจ้าเอามาสอนเพียงกำมือเดียว เท่ากับใบไม้เพียงกำมือเดียว มันไม่จำเป็นที่จะต้องรู้มันทั้งหมด จะเพ้อเจ้อ จะเป็นอภิธรรมเพ้อเจ้อ คือไปเรียนเรื่องใบไม้ทั้งป่า ส่วนใบไม้กำมือเดียวก็ไม่สนใจที่จะนั่นเร็วๆ งั้นขอให้ทุกคนจดจ่ออยู่แต่เรื่องตัวกูของกู ทั้งเมื่อมันเกิดและทั้งเมื่อมันดับ เพราะว่าถ้าเราไม่รู้เรื่องเกิด เราดับมันไม่ได้หรอก เราจะไปสนใจแต่เรื่องดับโดยไม่สนใจเรื่องเกิดนั้นทำไม่ได้ เพราะว่าดับมันตรงกันข้ามกับเกิด งั้นเราต้องรู้จักว่ามันเกิดเพราะเหตุใด เกิดอย่างไร เราจึงจะไปจัดการให้มันดับได้ เพราะฉะนั้นเราต้องสนใจทั้งเรื่องความทุกข์ หรือเรื่องความดับทุกข์ ใครมีทุกข์มากจนสิ้นเนื้อประดาตัวเนี่ย มันยิ่งใกล้ต่อความรู้การดับทุกข์ มันใกล้ต่อนิพพาน คนที่ไม่รู้เรื่องความทุกข์มันก็ยังโง่ร้อยเปอร์เซ็นต์ งั้นรู้ความทุกข์เข้าไปเท่าไหร่ มันก็ฉลาดเข้าไปเท่านั้น มันมีส่วนที่จะดับทุกข์ได้ทั้งนั้น เพราะว่าถ้ารู้จริงต้องรู้พร้อมกันทั้ง 2 อย่าง ทั้งทุกข์และทั้งความดับทุกข์ แต่บางทีก็ตรัสว่าทั้ง 4 อย่างแหละทำไป คือ อริยสัจ 4 รู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ และทำให้ถึงความดับทุกข์ ต้องรู้พร้อมกัน มันกลมกลืนกันไป รู้ความทุกข์มากขึ้นเท่าไหร่ก็รู้ความดับทุกข์มากขึ้นเท่านั้น เราอยู่ในกองไฟมากขึ้นเท่าไหร่เราก็ยิ่งรู้ความร้อนมากขึ้นเท่านั้น มันก็รู้ว่าสิ่งตรงกันข้ามได้มากขึ้นเท่านั้นเหมือนกัน งั้นรู้ความทุกข์เท่าไหร่มันจะรู้ความดับทุกข์เท่านั้น ทีนี้เราเกลียดความทุกข์ เราไม่อยากเข้าไปหาความทุกข์ มันก็เลยต้องจมอยู่ในกองทุกข์ ทั้งที่ไม่รู้ว่าความทุกข์เป็นอะไร ก็ได้ทุกข์ไปก่อน ก็ได้ทุกข์ไปเรื่อยๆ งั้นสิ่งแรกที่ต้องศึกษาคือความทุกข์ แล้วก็ศึกษาเหตุของความทุกข์ ศึกษาภาวะที่ตรงกันข้าม คือความไม่มีความทุกข์และเหตุที่จะให้ไม่มีทุกข์นั่นนะ ความดับของ ไอ้ทางของไอ้ความดับของความทุกข์ พอเกิดความทุกข์ขึ้นมาอย่านั่งร้องไห้ อย่าโกรธ ถือเอาความทุกข์นั้นเป็นบทเรียน ศึกษา เดี๋ยวจะพบไอ้สิ่งตรงกันข้ามคือความดับทุกข์ เดี๋ยวนี้ที่เห็นๆอยู่ พอเกิดความทุกข์ขึ้นมาก็เป็นบ้าไปเลย โกรธบ้าง ร้องไห้บ้าง ด่าเขาบ้าง อะไรเขาบ้าง อย่างนี้ไม่มีหวัง ถ้าเกิดความทุกข์ก็ต้องพิจารณาหาเหตุถึงความทุกข์ ว่าทำไมจึงได้ทุกข์ เพราะยึดมั่นถือมั่นอะไรจึงได้ทุกข์ มันมาจากอะไร อวิชชาอยู่ที่ตรงไหน อย่างนี้แหละเดี๋ยวก็พบ ทีนี้ก็จะไม่ทุกข์ แล้วความทุกข์ชนิดนั้นจะไม่ทุกข์อีกต่อไป ถึงแม้มันจะมาอีกก็ไม่ทุกข์ ไม่มีปัญหาไอ้เรื่องที่ละเอียดกว่านั้น เพราะงั้นเราจึงดับทุกข์ได้ยิ่งขึ้นไปตามลำดับ ตามลำดับ ตามลำดับกันทุกชั้น ละเอียดประณีตเท่าไหร่ก็ดับได้ ก็เลยหมดกัน จบเรื่อง เดี๋ยวนี้แม้แต่หยาบๆก็ไม่รู้ ละเอียดลึกซึ้งจะไปรู้ได้ยังไง เนี่ยพออะไรเกิดขึ้นที่เป็นเหตุให้ตัวกูของกูร้อน กระโดดโหยงเหยง ดูให้ดีๆ อย่าไปโกรธ อย่าไปเกลียด อย่าไปไอ้แบบที่มันไม่ได้ประโยชน์อะไรนะ หรือแม้แต่วิ่งหนีก็ไม่ควร ต้องเผชิญกับมันเพื่อจะศึกษามัน ถ้าทำอย่างนี้ไม่เท่าไหร่หรอก ไม่กี่ชาติหรอกบรรลุมรรคผล เพราะวันหนึ่งๆมันเกิดหลายชาติ เดือนหนึ่งเกิดหลายสิบชาติ ปีหนึ่งเกิดหลายร้อยชาติ หลายพันชาตินะ ถ้าเราทำให้ถูกวิธีไม่กี่ชาติหรอกจะบรรลุมรรคผล ไม่ทันจะเข้าโลงก็มีได้หลายร้อยหลายพันหลายหมื่นหลายแสนชาติ งั้นอย่าโง่ตั้งแสนชาติเล้ย เอากันสักยี่สิบสามสิบชาติก็พอ ก็คงจะได้ภายใน 1 ปี 2 ปี 3 ปี เกิดตัวกูทีหนึ่งนับว่าชาติหนึ่งน่ะ อย่าเรียนผิดๆ อย่าเรียนอย่างภาษาคน ชาติหนึ่งเข้าโลงทีหนึ่งนั่นมันภาษาเนื้อหนัง ภาษาร่างกาย ภาษาคนพูด ไม่ใช่ภาษาพระพุทธเจ้า ภาษาพระพุทธเจ้าเกิดปฏิจสมุปบาททีหนึ่งเรียกว่าชาติหนึ่ง คือเกิดตัวกูของกูเนี่ยทีหนึ่งเรียกว่าชาติหนึ่ง ถ้าวันหนึ่งเกิดสิบครั้งก็คือสิบชาติ มันไม่รู้จักเข็ดรู้จักหลาบกันบ้าง อย่าดื้อด้านน่า ไม่รู้จักละอายกันเสียเลย ความผิดพลาดเกิดขึ้นครั้งหนึ่งเป็นความทุกข์ครั้งหนึ่ง รู้จักละอาย รู้จักกลัว ไม่เท่าไหร่หรอกมันเปลี่ยน เปลี่ยน เปลี่ยน เปลี่ยนไปในทางที่จะไม่เกิด เกิดยาก เกิดน้อย รู้จักละอายอย่าไปทำผ้านุ่งหลุดกลางถนน นั่นเรื่องวัตถุ ที่เรื่องจิตใจนี่ก็เหมือนกันแหละ การปล่อยให้ตัวกูของกูเกิดนั่นมันมีผลเท่ากับทำผ้านุ่งหลุดกลางถนน แต่มันในฝ่ายวิญญาณ ฝ่ายจิตใจ แล้วคนอื่นก็ไม่มารู้ของเรา ถนนนี้ แต่ถ้าเรามีหิริ มีโอตัปปะ เราก็ละอายเท่ากันน่ะ ละอายกว่าเสียอีก เราปล่อยให้กิเลสเกิดขึ้นเนี่ย เราละอายกว่าไปทำผ้านุ่งหลุดกลางถนน ถ้ามันมีธรรมะจริง แล้วมันเป็นสัตบุรุษจริงๆ แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่คิดกันอย่างนั้นแล้ว ทำผ้านุ่งหลุดกลางถนนน่ะน่าอายที่สุด ส่วนกิเลสเกิดกลับสบายที่สุด เรากลับชอบที่สุด ชอบให้กิเลสเกิด มันโลดโผน มันสนุก แล้วมันจึงดับไม่ได้ สิ่งต่างๆมันไม่เป็นไปในทางดับตัวกูของกู มันไปยุไปส่งเสริมตัวกูของกูเกิดเรื่อย แรงขึ้นเรื่อย แรงขึ้นเรื่อย ก็เรียกว่าตัวกูเกิดมากชาติ หลายร้อยหลายพันหลายหมื่นหลายแสนชาติ จนกระทั่งเข้าโลงไปเลย นี่มันไม่ละอาย งั้นมีความโลภทีหนึ่งละอายทีหนึ่ง มีความโกรธทีหนึ่งละอายทีหนึ่ง มีความโง่ทีหนึ่งละอายทีหนึ่ง แล้วอย่าให้เกิดความเคยชินในเรื่องนี้ ให้มันละอายจริงๆยิ่งๆขึ้นไป ถ้ามันเกิดความด้าน ความเคยชินแล้วมันก็ไม่ละอาย ทีนี้ยากอยู่ที่ตรงนี้แหละ ผลสุดท้ายการเล่าเรียนก็ไม่ยาก การจะปฏิบัติอย่างไรก็ดูเหมือนจะไม่ยาก แต่พอต่อมา ต่อมามันเกิดความด้านและความเคยชิน มันเลยชะงัก ความขี้เกียจนั่นน่ะมันจะมาโดยที่เราไม่รู้สึก ไอ้สิ่งที่เราเคยขยันนั่นน่ะระวังให้ดี มันจะเปลี่ยนเป็นความขี้เกียจเมื่อไหร่ก็ได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ กวาดขยะสนามหญ้าที่ลานที่วัด ครั้งแรกๆก็สนุก ขยัน สนุก ขยัน ระวังให้ดีมันเปลี่ยนเป็นขี้เกียจหรือไม่ชอบเมื่อไหร่ไม่ทันรู้ ถ้าไม่อย่างนั้นมันคงกวาดขยะกันอยู่ทุกวัน ตลอดปี ตลอดชาติได้ เห็นมั้ย เพราะไอ้ขยันนั้นมันไม่ใช่ขยันจริง มันสนุกพักเดียวเมื่อแรกไปจิ้มเข้า กูเก่งเว้ย กูขยันเว้ย อะไรนี่ก็ขยันกันไปพักหนึ่ง แล้วก็เปลี่ยนเป็นขี้เกียจเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ทำอย่างนั้น ท่านตรัสแต่ว่าขยันเสมอต้นเสมอปลาย ครั้งสุดท้ายพูดอย่างที่เรียกว่าฟันหินกันเลยว่า ไม่ตรัสรู้เป็นไม่ลุกขึ้นจากที่นั่งนี้ ผลสุดท้ายก็ตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิ์นั้นจริงๆ เนี่ยไอ้ความขยันของเรา ความเอาจริงของเราไม่สม่ำเสมอเช่นนั้น งั้นไปคิดดูกันใหม่ อะไรมันเป็นหน้าที่ เป็นสิ่งที่มีปะโยชน์คือเป็นตัวพรหมจรรย์จริงๆ ฉะนั้นอย่าปล่อยให้มันโลเล เหลาะแหละ โลเล จนขยันพักเดียวแล้วก็ไม่ขยันอีก ดังนั้นหัดอะไรให้มันสม่ำเสมอไว้ พวกเณรเขาขึ้นๆแปรงฟันยาหอมทุกวันๆ มันไม่เคยลืมเลย ผมบางทีไม่ได้ล้างหน้าตั้งหลายๆวัน มันลืมไป อย่าว่าแต่แปรงฟันเลย แล้วคิดดูว่าเพราะอะไร เพราะมันรักจะให้หอม จะให้สวย มันจึงไม่ลืม ไอ้เรามันลืมไป เพราะเรามันลืมไอ้เรื่องจะให้หอม เรื่องจะให้สวย บางทีไม่ได้ล้างหน้า อย่าว่าแต่จะแปรงฟันด้วยยาถูฟันที่หอมๆเลย ยิ่งเบื่อ ยิ่งรำคาญ ยิ่งขี้เกียจ ไอ้เรื่องอย่างนั้นมันยิ่งขี้เกียจ แต่ว่าไอ้การที่จะคิดจะนึกจะแยกแยะธรรมะอะไรนี่มันไม่เคยขี้เกียจ มันอยากจะตื่นเร็วๆ มันเปิดหนังสืออ่านมันเลยลืมล้างหน้า
เนี่ยเป็นเรื่องประกอบกันที่ว่าเราจะเอาชนะไอ้เรื่องตัวกูของกู มันต้องทำอย่างสม่ำเสมอและให้ถูกวิธีด้วย ถึงจะดับได้ จะดับตัวกูของกูได้เรื่อยๆเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น คือว่าเราชนะกิเลสได้เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นทีละนิดน่ะ นี่ก็เรียกว่าควบคุมให้มันมีความสม่ำเสมอในการประพฤติพรหมจรรย์ มีความเพียรติดต่อ เป็นพะหุลีกะตา เป็นภาวิตา เป็นพะหุลีกะตา เป็นความเพียรติดต่อ อย่างนี้เรื่อยไปจนตาย มันก็มีผลคือว่าตายหรือว่าชนะเท่านั้นเอง หรือว่าชนะก่อนตาย ถ้าไม่ชนะก็คือตาย มันไม่มีอย่างอื่น ถ้าว่าต้องชนะหรือเหมือนกับว่าตาย เขาเรียกว่าสู้จนตายตามแบบพระพุทธเจ้า แพ้เป็นไม่มี ถอยหลังเป็นไม่มี ขี้เกียจเป็นไม่มี สิ่งใดเป็นหน้าที่โดยตรงแล้วสิ่งนั้นแล้วเป็นของสูงสุด ทีนี้การดับทุกข์ การละกิเลสเป็นหน้าที่โดยตรง ก็ไม่มีขี้เกียจ ไม่มีเหลวไหล ไม่มีโลเล ถ้าทำไม่ได้ถึงขนาดนั้นก็ว่าอะไรมันมีประโยชน์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ แล้วก็ทำสิ่งนั้นแหละ มันก็เป็นเรื่องละกิเลสไปในตัว ที่ปลอดภัยกว่าก็ทำประโยชน์ของผู้อื่น ประโยชน์ตัวลืมเสียเลยดีกว่า มันจึงสนุกอยู่ได้ในการละกิเลส เพราะมันสนุกด้วยการทำประโยชน์ผู้อื่น พอเห็นแต่แก่ประโยชน์ตัวแล้วไม่อะไรแล้ว มันหลีกมันเลี่ยงมันเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นแล้ว มันเปลี่ยนไปหาประโยชน์ตัวอย่างอื่น มันทำอยู่อย่างนี้อย่างสม่ำเสมอไม่ได้ คือมันเห็นแก่กิเลส มันเห็นแก่ประโยชน์ของกิเลส กิเลสมันก็พาไปหาอย่างอื่น จะสม่ำเสมออยู่แต่การละกิเลสไม่ได้ ทีนี้เรื่องพรหมจรรย์นี่คือความสม่ำเสมอเหมือนนาฬิกาเดินทั้งวันทั้งคืนนั้น อยู่ในการละกิเลสก็จึงจะเรียกว่าพรหมจรรย์ อะไรหัดให้มันสม่ำเสมอ ด้วยความพากเพียรติดต่อ ก็ทำ เรียนก็เรียน ปฏิบัติก็ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เดี๋ยวไปนอนคุยกันเสียแล้ว เดี๋ยวไปหลับเสียแล้ว ไปเหลวไหลอย่างอื่นเสียแล้ว ไม่มีวันที่จะรู้จักกับไอ้สิ่งร้ายกาจสูงสุด หรือว่ามีประโยชน์ที่สุด แม้แต่ว่ามันอยู่ทั่วไปในทุกหนทุกแห่ง ความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอิทับปัจจยตา มีอยู่รอบตัวเราทุกหนทุกแห่ง เราหายใจมันเข้าไปทุกครั้งที่หายใจ เราก็ไม่รู้จัก เราก็ไม่รู้ แล้วจะไปโทษใคร พระพุทธเจ้าว่าเราช่วยใครไม่ได้ ได้แต่ชี้หนทาง จะช่วยพาไป จะช่วยอุ้มไป อะไรไม่ได้ ได้แต่ชี้หนทาง บางทีมันมีคำแปลประหลาดๆว่า เราปลุกใครไม่ได้ เราทำใครให้ตื่นไม่ได้ นอกจากเขาจะไปหาวิธีทำตัวเขาให้ตื่นเอง ทีนี้มันขัดกันกับที่เราพูดว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตื่นแล้วเป็นผู้ปลุก พุธโธ ผู้ตื่นแล้ว โพเธตา เป็นผู้ปลุกนี่ แต่มีพระพุทธภาษิตของพระพุทธเจ้าเองไปในทำนองว่า ฉันทำใครให้ตื่นไม่ได้ ได้แต่ชี้ทาง ชี้หนทางให้ไปทำให้ตื่น ด้วยตัวเองให้ตื่น ทีนี้เราไปถือว่านั่นคือปลุกแล้ว พระพุทธเจ้าเป็นผู้ปลุก ข้อนี้ต้องระวังให้ดี กิจทั้งหลายอันพวกเธอทั้งหลายต้องทำเอง ตถาคตเป็นแต่ผู้แนะหนทางเท่านั้น ให้ไปทำ ให้ไปปลุกตัวเองให้ตื่น หรือไปดับทุกข์ของตัวเอง นี่ความจริงที่แท้จริงมันจะเป็นอย่างนี้มากกว่าที่ว่าเราจะนอนรอให้พระพุทธเจ้าปลุก
เอาละการที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมไว้ในโลกนี้ ก็เรียกว่าเป็นผู้ปลุกได้โดยปริยาย แต่ยังไม่ใช่ปลุกแท้จริง ปลุกแท้จริงมันต้องไปปลุกตัวเองด้วยการทำตามที่พระพุทธเจ้าท่านแนะนั้น มันก็ตัวเองก็ตื่นขึ้นมาจากหลับคือกิเลส งั้นการดับกิเลสต้องทำเอง พระพุทธเจ้าแนะแต่วิธี นี่เรื่องใหญ่ๆมันก็สรุปอยู่ตรงเนี้ย ให้มันรู้จัก ให้มันลืมหูลืมตา รู้จักตัวกูของกู รู้จักอิทับปัจจยตา เกิดอย่างไร ดับอย่างไร แก้ไขกันอย่างไร ให้สิ้นสุดลงที่ตรงไหน เนี่ยเราพูดซ้ำๆกันที่ตรงนี้ งั้นวันนี้พอกันที