แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ของเราก็เป็นอันรู้กันว่าพูดเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูตามเคย เรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูนี้มันมีให้พูดได้หลายแง่หลายมุมไม่รู้สิ้นสุด วันนี้ก็เป็นวันประเพณีที่สมมติกันขึ้นเป็นวันลอยกระทง ก็เลยคิดว่าอยากจะพูดเรื่องลอยตัวกูของกูกันดูบ้าง ในประเทศอินเดียแต่โบราณเขามีวันศักดิ์สิทธิ์อยู่บางวันสำหรับลอยบาป ในวันที่ศักดิ์สิทธิ์แล้วก็ในพิธีที่จัดขึ้นเป็นการใหญ่ก็มีการลอยบาป นี่แสดงว่ามนุษย์เรารู้จักเรื่องลอยคือให้น้ำพาไปกันมานานแล้ว แล้วก็เป็นเรื่องที่มีความหมายดีเหมือนกันในทางศีลธรรม นี่เรื่องลอยกระทงนี่มันดูจะไม่ใช่ลอยบาป เรียกว่าลอยเครื่องสักการบูชาไปบูชาพระบาท พระพุทธบาทที่นั่นที่นี่ ถ้าอย่างนี้มันยังต่ำลงไปอีก ต่ำกว่าลอยบาป ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ลึกซึ้งเหมือนความคิด ที่ลึกซึ้งน้อยกว่าที่จะลอยบาป ที่นี้พวกพราหมณ์เขาลอยบาป นี่เราก็อยากจะพูดให้ชัดกว่านั้นก็ว่า “ลอยตัวกูของกู” ซึ่งมันเป็นต้นเหตุของบาป เป็นอันว่าวันนี้เราพูดเรื่องลอยตัวกูของกู
เรื่องตัวกูของกูคืออะไร นี่ต้องทบทวนกันอยู่เสมอ บางคนอาจจะลืมเสียหมดแล้วก็ได้ ต้องทบทวนว่าตัวกูเกิดเมื่อไร ตัวกูเกิดเมื่ออวัยวะสำหรับสัมผัสนั้นได้รับสัมผัสทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ จมูกก็ได้ ลิ้นก็ได้ กายก็ได้ แม้แต่ใจล้วนๆก็ได้ มันมีคู่สัมผัส คือ ตาคู่กับรูป หูคู่กับเสียง จมูกก็คู่กับกลิ่น ลิ้นก็คู่กับรส กายก็คู่กับสัมผัสที่มากระทบผิวหนัง จิตก็คู่กับธรรมารมณ์คือความรู้สึกนึกคิดทางจิตใจเกิดขึ้นในใจ มันเป็นคู่ๆกันอยู่ เมื่อใดมีการกระทบทางอายตนะด้วย แล้วเมื่อนั้นมีอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก็เรียกว่า “อวิชชาสัมผัส” สัมผัสนั้นเป็นสัมผัสที่ประกอบอยู่ด้วยอวิชชา เมื่อใดมีสัมผัสนี้ เมื่อนั้นจะต้องมีตัวกูของกูเกิดเสมอ ถ้าไม่มีอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้องสัมผัสนั้นไม่ชื่อว่าอวิชชาสัมผัส มันก็ไม่อาจจะเกิดตัวกูของกู ดูสิเราก็ลืมตาอยู่เสมอ ตามันก็ไม่บอด ตามันก็หลับอยู่ไม่ได้มันก็ต้องลืม เมื่อลืมมันก็เห็นอยู่นี่เราก็ต้องเห็นเหมือนอย่างที่เดี๋ยวนี้เรานั่งอยู่นี่เราก็เห็น แต่สัมผัสอย่างนี้มันไม่มีอวิชชาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น จึงยังไม่เกิดตัวกูของกู ได้ยินเสียงก็เหมือนกัน ได้ยินเสียงมด แมลง นกร้อง แม้แต่เสียงรถ ในกรณีที่อวิชชาไม่เกิดขึ้น ไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง สัมผัสทางหูนั้นก็ไม่เกิดตัวกูของกู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางอะไรก็เหมือนกันต้องมีอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้องแก่สัมผัสนั้น ก็ได้นามชัดลงไปอีกว่าอวิชชาสัมผัส
นี่ก่อนนี้เราได้ยินแต่ว่า “สัมผัส” สัมผัส เพราะตาเห็นรูปก็เกิดวิญญาณ เกิดจักษุสัมผัส เกิดเวทนาอย่างนั้นมันก็หลงผิดได้ แล้วก็จะสงสัยว่าทำไมไม่เห็นเกิด ไม่เห็นเกิดกิเลส เกิดความคิดว่าตัวกู ข้อนี้ก็อย่าโทษพระคัมภีร์หรือโทษแต่ข้อความในพระคัมภีร์ บางทีก็เขียนชัดบางทีก็เขียนตามธรรมดา ก็ถือว่ารู้กันอยู่โดยเฉพาะในกรณีที่เกิด “ปฏิจจสมุปบาท” นั้นขึ้นเป็นสายนี้ก็ต้องหมายถึงอวิชชาเข้าเกี่ยวข้องด้วยทั้งนั้นไม่อย่างนั้นมันไม่เป็นปฏิจจสมุปบาท ตัวกูก็ไม่เกิด นี่เราลืมตาอยู่เห็นอะไรอยู่นี่มันก็ไม่เกิดปฏิจจสมุปบาท จนกว่าว่าในกรณีหนึ่งหรือในกรณีใดมันมีอวิชชาเกิดขึ้นด้วย นั้นจึงจะเป็นกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นต้องให้จำไว้เป็นหลักว่าสัมผัสที่มีอวิชชาประกอบอยู่ด้วยนั้นเรียกว่า อวิชชาสัมผัส
เวทนาที่เกิดจากอวิชชาสัมผัสมันก็เกิดตัณหาแน่นอน ถ้าเวทนาที่ไม่ได้เกิดจากอวิชชาสัมผัสมันก็ไม่ได้เกิด บางทีเรานั่งตากลมพัดเย็นสบาย แล้วก็ไม่ได้เกิดความคิดที่เป็นบาปเป็นอกุศลเป็นตัวกูของกูอะไร หรือแม้บางทียุงกัดเป็นทุกขเวทนาแต่มันไม่มีอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมันก็ปัดๆ ไปเท่านั้นเอง รู้สึกว่ายุงกัดนั่น แล้วก็ปัดไป ก็เท่านั้นก็เลิกกัน แต่ถ้าอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้องมันก็จะโกรธ มันก็จะไปถึงติดตามฆ่ายุงหรือว่าคิดที่เป็นตัวกูของกูอึดอัดขัดแค้นอยู่ นี่เรียกว่าฝ่ายทุกขเวทนา ฝ่ายสุขเวทนาก็ตามฝ่ายทุกขเวทนาก็ตามถ้ามันไม่ได้เจืออยู่ คือมันไม่ได้มาจากอวิชชาสัมผัสละก็ มันก็ไม่เกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ อะไรได้ แต่ทว่าในกรณีนั้นมันอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยละก็เป็นอวิชชาสัมผัส และมีเวทนาเกิดจากอวิชชาสัมผัส เวทนานั้นก็ยอมให้เกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ เป็นทุกข์ นี่คือตัวกูของกูเกิดที่ตรงนี้ เมื่อมีการกระทบทางอายตนะ อวิชชาเกิดขึ้นผสมโรง ก็ไม่ต้องสงสัยมันจะต้องไปของมันเรื่อยไปจนถึงเกิดตัวกูของกู
คำว่า “อวิชชาสัมผัส” นี่ก็เป็นบาลีที่ไม่ค่อยมีกี่แห่งนัก แต่ก็มีมันไม่น้อยเหมือนกัน ดังนั้นจำไว้สักที่มาหนึ่งก็ได้ คือในขันธสังยุตต์ ที่เรียกว่า “คัมภีร์สังยุตตนิกาย” สูตรที่ ๕ ของอัตตทีปวรรค พระพุทธเจ้าตรัสว่า (นาทีที่ 11:04) อัตถิ ภิกขะเว มะโน อัตถิ ธัมมา อัตถิ อะวิชชาธาตุ อะวิชชาสัมผัสสะเชนะ ภิกขะเว เวถิเตนะ พุทธัสสะ.... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มโนคือใจมีอยู่ ธัมมาคือธรรมารมณ์มีอยู่ อวิชชาธา-ตุก็มี อวิชชาธาตุก็มีอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเมื่อปุถุชนผู้มิได้สดับอันเวทนาเกิดแต่อวิชชาสัมผัสถูกต้องแล้ว ทิฏฐิย่อมเกิดขึ้นแก่เขาว่าเรามีอยู่ดังนี้ เรามีอยู่นั่นคือตัวกู หรืออันต่อๆไปว่า เราเป็นตน หรือตนเป็นเรา หรือขันธ์เป็นเรา เราเป็นขันธ์อันนี้ก็มีมาก มากชื่อ แต่รวมความแล้วมันเกี่ยวกับตนทั้งนั้น ตนนั่นคือกู ที่ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มโนมีอยู่นี้ก็เป็นคำที่ควรจะนึกถึงว่าเพราะใจมันมีอยู่ ถ้าอย่ามีใจนะมันก็ไม่มีเรื่อง ทีนี้ ธัมมาก็คือสิ่งต่างๆอารมณ์ภายนอกที่จะมากระทบใจ มันก็มีอยู่ อวิชชาธา-ตุ ก็มีอยู่ อวิชชาธาตุ ธาตุแห่งความไม่มีวิชชา ธาตุแห่งความปราศจากความรู้ก็เป็นธาตุๆหนึ่งที่มีอยู่
นี้ก็เคยพูดให้ฟังแล้วว่า คำว่า “ธาตุ” ธา-ตุ ในภาษาบาลีนั้นหมายความกว้างขวาง อะไรเมื่อมันมีอยู่เป็นชิ้นเป็นอันๆหนึ่งแล้วก็เรียกว่าธาตุทั้งนั้น ในที่นี้เรียกว่า “อวิชชาธาตุ” ก็มีอยู่ธาตุหนึ่ง บางธาตุมีนับไม่ไหว กระทั่งนิพพานธาตุมีอยู่ ๒ ธาตุ สอุปาทิเสสนิพานธาตุ อนุปาทิเสสนิพานธาตุ ดังนั้นเข้าใจคำว่าธาตุไว้อย่างนี้ อวิชชาธา-ตุ อวิชชาธาตุ ก็ธาตุแห่งความไม่รู้ ก็มีอยู่ พร้อมอยู่เหมือนกันในโลกนี้ที่จะเกิดขึ้นเมื่อได้โอกาส ในเมื่อตากระทบรูป มโน ใจ ธรรมะนี่คือสิ่งที่มากระทบใจ ตากระทบรูปนี่มันไม่ใช่อยู่แค่ตา มันก็รู้สึกถึงใจ มันก็เรียกว่า “มโน” มันมีส่วนทำงานด้วยทำทางตา โดยผ่านทวารคือตา ในขณะนั้นจิตบังเอิญด้วยเหตุใดก็ตามมันมีธาตุอวิชชานี่เข้าไปประสมโรงด้วยก็เกิดผัสสะที่มีอวิชชาสำหรับหรือแก่บุคคลผู้มิได้สดับนี้ ก็มีว่าไม่เคยฟังธรรมะของพระอริยเจ้าไม่ถูกนำไปด้วยดีในธรรมของพระอริยเจ้า ก็หมายความว่าเฉพาะปุถุชนเท่านั้นที่ว่าอวิชชาธาตุจะคอยประสมโรงในการกระทบนั้นๆ ถ้าเป็นพระอริยเจ้าเป็นพระอรหันต์นี้แล้วก็ไม่มีโอกาสที่จะมีอวิชชาประสมโรงอย่างนั้น คือเมื่อบุคคลเสวยเวทนาที่มาจากอวิชชาสัมผัสอย่างนั้น มันก็แปลว่าเวทนานั้นมันเจืออยู่ด้วยเหตุหรือที่ตั้งแห่งกิเลสคืออวิชชานั่นเอง เวทนานั้นก็ทำให้เกิด (นาทีที่ 15.44) นี่ก็เป็นทิฏฐิอันหนึ่งซึ่งแปลว่าเราอยู่หรือว่าเราเป็น เราเป็นนั่นเราเป็นนี่ นั่นแหละคือตัวกูเกิด นี่เป็นหลักที่วางไว้กลางๆ ถ้าถูกยุงกัดโกรธ มันก็กูถูกยุงกัด หรือว่าถ้าในเรื่องที่สนุกสนานเอร็ดอร่อยที่ถึงขนาดที่อวิชชาเกิด มันก็ว่ากูอร่อย กูสนุกสนาน กูอย่างนั้นๆ มันไปจนถึงกิเลสความทุกข์ คือตัวที่มี ตัวทิฏฐิที่ว่าเรามีอยู่หรือว่าเราเป็นอยู่ หรือนั่นของเรา มันก็คือความหมายของกิเลสประเภททิฏฐิ กิเลสประเภททิฏฐิ ประเภทโมหะ ทิฏฐิว่าอย่างนั้นๆ
นี่เราจับสิ่งที่เรียกว่าตัวกูของกูได้ ทีนี้ก็มาถึงปัญหาว่าจะลอยมันเสียได้อย่างไร จะเอาไปลอยน้ำออกทะเลเสียให้ได้อย่างไร นี่คงเป็นปัญหาอีกตามเคย อย่างน้อยก็ว่ามันมีปัญหาเกิดขึ้นว่าก็อันนี้มันเพิ่งเกิด แล้วมันเกิด เดี๋ยวมันก็ดับ เกิดดับ เกิดดับ นี้จะเอาไปลอยได้อย่างไร นี่ผมก็กำลังพูดว่าวันนี้ลอยกระทง ลอยตัวกูของกูดูเสียบ้าง มันก็ต้องเป็นสิ่งที่ลอยได้ถ้าเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจมันก็จะเกิดปัญหาอย่างนั้นแหละ เพราะเมื่อไหร่มันจะเกิดตัวกู แล้จะทำอย่างไรจึงจะลอยได้
ทีนี้คำว่า “ตัวกูของกู” อย่างนี้มันก็มีหลายชั้น หลายความหมาย หลายๆชั้น เกิดตัวกูแล้วเป็นทุกข์นี้มันก็อย่างหนึ่งเป็นความทุกข์ ทีนี้อีกส่วนหนึ่งเขาเรียกว่าเป็น “อนุสัย” อนุสัยคือความเคยชินแห่งกิเลสทุกอย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ทุกอย่าง ทีนี้ความเคยชินแห่งการเกิดตัวกูของกูนี่แหละถ้าเราละมันเสียได้ นั่นแหละได้ชื่อว่าลอยตัวกูของกูไปเสีย เรื่องอนุสัยนี้ก็พูดแล้ว ถ้าเป็นคนขยันจดขยันจำก็ไม่ต้องพูดอีก บางคนก็ฟังเพ้อๆไปไม่สนใจ ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ทีนี้ก็ขอเตือนอีกครั้งหนึ่งว่าอนุสัยนี่คือความเคยชินที่มันจะเพิ่มขึ้นๆๆ เป็นความเคยชินที่รุนแรงขึ้น เมื่อเสวยสุขเวทนาก็มีความเคยชินในทางราคะ เรียกว่า “ราคานุสัย” เกิดขึ้นแล้วเพิ่มเข้าไว้ มันเพิ่มความเคยชินคือเป็นง่าย เป็นได้ง่ายเข้าไว้ แล้วตัวมันจะดับไปตามเวลา แต่นิสัยแห่งความเคยชินนี้มันจะเพิ่มขึ้น ทีนี้เมื่อใดมันเสวยทุกขเวทนา ที่เรียกว่า “อวิชชา” ที่มาจากอวิชชา เมื่อนั้นมันก็จะเพิ่ม “ปฏิฆานุสัย” ความเคยชินในการที่จะโกรธ ขัดใจ เขาเรียกว่าปฏิฆานุสัย ขณะใดมันกระทบอทุกขมสุขเวทนา คือเวทนาที่ไม่ชัดเจนลงไปว่าสุขหรือทุกข์ นี่เรียกว่าอทุกขมสุขเวทนา เมื่อนั้นก็เพิ่มความเคยชินฝ่าย “อวิชชานุสัย” อนุสัยมี ๓ ขึ้นมา ราคานุสัย จะเกิดและเพิ่มความเคยชินเมื่อกระทบสุขเวทนา มีอวิชชาเป็นปัจจัย ปฏิฆานุสัยจะเกิดเมื่อกระทบทุกขเวทนา ซึ่งมาจากอวิชชานี้สมทบด้วย อวิชชานุสัยเองก็มาจากอทุกขมสุขเวทนาซึ่งก็มีอวิชชานุสัยเจือด้วย อทุกขมสุขเวทนา หมายความว่ามันยังไม่แน่ ไม่รู้สึกเป็นสุขหรือทุกข์แน่ แต่ก็มันเป็นเวทนาคือมันรบกวนจิตใจ เพราะอวิชชามันเจืออยู่ มันก็ฝากไว้ก่อนด้วยความสงสัย ด้วยความห่วง ด้วยความวิตกกังวล ถ้ายังไม่เป็นสุขทุกข์ชัดเจน มันก็เชื่อว่าต้องมีความหมายในทางเวทนา ดังนั้น สิ่งใดที่ไม่ใช่สุขยังไม่ได้ให้สุขเวทนาหรือทุกขเวทนาชัดเจน แต่ยังอยู่ในข่ายของอวิชชาคือ ความสนใจ เขาเรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา
ดังนั้นเราก็มีอนุสัยหรือโดยที่แท้คือความเคยชิน ความเคยชินที่นอนอยู่ในสันดาน เป็น ๓ อย่าง อย่างนี้ แต่ละอย่างเกิดตัวกูของกูได้ทั้งนั้น ราคานุสัยคือราคะอนุสัย ความเคยชินที่จะเกิดราคะ มันก็มีลักษณะที่จะช่วยให้อวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้องกับสัมผัสนั่นเอง ถ้าเราไม่มีความเคยชินมาแต่ก่อนในการที่จะเกิดราคะแล้ว พอตาเห็นรูป เป็นต้น แม้รูปสวยนี่มันก็ไม่มีทางจะเกิดผัสสะชนิดที่อวิชชาเข้ามาประสมโรงด้วย เดี๋ยวนี้เราเคยชินมาตั้งแต่เล็กแล้ว ตั้งแต่รู้ความแล้วเป็นเด็กคลอดออกมาแล้วก็รู้ความว่าอะไรอร่อย อะไรไม่อร่อย ดังนั้นเด็กยังนอนเบาะยังเดินไม่ได้ก็จะมีเรื่องอะไรเป็นสุขเวทนา อะไรเป็นทุกขเวทนาตามสมควรแล้ว นั้นสิ่งใดเป็นสุขเวทนาแก่เขา เขาก็เกิดนิสัยรักหรือชอบสิ่งนั้นเข้าไว้เรื่อย นี้สิ่งใดไม่ ไม่เป็นอย่างนั้นตรงกันข้ามคือว่าเป็นทุกขเวทนา มันก็สร้างนิสัยให้แก่เขาในการที่จะเกลียดหรือโกรธสิ่งนั้นไว้เรื่อย ถ้าสิ่งใดมันยังไม่ชัดแต่มันยั่วให้เกิดความสนใจอยู่ก็สร้างอวิชชาขึ้นเรื่อย นั้นเรียกว่าอนุสัยนี้สร้างมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก วันหนึ่งกี่ครั้ง เดือนหนึ่งกี่ครั้ง ปีหนึ่งกี่ครั้ง พอมันเป็นหนุ่มเป็นสาวเข้ามันก็ยิ่งถี่เข้ามากเข้า มันนับไม่ไหวว่าความเคยชินอันนี้เราได้พอกพูนมันกี่หมื่น กี่แสน กี่ล้านครั้ง ก็เดี๋ยวนี้ก็เรียกว่าอนุสัย
“อนุสัย” แปลว่าตามนอน หรือนอนตามก็ได้ “อนุ” แปลว่าตาม “สัย” แปลว่า นอน นอนตาม นอนตามอยู่ที่ในใจ คอยติดตามอยู่ ก็คือความเคยชินที่พร้อมที่จะให้เกิดความรู้สึกอันนั้น นอนรออยู่ในสันดาน ไม่ใช่ตัวกิเลสที่เที่ยงแท้ แต่เป็นนิสัยแห่งความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นได้ง่ายเข้าเร็วเข้า ก็มีด้วยกันทุกคนแล้วก็มีด้วยกันทั้ง ๓ อนุสัย แม้ว่าอนุสัยบางอย่างของคนบางคนจะมากน้อย มันก็ต้องมี ๓ อย่างอยู่นั่นแหละ บางคนก็เคยชินในแง่ของความรัก ความโลภอะไรมากไป ส่วนทางโทสะ โกรธะนี่มันน้อยไป แต่บางคนมันก็ทางโทสะ โกรธะมันมาก ในทางราะคะมันน้อยไป มันไม่แน่ แต่ต้องมีครบทั้ง ๓ คือทั้งราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย
ความเคยชิน นิสัยที่เป็นความเคยชินที่จะเกิดความรู้สึก เป็นความโลภ โกรธ หลง เป็นตัวการแห่งตัวกูของกู เป็นตัวการที่จะให้อวิชชาเข้ามาประสมโรงในเมื่อตากระทบรูป เป็นต้น จนเกิดผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ เป็นตัวกู ดังนั้น ถ้าเราลอยนิสัยนี้ไปเสียได้ มันก็เรียกว่าลอยตัวกูของกูไปได้นั่นเอง โดยที่แท้คือลอยมูลเหตุแห่งการเกิดของตัวกูของกูนั่นเอง ดังนั้นจงอุตส่าห์ละนิสัยประเภทอนุสัยนี้เรื่อยๆ ระวังอย่าให้มันเผลอ อย่าให้อวิชชาเข้ามาครอบงำได้เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูได้ยินเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น หัดอยู่อย่างนี้ก็คือหัดฝึกที่จะกำจัดอนุสัย ความเคยชินให้หมดไป รวมทั้งตัวอวิชชาเองด้วย เพราะอวิชชาก็เป็นอนุสัยตัวหนึ่ง เพราะอนุสัยนี่มันเบาบางแห่งการที่จะเกิดกิเลสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้มันก็น้อยลงๆจนกว่าจะไม่เกิดเลย เขาเรียกว่าลอยบาปได้ตามความหมายในพุทธศาสนา คือเป็นพระอรหันต์เท่านั้น ต่ำกว่านั้นยังไม่ชื่อว่า (นาทีที่ 27.10) เป็นผู้ลอยบาปเสียได้ พระพุทธเจ้าเรียกพระอรหันต์ว่า “พราหมณ์” ในพราหมณวรรคธรรมบท ขุททกนิกายนี้เต็มไปหมด เรียกพระอรหันต์ว่าพราหมณ์ โดยความหมายอันนี้เองว่าเป็นผู้ลอยบาปเสียได้ พวกพราหมณ์ก็พูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าว่า เขาเป็นผู้หมดบาปจึงเรียกว่าพราหมณ์ ลอยบาปอยู่เสมอ ก็ยืมเอาคำๆนี้มาใช้ คำเป็นคำเก่า เป็นคำมีอยู่ก่อนมาใช้ในความหมายใหม่ในพุทธศาสนา มีบาปอันลอยแล้ว แปลว่าบาปจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป ได้อีกต่อไป ก็เป็นพระอรหันต์ ไม่เกิดบาปนี่ แม้แต่บุญอะไรมันก็ไม่เกิดหมด เพราะว่ามันหมายถึงการละกิเลสที่เป็นมูลเหตุของบาปและบุญหรืออเนญชาด้วย ก็คือละอนุสัย ๓ ประการนี้เท่านั้น
อนุสัย ๓ ประการนี้แยกแขนงออกไปเป็นอนุสัยหลายๆ ประการก็ได้ แต่ไม่จำเป็นนะ ไม่ต้องไปท่อง ไปจำอะไรให้มันลำบาก เพราะว่ามันจะมีกี่อย่างกี่อย่างมันจะมารวมอยู่ในอนุสัย ๓ อย่างนี้ทั้งนั้น ราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย จำไว้ให้ดีๆ ๓ อย่างนี้ ถ้าลอยนิสัยสันดานอันนี้ออกไปเสียได้ ก็คือลอยตัวกูของกู ออกไปเสียได้ ดังนั้นเป็นอันว่ามันต้องลอยอยู่เสมอ ต้องหัดลอยอยู่เสมอ คือทุกคราวที่มันจะเกิดเรื่อง จะเกิดปฏิจจสมุปบาททุกคราวไป มันต้องมีสติมาระวังมาป้องกัน ก็ตามปกติก็พิจารณาให้เห็นอยู่เสมอไม่ให้มันเผลอสติได้นั่นเอง
วันนี้เป็นวันลอยกระทงก็เอาเรื่องนี้มาพูด มันก็เหมือนกับว่าเรามาพูดกันเรื่องลอย ลอยบาปในพุทธศาสนา ลอยตัวกูของกู คือทำความรู้กันเป็นพิเศษ ถ้ามันมีความเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องนี้มันก็เรียกว่าลอย เป็นวันที่ตั้งอกตั้งใจจะศึกษาเรื่องการลอยหรือวิธีลอย หรือว่าในระหว่างนี้มันก็ลอยอยู่นั่นแหละ มันเกิดไม่ได้ มันมาเกาะติดอยู่ไม่ได้ก็หมายความว่ามันลอยไปพ้นไป ลอยผ่านพ้นไป นี่เอามาพูดเป็นที่ระลึกในวันนี้ คล้ายๆกับว่าวันนี้มันเป็นวันลอยบาป ดูมันคล้ายๆกับจะตรงๆกันกับวันลอยบาปของพวกฮินดูหรือจะเป็นกลางเดือนสิบสองด้วยเหมือนกัน ทีนี้จำไม่แน่ แต่แล้วเขายังมีวันอื่นอีกนอกจากวันใหญ่สำคัญประจำปี มันยังมีวันอื่นอีก แล้วยังมีโอกาสเบ็ดเตล็ดเล็กๆน้อยๆอีกที่เขาจะนึกถึงการลอยบาปลงไปในแม่น้ำลอยบาป วันเบ็ดเตล็ดก็เช่นวันสุริยคราส วันที่เป็นสุริยคราส จันทรคราส นี่เขาจะลงไปในแม่น้ำเต็มไปหมด ปิดประตูบ้านโครมครามๆ วิ่งลงไปในแม่น้ำ อาบน้ำ ลอยบาป ผมก็ได้เคยไปเห็น บังเอิญไปเห็นเข้าวันหนึ่งเมื่อไปประเทศอินเดียนี่ ถามว่าทำไมถึงขั้นโกลาหลอะไรกัน มันเป็นสุริยคราสอยู่บนฟ้า เขาวิ่งลงไปในน้ำไปล้างบาป ก็ยังดี ยังให้ได้ยินคำว่าล้างบาปอยู่ในหูบ้าง เดี๋ยวนี้ไม่พูดถึงเรื่องล้างบาปอะไรกันเสียเลย เด็กๆมันก็ยิ่งไม่รู้เรื่อง ไม่มีความคิดนึกที่จะไต่ถามว่ามันล้างบาปอย่างไรกัน ยิ่งเด็กสมัยนี้ด้วยก็ยิ่งไม่รู้ว่าบาปอยู่ที่ไหน แล้วจะต้องล้างก็ไม่รู้ ถ้าลอยกระทงก็สนุกใหญ่สิ ก็มันสวยดี แล้วมันก็มีโอกาสที่จะได้เห็นนั่นเห็นนี่ที่เป็นเหยื่อของกิเลส ก็ไม่รู้ว่าลอยบาปหรือว่าอาบบาปกันแน่ ลอยกระทงด้วยคิดว่าเอาบาปไปเสียด้วยนั้นก็ดี คิดจะไปไหว้พระธาตุมันก็ยังดีสำหรับเด็กๆ เพราะคิดอะไรมากกว่านั้นไม่ได้ แต่ถ้าคนโตๆลอยกระทงน่าจะคิดว่าไปลอยบาป เอาบาปใส่กระทงลอยไปให้จมทะเล นี่คือว่าลอยตัวกูของกูซึ่งเป็นต้นเหตุของบาป รวมความมันก็อยู่ที่อวิชชา อวิชชาที่จะเข้ามาผสมกันกับสัมผัส มันมีสัมผัสทางตา เป็นต้น
ทีนี้เราจะพูดต่อไปถึงเรื่อง “อวิชชา” เพราะอวิชชาเป็นตัวการก็พูดเรื่องอวิชชา จะลอยอวิชชาให้ไกลออกไป ไกลออกไป ให้มันน้อยลงได้อย่างไร วิธีหนึ่งก็คือว่าอย่าให้มันได้กินอาหาร ทีนี้อะไรเป็นอาหารของอวิชชา นี่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ผมกลัวจะลืมเพราะเขียนไว้ในสมุดโน้ตประจำตัว พวกคุณเก่งมากไม่เห็นจดไม่เห็นจำอะไรกัน ผมยังกลัวและขี้ขลาดมากต้องจดจำไว้ในสมุดประจำตัว ภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นของอวิชชาไม่ปรากฏก่อนหน้าแต่นี้อวิชชามิได้มี อวิชชาเพิ่งมีต่อภายหลัง ภิกษุทั้งหลายคำกล่าวอย่างนี้แหละเป็นคำที่ใครๆควรกล่าว และควรกล่าวด้วยว่าอวิชชาย่อมปรากฏเพราะมีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัยดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเรากล่าวว่าถึงแม้อวิชชาก็เป็นธรรมชาติที่มีอาหาร หาใช่เป็นธรรมชาติที่ไม่มีอาหารไม่ อะไรเล่าเป็นอาหารของอวิชชา คำตอบพึงมีว่า (นาทีที่ 34.52)ดังนี้ นี่อังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสว่า (นาทีที่ 35.02) นิวรณ์ ๕ ประการเป็นอาหารของอวิชชา เรากินข้าว กินปลา กินผลไม้ทุกวันเป็นอาหาร เราก็ไม่ตายทางร่างกาย อวิชชาก็ได้นิวรณ์ ๕ เป็นอาหารกินอยู่เสมอ หล่อเลี้ยงอยู่ไว้เสมอ มันก็ไม่ตาย เหมือนกับที่เราได้กินอาหารแล้วก็ไม่ตาย พระพุทธเจ้าตรัสว่านิวรณ์ ๕ เป็นอาหารของอวิชชา นิวรณ์ ๕ ก็รู้อยู่แล้วในนวโกวาทก็มี
ทีนี้ก็จะดูกันแต่ว่ามันเป็นอาหารอย่างไร กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ๕ อย่างนี้เรียกว่านิวรณ์ ถ้าเรามัวให้ ๕ อย่างนี้มันเกิดอยู่เรื่อยๆแล้วก็อวิชชาก็ได้กินอาหารเรื่อยไป ก็อย่างเดียวกันอีกนั่นว่าถ้ากิเลสอันนี้เกิดมันก็กลายเป็นอนุสัยเพิ่มขึ้น “กามฉันทะ” ความพอใจในกามนี้ก็เรื่องความรู้สึกในทางกาม ความรู้สึกที่เกี่ยวกันกับกาม กามคุณโดยเฉพาะเรื่องเพศตรงกันข้ามนี้เกิดขึ้นทีไรเหมือนกับป้อนอาหารให้อวิชชาไว้ทีหนึ่ง ทีนี้ “พยาบาท” ความรู้สึกที่อึดอัด ขัดใจ กระทบกระทั่ง หงุดหงิด โกรธแค้นใหญ่หรือเล็กก็ตามเกิดขึ้นทีไร มันก็ให้อาหารแก่อวิชชาไว้ทีหนึ่ง ที่จะเป็นประเภทไม่ชอบ “ถีนมิทธะ” พวกขี้นอนนั่นระวังให้ดี ถ้ามันมีจิตใจชนิดที่เรียกว่ามึนชา ไม่แจ่มใสสดชื่นร่าเริง ชอบแต่จะงัวเงีย มึนชา เห็นแก่หลับ หาความสุขจากการหลับ เมื่อปล่อยให้จิตใจไม่ปลอดโปร่งอยู่เสมอๆ อย่างนี้เรียกว่า ถีนมิทธะ ปล่อยให้มันเกิดขึ้นเท่าไรมันก็เป็นอาหารหล่อเลี้ยงอวิชชาให้อ้วนพีไว้เท่านั้น นี้ตรงกันข้าม “อุทธัจจะกุกกุจจะ” เมื่อฟุ้งซ่านนี้มันตรงกันข้ามกับถีนมิทธะ ถีนมิทธะมันหด เหี่ยว ยุบ แฟบลงไป อุทธัจจะกุกกุจจะนี้มันฟุ้งซ่าน กระทั่งความรำคาญนี้ปล่อยให้มันเกิดขึ้นทีไรมันก็หล่อเลี้ยงอวิชชา เป็นอาหารหล่อเลี้ยงอวิชชาไว้ อวิชชาอ้วนไปในที่สุด “วิจิกิจฉา” ความที่ลังเลอยู่เสมอ ลังเลนี้มีขอบเขตกว้างขวาง ลังเลในพระพุทธ ลังเลในพระธรรม ลังเลในพระสงฆ์ ลังเลในตัวการปฏิบัติที่กำลังปฏิบัติอยู่ ลังเลในอุดมคติ ลังเลในความเป็นไปในชีวิต จะสึกดีหรือจะบวชอยู่ดีนี่ ลังเลกันอยู่เรื่อย ความลังเลนาๆชนิดนี้ก็เรียกว่าวิจิกิจฉา เกิดขึ้นทีไรเมื่อไรมากก็ตามน้อยก็ตาม มันเป็นอาหารที่หล่อเลี้ยงอวิชชา
อวิชชาก็มีอาหารถึง ๕ อย่าง นั้นหากินไม่ลำบาก เพราะมันง่ายที่จะเกิดไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งในบุคคลหนึ่ง ในวันหนึ่ง อวิชชามันจึงอ้วน ก็คือความเคยชินมันแน่นหนาเท่านั้นเอง ราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย รวมกันแน่นหนาขึ้น แน่นหนาขึ้น อ้วนคือมันมีเข้มข้นขึ้น นิสัย สันดาน ความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นมันก็เข้มข้นขึ้น ก็เรียกว่ามีอนุสัยมาก มีสังโยชน์มาก ดังนั้นจึงเกิดโลภะ โทสะ โมหะเก่ง เกิดได้เร็ว เกิดได้ง่าย รวมแล้วก็คือเกิดตัวกูของกูได้ง่าย ในเมื่ออวิชชามันอ้วนเพราะได้กินอาหาร นี่พูดถึงลอยตัวกู ก็ลอยต้นเหตุของโลภ โกรธ หลง ก็คือว่าลอยต้นเหตุของตัวกู ของกูอีกทีหนึ่งก็คือจะลอยอวิชชานั่นเอง อวิชชาธาตุที่ว่าเมื่อสักครู่ที่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่ามีอยู่นี้ จะลอยมันได้อย่างไร ก็คือตัดอาหารของมัน พยายามตัดอาหารของมัน ไม่ให้มันได้กินอาหาร อย่าให้มันพบกันกับอาหาร มันก็ตายแน่ ทีนี้เราทำไม่ได้ เราทำไม่เป็น หรือเราไม่สมัครจะทำด้วยซ้ำไป เพราะว่าในขณะที่มันมีอวิชชากินอาหารนั้นเราก็สบาย รู้สึกอร่อย ใจมันอร่อยเสียเองแทนอวิชชา ที่แท้มันก็คืออวิชชารู้สึกอร่อย แต่เวลานั้นใจมันเป็นอวิชชา เมื่อนั้นเราจึงเรียกว่าเรามันอร่อยเสียเองในการที่จะมีนิวรณ์เหล่านั้น อวิชชามันก็ไม่ไปมันก็มากขึ้น
ที่เราเป็นอยู่ในการที่ไม่เกิดนิวรณ์คือ “การทำสมาธิ” เมื่อพูดถึงการทำสมาธิในพระบาลีจะเอ่ยถึงการกำจัดนิวรณ์ขึ้นมาทันที เพราะว่าผลของการทำสมาธิก็คือขจัดนิวรณ์ออกไปอย่างเฉียบขาด อย่างมั่นคงอย่างหนักแน่นในเวลานั้น หมายถึงเวลาที่เป็นสมาธินะ เมื่อทำสมาธิสำเร็จแม้จะเป็นอุปจารสมาธิเท่านั้นแหละ ไม่ต้องเป็นฌาน เป็นอัปนาอะไร นิวรณ์มันก็เริ่มอยู่ไม่ได้แล้ว มันไม่ปรากฏแล้ว ถ้านิวรณ์ยังปรากฏอยู่จิตก็เป็นสมาธิไม่ได้ ดังนั้นเราเปลี่ยนมาอยู่ในลักษณะที่ว่าจิตมันอยู่ในสภาพที่นิวรณ์อยู่ไม่ได้ ก็คือเป็นสมาธิ ทีนี้ลักษณะของสมาธินั้นพูดกันลืมไว้เสมอๆว่า “ปริสุทโธ” คือจิตบริสุทธิ์ “สมาหิโต” คือ จิตที่ตั้งมั่น “กัมมนีโย” จิตว่องไวแก่การงานในหน้าที่ของจิต คือสมาธิ แล้วดูสิว่านิวรณ์จะอยู่ได้อย่างไร การที่ทำสมาธิอยู่เสมอทุกวันๆตามที่ทำได้นั้น นั่นคือการกำจัดนิวรณ์ หรือพูดอย่างสมมติก็ว่าทำให้อวิชชาได้อาหารน้อยลง หรือไม่ได้เลยเป็นระยะยาวๆ อวิชชาก็ผอม มีลักษณะเหมือนการ Boycott อวิชชา ไม่ให้อวิชชาได้อาหารทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มันตายเองโดยไม่ต้องฆ่า ลักษณะของ Boycott เป็นอย่างนี้
การที่เป็นอยู่ด้วยจิตที่เป็นสมาธิ คือจิตที่ปลอดโปร่งอยู่เสมอโดยวิธีใดก็ตามใจ เป็นการ Boycott อวิชชาไม่ให้ได้อาหาร อวิชชาธาตุไม่มาเกี่ยวข้องกับจิตดวงนี้ จนลืมกันจนไม่ค่อยรู้จักกัน การสัมผัสการอะไรมันก็เป็นไปแต่ในทางที่ไม่เกิดตัวกูของกู ไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดความทุกข์ เป็นไปแต่ในทางที่ว่าจะได้ประโยชน์ชนิดที่ไม่เป็นความทุกข์ หรือไม่เช่นนั้นก็ไม่ยุ่งด้วยกับมัน เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ถ้าไปเกี่ยวข้องอะไรที่ไหนให้มันเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความรู้ เพื่อการศึกษา เพื่อฉลาดขึ้น อย่าให้เป็นไปเพื่อกิเลส ถ้าไม่ได้อย่างนั้นแล้วก็อย่าไปยุ่งกับมัน นี่เราจะต้องรู้จักทำให้อวิชชานี้ไม่ได้อาหาร แล้วไม่มาเกี่ยวข้องกันกับการเป็นอยู่ในวันหนึ่งๆของเรา ที่ว่าตาเห็นรูป หูฟังเสียง พระพุทธเจ้าตรัสว่าอวิชชาก็มีอาหาร ก็คือนิวรณ์ทั้ง ๕
ทีนี้ที่จะต้องระวังให้ดีก็มีพระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ สังยุตตนิกายอีกเหมือนกันว่า ดูก่อนอานนท์ (นาทีที่ 44.48) ดูก่อนอานนท์ อวิชชามัน (นาทีที่ 45.01) อยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง (นาทีที่ 45.06 ) นี้ตามตัวหนังสือแปลว่า ตก เที่ยวตก เที่ยวเรี่ยราดอยู่ ตกตาม ตามตกนี่ เขาเรียกว่าเผลอไม่ได้ ไม่ว่าในธรรมชนิดไหน ในธรรมภายนอกหรือในธรรมภายใน คล้ายๆกับอวิชชามันไปรอ ไปเที่ยวเรี่ยราดอยู่ทั่ว เปรียบเหมือนกับว่ามันมีเชื้อโรคอยู่ทั่วไปในอากาศนี้ อย่าเผลอ คือว่าเราอย่าเผลอ อย่าอ่อนแอ อย่าเปิดโอกาส พอเปิดโอกาสเชื้อโรคที่มันมีอยู่ทั่วไปนี่ในอากาศทั่วไปทั้งโลกนี้มันจะเล่นงานเอาทันที (นาทีที่ 46.07) อวิชชานี้ก็เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าพูดโดยอุปมาเป็นภาพพจน์ก็เหมือนกับมันเรี่ยราดอยู่ไปในที่ทุกหนทุกแห่ง ถ้าพูดตรงๆก็หมายความว่ามันพร้อมที่จะเกิดขึ้นมาในที่ทุกหนทุกแห่ง ต้องระวัง เหมือนกับระวังเชื้อโรคอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง นี้ก็เป็นความรู้ที่บอกเพิ่มเติมกันมาอีกนิดหนึ่งว่าในการที่จะ Boycott อวิชชานั้นระวังให้ดี อวิชชามันมีอยู่ในทั่วทุกหนทุกแห่ง หรือมันอาจจะได้อาหารของมันจากที่ทุกหนทุกแห่ง เราก็เพิ่มความไม่ประมาทนั้นให้มันมากขึ้น เพิ่มสติสัมปชัญญะให้มันมากขึ้น
ทีนี้ก็สรุปความกันทีว่า อวิชชาธา-ตุ ธาตุอวิชชามีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง มันเลี้ยงตัวมันเองอยู่ได้ด้วยอาหาร ๕ ประการ คือนิวรณ์ ๕ เมื่อมันมีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง มันก็คอยจ้องโอกาสที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการสัมผัสของคนเราทางตาก็ตาม ทางหูก็ตาม พอมีการสัมผัสมันเข้ามาเกี่ยวข้องมันก็เลยเป็นอวิชชาสัมผัส ทำให้เกิดเวทนาที่เกิดมาจากอวิชชาสัมผัส ก็เกิดตัณหา อุปาทาน ทุกข์ ที่สุดคือตัวกูของกู ถ้าเราป้องกันการเป็นอย่างนี้ เขาเรียกว่าเราลอยบาป ลอยอวิชชา ลอยตัวกูของกูอยู่เสมอ ลอยน้ำให้มันไปจมเสียในทะเล เป็นสิ่งที่ควรเอามานึก มาคิด มาพูด มาคุยกันในวันลอยกระทง และวันนี้ตั้งใจพูดเรื่องลอยตัวกูของกูในความหมายอย่างนี้ เอาไปคิดไปนึกดู ถ้าไปดูเขาลอยกระทงก็ให้คิดอย่างนี้ คนลอยกระทงก็ควรจะคิดอย่างนี้ เอาละพอกันที