แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เป็นวันที่ ๔ หรือครั้งที่ ๔ ที่เราจะพูดกันแต่ในระหว่างคนที่เป็นลูกของคนเมืองตำปรื้อ เจตนาใหญ่เพื่อให้คนเมืองตำปรื้อนี่ ไม่ถูกดูถูกดูหมิ่นอีกต่อไป ให้รู้สิ่งที่ควรจะรู้ ช่วยตัวเองให้ได้ ในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาด้วย ให้นึกถึงเกียรติยศของตัวเอง แล้วอ้างเอาเรื่องที่เขาเคยดูถูก มาเป็นเครื่องเตือนใจอยู่เสมอ เราต้องทำได้ดีในเรื่องนี้ได้พูดกันมา แล้วถึงเรื่องว่าคนเมืองตำปรื้อมันคือเมืองไหน แล้วมาบวชเป็นเณรเป็นพระกันนี้ มันจะต้องทำอย่างไร จึงจะแก้ปัญหาต่างๆ ให้หมดได้ เพื่อให้รู้ว่าคนเรานี้เกิดมาทำไม ถ้ารู้ให้ถูกอย่างเดียวว่าเกิดมาทำไม สิ่งต่างๆ ทุกสิ่งทุกอย่างจะเดินไปถูกทาง เวลานี้มันไม่รู้ว่าเกิดมาทำอะไร มันจึงเดินผิดทาง ไปเห็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำว่าควรกระทำเพราะไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ที่นี้การเกิดมาในโลกนี้ของเรานี้มันเกี่ยวข้องกับพระรัตนตรัยอย่างไร คือโดย เฉพาะการบวชของเรานี้เกี่ยวข้องกับพระรัตนตรัยอย่างไร ถ้าเรารู้แล้วมันก็เลยกลายเป็นบวชจริงเรียนจริงปฏิบัติจริงได้ผลจริง สอนสืบกันไปจริงๆ ปัญหาทั้งหมดนี้มันเนื่องกันขอให้มองในแง่ แง่ที่มันเนื่องกัน ทีนี้ในวันนี้จะพูดด้วยหัวข้อว่า มีอะไรเป็นอะไรอยู่ในพุทธศาสนา คุณมีอะไรอยู่บ้าง แล้วมันเป็นอะไร มีอะไร เป็นอะไร คืออะไรเป็นอะไรนั่นเองอยู่ในพุทธศาสนา นี่หัวข้อที่จะพูด เกี่ยวมาจากเรื่องที่ว่าพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์คืออะไร วันนี้อยากจะให้ได้ยินและได้จำคำไว้สัก ๓ คำ สำหรับผู้แรกเรียน คือคำว่าศาสดา คำว่าศาสนา คำว่าศาสนิก ขึ้นด้วยตัว ศ ทั้งนั้น เพราะมันมาจากคำคำเดียวกัน ศาสดา ศาสนา ศาสนิก อันนี้ต้องรู้ก่อนสำหรับผู้แรกเรียน ศาสดาก็คือผู้ค้นพบและประกาศพระศาสนา ศาสนาก็คือสิ่งที่ค้นพบและบัญญัติแต่งตั้งขึ้นสำหรับประกาศ แล้วศาสนิกคือผู้ที่เนื่องอยู่กับศาสนาในทางที่จะรับปฏิบัติ รับเอาไอ้สิ่งนั้นมาปฏิบัติ นี่มีมีมีไอ้ของสำคัญอยู่ในศาสนานี่ ในพุทธศาสนานี้ ๓ อย่าง คือพระศาสดาคือตัวศาสนาและคือตัวพวกเราซึ่งเป็นศาสนิก ทีนี้ถ้าเขาถามต้องตอบให้ได้ว่าศาสดาคืออะไร ศาสนาคืออะไร ศาสนิกคืออะไร ในที่สุดเราจะได้รู้จักว่าอะไรเป็นตัว ตัวพุทธศาสนา เรารู้ว่ามีอะไรบ้างเสียก่อน แล้วรู้ว่าอะไรเป็นตัวแท้ ตัวจริงตัวแกนหรือตัวหลัก พระพุทธเจ้าเป็นผู้เปิดเผยพระศาสนา พระธรรมเป็นตัวศาสนา พระสงฆ์เป็นผู้รับเอา แล้วสืบอายุพระศาสนาต่อไป ทายก ทายิกาก็เป็นผู้รับเอาศาสนา และช่วยสนับสนุนกิจการในพระศาสนา ฟังดูคล้ายกับ ๔ พวกแต่จริงแล้ว ๓ พวก เพราะว่าทายก ทายิกานี่ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเขานับเนื่องในหมู่สงฆ์ คือสงฆ์อย่างฆราวาส แต่วันนี้เราก็ถ่อมตัวแยกออกมาเป็นทายก ทายิกาเป็นพวกศรัทธา ไม่ทำเทียมพระสงฆ์ ฉะนั้นก็เลยแยกกระเด็นออกมาอีก เป็นอีกพวกหนึ่ง พระพุทธเจ้าคือผู้ค้นพบและเปิดเผยพระศาสนา พระธรรมคือตัวพระศาสนา พระสงฆ์ผู้รับเอา และก็ผู้สืบอายุศาสนามาจนถึงพวกเรา ซึ่งก็นับเนื่องอยู่ในพระสงฆ์ภิกษุสามเณรเป็นผู้ที่ถูกนับเนื่องอยู่ในพระสงฆ์ ทายก ทายิกาก็เป็นผู้รับเอาศาสนาเหมือนกันแต่ว่าทำหน้าที่สนับสนุนช่วยเหลือกิจการของพระศาสนา นี่ฟังดูให้ดี ในพระพุทธศาสนามีอะไรบ้าง มันเริ่มมีอย่างนี้แหละ เริ่มมี ๓ อย่างก่อน ทีนี้แต่ละอย่าง ละอย่าง มันก็มีแยกออกไปได้หลายๆ อย่างเดี๋ยวมันก็จะมากขึ้น ฉะนั้นเราจึงต้องรู้มีอะไรบ้าง แล้วเป็นอะไร มีอะไร เป็นอะไร การพูดในทำนองนี้เป็นพูดภาษาธรรมดา พระเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นบุคคล พระธรรมเป็นคำสอน พระสงฆ์ก็เป็นบุคคล แล้วพูดกันในภาษาธรรมดาภาษาคนพูด ถ้าพูดในภาษาธรรมอันลึกซึ้งพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เป็นสิ่งเดียวกันหมด คือความสะอาดสว่างสงบเป็นหัวใจของพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์กลายเป็นสิ่งเดียวกันหมด นั่นมันเรียกว่าภาษาธรรม พูดด้วยภาษาที่ลึกซึ้ง อย่าเอามาปนกัน ถ้าเอามาปนกันแล้วก็จะยุ่งจนไม่เข้าใจอะไรได้เลย เดี๋ยวนี้เรากำลังพูดภาษาคนภาษาโลก ภาษาที่ชาวบ้านเขาใช้พูดกันอยู่ตามวิธีชาวบ้าน เขาเรียก conventional most of speaking วิธีพูดอย่างชาวบ้านพูด พูดว่าพระพุทธเจ้าเป็นบุคคล พระธรรมเป็นตัวศาสนา พระสงฆ์เป็นตัวบุคคล ถ้าพูดเป็นภาษาธรรมภาษาที่จริงที่สุด absolute truth นี่ก็คือว่า ทั้ง ๓ อันมีแต่ธรรม พระพุทธเจ้าก็มีหัวใจสะอาดสว่างสงบ พระธรรมก็มีหัวใจสะอาดสว่างสงบ พระสงฆ์ก็มีหัวใจสะอาดสว่างสงบ เลยมีแต่ความสะอาดสว่างสงบ ไม่มีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ตรงนี้ขอแทรกให้เข้าใจภาษาคนภาษาธรรม ๒ ภาษาที่เอามาใช้เกี่ยวกับคำว่า พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ให้สังเกตไว้ดีๆ และจำไว้ว่าไอ้ภาษาชาวบ้านพูดมันตื้นๆ พูดไปอย่างหนึ่ง ทีนี้ภาษาธรรมที่พระอริยเจ้าพูดหรือผู้เห็นธรรมพูด พูดกันในแง่ลึก มันก็เลยไปอีกอย่างหนึ่ง แง่ตื้นเรียกว่าภาษาคน แง่ลึกเรียกว่าภาษาธรรม นี่เรากำลังพูดภาษาคนว่าใน ในศาสนามีอะไรเป็นอะไรกำลังพูดด้วยภาษาธรรมดา ก็มีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์
คำว่าพระพุทธเจ้านี้ก็ยังมีหลายชนิด พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แล้วสอนผู้อื่นได้ พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แล้วก็ไม่สอนคนอื่น นี่เราเอาพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แล้วสอนคนอื่นได้ที่เขาเรียกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อรหังสัมมาสัมพุทโธ เอาพระอรหันต์ชนิดที่เป็นสัมมาสัมพุทโธ ทีนี้พระอรหันต์ที่สอนผู้อื่นไม่ได้นี่ก็เราก็ไม่ ไม่ได้พูดถึง พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ชนิดที่ตรัสรู้สมบูรณ์สอนผู้อื่นปลุกผู้อื่นได้ พระธรรมนี่มันคือไอ้สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว แล้วเอามาใช้ปลุกผู้อื่นให้ตื่น จากความหลับคือกิเลสให้ปฏิบัติ ทีนี้พระสงฆ์ก็เหมือนผู้ถูกปลุก พระธรรมคือวิธีปลุกหรือการปลุก พระพุทธก็คือผู้ปลุก นี่เรารู้จักในแง่ที่เป็น apply หรือ practical กันแบบนี้ดีกว่า ดีกว่ารู้เป็นภาษาบาลีแต่ไม่รู้ว่าว่าอะไร พระพุทธเจ้าเป็นผู้ปลุกสัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวงซึ่งหลับอยู่ด้วยอวิชชา พูดเท่านี้หมดเลย พระธรรมคือวิธีปลุกหรือการปลุกของพระพุทธเจ้า พระสงฆ์คือผู้ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาจากหลับคืออวิชชา อวิชชาแปลว่าภาวะที่ปราศจากความรู้ วิชชาแปลว่าภาวะที่ประกอบไปด้วยความรู้ เมื่อประ กอบด้วยอวิชชาคือปราศจากความรู้เขาเรียกว่าหลับในภาษาธรรม ภาษาทางวิญญาณเขาเรียกว่าหลับ ถ้าภาษาคนก็นอนหลับ เหมือนกับนอนหลับกันอยู่ทุกวัน เขาเรียกหลับอย่างภาษาคน แต่ว่าหลับอย่างภาษาธรรมคือหลับด้วยอวิชชา จะวิ่งอยู่ก็หลับ บางทีเที่ยววิ่งเอาหัวชนฝายิ่ง ยิ่งเป็นเวลาหลับที่สุด ระวังให้ดีๆ เดี๋ยวจะไปทำเล่นๆ กับไอ้เรื่องไอ้การหลับชนิดนี้ แล้วก็ไม่มีโอกาสที่จะให้ได้รับการปลุก ทีนี้เมื่อพระสงฆ์เป็นผู้ตื่นขึ้นมาแล้ว เหมือนพระพุทธเจ้าแล้วก็สืบอายุพระศาสนา โดยการปลุกคนอื่นต่อๆๆๆ ไปแทนพระพุทธเจ้า ทำหน้าที่เป็นพระพุทธเจ้าอยู่ส่วนหนึ่งเหมือนกัน นี่มัน ครูบาอาจารย์ทำหน้าที่ปลุกสัตว์ สืบต่อมาจากพระพุทธเจ้า จนพวกเรานี้ชั้นหลังๆ รุ่นหลังได้รับสิ่งนี้ นี่คือว่าสืบอายุพระศาสนาด้วยการปลุกให้ตื่นกันต่อๆๆๆ กัน คนเมืองตำปรื้อในอาณาจักรศรีวิชัยนี้อย่างน้อยต้องตื่นแล้วตั้ง ๑,๒๐๐ กว่าปีมาแล้ว เตือนพวกเราให้ระลึกไว้เสมอ ปู่ย่าตายายของเราได้ตื่นจากหลับ ขนาดที่ว่าบทกล่อมลูกก็เป็นเรื่องนิพพานไม่ใช่เล็กน้อย เราอย่าเหลวไหล จงเป็นผู้ตื่นจากหลับ คือกิเลสให้พอสมควร อย่าเห็นว่าสูบบุหรี่เป็นเรื่องวิเศษไม่ยอมละทิ้งเป็นต้น แล้วอย่าเห็นไอ้เรื่องอื่นๆ ที่มันเป็นเรื่องของเด็กอมมือกลายเป็นเรื่องวิเศษวิโส ไอ้ที่เรื่องวิเศษวิโสกลับไม่เห็นว่าดี ว่า นี่คือหลับด้วยอวิชชา ถ้าเราปฏิบัติจริงในการบวชของเรา ไอ้การบวชจริงนี่มันจะปลุกเราจะเขย่าเราให้ตื่น ฉะนั้นจึงพูดเสมอว่าบวชจริง เรืยนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง เมื่อได้ผลแล้วก็สอนสืบๆ กันไปจริง ถ้าเราบวชจริงแล้วไอ้การบวชของพระพุทธเจ้าที่ได้บัญญัติไว้จะปลุกคนให้ตื่น พระธรรมเป็นการปลุกอยู่ในตัว ถ้าถามว่าพระพุทธเจ้าปลุกหรือพระธรรมปลุกหรือพระสงฆ์ปลุก ปลุกกันทั้งนั้นแหละ ความจริงที่พระธรรมปลุกนี่หมายความว่า พระธรรมนั้นถ้าลองไปปฏิบัติธรรมน่ะมันปลุกทันที พระพุทธเจ้าปลุกหมายความว่าแนะ แนะแนวทีแรก ก็โดยเหตุพระธรรมมาจากพระพุทธเจ้า นี้ก็จะให้พระพุทธเจ้าเป็นผู้ปลุก แต่คนต้องปฏิบัติธรรม แล้วพระธรรมนั้นเป็นตัวการปลุก แล้วพระสงฆ์นี่เป็นผู้ตื่นตามพระพุทธเจ้า แล้วช่วยปลุกกันต่อไปอีก พวกคุณเป็นลูกของคนเมืองตำปรื้อนี่ต้องรู้จักหน้าที่อันนี้ เพราะทำกันสืบๆ กันตั้ง ๑,๒๐๐ ปีแล้ว นี่เราพูดอย่างธรรมดาภาษาธรรมดา มันมีผู้ปลุก แล้วมีการปลุก หรือวิธีปลุกและก็มีผู้ถูกปลุกให้ตื่น เมื่อกี้เราพูดถึงคำ ๓ คำว่าศาสดา ศาสนา ศาสนิก ศาสดาก็คือผู้ปลุก ศาสนาคือการปลุกให้ตื่น ศาสนิกก็คือผู้ถูกปลุก เราพูดกันอยู่เสมอ พุทธศาสนิกชน พูดกันวันหนึ่งไม่รู้กี่ครั้ง แต่ไม่รู้ว่าอะไร เลยไม่ค่อยจะได้ประโยชน์ พุทธแปลว่าผู้ตื่น ศาสนิกแปลว่าผู้ถูกปลุกหรือผู้ได้รับศาสนาคือการปลุก พุทธศาสนิก ก็แปลว่า เอ่อ, ผู้ที่ได้รับการปลุกให้ตื่นโดยโดย โดยพุทธศาสนา มันเป็นพุทธศาสนิกกันแต่ปาก เป็นกันแต่ เป็นแต่ทะเบียนเป็นแต่บัญชีเป็นแต่ว่าจด จดบัญชี มันเกิดมาจากพ่อแม่ที่เป็นพุทธศาสนิก อย่างนี้มันไม่ตื่นนะ ถึงจดบัญชีว่าเป็นผู้ตื่นก็ไม่ตื่น แล้วเรียกตัวเองว่าพุทธบริษัท บริษัทของผู้ตื่นมันก็ไม่ตื่น เสียใจให้มากละอายให้มากกลัวให้มาก ความเหลวไหลความล้าหลังความประ มาทในทำนองนี้ต้องเสียใจให้มาก ต้องละอายให้มาก จำให้ดีไว้ก่อน ๓ คำว่า ศาสดา ศาสนา ศาสนิก ทีนี้มาพิจารณาดูว่าใน ๓ อย่างนี้ อะไรเป็นอะไรไอ้ศาสนาแหละเป็นตัว ตัวแท้ของพุทธศาสนา พระศาสดานั้นผู้ให้เกิด กำเนิด พระสงฆ์ก็เป็นผู้ที่รับถือรับฏิบัติสืบอายุ ไอ้ตัวจริงของมันคือตัวพระธรรม ตัวศาสนาอันแท้จริงคือตัวพระธรรม ถ้าเราถามว่าอะไรเป็นตัวแท้ของศาสนา ตัวพระธรรมนี่แหละ ทีนี้เราก็จะดูตัวพระธรรมหรือตัวศาสนากันต่อไปอีก เพราะว่าตัวพระศาสนาหรือตัวพระธรรมมันก็ยังแยกออกไปเป็นชั้นๆ ชั้นแรกเขาเรียกว่าปริยัติศาสนา ชั้นที่สองเรียกว่าปฏิบัติศาสนา ชั้นที่สามเรียกว่าปฏิเวธศาสนา ก็เลยตัองจำกันอีก เพิ่มขึ้นอีก ๓ คำ ปริยัติ ปริยัติแปลว่าเล่าเรียนคำนี้ ปฏิบัติแปลว่าเดินไป คำว่าปฏิบัตินั้นแปลว่าเดินไป เฉพาะจุดหมายอันใดอันหนึ่ง เขาเรียกปฏิบัติ ปฏิเวธแปลว่าแทงตลอด หรือถูกจุดแทงเฉพาะแทงถูกจุดหรือไปถึง ปริยัติเล่าเรียนการเล่าเรียนทั้งหมดไม่ว่าเรียนชนิดไหนก็ปริยัติเนื่องด้วยคัมภีร์ เด็กเรียนหนังสือก็เรียกว่าเรียนปริยัติได้เหมือนกัน และโดย เฉพาะเขาหมายถึงพระเจ้า พระสงฆ์เรียนเรื่องพระธรรมพระคัมภีร์ นี่เรียนปริยัติมีโรงเรียนปริยัติให้เรียน นี่เป็นพระศาสนาในส่วนปริยัติในชั้นปริยัติ เราก็ไม่ดูถูก ทีนี้ปริยัติคือเรียนแล้ว มันก็มาถึงตัวการปฏิบัติ คือทำจริงๆ ตามที่เรียน เราเรียนมากไม่ใช่เรียนเล็กน้อย แต่เวลาปฏิบัติมันเลือกปฏิบัติเท่าที่จำเป็นเท่าที่สมควร พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระพุทธองค์รู้เป็น อ่า, มากมายเท่ากับใบไม้ทั้งป่า แต่เอามาสอนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว ฉะนั้นเรื่องที่เราเรียนนี้ มันก็ไม่ใช่มากมายเหลือเกิน เท่ากับใบไม้กำมือเดียวของทั้งหมดนี่แหละ ถ้าเราเอาเท่านี้มันก็ไม่ลำบาก แต่นี่เขาไปขยายไอ้ใบไม้กำมือเดียวให้กลับมากออกไปอีกหลายกำมือ แล้วมันนี่ลำบาก ฉะนั้นเธอรู้จักใบไม้กำมือเดียว มันเป็นเรื่องทุกข์เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์เรื่องดับทุกข์และวิธีให้ถึงความดับทุกข์ นั่นนะใบไม้กำมือเดียว ถ้าออกไปนอกแนวนี้อย่าเอามัน ตัดทิ้งไปเสีย ให้รู้แต่เรื่องความทุกข์เป็นอย่างไร และมูลเหตุให้เกิดความทุกข์นั้นเป็นอย่างไร แล้วความที่ไม่มีทุกข์มันเป็นภาวะชนิดไหนอย่างไร และวิธีปฏิบัติให้มันถึงภาวะอันนั้นมันคือทำอย่างไรปฏิบัติอย่าง ไร ถ้าเราจะพูดว่าพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์แล้วก็ มันก็จะมีแต่ความดับทุกข์ ทางแห่งความดับทุกข์นั้นที่เป็นพระธรรม แต่ทีนี้คำว่าธรรมมันกว้างในเรื่องความทุกข์ในเรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วมันพลอยมาอยู่ในคำว่าปริยัติธรรม เราเรียนให้รู้ทั้งหมดเรื่องทุกข์เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์เรื่องความดับทุกข์เรื่องให้ถึงความดับทุกข์ นี้เป็นเรื่อง เรื่องเรียนเรื่องปริยัติไปหมด แต่พอเอาเข้าจริงเหลือแต่การปฏิบัติคือทำอย่างไร แล้วก็ทำอย่างนั้นมันเหลือเท่านั้นเอง เราไม่จำ เป็นจะต้องเรียนให้มากมายเกินเกินจำเป็น มันจะฟุ้งซ่านมันจะฟั่นเฝือ เรียนแต่วิธีดับทุกข์เท่านั้นนั่นนะคือพระธรรม ฉะนั้นในสิ่งสำคัญมันมาอยู่ที่ตรงปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ การเรียนมากมายนั้นมันเป็นแต่เพียงอุปกรณ์ในขั้นต้น ที่เลือกให้ถูกให้สำคัญที่สุด แล้วมาปฏิบัติ ส่วนปฏิบัตินี้เขาเรียกปฏิบัติศาสนา พระศาสนาในส่วนปฏิบัติ คือพระศาสนาชนิดที่เป็นการปฏิบัติ ผิดกับพระศาสนาชนิดที่เป็นการปริยัติคือเป็นการเรียน ทีนี้อันสุดท้ายเขาเรียกปฏิเวธ แปลว่าแทงเฉพาะหรือว่าแทงตลอดไปเลย ผ่านไปเลย นี่คือการบรรลุมรรคผลนิพพาน คือการดับทุกข์ได้ เป็นชั้นๆ ไปหรือการตื่นนอนจากหลับคือกิเลสเป็นอันดับๆๆ ไป เรียกว่าปฏิเวธทางศาสนา คือพระศาสนาในส่วนซึ่งเป็นปฏิเวธหรือชนิดปฏิเวธ เธอต้องลำบากจำคำนี้ทั้ง ๓ คำอีก ปริยัติปฏิบัติปฏิเวธ ใน ๓ อย่างนี้ไอ้ปฏิบัตินั่นแหละเป็นตัวแท้ของศาสนา เป็นใจความสำคัญทำปฏิบัติแล้วก็ผลมันก็ได้แหละ ทำปฏิบัติมันก็ต้องอาศัยการเล่าเรียนบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดหรือมากมายเกินไป แต่ถ้าเรียนแล้วไม่ปฏิบัติก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรนัก ปฏิบัตินี้เป็นตัวการที่จะให้เกิดผล พระศาสนาตัวแท้มันอยู่ที่การปฏิบัติ เราเอาแค่การปฏิบัติมันก็พอ การเรียนที่มันเรียนอยู่ในตัวแหละ ถึงแม้ไม่ต้องเรียนพระไตรปิฎกมันก็รู้วิธีที่จะปฏิบัติได้ คือเขาสอนเฉพาะไอ้เรื่องของการดับทุกข์โดย เฉพาะ ซึ่งเป็นใจความสำคัญของพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกมีหลายพันเรื่อง ๘๔,๐๐๐ เรื่อง รวมแล้วเป็นเรื่องดับทุกข์ทั้งนั้น เราไปมัวเรียนตั้ง ๘๔,๐๐๐ เรื่อง บางทีเราตายก่อน เราเรียนเรื่องเดียวเจาะจงที่ว่า ทำอย่างไรจะดับทุกข์ มันก็เลยเป็นเรื่องในทางให้ ให้ถึงความดับทุกข์ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เป็นอยู่ให้ถูกต้อง เป็นอยู่ให้ถูกต้องพูดแล้ว เดี๋ยวจะไม่เชื่อ เป็นอยู่ให้ถูกต้องแหละคือการปฏิบัติธรรมทั้งหมด อริยสัจจ์ข้อที่ ๔ เป็นทางให้ถึงความดับทุกข์ คือการเป็นอยู่ให้ถูกต้อง คือให้มีความถูกต้องในทางความคิดความนึก เป็นความรู้เหมือนกัน และให้ถูกต้องในทางความปรารถนามุ่งหมาย ความหวัง ถูกต้องในการพูดจา ถูกต้องในการกระทำทางกาย ถูกต้องในการเลี้ยงชีวิต ถูกต้องในความพากเพียรพยายาม และถูกต้องในการมีสติรำลึกประจำตัว และถูกต้องในความมีสมาธิคือปักใจมั่น นี่เป็นถูกต้อง ๘ อย่าง ที่เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ นี่คือตัวพระธรรม คือตัวพระศาสนาในการปฏิบัติในชั้นการปฏิบัติ ทำถูกต้องใน ๘ อย่างนี้ นี่เรียกว่าปฏิบัติ เป็นตัวแท้ของศาสนา ทีนี้เราแยกออกมาเสียอย่าให้ปนไปอย่าให้ไปปนกับใครได้เรียกว่าตัวพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์เป็นพระเป็นเณรนั่นคือประพฤติข้อนี้ ประพฤติความถูกต้อง ๘ ประการนี้ให้เป็นสิ่งเดียวกันอันเดียวกัน เรียกว่าทาง เรียกว่าหนทาง ถ้าเราไปมัวเรียกว่าปริยัติศาสนา ปฏิบัติศาสนา ปฏิเวธศาสนา เดี๋ยวมันปนกันยุ่งเป็นศาสนาด้วยกันหมด นี่ปฏิเวธศาสนานี้คือตัวการ เอ๊ย, ปฏิบัติศาสนานี้คือตัวการปฏิบัติอย่างที่ว่า คือทำให้ถูกต้อง ๘ ประการแล้วก็จำให้ดี แล้วก็ไปค้นคว้าแล้วเอามาจดมาจำให้ดี สวดมนต์เราก็สวดอยู่บ่อยๆ เรื่องไอ้ ๘ ประการนี้ สัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คนเคยบวชแล้วมักจะสวดได้ทั้งนั้น แต่มันสวดอย่างนกแก้วนกขุนทอง ทีนี้เราบวชแล้วก็อย่าให้เสียทีเพราะเราเป็นนักศึกษา เราจะแก้หน้าเมืองตำปรื้อด้วย อย่าให้ดูถูกดูถูกได้ จำความถูกต้อง ๘ ประการนี้กลับไปนี่ท่องไว้เรื่อยให้มันชินจำแม่นยำเสียแต่วันนี้พรุ่งนี้ เรารอดตัวมาเพราะข้อนี้ที่มันอยู่มาได้ ถูกต้องในความคิดเห็น ถูกต้องในความปรารถนา ถูกต้องในการพูดจา ถูกต้องในการกระทำทางกาย ถูกต้องในการเลี้ยงชีวิต ถูกต้องในความพากเพียรพยายาม ถูกต้องในความมีสติ สติเราตั้งไว้ประจำตัวเราความระลึกประจำตัวเราถูกต้อง แล้วก็กำลังใจที่ปักแน่นมั่นคงถูกต้อง ไอ้ถูกต้อง ๘ ประการนี้ ถ้าตรงกันข้ามเขาเรียกว่าความผิด ความผิด ๘ ประการนี่มันความถูก ๘ ประการ ถ้ามันตรงกันข้ามก็เป็นความผิด ๘ ประการ ความเห็นก็ผิด ความปรารถนาก็ผิด พูดจาก็ผิด กระทำทางกายก็ผิด เลี้ยงชีวิตก็ผิด พากเพียรก็ผิด สติก็ผิด สมาธิก็ผิด นั่นน่ะคืออันธพาล อันธพาลในทางธรรมเขาหมายถึงไอ้นี่ มิจฉาทิฎฐิ เป็นต้น เรียกว่าอันธพาล เป็นคนพาลเป็น อสัตบุรุษ คือคนไม่ดี ถ้ามีไอ้ความถูก ๘ประการ ก็กลายเป็นบัณฑิตเป็นสัตบุรุษเป็นคนดี คำ ๓ คำนี้มันบอกให้แล้ว อะไรเป็นอะไรอยู่ในพุทธศาสนา ปริยัติศาสนานี้เป็นการเล่าเรียนอยู่ในศาส ในพุทธศาสนา ปฏิบัติศาสนาเป็นตัวการปฏิบัติที่อยู่ในพุทธศาสนา ปฏิเวธศาสนาเป็นการบรรลุมรรคผลอยู่ในพุทธศาสนา เธอเริ่มกำหนดในแง่ที่ว่าอะไรมันเป็นอะไร อะไรมันเป็นอะไร อะไรมันเป็นอะไรอยู่ตรงไหนในพุทธศาสนา นี่เราเรียนชนิดที่ว่าพูดกันภาษาธรรมดาและง่ายๆ ทีนี้จะแยกออกมาให้เห็นชัดอีกส่วนหนึ่ง เพื่อจะเรียนรู้หรือเพื่อจะปฏิบัติ หรือเพื่อจะละ อะไรก็ตามที่ว่า ไอ้ตัวปัญหาไอ้ตัวเหตุต้นเหตุสำคัญตัว ตัวปัญหาที่ทำให้ต้องมีพุทธศาสนามันคืออะไร สิ่งที่เป็นตัวปัญหาคือตัวร้ายกาจคืออะไร มันคือกิเลสคือความทุกข์ จำไว้ดีๆ ว่ากิเลสคือคำว่าความทุกข์ รู้จักกิเลสในฐานะที่มันเป็นความรู้สึกที่ชั่วร้าย ที่เกิดขึ้นในจิต แล้วเป็นเหตุให้ทำผิดพูดผิดคิดผิด เป็นเหตุให้ทำ ทำผิดพูดผิดคิดผิด นี่คือกิเลส ทำให้เกิดความเศร้าหมองขึ้นแก่กายวาจาใจ คำว่ากิเลสนี้ แปลว่าของสกปรกคือของไม่สะอาดคือของเศร้าหมอง คำว่ากิเลสแปลว่าของเศร้าหมองของไม่สะอาดของสกปรก เมื่อเกิดขึ้นในจิตแล้วทำให้จิตสกปรก เมื่อออกมาทางวาจาก็ทำให้วาจาสกปรก ออกมาทางร่างกายทำให้ร่างกายสกปรก นี่เขาเรียกว่ากิเลส ถ้ามีกิเลสแล้วมันก็ทำผิด คือการ การกระทำกรรมที่ผิด แล้วมันก็ได้รับผลกรรมเป็นความทุกข์ ถ้าไม่มีกิเลส มันก็ทำกรรมที่ถูกต้องมันก็มีความสุข ฉะนั้นกิเลสคู่กับความทุกข์ อันนี้มันเป็นปัญหาเป็นปัญหาของมนุษย์ ถ้ามนุษย์มีความสุขสบายเสียแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไรไม่ต้องมีปัญหาอะไรให้ลำบากยุ่งยาก ทีนี้มันมีแต่กิเลสกับความทุกข์ มันก็เป็นความทนอยู่ไม่ได้มันยุ่งยากลำบากมันทนไม่ไหว มันก็ต้องดิ้นรนเพื่อจะแก้ไข ไอ้ตัวกิเลสไอ้ตัวความทุกข์นี่คือตัวปัญหา ทีนี้อยากจะแนะให้สังเกตให้ดีว่า กิเลสกับความทุกข์นั้นมัน มัน อ่า, มันไปด้วยกันเสมอแหละ แล้วมันหาแยกกันได้ไม่ ที่จริง แต่ว่าถ้าเราพูด มันแยกกันได้หมายความว่าโดยนิตินัย นิตินัยคือการบัญญัติ เราแยกกันได้กิเลสอย่าง ความทุกข์อย่าง แต่พอมันตัวจริงคือโดยพฤตินัยที่เป็นอยู่จริงแล้วมันไม่แยกกันแหละ กิเลสกับความทุกข์มันก็ติดกันมาเลย โดยพฤตินัยไม่ ไม่ต้องแยกกิเลสกับความทุกข์เป็นสิ่งเดียวกัน มาด้วยกันทันควันมาเลย โดยพฤตินัยเราพูดบัญญัติพูดนี่แยกกันได้ ส่วนนี้เป็นกิเลสส่วนนี้เป็นความทุกข์ พูดคล้ายๆ มันมาคนละทีหรือมันอยู่คนละโลก แต่ความจริงแล้วอันเดียวกันแหละมาติดกันเลย เพราะตัวกิเลสเองมันก็ร้อนเสียแล้ว ความโลภเกิดขึ้นในใจก็ร้อน ราคะเกิดขึ้นในใจมันก็ร้อน โทสะโกธะเกิดขึ้นในใจมันก็ร้อน ไอ้โมหะเกิดขึ้นในใจมันก็ร้อนไปตามแบบโมหะ กิเลสก็คือความทุกข์และความร้อนอยู่ในตัว เพราะว่าพอ พอมีกิเลสแล้วต้องมีพูดผิดทำผิดคิดผิด อะไรต่ออะไร แล้วมันก็ร้อน ร้อนทันทีและก็ร้อนยืดยาวไปอีกนี่ มันแล้วแต่ว่าชนิดไหนร้อนทันทีและร้อนยืดยาวไปอีก ฉะนั้นเรารู้จักไอ้กิเลสกับความทุกข์นี้ให้ดีๆ มันเป็นสิ่งที่มีอยู่ในมนุษย์เป็นต้นเหตุให้เกิดมีศาสนา มีศาสนาเพื่อจะกำจัดกิเลสและความทุกข์ ถ้าถามว่าอะไรเป็นตัวปัญหาของศาสนา ก็ตอบกิเลสและความทุกข์ ทีนี้ไอ้ความสิ้นกิเลสและความสิ้นทุกข์นั่นแหละเป็นวัตถุประสงค์ของศาสนา แรกเรียนจำไว้ว่า ความมีกิเลสหรือมี มี มีความทุกข์อย่างหนึ่ง เป็นเรื่องเสียหายทนไม่ได้ และความสิ้นกิเลสและสิ้นทุกข์นี่เป็นเรื่องที่ต้องการในความมุ่งหมาย หมดกิเลสและหมดทุกข์ เขาเรียกอีกชื่อหนึ่งว่านิพพาน ฉะนั้นอย่าเอานิพพานไปพูดเล่นโง่ๆ เขลาๆ ตามคนตลกคะนอง นิพพานหมายถึงความไม่มีกิเลสและไม่มีความทุกข์ เวลาเราที่ไม่มีความทุกข์เป็นนิพพานระดับใดระดับหนึ่งแหละ นิพพานเล็กนิพพานใหญ่นิพพานชั่วคราวนิพพานถาวรอะไรก็ตามใจ เวลาที่เรากิเลสไม่รบกวนความทุกข์ไม่มีรบกวนนี่เรามีนิพพาน เมื่อใดมีกิเลสมีความทุกข์รบกวนมันก็ไม่มีนิพพานเขาเรียกว่า มีวัฏสงสารมีความทุกข์ ทีนี้ถ้าถามว่าหานิพพานเอากันที่ไหน ก็ต้องหาในความดับกิเลสและดับทุกข์ กิเลสอยู่ตรงไหนความทุกข์อยู่ตรงไหนดับมันตรงนั้นแล้วพบนิพพานที่ตรงนั้นแหละ เพราะนิพพานแปลว่าเย็น กิเลสแปลว่าร้อน ดับความร้อนก็ได้ความเย็น ความเย็นอยู่ตรงไหนอยู่ตรงที่ดับความร้อนนั้น อย่าไปหาที่อื่น ความดีอยู่ตรงไหนอยู่ที่ดับความชั่วแหละ จงพยายามดับความชั่ว ทำลายความชั่ว ละความชั่ว ความดีก็อยู่ตรงนั้นแหละ อย่าเอาไปไว้คนละมุมโลก อย่าเอาชั่วไว้ที่บ้านเอาดีไว้ที่วัด นั่นเป็นคนหลับ เป็นคนนอนหลับไม่รู้อะไร คนที่เขาฉลาดแล้วเขารู้จักกำจัดความชั่วความทุกข์ความร้อน แล้วก็ได้พบความดีความเย็นความสุขที่ตรงนั้น ปู่ย่าตายายของเราพูดนะ ปู่ย่าตายายเมืองตำปรื้อน่ะพูด ว่า สวรรค์ในอกนรกในใจ พูดมาแล้วตั้งพันกว่าปี ก็หมายความว่ากิเลสและความทุกข์มันอยู่ในใจไม่มีกิเลสไม่มีความทุกข์เป็นนิพพานก็อยู่ในใจ เราจะจัดให้ใจเป็นอย่างไรมันได้ทั้งนั้น ในใจก็คล้ายๆ เป็นตัวกลางตัวสื่อกลาง เป็น media ตัวอยู่ตรงกลางๆ แล้วจะพาไปทางไหนก็ได้ ทีนี้ไอ้ศาสนาก็มันมีวิธีที่พาให้ใจนี่ไปในทางที่ไม่มีความทุกข์ ปรับปรุงจิตใจ อะไรจัดการกับจิตใจนั่นแหละ ให้เป็นไปในทางที่ไม่รู้จักทุกข์ นั่นนะคือตัวศาสนาตัวพระธรรม ตัวพระธรรมเขาสอนไว้ให้ ให้ดูความทุกข์ให้เห็นเสียก่อน ให้รู้มันเกิดมาจากไหน แล้วก็ตรงกันข้ามนั่นแหละคือความดับทุกข์ มันอยู่ตรงที่ความทุกข์นั่นเอง ทำลายความทุกข์เสียให้หมดไปให้ว่างไปก็เป็นความไม่มีทุกข์ เรียกว่าความสุข สมมุติเรียกว่าความสุข ถือโอกาสอธิบายเสียตอนนี้เลยว่าเรามีสระนาฬิเกร์อยู่ตรงโน้น ถ้ายังไม่มีใครเคยอธิบายให้ฟังก็จะอธิบายให้ฟังเสียเดี๋ยวนี้ว่า บทกล่อมลูกของปู่ย่าตายายของคนเมืองตำปรื้อ กล่อมลูกว่า คือน้องคือพร้าวนาเกร์ ต้นเดียวโนเน นอนทะเลขื้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง นอนเลขี้ผึ้ง ต้นเดียวเปลี่ยวลิงโลดเอย นั่นมันเรื่องนิพพาน เราพูดว่าฉลาดที่สุดว่านิพพานอยู่ที่ในวัฏสงสารนั่นแหละ เมื่อต้นมะพร้าวอยู่กลางทะเล ต้นมะพร้าวเป็นนิพพาน ทะเลเป็นความทุกข์ อย่าไปหาที่อื่นแหละ หา ให้หาความดับทุกข์ที่ความทุกข์ คือหาสภาพตรงกันข้าม ถ้าเราไปมัวแต่หาที่อื่นมันไม่พบแหละ ต้องหาที่ความทุกข์จึงจะพบความดับทุกข์ จัดการกับความทุกข์แล้วก็พบความดับทุกข์ ทะเลขี้ผึ้งเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็นเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็นแล้วแต่อุณหภูมิ นี้มันเป็นเรื่องที่ไกลไปอีกทางหนึ่งว่าไอ้ความทุกข์นั้น หมายถึงว่าเดี๋ยวถูกทำให้หัวเราะเดี๋ยวถูกทำให้ร้องไห้ ทะเลขี้ผึ้งเดี๋ยวร้อนเดี๋ยว เดี๋ยวเย็นเดี๋ยว เดี๋ยวเหลว เดี๋ยวแข็ง เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ นี้หมายความว่ามันมีทุกข์มีสุขชนิดที่ไม่จริง สุขหลอกๆ สลับกับอยู่ สุขทุกข์สุขทุกข์สุขทุกข์ เอาไอ้สุขทุกข์คู่นี้ออกไปเสียจึงจะพบสุขจริงคือนิพพาน คือต้นมะพร้าวอยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง เดี๋ยวเหลวเดี๋ยวแข็งเดี๋ยวเหลวเดี๋ยวแข็ง พอกลางวันได้แสงแดดก็เหลว พอกลางคืนได้ความเย็นก็แข็ง นี่วัฏสงสาร หาให้ดีจะพบไอ้ความที่เหนืออันนั้นคือต้น คือต้นมะพร้าวคือนิพพาน นี่พูด พูดแล้วพูดเล่าอย่ารำคาญ ปู่ย่าตายายของคนเมืองตำปรื้อนี้เป็นผู้พูด ชาวบางกอกพูดไม่เป็น แต่คนเมืองตำปรื้อที่ชาวบางกอกดูถูกพูดเป็น เมื่อคนเมืองตำปรื้อพูดนิพพานเรื่องนี้เป็นนะ ชาวบางกอกยังไม่ผุดไม่เกิด ทะเลยังขึ้นไปถึงปากน้ำโพ ทะเลตรงขึ้นไปยังตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาตามทุ่งที่ราบของภาคกลาง ฝ่ายโน้นก็ดอนฝ่ายนี้ก็ดอน อาณาจักรอู่ทองอาณาจักรทวาราวดีอยู่ฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายอาณาจักรฝ่ายหนึ่งเขาเรียกว่าโคตรบูร ทะเลมันขึ้นท่วมกรุงเทพท่วมอยุธยาขึ้นไปจนถึงปากน้ำโพ ชาวบางกอกยังไม่ผุดไม่เกิดสักที แต่ชาวเมืองตำปรื้อนี้พูดเรื่องนิพพานเป็นแล้ว แม้แต่กล่อมลูกก็พูดเรื่องนิพพาน อย่าลืม พูดแล้วพูดอีกกลัว กลัวเธอจะลืม ไอ้ลูกหลานของ ไอ้คนเมืองตำปรื้อนี้มันจะลืม ความดีความประเสริฐความวิเศษของปู่ย่าตายาย เรื่องนิพพานเป็นเรื่องสูงสุดในพุทธศาสนาคือสิ้นกิเลสและสิ้นทุกข์นั่นคือตัวพระธรรม พระพุทธเจ้าค้นพบสิ่งนี้และแสดงสิ่งนี้ พระสงฆ์ก็รับเอาสิ่งนี้มา ไหนๆ พูดเรื่องนิพพานแล้วก็พูดตลอดไปเสียเลยว่าไอ้คำว่านิพพานนี่แปลว่าเย็น เธอยังเด็กๆ จะเข้าใจไขว้เขวไปทางอื่น เขายืมคำว่าเย็นของชาวบ้านไปใช้เรียกชื่อความหมดกิเลสและเย็นในทางวิญญาณ คำว่านิพพานเขาพูดกันอยู่ก่อนตั้งแต่ครั้งไหนก็ไม่รู้ หมายถึงว่าเย็นของที่ร้อน เย็นแล้วก็เรียกว่านิพพานทั้งนั้น ถ่านไฟเย็นก็เรียกว่าถ่านไฟนิพพาน ข้าวต้มเย็นก็เรียกว่าข้าวต้มนิพพาน ข้าวสวยเย็นก็เรียกว่าข้าวสวยนิพพานทางวัตถุ เย็นคือไม่มีร้อนไม่มีโทษไม่มีพิษไม่มีอันตราย สัตว์ตัวไหนดีไม่มีอันตรายฝึกดีแล้วไม่มีอันตรายก็สัตว์ตัวนั้นเย็นเป็นนิพพาน ทีนี้คน คนไหนไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้ร้อนก็เรียกคนนั้นนิพพาน คำว่านิพพานแปลว่าเย็น ไวพจน์ของมันเรียกว่า ศิวะ ศิวะก็แปลว่าเย็นเหมือนกัน ศิวะ โมกขะ นิพพานะ นิพพานก็แปลว่าเย็น ศิวะก็แปลว่าเย็น เรารู้จักว่าไอ้ ในพุทธศาสนามีจุดวัตถุประสงค์ที่มุ่งหมายคือนิพพาน มีปัญหาคืออันตราย คือความทุกข์คือกิเลสและความทุกข์ มีอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอะไรอยู่ในพุทธศาสนาฟังให้ดีๆ กิเลสคือความทุกข์เป็นตัวปัญหาเป็นอันตรายอยู่ในพุทธศาสนา นิพพานเป็นความดับความเย็นความไม่มีทุกข์ เป็นจุดหมายปลายทางในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ผู้ปลุกผู้บอกเรื่องนิพพาน พระธรรมก็คือตัวรู้ตัวปฏิบัติตัวได้มาซึ่งนิพพานแหละ พระสงฆ์ก็เป็นตัวผู้ได้แหละ ฉะนั้นเรารู้ว่าไอ้ อะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอะไร ให้รู้ที่สำคัญที่เป็นหัวข้อ (นาทีที่ 45.31) ฟังไม่ออก อย่างนี้ก่อน นับตั้งแต่คำว่า ศาส เอ่อ, ศาสดา ศาสนา ศาสนิก ศาสดาก็มีหลายชนิด ศาสนาก็มีหลายชนิด ไอ้ศาสนิกก็มีหลายชนิด เป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกานี่ทั้ง ๔ พวกนี้เขาเรียกศาสนิก พวกเรานี้เขาเรียกว่าภิก เอ่อ, เป็นภิกษุ สามเณรก็นับรวมอยู่ในภิกษุ เพราะว่าจะเป็นภิกษุอยู่แล้ว ศาสดา ศาสนา ศาสนิก คำว่ากิเลส คำว่าทุกข์ คำว่านิพพาน ๖ คำที่ ที่สำคัญที่จะต้องสนใจครั้งแรกว่าอะไรเป็นอะไร ๖ คำนี้กระจายได้เป็นหลายสิบคำ แต่ว่าแม่บทเขามีเพียง ๖ คำ ศาสดาคือพระพุทธเจ้า ศาสนาคือพระธรรม ศาสนิกคือพระสงฆ์ เมื่อกิเลสกับความทุกข์นี้เป็นตัวปัญหา นิพพานเป็นความไม่มีปัญหา หมดปัญหา คือสิ่งที่ดีที่สุดที่พวกศาสนิกจะพึงได้จากพระศาสดาโดยอาศัยสิ่งที่เรียกว่าศาสนาเป็นเครื่องมือ เธอหัดพูดเหมือนเราพูดบ้างนะ พูดให้มันสัมพันธ์กันไปอย่างนี้ โดยความมองเห็นเข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง ทีนี้ถ้าถามว่าอะไรมันจะตั้งต้นกันตรงไหน เช่นมองดูพุทธศาสนาให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้อะไรเป็นอะไร ตั้งต้นกันตรงไหนดี ถ้าเอาโดยนิตินัยโดยบัญญัติ เขาก็พูดเรื่องพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์มาก่อนแหละ แต่ถ้าพูดโดยพฤตินัยแบบมันปฏิบัติกันจริงๆ แล้วก็ต้องพูดถึงไอ้ความทุกข์ก่อนแหละ เพราะถ้าคนเราไม่มีทุกข์ ไอ้เรื่องนี้มันไม่เกิด เรื่องศาสนาไม่เกิด เพราะว่ามนุษย์มีความทุกข์มันทนอยู่ไม่ได้ กิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ตัวความทุกข์มันก็มีอยู่ แล้วก็ไอ้ตัวความทุกข์เป็นเรื่องแรก ปัญหาของมนุษย์ก็คือความทุกข์เป็นเรื่องแรก พอมีโลกขึ้นมามีสัตว์ขึ้นมามีมนุษย์ขึ้นมาเจริญทางความคิดความนึกแล้ว มันก็พบปัญหาข้อแรกคือความทุกข์ จะเป็นทุกข์กายหรือทุกข์ใจทุกข์อะไรก็ตามแต่ เพราะความทุกข์นั่นแหละเป็นตัวปัญหาของมนุษย์ เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องดับมันแหละ ไม่อย่างนั้นจะทำไปทำไม ความทุกข์เพราะไม่มีจะกินเข้าไป หน้าที่ต้องทำนาทำไร่ทำอะไรหากินอยู่ ความทุกข์เพราะเจ็บเพราะไข้หน้าที่ก็ต้องรักษาเยียวยาความเจ็บความไข้ ความทุกข์เพราะไม่มีเพื่อนไม่มีลูกไม่มีเมียไม่มีเพื่อน เอ้า, ก็มีลูกมีเมียมีเพื่อนไปตามเรื่อง เรื่องไอ้ของคนที่ เอ่อ, ชาวบ้านนี่แล้วก็เป็น ยังไม่ ไม่ใช่ว่ามันจะดับทุกข์ได้ มีข้าวกินแล้วก็ไม่ใช่จะดับทุกข์ได้ มียารักษาโรคแล้วก็ไม่ใช่จะดับทุกข์ได้หมด มีลูกมีเมียมีอะไรแล้วก็ยังไม่ใช่จะดับทุกข์ได้หมด เพราะมันยังมีความทุกข์ทางวิญญาณ มีความทุกข์ทางจิตใจอยู่ นี่เราแยกเป็น ๒ เรื่องเป็นเรื่องจิต เอ่อ, เรื่องร่าง กายกับเรื่องจิตใจ เมื่อปัญหาทางร่างกายแก้ไขไปได้สมควรแล้วก็ยังเหลือแต่ปัญหาทางจิตใจ ก็เลยมีความทุกข์ทางจิตใจ ก็ต้องแก้ต้องไขกันไปอีกชั้นหนึ่งแหละ นี่เป็นหน้าที่ของศาสนา ไอ้เรื่องแก้ปัญหาทางร่างกายนี่อย่าเอามาให้ศาสนานักเลย เขาชอบพูดว่าเป็นศาสนาเหมือนกัน ไอ้เราว่าไม่ต้อง หมาแมวก็ทำเป็นหากินเป็นอะไรเป็น ถ้าเป็นศาสนาก็เป็นศาสนาต่ำๆ ศาสนาแท้จริงเพื่อจะจัดการทางวิญญาณทางจิต ส่วนทำมาหากินรักษาเจ็บไข้มันทำเป็นมาก่อนมีศาสนาโน้น มนุษย์มันรู้จักไอ้สิ่งเหล่านี้ในฐานะเป็นวัฒนธรรม วัฒนธรรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ คือมนุษย์มันเจริญก้าวหน้า เธอก็เคยเรียนประวัติศาสตร์เรียนวิทยาศาสตร์ มีโลกเกิดขึ้นมีสัตว์เกิดขึ้นมีมนุษย์เกิดขึ้น เป็นสมัยหิน สมัยทองแดงสมัยอะไรเรื่อยมาแหละ นี่นะ ตอนนั้นรู้จักทำมาหากินรู้จักบำบัดโรครู้จักอะไรแล้วยังไม่มีศาสนา ยังไม่มี ยังไม่มีพุทธศาสนา เรื่องศาสนามันจึงมีปัญหาก็ต่อเมื่อว่า มันแก้ไขเรื่องปากเรื่องท้องเรื่องร่างกายเรื่องอะไรเสร็จแล้ว มันยังมีความทุกข์เหลือ ศาสนาก็ถูกค้น เมื่อความทุกข์อันนี้มันยังไม่ดับ เอ้า, คนก็ค้น ค้นไปค้นมาก็เกิดมุนีเกิดฤาษีอะไรก็เอาที่เป็นผู้รู้ พบมาตามลำดับ ลำดับ นี่มันเริ่มตั้งต้นของศาสนา จนเกิดพระพุทธเจ้าแหละ แก้ปัญหาทางจิตทางวิญญาณได้หมด เราเรียกว่าพุทธศาสนา ที่เราถืออยู่นี่ อย่างศาสนาอื่นก็มีเหมือนกันมุ่งหมายอย่างเดียวกัน แต่มีวิธีการคนละอย่าง มีคำพูดคนละอย่างอย่าไปดูถูกเขาแหละ เราเป็นเพื่อนกันเป็นเพื่อนศาสนาที่จะช่วยกันดับทุกข์ในโลกนี้ ทีนี้เรานี่บวชเป็นพระเป็นเณรนี่มันต้องรู้ไอ้เรื่องของเราโดยเฉพาะให้มันแตกฉาน คือพุทธศาสนามีอะไรบ้าง นี่เราก็รู้ตามที่เราศึกษา เราใคร่ครวญ หรือเรามีเหตุผลที่จะใคร่ครวญไอ้ความทุกข์นี่เองมันเป็นต้นเหตุ ให้เกิดมีไอ้วัฒนธรรมทาง ทางกาย เพื่อแก้ปัญหาทางกาย แล้วก็มันมีความทุกข์ทางใจนี่เป็นต้นเหตุให้เกิดการแก้ความทุกข์ทางใจคือศาสนา เธอมองให้ลึกกว่านี้เธอจะเข้าใจคำว่าศาสนา ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะเข้าใจว่า เหมือนกับว่า เขาว่าอย่างไรๆ ก็พูดกันไปอย่างนั้นแหละ ศาสนาคำสั่งสอนของพระพุทธ เจ้าอะไรนี่ มันยังไม่ได้ความหมายลึกพอหรือชัดเจนพอ ศาสนาคือสิ่งที่มนุษย์ขุดค้นขึ้นมาสำหรับแก้ปัญหาทางจิตใจ นั่นแหละพระพุทธเจ้าเอาอันนี้มาสอน เราก็เรียกว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าเราจะพูดว่าศาสนาคือคำสอนพุทธศาสนาคือคำสอนของพระพุทธเจ้ามันเกือบจะไม่ได้ประโยชน์อะไร สำหรับให้เด็กจำทีแรกได้ แต่ถ้าเราพูดว่า พุทธศาสนาคือวิธีการที่จะดับทุกข์ของมนุษย์ในด้านจิตด้านวิญญาณ ทีนี้มันได้ความรู้แล้วนี่ มันเป็นไอ้ระบอบอันหนึ่งซึ่งจะดับความทุกข์ของมนุษย์ทางวิญญาณ และเมื่อถามว่าทำอย่างไรบ้าง ก็ตอบว่า ถูก ๘ เอ่อ, ถูกต้อง ๘ ประการเหมือนอย่างที่ว่ามาแล้ว นี่คือตัวศาสนา ตรงนี้เธอต้องจับใจความให้ได้ว่าคำพูดมีเป็นชั้นๆๆๆ แรกพูดคล้ายๆ พูดกับเด็กอมมือก็พูดไปอย่างหนึ่ง ถ้าพูดกับเด็กที่โตแล้วเด็กที่เป็นผู้ใหญ่แล้วเด็กเป็นคนแก่แล้วเด็กที่ถึงที่สุดของอายุ ผู้เห็นโลกทั่วถึงดีแล้วก็พูดกันไปคนละอย่างแหละ ไปถามเด็กว่าศาสนาคืออะไรก็ตอบอย่าง ไปถามผู้ใหญ่ก็ตอบอีกอย่าง ถามคนแก่ก็ตอบอีกอย่าง ถามคนเรียนน้อยตอบอีกอย่าง ถามคนเรียนมากตอบถูกทั้งนั้น คำตอบนั้นถูกทั้งนั้น แต่แล้วมันเหมือนกับผิดอยู่เรื่อยๆ ผิดอยู่น้อย ผิดอยู่น้อยๆ ผิดอยู่ส่วนหนึ่งๆ จนกว่าจะถูกหมด ฉะนั้นเราในฐานะเป็นพระเป็นเณรขึ้นมาถึงขนาดนี้แล้ว เราต้องมองเห็นชัดว่าไอ้ศาสนา หรือพุทธศาสนานั่นมันคือวิธีการ การดับทุกข์อย่าตอบแต่เพียงว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันต้องเป็นตัวการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ปริยัติศาสนาก็ยังไม่ใช่สำคัญ ปฏิบัติศาสนานั่นคือสำคัญ ปฏิเวธศาสนามันไม่ไปไหนเสีย มันต้องได้แหละ มี มีการปฏิบัติมันต้องได้ สำคัญอยู่ที่ปฏิบัติ ฉะนั้นเราจะมาบวชจริงเรียนจริงปฏิบัติจริงกันเว้ย ฉะนั้นเธอมาพักอยู่ที่นี่อย่าเพียงแต่เรียน เธอต้องปฏิบัติ ถ้าไม่อย่างนั้นไม่ถึงตัวศาสนา อย่าเพียงแต่สวดมนต์อย่าเพียงแต่รับศีลอย่าเพียงแต่ฟังบรรยาย นี่ไม่ ไม่พอ มันยังไม่พอมันไม่ได้ตัวจริงในสิ่งที่เรียกว่าศาสนา เธอต้องไปปฏิบัติตามไอ้คำพูดที่เราได้เลือกสรรมาดีที่สุดให้สั้นที่สุดให้เข้าใจง่ายที่สุดให้ปฏิบัติได้ ช่วยกันปฏิบัติ บังคับตัวเองบังคับกายวาจาใจเขาเรียกบังคับตัวเอง อย่าให้มันพลัดไปในทางที่ไม่ใช่พุทธศาสนา ในทางต่ำไปในทางกิเลสไปทางความทุกข์ นี่เขาเรียกว่าไปทางฝ่ายฝ่ายมาร ฝ่ายพญามารไม่ใช่มาฝ่ายพระพุทธเจ้า ความผิดความชั่วทั้งหลายที่แล้วมาแต่หนหลังเป็นเรื่องที่มารเข้ามา มาสิงไม่รู้สึกตัวและคนคนนั้นมันหลับอยู่ เดี๋ยวนี้มันตื่นแล้วมันต้องเห็นมาร มารเห็นพระพุทธ เจ้า พระพุทธเจ้า แล้วก็เลือกให้ถูกทาง สิ่งไรไม่มีประโยชน์ต้องถือว่าเป็นโทษเพราะมันเสียเวลาเสียหลายๆ อย่าง ลบ ลบ ลบ ลบหมดเลยกระดานดำ ลบตั้งต้นกันใหม่ที ให้มีแต่บวกคือให้มีแต่ดีมีแต่ถูกมีแต่ถูกต้อง ที่พลาดผิดมาแต่หลังลบหมดเลย มันยุ่งนักไอ้เรื่องคิดบัญชีกันไม่ถูก ทำดีเท่าไหร่ทำชั่วเท่าไหร่ทำผิดเท่าไหร่ทำถูกเท่าไหร่ ลบเลิกกันหมด ตั้งศูนย์ใหม่ ทีนี้มีแต่บวกบวก บวก บวกอย่าให้มีลบ คืออย่าให้มีผิด รักษาการปฏิบัติให้มันถูกต้องอยู่เรื่อยไปแหละ เป็นพระเป็นเณรให้มันสำรวม คำว่าเป็นพระแปลว่าประเสริฐ คำว่าสมณะแปลว่าสงบ สามเณรแปลว่าผู้ที่จะเป็นสมณะ แต่เขารวมแล้วเขาเรียกว่าผู้ปฏิบัติ คือผู้สำรวม ไม่ให้ความผิดเกิด ให้มีแต่ความถูกไปเรื่อย มันหายากไม่ อย่าเข้าใจให้มันไขว้เขว ระวังอย่าให้ความผิดเกิดให้มันถูกอยู่เรื่อยแหละ ไอ้ความถูกคือไม่ต้องสร้างอะไรเลย ระวังที่จะอย่าให้ความผิดมันเกิดขึ้นมา แล้วความ ความถูกมันมีอยู่เรื่อยไป ถือว่าโดยธรรมชาติมันถูกอยู่แล้ว เราระวังศึกษาแต่เรื่องฝ่ายผิดฝ่ายความผิดระวังอย่าให้มันเกิดแล้วมันก็ถูกอยู่ตลอดเวลา เมื่อความเห็นมันไม่ผิดความเห็นมันถูก แล้วมันก็ทำความดีเป็น มันไม่เห็นแก่ตัว แล้วมันทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ลืมความเห็นแก่ตัวลืมความเห็นแก่ตัว มันมีใจเป็นบุญเป็นกุศลมันเห็นแก่ผู้อื่น ก็ทำแต่เรื่องที่มีประโยชน์ ไม่ทำสิ่งที่ให้เป็นโทษแก่ใครเลย หลักเกณฑ์อันนี้มันเหมือนกันแหละ เป็นพระหรือเป็นฆราวาสมันเหมือนกัน แต่ว่าพระทำได้มากทำได้เร็ว นักบวชบรรพชิตทำได้มากทำได้เร็ว ถ้าไปเป็นฆราวาสทำได้ช้าทำได้อืดอาด มันเนื่องกันสิ่งนั้นเนื่องกันสิ่งนี้ ผิดกับบรรพชิต เวลานี้เธอเป็นบรรพชิตเธอเปรียบเทียบกันเอง เมื่อยังไม่ ไม่เป็นบรรพชิตมันมีอะไรผูกพันเท่าไหร่ เมื่อเป็นบรรพชิตมันมีอะไร เป็นอิสระเท่าไหร่ เข้าใจได้ทันทีว่าการปฏิบัตินี้บรรพชิตต้องทำได้ดีกว่าทำได้เร็วกว่าทำได้ ในเมื่อไม่มีกรณีพิเศษให้มาแทรกแซง พอใจในการเป็นผู้ได้เกิดมาในเมืองตำปรื้อ เรา เราชอบคำนี้เพราะเขาด่าเราคนเมืองตำปรื้อ เราจะพิสูจน์ให้เห็นว่าคนเมืองตำปรื้อดีกว่าคนที่ว่าเรา ว่าเมืองตำปรื้อ นั้นชาตินิยมอย่างนี้ ชาวปักษ์ใต้นี่จะรัก เอ่อ, แสดงบทบาทของชาวปักษ์ใต้ ให้ชาวบางกอกที่มันด่าว่าเราเป็นคนตำปรื้อนี้ เห็นว่าเออมัน เราไม่ควรจะถูกด่า ให้เขาเห็นทีว่าเราไม่ควรจะถูกล้อ ถูกดูถูกว่าคนเมืองตำปรื้อ เรารู้พุทธศาสนาตั้งแต่ชาวบางกอกยังไม่ผุดไม่เกิดยังอยู่ใต้น้ำ พอกันทีขอเตือนใจทุกวันทุกวันสำหรับลูกคนเมืองตำปรื้อ การที่ไม่ต้องไปเรียนบางกอกอย่าเสียใจ เรียนที่สงขลาเรียนที่นครศรีธรรมราชนี้ มันพอแหละ ดีกว่าถ้าเรียนให้ได้สมกับที่ว่าเป็นลูกหลานของคนเมืองตำปรื้อดีมาแล้วตั้ง ๑,๒๐๐ ปี เวลาหมด