แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมษายนของพวกเราที่นี่ ได้ล่วงมาถึงเวลา ๔.๓๐ น. แล้ว เป็นทุกวัน เป็นการบรรยายครั้งที่ 3 นั้นจะกล่าวถึง อาการโรคของสัตว์โลก ผู้เป็นคนไข้ของอวิชชา สืบเนื่องกันไป จากเรื่องที่ได้กล่าวมาแล้ว ข้างต้น พระพุทธเจ้าเป็นนายแพทย์ ผู้เยียวยารักษาของสัตว์โลกทั้งปวง สัตว์โลกทั้งปวงเป็นคนไข้ของอวิชชา คนไข้เหล่านั้น มีอาการโรคต่าง ๆ กัน แม้จะมากมายอย่างไรก็อยู่ในวิสัย ที่พระพุทธเจ้าจะทรงเยียวยาได้ ดังนั้นขอให้นึกถึง บาลีที่ว่า สัพพัญญู สัพพะทัสสาวี ชิโณอาจรีโย มะมะ มหากรุณิโก สัตถา สัพพะโลกะ เตกิจฉะโก (นาทีที่ 01:58) ไว้อย่างซ้ำ ๆ ซาก ๆ ว่าอาจารย์ของเรานั้น เป็นผู้รู้สิ่งทั้งปวง เป็นผู้เห็นสิ่งทั้งปวง เป็นผู้ชนะกิเลส เป็นผู้สอน ที่ประกอบด้วย ความกรุณาอันใหญ่หลวง เป็นนายแพทย์ผู้รักษาเยียวยา สัตว์โลกทั้งปวง ดังนี้
ทีนี้เราก็จะดูกันในแง่ที่ว่า สัตว์โลกทั้งปวง ซึ่งเป็นคนไข้ของอวิชชานั้น มีอาการโรคอย่างไรบ้าง อาการโรคมันก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า โรค เมื่อโรคมันมีต่าง ๆ กัน อาการโรคมันก็ต้องต่าง ๆ กันเป็นธรรมดา นี้เป็นเรื่องโรคภัยไข้เจ็บทางกายทางจิต ส่วนที่เป็นโรคภัยไข้เจ็บในทางวิญญาณนั้น ความต่างมันก็มีอยู่ใน รายละเอียดประเภทเบ็ดเตล็ด ไอ้โรคส่วนใหญ่มันเป็น โรคเดียวหรือโรคเหมือนกัน เป็นโรคเดียว ที่เราเรียกว่า เป็นโรคทางจิต ที่เรียกว่าเป็นคนไข้ของอวิชชา เพราะมันมีมูลมาจากอวิชชา มีสมมุติฐานของโรค มาจาก อวิชชา ซึ่งเป็นแม่บทของกิเลส ตัณหาทุกชนิด ถ้าดูตามอาการภายนอก มันก็ต่างกันบ้าง หรือว่าถ้าเราจะ แยกดู ไปทีละแง่ทีละมุม ไม่ดูกันแง่เดียวเสมอไป มันก็จะเห็นความแตกต่างกัน แม้ว่าเป็นคนไข้ของอวิชชา เหมือนกัน หรือมีสมมุติฐานมาจากอวิชชา ที่เป็นแม่บทของกิเลสตัณหา ตัณหาร้อยแปด แล้วแต่จะเรียก ตามภาษาวัด ๆ
สำหรับการที่มันเป็นโรคนี่ มันก็มีอาการ ที่เราเรียกกันตามธรรมดา ที่แสดงออกมา ถ้ามีอาการคลั่ง นี่ก็มีลักษณะของอวิชชา เป็นตัวเค้าว่าคลั่ง หรืออะไรทำนองนี้ มันไม่รู้สึกตัว สัตว์โลกผู้เป็นคนไข้ของ อวิชชานี้ มีอาการคลั่งอยู่ด้วยกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ มีโลภะ โทสะ โมหะชักนำไป หรือบังคับให้ หรือครอบงำอยู่ หรืออะไรก็ตามแล้วแต่จะเรียก มันก็คลั่งไปตามอำนาจของโมหะ โทสะ โลภะ ซึ่งออกมาจาก อวิชชา อวิชชาปราศจากความรู้ เมื่อมีอะไรมากระทบจิตใจ ที่ปราศจากความรู้ มันจะเกิดความคิดอย่างนั้น อย่างนี้ แต่เมื่อรวมกันแล้ว มันมีเพียง ๓ ประเภท คือ โลภะ โทสะ โมหะ บางทีก็เรียกว่า ราคะ โทสะ โมหะ บางทีก็เรียกว่า ราคะ โกรธะ โมหะก็มี แต่ที่เรียกกันโดยมากก็ว่า โลภะ โทสะ โมหะ ไอ้ราคะมันก็รวมอยู่ใน โลภะ โกรธะ ความโกรธก็รวมอยู่ในโทสะ โมหะเรามักจะเรียกว่า โมหะ แต่เพียงชื่อเดียว โลภะหรือราคะ นี่มันเหมือนกัน ตรงที่มีอาการเหมือนกับที่จะ รวบเข้ามาหาตัวหรือกอดรัดไว้กับตัว ส่วนโทสะหรือโกรธะ นั้น มันมีอาการผลักออกไปจากตัว ส่วนโมหะนี้มีอาการเหมือนกับว่า มันไม่รู้จัก มันก็สงสัยระแวง พัวพัน อยู่รอบ ๆ สิ่งนั้น ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร กันแน่นัก แต่ส่วนใหญ่ก็ไปหลง เวียนอยู่รอบ ๆ สิ่งเหล่านั้น
ขอให้กำหนดจดจำ คำอธิบาย ๓ อย่างนี้ไว้ดี ๆ สำหรับพวกคุณ ที่เป็นนักศึกษา ชาวบ้านเอาไป ปนกันยุ่ง แล้วบางทีก็แยกกันไม่ออก ว่ามันต่างกันอย่างไร เราอาศัยหลักทาง Logic หรือทางวิทยาศาสตร์ พิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ชัด ว่าพวกโลภะนั้น พวกจะดึงเข้ามา กอดรัดไว้กับตัว พวกโทสะมีแต่จะผลัก ให้ออกไป หรือทำลายเสีย ไม่ให้ปรากฏ พวกโมหะมันก็ พัวพันอยู่รอบ ๆ ด้วยความสนใจ ด้วยความสงสัย นี่มันไม่ ไม่มีทางจะปนกันได้
แล้วกิเลสมันมีมากชื่อ ตั้งร้อยตั้งพัน เราก็สามารถที่จะเอามาจัดกลุ่ม ให้เหลือ เพียง ๓ ประเภทได้ ก็เป็นอันว่า เราเข้าใจเรื่องกิเลส ที่เป็นประธาน ออกไปเป็น ๓ อย่างนี้ได้ดี สัตว์โลกมีอาการคลั่ง อยู่ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ เหมือนคนไข้ที่มันคลั่ง ไอ้คลั่งทางร่างกายทางจิตนั้น มันก็เห็นง่าย มีอาการเห็นง่าย แต่คลั่งทาง วิญญาณนี้ มันจะไม่เห็นได้ง่าย สำหรับผู้ที่ไม่มีธรรมจักษุ นั้นจึงเห็นเป็นไม่คลั่ง อย่าลืมว่า เราเองถ้ายังเป็น ปุถุชนอยู่เพียงไร มันก็มีอาการคลั่ง อยู่ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลงทั้งกลางวันกลางคืน แม้นอนหลับ แล้วมันก็ยังคลั่ง อยู่ใต้สำนึก หรือว่าด้วยความฝัน
ดังนั้นขออย่าได้ประมาท ดูมันให้ดี ๆ ว่ามันมีอาการคลั่ง อยู่ตลอดเวลา ที่มันมี มีอาการของความ โลภ ความโกรธ ความหลงครอบงำ แล้วยังมีแถมอยู่ใต้สำนึก คือไม่ค่อยจะรู้สึก หมายความว่า พร้อมที่จะ ออกมาเป็น เป็นสำนึกอยู่เสมอ จิตใต้สำนึกก็เต็มอยู่ด้วย โลภะ โทสะ โมหะ รู้สึกแสดงออกมา ด้วยอาการ เป็นสำนึก เป็นคราว ๆ หรือว่าเป็นอย่าง ๆ ไป แล้วแต่ว่าอารมณ์อะไร มากระทบ อารมณ์ที่น่ารัก มันก็เกิด ความโลภ อารมณ์ที่น่าเกลียด มันก็เกิด อารมณ์ที่น่ารักมันก็เกิดความรัก อารมณ์ที่น่าเกลียดก็ให้เกิด ความเกลียด อารมณ์ที่เป็นที่ตั้งความหลงใหล มันก็หลงใหลเท่านั้นเอง ชาวบ้านชาววัด พูดถึงโลภะ โทสะ โมหะกันจนดื่นไปหมด พวกคุณก็อาจจะเห็นว่า มันเป็นเรื่องครึคระ พ้นสมัยอีกเหมือนกัน ว่าเป็นเรื่องที่ ชาวบ้าน ชาววัด คนแก่ ยายแก่ ตาแก่ ที่พูด
ทีนี้มามองดู ในตัวของตัวเอง ดูในจิตใจตัวเอง แล้วพบว่า มันก็มีสิ่งนี้ เดือดพล่านอยู่ในจิตใจ คือ คลุ้มคลั่งอยู่ในภายใน เป็นเรื่องทางวิญญาณ นี่ก็ให้สะดุ้งว่า มันมีโรคทางวิญญาณ เรื่องโลภะ โทสะ โมหะนี้ เป็นเรื่องที่ จะต้องสนใจมาก ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีหยุด แม้กระทั่งว่า มันจะหมดกิเลส หมดโลภะ โทสะ โมหะ ก็ยังต้องสนใจ ในฐานะที่มันหมดไปแล้ว เดี๋ยวนี้มันยังมีอยู่ มีความเคยชินที่มันจะเกิดอยู่ ในใต้สำนึก รู้จักมันเสียให้ดี ๆ จะได้ผลคุ้มค่า ของการที่ลงทุนเผยแผ่ ลงทุนมาศึกษาพุทธศาสนา ด้วยความยากลำบาก หรือว่าด้วยเจตนาดี สัตว์โลกมีอาการคลั่ง อยู่ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ แล้วก็มีอาการเพ้อ ไปตามอำนาจ ของโลภะ โทสะ โมหะ ที่มันทำหน้าที่ ของมันเต็มที่ กลายเป็นวัฏฏะขึ้นมา ถ้าคุณรู้จักกิเลสโลภะ โทสะ โมหะแล้ว ก็ต้องรู้จัก เรื่องของวัฏฏะ ซึ่งเป็นความหมุนเวียนของกิเลสนี้
ที่เขาพูดว่าวัฏฏะ หรือวัฏสงสาร พวกคุณนักเรียน นักศึกษาสมัยใหม่ ก็ชักจะรู้สึกว่ามัน เป็นคำ ครึคระอย่างนี้ มีความเฉยเมยที่จะ เข้าไปรู้ให้มันชัดลงไปว่าอะไร ถ้ารู้เมื่อไร ก็จะรู้ว่าสิ่งที่เรียกว่า วัฏฏะ หรือวัฏสงสาร มันมีอยู่ในตัวเรานี้เอง แทบตลอดเวลา วัฏฏะ แปลว่า วงกลม สังสาร แปลว่า เวียนว่าย วัฏสังสาร แปลว่า เวียนว่ายอยู่ในวงกลม วงกลมนี้ประกอบด้วยส่วน ๓ ส่วน คือส่วนที่ ๑ ได้แก่ กิเลส โลภะ โทสะ โมหะที่ว่า ส่วนที่ ๑ นี้เป็นเหตุให้กระทำส่วนที่ ๒ คือสิ่งที่เรียกว่า กรรม กรรมดี กรรมชั่ว กรรมไม่ดี ไม่ชั่วยังไงก็ได้ มันทำด้วยอำนาจของกิเลส ส่วนที่ ๒ คือกรรมนี้ก็เป็นเหตุให้เกิดส่วนที่ ๓ คือผลกรรม เรียกว่า วิบาก เป็นผลกรรมที่ทำให้เกิด ความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
ทีนี้ผลกรรมนี่ มันไม่หยุดอยู่แค่นั้น พอเรารู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ก็เกิด คอนเซ็ปอันใหม่ (นาทีที่ 16:57) ที่จะเป็นกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่งอีก รู้สึกสุขขึ้นมามันก็เกิดกิเลส ที่จะขยายไอ้ความสุขนั้น แล้วพอเป็น ทุกข์ มันก็เกิดกิเลสประเภทโกรธ ประเภทโทสะขึ้นมา ที่จะทำกรรมไปตามอำนาจของ ไอ้โทสะนั้นต่อไป เช่น ไปตี ไปฆ่าเขา เป็นต้น นี่ขึ้นชื่อว่าผลกรรม มันก็ทำให้เกิดกิเลสอีก กิเลสก็ทำให้ ให้มีกรรม หรือมีการ กระทำกรรมขึ้นมาอีก การทำกรรมก็ ให้เกิดผลกรรมอีก ผลกรรมก็เกิดกิเลสอีก มันเป็นวงกลมที่ซ้ำเป็นวงไป แต่ว่ามัน รูปร่างมันต่างกัน มันจึงมีลักษณะเหมือนกับเป็นห่วงของวงกลม ที่เกี่ยวกันเป็นลูกโซ่ อยู่ในจิตใจ ของเรา เป็นประจำวัน หรือวัฏฏะหรือวัฏสงสาร
มีอาการเหมือนกับเพ้อ ที่เป็นเรื่อยไปไม่มีหยุด แล้วเราก็ไม่เคยเอาใจใส่ กับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นโรคร้าย บางทีเราจะรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องสนุกด้วยซ้ำไป ก็จะเกิดกิเลส เกิดลาภะ เกิดความรู้สึกทางกามารมณ์ มันก็ สนุกสนานไป แล้วก็เกิดกิเลสประเภทโทสะ โกรธะ มันก็จะสนุกไปอีกแบบหนึ่ง ตามประสาของยักษ์มาร หรือภูตผีปีศาจ ดังนั้นจึงมีการทะเลาะกัน วิวาทกัน ตีกัน อะไรกัน แม้ในมหาวิทยาลัย อย่างที่พวกคุณก็ เคยได้เห็น ได้ยิน นี่มันไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ไอ้ที่เรียกว่า วัฏฏะนี่ ไม่อย่างนั้นมันเป็นวงกลมไปไม่ได้ มันขาดตอน เพราะกิเลสมีอาการ ที่หลอกให้โง่ให้หลง หลงว่าเป็นของดี
ทั้งที่เรียกตัวเองว่านักศึกษา ยกพวกตีกันเองบ้าง หรือทำอะไร น่าเกลียดน่าชัง มากขึ้นทุกที ตามสมัยใหม่นี้ เพราะมันเหินห่างจากศาสนา ที่เป็นข้าศึกของกิเลส แต่รับเอาอารยธรรมบ้า ๆ บอ ๆ มา ของต่างประเทศ มายึด เชิดชูยึดถือจนลืมตัว มันก็เลยเป็นโรคของกิเลส มีอาการคลั่งด้วยโลภะ โทสะ มีอาการเพ้อ ไปด้วยอำนาจของ โลภะ โทสะ โมหะ ที่มันเวียนเป็นวงกลม ไปทำกรรม ให้รับผลกรรม ให้เวียนมาก่อเป็นกิเลสใหม่ เรื่อยไปอย่างนี้ นี่ก็เป็นตัวอย่าง อาการโรค ของคนไข้ของอวิชชา
อยากจะบอก ให้ทราบเสียตอนนี้เลยว่า ทำไมเราพูด เป็นรูปอุปมาเช่นนี้ อุปมาเหมือนโรค เหมือนอะไรเหล่านี้ ก็เพราะมันจำง่าย เป็นวิธีที่ใช้มาแต่โบราณกาล ก่อนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ใช้ วิธีอุปมา เพราะว่ามันจำง่าย แล้วมันไปเข้าเรื่องกัน กับเรื่องที่มันเป็น ๆ อยู่ในชีวิตประจำวัน มันก็จำง่าย ดังนั้นอย่าได้เห็น หรือรู้สึกไปว่า เป็นเรื่องแกล้งพูด อุปมากันสนุก ๆ หรือแปลก ๆ หาเรื่องที่จะอุปมา กันเสียเรื่อย นี้มันก็ถูกแล้ว หาเรื่องที่จะอุปมาก็เพื่อว่า หาเรื่องที่จะมาช่วยเตือนความจำ ง่ายจำได้ไม่ลืม เปรียบเป็นโรค เปรียบเป็นอาการคลั่ง อาการเพ้อ ของโรค ของโรคนั้น
ทีนี้ก็อยากจะเปรียบด้วย อาการกินของแสลง เมื่อการแพทย์ยังไม่เจริญ ในสมัยโบราณ เรื่องของแสลงนี่สำคัญมาก มันตายคาที่ได้นะ แต่มาการแพทย์สมัยปัจจุบันนี้ ความรู้มันก้าวหน้า กำจัด ไอ้อันตรายของแสลงนี้ได้มาก จึงไม่ค่อยจะสนใจกัน จนแทบจะไม่มีอะไรแสลง แต่ผมยังอยากจะบอก ให้ทราบว่า ไอ้ของแสลงนี่ เป็น เป็นเรื่องใหญ่ เป็นปัญหาใหญ่ ที่ต้องระมัดระวัง เพราะคำว่า ของแสลง ไม่ได้หมายถึง ของกินเข้าไปทางปากอย่างเดียว ยังกินเข้าไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางผิวหนัง อะไรก็ได้ คนโบราณเขาเรียกว่า ของแสลง เป็นของที่น่ากลัว คนที่มีโรคอัมพาตอยู่บ้าง ลองไปกินน้ำมะพร้าวอ่อน มันจะชักคาปาก คุณเป็นโรคกระเพาะบาง มีเสมหะน้อย กินกุ้งเข้าไปมันจะปวดท้อง จะขาดใจตายอยู่ท่ีนั่น นี่่เป็นตัวอย่างของแสลง ทางปาก ซึ่งยังมีกระทบกระทั่งทางตา ทางหู ทางอะไรอีกมาก ที่ทำให้มัน มีอาการ ทนทรมาน เจ็บปวด หรือว่าถึงกับ ให้โรคภัยลุกลาม ยิ่งขึ้นไป
นี้สำหรับโรคทางวิญญาณ มีของแสลง ก็คือ เอาอารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีอยู่ ๖ ทาง เขาเรียกกันว่า อารมณ์ ๖ หรืออายตนะภายนอก ๖ นี่ก็เป็นคำแปลก คำใหม่ สำหรับ พวกคุณอีก ก็ขอให้จำไว้อีก นี้เรื่องมันจะได้น้อยลง เรื่องที่ต้องศึกษา สงสัยหรือลำบาก มันจะได้น้อยลง ๆ ถ้าเราจำคำเหล่านี้ ไว้ให้ดี ๆ อารมณ์ ๖ อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อารมณ์ทางตา ก็คือ รูป อารมณ์ทางหูก็คือ เสียง อารมณ์ทางจมูกก็คือ กลิ่น อารมณ์ทางลิ้นก็คือ รสที่รู้สึกอยู่ที่ลิ้น อารมณ์ ทางกายก็คือ สัมผัสทางผิวหนัง อารมณ์ทางจิตคือ ความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นมาในจิต เป็น ๖ อย่างนี้ เรียกว่า อารมณ์
คำว่า อารมณ์ แปลว่า ที่ ที่ยึด ที่หน่วง อารัมณะ(นาทีที่ 25:23) นี่แปลว่า ที่เข้าไปยึดหน่วง ที่เข้าไป เกาะเกี่ยว มันเป็นสิ่งหรือที่ ที่จิตจะเข้าไปเกาะเกี่ยว ยึดหน่วง พัวพัน คำว่า อารมณ์ มันแปลว่าอย่างนั้น นี้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นี่เป็นอารมณ์สำหรับ ที่จิตจะเข้าไปเกาะเกี่ยว อย่าเอาไปปนกับคำว่า อารมณ์ใน ภาษาไทย ใหม่ ๆ ที่เขาใช้กันอย่างอื่น เป็นอารมณ์เสีย อารมณ์ดี อารมณ์ร้าย อีกความหมายหนึ่ง หมายถึงไอ้ พวก Emotion พวกอะไรไปทางโน้น ส่วนอารมณ์ในภาษาศาสนานี้ หมายถึง ไอ้ ไอ้ของข้างนอกนี่ ที่มันจะ กระทบกับของข้างใน ของข้างในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของข้างนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เป็นคู่กัน นี่คือตัว ตัวการใหญ่ ในเรื่องของมนุษย์ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ มนุษย์ก็มีขึ้นมาไม่ได้ มีชีวิตอยู่ไม่ได้ หรือว่าไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดความทุกข์อะไรได้ มันไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เขาเรียกว่าเรื่องใหญ่
คำว่าเรื่องใหญ่นี้ มันมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อินทรีย์ อินทรีย์ อินทริยะ อินทรีย์ (นาทีที่ 27:07) นี่ คำนี้แปลว่า ใหญ่ หรือสำคัญ หรือเรื่องใหญ่ ทีนี้อินทรีย์ในภาษาบาลีนะ ไม่ใช่นกอินทรี หรืออะไรทำนองนั้น แต่หมายถึง ไอ้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มันเป็นตัวการสำคัญ ที่เป็นเรื่องใหญ่ มันก็กินเหยื่อ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แล้วมันก็เกิดเรื่อง ให้เกิดกิเลส เว้นไว้แต่ว่าจะควบคุมอินทรีย์นั้น ให้ได้ดีเสียก่อน เดี๋ยวนี้มันมี โมหะ มีอวิชชานะ มันก็ไม่รู้จัก ก็ให้ปล่อยไปตามเรื่องของอินทรีย์ นี้ก็ไปกินของแสลงทางวิญญาณเข้า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นี้ที่จริงมันก็เป็น ของจำเป็นที่ชีวิตจะต้องมี แต่เดี๋ยวนี้เราไม่มอง ไม่รู้สึกในแง่นั้น มันมอง รู้สึกในแง่เพ้อ หรือแง่เกิน คือ เป็นของเอร็ดอร่อยไปเสีย
มันเหมือนกับเรากินข้าว กินอาหารประจำวัน กินข้าวนี่แหละ ถ้าเรากินอย่างอาหาร มันก็ดี กินถูกต้องอย่างอาหารมันก็ดี แต่นี้เรามากินอย่างเหยื่อ ไม่ได้กินอย่างอาหาร กินเพื่อให้อร่อยลิ้น หรือต้องกิน พิถีพิถัน ต้องขับรถยนต์ไปตั้งครึ่งชั่วโมง เพื่อจะไปกินอาหารอร่อย กลางวันที่ร้านนั้นร้านนี้ แทนที่จะกิน อาหารจานละ ๕๐ สตางค์ที่ตรง โรงเรียนหรือออฟฟิศนั่นเองนี้ ถ้ากินถูกต้อง เพื่อความอยู่ได้ของร่างกาย ก็เรียกว่า อาหาร กินด้วยกิเลสตัณหา เพื่อเอร็ดอร่อย หรือว่าเพื่อกิเลสตัณหานั้นเอง เขาเรียกว่ากินเหยื่อ ที่กินเหยื่อ คือ กินของแสลง ที่กินอาหารก็เป็นของธรรมดา คนไข้ก็ต้องกินอาหาร ถ้ากินผิดก็กลายเป็น กินเหยื่อ คือ กินของแสลง ที่โรงพยาบาลเขาคงจะระมัดระวัง ให้คนไข้ได้กินอาหารที่ถูกต้อง ไม่ต้องการให้ กินเหยื่อ คือ ของแสลง โรคทางวิญญาณนะมีของแสลง คือ เหยื่อ ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น
ดังนั้นขอให้จำคำว่า อายตนะนี้ไว้ให้ดี ๆ สำหรับศึกษาต่อไปอย่างละเอียด มันมีเรื่องมาก ในทีนี้เรา มองมันในฐานะ เป็นของแสลง นี้ต่อไปก็อยากจะแนะให้เห็นว่า คนไข้ของอวิชชานี่ มันก็มีอาการที่ ไม่ชอบ กินยา ของหมอที่แท้จริงหรือหวังดี แต่จะชอบกินยาของหมอคดโกง หลอกลวง เหมือนกับเห็นกงจักรเป็น ดอกบัว โดยทั่วไป เราก็เห็นว่า คนไข้ทางร่างกาย ทางวัตถุ ทางธรรมดานี่ เขาไม่ชอบไปโรงพยาบาล โดยเฉพาะสมัยก่อนนี่ เกลียดกลัวโรงพยาบาล ก็จะหาหมอตามบ้าน ซึ่งส่วนมากก็เป็น ผู้ที่หลอกลวง ด้วยรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง ที่เขาไม่เจตนาก็มี เพราะเขาไม่มีความรู้ เขาทำไปตามความโง่ ความงมงายนี้
คนไข้ที่เป็นชาวบ้าน หรือชาวบ้านที่เป็นคนไข้ นั้นก็ตายเสียเป็นส่วนมาก เพิ่งจะนิยมไป โรงพยาบาลกัน เมื่อไม่นานนี้ ก่อนนี้ก็มีแต่หมอพื้นบ้าน ที่ไปตามบุญตามกรรม คนไข้ก็ติดหมออย่างนั้น ไม่ยอมรับการรักษาแบบใหม่ เพราะว่ามันติด นี้มันทำให้ตาย ถึงแม้ว่าเดี๋ยวนี้ มันก็ยังมีอยู่ คนไข้ชอบไปหา หมอเถื่อน เห็นกงจักรเป็นดอกบัวแบบนั้น มันก็ยุ่งกันมากขึ้น เพราะว่า หมอเถื่อนหรือว่าหมอแท้ ก็ปนกันยุ่ง มากขึ้นทุกที นี้หมอแท้ มีความรู้จริงก็ยังมี แยกกันไปว่า เป็นผู้มีเมตตากรุณา หรือว่าเป็นผู้เห็นแก่เงิน อย่างนี้ หมอที่มีความรู้จริง แต่เห็นแก่เงินก็มีเหมือนกัน พวกชาวบ้านที่เป็นคนไข้ก็เลย กวัดแกว่ง ไม่รู้จะเอาอย่างไง กันแน่ โดยส่วนใหญ่ก็ยังงมงาย ไปหาหมอรดน้ำมนต์ หาหมออย่างนั้นมากกว่า ที่ไปหาหมอที่เป็น วิทยาศาสตร์ ไปหาหมอไสยศาสตร์ดีกว่า ไปหาหมอวิทยาศาสตร์
แล้วหมอวิทยาศาสตร์นี่ ก็มักจะพูดในทำนอง ที่จะให้เขากลัว กันมากขึ้นหรือไม่หายกลัว ส่วนหมอ ไสยศาสตร์นั้น มันมีการพูดหรืออะไร ที่แสดงทำให้เขาหายกลัว เดี๋ยวนั้น สบายใจไปเดี๋ยวนั้น เป็นต้น คนไข้ก็เลยรวนเร หรือว่าเวียนหัว ไปเอาของผิดแทนของถูก ไปเอาของที่ช่วยไม่ได้ แทนของที่จะช่วยได้ อยู่อย่างนี้ นี่คือข้อที่ว่า คนไข้ของอวิชชานะ มันเป็นเสียอย่างนี้ ในทางวิญญาณก็เหมือนกัน สัตว์โลกที่มี ความเจ็บไข้ทางวิญญาณนั้น เขาไม่ค่อยไปหาพระพุทธเจ้าหรอก เพราะมันไม่รู้ ดูสิว่ามันมี พวกคุณนี่มีกี่องค์ ที่มาศึกษาธรรมะที่นี่ ก็ไม่ได้มากมาย ไม่ได้สนใจเรื่องธรรมะ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเหมือนยา เหมือนหมอ
ชาวบ้านครั้งพุทธกาล ก็มีเป็นมากเหมือนกัน ไม่สนใจเรื่องธรรมะ ในฐานะที่เป็นยาทางวิญญาณ ดังน้ันก็เลยไปถือไอ้ไสยศาสตร์ เช่นเดียวกัน หาที่พึ่งดับทุกข์ทางไสยศาสตร์ เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่ออะไรไป ตามเรื่อง ไปบูชายัญ ฆ่าคนบูชายัญ นั้นก็มี ในประวัติศาสตร์ของศาสนา ในอินเดีย คนไข้ของอวิชชา มีอะไร มากเกินไปขนาดนี้ มันมีอาการ ชนิดที่ผิดนี่ ผิด ๆ เนื่องต่อกันไปเป็นสาย เมื่อมันผิดอย่างนี้ มันก็ผิดอย่าง โน้นอีก ผิดอย่างโน้นมันผิดอย่างโน้น ต่อไปอีก อาการของโรค มันก็ผิดต่อ ๆๆๆ กันไป
ทีนี้มองดูอาการ ของคนไข้กิเลสนี้ อีกทางหนึ่ง ซึ่งคุณควรจะจำไว้ เป็นธรรมในพระบาลี ในพระคัมภีร์ เป็นรูปพุทธภาษิต ว่ากลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ เป็นวลีที่ควรจะจำไว้ตลอดชีวิต กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ ถ้ามันมีกิเลสเต็มที่แล้ว มันจะมีอาการอย่างนี้ กลางคืนก็วิตกกังวล ครุ่นคิด นอนไม่หลับ นอนยาก นอนหลับยาก แต่มันก็ต้องทนนอน เพราะมันกลางคืน พอกลางวันสว่างขึ้น มันก็เป็น ไฟหรือว่า ทำไปตามอำนาจของกิเลสนั้น แม้ในเรื่องธรรมดา ที่ไม่เกี่ยวกับโรคกิเลสนี้ มันก็มีอาการอย่างนี้ อยู่แล้ว มนุษย์เรา กลางคืนก็นอนคิด ว่าพรุ่งนี้จะหากินอย่างไง จะทำอะไรอย่างไง พอสว่างก็รีบทำ ไปทำงาน ที่ออฟฟิศ ไปอะไรที่ไหนก็ตามใจ นี้ตามธรรมดามันก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว นี้พอมีโรคกิเลสมาครอบงำ ก็เป็นอย่างนั้นรุนแรงมากขึ้น กลางคืนก็นอนทรมานใจ กลางวันก็ทรมานกาย นี่รวมเรียกว่า กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ
แล้วก็อย่าลืมเสียว่า ให้มองดูตัวเองด้วย ว่ากลางคืนนะ มันคิดอยู่ด้วยอำนาจของกิเลส หรือว่ามันคิด ตามความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มีเหตุผลพอสมควร แล้วพอกลางวัน มันเป็นไฟตามอำนาจของกิเลส หรือว่าเป็น ไปตามหน้าที่การงาน ที่มีสติปัญญาถูกต้องพอสมควร แต่ถึงยังไงก็ให้รวมอยู่ในคำว่า กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ แต่ว่า อัดควันนั้น อย่าให้เป็นถึงกับทุกข์ทรมาน ไฟก็อย่าให้ถึงกับเผาลน ให้มีธรรมะคุ้มครอง ควบคุม ให้การอัดควันหรือการลุกเป็นไฟนี้ ให้มันถูกต้อง มันก็กลายเป็น สิ่งที่มีทุกข์น้อยหรือไม่มีความทุกข์ ไปในที่สุด ให้มันหยุดอัดควัน หยุดเป็นไฟได้ในที่สุด คือมีแต่ธรรมะ หรือมีสติปัญญาที่ถูกต้อง ที่เรียกว่า ธรรมะนั้น อยู่ตลอดเวลา อย่าให้เลยไป เป็นอัดควันหรือเป็นไฟ
เดี๋ยวนี้คน คนไข้ของอวิชชาในโลก ทั้งโลกนี่ มันอัดควันและเป็นไฟ กลางคืนมันก็นอนคิด ว่าจะทำอะไร จะใช้ลูกระเบิดชนิดไหน เครื่องบินชนิดไหน ไปโยนใส่พวกข้าศึก ให้มันตายให้หมดนั้น พอกลางวัน มันก็ไปทำอย่างนั้นจริง ๆ อย่างนี้มันก็มากเกินไป ไอ้โรค(นาทีที่ 39:07) นี้ก็มีความทุกข์ มหาศาลมากขึ้น นี่คืออาการที่เรียกว่า กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ
ทีนี้จะดู กันที่เนื้อที่ตัวบ้าง เมื่อสัดส่วนที่ประกอบกันขึ้น เป็นร่างกายที่เรียกว่า ธาตุ นี้กำลังวิปริต แพทย์แผนโบราณเขาใช้คำว่า ธาตุขึ้นหน้า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นี้พวกคุณเรียนมหาวิทยาลัย เป็นแพทย์สมัยใหม่ ก็หัวเราะเยาะตามเคย เพราะความที่มันไม่เข้าใจ ตรงตามที่เป็นจริง แพทย์สมัยโบราณ นั้นมันก็ มาตั้งแต่หมื่นปีหรือพัน ๆ ปีก็ได้ ที่มันเริ่มรู้จักว่า อะไรเป็นอะไร ในการเยียวยารักษาโรค นี่แพทย์สมัยใหม่นี้ เพิ่งก้าวหน้า หรือจริงจังในระยะสักสิบ ๆ ปีนี้ หรือว่าสักร้อยปี แยกตัวมาเด็ดขาด จากแพทย์สมัยโบราณ แพทย์สมัยโบราณเขา เรียกมันว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่ยังเหลืออยู่ กระทั่งเดี๋ยวนี้ ก็อาศัยหลักอันนี้ แล้วจะกินยา ทำยาขึ้นกิน มันก็จะต้องนึกถึง ไอ้เรื่องธาตุนี้ก่อน
ถ้ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้น ก็จะใช้คำว่า ธาตุกำลังวิปริตผิดส่วน ในระหว่างธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม พวกหมอจีน หมอไทยก็ถือหลักอันนี้ จับชีพจรนี้ เขาก็จับเพื่อจะรู้ว่า ธาตุอะไรมันหย่อน ธาตุอะไรมันเกิน ไม่ใช่อย่างพวกคุณจับชีพจร ให้รู้ความเต้นของหัวใจ ผิดปกติอย่างไร ทีนี้ที่พวกคุณไม่รู้ แล้วไปดูหมิ่นเขา เขาใช้คำว่า ธาตุ พวกนักวิทยาศาสตร์ ก็ดูหมิ่นไอ้คนโบราณ ที่ใช้คำว่า ธาตุ หรือพูดด้วยคำว่า ธาตุ เพราะว่าพูดกัน ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เขาไปเข้าใจว่า ดินคือดิน น้ำคือน้ำ อะไรอย่างนี้ ลมคือลม แยกออกไป เป็นส่วน ๆ ไป ซึ่งความรู้สมัยใหม่นี้มันก็ ส่อไปในทางให้เห็นว่า มันไม่แยกกัน เช่น ในโลหิต ซึ่งเป็นน้ำเหลวนี้ แพทย์โบราณก็ว่า เป็นธาตุน้ำ ซึ่งในโลหิตนั้นมันก็มีถูกแล้ว มีของเหลว มีของแข็ง มีอุณหภูมิ ซึ่งเป็นธาตุไฟ มีแก๊สซึ่งอาจระเหยได้ อยู่ในโลหิตนั้น
ในโลหิตเพียงอย่างเดียว ก็มีทั้งธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เยื่อเนื้ออะไรบางอย่าง ที่อยู่ในโลหิต ก็เป็นธาตุดิน ความเป็นน้ำใสก็เป็นธาตุน้ำ อุณหภูมิของโลหิตก็เป็นธาตุไฟ แก๊สระเหยได้ในโลหิต ก็เป็น ธาตุลมอย่างนี้ คุณก็หัวเราะเยาะเขา ว่าไปเรียก ดิน น้ำ ลม ไฟ แยกกันเป็นอย่าง ๆ อยู่ข้างนอก ที่จริงคำว่า ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุน้ำ นี้เขาก็มีหลักอย่างเดียวกับ สมัยใหม่วิทยาศาสตร์นี้ ธาตุดินคือของแข็ง ธาตุน้ำคือ คุณสมบัติ ที่มันเปลี่ยนรูปได้ ไปตามสิ่งที่ห่อหุ้ม คือความหมายของคำว่า โคเฮซึ่ม โคเฮซึ่ม(นาทีที่ 43:26) ของที่มันเปลี่ยนรูปไปได้ ตามสิ่งที่ห่อหุ้ม มันเป็นลักษณะเฉพาะของน้ำ น้ำมันเปลี่ยนรูป เกาะยึดตัวมัน แล้วมันก็ยังเปลี่ยนรูป ไปตามสิ่งที่ห่อหุ้ม ลักษณะที่เกาะตัวกันอยู่ เป็นของเหลวได้นั้น เป็นธาตุน้ำ
ทีนี้ธาตุไฟ คืออุณหภูมิเหมือนกัน ธาตุลมก็คือการระเหยของแก๊ส ทีนี้หมอแผนโบราณ ที่ศึกษาน้อย หรืออะไรน้อย เขาไปแยกออกมาเป็น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็น่าหัวเราะ แต่หลักในทางศาสนา ของภาษาบาลีก็มี คำอธิบายที่มันไม่ขัดกัน กับของความรู้สมัยใหม่นี้ เดี๋ยวนี้เราก็เห็นชัดอยู่ว่า ความวิปริต ของร่างกาย ที่เป็นโรคนั้นนะ มันมีไอ้หลักพื้นฐาน หรือ element อันนี้ ๔ อย่างนี้ มันไม่ปกติแล้ว เช่น อุณหภูมิมันมากไปหรือมันน้อยไป หรือความระเหยของอุณหภูมิ หรือแก๊สนั้น มันไม่ถูกต้องตามธรรมชาติ หรืออะไร มันจึงมีอาการเป็นโรคขึ้นมา เพราะความวิปริตของธาตุ ความไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ ของธรรมชาติ ของสิ่งที่เรียกว่า ธาตุ ที่ประกอบเข้าเป็นร่างกาย ทีนี้เดี๋ยวนี้คนมันมีอะไร ที่ทำให้เกิด ความวิปริต อย่างนั้นมากขึ้น มันก็เป็นเรื่องของกิเลส
นี้ทางธรรมก็มี ธาตุแบ่งออกอีก ๒ ธาตุ เรียกว่า ธาตุจิตและธาตุว่าง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แล้วมียังมี อา อากาศ วิญญาณธาตุ อากาศธาตุหรือวิญญาณธาตุอีก เป็น ๖ ธาตุ ประกอบกันอยู่ เป็นคน ๆ หนึ่ง อากาศในที่นี้ หมายถึง ว่าง ไม่ใช่ธาตุลม แมกซีแอม (นาทีที่ 45:50) ที่เป็นส่วนประกอบ ที่มีอยู่ใน ร่างกายนี้ มันเป็นอากาศธาตุ ตามความหมายทางฟิสิกส์ แล้ววิญญาณธาตุนั่นคือธาตุจิตใจ ธาตุความรู้สึก รวมกันเป็น ๖ ธาตุ ประกอบอยู่ เป็นคน ๆ หนึ่ง พอความไม่ถูกต้องหรือความไม่สมดุล ระหว่างธาตุทั้ง ๖ นี้ เกิดขึ้น ในร่างกายของคน ๆ หนึ่ง มันก็มีอาการของโรค ไม่ทางกายก็ทางจิต ไม่ทางจิตก็ทางวิญญาณ แล้วจะมี โรคทางวิญญาณ นั้นเป็นส่วนใหญ่ เพราะความไม่ปกติ ไม่ถูกต้อง ของสิ่งที่ประกอบกัน ขึ้นเป็นคน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือ ไอ้วิญญาณธาตุที่จิตใจ มันไม่ประกอบอยู่ด้วยความถูกต้อง มีอวิชชาครอบงำ มากเกินไป ก็เป็นโรคทางวิญญาณอยู่ตลอดเวลา นี่เป็นเหตุให้เราเรียกว่า เป็นคนไข้ของอวิชชา
เพราะอวิชชามันครอบงำ วิญญาณธาตุเสียเรื่อยไป มันเกิดขึ้นในตัวมัน แล้วก็ครอบงำเรา สิ่งที่เรียก กิเลสตัณหานี้ ก็ไม่ได้เกิดจากอะไร เกิดในจิต เกิดจากจิต แล้วก็กัดกร่อน กัดจิตนั้น ทำลายจิตนี้ให้มันกร่อนไป เหมือนการเกิดสนิม มันเกิดที่เหล็ก มันก็กัดเหล็กนั่นเอง ดังนั้นเรารู้เรื่องส่วนประกอบ ที่ประกอบกันขึ้นเป็น มนุษย์คนหนึ่ง ให้ถูกต้อง เรียกว่า ธาตุหนึ่ง หนึ่งนี้ ก็ทำให้มันถูกต้อง มันก็จะมีความสบาย ทีนี้มันมีอาการ ที่เรียกว่า ธาตุวิปริตกันเสียเรื่อย ทั้งทางกายและทางจิต นี้ก็เป็นอาการโรคอันหนึ่ง ของไอ้โรคทางวิญญาณ
ทีนี้ดูถึงเชื้อโรคบ้าง เป็นคำอุปมาในภาษาธรรม ร่างกายนี้ประกอบอยู่ด้วยเชื้อโรค คล้าย ๆ กับว่า เป็นของประจำเอาเสียเลย หมายถึงโรคทางวิญญาณ ถึงโรคทางฟิสิกส์ อย่างของพวกคุณนี่ ก็ผมอยากจะ พูดว่า มันก็มีเชื้อโรคประจำ อยู่ในร่างกายนี้ แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะเป็นอันตราย จึงไม่ปรากฏ ไม่เป็นปัญหา ขึ้นมา แต่เมื่อรับเข้าไปมาก หรือว่ามัน develop ขึ้นในภายในมาก มันจึงจะเป็นอันตราย เพราะว่าถือว่า มันมีเชื้อโรค อยู่ในร่างกายตลอดเวลา เหมือนกันในโรคทางกาย แต่ส่วนโรคทางวิญญาณนั้น มันมีความ เคยชินของเชื้อโรค จนเหมือนกับว่า มีอยู่ตลอดเวลา
เชื้อโรคที่เกิดโรคทางวิญญาณนี้ อยากจะเรียกมันว่า อุปาทาน ใช้คำว่า อุปาทานไว้ ในฐานะที่เป็นเชื้อ เพราะคำ ๆ นี้ มันแปลว่า เชื้อ คำว่า อุปาทานนี้ แปลว่า เชื้อ ไม้ฟืนเป็นอุปาทานของไฟ น้ำมัน น้ำมันเชื้อเพลิง ก็เป็นอุปาทานของไฟ คือเป็นเชื้อของไฟ คำว่า อุปาทาน แปลว่า เชื้อ ในที่นี้เอามาเป็น เชื้อโรคทางวิญญาณ หล่อเลี้ยงโรคทางวิญญาณเรื่อย ๆ อย่าเอาไปปนกับ คำว่าอุปาทาน ภาษาชาวบ้านพูด อุปาทาน คือ จิตวิปริต เป็นพิธีเดียว เป็นอะไร ไม่ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะอุปาทาน แปลว่า เชื้อที่หล่อเลี้ยงอะไรไว้ ไม่ให้มันหยุด หรือสิ้นสุดลงไปได้ เช่น น้ำมันที่หล่อเลี้ยงไฟ อย่างนี้
นี้ทางวิญญาณ อุปาทานนี้มัน หล่อเลี้ยงโรคทางวิญญาณ เชื้ออุปาทานนี้มันหล่อเลี้ยง โรคทางวิญญาณ มันเป็นเชื้อโรคทางวิญญาณ อุปาทานมันคือความเข้าใจผิด แล้วก็มั่นหมายในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่เรียกว่า ความยึดมั่น ยึดมั่นในกามารมณ์ ยึดมั่นในความคิดความเห็นของตัวเอง ยึดมั่นในสิ่งที่ทำมาชิน ตั้งแต่อ้อน แต่ออก และยึดมั่นว่าตัวกูของกูนี้ มีอยู่ ๔ อย่าง ไปหารายละเอียดอ่านเพิ่มเติม จากคำบรรยาย ปีก่อน ๆ ที่เขาพิมพ์ไว้แพร่หลาย
เฉพาะที่นี่ เดี๋ยวนี้ อยากจะพูดให้เห็นว่า มันเป็นเชื้อโรคทางวิญญาณ หล่อเลี้ยงโรคทางวิญญาณ ทุกคนเคยชิน ในความมีเชื้อนี้ ยึดมั่นอยู่ทางกามารมณ์ พอวี่แววของกามารมณ์ผ่านมา ตะครุบไว้ทันทีอย่างนี้ หรือว่ายึดมั่นในทางทิฐิ ความคิดเห็น ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอม ไม่ยอมนะ ใช้คำว่า ไม่ยอมทุกอย่าง เพราะอุปาทาน อันนี้ แล้วมันก็โง่ เคยทำอะไรมาแต่อะไร ก็มาแต่อ้อนแต่ออก แล้วก็จะยึดมั่นอย่างนั้นอยู่เรื่อย โดยเฉพาะเรื่อง ไสยศาสตร์ ถูกสอนให้ผิด มาอย่างไร แล้วมันก็ผิดมาเรื่อย เช่น กลัวผี กลัวอ่า แล้วมันก็อยู่ในพวกนี้ ถูกทำให้ โง่ กลัวผีตั้งแต่เล็ก ก็ยังกลัวอยู่กระทั่งเดี๋ยวนี้ มันไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย นี้ก็ยึดมั่นตัวกูของกูนี้ ยิ่งเจริญงอกงามขึ้น ทุกวัน ๆ เชื้อโรคมันหล่อเลี้ยง โรคทางวิญญาณไว้ ไม่มีสิ้นสุด ก็ไม่รู้จะเอาไอ้โยมิไซน์(นาทีที่ 52:18) อันไหน ไปฆ่ามันนะ ก็คือ ธรรมะของพระพุทธเจ้า อย่างที่เราจะได้เรียนกันต่อไป
นี่เรียกว่า เรามองดูไอ้โรคทางวิญญาณ ไอ้ส่วนที่เป็นเชื้อ กล่าวคือ อุปาทาน ที่จะดูมันในแง่ของ ความสะอาด คนเจ็บคนไข้ ต้องได้รับ การรักษาความสะอาด เป็นอย่างดี ทีนี้ไอ้คนเจ็บคนไข้ ของอวิชชา ทางวิญญาณนี้ มันยากที่จะทำให้สะอาดได้ ไม่เหมือนโรคทางกาย เอานั่นเอานี่ มาทำให้มันสะอาด ชะล้าง ให้มันสะอาด ไอ้โรคทางวิญญาณนี้มันมี ความสกปรกทางวิญญาณ ก็คือ กิเลส อีกนั่นแหละ รวมอยู่ที่ โลภะ โทสะ โมหะ ที่จะแยกแจกเป็นรายละเอียด เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น ทีมันก็ได้ กี่อย่างก็ได้ ๑๐ อย่างก็ได้ หลาย ๑๐ อย่างก็ได้
ตัวอย่างที่เขาเขียนไว้ ในพระคัมภีร์ที่เรียกว่า มลทิน หรือมวลทิน หรือของสกปรกนี่ ระบุเป็น ความโกรธ นี่ก็เป็นของสกปรก ความขี้เหนียวของสกปรก ความลบหลู่บุญคุณคนอื่น ความริษยาคนอื่น ความมายาสาไถย ความพูดเท็จ ความปรารถนาเลว ปรารถนาผิด กระทั่งมิจฉาทิฐิ ความโง่ ความเห็นผิดนี้ นี่เป็นตัวอย่าง ของสิ่งที่เรียกว่า มลทินของสกปรก ที่มันติดอยู่ที่ตัว เช่นเดียวกับของสกปรก ขี้เหงื่อ ขี้ไคล ของสกปรกอยู่ที่ร่างกาย แต่นี่ของสกปรกทางวิญญาณ ที่มันติดอยู่ที่ดวงวิญญาณ ถ้าเราไม่พยายามชำระ ของสกปรกเหล่านี้ ออกไปบ้าง ไอ้คนไข้มันก็แย่นะ
ฉะนั้นคนไข้ที่โรงพยาบาล ก็มีการชำระชะล้าง ให้ร่างกายมันสะอาดอยู่ เป็นปกติ คนไข้ทางวิญญาณ ก็ต้องพยายามชำระชะล้าง ไอ้ของสกปรกของจิตนี้อยู่ เป็นประจำ ด้วยการสำรวม ด้วยการระวัง ด้วยการละ ด้วยการทำที่มันตรงกันข้ามไว้เสมอ ดังนั้นเรื่องรักษาโรค ก็ต้องมีครบถ้วนกันหมด ขัดสีชะล้างสิ่งสกปรก ออกจากตัวอยู่เสมอ นี้มันยังมีไอ้ของหยุม ๆ หยิม ๆ เป็นอะไร ที่เรียกว่า อุปกิเลส จำแนกออกไปมากมายอีก ต้องไปหาอ่านดูเองบ้าง นี่เพียงแต่ ชี้ให้ดูเป็นตัวอย่าง แนะแนวให้ มันรู้วิธีศึกษาด้วยตนเอง
นี้ของเบ็ดเตล็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่น่าจะเอามาพูดให้ได้ยิน ว่าโรคทางวิญญาณนี้ มันก็มีขี้กลาก คำว่า ขี้กลาก หมายถึง คัน แต่มันไม่ใช่คันเฉย ๆ พอไปเกาเข้ายิ่งสนุก ยิ่งอยาก ยิ่ง ๆๆ อยากจะให้มันมี รู้สึกอร่อย นี่ก็เป็นแง่ที่เขาสอนให้ดูกันมาก ในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรม เพราะว่ากิเลสทั้งหลาย มันจะมีอาการเหมือนกับ ขี้กลาก ยิ่งไปเกาเข้า มันก็ยิ่งคัน ยิ่งชวนให้เกา ก็คือยิ่งไปเพิ่มกิเลส ยิ่งเรามีกิเลสทีแรก แต่น้อย ๆ เป็นเด็ก ๆ เกิดมานี้ แล้วทำไมกิเลสมันขยายตัวมากไปได้ เพราะมีอาการเหมือนขี้กลาก ยิ่งมีกิเลสมันยิ่งสนุก ยิ่งคันยิ่งเกา ยิ่งเกายิ่งสนุก ก็ยิ่งปล่อยให้มันลุกลาม โดยเฉพาะกิเลสประเภทราคะ โลภะนี้ ยิ่งมีมันยิ่งสนุก คนก็เลยชอบมี ขี้กลาก ขี้เกลื้อน อะไรไว้ที่ตัว
นี่เป็นปัญหายุ่งยาก ของการรักษาโรคทางวิญญาณ หรือกิเลส เพราะกิเลสมันมีอะไร ของมันล่อให้ สนุกสนานเสมอ เขาเรียกว่า อัสสาทะ อัสสาทะ แปลว่า ความอร่อย ของเลวของผิดอะไร ก็มันมีอัสสาทะ ที่จะล่อให้คนพอใจและเอร็ดอร่อย แล้วก็เอามากขึ้นกว่าเดิม นี้ความทุกข์มันก็มีอัสสาทะ คือมันมี เหยื่อล่อ ให้คน อยากทำสิ่งที่เป็นทุกข์ ส่วนนั้นเขาเรียกว่าอัสสาทะ เหยื่อล่อที่มีความเอร็ดอร่อย เหมือนเหยื่อที่ล่อให้ ปลากินเบ็ด ไอ้ปลาตัวหนึ่งเคยกินเบ็ด ติดเบ็ดแล้วหลุดไปได้ มันก็เข็ดไปเดี๋ยวเดียวแหละ เดี๋ยวมันก็มา กินเบ็ดอีก เพราะมันทนเหยื่อล่อไม่ได้ คือมันความหิว มันเป็นเหตุให้ทนเหยื่อไม่ได้ ทนความยั่วยวนของ เหยื่อไม่ได้ อย่างนี้เราเรียกว่า เป็นโรคขี้กลาก แล้วก็ทางวิญญาณ ขี้กลากที่เกิดอยู่ตามตัว บนหัว บนอะไรนี้ มันเป็นขี้กลากทางร่างกาย ในที่สุดมันมีขี้กลากทางจิตใจ จิตใจมัน มีอาการคันแล้วมันก็ชอบ ได้แก่ กิเลสทั้งหลาย นั่นเอง
ทีนี้โรคทางวิญญาณ เป็นได้มากกว่าโรคทางร่างกาย ทางร่างกายมันเห็นง่าย แล้วเราก็อยากจะ รักษาขี้กลากกันโดยมาก ในทางจิตใจไม่รู้สึก มันก็ปล่อยไว้จนงอกงาม ลุกลามใหญ่โต กิเลสมันทำหน้าที่ ของมันได้ทุกอย่าง แล้วอันที่มันร้ายไปอีกอัน ที่สุดอีกอันคือ มันตอกหรือมันตรึงหรือมันลงหมุด ยึดแน่น ไว้กับความทุกข์นี้ คืออารมณ์ที่จะให้ เกิดความทุกข์ กิเลสนี่ มันมีอาการเหมือนกับ ตอกตะปูหรือว่าตรึง ไว้ด้วยหมุด ปักเสียบไว้ให้มันติดอยู่ที่นั่น เหมือนเอาหลาวเสียบปลา ให้มันติดอยู่กับดินนั้น จิตหรือวิญญาณ ของคนจึงติดแน่น อยู่กับโรคหรือความทุกข์
นี้เรียกว่าเรามัน ถอนตัวออกมาจากความทุกข์ได้ยาก ก็เพราะเหตุนี้ คือติดอยู่ในวัฏสงสาร เหมือนที่ กล่าวแล้วข้างต้นนี้ หลุดออกมายาก ไม่สามารถที่จะ ทำลายวัฏสงสารนี้ ให้หยุด ให้แตกกระจายไป มันก็ติด แน่น ไปกับวัฏสงสาร เป็นวงกลม ด้วยแรงเหวี่ยงของไอ้วัฏสงสาร ที่มีความดึงดูดมาก
ทั้งหมดนี่เป็นตัวอย่าง ที่แสดงขอให้คุณทั้งสังเกตได้ จับฉวยเอาได้ ว่าอาการของโรคทางวิญญาณ เป็นอย่างไร สัตว์โลกเป็นคนไข้ของอวิชชา ถือเป็นโรคทางวิญญาณ ก็มีอาการล้วนแต่น่ากลัว แสดงให้เห็น ตั้งแต่ว่า มันมีอาการคลั่ง การเพ้อ การกินของแสลง การโง่ไปหา ไอ้วิธีแก้ที่มันผิด ๆ ตามลำดับ จนกระทั่ง ติดแน่นอยู่กับโรค ถอนไม่ออก ให้ไปคิดดูให้ดี ถ้าเข้าใจสิ่งเหล่านี้แล้ว คุณจะเข้าใจพระพุทธศาสนาอันได้ง่าย รู้จักพระพุทธเจ้าได้ดี เพราะว่าท่านเป็นสัพพะโลกะปฏิธโต (นาทีที่ 01:02:22) ผู้รักษาเยียวยาโรคทางวิญญาณ ของสัตว์ทั้งปวง แล้วก็รู้จักยาของท่านคือ พระธรรมหรือพระศาสนา ที่จะเยียวยาโรคของสัตว์โลกทั้งปวง เวลาของเราก็หมด สำหรับวันนี้ จะยุติไว้ที่
ก็พัฒนาจะให้มีเหงื่อ ไว้ล้างตัวกูของกู เพราะทำให้เหงื่อออกมา เพื่อล้างกิเลส ที่ตัวกูของกู เราพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญ เพื่อประโยชน์อะไรก็ตามใจ เราพัฒนาให้เหงื่อมันออก แล้วก็เหงื่อมันทำให้ล้าง ความเห็นแก่ตัว ความมุ่งหมายเดียวกัน พัฒนาหมู่บ้านถ้าทำถูกต้อง มันก็เป็นการออกเหงื่อ เพื่อล้างตัวกู แต่ถ้ามันเห่อ ๆ อย่างอื่น หรือว่าสนุกสนานระหว่างเพศ มันก็ใช้ไม่ได้ ดังนั้น ๑ ชั่วโมงหรือราว ๆ นั้น ตอนเย็น ก่อนอาบน้ำ พัฒนาให้มันมีเหงื่อ อะไรทำได้ก็ทำ ที่มันไม่ ไม่ผิดวินัย อาจารย์โต(นาทีที่ 01:03:45) ก็คงจะแนะ ให้ได้ว่าทำอะไรบ้าง ถ้าไม่อย่างนั้นร่างกายจะไม่ปกติ เพราะว่ามันไม่มีการออกกำลัง เราจะเล่น ฟุตบอล เล่นแบดมินตัน อะไรทำนองนั้นไม่ได้ ต้องเล่นในวงที่ว่า วินัยอนุญาตให้ทำ