แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายในวันนี้ ก็ยังจะให้เป็นการบรรยายเพื่อประโยชน์แก่ ภิกษุ ใหม่ต่อไปอีกหน่อย สำหรับในวันนี้อยากจะพูดถึงคำที่ใช้เป็นชื่อของพวกเรา ภิกษุ ในพุทธศาสนา ถ้าหากว่ารู้จักถ้อยคำเหล่านี้ ซึ่งเป็นชื่อของ ภิกษุ ก็ย่อมจะช่วยได้มากเหมือนกันที่ คือช่วยให้เกิดความขยันขันแข็งในส่วนหนึ่ง และช่วยให้เกิดความกลัว ความละอายในส่วนที่ไม่ควรกระทำนี้ อีกส่วนหนึ่ง มันเป็นไปด้วยด้วยดีทั้ง ๒ ส่วนอย่างนี้ก็เรียกว่า มันเป็นกุศล คือ เป็นสิ่งที่เป็นไปในทางดี ถ้าเราเอาคำที่เป็นชื่อของ ภิกษุ นอกจากคำว่า ภิกษุ แล้วมันมีอีกหลายคำ ก็ไปตามลำดับของเหตุการณ์ที่กระทำกันในการ อุปสมบท
คำแรก ก็คือ คำว่า อุปสัมบัน เป็นบาลีก็เป็น อุปสัมปันนะ / อุปสัมบัน แปลตามความหมายที่รู้กันอยู่ก็คือ ผู้ที่ อุปสมบท แล้ว นี่ถ้าไม่รู้ว่า อุปสมบท แปลว่าอะไร มันก็ยังรู้น้อย อุปสมบท ก็ดี อุปสัมบัน ก็ดีเป็นคำเดียวกัน แปลว่า เข้าไปถึง-ก็เข้าไปถึงความเป็น ภิกษุ / อุปสมบท เป็นคำนาม อุปสัมบัน นี้เป็นกริยานาม คือ ผู้เข้าไปถึงแล้ว อุปสมบท นี้ก็ การ อุปสมบท เข้าไปถึงอะไร? เข้าไปถึงความเป็น ภิกษุ คำว่า ภิกษุ ก็เป็นชื่อ คำว่า อุปสัมปันนะ หรือว่า อุปสัมปันโน ก็เป็นชื่อ ทีนี้ พอมาบอก อนุศาสน์ ตัวอย่างเช่น บทปราชิต - อุปะสัมปันเนนะ ภิกขุนา เมถุโน ธัมโม นะ ปะฏิเสวิตัพโพ อันตะมะโส ติรัจฉานะคะตายะปิฯ โย ภิกขุ เมถุนัง ธัมมัง ปะฏิเสวะติ แล้วก็มีคำว่า อัสสะมะโณโหติ อะ ศากยะปุตติโย ตรงนี้มีคำว่า สมโณ คำหนึ่งแล้วก็ ศากยะปุตติโย คำหนึ่ง ถ้าทำเป็น ปราชิต ไปแล้ว มันก็ไม่เป็น สมโณ แล้วก็ไม่เป็น ศากยะปุตติโย ให้เรียกว่า อสมโณ คือ ไม่ใช่ สมโณ และ อะ ศากยะปุตติโย คือ ไม่ใช่ สมณะ ไม่ใช่ ศากยะปุตติยะ คำ ๒ คำนี้ โดยมากใช้ต่อกันเป็น สมณะศากยะ ปุตติยะ ที่แยกกันสองคำเป็น สมณะ คำหนึ่งก็ได้ เป็น ศากยะ ปุตติยะ อีกคำหนึ่งก็ได้ แต่ในการใช้ทั่วๆไป มันต่อกันได้เป็นคำเดียว เป็น สมณะศากยะ ปุตติยะ / สมณะ ก็แปลว่า ผู้สงบ ระงับ ศัพท์นี้แปลว่า สงบ ระงับ ผู้มีความสงบ ระงับ แปลว่า..ก็เรียกว่า สมณะ
ทีนี้ ศากยะปุตติยะ นี่ต้องสังเกตให้ดี มันมีคำว่า อิยะ อยู่ตอนท้าย มีปัจจัย อิยะ อยู่ตอนท้าย ศากยะปุตตะนันทะ ตัวศัพท์แล้วก็ ศากกะยะปุตติยะ ปุตตะ-อิยะ สมณะ ศากยะปุตติยะ เป็นชื่อของพวกเรา พระศากยะปุตตะ เป็นชื่อของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านเป็นลูกของ ศากยะ เพราะฉะนั้น จึงเรียกท่านว่า ศากยะปุตตะ ทีนี้พวกเราเป็นลูก หรือเป็นคนของท่านอีกทีหนึ่ง ก็เลยเรียกว่า ศากยะปุตติยะ ด้วยการบวชนี้ พลอยทำให้เราได้เป็นผู้มีชื่อสกุล-วงศ์ตระกูลว่า ศากยะ ไปด้วย ศากยะปุตติยะ เพราะฉะนั้น ถ้าเราระลึกนึกถึงคำนี้อยู่เสมอก็มีกำลังใจที่จะทำอะไรให้ดี สมชื่อ สมเกียรติ เพราะฉะนั้น จึงขอให้นึก ถ้านึกก็จะเป็นภิกษุ-สามเณร ที่เลวไม่ได้ ภิกษุ-สามเณร ที่เลวๆอยู่เดี๋ยวนี้ ก็เพราะไม่รู้คำๆ นี้ แล้วมันจะนึกอะไรได้ เพราะมันไม่รู้ซะเลยนี่ว่าตัวเป็น สมณะศากยะปุตติยะ
ทีนี้ คำต่อไปที่อยากจะให้รู้กันไว้ในเวลานี้ก็คือคำว่า ชิโนรส มาจากคำ ๒ คำประกอบกัน ชินะ คำหนึ่ง โอรส คำหนึ่ง ชินะ + โอรส เป็น ชิโนรส แล้วก็มักจะเติมคำว่า พุทธะ เข้าไปข้างหน้า เป็น พุทธะชิโนรส แม้จะไม่เติมคำว่า พุทธะ เข้าไปข้างหน้าก็ความหมายเท่าๆกันเพราะ ชินะ มันความหมายถึงพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว โอรส ก็แปลว่า ลูก ตัวหนังสือแปลว่า เกิดจากอก - โอระสะ / โอระ แปลว่า อก สะ มาแต่ ชะ แปลว่า เกิด โอรส แปลว่า เกิดแต่อก / ชินะ - ผู้ชนะ พุทธะ ก็ พุทธเจ้า แปลว่า ลูกของพระพุทธเจ้าผู้ชนะ คำอย่างนี้มีมาแล้วในหนังสือเก่ามาก พันปี สองพันปี แม้จะไม่ใช่เป็นคำที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก แต่เป็นหนังสือที่เก่ามากที่เป็นคำอธิบายของพระไตรปิฎกหรือเนื่องกัน มันอาจจะมีในพระไตรปิฎกแต่ผมไม่สังเกตเห็นก็ได้ แต่เท่าที่นึกได้เดี๋ยวนี้นึกไม่ได้ว่าอยู่ที่ตรงไหนบ้าง เพราะฉะนั้น ก็ให้นึกถึงคำเหล่านี้เป็น อุปสัมบัน กับผู้ อุปสมบท แล้ว แล้วก็เป็น สมณะ ศากยะปุตติยะ เป็นผู้เป็นเหล่ากอ หรือเป็นคนของ หรือเป็นบุตรก็ได้ของ พระสมณะศากกะยะปุตตะ พุทธะชิโนรส เป็น โอรสของพระพุทธเจ้า ผู้ชนะ เอาเท่านี้ก็พอ ยังมีอีกแยะ
ทีนี้ คำที่ใกล้ชิดที่สุด ที่ใช้กันอยู่ใกล้ชิดที่สุด โดยเฉพาะในวันบวชนั่นก็พูดถึงคำว่า สมณะศากยะปุตติยะ แล้วเมื่อวันบวชนั้นมีการประกาศ ญัตติ เป็นภาษาบาลี ก็มีการสวด อนุสาวนา อีก ๓ ครั้ง ในที่สุดบอกว่า อุปะ สัมปันโน สังเฆนะ แล้วก็ออกชื่อคนนั้น คนนั้น คนนั้น ซึ่งแปลว่า สงฆ์ให้ อุปสมบท แล้วแก่ อุปสัมปทา แก่ชื่อนั้นๆ ก็คอยลองนึกดีๆ ถ้าเราบวชคนเดียว ก็จะมีคำว่า อุปะสัมปันโน สังเฆนะ แล้วก็ออกชื่อเรา ถ้าหลายคนนั้นก็ อุปะสัมปันนา สังเฆนะ แล้วก็ออกชื่อทุกคน ๓ คน หรือ ๒ คน ดังนั้น คำว่า อุปะสัมปันโน นั้นถูกใช้แก่เราในวันที่บวช ในตอนที่มีการประกาศ กรรมวาจา ในการสวด กรรมวาจา จึงถือเอาคำนี้เป็นคำแรกเป็นคำเริ่มต้นว่า อุปะสัมปันโน เข้าถึง เข้าถึงแล้ว เข้าถึงแล้วซึ่งหมู่ สงฆ์ ซึ่ง ภิกษุสงฆ์ ซึ่ง ภิกษุ-สังฆะ คือ เข้าไปถึงหรือเข้าไปสู่แล้วซึ่ง ภิกษุสงฆ์ เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ เราก็เป็น อุปะสัมปันโน ตลอดมา นี้ก็มี ไวพจน์ ที่ใช้แทนกันได้อย่างที่ว่ามาแล้ว เป็น สมณ ศากยะปุตติยะ พุทธะชิโนระสะ
ทีนี้ มันก็ต้องมานึกถึงไอ้บทสวด พระพุทธภาษิตทศธรรมสูตร บทประโยคต้นขึ้นว่า เววัณนิยัมหิ อัชชูปะคะโต เราสวดกันอยู่เสมอบทนี้ เว วัณนี / อัมหิ / อัจชู - อัจชะ อุปัชชะโต / เววัณนี แปลว่า มีวรรณะหรือเพศที่ผิดแปลกไปแล้ว อัมหิ = เป็น อัจชะ = วันนี้ อุปัชชโต / อัจชู ปัตชะโต / ปัจชะโต = เข้าถึงแล้ว คงจะเป็น เววัณนี เพื่อจะเข้า อุปะชะโต แปลว่า แปลว่าเราถึงแล้วซึ่งความเป็นผู้มีวรรณะแปลกไปแล้ว ในวันนี้ เป็นภาษาบาลีว่าอย่างนี้ตามตัวหนังสือ แต่ถ้าเป็นภาษาไทย ๆ ความหมายเอาแต่ความหมายว่า เดี๋ยวนี้เรามีวรรณะคือเพศนี้ต่างไปจากคฤหัสถ์แล้ว คือ เป็น บรรพชิต แล้ว มันก็เป็นการเตือนตัวเองอยู่ทุกวัน ทุกวัน แล้วก็ยังมีบทอื่นถัดไปว่า วันนี้เราทำอะไรอยู่อย่างนี้? เราเป็นอย่างไรอยู่ในเมื่อวันคืนมันล่วงไป ล่วงไป? กะถัมภูตัสสะ เม รัตตินทิวา เมื่อว่า วันคืนมันล่วงไป ล่วงไป เรากำลังเป็นอย่างไรอยู่? กะถัมภูโต แปลว่า เป็นอย่างไรอยู่ ถ้าเรานึกอยู่อย่างนี้ ก็หมายความว่า เรานึกถึงความเป็น ภิกษุ เป็น บรรพชิต เป็น อุปสัมบัน เป็น สมณะศากยะบุตร เป็น พุทธชิโนรส อยู่ มันก็ปลอดภัย มันเลวไม่ได้ พูดกันตรงๆหยาบคายหน่อย จะเป็น ภิกษุ-สามเณร ที่เลวไม่ได้ถ้าปฏิบัติตาม ทศธรรมสูตร อยู่ และยังระลึกถึงชื่อต่างๆซึ่งเป็นชื่อของ ภิกษุ อยู่หลายๆชื่ออย่างที่ว่ามาแล้ว
ทีนี้ เราก็จะพูดกันไปทีละชื่อ ช่วยจดจำความหมายไว้ให้ดีๆ
คำว่า บรรพชิต นั้นคือคำว่า บวช เป็นคำกิริยา ปัพพะชิโต แปลว่า ปัพพะชิตตะ แล้ว คือ บวชแล้ว ปวช (ท่านออกเสียงว่า ปะ-วะ-ชะ / ผู้ตรวจทาน) นาทีที่ 14:49 = บวชแล้ว ทีนี้ ถ้าเราอยากจะรู้ว่าบวชคืออะไร? คืออย่างไร? มันก็ต้องดูที่คำว่า ปัพพะชิตะ นี่แหละ ปะ แปลว่า หมด วะชะ แปลว่า... พะชะ หรือ วะชะ นั่นแปลว่า เว้น หรือ ไป ปัพพะชิตะ หรือ ปวช (ท่านออกเสียงว่า ปะ-วะ-ชะ / ผู้ตรวจทาน)นี่ก็แปลว่า ไปหมด หรือ เว้นหมดจากเพศ ฆราวาส เป็น บรรพชิต พูดให้ไกลให้กว้าง แปลว่า เว้นจากโลก ไปแล้วจากโลก เว้นแล้วจากโลก นี้คือ คำว่า บวช หรือคำว่า บรรพชิต ความหมายมันถึงอย่างนี้ ถ้าเรามัวหลับตาอยู่มันก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรให้มันเป็น บวช นี่ก็จะต้องทำตนให้เป็นผู้ไปแล้ว เว้นแล้ว หมดแล้ว ไปหมดแล้ว เว้นหมดแล้วจากไอ้ที่ต้องเว้น ในที่นี้ก็ คือ ความเป็น ฆราวาส นี่ให้เว้นในขั้นต้น เพราะฉะนั้น จึงไม่นุ่งห่มอย่าง ฆราวาส ไม่พูดจาอย่าง ฆราวาส ไม่กระทำอย่าง ฆราวาส ไม่กิน-อยู่อย่าง ฆราวาส ไม่อะไรๆ อย่าง ฆราวาส ทั้งหมด ตลอดถึงไม่คิด ไม่นึก ไม่ฝัน อย่าง ฆราวาส นี่ขั้นต้น ไปหมดจาก ฆราวาส
ที่สูงขึ้นไปก็ ไปหมดจากโลก ความเป็นโลกเป็นโลกียะ ในบ้าน ในเรือนเป็นโลกนี้ก็เว้นไปเสีย อะไรที่เป็นเรื่องอย่างโลกๆ นี่ก็เว้นเสีย เรียกว่า เว้นโลก เพราะฉะนั้น จึงพูดถึงการสละทรัพย์-สมบัติ สละบิดา-มารดา สละไอ้ที่ทุกอย่างที่มันเป็นโลกๆ นี้ กระทั่งสละอารมณ์ ทาง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี่เรียกว่า สละโลก สละรสอร่อยในโลก ทำได้อย่างนี้เป็น บรรพชิต เขียนความหมายของคำว่า บรรพชิต ไว้ หรือ บวช ก็ได้ ผู้บวช / บรรพชิต ก็แปลว่า ผู้บวช ผู้บวช ก็คือ ไปหมด เว้นหมด จากความเป็น ฆราวาส หรือจากโลกๆ เรื่องโลกๆ
ทีนี้ก็เป็น อุปสัมบัน คือ มันเว้นจากข้างโน้น ก็มาถึงข้างนี้ เข้ามาถึงข้างนี้ เข้าถึงความเป็น ภิกษุ เข้าถึง ภิกษุสงฆ์ เข้าถึงหมู่ของสงฆ์ เข้าไปในหมู่ของสงฆ์ ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ให้ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ เราไม่เข้าไปอยู่ในหมู่สงฆ์นั้นได้ การเข้าไปอยู่ในหมู่สงฆ์ได้ ต้องให้สงฆ์ทั้งหลายนั้นยอมรับ มันจึงเป็นการผูกพัน ผูกมัด หรือบังคับอีกส่วนหนึ่งสำหรับการเข้าไปอยู่ในหมู่สงฆ์นั้น นี้เป็นระเบียบวินัยส่วนหนึ่ง มิได้เกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อนิพพานหรอก ระเบียบการปฏิบัติเพื่อให้เข้าไปอยู่ในหมู่สงฆ์นั้นได้นั้น คือ วินัยที่เป็นการบวช เพื่อว่าเราต้องการจะอยู่ในหมู่สงฆ์ ในคณะสงฆ์ เราจึงต้องยอม ยอมเสียสละอิสรภาพของเรา ยอมทำตามระเบียบเหล่านั้นก็เพื่อจะให้เป็นสมาชิกใน ภิกษุ สงฆ์ ตรงนี้อยากจะบอกให้ทราบเสียเลยก็ได้ว่า ถ้าเราไม่ต้องการสิทธิที่จะเข้าไปอยู่ใน ภิกษุ สงฆ์ เราไม่บวชก็ได้ เราก็ประพฤติปฏิบัติเพื่อบรรลุ มรรคผลนิพพาน ก็ได้เหมือนกัน เป็น ภิกษุ ชนิดอื่น ไม่เป็น ภิกษุ ในหมู่สงฆ์นี้ ทีนี้ ถ้าสมมุติว่า เราศึกษาเล่าเรียนรู้ ธรรมะวินัย ให้รู้ธรรมะก็แล้วกัน ไม่พูดถึงวินัยก็ได้ ว่าปฏิบัติอย่างไรจะบรรลุ มรรคผลนิพพาน แล้วเราก็ออกไปหาความสะดวกที่ป่า ที่ถ้ำ ที่ภูเขา ที่ไหนก็ตามใจ แต่ไม่ต้องการเข้ามาอยู่ใน ภิกษุ สงฆ์นี้ก็ได้เหมือนกัน ถ้าต้องการอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้ากลัวว่าจะทำไปไม่ได้ และก็ไม่ได้มีการศึกษา อบรม แนะนำ ตักเตือน ถ้าทำได้มันก็ไปได้ แต่ไม่มีสิทธิอะไรทั้งหลายเนื่องในหมู่สงฆ์นี้
สิทธิในทางออกเสียงหรือในทางได้รับลาภ ผลประโยชน์ต่างๆ ไม่มีส่วน ไม่มีสิทธิ์เพราะเราไม่เป็นสมาชิกใน ภิกษุ สงฆ์นี้ เราเป็นเพียง ภิกษุ เดี่ยวๆไม่เนื่องด้วย ภิกษุ สงฆ์นี้ ก็ไปตามเรื่องของตัวสิ เชื่อว่ามีเหมือนกัน คือเป็น แบบ ปัจเจกพุทธะ หรือว่าเป็นแบบ ภิกษุ ล้วนๆที่เป็น ภิกษุ ในความหมายอีกอันหนึ่ง คือ ไม่เป็น ภิกษุสงฆ์ เป็น ภิกษุเดี่ยว ภิกษุเอกชน ล้วนๆ ไม่ถือวินัยตามแบบของ ภิกษุ สงฆ์นี้ มันก็เลยเป็น ภิกษุ ของตัวเอง ถ้าชอบก็ทำได้
เดี๋ยวนี้เราเป็น ภิกษุ ซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งใน ภิกษุ สงฆ์นี้ เพราะฉะนั้น เราต้องปฏิบัติทุกอย่างซึ่งเป็นระเบียบของ ภิกษุ สงฆ์นี้ เราจะต้องถือศีลอย่างนี้ เราจะต้องถือ ปาฏิโมกข์ อย่างนี้ เราจะต้องลง ปาฏิโมกข์อย่างนี้ เราจะต้อง ปวารณา อย่างนี้ เราจะต้องทำทุกอย่างเพื่อความมีสิทธิที่จะอยู่ใน ภิกษุ สงฆ์ / คณะสงฆ์นี้ของพระพุทธเจ้า นี่คือเป็น อุปสัมปันนะ เป็น อุปสมบัน เข้ามาถึง ภิกษุ สงฆ์นี้แล้ว เพราะฉะนั้น ไอ้เรื่องวินัยนี่เป็นเรื่องที่ฝรั่งเขาไม่ชอบ ฝรั่งเขาอยากจะเป็นอิสระ เขาอยากจะปฏิบัติธรรมะในพุทธศาสนาทั้งหมดแต่ไม่ต้องการจะถือวินัย ถ้าเป็นอย่างนี้เขาก็ไปเรียนธรรมมะแล้วก็ไป..นั่นเอาเอง แต่ก็กลัวว่ามันยากเหมือนกัน สู้ยอมเสียอิสรภาพอะไรบางอย่าง คือ ความสะดวกสบายนั้นแหละ เสียสละไปเสีย แล้วก็มาเป็น ภิกษุ ใน ภิกษุ สงฆ์นี้ เป็นหน่วยหนึ่ง เป็นสมาชิกคนหนึ่งของ ภิกษุ สงฆ์นี้ ก็แปลว่า ต้องยอม ต้องเสียสละ และต้องยอมปฏิบัติเต็มที่ในส่วนวินัย นี่คือคำว่า อุปสัมปันนะ – เข้าถึงแล้วซึ่งหมู่แห่ง ภิกษุ ซึ่งคณะแห่ง ภิกษุ ซึ่ง สังฆะ แห่ง ภิกษุ
ทีนี้ ก็อยากจะพูดถึงคำว่า ภิกษุ เสียเลย คำว่า ภิกษุ ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ก็มันเป็นคำที่ใช้กันอยู่ทั่วไปสำหรับใช้แก่นักบวช ชนิดที่มีชีวิตอยู่ด้วยของที่เขาให้ คำนี้เขาถือกันว่ามาจากคำว่า ภิกขะ ซึ่งแปลว่า ขอ / ภิกขุ - ผู้มีการขอ ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยการขอ แต่ขออย่าง ภิกษุ ไม่ใช่อย่างขอทาน นี่ก็รู้กันเสียเลยว่าไอ้ขอทานกับขออย่าง ภิกษุ นั้น มันต่างกันอย่างไร? ขอทาน นั้นคือ หมดปัญญาที่จะช่วยตัวเองเพราะทุพลภาพบ้างหรืออะไรบ้าง หรือว่ามันไม่อยากจะช่วยตัวเอง แล้วก็เลยขอทาน เป็นคนขอทาน มีคำที่ตรงกว่านี้ คือคำว่า ยาจก (ท่านออกเสียงว่า ยา-จะ-กะ/ ผู้ตรวจทาน) แปลว่าขอ ผู้ขอ ขอทาน นี่อย่างขอทานธรรมดา เป็นภาษาไทย เรียกว่า ยาจก (ท่านออกเสียงว่า ยา-จก / ผู้ตรวจทาน) ทีนี้ ภิกษุ ขอนี่มันหมายความว่า ขออย่างผู้ มีสิทธิอันชอบธรรมที่ควรจะขอ หรือควรจะได้รับ ก็หมายความว่า เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ประพฤติความดีเพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงล้วนแก่ตัวเองและผู้อื่น ก็เมื่อทำหน้าที่นี้อยู่มันจึงมีสิทธิที่จะขอ ขอรับความสะดวกเพื่อไม่ต้องไปทำไร่-ทำนา ทำมา-หากิน นี้ก็เรียกว่า มีสิทธิที่จะขอ ไม่เป็นหนี้ แล้วก็ทำความดี มีค่ามากกว่าวัตถุที่ขอ ก็เลยเป็น ผู้ขอ อีกแบบหนึ่ง ผู้ขอที่มีสิทธิที่ควรขอ ซึ่งไม่ใช่อย่างเดียวกับ ยาจก ที่ขอเพราะว่าเขาอยากจะขอ แล้วไม่เหมือนกับ วนิพก ที่เขาใช้ศิลปะอะไรไปแลกเปลี่ยนวัตถุที่ได้รับนั้นบ้าง
เพราะฉะนั้น ภิกษุ จึงเป็นผู้ขอแบบอีกต่างหาก แล้วคำนี้ใช้ทั่วไปแก่ ภิกษุ แก่นักบวชในศาสนาอื่นในลัทธิอื่นด้วย ทีนี้ ในพุทธศาสนาเราก็ใช้คำนี้ด้วยว่า ภิกษุ ที่เดี๋ยวนี้เราไปเพ่งเล็งหาความหมายคำว่า ภิกษุ ที่ดีกว่าคำที่เรียกว่า คำๆนั้น คือคำที่แปลว่า ขอ มันออกจะเป็นเรื่องแสร้งว่าอยู่สักหน่อย คือว่า แยกศัพท์กันเสียใหม่เป็น ภยัง อิกขะ นาทีที่ 26:38 แปลว่า เห็นภัย ในภาษาไทยใช้มาก ภิกษุ สงฆ์ผู้เห็นภัยในวัฎฏ..ดูก่อน ภิกษุ สงฆ์ผู้เห็นภัยใน วัฏฏสงสาร ดูกร (ท่านออกเสียงว่า ดู-กะ-ระ / ผู้ตรวจทาน) สงฆ์ นาทีที่ 26:50 ผู้เห็นภัยใน วัฏฏสงสาร ก็ได้เหมือนกัน ตัวหนังสือมันอำนวยที่จะแปลว่า ภยังอิกขะ นาทีที่ 27:03 หากตัดบทเป็น ภยัง อิกขะ นาทีที่ 27:05 แล้วแปลว่า ผู้เห็นภัยนี้มีเกียรติหน่อย ผู้เห็นภัยก็หมายความว่า ผู้เห็นทุกข์ เห็นโทษที่มีอยู่ในชีวิตตามธรรมดาใน วัฏฏสงสาร นี้ แล้วก็ดิ้นรนต่อสู้เพื่อจะออกไปเสียจากภัยอันนี้ นี่คือ ความหมายของคำว่า ภิกษุ เห็นความเป็นอยู่อย่างธรรมดานี้เป็นภัย เป็นอันตราย แล้วก็ปฏิบัติประพฤติพรหมจรรย์นี้เป็นการต่อสู้ การดิ้นรน เพื่อจะออกไปเสียจากความเป็นอย่างนี้ ภิกษุ ผู้เห็นภัยใน วัฏฏสงสาร ภิกษุ คือ ผู้เห็นภัยใน วัฏฏสงสาร อย่างนี้มันก็มีเกียรติ สูงขึ้นมากว่าที่จะแปลว่า ผู้ขอ แต่ในที่สุดมันก็ยังหลีกความเป็นผู้ขอไปไม่ได้ เพราะมันมีไอ้ระเบียบอย่างอื่น บังคับอยู่ว่าให้มันมีชีวิตอยู่ด้วยการช่วยเหลือของผู้อื่น
ทีนี้ กริยาอาการที่จะใช้ในการขออะไรต่างๆนั้น ไปศึกษาเอาเองจากวินัย จากพระวินัย เช่นว่าห้ามไม่ให้ไปออกปากขอ อย่าไปออกปากขอ ถ้าออกปากขอแล้วผิดวินัย ได้มาก็ถือว่าผิดวินัย จะกินเข้าไปก็ผิดวินัยกันไปหมด ระเบียบการขอ ไม่ให้ออกปากขอ หรือไม่ให้ทำอะไรชนิดที่เป็นการขออย่างคนธรรมดา เขาจึงให้ไปแสดงตัวว่าอยู่ในฐานะที่ต้องการความช่วยเหลือ เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ อยู่ในฐานะที่ต้องการความช่วยเหลือ จนถือภาชนะใส่อาหารไปแสดงตัวในที่ๆเหมาะสม แล้วคนเขาเห็นเข้าเขาก็ให้ เพราะว่าธรรมเนียมนี้มีมาแต่โบรมโบราณ ดึกดำบรรพ์ เมื่อขออย่างนี้ไม่ได้ก็ยอมอด ไม่ยอมขอด้วยการออกปาก หรือว่าทำอะไรชนิดที่มันไม่น่าดู เดี๋ยวนี้มันสบาย เดี๋ยวนี้เขาเกิดเป็นสถาบันในทางการกระทำขึ้นมา ประชาชนทั้งหมดรู้ว่าคืออย่างนี้ คืออย่างนี้ แล้วเขาชิงให้ซะก่อน ก่อนไปแสดงตัวหรืออุตส่าห์เอามาให้ ปัญหามันก็หมดไป
เหลือแต่ว่า เห็นภัยใน วัฏฏสงสาร นั่นก็คือ จะต้องพิจารณา ภิกษุ จะต้องมีชีวิตอยู่ด้วยการพิจารณา ถ้าปราศจากพิจารณา คือ ปัจจเวก แล้วก็เรียกว่า ผิดแล้ว คำโบราณเขาว่าไว้ดี ไม่ ปัจจเวก ไม่พิจารณาธรรม-ธรรมะ ทีนี้ ไปกินอาหารของเขาเข้าเท่าไร ตายไปต้องไปเกิดเป็นวัว เป็นควาย เป็นอะไร ทำงานหนักใช้ค่าอาหารเหล่านั้น คนแต่โบราณเขาพูดไว้อย่างนี้ เพื่อให้ ภิกษุ –สามเณร สำนึกไว้
ผู้ที่แรกบวชเข้ามาไม่รู้อะไร ก็กลัวเหมือนกัน แล้วมันก็มีประโยชน์ กลัวอย่างมีประโยชน์ อย่างฉันข้าวหรือว่าไปรับบิณฑบาตมาฉัน แล้วไม่ ปัจจเวก ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ที่มีอยู่ในนั้น ตายไปก็ไปเป็นวัว-เป็นควายทำงานหนักใช้ค่าอาหารเหล่านั้น คำนี้ถูกต้องที่สุดแต่ว่าพูดไว้ในภาษาที่มันธรรมดาเกินไป ถ้าเราไม่มีคุณสมบัติอะไรพอกันกับไอ้ของที่ไปรับมาบริโภคก็เรียกว่าเป็นหนี้ เป็นหนี้ เป็นหนี้สะสม ทับถมลงไปในตัว คิดเรื่องหนี้ได้ในการทำหน้าที่ของ ของตัว คือ ประพฤติ พรหมจรรย์ แล้วก็ทำ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ตรงความอยู่ที่ พิจารณา เมื่อพิจารณาธรรมะอยู่มันเป็นทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา อันนี้ค่อยพูดกันวันหลังก็แล้วกัน เพียงแต่ พิจารณาธรรม อยู่นี่ ทำ กรรมฐาน ทำ อาณาปาณสติ อะไรอยู่นี่ มีครบทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา นี้เป็นหลัก
ดังนั้น พวก ภิกษุ ที่จะเป็นผู้เห็นภัยใน วัฏฏสงสาร ก็จะต้องพิจารณาภัยใน วัฏฏสงสาร นี้อยู่ เมื่อทำอย่างนี้อยู่ก็แปลว่า มีสิทธิที่จะรับอาหาร รับจตุปัจจัยทั้งหลายจากทายก ทายิกามาใช้สอย มันแปลกันอยู่อย่างนี้ เราจะขออย่างขอทานไม่ได้ ก็ต้องขอตามวิธีที่ขอสำหรับ ภิกษุ คือ ทำตัวให้เป็นผู้มีค่า เป็นเจ้าหนี้ มีประโยชน์ ประพฤติ พรหมจรรย์ เพื่อในโลกนี้มันจะมีการออกจากความทุกข์ได้ แล้วก็ไปยืนให้เขาเห็น เขาก็ให้ นี่คือคำว่า ภิกษุ ขอให้รู้ใจความของคำๆนี้ไว้ เพื่อทำตนให้เป็น ภิกษุ
ทีนี้ก็มาถึงคำที่สูงขึ้นไปอย่างที่ได้ว่ามาแล้ว คือคำว่า สมณะ ศากยะปุตติยะ มันจะเกิดขึ้นโดยวิธีใดก็ยาก ล้วนเป็นคำที่พระพุทธเจ้าท่านเคยใช้และรับรองในความหมายอันนี้ว่า เกิด การบวช นี้คือ การเกิดใหม่ เกิดมาเป็น อริยะ หรือเกิดมาเป็น ศากยะปุตติยะ แปลว่า การเข้ามาสู่ พรหมจรรย์ นี้เป็น การเกิดใหม่ แล้วก็เกิดเป็นอะไร? เกิดเป็น อริยะ หรือเป็น ศากยะปุตติยะ และคำอื่นมีอีก ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่เป็นพระอริยบุคคล เช่น พระโสดาบัน เป็นต้น มันก็อยู่ในฝักฝ่ายของการที่จะเกิดเป็น อริยะ ให้เขานับฝากไว้ทางฝ่ายโน้น เรียกว่า เกิดใหม่ ที่เกิดใหม่ เป็น สมณะศากยะปุตติยะ นี่คล้ายๆกับว่าเป็น สิทธิที่พระพุทธเจ้าท่านประทานให้ ขอให้ประพฤติ พรหมจรรย์ อย่างถูกต้อง มันก็มีสิทธิที่จะใช้คำว่า ศากยะปุตติยะ แก่ตัวเอง เป็นคนหรือเป็นลูกหลานหรือเป็นอะไรของพระ ศากยะบุตร คือ พระพุทธเจ้านั้น
พูดอย่างนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเกียรติหรือเป็นเรื่องหลงใหลในเกียรติ แต่ความมุ่งหมายไม่ใช่ให้หลงใหลในเกียรติ มุ่งหมายจะให้รักษาฐานะของความเป็น ภิกษุ ให้มันถูกต้อง ให้มันสมกัน หรือจะเพื่อ..จะเรียกว่า เป็นเพื่อชี้ชักชวนให้เกิดกำลังใจก็ได้เหมือนกันมันไม่เสียหายอะไร เพียงแต่เราอย่ายึดมั่น-ถือมั่นในแบบที่เรียกว่า เห่อ หรือ โง่เขลา ก็แล้วกัน เรื่องโง่เขลา-เรื่องเห่อในลักษณะอย่างนี้มีมาก เห่อใน มรรคผลนิพพาน จนเป็นบ้าไปเลยก็มี นี่, เราอยากจะทำตัวให้สมกับเป็นลูกของพระพุทธเจ้า หรือเป็นญาติของพระพุทธเจ้า ผู้เป็น ศากยะบุตร สรุปความว่า ท่านต้องการให้ทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ก็เป็นคนของท่าน สำหรับคำว่า ศากยะ มีความหมายอย่างไรก็ไปอ่านเอาเองในพุทธประวัติ แต่อยากจะแนะให้เห็นหรือสังเกตเห็นอีกหน่อยหนึ่งว่า คำว่า ศากยะ นี้ ถ้าพูดตามภาษาธรรมดา ตามกฎหมาย ตามอะไร มันก็หมายความว่าเป็นชื่อสกุลๆหนึ่ง ชื่อสกุลกษัตริย์สกุลหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ความหมายของคำๆนี้ที่ในทางนามธรรมนั้นมันก็ แปลว่า ผู้สามารถ คำว่า ศากยะ หรือ ศากกะ ก็ตาม คำเดียวกันนี้ แล้วแต่จะเป็นคำบาลีหรือเป็นคำสันสกฤต เราใช้คำสันสกฤตกันในเมืองไทยว่า ศากยะ แปลว่า ผู้สามารถ เมื่อเป็น ศากยะ กันสักทีมันก็ต้องเป็นผู้สามารถ อย่าเป็นคนโลเล เหลาะแหละ ไร้ความสามารถ เป็น ศากยะบุตร ก็ บุตรของผู้สามารถ ผู้สามารถ ก็คือ พระพุทธเจ้าสามารถในสิ่งสูงสุด ทีนี้เราจะยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ตามใจ แต่ว่าขนบธรรมเนียม-ประเพณี มันมีอยู่สำหรับต้องยอมรับ นับตั้งแต่วันเราบวชบอก อนุศาสน์ ก็ว่าอย่างนั้น อย่าทำตัวให้ไม่เป็น สมณะศากยะปุตติยะ แล้วเราก็นิ่งอยู่ของเรา เราก็ยอมรับ ก็ไม่ได้เพราะเห่อ หรือว่าเพราะอยากจะดีจะเด่นไปในความเห่อ ยึดมั่น-ถือมั่น เอาเพียงว่าทำตัวให้สมกับที่ขนบธรรมเนียมประเพณีอะไรมันยัดเยียดให้เราอย่างหลีกไม่ได้ หลีกไม่พ้น เช่น บวชเป็นพระเข้ามาแล้วนี้มันหลีกไม่พ้น มันก็ต้องทำอย่างพระกัน ทีนี้ คำว่า พระ มันมีความหมายหลายชนิดออกไป
ทีนี้ ก็มาถึงไอ้คำสุดท้ายที่มีว่า พุทธะชิโนรส พอบวชเข้ามันโดยสมมุติก็เป็น พุทธะชิโนรส นี่ขนบธรรมเนียมมันมีอยู่อย่างนี้ เป็นโอรสของพระพุทธเจ้าผู้ชนะมาร ชินะ แปลว่า ชนะ คือ ชนะมาร พุทธะ ก็หมายถึง พระพุทธเจ้า โอรส หมายถึง ลูก นี่,ไม่มีทางหลีก มันเกิดไปเป็นลูกของพระพุทธเจ้า แล้วผู้ชนะมารมาด้วย มันไม่มีทางหลีกเลย ทำอย่างอื่นไม่ได้ทั้งนั้น นอกจากทำตนให้เป็น ผู้ชนะมาร อย่างเดียวก็พอ ทีนี้ ไอ้การชนะมารก็เป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมะล้วน ศึกษาต่อไปให้รู้วิธีชนะมาร มาร ในที่นี้ก็หมายถึง กิเลส โดยตรงอื่นๆ ก็ไม่เป็นมารอะไรนัก มันเป็นมารที่ไม่น่ากลัวหรือว่าไม่ยากเย็น ชนะมาร คือ กิเลส นี้ เป็นบทเรียนที่ยากที่สุดสำหรับมนุษย์ เราไม่รู้จัก กิเลส ด้วยซ้ำไป ไม่รู้จักตัวเราด้วยซ้ำ ไม่รู้จักตัวเรา ก็คือ ไม่รู้จัก กิเลส ความเข้าใจว่าตัวเรามันก็เป็น กิเลส ชนิดหนึ่งด้วย แต่เมื่อรู้ว่า-ไม่มีตัวเรา มีแต่สังขารตามธรรมชาติเป็นไปนั้น อย่างนี้เรียกว่า ชนะ กิเลส ชนะตัวเรา ชนะสิ่งที่เรียกว่าตัวเราก็ได้ คือ ชนะ กิเลส สูงสุด ทีนี้ แต่ละวันๆมันยังมี ตัวเรา ตัวเขา ตัวกู ตัวสู กระทบกระทั่งกันอยู่ อึดอัดอยู่ด้วยการกระทบกระทั่งนี้ อย่างนี้มันก็ไม่ชนะมาร ไม่เป็นลูกของพระพุทธเจ้าผู้ชนะมาร ก็ระวังเถิด ระวังอย่าให้ไอ้ มาร คือ ตัวกู-ของกู นี้เกิดเป็นในจิต เพราะฉะนั้น เป็นจิตที่ประกอบด้วยธรรมะ ปราศจากไอ้ความหมายมั่นเป็นตัวกู-ของกู เรียกว่า ว่าง จากตัวกู-ของกู ตัวกู-ของกู ตายหมด ชนะมาร มีความหมายอย่างเดียวกับที่พระพุทธเจ้าท่านชนะมารที่โคนต้นโพธิ์ในวันตรัสรู้นี้คือสิ่งเดียวกัน เขาเขียนเป็นรูปภาพ เขาเขียนเป็นยักษ์เป็นมารหน้าตาน่าเกลียดนั้นมันเป็นรูปภาพที่จะแสดงไอ้สิ่งที่ ที่แท้มันเขียนเป็นรูปภาพได้ยาก เขียนไม่ได้
และก็เมื่อครั้งที่แล้วมาก็พูดถึงเรื่อง สังข์ที่ขัดดีแล้ว ถ้านึกถึงเรื่องนั้นได้ก็ต้องเข้าใจว่า ไอ้การขัดสังข์ให้เป็น สังข์ที่ขัดดีแล้ว นั้นก็คือ เรื่องทำให้ชนะมาร ขัดด้วย ศีล ขัดด้วย สมาธิ ขัดด้วย ปัญญา ให้ถึงกับชนะมารด้วย ศีล ด้วย สมาธิ ด้วย ปัญญา กิเลส มันทำให้กาย-วาจา เสียไป ทำให้จิตเสียไป ทำให้ดวงวิญญาณเสียไป ถือว่าเป็น มาร เพราะเหตุนี้
ไอ้คำว่า มาร นี้แปลว่า ผู้ทำให้ตาย หรือผู้ฆ่า คำ มาระ มาจากคำว่า มร / มร (ท่านออกเสียงว่า มะ-ระ / ผู้ตรวจทาน) แปลว่า ตาย วิภัตติปัจจัย ของคำมันทำให้แปลว่า ผู้ทำให้ตาย หรือผู้ฆ่า ในทางวัตถุ หมายถึง ฆ่าให้สิ้นชีวิต ในทางวิญญาณ หมายถึง ฆ่าให้หมดความดี ให้หมดคุณค่า หมดความดี ร่างกายไม่ต้องตายก็ได้ นี้ก็เรียกว่า มาร มาร คือ ผู้ฆ่าความดีเสียหมด ให้หมดความดี ถ้ามารในทางวัตถุ ในทางกายก็คือ ตัดคอให้ร่างกายมันตายไปเลย หรือกินเสียเลย ทีนี้คำว่า ชนะมาร ในทางธรรมะในทางพุทธศาสนาหมายถึง ฆ่ากิเลส ฆ่าสิ่งที่จะมาฆ่าความดีหรือคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ที่ว่าสูงขึ้นไปนั้นก็เป็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่จะมีความสุขหรือไม่มีทุกข์ ค่ามันอยู่ที่ไม่มีทุกข์ จึงสมมุติเรียกว่าเป็น พระอรหันต์ เป็นอะไรก็แล้วแต่นี้เป็น เรื่องสมมุติ
เราควรจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ แล้วมันเกิดไม่ได้เพราะ มาร นี่เอง เราพูดกันภาษาธรรมดาซึ่งใครๆก็ยอมรับได้ว่า มาร คือ สิ่งที่ตัดโอกาสให้หมดไปเลยในการที่มนุษย์จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะรับ ทีนี้ ไอ้มารตัวเล็กๆก็ย่อย ก็ลดต่ำๆลงมา เป็นไอ้สิ่งที่มันควรจะได้แล้วมันไม่ได้ เสนามาร ตัวเล็กๆ คำนี้เอาไปใช้ได้ในทุกเรื่องทุกกรณีในชีวิตเป็นอยู่ของคนเรา อุปสรรคที่ทำให้ความดีไม่ได้รับ ไม่ได้รับความดี เรียกว่า มาร
เพราะฉะนั้น ขอให้พยายามตั้งต้นตั้งแต่จุดนี้ขึ้นไป คือ อย่าให้มีอุปสรรคในการที่จะได้รับความดีแม้ในขั้นตั้งต้น เริ่มตั้งต้น เรื่อยไป เรื่อยไปจนถึงความดีสูงสุด เราก็ไม่มี มาร มันก็ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ทำอย่างนี้เรียกว่า ชนะมาร มารหมดความหมาย หมดค่า หมดอะไรไปเอง เท่ากับว่า มารนั้นมันตาย เป็นผู้ชนะมารในลักษณะอย่างนี้ นี่คือ การทำเหมือนพระพุทธเจ้า ผู้เป็น บิดา คำว่า โอรส คู่กันกับคำว่า บิดา หรือ ชนก เพราะ โอรส แปลว่า เกิด / ชนก แปลว่า ผู้ให้เกิด
ที่พูดนี้ไม่ประสงค์ให้เป็นเรื่องอักษรศาสตร์ หรือวรรณคดี หรืออะไรทำนองนั้น พูดเป็นเรื่องธรรมะโดยตรง เพื่อให้เกิด หิริ และ โอตตัปปะ ในเมื่อบกพร่องในการทำหน้าที่ให้สมกับชื่อเสียงเหล่านี้ แล้วเกิดความกลัว ความละอาย ไม่กล้าปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ทีนี้ ในทางตรงกันข้ามก็ให้เกิดความกล้าหาญความ มีกำลังใจเข้มแข็งที่จะให้มีคุณสมบัติตามนั้น หรือเป็นผู้มีโชคดีเพราะได้โอกาสที่จะเป็นได้ถึงขนาดนี้ คือ เป็น พุทธะชิโนรส แห่งตน
นี่, ขอให้ทบทวนให้ดี
คำว่า บรรพชิต แปลว่า ผู้บวช ผู้เข้ามาบวช
บวชแล้วก็เป็น ผู้เข้าถึงการบวช คือ อุปสมบัน
เข้าถึงความเป็น ภิกษุ ใน ภิกษุ สงฆ์
แล้วก็เป็น สมณะ เป็น ศากยะปุตติยะ
แล้วก็เป็น พุทธะชิโนรส ในที่สุด คือ เป็นเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านเป็นในส่วนที่เป็นความดับทุกข์เสียได้ ส่วนอื่นไม่ต้องพูด ให้เป็นพระพุทธเจ้าเฉพาะในส่วนที่ดับทุกข์เสียได้ คือ ชนะ มาร ชนะ กิเลส และความทุกข์
นี่, ขอร้องโดยเฉพาะผู้บวชใหม่นี้ อย่าเป็นผู้ประมาทไปตั้งแต่ทีแรกนี้ นึกถึงแต่เรื่องเหล่านี้ไว้เถิดมันจะช่วยคุ้มครองได้ อย่าประมาท ถ้าประมาทหรือค่อยๆปล่อยไปทีละนิด เดี๋ยวก็ เดี๋ยวก็ไม่รู้ไปถึงไหนกัน คือ มันไปมากจนไม่รู้ถึงไหนแล้ว ไม่รู้สึกตัวด้วย เพราะฉะนั้น เราหาทางหรือหาเครื่องมืออุปกรณ์อะไรต่างๆ ที่จะมาแวดล้อมไว้อย่าให้เกิดความประมาทได้
ทีนี้ ถ้อยคำทั้งหลาย ไอ้ที่พูดกันมา ๔-๕ ครั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์อย่างนี้ทั้งนั้น เพื่อเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เกิดความประมาท เพื่อให้เกิดกำลังใจ เกิดความกล้าหาญ ทำตนให้ได้รับสิ่งที่ผู้ออกมาบวชจะพึงได้รับ ตรงนี้มีสำนวนเป็นพุทธภาษิตเหมือนกันว่า กุลบุตร ผู้มีศรัทธาบวชจากเรือนพึงได้รับประโยชน์ใด เธอได้รับประโยชน์นั้นแล้ว พูดเป็นภาษาบ้านเราก็ว่า บวชเพื่อจะเอาอะไรกัน เราก็ได้รับสิ่งนั้นแล้ว เรื่องมันก็มีเท่านั้นเอง โดยหัวข้อ โดยใจความ ถ้าบวชออกมาทีหนึ่งแล้วไม่ได้รับสิ่งที่ผู้บวชควรจะได้รับ มันก็เรียกว่า ฉิบหายหมด แล้ววันนี้ก็พอกันที