แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายในครั้งที่ ๓ นี้ จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า ประเภทของสมาธิภาวนาหรือจิต
ตานุโยคโดยปริทัศน์ และยังคงเป็นการบรรยายในฐานะเป็นบทนำเรื่องของสิ่งที่เรียกว่า อธิจิตตาโยค นั่นเอง
ทำไมจะต้องพูดโดยหัวข้อนี้ ก็เพราะว่าเป็นการจำเป็นไม่น้อยทีเดียวที่เราจะต้องมอง
ทิวทัศน์ทั่วไปของสิ่งที่เรียกว่า อธิจิตตาโยคธรรม นี้อย่างทั่วถึงเสียก่อน แล้วเราก็สามารถเลือกเอาเฉพาะระบบที่เหมาะสมที่สุดแก่บุคคลเป็นพวกๆ ไปโดยเฉพาะชาวต่างประเทศซึ่งเป็นความมุ่งหมายของการบรรยายในที่นี้ ผมขอซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า อธิจิตตาโยค หรือ อธิจิตตาโยคธรรม นี้กันอีกสักครั้ง เหตุใดจึงได้เกิดใช้คำนี้ขึ้นมา ก็เพราะเห็นว่าคำนี้เป็นคำที่รัดกุมเหมาะสมที่สุดและเป็นคำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอง เราจะใช้คำว่า สมณธรรม หรือ สมณกิจ หรือ กรรมฐาน หรือ วิปัสสนาธุระ หรืออะไรเหล่านี้มันก็ได้เหมือนกัน แต่มันไม่มีความเหมาะสมคือข้อความไม่รัดกุมเต็มที่บ้าง เป็นคำที่พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยใช้บ้าง และบางคำไม่เคยมีแม้แต่ในพระไตรปิฎกทั่วๆ ไป
นี้ คำที่เหมาะสมที่สุดด้วยที่พระพุทธเจ้าท่านได้เคยตรัสใช้มันด้วยนั้น เห็นว่าคำ ๒ คำนี้
เท่านั้นที่น่าสนใจที่สุด คือคำว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค ซึ่งเราย่นมาเป็นสมาสในที่นี้ว่า อธิจิตตาโยค และคำว่า สมาธิภาวนา ซึ่งมีอยู่ในพระพุทธภาษิตตรัสถึงสมาธิภาวนา ๔ ประการในอังคุตตรนิกาย สำหรับคำว่า อธิจิตตาโยค นี้มันก็มีอยู่ในโอวาทปาติโมกข์ซึ่งเป็นบทสวดที่เราคุ้นเคยกันที่สุดแต่แล้วเราก็ไม่ค่อยจะสนใจ แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้วเห็นเป็นคำที่เหมาะที่สุดในระหว่าง ๒ คำนี้คือ อธิจิตตาโยค กับ สมาธิภาวนา นี้ ผมเห็นว่าสู้คำว่า อธิจิตตาโยค ไม่ได้ เพราะว่าเมื่อแปลออกมาเป็นภาษาไทยก็ได้ความดีว่า การประกอบความเพียรในการทำจิตให้ยิ่ง
อาโยค แปลว่า ประกอบความพากเพียร
อธิจิต (แปลว่า) ในการกระทำจิตให้ยิ่ง
ทำจิตให้ยิ่งนั้นมันหมายได้ตลอดสายตั้งแต่ต่ำที่สุด ภาษาชาวบ้านที่สุดก็ได้จนกระทั่ง
ไปถึงชั้นสูงสุดคือบรรลุมรรคผลนิพพานก็ได้ แล้วมันเหมาะ มันไม่จำกัดว่าเราจะใช้แก่ฆราวาสหรือบรรพชิต มันใช้ได้ทั่วไป และก็ไม่เป็นภาษาวัดหรือภาษาบ้านเกินไป เป็นภาษากลางๆ นั้นเราน่าจะใช้คำนี้กันให้มันเป็นคำแพร่หลายที่สุด
สำหรับคำว่า สมาธิภาวนา นั้นมันยุ่งยากไอ้ที่คำว่า ภาวนา มันถูกใช้ไปในลักษณะที่เขาดู
หมิ่นกันว่าครึคระ แล้วเป็นเรื่องของชาววัดโดยส่วนเดียวเสียด้วย แล้วคำว่า สมาธิ มันก็จำกัดความหมาย ชักชวนให้คิดไปแต่ในขอบเขตของสิ่งที่เรียกว่า สมาธิ แต่พอเราใช้คำว่า อธิจิต มันกินความได้ทั้ง สมาธิ ทั้ง ปัญญา หรือนอกไปกว่านั้นก็ได้ ถ้าหากว่าเป็นการทำจิตให้ดีกว่าระดับธรรมดา ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงได้ใช้คำนี้ ในฐานะเป็นคำที่เป็นประธานที่เรียกว่าโอวาทปาติโมกข์
เอาละ ทีนี้ถ้าได้ยินคำว่า อธิจิตตาโยค หรือ อธิจิตตาโยคธรรม แล้วก็ขอให้เป็นที่เข้าใจ
กันว่าผมมุ่งหมายอย่างนี้ ทีนี้เราก็จะได้พูดถึงสิ่งที่เรียกว่า อธิจิตตาโยค นี้เป็นประเภทๆ ไป แต่เรียกว่าโดยปริทัศน์ หรือที่เรียกกันว่า Outline คือดูอย่างกว้างๆ ไม่อาจจะดูโดยรายละเอียดเพราะไม่มีเวลาพอ ถ้าเราดูโดยกว้างๆ ในทุกระบบของสิ่งที่เรียกว่า การทำจิตให้ยิ่งแล้ว ก็จะเข้าใจสิ่งนี้ดี เพราะฉะนั้นขอให้พยายาม
ในตอนแรกนี้จะพูดถึงสิ่งนี้ คือ อธิจิตตาโยค นี้คราวเดียวตลอดสายทุกชั้น ทุกระดับเริ่มแรกทีเดียวสิ่งนี้มันเกิดขึ้นเพราะมนุษย์ต้องการจะพบ จะพบความสุขที่มันสูงไปกว่าความสุขตามบ้านเรือนตามธรรมดา ความประสงค์อันนี้มันก็เป็นความรู้สึกตามธรรมดาสามัญที่สุด มันเหมือนกับการค้นหาที่นอนที่สบายกว่าของสัตว์เดรัจฉาน เช่น สุนัข หรือแมว หรือนก หรือหนู เป็นต้น มันก็เที่ยวกระเสือกกระสนไปจะพบไอ้ที่นั่ง ที่นอน ที่อะไรที่สบายที่สุด ที่ปลอดภัยที่สุด มันก็พบของมันจนได้ โพรงนั้นโพรงนี้ อย่างนั้นอย่างนี้ตามความรู้สึกของสัญชาตญาณ เมื่อคนแก่ๆ ในสมัยดึกดำบรรพ์เอือมระอาด้วยเรื่องในบ้านเรือนครอบครัวนี้มันก็ๆ คอยจะคิดว่าจะไปนั่งตรงไหน นอนตรงไหนที่มันจะพ้นจากสิ่งเหล่านี้แล้วได้รับความเย็นอกเย็นใจกว่านี้ นี้มันการเริ่มต้นของการทำ การค้นคว้าซึ่งจะนำไปสู่ อธิจิตตาโยค คือการทำจิตให้สูงยิ่งไปกว่าธรรมดา ครั้งแรกมันไม่ได้เป็นการกระทำแต่มันเป็นการค้นอย่างกระเสือกกระสนไปอย่างนั้นเอง เราจึงพูดได้ว่าไอ้สิ่งนี้คือ อธิจิตตาโยค นี้มันเริ่มขึ้นด้วยคนประสงค์จะพบความสุขที่เป็นที่พอใจยิ่งขึ้นไปกว่าที่กำลังได้รับอยู่ หรือได้รับอยู่อย่างรำคาญเต็มทีแล้ว ข้อนี้เราจะมองเห็นได้ว่าโดยประวัติของมนุษย์ในทางวัฒนธรรมก็ดี โดยทางหลักธรรมะที่ปรากฏอยู่เป็นระบบๆ ในพระพุทธศาสนานี้ก็ดี หรือแม้จะถือเสียว่าที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติธรรมดาก็ดี มันส่อให้เห็นว่ามนุษย์กระเสือกกระสนไปในลักษณะอย่างนี้ มันจึงไปพบสิ่งที่ดีกว่า โดยประวัติในทางวัฒนธรรมมันก็มีง่ายๆ ว่าเมื่อมนุษย์มันไม่มีทางไปหรือไม่มีทางออกในเรื่องทางวัตถุ คือไม่มีอะไรที่ชวนให้นึกให้คิดแล้วมันก็ค้นไปในทางจิตใจ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวางกว่า มันค้นไปได้ไกลกว่า มันเหมือนกับว่าไม่มองเห็นขอบเขตที่สุดในด้านไหนก็ตาม
ทีนี้ สำหรับหลักธรรมะที่ปรากฏอยู่นั้นก็เห็นชัด ไอ้หลักทั่วไปอย่างหลักมนูธรรมศาสตร์
มันก็มีถึงเรื่องชีวิตพรหมจารี คือชีวิตเด็ก ชีวิตคฤหัสถ์ – ชีวิตพ่อบ้านแม่เรือน ชีวิตวานปรัสถ์ – คือออกไปอยู่หาความสงบ นี้มันก็แสดงอยู่ในตัวว่า อธิจิตตาโยค นั้นมันก็เพิ่งเริ่มต้นเมื่อชีวิตวานปรัสถ์มันตั้งต้น
ทีนี้ จะดูในวงที่แคบเข้ามาอีกคือเช่น สมาธิภาวนา ๔ นี้ที่กล่าวไว้ในอังคุตตรนิกายนี้
โผล่ขึ้นมาก็เป็นเรื่องของความสุข สมาธิภาวนาเพื่อความสุข ไปจนถึงสมาธิภาวนาเพื่ออำนาจที่เป็นทิพย์, จึงถึงสมาธิภาวนาที่ความสมบูรณ์ด้วยสติปัญญา, แล้วมันจึงถึงสมาธิภาวนาที่เป็นความสิ้นอาสวะ
นี้ ความสุขมันมาก่อน เรื่องทางจิตใจมันเริ่มต้นด้วยความต้องการจะพบความสุข จาก
ความสุขชนิดบ้านเรือนก็ไปสู่ความสุขชนิดที่สูงขึ้นไปกว่านั้นคือเป็น เนกขัมมสุข อย่างบ้านเรือนก็เรียกว่า เคหะสิตตะสุข สุขอาศัยบ้านเรือนอย่างนี้เกือบจะไม่ต้องสอนกัน ให้เป็นในศาสนาหรือเป็นอะไรนัก คนมันก็ขวยขวายกันอยู่ อะไรกันอยู่ มันก็รู้ไปเอง แล้วโดยธรรมชาติมันก็เป็นไปเองได้ มีครอบครัวแล้วก็มีอะไรจากครอบครัวนี้เรียกว่าสุขอาศัยเรือน ทีนี้มันเบื่อ มันจึงจะหลีกออกไปยัง เนกขัมมะสิตตะสุข หรือสุขที่อาศัย เนกขัมมะ ก็แปลว่าออกไปจากบ้านเรือนเท่านั้นเอง จะบวชหรือไม่บวชอะไรยังไม่ได้พูดถึง พอออกไปจากบ้านเรือนมันก็เริ่มคำว่า บวช ขึ้นมา คำว่า เนกขัมมะ มันก็แปลว่าหลีกออกไปอยู่แล้ว คำว่า ปวช (ปะ-วะ-ชะ) (นาทีที่ 15.53) หรือ บวช นี้มันก็คือเว้นเสียเด็ดขาด เว้นบ้านเรือนนั้นเอง ปัพพัชชา คือเว้นเด็ดขาด เว้นบ้านเรือน ฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องต้องการความสุขที่สูงขึ้นไปจึงได้ไปค้นไอ้เรื่องนี้
ทีนี้ ที่ว่าไอ้โดยกฎที่เป็นไปเองตามธรรมชาติ มันก็หมายความว่า เมื่อสิ่งนี้มันเบื่อ มัน
ระอา มันรำคาญ มันทนอยู่ไม่ได้ มันก็ต้องเลื่อนไปอย่างที่ใครจะดึงไว้ไม่ได้ มันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติชนิดที่เด็ดขาด คือไม่เคยไม่มีใครยอมตายหรือว่ายอมทนทรมานอยู่ มันมีอำนาจที่ทำให้ดิ้นรนออกไปได้ ก็เป็นอันว่าสิ่งที่เรียกว่า อธิจิตตาโยค นี้มันเริ่มขึ้นด้วยการที่มนุษย์ต้องการจะมีความสุขที่แปลกออกไป หรือที่สูงไปกว่าชนิดที่เอือมระอาเต็มทีแล้ว นี่เป็นหลักที่เราจะต้องไปทำความเข้าใจกับชาวต่างประเทศ เดี๋ยวเขาก็จะเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องบ้าๆ บอๆ อุตริไปทำอะไรให้มันแปลกออกไป ให้มันลึกลับออกไปโดยไม่มีเหตุผล มันมีเหตุผลชัดที่สุดว่ามนุษย์ควรจะได้สิ่งที่ดีกว่าหรือดีที่สุดออกไปตามลำดับ
เอาทีนี้ก็มาถึงขั้นที่ว่าเมื่อมนุษย์ออกไปจากชีวิตบ้านเรือน ออกไปค้นหาชีวิตที่ดีกว่า
มันก็ไม่มีอะไรที่สะดวกกว่าที่จะวิ่งไปสู่ป่าหรือชีวิตเดี่ยว ชีวิตบ้านเรือนหมายความว่าผูกพันกันเป็นพวง เป็นกลุ่ม ทีนี้กลายเป็นชีวิตเดี่ยว ชีวิตบ้านเรือนหมายความว่ามันกระทบกระทั่ง มันกลุ้มรุม มันเต็มไปด้วยไอ้ความยุ่งยากลำบากนานาชนิด นี้ชีวิตไอ้ป่ามันเป็นชีวิตอิสระ คนแก่หรือคนสูงอายุเหล่านั้นก็เลยหลีกออกไปมุ่งหาความสุขที่จะเหมาะสมสำหรับวัยที่สูงขึ้นไปคือวัยชราหรือว่าจะตาย จะตายด้วยสิ่งที่ดีกว่าที่มีอยู่ในบ้านเรือน แกจึงออกไปเสวยความสุขในยามชราอยู่ตามป่า ตามถ้ำ ตามภูเขา ตามไอ้ที่เราได้ยิน ได้ฟังกันเป็นประจำว่า ฤษี มุนี ออกไปอยู่ตามถ้ำ ตามเขา ตามป่า อยู่ได้คนเดียว เจ็บไข้ได้คนเดียว ตายได้คนเดียว ไม่มาบ้านอีกต่อไป แล้วก็ไม่ปรากฏว่าเป็นปัญหาอะไร เพราะมันมีชีวิตที่ปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสมแก่วัตถุประสงค์อันนั้น เราควรพูดถึงชีวิต ฤษี มุนี กันสักเล็กน้อยว่าไม่ต้องติดไฟเพื่อการหุงหาอาหาร ให้มันง่ายเข้า กินของดิบๆ นั้น ผลไม้ดิบ ใบไม้ดิบ รากบัว ไอ้...อะไรก็ตามแต่มันล้วนแต่กินดิบๆ ทั้งนั้น ธาตุไฟนั้นก็ต้องหมายความว่าสูงสุดเอาไว้บูชา ที่จริงไอ้ไฟมันมีประโยชน์อย่างอื่นด้วย คือมันกันสัตว์ร้ายที่จะมาเบียดเบียน กันยุง กันริ้น อะไรได้หมด แล้วการที่พวกนี้ติดไฟไว้บูชาตลอดวันตลอดคืนนั้นมันก็เป็นเคล็ดลับอะไรอันหนึ่งอยู่ในนั้น แต่การที่ไม่ใช้ไฟหุงต้มนี้มันหมายความว่าให้มันหมดเรื่องยุ่งยากลำบากเรื่องกิน นี้เรื่องที่อยู่มันก็ไม่จำเป็นนัก จะเป็นไอ้เพิงเป็นอะไรก็สุดแท้หรือ บรรณศาลา คือศาลาที่ประกอบขึ้นด้วยใบไม้ที่เหมาะสม นี้ผ้านุ่งก็ไม่ต้องอะไรนัก เปลือยก็มี การบริหารต่างๆ เขาเว้นเสียเพื่อให้ร่างกายมันเข้มแข็ง ให้มันมี Immunity สูงสุดต่อการที่จะต่อสู้กันกับธรรมชาติอันดุร้าย ความหนาว ความร้อน ความอะไรต่างๆ แม้แต่ริ้น ยุงนี้ นั้นมันไม่อาบน้ำ ไม่แปรงฟัน มันไม่ลูบตัวให้สะอาด ปล่อยให้ธุลีเกรอะกรัง เลยจัดเป็นศีลวัตรขึ้นมาสำหรับผู้นั้นปฏิบัติ
แต่แล้วมุ่งหมายส่วนใหญ่มันอยู่ที่จิตใจ ต้องการจะมีจิตใจที่เข้มแข็ง ที่จะอยู่ได้ใน
ลักษณะอย่างนั้นแล้วก็พบความสงบสุข ความไม่มีอะไรรบกวน นี้ก็ถือว่าเป็นความสุขในยามชรา อยู่ด้วยจิตใจที่มันสูงไปกว่าธรรมดา นี่ก็เรียกว่าเป็นชั้น อธิจิตตาโยค โดยปริยาย คนเหล่านี้มีความสุขในวัยชรามากที่สุดเท่าที่เขาจะทำให้มันมากได้ เพราะว่ามันเบื่อไอ้เรื่องบ้านเรือนมาแล้ว คือมีความคิดไกลไปถึงว่าต่อตายแล้วก็จะต้องมีอะไรที่ประเสริฐด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงมีคำว่า พรหมโลก คือเพื่อไปเกิดใน พรหมโลก เข้ามาในที่นี้ ถ้าเราเรียนบาลีแล้วเราควรจะถือเอาความหมายของ พรหมโลก ว่าโลกที่ดีกว่า อย่าให้มันเป็นพรหม เป็นหัว เป็นหู เป็นหางอะไรกันให้มันมากมายนัก แปลว่าโลกที่ดีกว่า นั้นพวกฝรั่งเขาเรียกว่า The better land คือโลกที่ดีกว่า ตายไปแล้วต้องไปโลกที่ดีกว่า นี้ก็เลยเป็นว่าไม่มีหันหลังมามอง มามองย้อนหลังหรือมองกลับหลัง ไปข้างหน้าเรื่อย นี้มันก็เป็นจิตใจที่สูง เป็นจิตที่ยิ่งในระบบตั้งต้นของมนุษย์ที่พบวัฒนธรรมส่วนนี้
ทีนี้ขอให้สังเกตไหมว่าใจความสำคัญมันอยู่ที่ว่า มีตัวฉันไหม มีอัตตา มีตัวฉันเสวย
ความสุขที่นี่ ตายแล้วไปพรหมโลกก็ไปมีตัวฉัน แล้วอัตตานั้นไม่ๆ ไม่ได้ถูกทำลายให้หมดไป ไปมีตัวฉันที่ถาวรที่เป็นอนันตกาลอะไรไปทำนองนั้น นี้เป็นอธิจิตตาโยคสายหนึ่ง เรียกว่าสายที่เป็นอัตตา มีอัตตา ไปจบลงด้วยอัตตาใหญ่เป็นอัตตาถาวร
ทีนี้ อธิจิตตาโยค อีกสายหนึ่งมันแตกแยกทางกันเดิน มันจะไปสู่ความไม่มีอัตตา นี้คือ อธิจิตตาโยคในพุทธศาสนาที่จะนำไปสู่ความสิ้นอาสวะ นี้อาสวะก็ไม่มีอะไรนอกจากไอ้อัตตานั้นแหละ พอมีอัตตาจึงอยากอย่างนั้น อยากอย่างนี้ เป็นตัณหา เป็น เอ่อ ความหมักหมมเคยชินของตัณหาจนจิตจนเรียกว่าอาสวะ ตรงนี้ผมอยากจะแนะให้ตั้งข้อสังเกตว่า คำว่า อาสวะ หรือ สังโยชน์ หรือนี้อย่าไปเข้าใจผิดให้มันมากนักจะเป็นสัสสตทิฏฐิ ที่เขาสอนกันว่าสังโยชน์ก็คือกิเลสอย่างละเอียดที่นอนนิ่งเนื่องอยู่ในสันดานตลอดเวลา อย่างนี้มันผิดหลักมันเป็นสัสสตทิฏฐิ มันผิดหลักที่ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ มีพุทธภาษิตตรัสไว้ชัดว่าแม้แต่อวิชชามันก็เพิ่งเกิด ไม่ใช่มันนอนเนื่องอยู่ในสันดาน ไม่ๆ ไม่เกิดดับแล้วก็ตลอดสายน้ำก็เป็นสัสสตทิฏฐิไป อาสวะก็เหมือนกันที่แปลว่าเครื่องดองอยู่ในสันดานนั้นมันก็คือความเคยชินเท่านั้น นั้นอาสวะมันก็ต้องเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ แต่ด้วยความเคยชินดูแรกๆ แล้วว่ามันนอนอยู่ที่นั่น
นี้คำว่า ทำอาสวะให้สิ้น มันมีความหมายสำคัญตรงที่จะทำลายตัวกู อัตตาตัวตนนี้ให้มัน
หยุดไปนั่น – มานี่เสียที คุณศัพท์ที่อธิบายลักษณะของพระนิพพานจะมีอยู่บทหนึ่งเสมอเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการอยู่ที่ไหน นั้นช่วยจำให้ดี มันก็เป็นการแสดงถึงลักษณะของ อธิจิตตาโยค อันสูงสุด คือไปจนถึงไม่มีตัวกู คือตัวตนที่จะไปที่ไหน จะมาที่ไหน จะอยู่ที่ไหน นั้นอย่างนี้มันจึงจะสิ้น อาสวะ นั้นคือแยกทางกันเดินแล้ว ไอ้พวกหนึ่งเขาจะมีอัตตา มีอัตตาถาวรไปเรื่อย เป็นเดินไปเรื่อย ไปข้างหน้าเรื่อยไปอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ส่วนสายนี้ที่มาเป็นพุทธศาสนานี้มันจะต้องการดับไอ้ตัวตนที่จะไปนั่นมานี่ ดับด้วยการทำให้ว่างไปเสียจากความมีตัวตน จนเกิดคำว่าว่างจากตัวตนขึ้นมา หมดตัวตนขึ้นมา หมดการเวียนว่าย หมดการไป-การมาขึ้นมา แล้วก็หมดกรรม หมดอะไรหมดทุกอย่างด้วย นี้เป็นเรื่องแยกทางเดินกันเด็ดขาด แกก็ไปตามทางของแก ฉันก็มาตามทางของฉันนี้ ไอ้นักปฏิบัติทางจิตตาโยคมันก็แยกทางกันเดินอย่างนี้ แล้วมันก็ยังอยู่ด้วยกันทั้ง ๒ พวกในปัจจุบันนี้ ลัทธิที่สอนว่ามีอัตตาก็มีอยู่หลายศาสนา ลัทธิที่สอนว่าที่แท้อัตตามิได้มีอย่างพุทธศาสนาเราเป็นต้น แล้วอาจจะมีลัทธิมิจฉาทิฏฐิอื่นๆ ซึ่งพูดทำนองเดียวกันนี้ก็ได้
ทีนี้ เราจะมองดูในข้อที่ว่ามันแยกกันเดินแล้ว ว่านี้คือคนละทาง ถ้าอย่างนี้มันทำให้เกิด
ความรู้สึกที่เป็นเรา เป็นเรา เป็นปฏิปักษ์เป็นศัตรูกันขึ้นมาก็ได้ ทีนี้ทางออกที่ปลอดภัยเราอย่าพูดอย่างนั้น เราก็พูดว่า ไป ต่อไปอีก นะ คือให้ความคิดหรือสติปัญญาไปต่อไปอีกจนถึงจุดสุดยอด คือไปรู้ว่า อ้าว ไม่มีเว้ย ไม่มีตัวตนเว้ย นี่คือจุดจบนะ มันเป็นว่า ไม่ไป ไม่มาแล้วไม่อยู่ที่ไหน ให้ถือเป็นจุดสุดยอดของ วัฒนธรรมทางจิต ตลอดสายของมนุษย์ก็แล้วกัน
ทีนี้ ถ้าเผื่อว่าพวกเราไปพบไอ้พวกที่ถือลัทธิมีตัวตนอย่างพวก เวดัลตะ หรืออะไรเป็นต้น
แล้วก็อย่าไปทำให้มันเกิดเรื่องขัดคอขัดขวางอะไรกันขึ้น เรานึกเสียว่าเขาสมัครอยู่แค่นั้น เราไปต่อไปก็ได้ เพราะเขาชอบความมีอยู่ เราชอบความว่าง ซึ่งมิอาจจะพูดได้ว่ามีอยู่ ถ้ามีอยู่ก็มีอยู่แห่งความว่าง แห่งความดับ มิได้มีอยู่แห่งตัวตน แล้วถือว่านี่จุดสุดยอดของสิ่งที่เรียกว่าการทำจิตให้ยิ่ง แต่แล้วมันก็ไม่มีความหมายแปลกหรือพิเศษอะไรออกไปจากไอ้จุดตั้งต้นที่สุดที่ออกจากบ้านจากเรือน พอออกไปจากบ้านจากเรือนนี้จะแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ แล้วก็มาตามลำดับจนมาถึงที่นี่ คืออธิจิตตาโยคในชั้นที่เป็นความสิ้นไปแห่งอาสวะ นี่เรียกว่าเราพูดอย่างคร่าวๆ รวดเดียวจบ ออกไปจากบ้านเรือนแม้แต่เพียงความคิดนี่มันก็เป็นจิตที่สูงแล้วนะ จิตที่ยิ่งแล้ว เพียงคิดว่าจะออกแล้วมันก็เป็นจิตที่ยิ่งกว่าธรรมดานะ แล้วออกไปอยู่ระบบชีวิตใหม่จิตมันก็สูงขึ้นไป แล้วก็ไปพบไอ้เรื่องทำจิตให้สงบเป็นสมาธิตามแบบของฤาษี มุนี โยคี กระทั่งหวังจะไปพรหมโลกนี้มันก็สูงขึ้นไปอีก มันก็มาพบต่อไปอีกว่าไอ้แค่นั้นมันก็ยังไม่ใช่ที่สุด ไอ้เราก็เลยพบชนิดที่จะหยุดไอ้ความคิดว่าตัวกู ตัวตน อัตตา อัตนียา เหล่านี้เสีย มันก็จบ เรื่องจบ
ไอ้คำว่า พรหมโลกนั้นมันกว้างคือจะเป็นไอ้ฌานสมาบัติชนิดไหนก็ได้ กระทั่งรูปฌาน อรูปฌาน มีมากอย่างมากชนิด แต่แล้วมันมีตัวตนทั้งนั้นแหละ แม้ เนวสัญญานาสัญญายตนะ มันก็มีตัวตน นี่มันแยกออกมาว่าตัวตนมิใช่ ถ้ายังมีตัวตนมันก็มิใช่ที่สุดของความดับทุกข์ จึงทำให้มันว่างไปจากตัวตน นี้เป็นทิวทัศน์หรือปริทัศน์ของอธิจิตตาโยค รวดเดียวจบสั้นๆ
ทีนี้ เรื่องที่น่าสนใจที่มันละเอียดลออสุขุมมีเทคนิคมากมีอะไรมาก ก็มันอยู่ๆ ตรงที่ว่าจะทำจิตให้มันสงบระงับเป็นสมาธินี่แหละ ที่เขา...ที่พวกฤาษี มุนีระดับหนึ่งเขาตั้งต้นมันขึ้นเพื่อทำจิตให้สงบ รำงับอยู่เป็นสุขจนตาย ตายแล้วไปพรหมโลก พวกนี้จะต้องพิจารณากันดูต่อไปอีก ว่าออกไปอย่างคนไม่รู้อะไร จากบ้านเรือนแล้วไปอยู่ในป่าในลักษณะอย่างนั้น แล้วทำไมมันจึงรู้เรื่องไอ้จิต เรื่องเกี่ยวกับจิตนี้ ว่าสมาธิ สมาธิภาวนาอะไรสูงขึ้นมา แม้ว่ามันจะกินเวลาหลายชั่วอายุคนแต่มันสืบต่อถ่ายทอดกันมา มันก็น่าอัศจรรย์มากที่มันพบอย่างลึกซึ้งเรื่องราวเกี่ยวกับสมาธินี้ กระทั่งพบไอ้สิ่งที่เรียกว่า อัปปนาสมาธิ เป็นจุดสูงสุดของเรื่องสมาธิ ดังนั้นอธิจิตตาโยคในระดับอัปปนาสมาธินี้เป็นจุดตั้งต้นที่ควรสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมเห็นว่ามันเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นมาได้เองในตัวมันเอง คือมันสอนให้ได้ในตัวมันเอง มันเป็นสิ่งที่เข้าถึง เข้าไปถึงได้เองโดยลำดับ ตามลำดับ ในเมื่อผู้นั้นตั้งใจจะทำจริงๆ อย่างไม่รู้จักหยุดจักหย่อน ความผิดมันก็ยังเป็นครู อย่าๆ ไปเกลียด อย่าไปโกรธไอ้ความผิดพลาด มันเป็นครูที่ดี นี้ความถูกมันก็เป็นครู มันเขยิบต่อไปได้ ไอ้ความผิดนี่มันเป็นการทำให้ไปหาความถูกได้พบ แล้วความถูกก็ทำให้มันถูกต่อไปอีก ฉะนั้นความก้าวหน้ามันจึงมีทั้งในทางฝ่ายวัตถุ ฝ่ายวิญญานนั้น
เรามานึกเปรียบเทียบดูตอนนี้ว่าไอ้คนป่าสมัยหินนั้นคงจะสานกระบุง ตะกร้า เสื่อสาด
อะไร ถุงไท้ อะไรไม่ได้ ไม่เป็น แล้วใครสอนมันมา แล้วสิ่งเหล่านี้มันก็ไม่ได้มีอยู่ก่อน ทีนี้พวกคนป่าเหล่านั้นมันปรากฏชัดในชั้นหลัง แล้วมันก็สานเสื่อ สานตะกร้า สานกระบุงเป็นขึ้นมาตามลำดับ ตั้งแต่เลวๆ หยาบๆ ขึ้นมาจนถึงละเอียดประณีต มีลวดมีลายได้เหมือนกัน ความผิดเป็นครู ความถูกเป็นครู ความพยายามไม่หยุดหย่อนทำให้เกิดสิ่ง เอ่อ ใหม่ๆ ขึ้นมา นั้นความก้าวหน้าทางจิตใจของโยคี มุนี ฤาษีมันก็เป็นอย่างนี้ ครั้งแรกก็ทำสมาธิเท่าที่จะนึกได้ แล้วขยับขยายเรื่อยค้นคว้าเรื่อย มันก็พบไอ้ประเภทที่สูงขึ้นไปถึงอัปปนาสมาธิ ก็ต้องมีหลายรูปหลายแบบก่อน แล้วมันจึงเลือกเอาไอ้รูปแบบที่ดีที่สุด
ทีนี้ ไอ้สิ่งที่เรียกว่า อัปปนาสมาธิ นี้มันเป็นจุดตั้งต้นขึ้นมาที่จะแยกทางกันเดินออกไป
หลายๆ สาขา คือจะไปสู่ อิทธิวิธี ไปตามความต้องการของ ตัวกู ของกู อย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้นก็ได้ เตลิดเปิดเปิงไปสายหนึ่ง ในส่วนที่มันต้องการจะรักษาความสงบที่ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป จนเป็นชั้นอรูปฌาน เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนะอย่างนี้ก็ได้ นี้สายที่ ๓ มันก็จะดิ่งไปในทางที่จะเป็นสิ้นอาสวะ สิ้นไปแห่งตัวกู-ของกูนี่
ฉะนั้นขอให้ดูให้ดี ว่าอธิจิตตาโยคในสายของสมาธิที่ขึ้นไปจนถึงอัปปนาสมาธิแล้ว มันก็มี
ทางที่แยกออกไปได้อย่างน้อยก็ ๓ สาย
เป็นอะไรไปทางนั้น กลุ่มนั้นมันชอบอย่างนั้นมันก็เตลิดเปิดเปิงไปทางนั้น
ตามเดิม มันก็พบไอ้อรูปฌาน ที่สูงขึ้นไปจนสุดขอบเขตของรูปฌาน แล้วก็ผ่าเข้าไปในขอบเขตของอรูปฌาน แล้วก็ไปตีบตันอยู่แค่เนวสัญญานาสัญญายตนะอย่างที่เราเล่าเรียนกันในหลักสูตรนักธรรมนั้น นี้ไปสายมีตัวตน
เป็นเรื่องโลกุตตระอะไรขึ้นมาคือจะดับเสียซึ่งตัวตน นี่มันมาเป็นมรรคผลนิพพาน
ไอ้เรื่องสมาธิสมาบัติไอ้ตามแบบโน้น มันก็กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ มุ่งหมาย เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถึงเรื่องนิพพานจึงทรงปฏิเสธหมด มิใช่อากาสานัญจายตนะ มิใช่อากิญจัญญายตนะ กระทั่งมิใช่เนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้วก็ตรัสถึงไอ้ความที่มันไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่อาศัย ไม่มีการไป ไม่มีการมา คือมันไม่มีอัตตานั่นเอง เพราะว่านี้ที่สุดแห่งความทุกข์ คือว่ามันสิ้นไปแห่งอัตตา มันไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ในส่วนนี้ เพราะฉะนั้นหลังจากอธิจิตตาโยคฝ่ายอัปปนาสมาธิกลางๆ แล้วก็มันมีอธิจิตตาโยคฝ่ายอิทธิวิธิ แล้วก็ฝ่ายที่ว่าไปสุดโต่งของไอ้พวกมีตัวตน แล้วก็มามีอีกสายหนึ่งซึ่งความสิ้นไปแห่งตัวตน
ทีนี้เราพิจารณากันดูสักนิดว่าในสายอิทธิวิธิ มีฤทธิ์ มีไอ้ความเป็นทิพย์ทางตา ทางหู
ทางจมูกอะไรก็ตาม อันนี้มันก็เป็นของที่ไม่ใช่วิเศษหรือว่าอะไรมากไปกว่า มันก็ไปพบเข้าโดยบังเอิญในการค้นคว้า เราเหมือนกับว่าไอ้วิทยาศาสตร์ที่มันก้าวหน้านี้ในขณะที่มันมีการปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์ มันมีบังเอิญอะไรโผล่ขึ้นมา ซึ่งไม่ได้เป็นจุดหมายที่ตั้งใจจะค้น จะทดลองหรือจะปฏิบัติ แล้วมีอะไรโผล่ขึ้นมา อย่างการพบ Radium หรือพบอะไรก็ตามล้วนแต่มันเป็นของที่มันบังเอิญแล้วมันโผล่ขึ้นมา ก่อนไม่มีความรู้เรื่องนี้ ไม่เคยหวังจะค้นไอ้อันนี้ นั้นขอให้มีความเข้าใจหรือมองเห็นชัดว่าในการปฏิบัติงานค้นคว้าอะไรก็ตาม มันจะมีอะไรบางอย่างที่บังเอิญโผล่ขึ้นมา เป็นของนอกวัตถุประสงค์แล้วอันนั้นน่ะคือความก้าวหน้า ไอ้ส่วนที่เป็นวัตถุประสงค์ก็ค้นพบ แต่แล้วไอ้ส่วนที่มันโผล่ออกมาโดยบังเอิญนี้มันก็เป็นชนวนให้ค้นต่อไป ค้นพบต่อไปในไอ้อันที่แปลกหน้าเข้ามานี้ มันก็พบของแปลกใหม่เรื่อย ฉะนั้นเมื่อชอบ เมื่อปฏิบัติอยู่ในทางไอ้ความสงบนี้ ไอ้พวกที่มันเป็นอิทธิวิธีมันก็โผล่ออกมา จนพบ แล้วก็พบมากขึ้น มันเป็นวิชาที่เราควรจะแยกออกไปว่ามันเป็นแขนงไอ้ฝ่ายจิตตวิทยาหรือจิตศาสตร์ไปโน้นเลย ไม่ใช่เรื่องดับทุกข์ แล้วก็ปล่อยให้เป็นไปสายหนึ่ง
ทีนี้มาดูอธิจิตตาโยคในสายไอ้...ที่เดินมาในทางที่จะหมดอัตตา หมดตัวตนคือสิ้นอาสวะนี้
มันก็มีหลายแง่ หลายมุม หลายระดับ คือมันก็พบของแปลก ของใหม่ที่บังเอิญพบโผล่ขึ้นมา โผล่ขึ้นมา โผล่ขึ้นมา นั้นจึงเชื่อว่าเมื่อค้นเพื่อจะมีความสงบสุขของตัวตนนี้มันก็เกิดพบในแง่ที่มันตรงกันข้ามว่าไอ้ตัวตนนี้ชักจะน่าสงสัยซะแล้วเฮ้ย เพราะว่ามันก็ไม่เป็นความหยุด ไม่เป็นความพักผ่อน ไม่เป็นความหยุด มันหมกมุ่นอยู่แต่กับไอ้ตัวตนจะเป็นอย่างไร แล้วก็หวังที่ว่าจะบริโภคไอ้ความสุขนั้นมันก็ไม่ใช่ความสงบ นั้นควรจะหยุดกันเสียที หยุดตัวตน หยุดไอ้ความหวังที่จะบริโภคความสุขหรืออะไรกันเสียที นี่มันจึงมาในทางนี้ ทำลายไอ้ตัวประธาน ตัวที่อยู่เป็นตัวประธานของเรื่อง จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนี้ จะอยู่ที่นั้น จะอยู่ที่นี้ จะเสวยนั้น จะเสวยนี่ ไอ้ตัว Subject นั่นแหละมันจะต้องถูกทำลายเสียที นี้มันจึง ไอ้ความโน้มเอียงมันจึงมาทางเกิดความรู้แจ้ง เห็นจริงในสิ่งที่เป็นธรรมชาติ มันเกิดคำบัญญัติเฉพาะขึ้นมาว่า การรู้ตามที่เป็นจริง (ยถาภูตญานทัศนะ) ต่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ในชั้นแรกมันก็พบไอ้อย่างที่เรียกว่า เอ่อ เท่าที่จำเป็นนั้นน่ะ เท่าที่จำเป็น นี่ไอ้ๆ การบรรลุผลประเภทปัญญาวิมุตตินี้จึงเกิดขึ้น แล้วมันต้องเกิดขึ้นก่อนๆ ระบบเจโตวิมุตติ มันทำลายอัตตาด้วยสติปัญญาในระดับธรรมดาหรือด้วยปัญญาธรรมดาๆ แล้วก็ด้วยสมาธิที่ๆ จำเป็น เท่าที่จำเป็น ไม่มากมายอะไร สมาธิชนิดนี้รวมเรียกไว้ในกลุ่มอนันตริยสมาธิ คือไม่มากมายอะไร เท่าที่จำเป็นจะต้องมี เหมือนเมื่อเราคิดเลข นักเรียน เด็กนักเรียน เราเป็นเด็กนักเรียนยังคิดเลข ไอ้อนันตริยสมาธิก็ต้องเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติเพียงพอแก่การคิดเลข หรือว่าเมื่อใครจะยิงปืน แม้แต่จะยิงหนังสติ๊ก พอลงมือเท่านั้นมันก็เกิดสมาธิโดยธรรมชาตินี้ขึ้นมาแล้วในอัตราที่พอเหมาะเท่าที่จำเป็นนั้นน่ะ มันล้นไปก็ไม่ได้ มันขาดไปก็ไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นมันยิงไม่ถูก แม้เราจะขว้างอะไรหรือจะโยนอะไรลงไปให้ลงไปในหลุมในบ่อนี้ต้องมีสมาธิชนิดนี้เท่าที่จำเป็นแล้วแฝงอยู่ในการกระทำนั้นโดยไม่รู้สึก
ดังนั้นพวกที่บรรลุธรรมะประเภทปัญญาวิมุตติก็ด้วยอาศัยสมาธิชนิดนี้ แล้วมันน่าคิดใน
ข้อที่ว่ามันอาจจะทำได้ก่อนมนุษย์รู้จักสิ่งที่เรียกว่าอัปปนาสมาธิด้วยซ้ำไป เพราะสิ่งที่เรียกว่าอนันตริยสมาธินี้ไม่ใช่อัปปนาสมาธิ เป็นเพียงแต่อุปจารสมาธิตามชื่อที่เราเรียกบัญญัติขึ้นเรียก ในลักษณะที่พอเหมาะหรือพอสมควรเท่านั้น ดังนั้นการที่มนุษย์จะรู้จักการบรรลุธรรมประเภทปัญญาวิมุตตินี่อาจจะมีได้ก่อนที่มันรู้จักไอ้เรื่องอัปปนาสมาธิ เพราะเป็นโยคีที่บริสุทธิ์ มีความบริสุทธิ์ใจ ไม่หวังอะไรมากมาย ต้องการแต่ความสงบสุขที่แท้จริง มันก็อาจจะบรรลุได้โดยไม่ต้องใช้ ไม่ต้องพึ่งพาไอ้สมาธิชั้นสูงสุดนั้นเลย เอาสมาธิที่พอเหมาะ พอดีตามธรรมชาติ แต่ก็ต้องเรียกว่าสูงสุดอยู่นั่นเอง สมาธิที่เหลือใช้ก็ไม่ๆๆ วิเศษอะไร แม้จะมากมาย แม้จะน่าอัศจรรย์มันก็ไม่ มันก็เหลือใช้ สมาธิเฟ้อ สมาธิพอที่จะทำจิตให้ดับทุกข์ได้นี้แหละพอดี อะนันตะริกัญญะมาหุ (ในบทสวดเขียนว่า สะมาธิมานันตะริกัญญะมาหุ) ที่ในๆ บทสวดรัตนสูตร อนันตริยสมาธินี้ไม่มีสมาธิอื่นเสมอเหมือน สุขก็หมายความว่ามันสูงสุด สมาธิที่แนบกันอยู่กับปัญญาที่จะเป็นเหตุให้บรรลุมรรคผล
ทีนี้การหลุดพ้นประเภทเจโตวิมุตตินี่มันแน่นอน มันต้องมีสมาธิประเภทอัปปนาสมาธิ
ครบถ้วน ถูกต้อง เพียงพอ ก็หมายความว่าเป็นคนที่เขาสามารถมีอัปปนาสมาธิจนมีจิตใจเข้มแข็งสูงสุดในฝ่ายของจิตใจ (ฉะ)นั้นปัญญาที่ได้ใช้ ได้อาศัยไอ้สมรรถภาพของจิตชนิดนี้มันทำให้บรรลุธรรมะประเภท เจโตสมาธิ อ้อ, ตรงนี้อยากจะบอกว่าอย่าไปแยกกันเด็ดขาดว่ามีเจโตสมาธิ เป็นปัญญาวิมุตติก็ไม่มี เอ่อไม่... เป็นเจโตวิมุตติก็ไม่มีปัญญาวิมุตติ ขอให้สังเกตในบาลีในพระพุทธภาษิตโดยเฉพาะในพระไตรปิฎกนี้ พวกที่บรรลุเจโตวิมุตติจะมีพูดออกชื่อทั้งสอง ทั้งสองอย่างว่า เจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ เขาๆ บรรลุทั้ง ๒ อย่างนะ แต่แล้วก็เรียกว่าเจโตวิมุตติอย่างเดียว ไอ้ปัญญาวิมุตตินั้นมันหมายถึงมีปัญญาพอเพียง มีสมาธิพอเพียงแล้วก็บรรลุความสิ้นอาสวะไป
การทำจิตให้ยิ่งถึงขนาดที่ว่าเป็นอัปปนาสมาธิ แสดงฤทธิ์เดชก็ได้ถ้าต้องการนี่ อย่างนั้น
มันไม่มีแก่พวกปัญญาวิมุตติ พูดว่าเจโตวิมุตติก็หมายความว่ามันบวกกันอยู่ในนั้นทั้งปัญญาวิมุตติและเจโตวิมุตติคือเป็นส่วนจิต จะวิมุตติโดยไม่มีปัญญานั้นเป็นไปไม่ได้ นี้สิ่งที่เรียกว่าเจโตวิมุตติจึงเป็นสุดยอดของอธิจิตตาโยคสายนี้ ไม่มีอะไรจะสูงไปกว่านี้ได้ ทีนี้ถ้าว่าจะให้สูงไปกว่านี้มันก็เป็นเรื่องที่ผนวกเข้ามาเพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่นเช่นความเป็นพระพุทธเจ้า หรือความเป็นปัจเจกพระพุทธะ ความสิ้นอาสวะด้วยอำนาจจิตที่รุนแรงสูงสุดมันก็สิ้นสุดอยู่แค่นั้นสำหรับทุกคน แต่สำหรับบางคนที่จะมาเรียกกันว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้มีส่วนอื่นเข้ามาผนวก เป็นผู้บรรลุด้วยทั้งปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติโดยสมบูรณ์แล้วยังมีส่วนอื่นเข้ามาผนวก แม้แต่บุคคลประเภทปัจเจกพุทธะนี่ โดยหลักที่เราพิจารณาเห็นได้ก็ต้องเป็นประเภทเจโตวิมุตติ ไม่ใช่ปัญญาแห้งแล้งอย่างสุขวิปัสสกตามที่เราเคยคิดกันทีแรก ทีแรกผมก็เคยเข้าใจอย่างนั้น แต่แล้วเมื่อมาดูไอ้หลักฐานต่างๆ มาสอบสวนกันดูให้มันละเอียดก็คิดว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าจะต้องมีไอ้ความหลุดพ้นประเภทเจโตวิมุตติมันจึงเหาะได้ หรือทำอะไรได้ หรือแสดงฤทธิ์ได้เหมือนกัน จะมีพระปัจเจกพุทธะประเภทปัญญาวิมุตติมันก็ได้แต่กลับไม่ค่อยปรากฏในหลักฐาน ไอ้เรื่องเหาะได้ เรื่องแสดงฤทธิ์ได้นี้มันเป็นสัญลักษณ์ ๆ ของเจโตวิมุตติ
ทีนี้พระปัจเจกพุทธะขาดอะไรไป ก็คงจะขาดความตั้งใจโปรดสัตว์เท่านั้นเองเพราะ
ความรักในความสงบสุขมันมาก มันก็เลยไม่สนใจที่จะสอนใคร ไปอยู่กันตามลำพังสำหรับผู้ที่ไม่สอนใครนี้ ถ้าเที่ยวบินกันเป็นฝูงๆ ก็เที่ยวหาที่หลีกเร้นที่สงบ ที่มีความสุขที่เป็นที่พอใจ แม้ว่าจะเป็นผู้ที่บรรลุธรรมะในประเภทเจโตวิมุตติ ข้อนี้เราอาจจะสังเกตเห็นได้จากการที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วใหม่ๆ เห็นว่าธรรมะนี้ลึกแล้วสัตว์นั้นหมกมุ่นแต่เรื่องไอ้ความสุขทางโลกียสุข มิอาจจะเข้าใจธรรมะที่เป็นความหลุดพ้นนี้ได้ มีพระหฤทัยโน้มเอียงไปในทางที่จะไม่สั่งสอนโดยคิดว่าถ้าสั่งสอนมันก็ลำบากเปล่าๆ ความรู้สึกว่าลำบากเปล่าๆ นี้คือมันไม่ค่อยอยากจะยุ่งยากลำบากเหมือนกันถ้าเป็นพระพุทธเจ้า แต่แล้วด้วยกำลังกระตุ้นของสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งพระปัจเจกพุทธะไม่มี แต่พระสัมมาสัมพุทธะมี คือความเมตตากรุณาอันใหญ่ยิ่ง เอ้า, ลองดู ยอมเหน็ดเหนื่อย ยอมพยายาม ยอมอะไร อย่างที่เรียกว่าพรหมมาอาราธนามาขอร้องว่าให้ทำเถอะ นี่ส่วนนี้มันมีมาเพิ่มให้แก่กำลังของเจโตวิมุตติ ของอะไรที่มันมีถึงขนาดแล้ว
ฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธะจึงเป็นบุคคลที่ว่ามีอะไรบางอย่างเข้ามาเพิ่มจนครบและใน
ระดับสูงสุดด้วย นั้นผู้ที่ได้รับผลของอธิจิตตาโยคธรรม ก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นระดับสูงสุด นับตั้งต้นตั้งแต่ไอ้คนแก่ๆ ในบ้านเรือนสมัยดึกดำบรรพ์โน้นเบื่อระอาบ้านเรือนออกไปหาไอ้สิ่งที่ดีกว่าในป่าในดง แล้วพบมาตามลำดับเรียกว่าเป็นอธิจิตตาโยคทั้งนั้น แล้วก็มากระทั่งถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นระดับสุดท้ายคือสูงสุด นี้ผมเรียกว่าปริทัศน์หรือ Outline ของสิ่งที่เราเรียกกันใหม่ ๆ โดยชื่อใหม่นี้ว่า อธิจิตตาโยคธรรม ซึ่งเป็นคำที่เหมาะและสะดวกกว่าคำอื่นๆ ที่เราเคยเรียกกันอยู่ สมาธิภาวนาหรือกรรมฐานอะไรมันยุ่ง เรียกคำที่มีความหมายสมบูรณ์คือคำนี้ อธิจิตตอาโยคธรรม ธรรมของบุคคลที่ประกอบขวนขวายในการทำจิตให้ยิ่ง เอาล่ะเรารู้เรื่องไอ้สิ่งที่เรียกว่าอธิจิตตาโยคครบถ้วนแล้วแม้โดยหลัก โดยหลักเท่านั้นเองไม่ใช่โดยรายละเอียด
ทีนี้มาถึงปัญหาที่จะพิจารณาต่อไปว่ามนุษย์ในโลกยุคปัจจุบันนี้คือยุคอวกาศนี้นั้นจะ
เหมาะสมแก่อธิจิตตาโยคชนิดไหน? อย่างไร? หรือเพียงไร? นี้คือปัญหาของพวกธรรมฑูต เราควรจะไปกล่าวไว้ในพวกปัญหาของธรรมฑูตมากกว่า แต่เดี๋ยวนี้มันก็เป็นปัญหาที่ต้องหยิบพิจารณาว่าเราจะไปสอนพวกชาวต่างประเทศน่ะด้วย สมาธิภาวนา หรือ จิตตาโยคะ ดี? อย่างไหน? เพียงไร? พระธรรมฑูตจะต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ไอ้โลกปัจจุบันนี้มันไม่ยอมวกกลับไปสู่โลกดึกดำบรรพ์นี้เป็นแน่นอน นี้ไอ้เรื่องที่จะเสนอเข้าไปให้คนในยุคปัจจุบันพิจารณานี้มันต้องมีความเหมาะสมหลายอย่างโดยเฉพาะมันเหมาะสมแก่จิตใจ ความต้องการของมนุษย์ในโลกปัจจุบันนี้ ก็ตั้งปัญหาขึ้นว่าอธิจิตตาโยคระบบไหนที่จะรวบรวมไอ้สิ่งที่มนุษย์ในโลกปัจจุบันนี้เขาต้องการไว้อย่างครบถ้วนหรือว่าระบบจิตตา...อธิจิตตาโยค ระบบไหนเพียงระบบเดียวที่สามารถรวบรวมไอ้สิ่งที่มนุษย์ในโลกปัจจุบันนี้เขาต้องการไว้อย่างครบถ้วน
สำหรับผมขอตอบว่าระบบอานาปานสติภาวนาระบบเดียวเท่านั้น ไม่ต้องหลายระบบ
จะมีสิ่งที่มนุษย์ในโลกปัจจุบันต้องการอย่างครบถ้วน ที่มันจะเป็นได้อย่างไรนี้เราจะได้พูดกันในตอนต่อไปเพราะมันต้องการเวลาบ้าง แต่สามารถจะพิสูจน์ให้เห็นว่าระบบนี้ระบบเดียวเพียงพอที่จะให้ทุกอย่างที่มนุษย์แห่งยุคอวกาศนี้ควรจะต้องการในเรื่องอันเกี่ยวกับจิตใจจากพุทธบริษัท
เอาล่ะ, ก็พอกันที เวลาหมดแล้วสำหรับวันนี้