แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ของเราในวันนี้จะพูดเรื่อง “อิทัปปัจจยตา” อิทัปปัจจยตาต้องเขียนให้ถูก ต้องจำไว้ให้แม่นยำ อิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตาคือหัวใจของพุทธศาสนาและเป็นทั้งหมดของพุทธศาสนา ก็ลองคิดดูสิว่าจะเรียกว่าอะไร เป็นทั้งเนื้อทั้งตัว เป็นทั้งหัวใจ เป็นทั้งยอดสุด เป็นทั้งรากฐาน ก็แล้วความสำคัญที่สุดก็คือเป็นหัวใจ นี้สิ่งที่เป็นหัวใจนั่นมักจะไม่ค่อยมีใครรู้จัก คือมองไม่เห็น ลองคิดถึงเรื่องอื่นๆที่เป็นหัวใจของเรื่องนั้นมองไม่เห็น เห็นแต่เปลือกของมัน เช่นว่าคนเกิดมาทำอะไร เกิดมาทำไม ไม่มีใครมองเห็น นั่นเป็นหัวใจของความเป็นคน ดังนั้นคนมันจึงไม่เป็นคน
เรื่องอิทัปปัจจยตานี้เป็นหัวใจของพุทธศาสนา และก็พุทธบริษัทนั่นเองมองไม่เห็น พุทธบริษัทส่วนมากจึงเข้าใจผิดพุทธศาสนา ไปเข้าใจพุทธศาสนาว่าเป็นอนัตตาเลยเถิดจนเป็น “นัตถิกทิฏฐิ” เข้าใจสุญญตาเลยเถิดจนเป็นนัตถิกทิฏฐิ และก็ไม่รู้สึกแล้วก็สอนกันอยู่อย่างนั้น เถียงอยู่เดี๋ยวนี้ก็สอนอนัตตาชนิดเป็นนัตถิกทิฏฐิทั้งนั้น เพราะไม่รู้เรื่องอิทัปปัจจยตา ดังนั้น จึงเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะรู้เพื่อป้องกันไม่ให้พุทธศาสนาถูกสอนผิดๆ ทั้งฝ่ายที่เป็นสัสสตทิฏฐิและนัตถิกทิฏฐิ
เดี๋ยวนี้สอนพุทธศาสนากันผิดๆเป็นสัสสตทิฎฐิว่า มีคน มีบุคคลอยู่นี้ อยู่ก็มาก ตอนมีอยู่คนในขั้นศีลธรรม มันมากไปจนเป็นสัสตทิฏฐิเพราะไม่รู้เรื่องอิทัปปัจจยตา ทีนี้สอนเรื่องอนัตตา สุญญตา ก็สอนจนไม่มีอะไรเสียเลย จนเป็นนัตถิกทิฏฐิคือว่าไม่มีอะไรเลย ก็เป็นเหตุให้พุทธศาสนาถูกติเตียน โดยนักศึกษา หรือแม้แต่ศาสนาอื่น ก็ประณามว่าพุทธศาสนานี้มันบ้า คือไม่มีอะไรเสียเลย นี่ก็เพราะว่าคนสอนมันสอนผิด หรือว่าพุทธบริษัทกันนั่นเองมันพูดผิดๆ เพราะไม่รู้เรื่องอิทัปปัจจยตา ก็ใจความสำคัญมันอย่างนี้ จะเข้าใจคำ “อิทัปปัจจยตา” ก็ต้องศึกษาเรื่องสองเรื่องที่มันขนาบอยู่สองข้าง คือลัทธิที่ว่ามีกับลัทธิที่ว่าไม่มี ถ้าพูดกลางๆในบาลีเขาเรียกว่า “อัตถิตา” แปลว่ามี “นัตถิตา” แปลว่าไม่มี ตาก็เหมือนกับ isn't ในสมัยนี้ อัตถิ แปลว่ามี อัตถิตา แปลว่าความมี นัตถิแปลว่าไม่มี นัตถิตาความไม่มี อิทัปปัจจยตาอยู่ตรงกลางระหว่างสองเรื่องนี้ ถ้าสอนว่ามีตัวคนมีตัวมีตนก็เป็นอัตถิตา เป็นสัสสตทิฏฐิ ถ้าสอนว่าไม่มีอะไรเลย ก็เป็นนัตถิตา เป็นอุจเฉททิฏฐิ ล้วนแต่เป็นมิจฉาทิฐิทั้งสองข้าง พูดอย่างสมัยใหม่ก็ว่าพุทธศาสนาไม่ใช่ทั้ง Positive และ Negative ไม่เป็น Positivism Negativism ไม่เป็นสิ่งสุดโต่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อันนั้นเขาเรียก อิทัปปัจจยตา
ถ้าจะหาคำมาพูดเป็นภาษาฝรั่งก็คงจะเป็นคำว่า Interdependentism คำว่า Inter คือภายใน เกี่ยวกันอยู่ในวงภายใน Dependent คือเนื่องกัน –ism นี่จะพลอยตรงกันพยัญชนะรูปศัพท์ว่า “อิทัปปัจจยตา” ซึ่งแปลว่าเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ถ้าคนไม่เข้าใจมันก็ฟังไม่ถูก พุทธศาสนาสอนว่า หรือมีหลักว่า หรือมีหัวใจว่า เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ถามเท่าไหร่ เท่าไหร่ก็ตอบแต่อย่างนั้น ถามว่าตายแล้วเกิดหรือไม่ ก็ตอบว่าเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ตายแล้วไม่เกิดหรือ ก็ตอบว่าเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี มีบุคคลหรือไม่ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ก็ว่าบ้า จะถูกด่าว่าศาสนาบ้า ไม่มีพูดเรื่องอะไร พูดแต่เพียงเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ไม่ยอมให้พูดว่า “มี” โดยเด็ดขาด ไม่ยอมให้พูดว่า “ไม่มี” โดยเด็ดขาด
พูดว่ามี ก็เป็นสัสสตทิฏฐิ มีอย่างเที่ยงแท้ยั่งยืนมีตัวมีตน ตายแล้วมันก็ตัวนั้นไปเกิดอีก ไปรับอะไรของมันอีก อย่างนี้เรียกว่ามี หรือเที่ยงไปข้างมี เป็นสัสสตทิฏฐิ คนธรรมดาถืออย่างนี้อยู่แล้วโดยมากเหมือนๆกันไปหมด ยิ่งในฝ่ายทวีปเอเชียจะถือคล้ายๆกันอย่างนี้ คือถือว่าตายแล้วไม่สูญ ตายแล้วมีอะไร ไปเกิดอีก มันเดาเอา ก็เพราะว่ามันอยากเกิดอีก เพราะว่ามันอยากไม่สูญนั่นเอง แต่มันก็ไม่รู้แน่ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด แต่แล้วเมื่อเอาเข้าจริง มันก็สนใจแต่เรื่องที่นี่ เรื่องชาตินี้ คนจะสนใจหรือเป็นห่วงกันมากแต่เรื่องชาตินี้ แม้ว่าจะสงสัยว่าชาติหน้ามันจะมันมีอีก มันก็ไม่ค่อยจะให้ความสำคัญอะไรเลย ต้องสังเกตดูให้ดีว่าเพราะว่าคนไม่สนใจเรื่องหลังจากตายแล้วจริงจังอะไรมากเท่าเรื่องเดี๋ยวนี้ พระพุทธเจ้าจึงถือว่าไม่ต้องพูดเรื่องหลังจากตายแล้ว ไม่ต้องพูด เพราะว่ามนุษย์ไม่ได้สนใจเรื่องหลังจากตายแล้ว แม้ว่าจะสงสัยหรือเชื่อว่ามันจะต้องไปอีก
ขอให้สังเกตดูให้ดีว่า คนเรากลัวตาย ทุกคนกลัวตาย เพราะว่าจะไม่ได้รับอะไรที่เรามีอยู่ในเวลานี้ ทรัพย์สมบัติ เงินทอง ข้าวของ เป็นที่รัก บุคคลเป็นที่รัก อะไรก็ตาม ถ้าเราตายเสีย เราจะไม่ได้รับ เราไม่อยากตายเพราะเหตุนี้ เราอยากจะมีตัวเราอยู่ที่นี่ ถ้าเขาเชื่อว่าตายแล้วเกิดจริงแน่ๆ เขาก็ไม่ต้องกลัวตายเพราะว่ามันเกิดไปได้อีกและก็ตัวเราอีกนั่นเอง จะต้องกลัวตายทำไม เดี๋ยวนี้มันโกหก แล้วมันจะคิดว่าคงจะเกิดอีก แต่มันก็เห็นแต่ที่นี่ เห็นแต่ที่นี่ ถ้าจะต้องพลัดพรากไปจากที่นี่แล้วก็กลัว ก็ไม่ยอม ดังนั้น คราวที่คิดว่าตายแล้วเกิดอีกนั้นเป็นเพียงความลังเล ความสงสัย ส่วนใหญ่มันอยู่ที่ว่าอยู่ที่นี่ ปัญหาทั้งหมดเลยอยู่ที่นี่ ดังนั้น หลักพุทธศาสนาจึงพูดไปแต่ในทางที่ว่าที่นี่ หลังจากตายแล้วไม่ต้องพูด จึงไม่มีเรื่องมาให้ยืนยัน เมื่อก่อนหน้านี้ก็เหมือนกันที่แล้วมา ชาติที่แล้วๆมา ก็ไม่ต้องพูด จะพูดกันแต่ที่เห็นได้เดี๋ยวนี้ อย่างนี้เกิดเรื่องอิทัปปัจจยตาขึ้นมา ให้มองดูที่นี่เดี๋ยวนี้ว่าเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ให้เห็นว่ามันไม่มีตัวคน ไม่มีตัวตน บุคคลสัตว์ บุคคลอะไรเสียแล้วที่นี่ ก็หมดปัญหาว่าตายแล้วจะเกิดหรือไม่เกิด แม้แต่คนหลังก็เหมือนกันไม่ต้องพูดว่าคนนั้นมาเกิดที่นี่อีก ถ้ามองเรื่องอิทัปปัจจยตานี่เข้าใจจนรู้ว่าก็ไม่ได้มีคน คนไม่ได้มีอยู่ มีแต่เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี พูดกัน ๑๐๐ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้งก็พูดได้แต่ประโยคนี้เท่านั้น
ตรงนี้พยายามจะแทรกว่าที่ว่าผมเคยพูดซ้ำซากหลายครั้งหลายหนว่า เรื่องตายแล้วเกิดนั่นไม่ใช่ปัญหาของพุทธบริษัท ถ้าเป็นพุทธบริษัทโดยบริสุทธิ์ถูกต้องแล้วจะไม่มีปัญหาว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด เขาจะไม่ถามอย่างนั้น เพราะเขาก็ศึกษาจนรู้ว่ามันไม่มีคนที่กำลังเกิดอยู่แล้วจะตายได้อย่างไร แล้วจะเกิดอีกได้อย่างไร และเดี๋ยวนี้มันก็ไม่มีคนที่แท้จริงที่เกิดอยู่ เป็นเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เท่านั้นแหละ มีเท่านั้น ไม่เรียกว่าคน แล้วคนเกิดอยู่เป็นนั่นเป็นนี่ อันนั้นมันว่าเอาเองตามความโง่ของคน ของปุถุชน ของผู้ที่ไม่ได้สดับธรรมะของพระอริยเจ้า คำบาลีเขาใช้คำอย่างนี้ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับธรรมะของพระอริยเจ้า ไม่ได้ถูกอบรมสั่งสอนในธรรมวินัยของพระอริยะเจ้าจึงมีความคิดว่าอย่างนั้นๆ ซึ่งล้วนแต่ผิดๆทั้งนั้น
ถ้าเขาจะบังคับให้ตอบโดยถามว่า ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด เราก็บอกว่าอย่าเพิ่งตอบ รอไว้ก่อน มาพูดเรื่องที่จำเป็นกว่า ตายแล้วจะเกิดหรือไม่เกิดนั้นไม่ใช่ปัญหารีบด่วน ไม่ใช่ปัญหาจำเป็น ปัญหาจำเป็นอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ว่า เราจะต้องทำอะไร หรืออย่างน้อยเราจะต้องรู้จักเสียก่อนว่าที่เรากำลังเป็นอยู่ที่นี่มันคืออะไร พอศึกษารู้ตัวพุทธศาสนาว่าที่อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้คืออะไร มันก็รู้ว่าไม่ใช่มีตัวตน ไม่ใช่เป็นตัวตน มันก็เลยไม่มีตายแล้วไปเกิดใหม่ ปัญหาว่าตายแล้วเกิดอีกหรือไม่เกิดอีก มันก็หายไปเอง โดยไม่ต้องตอบเขาก็ไม่ถามอีก ก็เห็นกันแล้วที่อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ก็ไม่ใช่คน กฎอันนี้ก็เรียกว่า “อิทัปปัจจยตา” เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี มีแต่สิ่งสิ่งที่เรียกอย่างนี้ นั่นแหละคือไม่ใช่คน
ทีนี้ คุณก็สอนกันในโรงเรียน สอนมหาสติปัฏฐานเพื่อให้พิจารณาไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน เรา เขา ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็โง่กันทั้งครูทั้งศิษย์ เพราะมันไม่รู้ว่าอะไร ที่ว่าไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน เรา เขา มันสอนกันอยู่อย่างนั้นตั้งแต่แรกเรียนกันมา ไม่มีใครเอ่ยถึงคำว่า “อิทัปปัจจยตา” ทั้งที่พูดเรื่องอิทัปปัจจยตา เมื่อไหร่พูดว่าไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หรือว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ให้รู้เถิดว่าเมื่อนั้นเขาพูดสิ่งนี้ สิ่งที่เรากำลังเรียกอยู่เดี๋ยวนี้ว่าอิทัปปัจจยตา เพราะคำนี้ไม่ใช่ตั้งเอาเอง ไม่ใช่เถื่อน มีอยู่ในพระไตรปิฎก เป็นพุทธภาษิตมากมาย ไม่รู้กี่ ๑๐ แห่ง กี่ ๑๐๐ แห่ง ถ้าตรงไหนพูดเรื่อง “ปฏิจจสมุปบาท” ตรงนั้นจะมีคำนี้ “อิทัปปัจจยา” “อิทัปปัจจยตา” ในสังยุตตยิกายตอนที่ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาทจะเต็มไปแต่ด้วยคำนี้ และมีทั่วๆไปในพระไตรปิฎก และก็น่าประหลาดที่สุดไม่มีใครเอามาพูด พูดแต่ว่าสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา และไม่ใช่ สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา พูดแต่เท่านั้น แล้วก็ไม่รู้ว่านั่นแหละคือคำนี้ แต่พระพุทธเจ้าต้องพูดมาก คือเอ่ยถึงคำนี้มาก ไม่รู้เสียว่านี่แหละคือหัวใจของพุทธศาสนา เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึง มีเท่านั้น เพราะมันแปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้ มันจะเรียกว่ามีก็ไม่ได้ จะเรียกว่าไม่มีก็ได้ ก็ไม่ได้ จึงต้องพูดว่าถ้าสิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยมี สิ่งนั้นมันเกิดขึ้นอย่างนี้กันเรื่อยไป ดังนั้น ในชาติอดีตหนหลัง กี่ ๑๐๐ ชาติ ๑,๐๐๐ ชาติมันก็อย่างนั้น ชาติปัจจุบันนี้มันก็อย่างนี้ อย่างที่ว่านี้ ชาติข้างหน้าถ้าจะมีอีก ถ้าจะมีกันอีกมันก็อย่างนี้อีก มันก็คืออิทัปปัจจยตาเรื่อยไปจนกว่าจะนิพพาน
ถ้าจะไปเรียกกันอย่างสมมติอย่างชาวบ้านว่า ตายแล้วไปเกิดก็ได้เหมือนกัน นั่นสำหรับพูดกันอย่างศีลธรรม ไม่ใช่พูดอย่างสัจธรรมหรือปรมัตถธรรม เรื่องศีลธรรมเป็นเรื่องของสังคมจำเป็นในหมู่มนุษย์ที่อยู่กันเป็นสังคมให้ยึดมั่นถือมั่นเรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องตัว เรื่องตน ให้ยึดมั่นเรื่องตัวตน ก็ต้องพูดว่าเป็นคนเสียก่อน เป็นผู้ได้ ผู้เสีย ผู้ตาย ผู้เกิดในเรื่องศีลธรรม จำเป็น แต่ถ้าเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องบอกความจริงกันแล้วก็คือไม่มี ที่จะเรียกได้ว่าบุคคล หรือบุคคลตายแล้วไปเกิดอีก ไม่มีพูด ถามมาเท่าไหร่กี่คำถามก็ตอบ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ถ้าพูดเป็นก็ดีคือถูกหัวใจของพุทธศาสนา
ทีนี้ก็จะมีปัญหาว่า คนจะไม่มีศีลธรรมเพราะถือลัทธิอย่างนี้ นี่ผมว่ามันยิ่งโง่ที่สุด มันหลับตาพูด บางคนก็พูดว่าถ้าเอาเรื่องอนัตตา เรื่องสุญญตามาสอนแล้วคนก็จะไม่ทำอะไรให้บ้านเมืองเจริญ นี่มันบ้า มันหลับตาพูด เพราะว่าอนัตตา สุญญตา ไม่ใช่อุจเฉททิฏฐิ หมายถึงสุญญตา อนัตตาในพุทธศาสนานะ สุญญตา อนัตตานอกพุทธศาสนาก็มีนั่นมันบ้าเตลิดเปิดเปิงไปจริงเหมือนกัน เป็นอุจเฉททิฏฐิ ไม่มีอะไรเอาเสียเลย ส่วนสุญญตา อนัตตา ในพุทธศาสนานี้ไม่ใช่อุจเฉททิฏฐิ ไม่ใช่นัตถิกทิฏฐิ ใน นาทีที่ 17:51 สุญญตา อนัตตาในพุทธศาสนาก็ยังเป็นอิทัปปัจจยตาอยู่นั่นแหละ เพราะมันเป็นอิทัปปัจจยตาคือเป็นแต่เพียงเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เราจึงเรียกว่า “อนัตตา” อนัตตาแปลว่าไม่ใช่ตน เพราะมีอาการไม่ใช่ตนอย่างนั้นแหละจึงเรียกว่า “สุญญตา” แปลว่าว่าง ว่างก็คือว่างจากสภาวะที่ควรจะเรียกว่าตน
ทีนี้มองให้เห็นเสียทีว่า สุญญตาก็ดี อนัตตาก็ดี โดยเฉพาะในพุทธศาสนานี้ ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลย ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลย เหมือนลัทธินัตถิกทิฏฐิ หรือว่าตายแล้วก็สูญกันเหมือนอุจเฉททิฏฐิ มันเป็นของที่มีอยู่อย่างหนึ่งแต่ไม่ใช่ตัวตน เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี มีเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี นั่งดูกันอยู่นั่น ไม่มีโอกาสที่จะเรียกส่วนไหนว่าเป็นตัวตน เป็นเพียงกระแสไออันหนึ่ง ซึ่งจะไหลไปโดยการปรุงแต่ง สิ่งนี้ปรุงแต่งสิ่งนี้ แล้วสิ่งนั้นก็ปรุงแต่สิ่งนู้นต่อไป สิ่งนู้นก็ปรุงแต่งสิ่งนู้นต่อไป เราจึงมีลมหายใจอยู่ เราจึงมีคิดนึกได้ เราจึงเหมือนกับเรายังนั่งอยู่ที่นี่ เป็นขณะ ขณะ ขณะ ขณะของอิทัปปัจจยตา ดังนั้น จะเห็นได้ทันทีว่า พุทธศาสนานั้นมิได้ยืนยันว่ามีอยู่อย่างเป็นตัวเป็นตน และก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีอะไรเลย ดังนั้น จึงอยู่ตรงกลางระหว่าง “มี” กับ “ไม่มี” คืออิทัปปัจจยตา ถ้ามีก็คือมีเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ถ้าไม่มีก็คือไม่มีตัวตน เพราะสิ่งที่มีลักษณะอย่างนี้จะเรียกว่าตัวตนไม่ได้ พระพุทธศาสนาจึงมีหลักว่า เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ห้ามไม่ให้พูดว่ามีโดยส่วนเดียว หรือไม่มีโดยส่วนเดียว เป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าใครจะสอนเรื่อง ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ระวังให้ดี อย่าให้ว่างจนเป็นมิจฉาทิฏฐิ ให้มันเป็นอิทัปปัจจยตาเรื่อยไป
นี่ผมจะเอาคำคำนี้มาทำให้มัน Popular แพร่หลายที่สุด คือมันเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ซึ่งไม่มีใครเอามาใช้ เอามาเรียก เอามาพูด แล้วก็เห็นอยู่แล้วว่า สิ่งใดที่เป็นหัวใจสิ่งนั้นไม่ค่อยมีใครรู้จัก เพราะหัวใจมันอยู่ลึกกว่าอะไรหมด แต่นี่จะเอามาพูด ที่พูดว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีอะไรเลย มันมีแต่กระแสแห่งความปรุงแต่ง เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี
เรื่องอริยสัจซึ่งเป็นหัวใจของพุทธศาสนาก็เหมือนกัน ถ้าใครรู้จักเรื่องอริยสัจจะเห็นว่าเรื่องอริยสัจมันแสดงว่า เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ถ้าสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้ไม่มี ถ้ามีตัณหาที่เป็นสมุทัย ความทุกข์ก็มี ถ้าไม่มีตัณหาที่เป็นสมุทัย ความทุกข์ก็ไม่มี ดังนั้นเรื่องอริยสัจ ๔ ก็คือเรื่องอิทัปปัจจยตา ฝ่ายสมุทยวาร เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ฝ่ายนิโรธวาร เพราะสิ่งนี้ดับสิ่งนี้จึงดับ แล้วขยายออกไปให้ละเอียดก็เป็นปฎิจจสมุปบาท เพราะอวิชามีสังขารจึงมี สังขารมีวิญญาณจึงมี วิญญาณมีนามรูปจึงมี เพราะนามรูปมีอายตนะจึงมี อายตนะมีผัสสะจึงมี เพราะผัสสะมีเวทนาจึงมี เวทนามีตัณหาจึงมี เพราะตัณหามีอุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานมีภพจึงมี เพราะภพมีชาติจึงมี เพราะชาติมีชรามรณะจึงมี ความทุกข์ทั้งหลายมี นี่คือตัวอิทัปปัจจยตา ถ้าขยายออกเต็มที่ เป็นปฏิจจสมุปบาท ๑๑ ตอน
ถ้าพูดถึงอิทัปปัจจยตาก็เล็งถึงฏิจจสมุปบาทโดยตรง แจกไว้ละเอียด นอกนั้นที่กล่าวไว้โดยย่อก็ไม่พ้นจากความเป็นอย่างนี้ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอคือว่ามีแต่อย่างนี้ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมีไปเรื่อยๆ ก็เป็นทุกข์ก็เพราะเหตุนี้ เพราะมันก็ไม่อยู่ในอำนาจที่ว่าเราเอาอย่างนี้เราหยุดไว้อย่างนี้ เราไม่ต้องการให้เปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น มันก็ไม่ได้ มันเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น มันจึงทำความทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้ที่เข้าไปยึดถือว่าต้องเป็นอย่างนี้ อย่าเป็นอย่างอื่น ให้รู้ลึกจนถึงกับว่ามองไปทางไหนก็ให้เห็นสิ่งนี้ แม้ที่เป็นวัตถุธรรม เช่น ดิน หิน ต้นไม้ ต้นไร่ ในนั้นมีความเป็นอย่างนั้นแสดงอยู่ แต่เราไม่เห็นเพราะเรายังไม่ได้ดูให้ดี หรือว่าเราไม่ได้ดูเสียเลย หรือว่าเพราะเรามันโง่ ดูเท่าไหร่มันก็ดูไม่เห็น สิ่งที่มีชีวิตยิ่งเห็นได้ง่ายมันเปลี่ยนแปลง ถี่เร็วมาก เห็นได้ง่าย สิ่งที่ไม่มีชีวิตมันก็มีอยู่ในกฎเกณฑ์อันเดียวกัน เพราะอันนี้มีอันนี้มันจึงมี ทำไมโลกนี้มันมีอยู่ในสภาพอย่างนี้ก็เพราะว่ามันมีอะไรๆที่ทำให้อยู่ในสภาพอย่างนี้ทยอยกันอยู่เรื่อย มีน้ำบ้าง มีความร้อนบ้าง มีลมบ้าง มีอะไรบ้าง มันมีปัจจัยของสิ่งนั้นๆอยู่ นี่ก็กฎเกณฑ์เดียวกันทั้งสิ่งที่ไม่มีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตและสิ่งที่ฉลาดที่สุดอย่างมนุษย์นี้ เขาก็เลยไปถึงว่ารูปธรรมก็ดี นามธรรมก็ดีอยู่ในกฎเกณฑ์อันนี้ ถ้าได้เห็นแล้วก็จะไม่คิดว่าอะไรเป็นตัวตน สิ่งที่เรียกว่า “จิต” คือสิ่งที่มันคิดนึก รู้สึก อะไรได้อย่างประหลาดมหัศจรรย์นั้น นั่นก็ไม่ใช่ตัวตน ก็เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี มันสูงขึ้น มันประณีตขึ้น มันก็มีนามธรรมชนิดที่เรียกว่าจิต ชนิดที่รู้สึกคิดนึกได้ อะไรๆได้ ดังนั้น ความรู้สึกของจิตก็อยู่ในกฎเกณฑ์อันเดียวกัน ตัวจิตเองก็ดี ความรู้สึกของจิตก็ดี เป็นอิทัปปัจจยตาหมด ต่อเมื่อสิ้นสุดแห่งสิ่งนี้เท่านั้นจึงจะเป็นนิพพาน คือสิ้นสุดแห่งอิทัปปัจยตาโดยสิ้นเชิงจึงจะเรียกว่า “นิพพาน” ดังนั้น จึงต้องมีว่าเพราะสิ่งนี้ดับสิ่งนี้จึงดับ เพราะสิ่งนี้ดับสิ่งนี้จึงดับ ให้ดับหมดจึงจะเป็นนิพพาน
นี่คือตัวพุทธศาสนา ควรจะรู้กันไว้ในทุกแง่ทุกมุม ในมุมแรกที่ว่าเป็นศีลธรรม ก็ขอให้มองกันในแง่ว่าถ้าคนมันรู้เรื่องนี้จริงว่าเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมีนะ มันก็คงไม่ได้ทำให้ขี้เกียจหรือให้หยุดไม่ทำอะไรเลย มันก็ยิ่งทำให้เร็วทำเร็วๆขยันให้ทันกับเวลา เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เวลามันจำกัดทำเร็วๆ ทำให้ทัน แม้ในส่วนศีลธรรมมันก็ไม่เสีย ดีกว่าไปหลอกให้เขาโง่ในรูปมีตัวตนแล้วเห็นแก่ตน เห็นแก่ตนแล้วเบียดเบียนผู้อื่น เดี๋ยวนี้ทั้งโลกมีปัญหาแต่เรื่องเบียดเบียนผู้อื่นเพราะเห็นแก่ตน อาชญากรรมทั้งหลาย สงครามเป็นที่สุด เรื่องเห็นแก่ตนทั้งนั้น ถ้ามีปรัชญาหรือมีอะไรก็ตามใจมาทำลายตัวตนเสีย มันก็จะทำให้คนมีสันติภาพง่ายขึ้น พุทธศาสนามุ่งหมายอย่างนี้ มุ่งหมายไม่ให้เห็นแก่ตน ไม่มีทางที่จะเห็นแก่ตน และตัวเองนั้นก็จะไม่มีทุกข์ และสังคมก็จะมีสันติภาพ คือทั้งสองฝ่ายไม่ใช่เห็นแก่ตัวผู้เดียว ดังนั้น คนโง่ คนบ้า คนหลับตาพูด มันพูดว่าพุทธศาสนาในส่วนปรมัตถ์นั้นเป็นเรื่องแหวกช่องน้อยเอาแต่ตัวเองผู้เดียว อย่าไปเชื่อมัน บางคนไม่รู้มันก็พูดไปตามความโง่ จะไม่มีอะไรเป็นผู้เดียวได้ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี นั้นจะเนื่องถึงกันไปหมด การกระทำของคนหนึ่งมันก็เนื่องถึงอีกคนหนึ่ง เราทำอะไรลงไปในโลกนี้ มันก็มีผลแก่ทุกคนในโลกนี้ จึงควรจะถือว่าไม่มีพุทธศาสนา ๒ อย่าง ๓ อย่าง มันมีแต่อย่างนี้ทั้งนั้น แต่ถ้าจะต้องสอนแก่คนโง่ มันจึงต้องพูดอีกอย่างหนึ่ง
พระพุทธเจ้าเองก็ต้องตรัสด้วยภาษา ๒ ภาษา ๒ ชนิด ภาษาสำหรับพูดแก่คนโง่ท่านก็ตรัสภาษาหนึ่งอย่างหนึ่งระบบหนึ่ง ว่ามีตัวมีตนนะ รีบทำบุญให้ทานนะ ตายแล้วจะไม่ตกนรก จะไปสวรรค์นะ นั่นเป็นภาษาของคนมีตัวตน ที่เพราะมันมีแน่นแฟ้นอยู่แล้วไปแก้เขาไม่ได้ ไปแกะเขาไม่ออก ก็ต้องผสมรอยผสมโรงว่าอย่างนั้นแหละถูกแล้ว ให้มันทำจนร่ำรวย จนอิ่ม จนไม่รู้จะอิ่มอย่างไรแล้ว จึงจะบอกว่าดูสิมันเป็นอย่างไรบ้าง ความเอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนัง ความมั่งมีศรีสุข มันเป็นอย่างไรบ้าง ทีนี้มันก็จะเห็นอันที่ ๒ ที่ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตน ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น และถ้าคนมันไม่โง่นัก พระพุทธเจ้าก็จะพูดด้วยภาษาที่ ๒ ไปเลย ภาษาที่ว่าไม่มีอะไรนอกจากอิทัปปัจจยตา เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ให้คนเป็นพระอรหันต์ไปเลยที่ตรงที่นั้น ที่ตรงที่นั้นที่คุยกันไม่กี่คำนั้น เขาก็เป็นพระอรหันต์ได้เพราะเขาเข้าใจเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าจึงพูดภาษานี้กับคนชนิดนี้ พูดภาษาสัสสตทิฏฐิไปพลางก่อนแก่บุคคลที่ยังโง่มาก เพราะว่าจะทำอย่างไรเสียเขาก็ไม่เข้าใจได้เรื่องอิทัปปัจจยตา เรื่องอริยสัจ ก็ต้องพูดเรื่องศีลธรรม เรื่องสัมมาทิฏฐิชนิดโลกๆ นั้นมี นี้มี นู้นมี ให้ทำอย่างนั้นจะได้สิ่งนี้ ส่วนใหญ่ก็ถือกันอยู่แต่ในส่วนนี้ แต่หวังได้ว่าในที่สุดเมื่อมันอิ่มตัวเข้ามันก็จะเลื่อนชั้นขึ้นไปได้เอง
ทีนี้เรายังหวังได้ไกลไปถึงว่า พวกที่จะต้องอยู่ในโลกอย่างโง่ๆไปก่อนจะต้องทำมาหากิน ต้องยึดมั่นถือมั่นนี่ ถ้าเขาทำอะไรผิด ผิดพลาด ผิดหวังนั่งร้องไห้อยู่ จะต้องแก้ได้อย่างไร คนโง่เหล่านั้น เมื่อมันทำผิดมันนั่งร้องไห้อยู่จะไปแก้ความรู้สึกอันนี้ได้อย่างไร มันก็ต้องเรื่องอิทัปปัจจยตาอีก มาสอนเท่าที่มันจะเข้าใจได้ มันไม่ต้องกระโดดตึกตาย ไม่ต้องกินยาตาย มันไม่ต้องทำอะไรอยู่ในโลกนี้ แต่เดี๋ยวนี้เมื่อมันสบายดีอยู่ หรือว่าตอนแรกตั้งต้น มันไม่รู้ มันยังเป็นเด็กเกินไป มันก็มุ่งมาดปรารถนาสิ่งเอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนัง ก็เหมือนกับสัตว์เดรัจฉานไม่รู้เรื่องอะไร รู้แต่เรื่องว่าเอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนัง เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ไม่ได้รู้ว่าเกิดมาโดยแท้จริงนั้นเพื่ออะไร คนที่ยังเป็นเด็กเป็นหนุ่มเป็นสาวเป็นอะไรมันก็ต้องไปอย่างนี้ไปก่อน ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม มันก็ต้องเพื่อเอร็ดอร่อยทางความรู้สึก จึงขวนขวายศึกษาเล่าเรียนอะไรต่างๆมาเพื่อให้ได้สิ่งนี้ พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า “ผัสสะ” พวกคริสเตียน เขาเรียกว่าเนื้อหนัง Flesh แปลว่าเนื้อหนัง หมายถึงความเอร็ดอร่อยที่จะรู้สึกได้ทางเนื้อหนัง ปุถุชนก็บูชาสิ่งนี้แทนพระเจ้า แต่ในพุทธศาสนาไม่ได้ใช้คำนี้ทีเดียว เขาจะใช้คำว่า “กามารมณ์” แต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านชอบใช้คำว่าผัสสะ ถือว่าผัสสะเป็นต้นเหตุของทั้งหมด เพราะว่าเราพูดสูงเลยไปกว่าเรื่องทางเนื้อทางหนัง เราพูดเลยถึงเรื่องทางวิญญาณด้วย พูดแต่ว่าเรื่องเนื้อหนังทางเดียวมันไม่พอ ก็เลยเรียกว่าผัสสะ
“ผัสสะ” คือการกระทบระหว่างของ ๒ ฝ่าย คือจิตกับอารมณ์ที่มากระทบจิตเรียกว่า ผัสสะ ถ้าเป็นเรื่องชั้นต่ำ จิตนี่ ทางจิต จิตโดยผ่านทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มันกระทบกันกับรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส ประเภทกามารมณ์ นี่เรียกว่าผัสสะประเภทนี้ ผัสสะประเภทเพื่อกามตัณหา ความอยากที่เป็นไปในทางกาม ถ้าลงกันว่าเนื้อหนังก็พวกคริสเตียน ทีนี้เราไม่ได้มีแต่เรื่องเดี๋ยวนี้ เราเลื่อนสูงไปถึงเรื่องไม่เกี่ยวกับกาม คือผัสสะชนิดที่ไม่เกี่ยวกับประเภทกาม ก็เพื่อภวตัณหา ทีนี้มันจะเป็นไปเพื่อยกหู ชูหาง ไม่ใช่เพื่อกามอารมณ์ทางเนื้อหนัง แต่เป็นความเอร็ดอร่อยทางที่เราใช้คำหยาบๆว่ายกหูชูหาง เช่น เป็นครู พอลูกศิษย์บอกทำไมครูสอนเก่ง นั่นแหละระวังให้ดีนะ นั่นแหละคือผัสสะ ส่วนที่เลยกามตัณหาขึ้นไปมันเป็นผัสสะระหว่างจิตกับธรรมารมณ์ แม้ว่ามันจะเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูกก็ได้ แต่ว่าเนื้อแท้มันเป็นธรรมารมณ์ รู้สึกได้ด้วยจิต ว่าเขายกยอ สรรเสริญเรา ดูนักเขียนหนังสือพิมพ์บางคน ยกหูชูหางอยู่เรื่อย มันอาศัยผัสสะชนิดนี้ ส่วนหนึ่งด้วยไม่ใช่เรื่องกามารมณ์ ก็ใครยกย่องสรรเสริญ มันก็ยกหูชูหางแล้วก็สบายที่สุด เขาเรียกผัสสะเพื่อภวตัณหา
อันที่ ๑ เพื่อกามตัณหา อันที่ ๒ เพื่อภวตัณหา นี่เราก็ไปไกลกว่าพวกนู้นแล้ว ทีนี้ยังมีอันที่ ๓ วิภวตัณหา ยิ่งไปไกลใหญ่ มันจะเบื่อทั้งกามารมณ์ เบื่อทั้งเป็นนั่นเป็นนี่ ทีนี้มันต้องการจะตาย อยากจะไม่มี ไม่เป็น แล้วมันเลยเถิดไปเสีย ทั้งหมดนี้เพราะมันไม่รู้เรื่องอิทัปปัจจยตาทั้งนั้น มันมีภวตัณหาจะทำให้กระโดดตึกตาย เพราะผัสสะที่มันผิดไปทางหนึ่ง ก็เลยภวตัณหาไป แต่ให้สังเกตดูให้ดีทุกๆกรณี ทุกๆชั้น มันจะเนื่องอยู่กับผัสสะ การกระทบระหว่างจิตกับสิ่งที่อยู่นอกจิต ถ้าชั้นกามาวจร เรียกไพเราะว่า “กามาวจรภูมิ” มันเป็นเรื่องเพศ เรื่องหญิงเรื่องชาย เรื่องเพศเรื่องกามารมณ์ ถ้ามันสูงขึ้นไปเป็นเรื่อง “รูปาวจรภูมิ” มันก็เรื่องเป็นนั่นเป็นนี่ ชนิดที่มีรูปมีร่าง แต่ไม่เกี่ยวกับกาม ถ้าสูงขึ้นไปอีกกลายเป็นไม่มีรูปไม่มีร่าง มันจะสลายตัว มันเป็นเรื่องผิดทั้งนั้น มีอยู่ก็ผิด ไม่มีอยู่ก็ผิด อยู่อย่างบ้าๆก็ผิด อยู่อย่างบ้ากามารมณ์ก็ผิด อยู่อย่างไม่ต้องบ้ากามารมณ์มันก็ผิด ไม่อยากอยู่อยากตายไปเลยมันก็ผิด เพราะว่าทั้ง ๓ พวกนี้ไม่รู้เรื่องอิทัปปัจจยตา สิ่งนี้มันมีและสิ่งนี้มันต้องมี และสิ่งนี้มันต้องมี ตรงตามกฎของมัน แล้วแต่ว่ามันจะเป็นชั้นไหน มันจะเป็นชั้นไหนก็แล้วแต่ มันมีกฎแต่เพียงอย่างเดียวเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
ดังนั้น เมื่อเรารู้เรื่องนี้ เรื่องอิทัปปัจจยตา มันจะหยุดจะได้หมดทั้งกามตัณหา ทั้งภวตัณหา ทั้งวิภวตัณหา เพราะมันเป็นแต่อิทัปปัจจยตา จะไปรักมันได้อย่างไร จะไปหลงมันได้อย่างไร จะได้ไปเกลียดไปโกรธไปกลัว มันไม่ได้ทั้งนั้น มันขจัดได้หมด เรื่องหลงทางกามารมณ์นี้ก็เป็นกามตัณหา แล้วก็เป็นเหตุให้มีเรื่องโกรธเรื่องกลัว เรื่องอะไรต่อไปอีก เมื่อเรามีความทุกข์อยู่ด้วย ความรู้สึกเหล่านี้ ที่เป็นผลมาจากการไม่รู้อิทัปปัจจยตานั้น หลงใหลในความเอร็ดอร่อย ทางเนื้อทางหนัง ในความมั่งมี ในอำนาจวาสนา แต่ข้างในเป็นนั่นเป็นนี่ จนกระทั่งบ้าเข้ามาก็ไม่รู้จะเป็นอะไรก็ฆ่าตัวตาย นี่จุดจบจุดสูงสุดของความเข้าใจผิด นี่ถ้ารู้ตัวพุทธศาสนาหรือหัวใจพุทธศาสนาจะไม่เกิดอาการอย่างนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา เป็นปุถุชนธรรมดา แสวงหากาม บริโภคกาม มีลูกมีเมีย มีครอบครัวมีอยู่ มันก็รู้จักความพอดีได้ ไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่ต้องเป็นทุกข์มาก หรือว่าเกิดอะไรผิดพลาดขึ้นมาก็ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องร้องไห้ ไม่ต้องพูดถึงฆ่าตัวตายหรอก มันไม่เสียใจ มันไม่ร้องไห้ก็พอ เพราะมันรู้กฎเกณฑ์เรื่องนี้ เรื่องอิทัปปัจจยตา
นั่นแหละคือตัวพุทธศาสนา จะช่วยให้คนมีความสุขความเจริญตั้งแต่ระดับแรกไปทีเดียว และจะแก้ปัญหา เรื่องความผิดพลาด ความเสียใจ ความอะไรที่มันจะเกิดขึ้น และมันจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น มันจะส่งเสริมสูงขึ้นไป สูงขึ้นไปจนพ้นจากระดับโลก ถึงระดับโลกุตระคือมีจิตใจอยู่เหนือสิ่งทั้งปวง ความมีอยู่ หรือไม่มีอยู่ หรือความเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งปวงนั้นไม่ทำให้บุคคลนี้เป็นทุกข์ได้ เดือดร้อนได้ อะไรได้ คือไม่มีอยู่ ไม่มีตาย ไม่มีได้ ไม่มีเสีย ไม่มีแพ้ ไม่มีชนะ ไม่มีอะไรอย่างที่เคยพูดๆกันมาก่อน คำพูดที่เป็นคู่ จะมีกี่ ๑๐ คู่กี่ ๑๐๐ คู่กี่ ๑,๐๐๐ คู่ล้วนแต่ทำให้เป็นทุกข์ทั้งนั้น ทีนี้มันไม่มีกับบุคคลที่รู้เรื่องอิทัปปัจจยตา จะไม่มีความรู้สึกที่ทำให้เป็นทุกข์ ด้วยความรู้สึกที่เป็นคู่ ความมั่งมี ความยากจน ความได้ ความเสีย ความแพ้ ความชนะ เราเห็นเป็นเด็กเล่นไปหมด แต่มารู้จักธรรมชนิดที่ว่าจะอยู่ด้วยความเป็นผาสุกได้อย่างไร ก็ทำสิ่งเหล่านี้ไปตามที่มันเป็นหน้าที่ ที่สิ่งที่มีชีวิตมันจะต้องทำ แล้วมันอยู่แค่สติปัญญาแค่อะไรของร่างกาย ไม่มีตัวตน ไม่มีตัวกู ไม่มีความรู้สึกเพื่อตัวกูของกู เพราะลำพังร่างกายรวมเข้ากับจิตใจ มันมีอะไรรู้และทำอะไรได้อยู่ในตัวมันเอง แล้วมันก็ทำไปตามเรื่องของมัน ทีนี้มันก็มีจิตใจดี ไม่โง่มันก็ทำถูกมากกว่าทำผิด ผิดไปบ้างก็ไม่เป็นทุกข์ ได้มาก็ไม่ดีใจอะไร แต่แล้วด้วยเหตุที่จิตใจเป็นอิสระนี่มันทำถูกเรื่อย เพราะนั้นมันทำจนขี้เกียจจะทำ คือว่ารวยจนขี้เกียจจะรวยก็ได้ มียศศักดิ์อำนาจวาสนา จนขี้เกียจจะมี เมื่อเห็นมันเป็นเรื่องบ้าเปล่าๆก็ไม่ทำ ส่วนตัวเขาก็ไม่มีความทุกข์ และก็ไม่ทำให้บุคคลอื่นพลอยมีความทุกข์
ที่พูดนี้ต้องการจะให้ทุกคนเข้าใจว่า พุทธศาสนามีเพียงคำเดียวนี้และใช้ได้ในทุกกรณี ไม่ว่าเรื่องไหน ไม่ว่าเรื่องของเด็ก หรือเรื่องของผู้ใหญ่ ส่วนเรื่องที่ยึดมั่นตัวตนเขายึดอยู่ก่อนแล้ว อย่ามาโทษพุทธศาสนาไม่ได้ เพราะเขาเกิดมาจากท้องแม่เขา ก็เริ่มยึดมั่นเป็น ถือมั่นเป็นมาแล้ว เป็นตัวกูของกู เป็นมาเรื่อยๆ พุทธศาสนามีหน้าที่เพียงแต่ช่วยแก้ไขความทุกข์ แล้วจึงดูว่าเขาจะรับเอาได้เพียงไร แต่ถ้ายังรับเอาส่วนแท้จริงไม่ไหว ก็ต้องเอาส่วนขนมหวานนั้นไปก่อน ให้ทำดีได้ดี ทำดีได้ดี ตอนนี้ก็ถมไปเลย ทำดีได้ดี อย่าเบียดเบียนใคร แล้วก็อย่าเบียดเบียนตัวเองด้วย ก็มีหลักอย่างนั้น ที่ว่าทำดีต้องไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ทีนี้ทำไปเรื่อยๆทำไปเรื่อยๆมันก็จะเลื่อนชั้นขึ้นไปเอง เพียงแต่ไม่เบียดเบียนใครนั้นยังมีปัญหาเกี่ยวกับความรัก ความเมตตา ความสงสาร ความอะไรอีก ไม่ใช่ว่าเราไม่เบียดเบียนใครแล้วมันจนหมดเรื่อง มันยังมีเบียดเบียนตัวเองเพราะว่า มันยึดมั่นถือมั่น มันรักพ่อ รักแม่รักลูก รักเมีย รักเงิน รักของ แล้วบางทีมันก็ยังรักลมๆแร้งๆอะไรอื่นอีกหลายๆระดับ มันก็เป็นทุกข์เพราะเหตุนั้น เราจึงต้องเลื่อนมาที่จะไม่เป็นทุกข์เพราะเหตุนี้ มันจึงว่าอยู่เหนือสิ่งทั้งปวง เป็นบุคคลชั้นที่ไม่ใช่ปุถุชนแหละทีนี้ ปุถุชนคือตามแปรปล่อยไปตามธรรมดาว่าเป็นพระอริยเจ้าเป็นชั้นที่ดีกว่าปุถุชน มีความทุกข์น้อยกว่า มีจิตใจสะอาดสว่างสงบยิ่งกว่า จนกว่าจะถึงที่สุด เมื่อมันยังเป็นเด็กอยู่มันก็ต้องล้มลุกคลุกคลานไปอย่างนี้ หลายครั้งหลายหนเข้า มันก็หลาบมันก็จำ ถ้ามันโง่เกินไปมันก็ตายเปล่า แต่ถ้ามันปกติ ระดับปกติ มันก็จะรู้จักหลาบ รู้จักจำ รู้จักสละออกไปทุกครั้งๆๆ ก็เลื่อนชั้นขึ้นมาได้
เดี๋ยวนี้โลกมันกำลังเป็นบ้าในเรื่องเนื้อหนัง เพราะฉะนั้นมันจึงไม่สอนศาสนา ไม่สอนวัฒนธรรมที่เนื่องด้วยศาสนา ศาสนาคริสต์พระเจ้าตายแล้ว ฝรั่งไม่มีศาสนาไม่มีพระเจ้า ทีนี้คนไทยก็ไปตามก้นฝรั่งอย่างก้มหัวก้มหูทีเดียว ไปหลงรับวัฒนธรรมนี้มาจนเมืองไทยสกปรกเป็นเมืองฝรั่ง นี่ก็ดู ฝรั่งเริ่มนำหน้าก่อนในการที่จะให้ศาสนาออกไปเสียจากมนุษย์ เพราะไปหลงวัตถุ วัตถุที่จะสร้างความเอร็ดอร่อยทางอายตนะ แล้วก็ไปหลงนั่นเป็นพระเจ้า แต่นั่นก็ไม่พ้นไปจากกฎอิทัปปัจจยตา ที่ฝรั่งไปโลกพระจันทร์ได้ ก็ไม่พ้นไปจากกฎว่าอิทัปปัจจยตา แต่มันไปใช้ส่งเสริมความต้องการที่เป็นโมหะหรือว่าเป็นไม่รู้ทิศเหนือทิศใต้ ก็ทำวัตถุนิยมให้ท่วมโลกจนโลกเดือดร้อน พูดกันไม่รู้เรื่อง จะพูดกันอย่างไรก็ไม่รู้เรื่อง โลกก็ต้องเป็นอย่างนี้ไปสักยุคหนึ่งจนกว่ามันจะเข็ดจะหลาบ
เรื่องผิดก็อิทัปปัจจยตา เรื่องถูกก็อิทัปปัจจยตา เรื่องดับไม่เหลือเป็นนิพพานก็เป็นเรื่องอิทัปปัจจยตา ขอให้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จะมองในแง่สากลมันก็เป็นกฎของธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับศาสนาไหน จะมองในแง่ปรัชญามันก็ได้ จะมองในแง่วิทยาศาสตร์มันก็ได้ แต่พุทธศาสนาต้องการให้คนรู้และปฏิบัติ คืออย่ายึดถือ ถ้าจะเรียกว่าพุทธปรัชญาเป็นอย่างไร ก็ต้องพูดถึงข้อนี้ พุทธปรัชญาคืออิทัปปัจจยตา พูดถึงการปฏิบัติเป็นวิทยาศาสตร์ขึ้นมา จะต้องทำลงไปจริงๆก็ต้องทำอย่างนี้ ทำด้วยความรู้สึกว่าทุกอย่างมันเป็นอย่างนี้ อย่าไปทำให้ผิดกฎอันนี้ อย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราของเรา นั้นก็อยู่เป็นสุขสบายดี เป็นตัวศาสนาขึ้นมา นี่ก็เป็นแง่หนึ่งซึ่งจะทำให้มองเห็นว่าพุทธศาสนานั้นเป็นความจริงสากล อิทัปปัจจยตาเป็นกฎของสากลจักรวาล จักรวาลมันจะมีกี่ ๑๐๐ กี่ ๑๐,๐๐๐ กี่ ๑๐๐,๐๐๐ กี่ ๑,๐๐๐,๐๐๐ กี่โกฏิจักรวาลก็ตามแต่ จะต้องอยู่ใต้กฎนี้คำเดียวว่า อิทัปปัจจยตา
ทีนี้พุทธศาสนาเราไม่พูดมากอย่างนั้น พูดแต่ว่าคนคนหนึ่งมันจะเป็นทุกข์หรือว่าเป็นสุข ก็เพราะมันปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูกต่อกฎเกณฑ์อันนี้ นั้นถือว่านี่เป็นพุทธปรัชญา ที่คนต้องรอบรู้และเอาไปใช้ให้ถูกจังหวะ ถูกฐานะ ถูกระดับ ถูกเวลา ถูกอะไรต่างๆ ก็จะขจัดปัญหาเกี่ยวกับความทุกข์ได้ นี่คือเรื่องของอิทัปปัจจยตา จนไม่กล้าแปลออกมาเป็นภาษาไทย เดี๋ยวเขาจะว่าบ้า ใช้คำบาลีกันไปก่อนเถอะว่าอิทัปปัจจยตา ถ้าแปลออกมาก็ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ต้องว่าอย่างนี้ เขาก็ว่าบ้าดังนั้นไม่ต้องแปล เรียกทับศัพท์ภาษาบาลีว่าอิทัปปัจจยตา คือความที่มีปัจจัยนี้ แล้วก็เกิดสิ่งนี้ขึ้น ความที่มันมีปัจจัยอันนี้แล้วมันก็จะเกิดอันนี้ขึ้น ซึ่งเป็นผล
“อิทะ” แปลว่านี้ “ปัจจยะ” แปลว่าปัจจัย “ตา” แปลว่าความ ความที่ ความที่ปัจจัยนี้มีมันจึงมีผลอันนี้ขึ้นมา และอันนั้นกลายเป็นปัจจัยอีก เพราะความที่ปัจจัยนี้มีอันนี้มันจึงมีขึ้นมา อย่างนี้เรื่อยไปไม่มีจบ เรื่องดีเรื่องชั่วอยู่ที่นี่ เรื่องสุขเรื่องทุกข์เรื่องว่ายเวียนอยู่ที่นี่ อยู่ที่อิทัปปัจจยตานี้ ถ้าหมดเรื่องนี้ก็นิพพาน ที่นี้คือจะไม่พูดอะไรได้ จะต้องหุบปาก คือไม่มีอะไรเป็นตัววัตถุสำหรับให้พูด ก็จึงพูดว่านิพพานว่างอย่างยิ่ง ว่างจนไม่มีอะไรจะมาพูด จะถอนความยึดมั่นถือมั่น หรือว่าจะละกิเลสหรืออะไรทุกอย่างที่เป็นการปฏิบัติจะต้องรู้เรื่องนี้ ไม่ยึดมั่นสิ่งใดส่วนใด แม้แต่ส่วนน้อยว่าเป็นตัวเป็นตน ทั้งภายนอกทั้งภายใน ทั้งอดีตทั้งอนาคต ทั้งปัจจุบัน โดยไม่มีตัวตน ก็หมด
ทีนี้ก็เหลือแต่ว่าคุณไปฟังดู คุณฟังดูให้ดี เอาไปคิดดูให้ดี ว่านี่มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูหรือเปล่า เพราะเราได้ตกลงกันแล้ว่าพูดธรรมปาฏิโมกข์นี่ จะพูดกันกี่ปีกี่ชาติก็จะพูดแต่เรื่องตัวกูของกู นี่มันคือเรื่องตัวกูของกู เพราะไม่รู้เรื่องอิทัปปัจจยตาจึงเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกู ถ้ายังเป็นมีตัวกูของกูอยู่ก็แปลว่ายังไม่รู้จักอิทัปปัจจยตาในส่วนนั้นๆแล้วแต่มันส่วนไหน มันยังรู้น้อยเกินไป ก็เป็นอันว่าแม้เราจะพูดด้วยคำพูดอย่างอื่น อิทัปปัจจยตาหรืออะไรก็ตามใจ เป็นคำพูดอย่างอื่น แต่เนื้อแท้มันก็เป็นเรื่องตัวกูของกู หรือว่าอย่างดีก็ตรงกันข้ามคือไม่มีตัวกู ไม่มีของกู ก็เรียกว่าเป็นเรื่องที่ยังเกี่ยวกันอยู่กับตัวกูของกู ซึ่งผมก็ยืนยันรับประกันเลยว่ามันไม่มีเรื่องอะไรที่ควรศึกษาเล่าเรียนนอกจากเรื่องตัวกูของกู เรื่องที่มันเกี่ยวกับตัวกูของกู มันเป็นทุกข์ ละมันเสียให้ได้ก็ไม่ต้องมีทุกข์
จำคำนี้ไว้ แม้ว่าจะได้ยิน ยังแปลกหูอยู่ ยังแปลกหูอยู่ ก็จำไว้ไปดูเรื่อยๆไป นั่งดู นอนดู ยืนดู ไปบิณฑบาตก็เดินพิจารณาดูพลาง อิทัปปัจจยตาอย่างไร อะไรมันผลักมาให้มาบิณฑบาต อะไรมันดันมาให้มาบิณฑบาต เอาข้าวมาฉันมากินเรื่อยไปนั้นเป็นเรื่องอิทัปปัจจยตาเรื่องกิน เรื่องนุ่งเรื่องห่มก็เหมือนกัน เรื่องที่อยู่อาศัยนั่งนอนก็เหมือนกัน เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยก็เหมือนกันอีก ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับคนเราจริงๆมีสิ่งนี้เป็นหัวใจด้วย เป็นรากฐานด้วย เป็นยอดสุดด้วย เป็นกฎเกณฑ์
แล้วสรุปความว่าถ้าเขาถามเรา โดยเฉพาะชาวต่างชาติต่างศาสนา พุทธศาสนาสอนว่าอะไร มีอะไรเป็นหลัก มีอะไรเป็นหัวใจก็ต้องตอบให้ถูก คือเรื่องนี้หรือคำนี้ แต่แล้วเขาคงฟังไม่ถูกเพราะว่ามันต้องอธิบาย ก็ค่อยๆพูดกันไปดีกว่า อย่าไปพูดกันผิดเรื่อง เรื่องนรกเรื่องสวรรค์เรื่องอะไรนี้ อย่าไปพูดกันมาก เรื่องตายแล้วเกิดตายแล้วไม่เกิดนี้เป็นเรื่องพูดผิด ไม่ใช่พระพุทธศาสนาเอาไปพูดให้เป็นพุทธศาสนา ก็เป็นตู่พระพุทธเจ้า ระวังอย่าพูดอนัตตา สุญญตา จนไม่มีอะไรเสียเลย ให้มันมีอิทัปปัจจยตาอยู่ตรงกลาง ฝ่ายนี้อัตถิตาแปลว่าทั้งปวงมี ฝ่ายนี้นัตถิตาทั้งปวงไม่มี อยู่ตรงกลางเรียกว่าอิทัปปัจจยตา เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมีนี่คือพุทธศาสนา พูดในแบบปรัชญา ก็พูดกันแบบปรัชญา พูดกับแบบศาสนาก็พูดกันแบบศาสนา พูดกันแบบปฏิบัติ ก็ให้มันปฏิบัติได้ ให้มันได้ผล
ตัวพุทธศาสนาแท้ๆมันเป็นวิทยาศาสตร์ คือสิ่งที่เห็นอยู่แล้วปฏิบัติลงไปจนได้ผล นี้เขาเรียกเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์ที่ทางจิตใจเกินไป คนเขาไม่ถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์ เขาก็รู้จักวิทยาศาสตร์แต่ทางวัตถุ พุทธศาสนา ตัวพุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญา แต่ถ้าจะพูดให้เป็นปรัชญาก็พูดได้ คือพูดอย่างวิธีที่เป็นแต่เรื่องพูดหรือหลักสำหรับพูด นั้นไม่ใช่ตัวพุทธศาสนา มันเป็นส่วนประกอบ ตัวจริงมันคือการปฏิบัติลงไป เราเรียกว่าศาสนา ศาสนาจะไม่หมายแต่เพียงตัวพูดหรือตัวหลัก มันจะหมายถึงตัวการปฏิบัติลงไปตรงๆ ตัวเรื่องปริยัติเป็นเบื้องต้นเป็นส่วนประกอบแล้วก็ไม่มากมายอะไร ส่วนเรื่องปฏิเวธคือผลไม่ต้องพูดถึงก็ได้ มันก็ได้ผลเองปฏิบัติให้มันถูก ดังนั้น ตัวพุทธศาสนาอยู่ที่ตัวการปฏิบัติ ศาสนาอื่นเขาจะเป็นอย่างอื่นก็ตามใจ ศาสนาพุทธมันอยู่ที่ตัวการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของอันนี้ ของอิทัปปัจจยตา
เดี๋ยวนี้กำลังเถียงกันยุ่งกันหมด พุทธศาสนาเป็นอะไรกันแน่ เป็นศาสนาหรือไม่ ไม่ต้องไปเถียงกันให้ป่วยการ พุทธศาสนาก็ต้องเป็นศาสนา อย่างนั้นก็ไม่มีคำอื่นเรียกนอกจากคำว่า Religion มันต้องคำนั้น แต่เราไม่จำเป็นต้องไปเป็น Religion เหมือนพวกมีพระเจ้าหรืออะไรทำนองนั้น คำนี้เป็นคำกลางๆ ศาสนาไหนก็ได้ หมายถึงการปฏิบัติ ไม่ได้หมายถึงปรัชญาเพ้อเจ้อ เหมือนที่เขากำลังเรียนกันในโลกเวลานี้ ในตำราปรัชญานี้มากกว่าพระไตรปิฎกอีก พระไตรปิฎกก็มีส่วนที่เป็นปรัชญา คำพูดประเภทปรัชญา จะพูดกันในแง่ไหนก็ได้ อิทัปปัจจยตาก็เหมือนกัน จะพูดกันในแง่ไหนก็ได้ แง่เป็นปรัชญาก็ได้ แง่ศาสนาก็ได้ แง่อื่นนอกไปจากนี้อีกก็ได้ เอามาพูดเป็นศีลธรรมก็ได้ คนที่มีความรู้เรื่องนี้ดีก็จะมีศีลธรรมดี อย่าเข้าใจว่าจะทำให้คนขี้เกียจทำงานแล้วนอนเสีย เพราะไม่มีอะไรเป็นตัวตน ไม่มีอะไรเป็นของตน นั่นมันไม่ใช่พุทธศาสนา นั่นมันอนัตตาฝ่ายมิจฉาทิฏฐิ ฝ่ายนัตถิกทิฏฐิ อุจเฉททิฏฐิ พุทธศาสนามันยังยืนยันอยู่อย่างนี้ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ดังนั้นแกต้องรีบทำให้ตรงตามกฎอันนี้ ให้ได้ผลตามที่ประสงค์ พวกที่ว่าพุทธศาสนาสอนเรื่องสันโดษบ้าง สอนเรื่องอนัตตาบ้างเป็นภัยแก่ความเจริญของบ้านเมืองนี้ มันคนบ้าหลับตาพูด ให้เขาศึกษาเรื่องอิทัปปัจจยตาก็หมดปัญหา พอกันที