แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เรื่องธรรมปาฏิโมกข์เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ตัวกูของกู” ดังที่รู้กันอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องที่พูดนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูอีกตามเคยแม้จะไม่มากก็น้อย เนื่องจากวันนี้ดูจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่ว่าจะมีการฟังบรรยายสำหรับบางท่านที่จะต้องลาสิกขา ยังอยากจะรวบรัดพูดเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับตัวกูของกูนี้ เป็นการทบทวนด้วย เป็นการทำให้ง่ายสำหรับที่จะเข้าใจด้วย แล้วก็หรือว่าจะเอาไปพูดจาต่อไปด้วย
ผู้ที่เคยฟังเรื่องตัวกูของกูมาแล้วตลอดเวลานี้ ก็ลองนึกสรุปดูเองบ้างว่ามันเป็นเรื่องอะไร มันเป็นเรื่อง ถ้าสรุปให้สั้นที่สุดแล้วมันเป็นเรื่องอะไร ไม่ต้องมีใครบอกก็มองเห็นได้เองว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องการจะแสดงให้เห็นว่า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “คน” ตามความหมายที่คนเขารู้สึกกัน ความทุกข์หรือปัญหาต่างๆมันมาจากความรู้สึกว่าคนหรือตัวกูของกู นั่นแหละเป็นเหตุให้เห็นแก่ตัว แล้วมันเกิดกิเลสจากความเห็นแก่ตัว ถ้าไม่มีคนเสียอย่างเดียวมันก็ไม่รู้ว่าจะไปเห็นแก่ใคร มันก็ปล่อยไปตามเรื่องของธรรมชาติหรือเรื่องของสติปัญญา เดี๋ยวนี้มันมีความรู้สึกว่าคน มีความหมายเป็นตัวฉันเป็นของฉัน นี่เขาเรียกว่า “คน” หรือ “ตัวกูของกู” ก็ตามใจ แล้วแต่จะเรียกแต่ความหมายมันอันเดียวกันหมด พอมีความรู้สึกว่าคน มันก็ต้องมีความรู้สึกที่เห็นแก่ตน แม้อย่างน้อยมันก็เป็นความเห็นแก่ตน เพราะมันรู้สึกว่ามันมีอยู่ ทีนี้พออย่างมากมันก็เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลงรุนแรง
พระพุทธเจ้าท่านเห็นความจำเป็นข้อนี้จึงได้สอนพุทธศาสนา เรื่องไม่มีคน เช่น “เรื่องปฏิจจสมุปบาท” โดยเฉพาะนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดหรือทรงคุ้นเคยที่สุด อะไรที่สุดก็เรื่องปฏิจจสมุปบาท เรื่องปฏิจจสมุปบาทนั่นมันคือตัวศาสนา ซึ่งมันกระจายความรู้สึกต่างๆออกไปหมดเป็นไม่มีคน มีแต่ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะเหตุอย่างนี้ๆ มีความทุกข์ดับลงเพราะเหตุอย่างนี้ๆ ถึงกับสรุปได้เป็นคำสั้นๆ ๒ คำหรือ ๒ ประโยคซึ่งจะต้องจำไว้เป็นหลักเป็นบาลีเป็นพุทธภาษิตว่า เมื่อสิ่งนี้มี-สิ่งนี้ก็มี นี่ประโยคหนึ่ง เมื่อสิ่งนี้ดับ-สิ่งนี้ก็ดับ นี่อีกประโยคหนึ่งก็มีเท่านั้น พุทธศาสนามีเท่านั้น ถ้าเขาถามว่าพระพุทธศาสนาของท่านเป็นอย่างไร นี่ละคำตอบที่ถูกที่สุดว่า พุทธศาสนาของเราก็คือ เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ดับ-สิ่งนี้จึงดับ เขาคงจะว่าศาสนาบ้า
ลองนึกดูให้ดีว่าแม้ในพวกเรากันเองนี่ที่ไม่เข้าใจข้อนี้ มันก็จะรู้สึกว่าเป็นศาสนาบ้า หมายถึงอุบาสก อุบาสิกาแก่ๆหรือพระเณรโง่ๆอะไรก็ตาม พอบอกว่าพุทธศาสนาไม่มีอะไรนอกจากว่า สิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้ไม่มี-สิ่งนี้ก็ไม่มี เขาว่าศาสนาบ้า ก็เขาไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อย่างนี้และสอนอย่างนี้นะ พอได้ยินเราบอกเขา เขาก็ไม่เชื่อว่าพุทธศาสนาคืออย่างนี้ หาว่าเราหลอก หาว่าล้อเล่น ไม่เชื่อลองไปทดลองดูสิ อุบาสกแก่ๆ อุบาสิกาแก่ๆคร่ำวัดนี่ละ แล้วไปบอกว่าพุทธศาสนาคืออย่างนี้ แกก็ไม่เชื่อและสั่นหัว เพราะว่าต้องการจะเอาพุทธศาสนาที่ให้อะไรต่ออะไรมากมาย แล้วให้มี “ตัวฉัน” อยู่เรื่อยแหละ ตัวฉันที่จะเป็นเจ้าของไปเสียทุกอย่าง เป็นผู้กระทำกรรม เป็นผู้รับผลของกรรม เป็นผู้เสวยสุขอยู่ที่นี่ ต้องการพุทธศาสนาที่จะให้ความสุขแก่ตัวฉันที่นี่
ดังนี้ พระพุทธเจ้าท่านก็จำเป็นที่จะต้องพูด ๒ ภาษา เรื่องนี้คุณอย่าลืม ถ้าลืมข้อนี้แล้วจะเกิดการพูดกันไม่รู้เรื่อง ยุ่งกันไปหมด ขัดขวางกันไปหมด พระพุทธเจ้าท่านตรัส ๒ ภาษา “ภาษาธรรมดาสามัญ”เหมือนคนพูดท่านก็ตรัสเหมือนกัน แล้วภาษาเฉพาะของพุทธศาสนาเรียกว่า “ภาษาธรรม” ของผู้รู้คือของพระอริยเจ้านี่ท่านก็ตรัสด้วยเหมือนกัน ในบางทีตรัสพัวพันกันไปใน ๒ ภาษานี้ก็ทำให้อธิบายยากเหมือนกัน คนทั่วไปเขาพูดกันอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่โบรมโบราณตั้งแต่มนุษย์จะแรกมีในโลก มีคำพูดเป็นว่า “ตัวฉันของฉัน” กระทั่งว่าฉันที่แท้จริงมันอยู่ที่ตรงไหน ถ้าอันนี้ฉันที่ไม่ได้แท้จริง ก็เอาฉันที่แท้จริงเข้ามาอีก เอาที่ร่างกายไม่พอ เอาที่จิตที่วิญญาน เอาที่จิตที่วิญญาณไม่พอก็เอาที่ธรรมะ ปรมาตมัน นี่ล้วนแต่จะมีตัวฉันทั้งนั้น นี่พระพุทธเจ้าปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ทั้งนั้น แต่ถึงคราวที่ต้องพูดกับคนที่เขาต้องการจะมีตัวฉันให้เป็นตัวฉันที่ดีขึ้นไปตามลำดับ ท่านก็ต้องพูดตั้งต้นการสนทนาการพูดจาหรือแม้แต่การสั่งสอนด้วยภาษาคนที่มีตัวฉัน ภาษาของคนทั่วไปในโลกนี้ซึ่งมันจำเป็นอยู่เอง ซึ่งมันจะต้องเป็นสัสสตทิฏฐิ เพราะถือว่ามีตัวฉัน ตัวฉันที่จะต้องละเสียนั่นแหละ เพราะมันเป็นสัสสตทิฏฐิ แต่พระพุทธเจ้าก็ต้องยอมรับ พูดด้วยภาษาของคนมีสัสสตทิฏฐิ พูดว่ามีตัวฉัน เพราะว่าจะตั้งต้นพูดว่าไม่มีตัวฉันนี่มันก็ทำไม่ได้ มันต้องมีตัวฉันไปตามเขาก่อน แล้วค่อยไปว่ากันทีหลังว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะให้หมดตัวฉันนี้เสียที
ถ้ามีตัวฉันมันไม่จบเรื่อง มันจะต้องมีความทุกข์ไปแบบใดแบบหนึ่ง หรือจะหมดตัวฉันง่ายๆไม่ได้ มันก็ต้องรู้จักตัวฉันนะที่ดีขึ้นไป ดีขึ้นไป ดีขึ้นไป จนไม่รู้จะดีอย่างไร หมดท่าเข้ามันก็บอกเลิก บอกเลิกกันเอง เพราะฉะนั้นที่สอนกันอยู่ว่ามีตัวฉันทำบุญทำทานแล้วก็จะได้รับผลในชาติหน้าในชาติต่อๆไปแล้วก็จะไปนิพพานในที่สุด นั่นภาษาอย่างนี้เป็นภาษาคน ภาษาชาวบ้าน พูดให้มีตัวฉันตามที่เขารู้สึกกันอยู่ก่อน แล้วฉันจะต้องทำความดีละความชั่ว ก็ได้รับผลของกุศลเรื่อยๆไป เรื่อยๆไปจนกว่าจะนิพพาน นี่ละมันมีตัวฉันตลอดเวลาจนกว่าจะนิพพาน
ทีนี้นิพพานนั่นคืออะไร ก็คือหมดตัวฉัน มันน่าหัวหรือไม่ มันก็บ้ากันพักใหญ่ที่จะมีตัวฉัน มีตัวฉัน มีตัวฉัน อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น อย่างโน้น และในที่สุดก็คือหมดตัวฉัน คือ “นิพพาน” หรือ “นิโรธ” ทีนี้ถ้าว่าคนมันยังเป็นคนมากเกินไป ท่านก็บอกอย่างนี้แหละเป็นธรรมดา ทั้งการสอนเรื่องกรรมว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ผู้ทำได้รับหรือยัง ไม่ใช่พุทธศาสนา คือยังเป็นการพูดตามภาษาธรรมดา ภาษาคนสอนให้คนทำดีไปจนกว่าจะเบื่อจะหยุด ถ้าพูดจริงๆตรงๆเดี๋ยวนี้ก็พูดเป็นไม่มีคน นี่ละคือเรื่องปฏิจจสมุปบาท มีแต่ว่า เพราะสิ่งนี้-สิ่งนี้จึงมี แล้วมันก็ต้องเลือกพูด จะพูดแก่คนทุกคนทันทีมันไม่ได้ เพราะฉะนั้นการที่เราจะเอาเรื่องปฏิจจสมุปบาทมาพูดกันทันที มาสอนแก่คนทุกคนนี้มันก็เป็นเรื่องบ้าเหมือนกัน เพราะมันเป็นเรื่องชิงสุกก่อนห่ามหรืออะไรทำนองนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้นจึงต้องพูดเรื่องมีตัวฉันไปเรื่อยๆ ซึ่งมันแน่นอนดี มีตัวฉันทำความดี ทำความดี ทำความดี ไปเกิดเป็นสวรรค์ เป็นพรหมโลก เป็นอะไรจนหมดท่าเข้าไม่รู้จะไปเกิดที่ไหนให้ดีให้ถูกใจได้อีก มันก็สมัครที่ว่าจะเลิกกัน เลิกกันที ดับไม่เหลือแห่งตัวฉัน
ฉะนั้นพุทธศาสนาถ้าถือเอาคำตรัสของพระพุทธเจ้าเป็นพุทธศาสนาทั้งหมด มันก็ต้องแบ่งเป็น ๒ พวกแหละ คือพวกที่สำหรับมีตัวฉัน มีสัสสตทิฏฐิ มีตัวฉัน มีของฉันเป็นไปเรื่อย แต่แล้วก็อย่าลืมว่าศาสนาอื่นเขาก็สอนอย่างนั้น ไม่ใช่สอนแต่พุทธศาสนา เรื่องคนทำดีแล้วดีไปเรื่อย ชาติหน้าก็ยิ่งดีขึ้นไปจนกว่าจะถึงที่สุดจบ สอนกันแทบจะทุกศาสนาในอินเดีย ถ้าจะเอาหลักว่าความไม่มีตัวฉัน ความเลิกกันเกี่ยวกับตัวฉันเป็นจุดหมายปลายทาง มันก็เพียงต่างกันตรงที่ว่าการเดินทางมันก็จะสอนต่างๆกันบ้าง ข้อปฏิบัติ แต่แล้วก็มีหลายศาสนาที่สอนข้อปฏิบัติเพื่อทำลาย ให้ทำลาย อหังการ มมังการเหมือนกัน ทำลายตัวกูของกูเสียด้วยเหมือนกัน ให้จริงๆถึงที่สุด แต่กลับไปเรียกที่สุดนั้นว่าตัวตนที่ถาวรเข้าอีก ให้สมัครเป็นตัวฉันที่นั่น นี่ก็เพราะว่ามันมีความอาลัยอาวรณ์ที่ตัดกันไม่ขาดเกี่ยวกับตัวฉัน อย่างไรก็ต้องเอาตัวฉันไว้ นี้ตามความรู้สึกที่แท้จริงนั้นถ้ายังมีตัวฉันมันย่อมเห็นแก่ตัวฉัน จะมีตัวฉันชนิดที่ไม่เห็นแก่ตัวฉัน นี่มันคงจะยาก แล้วมันก็ต้องอธิบายกันมาก มันลำบากเหมือนกัน
ทางพุทธศาสนาจึงไม่บัญญัติสิ่งสุดท้ายนั้นว่าตัวฉัน บัญญัติว่ามี “นิพพาน” เป็นอันสุดท้าย มีวิมุตติ มีนิโรธ มีนิพพานนี่เป็นอันสุดท้าย แล้ววิมุตติก็หลุดพ้นออกไปได้จากกรงขังคือตัวฉัน ตัวฉันมันเป็นกรงขัง หลุดออกไปได้มันก็เรียกว่า “วิมุตติ” ถ้าเรียกว่า “นิโรธ” ก็หมายความว่าดับ ดับของร้อน ของความร้อน หรือดับตัวฉันนั่นเอง ตัวฉันมันมีอยู่มันก็โพลงๆอยู่เรื่อย มันก็ดับตัวฉัน นิโรธแปลว่าดับก็คือดับตัวฉัน ถ้าจะเรียกว่านิพพานนี้มันแสดงผล นิพพานแปลว่าเย็น ทีนี้มันก็เย็นไม่มีร้อนอีกต่อไป แต่มันเหมือนกัน เพราะมันหลุดพ้นมันจึงจะดับได้และเย็นได้ ทว่าเย็นได้มันก็หมายความว่าหลุดพ้นแล้วดับได้แล้ว มันเป็นคำพูดที่เล็งกันไปคนละ คนละแง่ แต่สิ่งเดียวกันแหละ เพราะฉะนั้นจุดหมายปลายทางของพุทธศาสนาจึงได้แก่คำว่า “หลุดพ้น” ออกไปจากโลกนี้ โลกนี้คือตัวกู คือของกู หรือว่าคือความดับลงแห่งตัวกู ดับลงแห่งโลกนี้ก็ได้ ดับหมดแห่งโลกนี้ แล้วก็เย็น ถึงตอนนี้มันไม่มีตัวกู ถึงตอนที่เป็นนิโรธเป็นวิมุตติเป็นนิพพานนี้ มันไม่มีตัวกู ความรู้สึกว่าตัวกูนั้นละมันไม่เหลืออยู่ แต่มันรู้สึกว่ามีสิ่งหนึ่งแหละซึ่งเป็นธรรมชาติที่ปรากฏอยู่ที่จะเรียกว่า นิพพาน วิโมกข์ วิมุตติ อันนี้ก็สุดแท้ อันนี้เหลืออยู่ปรากฏอยู่หรือรู้สึกอยู่แก่จิต นี่เราก็ไม่เรียกสิ่งนั้นว่าตัวตนเข้าไปอีก
นี่ศาสนาที่เขาเรียกสิ่งนี้ว่าตัวตน หรือตัวตนใหญ่ ตัวตนสากลนั้นก็มีเหมือนกัน ใช้คำว่า “ปรมาตมัน” ตัวตนอันใหญ่หลวง บางศาสนาก็เรียกว่า “ไกวัลย์” นี่ค่อยยังชั่วหน่อย ไกวัลย์ก็แปลว่าทั้งหมด คล้ายๆว่าเป็นตัวตนเหมือนกันแต่ไม่ออกชื่อว่าตัวตน แต่เป็นทั้งหมด คือเป็นสิ่งใหญ่สิ่งเดียว เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวคือทั้งหมด นี่ถ้าจะเรียกให้ดีมันก็ควรจะเรียกเป็นอะไรที่ไม่ใช่ตัวตน จะเรียกว่า “อนันตะ” ก็ได้ คือว่าไม่มีที่สิ้นสุด หรือจะเรียกว่า “อมตะ” ก็ได้คือไม่ตาย ไม่มีตายอีกต่อไป หรือจะเรียกว่า “อมิตาภะ” ของอาซิ้ม “อมิทอฮุก อมิตาภะ” ก็ว่ามีแสงสว่างคำนวณไม่ได้ บางทีก็เรียกว่า “อมิตายุ” มีอายุที่คำนวณไม่ได้ เพราะฉะนั้นแล้วแต่จะเรียก มันล้วนแต่สิ่งที่มันเหนือ เหนือไปจากตัวตนตัวกู มันจึงจะไม่ตาย มันจึงจะทั้งหมดหรือว่าคำนวณไม่ได้ แต่ในพุทธศาสนาเราโดยเฉพาะเถรวาทนี่ เราเรียกว่านิพพาน อันสุดท้ายก็ต้องมาจบลงด้วยนิพพานคือวิมุตติ หลุดพ้นออกมาได้แล้วก็ดับได้ แล้วก็เย็นได้ เท่านี้เอง
ทีนี้มาดู ย้อนกลับมาดู สิ่งที่เรียกว่า “ตัวตน” ตรงนี้เราว่าจนปัญญาที่จะอธิบายกัน เพราะไม่ใช่ตัวตน แต่ทำไมมันเกิดความรู้สึกเป็นตัวตนขึ้นมาได้ มันยากที่จะอธิบาย ความรู้สึกส่วนลึกหรือเป็นสัญชาตญาณไปเลยก็ว่ารู้สึกเป็นตัวตน สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตนทำไมจึงรู้สึกเป็นตัวตนไปได้ นี่เราต้องใช้หลักอย่างเดียวกับภาษิตที่พระอานนท์กล่าว ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงรับรองว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าอะไร สิ่งนั้นแหละคือสิ่งนั้น นี่ละพูดเป็นกฎอะไรกันหน่อย สิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามันเป็นอะไร สิ่งนั้นก็คือความรู้สึกอันนั้น
เพราะฉะนั้นในที่นี้มันก็พูดได้ทันทีว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวตนนั่นแหละคือตัวตน ไม่มีทางผิด ทีนี้มันขยายออกไปได้ทุกเรื่องไม่ว่าเรื่องอะไร อะไรทำให้เกิดความรู้สึกว่าโลก สิ่งนั้นแหละคือโลก ทำให้เกิดความสำคัญว่า หรือรู้สึกว่า ว่าเป็นโลกสิ่งนั้นแหละมันคือโลก ที่พระพุทธเจ้าตรัสท่านไม่ได้ตรัสอย่างนี้ เช่น ตรัสว่าโลก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี่คือโลก มันก็เรื่องเดียวสิ่งเดียวกับที่พระอานนท์พูดว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าโลก มันก็คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อีกนั่นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถามว่าอะไรมันเป็นตัวตน มันก็ตอบว่าสิ่งที่ทำให้เกิความรู้สึกว่าตัวตน เพราะฉะนั้นคือความโง่ คือ “อวิชชา” ทีนี้อวิชชามันเป็นตามลำพังมันเองไม่ได้ อวิชชาจะเกิดต่อเมื่อมีการพบทางอายตนะ เช่น ตากระทบรูป หูกระทบเสียง เป็นต้น นั่นอวิชชาจึงจะโผล่หัวออกมา มันไม่มีอะไรเกิดได้ตามลำพัง ตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ดับ-สิ่งนี้จึงดับ เพราะสิ่งนี้ไม่มี-สิ่งนี้ก็ไม่มี มันมีอย่างนี้
เพราะฉะนั้นในบรรดาสิ่งเหล่านี้ อะไรทำให้เกิดสัญญาว่าตัวกู เกิดความสำคัญมั่นหมายว่าตัวกู สิ่งนั้นแหละคือตัวกู เพราะฉะนั้นตัวกูก็คืออวิชชา ความรู้สึกว่าเกิดขึ้นว่าตัวกูคราวไรจะเกิดมาจากอวิชชาทุกทีไป และมันก็เป็นตัวกูเฉพาะคราวที่มันรู้สึกว่าตัวกู นอกนั้นมันไม่ใช่เป็นตัวกู มันไม่ได้มีความรู้สึกว่าตัวกู แต่อวิชชามันทำให้รู้สึกว่ามีอยู่ตลอดเวลาอีก เช่น เรารู้สึกว่าเราโง่ เราเป็นคนโง่ หรือเราเป็นคนฉลาดอย่างนี้ เราจะรู้สึกว่ามันโง่ตลอดเวลา มันฉลาดตลอดเวลา ที่จริงมันไม่ได้แน่นอนหรือตายตัวอย่างนั้น มันแล้วแต่กรณี แล้วแต่สิ่งนี้มีอยู่ เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี เสมอไป ตัวกูนี้หรือตัวตนนี้มันจึงเป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดมาจากการแวดล้อมของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าพูดอย่างภาษาพระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นกลางเป็นหลักสำคัญที่สุดก็ระบุไปที่ “ผัสสะ” มีผัสสะเมื่อไรก็จะเกิดเวทนาเกิดความคิดแล้วก็ปรุงเป็นตัวกู ถ้าอย่ามีผัสสะคือว่าอย่ามีตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส กายสัมผัสทางผิวหนัง นี่มันก็ไม่มีทางที่จะเกิดความรู้สึกเป็นตัวกู ตัวกูก็เกิดไม่ได้ ฉะนั้นให้ละลายตัวกูออกไปเสีย เหลือเพียงว่าเพราะ สิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี มันก็รื้อบ้านหลังหนึ่งออกไปเป็นชิ้นๆชิ้นๆนั่นแหละ คำว่า “บ้าน” มันก็หมดไป เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้มีนี่ก็เกิดเป็นบ้านขึ้นมาได้หลังหนึ่ง เพราะมันต้องอาศัยหลายๆสิ่งสัมพันธ์กันขึ้นไปตามลำดับ นับตั้งแต่รากเสาขึ้นมา จนมาถึงยอดสุดของหลังคานี่ละ มันต้องเพราะสิ่งนี้อยู่ได้สิ่งนี้จึงอยู่ได้ สิ่งนี้จึงอยู่ได้ สิ่งนี้จึงอยู่ได้ แล้วก็เป็นบ้านขึ้นมาหลังหนึ่ง นี่ทางวัตถุ ทีนี้ทางความรู้สึกคิดนึกก็เหมือนกันอีก เพราะมีอายตนะภายใน อายตนะภายนอก ซึ่งเรียกว่า “นามและรูป” มันก็เกิดอะไรขึ้นมาตามลำดับ ตามลำดับ จนเป็นความรู้สึกว่าตัวกู นี่ขอให้เข้าใจสูตรที่ว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวกูนั่นแหละคือตัวกู หรือจะพูดเป็นกลางๆว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าอะไร สิ่งนั้นแหละคือสิ่งนั้น คือสิ่งที่ว่านั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่มีตัวตนเหลืออยู่ที่ไหน
ทีนี้ก็จะเข้าใจได้ถึงคำที่เคยพูดอยู่เสมอๆว่า พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์หรือควรจะศึกษาพุทธศาสนาตามวิถีทางของวิทยาศาสตร์ ก็คืออย่างนี้ คือใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์เพื่อจะดูทุกสิ่งลงไปตามลำดับ ตามลำดับ จนพบว่ามันคืออะไร ไม่ใช่คาดคะเน ไม่ใช่คำนวณหรือคาดคะเน มันไม่ใช่เรื่องปรัชญา ถ้าเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ต้องเอาสิ่งนั้นมาดู แล้วดูลงไป ดูลงไป ดูลงไป ดูลงไป จนพบว่าคืออะไร มีอะไร ถ้าเราเอาความทุกข์มาดู ก็จะพบอย่างนั้น เอาตัวกูมาดูก็พบอย่างนั้น เอาโลกมาดูก็พบอย่างนั้น แต่ต้องเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั้งนั้นนะ เช่น จะเอาโลกมาดูนี่ก็เอาจิตที่กำลังสัมผัสกันอยู่กับตา หู จมูก ลิ้น สัมผัสกันอยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันนั้นคือโลก ทีนี้ถ้าว่าโลกไม่มาเกี่ยวข้องด้วยจะดูมันได้อย่างไร จะดู ดูโลกข้างนอกมันก็ไม่มี ไม่มีความจริง ไม่มีความหมายอะไร
เพราะฉะนั้นเมื่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เข้ามายังความรู้สึก เข้ามายังจิตใจนี่ก็ดูมันว่าคืออะไร แล้วมันทำเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาอย่างไร เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดเป็นตัวกู ตัวกูอยู่ในโลก กำลังอยู่ในโลก กำลังบริโภคเสวยสิ่งที่เรียกว่าโลกในลักษณะอย่างไร ไม่ต้องคำนวณ ถ้าคุณไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ ถ้าเข้าใจก็จะได้ ไม่ต้องใช้การคำนวณ ต้องใช้ความรู้สึกแท้จริงประจักษ์แก่ใจ นี่ดูโลก นี่จะดูตัวความทุกข์ที่แท้มันก็เรื่องเดียวกันกับโลก ก็มันก็วิธีเดียวกันนั่นเอง ความทุกข์เกิดต่อเมื่อมันมีการกระทบทางตา ทางหู เป็นต้น เกิดผัสสะเวทนา ตัณหา อุปาทาน และภพ ชาติ แล้วจึงเป็นทุกข์ ที่ชาตินั่นแหละมันคือตัวกู มันก็มาจากการกระทบทางตากับรูป เป็นต้น แล้วเกิด ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ อีก เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรนอกจากปฏิจจสมุปบาท
เดี๋ยวนี้หนังสือปฏิจจสมุปบาทก็จะพิมพ์ออกมาสะดวกแก่การอ่าน เขากำลังพิมพ์อยู่ในโรงพิมพ์ แล้วที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ คำตรัสของพระองค์เอง ก็กำลังจะพยายามให้ออกมา ให้มันพิมพ์ออกมา ไปอ่านเอาเองก็แล้วกัน ทีนี้บอกล่วงหน้าว่านี่มันคือตัว ตัวศาสนาก็ได้ หรือว่าตัวกูก็ได้ สิ่งที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท มองในแง่หนึ่งก็คือตัวกู แต่เราไม่เห็นเป็นปฏิจจสมุปบาทเห็นเป็นตัวกู จากตากระทบรูปก็มาเห็นเป็นผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ทุกข์ นี่ละ ปฏิจจสมุปบาทคือตัวกู หรือว่าปฏิจจสมุปบาทคือความทุกข์ ทีนี้ถ้ามองในแง่คำสอน นี่ละคือคำสอนแท้จริงของพระพุทธเจ้าว่าทุกข์เกิดขึ้นมาอย่างนี้ เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี เรื่อยมาจนถึงมีความทุกข์ นี่คำสอน ทีนี้ตัวศาสนามันก็สอนเรื่องดับทุกข์ เพราะสิ่งนี้ไม่มี-สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มี-สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ดับ-สิ่งนี้จึงดับ เพราะสิ่งนี้ดับ-สิ่งนี้จึงดับ มันก็ดับที่ต้นเหตุ ถ้าความโง่มันเป็นต้นเหตุก็ดับที่ความโง่ เมื่อตากระทบรูป หูกระทบเสียง เป็นต้น ระวังอย่าโง่กันที่ตรงนี้ก็แล้วกัน อย่าโง่กันตรงขณะที่ตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบผิว สัมผัสผิวหนัง ก็มีเท่านี้เอง อวิชชาก็ดับ หรือไม่เกิด หรือไม่มี เมื่ออวิชชาไม่มี สังขารก็ไม่มี วิญญานก็ไม่มี นามรูปก็ไม่มี ผัสสะอายตนะไม่มี ไม่มี จนทุกข์ ชาติก็ไม่มี ทุกข์ก็ไม่มี
นี่คือตัวพุทธศาสนาที่บอกให้รู้ทั้งเรื่องทุกข์เกิดอย่างไร และทุกข์ดับอย่างไร นั้นตัวพุทธศาสนาก็อยู่ที่ปฏิจจสมุปบาท เพราะฉะนั้นการปฏิบัติก็คือปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าปล่อยให้มันเกิด เกิด เกิด เกิด เกิดจนเป็นทุกข์ก็เรียกว่า “มิจฉาปฏิบัติ” คือทำผิด ถ้าทำให้มันดับ ดับ ดับได้ก็เป็น “สัมมาปฏิบัติ” คือทำถูก พอทำถูกมันก็เป็นวิมุตติหลุดพ้นออกไป เป็นนิโรธดับลงไป เป็นนิพพานคือเย็นตลอดเวลา เรื่องปฏิจจสมุปบาทเรื่องเดียวจะพูดกันกี่แง่กี่มุมก็ได้มันก็มากมายหลายชั่วโมง หลายสิบชั่วโมง แต่สรุปแล้วมันก็เหลือแต่ประโยค ๒ประโยคอย่างที่ว่าแล้ว เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มี-สิ่งนี้จึงไม่มี เท่านั้นเอง ศาสนาบ้าสำหรับคนที่ฟังไม่รู้เรื่อง
ฉะนั้นก็จะต้องดูให้ดีจะไปพูดกับใคร ตามแบบของพระพุทธเจ้านะเมื่อท่านจะตรัสเทศนาเรื่องอริยสัจ ท่านต้องดูเหมือนกันว่าคนนี้มันเหมาะหรือยังที่จะฟังเรื่องอริยสัจ ถ้าเห็นว่ายังไม่เหมาะ ก็ยังไม่ตรัส ทั้งๆที่เห็นว่าเหมาะบางทีก็ต้องใช้วิธีลบล้างสิ่งที่มันเป็นอุปสรรคกันเสียก่อนนะที่เรียกว่า “อนุปุพพิกถา” ถ้าคนทั่วไปที่ยังติดในสวรรค์ก็ต้องพูดเรื่องนี้ พูดเรื่องอนุปุพพิกถานี่ก่อน คือพูดเรื่องตัวตนนี้ก่อน ว่าเรื่องให้ทานนี่มันดีนะ เรื่องศีลนี่มันดีนะ ว่ากันไปตั้งแต่ต้นอย่างนี้ เรื่องทานมันดีอย่างไรก็ว่าไป มันก็ทำให้คนรัก ทำให้อะไรสบาย หรือว่าในที่สุดก็มีบุญ ก็ได้ไปสวรรค์ เรื่องศีลนี้มันก็ดีนะมัน ก็เหมือนกันแหละประพฤติเสียด้วย ก็ได้ไปสวรรค์ ทีนี้เรื่องที่สามก็พูดเรื่องสวรรค์เลย เรื่อง “สัคคกถา” ว่าสวรรค์มันเป็นอย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น ดีนะ ทุกๆคนชอบ แล้วเรื่องที่สี่ก็เป็นเรื่อง “อาทีนวะ” คือความเลวของสวรรค์นั้น ว่าสวรรค์มันบ้าอย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น มันทำให้เกิดเรื่องไม่มีความสงบสุขทั้งตนเองและผู้อื่น
จริงไม่จริงมองดูสิ เดี๋ยวนี้ที่มันรบกันอยู่ในโลกทุกวันนี้ ปัจจุบันนี้ที่ในโลกมันรบกัน เพราะมันแย่งสวรรค์กัน คอมมิวนิสต์กับประชาธิปไตยนี้ มันแย่งความหมาย แย่งสวรรค์หรือความหมายของสวรรค์ การได้เป็นอะไรกว่าคนอื่น เป็นเจ้าโลกเป็นอะไรทำนองนั้นไม่มีใครมาขัดคอ นั่นมันคือสวรรค์ของเขา เขาจะอยู่กอบโกยอะไรก็ได้เมื่ออยู่ในอำนาจเขาทั้งหมดแล้ว หรือแล้วแต่เขาจะพอใจมันในแง่ไหน ในการเป็นเจ้าโลก มันแย่งสวรรค์กันอย่างยืดเยื้อเรื้อรัง ทีนี้ในส่วนบุคคล ระหว่างประเทศ ระหว่างครอบครัว ระหว่างบุคคล มันก็เหมือนกันแหละ ความทะเลาะวิวาทอะไรนี้มาจากความไม่ได้อย่างใจในเรื่องของกามารมณ์หรือสิ่งที่ต้องการ ถ้าอย่ามีเรื่องนี้คนก็ไม่ทะเลาะวิวาท แม้บันดาลโทสะ มันก็บันดาลโทสะ เพราะมันไม่ได้อย่างใจในเรื่องสวรรค์ มันฆ่าเมียก็ได้ ฆ่าแม่ก็ได้ ฆ่าพ่อก็ได้ โทษของสวรรค์แสดงไว้ถึงขนาดนั้น
ทีนี้เรื่องที่ห้า พอเห็นว่าคนมันมองเห็น ผู้ฟังมันมองเห็นข้อนี้แล้วคือว่าไม่บูชาสวรรค์ที่เป็นผลของทานและศีล จึงจะพูดเรื่องเนกขัมมะ เนกขัมมะ หรืออานิสงส์ของเนกขัมมะ คือออกไปเสียจากสวรรค์ ถ้าคนมันอยากออกจากสวรรค์นะพูดเรื่องปฏิจจสมุปบาทเข้าใจทันที เข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่ง มีประโยชน์ได้ตามต้องการ จะพูดสั้นๆเพียงอริยสัจ ๔ หรือจะพูดละเอียดเป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาท ปัจจยาการ ๑๑ เข้าใจได้ ความทุกข์มันมาจากนั้น จากนั้น
การที่ออกมาเสียจากโลกหรือออกมาเสียจากอารมณ์นั้น ไม่มีความทุกข์ เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นเหตุให้เกิดตัณหา หรือเป็นที่ตั้งแห่งตัณหา หรือว่าหล่อเลี้ยงตัณหา อะไรก็ตามแหละมันล้วนแต่มีตัณหา แล้วมันก็มีความทุกข์ นี่เราขจัดตัณหาเสียตั้งแต่ต้นมือ คืออย่าไปโง่เมื่ออารมณ์กระทบ ตากระทบ หูกระทบ จมูก ตรงนี้ ตรงที่สำคัญนี้ อย่าไปโง่ตรงนี้ก็ไม่มีอวิชชา ก็ไม่มีตัณหา ก็ไม่มีความทุกข์ ถ้าคนเขายังรักสวรรค์อยู่ยังเหนียวแน่นในเรื่องตัวกูของกูอยู่มันก็ฟังไม่รู้เรื่อง โดยปกติมันจะฟังไม่รู้เรื่องเว้นไว้แต่กรณีพิเศษ ถือว่ากรณีปกติทั่วไปจะฟังไม่รู้เรื่อง ดังนั้น จะต้องพูดกันเรื่องตัวกูเสียก่อน เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าท่านเริ่มการพูดด้วยภาษาคน ให้คนมันรู้เรื่อง หรือว่าพูดกันเรื่อง จนถึงเรื่องที่ดีที่สุดที่คนมันชอบแหละ แล้วจึงบอกให้เห็นในแง่ที่ว่ามันยังไม่ไหว ที่ชอบกันนัก บูชากันนักตามประสาคนปุถุชนนั้นมันไม่ไหว ให้เปลี่ยนมาเป็นเรื่องของพระอริยเจ้าเสียบ้าง คือเรื่องความไม่โง่ ไม่หลง ไม่ยึดมั่นถือมั่นเริ่มต้น ทีนี้ไปคิดเอาดู ไปคิดดูเอาเองประมวลแล้วไปวางรูปโครงดูเองว่ามันมีรูปโครงอย่างไร เรื่องทั้งหลายมันเกี่ยวกับตัวกูของกู ที่มันเกี่ยวอยู่กับเรา หรือเกี่ยวกับที่พระพุทธเจ้าท่านต้องตรัสต้องสอนอะไรให้สัตว์ทั้งหลาย
ทีนี้ผมนั้นมายัก เรียกให้กลายเป็นเรื่องของตัวกูของกู ให้มันฟังเข้าใจเร็วๆ เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าตัวกูของกูนั้นน่าจะรู้จักกันได้ทุกคนไม่มากก็น้อย ตัวกูหยาบ ตัวกูอย่างกลาง ตัวกูอย่างละเอียด พอจะมองเห็นได้บ้าง นี่เกิดขึ้นทีไรมีความทุกข์ที่นั้น ฉะนั้นระวังอย่าให้มันเกิด ให้มันเหลืออยู่แต่สติปัญญา คือว่ามีร่างกายหรือมีจิตใจที่ประกอบอยู่ด้วยสติปัญญาไม่มีความโง่คือไม่มีอวิชชา เมื่อเห็นรูปก็ไม่โง่ เมื่อฟังเสียงก็ไม่โง่ เมื่อดมกลิ่นก็ไม่โง่ เมื่ออะไรๆก็ไม่โง่ ก็มีเท่านั้นเอง ก็ไม่เกิดตัวกูของกู ไม่มีความทุกข์แล้วก็รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร จะต้องทำอย่างไร จะต้องเกี่ยวข้องอย่างไร ก็ทำไป ถ้าไม่ต้องทำไม่ต้องเกี่ยวข้องก็เฉยเสีย นี่เขาเรียกว่ามันมี “วิชชา” หรือความรู้อยู่ตลอดเวลา คือความฉลาดอยู่ตลอดเวลา และด้วยอำนาจของสติเป็นเครื่องควบคุมให้ความฉลาดมีอยู่ตลอดเวลา ถ้าอยู่ด้วยความฉลาดคือวิชชาอย่างนี้ตลอดเวลา ปัญหาหมด
นี่ปัญหามันก็เหลืออยู่ที่ว่าบางคราวก็ไม่มีสติ สติมันเสียไปบ่อยๆ ก็ไปฝึกหัดตรงที่ให้มีสติ ถ้าสติยังมีอยู่ ความรู้นี้มันก็ยังอยู่ ถ้าสติไม่แข็งแรงพอ ปัญญาไม่แข็งแรงพอ ก็เรียกว่าอบรม ปฏิบัติเพื่ออบรมสติและปัญญาให้มันแข็งแรงพอ ให้ปัญญามันแก่กล้าพอ ให้สติมันมีอำนาจมีเรี่ยวแรงพอ ที่จะมานำปัญญามาทัน ทันที ทันท่วงที และรักษาไว้อยู่ นำปัญญามาทันท่วงทีเรียกว่า “สติ” รักษาปัญญาไว้อยู่ตลอดเวลาเรียกว่า “สัมปชัญญะ” ฉะนั้นคนเรามีสติสัมปัชชัญญะก็คือมีปัญญามีวิชชาอยู่ ถ้าอันนี้อยู่ อันที่ตรงกันข้ามเข้ามาไม่ได้ ตัวกูของกูเข้ามาไม่ได้ ความทุกข์เข้ามาไม่ได้เพราะอันนี้มันอยู่ เพราะอันนี้มันตรงกันข้าม มันอยู่ด้วยกันไม่ได้ สติปัญญาชนิดนี้มีอยู่ความทุกข์ก็เกิดไม่ได้ มันเป็นนิพพานชั่วคราวอยู่เรื่อยๆไป จนกว่าจะมีสติสมบูรณ์ปัญญาสมบูรณ์เด็ดขาดไม่เปลี่ยนแปลง มันก็มีนิพพานถาวร
หัวข้อที่ดีที่น่าจะจดจำไว้ที่พบในสูตรมีอยู่หมู่หนึ่งพูดถึงสิ่งทั้งปวง “สิ่งทั้งปวง” นี่หมายถึงสิ่งทั้งปวงจริงๆเลย คือโลกนั่นแหละ สิ่งทั้งปวงก็คือโลก แต่ถ้าไม่มาเกี่ยวข้องกับเรา เราไม่ถือว่ามีอยู่ โลกยังไม่มี สิ่งทั้งปวงยังไม่มี ทีนี้สิ่งทั้งปวงนี้มันคอยจะมาเกี่ยวข้องกับเราอยู่เรื่อย จนกระทั่งว่าทำให้เรายุ่งยากลำบาก จนกระทั่งว่าเราจะชนะมันได้นั้นมีหลัก ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอย่างนี้ ว่าสิ่งทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล ฉันทะเป็นมูล นี่ละโลกหรือสิ่งทั้งปวงหรือสารพัดรวมหมดเลยไม่ยกเว้นอะไรมีฉันทะเป็นมูล มูลคือมูลเหตุ ฉันทะคือความพอใจ ถ้าเราไม่มีความพอใจในสิ่งใดเลย สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดมันก็จะไม่มี จะไม่มีสำหรับเรา ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่าสิ่งทั้งปวงนี้มันมีฉันทะเป็นมูล ถ้าไม่มีฉันทะเสียตัวเดียวสิ่งทั้งปวงจะไม่มี ฉันทะคือความพอใจ ความพอใจมันก็เพราะความโง่ จึงไปพอใจเข้าที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือไม่พอใจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทีนี้ให้รู้ไว้ว่าความไม่พอใจนั้นมันต้องมาจากความพอใจเสมอ คือไม่ได้ตามที่พอใจ จึงเกิดไม่พอใจ มันเลยเป็นสองซ้อน เช่น เราไม่ชอบยุงอย่างนี้ เราก็รู้ เราต้องดูให้รู้ว่าเพราะเราชอบที่จะไม่มียุง เราพอใจที่จะไม่มียุง เพราะมันมียุงเราก็ไม่พอใจ เพราะฉะนั้นค่าของความไม่ยุงมันเกิด แล้วมันแสดงให้เห็นเพราะว่ามันมียุงที่เราไม่ชอบใจ ฉะนั้นถือว่าเราไม่พอใจยุงนี้มันเป็นเรื่องแฝง เรื่องทีหลัง เรื่องทีแรกเพราะเราชอบใจที่จะไม่มียุง
เพราะฉะนั้นเลยกล่าวเสียเพียงคำเดียวว่า มูลเหตุของสิ่งทั้งปวงจะมีขึ้นนี่ก็เพราะเราพอใจ ถ้าเราไม่พอใจมันก็ไม่มีความหมายอะไร จึงว่าสิ่งทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล สิ่งทั้งปวงข้อ ๒ สิ่งทั้งปวงมีมนสิการเป็นแดนเกิด เป็นสัมภวะ สัมภวะแปลว่าแดนเกิด สิ่งทั้งปวงมีมนสิการเป็นแดนเกิด “มนสิการ” นี้เป็นภาษาบาลีแปลกันตามตัวหนังสือว่า เอามากระทำในใจหรือการกระทำในใจ ถ้าพูดเป็นไทยล้วนๆ มนสิการนี้ก็แปลความ ไปเอาใจใส่มัน ไปเอามันมาคิดมานึก เรียกว่ามนสิการ นี่ละเป็นสัมภวะของสิ่งทั้งปวง เป็นแดนเกิดของสิ่งทั้งปวง เพราะว่าเราไปเอามาทำไว้ในใจ คือทำมนสิการ ถ้าเราอย่าไปเอาทั้งหมดมาทำมนสิการอยู่ในใจ มันก็เท่ากับไม่มี นี่ปัญหามันมีเท่านี้เอง นี่เราไปเอามันมาทำในใจ มันก็เลยมีขึ้นมา ที่ไม่เกิดมันก็เกิดขึ้นมา
ฉะนั้นเราจะมีอะไรที่เราไม่ควรจะมาทำไว้ในใจ เราอย่าไปเอามาทำสิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ไม่ปรารถนาที่ไม่พึงปรารถนา นั้นก็ไม่ทำแน่ แต่แม้ว่าสิ่งที่จะต้องปรารถนาก็อย่าเอามาทำไว้ในใจ เมื่อรู้ก็รู้อยู่ เมื่อปฏิบัติก็ปฏิบัติอยู่ เอามาทำไว้ในใจมันก็มากเรื่องก็ลำบาก เหลืออยู่แต่ส่วนหนึ่งซึ่งจำเป็นว่าจะต้องนึกต้องคิดต้องพิจารณา ก็เอามาพินิจพิจารณาชนิดที่ว่าไม่ใช่เอามาทำไว้ในใจให้มันเป็นวิตกกังวล สำหรับข้อนี้ต้องการจะพูดให้มันกว้างว่าสิ่งทั้งปวงหรือทั้งโลกทั้งอะไรนี้มัน มันมีขึ้นมาเพราะว่าเราเอามาทำไว้ในใจ เอามาทำความคิดรู้สึกอยู่ในใจ เอาไปคิดดูให้เห็นตามที่พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้มันมีความหมายอย่างไร มันลึก จะมัวอธิบายให้ละเอียดอยู่ก็เดี๋ยวก็ตั้งสิบวันอีก
ทีนี้อันที่สามว่า สิ่งทั้งปวงนี้มันมีผัสสะเป็นสมุทัย “สมุทัย” นี้แปลว่าการก่อขึ้น แดนเกิดนั้นมันเป็นเพียงพื้นฐานแดนสำหรับเกิด ทีนี้สมุทัยคืออาการที่มันก่อขึ้น งอกขึ้น งอกขึ้น งอกขึ้นมา สิ่งทั้งปวงมีผัสสะเป็นสมุทัย สิ่งทั้งปวงอย่างสมมุติว่าคือโลก คือโลกทั้งหมด มันจะเข้ามาอยู่ในเรา จะเกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมาได้เพราะมันมีผัสสะ ผัสสะคือ ตาเห็นโลก หูฟังโลก หูได้ยินโลก จมูกได้กลิ่นโลก ลิ้นได้รสโลก กายได้สัมผัสโลก ข้างนอกเรียกว่าโลก พอมีผัสสะต่อโลกนี่ การก่อขึ้น ก่อขึ้น ก่อขึ้นแห่งทุกสิ่งจึงมี คือทั้งข้างนอกและทั้งข้างใน แล้วก็จะก่อไปจนถึงตัวตนและความทุกข์แหละ มันจะมีความทุกข์ในที่สุด สิ่งทั้งปวงมันจะไปจบลงที่ความทุกข์ มีผัสสะเป็นเครื่องก่อ เราไปทำในใจถึงโลกมันก็อย่างหนึ่ง มันก็สร้างแดนเกิดขึ้นมาแล้ว พอไปทำผัสสะกันเข้ามันก็เกิดสมุทัยคือมันก่อขึ้นทันที เหมือนก่อพระเจดีย์นี่แหละ นี่เรียกว่ามีผัสสะเป็นสมุทัย
อันที่สี่เรียกว่า มีเวทนาเป็นที่สโมสร สโมสรณา มีเวทนาเป็นสโมสรณา คำว่า “สโมสร” เดี๋ยวนี้เราก็หมายความว่าที่รวมประชุมรวมกัน ที่มาประชุมรวมกัน ความหมายทางบาลีเดิมก็เหมือนกันแหละ สโมสรณาคือ นึกถึง นึกถึงรวมกัน แล้วก็มารวมกันนี่ มีเวทนาเป็นที่สโมสร พอผัสสะแล้วก็มีเวทนา พอมีเวทนามันก็จะมีสโมสร คือมา มารวมกลุ่มออกันอยู่ที่นี่ เหมือนว่าเอาเหยื่อใส่ลงไปปลาทุกตัวก็มารวมอยู่ที่นี่เป็นฝูงทั้งฝูง เพราะฉะนั้นเราระวังหรือว่าสังเกตว่าเวทนานี่เป็นตัวร้ายที่จะดึงทุกอย่างมา ทีนี้จะพูดกันแต่ทางฝ่ายที่ว่าจะเอาตัวรอด
อันที่ห้า “สมาธิปมุขา” สมาธิเป็นประมุข ธรรมทั้งปวงมีสมาธิเป็นประมุข การที่มันจะเชิดให้สูงสุดถึงจุดตำแหน่งสูงสุดนี้ก็ด้วยอำนาจของสมาธิ จะทางเลวก็ดี ทางดีก็ดี หรือว่าทางทุกข์ก็ดี ทางไม่ทุกข์ก็ดี สมาธินี้จะเป็นประมุข เพราะว่าถ้าความรู้สึกคิดนึกมันยังพร่า มันยังพร่า มันยังกระจายหรือมันยังตั้งตัวไม่ติดนี่ มันก็ยังไม่มีประมุข พอจิตมันมีกำลังดิ่งลงไปได้สำเร็จที่จุดใดจุดหนึ่งที่เรียกว่า “เอกคตา” จิตมันมีอารมณ์เดียว นี่สิ่งที่เรียกว่าประมุขมันเกิด มันจะไปแรงไปเร็วไปถึงที่สุด ก็มีสมาธิเป็นประมุข ถ้าข้างเลวมันก็มีสมาธิเป็นประมุข ข้างดีมันก็มีสมาธิเป็นประมุข ใครอยากจะทำเลวให้ถึงที่สุดก็ลองทำให้มันเป็นสมาธิ ทำด้วยจิตที่เป็นสมาธิ
ทีนี้อันที่หก สติเป็นอธิปไตย “อธิปไตย” ในที่นี้ก็หมายถึงความเป็นใหญ่ มันเลยทำให้ฟังยาก คำว่า “ประมุข” ก็แปลว่าหัวหน้าอยู่แล้วยังมีอธิปไตยอีก หมายความว่าสมาธิแม้มันจะเก่งอย่างไรจะเข้มแข็งจะมีกำลังมีน้ำหนักอย่างไรก็ตาม ถ้ามันไม่มีสติแล้วมันก็เอาหัวชนภูเขาแหละ ฉะนั้นเขาจะต้องมีสติที่จะควบคุมสมาธิอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นมันจึงไปถูกจุดที่ประสงค์ ต้องให้สติเป็นอธิปไตยควบคุมสมาธิซึ่งก็เป็นประมุขอยู่แล้ว เหมือนอย่างว่าใครเป็นหัวหน้าหมู่อย่างนี้ ถ้ามันโง่มันก็ไม่ไหวสิ มันเพียงแต่มีกำลังมีอำนาจมีอะไร ถ้ามันไม่มีสตินี้ก็ มันก็ล้มละลายเหมือนกัน เพราะฉะนั้นธรรมทั้งปวงนี้ให้ถือว่ามีสติเป็นอธิปไตย
ที่นี้อันที่เจ็ด มีปัญญาเป็นยอด เป็นยอดสุด อุตระ มีปัญญาเป็นอุตระ “อุตระ” ก็แปลว่ายอด ยิ่ง ยอด หรืออยู่ข้างบนปลายยอด นี่เห็นได้ชัดว่าพระพุทธเจ้าท่านแยกออกจากกัน สติกับปัญญานี้แยกออกจากกัน ให้สติเป็นอธิปไตย ปัญญาเป็นยอดเป็นเลิศ ก็หมายความว่าสตินั้นมันทำหน้าที่เพียงนำมาทันท่วงที มันต้องนำสิ่งที่ดีที่สุดที่ถูกต้องที่สุดมา สิ่งนั้นคือปัญญา ฉะนั้นปัญญาจึงต้องยอดกว่าสติ เมื่อจะให้เครดิตกันนั้นปัญญามันก็ต้องเหนือหรือยอดกว่าสติ เรียกว่า “ปัญญาอุตรา”
ทีนี้อันที่แปด “วิมุตติสารา” มีวิมุตติเป็นแก่นสาร แก่นสารในที่นี้ก็ยืมเอาคำว่า “แก่น” เช่น แก่นไม้นี้มาเป็นหลัก มีวิมุตติเป็นแก่นสาร แต่ในทางใจในทางธรรมะนี้วิมุตติก็ความหลุดพ้น เป็นแก่นสารเป็นสาระที่เราต้องการ เราก็ต้องการสาระของมัน นี่ธรรมวินัยนี้ พรหมจรรย์นี้ศาสนานี้มีวิมุตติเป็นสาระ ไม่ใช่มีลาภอานิสงส์เป็นสาระอย่างพระพุทธภาษิตว่า พรหมจรรย์นี้มีวิมุตติเป็นแก่นสาร ไม่ใช่มีลาภอานิสงส์เป็นแก่นสาร เพราะทำไปทั้งหมดนี้เพื่อสิ่งที่เรียกว่า “วิมุตติ” คือความหลุดพ้น
อันที่เก้าว่า มีอมตะเป็นที่หยั่งลง เรียกว่า “อมโตคธา” อมโตคธา มีอมตะเป็นโอคธา โอคธะ “โอคธะ” แปลว่าหยั่งลง อันนี้มันเป็นเรื่องแทรกเข้ามา มีวิมุตติเป็นแก่นสารนี้มันก็พอ ความหมายมันก็พอแล้วหลุดพ้นออกไปแล้ว ทีนี้แก่นสารมันหลุดพ้นออกไปไหน มันหลุดพ้นออกไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “อมตะ” อมตะแปลว่าไม่ตาย ถ้าไม่ตายก็ต้องหมายถึงไม่เกิดด้วยมันจึงจะไม่ตาย เพราะฉะนั้นปฏิจจสมุปบาทส่วนนิโรธวารนั้นละมันไม่มีเกิด เมื่อปฏิบัติได้มันไม่มีเกิด ผลของอมตะ ผลของปฏิจจสมุปบบาทนี้นำไปสู่อมตะ คือมันไม่มีตัวกู มันสลายทำให้ตัวกูสลายไปหมด ไม่มีตัวกู ไม่มีเกิดแล้วก็ไม่มีตาย เป็นอมตะ เพราะฉะนั้นหยั่งลงที่อมตะ
อันสุดท้ายก็เรียกว่า มีนิพพานเป็นปริโยสาร อันที่สิบมีนิพพานเป็นปริโยสาร ก็มีนิพพานเป็นที่จบ เป็นจุดจบ เย็น มีเรื่องเย็นเป็นจุดจบ มีฉันทะเป็นมูล มีมนสิการเป็นแดนเกิด มีผัสสะเป็นสมุทัย มีเวทนาเป็นสโมสร มีสมาธิเป็นประมุข มีสติเป็นอธิปไตย มีปัญญาเป็นยอด มีวิมุตติเป็นแก่น มีอมตะเป็นที่หยั่งลง มีนิพพานเป็นปริโยสาร คือจุดจบ
ถ้าคำว่า “ธรรมทั้งหลาย” ในที่นี้หมายถึงธรรมในพุทธศาสนาก็อธิบายได้ง่ายชัด แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ให้เกี่ยวข้องทั่วไปไม่เฉพาะพุทธศาสนาคือทั้งหมดทั้งสิ้นในทั้งอะไรที่มนุษย์จะรู้จักได้แล้วก็ยังมีหลักอันนี้อยู่เหมือนกัน ว่าสิ่งเหล่านั้นทั้งหมดนั้นมันก็เพื่อจุดจบคือ “นิพพาน” จะเป็นเรื่องพูดอย่างอื่น เป็นศาสนาอื่นพูดอย่างอื่น หรือไม่ใช่ศาสนาเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องความรู้อย่างอื่น มันก็มีหลักอย่างนี้ ทีนี้เพื่อให้มันสั้นเข้าแคบเข้าเราพูดกันในเฉพาะในวงพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างนี้มันก็มีหลักอย่างนี้ แต่เนื่องจากว่าคำเหล่านี้เป็นคำกลางที่ใช้ได้ทั่วไป มันใช้กับเรื่องทั่วไปได้
จะพูดเรื่องตัวกู มันก็มีฉันทะเป็นมูล ถ้ามันไม่ชอบอะไรสักอันหนึ่งมันเกิดตัวกูไม่ได้ ที่เกิดตัวกูขึ้นในกรณีใดก็ตามเถิด มันก็มีฉันทะเป็นมูลในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เอามาทำมนสิการนี่แหละก็จะเป็นแดนเกิดแหละของกิเลสและความทุกข์ พอได้ผัสสะมันก็เป็นการก่อขึ้นสำหรับที่จะเป็นตัวกูในวาระสุดท้าย นี้เวทนานะมันเรียกมาซึ่งเหตุปัจจัยต่างๆแหละ ทีนี้มันก็เกิดสมาธิตามแบบของมันแหละ คือเกิดความแน่วแน่ทางอารมณ์เดียวของจิตที่เป็นกิเลส จิตที่จะเป็นกิเลสมันก็มีสมาธิ คือมันเอาอารมณ์ของกิเลสเป็นอารมณ์ของสมาธิ แล้วมันก็ดิ่งลงไปในอารมณ์นั้น ฉะนั้นการเกิดกิเลสมันก็เกิดด้วยอำนาจของมิจฉาสมาธิ คือสมาธิที่เป็นมิจฉาหรือเป็นของผิด ทีนี้ถ้าเป็นยาเป็นยอดมันก็ยอดทางฝ่ายเลวแหละ นี่แม้แต่ตัวกูมันจะเกิด นี้มันก็ไปไม่ได้ มันก็มีความทุกข์ มันก็ปิดตันที่ความทุกข์ มันต้องเลี่ยงมาหาทางที่ถูกต้อง เลี่ยงมาหาวิมุตติ มาหาปัญญา ความถูกต้อง มาหาวิมุตติ มาหานิพพานในที่สุด นี่ถ้ามันไม่รู้สึกมันเป็นไปตามธรรมชาติมันก็เรียกว่าเป็นปัญญา เป็นปัญญาชนิดหนึ่งโดยธรรมชาติ เช่นว่า เมื่อทนทุกข์หนักเข้า ทนทุกข์หนักเข้า ทนทุกข์หนักเข้า มันก็ต้องเกิดความรู้ที่เป็นปัญญาว่าไม่เอาแล้ว ไม่เอาแล้ว พอกันที หรือหลีกเลี่ยงกันทีนี้ มันก็จะเปลี่ยนรูปไปเป็นฝ่ายที่ไม่ทุกข์ได้เหมือนกัน ต้องการไปหาความดับทุกข์ที่กำลังทุกข์อยู่ในอกในใจนี้แหละให้มันหยุดให้มันเย็นเหมือนกัน มันต้องการนิพพานเหมือนกัน จะเป็นนิพพานตามธรรมดา นิพพานชั่วคราวชั่วขณะไปอย่างนั้น คนเราพอร้อนเข้ามาก็จะต้องการจะเย็น พอทุกข์เข้ามาก็ต้องการจะหมดทุกข์คือหยุดทุกข์ ไม่ว่าความทุกข์ชนิดไหนแหละ เรื่องข้าวเรื่องของ เรื่องเงินเรื่องทอง เรื่องบุตรภรรยาสา มีเกียรติยศชื่อเสียง มีความทุกข์เกิดขึ้นมา มัน ในที่สุดมันก็ทนไม่ไหว มันก็ต้องหยุด หยุดทุกข์ไปโดยธรรมชาติ แล้วก็เลี่ยงไปหาไม่ทุกข์ นี่ถ้าฝ่ายดี ฝ่ายตรัสรู้ ฝ่ายดีก็หลักเกณฑ์เดียวกัน
เพราะฉะนั้นรวมความว่ากฎ ๑๐ ประการนี้มันเป็นกฎทั่วไป แล้วอย่าลืมว่ามันตั้งต้นด้วยความโง่ ที่ว่ามีฉันทะเป็นมูลคือมีความพอใจเป็นมูลนี่ละ มันแสดงอยู่ในตัวแล้วว่าฉันทะนั้นคือความโง่ ถ้าไม่โง่มันก็ไม่ไปฉันทะเข้าที่อะไรหรอก การที่จะพอใจไปรักไปกำหนัดไปอยากไปอะไรเข้าที่อะไรนั้น เรียกว่ามีฉันทะเกิดในสิ่งนั้นๆเพราะความโง่คืออวิชชา เพราะฉะนั้นโผล่ขึ้นมาทีแรกว่ามีฉันทะเป็นมูลนี้มันถูกแล้ว แต่อย่าลืมว่ามันรวมอวิชชาหรืออะไรอยู่ในนั้นด้วย นี้ก็เป็นเรื่องที่พูดกันเพื่อให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีอะไร นอกจาก ๒ ประโยคว่า เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มี-สิ่งนี้จึงไม่มี เท่านี้ละศาสนาบ้าสำหรับคนที่ไม่เข้าใจ เพราะว่าเป็นศาสนาที่สุดวิเศษที่สุดไม่มีศาสนาไหนถูกต้องกว่านี้ ถ้าเข้าใจถ้ามองเห็น พระพุทธเจ้าท่านสอนแต่อย่างนี้ ไม่ให้พูดว่ามีคนหรือไม่มีคน ให้พูดว่าเพราะอย่างนี้มี เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี ไม่ให้พูดว่า “สุขหรือทุกข์” ให้พูดแต่ว่าเพราะสิ่งนี้มี-สิ่งจึงมี กระทั่งไม่ให้พูดว่า “มีหรือไม่มี” นี่ก็ไม่ให้พูด ให้พูดว่าเพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มี-สิ่งนี้จึงไม่มี ใครไปพูดตายตัวลงไปว่ามีหรือพูดว่าไม่มี มันบ้า เช่น พูดว่าความสุขมีหรือความสุขไม่มีนี่ละมันบ้า หรือความทุกข์มีความทุกข์ไม่มี นี้มันก็ยังบ้า แต่ถ้าพูดว่าเพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี นี่คือถูก เพราะฉะนั้นจึงให้มองเห็นว่าแท้จริงมันมีแต่เพียงอย่างนี้ ไม่มีตัวตน ไม่มีอัตตา ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู ตัวกูเกิดเพราะมีสิ่งหนึ่งมาหลอกให้เข้าใจอย่างนั้น
เรื่องตัวกูของกูมันมีใจความอย่างนี้แหละ เพราะฉะนั้นเอาไปทบทวนคิดดูใหม่เถิด ทั้งหมดมันจะรวมอยู่ในเค้าเงื่อนที่พูด แล้วจะใช้ประโยชน์เป็นเครื่องดับทุกข์ของตัวได้ แล้วก็ช่วยเหลือเพื่อนฝูงให้ดับทุกข์ได้ เอาละพอกันที