แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมบรรยายธรรมปาฏิโมกข์ของเราที่นี่พูดเรื่องเกี่ยวกับ “ตัวกูของกู” เป็นประจำอย่างที่ทราบกันอยู่ดีแล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้ก็ยังคงพูดเรื่องที่เกี่ยวกับตัวกูของกูต่อไปตามเดิม วันนี้จะพูดโดยหัวข้อว่า “ภาษาพูดของตัวกู”
โดยทั่วไปเราสรุปได้ว่าภาษาพูดมีอยู่ ๒ ภาษาเท่านั้น ที่แล้วมาเราเรียกกันว่า “ภาษาคน” กับ “ภาษาธรรม” ได้เคยอธิบายเรื่องนี้กระทั่งได้พิมพ์คำอธิบายเหล่านั้นเป็นเล่มหนังสือ ก็คงจะเคยได้อ่านกันมาแล้วว่า ภาษาคนคืออะไร ภาษาธรรมคืออะไร ในที่นี้จะบอกให้ทราบได้ให้เข้าใจได้โดยง่ายโดยอาศัยหลักที่ดังกล่าวแล้วนั้นว่า ภาษาคนนั้นคือภาษาสำหรับพูด ภาษาธรรมไม่ใช่ภาษาสำหรับพูด แต่เป็นภาษาสำหรับสอนเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเป็นเรื่องๆไป ส่วนภาษาคนนั้นเป็นภาษาพูด แม้เป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์แล้วก็พูดภาษาคนอยู่นั่นเอง ถ้าไม่พูดภาษาคน คนก็ฟังไม่ถูก แม้เป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ผู้ไม่มีอุปาทานยึดมั่นเรื่องตัวกูของกูคือไม่มีตัวกูของกูแล้ว แต่ก็จำเป็นที่จะต้องพูดด้วยภาษาตัวกูอยู่นั่นเอง นี่ถ้าเราไม่เข้าใจข้อเท็จจริงอันนี้ เราก็จะฉงนหรือว่าจะไม่ยอมเชื่อ เพราะมันเป็นไปได้
ฉะนั้นขอกล่าวเป็นหลักไว้ทีก่อนว่า เมื่อพระพุทธเจ้าพูดกับประชาชนทั่วไปท่านก็ต้องพูดภาษาคน นี่อย่างหนึ่ง และเมื่อท่านจะสอนเรื่องในระดับศีลธรรมคือมีตัวเรา ถ้าเป็นเรื่องศีลธรรมแล้วต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวตัวเราเสมอ ต้องเป็นเรื่องมีตัวเรา ท่านก็พูดภาษาคน คือพูดในลักษณะที่มีตัวเรา ต่อเมื่อท่านจะสอนธรรมะในชั้นลึกที่เรียกว่า “ปรมัตถธรรม” หรือ “สัจธรรม” หรืออะไรทำนองนั้นที่ไม่ใช่ศีลธรรมทั่วไปๆ ท่านจึงจะพูดภาษาที่ไม่มีตัวกู โดยผ่านไปทางภาษาที่มีตัวกู คือต้องอธิบายสิ่งต่างๆหรือพูดอธิบายทุกเรื่องทุกรายด้วยภาษาคนเพื่อให้เข้าใจภาษาที่ไม่มีคน และในที่สุดก็พูดด้วยภาษาที่ไม่มีคนล้วนๆแก่บุคคลผู้เข้าใจเรื่องนี้พอสมควรแล้ว
ทีนี้ภาษาคนนี่มันเป็น “สัสสตทิฏฐิ” หรือ “มิจฉาทิฏฐิ” คือภาษาของคนที่ไม่รู้หรือรู้ผิดนะ ภาษาของคนธรรมดาจะเป็นภาษาสัสสตทิฏฐิ คือมีตัวกูมีของกู จึงจัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิชนิดที่ร้ายกาจที่ทำลายอะไรหมดสิ้นเสียไปตั้งแต่ทีแรก เป็นมิจฉาทิฏฐิที่ทำให้มีความทุกข์ ถ้าพูดอย่างไม่มีตัวคน ไม่มีตัวกูนี้ นั่นจึงจะเป็น “สัมมาทิฏฐิที่แท้จริง” ถ้ายังพูดในระดับธรรมดาสามัญแก่คนสามัญนี้ยังต้องเป็นสัสสตทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิ จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิที่แท้จริง ถ้ายังพูดในระดับธรรมสามัญแก่คนสามัญนี้ยังต้องเป็นสัสสตทิฏฐิ ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ ในโดยหลักทั่วไปเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าจะจัดให้มันเป็นสัมมาทิฏฐิ ก็เป็นสัมมาทิฏฐิอย่างเด็กอมมือ เขามักจะเรียกกันว่า “โลกียสัมมาทิฏฐิ” สัมมาทิฏฐิที่มีสำหรับพูดหรือสำหรับใช้กับคนที่ยังเป็นโลก โลกจัดหรืออยู่ในโลก
ส่วนสัมมาทิฏฐิที่แท้จริงมีอย่างเดียวเท่านั้นที่แท้จริง ก็ต้องใส่คุณบทประกอบเข้าไปให้ชัดว่า “โลกุตรสัมมาทิฏฐิ” สัมมาทิฏฐิฝ่ายโลกุตระ นี่หมายความว่าคนนั้นเขากลัว ไม่กล้าจัดทิฏฐิของคนธรรมดาเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือว่าการสอนว่ามีคน มีเรา ของเรานี่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ที่จริงก็เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่งแต่ไม่ร้ายแรง นี่ก็เพื่อเอาใจกันหน่อยก็เรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิอย่างโลกียะ อย่างชั้นต้นๆ พูดกันตรงไปตรงมาไม่เกรงใจใครไม่เอาอกเอาใจใคร พูดตรงๆและก็พูดว่าเมื่อพระพุทธเจ้าท่านสอนศีลธรรม ท่านพูดภาษาของคน ภาษาคน เป็นสัสสตทิฏฐิ มีฉัน มีเรา มีของเรา มีเราตายแล้วเกิดไปรับความดีของเรา นี่ภาษาสัสสตทิฏฐิ ต่อไปจะพูดภาษาจริงของพระอริยเจ้า ภาษาธรรมแท้ๆก็บอกว่านั่งอยู่ที่นี่ก็ไม่ใช่เรา พูดว่าที่นั่งอยู่ที่นี่ ที่พูดอยู่ที่นี่ ที่อะไรอยู่ที่นี่ ก็ไม่ใช่เรา เป็นเพียงขันธ์ธาตุอายตนะประกอบอยู่ด้วยวิชาอวิชชาแล้วแต่เรื่อง มันไม่มีเราไปเสียตั้งแต่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เลยไม่มีใครเป็นผู้ทำกรรม ไม่มีใครเป็นผู้รับผลของกรรม ไม่มีใครตายแล้วไปเกิดเพื่อรับผลของกรรม ที่นี่พูดอย่างนี้มันฟังไม่ถูก มันจริงเกินไปชาวบ้านฟังไม่ถูกก็เข้าใจผิด กลายเป็น “อุจเฉททิฏฐิ” หรือ “นัตถิกทิฏฐิ” ไปก็ได้ ดังนั้นจึงไม่พูดทันทีหรือดูโอกาสเหมาะจึงจะพูด ถึงจะตรัสเรื่องปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น ก็ต้องระมัดระวังว่าผู้ฟังอาจจะเข้าใจได้ ถ้าเช่นนั้นก็จะเข้าใจไม่ได้ และก็จะเข้าใจเตลิดไปเป็นมิจฉาทิฏฐิอีกชนิหนึ่งคือ อุจเฉททิฐิ
เพราะฉะนั้นการที่จะดูเวลาที่จะพูดว่าพูดภาษาอะไรดี นี่เป็นหน้าที่ของผู้จะพูด พระพุทธเจ้าท่านเป็นสัพพัญญู คือ รู้บุคคล รู้เวลา รู้อะไรทุกอย่าง อย่างที่เราเรียกกันว่า “สัปปุริสธรรม” รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาลเวลา รู้บริษัท รู้บุคคล ถ้าเห็นว่าจะพูดภาษาธรรมะไม่ได้ก็ให้พูดภาษาคนไปก่อน ถ้าอาจจะเข้าใจภาษาธรรมคือไม่มีคนได้ ก็พูดขึ้น แล้วพูดแก่ฆราวาสหรือคนทั่วไปก็จะพูดแต่เรื่องภาษาคน มีดี มีชั่ว ให้ทำดี จะได้รับผลดี และตายไปแล้วจะได้รับผลดีเป็นภาษาคนอย่างนี้ พูดกับชาวบ้านอย่างนี้ตลอดเวลา
มันก็สูตรๆหนึ่งที่ได้เล่าให้ฟังแล้ววันก่อนนี้ว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐีเสียใจร้องไห้โฮเมื่อตอนจะตายเพราะเพิ่งได้ยินคำสอนประเภทไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีคน เมื่อเจ็บหนักจนจะตายอยู่แล้ว แต่ก็จะเข้าใจได้ และก็บรรลุธรรมะได้ แล้วก็โทษว่าก่อนหน้านั้นไม่สอน พระอานนท์ปลอบว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่พูดกับคนที่ยังต่ำเกินไป หรือจะไม่พูดนอกวงคณะสงฆ์ พูดกันแต่ในวงคณะสงฆ์อย่างนี้ เป็นต้น ก็แปลว่าพูดกับชาวบ้านก็พูดภาษาสัสสตทิฏฐิเรื่อยไป มีตัวกู มีของกู มีดี มีชั่ว และส่วนมากก็เป็นอย่างนั้นจริง แต่สังเกตดูตามหลักฐานในหลักบาลีแล้ว พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ถือหลักอย่างนั้น คือไม่ได้ถือหลักว่ากับฆราวาสแล้วจะไม่พูดเรื่องไม่มีตัวตนเสียเลย
มีเรื่องปรากฏชัดอยู่ในคัมภีร์เหมือนกัน ไม่ต้องยึดตัวนี้ตาย ฆราวาสพวกหนึ่ง มีธรรมทินนะอุบาสกเป็นหัวหน้าไปทูลถามเรื่องที่เกี่ยวกับเป็นประโยชน์เกื้อกูลที่สุดแก่ฆราวาสผู้ครองเรือน พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่าเรื่องนั้นก็คือเรื่อง “สุญญตัป ปฏิสังยุตตา” คือคำสอนที่เนื่องกับเรื่องสูญญตา ทีนี้ฆราวาสพวกนั้นก็บอกว่าลึกนักปฏิบัติไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ลดลงไปหาให้ “โสตาปัตติยังคะ” คือการปฏิบัติเพื่อเป็นพระโสดาบัน เขาก็ว่าปฏิบัติกันอยู่แล้ว นี่มันแสดงว่าพระพุทธเจ้าท่านก็บอกไม่ได้ปิดบังและก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะไม่พูดแก่ฆราวาส แต่ฆราวาสปฏิเสธเสียเองแล้วจะไปโทษใคร ทีนี้คนนั้น ฆราวาสหมู่นั้น มันต่างกันกับอนาถบิณฑิก อนาถบิณฑิกนั้นสนใจอยากจะรู้เรื่องไม่มีตัวตน พระไม่พูดให้ฟัง เพิ่งไปพูดเมื่อจะดับจิต ส่วนฆราวาสกลุ่มนี้ไปถามเรื่องที่ดีที่สุด พระพุทธเจ้าพูดเรื่องนี้ก็ไม่เอา
ก็เราลองคำนวณดูก็จะเห็นว่าพวกฆราวาสนี่ไม่ชอบภาษาธรรม ไม่ชอบภาษาที่ไม่มีตัวตน ชอบเรื่องที่มีตัวตน ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงต้องใช้ภาษา ๒ ภาษา เมื่อพูดกับฆราวาสที่ยังอ่อนอยู่ ยังเป็นปุถุชนมากๆก็พูดภาษาคนเสมอ พูดว่าเรามีกรรมเป็นของตัว เราทำกรรมใดไว้ จักรับผลของกรรมนั้นที่นี่หรือหลังจากตายแล้ว ก็พูดเหมือนกันกับคนอื่นพูด ศาสดาอื่นในลัทธิอื่นก็มีพูดอย่างนี้เหมือนกัน เป็นภาษาคน นี่ให้จำไว้เป็นหัวข้ออันหนึ่งว่า เมื่อพูดกับคนธรรมดาท่านพูดภาษาคนเป็นสัสสตทิฏฐิ นี่เมื่อพูดจะดับทุกข์จึงจะพูดภาษาธรรมเป็นสัมมาทิฏฐิโดยแท้จริง
นี่เราก็รู้เรื่องสิ่งที่จะใช้พูดในระหว่างภาษา ๒ ภาษานี้ สำหรับภาษาคนคือภาษาที่มีตัวกูของกูอะไรที่เราจะพูดนี้ มันเกือบจะไม่ต้องอธิบายอะไรอีกแล้ว เพราะว่าเราทุกคนที่นี่ในโลกนี้ ทุกภาษา ทุกชาติ ทุกภาษา ทุกประเทศ ทุกมุมโลก มันก็พูดภาษาคนอยู่แล้วทั้งนั้น คือมีฉัน มีตัวฉัน และก็มีของฉัน ฉันต้องทำอะไรเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ตัวฉัน แล้วก็หมายถึงว่าให้เป็นตัวฉันที่ดี เพราะฉะนั้นเรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องสุข เรื่องทุกข์ เรื่องอะไรทำนองนี้มันเป็นที่ต้องของภาษาคน ภาษาคนต้องพูดเรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องสุข เรื่องทุกข์ ภาษาธรรมไม่ให้มีคน ให้เห็นจริงว่าลงไปถึงกับว่าไม่มีคน มันก็เลยเหนือ เหนือบุญ เหนือบาป เหนือดี เหนือชั่ว เหนือสุข เหนือทุกข์ การบัญญัติลงไปว่าบุญ บาป ดี ชั่ว สุข ทุกข์นี้มันเป็นการบัญญัติคือการแต่งตั้ง การแต่งตั้งนี้เป็นไปตามความต้องการของมนุษย์ และคำพูดมันออกจากความรู้สึกในจิตใจของมนุษย์ มนุษย์ก็เรียกสิ่งที่ถูกใจพอใจ เห็นว่าน่ารักน่าพอใจว่าดีว่าบุญว่าสุข และก็เรียกสิ่งที่มันตรงกันข้ามว่าทุกข์ ดังนั้นแกก็ได้อย่างมากเพียง สุขและทุกข์ สุขและทุกข์ สุขและทุกข์อยู่เรื่อยไป
ทีนี้พวกที่ไม่ใช่คนธรรมดาที่เรียกว่าเหนือโลก พวกโลกุตระนั้นเห็นว่าสุขและทุกข์นี่มันยังเป็นทุกข์ เมื่อมีการยึดถือแล้ว ไม่ว่าอะไรเป็นเรื่องเป็นทุกข์หมด เพราะฉะนั้นเราจะต้องอยู่เหนือการยึดถือ จริงๆไม่มีอะไรจะยึดถือทั้งสุขและทุกข์ จนกระทั่งว่าไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวเรา ที่จะเอา หรือจะสร้างความสุขหรือความทุกข์นั้น มันไปไกลอย่างนี้ ไกลจนฟังไม่ดีก็คือบ้า บ้าตรงที่ว่าไม่มีตัวคนไม่มีตัวเราที่จะทำอะไรหรือจะเอาอะไร ถ้าฟังไม่ดีก็เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือเป็นคนบ้าชนิดหนึ่ง ต่อเมื่อฟังถูกจึงจะว่านี่คือความจริง ถ้าถามว่ามีอะไร ก็มีสิ่งต่างๆที่ไปเป็นธรรมชาติตามกฎแห่งเหตุแห่งปัจจัย เรียกว่าอะไร ไม่มีภาษาเรียก แต่ภาษาธรรมะเขามี ไม่มีเรียกในภาษาคนก็จริง ชาวโลกเรียกไม่เป็น ไม่รู้จัก แต่ในภาษาธรรมของพระอริยเจ้า เขามีคำสำหรับเรียกสิ่งเหล่านั้น เรียกสั้นๆว่า “ปฏิจจสมุปปันนธรรม” คือสิ่งที่อาศัยกันเกิดขึ้น ไปจำไว้ให้แม่นยำ เขาถามว่ามีอะไรถ้าไม่มีคนแล้วมีอะไร ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ตัว ตน เรา เขา แล้วมีอะไร ถ้าเขาถาม เราก็จนปัญญาเหมือนกัน ไม่มีภาษาจะพูดก็ต้องพูดด้วยภาษาธรรม ซึ่งอยู่ในรูปของภาษาบาลี ว่ามีแต่ ปฏิจจสมุปปันนธรรม คือธรรมชาติที่อาศัยการเกิดขึ้น ให้รู้จักคำนี้ให้ดี และจะง่ายในการที่จะรู้จักพระพุทธศาสนา เหลียวไปทางไหนข้างนอกตัวเราก็มีแต่ปฏิจจสมุปปันนธรรม เราจะเหลียวไปเห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้ดมอะไร ได้อะไรรอบตัวเรา นอกตัวเรานี้ ก็ปฏิจจสมุปปันนธรรมข้างนอก แต่นี่ไม่สำคัญ ไม่ใช่เรื่องที่จะทำอะไรให้เป็นเรื่องได้ ต้องเหลียวไปข้างใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ได้รับอารมณ์ข้างนอก แล้วเกิดวิญญาณขึ้นมา เกิดผัสสะขึ้นมา เกิดเวทนาขึ้นมา เกิดตัณหาขึ้นมา เกิดอุปาทานขึ้นมา นี่คือตัวเรื่อง ตัวที่มันเป็นเรื่อง ตัวเหตุตัวที่ทำเรื่อง โดยเฉพาะก็คือความรู้สึกในใจ ความรู้สึกในใจมันมีตั้งแต่เรื่องสัมผัส รู้สึก แล้วก็รู้สึกเวทนา แล้วก็รู้สึกตัณหา นี่คือตัวเรื่อง ตัณหาอุปาทาน
ความรู้สึกทั้งหมดนั้น มันก็เป็นไปตามสิ่งที่เห็นทางตา ฟังทางหู นี่คือตัวปฏิจจสมุปปันนธรรมที่แท้จริง ที่จะถูกสมมติว่าเป็นคน หรือเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตัวตนเราเขา คือเป็นตัวทั้งนั้น มันเป็นเพียงความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นอาศัยเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ทีนี้ถ้าความรู้สึกนั้นมันประกอบอยู่ด้วยไม่รู้คือ “อวิชชา” มันก็รู้ไปทางมีตัวกู เป็นอุปาทาน มีตัวกูมีของกู จนกว่ารู้ความจริงถึงที่สุดตามแบบของพระพุทธเจ้าจึงจะมีวิชชาเกิดขึ้น เพราะมีอะไรเข้ามากระทบมารู้สึกในใจจึงจะรู้ไม่ใช่ตัวกูอย่างที่เราเคยโง่ มันเป็นอย่างนั้นเอง มันเป็นธรรมชาติที่อาศัยการเกิดขึ้น ปรากฏขึ้น นี่เรียกว่าปฏิจจสมุปปันนธรรมแท้ที่อยู่ข้างในคนเรานั้นแหละ แต่ถ้ามันมีแต่ข้างในมันไม่มีข้างนอก มันก็ทำอะไรไม่ได้ มันถึงรวบเอาข้างนอกเข้ามาใส่ไว้ด้วยเป็นส่วนหนึ่งของข้างใน คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ข้างนอกเอามาใส่ไว้กับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ข้างใจให้เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน เมื่อไหร่มีความเกี่ยวเนื่องกันก็เกิดอันใหม่ขึ้นมาเป็นลำดับ ลำดับ ลำดับ นี่คืออาการของปฏิจจสมุปปันนธรรม แต่เขาเรียกมันว่า “ปฏิจจสมุปบาท” มันมีอาการปรุงเป็นเรื่อง เป็นเรื่อง เป็นเรื่องขึ้นมา อันเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ถ้าแต่สิ่งหนึ่ง สิ่งหนึ่ง สิ่งหนึ่ง แยกเป็นสิ่งๆไป ก็เรียกว่าปฏิจจสมุปปันธรรม คำข้างหน้าเหมือนกัน ปฏิจจสมุปะ เหมือนกัน บาท ปฏิจจสมุปปันนธรรม
เมื่อมันไม่ทำงานอย่างที่ใจก่อให้เกิดทุกข์ ก็เรียกมันว่าปฏิจจสมุปปันนธรรมอย่างหนึ่งๆ พอมันเข้าไปเกี่ยวข้องกันจนเกิดทุกข์นี่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท คือตา เห็นรูป ตานี่เป็นอายตนะภายใน รูปเป็นอายตนะภายนอก ตาเห็นรูป พอตากระทบรูป เกิดสิ่งที่เรียกว่า “จักษุวิญญาณ” คือจิต ธาตุจิต หรือมโนธาตุนี้ เกิดขึ้นทำหน้าที่รู้เรียกว่า “วิญญาณทางตา หรือ จักขุวิญญาณ” นี่แปลว่าเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมที่สองนะ พอตากับรูปกับวิญญาณทำงานร่วมกันก็เรียกได้ว่า “ผัสสะ” เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมถัดมา คือการกระทบระหว่างอายตนะกับวิญญาณ ทีนี้ก็มีเวทนาเกิดขึ้นจากผัสสะนั้น เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมถัดมาอีก มีเวทนาแล้วก็เกิดตัณหา ตัณหาแล้วก็เกิดอุปาทาน เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมเป็นลำดับ ลำดับมา จึงเกิดภพ จึงเกิดชาติ ระเบิดออกมาเป็นตัวกู ทีก็มีชรามรณะซึ่งเป็นทุกข์
ดังนั้น ถ้าจะพูด ถ้าถูกถามว่ามีอะไร ก็ไม่มีอะไรนอกจากปฏิจจสมุปปันนธรรมหรือปฏิจจสมุปบาทไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรื่องนี้เป็นธรรมะแท้ เพื่อจะทำลายสัสสตทิฏฐิว่า มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ซึ่งพูดอยู่ทุกวัน ซึ่งสอนอยู่ทุกวัน ซึ่งพูดอยู่ทุกวัน ว่ามีตัวเรา ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ตายแล้วไปรับผลกรรมดีกรรมชั่ว นั่นภาษาศีลธรรม ภาษาสัสสตทิฏฐิ มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา เวียนว่ายไปตามกรรมที่ทำไว้ นั้นก็ถูก ถูกสำหรับคนไม่รู้อะไร ถูกสำหรับคนที่ยังไม่รู้อะไรในส่วนธรรมะที่แท้จริง ที่เป็นตัวความจริง
ทีนี้บอกว่าที่จริงมันไม่ใช่อย่างนั้น ความรู้สึกว่าสัตว์ ว่าคน ว่าตน ว่าเรา ว่าเขานี้ มันเป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างผิดๆ เพราะว่าชีวิตตัวนั้นมันไม่เคยมีแสงสว่างเกี่ยวกับธรรมะของพระอริยเจ้า มันเกิดมาแล้วไม่ถูกนำไปตามหนทางของพระอริยเจ้า มันตั้งแต่เด็กมามันก็มีความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกูเรื่อยมาจนโตจนถึงบัดนี้ นี่ถ้าได้ยินได้ฟังหรือว่าถูกนำไปตามหนทางของพระอริยเจ้า มันค่อยๆรู้ ค่อยๆฉลาดขึ้นทุกทีๆๆ จนกระทั่งรู้นี่เป็นเพียงผัสสะเท่านั้น เช่น การเห็นอะไร หรือได้ฟังอะไร ได้ดมอะไร เป็นเพียงการกระทบกันระหว่างสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติเท่านั้น แล้วมันจะไปปรุงเป็นความคิดรู้สึกเป็นเวทนา ตัณหา ซึ่งเป็นตัวกูขึ้นมาสำหรับคนที่ไม่รู้ว่านี่เป็นธรรมชาติเท่านั้น ธรรมชาติล้วนๆเท่านั้น
เมื่อมันเดินกันคนละสายอย่างนี้ภาษาพูดก็คนละภาษา ที่เป็นภาษาสัสสตทิฏฐิคือภาษาคนอย่างหนึ่ง เป็นภาษาสัมมาทิฏฐิหรือภาษาธรรมนั้นอย่างหนึ่ง นี่ที่มันเป็นไปตามความไม่รู้บนภาษาคน มันก็มีปัญหาเรื่องคน ปัญหาอะไรที่จะเกิดขึ้นแก่คนมันก็มีหมด โดยเฉพาะคือเรื่องความทุกข์ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ “ความกลัว” ตลอดชีวิตอยู่ด้วยความกลัว กลัวจะได้ไม่ถูกใจ กลัวจะไม่ได้ที่ถูกใจ รวมความแล้วกลัวจะตาย ตรงนี้อย่าลำเอียงกัน เอาไปดูสำรวจตัวเองดูให้ดี ทุกวันตลอดทุกวันนี้อยู่ด้วยความกลัว แม้บวชมาเป็นพระแล้วอย่างนี้มันก็ยังอยู่ด้วยความกลัว อย่าเข้าใครออกใคร ไปคิดดู มันกลัวทุกอย่างที่เคยกลัว อย่างกลัวล่วงหน้าไว้ในอนาคต กลัวว่าอนาคตจะไม่ได้อย่างที่ต้องการ นี่กำลังมีอะไรผูกพันกันอยู่จะต้องสึกออกไปทำนั่นทำนี่ ถึงแม้จะอยู่ต่อไปไม่สึก มันก็ล้วนแต่เต็มไปด้วยความกลัว แต่ยังไม่รุนแรงบีบคั้นถึงกับเป็นบ้า แต่พอที่จะทำให้เป็นโรคเส้นประสาทได้ไม่มากก็น้อย
ถ้ามองเห็นว่าชีวิตมันอยู่ด้วยความกลัวจริงๆอย่างนี้ ทั้งหลับทั้งตื่นอย่างนี้นั้นจะเข้าใจประโยชน์ของภาษาธรรมะหรือเรื่องความจริงของธรรมะว่า เราต้องเรียนจนรู้ว่ามันไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา จริงๆ ความกลัวจะสลายไปทันที ดังนั้นความเป็นพระอรหันต์ที่ใช้วัดกันมากพูดกันมากก็คือเรื่องความกลัว ถ้ายังกลัวอยู่ ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ต้องไม่มีความกลัวอะไรเลยจึงจะเป็นพระอรหันต์ และคำพูดว่าไม่กลัวอะไรเลยมันมีความหมายกว้างไปถึงไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ
โลภะ โทสะ โมหะ เป็นเหตุให้กลัว ถ้าพูดอย่างย้อนหลังว่า ถ้าไม่มีความกลัว ก็ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ถ้าพูดอย่างไปข้างหน้าก็ว่า ถ้ามีโลภะ โทสะ โมหะ แล้วเป็นต้องกลัว ความโลภให้ทำกลัวว่าจะไม่ได้ ความโกรธมันก็มาจากความกลัวว่าไม่ได้แล้วมันจะเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ อะไรมาทำลายประโยชน์ของเรา เราก็โกรธ มันกลัว ส่วนโมหะนั้นมันกลัวมาก กลัวอย่างคลุมเครือ ดังนั้น โลภะ โทสะ โมหะ หมดก็คือความกลัวหมด ความกลัวหมดก็คือโลภะ โทสะ โมหะ หมด นี่หมายถึงหมดจริง จึงมามองเห็นว่ามันอยู่อย่างทรมานอย่างนี้ มันไม่ไหว เป็นคนธรรมดาไม่ใช่พระอริยเจ้าคือคนประเสริฐ คนประเสริฐต้องอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ จึงสนใจมาค้นความศึกษากันว่าทำอย่างไรจึงจะหมดความกลัว และทุกอย่างที่มันเนื่องกันอยู่
ลัทธิอื่นๆเสนอขึ้นมาอย่างอื่น แต่ลัทธิของพระพุทธเจ้าท่านเสนอขึ้นมาอย่างนี้ว่าต้องหมดตัวกู ต้องรู้ว่าทั้งหมดนี้ไม่มีตัวกู ไม่ใช่ตัวกู ไม่เป็นตัวกู ไม่เป็นของกู เป็นเพียงปฏิจจสมุปปันนธรรม แล้วทำไมยังเกิดรู้สึกว่าเป็นตัวกูขึ้นมาได้ ก็นั่นมันปฏิจจสมุปบาทฝ่ายโง่ คือฝ่ายที่อวิชชานำหน้า มันเป็นไป เป็นไป เป็นไป จนเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกูขึ้นมาได้ที่ตรงตัณหา อุปาทาน ภพ ชาตินั่นเอง ในวันหนึ่งๆมีไม่รู้กี่ชาติ จะทำอย่างไร ก็ต้องมีวิชชา มีสติสัมปชัญญะ ที่จะมีวิชชารู้เท่านั้น เมื่อตากระทบรู้ เมื่อหูกระทบเสียง เกิดวิญญาณขึ้นมา ก็อย่าให้วิญญาณนั้นมันเป็นไปในทางที่มันจะโง่ รู้อะไรเป็นอะไร เป็นผัสสะขึ้นมาแล้ว ก็รู้อะไรเป็นอะไร ก็ไม่ต้องเกิดเวทนาก็ได้ ไม่ต้องไปยินดียินร้ายก็ได้ ให้รู้นี่มันเป็นอะไร มันเป็นเรื่องอะไร สุนัขเข้ามา แมวเข้ามา เสือเข้ามา อะไรเข้ามานี้ มันเป็นอะไร จะต้องทำอะไร ก็ทำอย่างนั้นสิ อย่าให้มันเลยไปถึงว่ามันดีใจ พอใจ ไม่พอใจ เกิดตัวกูอย่างนั้นอย่างนี้ กระทั่งเกิดกลัวขึ้นมา เกิดรักขึ้นมา เกิดอะไรขึ้นมา
นี่สรุปความตรงนี้ก็พอจะสรุปได้ว่า พออะไรเข้ามากระทบ วิชชามา รู้ว่าควรทำอย่างไร แล้วก็ทำอย่างนั้น ไม่ต้องเกิดเป็นตัวกูของกู ทำด้วยอะไรก็ทำด้วยสติปัญญา ไม่ต้องทำด้วยตัวกูของกู สติปัญญารู้อะไร ก็รู้ปฏิจจสมุปบาท รู้ปฏิจจสมุปปันนธรรม นั่นเอง นี่เราตามรอยพระอรหันต์ก็ต้องทำอย่างนี้ พระอรหันต์เป็นพระอรหันต์แล้วท่านทำอย่างนี้ ท่านอยู่อย่างนี้ ท่านมีชีวิตอยู่อย่างนี้ อะไรมากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เตะกลับไป เป็นเพียงปฏิจจสมุปปันนธรรม ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ไม่ต้องยินดียินร้าย คือไม่ต้องพอใจ ไม่ต้องเสียใจ แล้วก็ไม่ต้องกลัว ไม่มีสิ่งเหล่านี้ นี่เป็นพระอรหันต์คือเป็นอย่างนี้ ทีนี้ผู้ที่ตามรอยพระอรหันต์ก็คือทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ จึงฝึกหัดเพื่อความเป็นอย่างนี้ มันมี ๒ เรื่องเท่านี้
ที่นี้พอพูดกับคนชาวบ้านที่ไม่เคยฟังเรื่องนี้เลย เป็นฟังไม่ถูกแน่ เป็นฟังไม่ถูกแน่ ในสูตรๆหนึ่งก็มีน่าขันที่สุด เรื่องพระภิกษุองค์หนึ่งพอก็ได้ฟังคำสอนเรื่องอนัตตา เรื่องไม่มีตัวตนนี่ ท่านก็มีความรู้สึกที่น่าหัวขึ้นมา นี่ผมยังจดไว้ คือพระพุทธเจ้าท่านตรัสเรื่องธรรมะที่เป็นอนัตตาเป็นสุญญตา โดยเฉพาะเบญจขันธ์ทั้ง ๕ ไม่มีอันไหนเป็นอัตตา จนตลอดเรื่องที่ไม่มีตัวเราไม่ใช่ของเรา ที่พระองค์นั้นแกฟัง แกเป็นปุถุชน แกฟังไม่ถูก ความคิดของแกก็เกิดขึ้นในใจว่า กรรมที่อนัตตากระทำนี่มันก็ยังมาถูกต้องอัตตาที่ทำกรรมได้นะเว้ย ฟังดูสิ กรรมที่อนัตตากระทำ ก็มาถูกอัตตาที่กระทำกรรมนั้นได้นะเว้ย ที่บาลีมีว่า(นาทีที่ 33:37) อิทธิกีระโพ รูปัง อนัตตา ละกระทั่งวิญญาณ อนัตตา อะนัตตะกะตานิ กะมานิ กัมมัตตานัง คล้ายๆกับต้องตะโกนว่าท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ย ได้ยินว่ารูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา วิญญาณังเป็นอนัตตาโว้ย แต่แล้วกรรมที่อนัตตานั้นกระทำ ก็ยังมาถูกตัวกูที่ทำกรรมนี้ได้โว้ย ลองฟังดู ไม่เข้าใจจนแล้วจนรอด แกเข้าใจตอนแรกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ประกอบกันเป็นบุคคลคนหนึ่งนี้เป็นอนัตตา รูปก็อนัตตา เวทนาก็อนัตตา สัญญาอนัตตา ทีนี้กรรมที่ทำลงไปนั้น ที่แท้มันไม่ใช่กรรม แต่แก่มันก็ฟังไม่ถูก แกก็เรียกว่ากรรมสิ กรรมที่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณทำนั้นเรียกว่า กรรมที่อนัตตากระทำ แต่แล้วตัวกูผู้ได้รับผล สุขทุกข์ บุญบาป สุขทุกข์โว้ย มันพูดกันคนละที ตอนแรกพูดเรื่องอนัตตาว่าทำกรรมได้ พอตอนหลังก็มากรรมนี้มาได้ผลแก่อัตตาคือตัวกู ไม่ใช่ได้แก่อนัตตา เพราะถ้าจะได้แก่อนัตตาแกก็ฟังไม่ถูก
นี่แปลว่าฟังถูกครึ่งท่อนเท่านั้นเอง ว่าร่างกายชีวิตจิตใจนี่เป็นอนัตตา และมันทำกรรมหรือบุญหรือบาปก็ตาม และผลยังมีอยู่มาถูกอัตตาคือตัวกูผู้ทำ นี่เป็นเรื่องที่น่าหัว เราจะต้องนึกถึงบทที่ว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา หรือ สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวตนหรือของตนนั้น นี่แกก็ฟังไม่ถูก ถ้าฟังถูกก็ต้องฟังถูกอย่างอุจเฉททิฐิ หรือนัตถิกทิฐิ ขาดสูญไปอีกเลย ไม่มีอะไรโว้ย ไม่มีอะไรทำ ไม่มีอะไรได้ ไม่มีอะไรหมดทั้งหมดไปเลย
ดังนั้น เราจะต้องรู้ว่านี่ปัญหาเกิดขึ้นทะเลาะวิวาทกันนี้เพราะว่าพูดคนละภาษา ภาษามาจากความรู้สึก ทีนี้คนมันเป็นปุถุชนมาก มันมีตัวกู พูดภาษาตัวกู ความรู้สึกยังเป็นตัวกูอยู่เสมอ แต่พอมาบอกว่าเหล่านั้นไม่ใช่ตัวกู แกรับเอาครึ่งท่อนเท่านั้น คือตัวผู้กระทำนั้นเป็นอนัตตา พอเกิดผลขึ้นมาตัวกูจะเอา จึงพูดว่าถึงแม้ว่าเบญจขันธ์เป็นอนัตตา แต่ว่าผลของการกระทำนั้นยังเป็นของตัวกูเว้ย มันก็เลยเป็นเรื่องน่าหัว พระพุทธเจ้าจึงต้องเรียกตัวไปพูดกันเฉพาะ ไล่เรียงกันเฉพาะ ให้รู้ความที่ว่า รูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา วิญญาณังเป็นอนัตตาอย่างถูกต้อง ไล่ไปทีละลำดับ ทีละลำดับ ไม่เปิดโอกาสให้แกเฉออกนอกทางได้ เหมือนที่กับตรัสไว้ในอนัตตลักขณสูตร ที่เราสวดกันอยู่ จะต้องรู้ว่า รูปเป็นอนัตตาครบบริบูรณ์ เนตังมะมะ เนโสหะมัสมิ นะ เมโส อัตตา อย่างนี้เข้าใจเสียก่อน แล้วจึงพูดว่าการกระทำมันเป็นเพียงการที่เป็นไปตามธรรมชาติ ตามปฏิจจสมุปบาท ตามปฏิจจสมุปปันนธรรม ไม่ใช่มีตัวกูที่เป็นผู้ทำ ดังนั้น ถ้าผลเกิดขึ้น มันก็เกิดขึ้นแก่สิ่งที่สมมติว่าเป็นผู้ทำ คือเกิดขึ้นแก่เบญจขันธ์ หรือที่เป็นตัวการกระทำนั้น
ทีนี้มันยังมีถึงว่าถ้าคนลักษณะ ไม่รับเอาว่าเป็นสิ่งๆเดียวกัน คือเบญจขันธ์นี้มันก็ทยอยกันไป ทยอยกันไป เบญจขันธ์ว่ารับอารมณ์ เบญจขันธ์ว่ารู้สึกอารมณ์ เบญจขันธ์เมื่อเสวยอารมณ์ เบญจขันธ์เมื่อเกิดกิเลส เบญจขันธ์เมื่อทำการกระทำลงไปตามอำนาจของกิเลส นี่เป็นคนละเบญจขันธ์อยู่เรื่อย นี่มันกลายเป็นปฏิเสธหนักขึ้นไปอีกว่าไม่มีตัวตนและยังไม่มีอะไรที่ติดต่อกันสำหรับจะเป็นตัวตนผู้ที่ได้รับผลของกรรมนั้น นี่จะเรียกว่าอะไร ก็เรียกว่าธรรมชาติล้วนๆ มีบาลีอยู่อีกแห่งหนึ่งว่า (นาทีที่ 38:40) สุทธธรรมะ สมุปปันนัง สุทังสังขา รสังตะติง สุทธธรรมะ สัมปนัง มีเพียงว่าปฏิจจสมุปปันนธรรมเท่านั้น เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมล้วนๆ สุทังสังขา รสังตะติง นี่เป็นการสืบต่อแห่งสังขารล้วนๆ
สังขารนั้นคือสิ่งทั้งปวงที่มีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่ง แล้วปรุงแต่งสิ่งอื่นต่อไป นี้เขาเรียกว่าสังขาร กายใจอะไรทั้ง ๕ นี้ก็เรียกว่าสังขารเหมือนกัน เป็นเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมล้วนๆ หรือว่าเป็นปฏิจจสมุปธรรมที่กำลังทำงานส่งกันไปตามลำดับติดต่อกันให้เป็นปฏิจจสมุปบาท มีเท่านั้น ตัวเราไม่มี สัตว์ไม่มี ดังนั้น ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัวเลยไม่มี อะไรที่เป็นความทุกข์ก็ไม่มี นี่เรียกว่าภาษาอะไรก็คิดดู ภาษาโลกุตระ ภาษาที่อยู่เหนือชาวโลกที่ชาวโลกเข้าใจไม่ได้ เว้นไว้แต่จะมาเล่าเรียนศึกษาให้รู้ภาษานี้โดยด้วยความจริงข้อนี้ก่อน แล้วก็พูดภาษานี้กับเขาเป็น ว่าไม่มีตัวไม่มีตน นี่พูดเป็น เดี๋ยวนี้ว่าแต่ปาก ในโรงเรียนหรือที่ไหนก็สอน สอน เทศน์ เทศน์ เทศน์ เทศน์กันไป เรื่องไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคล เราเขา ก็พูดเป็น แต่แล้วก็พูดแต่ปากอย่างนกแก้วนกขุนทอง นี่มันเป็นภาษาคนหนักขึ้นไปอีก เช่นเดียวกับภิกษุองค์นั้น องค์ที่ยกตัวอย่างว่าอนัตตาทำกรรมโว้ย แล้วก็มาได้ผลแก่อัตตาคือตัวกูนี่โว้ย มันน่าขัน การพูดว่าอนัตตาอะไรแต่ปากนี่มันก็น่าหัว นี่เรากำลังพูดอนัตตาแต่ปากกันอยู่ทุกวันกระมัง ถ้าพูดว่าอนัตตา ก็เลยไปคิดดูให้ดี จะทำอย่างไงกันดี
มาคิดถึงพระพุทธเจ้า ท่านเป็นพระพุทธเจ้าหรือเป็นยิ่งกว่าพระอรหันต์ธรรมดา ท่านก็ยังพูดภาษาคน พูดภาษามีตัวตน เราตถาคตเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นี่มันก็ต้องพูดภาษานี้ เพราะในโลกมันมีแต่ภาษาเดียวนี้ เมื่อพูดกันในโลกมีภาษาเดียวนี้ หมายความว่ามีภาษาที่สัสสตทิฏฐิ ที่เป็นสัสสตทิฏฐิ มีตัวมีตน ทีเรามีของเรา โลกมีแต่ภาษาเดียวนี้ เราก็เหมือนกันเมื่อพูดกันอย่างภาษาโลกก็พูดด้วยภาษานี้ แต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านสั่งว่าต้องมีสติสัมปชัญญะพูดภาษานี้ สำหรับตถาคตนั้นก็พูดภาษานั้น ภาษาโลก ภาษาชาวบ้านนั้น แต่ไม่ยึดถือในความหมายเหมือนชาวบ้าน ไม่ยึดถือในความหมายอย่างภาษาชาวบ้าน ท่านพูดว่าเรา ว่าของเรา ว่าผู้อื่น ว่าบุญ ว่าบาป ว่าอะไร ท่านพูดภาษาชาวบ้านแต่ไม่ยึดถือความหมายอย่างชาวบ้าน เพราะท่านมีสติเกินกว่าที่จะมี ท่านก็ไม่ยึดถือในความหมายของคำพูดนั้นเหมือนภาษาชาวบ้าน ทีนี้พวกเราระวังให้ดี คือเรามันยังไม่เป็นพระอรหันต์ ยังไม่เป็นพระพุทธเจ้า เราพูดอย่างไรเรามีความหมายอย่างนั้นไปหมด และคำพูดออกมาจากความรู้สึกข้างใน พูดเป็นตัวกูของกูออกมาเมื่อมีความโลภ ความโกรธ ความหลง มันผิดกันอย่างนี้
ทีแรกท่านก็สอนให้ฝึกพอเมื่อปากพูดภาษาชาวบ้านจงมีสติสัมปชัญญะ อย่ายึดถือเอาความหมายนั้นตามแบบของชาวบ้านที่ไม่มีตัวตน นี่ทำยากที่สุด เพราะเราจะต้องพูดวันหนึ่งตั้งมากมาย ไม่ค่อยจะมีสติสัมปชัญญะหวาดไหว แต่มันก็ไม่มีทางเลือก มันต้องทำอย่างนั้น ต้องฝึกฝนสติสัมปชัญญะให้มีอยู่ทุกคำที่พูดออกไป ดังนั้น มันพูดเป็นภาษาชาวบ้านเป็นเรื่องของสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ก็รู้ว่านี่มันเราพูดกับชาวบ้าน ตามภาษาชาวบ้าน โดยเนื้อแท้ไม่มีอะไร นอกจากปฏิจจสมุปปันนธรรมอย่างเดียวนี้
การทำอยู่อย่างนี้คือปฏิบัติธรรมชั้นเลิศชั้นสูงสูด มีสติสัมปชัญญะ มีวิปัสสนา มีปัญญา มีอะไรอย่างสูงสุดเลย ไม่ต้องไปนั่งหลับตาที่ไหนด้วยซ้ำไป ระวังอยู่ในเวลาที่พูดออกไปคำหนึ่งๆๆ ในวันหนึ่งไม่รู้กี่ร้อยกี่พันคำให้มีสติสัมปชัญญะที่จะไม่ยึดถือเอาความหมายที่เป็นตัวตนของตนในคำพูดที่พูดออกไป แต่มันทำยาก ดังนั้น จึงต้องไปซ้อมกันในป่า ไปนั่งอยู่คนเดียว ไปนั่งทบทวนคิดนึกพิจารณาในที่สงบสงัดให้เข้าใจแจ่มแจ้งให้มากที่สุด แล้วพอออกมาติดต่อกับสังคมกับมนุษย์บุคคลนี้จึงสามารถที่จะมีสติสัมปชัญญะ ไม่ยึดถือเอาความหมายความเป็นตัวตนในคำพูดที่ตนพูดออกไป
ครั้งหนึ่งในประเทศไทยเรานี้ จะเป็นสมัยสุโขทัยหรือสมัยอยุธยาก็บอกไม่ค่อยได้ แต่รู้ได้ว่าครั้งหนึ่งมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่จะเตือนให้ภิกษุบรรพชิตนี้มีสติสัมปชัญญะอย่างนี้ได้ง่ายเข้า จึงเกิดมีธรรมเนียมให้ใช้คำสรรพนามแทนตัวเราเองนี้ว่า “รูป” คำว่า “อาตมาภาพ” นั้นเพิ่งมีหยกๆในสมัยกรุงเทพนะ สมัยกรุงเทพตอนปลายๆมานี้ด้วยซ้ำไป แต่รัชกาลไหนอย่าพูดดีกว่ามันกระทบกระเทือน แต่ว่าก่อนนี้พระจะพูดถึงตัวเองด้วยตัวเองด้วยคำว่ารูป รูปมาที่นี่เพื่อประสงค์อย่างนั้นอย่างนี้ รูปต้องการนั้น รูปต้องการนี้ ใช้คำว่ารูปทั้งนั้นแหละ เดี๋ยวนี้จะเหลืออยู่ในแหล่เทศน์ รูปจะกล่าวในแหล่เทศน์ตลกๆ แหล่เทศน์นอกเรื่อง คำว่ารูปนั้นยังเหลืออยู่ ส่วนในภาษาพูดที่จริงหายไปหมดแล้ว แต่ยังเหลือในหนังสือใช้คำว่ารูป ในบาลีใน อรรถกถาก็เคยพบบางแห่งที่ผู้พูดใช้คำแก่ตัวเองว่ารูป ก็กล่าวมากเหมือนกัน ไม่ทราบว่าครั้งไหนเหมือนกัน แต่ในบาลีพระไตรปิฎกไม่เคยพบ พบอย่างในอรรถกถาหรือในหนังสือที่แต่งขึ้นเป็นเรื่องเฉพาะ แต่ในภาษาไทยนี่แน่นอน
สมัยผมเด็กๆก็ยังได้ยินพระผู้เฒ่าใช้คำแก่ตัวเองว่ารูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อขึ้นธรรมาสน์แล้วจะใช้คำว่ารูป บัดนี้รูปจะวิสัจชนาอะไรว่าไปตามเรื่อง ใช้คำว่ารูปแทนคำว่าอาตมาหรืออาตมาภาพหรือตัวฉัน แม้จะพูดกับเด็กๆ พูดกับฆราวาสหรือพูดกับเด็กๆ ก็ยังใช้คำว่ารูป นี้มันเป็นสิ่งที่ช่วยได้เหมือนกัน ถ้าแกจะคิดสงสัยขึ้นว่าทำไมว่าเราต้องพูดว่ารูป แล้วก็ศึกษาไล่เรียงไปแล้วก็ค่อยๆเข้าไปในกรอบของเรื่องอนัตตา ว่ารูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา ทั้ง ๕ นี้เป็นอนัตตา ที่มันเดินเข้าไปบิณฑบาตในบ้านนี้รูป มันรูป มันคือร่างกาย รูปไปบิณฑบาต รูปเข้าไปในบ้าน รูปเข้าไปทำอะไร เดี๋ยวนี้กลายเป็นสิ่งที่เขาไม่ทำ ใครไปทำก็เรียกว่าบ้าเลย ต้องพูดว่าอาตมาภาพ มันถลำลึกเขาไปในอัตตาอย่างยิ่งเลย อาตมานั้นคืออัตตา เติมคำว่าภาพเข้าไปหน่อย อาตมาภาวะ ก็ภาวะแห่งอัตตา นี่เป็นภาษาชาวบ้านชัดเลย ภาษาคน ภาษาชาวบ้าน ภาษาสัสสตทิฏฐิชัดเลย ที่เราพูดกันอยู่เดี๋ยวนี้ว่าอาตมาภาพ ถ้าจะย้อนกลับไปพูดคำว่ารูปกันใหม่ มันจึงจะเป็นภาษาสุญญตาอนัตตาขึ้นมาอีก
ก็ดูสิ แม้พระเราก็ถูกตีแตกกระจัดกระจาย คือพ่ายที่มั่นหรือปราการก็ถูกตีแตกกระจัดกระจายแล้ว ภิกษุมาพูดว่า อัตตา อาตมา อาตมาภาพอะไรเสียเอง แทนที่จะพูดว่ารูป ที่นี้ว่าเรื่องเหล่านี้มันก็เป็นเรื่องตามเรื่อง อย่าไปยึดถือ เรารู้ไว้สำหรับเราทำจิตใจจะมีสติสัมปชัญญะเหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านทรงกำชับสอนว่า ปากพูดไปอย่างไรตามภาษาชาวบ้านชาวโลก ใจอย่าไปยึดถือความหมายนั้น เมื่อปากพูดว่าอาตมาภาพ ใจอย่ายึดถือเป็นอาตมาหรืออาตมาภาพ ใจยึดถือเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม คือเบญจขันธ์อันใดอันหนึ่ง ชั่วขณะเดียว ชั่วขณะเดียว ชั่วขณะเดียวอยู่เรื่อย ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ติดต่ออะไรอย่างนั้นอย่างนี้ นี่คืออะไร มันจะรวมเรียกว่า “ธรรม” ว่า “ธรรมที่แท้จริง” ซึ่งเป็นตัวพระพุทธศาสนา เป็นสุทธิธรรมาคือธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
ครั้งแรกมันก็จะนึกขบขันตัวเองอยู่มาก เหมือนกับพระองค์นั้นเที่ยวเดินไปไหนก็อนัตตาเดินไป แล้วพอไปถึงอัตตาตัวกูมันถึง มันคงจะรู้สึกอย่างนี้เหมือนกัน แต่ถ้าหลายๆหนเข้าคงจะหายไปได้ มีสติสัมปชัญญะควบคุมความรู้สึก ให้มันเป็นอนัตตาเสมอต้นเสมอปลาย อย่าใช้วิธีคดโกงอันธพาล พอทีจะไม่ได้หรือเสียไปจึงจะเป็นอนัตตา พอที่จะได้จะเอาเป็นอัตตาขึ้นมา นี่มันเป็นเรื่องเล่นตลก มันก็ไม่จริง ดังนั้น จงมีสติสัมปชัญญะอย่างยิ่ง อย่างที่ทำยากที่สุด และก็ต้องทำอย่างยิ่ง มันจึงจะมีได้ ดังนั้น จะพูดไปสักคำจะพูดด้วยสติสัมปชัญญะ หรือว่าจะพูดหนอ พูดหนอ คือระวังว่าจะพูดแล้วก็พูด แล้วก็ให้มันมีสติสัมปชัญญะอยู่เรื่อย พูดหนอ เดินหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ นี่ถ้าทำได้ตรงตามความมุ่งหมายก็ดี คือมีสติสัมปชัญญะ ไม่เผลอให้ตัวกูเกิดขึ้น
สมมติว่าพูดว่าเหยียบหนอ ย่างหนอ ก็ให้สักแต่ว่ามันเหยียบอัตภาพ คือร่างกายนี้มันย่าง มันเหยียบอะไรไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตนเหยียบ ไม่ใช่ตัวตนย่าง ไม่ใช่ตัวตนเดินไป เหยียบหนอนั้นคือว่าการเคลื่อนไหวล้วนๆหนอ การเคลื่อนไหวล้วนๆ ไม่ใช่ตัวตน เมื่อกิน เมื่อดื่ม เมื่ออาบ เมื่อถ่าย เมื่อนอน เมื่อหลับก็เหมือนกันอีก เป็นเพียงการเคลื่อนไหวล้วนๆของสิ่งที่มีชีวิตวิญญาณ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เหมือนกับคนบ้า ชาวบ้านเขาเห็นเป็นคนบ้า เป็นการกระทำของคนบ้า ตอนแรกๆทำมันก็จะรู้สึกอย่างนั้นจริงด้วยเหมือนกัน นี่คล้ายๆกับบ้า ก็เลยเลิกเสียไม่สนใจ
ถ้าจะปฏิบัติมันก็ต้องเข้าใจจนเห็นว่านี่จำเป็นที่สุด สติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็มีอย่างนี้นี้ เห็นว่ากาย จิต เวทนา และสิ่งทั้งปวงนี้มันเป็นอย่างนี้ มันไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา อย่างนี้ หนักเข้าก็จะเข้ารูปเข้ารอยแล้วก็ทำไปได้ดี สะดวก มีประโยชน์ไม่มีความทุกข์ มีความสดชื่นแจ่มใสอยู่ได้เป็นส่วนมากในวันหนึ่งๆ แต่หลายๆวันก็ไม่เคยมีความทุกข์สักที นี้ก็มันได้ผล นี่อยู่ด้วยอนัตตา ถ้าปากมันพูดออกไปเป็นภาษาอัตตาก็ตามใจมันเพราะมันพูดกับชาวบ้าน แต่ในใจแท้ๆความรู้สึกแท้ๆต้องเป็นอนัตตา ถามว่าอะไรก็บอกว่าธรรมชาติล้วนๆที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรม มีเท่านั้น มีสิ่งเดียวนั้น
แต่ก็ยากนะกว่าจะเข้าใจคำเหล่านี้ เข้าใจความหมายของคำเหล่านี้ ทนทำไป ศึกษาให้รู้และมีสติสัมปชัญญะที่จะให้ความรู้นั้นมันรู้อยู่ตลอดเวลา จนเราแม้พูดภาษาสัสสตทิฏฐิชาวบ้านก็จิตใจไม่เป็นอย่างนั้น นี่ถ้าพูดกันในหมู่ผู้รู้พูดภาษาธรรมะได้เลย ถ้าพระอรหันต์จะพูดกับพระอรหันต์ด้วยภาษาธรรมะล้วนๆไม่มีตัวตนท่านก็ฟังกันถูก แล้วจะพูดกันภาษาชาวบ้านก็ฟังกันถูก เพราะว่าเรื่องบางเรื่องมันไม่จำเป็นจะต้องพูดกันด้วยภาษาธรรมะ พระอรหันต์พูดกับพระอรหันต์พูดกันภาษาชาวบ้านก็ถูกว่าผมขอน้ำกินหน่อยอย่างนี้มันก็พูดภาษาชาวบ้าน แต่ในจิตใจนั้นมันก็เป็นความรู้สึกอย่างของพระอรหันต์ คือไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา อยู่ทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดชีวิต
นี่ทั้งหมดนี้ขอให้แยกเอาไปทำความเข้าใจว่าภาษาตัวกูเป็นอย่างไร ภาษาอนัตตาเป็นอย่างไร แล้วว่าพระพุทธเจ้าเมื่อท่านพูดกับชาวบ้านสอนศีลธรรมแก่ชาวบ้าน ท่านก็พูดภาษาตัวกู แต่ใจของท่านไม่เป็นอย่างนั้น ทีนี้เมื่อท่านพูดกับผู้รู้ด้วยกันแล้วท่านก็พูดอย่างภาษาไม่มีตัวกูได้ด้วยและก็พูดภาษาอย่างมีตัวกูได้อีกเหมือนกัน เราจะพูดในภาษาอะไรก็ไม่ได้ยึดถือในความหมายของภาษานั้นแต่ประการใด นี่เรื่องตัวกูของกูที่เป็นปัญหายุ่งยากลำบากเกี่ยวกับการพูดจา ดังนั้น ช่วยกันไปทำความเข้าใจให้รู้เรื่องเกี่ยวกับการพูดจาในโลกนี้ โดยเฉพาะให้ทางศาสนานี้ว่าเราต้องพูดเป็นทั้ง ๒ ภาษา ภาษาคนก็พูดเป็น ภาษาธรรมก็พูดเป็น และก็ไม่ได้ยึดถือความหมายไหนโดยเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือเลย เรื่องมันก็จบ เอาละ วันนี้ก็เท่านี้