ธรรมปาฏิโมกข์ของพวกเราที่นี่เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าต้องกล่าวถึงเรื่องที่เกี่ยวกับ “ตัวกูของกู” โดยปริยายใดปริยายหนึ่ง วันนี้ก็อยากจะพูดโดยหัวข้อว่า “การแก้ไขตนที่เป็นตัวกูให้กลายเป็นตนที่เป็นธรรม” ตนที่เป็นตัวกูอย่างหนึ่ง ตนที่เป็นธรรมอย่างหนึ่ง อาศัยพระพุทธภาษิตที่ว่า “จงมีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นที่พึ่ง” ตนอย่างนี้มันเป็นตนที่เป็นธรรมหรือประกอบอยู่ในธรรม ตนตัวกูนั้นเป็นตนที่เกิดขึ้นมาเองตามความรู้สึกของบุคคลที่เป็นปุถุชน
คนเป็นปุถุชนเกิดความรู้สึกตัวกูขึ้นมา ขึ้นมาได้ ทุกคราวที่มีการกระทบทางอายตนะ เช่น ตาเห็นรูป หูฟังเสียง เป็นต้น ถ้าเป็นเรื่องของปุถุชน มันก็ต้องเกิดตนที่เป็นตัวกูของกู ขอให้จำไว้เป็นหลักอย่างนี้ การกระทบทางตา เป็นต้น ทำให้เกิดผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ นี่เป็นตัวกูขึ้นมาอย่างนี้ คือตัวกูต้องการอย่างนั้น ตัวกูอยากอย่างนี้ ตัวกูจะทำนั่นจะทำนี่ลงไป เรียกว่า ตัวกู ตนที่เป็นตัวกูของปุถุชน ที่คำว่า “ปุถุชน” นั้นคือคนธรรมดายังมีกิเลสหรือความเคยชนของกิเลสเต็มตามธรรมดา จึงเรียกว่าคนที่ยังหนา “ปุถุ” แปลว่า หนา เขาก็มีกิเลสเป็นไปตามธรรมดา เมื่อเปรียบเทียบอีกทางหนึ่งก็กิเลสนี้มันเป็นธุลีหรือฝุ่นสำหรับบังตา บังลูกตา พอฝุ่นเขาตาก็มองไม่เห็น ก็แปลว่ามีฝุ่นในดวงตาหนามาก คำขยายความของคำๆนี้ตามพระบาลีก็มีว่า “อสุตวา” ไม่ได้สดับ ไม่ได้สดับธรรมะของพระอริยเจ้า ไม่ได้อบรมในธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ถูกแนะนำไปตามธรรมของพระอริยเจ้า กี่คำกี่คำมันก็ได้ความว่า ปุถุชนนั้นไม่เคยรู้เรื่องกันเสียเลยเกี่ยวกับธรรมของพระอริยเจ้าว่าอะไรเป็นอย่างไร เช่น เมื่อบุคคลคนหนึ่งก่อนจะมารู้เรื่องนี้หรือว่าทุกข์ ก่อนที่จะรู้โดยถูกต้องว่าทุกข์เกิดจากอะไร ดับได้อย่างไร ไม่รู้เรืองนี้ ก็เรียกว่า ปุถุชน พอรู้เรื่องนี้อย่างถูกต้อง ก็เรียกว่าเริ่มเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระโสดาบัน ยังไม่ถึงขนาดนั้นทีเดียวก็เรียกว่า ปุถุชนชั้นดี กัลยาณปุถุชน เดี๋ยวนี้พูดถึงปุถุชนชั้นเต็มที่ พอกระทบมันก็เกิดตัวกูเต็มที่ ปุถุชนชั้นดีก็เกิดบ้างไม่เกิดบ้างหรือไม่เต็มที่ พระอริยเจ้าขั้นต้นๆก็เกิดน้อยลงๆ จนไม่มีอันตรายอย่างหยาบ มีอันตรายอย่างละเอียด เมื่อเป็นพระอรหันต์ก็เลยหมดไม่มีเกิดอีกตัวกูชนิดนั้น ดังนั้น สำหรับปุถุชนนั้นเกิดเต็มที่ ขอให้สังเกตเอาเอง อะไรเข้ามาก็รักกันที ก็เกลียดกันที ก็โกรธกันที ก็กลัวกันทีเต็มที่ทั้งนั้น นี่สำหรับปุถุชนชนิดนี้ก็เกิดตัวกูอยู่เรื่อยไป ไม่มีตัวกูชนิดนี้เป็นตน ตนเป็นตัวกูชนิดนี้ เขาจึงพูดว่าของกู ว่าตัวกู ว่าของกูอยู่ตลอดเวลา ตนชนิดนี้เป็นตนอันธพาล เป็นตนของกิเลสของมิจฉาทิฏฐิ ตนฝ่ายที่จะเป็นทุกข์ ก็เป็นที่พึ่งไม่ได้จนกว่ามันจะได้พยายามรักดี ทำดี เปลี่ยนตนชนิดนี้ให้กลายเป็นตนของธรรมะ มีธรรมะเป็นตน มีตนเป็นธรรมะ จึงจะเข้ารูปว่า มีตนเป็นที่พึ่งคือมีธรรมเป็นที่พึ่ง เพราะฉะนั้นเราจึงต้องพูดสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” กันให้เข้าใจ
ทีนี้ในครั้งที่แล้วมาเราพูดถึงเรื่อง “ปฏิสนธิวิญญาณ” ปฏิสนธิวิญญาณในภาษาคนหรือภาษาปุถุชนนั้นเอง เขาถือกันว่า จริงไม่จริงไม่ต้องพูด เขาถือกันว่า พวกคนตายลงก็มีวิญญาณนี้จุติไปจากร่างนี้แล้วก็ถือปฏิสนธิในครรภ์ข้างหน้า ในครรภ์ของมนุษย์ ในครรภ์ของสัตว์เดรัจฉาน ในครรภ์ของอะไรก็ได้ แล้วก็เกิดขึ้นมาใหม่ นี่ก็แสดงว่าการถือปฏิสนธินั้นมันถือกระทำเพื่อเกิดขึ้นมาใหม่ เข้ามาเป็นตัวกูของกู อย่างเดิมหรือมันอาจจะเลวไปกว่าก็ได้ นี่มันพูดโดยร่างกายเนื้อหนังวัตถุเสียเรื่อย นี่โอกาสที่จะแก้ไขมันมีน้อยสิ เห็นหรือไม่ ชาติหนึ่งร้อยปี ประมาณร้อยปีก็จะถือปฏิสนธิใหม่แล้วก็ไปเกิดขึ้นอีกชาติหนึ่ง โอกาสที่จะแก้ไขแล้วชาติหนึ่งมีครั้งเดียว ร้อยปีมีครั้งเดียว
แต่ถ้าเราเข้าใจความหมายของคำว่า “ปฏิสนธิวิญญาณ” ตามแบบในพระพุทธศาสนาซึ่งขณิกวาท คือถือว่าทุกอย่างเป็นเพียงปฏิจจสมุปบาทธรรมชั่วขณะ ชั่วขณะ ชั่วขณะเท่านั้น ตัวเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะเป็นรูปเสร็จไปเรื่องหนึ่งแล้วมันก็จะมีตัวกูงอกใหม่เมื่อได้ฟังเสียง เป็นต้น ตัวกูที่งอกขึ้นมาใหม่นี่เป็นปฏิสนธิวิญญาณที่จะเรียก เราเรียกตามภาษาชาวบ้าน ก็หมายถึงเชื้อหรืออะไรบ้างที่มันเหลืออยู่สำหรับจะไปช่วยผสมปนเปกันเข้ากับเรื่องราวที่มันจะเกิดในกรณีหลังของตัวกูหลัง หรือจะถือเอาว่าการที่มันปรุงเกิดขึ้นมาใหม่เป็นตัวกูทีหลัง ที่สอง ที่สาม นั่นก็คือ ปฏิสนธิวิญญาณ ได้ทั้งนั้น แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้เรียกอย่างนั้น นี่เราจะเรียกให้เข้ากับภาษาชาวบ้านเรียกว่า ปฏิสนธิวิญญาณ จะเกิดตัวกูครั้งที่สอง จะเกิดตัวกูครั้งที่สาม จะเกิดตัวกูครั้งที่สี่ในวันหนึ่งๆ เมื่อเป็นอย่างนี้เรามีโอกาสแก้ไขปรับปรุงตัวกู เปลี่ยนแปลงตัวกู วันหนึ่งก็หลายๆคราว หลายๆครั้ง แม้เพียงวันเดียวก็มีโอกาสที่จะระมัดระวังปรับปรุงตัวกูกันตั้งหลายๆครั้ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ก็มากหมายเหลือเกินกว่าจะตายถึงร้อยปีก็มากนับไม่ไหวโอกาสที่จะแก้ไขปรับปรุงตัวกูโดยแก้ที่ปฏิสนธิวิญญาณ ถ้ามีปฏิสนธิวิญญาณอย่างชาวบ้านเกิดมาชาติหนึ่งเข้าโลงทีหนึ่ง มีโอกาสครั้งเดียวที่จะแก้ไขตัวกูตบแต่งปฏิสนธิวิญญาณ
ทีนี้เราก็มาคิดต่อไปว่า ตัวกูชนิดที่เป็นขณิกวาท คือชั่วขณะๆนี้ มันก็มีเป็น ๒ ชนิดอีกนั่นแหละ คือเป็นแบบอันธพาลที่จะเป็นไปเพื่อทุกข์แบบหนึ่ง แล้วก็แบบที่จะประกอบไปด้วยธรรมะมีความรู้มีสติปัญญาอีกแบบหนึ่ง เพื่อจะไม่ทุกข์ ไม่ทุกข์ตามแบบชาวบ้าน คือมันดีแล้วก็ไม่ทุกข์ ถ้าเป็นสุขแล้วก็ไม่ทุกข์ แบบชาวบ้านเขาเป็นอย่างนี้ ความคิดที่เป็นตัวกูของเรานี่มันเกิดอยู่ ๒ แบบอย่างนี้ เกิดมาผิดมันก็เป็นทุกข์ ด้วยความโกรธ ด้วยความกลัว ด้วยความเกลียด แม้แต่ด้วยความรักมันก็เป็นทุกข์ แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมาในทางที่เรียกว่าเป็นบุญ เป็นบุญเป็นกุศล มันก็ไม่มีความทุกข์ถึงอย่างนั้น เป็นเพียงความทุกข์ชนิดที่หนัก หนักเพราะแบกเพราะยึดถือ มันยึดถือบุญ ยึดถือความสุข ยึดถือบุญ มันก็หนักไปตามแบบนั้น เรียกในภาษาธรรมะก็เรียกว่าเป็นทุกข์ชนิดหนึ่ง เรียกในภาษาชาวบ้านก็ว่าไม่เป็นทุกข์เลย
ทีนี้ปัญหาก็เหลืออยู่นิดเดียวตรงที่ว่า ระวังอย่าให้เกิดตัวกูชนิดอันธพาล ที่เรียกว่าเป็นตัวกูสำหรับร้อน ให้เป็นตัวกูสำหรับที่จะไม่ร้อนหรือร้อนน้อยๆ จนกระทั่งว่าไม่ร้อนเลย ทีนี้ก็ดูให้ดีให้ชัดลงไปว่าตัวกูนี้มันเกิดเมื่อมีการปรุงแต่งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทายกาย ข้อนี้พูดมากแล้ว ไปนึกถึงคำบรรยายบางครั้งว่าอะไรเกิดเมื่อไร ตัวกูเกิดขึ้นเมื่อมีการกระทบทางอายตนะ แล้วแม้แต่การกระทบทางอายตนะนั้นก็เรียกว่าอายตนะนั้นเพิ่งเกิด ตา หู จมูก ลิ้น กายเพิ่งมี เพิ่งมีเมื่อมีการกระทบทางอายตนะ เวลานอกจากนั้นมันหลับอยู่ มันไม่ได้ทำหน้าที่ มันหลับอยู่ เขาเรียกว่าไม่เกิด พอลุกขึ้นมาทำหน้าที่จึงจะเรียกว่า เกิด เพราะฉะนั้นเขาจึงถือว่าแม้แต่ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุน้ำ ธาตุไฟในร่างกายนี้ก็เหมือนกัน มันยังมิได้เกิดจนกว่ามันทำหน้าที่ของร่างกายจึงจะเรียกว่า เกิด
สรุปความในพระพุทธศาสนาเราถือว่า อะไรๆเพิ่งเกิดเมื่อมีการทำหน้าที่ ในการทำหน้าที่นั้นจะมีต่อเมื่อมันมีการกระทบกันระหว่างอายตนะคือ ข้างนอกกับข้างใน ข้างนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ได้แก่ สิ่งที่จะมาสัมผัสที่ตา มาสัมผัสที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่ผิวหนัง ที่ใจ ส่วนอายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มีความรู้สึกที่พร้อมที่จะเกิดความรู้สึก พอเกิดความรู้สึกทางนี้ก็เรียกว่า มันเกิด ยังไม่เกิดก็ยังไม่เกิดความรู้สึกเรียกว่า ยังไม่เกิด ดังนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็นอนหลับอยู่ตลอดเวลา เพิ่งเกิดเมื่อมีอะไรมากระทบแล้วจะต้องทำหน้าที่เป็นผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน มันล้วนแต่เพิ่งเกิด เมื่อในที่สุดตัวกูนี้ก็เพิ่งเกิด หรือภพหรือชาติที่มันเต็มที่ของความรู้สึกที่เป็นอุปาทาน นี่เราก็ได้ความว่า มันเพิ่งเกิด แล้วมันก็จะเกิดตามโอกาสที่มันจะเกิด ถ้าปล่อยไปตามเรื่องของปุถุชนอย่างที่ว่ามันก็เป็นเรื่อง เป็นตัวกูที่จะเป็นของกิเลส เป็นอันธพาล แล้วเกิดความทุกข์ขึ้นมา นี่มันพึ่งไม่ได้ มันเป็นที่พึ่งอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นตัวความทุกข์เสียเอง
ทีนี้จะทำให้ตนตัวกูกลายเป็นตนที่เป็นธรรม คือไม่ใช่กิเลสนะ ขึ้นมาได้อย่างไร พูดสั้นๆง่ายๆอย่างไม่มีทางผิดก็ต้องควบคุมการปรุงแต่งทางจิตใจอย่าให้เป็นไปตามลักษณะอย่างที่ว่านั้น ให้มาเป็นในลักษณะที่ว่า ความรู้สึกเหล่านั้นจะไม่เจืออยู่ด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทานนั้น เมื่อตากระทบรูปแล้วเกิดผัสสะ แล้วเกิดเวทนา แล้วทีนี้จะไปกันทางไหน ถ้ามีสติมาทันท่วงทีมันก็รู้สึกในเวทนานั้นว่า เวทนานั้นเป็นมายาเป็นของหลอกลวง เป็นอะไรซึ่งไม่ใช่ตนซึ่งไม่ใช่ของจริง ไม่มีความยึดมั่นในเวทนานั้น ตัณหาก็ไม่เกิด อุปาทานก็ไม่เกิด นี่ดีมาก คือตัวกูชนิดที่เป็นกิเลสมันไม่มีโอกาสจะเกิดเพราะสติปัญญามันวิ่งมาทันกับเวลาตรงที่เวทนาเกิด ถ้าดีน้อยหน่อยก็ไปถึงตัณหา เกิดตัณหา เกิดการอยากขึ้นมาแล้วมันสะดุ้ง รู้สึกว่าตัณหา รู้สึกว่าบ้าแล้วโว้ยอย่างนี้ ถือคาถาบ้าแล้วโว้ยบ้างสิ มันมีประโยชน์ที่สุด ให้มันมาเร็วๆ มาทันท่วงที ตัณหาคือความอยากจะเอาอย่างนั้น อยากจะเอาอย่างนี้ อยากจะตบหน้ามัน หรืออยากที่จะโมโหจัด มันชะงักไปได้ ตัวกูเกิดจะเกิดแต่ยังไม่ทันเต็มที่ มันควบคุมตัณหานี้ไว้ได้ แปลว่าในระยะครึ่งหนึ่งแล้วที่จะเหลืออยู่จังหวะนี้ ถ้าตัณหามันเป็นไปสำเร็จตามความต้องการแล้วมันก็ต้องไปตามเรื่องของความทุกข์ เป็นทุกข์ ถ้าสติมาทันมันก็ชะงัก ชักมือกลับ เหมือนกับเราเอานิ้วมือไปแตะไฟโดยไม่รู้ ก็ชักมือกลับ ไม่ทันจะไหม้ เพียงแต่มันร้อนนิดหน่อยหรือว่าไหม้ก็ไหม้นิดหน่อย ถ้าฝึกดีมากมันก็เป็นอย่างนี้
แต่ทว่าดีที่สุดมันจะต้องระวังตั้งแต่เมื่อตากระทบรูป หูได้ฟังเสียง จมูกได้กลิ่น เป็นต้น คือระวังที่ตรงกระทบเป็นผัสสะ มันดีที่สุดเพราะตาจะมองไปเห็นอะไรก็หัดกันเสียใหม่ หัดมีสติสัมปชัญญะเสียก่อน จึงจะอ่านว่านั่นเป็นอะไร ดังนั้น ตาเห็นรูปเพศตรงกันข้ามนี้ มันก็ฝึกไว้ดีถึงขนาดว่าถ้าเห็นภาพประเภทนี้ มันเคยเป็นอย่างไร นี่ก็ฝึกถึงขนาดว่าถ้าเห็นภาพประเภทนี้แล้วก็จะต้องมีความรู้สึกอย่างไรเสียก่อน มีความรู้สึกว่าอย่างไรเต็มที่เสียก่อน มีความระลึกมีสติมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเสียก่อนแล้วจึงจะปล่อยให้ความรู้สึกว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไปไปตามลำดับ ที่มันเคยเข็ดหลาบ เคยเหยียบไฟ เคยแตะไฟ นี่มันเคยเข็ดหลาบมาหลายหนแล้ว มันก็อาจจะมีความรู้สึกที่ไวในการที่จะชะงัก คือที่จะเปลี่ยนความคิดนึกนั้นเสียไม่ให้จมก้มหัวจมลงไปเลย แต่ให้มันเงยหน้าขึ้นมามีสติรู้ว่าจะต้องจัดการอะไรกับสิ่งนี้นะ ที่ว่าจะต้องจัดการอะไรกับสิ่งนี้นั้นหมายความว่า ด้วยความรู้ ด้วยสติปัญญา ไม่ใช่กิเลสพาไปให้จัดการตามกิเลส มันเป็นประเภทก้มหัวมุดหัวลงไปนั้นเป็นเรื่องของกิเลส ถ้าประเภทเงยหน้าขึ้นมาเป็นเรื่องของสติสัมปชัญญะมันรู้ว่าในกรณีนี้จะต้องอย่างไรเสมอ หรือกระทั่งต้องรู้ว่าไม่ต้องทำอะไร ไม่ดู ไม่ฟัง ไม่อะไรไปเสียก็ได้
นี่มันจัดการได้ป้องกันได้โดยให้มีสติสัมปชัญญะปัญญามาช่วยผสมโรงกันเสียในการที่อายตนะกระทบกัน อย่างนี้อวิชชาไม่ได้โอกาส อวิชชาไม่ได้โอกาสที่จะได้ปรุงแต่ง สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ ตามแบบปฏิจจสมุปบาทฝ่ายทุกข์ มันไม่มีโอกาส มีการกระทบกันทางตา เป็นต้น มีผัสสะแล้วสติปัญญาเข้าไปแทรกแซงเสีย มันก็กลายเป็นการศึกษาไปบ้าง กลายเป็นการรู้หน้าที่หรือสิ่งที่เราจะต้องทำในเรื่องนั้น ในเวลานั้น ในขณะนั้นบ้าง ก็ทำไป ไม่ต้องเกิดตัวกูของกูที่เป็นทุกข์
ทีนี้เราก็หัดให้มันเก่งกันทุกทีที่จะเป็นอย่างนี้ดีที่สุด เมื่อมีอะไรกระทบทางหูทางตา เป็นต้น สติสัมปชัญญะวิ่งมาทันท่วงที เรียกว่าพอมีผัสสะก็มีปัญญามีวิชชาวิ่งมาทันท่วงทีในรูปของสติ ในนามของสติ นี้เป็นผู้ที่เก่งถึงขนาดนี้ มันจะเก่งมาก เก่งจนเขาไม่เชื่อว่าจะทำได้ ตามหลักของอภิธรรมเขาว่าทำไม่ได้ เขาก็พูดอย่างนี้บ้า คือทำไม่ได้ คือผมไม่ใช่อภิธรรมอย่างนั้น อภิธรรมของผมนั้นได้ แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็สอนอย่างนี้ คือจะทำให้การเห็นรูปสักว่าเห็น การได้ยินสักว่าได้ฟังอะไรนี้ ได้กลิ่นสักว่าได้ดม ไม่ให้มันมีเรื่องขึ้นมาได้ ถ้าเก่งน้อยกว่านั้นก็เกิดเวทนานี่ รู้สึกอร่อย รู้สึกไม่อร่อย รู้สึกหอม รู้สึกเหม็น รู้สึกจับใจ ไม่จับใจ ตรงเวทนานี่ก็อีกทีหนึ่ง มีสติสัมปชัญญะอย่างเดียวกันกับที่แล้วมาก็ได้ ทีนี้พอมาถึงถ้าพลาดเวทนามาถึงตัณหาแล้วมีเหลืออยู่ครึ่งจังหวะ ครึ่งจังหวะอย่างที่ว่าเอามือไปแตะไฟ ชักไม่ทันก็มือพอง ชักทันก็ไม่ทันจะพอง
เพราะฉะนั้นอย่าถูกดูหมิ่นหัวใจของพระพุทธศาสนาในทางปฏิบัติ มีอยู่ประโยคเดียวว่า “ควบคุมหรือระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่าให้เผลอเกิดการปรุงแต่งเป็นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นทุกข์ขึ้นมา” เมื่อมีการกระทบทางตา หู เป็นต้น ให้เกิดปัญญาเกิดวิชชาทุกทีไป มีเท่านี้ ตรงนี้มันต่างกันนิดเดียว พูดมันคล้ายๆกัน ฟังดูมันคล้ายๆกัน เมื่อตากระทบรูป เป็นต้น นี้มันจะเกิดอวิชชาคือความโง่ เกิดกิเลสตัณหาขึ้นมาแล้วเป็นทุกข์ หรือว่าเมื่อตากระทบรูป เป็นต้น แล้วมันเกิดปัญญา เกิดวิชชา เกิดความรู้ขึ้นมา แล้วมันก็ทำตามที่ควรจะทำแล้วก็ไม่เป็นทุกข์ มันมีอยู่ ๒ อย่างอย่างนี้
แต่ทีนี้อันอย่างแรกมันได้เปรียบ คือความเคยชินในการที่จะมีอวิชชา ตัณหาเกิดขึ้น มันเป็นความเคยชินอย่างซ้ำๆซากๆ เขาเรียกว่า “อนุสัย” บ้าง เรียกว่า “สังโยชน์” บ้าง คือความเคยชินของกิเลส ตั้งแต่เราเกิดมามันมีแต่ความเคยชินอย่างนี้ คิดดูสิ ตั้งแต่เกิดมาตั้งแต่เป็นเด็กโตขึ้นมารู้ภาษีภาษาทางอายตนะนี้ มันชินแต่ว่าอะไรมาก็รัก พออะไรมาก็โกรธ พออะไรมาก็เกลียด พออะไรมาก็กลัว ตามเรื่องของคนเด็กๆที่ไม่ได้เคยฟังธรรมะของพระอริยเจ้า แล้วมันเคยชิน เคยชิน เคยชิน มาจนถึงเดี๋ยวนี้อายุ ๒๐ – ๓๐ ปี มันชินเท่าไหร่ ทีนี้การจะมาสอนว่าพอตากระทบรูป เป็นต้น ให้เกิดวิชชา เกิดแสงสว่าง รู้ว่าจะทำอย่างไร เพิ่งจะได้ยินเมื่อสักครู่นี้เอง หรือเมื้อมาบวชนี้เอง มันก็เลยทวงกันไม่ค่อยได้ ดังนั้น โอกาสที่ได้เปรียบของฝ่ายกิเลสนั้นมันมาก มากมายนัก ยิ่งกว่าร้อยเท่า พันเท่า หมื่นเท่า แสนเท่านู้น มันต้องตั้งใจจริงกันสักหน่อย พอมีการกระทบทางอายตนะแล้วสติสัมปชัญญะวิ่งมาป้องกันไม่ให้เกิดอวิชชา ไม่ให้โอกาสแก่อวิชชา อวิชชาก็พร้อมอยู่เสมอที่จะเกิด เพราะมันเป็นอนุสัย เป็นหัวโจกของอนุสัย เป็นต้นโคตรรากเหง้าของอนุสัย คือความเคยชินอันนี้มันมีเต็มที่ตลอดเวลา คือไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร คือความเคยชินขนาดนั้น
นี่เรามาศึกษาให้รู้ว่า อะไรจะต้องเป็นอย่างไร คือธรรมะของพระพุทธเจ้า พอเกิดการกระทบทางอารมณ์เข้า ให้ธรรมะนั้นวิ่งมาก่อนอวิชชา มันก็ไม่มีเรื่อง ไม่มีทุกข์ ถ้าทำได้อย่างนี้เด็ดขาดลงไป มันก็กลายเป็นพระอริยเจ้าเป็นพระอรหันต์ในที่สุด คำว่า “พระอรหันต์” ก็แปลว่าสมบูรณ์ด้วยสติ คำว่าสมบูรณ์ด้วยสติ หมายความว่าไม่ต้องระวัง คือท่านเปลี่ยนความเคยชินเป็นเรื่องมีสติเสีย ไม่ต้องระวังว่าสติจะไม่มา ไม่ต้องคอยเตือน ไม่ต้องคอยระลึกนึกอะไร สติมันอยู่เป็นพื้นฐานเป็นความเคยชินอย่างเดียวกับทีแรกที่เราเคยชินด้วยความไม่มีสติ เดี๋ยวนี้การปฏิบัติธรรมะมันเปลี่ยนแปลงนิสัยสันดาน เปลี่ยนอะไรหมดจนกลายเป็นว่าความเคยชินของผู้นี้กลายเป็นความมีสติ อย่างนี้ก็เรียกว่า “สติสมบูรณ์” แล้วพระอรหันต์ก็ไม่มีอะไรมากกว่านั้นหรอก มีแค่นั้นแหละ มีความเป็นผู้มีสติสมบูรณ์ อวิชชาเกิดไม่ได้ทุกข์กับใครไม่เป็นอีกต่อไป
แต่ว่าพระอนาคามี สกิทาคามี โสดาบันนั้นยังไม่ถึงนั้น กำลังจะเป็นในทำนองนั้น แต่ยังไม่ถึงนั้น ส่วนปุถุชนนี้ก็เป็นไปตามเดิม มีความเคยชินของอวิชชาเต็มที่อยู่ตามเดิม กัลยาณปุถุชนก็กำลังเตรียมตัวที่จะเข้าไปฝ่ายโน้นแต่ยังเข้าไม่ถึง โสดาบัน เป็นต้น นั้นเข้าถึงแล้วตามลำดับไปกว่าจะถึงที่สุด
เดี๋ยวนี้เรากำลังพูดถึงปุถุชน มีอัตตาตัวตนเป็นตัวกูของกู เป็น “อหังการ” เป็น “มมังการ” ที่แปลว่าตัวกูว่าของกู แล้วมันจะเป็นที่พึ่งให้แก่ตัวมันเองได้อย่างไร ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ให้ตนชนิดนี้เป็นที่พึ่งแก่ตนได้อย่างไร พระพุทธเจ้าว่ามีตนเป็นที่พึ่งคือมีธรรมะเป็นที่พึ่ง ถ้าจะให้ตนนี้เป็นที่พึ่งแก่ตนก็ต้องมีทางเดียวนั่นแหละผมว่า คือทำตนนี้ ตนตัวกูบ้าๆบอๆ ให้เป็นตนธรรมะเสีย นี่คือเรื่องที่เราควรจะทำความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง จะทำ “ตนตัวกู” ให้เป็น “ตนของธรรม” ที่เป็นธรรมได้อย่างไร
ในขั้นแรกที่สุด ขอให้นึกถึงที่พูดไปแล้วเมื่อสักครู่หยกๆว่า ความเคยชินตั้งแต่เกิดมามีความเคยชินอย่างไร ชินแต่ไปในทางที่จะเกิดอวิชชาและมีความทุกข์ ชินเท่าไร ทีนี้ถ้าจะเปลี่ยนตนตัวกูให้เป็นตนของธรรมะก็คือ เปลี่ยนความเคยชินนี้เสียให้เกิดความเคยชินอันใหม่อย่างที่ว่า คือความเคยชินของสติที่วิ่งมาทันท่วงทีทุกทีไป วิ่งมาควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทันท่วงทีทุกทีไปที่มันจะทำหน้าที่กระทบกันกับอารมณ์ข้างนอก เรื่องจิตนี่เป็นกายสิทธิ์ เป็นอัตโนมัติ เป็นอะไรมากเหลือที่จะอธิบายในแง่ของจิตวิทยา อย่าไปอธิบายเลยว่าทำไมมันจึงทำได้มากอย่างนี้ เก่งอย่างนี้ เร็วอย่างนี้ หรือดูคล้ายๆว่าทำพร้อมๆกันหลายอย่างก็ได้ เรื่องนี้อย่าไปศึกษาให้มันเสียเวลานัก มันไม่มีทางจะรู้ได้ในเวลาอันสั้นหรือว่าในเวลาอันสมควร มันจะตายก่อน มันจะตายก่อนแล้วก็ยังไม่ได้รู้ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร รู้แต่ว่ามันทำได้อย่างไร มันจะมีวิธีทำได้อย่างไรแล้วก็อุตสาห์ทำ คือเปลี่ยนความเคยชินไปทีละนิดๆ จนกระทั่งเป็นความเคยชินชนิดตรงกันข้าม มันก็ฆ่ากันไปในตัวเอง
ผมเล่าเรื่องน่าหัวส่วนตัวให้ฟังบ้างก็ได้ แรกๆเรียนรู้ธรรมะนี่มันก็รู้ครึ่งๆกลางๆ รู้ถูกไม่หมด มันก็มีความคิดเห็นอะไรตามความเห็นของตัว เช่นว่าเวทนาเป็นสิ่งที่บังคับได้ เราก็จะมีหลักว่าจะบังคับเวทนาที่เป็นทุกข์ให้ไม่รู้สึกเป็นทุกข์ ตอนนั้นผมเป็นคนก่อสร้างทำที่อยู่ที่อาศัย กุฏิหลายหลังที่สวนโมกข์นั้นทำเอง ทำด้วยมือเอง มีคนช่วย ทีนี้วันหนึ่งๆมีโอกาสที่จะทำให้ค้อนทุบตัวเองหลายๆหนในการตีตะปู เราก็มีความคิดว่าเราจะหัวเราะทุกทีเลยที่ค้อนมันทุบเอาบนนิ้วนี้ ครั้งแรกๆมันหัวเราะไม่ค่อยออก ต่อมามันก็หัวเราแก้เก้อหัวเราะออก ต่อมาไม่เท่าไรมันพร้อมก็หัวเราะออกมาได้อย่างสนุกสนาน มันกลายเป็นหัวเราะพร้อม เรียกว่าทันควันกันไปเลยกับนิ้วกับค้อนทุบนิ้ว มันก็หัวเราะอย่างจริงจัง ไม่ใช่หัวเราะแห้งๆ ไม่ใช่หัวเราะแค่เก้อ นี่พิสูจน์ว่าความเคยชินมันเปลี่ยนได้ ความเคยชินที่ว่าเราพอถูกทุบก็เราจะรู้สึกเจ็บ เราจะต้องมีความรู้สึกอย่างนั้น มันเปลี่ยนได้ ถ้ากำลังของจิตที่ทำให้หัวเราะได้มีพอ แล้วความรู้สึกเจ็บไม่รู้สึก ไม่รู้สึกเหมือนกัน มันเอากำลังจิตหรืออวัจนะของจิตมาหัวเราะเสีย นี่เรื่องน่าหัวและพอเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าความเคยชินนี่เปลี่ยนได้ ก็ลองพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงความเคยชิน อะไรแวบเข้ามาก็โกรธ อะไรแวบเข้ามาก็เกลียด อะไรแวบเข้ามาก็กลัว ซึ่งมันเป็นความเคยชินของสัญชาตญาณด้วย เช่น เดินไปเงียบๆมืดๆ อะไรเจี๊ยวจ๊าวกระโตกกระตากมา มันก็สะดุ้ง นี่มันเคยชิน ถ้าแม้ความเคยชินนี้ก็ควบคุมได้แก้ไขได้ จะสะดุ้งน้อยเข้า จะสะดุ้งน้อยลง จะสะดุ้งน้อยเข้า จนไม่สะดุ้ง แต่ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์หรอก พระอรหันต์ไม่สะดุ้งเพราะเหตุอย่างอื่นคือมากกว่านั้น นี่เราเล่นกันซึ่งหน้าอย่างเกลือจิ้มเกลือ มันก็ยังแก้ไขได้ ไปลองดูสิ แล้วก็ต้องละอายให้มาก สะดุ้งเท่าไรละอายเท่านั้น ชาติหมาเป็นพระทั้งทียังสะดุ้ง นี้มันจะสะดุ้งน้อยเข้า ลองจำคาถานี้ไปใช้ดูเถิด คือพระอรหันต์ไม่สะดุ้งเพราะมีความรู้เรื่องอนัตตาเรื่องนั้นดีสมบูรณ์เด็ดขาดลงไปแล้ว ทีนี้ยังไม่เป็นพระอรหันต์ นี่มันก็ต้องทำการเปลี่ยนแปลงต่อสู้ไปตามลำดับ
อันแรกที่มันดีมากก็คือ “ความละอาย” เดี๋ยวนี้ไม่รู้จักละอาย เพราะไม่มีใครเห็น บางทีก็เลยไม่ละอาย ซึ่งมีคนเห็นก็กลับไม่ละอาย ชักชวนกันว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาไปเสีย นี้ก็เป็นเรื่องที่ควรละอายสำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมะเพื่อจะทำลายความสะดุ้ง การปฏิบัติธรรมะเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนนั่นแหละที่เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกรัก โกรธ เกลียด กลัวนี้ สะดุ้งนี่มันรวมอยู่ในคำว่า “กลัว” ดังนั้น จงให้สะดุ้งช้าลงไป สะดุ้งน้อยลงไป จนกระทั่งจะไม่ค่อยจะสะดุ้ง มันแก้ไขได้โดยแท้จริงด้วยความรู้เรื่องอนัตตา เรื่องสุญญตา แต่เดี๋ยวนี้มันยังไม่มีพอ มันก็ต้องแก้ไขด้วยความรู้เรื่องหิริ ละอาย ละอาย ละอาย ละอายเหลือประมาณถ้าทำอะไรลงไปในลักษณะที่มันตรงกันข้ามกับที่พระอรหันต์ท่านทำ เรายังไม่เป็นพระอรหันต์แต่เราตามรอยพระอรหันต์ ดังนั้น ถ้ามีอะไรที่มันนอกลู่นอกทางออกไปก็ละอาย นี่มีหิริโอตัปปะอย่างนี้ ศีลก็จะบริสุทธิ์ สมาธิก็จะมี ปัญญาก็จะมี เดี๋ยวนี้เขาไม่ละอายจึงรักษาศีลไว้ไม่ได้ เห็นแก่ปาก แก่ท้อง ตา หู จมูก ลิ้น กายตอนนี้ ทำการประจบประแจง ทำอะไรที่มันผิดวินัยของบรรพชิต มันอยู่ที่นี่ อยู่ที่ไม่ละอายทั้งนั้น นี่การแก้ไขทุกอย่างที่เคยพูดกันมาแล้ววันก่อนนั้นก็มารวมอยู่ที่ความละอายหรือไม่ละอาย ทีนี้การจะแก้ตัวกู ตนตัวกูให้กลายเป็นตนของธรรมะนี้มันก็ต้องพึ่งสิ่งนี้แหละเป็นพื้นฐานไปก่อนสำหรับเรา ละอายต่อการที่ไม่มีอะไรสมกันกับที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า คือผู้เดินตามรอยพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นเขายิ่งนับถือมากก็ยิ่งดี
ผมมันตกที่นั่งอันนี้ พอบวชไม่เท่าไรออกไปอยู่ป่ามีคนนับถือมาก สมมติให้เป็นพระอรหันต์หรืออะไรไปมากทีเดียว เราก็ยิ่งเข้าตาจนคือว่าปฏิเสธไม่ได้ จะต้องพยายามทำให้เขาไม่ผิดหวัง เรารู้ว่าเราไม่ได้เป็นพระอรหันต์ แต่เราก็ต้องรับการสมมติยึดถือของเขาเอามาสำหรับละอาย มันสะดุ้งมาทุกทีก็ต้องละอายทุกที อยู่ในป่าคนเดียวมีเรื่องสะดุ้งมาก หรือว่าไปไหนตลาดมีความคิดที่ไม่เหมาะสมก็ต้องละอาย อ่านหนังสือหนังหาที่ไม่ควรอ่านก็ละอาย ก็ไม่กล้ามี ไม่กล้ามีหนังสือชนิดนั้น นี่เป็นการแก้ไขอย่างที่เรียกว่า เข้าไปเผชิญหน้าแบบเข้าไปต่อสู้กันซึ่งหน้าไม่ใช้อุบายลึกซึ้งอะไรนักเพราะความรู้มันไม่พอในทางที่จะใช้อุบาย มันก็คล้ายกับเขาว่าเผชิญกับกิเลส ขยี้กิเลสไปตามที่มันจะสู้ได้ในลักษณะที่ว่า จะชกกับเสือก็ต้องเอานี่ มันไม่ยอมแพ้ ต่อเมื่อความรู้มันเจริญขึ้นมันจึงค่อยเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ต้องทุลักทุเลมาก
นี่เอาเป็นว่าที่พูดมาทั้งหมดนี้สรุปความว่า ความเคยชินเป็นสิงที่แก้ไขได้โดยการทำสติให้มันสมบูรณ์ขึ้น แล้วก็ช่วยเหลืออยู่ด้วยความรู้สึกละอาย ในเมื่อไม่มีอะไรเหมาะสมแก่ความเป็นบรรพชิตของตัว ดังนั้น การที่สะดุ้งหรือการที่กลัวอะไรนี้ก็เป็นเครื่องทดสอบ เป็นเครื่องสอบไล่ แต่มิได้หมายความว่าให้ประมาทหรือให้แกล้งแส่เข้าไปหาอันตรายนั้น มันยังไม่จำเป็น เอาแต่เพียงว่าที่มันไม่ถึงกับทำอันตรายร่างกายนี้แต่มันสะดุ้ง เช่นเดินมาทางนี้มีอะไรที่ก๊อกแก็ก ก็สะดุ้งว่าเป็นงูบ้าง ว่าเป็นอะไรบ้าง จนกระทั่งขนลุกยังเลวเกินไป มันก็ต้องไม่ถึงขนาดนั้น แหย่นิดมันก็โลดโหยงเหยงๆมันก็เป็นงิ้ว มันก็เลวเกินไป นี่ไปคิดดู
บางทีจะคิดกลับตายก็ตายถ้าจะรักษาให้เป็นลูกศิษย์ของพระอรหันต์ไว้ดีกว่า อย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน มันช่วยได้มาก มันเร็ว เพราะฉะนั้นอย่าเข้าใจเหมือนกับที่เด็กๆเข้าใจหรือเคยชินในความเข้าใจ เหมือนกับว่างูมาก็วิ่งหนี ตัวเล็กกว่านั้นมาก็วิ่งหนี หรือถ้ามาถูกตัวนี่ก็ร้องโว้ยว้ายเลย แม้แต่ว่าสัตว์เช่น จิ้งจก เช่น ลูกหนู ตกมาใส่ก็ร้องไห้แล้วก็ร้องวี้ดว้ายไปเลย อย่าให้มันเป็นมากถึงขนาดนั้น ถึงแม้มันจะกัดก็ไม่จำเป็นจะต้องออกงิ้ว กัดก็กัดแล้วทำกันไปให้ถูกวิธีก็แล้วกัน ไม่จำเป็นจะต้องออกงิ้ว ถึงว่าจะชักมือหนีชักเท้าหนีไป มันก็ไม่ต้องออกงิ้ว ยิ่งไปออกงิ้วบางทีจะถูกกัด เพราะสัตว์มันกลับจะสงสัยมากขึ้น ให้มันเลื้อยไปบนหลังเท้าก็ได้ มันไม่กัดเลย แต่ถ้าไปเต้นๆนั่นแหละจะโดนกัด คงไปเหยียบมันบ้าง หรือไปทำให้มันเห็นเป็นศัตรูขึ้นมามันก็กัดได้ ความโง่มันให้โทษอย่างนี้
การที่จะวัดสอบทดสอบไล่ตัวเองในเรื่องอย่างนี้ก็ต้องมีวิธีที่ดีบ้างเหมือนกัน เป็นเรื่องที่แก้ไขได้สำหรับความเคยชินทีละนิด ทีละนิด ทีละนิด ยกตัวอย่างในเรื่องของความกลัว กลัวน้อยลง กลัวช้าเข้า กลัวช้าลง กลัวน้อยลง กลัวช้าลง กลัวน้อยลง กระทั่งมันไม่ค่อยรู้สึก ตายก็ตาย ถือคาถาว่าตายก็ไม่มีความหมายอะไรสำหรับเรา อยู่ก็ไม่มีความหมาย ตายก็ไม่มีความหมายด้วยเหมือนกัน
ทีนี้อยากจะชี้อีกนิดเดียวคือชื่อของมัน การที่มีสติอย่างนี้ปฏิบัติอยู่อย่างนี้มีสติเป็นหลัก แล้วก็มีหิริความละอายนี้เป็นเครื่องสนับสนุน นี้คือธรรม นี้คือตัวธรรม คือการประพฤติธรรมหรือตัวธรรม ตนที่จะเป็นที่พึ่งแก่ตน ธรรมะที่จะเป็นที่พึ่งแก่ตน ตนมันเป็นธรรม เมื่อเราฝึกอยู่อย่างที่ว่านี้ ตนนี่มันกลายเป็นธรรม มันไม่กลายเป็นตัวกูของกู ตนมันกลายเป็นธรรม เป็นธรรมยิ่งขึ้น เป็นธรรมะนี้ยิ่งขึ้นๆ สตินี้ยอดบรมธรรมในการปฏิบัติ ต้องถือว่าสติเป็นยอดเยี่ยมที่สุด ต้องการใช้ในที่ทุกเมื่อ เพราะว่าความรู้มันมีง่ายมันเรียนได้ มันเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ เรียนมากมายเท่าไหร่ก็ได้ แต่แล้วมันมาช่วยไม่ได้เพราะมันไม่มีสติ ความรู้ที่ไม่วิ่งมาทันท่วงที มันก็เหมือนกับไม่รู้ ความมาทันท่วงทีเขาเรียกว่า “สติ” อันนี้มีเป็นใช้ได้ ทีนี้มันไม่ค่อยจะมีก็ละอายเข้า ละอายเข้า มันก็มี ไม่ต้องเรียนมากมายอะไรนัก หัดมีสติแล้วก็มีความละอายเป็นเครื่องสนับสนุนกระตุ้นหล่อเลี้ยง
นี่คนโบราณคนสมัยพุทธกาล เขามีกันเพียงเท่านี้ เขาไม่เรียนพระไตรปิฎก ไม่ได้เรียนอะไรมากมาย แต่เขามีคำว่า “จริง” ตัวเดียว มันจริงทั้งนั้น มันทำจริงๆ ให้มีสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” ธรรมะหรือธรรม อยู่ด้วยสติเสมอไปทุกครั้งที่มีการหายใจออกเข้าให้ประกอบอยู่ด้วยธรรม คือความคุ้มครองป้องกันของสิ่งที่เรียกว่าสติ มันผิดไม่ได้ สติไม่ใช่ว่าเกิดอยู่ตลอดเวลา มันเป็นไปไม่ได้อย่างนั้นบ้าเลย สติก็เพิ่งเกิดแต่ว่ามาเร็วที่สุดมาก่อนใครใช้ได้ อย่าถือโง่ๆเขลาๆไปอย่างมิจฉาทิฏฐินะ เผื่อว่าใครยังไม่ทราบผมจะบอกให้ทราบว่าหลักพุทธศาสนาไม่ได้ถือว่าอะไรเกิดอยู่เป็นปกติ ต้องมีเกิดดับเกิดดับทุกอย่าง จะเกิดมาเมื่อถึงคราวจะเกิดขึ้นมา สติก็เหมือนกัน จะเกิดก็เมื่อถึงคราวที่มันจะต้องเกิดหรือจะเกิดได้ อวิชชาก็เพิ่งเกิด วิชชาก็เพิ่งเกิด ความโง่ก็เพิ่งเกิด ความฉลาดก็เพิ่งเกิด ที่เรียกว่านิสัยนั่นคือความเคยชิน ความเคยชินในทางฉลาด มันก็ฉลาดได้เร็ว ฉลาดได้ทันท่วงที ดูคล้ายๆว่าความฉลาดนั้นมันเกิดอยู่เรื่อย ไม่ใช่อย่างนั้น มันเพิ่งเกิดแต่ว่ามันเกิดเร็วมาก นี่ถ้ามันโง่มันก็อย่างเดียวกันอีกนั่นแหละ ถ้าพูดว่าคนนี้มีนิสัยฉลาด คนนี้มีนิสัยโง่ มีสันดานโง่ สันดานฉลาดนี่ อย่าเข้าใจว่ามันเกิดอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ถ้ามันเกิดอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลาอันอื่นเกิดไม่ได้ มันต้องเป็นเรื่องที่เกิดดับ มันมีโอกาสมีจังหวะที่จะให้เปลี่ยนได้ เปลี่ยนการเกิดนั่น เกิดนี่ เกิดโน่น เกิดได้
ทีนี้เราฝึกจนสิ่งที่จะเกิดนั้นมันเกิดได้แต่สิ่งที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ คือสติ คือวิชชา “วิชชา” ก็แปลว่าปัญญา แสงสว่าง ความรู้ ถ้าสติเกิดมันก็เอาวิชชาเอาปัญญามาด้วย ทีนี้วิชชาปัญญามันก็ทำหน้าที่ของมันเหมือนกับอาวุธเหมือนกับตามความมุ่งหมาย ดังนั้น สติเขาทำหน้าที่กันเอามา เหลืออยู่ก็เป็นสัมปชัญญะควบคุมให้ปัญญาให้ความรู้ทำหน้าที่ไปเรื่อย นี่มันก็เกิดเป็นเรื่องๆๆๆ เป็นสิ่งๆๆๆไป ลักษณะของจิตเป็นอย่างนี้
ทีนี้ก็ฝึกจนว่าในสิ่งที่จะเกิดเร็ว เกิดทันท่วงที เกิดอย่างจะทำให้ผู้ปฏิบัติปลอดภัยนั้น มันก็คือ สติ เมื่อประกอบด้วยสติ มีสติมันก็มีปัญญา มีอะไรเรื่อยกันไปจนครบเรื่องของธรรมะ นี้เราก็เรียกเสียใหม่ว่า “ธรรมะ” ธรรมะมี ธรรมะมาทัน อยู่ด้วยธรรมะ แล้วอยู่ด้วยสติตลอดเวลาคืออยู่ด้วยธรรมะ ตัวตนมันเป็นธรรมะเสียอย่างนี้ ตัวกูของกูไม่มีโอกาสโผล่หัวออกมาได้ เขาเรียกว่าตัวตนฝ่ายอันธพาลนั้นมันหมดโอกาส คือหมดอำนาจไปทีละน้อยๆ ตัวตนที่เป็นธรรมะมันก็เข้ามาแทนมากขึ้นๆๆ จนเป็นธรรมะไปเสียทั้งเนื้อทั้งตัวเป็นพระอรหันต์ นี่คือตัวตนเป็นที่พึ่งแก่ตน คือธรรมะกลายเป็นตน ตนกลายเป็นธรรมะแล้วก็เป็นที่พึ่งแก่ตน ธรรมะคำเดียวนี้หมายถึงมีอย่างที่ว่า มีสติ มีปัญญา
ในบางกรณีก็เราใช้คำว่า “สติ” พระพุทธเจ้าท่านตรัสคำว่า “สติ” ในบางกรณีตรัสว่า “ปัญญา” แต่ ๒ อย่างนี้มันไปด้วยกัน คำว่า สติ ก็คือปัญญาที่วิ่งมา สิ่งที่พาปัญญาวิ่งมาให้ปัญญามันใช้ประโยชน์ได้ ไม่เป็นหมัน “สัมปชัญญะ” นั้นคือตัวปัญญา “สัง” แปลว่าพร้อม “ปะ” แปลว่าทั่ว “ญะ” แปลว่ารู้ “สัง-ปะ-ญะ” สัมปชัญญะ แปลว่ารู้ทั่วพร้อมปัญญานั้นเลย เมื่อสติระลึกพามาวิ่งมา ไว้แก่ยานพาหนะที่พาปัญญามา รวมกันทั้ง ๒ อย่างเรียกว่า “สติสัมปชัญญะ” คือมีทั้งสติมีทั้งปัญญา แล้วความหมายเขาจำกัดอยู่แล้วว่าเป็นไปในทางที่ถูกต้องก็เลยสำเร็จประโยชน์ตามความประสงค์
เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยมีสัมปชัญญะ คือตัวความรู้หรือปัญญาที่จะมาทำหน้าที่ในกรณีนี้ไม่ค่อยมีเพราะว่าเราไม่มีสติ เพราะว่าเรามันประมาท เมื่อใดประมาทเมื่อนั้นไม่มีสติ เมื่อใดมีสติเมื่อนั้นไม่ประมาท ดังนั้น เราเป็นอยู่ด้วยความประมาททุกลมหายใจเข้าออก อวดดีอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น นับตั้งแต่จะแสวงหาปัญญาก็ไม่แสวงหาปัญญาที่แท้จริง แสวงหาปัญญาเฉโก ดูจากรายบัญชีหนังสือที่คุณสั่งซื้อเมื่อเขาลดราคา ๕๐ เปอร์เซ็นต์นี่รู้ว่าคุณกำลังสะสมปัญญาชนิดไหนกัน นี่การแสวงหาปัญญาก็เล่นไม่ซื่อเสียแล้ว แล้วสติมันจะพาความรู้ที่ถูกต้องที่ไหนมา มันก็ยิ่งไม่พอกันใหญ่ เป็นอยู่ด้วยปัญญาก็ศึกษาให้รู้สิ่งที่ควรรู้ แล้วฝึกฝนสติให้สติมาทันท่วงที เหมือนกับว่าเรามีปืน ใช้ปืนก็เป็นอะไรก็เป็น แต่แล้วถ้าเราหลับไม่ตื่นแล้วจะใช้ปืนอย่างไร ปืนนั้นมันก็ไม่มีประโยชน์ไม่มีความหมายเพราะว่าเจ้าของมันไม่ตื่นขึ้นมาที่จะต่อสู้กับโจรหรือขโมย คนที่ไม่มีสติเขาเรียกว่า “คนหลับ” สติเป็นชื่อของความตื่น เป็น Synonym ของคำว่า “ตื่น” ความตื่น สตินี้ “ชาครียะ” แปลว่าตื่น สติกับชาครียะเป็นสิ่งเดียวกัน “พุทธิ” นี่ก็แปลว่าความตื่น ดังนั้น ความที่เรามีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญา ฝึกฝนให้มันกลมกลืนกันอยู่เป็นเรื่องประจำวันนั้นแหละคือธรรมะ จงมีธรรมะอย่างนั้นกันเถิด
ธรรมะที่มีความหมายอย่างอื่นนั้นเขาในกรณีอื่น แล้วมันเป็นทางภาษา ทางหนังสือ ทางอักษรศาสตร์ ทางปรัชญา ทางอะไรก็ไม่รู้ คำว่า “ธรรมะ” อธิบายได้ร้อยแปดอย่างเหมือนกันว่าคืออะไร แล้วยังอธิบายได้ว่าธรรมะคือทุกสิ่งเลย นี่มันยิ่งทำให้มันมีประโยชน์หน่อย คือไม่รู้จะใช้อะไรที่ไหนอย่างไร มันคือทุกสิ่งจริงๆด้วยธรรมะ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะ ธรรมะ ก็แปลว่าธรรมชาติ ธรรมชาติคือสิ่งที่มันมีอยู่ได้ในตัวมันตามเรื่องตามราวของมัน แต่ธรรมะในที่นี้ที่เป็นที่พึ่งแก่มนุษย์คือธรรมะอย่างที่ว่านี้ เป็นอยู่ด้วยธรรมะคือเป็นอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะปัญญา
ถ้าคนสมัยนี้เขาถามหรือคนต่างศาสนาต่างชาติเขาถามแล้วก็ ควรจะรักษาเหลี่ยมไว้บ้าง คือว่าตอบให้มันถูกให้มันมีประโยชน์ ธรรมะคือระบอบการปฏิบัติ ต้องระบุชัดว่าเป็นระบอบของการปฏิบัติ การศึกษาไม่พูด เพราะว่าคนที่จะปฏิบัติได้ต้องรู้ เราไม่พูดคำว่าศึกษา ระบอบของการปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์แล้วก็ทุกขั้นทุกตอนโดยเฉพาะแห่งวิวัฒนาการของเขา พวก Philosophy ที่มาศึกษาพระพุทธศาสนาที่เขาสนับสนุนพระพุทธศาสนา เขาช่วยกันคิดนึกแล้วก็ทำบทนิยามอันนี้ขึ้น หรือจะไม่สมบูรณ์อย่างนี้ผมไปเติมของเขาบ้างให้มันสมบูรณ์ แต่ของเขามีรูปโครงอย่างนี้อยู่แล้ว Course of conduct ระบอบของการปฏิบัติ Rights for a man เหมาะสมสำหรับมนุษย์ Have every particular state ทุกๆขั้น ทุกๆขั้นโดยเฉพาะ Of his evolution แห่งวิวัฒนาการของเขา อยู่ในหนังสือไหนก็ลืมเสียแล้ว แล้วผมไปแก้ไขของเขาบ้าง เพราะเห็นว่าอย่างนี้มันถูกดีที่สุดแล้วตรงหลักธรรมะในพระพุทธศาสนา จะไม่พูดถึงการละเวียน จะไม่พูดถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ จะไม่พูดถึงบวชถึงเรียนถึงอะไรหมด เป็นพระเป็นฆราวาสไม่พูดเลย แล้วต้องเป็น Course of conduct หลายๆ Course เป็น System เป็น System of conduct ที่ทำไว้ครบบริบูรณ์ทุก Course สำหรับคนชนิดหนึ่ง คนอะไรหนึ่งนี้ แล้วต้องเหมาะสมแก่มนุษย์ไม่พูดถึงสัตว์เดรัจฉาน ไม่พูดถึงเทวดา ไม่พูดถึงอะไร
ที่ถูกต้องที่เหมาะสมที่ตรงกับเรื่องของมนุษย์ว่าทุกๆขั้น ทุกๆขั้นที่มันมีเรื่องของมันโดยเฉพาะเพราะว่าแต่ละขั้นมันไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องจัดให้มันเป็นคนละขั้น เช่นเป็นเด็ก เช่นเป็นหนุ่มสาว เช่นเป็นผู้ใหญ่ หรือว่าเช่นเป็นคนโง่ คนฉลาด คนไม่โง่ ไม่ฉลาด อะไรนี้มันเป็นขั้นๆ จึงใช้คำว่า “แห่งวิวัฒนาการของเขา” เพราะว่าเราไม่ได้อยู่นิ่ง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อย นี่เป็นวิวัฒนาการตามธรรมชาติซึ่งต้องการจะไปในทางที่ดีที่สูงที่จะอยู่รอดได้ ฉะนั้นขอให้จำไว้ว่า ธรรมะ มันมีนิดเดียวเท่านี้ไม่ได้มีมากมาย เป็นคำที่มีความหมายใช้ได้ในทุกกรณี ยกตัวอย่าง เช่น เรื่องอริยสัจ มันก็ปฏิบัติได้แม้แต่เด็กๆ คนหนุ่มสาว คนแก่คนเฒ่า จนกระทั่งเป็นคนที่สุดแห่งวัย หรือกระทั่งจะเป็นฆราวาสหรือจะเป็นบรรพชิต ให้หลักปฏิบัตินั้นมันคงมีหลักการอย่างเดียวกัน แล้วต่างกันในข้อปลีกย่อยที่จัดขึ้นให้มันเหมาะสมแก่วัยหรือแก่ขั้นแก่ตอน
ถูกต้องสำหรับมนุษย์นี้ก็มีความหมายอยู่ ๒ อย่างคือมนุษย์คนหนึ่งๆ A man นี้ก็คือคนหนึ่งๆตั้งแต่เกิดจนตาย แต่อาจจะให้ความหมายมากกว่านั้นไปเล็งถึง Humanity ของมนุษย์ชาติอันไม่รู้จักสิ้นสุดก็ได้ เพราะว่ามนุษย์ยังต้องอยู่ต่อไปอีกเท่าไหร่ก็ไม่มีใครรู้ แต่ว่าธรรมะนี้จะยังคงเหมาะสมอยู่เสมอสำหรับมนุษย์ในอีกหมื่นปีข้างหน้า แสนปีข้างหน้า ล้านปีข้างหน้า ถ้ามนุษย์มันยังอยู่ ธรรมะในระบบนี้จะยังคงเหมาะสมแก่ Humanity หรือความมีแห่งมนุษย์อันไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ใช่มนุษย์เฉพาะคนที่มีอายุเพียงสักร้อยปีหนึ่งแล้วก็จะตายไปนี้ นี่เราจึงพูดว่าถึงมนุษย์อีกล้านปีข้างหน้าถ้ามันยังอยู่แล้วเราอยากจะคุยโตว่าถ้าประพฤติธรรมะกันแล้วจะยังอยู่ล้านปีข้างหน้า ถ้าไม่ประพฤติธรรมะกันแล้วมันอาจจะแก้ปัญญานี้ไม่ได้มันจะวินาศไปเร็ว แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราจะมาพูดกันในแง่นี้ พูดกันว่าถ้ายังเป็นมนุษย์อยู่ตราบใดก็ธรรมะนี้ยังเหมาะแก่เขาอยู่ตราบนั้น ดังนั้น ถ้าไม่เหมาะแก่เขามันก็ไม่ใช่ธรรมะเท่านั้น พูดแบบเอากำปั้นทุบดินหรือเอาเปรียบ ถ้าไม่เหมาะกับมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา สิ่งนั้นไม่ใช่ธรรมะ
ที่นี้คุณก็ไปลองเปรียบเทียบดูที่ผมว่าให้ธรรมะนั้นคือ ความมีสติทันท่วงทีในขณะที่มีอารมณ์มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ๖ อย่างนี้ เมื่อมีอะไรมากระทบ ๖ อย่างนี้ ความมีสติได้ ความที่สามารถมีสติได้ซึ่งรวมถึงสัมปชัญญะปัญญา นั่นแหละคือธรรมะ มนุษย์ที่แล้วมาก็ต้องอย่างนี้ มนุษย์เดี๋ยวนี้ก็ต้องอย่างนี้ มนุษย์ต่อไปข้างหน้าก็ต้องอย่างนี้ ถ้าไม่อย่างนั้นมนุษย์จะตายหมด เกิดจะฉิบหาย จะละลายหมด คือจะไม่มีธรรมะแล้วก็จะเบียดเบียนกัน ก็จะทำสิ่งที่ไม่ควรทำให้โลกนี้มันฉิบหายเร็ว มนุษย์จะเป็นผู้ทำลายมัน
เดี๋ยวนี้คนเราจะเอาสิ่งที่ไม่จำเป็นจะเอามาผลาญมาใช้เสียให้หมดก็เอามาใช้เอามาผลาญเสียให้หมด แรงขึ้นทุกที แรงขึ้นทุกที ไม่อยู่เท่าที่จะมีความสงบสุขได้เพราะว่ามันขาดสติ ขาดสัมปชัญญะ ขาดปัญญา ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม มันจึงหลงจะไปทำแต่ในทางที่จะเบียดเบียน จะเอาเปรียบ จะอะไร ถ้าจะดูหนังสือพิมพ์ต่างประเทศที่มันมีภาพแบบอนาจาร หรือครึ่งอนาจาร หรือแบบไม่มีความหมายนั้น ผมขอร้องให้ช่วยพิจารณาให้ดีสักหน่อยในแง่ที่ว่า นี่เขาทำกันไปทำไม ถ้าไปดูหรือเหลือบตาไปเห็นเข้าแล้วก็เอามาดู หนังสือแม็กกาซีนชั้นดีที่สุด ชั้นแพงที่สุดของประเทศที่มีเกียรติที่สุดเอามาดูเถิด เปิดดูจะมีเห็นภาพชนิดนี้ ที่ดูแล้วงงเหมือนกับงง ยิ่งกว่างง ไม่รู้เขาทำกันไปทำไม ผมมันมีนึกได้แต่เพียงเท่านี้ แล้วก็ดูอยู่บ่อยๆ มันเพ่นพ่านอยู่แถวนั้น หยิบขึ้นมาทุกทีแล้วมันจะตายเองหรือบ้าตายเองว่าไม่รู้เขาทำกันไปทำไม หรือภาพโฆษณาก็เหมือนกันไม่รู้เขาจะทำกันไปทำไม โฆษณาให้คนไปนั่งเรือบินของบริษัทของเขานี่ต่างคนต่างก็โฆษณา แล้วก็ไม่รู้ว่าจะเพื่อประโยชน์อะไร ขายบุหรี่นี่มากบริษัท คำโฆษณาของแต่ละบริษัทนี่มันวิเศษสำนวนโวหาร แต่ไม่รู้ว่าทำกันไปทำไม นี่เรื่องอนาจารหรือเรื่องครึ่งอนาจารนี่ยิ่งไม่รู้ใหญ่ว่าทำไปทำไม แล้วดูเป็นเรื่องมีเกียรติ หนังสือพิมพ์ไทยฉบับหลังนี้เขาเอาดาราที่มีชื่อเสียงที่สุดของหนังหรือของอะไรมาคว่ำหน้าเกยกายโฆษณาร้านเปิดใหม่ขายเครื่องแต่ตัวในกรุงลอนดอน มันน่าหัว ไม่รู้เขาจะทำกันไปทำไม มีเท่านี้เอง ไม่รู้เขาจะทำกันไปทำไม ทำไมจะต้องทำอย่างนั้น ก็แปลว่าทำให้มันหลงกันให้มากขึ้นจนเดินไปไกลทิศทางของพระเจ้าของธรรมะนี้ยิ่งขึ้น จะไม่ให้วินาศเร็วแล้วจะทำอย่างไร อะไรมันจะช่วยป้องกันไว้ได้ เรื่องของพระเจ้าไม่มีใครสนใจ แต่นี่เรากำลังพูดกันถึงว่าจะทำตัวกู ตนที่เป็นตัวกูให้กลายเป็นตนของธรรมที่เป็นที่พึ่งแก่ตนได้อย่างไร ขอให้เลือกทำสักทีว่าเรามันรู้ว่าจะต้องทำทำไม เดี๋ยวนี้เขาจะทำแต่สิ่งที่ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไมแล้วก็เชือดคอตัวเอง
นี้ขอสรุปความว่าเรามีปฏิสนธิวิญญาณอยู่วันหนึ่ง คือการเกิดใหม่วันหนึ่งๆอยู่ตั้งหลายครั้งหลายสิบครั้ง ขอให้ปรับปรุงแก้ไขการเกิดใหม่ การเกิดครั้งหลังให้ดี ให้เป็น Evolution ขึ้นทุกๆที มีธรรมะคือสตินี้ให้ถูกลงกับเรื่องที่มันเกิดขึ้นทุกเรื่องทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วให้เป็นอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกคือตลอดเวลาที่เรามีลมหายใจอยู่ ให้มันเป็นอย่างนี้ตลอดไป มันก็เปลี่ยนขึ้นทุกทีๆ เกิดทีหลังดีกว่าเกิดทีเก่า เกิดทีก่อน อย่างนี้ยิ่งขึ้นไปทุกทีๆ ไม่เท่าไหร่ก็หมดความเป็นอันธพาลของปุถุชน เป็นปุถุชนชั้นดีเข้าไปในเขตของพระอริยเจ้า แต่อย่าไปรู้เลยว่าชื่ออะไรชั้นไหน เดี๋ยวมันจะบ้าใหม่ขึ้นมาอีก คือว่าไม่ไปหวังที่ว่าจะเป็นพระอริยเจ้าชั้นนั้นชั้นนี้ ขอแต่ว่าให้ตัวกูมันหายไป ให้มีแต่ธรรมะมากขึ้นจนไม่รู้จักมีความทุกข์ ไม่สะดุ้ง ไม่หวาดเสียว ไม่วิ่งหนี ความตายไม่มีความหมายเท่ากับความอยู่ ก็ที่แท้ว่าตัวกูมิได้มี เอาละพอกันที