แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูตามเคย เรื่องตัวกูของกูนี้มีแง่มีมุมมากมายที่เราจะต้องดูและทำความเข้าใจ วันนี้ก็คิดว่าควรจะพูดโดยหัวข้อว่า “ปฏิสนธิวิญญาณเกี่ยวกับตัวกูอย่างไร” ตามที่มีผู้ถามขอร้องวันก่อน สำหรับสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิสนธิวิญญาณ” นี้มันก็ต้องมีเป็น ๒ ประเภท หรือ ๒ ชนิดตามเคย เช่นเดียวกับหลักธรรมะข้ออื่นๆที่เกี่ยวกับวิญญาณ เกี่ยวกับตัวตน คือประเภทภาษาคนและประเภทภาษาธรรม ๒ อย่างนี้
ปฏิสนธิวิญญาณ ตัวหนังสือประกอบอยู่ด้วยคำ ๒ คำ คือ “วิญญาณ” คำหนึ่งกับ “ปฏิสนธิ” คำหนึ่ง ทั้ง ๒ คำนี้มันก็พลอยมีความหมาย ๒ ชนิด มันเนื่องจากคำว่า วิญญาณมันมีความหมาย ๒ ชนิด ในภาษาคนที่มีตัวมีตนของพวกสัสสตทิฏฐินี้ก็ความหมายหนึ่ง และในภาษาธรรมะของพระพุทธเจ้า ซึ่งไม่มีตัวตน ไม่เป็นสัสสตทิฏฐิ แล้วก็ไม่เป็นอุจเฉททิฏฐิด้วยนั้นมันอีกความหมายหนึ่ง ต้องฟังให้ดี ปฏิสนธินั้นแปลว่าต่อกันเฉพาะ “ปฏิ” แปลว่าเฉพาะ “สนธิ” แปลว่าต่อ “ปฏิสนธิ” แปลว่าต่อกันเฉพาะ “ปฏิสนธิวิญญาณ” จึงแปลว่าวิญญาณที่ทำหน้าที่การต่อกันเฉพาะ ทีนี้มันต่อกันระหว่างอะไรกับอะไรนี้ ถ้าพูดอย่างภาษาชาวบ้าน ภาษาคน ก็ต่อกันระหว่างชาตินี้กับชาติโน้น และคำว่า “ชาติ” นี้ก็เป็นภาษาคน อยู่ที่นี่ก่อนจะเข้าโลงนี่เขาเรียกว่าชาติหนึ่ง หลังจากเข้าโลงไปแล้วเป็นชาติโน้น ข้างหน้าโน้นก็อีกชาติหนึ่ง วิญญาณนี้ทำหน้าที่ต่อกันระหว่างชาตินี้กับชาติโน้นในภาษาคนอย่างนี้ก็เป็นความหมายหนึ่ง เป็นชนิดหนึ่ง
ทีนี้ความหมายในภาษาธรรม พระพุทธเจ้าไม่ประสงค์จะให้มีตัวตนบุคคลชนิดนั้น คือว่าคนเดียวกันนี้จากชาตินี้แล้วไปชาติโน้นโดยปฏิสนธิวิญญาณนั้น และพระองค์ตรัสสิ่งที่เรียกว่า “วิญญาณ” นั้นเป็นของชั่วขณะ เกิดขึ้นชั่วขณะ เรียกว่า “ปฏิจจสมุปปันนธรรม” ปฏิจจสมุปปันนธรรม แปลว่าสิ่งที่มันอาศัยสิ่งอื่นเกิดขึ้นชั่วขณะ เกิดขึ้นชั่วขณะ อาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่งและเกิดขึ้นชั่วขณะนั้น มันไม่อาจจะเป็นตัวตนคนเดียวกัน อยู่ที่นี่แล้วตายไปเกิดเป็นชาติโน้นชาตินี้ได้ อย่างนี้เป็นวิญญาณในพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องปฏิจจสมุปบาท แต่แล้วมันก็ทำหน้าที่ต่อได้เหมือนกันและในความหมายคล้ายๆกันด้วย เดี๋ยวก็จะได้เห็นที่จะเข้าใจได้ มันคนละสิ่ง คนละอัน ก็ทำหน้าที่ในความหมายที่คล้ายๆกันได้
ทีนี้เราก็พูดถึงเรื่องของชาวบ้านกันก่อน ชาวบ้านเขาเชื่อกันมาแต่ครั้งกระไหนก็ทราบไม่ได้ ก็ถือว่าตั้งแต่ครั้งรับวัฒนธรรมอินเดียของพวกพราหมณ์ เดี๋ยวจะสงสัยว่าก็พุทธศาสนาก็เป็นวัฒนธรรมอินเดีย แล้วทำไมไม่เหมือนกัน ข้อนี้ต้องทราบว่ามันไม่เหมือนกันมาแล้วตั้งแต่ในประเทศอินเดีย คือว่าในอินเดียในครั้งพุทธกาลนั้นเองก็มีความเห็นแตกแยก อย่างใน “มหาตัณหาสังขยสูตร” ในมัชฌิมนิกาย ซึ่งป็นสูตรที่ดีมากสำหรับเรื่องนี้ ลองหาอ่าน ใจความมีว่าพระภิกษุองค์หนึ่งซึ่งจะเป็นพราหมณ์ทั้งเนื้อทั้งตัวอะไรก็ตาม แกก็มีความเห็นเรื่องวิญญาณตั้งอยู่ที่นี่สำหรับทำอะไรประจำวัน สำหรับรู้สึกคิดนึกอะไร เกิดเป็นเรื่องของวิญญาณนี้ทั้งนั้น วิญญาณนี้เป็นตัวตนก็ต้องตายไป มันก็ไปเกิดชาติหน้าหรือปฏิสนธิใหม่ นี่พวกนี้เขาก็พูดกันอยู่อย่างนี้ แล้วก็ทั่วไปเสียด้วย มากมาย เรียกว่าเป็นพื้นฐานไปทั้งบ้านทั้งเมืองเลย ทีนี้การที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนั้นมันจึงผิดไปจากความเชื่อของคนทั้งบ้านทั้งเมือง ถือว่าพูดอย่างนั้นเป็น “สัสสตทิฏฐิ” “สัสสต” แปลว่าเที่ยง คือคนนั้นเป็นตัวตน หรือคนหรือวิญญาณนั้นมันเป็นของเที่ยง เป็นอันเดียวกันเรื่อย ไปเกิดกี่ร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง เป็นอันเดียว ตัวเดียว คนเดียวกันเรื่อย อย่างนี้ก็เรียกว่าเที่ยง เป็นสัสสตทิฏฐิ ก็ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิในพุทธศาสนา ผู้มีทิฏฐิอย่างนี้จะบรรลุมรรคผลนิพพานไม่ได้ ในประเทศอินเดียแท้ๆในสมัยพุทธกาลแท้ๆก็ยังมีลัทธิอย่างนี้เป็นพื้นฐานของประชาชนทั่วไป มีมาก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ฉะนั้นมันคงสืบสาวกันไปจนถึงลัทธิเชื่อวิญญาณ ตัวตนอะไร มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ สมัยหิน สมัยอะไรอย่างนู้นก็ได้ ก็เรียกว่าวัฒนธรรมอินเดียแขนงนี้ถือหลักอย่างนี้
ทีนี้การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ของบุคคลประเภทพระพุทธเจ้าทุกๆองค์ ไม่ใช่เฉพาะองค์นี้ จะตรัสเรื่องปฏิจจสมุปบาททั้งนั้น ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนเที่ยงแท้อย่างนั้นได้ เป็นของอาศัยเหตุปัจจัยอันใดอันหนึ่งที่จำเป็น เกิดขึ้นชั่วขณะ ทำหน้าที่เสร็จแล้วก็ดับไป ถือว่าจิตธรรมดา ไม่ใช่เป็นตัวตน แม้แต่จิตเองก็เป็นของอาศัยปัจจัยอะไรตั้งอยู่อย่างแวบๆแวมๆแล้วมันจะมีความรู้สึกคิดนึกอะไรเป็นตัวเป็นตนได้ขึ้นมาก็เพราะความเห็นผิด ดังนั้น จึงถือว่าวิญญาณนี้แม้ทำหน้าที่คิดนึกรู้สึกอะไรได้ก็ไม่ใช่ตัวตน เหตุปัจจัยมันทำให้คิดนึกรู้สึกได้ หรือทำให้รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น อะไรได้ ทำหน้าที่แต่ละอย่างๆชั่วคราวๆเท่านั้น นี่อย่างนี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรม สิ่งซึ่งอาศัยสิ่งอื่นเกิดขึ้นชั่วคราว เรื่องทางจิตและยิ่งเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม ยิ่งกว่าทางวัตถุกว่าทางกาย แต่ทางร่างกายก็ยังถือว่าเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมเพราะมันไม่มีอะไรเป็นตัวตนของมันได้ แม้แต่ต้นไม้มันก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยปรุงขึ้นมาเป็นต้นไม้ แต่มันนานหน่อย ก็เป็นทางวัตถุ ถ้าเป็นก้อนหินก็ยิ่งนานกว่านั้น อาจจะใช้เวลาเป็นล้านๆปี กว่าจะมีปฏิจจสมุปบาทธรรมในรูปหนึ่งๆแต่ทางจิตแล้วก็ชั่วขณะจิต นับไม่ทัน เร็วจนนับไม่ทัน นี่ทางนี้ว่าเป็นเพียงปฏิจจสมุปปันนธรรมเห็นอย่างนี้เรียกว่า “สัมมาทิฏฐิ” คือความเห็นถูกต้อง ทำให้บรรลุมรรคผลได้
ทีนี้การเห็นว่ามีตัวตน ตัวตน ตัวตนตัวเดียวกันไปเรื่อย มันเป็นสัสสตทิฏฐิ หรือเห็นตรงกันข้ามสุดโต่งไปทางโน้นว่าไม่มีอะไรเลย ไม่ต้องสนใจอะไรเลย นี่ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิอีกประเภทหนึ่ง เป็นอุจเฉททิฏฐิ ซึ่งก็มีคนเห็นอย่างนั้น วัฒนธรรมอินเดียที่ว่ามีตัวมีตน มีอัตตา มีบุคคล มีเจตภูติ มีชีโว แล้วแต่จะใช้คำๆไหน ซึ่งถือกันอยู่อย่างที่เรียกว่าแพร่หลายที่สุด และถูกต้องที่สุดนี่ ตรงนี้อยากจะบอกให้ทราบว่า ในสมัยใกล้ๆพุทธกาลนั้นเอง ทฤษฎีอันนี้ถูกอธิบายให้ดียิ่งขึ้นกว่าแต่เดิม กว่าแต่สมัยหิน เรียกว่า “ยุคอุปนิษัท” ของฝ่ายฮินดู มีอาตมัน แล้วก็มีหลายๆแง่จนละเอียดจนเกือบคล้ายพุทธศาสนา แต่ว่าโดยทั่วไปก็คืออย่างนี้ มันมีสิ่งๆหนึ่งซึ่งไม่รู้จักตาย แล้วก็เปลี่ยนร่างกายเรื่อย เหมือนกับว่าเราเปลี่ยนเสื้อผ้า เปลี่ยนบ้านเรือนเรื่อย คนไม่รู้จักตาย พวกพราหมณ์เขาเป็นเจ้าตำรับนี้ เจ้าตำรับอุปนิษัท ปรับปรุงทฤษฎีอันนี้ให้น่าฟังมาก เชื่อละเอียดลึกซึ้ง นี่เชื่อกันว่าประมาณ พ.ศ. ๔๐๐ - ๕๐๐ นี่ พวกนี้มาถึงแถวนี้ มาถึงแถวแหลมมลายูนี้ แถวแหลมทองนี้ ครูบาอาจารย์ที่เป็นพราหมณ์นั้นมาก่อนมามาก เข้าถึงประชาชนได้เลย ไม่ต้องไปสอนลัทธินี้ให้ ฉะนั้นเราจึงมีความเชื่อหรือถือลัทธิเกี่ยวกับวิญญาณนี้เหมือนกันดิกเลยกับของพวกฮินดู ชั่วเวลาร่วม ๒,๐๐๐ ปีที่ถือกันมาอย่างนี้ มันก็ฝังรกฝังรากแน่นแฟ้น เป็นตัว เป็นจิตวิญญาณไปเลย เป็นจิต มีดวงจิต มีวิญญาณที่เต็มไปด้วยความเชื่ออย่างนั้น
ทีนี้พุทธศาสนาก็ตามมาอีก คล้ายๆว่าตามมาเป็นคู่ปรับนะ คือกล่าวได้ว่าพวกพราหมณ์เขาได้มาก่อน มาทำฝังรกรากฝ่ายฮินดูฝ่ายอุปนิษัทไว้แน่นแฟ้นกว่าพุทธศาสนาจะตามมา ทีนี้แม้ว่ามันจะมาพร้อมๆกัน ไล่เลี่ยกัน มันก็สู้กันไม่ได้ ด้วยเหตุที่ว่าความเชื่ออย่างมีตัวมีตนนั้นมันง่าย พูดทันทีรับได้ทันที ตรงกับความรู้สึกสามัญสำนึกหรือความต้องการ พูดทันทีก็รับได้ทันที มาช้ากันเพียงร้อยปีเท่านั้น อันโน้นก็จะลงรากแล้ว แล้วเราก็รู้ไม่ได้ว่า คนไทยเราที่อยู่ที่นี่ที่อยู่บนแผ่นดินนี้มาตั้งแต่สมัยแรกๆนั้น มันจะมีทิฐิเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ถ้ามันเหมือนจีน มันก็เชื่อว่ามีวิญญาณ มีวิญญาณก็ไม่รู้จักตายหรืออะไรก็ มันเป็นพวกๆไป แต่ความเชื่อเรื่องวิญญาณมีอยู่นี้ มันเชื่อกันทั่วไปหมด ถ้าเชื่ออย่างจีนก็เชื่อวิญญาณมีอยู่แน่แล้วก็ไม่ตาย แล้วพอชาวฮินดูมาบอกว่าไม่ตายหรอกเวียนเกิดเวียนอะไรได้อีก ก็ยิ่งชอบใจ มันก็เลยกลายเป็นลัทธิประจำชาติ ประจำคนพรรค์นี้ พรรค์ที่มีอยู่ที่นี่
ในทางโบราณคดีมันก็ยากเหมือนกันว่าชาวอินเดียจะได้มาถึงที่นี่ตั้งแต่เมื่อไร มาก่อนพุทธกาลก็ได้ ก็เป็นไปได้ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ที่แน่นอนก็มีว่าพุทธศาสนายังต้องตามไปเพื่อสั่งสอนประชาชนในที่ต่างๆให้มีความเข้าใจถูกต้อง ให้กลับมีสัมมาทิฏฐิ หรือว่าให้มีสัมมาทิฏฐิ ตามที่เชื่อกันว่าในสมัยพระเจ้าอโศก พุทธศตวรรษที่ ๓ พระเจ้าอโศกส่งคณะมิชชันนารีไปตามทิศต่างๆของประเทศอินเดีย ไปทางทิศเหนือ ไปทางทิศตะวันตก ไปทางยุโรป ไปทางอียิปต์ แปดทางนี้ คือเรียกว่ารอบๆประเทศอินเดีย ที่มาที่ทิศตะวันออกเฉียงใต้คือทางบ้านเรานี้ก็พวกหนึ่ง ล้วนแต่มีเรื่องราวว่าต้องมาต่อสู้ ต้องมาปราบปรามความเชื่อ ความคิดความเห็นอย่างเก่าๆคือผิดๆทั้งนั้น ทุกๆสาขาที่ไปไม่ว่าทิศไหน ไปดูในคัมภีร์ตอนนี้พบตรงกันหมดว่าต้องไปต่อสู้ ต้องไปปราบปรามความเห็นผิดคือมิจฉาทิฏฐิทั้งนั้นเลย นี่มันแสดงว่าพุทธศาสนาไม่เหมือนใคร ยิ่งเรื่องเกี่ยวกับมาทางสุวรรณภูมิ คือทางนี้ยิ่งชัดมาก ก็ต้องมา มีอยู่ชัดว่าต้องมาแสดงพรหมชาลสูตรเป็นเครื่องมือปราบพวกความเห็นผิดทางนี้ ถ้าแสดงพรหมชาลสูตรแล้วยิ่งชัด เพราะว่ามันเป็นสูตรที่อธิบายมิจฉาทิฏฐิทุกชนิดที่มันจะมีได้ถึง ๖๒ ชนิด ทั้งหมดมิจฉาทิฐิ ๖๒ ชนิดนี้ก็ไม่มีมิจฉาทิฏฐิไหนเหลืออยู่ ก็เป็นสัมมาทิฏฐิ รวมทั้งมิจฉาทิฏฐิเรื่องว่าตายแล้วไปเกิด ตายแล้วไปเกิดของบุคคลคนเดียวกันนี้ด้วย นี่ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้มองเห็นแล้วก็แน่ใจว่าคนเขาถือสัสสตทิฏฐิ ตายแล้วคนเดียวกันไปเกิดนี่เรื่อยไปนี่อยู่ก่อนแล้วจนเป็นหน้าที่ที่พุทธศาสนาจะมาช่วยลบล้าง เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นการแปลกประหลาดอะไรที่ว่าชาวไทยเรามีทิฏฐิอย่างเดียวกับคัมภีร์อุปนิษัทของพราหมณ์ มีวิญญาณที่ตายแล้วเกิดๆคนเดียวกัน
คำว่า ปฏิสนธิวิญญาณ ก็หมายถึงสิ่งที่ทำหน้าที่ทิ้งร่างกายนี้ไปหาร่างกายอื่น เมื่อทิ้งร่างกายนี้เขาเรียกว่า “จุติวิญญาณ” เมื่อไปยึดเอาร่างกายอื่นเขาเรียกว่า “ปฏิสนธิวิญญาณ” นี่ชาวบ้านเขารู้กันอยู่อย่างนี้ เชื่อกันอยู่อย่างนี้ เป็นทั้งวัฒนธรรม เป็นทั้งศาสนา เป็นทั้งวิชาความรู้พิเศษ เป็นอย่างนี้หมด พอพูดถึง พอเอ่ยถึงปฏิสนธิวิญญาณ เขาก็เข้าใจแล้ว ไม่ต้องสอน ก็เด็กๆก็ได้รับคำบอกเล่าสั่งสอนจนเข้าใจได้ทันทีแล้วว่ามันหมายถึงอย่างนี้ ในหมู่ชนที่มีสัสสตทิฏฐิ คือคนทั่วไปตามธรรมดาสามัญยังไม่ได้ฟังคำสั่งสอนในพุทธศาสนาก็มีสัสสตทิฏฐิ ดังนั้น ขอให้จำไว้อย่างหนึ่งก่อนว่าปฏิสนธิวิญญาณของหมู่ชนที่มีสัสสตทิฏฐิเป็นพื้นฐานนั้น มันหมายถึงอย่างนี้
ทีนี้ก็มาถึงวิญญาณที่ทำหน้าที่ในพุทธศาสนาคล้ายๆกัน หรือพอจะเรียกได้ว่าปฏิสนธิวิญญาณ คือวิญญาณในปฏิจจสมุปบาท เมื่อตากระทบรูป หูได้ยินเสียง เป็นต้น ทางอายตนะนี้ อายตนะภายในคือตา เป็นต้น เช่นตา เป็นต้น อายตนะภายนอกเช่นรูป เป็นต้น กระทบกันเข้า ประสาทหรืออะไรต่างๆของร่างกายนี่ อายตนะภายในมันจะสร้างความรู้สึกอันหนึ่งขึ้นมา ที่เรียกว่า “วิญญาณทางตา” นี่เราก็ลืมตาไปดูสิ เราก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เห็นอะไร คือตานี้เห็นได้ ทำหน้าที่เห็น เขาเรียกว่า “จักษุวิญญาณ”
ทีนี้ความที่มันประจวบกันเป็นวิญญาณขึ้นมานี้ มันทำให้เกิด “นามรูป” คือร่างกายกับใจอันใหม่ที่จะมีความรู้สึกต่อสิ่งที่ได้กระทบนี้ให้เป็นไปในทางที่เป็นตัวตน คือจะให้เป็นกิเลสเป็นทุกข์ นามรูปอันเก่าที่เรามีอยู่นั้น มันเหมือนกับยังมิได้เกิด อย่างที่อธิบายกันยกใหญ่แล้ววันก่อน สิ่งที่เป็นร่างกายวัตถุธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นร่างกายนี้ก็มีอยู่ตลอดเวลา และธาตุอันหนึ่งซึ่งเรียกว่า “วิญญาณธาตุ” ก็พร้อมอยู่เสมอ ประจำอยู่ พร้อมที่จะเกิดอยู่เสมอ กายกับใจชนิดนี้ ไม่มีการทำหน้าที่ ไม่มีความสามารถในการทำหน้าที่ มันก็หลับหรือสลบอยู่ ลักษณะเหมือนกับ Dormant คือว่ามันมีเหมือนกับยังหลับอยู่ ไม่มี Validity ไม่มี Activity ไม่มีอะไรตามหน้าที่ มันจึงจัดเป็นนามรูป ซาก ซาก คล้ายๆว่าเป็นซาก ไม่มีหน้าที่ ทีนี้พอมีการกระทบทางตา เป็นต้น สร้างวิญญาณชนิดนี้ขึ้นมา วิญญาณนี้มันก็ทำให้นามรูปซากๆกลายเป็นนามรูปอันใหม่ คือกายกับใจชนิดที่มีครบ ที่ทำหน้าที่พรึ่บขึ้นมาทันทีในขณะจิตนั้น ซึ่งเร็วมาก ก็ได้นามรูปอันใหม่ที่จะเป็นที่ตั้งของความรู้สึกคิดนึก เป็นผัสสะ เป็นเวทนา เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน เป็นภพ เป็นชาติ และเป็นทุกข์ ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่าต้องมีอันหนึ่งทำหน้าที่ให้วิญญาณ ให้นามรูปตื่นจากหลับ เป็นนามรูปที่มีชีวิตจิตใจขึ้นมาทันที แล้วก็จะทำหน้าที่ นี่คือเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่ละเอียดสุขุมเข้าใจยากในพุทธศาสนา กล่าวอีกทางหนึ่ง เขากล่าว “อวิชชา” ขึ้นมาก่อน มีอวิชชาแล้วมีสังขาร แล้วมีวิญญาณ แล้วมีนามรูป ควรจะท่องจำไว้ให้ได้ ปฏิจจสมุปบาทที่กล่าวอย่างอวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารให้เกิดวิญญาณ วิญญาณให้เกิดนามรูป นามรูปให้เกิดอายตนะ ผัสสะ ก็มีอยู่แบบหนึ่งรูปหนึ่ง
ทีนี้ปฏิจจสมุปบาทที่ไม่เอ่ยถึงอวิชชา เอ่ยถึงการกระทบทางอายตนะภายนอกกับภายใน เช่น ตากระทบรูป เป็นต้น แล้วเกิดวิญญาณ วิญญาณแล้วก็เกิดผัสสะ การกระทบของ ๓ สิ่งนี้เรียกว่า ผัสสะ แล้วเกิดเวทนา แล้วก็เหมือนกัน เกิดเวทนาแล้วก็เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ เกิดทุกข์อย่างนี้ จะกล่าวปฏิจจสมุปบาทโดยแบบไหนก็ตาม สิ่งที่เรียกว่าวิญญาณนั้นมันยังคงทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างนามรูปคือ กายกับใจชนิดที่หลับอยู่กับนามรูปชนิดที่ตื่นขึ้นมา นี่เรียกว่ามันทำหน้าที่ปฏิสนธิกันที่ตรงนี้ นามรูปอันใหม่ก็ทำหน้าที่ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ เสร็จแล้วมันก็ดับลงไปอยู่ในสภาพนั้นอีก คือในสภาพ Dormant นี้อยู่เรื่อยๆไป จนกว่าจะถูกปลุกขึ้นมาอีก วันหนึ่งกี่ครั้งก็ตามใจ วันหนึ่งอาจจะมีตั้งหลายครั้ง หลายสิบครั้งที่วิญญาณที่ไม่ทำหน้าที่อะไรได้ ตื่นขึ้นมาเป็น เอ้ย, นามรูปที่ไม่ทำหน้าที่อะไรได้ ตื่นขึ้นมาทำอะไรได้ เป็นนามรูปที่ทำอะไรได้ โดยอาศัยสิ่งนี้คือสิ่งที่เรียกว่า วิญญาณ
ตำราเดิมสัสสตทิฏฐิของคำว่า วิญญาณ นี้มันเป็นตัวตนอยู่ในร่างกายนี้ ฉะนั้นมันก็ทำได้ง่าย เป็นคน เป็นเจ้าของร่าง เดี๋ยวคอยรู้สึกทางตา ทางหู เลิกกันแล้วเดี๋ยวก็มาอีก เขาก็พูดไปแบบนั้น ถ้าอย่างนี้มันเป็นตัวตนถาวร ตัววิญญาณนั้น เพราะฉะนั้นตรงนั้นก็เลยไม่ใช่ปฏิสนธิวิญญาณ ไปปฏิสนธิวิญญาณตอนที่มันจะเข้าโลงแล้วไปต่อไปอีก ไปชาติหน้าใหม่หลังจากเข้าโลง ส่วนปฏิสนธิวิญญาณในพุทธศาสนาถือว่า นี่เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมชั่วขณะๆ วิญญาณเกิดขึ้นมาทีไร ก็ทำให้นามรูปลุกขึ้นมาเป็นนามรูปที่ทำหน้าที่ได้ จนเกิดกิเลส เกิดอะไรเสร็จแล้ว ก็กลับไปสู่สภาพนามรูปที่ตายด้านอยู่อย่างนั้น จนกว่าจะมีเรื่องมาพบมากระทบกันอีก ก็เป็นนามรูปที่ลุกขึ้นมาทำหน้าที่อีก ในปฏิจจสมุปบาทนั้นกล่าววิญญาณไว้ตรงนี้ ที่ทำหน้าที่ให้เกิดนามรูป บางทีข้ามนามรูปเสีย เอาเป็นผัสสะไปเลย มันแล้วแต่มุ่งหมายจะกล่าวกันในรูปไหน
นี่ทบทวนความเข้าใจนิดหนึ่งว่า ถ้ากล่าวอย่างสายว่าตั้งต้นด้วยอวิชชา สังขาร วิญญาณ นาม รูป มันก็คือ พอตากระทบรูป เป็นต้น บุคคลนั้นไม่มีสติ ไม่มีความรู้ ไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีความรู้เรื่องความดับทุกข์ ในบาลีสูตรนั้นใช้คำว่า “ไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติเอาเลย” ในขณะนั้นความรู้เรื่องเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติมิได้มี ในขณะนั้นสติสัมปชัญญะมิได้มี นั่นแหละคือ “อวิชชา” เมื่ออวิชชาที่มีอยู่เมื่อตากระทบรูป เป็นต้น อวิชชาก็ปรุงอำนาจอันหนึ่งขึ้นมาสำหรับจะทำให้วิญญาณลุกขึ้นมา เขาเรียกว่า “สังขาร” อวิชชา สภาพที่ว่างจากความรู้ความรู้สึกตัวทำให้เกิดสิ่งที่เป็นเพียง “อำนาจ” เท่านั้น อำนาจทางจิตหรือจิตที่ ความรู้สึกที่มีอำนาจอันหนึ่งปรุงวิญญาณขึ้นมาสำหรับจะรู้ให้มันลึกลงไปในสิ่งที่ได้สัมผัสนั้น ทีนี้วิญญาณนี้ก็ปรุงนามรูปคือกายกับใจที่ตายด้านอยู่ตลอดเวลาให้เป็นกายใจที่ Active ขึ้นมา ก็เรียกว่า วิญญาณให้เกิดนามรูป ทีนี้นามรูปก็ให้เกิดผัสสะ เอ้ย, ให้เกิด “อายตนะ” คือให้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นชนิดใหม่ ชนิดที่มันมีสมรรถภาพที่จะให้เกิดกิเลส ไม่ใช่สมรรถภาพที่เพียงแต่จะเห็นทางตา ทางหู แต่มันจะเห็นชนิดที่จะเกิดกิเลส ได้ยินชนิดที่จะเกิดกิเลส จึงใช้คำใหม่ว่า อายตนะ ถูกสร้างขึ้นมา ทีนี้ก็มีผัสสะเต็มรูปที่จะเกิดกิเลส แล้วก็มีเวทนาเต็มรูปที่จะเกิดกิเลส มีตัณหา มีอุปาทาน จนมีความทุกข์ในที่สุด ถ้าจะตั้งต้นมาจากอวิชชาต้องอธิบายอย่างนี้
นี่ถ้าไม่อธิบายอย่างนี้ อธิบายอย่างที่ ๒ ตั้งต้นด้วยการกระทบทางอายตนะข้างนอกข้างใน แล้วก็เกิดวิญญาณเลย พอเกิดวิญญาณก็เป็นผัสสะที่เสร็จแล้วตั้งแต่ระหว่าง ๓ อันนี้ก็เป็นเวทนาได้เลย สิ่งที่ต้องพูดตามมาก็คือ “เวทนา” พอมันเกิดผัสสะแล้ว เกิดนามรูปชนิดที่จะทำอะไรเป็นเรื่องของกิเลสได้ เกิดเสร็จแล้ว เป็นผัสสะแล้ว แล้วก็เป็นเวทนา แล้วก็เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน เป็นภพ เป็นชาติ เป็นทุกข์อย่างเดียวกัน ที่แท้มันก็เรื่องเดียวกัน อย่างเดียวกัน เหมือนกันเลย แต่การพูดมันยักพูดให้เป็น ๒ รูปในตอนต้น อย่างอวิชชาขึ้นต้นนี่ มันคล้ายๆกับพูดในรูปทฤษฎีทางจิตวิทยาโดยตรง ทีนี้ส่วนพูดโดยให้อายตนะภายในภายนอกกระทบกันเกิดวิญญาณนี้ มันเป็นการพูดทางหลักปฏิบัติ ค่อนมาทางการปฏิบัติที่เห็นชัด เป็น Practical มากกว่าที่จะเป็น Theory มันเลยฟังดูแล้วคล้ายกับว่าคนละเรื่อง อันนี้จะต้องถกเถียงกันไปอีกนานว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่ เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้
ทีนี้ปัญหามันก็เกิดขึ้น ผู้ที่มีสัสสตทิฏฐิหรือยังมีตัวมีตนสิงอยู่เป็นเจ้าเรือนในจิตใจนี้ พอฟังเรื่องปฏิจจสมุปบาทอย่างนี้ก็อธิบายเป็นในเรื่องสัสสตทิฏฐิไปหมด คือเป็นตัวคน ถ้าจะให้เกิดตรงนั้นทีหนึ่งก็ต้องเกิดตรงวิญญาณ ให้เกิดนามรูปนั้นทีหนึ่ง คนเกิดแล้วคนอยู่ แล้วก็ตายไป แล้วก็ไปเกิดตรงภพ ตรงชาตินั้นอีกทีหนึ่ง ดังนั้น ปฏิจจสมุปบาทเพียงรอบเดียวสายเดียว เขากินเวลากินเนื้อที่ตั้ง ๓ ภพ ๓ ชาติ ส่วนเรามีความเข้าใจว่า ตามพระพุทธวจนะนั้นไม่ใช่อย่างนั้น ปฏิจจสมุปบาทเพียงสายเดียวนี่กินเวลาที่นี่เดี๋ยวนี้แวบเดียว แค่ไม่ถึงนาทีด้วยซ้ำ วันหนึ่งจึงมีได้มาก
ถ้ายอมรับทฤษฎีเรื่องชาติของคน ชาติหนึ่ง เข้าโลงทีหนึ่งเรียกว่าชาติหนึ่ง อย่างนั้นปฏิสนธิวิญญาณมันไปอยู่ตอนก่อนจะเข้าโลง ก่อนที่จะดับจิตลงไปหาภพใหม่ ดังนั้น คนเกิดมาทีหนึ่งก็มีปฏิสนธิวิญญาณได้เพียงครั้งเดียว ถ้าถือตามอธิบายปฏิจจสมุปบาทเป็นปฏิจจสมุปบาทธรรมนี้ วันหนึ่งมีได้ไม่รู้กี่ชาติ เพราะฉะนั้นวันหนึ่งก็มีปฏิสนธิวิญญาณได้ไม่รู้กี่ครั้ง เท่ากับจำนวนชาตินะ ตัวกูของกูเกิดทีหนึ่ง ก็เรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณมีทีหนึ่ง ตัวกูของกูนั้นคือความรู้สึกที่เรียกว่าอุปาทาน ตัณหา อุปาทาน ภพ ตรงนั้นเป็นตัวกูของกูสมบูรณ์ ดังนั้นวิญญาณที่จะสร้างนามรูปอันนี้ขึ้นมานี่ คือปฏิสนธิวิญญาณ ในรอบของปฏิจจสมุปบาทรอบหนึ่งก็มีปฏิสนธิวิญญาณในแบบนี้นะ อย่างที่อธิบายอย่างนี้ครั้งหนึ่ง แล้วก็มีชาติครั้งหนึ่ง แล้วเป็นทุกข์ครั้งหนึ่ง
นี่เราไม่มี ไม่มีวิญญาณชนิดที่ออกจากร่างกายนี้ไปสู่ร่างกายอื่นในที่นู้น จะไม่ยอมพูด ถ้าถามว่าตายแล้วเกิดหรือไม่นี่ มันไม่มีหน้าที่ที่จะพูดตอบว่าเกิดหรือไม่ เพราะเรามีหน้าที่ที่ต้องตอบว่าเดี๋ยวนี้ที่นี่ก็มิได้มีคนที่อยู่ คือไม่ได้มีวิญญาณอัตตาอะไรที่อยู่ในร่างนี้แล้วคอยพูด คอยคิด คอยนึก อะไรอย่างนั้น ถือว่าการพูด การคิด การนึก การรู้สึกนี้เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมซึ่งเกิดการประจวบเหมาะแล้วเกิดขึ้นครั้งหนึ่งๆแล้วก็ดับไป เราไม่มีหลักว่าคนมีอยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ แล้วคนนี้จะต้องตายทิ้งร่างนี้ไปเกิดใหม่ มันไม่มีทางจะพูด แล้วก็ยิ่งกว่านั้นก็ถือว่า ความทุกข์มิได้เกี่ยวกับเรื่องตายแล้วไปเกิด เกี่ยวกับว่าเกิดนี่ เกิดตัวกูของกูที่นี่เป็นความทุกข์ เพราะฉะนั้นระวังอย่าให้ความรู้สึกชนิดนี้มันเกิดขึ้นมา คือตัณหาอุปาทานนี้อย่าให้เกิดขึ้นมา แล้วก็ไม่มีทุกข์ ส่วนร่างกายมันอยู่เท่าไร มันดับไปก็ช่างหัวของมัน มันเรื่องของร่างกาย เรื่องของร่างกายส่วนที่เป็นธรรมชาติล้วนๆ ไม่ใช่นามรูปที่เจือด้วยกิเลส ซึ่งเป็นของหลอกลวง เป็นของมายา เราจึงไม่มีวิญญาณอะไรที่ออกจากร่างแล้วก็ไปหาที่เกิดใหม่ อย่างที่ชาวบ้านเชื่อสอนกันอยู่ วิญญาณที่เป็นตัวตนนั้นออกจากร่างเมื่อคนตายลง ทีนี้มันยังเตลิดเปิดเปิงออกไปยิ่งกว่านั้น คือนอกขอบเขตของคัมภีร์อุปนิษัท เช่นว่าพระยมเขาให้มาเอาตัวไป พระยมให้เอา ให้คน ให้เจ้าหน้าที่ของพระยมมาเอาดวงวิญญาณไป เอาบ่วงอะไรมาคล้องไป ทีนี้ถ้าเผอิญมันหลุดมือกลับมาหรือว่าพระยมปล่อยกลับมาเพราะบัญชีผิด คนนั้นก็ฟื้นกลับขึ้นมาอีก เป็นคนขึ้นมาอีก อย่างนี้เป็นเรื่องนอกเรื่อง นอกรีต เตลิดเปิดเปิงไป ไม่ใช่ตัวคัมภีร์อุปนิษัท แล้วมันก็เป็นเกร็ดนอกคัมภีร์ซึ่งชาวบ้านเขาชอบจะเชื่อ และมันก็สนุกดี บางคนตายแล้ว ใส่โลงแล้วหลายชั่วโมง กลับเป็นขึ้นมาอีกอย่างนี้ ก็อธิบายอย่างนี้
แต่ว่าหลักทั่วๆไปก็หมายความว่า วิญญาณนั้นออกจากร่างนี้แล้วมันจะไปหาที่เกิด ที่บางทีมันออกไปแล้วจากร่างนี้ มันไม่รู้ว่าจะไปปฏิสนธิเข้าไปในท้องของใคร มันก็เลยเป็นวิญญาณที่จะลอยเคว้งคว้างอยู่ เพื่อจะหาที่เกิด แล้ววิญญาณที่กำลังเคว้งคว้างอยู่นี้ เขาเรียกชื่อใหม่อีกอันหนึ่งว่า “สัมภเวสี” ไม่ได้ปฏิสนธิ เที่ยวหาที่ที่จะปฏิสนธิ แล้วมันไม่ได้ มันก็จะลอยเคว้งคว้างอยู่ เป็นผีหรือเป็นอะไรชนิดหนึ่ง ผีที่หลอกคนก็หรือจะเป็นพวกนี้ จนกว่ามันจะได้ที่ที่ปฏิสนธิเข้าไปในท้องในครรภ์ของสัตว์ของคนของอะไร แล้วเกิดไปเลย นั่นมันเป็นตัวเป็นตนมากถึงอย่างนั้น จึงมีคำที่จะต้องจำไว้ ๓ คำสำหรับเรื่องของชาวบ้าน คือ วิญญาณ ตัวตน จุติจากร่างกายนี้เมื่อคนตาย ออกไปจากร่างกายนี้ไปหาภพใหม่เพื่อปฏิสนธิ นี่ปฏิสนธิวิญญาณ ถ้ามันเกิดไม่ได้ ยังหาไม่ได้ มันก็เป็นวิญญาณสัมภเวสี นี่ผมพูดให้ฟังตามที่มันมีอยู่อย่างนั้น ไม่ใช่ผมเชื่ออย่างนั้นนะ ในคัมภีร์ในพุทธศาสนามันก็ไม่ได้มีอย่างนั้น แต่อาจจะปนเปกันได้ เดี๋ยวจะว่าให้ฟัง นี่ว่าตามชาวบ้านก่อนที่ได้รับวัฒนธรรมเก่าแก่อุปนิษัทของประเทศอินเดียมา มีวิญญาณตัวเดียวกันนั้นแหละ เกิดกี่ชาติๆก็อันนั้น พอร่างกายแตกก็ออกจากร่างกายนี้ จนกว่าจะได้ที่เกาะใหม่เป็นปฏิสนธิวิญญาณตั้งต้นขึ้น แล้วก็เจริญงอกงามเป็นคนขึ้นมาอีก ถ้ายังไม่ได้ก็เที่ยวเป็นสัมภเวสีลอยอยู่ เป็นผี อยู่ในโลกที่มองไม่เห็นตัว เขาว่าอย่างนั้น “สัมภเวสี” แปลว่าแสวงหาที่เกิด “สัมภะ” แปลว่าการเกิดขึ้นโดยครบถ้วน “เวสี” “เอสี” แปลว่าแสวง “สัมภวเอสี” ผู้แสวงหาการเกิดขึ้นพร้อม แสวงหาภพ หาชาติ นี่เรื่องตัวตนเป็นอย่างนี้ แล้วคนก็เชื่อกันแน่นแฟ้น
ทีนี้ถ้าจะมีสัมภเวสีบ้าง ก็ไล่ไปดูในปฏิจจสมุปบาท อวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารให้เกิดวิญญาณ วิญญาณให้เกิดนามรูป นามรูปให้เกิดอายตนะ อายตนะให้เกิดผัสสะ ผัสสะให้เกิดเวทนา เวทนาให้เกิดตัณหา ตัณหาให้เกิดอุปาทาน อุปาทานให้เกิดภพ ภพให้เกิดชาติ มันมีภพ มีชาติ อยู่ที่ตรงนี้ จิตที่กำลังจะเป็นไปเพื่อให้เกิดภพ เกิดชาติ แต่ยังไม่ทันเกิดภพ เกิดชาตินี่ เราเรียกว่าสัมภเวสีได้ บางทีตากระทบรูปแล้วเกิดวิญญาณ แล้วเกิดผัสสะแล้ว แต่มันยังไม่ทันถึงภพ มันชะงักกลับหรืออะไรเสีย คือยังไม่เป็นทุกข์นะ นี่คืออาการของสัมภเวสี มันต้องการจะเป็นภพ จะมีภพ คือจะมีตัวกูของกูนะ แต่มันเกิดไปตายด้านเสีย หรือว่าจิตของปุถุชนคนธรรมดาที่มีกิเลสที่พร้อมอยู่เสมอที่จะเกิดภพ แต่ยังไม่มีโอกาสจะเกิด ไม่ได้อารมณ์ภายนอกที่เหมาะ ไม่ได้อารมณ์ภายในที่เหมาะ มันยังเกิดไม่ได้ แม้จะเห็น ตาเห็นรูป หูฟังเสียง มันเกิดตัวกูของกูไม่ได้ อย่างนี้ก็เรียกว่า สัมภเวสี ได้เหมือนกัน วิญญาณที่ตายด้านไม่สมบูรณ์จนเกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ มีอาการเหมือนกันเลย คือมันรอ มันรอโอกาส หรือมันคอยจ้องโอกาสที่จะมีตัวกูของกูขึ้นมาในจิต แต่แล้วมันขึ้นมาไม่ได้ถึงนั้น ระยะที่มันยังขึ้นไม่ได้มาถึงนั้น ก็เรียกว่า สัมภเวสี ได้ แล้วก็เป็นเพียงปฏิจจสมุปบาทธรรมอันเล็กๆอันหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่วิญญาณตัวตนอย่างที่เขาว่า ดังนั้น สัมภเวสีนี้ก็มีได้วันหนึ่งมากมาย มากมายนับไม่ไหว ความรู้สึกของจิตที่ไม่เบิกบานจนถึงกับเป็นตัวกูของกูนี้เรียกว่า สัมภเวสี ได้ทั้งนั้น ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น แต่มันไปตายด้าน มันไม่เลยไปถึงตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ มันก็คอยจ้องโอกาสต่อไป เหมือนกับเราทอดสายตาไปดูนี่ วิญญาณที่เห็นทางตานี่มันตายด้าน มันไม่ถึงตัวกูของกู อาการอย่างนี้ก็มีอยู่ เราก็มีอยู่ ชีวิตก็มีอยู่ เหมือนกับแบบของสัมภเวสี
ถ้ามันไปจนมีตัวตน ได้เกิดแล้ว หรือว่าเป็นตัวกูของกูอย่างแบบนี้แล้วก็ตาม อย่างนี้เขาให้ชื่อใหม่ว่าเป็น “ภูติ” เรียกว่า ภูตะหรือภูติ แปลว่าเกิดแล้ว ได้เกิดแล้วเรียกว่า ภูติ ยังแสวงหาที่เกิดอยู่เขาเรียกว่า สัมภเวสี แบบขณิกวาทอย่างนี้เป็นภูติ เป็นภูติที่เกิดแล้วก็ต่อเมื่อมีตัณหา อุปาทาน มีภพ มีชาติ เป็นตัวกูของกูสมบูรณ์ นี่เรียกว่า ภูติ ภูตะ เกิดแล้ว ก่อนหน้านั้นก็เรียกว่า สัมภเวสี ไปก่อนก็แล้วกัน แต่คุณจะหาคำอธิบายอย่างนี้ไม่พบในตำราเรียน จะด้วยเหตุใดก็ตามในตำราเรียนไปอธิบายอย่างนู้นหมด ไปอธิบายอย่างของฮินดูของพราหมณ์ ไม่มีสัมภเวสีแบบนู้น มีปฏิสนธิวิญญาณแบบนู้น ปฏิจจสมุปบาทถูกดึงเข้าไปเป็นเรื่อง ๓ ภพ ๓ ชาติ คาบเกี่ยวกัน นี่เราต้องกล้าพอที่จะค้นหาเอาเองจากสูตรทั้งหลายจากพระพุทธภาษิตทั้งหลาย แล้วก็ยืนหลักไว้ให้มั่นว่า ไม่มีวิญญาณชนิดที่เป็นตัวตนชนิดนั้น แล้วข้อความในพระพุทธภาษิตจะต้องอธิบายอย่างไร ก็ไปค้นหาเอาเอง
อย่างที่มีตัวตนแบบนู้นเรียกว่า ภาษาคนธรรมดา รู้และเชื่อและพูดกันอยู่ ทีนี้อย่างที่เป็นขณิกวาทอย่างนี้ ไม่มีตัวตนอย่างนี้ก็เป็น ภาษาธรรม ฉะนั้นเราจึงได้ปฏิสนธิวิญญาณทั้งในแบบภาษาคนและในแบบภาษาธรรม ซึ่งมันต่างกันอย่างนี้ ปฏิสนธิวิญญาณในภาษาคนชาวบ้านก็มีครั้งสุดท้ายต่อเมื่อร่างกายเข้าโลงแล้ว จิตมันไปหาที่เกิดภพ มันจึงจะเป็นปฏิสนธิวิญญาณ ส่วนภาษาธรรม ไม่ใช่ภาษาชาวบ้าน ชาวบ้านไม่อาจจะรู้ จะรู้แต่ผู้ที่มีสัมมาทิฎฐิ ไม่มีสัสสตทิฎฐิเลย จะรู้ทุกอย่างเป็นเพียงขณะๆ เรียกว่า “ขณิกะ” นี้ปฏิสนธิวิญญาณจะมีทุกคราวที่ตัวกูของกูเกิดขึ้นในใจ Concept ที่เป็น Egotistic concept เกิดขึ้นทีหนึ่งก็เรียกว่าชาติหนึ่ง และก่อนหน้านั้นจะต้องมีปฏิสนธิวิญญาณต่อกันระหว่างนามรูปตายด้านกับนามรูปที่จะลุกขึ้นมาทำหน้าที่ อวิชชาเกิดสังขาร สังขารเกิดวิญญาณ วิญญาณเกิดนามรูป นามรูปอันหลังนี้ นามรูปที่ทำหน้าที่
เพราะฉะนั้นตามหลักธรรมะของพระพุทธเจ้าจึงถือว่ามันยังไม่เกิด มันยังไม่เกิดจนกว่ามันจะมีการยึดมั่นในเวทนา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ยังไม่เกิดจนกว่ามันจะมีอะไรกระทบชนิดที่ให้เกิดความยึดมั่นในเวทนา พูดหนักไปกว่านั้น พูดไปถึงว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ ของร่างกายนี้ก็ยังไม่เกิด จนกว่ามีการกระทบเกิดเวทนาสำหรับจะยึดมั่นถือมั่น ดิน น้ำ ลม ไฟ ในกายนี้ยังจะเกิด พูดอย่างนี้ก็มี นี่มันไปลึกมาก ก็หมายความว่าร่างกายล้วนๆนี้ ที่ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ นี้ยังไม่ทำหน้าที่ของมันได้เต็มรูป เขาเรียกว่ามันยังมิได้เกิด กระทั่งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ยังมิได้เกิด จนกว่ามันได้ทำหน้าที่ของมัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เรากำลังมีอยู่นี่ เด็กๆเขาจะต้องถือว่าเกิดแล้วมีแล้ว แต่ภาษาธรรมะก็ว่า ยังมิได้เกิด จนกว่าจะมีการทำหน้าที่แล้วก็ในลักษณะที่จะเกิดอุปาทาน ภพ ชาติ เป็นตัวกู หนักไปอีกก็ว่า แม้แต่โลกนี้รอบตัวเรานี้ก็ยังมิได้เกิดจนกว่าเมื่อเราจะถูกยึดมั่นด้วยอุปาทานนั้นว่ามันเป็นอย่างไร เมื่อนั้นจึงจะเรียกว่ามันเกิด เหมือนกับที่อธิบายกันวันก่อนถึงยืดยาว แม้แต่ไม้ขีดไฟกลักหนึ่งก็ยังมิได้เกิด จนกว่าคนนั้นมันจะไปยึดเกี่ยวกับไม้ขีดไฟนั้นว่าเป็นอย่างไรด้วยอุปาทาน จึงถือว่าตัวอุปาทานยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละทำให้เกิดภพ แล้วก็เกิดชาติ แล้วก็เกิดทุกข์ ฉะนั้นกลัวกันให้มาก อย่ามีความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวกูของกู ยกหูชูหาง ขออภัยต้องใช้คำนี้ว่า “ยกหูชูหาง” มันสังเกตง่ายดีว่ายกหูชูหางเกร็งข้อขึ้นมาว่าตัวกูว่าของกูอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมาเมื่อไร เมื่อนั้นแหละเกิด ทุกอย่างเกิดหมด ทะเลาะกันเรื่องก้อนหิน ก็เรียกก้อนหินมันเกิด คนมันก็เกิด เราจะทะเลาะกัน ก้อนหินก็มีความหมายขึ้นมา ทะเลาะกันเรื่องขี้หมูขี้หมาอะไรก็ตามแต่ มันเกิดขี้หมูขี้หมาขึ้นมาสำหรับคนจะทะเลาะกัน
นี่ปฏิสนธิวิญญาณมี ๒ ความหมายอย่างนี้ เราจะเอาความหมายไหนก็ตามใจ เอาความหมายสำหรับทำให้โง่มากขึ้นก็ได้ ถ้าไปถือเอาความหมายชนิดนั้นแล้วจะมีความทุกข์มากขึ้น ถ้าถือเอาได้ในความหมายชนิดที่ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจถูกต้อง แล้วความทุกข์มันจะหมดไป ฉะนั้นจึงจำเป็นจะต้องถือเอาความหมายของคำว่า “ปฏิสนธิวิญญาณ” ให้ดีๆ เพราะว่านั่นแหละคือ “ตัวกูของกู” นี่เราพูดกันแต่เรื่องตัวกูของกู ไม่มีเรื่องอื่น ธรรมปาฏิโมกข์ที่นัดพบที่นี่ จะพูดแต่เรื่องที่เกี่ยวกับตัวกูของกูไม่ปริยายใดก็ปริยายหนึ่งเสมอจนกว่ามันจะเพียงพอ วันนี้เหนื่อยเร็ว พอที