แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์วันนี้ ผมก็ยังอยากจะพูดถึงเรื่องคำว่า “เกิด” เพียงคำเดียวอีก คำว่า เกิด เพียงคำเดียวนี้ มันพูดกันไม่จบได้ง่ายๆ พูดกี่ครั้งก็ได้ แล้วเห็นว่ายังใหม่ต่อผู้ฟังเหล่านี้ ก็แรกฟังทีแรกก็งง ผมก็ไม่มีปัญญาที่จะพูดทีเดียวให้มันเข้าใจเต็มที่ชัดเจน เต็มที่อย่างกระจ่าง มันก็ได้พูดแต่เพียงอธิบายบรรยายไปรอบๆ แล้วก็ไปสรุปความเอาเองว่าคำว่า เกิด นี่ในกรณีพิเศษอย่างนี้มันหมายความว่าอย่างไร เคยบอกมาแล้วว่าถ้ารู้จักคำนี้ดีก็คือรู้จักพุทธศาสนาได้ดี เพราะว่าพุทธศาสนาต้องการจะสอนเรื่องเกิดในลักษณะนี้ จนกระทั่งรู้จักทำให้ไม่เกิด แล้วเรื่องมันก็มีเท่านั้นเอง
ทีนี้เราเคยได้ยินได้ฟังกันแต่คำว่า เกิด เกิดชนิดที่เกิดจากท้องแม่อย่างคนหรือสัตว์ เกิดจากท้องแม่อย่างนั้นทั้งนั้น นั้นมันเข้าใจเกินกว่าที่จะซึมซาบ แล้วพอได้ยินคำว่า เกิด ก็นึกถึงแต่อย่างนั้นทุกที เลยฟังเรื่องเกิดในพุทธศาสนาไม่ถูก นี้ก็ต้องพูดเปรียบเทียบกันไปเรื่อย เรื่องเกิดอย่างทางเนื้อหนังทางวัตถุเกิดจากท้องแม่นั้นก็อย่างหนึ่ง แล้วเกิดทางวิญญาณทางความคิด ความนึก ความรู้สึก มันอีกอย่างหนึ่ง แล้วเกิดอย่างหลังนี่เป็นปัญหาเพราะมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์โดยตรง เกิดจากท้องแม่ไม่เกี่ยวกับความทุกข์ เพราะเกิดทีเดียวแล้วก็เลิกกันด้วย เสร็จกันไปแล้วด้วย ที่เหลืออยู่ต่อไปนี้ก็จะมีแต่เกิดในทางฝ่ายนามธรรม ฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณนี้ทั้งนั้น แล้วยิ่งกว่านั้นก็ฟังให้ดีว่าเกิดมาจากท้องแม่นั้น ทางฝ่ายธรรมะนี้ยังไม่ถือว่าเกิด เกิดมาจากท้องแม่แล้ว กระทั่งนอนอยู่ในเบาะแล้ว หลายวันล่วงมาแล้วนี่ ทางฝ่ายภาษาธรรมะในพุทธศาสนาหรือทางฝ่ายวิญญาณนี้ เขาถือว่ายังไม่เกิด จนกว่าเมื่อใดเด็กจะมีความรู้สึกว่าเป็นตัวกูเป็นของกูเต็มที่ เมื่อนั้นจึงจะเรียกว่า เกิด หมายความว่าเด็กนั้นจะต้องรู้สึกการเสวยเวทนาที่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นในเวทนานั้นเป็นตัวกูอย่างนั้น เป็นตัวกูอย่างนี้ จนมีความโลภ ความโกรธ ความหลงอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา เมื่อนั้นเรียกว่า เกิด มีความรู้สึกอย่างนั้นครั้งหนึ่งก็เรียกว่าเกิดครั้งหนึ่ง มันจึงมีเกิดได้หลายครั้งแม้ในวันหนึ่ง
ก็จะพูดซ้ำ อยากจะพูดซ้ำ แม้จะเคยพูดมาบ้างแล้วว่าในพระบาลีที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนั้น มีการตั้งครรภ์ของบิดามารดามีเด็กคลอดออกมา มีเด็กออกมาเจริญเติบโตจนกระทั่งเล่นหัวอะไรได้ จนกว่าถึงเวลาหนึ่งจะมารู้จักความหมายของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่เวทนาที่เกิดมาทางตา ทางหู ทางจมูก ที่เป็นไปเพื่อความยึดมั่นถือมั่นได้ สังเกตดูตามพระบาลีนั้น เด็กก็จะต้องโตมากพอสมควร มันยังเล็กมากแม้ว่ามันนั่งได้นี้ นั่งได้เดินเตาะแตะนี้ มันไม่มีความคิดปรุงแต่งชนิดที่จะเป็นกิเลสตัณหาได้ มันเหมือนกับเครื่องจักรพอเจ็บเข้าก็ร้อง พอสนุกสนานเอร็ดอร่อยก็หัวเราะอย่างนี้ ตอนนี้ยังไม่อาจจะปรุงถึงขนาดที่เป็นตัณหาอุปาทานได้ มันยังคล้ายๆกับต้นไม้ มีความรู้สึกขนาดต้นไม้หรือสัตว์ที่ต่ำต้อย ดังนั้น จึงยังไม่เรียกว่ามีการเกิดโดยสมบูรณ์ตามลักษณะของ “ปฏิจจสมุปบาท” หรือจะพูดให้มันนั่นไปก็ ให้มันรอบคอบไปอีกหน่อยก็ว่ามันจะเป็นปฏิจจสมุปบาทชนิดอ่อนๆเกินไปจนไม่เรียกว่าเป็นปฏิจจสมุปบาท จนกว่าเขาจะรู้จักยึดมั่นถือมั่นในสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนานี่ ที่เรียกว่า “นันทิ” นันทิ เพลิน นันทินี้แปลว่า เพลิน แล้วก็เพลินในเวทนาทั้งสาม
ในเวทนาที่เป็นสุขคือถูกใจ ก็เพลินไปกับความรู้สึกประเภท “ราคะหรือโลภะ” ในเวทนาที่เป็นทุกข์ ไม่ถูกใจ โกรธเคือง ขัดแค้น นี้ก็เพลินอยู่ด้วยความรู้สึกประเภท “โกรธะคือความโกรธ” หรือ “โทสะ” ประทุษร้าย อย่างนี้เขาก็เรียกว่าเพลินเหมือนกันเพราะมันไปบ้าทำอะไรอยู่ที่นั่น นี่เวทนาที่ยังไม่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์เพราะยังจัดไม่ได้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์มันก็เพลินอยู่ด้วยความรู้สึกประเภทที่เป็น “โมหะ” ฉะนั้นเวทนาทุกชนิด สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี อทุกขมสุขเวทนาก็ดี เป็นที่ตั้งแห่งความเพลิน เพลินด้วยราคะก็ได้ เพลินด้วยโทสะก็ได้ เพลินด้วยโมหะก็ได้
ทีนี้ก็มีหลักที่เป็นพุทธภาษิตตรัสว่า เพลินในเวทนานั่นแหละคือ “อุปาทาน” หรือ “อุปาทิ” อุปาทานนั้นคือความยึดมั่นถือมั่น สำคัญมั่นหมายเป็นตัวตนหรือของตน อุปาทานนั่นแหละให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ภพ” คือมันพร้อมที่จะสมบูรณ์เป็นตัวตนที่อาละวาด นี่ภพนั่นแหละให้เกิด “ชาติ” ชาตินี้เรียกว่าความเกิด นี่เกิดเป็นคน เกิดเป็นตัวกู เกิดเป็นคนในความหมายที่เป็นทุกข์ ในความหมายของปฏิจจสมุปบาท ในความหมายของเรื่องที่เป็นปัญหาทางพระธรรมทางพระศาสนา อย่างนี้เกิดอยู่ที่ตรงนี้ ก่อนหน้านั้นยังไม่มีอะไรที่เป็นอย่างนี้ จึงถือว่ายังไม่มีเกิด เกิดจากท้องแม่นั้นมันแต่เพียงว่าเกิดก้อนวัตถุออกมา แต่วัตถุนี้มันก็มีชีวิต ก็พอจะเรียกได้ว่ามีกายมีใจชนิดที่จะเป็นที่ตั้งของชีวิต แต่อย่างนี้ยังไม่เรียกว่า “นามรูป” ในปฏิจจสมุปบาท เพราะมันยังไม่ทำงานรวมกับอวิชชาหรืออุปาทาน มันเป็นเพียงก้อนวัตถุอะไรอันหนึ่งที่มีชีวิตจนกว่ามันจะค่อยๆเจริญวิวัฒนาการมากขึ้นจนพร้อมที่จะทำวานร่วมกับอวิชชา ตัณหา อุปาทานได้เมื่อใด เมื่อนั้นเราจะเรียกมันว่า นามรูป ในชุดของปฏิจจสมุปบาท ถ้ายังไม่ถึงนั้น มันก็เป็นนามรูปในภาษาวัตถุ ภาษาคน ภาษาชาวบ้านอะไรไปเรื่อย มีกายกับใจชนิดที่เป็นภาษาชาวบ้านไปเรื่อย พอเมื่อใดกายกับใจของเด็กนั้นมันเจริญพอที่จะทำงานร่วมกับอวิชชา ตัณหา อุปาทานได้ เมื่อนั้นมันจึงจะเป็นกายกับใจที่จะเป็นทุกข์เพราะว่าเกิดขึ้นเป็นคราวๆ
นี่หลักที่จะลืมไม่ได้มันมีอยู่อย่างนี้สำหรับคำว่า เกิด ถามว่าอะไรเกิด มันตอบได้มาก เกิดในความหมายนี้นะ ในความหมายของปฏิจจสมุปบาทนี้ มันตอบได้มาก ถามว่าอะไรเกิดบอก ตัวกูเกิดก็ได้ คนเกิดก็ได้ ความทุกข์เกิดก็ได้ โลกเกิดก็ได้ อย่างน้อยเป็น ๔ อย่างนี้ ยังมีคำอื่นอีก นี่ยกตัวอย่างให้ฟังเพียง ๔อย่าง พอสัตว์นั้นได้รับอารมณ์ทางตา ทางหู เป็นต้น รู้สึกเป็นเวทนา เป็นตัณหาอุปาทาน มีความเพลินในเวทนาและมีอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ก็มีความรู้สึกชนิดที่เรียกว่า ภพ ชาติเกิดขึ้น ชาติเกิดขึ้นนั่นแหละเรียกว่าชาติเกิดขึ้น แล้วเรียกอย่างอื่นก็เรียกว่าคนเกิดขึ้น หรือตัวกูเกิดขึ้น หรือความทุกข์เกิดขึ้น กระทั่งว่าโลกเกิดขึ้น นี้ถ้าไม่ศึกษาหรือไม่เคยอ่านพระคัมภีร์โดยตรงจะไม่เคยได้ยินคำพูดชนิดนี้ว่า โลกนี่เกิดขึ้นเป็นคราวๆในจิตของมนุษย์ที่กำลังมีตัณหาอุปาทานนั้นนั้น ดูสิคำว่า “โลก” มันก็เปลี่ยนความหมายมาเป็นอย่างนี้ ไม่หมายถึงโลกข้างนอกทั่วไป ทั้งนี้ก็เพราะหมายความว่าโลกทั่วไปมันจะมีเท่าไร มันไม่มีความหมายหรอก จนกว่าเมื่อใดมันจะมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับจิตในภายใน เช่น มาในลักษณะของรูป หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรสอะไรก็ตาม ทางตา ทางหู เป็นต้นก็ตาม ปรุงเป็นผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ เพราะฉะนั้นถือว่าโลกนี่มีโลก โลกเกิดขึ้น โลกมีโลก ในขณะนั้นก็คือมีตัวกู มีคน มีความทุกข์ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงจัดให้สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งเดียวกันหมด โลกกับความทุกข์นี้เป็นสิ่งเดียวกัน กับอัตตาตัวตนนี้ก็เป็นสิ่งเดียวกัน อหังการ มมังการนี้ก็เป็นสิ่งเดียวกัน เป็นตัวทุกข์ทั้งนั้น นี่เรียกว่า เกิด ตามความหมายในทางธรรม ใช้คำว่า ชาติ หรือชา-ติ ภาษาบาลีเขาใช้คำชัดกำกับ ใช้คำว่าชา-ติเกิดก็คือเกิดอย่างนี้ ถ้าเกิดจากท้องแม่หรือว่าเกิดอย่างในความหมายของตัวหนังสือว่ามีอะไรโผล่ขึ้นมา นี่ใช้คำอย่างอื่น เช่น คำว่า “อุทยะ” แปลว่าตั้งขึ้น “สมุทยะตั้งขึ้นพร้อม หมายเพียงกริยาอาการเท่านั้น ไม่ได้หมายความถึงว่าเกิดชนิดที่เกิดด้วยตัณหาอุปาทานแล้วเป็นทุกข์
ขอให้สังเกตดูให้ดีๆ ตัวหนังสือก็ดี คำพูดก็ดี มันทำให้ยุ่งไปหมด ภาษาไทยเขาทำยุ่ง เพราะว่าไม่ตรงกับภาษาบาลียิ่งขึ้นๆ เรารู้แต่ภาษาไทยมันก็ไม่รู้ความหมายที่ถูกต้องในภาษาบาลี ทีนี้คนที่รู้ภาษาบาลี มีภาษาบาลีเป็นต้นทุนมาแต่เดิม สมมติว่าเป็นชาวอินเดียนี้ รู้ภาษาบาลีดี พอมาถึงคำภาษาไทยเข้าก็ยุ่งหรือแย่ไปเหมือนกัน ความมันเปลี่ยน ความหมายมันเปลี่ยน ฉะนั้นเราต้องสังเกตข้อนี้เอาไว้ให้รู้ความหมายของคำเป็นกรณีๆไปเลย ภาษาชาวบ้านพูด ภาษาวัตถุ ภาษาวิทยาศาสตร์ ภาษาปรัชญา ภาษาอะไรก็สุดแท้ มันมีมาก แต่เดี๋ยวนี้เราเรียกว่า “ภาษาธรรม” ภาษาธรรมะในพระพุทธศาสนา คำว่า เกิด มีความหมายอย่างนี้
เมื่อคราวก่อนก็ได้พูดแล้วว่า สิ่งทั้งหลายแม้ที่ไม่มีชีวิต ไม่มีวิญญาณอะไรก็มีการเกิดได้ในความหมายนี้ คือเกิดในเมื่อมันร่วมกันทำหน้าที่ทางจิตวิญญาณที่จะเกิดความยึดมั่นถือมั่น อย่าลืมตัวอย่าง จะยกให้ฟังไว้ว่า ไม้ขีดของเรากลักหนึ่งมันยังไม่เกิด แล้วมันจะเกิดบ่อยๆ ต่อเมื่อเรามีความยึดมั่นเกี่ยวกับไม้ขีดกลักนั้นเมื่อไร ยึดมั่นไปในทางรัก โกรธ เกลียด กลัวอะไรก็ตาม ยึดมั่นว่าของเราขึ้นมา หรือโกรธเมื่อใครมาเอาไป หรือไม่วางตามที่ หรือว่าอะไรก็ตามเนื่องมาจากไม้ขีดอันนั้นที่ทำให้จิตใจของเรามีตัณหาอุปาทานเป็นทุกข์ เมื่อนั้นเรียกว่าไม้ขีดไฟกลักนั้นเกิด เช่น อายตนะภายนอกเกิด อายตนะภายในคือตา หู อะไรก็เกิดแล้วแต่มันมีเรื่องทางไหน ทีนี้นามรูปนี้ก็เกิด เกิดขึ้นมาทันทีสำหรับจะมีเรื่องกับไม้ขีดไฟกลักนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดทำหน้าที่ขึ้นมาในลักษณะนั้น มีผัสสะเกิดขึ้นในลักษณะนั้น ก็มีเวทนาเกิดขึ้นเกี่ยวกับไม้ขีดกลักนั้น เป็นความร้อนใจ หรือว่าเป็นอะไรก็สุดแท้ เรียกว่าเกิดขึ้นมาพร้อมกันหมด
ถ้าดูในแง่ของขันธ์ ๕ ในเวลานั้นก็เกิดขันธ์ ๕ พร้อมขึ้นมาหมด เมื่อรูปร่างกายนี้เกิดมาในลักษณะที่จะเป็น “รูปูปาทานขันธ์” คือรูปกายที่เป็นที่ตั้งของกิเลส ตัณหา เกิดเวทนาขึ้นมาคือความรู้สึกเกี่ยวกับไม้ขีดกลักนั้นมันก็เป็น “เวทนูปาทานขันโธ” ขึ้นมา สัญญาสำคัญมั่นหมายก็เป็น “สัญญูปาทานขันโธ” ขึ้นมา สังขารมีความคิดนึกอะไรขึ้นมาในขณะนั้น มันก็เป็น “สังขารูปาทานขันโธ” ขึ้นมา แล้วตัววิญญาณก็คือตัวสิ่งที่เรียกว่าจิตในขณะนั้นก็เป็นถูกทำให้เป็น “วิญญาณูปาทานขันโธ” ขึ้นมาคือเป็นจิตหรือเป็นตัวกู จิตที่เป็นตัวกู
นี่คำว่า เกิด ในภาษาธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้ ส่วนคำว่า เกิด ในภาษาคน มันเป็นอย่างอื่น แล้วก็ไม่มีเรื่อง นี่เราก็ใช้คำว่า เกิด เกิดเหมือนกัน นี่เราจะไปพูดกับชาวต่างประเทศ จะไปสอนฝรั่งไปบอกทื่อๆว่า ความเกิดเป็นทุกข์ มันก็งงไปหมด มันเข้าใจไม่ได้ มันก็ไม่เชื่อ มันนึกในใจว่าบ้าแล้ว เป็นต้น เพราะมันไม่รู้ความหมายตรงตามที่เรามุ่งหมาย มันก็ต้องแยกกัน ความเกิดในที่นี้หรือความเกิดในความหมายอะไร มีอะไรเป็นหลักที่เรียกว่าเกิด
ทีนี้ทว่าต้องการจะให้มีหลักสั้นๆ มันก็พอจะพูดได้ว่า ความเกิดที่มันเกี่ยวเนื่องกันกับ “อวิชชา” คือความเกิดที่จะเป็นทุกข์ในกรณีนี้ นี้ความเกิด ความงอก ความโผล่ ความอะไรขึ้นมาก็ตามใจที่มันไม่เกี่ยวเนื่องกันกับอวิชชา มันก็ไม่ใช่ความเกิดในที่นี้ คือไม่ใช่ความเกิดที่จะเป็นทุกข์นี้ ตัวอย่างนี้ เป็นต้น เราจะไปจำกัดความว่าการเกิดที่มันเนื่องกับอวิชชา ทำงานร่วมกับอวิชชานั้นคือความเกิดที่เป็นชาติ ชา-ติ แล้วก็เป็นทุกข์ในพุทธศาสนา ความเกิดที่มันไม่เนื่องกับอวิชชา มันไม่เป็นทุกข์ มันยังไม่เป็นทุกข์ มันไม่เรียกว่าชา-ติ ในพระพุทธศาสนา เช่น เด็กเพิ่งคลอดออกมานี้ยังไม่เรียกว่าชาติในความหมายนี้ หรือว่าอะไรเกิดขึ้นๆ เป็นสักว่ากริยาอาการของการเกิด แม้จะข้างนอกตัวเราหรือข้างในตัวเราก็ตาม ถ้าอวิชชายังไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย อาการเกิดนั้นยังไม่เรียกว่า ชาติ ที่จะทำให้เป็นทุกข์
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น มันเกิดความใคร่ขึ้นมาในร่างกายนี้ หรือให้เห็นชัดเกิดเห็ดรา เกิดโรคขี้กลากขึ้นที่เนื้อหนังของเรานี้ โรคนั้นมันเกิดขึ้น แต่ถ้ามันยังไม่ทำงานร่วมกับอวิชชาคือยังไม่ทำให้เราโกรธ หรือขัดใจ หรือเสียใจ หรือกลัวหรืออะไร มันยังไม่เรียกว่าเกิด แต่ถ้ามันทำให้เราโกรธ ขัดใจ กลัว เดือดร้อน เป็นทุกข์ได้นั้น มันจึงจะเรียกว่ามันเกิด ฉะนั้นบางอย่างมันเกิดอยู่ได้ทั่วไป มีอะไรเกิดอยู่ในร่างกายเรานี้ก็มากส่วนย่อยๆส่วนละเอียดของเซลล์ ของอะไรก็มีเกิดอยู่เรื่อย เกิดอย่างนี้ไม่ใช่ความหมายที่กำลังพูด นี้ข้างนอกต้นไม้เกิดอะไรเกิดๆๆๆมีอยู่แยะไปหมด เหลียวไปทางไหน แต่ถ้ามันยังไม่มีอวิชชาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย มันยังไม่เป็นการเกิดสำหรับเรา หรือไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะมันยังไม่ทำให้มีเรื่อง ต่อเมื่อใดกริยาอาการที่มันเกิดขึ้น หรือมีขึ้น หรืองอกขึ้น หรือตั้งขึ้นนั้นมันเกี่ยวเนื่องกับอวิชชาที่ทำให้บุคคลคนหนึ่งนั้นมีความทุกข์ด้วยตัณหาอุปาทานนั้นนั้นเรียกว่า เกิด นี่ความหมายทั่วไปของคำว่าเกิดที่เนื่องกับอวิชชาหรือไม่เนื่องกันกับอวิชชา เลยจำกัดความได้อย่างนี้ ตั้งหลักขึ้นมาได้อย่างนี้ ชาติความเกิด ที่ทำงานร่วมกันกับอวิชชาคือเกิดทุกข์ ถ้าไม่ได้ทำงานร่วมกันกับอวิชชาก็ไม่ใช่ชาติที่จะทำให้เกิดทุกข์
นี้หลักปฏิบัติที่สอนกันอยู่เสมอก็ระวังอย่าให้เกิด ระวังอย่าให้เกิด นี่เขาพูดอย่างสั้นมาก ระวังอย่าให้เกิด คนก็ฟังไม่ถูก เพราะว่าเกิดมานั่งอยู่ที่นี่ทนโท่อยู่แล้วระวังอย่าให้เกิด มันก็ไม่เชื่อ นี้ความหมายขอให้ระวังอย่าให้คนหรือตัวกูหรืออะไรนี้เกิดขึ้นมา อย่าให้โลกเกิดขึ้นมา ขึ้นมาในภายในนี้ ระวังนั้นแหละอย่าให้เกิด แล้วก็จะไม่เป็นทุกข์ พอเกิดก็เป็นทุกข์ เกิดตามในนี้ทุกทีก็เป็นทุกที จึงเรียกว่า เกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที ความเกิดเป็นทุกข์ นี่คือคำว่า ความเกิด ที่จำเป็นที่จะต้องชี้แจงกันอยู่เสมอ
ทีนี้ก็จะพูดถึง “พฤติ” หรือ “Process” ของการเกิด เอ้า, เรามองดูกันที่เกิดทางวัตถุเนื้อหนังก่อน เช่น การเกิดออกมาเป็นเด็กคนหนึ่งนี้มันมีอะไรบ้าง มันก็ต้องมีบิดามารดาร่วมกันจนเกิดไข่ที่มีเชื้อ ก็มีการตั้งครรภ์ที่เรียกว่าการก้าวลงสู่ครรภ์ เกิดขึ้นในท้องของผู้เป็นมารดาแล้วก็รอมาๆเดือนหนึ่ง สองเดือน สามเดือน จนกระทั่งเก้าเดือน สิบเดือน มีท้องหรือครรภ์นั้นนั้นมันใหญ่เรื่อยๆ ก็มาถึงระยะหนึ่งซึ่งมันจะคลอด แล้วก็ถึงระยะหนึ่งซึ่งคลอดออกมา มันหลายระยะอย่างนี้ สำหรับการเกิดในทางฝ่ายเนื้อหนัง นี้การเกิดทางฝ่ายธรรมทางฝ่ายวิญญาณก็เหมือนกัน มันต้องมีการกระทบที่เรียกว่าสัมผัสข้างนอกกับข้างใน คล้ายๆกับว่าจะเรียกว่าบิดามารดาก็ตามใจระหว่างตัวผู้กับตัวเมีย “อายตนะข้างใน” คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ “อายตนะข้างนอก” คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มันต้องมีการพบกันระหว่างสิ่งทั้ง ๒ นี้ จึงจะมีสิ่งที่เรียกว่า “วิญญาณ”เกิดขึ้น เรียกว่าวิญญาณทางตาบ้าง วิญญาณทางหูบ้าง พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ แล้วความประจวบกันของสิ่งทั้ง ๓ นี้ คือ อายตนะภายนอก อายตนะภายใน แล้วก็วิญญาณนี้ ประจวบกันเข้านี้เรียกว่า “ผัสสะ” เท่ากับว่าเดี๋ยวนี้ไข่ได้รับเชื้อ มีแต่เรื่องได้รับเชื้อ จะเริ่มได้รับเชื้อ ทีนี้ผัสสะก็สร้างเป็น “เวทนา” ขึ้นมา ผัสสะให้เกิดเวทนาขึ้นมาให้เกิด “ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ” ตามลำดับที่เราท่องกันอยู่ทุกวัน ก็หมายความว่าคือระยะที่มันเจริญฝักตัว ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ เดือน ๔ เดือนจนกว่าจะครบ ๑๐ เดือนจึงจะคลอดนั่น
แต่ในทางจิตทางวิญญาณ มันไม่ใช่อย่างนั้น มันในแวบเดียว ชั่วขณะแวบเดียว มันพร้อมกันหมด ทั้งการผสมเชื้อ ทั้งการเจริญเติบโต ครรภ์แก่คลอดเลย คือมันคลอดมาเป็น “ตัวกู” ได้ในแวบเดียวเท่านั้น แต่ว่าในแวบเดียวนั้นมันก็ดูให้เห็นได้ว่ามันมีเป็นระยะๆๆๆ ตั้งหลายระยะ ถ้าพูดเต็มที่ก็ตั้งแต่อวิชชามา สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหาเรื่อยมาตั้ง ๑๑ ตอน หรือถ้ารวบรัดให้สั้นเข้าตอนต้นๆเอาเพียงกระทบกันเกิดผัสสะเวทนานี้ มันก็ยังตั้ง ๗-๘ ตอนกว่ามันจะโผล่ออกมาเป็นตัวกู คือโกรธอยู่ หรือว่ารักอยู่ หรือว่ากลัวอยู่ เกลียดอยู่อะไรก็ตาม
ตรงนี้อยากจะขอร้องให้เสียเวลาท่องจำถ้อยคำของสูตรในตัวปฏิจจสมุปบาทให้แม่นยำ อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระแล้วก็ไม่จำ นี่รู้สึกว่าแย่มาก สิ่งที่ไม่เป็นสาระอะไรก็ไปสนใจไปท่องจำไปสะสม สิ่งที่มันจะมีสาระมีประโยชน์แท้จริงกลับไม่เล่นด้วย คนเขาสะสมอะไรกันบ้าง บางคนก็สะสมรูปภาพ ยา Cigarette บางคนก็สะสมแสตมป์ บางคนก็สะสมปากกาหมึกซึม ทุกชนิดมี รวยมากหน่อยก็สะสมไม้ขีด ไม้ขีดเบนซินทุกชนิดมีนี่สะสม ในวัดเราก็มีสะสมแสตมป์ด้วยความพยายามพากเพียร แต่ไม่สะสมแสตมป์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะพูดว่ามีสัก ๘๔,๐๐๐ ชนิด แสตมป์ของพระพุทธเจ้ามีราว ๘๔,๐๐๐ ชนิด แล้วก็ไม่มีใครช่วยสะสมมันไว้แม้จะสักว่า ๑,๐๐๐ เดียว ๑,๐๐๐ ชนิด แต่ไปสะสมแสตมป์ติดซองจดหมายนั้นนั้นไม่รู้กี่ ๑๐๐ กี่ ๑,๐๐๐ ชนิดได้ คือว่าหัวข้อธรรมในพุทธศาสนาถือว่าทั้งพระไตรปิฎกมีประมาณ ๘๔,๐๐๐ ประเด็นหรือความหมาย เรียกว่า ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ นี้จำให้ได้สัก ๑,๐๐๐ ธรรมขันธ์ไม่ไหวเชียวหรือ หรือว่าสัก ๑๐๐ ธรรมขันธ์ แต่เดี๋ยวนี้ผมขอร้องว่าสัก ๑๑ ธรรมขันธ์เท่านั้น ไปสะสมแสตมป์ของพระพุทธเจ้าสัก ๑๑ ดวงเท่านั้นแหละว่า
อวิชชาให้เกิดสังขารดวงหนึ่ง สังขารให้เกิดวิญญาณดวงหนึ่ง
วิญญาณให้เกิดนามรูป นามรูปให้เกิดอายตนะ
อายตนะให้เกิดผัสสะ ผัสสะให้เกิดเวทนา
เวทนาให้เกิดตัณหา ตัณหาให้เกิดอุปาทาน
อุปาทานให้เกิดภพ ภพให้เกิดชาติ
ชาติให้เกิด ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะฯ
นั่นคือทุกข์ทั้งนั้น มีอยู่ ๑๑ คำ ๑๑ ประโยคในทั้งหมดที่ว่ามี ๘๔,๐๐๐ ประเด็น นี้มันมีอยู่ ๑๑ประเด็นที่ขอร้องว่าให้ช่วยจำให้แม่นยำทั้งบาลีและทั้งไทย ที่จริงก็ควรจะสวด ทีนี้บางองค์ก็สวดได้ แต่ไปสวดเอาสตางค์เขา เมื่อเขาบังสุกุลเป็นนั้น เขาก็สวดอันนี้สวดปฏิจจสมุปบาทนี้ ไปสวดเอาสตางค์เขามาแล้วเท่าไหร่ก็ไม่รู้ แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไร อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ต้องรู้ว่ามันว่าอะไรที่เราไปสวดบังสุกุลเป็นเอาสตางค์เขานั่นคือ ปฏิจจสมุปบาท บอกให้รู้ว่ามีอาการ ๑๑ อาการหรือ ๑๑ ระยะ กว่าที่ว่าคนจะโผล่เป็นตัวกูขึ้นมาสักคนหนึ่ง นี่คือความเกิด
ช่วยกันสะสมสมบัติที่พระพุทธเจ้ามอบให้นี้กันบ้าง เดี๋ยวนี้สะสมหนังสือ สะสมอะไรก็ไม่รู้ สะสมหนังสือเรื่องเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงอะไรก็มี ผมก็มีเหมือนกันแต่ว่าไม่ถึงอย่างนั้น แล้วก็สะสมของเล่นของใช้อะไรอีกมากมาย แต่ไม่สะสมเพชรนิลจินดาของพระพุทธเจ้าคือหลักที่เป็นหัวข้อที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนาซึ่งมันมีอยู่เป็นข้อๆๆๆ ที่จริงหาได้ง่ายในหนังสือเรียนนักธรรมพุทธศาสนสุภาษิตนั้นแหละสามเล่มนั้นมันก็มีหลายพันข้อแล้ว เราเก็บเอามาสิ ไม่กี่ข้อที่มันจำเป็นแก่การที่จะต้องรู้และต้องปฏิบัติ ก็ยังไม่ทำ มันก็ลืมๆเลือนๆอยู่ในหนังสืออยู่ในสมุดนั้น ฉะนั้นเราต้องเก็บเอามาที่มันจำเป็นแก่การที่เราจะรู้ไว้ให้เป็นปัญญาแล้วเอามาใช้ให้ทันท่วงที ให้เป็นสติ แล้วก็ป้องกันการปรุงแต่งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เกิดเป็นปฏิจจสมุปบาทขึ้นมาได้ เรื่องมันเท่านั้นเอง
ผมประมาณดูว่าไม่เกินร้อย ไม่เกินร้อยหลักหรือหัวข้อหรือประโยคที่เราจะต้องจำให้แม่นยำไม่เกินร้อย แล้วถ้าอันอื่นมันไม่ได้กันจริงๆแล้ว ขอให้ ๑๑ อันนี้ให้ได้ เช่น อวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารให้เกิดวิญญาณ เป็นต้น กระทั่งถึงภพให้เกิดชาติ ให้เกิดชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะฯ ขึ้นมา มันจะเป็นหลักที่ดี ถ้าเราจะรู้รอบเฉพาะในกรณีที่จะเกิดทุกข์และจะดับทุกข์ แล้วเป็นรู้หมด รู้รอบหมด โดยหลักที่เป็นหัวข้อเพียง ๑๑ ข้อนี้ แล้วต้องเข้าใจด้วย แล้วก็อย่าเข้าใจผิด ตรงนี้พูดแล้วมันก็บาป ว่าที่สอนกันอยู่ในโรงเรียนนักธรรมชั้นโทนั้นมันยังผิดอยู่ สอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท ต้องสอนให้ความหมายถูกให้ตรงตามคำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส ไม่ต้องไปมากมายตั้ง ๓ ภพ ๓ ชาติ คำว่าภพ ว่าชาติ ให้มันอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ในวันหนึ่งๆ มีหลายภพหลายชาติคือหลายปฏิจจสมุปบาทในวันเดียว ไม่ใช่ว่าปฏิจจสมุปบาทรอบเดียวเอาไปไว้ชาติที่แล้วมาบ้าง ไว้ปัจจุบันนี้ทั้งชาติบ้างเอาไป ไว้อนาคตที่จะมาข้างหน้านู้นอีกบ้าง อย่างนี้มันฟังคำว่าชาติผิด คนเข้าใจพระพุทธวจนะผิดแล้วอธิบายใหม่กันอย่างนี้มานานแล้วเหมือนกัน มาดูแล้วไม่มีประโยชน์อะไร ให้ถือเอาตรงตามพระพุทธภาษิต ตามตัวหนังสือ ตามความหมายอื่นๆที่มันแวดล้อมกันอยู่ ให้เห็นได้ชัดว่ามันเป็นเรื่องเกิดในภาษาธรรมในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เรื่องเกิดในภาษาคนที่เกี่ยวกับท้องแม่ เข้าออกท้องแม่ ทีนี้ถ้าเราจะเกิดมีแม่มีพ่ออะไรกันบ้างก็ได้ แต่ต้องเปลี่ยนว่าพ่อแม่นี่มันก็คือ ตัณหา อวิชชา อวิชชาจะเป็นพ่อ เพราะมันเป็นจุดตั้งต้น มันก็จะมีแม่เป็นอารมณ์อะไร ที่จะเป็นเวทนาเป็นตัณหาขึ้นมา แล้วมันก็คลอดลูกออกมาเป็นภพเป็นชาติ เป็นบุคคลผู้ทุกข์ผู้มีความทุกข์ มันก็มีพุทธภาษิตตรัสไว้ในรูปอุปมาแบบนี้เหมือนกัน ให้ฆ่าพ่อเสีย ให้ฆ่าแม่เสีย ให้เป็นคนอกตัญญูอย่างนี้แล้วก็จะนิพพาน เพราะคำว่า “พ่อแม่” ในกรณีอย่างนี้หมายถึงอวิชชา หมายถึงตัณหา ให้ฆ่ามันเสียที่มันจะเกิดกูมานั่นแหละ ให้ฆ่ามันเสียแล้วก็จะก็นิพพาน คือจะดับกันหมดทั้งพ่อ ทั้งแม่ ทั้งกู ทั้งอะไร
ถ้าเข้าใจได้ก็ดี คำพูดอย่างนี้มันสนุกแล้วมันจริงด้วยมันถูกต้องด้วยมันลึกซึ้งด้วย อย่าให้มันมีการเกิดออกมาได้ มันก็ไม่มีปัญหา เดี๋ยวนี้อวิชชา ตัณหา อุปาทาน มันทำให้เกิดเรื่อย เดี๋ยวเกิด เดี๋ยวเกิด เดี๋ยวเกิด เกิดเป็นตัวกูชนิดที่เป็นทุกข์เรื่อย นี่ผมพูดอย่างนี้มันก็ซ้ำกับที่เคยพูดมาแล้ว แต่ว่าบางแง่ก็ขยายความให้ละเอียดออกไป ให้เข้าใจหรือว่ากันไม่ให้ลืมไม่ให้เลือน ให้เข้าใจเรื่องความเกิดในความหมายของภาษาธรรมในพุทธศาสนาซึ่งเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญ เป็นปัญหาที่สำคัญ เขาเรียกกันว่าเป็น “อาทิพรหมจรรย์” คือเป็นเงื่อนต้นของการประพฤติพรหมจรรย์ เพราะการที่จะประพฤติพรหมจรรย์นี้ต้องมีตั้งต้นที่ถูกต้อง ถ้าตั้งต้นไม่ถูกต้องแล้วมันก็เตลิดเปิดเปิงไปไหน ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เช่น ไปเอาเรื่องว่าคนตายแล้วเกิดหรือไม่เกิดอะไรเป็นต้นมาพูดนี่ มันจะไม่มีจบไม่มีสิ้น เพราะมันเป็นคำพูดคนอย่างคนธรรมดาสามัญเรื่อยไป
ฉะนั้นถ้าเราเอาคำตั้งต้นคำแรกมาพูด ก็คือคำว่า “ทุกข์” ที่จริงคำว่า ทุกข์ ก็คือคำว่าคนในภาษาธรรมที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่คนในภาษาวัตถุที่เป็นคนๆๆอย่างนี้ อาทิพรหมจรรย์ต้องตั้งต้นขึ้นด้วยคำว่าทุกข์ เป็นคำที่๑ แล้วก็เขยิบไปถึงที่ว่าอะไรทำให้มันเป็นทุกข์ แล้วคำที่ ๓ ก็เขยิบไปว่าความไม่มีทุกข์นั้นเป็นอย่างไร และคำที่ ๔ ก็ว่าทำอย่างไรจึงจะได้ความเป็นอย่างนั้นมาเลยจบ จบแค่นี้เอง ๔ คำ ๔ เรื่อง เรียกว่า “อริยสัจ ๔” ใช้คำตรงๆลงไปว่าทุกข์คือความทุกข์ นี่เงื่อนต้นของเรื่องอะไรให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์หรือไม่มีทุกข์นั้นเป็นอย่างไร แล้วจะได้ความดับทุกข์นั้นมาโดยวิธีใด หมด จบ ถ้าอยากจะพูดว่าคน จะตั้งต้นด้วยคน ก็อย่าไปตั้งต้นว่าคนตายแล้วเกิดหรือไม่เกิดอะไรทำนองนั้น ก็มาตั้งต้นว่าคนนี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าความทุกข์ มีตัวกูอย่างนี้ก็มีความทุกข์ทันที คนคืออะไร เหตุให้เกิดคนคืออะไร ความดับไม่มีคนคืออย่างไร ทำอย่างไรจึงจะได้ความดับไม่มีคนนี้มา ก็คือเรื่องเดียวกัน เรื่องอริยสัจ ๔ หรือว่าเกิดขลังขึ้นมา เกิดนั่นขึ้นมา เข้าใจว่าโลกเลย เอาโลกมาเป็นคำตั้งต้น แต่อย่าไปมีปัญหาว่าโลกนี้ใหญ่เท่าไร กว้างเท่าไร หนาเท่าไร อยู่ที่ไหน ใครสร้าง ในแบบที่เขาพูดกันอยู่ไม่รู้จักจบนั้น รู้ว่าโลกทั้งหลายนี้มันเข้ามามีผลแก่จิตใจของเรานี่ นี่มันเป็นโลกที่มีความหมายขึ้นมาแก่จิตใจของเรา ทำจิตใจของเราเป็นทุกข์ นี่เรียกว่าโลก โลกนี้อยู่ในใจของเราคือในตัวคน คือในใจของคนที่ยังคิดนึกได้ แล้วอะไรเป็นเหตุให้เกิดโลก แล้วความดับโลกนี้เสียนั้นคืออย่างไร แล้วทำอย่างไรจึงจะดับมันได้ มันก็เรื่องอริยสัจอีก
นี้เงื่อนต้นของพรหมจรรย์เป็นอย่างนี้ ระวังควบคุมไว้ แต่ให้มันเป็นอย่างนี้ อย่าให้มันเตลิดเปิดเปิงไปเป็นอย่างอื่น คำๆเดียวกันนั่นแหละต้องเอามาตั้งต้นให้ถูกวิธี แม้ที่สุดแต่คำว่า ทุกข์หรือความทุกข์ นี้ก็เหมือนกันต้องตั้งต้นให้ถูกวิธี ต้องรู้จักตัวทุกข์ที่แท้จริงก่อน แล้วค้นหาเหตุให้เกิดทุกข์ให้ถูกต้อง ถ้าไม่อย่างนั้นมันเตลิดเปิดเปิงไปเป็นความทุกข์ที่ไม่มีตัวจริง ความทุกข์ที่ฝันๆว่าๆเอาพูดตามๆกันๆไป ไม่ใช่สิ่งที่กำลังรู้สึกอยู่ในใจจริงๆ อย่างนี้แล้วมันจะเตลิดเปิดเปิง แล้วความทุกข์นั้นผีบันดาลให้บ้าง เทวดาบันดาลให้บ้าง พระเจ้าบันดาลให้บ้าง โชค เคราะห์ กรรม ชะตาอะไรบันดาลให้บ้าง มันก็เลยผิดเรื่องหมด ออกไปนอกเรื่อง ไม่รู้ว่าทุกข์นี้มันเกิดขึ้นในภายใน มาจากต้นเหตุในภายใน ไม่ใช่ข้างนอก ในภายในก็คือ ตัณหา อุปาทาน ตั้งต้นตั้งแต่อวิชชา ไปถึงตัณหา ไปถึงอุปาทานนี้ ตัวเหตุให้เกิดทุกข์แหละ ถ้าจะให้พระเจ้าบันดาลให้ทุกข์ก็ต้องพระเจ้านี้พระเจ้าอวิชชา ตัณหา อุปาทานนี้ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ พอไม่มองเห็นความจริงข้อนี้ก็ไปคิดว่าข้างนอกพระเจ้าอยู่บนฟ้า เทวดา ผี สางอะไรอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ไปทำพิธีบวงสรวงอ้อนวอนอะไรต่างๆมากมายหลายร้อยหลายพันอย่างเหมือนกัน มันก็แยกทางกันเดิน คือไม่เป็นพุทธศาสนา แล้วก็ไม่ดับทุกข์ได้ เพียงแต่หลอกให้สบายใจได้บ้างนิดๆหน่อยๆพอประทังไปเท่านั้น การไปรดน้ำมนต์ การไปไหว้ผี ไปทำอะไรตามแบบนั้น มันทำให้สบายใจไปได้นิดๆหน่อยๆประทังไปเท่านั้น แต่ในที่สุดมันก็ไม่อาจจะพ้นทุกข์ได้
มันต้องรู้ชนิดที่ว่าเกิดเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้แจ่มแจ้งขึ้นมาเป็นพุทธบริษัทนี้ จึงจะรู้จักแก้ไขต้นเหตุของความทุกข์ ดับทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นหลักการบรรลุมรรคผลจึงได้จัดเอาข้อนี้ไว้เป็นข้อแรกว่า ถ้ายังงมงายโง่เง่าในเรื่องนี้ก็คือยังไม่ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ยังไม่เป็นพระโสดาบัน คือยังไม่เข้ามาสู่กระแสของพุทธศาสนาเลย ต้องละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ความโง่เง่านั้นเสีย เช่นว่าทุกข์ไม่ได้เกิดมาจากผีสางเทวดาที่ไหน เกิดมาจากตัณหาอวิชชา ถ้าชัดอย่างนี้เอาละมันจะเป็นพระโสดาบันขึ้นมา คือมันเริ่มเดินมาในทางที่ถูก แล้วไม่ถอยหลังไม่แวะไปไหนอีกแล้ว มันจะถูกเรื่อยไปจนถึงที่สุด ฉะนั้นการเข้าใจปฏิจจสมุปบาทถูกต้องเท่านั้น พระพุทธเจ้ายืนยันว่าเป็นพระโสดาบัน ใช้ความหมายหลายคำแต่ทุกคำเป็นพระโสดาบัน รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทอย่างเข้าใจถูกต้อง ด้วยปัญญานะ ไม่ใช่ด้วยท่องจำ
รู้ด้วยปัญญานั้นมีคำใช้เฉพาะ เขาเรียกว่า “ยถาภูตสัมมัปปัญญา” นี้แปลกหูหน่อย แต่ก็ควรจะจำไว้ ที่ว่ารู้อะไรๆ ด้วยอะไรๆอื่นๆนั้น มันไม่ใช่อันนี้ เช่น เรารู้อริยสัจ รู้อะไรก็ตาม มันรู้ด้วยการท่องจำ คิดนึก คำนวน สันนิษฐาน ใช้คิดตามหลักตรรกวิทยาตามหลักปรัชญานี้ มันไม่ใช่อันนี้ มันเป็นเรื่องที่ไม่ช่วยให้เกิดความเป็นพระโสดาบันได้ ต้องรู้ด้วยปัญญาภายในที่แท้จริงที่เรียกว่า ยถาภูตสัมมัปปัญญา “ยถาภูตะ” แปลว่าถูกต้องตามที่เป็นจริง “สัมมะ” แปลว่าถูกต้อง “ยถาภูตะ” แปลว่าตามที่เป็นจริง แล้วก็ “ปัญญา” คือปัญญา ยถาภูตสัมมัปปัญญา ปัญญา แปลว่าปัญญา สัมมะ แปลว่าถูกต้อง ยถาภูตะ แปลว่าตามที่เป็นจริง คำนี้ไม่ค่อยรู้กันหรอก รู้ก็แต่ปัญญา ปัญญาเฉยๆ นี้มันก็กลายเป็นปัญญาเฉโก ปัญญาเอาเปรียบ ปัญญาคดโกงอะไรไปนู้น มันก็ยุ่งกันใหญ่ ฉะนั้นเพื่อให้จำกัดชัดเจนลงไปก็ต้องเติมคำนี้ลงไปให้มันชัดเสียว่า ยถาภูตสัมมัปปัญญาจะรู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอะไร ต้องรู้ด้วยยถาภูตสัมมัปปัญญา ควรจะนึกถึงบทสวด บทท่องที่เราท่องกันอยู่ทุกวัน ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ สัพเพ สังขารา อนิจจา ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา ปัญญานี้คือปัญญาที่เรียกว่า ยถาภูตสัมมัปปัญญา เดี๋ยวจะไปอ้างว่าเราก็ท่องอนิจจังได้ แล้วก็รู้เรื่องต่างๆที่ครูสอน เรื่องทำไมจึงเป็นอนิจจัง ทำไมจึงเป็นอนิจจัง มีเหตุผลตั้ง ๑๐ ข้อ ๒๐ ข้อ เราก็รู้อนิจจังสิ ไม่ได้ ไม่ใช่ นั่นมันรู้อนิจจังทางหูฟัง ทางคิดคำนวณทางหยั่งด้วยเหตุผล เป็นเรื่องที่ยังไม่ใช่ยถาภูตสัมมัปปัญญา คือไม่รู้ด้วยความรู้สึกที่มันรู้สึกจริงๆ
การรู้ปฏิจจสมุปบาทเข้าใจปฏิจจสมุปบาทนี้เข้าใจด้วยยถาภูตสัมมัปปัญญา เพียงเท่านั้นก็เป็นพระโสดาบัน ต่อแต่นั้นไม่ต้องพูด เพราะว่าถ้าเป็นพระโสดาบันแล้วมันไม่ไปทางไหนมีแต่รุดหน้าตรงไปยังจุดหมายปลายทางเรื่อยไป ระวังเพียงให้มันเข้ามาสู่จุดนี้ จุดตั้งต้นนี้ คือจุดของความเป็นพระโสดาบัน ไปศึกษาเรื่องเกิดให้ละเอียด ให้รู้จักความเกิดตามนัยแห่งปฏิจจสมุปบาท กว่าจะเกิดออกมาได้ทีนี้ก็มี ๑๑ ระยะ ตั้งแต่อวิชชาทำให้เกิดสังขาร สังขารทำให้เกิดวิญญาณมาเหมือนที่กล่าวแล้ว พฤติของมันเป็นอย่างนี้แบ่งได้เป็น ๑๑ ตอน แล้วก็ให้เห็นจริงเลย เพราะว่าอย่าเอาเรื่องข้างนอกมาเป็นหลัก เอาเรื่องที่มันกำลังเกิดอยู่ในใจเป็นหลัก เช่นว่ากำลังเป็นทุกข์ กำลังเดือดร้อน กำลังโกรธ กำลังเกลียด กำลังอะไรอยู่นั้น เอามาเป็นหลัก มองให้เห็นว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ค่อยๆทำไป ในกรณีอย่างนี้เกิดขึ้นมาเพราะแม้แต่ไม้ขีดไฟกลักเดียว ก็ไปคิดดูให้ดีใคร่ครวญดูให้ดีว่าตอนไหนเป็นอะไร ตอนไหนเป็นอะไร จนไม้ขีดไฟกลักเดียวก็ทำให้มีความทุกข์ได้ ก็จะพบว่ามัน ๑๑ ตอนอย่างนี้ ถ้ามีปัญญาพิจารณา
ทีนี้ผู้ไม่มีปัญญาพิจารณาก็เหมาเอาก็ได้ว่ามันมาจากตัณหา ความอยาก อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น มันก็ถูกเหมือนกัน แล้วก็สำเร็จประโยชน์เหมือนกันสำหรับผู้มีปัญญาน้อย ไม่ใช่ว่าจะต้องรู้ชัดทั้ง ๑๑อาการอย่างนั้นไปเสียทุกคน บางคนไม่อาจจะรู้ แต่มันข้อเท็จจริงมันมีอยู่ว่าคนจะรู้หรือไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท ต้องมีอย่างนั้น ต้องมี ๑๑ อาการเสมอ อย่างเดียวกับอุปมาที่เราพูดว่าเด็กคลอดออกมานี่ พ่อแม่ตั้งครรภ์แล้วมันก็คลอด พูดสั้นๆเพียงเท่านี้ก็ได้ ทีนี้พวกที่เป็นหมอเป็นผู้มีความรู้ทางนี้เขาก็พูดได้เป็นระยะๆๆๆๆๆ เพราะมันตั้ง ๑๐ เดือนมันจะคลอดออกมาได้ ๙ เดือน ๑๐ เดือน ระยะตั้งต้นมันตั้งอย่างไร มันผสมอย่างไรเปลี่ยนแปลงอย่างไร มันก็ได้ คนธรรมดาก็ไม่ต้องรู้ มันก็คลอดลูกได้ ก็เลี้ยงลูกได้ มันก็เป็นอย่างเดียวกัน ข้อเท็จจริงมันมีอยู่อย่างนั้น ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตามใจ พอพูดถึงตรงนี้ก็นึกได้ว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตามใจ เรื่องนั้นมันยังเป็นอย่างนั้นเสมอ เป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาท หรือเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อะไรก็ตาม มันจะต้องเป็นอย่างนั้นเสมอ ใครจะรู้หรือใครจะไม่รู้ก็ตามใจ แล้วยังมียิ่งไปกว่านั้นว่าพระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือพระพุทธเจ้าจะไม่เกิดขึ้น เรื่องนี้ก็ยังเป็นอย่างนี้ เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาก็จะยังเป็นอย่างนี้ เรื่องปฏิจจสมุปบาทก็จะเป็นอย่างนี้ ทีนี้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา ก็รู้สิ่งที่มันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ก็สอนคนอื่นให้รู้ด้วย เรื่องนั้นมันยังเท่าเดิม
เพราะฉะนั้นเราจงรู้ความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความไม่มีทุกข์ และทางให้ถึงความไม่มีทุกข์นี้ ให้มันเต็มตามความหมายคือให้มันดับทุกข์ได้ก็แล้วกัน ส่วนที่จะแจกละเอียดไปได้ถี่ยิบนั้นก็ทำได้ก็ได้ ทำไม่ได้ก็ได้ มันมุ่งหมายแต่เพียงว่าจะดับอวิชชา ตัณหาให้ได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งซึ่งมันก็มีหลายๆวิธี อาจจะเป็นกำลังของสมาธิก็ได้ กำลังของปัญญาก็ได้ แม้แต่กำลังของความเชื่อมันก็ยังได้ เชื่อมั่นถูกทางถ้าเผอิญได้รับคำสั่งสอนมาถูกทางแล้วก็เชื่อมั่นแล้วก็ยึดมั่นแต่อย่างนั้น มันก็ไม่เป็นทุกข์ได้เหมือนกัน แต่มันไม่แน่นอนแล้วก็ไม่เป็นสิ่งที่ว่าเรียกว่ามันมีหลักหรือมีเหตุผลเหมือนกับว่ารู้ชัดจริงลงไปด้วยปัญญา เรียกว่าความสมบูรณ์มันอยู่ที่นี่ อยู่ที่มีปัญญา มีแต่ความเชื่อ มีแต่สมาธิ มันไม่บริบูรณ์ ไม่ครบถ้วน แต่ความเชื่อมันก็ต้องอาศัยปัญญาอยู่นิดหนึ่ง สมาธิก็ต้องอาศัยปัญญาอยู่นิดหนึ่ง การที่เราจะเชื่ออะไรมันต้องมีหลักที่ว่าว่าอย่างไรคือรู้อยู่นิดหนึ่งแล้วก็ระดมความเชื่อลงไป มันก็ป้องกันไม่ให้ความรู้สึกอย่างอื่นเกิดได้เหมือนกัน นี้สมาธิจะเพ่งๆลงไปที่ไหน มันก็ต้องเพ่งลงไปที่ความถูกต้องอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็คือเป็นเรื่องของปัญญานิดหนึ่งอยู่ในนั้น
นี้เรื่องของปัญญานี้มันเป็นปัญญาเต็มที่ สมบูรณ์ รู้แจ้ง พูดถึงนี้เป็นเรื่องปัญญาเต็มที่ นี้เราจะเห็นได้ว่ามันต้องมีปัญญาเข้าไปเจืออยู่ที่ทุกแห่งจึงจะแก้ไขความทุกข์ได้ ฉะนั้นโดยหลักจึงถือว่าพ้นทุกข์ด้วยปัญญา ดับทุกข์ด้วยปัญญา บริสุทธิ์ด้วยปัญญา แต่รูปปลอมของมันบางทีมันออกมาในรูปของความเชื่อ ความเชื่อมันเบ่งขึ้นหน้า มองไม่เห็นปัญญา เพราะเขาเชื่อว่าถูกอยู่แล้ว มีปัญญาอยู่ในความเชื่อ ก็ระดมแต่ความเชื่อ ความเชื่อ ความเชื่อ นี้อีกพวกหนึ่งก็ทำสมาธิคือบังคับความเชื่อนั้นให้มันแน่วแน่ยิ่งขึ้นไปอีกด้วย อำนาจของสมาธิเพ่งอยู่แต่อย่างนี้ อย่างอื่นไม่ยอมให้เกิดขึ้นในใจ มันก็ดับทุกข์ได้เหมือนกันเพราะมันมีปัญญาอยู่ในนั้น แต่มันก็ยากนะที่จะมีถึงขนาดนั้น ใช้ปัญญาตามสามัญสำนึกให้ถูกทางให้เป็นไปตามพอดีๆสบายๆ แล้วก็ค่อยพูดเฉพาะเรื่องนั้น มันก็เฉพาะเรื่องนั้น
ทีนี้เรากำลังพูดความหมายของคำว่า เกิด ที่ชาวบ้านไม่รู้อะไร ก็ขอให้กลัวความเกิด ให้มองเห็นจนเชื่อหรือว่าเชื่อจากใครก็ได้แต่เชื่อให้ถูกทางว่า ความเกิดอย่างนี้มันน่ากลัวจริงๆ ไม่ใช่ความเกิดจากท้องแม่น่ากลัว ความเกิดที่เป็นทุกข์ที่เป็นตัวกูของกูนี้น่ากลัว ยิ่งเห็นยิ่งน่ากลัว อาศัยความกลัวนี้ก็เป็นเงื่อนต้นสำหรับที่จะทำให้สิ้นกิเลสได้ มีพระพุทธภาษิตที่ว่าความเชื่อตั้งรากฐานอยู่บนความทุกข์ หรือพูดเรื่องอวิชชา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงเกิดทุกข์เห็นชัดเสียก่อนจนเกิดความทุกข์ นี่ความทุกข์มีอยู่เป็นปัญหาพื้นฐานเลย ทีนี้ศรัทธาความเชื่อก็จะก่อตัวขึ้นบนความทุกข์ เพราะความทุกข์มันเป็นปัญหา ทีนี้มันก็อยากจะดับทุกข์มันก็ต้องมีหลักอะไรสักอย่างหนึ่งที่จะมาถือมายึดถือ อันนี้เรียกว่าศรัทธาไปหาพระพุทธเจ้า หรือว่าได้รับพระธรรมมา หรือว่าพระสงฆ์สั่งสอนให้นี้ ก็มีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั่นแหละ มันจึงจะไปตามลำดับ มีการปฏิบัติซึ่งเป็นศีล สมาธิ ปัญญาเรื่อยขึ้นไปตามลำดับจนสิ้นกิเลส ขอให้มองเห็นข้อนี้แล้วก็ถือหลักให้ได้ว่า พรหมจรรย์มีเงื่อนต้นอยู่ที่ความทุกข์ ตัวก.ตั้งต้นขึ้นที่ความทุกข์ แล้วก็เป็นตัวข. ตัวค. เรื่อยไปจึงจะถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา
ความทุกข์นั้นคือ “เกิด” นะ เกิดเมื่อไรเป็นทุกข์เมื่อนั้น ฉะนั้นจึงต้องรู้เรื่องเกิด เรื่องความเกิด เกิดในรูปของความทุกข์ก็ได้ เกิดในรูปของตัวตนก็ได้ เกิดในรูปของโลก สิ่งที่เรียกว่าโลกก็ได้ เรียกว่าเกิดทั้งนั้น จะต้องมองดูจนเห็นชัดว่าไม่มีพูดเรื่องอื่น พระพุทธเจ้าท่านจะไม่ตรัสเรื่องอื่น แล้วท่านก็ยืนยันอย่างนั้น มีพระพุทธภาษิตอยู่ในสูตรๆหนึ่งจะเป็น อลคัททูปมสูตร อะไรก็จำชื่อไม่ได้แน่ คือพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ที่แล้วมาก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี ฉันพูดแต่เรื่องทุกข์กับเรื่องดับทุกข์ เรื่องอื่นไม่พูด ปุพเพจาหัง ภิกขะเว เอตะระหิจะ ทุกขัญเจวะ ปัญญาเปมิ ทุกขัสสะจะ นิโรธัง ภิกษุทั้งหลายก่อนนี้ก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี เราบัญญัติเฉพาะเรื่องทุกข์และเรื่องความดับสนิทแห่งความทุกข์เท่านั้น หมายความว่าท่านไม่พูดเรื่องอื่น จึงถือเอาคำว่าความทุกข์นั้นมาเป็นตัวก. เป็นจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ที่จะต้องศึกษาและปฎิบัติ แล้วก็มีผลสุดท้ายก็คือความดับทุกข์ นี้คือพรหมจรรย์ นี้เราพูดสักทีหนึ่ง อีกทีหนึ่งก็ตั้งต้นด้วยความเกิด เกิดชนิดภาษาธรรมในพุทธศาสนา ตัวก.อยู่ที่เกิด แล้วก็มีตัวข. ค. ง. เรื่อยไปจนถึงสิ้นสุดแห่งความเกิด จบพรหมจรรย์ที่ไม่เกิด ที่ไม่มีการเกิดอีกต่อไป เรียกว่า “นิพพาน” หรือเรียกอะไรอีกหลายๆชื่อ ความไม่เกิดอีกต่อไป ถ้าจะตั้งต้นด้วยคำว่าโลก ก็ให้ใช้ความหมายอย่างนี้แล้วไปจบลงที่คามดับไม่เหลือแห่งโลก คือโลกนี้ไม่เป็นอันตรายแก่เราอีกต่อไป โลกทั้งหลายทั้งหมดทั้งสิ้นชนิดไหนก็ตามจะไม่ทำอะไรแก่จิตใจเราได้อีกต่อไป คือจบ จบเรื่องของโลก มันก็เป็นนิพาน
รู้จักความหมายของคำว่า เกิด แล้วก็ไปรู้จักตัวมันให้จริงๆทุกคราวที่มันเกิด แล้ววันหนึ่งก็เกิดมาก เกิดหลายหน แต่แล้วก็ไม่สนใจ ไปทำอะไรอย่างอื่นกันเสียดีกว่าที่จะมาสนใจตัวสิ่งที่เรียกว่าความเกิด นี่เราเสียเวลาไปเท่าไหร่ เสียเวลาที่ไม่สะสมเพชรพลอยที่พระพุทธเจ้าท่านประทานให้ ไปสะสมขยะมูลฝอยของพญามารอะไรก็ไม่รู้ ไปปรับปรุงกันเสียใหม่ เรื่องความขวนขวายความอะไรในชีวิตประจำวันให้มันถูกเรื่อง ไปขวนขวายกันในเรื่องที่จะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่พระพุทธเจ้าท่านมีให้ แล้วท่านขอร้องมีพระบาลีหลายแห่ง พูดแล้วมันน่าเศร้า คือท่านแนะนำชี้แจงชักชวนกระทั่งวิงวอน กระทั่งขอร้องว่าจงทำอย่างนี้ กระทั่งว่านั่งที่สงบ นั่งที่สงัด จงไปประกอบความเพียรเพื่ออย่างนี้ นี้ก็อยู่ในพวกที่เราจะต้องตักเตือนกันอยู่เสมอ ขอร้องตักเตือนกันอยู่เสมอ ให้สนใจในสิ่งนี้มากขึ้น แล้วก็สละสิ่งที่มันตรงกันข้ามออกไปเสีย คือสิ่งที่มันเป็นข้าศึกศัตรู ทำอะไรเอะอะโผงผางตึงตังโวยวายกันไปตามกิเลสตัณหา มันตรงกันข้าม มันเป็นศัตรู ต้องพูดน้อย ต้องนิ่งมาก ต้องคิดมาก ต้องสังเกตมาก ถ้าพูดกันไม่พูดเรื่องอื่น พูดกันแต่เรื่องนี้ อย่าไปอ่านหนังสือพิมพ์แล้ววิจารณ์การเมืองกันให้เอ็ดตะโรอย่างที่ทำกันโดยมาก พูดแต่เรื่องความเกิด จนทุกคนเข้าใจเรื่องเกิด เรื่องความเกิดแล้วเห็นตัวความเกิด ก็พยายามตัดต้นเหตุหนทางของความเกิด ก็เป็นอยู่อย่างถูกต้องจนความเกิดเกิดไม่ได้
นี้ก็มีธรรมข้อหนึ่งที่ว่า อยู่โดยชอบแล้วโลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ อยู่โดยชอบคืออยู่โดยวิธีที่ความเกิดมันเกิดไม่ได้ อยู่ด้วยสติปัญญาสัมปชัญญะอะไรต่างๆ จนความเกิดชนิดที่ว่ามานี้มันเกิดไม่ได้ ทั้งวันๆ ทั้งเดือนๆ ทั้งปีๆ มันเกิดไม่ได้ จนมันหมดความเคยชิน หรือหมดอำนาจที่มันจะเกิด มันก็เป็นพระอรหันต์ อยู่ให้ถูกวิธีความเกิดเกิดไม่ได้ คำพูดมันสั้นๆอย่างนี้ แต่คำอธิบายมันอธิบายเท่าไรก็ได้ อยู่ด้วยวิธีที่ว่ามันจะไม่เกิดอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ อยู่ด้วยวิธีที่ว่าอายตนะภายในภายนอกมันจะไม่กระทบกันแล้วเกิดกิเลสได้ อย่างนี้เรียกว่า “อยู่โดยชอบ” แต่บัญญัติไว้ให้มันง่ายๆสำหรับปฏิบัติในขั้นศีลธรรม คือมรรคมีองค์ ๘ มีความเข้าใจชอบ มีความปรารถนาชอบ พูดจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ พากเพียรชอบ มีสติชอบ มีสมาธิชอบ นี่พูดไว้ในแง่ของศีลธรรม เป็นอยู่ชอบคืออย่างนี้ ให้คนทุกคนปฏิบัติได้ เมื่อปฏิบัติอยู่อย่างนี้มันไม่เกิดเหมือนกัน ตัวกูหรือความทุกข์มันไม่เกิด แล้วไม่เท่าไรมันก็ดับไป สิ้นเชื้อไป มันก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน นี้เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ปฏิบัติบนทางสายกลางคือการเป็นอยู่ชอบที่ทำให้โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แต่ว่าพูดไว้ในรูปของศีลธรรมทั่วไป
ถ้าพูดในแง่ของปรมัตถธรรมคือเรื่องลึกซึ้งเรื่องอภิปรัชญาไปทางนู้นแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า เรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ปฏิจจสมุปบาททั้งเครือนี้คือมัชฌิมาปฏิปทา เมื่อพูดในภาษาปรมัตธรรมถ้าพูดในภาษาศีลธรรมคือมรรคมีองค์ ๘ ในภาษาปรมัตถธรรม หรือยิ่งไปกว่าปรมัตถธรรมนั้นกระโดดไปพูดเรื่องปฏิจจสมุปบาทเลย ก่อทุกข์ขึ้นอย่างนั้น ดับทุกข์ลงไปอย่างนี้ แล้วทั้งหมดนั้นไม่ข้องแวะกับฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา ไม่ข้องแวะกับความมีและไม่ข้องแวะกับความไม่มี มันอยู่ตรงกลางคือไม่มีตัวคน ตัวสัตว์ บุคคล อย่างนี้ก็เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา เพราะมันอยู่ตรงกลางไม่ไปข้องแวะกับว่าคนมีหรือคนไม่มี มัชฌิมาปฏิปทาที่ลึกซึ้งคือเรื่องนี้ ที่ตื้นๆง่ายๆคือเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ ในบาลีที่เกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาทจะพบอย่างนี้ว่า ความรู้ความเข้าใจการปฏิบัติถูกต้องในปฏิจจสมุปบาทนี้คือ มัชฌิมาปฏิปทา เราอยู่ด้วยมัชฌิมาปฏิปทาอย่างศีลธรรมก็ได้ อยู่ด้วยมัชฌิมาปฏิปทาอย่างปรมัตถธรรมก็ได้ เรียกว่ามีชีวิตอยู่ชอบทุกลมหายใจเข้าออก เกิดไม่ได้ ไม่มีอะไรเกิดได้ อย่างนี้เรื่อยไป ไม่เท่าไรก็หมดๆอำนาจ หมดเชื้ออะไรที่จะทำให้เกิด ก็คือเป็นพระอรหันต์ ประโยคสั้นๆว่า อยู่โดยชอบไซร้ โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ เพราะอยู่โดยวิธีที่มันไม่อาจจะเกิด
วันนี้ผมพูดขยายความหรือว่าจะพูดย้ำความหรืออะไรก็ตามเกี่ยวกับการเกิด มันจำเป็นที่สุดที่จะเข้าถึงตัวพุทธศาสนา “เกิด” คือเกิดตัวกู “ไม่เกิด” คือไม่เกิดตัวกู มันจึงเป็นเรื่องของตัวกูของกูอยู่นั่นแหละ จะค่อยๆพูดไปตามลำดับตามที่เห็นเหมาะสมที่มันเกี่ยวกับเรื่องนี้ในทุกแง่ทุกมุม เมื่อสักครู่ที่ถามขึ้นว่าปฏิสนธิวิญญาณกับวิญญาณคืออะไรนั่น มันก็เป็นเรื่องๆหนึ่งที่ต้องพูดกันหลายคำเหมือนกัน ถ้าพูดไปในแง่ปฏิสนธิวิญญาณแล้วก็เป็นเรื่องมีตัวตน ไม่ใช่พุทธศาสนา ถ้าเป็นวิญญาณเฉยๆ มันเกิดขึ้นตามกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติเป็นวิญญาณเฉยๆ นี่ก็เรียกว่าพุทธศาสนา ถ้าพูดว่า “ปฏิสนธิวิญญาณ” แล้วก็เป็นภาษาศีลธรรมภาษาชาวบ้านที่เชื่อกันมาแต่เก่าแก่ ที่จริงมันก็ถูก ถ้ามีวิญญาณเมื่อไรมันก็จะทำนามรูปเมื่อนั้น ฉะนั้นจะเรียกวิญญาณธรรมดาแท้ๆนี้ว่าปฏิสนธิวิญญาณก็ได้เหมือนกัน แต่เวลาสั้นๆนี้พูดไม่ทันแล้ว ไว้พูดคราวอื่น
วันนี้ก็ขอสรุปว่า ระวังอย่าให้เกิดอีก แล้วรู้จักความเกิด ๒ ประเภท ความเกิดที่ทำงานร่วมกับอวิชชาอย่าให้มันเกิด ส่วนความเกิดที่ไม่ได้ทำงานร่วมกันกับอวิชชา ไม่เจืออยู่ด้วยอวิชชา ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ต้องระคายขนกับสิ่งเหล่านี้ แต่ความเกิดที่มันอยู่กันกับอวิชชา ทำงานไปด้วยกันกับอวิชชา เกิดขึ้นไปกับอวิชชานั้นระวังให้ดี มันเป็นยักษ์เป็นมารที่มันกัดกินเราอยู่ตลอดเวลา เอาละพอกันที