แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในธรรมปาฏิโมกข์ของเราเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกู อย่างที่รู้กันอยู่แล้ว แต่มันมีมากแง่มากมุม พูดกันไม่ค่อยจะรู้จบรู้สิ้น เพราะฉะนั้นก็จะได้เลือกในรูปในแง่มุมที่ยังไม่ได้พูดเรื่อยๆไป ได้เคยบอกมาหลายครั้งหลายหนแล้ว พุทธศาสนาไม่มีเรื่องอะไรนอกจากเรื่องเกี่ยวกับตัวกู หรือความดับไปแห่งตัวกู เกิดตัวกูมันก็เรื่องตัวกูนั่นแหละ ดับไปตัวกูมันก็เรื่องตัวกูเหมือนกัน เกิดแห่งตัวกูก็คือความทุกข์ ดับไปแห่งตัวกูก็คือความดับทุกข์หรือเรื่องนิพพาน
สำหรับวันนี้ก็จะพูดด้วยเรื่องคำว่า “เกิด” เพียงคำเดียว เพื่อให้รู้จักคำว่าเกิดเพียงอย่างเดียวพอ เพราะมันมีขอบเขตกว้างขวาง หรือมีหลายความหมายด้วย คือหลักทั่วๆไปมันก็มีว่า ถ้าเกิดก็ต้องเป็นทุกข์ นี่คือหลักธรรมะ ไม่ใช่หลักชาวบ้าน ถ้ามีเกิดก็ต้องมีทุกข์ นี่เป็นหลักที่เกี่ยวกับความดับทุกข์ ที่มันเป็นหลักทั่วๆไปก็ว่า ถ้ามันมีเกิดมันก็มีดับ สังขารทั้งหลายทั้งปวง สิ่งใดมีการเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็มีการดับไป อย่างนี้เรียกว่าสิ่งที่มีการเกิด มันก็มีการดับ ถ้าพูดอย่างนั้นก็ยังไกลอยู่ ยังไม่เกี่ยวกับความทุกข์โดยเฉพาะ ฉะนั้นเราพูดให้มันชัดสั้นเข้ามาว่า ถ้ามีเกิดก็ต้องมีทุกข์ นี่ให้ทุกคนสังเกตดูให้ยิ่งกว่าที่แล้วมาว่า เมื่อมีความทุกข์มันมีอะไรเกิด
ทีนี้สำหรับผู้ที่ไม่เคยศึกษาพุทธศาสนาเลยหรือศึกษาพุทธศาสนาอย่างไม่ถูกต้อง อย่างไม่เป็นเรื่องเป็นราวนั้น ก็จะไม่เข้าใจคำว่าเกิดในภาษาธรรมะที่ลึกซึ้งอย่างนี้ รู้แต่ว่าเกิดในภาษาชาวบ้าน ก็คือเกิดจากท้องแม่ จะเป็นคนหรือสัตว์ ก็มีการเกิดจากท้องมารดา อันนั้นก็เรียกว่าเกิด นี้จะช่วยให้จำง่าย ผมจะพูดให้จำง่ายว่า อย่าไปหมายถึงเกิดในทางวัตถุอย่างนั้น ให้มันหมายถึงที่เราพูดกันว่าเกิดเรื่องเกิดราว ทุกคนก็พอจะเข้าใจถูกหรือฟังถูกว่าที่ว่าเกิดเรื่องเกิดราวขึ้นแล้วโว้ยนี้ เกิดอย่างนี้เป็นความเกิดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความทุกข์ หรือเป็นความเกิดในภาษาธรรม แต่มันยังมีความหมายที่ชัดเจนไปกว่านั้นอีกสำหรับในทางธรรม ถ้าเกิดเรื่องเกิดราวในทางธรรมก็หมายความว่า มันมีความทุกข์แก่บุคคลนั้น แก่บุคคลที่ทำให้เกิดขึ้นมา ทีนี้ภาษาชาวบ้าน เกิดเรื่องเกิดราวหมายความว่ามีหลายคนแหละ แล้วก็มันยุ่งยากลำบากกันไปหลายคน ตัวคนนั้นมันก็จะมีความทุกข์ด้วยกัน คนอื่นมันก็ยังพลอยด้วย
คำว่าเกิดในภาษาธรรม มันมีความหมายตรงที่ว่ามันเกิดเรื่อง แต่คำว่าเกิดเรื่องนี้มันยังมีอีกหลายชั้น ชั้นอย่างชาวบ้านนี่เกิดเรื่องทะเลาะวิวาทกันนั้นก็ยังไม่ใช่เรื่องที่เราจะพูด เพราะว่าเรื่องที่เราจะพูดนี่มันเกิดเรื่องอยู่คนเดียวก็ได้ แล้วเกิดในภายในไม่ต้องมีใครรู้ก็ได้ เกิดอย่างนี้รีบมองให้เห็น ให้เห็นลึกเข้าไปทุกทีจนรู้ว่า ที่ว่าเกิดนั้นนั้นมันไม่ได้เกิดที่ไหน มันเกิดในใจของคนๆนั้น เช่น เกิดตัวกูของกูอย่างนี้มันเกิดอยู่ในใจของคนนั้น เราเกิดจากท้องแม่ มันสิ้นเรื่องกันแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเรื่องเกิดจากท้องแม่อีก แต่ทีนี่มันยังมีเกิดอย่างอื่นที่ยังเกิดอยู่เรื่อยไป คือเกิดเป็นตัวกูของกู ตัวกูของกูอยู่วันละหลายหน นี่คือตัวปัญหาเรื่องความทุกข์ที่จะต้องดับ
นี้ก็เป็นเรื่องความเกิด เป็นคำที่มีความหมายพิเศษกว่าที่ชาวบ้านเขารู้กันอยู่ ทีนี้มันยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือเพ่งเล็งถึงส่วนประกอบหรือส่วนปลีกย่อยซึ่งมีหลักในทางธรรมชั้นละเอียด เช่น จะพูดว่า ตานี่ก็เพิ่งเกิด หูก็เพิ่งเกิด จมูก ลิ้น กาย ใจอะไรก็ตามอย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็เพิ่งเกิด มันเกิดบ่อยๆ เกิดแบบมีเรื่องมีราว นัยน์ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นต้น ที่เรามีอยู่แล้ว เรารู้สึก เราถือว่าเรามีกันอยู่แล้วทุกคน ทางธรรมะถือว่ายังมิได้มี ยังมิได้เกิด แต่คนชาวบ้านถือว่ามี มีหู มีตา มีอะไรอยู่ตลอดเวลา นั่นมันภาษาชาวบ้าน คือภาษาคนที่ยังโง่ต่อภาษาธรรม ภาษาธรรมนั้นเขาจะพูดว่า ตาเกิด หูเกิด ก็เพิ่งเกิดเมื่อมันมีเรื่อง เมื่อใดมีเรื่องทางตา เมื่อนั้นตาเกิด พอเสร็จเรื่องแล้วก็ดับไป ตาก็ดับไป เดี๋ยวก็มีเรื่องทางหู เป็นต้น หูก็เกิด มีเรื่องทางจมูก จมูกก็เกิด นี่ฟังดูให้ดีว่ามันหมายความว่าอย่างไร
นี้หมายถึงข้างในนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรานี่ก็เพิ่งเกิดต่อเมื่อมันทำหน้าที่ของมัน นี่เรียกว่าเกิดเรื่อง หลักจะจำก็จำไว้ว่า เมื่อมันทำหน้าที่ของมันเมื่อใด เมื่อนั้นเรียกว่ามันเกิด ตาทำหน้าที่ของตาเมื่อใด เท่าไร เป็นระยะเท่าใด ระยะนานเท่าใด เมื่อนั้นมันเกิด แล้วมันก็เกิดเท่านั้น แล้วมันก็ดับไป ตามันก็ดับไป เดี๋ยวก็มีเรื่องให้หูเกิด เดี๋ยวก็มีเรื่องให้จมูกเกิด ให้ลิ้นเกิด ให้กายผิวหนังเกิด ให้ใจเองเกิด เมื่อมันทำหน้าที่ของมัน ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้สัมผัสผิวหนัง ใจได้ความรู้สึกคิดนึกเป็นอารมณ์อะไรขึ้นมา นี่มันผลัดกันเกิดอยู่อย่างนี้
เด็กๆคงฟังไม่ถูก แล้วก็ไม่เชื่อ แล้วก็เถียง เพราะไม่รู้ความหมายของคำว่าเกิดอย่างนี้ และเกิดอย่างนี้ก็คือความหมายในภาษาศาสนา ให้เข้าใจถูกต้องให้ดีก่อนว่า ในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เกิดเป็นคราวๆ เกิดเป็นครั้งเป็นคราวต่อเมื่อมันทำหน้าที่ของมัน นี้เรียกว่า “อายตนะภายใน” แต่ละอย่างละอย่าง เกิดดับ เกิดดับ แล้วก็เกิดอยู่อย่างนี้
ทีนี้ “อายตนะภายนอก” ที่ตรงกันข้ามคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี้ก็ถูกพูดว่าเพิ่งเกิดอีกเหมือนกัน แล้วก็เกิดแล้วก็ดับพร้อมกันไปกับอายตนะภายใน คือเมื่อตาไปเห็นรูปเข้า แล้วก็มีอาการชนิดที่โง่หลงเกิดเป็นผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน เพราะเห็นรูปนั้น ดังนั้นจึงถือว่ารูปนั้นก็เพิ่งเกิดเวลานั้น มีอุปาทานในรูปใด รูปนั้นก็เกิด เกิดขึ้นสำหรับบุคคลนั้น ถ้าไม่ถึงกับมีความรู้สึกที่เป็นตัณหาอุปาทานในสิ่งนั้นๆ ก็ยังไม่เรียกว่าสิ่งนั้นเกิด
พอมีความรู้สึกที่เรียกว่า “ตัณหาอุปาทาน” เมื่อใดในสิ่งใด เมื่อนั้นเรียกว่าสิ่งนั้นเกิด แม้ที่สุดแต่สิ่งที่ไม่มีชีวิต ไม่มีวิญญาณ เช่นโต๊ะ เช่นเก้าอี้ แม้แต่ก้อนอิฐก้อนหิน มันก็ยังไม่เกิด ในภาษาธรรมะถือว่ามันยังไม่เกิด จนกว่าเมื่อไรมันแสดงค่าของมันแก่จิตใจของบุคคลนั้น สิ่งนั้นก็เลยเกิดขึ้นมาสำหรับบุคคลนั้น อย่างโต๊ะเก้าอี้ของเราไม่มีชีวิตไม่มีวิญญาณ ทีนี้พอเราไปเกี่ยวข้องกับมันในบางคราวในลักษณะที่มีความยึดมั่นถือมั่น มันก็เกิดเต็มรูปที่จะเป็นทุกข์ ก้อนอิฐก้อนหิน ถ้าไปมีเรื่องที่ทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นชนิดที่เป็นทุกข์ก็เรียกว่ามันเกิดขึ้นมาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอายตนะภายนอกเกิดเมื่อมันทำหน้าที่แสดงความหมายหรือคุณค่าของมันแก่จิตใจของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แล้วมันก็มีเกิดสำหรับบุคคลนั้น
นี่ถ้าจะพูดอย่างบทนิยามก็พูดได้อย่างนี้ว่า อายตนะภายใน ตา หู จมูก กาย เกิดต่อเมื่อมันทำหน้าที่ของมัน อายตนะภายนอกคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เกิดก็ต่อเมื่อมันแสดงค่าและความหมายของมันเหนือจิตใจของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง นี้มันคู่กันไปเรื่อย อายตนะภายนอกกับอายตนะภายใน มันจะคู่กันไปเรื่อย ต่อเมื่อมันได้พบกัน มันก็จะมีการเกิด อยู่กันตามลำพัง แยกกันอยู่ เกิดไม่ได้ ไม่ถือว่าเป็นการเกิด แม้แต่สิ่งที่ไม่มีชีวิตก็เป็นอย่างนี้ แม้แต่สิ่งที่มีชีวิตมันงอกงามอยู่ทุกวัน เราก็ไม่เรียกว่าเกิด จะเรียกว่าเกิดเฉพาะเมื่อมันแสดงค่า มีผลแก่จิตใจ คือกระทำแก่จิตใจให้เป็นไปในทางที่มีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น ก็เรียกว่ามันเกิดแล้ว
ทีนี้เราพอจะมองเห็นต่อไปว่า ที่เรียกว่าเกิด เกิดนี่ มันเกิดอยู่ที่ใจของคนนั้น ไม่ได้เกิดอยู่ที่สิ่งเหล่านั้น ถ้าเข้าใจคำที่พูดนี้แล้วก็จะเข้าใจคำว่าเกิดในพุทธศาสนา แล้วจะรู้เรื่องพุทธศาสนา จะฟังพุทธศาสนาเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจคำว่าเกิดอย่างนี้แล้วไม่มีวันและไม่มีหนทางที่จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าทุกสิ่งมีการเกิดเป็นธรรมดา มีการดับเป็นธรรมดา
ดังนั้นไปดูให้ละเอียด เช่นว่าเรามีอะไรอยู่ในกุฏิ มีโต๊ะ มีเก้าอี้ มันไม่เกิดหรอก มันเกิดเฉพาะเมื่อมันแสดงอิทธิพลเป็นค่าหรือเป็นความหมายอะไรแก่จิตใจของเรา นั่นแหละมันกัดเราแล้ว อย่างนี้เรียกว่าเกิด มีดินสอ มีปากกา มีนาฬิกา แม้แต่มีอะไร ไม้ขีดสักกลักหนึ่ง ระวังให้ดี มันกัดเราเมื่อไรก็ได้ คือมันเกิดมีการแสดงความหมายทางค่าหรือทางความหมายขึ้นมาสำหรับความยึดมั่นถือมั่นจนเราเกิดอุปาทาน คือจิตใจไหวไปหมด ด้วยความรักก็ดี ด้วยความเกลียดก็ดี หรือว่าหัวเสียหรือผิดปกติทางจิตใจ เพราะสิ่งเหล่านั้น แม้แต่ไม้ขีดก้านเดียวก็ได้ เมื่อนั้นเรียกว่าสิ่งเหล่านั้นเกิด และอะไรเกิดหมดเลย
ดูที่เราที่ตัวเรา ดูภายในตัวเราว่าตาเกิด สมมติเห็นด้วยตานี้ เห็นไม้ขีดกลักนั้นด้วยตา นี่เรียกว่าตาเกิด ถ้าจะพูดให้ชัดเต็มแบบเรียกว่า “จักษุทวารเกิด” หรือ “จักษุอินทรีย์เกิด” จักษุอายตนะเกิด เมื่อข้างในเกิดอย่างนี้แล้วมันต้องมีข้างนอกเกิดด้วย ถ้าไม่อย่างนั้นมันเกิดไม่ได้ เพราะมันได้ไปยึดเอาความหมายหรือค่าอะไรเข้าที่ไม้ขีดกลักนั้นแล้ว ไม้ขีดกลักนั้นเกิดขึ้นมา มีชีวิตเกิดขึ้นมา สำหรับเป็นคู่กัน อายตนะภายใน นี้ตัวกูก็เกิด เมื่อมีความรู้สึกถึงขนาดนั้น ตัวกูก็เกิด ทีนี้พูดให้ละเอียดออกไปอีก นามรูปก็เกิด เวลานั้นนามรูปเกิด คือกายกับใจเกิด ก่อนหน้านี้ไม่ถือว่ากายกับใจหรือนามรูปเกิด เพราะมันไม่ได้ทำหน้าที่ของมัน กายไม่ได้ทำหน้าที่สำหรับใจ แต่ได้อาศัย และใจก็ไม่ได้ทำหน้าที่จะรู้อารมณ์ อย่างนี้เรียกว่านามรูปยังไม่เกิด พอมันมีเรื่องทางอายตนะภายนอก ภายใน มีความรู้สึก ถึงขนาดที่เรียกว่าเป็นตัณหาอุปาทาน ในเวลานั้นเกิดหมดทุกอย่าง เกิดหมด จะชี้ไปที่อะไรก็ได้ เกิดหมด วิญญาณก็เกิด ผัสสะก็เกิด เวทนาก็เกิด อะไรก็เกิด ตัณหาอุปาทานเกิด และที่น่าหัวคือว่า นามรูปคือกายกับใจก็เพิ่งเกิด เพิ่งเกิดที่ตรงนั้นเวลานั้น คนก็เพิ่งเกิด จะเรียกว่าอะไร จะแยกเรียกว่า แม้แต่จะเรียกว่า “ธาตุ ๔” ธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มันก็เพิ่งเกิด ในเมื่อดิน น้ำ ลม ไฟนี้มันทำหน้าที่เป็นร่างกาย เป็นมหาภูตรูปเวลานั้น เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งจิตใจที่จะทำหน้าที่ด้วยกัน ดิน น้ำ ลม ไฟก็เพิ่งเกิดเวลานั้นแหละ เป็นอันว่าเกิดหมดแล้วแต่จะมองกันในแง่ไหน เกิดหมด มองในแง่วัตถุภายนอก ก็ในรูปคือไม้ขีดไฟเกิด มันจะมีธาตุอะไรบ้างก็เรียกว่าธาตุนั้นแหละเกิดขึ้นมา ที่มองภายในว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟของร่างกายนี้ก็ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ของร่างกาย จิตก็ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ของจิต ก็เรียกว่านามรูปเกิด จักขุอายตนะ จักขุอินทรีย์ จักขุทวารอะไรเกิดกันหมด จะไปรวมความอยู่ที่สิ่งนั้นสิ่งเดียวคือ “ตัวกู” ตัวกู Egoism ความเป็นตัวกู ความมีตัวกู ความหมายแห่งตัวกูเกิด ทีนี้ผลที่สำคัญก็คือความทุกข์ ตัวกูเกิดเมื่อไหร่ก็เป็นทุกข์ทันที เมื่อนั้นแหละเท่านั้น ให้เข้าใจเถอะคำว่า เกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที ไม่เกิดก็ไม่ทุกข์ เกิดนานเท่าไรก็เป็นทุกข์นานเท่านั้น
นี้เราจับใจความให้ได้ มันเป็นหัวขั้วอยู่ที่สิ่งๆเดียวคือ “อุปาทาน” จิตที่มีความรู้สึกเป็นอุปาทาน ว่าฉันว่าของฉัน นั่นแหละหัวขั้วหรือศูนย์กลางนิวเคลียสของเกิดทั้งหมด วันนี้เกิด ทุกอย่างเกิดพรึบขึ้นมาหมด ชีวิตก็เกิดตอนนี้ นามรูปก็เกิดตอนนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเกิดตอนนี้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสเกิดตอนนี้ ความทุกข์เกิดตอนนี้ เรื่องมันจบ นี่คือ “ปฏิจจสมุปบาท” ถ้าเรียกอย่างยากๆหน่อย เกิดขึ้นแห่งตัวกู ในวันหนึ่งเกิดได้หลายร้อยครั้ง เดี๋ยวตาบ้าง เดี๋ยวหูบ้าง เดี๋ยวจมูกบ้าง แล้วแต่ว่าคนมัน ทำไมแหละ พูดแบบหยาบๆคายว่า เสือกกะโหลกเก่งหรือไม่เก่ง ถ้าคนมันอยู่นิ่งๆก็ไม่มีอะไรเกิดได้ ทีนี้มันไม่อยู่นิ่ง เดี๋ยวมันแส่ไปทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง มันก็เกิดมากเกิดบ่อย คนนี้มันเกิดเก่งเพราะมันเสือกมาก คนที่อยู่นิ่งๆก็ไม่ค่อยจะเกิด ความหมายคำว่าเกิดคืออย่างนี้
ทีนี้ส่วนที่ละเอียดในขณะนั้นก็เรียกว่า “กิเลสเกิด” “สังโยชน์เกิด” “อนุสัยเกิด” อะไรเกิด แล้วแต่จะเรียกชื่อว่าอะไร เป็นความโลภ หรือว่าเป็นความโกรธ หรือว่าเป็นความหลง มันเกิดพร้อมกันหมด เมื่อเกิดกิเลสเป็นความโลภ นี่ก็เรียกว่ากิเลสเกิดหรือความโลภเกิด และพร้อมกันนั้นก็เกิดอนุสัยที่เป็นประเภทความโลภ คือมันมีความเคยชินสำหรับจะเกิดความโลภซ้ำเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อใดเกิดกิเลส เมื่อนั้นก็เกิดสังโยชน์หรือเกิดอนุสัยพร้อมกันด้วย ที่ว่าเกิดเป็นกิเลสนี่ คือมันตัวการที่มันเป็นกิเลสที่จะทำให้เกิดเรื่องเป็นทุกข์ตามเรื่องนั้นๆ ทีนี้สังโยชน์หรืออนุสัยเกิด หมายความว่าความเคยชินได้เพิ่มขึ้นเข้าอีกครั้งหนึ่งในการที่จะเป็นเช่นนั้น
เมื่อก่อนได้เคยสอนกันมาเคยเข้าใจกันมาว่า อวิชชา อนุสัย สังโยชน์นี้เกิดต่อเนื่องเป็นประจำอยู่ในสันดาน คนฟังฟังไม่ดีก็เข้าใจผิด พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชัดเจนว่ามันเพิ่งเกิด กิเลสก็ตาม อนุสัยก็ตาม นี่มันเพิ่งเกิดเมื่อมันมีเหตุมีปัจจัย แม้แต่อวิชชาตัวร้ายนั้นก็เพิ่งเกิดเป็นคราวๆ คือมันเป็นกิเลสนั่นเอง เมื่อใดเป็นอุปาทานเกิด เมื่อนั้นก็ต้องหมายความมีอวิชชาเกิด เพราะถ้าอวิชชาไม่ได้เกิด อุปาทานเกิดไม่ได้ ทีนี้พอตาเห็นรูป มันมีปัญหาอยู่ว่าปราศจากความรู้หรือไม่ปราศจากความรู้ ถ้ามีสติมันก็ไม่ปราศจากความรู้ อวิชชาก็ไม่ได้เกิด เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆมันหยุดหมด มันเกิดไม่ได้ ถ้าอวิชชาไม่มี แล้วมันจะไม่เผลอสติไปเกิดความรู้สึกที่เป็นกิเลสตัณหาหรือความยึดมั่นถือมั่นได้ มันเลยไม่เกิดกันหมด ไม่มีอวิชชาสิ่งเดียว ไม่มีความเผลอสติสิ่งเดียว สิ่งต่างๆไม่เกิด ตา หู จมูก ก็ไม่เกิด รูป เสียง กลิ่น รส ก็ไม่เกิด อะไรๆก็ไม่เกิดทั้งนั้นแหละ
แม่บทของมันก็อยู่ที่ว่า เผลอสติแล้วมีอวิชชา จะเห็นรูปก็ดี ฟังเสียงก็ดี อะไรกลิ่นก็ดี มันจะเกิด เกิดมาตามลำดับ เกิดเป็นอวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ ตามนัยแห่งปฏิจจสมุปบาท ก็คือเกิดกันหมด ที่เป็นเหตุก็เกิดกันหมด ที่เป็นผลก็เกิดขึ้นมา และที่เป็นฐานที่ตั้งที่อาศัยอย่างดิน น้ำ ลม ไฟ กาย ใจ ก็พลอยเกิดในชั่วขณะนั้น
นี่อย่าได้เข้าใจหรือถือว่า กายกับใจของเรามีอยู่ตลอดเวลา ถ้าถืออย่างนั้นเป็นภาษาชาวบ้าน เป็นภาษาคนที่ไม่รู้ธรรมะในพระพุทธศาสนา เด็กๆก็รู้ว่ากายกับใจของเขามีอยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกสามัญสำนึกของคนทุกคนก็จะรู้สึกว่ากายกับใจของเราเกิดอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าภาษาธรรมะไม่มีความหมายอย่างนั้น กายกับใจของเราจะเกิดต่อเมื่อมันทำหน้าที่สำหรับที่จะเป็นทุกข์ คือจะมีเรื่องเป็นทุกข์ ซึ่งจะเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส ตัณหา อุปาทาน นั่นเรียกว่ามันเกิด
นี่ถ้าเราพูดอย่างวิทยาศาสตร์ แบบวิธีวิทยาศาสตร์หน่อยก็ว่า เมื่ออวิชชาเกิด ต่างๆก็เกิดหมดครบถ้วน นี่จะพูดอย่างภาษาที่คลุมเครือก็ว่าตัวกูเกิด เมื่อตัวกูเกิด ทุกอย่างก็เกิดหมด ทีนี้พูดอย่างภาษาหนังสือหรือภาษา Logic ก็พูดว่า ของข้างในนี่เมื่อมันทำหน้าที่ของมัน จึงจะเรียกว่ามันเกิด ของข้างนอกต่อเมื่อมัน affect ต่อจิตใจข้างใน จึงจะถือว่ามันเกิด เสร็จแล้วในที่สุด ความหมายของคำว่าเกิดนี่เป็นตรงประเด็นเดียวกัน สืบเนื่องถึงกันหมด เกิดเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมา แล้วก็เป็นทุกข์ไปตามประสาของการเกิดเพราะว่ามันมาจากอวิชชา
และยังมีความเกิดตามความหมายอย่างหนึ่งก็คือว่า “สมมติบัญญัติ” ถ้าเรามีความคิดอย่างโจร เราเกิดเป็นโจร ถ้าเรามีความคิดอย่างพ่อค้า เราเกิดเป็นพ่อค้า เรามีความคิดอย่างเด็ก เกิดเป็นเด็ก มีความคิดอย่างผู้ใหญ่ เกิดเป็นผู้ใหญ่ นี้มันก็มีความหมายสำคัญอยู่ตรงที่มีความยึดมั่นเหมือนกัน เราจะเกิดเป็นโจรได้ทันทีแม้ที่นี่เดี๋ยวนี้ เมื่อเราคิดอย่างโจร ด้วยความหมายมั่นยึดมั่นในการเป็นโจร คือจะคดโกงโกหกหลอกลวง เอาประโยชน์ หรือเบียดเบียน หรืออะไรก็ตาม เราคิดอย่างเทวดา เกิดเป็นเทวดา อย่างนี้ไวมาก เรียกว่าเป็นโอปปาติกะ เกิดเป็นอะไรได้ทันที ถือเอาใจเป็นหลัก
พวกนักศึกษานิกายเซน เคยจำได้ พระสององค์เถียงกันว่า อะไรไหว ลมพัดอยู่แล้วธงที่แขวนอยู่ปลิวสะบัด พระสององค์เถียงกันว่า อะไรไหวหรือสะบัด พระองค์หนึ่งบอกว่าธงนั้นไหวหรือสะบัด พระองค์หนึ่งบอกว่าไม่ใช่ หัวใจของฉันไหวหรือสะบัด เขาก็เลยทะเลาะกัน แล้วก็เลยไปถามอาจารย์ อาจารย์ก็บอกว่า องค์ที่ว่าหัวใจของฉันนั่นแหละไหว นั่นแหละเป็นผู้พูดถูก ถ้าหัวใจของฉันไม่ไหว ธงมันจะไหวเท่าไรมันก็ไม่มีความหมายอะไร นี่เพราะหัวใจของฉันมันไปไหวสะบัดไปตามธง มันจึงมีค่ามีความหมายขึ้นมา นี่ก็เพราะตัวฉันมันยังอ่อน ยังดิบ หรือยังเด็กเกินไป มันจึงไหวไปได้ตามสิ่งที่เห็นว่าไหวหรือสะบัดอยู่ ถ้าหัวใจของฉันมีธรรมะเข้มแข็งพอ มันก็ไม่รู้สึกว่าไหว จำตัวอย่างนี้ไว้สิเพื่อเป็นหลักตัดสิน เมื่อจะพูดว่าอะไรเป็นอะไร ทำอะไร จะต้องดูที่ไหน จะต้องดูที่จิตใจของเราเอง ดูที่จิตใจคนอื่นดูไม่ได้หรอก มันดูไม่เห็น หรือไม่รู้ก็ได้ เราดูที่จิตใจของเราเอง ว่ามันมีอะไร มันเป็นอะไร อะไรมันเกิดขึ้น อะไรมันดับไป และถ้ามันยังไม่ถึงกับเป็นทุกข์ ก็ยังไม่ถือว่าเกิดหรอก ถ้าเกิดก็เกิดเป็นของธรรมดาเหมือนกับทางวัตถุเกิด ไม่มีปัญหา ไม่ใช่ปัญหา เมื่อมันไม่ทำให้เป็นทุกข์ ก็ถือไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่อง ไม่มีกรณีอะไรเกิดขึ้น ฉะนั้นจึงต้องเอาถึงขนาดที่ว่า เกิดความหวั่นไหวขึ้นในจิตใจ ความกระวนกระวายระส่ำระสาย ผิดปกติขึ้นในจิตใจ อย่างนี้แล้วก็ต้องถึงขนาดเรียกว่ามีกิเลสมีตัณหาทั้งนั้นแหละ มันไม่มากก็น้อย
เราพูดเสียใหม่เลยว่า เมื่อกิเลสเกิดทุกอย่างเกิด นี่ประโยคที่มันสั้นที่สุด มันเหลือแต่ว่า เมื่อกิเลสเกิดทุกอย่างเกิด เมื่อก่อนเราไม่เข้าใจ เดี๋ยวนี้เราก็เข้าใจว่า ทำไมจึงพูดว่าเมื่อกิเลสเกิด ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกันนั้นมันเกิด ที่นี้แล้วแต่ว่ามันจะเกิดทางไหน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เฉพาะจำกัดอยู่ที่นั่น ถ้าพูดกันทั้งโลก ก็เมื่อเรามันรู้สึก หรือกิเลสมันทำให้รู้สึกว่าโลกเป็นอย่างไรกับเรานี้ มันน่ากลัวหรือมันน่ารัก หรือมันน่าเกลียด มันน่าอะไรกับเรา เมื่อนั้นแหละโลกทั้งโลกมันเกิด เมื่อกิเลสของเรามันไปแตะเข้าที่โลกทั้งโลก
ทีนี้แม้แต่ส่วนหนึ่งๆของโลก ก็เรียกว่าโลกด้วยเหมือนกัน เช่น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ นี่ส่วนหนึ่งๆก็เรียกว่าโลก รวมกันทั้งหมดก็เรียกว่าโลก เพราะมันเป็นปรากฏการณ์ข้างนอกที่จะเข้ามา affect จิตใจข้างใน ทั้งหมดนั้นเรียกมันว่าโลก ข้างนอกเกิดพรึบขึ้นมาในเมื่อมันมีกิเลสเกิดขึ้นข้างใน ถ้าโลกชนิดนี้เกิดก็คือความทุกข์เกิด ดังนั้น ในบางทีบางกรณีหรือบางสูตร พระพุทธเจ้าก็เรียกโลกว่าทุกข์ เรียกทุกข์ว่าโลกเลยก็มี ในการตรัสเรื่องอริยสัจ แทนที่จะพูดว่าทุกข์ก็พูดว่าโลกเสียเลย พูดว่าโลก พูดว่าเหตุให้เกิดโลก ความดับสนิทของโลก ทางแห่งความดับสนิทของโลก เป็น ๔ อย่างคืออริยสัจนั้น เป็นโลกชนิดที่เข้าไปในจิตใจของเราแล้วก็ย่ำยีจิตใจ นั่นแหละมันเกิด มันหมายความว่าเกิดในลักษณะอย่างนั้น คือมันเกิดเรื่องที่ใหญ่เหลือเกิน เป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมา
ขอให้ทบทวนให้ดี วันนี้พูดเรื่องว่าเกิดคืออย่างไร และอะไรมันเกิด เกิดกันเมื่อไร แม้แต่สุนัขที่เราเลี้ยงไว้นี้มันก็ยังไม่เกิด อยู่ทุกวันนี้มันเกิดจากท้องแม่มาเป็นสุนัขนอนอยู่ที่นี่ มันก็มิได้มีการเกิดสำหรับเรานะ จนกว่าเมื่อเราไปรักหรือไปเกลียดอะไรมันเข้า เมื่อนั้นมันจะเกิดขึ้นมาทันที มันเกิดอย่างนี้ก็จะมีกัด กัดเรา คือมันเข้าไปทำให้มีความทุกข์ขึ้นในใจ ยิ่งกว่ากัดแข้งกัดขา มันก็ไม่ได้กัดด้วยเขี้ยวด้วยเล็บใดๆ แต่มันกัดถึงจิตใจ เพราะว่ามีอุปาทานไปยึดจนเกิดรัก หรือเกิดเกลียด หรือเกิดอะไรทำนองเดียวที่มาจากอุปาทาน สุนัขก็เกิดขึ้นมา ถ้าเราไม่มีความคิดทำนองนี้มันก็ไม่ได้เกิด
ทีนี้ทว่าความเกิดนี้มันวนเวียนเป็นวงกลมเราก็เรียกว่าวัฏสงสาร หรือวัฏฏะสังสาระ หรือสังสาระวัฏฏะ ใช้ได้ทั้ง ๒ คำ สังสารวัฏ หรือวัฏฏะสังสาระก็ได้ ถ้ามันวน ไปมองดูที่มันวนเป็นรอบ หมายความว่าพอเกิดอันนี้แล้ว มันเกิดอันนี้ แล้วเกิดอันนี้ แล้วเกิดอันนี้ ไม่มีหยุด กิเลสเกิด การกระทำหรือกรรมก็เกิด กรรมเกิด ผลกรรมก็เกิด กิเลสก็เกิด หมายความว่าซ้ำ ซ้ำกันอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ มันก็นั่นออกไป นั่นออกไป กิเลสอย่างนี้เกิด ทำกรรมนี้ได้ผลกรรมนี้มา มันเกิดกิเลสอย่างอื่นอีก แต่มันก็เป็นกิเลส เพราะฉะนั้นมันต้องทำกรรมอย่างอื่นอีก และมันก็ได้ผลกรรมอีก และผลกรรมนั้นให้เกิดกิเลสอย่างอื่นที่ไม่ซ้ำกับกิเลสที่เกิดแล้ว เพราะมันมีอะไรแทรกแซงเข้าไปเรื่อย ในลักษณะที่วนกันอยู่อย่างนี้ ก็เรียกว่า “สังสารวัฏ” คือความเกิดที่น่ากลัวยิ่งขึ้นไปอีกมารู้จักความทุกข์ชนิดที่เป็นความทุกข์ และก็รู้จักความทุกข์ชนิดที่วนเวียนก็เรียกว่าสังสารวัฏ
ถ้าดับทุกข์ได้ มันก็หมายถึงดับกิเลสได้ สังสารวัฏมันก็หยุดเวียนเอง จะดับทุกข์ได้ก็เพราะดับกิเลสได้ จะดับกิเลสได้ก็เพราะว่าสามารถทำให้มันไม่มีการเกิดได้ ไม่มีการเกิดของตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ ไม่มีการเกิดของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ไม่มีการเกิดของนามรูป ไม่มีการเกิดของวิญญาณ อายตนะ ผัสสะ ไม่มีทั้งนั้น นี่คือมันหยุดกระแสของการเกิด มันไม่เกิด แล้วมันก็ไม่ทุกข์ ไม่เกิดตลอดกาล มันก็เป็นไม่ทุกข์ตลอดกาล ก็เรียกว่า “นิพพานอันแท้จริง” ได้ นอกจากนั้นเป็นนิพพานชั่วคราว
คำว่าเกิด ถ้าเป็นภาษาธรรม คือภาษาจริง จริงกว่า เขาเรียกว่า “สมุทะยะ” สมุทัย ออกสำเนียงเหมือนภาษาไทยว่า “สมุทัย” ถ้าเป็นภาษาบาลีก็ว่า สมุทะยะ สมุทะโย ทุกขะสมุทะโย “สมุทโย” คำนี้แปลว่าเกิด ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้าน ภาษาธรรมดาเขาใช้คำว่า “ชาติ” (ชา-ติ) แปลว่าเกิด สมุทโยเกิด มันก็คู่กันกับนิโรโธคือดับ ชาติเกิด มันก็คู่กับมรณะคือตาย ภาษาเด็กๆ เกิด แล้วก็ตาย ชาติเกิด มรณะก็ดับตาย แต่ภาษาผู้รู้ธรรม ผู้มีปัญญาลึกซึ้ง มองไปในแง่ละเอียดกว่านั้น “สมุทะยะ” แปลว่าตั้งขึ้น พร้อม นี้คือเกิด เกิดทุกข์เกิดอะไรก็ตาม ใช้คำนี้แล้วก็ลึกซึ้ง นี่มันหมดเหตุปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิด มันก็ดับลงไปเรียกว่า “นิโรธะ” นิโรโธ นิโรธะ ทุกขะสมุทะโย เกิดขึ้นแห่งทุกข์ ทุกขะนิโรโธ ดับสนิทแห่งทุกข์
การเห็นอันนี้เป็นข้อแรกที่เรียกว่า “มีธรรมจักษุ” ดวงตาเห็นธรรม มีสูตรว่า ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมัน นี่ก็ท่องกันได้อยู่แล้ว สิ่งใดมีสมุทะยะเป็นธรรมดา สิ่งนั้นจะต้องมีนิโรธะเป็นธรรมดา เห็นอย่างนี้ก็เป็นพระโสดาบัน หมายความว่าเห็นจริง ไม่ใช่เห็น ได้ยินได้ฟังแล้วก็ท่องจำ เห็นลึกซึ้งด้วยปัญญา มันก็เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับกันอยู่อย่างนี้ ในความหมายที่ว่ามาแล้วตั้งแต่ต้น นี่ก็เรียกว่าเห็น เห็นความจริง เห็นธรรมะในระดับแรกที่จะดับทุกข์ได้ เรียกว่าธรรมจักษุ ผู้เห็นเป็นโสดาบันนี้ เป็นต้น
รู้จักคำว่า “สมุทะยะ” ไว้กับคำว่า “นิโรธะ” ไว้เป็นคำคู่ๆหนึ่ง และรู้จักคำว่า “ชาติ” คู่กับคำว่า “มรณะ” อีกคำหนึ่ง ภาษาลูกเด็กๆ เรียกว่าภาษาคน สมมติว่าเกิด สมมติว่าตาย ที่แล้วมาเรารู้แต่ภาษาคน จึงไปนึกถึงแต่ว่าเกิดออกจากท้องแม่ ถ้าตายคือเข้าโลง อย่างนี้มีสองหนเท่านั้นแหละ แล้วปัญหาจะมีอะไร จะมีปัญหาอะไรได้ ปัญหาคือความเกิด ที่ว่าเกิดทุกที เป็นทุกข์ทุกที เรียกว่าความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ นี่มันไม่มีปัญหา เดี๋ยวนี้มันมีความเกิดและความดับอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมันได้เกิดจริง และมีร้ายกว่า แผดเผาหัวใจที่สุดเลย การเกิดจากท้องแม่ เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีความทุกข์ อะไรที่ปรากฏเหลืออยู่เพราะการเกิดจากท้องแม่ และเมื่อเกิดจากท้องแม่จริงๆก็ไม่แน่ว่าจะต้องเจ็บปวดอะไรนัก อาจจะไม่เจ็บปวดอะไรเลยก็ได้ เดาๆเอาเท่านั้นเอง แต่นี้เมื่อเกิดมาจากท้องแม่แล้ว มันยังไม่ใช่เกิดจริง จึงจะเกิดอยู่บ่อยๆ เกิดอยู่เป็นประจำวันตอนนี้ มันจะเป็นทุกข์จริง สนใจคำว่าเกิดคำนี้ในลักษณะอย่างนี้
แล้วอย่าแปลกประหลาดเมื่อได้ยินคำว่า “เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ” อยู่เป็นประจำ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่เกิดดับ เกิดดับอยู่เป็นประจำ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เกิดดับ เกิดดับอยู่เป็นประจำ ให้มากไปกว่านั้นที่ว่ากันลืมก็ว่า กลักไม้ขีดไฟในห้องของเราก็เกิดดับ เกิดดับอยู่เป็นประจำ นาฬิกา ปากกาก็เกิดดับ เกิดดับ อยู่เป็นประจำ โต๊ะเก้าอี้ก็เกิดดับ เกิดดับ อยู่เป็นประจำ เมื่อใดเราไปพอใจหรือไม่พอใจกับมันเข้าก็เรียกว่า มันเกิดหรือมันดับ
ทีนี้คนที่ไม่รู้เรื่องก็หัวเราะว่าบ้าแล้ว กลักไม้ขีดก็เกิดดับ เกิดดับ อยู่เป็นประจำ มันฟังไม่ถูกแน่ นี่คือภาษาธรรมะที่ทำความยุ่งยากให้แก่การศึกษาธรรมะ ผมจึงคิดว่าจะมีประโยชน์ที่สุดเลยถ้าใครเข้าใจคำว่า เกิด เพียงคำเดียวให้ถูกต้องและครบถ้วน เพราะว่าเกิดอย่างอื่นไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่อง เกิดอย่างนี้เท่านั้นมีเรื่อง พระพุทธเจ้าท่านมุ่งหมายเรื่องอย่างนี้ เรื่องเกิดอย่างนี้ เรื่องดับอย่างนี้ และเป็นความทุกข์หรือเป็นความดับทุกข์
นี่ไปเข้าใจผิด มันก็มีทางที่จะเกิดความรู้สึกไขว้เขวเป็นอย่างอื่นที่เรียกว่า “มิจฉาทิฐิ” ถ้ามองเห็นอยู่อย่างนี้ รับประกันได้เลยว่าไม่มีทางที่จะเกิดมิจฉาทิฐิ เพราะมันจริง ยิ่งกว่าจริง ทีนี้ถ้ามันไม่เห็นอยู่อย่างนี้ในความคิด มันก็ตกอยู่ในฝ่ายมิจฉาทิฐิได้ เช่นว่ามันเกิดอยู่ตลอดเวลา ในทางธรรมะถือว่าบ้าขนาดหนักแล้ว นั่นคือเป็น “สัสตทิฐิ” ถือว่ามีตัวกูอยู่ตลอดเวลา มีอะไรอยู่ตลอดเวลา เป็นสัสสตทิฐิ นี่ถ้าถือตรงกันข้ามเป็นไม่มีอะไรเลยตลอดเวลา นี่ก็เป็นบ้าอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า “อุจเฉททิฐิ” แต่ถ้าถือว่าทุกอย่างมีการเกิดดับอยู่ตามเหตุตามปัจจัยของมัน นี่คือ “สัมมาทิฐิ” ที่มันถูกต้อง ถ้าเอียงไปว่ามันเที่ยงแท้แน่นอนถาวร เกิดอยู่ตลอดเวลา เกิดแล้วอยู่ตลอดเวลา เกิดอยู่แล้วตลอดเวลา นี่เป็นสัสตทิฐิ ถ้าไม่มี ไม่มีอะไร ไม่มีความหมาย ไม่มีอะไรที่จะต้องสนใจ นี่ถือว่าเป็นอุจเฉททิฐิ ล้วนแต่เป็นมิจฉาทิฐิ ให้เกิดความทุกข์แบบใดแบบหนึ่ง ทีนี้ สัมมาทิฐิ แปลว่าทิฐิที่ถูกต้อง นั่นก็คือเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอย่างนี้ เป็นรูปอย่างนี้ เป็นนามอย่างนี้ ที่เป็นรูปก็คือ “มหาภูตรูป” ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่เป็นตัววัตถุ และ “อุปาทายรูป” ก็คือภาวะต่างๆที่มันมีความหมายอยู่ที่วัตถุเหล่านั้น เป็นความสวย ความไม่สวย ความใหญ่ ความเล็ก กระทั่งความเป็นหญิง ความเป็นชาย ที่เห็นว่ามันรูป มีอยู่อย่างนี้ และก็มีเหตุปัจจัยของมันเองปรุงแต่งให้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
ทีนี้ฝ่ายจิตก็มีผัสสะ มีเวทนา มีสัญญา มีเจตนา มีวิตก วิจาร เป็นพฤติ ไหลอยู่เรื่อยทางจิต แล้วก็มีเหตุมีปัจจัยของมัน ทีนี้มันบังเอิญมาปรุงกันเข้าในลักษณะที่มันเป็นตัณหาอุปาทาน เกิดมีความหมายไปในทางเป็นความยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวกูของกู นี่คือ “เกิด” ที่เป็นทุกข์ ถ้าไม่มีเหตุการณ์เกิดอย่างนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร คือปล่อยไปได้ตามเรื่อง เดี๋ยวนี้มันพร้อมอยู่เสมอที่จะเกิดอย่างนี้ และมีความทุกข์อย่างนี้ เดี๋ยวเราก็เสียใจ เดี๋ยวเราก็ดีใจ เดี๋ยวเราก็ยินดี เดี๋ยวก็ยินร้าย เดี๋ยวรัก เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวเกลียด เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวไปเรื่อยไปบ่อยๆ นี่คือเกิดที่เป็นปัญหาและเป็นทุกข์ เกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกทีไม่ว่าชนิดไหน ไม่ว่ากิเลสชื่ออะไร ดังนั้นใครเกิดเก่งคนนั้นก็เป็นทุกข์เก่ง ใครเกิดบ่อยมันก็เป็นทุกข์บ่อย
ก็มีว่าเราบวชเข้ามาในพุทธศาสนาเป็นบรรพชิต การประพฤติพรหมจรรย์มีความมุ่งหมายที่จะรู้เรื่องนี้ แล้วก็ปฏิบัติเรื่องนี้ให้ได้ ปฏิบัติเข้าปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ได้ จึงให้ทำอะไรละ เรียกว่าอะไรละ ทำการปฏิบัติ เขาเรียกว่า “วิปัสสนา” อะไรก็แล้วแต่จะเรียก ชื่อไม่สำคัญหรอก สำคัญอยู่ที่ว่าทำให้มันเห็นความจริงข้อนี้ เห็นความเกิดดับ ประเภทที่ไม่มีความหมายอะไรเลย นั่นก็พวกหนึ่ง เห็นความเกิดดับประเภทที่มีความหมายยิ่งกว่าความหมายคือมีความทุกข์นี่ เห็นให้ชัด ถ้าเห็นอันนี้คือเห็นแจ้งหรือวิปัสสนา นี่ไปทำวิปัสสนาบ้าๆบอๆอย่างอื่นๆ เอานั่นเอานี่เป็นนั่นเป็นนี่ อะไรก็ไม่รู้ มันไม่ใช่เพื่อความเห็นแจ้งให้เกิดดับ คราวนี้แล้วก็ไม่เรียกว่าวิปัสสนา เพราะฉะนั้นเราจะไม่เรียกว่าวิปัสสนาก็ได้ แต่เราพยายามทำให้มันถูกวิธี ให้มันเกิดปัญญาเห็นลึกซึ้งชัดเจนขนาดที่เรียกว่า “ญาณ” เห็นความเกิดและความดับก่อน
ที่จริงที่จะเห็นอยู่ตลอดเวลาก็คือ “ความเกิดและความเปลี่ยนไป” ตรงนี้ต้องระวังให้ดี คำพูดมันเล่นตลกได้ เห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ก็เรียกว่า “เห็นความเปลี่ยนแปลง” ซึ่งตัวกูเกิดอะไรเกิด อายตนะเกิด เกิดแล้วก็ตั้งอยู่คือทำหน้าที่ของมันอยู่ชั่วขณะหนึ่ง พอสิ้นสุดหน้าที่มันก็สลายตัว เพราะฉะนั้นตาของเรานี่ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปบ่อยๆ ตามเรื่องที่มันมากระทบทางตา ตาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จมูก ลิ้น กายอะไรก็เหมือนกัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ดูที่เนื้อหนังร่างกายอันนี้ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป คือมันทำหน้าที่ของร่างกาย เกิดขึ้นมาทำหน้าที่แล้วก็อยู่ชั่วขณะหนึ่งแล้มันก็ดับไป ทีนี้ก็ทำจิตใจให้ละเอียด ให้ประณีต ให้สุขุม ให้มองเห็นสิ่งเหล่านี้ เห็นอาการเหล่านี้อย่างชัดเจน ชัดแจ่มแจ้ง เขาเรียกว่า “เห็นอย่างแจ่มแจ้ง” คือวิปัสสนา ถึงขนาดที่แน่วแน่ลงไปอันดับหนึ่งก็เรียกว่าญาณหนึ่งๆ วิปัสสนาญาณลำดับหนึ่งๆ ลำดับแรกให้เห็นเรื่องเกิดเรื่องดับ ก็มีชื่อที่เรียกกันในภาษาวิปัสสนานั้น คือไม่ต้องเป็นพุทธภาษิตก็ได้ เขาตั้งชื่อขึ้นทีหลังว่ามันเหมาะ มันสะดวก ถ้าเห็นความเกิดขึ้นและเปลี่ยนไป ดับไป นี่เรียกว่า “อุทยัพพยญาณ” “อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ” ภาพเขียนฝาผนังด้านนี้ไปศึกษาในรายละเอียดนะ อุทยัพพยญาณสั้นๆ ญาณเห็นความตั้งขึ้นแล้วก็เปลี่ยนไปหรือเสื่อมไป นั่งดูอาการอย่างนี้อยู่ในภายใน ในส่วนลึกของจิตใจ ไม่ใช่ดูด้วยตาได้ มันดูด้วยปัญญา
นี้จากการเห็นในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หรือว่าเกิดขึ้นเสื่อมไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ มันก็ให้เห็นอันอื่นต่อไปตามลำดับ เช่น เห็นในครั้งที่มันสลายตัวไป เรียกว่า “ภังคญาณ” จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า นี่มันน่ากลัวนี่หว่า นี่ก็เป็นสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าสิ่งใด ก็เรียกว่า “ภยญาณ” “ภยตูปัฏฐานญาณ” หรือ “ภยตูปัฏฐานุปัสสนาญาณ” แล้วแต่จะเรียกสั้นเรียกยาว ความรู้สึกกลัวนี่กลับเพราะเห็นเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ เดี๋ยวเกิดดับเรื่องนั้น เดี๋ยวเกิดดับเรื่องนี้ เดี๋ยวเกิดดับเรื่องโน้น มันก็เลยเกิดความกลัวประเภทลึกซึ้งสูงสุด ไม่ใช่กลัวอย่างกลัวสุนัขกัดหรือว่ากลัวโจรขโมย มันกลัวอย่างลึกซึ้งในภาษาวิญญาณ
ทีนี้มันก็เกิดความรู้สึกต่อไปอีก เมื่อกลัวมันก็เห็นว่า มันไม่ไหว มันเห็นว่ามันไม่ไหว มันเป็นเรื่องที่ไม่ไหว การที่มาเป็นอย่างนี้ แล้วก็เวียนว่ายอยู่ในความเป็นอย่างนี้ คือวัฏสงสารนี้มันไม่ไหว ก็เห็นว่ามันเป็นความเลว เป็นอาทีนวะ เป็นความเลว เป็นโทษ เป็นความต่ำทราม ไม่มีอะไรดี เรียกว่า “อาทีนวญาณ” แล้วก็เห็นต่อไปถึงว่า ทุกข์มันน่าเบื่อจริงโว้ย ก็เรียกว่า “นิพพิทาญาณ” ความรู้สึกว่าน่าเบื่อหรือว่ามันเลวจริงโว้ย บางทีมันสลับกันได้ มันเกิดก่อนเกิดหลังกันได้ ไม่ค่อยเหมือนกันทุกกรณี
ทีนี้ความรู้สึกต่อไปมันก็อยากจะพ้นเรื่องบ้าๆเหล่านี้เสียที มันก็มีที่เรียกว่า “มุญจิตุกัมยตาญาณ” ภาพเขียนเขาเขียนมากญาณนี้ ตอนที่อยากพ้น แล้วก็หาทาง ใคร่ครวญหาทางออกก็ “ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ” แล้วพบว่าไม่ไปบ้ากับมันเรียกว่า “เฉย” คือ “อุเบกขาญาณ” “สังขารุเปกขาญาณ” ถ้าขึ้นมาถึงขั้นนี้ก็เรียกว่ารอดตัว คือมันจะเกิดความพร้อมความเหมาะสมที่จะรู้ในขั้นที่จะขุดรากของกิเลสได้ เรียกว่าพร้อมที่จะรู้อริยสัจ ความพร้อมที่จะรู้อริยสัจ มีปัญญาถึงขนาดนี้ ก็เรียกว่า “สัจจานุโลมิกญาณ” เพราะฉะนั้นมีเวลาว่าง ว่างก็ดูภาพชุดนี้ ตรงนี้แหละ ตรงมุมนี้ ให้เข้าใจถึงขนาดที่ว่ามันเกิดความรู้สึกในภายในเสียบ้าง อย่าใช้เวลาให้มันสุรุ่ยสุร่ายนัก ใช้เวลาให้มันมีค่ามาก เพ่งพิจารณา มันล้วนแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวความเกิดและความดับ จะพบคำ ๒ คำนี้มากที่สุดเลย ในพระไตรปิฎกหรือว่าในเรื่องราวต่างๆจะมีคำว่า “เกิดและดับ” มากที่สุด
แล้วในที่สุดเราก็พูดได้เอง เห็นได้เอง รู้สึกได้เองว่า ถ้าไม่มีเกิด ก็ไม่มีดับ ดังนั้นทำอย่างเกิดอย่าง เรื่อมันจบแล้ว ทำอย่าให้มันมีเกิดอย่างเดียว เรื่องก็สิ้นสุดลงไป ไม่ว่าความทุกข์ชนิดไหนเกิดไม่ได้ เพราะมันไม่ทำให้มีเกิด เป็นบุคคลหรือว่าเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็น รูป เสียง กลิ่น รสอะไรขึ้นมาได้ ก็ไม่มีทางที่จะเกิดกิเลสทั้งความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือความทุกข์ชนิดไหนหมด เป็นความดับแห่งสิ่งเหล่านี้อยู่ตลอดกาล คือมันไม่เกิด เรียกว่าดับ
“นิพพาน” แปลว่าดับไม่เหลือ คำว่า นิพพาน แปลว่าดับไม่มีอะไรเหลือ ดับของสิ่งที่มันดับได้ ถ้าเป็นสิ่งที่ดับไม่ได้ มันก็ไม่มีการดับ ทีนี้มันเป็นของสิ่งที่ดับได้คือความทุกข์ก็ตาม ความร้อน ตามก็ ความอะไรก็ตาม มันเป็นสิ่งที่ดับได้ เมื่อสิ่งใดมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดับได้ ต้องเป็นสิ่งที่มีความ แล้วก็ทำอย่าให้มันเกิด นั่นแหละคือดับ นั่นแหละคือทำความดับ ทำอย่าให้เกิดนั่นคือทำให้เป็นความดับ ถ้าดับไม่เหลือจริงๆก็เป็นนิพพานจริง ดับชั่วคราวหรือมีอะไรเหลือ มันก็ยังไม่ใช่นิพพานจริง แต่ก็ยังดีกว่าไม่รู้จักดับกันเสียเลย
นี่วันนี้เราไม่พูดเรื่องอะไรอันที่จริงพูดคำว่า เกิด เพียงคำเดียว ให้รู้จักคำว่า เกิด ที่มันลึกลับที่สุด ไม่เข้าใจการเกิดชนิดนี้ ไม่มีวันจะเข้าใจพระพุทธศาสนา ทั้งโดยปริยัติหรือโดยปฏิบัติ และโดยผลของการปฏิบัติ ปริยัตินี่เข้าใจยากเพราะว่ามันใช้คำพูดที่ไม่รู้เป็นภาษาอะไรของใคร ไม่ใช่ภาษาของเรา มันจะไปเรียนปริยัติกันตั้งกี่ปีๆ มันก็เข้าใจไม่ได้ เรียนจบพระไตรปิฎกแล้วก็ยังเข้าใจไม่ได้ เพราะมันไม่เข้าใจคำว่า เกิด อย่างถูกต้องในลักษณะเช่นนี้ เรียนจบพระไตรปิฎกก็ไม่เข้าใจพระไตรปิฎก ทีนี้การปฏิบัติก็เป็นไปไม่ได้ คือไม่เป็นการปฏิบัติที่จะดับทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงเรื่องมรรคผลนิพพานให้ป่วยการ เพียงแต่ปริยัติก็เข้าใจไม่ได้ เพียงแต่ปฏิบัติ มันก็ปฏิบัติไม่ถูกเพราะไม่เข้าใจคำพูดเพียงพยางค์เดียวคือว่า เกิด ไปทำพยายามให้มีความเข้าใจในเบื้องต้น แล้วก็ให้มันแจ่มแจ้งๆๆ ยิ่งขึ้นทุกวันๆๆ รู้จักคำว่า เกิด ในความหมายอย่างนี้ แล้วจึงเกิดญาณตามลำดับคือเกลียดหรือกลัวการเกิดแบบนี้ ก็หลีกไปเสียให้มันพ้นจากความที่ต้องเป็นอย่างนี้ นี่เป็นยอดของพรหมจรรย์ ชีวิตวันหนึ่งคืนหนึ่งอยู่ด้วยยอดของพรหมจรรย์หรือว่าเนื้อแท้ของพรหมจรรย์มันเป็นอย่างนี้ สำเร็จมาแต่ความรู้อันแท้จริงในคำว่า เกิด เพียงคำเดียว เอาละ วันนี้พอกันที