แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายในวันนี้ก็อยากจะพูดในลักษณะที่เรียกว่า เรียนพุทธศาสนากันตามวิธีของวิทยาศาสตร์ บางคนฟังแล้วก็จะฉงน เพราะไม่เข้าใจข้อเท็จจริงที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ข้อที่พูดกันแล้วพูดกันอีก บอกกันแล้วบอกกันอีกว่า พระพุทธเจ้าท่านพูด ๒ ภาษา คือ ภาษาคนกับภาษาธรรม บางคนอาจจะไม่เข้าใจและคิดไปว่าเป็นเรื่องตลบตะแลง หรือเป็นเรื่องทำนองว่าลิ้น ๒ แพร่งหรืออะไรทำนองนั้นนั้นมันคือความโง่ของคนนั่นเอง พระพุทธเจ้าท่านจำเป็นที่จะต้องพูดด้วยภาษาจำกัด ด้วยภาษา ๒ ภาษา คือ เมื่อเราตรวจดูให้ตลอดในพระไตรปิฎกซึ่งถือกันว่ามีตั้ง ๘๔๐๐๐ ข้อ แล้วมันก็จะพบว่า มันมีแบ่งกันเป็นอยู่กัน ๒ ชนิดอย่างนี้ คือ พวกหนึ่งพูดอย่างภาษาคนธรรมดา คือ ตรัสอย่างภาษาคนธรรมดา พูดกับคนธรรมดา อีกพวกหนึ่งมันพูดอย่างผู้รู้พูดกับผู้รู้ หรือว่าสอนคนที่ไม่รู้ให้กลายเป็นผู้รู้ คนธรรมดาสามัญตามปกตินั้นจะต้องมี มิจฉาทิฏฐิ ที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ ตามความรู้สึกของเราเองทุกคน คือ รู้สึกว่าเป็น ตัวฉัน เป็น ตัวกู มี ตัวกู แล้วก็ได้รับคำแนะนำสั่งสอนต่อไปอีกว่า ตัวกูเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร ตายแล้วตัวกูก็ยังไม่ตาย ไปหาที่เกิดใหม่อีก เป็นตัวกูต่อไปอีก นี่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ คนส่วนมากจะมี สัสสตทิฏฐิ แม้จะไม่เชื่อหลังจากตายแล้วเพราะไม่รู้ ไม่เอาใจใส่ แต่ก็มี สัสตทิฏฐิ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ว่ามี ตัวกู ทีนี้ ภาษาพูดมันจึงพูดกันแต่ในวงของเพื่อนมนุษย์ที่มันมีความรู้สึกอย่างเดียวกัน มี ทิฏฐิ ความคิดความเห็น ความรู้สึกอย่างเดียวกันนี้เรียกว่า พวกที่มี สัสสตทิฏฐิ ต้องมีคำพูดว่า ตัวฉัน ว่า ของฉัน ว่า ของเขา ว่าของเรา แล้วก็มีนั่น มีนี่เป็นเรื่องเป็นราวไป แล้วก็มองสิ่งต่างๆแต่เพียงผิวๆเผินๆหรือภายนอก จึงได้เกิดไอ้ความรู้สึกว่าเป็นตัว-เป็นตนอะไรขึ้นมา นี่ พระอริยเจ้าก็ไม่ใช่ใครอื่นที่ไหน นอกจากพวกที่รู้ความจริงข้อนี้ และก็ไม่คิด ไม่รู้สึก ไม่ยึดถืออย่างนี้ มันก็มีเท่านั้นเอง มันจึงตรงกันข้าม ดังนั้น ภาษาของพระอริยเจ้ามันจึงไม่ใช่ภาษาสำหรับที่จะมีตัวตน มี สัสสตทิฏฐิ อย่างที่ว่า แต่เป็นภาษาที่ระบุไปยังข้อเท็จจริง หรือความจริง หรืออาการที่เป็นอยู่จริงในส่วนลึก คือ ไม่มีตัวตน นะ นี่ เราจะเห็นได้ว่าต่อเมื่อดูหรือว่าศึกษากันอย่างวิธีของพระอริยเจ้า มันจึงเป็นวิธีอย่างวิทยาศาสตร์ ถ้ามันปล่อยไปตามเรื่องตามราวของคนธรรมดา มันก็ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ขึ้นมาได้ มันเป็นไปตามความรู้สึกของคนที่ยังโง่อยู่ โง่อย่างไรก็เชื่ออย่างนั้น แล้วก็พูดไปตามความเชื่อความรู้สึก ยึดมั่น-ถือมั่นอย่างนั้น มันจึงเป็นวิทยาศาสตร์ไปไม่ได้
ถ้าเราจะศึกษาพุทธศาสนาอย่างวิทยาศาสตร์ก็ต้องใช้วิธีของพระอริยเจ้า คือ วิธีที่พระพุทธเจ้าท่านใช้ นี่ เป็นเหตุให้ลำบากแก่ผู้ที่ไม่รู้ความจริงข้อนี้ ว่าทำไมเดี๋ยวพูดว่ามีตัว-มีตน ทำบุญ-ทำทาน ได้ดี-ได้ชั่ว ไปนรก-ไปสวรรค์ แล้วเดี๋ยวทำไมมาพูดว่าไม่มีตัว-ไม่มีตน เรื่องทำบุญ-ทำทาน เรื่องนรก-เรื่องสวรรค์อะไรกลายเป็นสมมติไปหมด นี่ มันเกิดขัดกันหรือตีกันอย่างนี้ เพราะยังไม่รู้ว่าไอ้เรื่องทั้งหมดนี้มันมองได้ ๒ แง่ หรือพูดได้ ๒ แง่ ๒ วิธี เมื่อไอ้เรื่องที่จะต้องพูดมันก็เป็นเรื่องอย่างวิธีของคน อย่างเกี่ยวกับคน ภาษาคนนั้น เรื่องภาษาธรรม เรื่องของความจริงนั้นก็ไม่ค่อยจะต้องพูดอะไรกันมาก ทีนี้ เมื่อต้องพูด-มันก็เกิดเป็นปัญหากันขึ้นมาว่าจะต้องพูดเป็นภาษาอะไร? พูดภาษาที่คนไม่รู้ มันก็ฟังไม่รู้เรื่อง เช่น พูดกันขึ้นมาว่าไม่มีตัวตนอย่างนี้ มันก็ฟังไม่รู้เรื่อง มันก็เลยต้องพูดเป็นภาษาคน และใช้ภาษาคนนั้นเพื่ออธิบายให้รู้ไอ้ภาษาที่ไม่ใช่คน-ให้รู้ภาษาธรรม เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านก็ต้องตรัสด้วยภาษาคนธรรมดา สำนวนโวหารอย่างคนธรรมดา เพื่อให้คนผู้ฟังนั้นเข้าใจถึงไอ้ความจริงซึ่งเป็นตัวธรรม แล้วก็เป็นตรงกันข้ามกับความรู้สึกของคนทั่วไป จึงพูดได้ว่าใช้ภาษาที่มีตัวตนพูดอธิบายจนให้เข้าใจในเรื่องที่ไม่มีตัวตน พอคนเข้าใจเรื่องไม่มีตัวตนแล้ว ทีหลังก็พูดด้วยภาษาที่เกือบจะไม่ต้องพูด คือ ภาษาเรื่องไม่มีตัวตน
ทีนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าท่านจะต้องตรัสด้วยภาษาคนให้คนรู้เรื่องไม่มีคน ไม่มีตัวตน มันก็มีเป็น ๒ อย่าง บางทีก็พูดภาษาธรรมดา แบบมีตัวตนเต็มที่ บางทีก็พูดอย่างไม่ค่อยจะมีตัวตน กระทั่งไม่มีตัวตนเสียเลย เพราะนั่นเมื่อใครเข้าใจเรื่องนี้ดีก็จะเห็นว่า พระพุทธภาษิตทั้งหลายนั้นไม่มีขัดกัน ไม่มีค้านกัน ทีหนึ่งพูดว่า ตัวตนเป็นที่พึ่งแก่ตน จงรักตน จงสงวนตน จงทำตนให้สำเร็จประโยชน์ อีกทีหนึ่งก็พูดว่าไม่มีตัวตน สิ่งทั้งหลายไม่ใช่ตน อย่าได้ยึดมั่น-ถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตน หรือเป็นของตน มันพูดกันเหมือนกับว่าทะเลาะกันอย่างนั้นนะ ถ้าไม่เข้าใจก็เห็นว่าเป็นเรื่องขัดกัน ถ้าเข้าใจก็จะเห็นว่าเป็นคำพูดซึ่งมุ่งหมายกันคนละแนว พูดอย่างมีตัวนั้นพูดชวน ชี้ชวน เชิญชวนให้คนเขารักตน แล้วก็เดินเข้าไปหาไอ้เรื่องที่จะพ้นจากตัวตน ถ้ายังมีตัวตนอยู่ก็ต้องมีความทุกข์ เขาจะต้องเดินไปหาให้เข้าไปถึงไอ้สภาพที่ปราศจากความยึดถือว่า ตัวตน นี่ก็ต้องยุให้เขารักตน เพื่อเห็นแก่ตน เพื่อจะให้ตนได้สิ่งที่ดีที่สุดที่ตนควรจะได้ ถ้าเขาพยายามทำไปตามนั้น เขาก็จะก้าวหน้าไปจนถึงจุดที่อยู่เหนือความมีตัวตน คือ ไม่มีตัว-ไม่มีตน
ทีนี้ ในพระไตรปิฏกทั้ง ๘๔๐๐๐ ธรรมขันธ์นั้น มันก็ไม่ได้จัดไว้เป็นระเบียบ พูดไว้ให้ตามที่อะไรที่พูดก่อน-พูดหลัง ไม่ได้จัดไว้ตามละดับเรื่อง หรือทั้งหมดนั้นทำไว้เป็นเรื่องเดียว มาเป็นรูป เป็นโครง เอามาสุมๆๆกันเอาไว้ จึงมีเรื่องที่ตนบ้าง ไม่ใช่ตนบ้าง คละกันไปหมดอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง ทีนี้ ก็มีภาษาที่ก้ำกึ่งระหว่างตน กับ ไม่ใช่ตน ก็มีใช้เหมือนกันในบางที คือ พระพุทธเจ้าจะตรัสว่า จงมีตนเป็นที่พึ่ง นั่นคือ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อันนี้ก็เป็นหลักอันหนึ่งซึ่งจะต้องเข้าใจไว้หรือชินหูไว้ว่า การที่มีตนเป็นที่พึ่งนั้น ก็คือ การมีธรรมเป็นที่พึ่ง การมีตนเป็นสรณะนั้น ก็คือ มีธรรมเป็นสรณะ ก็เป็นการปฏิเสธตนชนิดที่เคยหลงใหลมาแต่ก่อน มามีธรรมะนี้เป็นที่พึ่ง ถ้าจะมีตนกันบ้างก็มีที่ธรรมะนี้ นี่ คนๆก็เขยิบมาครึ่งหนึ่ง จากไอ้ตนบ้าๆ บอๆ นั้นมามีตนที่ธรรมะ ทีนี้ เมื่อหวังจะเอาตนที่ธรรมะ เอาธรรมะเป็นที่พึ่งแก่ตนมันก็ศึกษาธรรมะ ในที่สุดการศึกษาธรรมะนั้นทำให้เกิดแจ่มแจ้งแตกฉานออกไปว่า ตนไม่มี สิ่งที่เรียกว่า ตน ที่แท้จริงนั้นมันมิได้มี มีแต่สักว่าคนพูดไปตามความรู้สึกของคนที่ยังมี อวิชชา ทีนี้ พอมี อวิชชา แล้วมันก็ต้องมี ตน ก็ขวนขวายไปตามความรู้สึกของความรู้สึกที่มี ตน เพราะฉะนั้น ทั้งหมดทั้งสิ้นมันสรุปสำคัญอยู่ที่ว่า รู้ หรือ ไม่รู้ วิชชา ก็คือ รู้ อวิชชา ก็คือ ไม่รู้ ก็มี ๒ พวก ทำไปตามที่ไม่รู้ ภาษาไม่รู้มันก็ไม่ถูก ไม่จริง ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ถ้าทำไปตามที่ถูก หรือที่รู้อย่างถูกนี้ มันก็เป็นเรื่องที่เห็นชัดเหมือนกับวิธีของวิทยาศาสตร์ เห็นสิ่งต่างๆอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ใช้คำว่าอย่างนั้นภาษาบาลีเขาว่าอย่างนั้น ยะถาภูตัง ปะชานาติ (นาทีที่ 14.25) รู้สิ่งทุกสิ่งถูกต้องตามที่เป็นจริง ทำให้ ยะถาภูตัง มันมีความหมายเป็นวิทยาศาสตร์
ทีนี้ เราก็พูดกันมาถึงเรื่องกรรมตามวิถีทางวิทยาศาสตร์ ตรงกันข้ามจากเรื่องกรรมตามวิถีทางของคนที่ไม่รู้ หรือไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ทีนี้ ก็เอามาเปรียบเทียบกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อกันลืม ถ้าพูดเรื่องกรรมอย่างที่จะกาลงไปว่าไม่ถูกต้องตามวิถีทางทางวิทยาศาสตร์นั้น ก็คือ กรรมตามความเชื่อของบุคคลที่ยังยึดมั่น-ถือมั่นในเรื่องตัวตน ก็คือ คนธรรมดา-ไม่รู้สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง ความคิดมันก็ไปตามความรู้สึกธรรมชาติ ธรรมดาสามัญอย่างนั้น มันก็ค่อยๆเกิดความรู้สึกประเภทที่ เป็นตน นั้นขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เกิดจากท้องแม่แล้ว พอมันซ้ำๆๆๆมันมี experience ในสิ่งต่างๆ มากขึ้น มากขึ้น ทั้งหมดนั้นมันจะน้อมนำไปให้เขาเกิดความรู้สึกในทำนองเป็นตัว-เป็นตน มีตัว-มีตน กว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่นี้ตัวตนมันแน่นแฟ้นแล้ว ทีนี้ เรื่องตัวตนมันก็ไม่มีอะไร มีความหมายแต่เพียงเรื่องจะยึดมั่น-ถือมั่น คือ จะเอาเท่านั้นนะ จะเอานี้มันมีความหมายหลายๆทาง ไอ้ความอยาก ความจะเอานี้มันก็มีความหมายอันหนึ่ง ทีนี้ เมื่อมันไม่ได้ตามที่มันจะเอา มันก็เกิดความรู้สึกอีกอันหนึ่ง หรือ มันไม่แน่ใจว่าได้หรือไม่ได้? ตรงตามที่เราได้หรือไม่ได้? มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์? นี่ มันมีความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นไอ้เรื่องจะเอาอย่างเดียว มันทำให้เกิด โลภะ โทสะ โมหะ ทีนี้ คนธรรมดาจึงมี โลภะ โทสะ โมหะ ชนิดที่เลวมาก คือ เป็นตัวตนจัดเกินไป และเขาก็ต้องทำไปตามนั้น ตามที่ โลภะ โทสะโมหะ มันจะบันดาลไปนี้ แล้วก็สำเร็จมาแต่ อวิชชา เสมอไอ้ โลภ นี้ก็ อวิชชา ไอ้ โกรธ นี่ก็ อวิชชา ไอ้ หลง นี่ก็คือ อวิชชา อยู่แล้ว เพราะมี อวิชชา นี้มันจึงอยาก ทีนี้ถ้าความอยากนั้นมันฉลาดหน่อย มันถูกต้องมันก็ไปในทางดี ถ้ามันไม่ถูกต้องมันก็ไปในทางที่เรียกว่าชั่ว มันจึงเกิดความหมายของคำว่าบุญ-ว่าบาป ว่าอะไรขึ้นมา แล้วมันก็มีตัวตนที่จะทำบุญ-ทำบาป เพื่อผลตามที่ตนอยาก เพื่อผลแต่ตามที่ตนอยาก อยากอะไรมันก็จะทำบุญหรือทำอะไรก็ตามที่เขาว่าจะให้ได้สิ่งนั้น ทีนี้ ในทางศีลธรรมเขาก็บัญญัติไว้ให้เสร็จ ถ้าดีคืออย่างนั้น ถ้าชั่วคืออย่างนั้น ให้รักที่จะดี ให้เกลียดที่จะชั่ว ให้กลัวที่จะชั่ว ทีนี้ คนก็ทำได้แค่เพียงเท่านี้ ไอ้คำว่าดีก็ตีความหมายไปตามใจชอบ ไม่ใช่ดีจริง อะไรจริง คือว่า มันเป็นดีสำหรับยึดมั่น-ถือมั่น แล้วมันก็มีความทุกข์เพราะความดี อย่างนี้เขาไม่ได้เรียกว่า ดี ในวินัยของพระอริยเจ้า หรือภาษาของพระอริยเจ้า นี่ ก็ควรจะจำไว้อีกคำหนึ่งว่า ใน อริยะวินัย หมายความว่า ในภาษาของพระอริยเจ้า คำว่า ดี ในภาษาของพระอริยเจ้านั้นไม่เหมือนคำว่าดีในภาษาของปุถุชน ภาษาของพระอริยเจ้าท่านดีตรงที่จะไม่ยึดมั่น-ถือมั่น ส่วนปุถุชนมันจะต้องดีที่มันจะยึดมั่น-ถือมั่น สำหรับที่มันจะได้ตามที่มันรัก ที่มันจะเอา ทีนี้ เราเป็นปุถุชนก็รู้แต่ภาษาของปุถุชน มีความคิดอย่างปุถุชน หวังอย่างปุถุชน ทำอย่างปุถุชน ได้รับผลตามความรู้สึกของปุถุชน เพราะมันเป็นเรื่องกรรมชนิดที่หยาบๆ คือ มายา คือว่า หยาบๆ ไม่ฉลาด ไม่อะไร แล้วก็ มายา คือว่า ไม่จริงจัง เมื่อคนมันรู้ได้เพียงเท่านั้นก็ทำได้เพียงเท่านั้นในขั้นแรกนี้ มีตัวฉัน เอาละไม่ทำบาปกันแล้ว-จะทำบุญ หวังที่จะได้อะไรที่เป็น อิฏฐารมณ์ คือ เอร็ดอร่อยแก่ความรู้สึก ไอ้สิ่งที่ได้มานั้นก็กลับเป็นที่ตั้งของความยึดมั่นยิ่งขึ้นไปอีก แล้วก็มีความทุกข์มากขึ้นไปกว่านั้นอีก ดูผลกรรมชนิดนี้ สมมติว่าได้สวรรค์ ได้วิมาน ได้กามารมณ์ ได้อะไรตามต้องการ นี้ที่เขาคิดว่าดี ที่แท้มันก็คือทำให้เขายึดมั่นมากเกินไปอีก ก็มีความทุกข์ ลึกซึ้ง ซับซ้อน ซ่อนเร้นยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ฉะนั้น ภาษาพระอริยเจ้าจึงไม่เอา ไม่ถือว่าดี ไม่ถือว่าน่าปรารถนา ในภาษาชาวบ้านก็ถือว่าน่าปรารถนาแล้ว เพราะมันรู้เพียงแค่นั้น ก็นึกถึงไอ้คำอะไร คำพังเพยหรือคำอะไรที่ สุนัขมันก็กินอุจจาระได้ก็ว่าดี เป็นต้น ซึ่งมันก็ไม่ตรงกับความรู้สึกของคน คือเดี๋ยวนี้ก็มามีปัญหาซับซ้อนยุ่งขึ้นไปอีก คือว่า คนสมัยปัจจุบันนี้ก็เอาไอ้ดีที่ได้อย่างเอร็ดอร่อย ทันอกทันใจนี้ ไม่หวังสวรรค์วิมานอะไร ก็ตายแล้ว แล้วก็ไม่หวังความดีชนิดอื่น นอกจากความดีชนิดที่กินเข้าไปได้ ที่เอร็ดอร่อยทาง อายตนะ ได้ ก็ไม่ดีสินะ และปัญหามันก็เกิดขึ้นว่า ท่านทำดีทำไมไม่ได้ดี? คือว่า เราอุตส่าห์ทำหน้าที่การงาน ทำราชการอะไรอย่างดี แล้วก็ไม่ได้เลื่อนชั้น แล้วก็ไม่ได้เงินมากๆอย่างที่เราต้องการ เลยเหมาว่าทำดี-ไม่ได้ดี นี่ มันเป็นความโง่ชั้นที่ ๒ เพราะมาเอาดีตรงที่ตัวอยากนะ ที่ปาก ที่ลิ้นของตัวอยากนั้น-ดี ไม่เอาดีตามที่เขาบัญญัติกันทั่วไปว่า อะไรมันดี อะไรมันไม่ดี แต่ถ้าถือเอาตามที่บัญญัติกันว่า อะไรมันดี อะไรมันไม่ดี มันก็ง่ายนิดเดียว พอไปทำเข้าอย่างไรก็เอากฎเกณฑ์นั้นวัดเข้าไปดู ก็รู้ว่าอะไรดี-อะไรไม่ดีใช่ไหม? เมื่อสิ่งนี้เห็นกันอยู่ เข้าใจได้ด้วยกัน รับรองได้ด้วยกัน ว่ามันควรจะถือว่า-ดี พอไปทำเข้ามันก็ดีทั้งนั้นแหละ พอสักว่าทำมันก็ดี ไม่ต้องรอต่ออีก เพราะฉะนั้น ทำดี-ก็ดีทันที ทำชั่ว-มันก็ชั่วทันที ส่วนที่จะได้ของแถมพกเป็นเงิน เป็นชื่อเสียงอะไรนั้นมันเป็นเรื่องไกลออกไปทางสังคม ไม่เกี่ยวกับธรรมะ
ทีนี้ เขาจะไม่เอาทางธรรมะ ไม่เอาทำดีอย่างที่ว่านี้ จะเอาความดีตรงที่ได้ของ ได้เงิน ได้อะไรนั้นมาเป็น-ดี ก็เลยเปลี่ยนกฎเกณฑ์ไปหมด ทำอะไรที่ไหนได้เงินมาเป็นดีทั้งนั้น นี่ จึงเกิดลัทธิอันใหม่-จะเอาแต่เงิน แต่ของ แต่อะไรที่ต้องการอย่างเดียวแล้วจึงจะเรียกว่า ดี นี่ โลกจะฉิบหาย คือว่า ต่างคนต่างเห็นแก่ตัวพร้อมๆกันทั้งโลก มันก็เบียดเบียนและการเบียดเบียนกลายเป็นของดี การฆ่าคนฝ่ายตรงกันข้ามทีละมากๆนั้นกลายเป็นของดี เป็นปัญหาที่ลำบากที่จะเข้าใจเรื่องกรรม มันเป็นเรื่องกรรมชนิดเป็นของบุคคล มีตัว-มีตน แล้วมีคนอย่างเลว มีตัวตนอย่างเลว เลวหลายซับ เลวหลายซ้อน เลวหลายเท่า ออกไป ออกไป ออกไป จนไปถือศาสนาเนื้อหนัง มีความสุขทางเนื้อหนังเป็น สรณะ คำว่า ดี ว่า ชั่วไม่มีความหมายอย่างอื่น นอกจากว่าถ้าได้ไอ้เนื้อหนังมาแล้วก็ดี -ไม่ได้แล้วก็ไม่ดี ปัญหาเหล่านี้มันเพิ่งมีแล้วมันก็ไกลออกไปแล้ว ไกลออกไปพ้นเรื่องกรรมในพุทธศาสนาแล้ว เรื่องกรรมในพุทธศาสนาก็ยังคงมีแต่เพียงว่าอย่างศีลธรรม ดีคือย่างนั้น ชั่วคืออย่างนั้น ไปทำเข้ามันก็ดี แล้วมันก็ชั่ว แล้วเราก็เป็นผู้ดี-ผู้ชั่ว ถ้าเราทำดีแล้วได้ดี แล้วเราทำดี-ได้ดีอยู่เสมอนั้น มันก็เป็นโอกาสที่จะให้ได้ดีที่พลอยได้ คือ ผลที่พลอยได้ สังคมจะอวยอะไรให้ในทางที่เป็นประโยชน์ทางวัตถุมากขึ้น แต่ไม่ได้ก็ได้ ในบางกรณีไม่ได้เลยก็ได้ ในบางกรณีไม่มีใครรู้ ไม่มีใครชี้ ในบางกรณีอาจจะเกิดกลับมาตรงกันข้าม เพราะมันเข้าใจผิดกันอย่างนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้น คนที่ทำดีอาจจะถูกฆ่า ถูกประชาทัณฑ์ ถูกอะไรก็ได้ นี่ ให้ถือว่าเป็นของแถมครบพิเศษไม่ใช่เรื่อง ไม่ใช่ตัวเรื่อง ตัวเรื่องนั้นคือทำดี-ก็ดี ทำชั่ว-ก็ชั่ว มีแค่นั้น
ทีนี้ ถ้าทำอย่างบุคคลมีบุคคลยึดมั่น-ถือมั่นไปตามกฎที่เราได้ยินได้ฟังกันอยู่ ดีก็ดีขึ้น ดีขึ้นก็เป็นที่พอใจก็สบาย ถ้าหวังว่าตายแล้วก็ไม่ไปนรกก็จะไปสวรรค์ก็มีทั้งนั้น เสร็จแล้วมีความยึดมั่น-ถือมั่น ก็นอนไม่หลับ เรื่องบุญจะหมด เรื่องอะไรจะหมด ทีนี้ว่าถ้าเรื่องบุญมามากนักมันก็นอนไม่หลับด้วยวิธีอีกอย่างหนึ่ง คือ ยึดมั่น-ถือมั่น เป็นห่วง วิตกกังวล มีได้เพียงเท่านั้น นี่เรียกว่า กรรมในฝ่ายศีลธรรม มีความเชื่อไปตามกฎเกณฑ์ที่ผู้รู้ บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เป็นผู้รู้นี้ได้แนะไว้ในทางศีลธรรม สำหรับบุคคลที่อยู่กันในโลกอย่างแบบชาวโลก แล้วก็ไม่ต้องพูดกันถึงว่าจะอยู่เหนือบุญ เหนือดี เหนือบุญ เพราะถือว่าถ้าบุญดีก็ใช้ได้แล้ว ไม่ต้องเอาอะไรกันอีก ทีนี้ว่าพระพุทธเจ้าท่านจะต้องตรัสแก่คนประเภทนี้ ท่านก็ตรัสอย่างนี้ ฉะนั้นอย่าไปหาว่าท่านพูดตลบตะแลง-เดี๋ยวมีตัว เดี๋ยวไม่มีตัว เมื่อท่านพูดกับคนมีตัว ท่านก็ต้องพูดอย่างมีตัว พูดว่ามีตัว พูดอย่างมีตัว ภาษาของคนมีตัว เพื่อให้ไอ้คนที่มันมีตัวนั้นมันจะได้อยากดี รักดี ทำดี เลื่อนขึ้นไป เลื่อนขึ้นไป ไปหาไอ้ความไม่มีตัว มันเหมือนกับวิธีหรืออุบายอันหนึ่ง ถ้ามันไม่ผ่านมาทางนี้มันก็ไปไม่รอด คือว่า ถ้าไม่เคยมีอะไรเสียก่อนมันก็ไม่อาจจะรู้จักสิ่งนั้นจนเรียกว่าอยู่เหนือสิ่งนั้นได้ เพราะฉะนั้น ก็บอกให้มันหาเงิน หาเงินมามากๆเข้า มันก็รู้จักว่าเงินนี้คืออะไร แล้วมันก็จะได้ค่อยๆเฉยไปได้ของมันเอง นี่ก็เหมือนกัน ให้มันหาดี เอาดีมา เอาดีมามากๆ เอาดีมาๆ มาหนักเข้ามันก็ โอ๊ย! สั่นหัว เปรียบได้กับนิทาน นิทานชวนหัว นี่คือเรื่องจริงไม่ใช่นิทาน แต่จะถือว่านิทาน และมันก็ชวนหัวแต่มันก็มีประโยชน์ ว่าไอ้เด็กเล็กๆ ๓-๔ ขวบนี้ พ่อเขาตักไอ้ข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียนนี้มาให้กิน ป้อนให้กินคำแรก มันอร่อย เพียงแต่กินคำแรกนี้มันอร่อย แล้วมันก็พูดกับพ่อว่า
“ถ้าหมดชามนี้แล้วเอาอีกชามนะพ่อนะ” มันว่าอย่างนั้น
ทีนี้ เขาก็ป้อนให้กิน ๒ คำ ๓คำ ๔ คำ พอ ๔-๕ คำเข้ามันก็ชักจะไม่ไหวแต่มันก็ไม่พูด พอไปถึงคำที่ คำที่ ๑๐ เท่านั้น มันสั่นหัว ทีนี้ พอพ่อเขาถามว่าไหนจะเอาอีกชาม? มันก็หัวเราะ
นี่ ถึงไอ้คนเราโตๆนี้ก็เหมือนกันระวังไว้ให้ดี เพราะตามความจริงมันก็ต้องผ่านมาในทางนี้ในลักษณะอย่างนี้ ไอ้ที่เรายังไม่เคยได้เราก็หวัง บูชาหรืออะไรมากทีเดียว ถือเป็นสูงสุด ดีที่สุด ถ้าเราหวังด้วยความโง่แล้วมันก็ยิ่งผิดมาก ถ้าหวังด้วยความฉลาดมันก็ยังค่อยยังชั่วหน่อย ที่เอาได้มา ได้มา ได้มาเดี๋ยวก็เห็นว่ามันไม่ไหว สู้ไม่หวัง สู้ไม่หวังไม่ได้ นี่ เรื่องเวียนว่ายไปตามกรรมใน วัฏฏสงสาร นี้เราเวียนว่ายไปตามกรรมก็เพื่อผลอย่างนี้ ให้มันชินกรรม ชินผลกรรม ทั้งดี-ทั้งชั่ว ทั้งไม่ดี-ไม่ชั่ว ให้มันชินไปเรื่อย ๆๆๆๆ นั่นแหละในที่สุดมันก็เลื่อนชั้นไปถึงชั้นที่ว่า อยู่เหนือกรรมกันดีกว่า ตอนนี้จะเข้าใจกรรมตามที่แท้จริงในรูปของวิทยาศาสตร์ มันก็คืออย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น เห็นชัดเลย เพราะไอ้อย่างนั้น มันจึงมีไอ้อย่างนี้ เพราะไอ้อย่างนี้มี ไอ้อย่างนั้นมี คือ เห็นชัดเหมือนของนั้นเป็นวัตถุเอามาใส่ดูในฝ่ามืออย่างนั้น ที่ว่าเป็นเรื่องอยู่เหนือกรรม ไอ้สิ่งที่เรียกว่ากรรมก็พลอยหายไป
นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องพูดกันไปเรื่อยๆให้รู้ว่า ไอ้สิ่งที่ว่าพุทธศาสนาต้องการจะแสดงอะไร? ไอ้กรรมนี้มันมีขึ้นมาเพราะว่าเรามันบ้า เรามันโง่ เรามันอยากจะมี อะไรที่เราต้องการ ที่เรารัก ที่เราชอบ ครั้งก่อนก็เคยบอกแล้วว่า หลักของพุทธศาสนาสรุปทุกสิ่งไว้ว่ามาจาก ผัสสะ ไอ้กรรมนี้ก็มากจาก ผัสสะ และก็มาจากความอยากจะได้อะไรอันหนึ่ง แล้วความอยากจะได้อะไรอันหนึ่งนั้นมันก็มาจาก เวทนา อย่างใดอย่างหนึ่ง และ เวทนา ก็ต้องมาจาก ผัสสะ เช่น ตามันได้กระทบกับรูป หูมันได้กระทบกับเสียง จมูกได้กระทบกับกลิ่น อันนี้เรียกว่า ผัสสะ อันนี้เป็นจุดตั้งต้นของทุกเรื่อง ทีนี้ เมื่อไอ้เรื่องเหล่านั้นมันจะสิ้นสุดลง จะดับลง มันก็ต้องสิ้นสุดลงที่ ผัสสะ คือ เป็นการหมดความหมายของ ผัสสะ การสิ้นกรรมก็มีเพราะว่าเป็นการ ดับ ไปของ ผัสสะ การทำกรรมมีขึ้นมาเพราะว่าการ เกิดขึ้น แห่ง ผัสสะ นี่เป็นวิทยาศาสตร์กี่มากน้อยขอให้ไปคิดดู ส่วนผมก็รู้สึกว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ท่วมหัว ท่วมหู ท่วมภูเขาเลากาทีเดียว ในการที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ ว่า กรรม มันก็มาจาก ผัสสะ มี กรรม-มี ผัสสะ ดับไม่เหลือแห่งกรรม ก็คือ ดับไม่เหลือแห่ง ผัสสะ กรรมมาจาก ผัสสะ นี้ก็พอเข้าใจง่ายอย่างที่ว่านี้ เราทำอะไรนี้ก็เพราะเราต้องการอะไร เราต้องการอะไรก็เพราะเราเคยชิมรสของอะไร การเคยชิมรสของอะไรก็มาจาก ผัสสะ ทีนี้ พอมาถึงไอ้ความที่จะดับแห่งกรรม ดับไปแห่งกรรม คือ การดับแห่ง ผัสสะ นั้นมันจะยากนะ ถ้าเรายังหลงใน ผัสสะ ใน เวทนา อยู่ ไอ้ ผัสสะ ไอ้ เวทนา มันไม่ยอมดับ เมื่อ เวทนา ไม่ยอมดับ-ไอ้ความอยากมันก็มีอยู่เรื่อย ทีนี้ ไอ้การกระทำกรรมมันก็ต้องมีอยู่เรื่อยเหมือนกัน ก็ต้องไปทำให้ ผัสสะ ไร้ความหมาย มันก็มีวิธีพิจารณาหลายทาง แต่ไอ้ทางที่สำคัญที่สุดนี่ก็คือเห็นไอ้ ผัสสะ นี้เป็นตัวร้าย เป็นอันตราย เป็นตัวร้าย ที่จะทำทุกอย่างให้มันวุ่นวายไปหมด ตามคำบาลีทั่วๆไปก็จะต้องยกเอา อนิจจัง นี้มาโยนโครมลงไปบน ผัสสะ มันก็เป็นวิธีที่ได้พูดว่าจริงที่สุด ก็ต้องพูดอย่างกำปั้นทุบดินที่สุด เพราะถ้าเห็นว่า ผัสสะ เป็น อนิจจัง ก็จะเห็น เวทนา เป็น อนิจจัง เห็น ตัณหา เป็น อนิจจัง เห็นอะไรเป็น อนิจจัง ไปตามลำดับ ไอ้กรรมก็ไม่เป็นที่ปรารถนา ทีนี้ การที่จะเห็นว่า ผัสสะ เป็น อนิจจัง เวทนา เป็น อนิจจัง อะไรเป็น อนิจจัง นี้มันก็ยากอย่างที่ได้ว่ามาแล้วนะ ถ้าไม่เคยผ่านมันก็รู้ไม่ได้ ไม่อาจจะรู้ว่า ผัสสะ คืออะไร? อยู่ที่ไหน? ด้วยซ้ำไป แล้วจะไปรู้ว่า ผัสสะ เป็น อนิจจัง นี้มันยังยากมาก มันก็คือหลักอย่างที่ว่ามาแล้วก็คือมันต้องมี ต้องผ่าน ต้องมีความ Experience ในสิ่งนั้นมากเพียงพอแล้วมันจึงจะเห็นความเป็น อนิจจัง เห็นความเป็น อนัตตา ความหลอกลวง ความมายาเหล่านี้ เราต้องอร่อย จึงจะรู้สึกว่าความอร่อยนี้-บ้า เป็นหลอกลวง หรือมายา เดี๋ยวนี้ มันยังไม่ถึงขนาดนั้นมันก็หลงไปก่อน
ทีนี้ ไอ้คำว่า กรรม ในภาษาวิทยาศาสตร์ ในภาษาธรรมะที่ไม่มีคนนี้ มันละเอียดและมันก็เต็มไปหมด มันคือ ไม่ใช่กรรม แล้วทีนี้ พูดว่า กรรม นี้เป็นภาษาสมมติ เป็นภาษาชาวบ้าน-ภาษาสมมติ สำหรับคนที่มีความอยากจะทำ กรรม นี้ก็เลยเป็นเรื่องสมมติ ถ้าพูดภาษาพระอริยเจ้าก็มีแต่ว่า เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย-สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย-สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น นี่พูดเท่านี้เอง พูดกี่วัน กี่เดือน กี่ปี จนไม่มีเสียงจะพูดก็พูดเท่านี้แหละ เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย-สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย-สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท นี้ เพราะตากับรูปกระทบกัน จักขุวิญญาณ จึงเกิดขึ้น ๓ อันนี้เรียกว่า ผัสสะ นะ ผัสสะ จึงเกิดขึ้น เพราะมี ผัสสะ นี้จึงมี เวทนา เพราะมี เวทนา จึงมีตัณหา เพราะมี ตัณหา จึงมี อุปาทาน ภพ ชาติ จนกระทั่งเป็น ทุกข์ ไม่พูดว่า กรรม หรอก แต่ถ้าพูดอย่างสมมติมันก็คือ กรรม ที่พูดว่าคือ กรรม ก็ลองคิดดู ใคร่ครวญดู พอตากระทบกับรูป เกิด จักขุวิญญาณ ขึ้น รู้แจ้งในสิ่งที่ตาเห็นนั้น นี่ มันก็เท่ากับปรุงให้ตาเกิดขึ้นนะ ให้ตาทำหน้าที่ คือ ให้ตาเกิดขึ้น เมื่อกี้ตาไม่มี ตาก็ยังไม่ได้เกิด พอมีการเป็นรูป-ตาจึงเกิดขึ้น อันนี้ก็เป็น กรรม อย่างหนึ่งนะ แต่เป็น กรรม ประเภทกิริยา คือว่า เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี ยังไม่ถึงขนาดที่จะเป็นความรู้สึกที่เรียกว่า กิเลส เขาเรียกว่า กิริยา มันก็มีผลทำให้เราได้รับความอร่อยทางตา หรือไม่อร่อยทางตาอะไรก็ตามนี้ นี่ ผลสุดท้ายของ กรรม อันนี้มันมีแค่นี้ ของ กิริยา อันนี้มีแค่นี้ เป็นปฏิกิริยากันเพียงเท่านี้ เพราะยังไม่เป็น กิเลส ยังไม่เรียกว่า กรรม พอหลังจากมี เวทนา อร่อยที่ตาหรือไม่อร่อยที่ตาต่อจากนี้จะมี กิเลส คือ ตัณหา ตัณหา ก็เป็น กิเลส ตัณหา ก็ทำให้คิดนึก-ยึดมั่นอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นก็เป็น มโนกรรม พอคิดนึกเสร็จมันก็มีผลเป็นความรู้สึกอีกครั้งหนึ่งทันทีทันควันนั้นว่า สบายแก่ใจ หรือไม่สบายแก่ใจ สบายแก่ใจหรือไม่สบายแก่ใจทันควันที่คิดนั้นก็มี เลื่อนระยะไปนิดหนึ่งก็มี เลื่อนระยะยาวไปอีกก็มี นี่คือ กรรม มีอยู่ตลอดเวลา ให้ผลอยู่ตลอดเวลา สำเร็จอยู่ก็เป็นคือนี้นะ คืออันนี้นะ คือร่างกายท่อนนี้ ดุ้นนี้ เพราะฉะนั้น จึงมีพุทธภาษิตที่ว่า กายนี้ ก็คือ กรรมเก่า กรรมเก่า ก็คือ กายนี้ นี่ ในสูตรบางสูตร กรรมเก่าคืออะไร? กรรมเก่า คือ กายนี้ที่เหตุปัจจัยปรุงแต่ง ที่รู้สึกคิดนึกได้นี้ บางทีไม่ระบุกายนี้ แต่ระบุว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้ นี่คือ กรรมเก่า เพราะมันสำเร็จมาจากการกระทำทางกิริยา ทางปฏิกิริยาของธรรมชาติ แล้วโผล่ขึ้นมาเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่รวมกันเรียกว่า กาย ก็ได้ ทีนี้ กรรมใหม่ - กรรมที่จะทำต่อไปนี้ ก็คือว่า การกระทำทางกาย หรือทางวาจา หรือทางใจ ๓ อย่างนี้ ด้วยอำนาจของ กิเลส นี้ แม้แต่ความคิด เพราะฉะนั้น เรามี กิเลส เราก็คิดอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งจำแนกประเภทเป็น ๓ ดี ชั่ว ไม่ดี-ไม่ชั่ว หรือบางทีก็จำแนกเป็น กามฉันทะ พยาบาท วิหิงสา ความคิดมันก็จะมีในรูปโครงอย่างนี้
กามฉันทะ คือ ความคิดจะไปในทางหยาบ ในทางกามรณ์ คิดจะเอากามารมณ์ คิดจะหากามารมณ์ นี่อย่างหนึ่งนะ ก็เป็น มโนกรรม แล้ว พอคิดเสร็จก็มีผลกรรมแก่จิตใจแล้ว
อันที่สองมาคิดทาง พยาบาท คือ มุ่งร้าย โกรธ เกลียดผู้อื่น จะฆ่าผู้อื่น จะทำลายผู้อื่น เรียกว่าพยาบาท พอคิดเสร็จมันก็ร้อนนะ มันก็มีเสวยผลกรรม ยิ่งไปพูด-ไปทำก็ยิ่งมีกรรม มีปฏิกิริยาข้างนอกกลับมา แต่อันนี้ไม่สำคัญ แห่ง มโนกรรม นี่สำคัญ-จริงกว่า ถ้ามันไปกระทำทาง วิหิงสา เข้า มันก็เหมือนกันอีก พอนั่นเสร็จมันก็มีการเสวยผลเป็นไม่สุขก็ทุกข์ หรือ อทุกขมสุข วิหิงสา นี่เป็นอาจจะเข้าใจผิดกันก็ได้นะ วิหิงสา มันแปลว่าเบียดเบียนเหมือนกันนะ ตัวหนังสือมันแปลว่า เบียดเบียน แต่ความหมายมันจำกัด คือ เบียดเบียนโดยไม่ได้มีเจตนาจะเบียดเบียน คือ มันทำไปด้วยความโง่เป็นเหตุให้เกิดการเบียดเบียน
ไอ้ ๓ คำนี้ก็ต้องจำไว้ดีๆ ไม่อย่างนั้นมันจะยุ่งนะ มโนกรรม ที่ผิดนี่คือว่ามี
กามฉันทะ ทำไปด้วยอำนาจของ ราคะ หรือ โลภะ
แล้ว พยาบาท ทำด้วยอำนาจของ โทสะ หรือว่า โกธะ เพราะมีเจตนาจะฆ่าจะทำอะไรอย่างนี้
ทีนี้ พอถึง วิหิงสา นี่ก็เป็นการเบียดเบียนที่ทำด้วย โมหะ ไม่มีเจตนาจะทำให้มันเจ็บหรือมันตาย แต่มันแย่ ไอ้สิ่งเหล่านั้นมันแย่ คือ ความโง่ของเราไปทำอะไรเข้า แล้วสัตว์อื่นหรือบุคคลอื่นเดือดร้อน ยกตัวอย่าง จับเอาสัตว์มากัดกัน เอาปลามากัดกัน เอาจิ้งหรีดมากัดกัน มันไม่เป็น โทสะ แต่มันเป็น โมหะ แล้วก็เบียดเบียน ไอ้พวกเหล่านั้น เอาควายมาชนกันดูเล่นอย่างนี้ มันไม่ได้ทำด้วย โลภะ หรือ โทสะ มันทำด้วย โมหะ ทีนี้ ไอ้ควายมันเดือนร้อน อย่างนั้นเรียกว่า วิหิงสา วิเหสา หรือ วิหิงสา - เบียดเบียน
ทีนี้ มโนกรรม จะมันจะเดินไปสายไหน ใน กามฉันทะ หรือ พยาบาท หรือ วิหิงสา มันก็เป็นกรรม พอกรรมนี้กระทำไปเสร็จ-มันก็มีผลแก่จิตใจทันที มีความทุกข์ มีความทรมาน มีอะไรเสร็จอยู่ที่นั่น มันจะมากหรือน้อย หรือมันจะมากออกต่อไปอีก มันก็มีไปตามเรื่องของมัน นี่ก็คือ กรรม ที่ไม่ต้องมีตัวบุคคลเป็นเจ้าของกรรม ไม่ต้องมีตัวกูเป็นผู้กระทำกรรม แล้วมันก็เป็นกรรมอยู่ในคนเรานี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสเสียอย่างน่าตกใจว่า ไอ้ตัวทั้งดุ้นนี้ก็คือกรรมเสียเลย เป็นตัวกรรมเสียเลย ไม่ต้องมีคนที่เป็นเจ้าของกรรมแล้ว เอาทั้งกายนี้ หรือทั้งกาย วาจา ใจนี้ที่รวมเข้าเป็นกายนี้ เป็นเจ้าของกรรมเสียเลย แล้วคนเลยไม่ต้องมีกัน
กรรม ในที่นี้หมายถึง ผลกรรม ก็ได้ มีร่างกาย นี้คือ มีผลกรรม เป็นผลของกรรม ถึงจะเรียกว่า กรรมเก่า ส่วนการกระทำเดี๋ยวนี้ เรียกว่า กรรมใหม่ เหตุของมันก็มาจากไอ้การที่เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี ถ้า ตา เห็น รูป ก็เกิด จักขุวิญญาณ ตา ก็มีขึ้นมาอย่างนี้ เพราะ หู ได้ยิน เสียง เกิด โสตวิญญาณ หู จึงมีขึ้นมาอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ตา หรือหู หรือจมูก อะไรนี้ก็เลยเป็น ปฏิกิริยา ที่เกิดขึ้น นี่ เรียกว่า กรรมเก่า ทีนี้ เมื่อมีตา มีหู มีอะไรขึ้นมาแล้วมันทำอะไรลงไปอีกก็เป็น กรรมใหม่ ตอนนี้จะมีผลเป็น ทุกข์ เป็นอะไร เป็นแล้วแต่จะบัญญัติ พอทำกรรมใหม่นี้เสร็จแล้วไอ้ความร้อนใจเกิดขึ้นก็เป็นสัตว์นรกที่นั่นเดี๋ยวนั้นนะ ความกลัวเกิดขึ้นก็เป็นเดรัจฉานที่นั่นและเดี๋ยวนั้น หรือเป็นเปรตที่นั่นและเดี๋ยวนั้น ความโง่ ความหลง เกิดขึ้นก็เป็นเดรัจฉานที่นั่นและเดี๋ยวนั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ภพ ต่างๆเกิดเสร็จแล้วนะ ยังไม่ทันจะลุกขึ้นจากที่นั่งที่มีความคิดอย่างนี้ มันก็มีภพ ใด ภพ หนึ่งที่ได้เข้าถึงและเสวย มันก็อาจจะเป็นสวรรค์ก็ได้ เพราะเราคิดเรื่องอะไรเสร็จไปเรื่องหนึ่งแล้วสบายใจ อิ่มอกอิ่มใจก็เป็นสวรรค์ไปแล้ว หรือจะเนือยๆเป็นพรหมโลกไปก็ได้ หรือมันจะร้อนวูบเป็นนรกก็ได้
เพราะฉะนั้น ภพ เหล่านี้ที่เรียกว่า ฝ่าย สุคติ หรือทุคติ ก็มีเสร็จ ยังไม่ทันจะลุกจากที่นั่งหรือไม่ทันจะหันหน้าไปทางอื่น ตาที่ทอดสายตาไปอย่างนี้แล้วก็เกิดพรึบเดียวเป็นความคิดนึกอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา แล้วก็มีผลถึงกับว่าเป็น ภพ เป็น สุคติ เป็น ทุคติ อะไรเสร็จ กว่าจะเปลี่ยนเป็นอันอื่น กว่าจะสิ้นเรื่องนี้ สิ้นกรณีนี้ มีทั้ง กรรม มีทั้ง ผลกรรม การ เสวยผลกรรม นับตั้งแต่เป็นเพียงกิริยา กับปฏิกิริยา แล้วก็มาเป็น กรรม กับ วิบาก คือ ผลกรรม เหลืออยู่ก็คือ สังขาร นี้เป็น กรรมเก่า ซากของกรรมเก่า ซึ่งไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งสำหรับตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น อะไรต่อไปอีก แล้วก็ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเข้าใจสิ่งเหล่านี้ดีจะมองเห็นได้ว่าไม่มีตัวคน มีแต่เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้มี เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี หรือพูดอีกทีก็เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น-สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น-สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด คือ ปฏิจจสมุปบาท จะอยู่ในนี้ ร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ โลกก็อยู่ในนี้ ความดับแห่งโลกก็อยู่ในนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนั้น ถ้าเพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี ก็เป็น โลก ถ้าสิ่งนี้ดับ-ดับสิ่งนี้ไป สิ่งนี้ดับ-สิ่งนี้พลอยดับ มันก็เป็น ความดับแห่งโลก ฝ่ายโน้นก็เป็น วัฏฏสงสาร ฝ่ายนี้ก็เป็น นิพพาน มันมีแต่อย่างนี้ ไม่มีคน ไม่ตัวตน ไม่มีคนที่ตรงไหน ความรู้สึกเป็นคน เป็นตัวตน เป็นฉัน นี่ก็คือ ความรู้สึกของความโง่ ความไม่รู้ของ อวิชชา ที่จะต้องรู้สึกอย่างนั้นตามประสาของสัตว์ธรรมดาสามัญที่ไม่รู้ ธรรมะ เราเกิดมาจากท้องแม่ก็ไม่รู้ธรรมะที่เป็น วิมุตติ คือ ดับทุกข์ได้ เราโตขึ้นมา โตขึ้นมา ก็ไม่รู้จัก ธรรมะ ที่เป็น วิมุตติ ที่ดับทุกข์ได้ กระทั่งเราอยู่ไปจนเฒ่าจนแก่ บางทีก็ไม่มี ธรรมะ ไม่รู้จัก ธรรมะที่เป็น วิมุตติ ที่ดับทุกข์ได้นี้ นั่นแหละคือ อวิชชา
ผมไปอ่านสูตรๆหนึ่งเพิ่งพบเข้าเป็นครั้งแรก เมื่ออ่านพบเข้าเป็นครั้งแรกถึงกับสะดุ้ง เพราะว่าเราไม่เคยอ่าน ไม่เคยเห็นอย่างนั้น ที่ว่า เพราะเด็กทารกนั้นไม่มีความรู้เรื่อง วิมุตติ จึงเกิดความยึดมั่นใน รูป ใน เสียงเหล่านั้น เพราะเด็กทารกไม่มีความรู้เรื่อง วิมุตติ มันก็จริง มันก็ต้องพูดอย่างนั้น เด็กทารกไม่มีความรู้เรื่องที่จะทำไม่ให้เกิดทุกข์ คือ วิมุตติ เพราะฉะนั้น แกจึงมีความคิด-มีความรู้สึกไปอย่างนั้น จนเป็นความทุกข์มากขึ้น มากขึ้น นี่ เอาคำนี้ไปใช้กับเด็กทารก เป็นคำธรรมดาทั่วไป คือ ความรู้ที่จะช่วยให้ไม่เกิดความทุกข์นั่นแหละ คือ วิมุตติ และเด็กทารกนั้นก็ไม่รู้ วิมุตติ เป็นหนุ่มเป็นสาวก็ยังไม่รู้ วิมุตติ บวชแล้วก็ยังไม่รู้ วิมุตติ สึกออกไปก็ยังไม่รู้ วิมุตติ ตายเข้าโลงไปก็ไม่เคยรู้ วิมุตติ คือ ไอ้ความรู้ที่จะทำให้ดับทุกข์ได้ หรือป้องกันไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้น เรียกว่า วิมุตติ ในกรณีอย่างนี้ ในพระพุทธภาษิตนี้
ทีนี้ เมื่อ วิมุตติ มันไม่มี-เราก็ทำให้มันมี นี่มาบวช ประพฤติพรหมจรรย์ในพระศาสนานี้ ก็เพื่อทำให้เกิด วิมุตติ คือ ความรู้ที่ดับทุกข์ได้ จนกระทั่งดับทุกข์ได้จริง ไอ้ความรู้ที่ดับทุกข์ได้นี้ไม่ใช่ความรู้เฉยๆ มันต้องดับทุกข์แล้วมันจึงจะมีความรู้อันนี้ เพราะฉะนั้น จะมีประโยค คำพูด-ประโยคที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ชัดๆว่า พรหมจรรย์นี้มีวิมุตติเป็นจุดที่หมาย เป็นอานิสงส์ พรหมจรรย์ นี้คือ การมาบวช มาเรียน มาอยู่ในศาสนานี้ เรียกว่า พรหมจรรย์ นี้ มี วิมุตติ เป็นอานิสงส์ ไม่ใช่มีลาภสักการะเป็นอานิสงส์ ท่านตรัสไว้อย่างนั้น มาบวชประพฤติพรหมจรรย์เพื่อให้มีความรู้การที่ดับทุกข์ได้ ไม่ใช่เพื่อมีลาภมีสักการะเป็นอานิสงส์ ไม่ใช่มีอาหารบิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช จีวรที่อะไร..ที่ได้อย่างอกอย่างใจเป็นอานิสงส์ เมื่อจิตถูกต้องต่อวิมุตติ กรรมย่อมสิ้นสุด จะเป็นพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้อีกรูปหนึ่ง ที่ผมพูดว่าตรัสไว้อีกรูปหนึ่งที่แท้ก็คือเรื่องเดียวกัน แต่ใช้คำพูดคนละวิธี เมื่อจิตถูกต้อง วิมุตติ กรรมก็สิ้นสุดเท่านั้นแหละ คือ มันรู้ จิตถูกต้อง วิมุตติ คือ จิตรู้ว่าความดับทุกข์เป็นอย่างไร ก็คือ รู้ วิมุตติ แล้ว กรรม มันก็ไปไม่รอด เพราะมันรู้แล้วว่าอย่างนี้เป็นทุกข์ มันก็ไม่ทำอย่างที่เป็นทุกข์ มันก็ไม่ทำ กรรม นั่นเอง ไม่มี อวิชชา หรือ ความโง่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง หรืออะไรที่ทำให้ทำกรรม เมื่อจิตมันรู้เรื่องนี้จนเกิด อวิชชา อีกไม่ได้ จนเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงอีกไม่ได้ เรียกว่า จิตมันถูกต้อง วิมุตติ – กรรม มันก็สลายตัว นี่คือ กรรมชนิดที่ไม่ต้องมีคนผู้กระทำ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลมาเกี่ยวข้อง การกระทำกรรมก็ได้มีแล้ว และมีอยู่ มีอยู่ มีอยู่ อย่างนับไม่ไหว การเสวยผลกรรมก็มีแล้ว-แต่ไม่มีบุคคลผู้เสวย ผมพูดเรื่องเดียวซ้ำมันอีกเพื่อให้เข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะมันเหลือวิสัยที่จะพูดทีเดียวให้เข้าใจได้
เพราะฉะนั้น ถ้ายังพูดกรรมชนิดยังมีตัวบุคคลผู้ทำกรรม ผู้เสวยผลกรรมกันอยู่ เรียกว่า กรรมเด็กอมมือ เรียกว่า กรรมอย่างศีลธรรม กรรมอย่างภาษาชาวบ้าน แต่ก็มีประโยชน์หรือจำเป็นสำหรับคนสมัยนี้อยู่นั่นแหละ เพราะถ้าไม่กลัวบาปกลัวกรรมกันแล้วก็แย่ ทีนี้ กรรมที่ของพระอริยเจ้า กรรมชนิดที่เป็นความรู้ของพระอริยเจ้า คือ ไม่ต้องมีตัวบุคคล มีแต่ว่าสิ่งนี้มี-สิ่งนี้มันก็ต้องมี เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้มันก็ต้องมี เพราะฉะนั้น ก็ยกตัวอย่างเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท นี้ จะตั้งต้นกันที่ตรงไหนมันก็ได้ จะตั้งต้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เช่น เราจะตั้งต้นว่าเมื่อดวงอาทิตย์มี มันก็เอาน้ำให้เป็นไอขึ้นไปอย่างนี้ มีไอน้ำ-เมฆก็มี / มีเมฆ-ฝนก็ตก / ฝนตกมันก็เปียกหรืออะไรพวกนี้ ทำให้มันเป็นอย่างนี้ เมื่อตามันก็มี เมื่อรูปมันก็มี มันก็ต้องกระทบกัน แล้วก็เกิด จักขุวิญญาณ มันต้องอย่างนี้ มันหลีกไม่ได้ ต้องเป็นไปอย่างนี้ ไม่ต้องมีคนอะไรที่ไหน
ทีนี้ เรามันไม่รู้อย่างนี้ เราว่า กู เห็น กูเห็น เห็นอะไร คิดอย่างไร มันก็ไปอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องมีคน แล้วไปขโมยบ้าง ไปอะไรบ้าง ก็เป็นกรรมอย่างมีคน ก็ไปกันตามเรื่อง อย่างนั้นบ้าง อย่างโน้นบ้าง อย่างนี้บ้าง มันก็ไม่แน่นอนหรอก บางทีตำรวจก็จับได้ บางทีก็จับไม่ได้ บางทีก็ไม่มีใครรู้ บางทีก็รู้ มันไม่แน่นอน นี่ กรรมอย่างนั้น แต่มันก็แน่นอนพอที่จะสรุปได้บ้างว่า ถ้าทำดีๆก็ทำไปเถิด โอกาสที่จะดี จะมีความสุขตามที่ต้องการมันก็มีมากขึ้น ทำแต่ชั่วๆๆ ๆๆโอกาสอย่างนั้นก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ขอให้ทำดี จะไม่มีใครมาเกลียดมาชัง มีคนจะร่วมมือ มีคนจะนั่น จะนี่ให้มีความสุข ตายแล้วก็ยังไปสวรรค์ อย่างนี้ก็ยังดี ถ้าพูดตามภาษาพระอริยเจ้าก็เรียกว่ายังเป็นชนิดต่ำ เพราะไปสวรรค์แล้วยังไม่มีความหมายอะไร ไปสวรรค์แล้วนี้ตามภาษาพระอริยเจ้านี้เขาจะว่า บ้าที่สุด คือ ต้องการจะไกลออกมาเสียจากความวุ่นวาย เราเลยแยกกันได้ตอนนี้ ถ้ายังมี อุปาทาน มี อวิชชา ว่า ตัวกู- ว่า ของกู เป็นไปด้วยความเห็นแก่ตัวกู มีดี-มีชั่วแบบของกูนี้ก็เป็นกรรมประเภทที่เรียกว่า ศีลธรรม -ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ยากที่จะทำให้เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะไอ้สิ่งที่เรียกว่าเป็น ตัวกู นั้นมันก็ไม่มีตัวจริงเสียแล้ว ถ้าไอ้กรรมที่จะเป็นวิทยาศาสตร์ต้องเป็นกรรมแบบ ปรมัตถธรรม หรือแบบ สัจจธรรม คือ ดูกันที่สิ่งที่มีอยู่จริง เห็นจริงทุกระยะ แล้วก็ไม่ต้องมีตัวกู เพราะมันไม่มีตัวกูนี่ ตัวกูไม่ได้มีอยู่จริง ก็มีแต่อันนี้ แล้วอันนี้ อันนี้ แล้วอันนี้ อันนี้ แล้วอันนี้
ทีนี้ หลักที่สำคัญก็โผล่มาตามที่ถือเป็นหลักของพระพุทธศาสนา ถามว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่หรือ? พระพุทธเจ้าบอกว่า อย่าๆ อย่าพูด พอถามว่า สิ่งทั้งปวงไม่มีหรือ? ก็อย่าพูด บ้าทั้ง ๒ อย่าง ทั้ง ๒ อย่างเท่ากัน ให้พูดได้อย่างเดียว ว่า เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี นี่คือ พุทธศาสนาจะพูดแต่อย่างนี้ จะไม่ยืนยันลงไปโครมว่าสิ่งทั้งปวงมี หรือว่าสิ่งทั้งปวงไม่มี ลัทธิว่ามีหรือไม่มี พวก Positive หรือ Negative นี้ไม่มีในพุทธศาสนา หรือไม่จัดเป็นพุทธศาสนา มีแต่ว่าเพราะสิ่งนี้มี-สิ่งนี้ก็มี เพราะสิ่งนี้มี เพราะสิ่งนี้ก็มี สิ่งนี้มีสิ่งนี้ก็มี ทยอยไปแล้วก็เป็นขณะๆๆ อย่างนี้เรียกว่า สายกลาง สายทางถูกต้อง คือ เป็นสายกลาง ถ้าไปว่ามี-ก็สุดเหวี่ยงทางนี้ ถ้าว่าไม่มี-ก็สุดเหวี่ยงทางนี้ ก็บ้าทั้งเพ เพราะสิ่งนี้มีชั่วขณะนี้ เพราะเหตุปัจจัยอย่างนี้ สิ่งนี้มีถึงชั่วขณะอย่างนี้ เพราะเหตุปัจจัยอย่างนี้ นี่คือถูก เพราะนี่คือความที่ว่าไม่มีคนหรือไม่มีตัวตนของสิ่งใดๆนี้ เป็นการสอนให้รู้ อนัตตา ในพุทธศาสนาได้ด้วย
เรื่องนี้จะน่าฟังหรือไม่น่าฟัง มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ ก็ไปคิดดูเองเถิด ผมเห็นว่ามีประโยชน์ แต่คนฟังว่าผมมันบ้า เอาเรื่องที่ไม่มีประโยชน์มาพูด หรือว่าไม่รู้ว่าพูดอะไร พูดเป็นเรื่องเป็นราวอะไร แต่เมื่อมีหน้าที่ที่จะต้องพูดถึงพุทธศาสนาชนิดเป็นพุทธศาสนา มันก็ต้องพูดอย่างนี้มันไม่มีอย่างอื่น คือ พูดเรื่องไม่มีตัวตน แล้วมันก็เป็นไปได้ เป็นไปได้ เป็นไปได้ เป็นทุกอย่าง เรื่องอื่นอาจจะหาอ่านได้จากหนังสือ เรื่องชีวิตนี้คงหาอ่านไม่ได้ ผมยังไม่เคยเห็นใครเขียน และผมก็ยังไม่ค่อยได้เขียนแต่กำลังศึกษาและค้นคว้า และก็เห็นเพิ่มขึ้นทุกที ทุกที บางอย่างก็พูดไปบ้างแล้วนะแต่คนไม่เข้าใจ นี่เห็นว่าเรื่องอื่นหาอ่านจากหนังสือที่อื่นได้ แต่เรื่องนี้คงจะหาไม่ได้ จึงเอามาพูด คงจะไม่เสียเวลาเปล่านะ
เอาละ พอกันที เรื่องไม่เป็นเรื่อง