แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นายเป็งฮั้ว : เห็นท่านว่างๆ ก็จะมาเรียนถามท่านนิดหน่อยครับ คือว่าเวลานี้มีคนสนใจเรื่องวิญญาณนะ
ท่านพุทธทาส : เออ, หันหน้ามาทางนี้สิ
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : เข้ามาตรงๆ นี่
นายเป็งฮั้ว : เวลานี้มีคนสนใจเรื่องวิญญาณ แล้วก็มีการปฏิเสธเรื่องวิญญาณว่า คนตายแล้วไม่ได้มีวิญญาณไปเกิด ก็จะเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือเปล่าครับ
ท่านพุทธทาส : อ้าว, ถามซ้ำอีกที ปัญหานี้สำคัญมาก พูดให้ชัดถ้อยชัดคำ ถามอีกที
นายเป็งฮั้ว : ครับ คือมีคนเข้าใจอยู่ว่า เวลานี้นะ เรื่องวิญญาณที่ถกเถียงกันมาเป็นเวลานานแล้ว พูดถึงเรื่องวิญญาณว่า วิญญาณนั้น มีแต่เวลาเป็นๆ นะครับ เวลามีชีวิตอยู่ เมื่อเวลาชีวิตดับแล้ว วิญญาณนั้นย่อมไม่มี แล้วจะเอาวิญญาณที่ไหนไปเกิด
ท่านพุทธทาส : ก็สบายเลย ไม่ต้องเกิดไม่ต้องตาย สบายเลย
นายเป็งฮั้ว : ครับๆ
ท่านพุทธทาส : จะเกิดทำไม
นายเป็งฮั้ว : แต่ว่า ผู้ที่ยังไม่หมดเหตุหมดปัจจัยนะครับ เกี่ยวกับจะต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนั้น วิญญาณนั้นยังจะมีอีกหรือเปล่าครับ ที่จะต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้ ฉะนั้นเรื่องคำว่าวิญญาณในพระพุทธศาสนานั้น จะเป็นทัดอย่างไรครับ ขอให้พระคุณเจ้าได้ชี้แจง
ท่านพุทธทาส : วิญญาณนี้คืออะไร คุณก็ว่าไม่ชัดนี่ คุณก็ว่าไม่ชัดเองว่าวิญญาณคืออะไร หรือว่าตามเขาว่า
นายเป็งฮั้ว : ครับ ว่าตามเขาว่าครับ
ท่านพุทธทาส : อือ, ถ้าวิญญาณเป็นตัวตน ก็เรียกว่าไม่เห็นผิด ถ้าคิดว่าวิญญาณเป็นตัวตน เพราะร่างกายตายแล้วไปเกิดอีกอย่างนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า การคิดว่ามีวิญญาณที่เป็นตัวฉัน ตัวเรานี่ พอตายแล้วไปเกิด รับผลดี ผลชั่ว ผลกรรม ต่อไปข้างหน้า อย่างนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา พุทธศาสนาจะสอนว่าไม่มีตัวตน แม้อยู่ที่นี่ก็ไม่มีตัวตน ถ้าจะไปคิดว่ามีตัวตน เกิดแล้วเกิดอีก เกิดแล้วเกิดอีก คนเดียวกันอย่างนี้เรียกว่าไม่ใช่พุทธศาสนา ทีนี้เมื่อตะกี้คุณก็ถามว่าพุทธศาสนาสอนว่าอย่างไร พุทธศาสนาสอนว่าไม่มีวิญญาณที่เป็นตัวตนอย่างนั้น นี่ถ้าคุณไปเอาวิญญาณพวกอื่นมาถาม พุทธศาสนาก็ไม่ต้องตอบ
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : พระพุทธศาสนาไม่มีวิญญาณอย่างนั้น ก็ไม่ต้องตอบ พุทธศาสนาถือว่าวิญญาณนี้เกิดเมื่อตาเห็นรูป เกิดจักษุวิญญาณ หูได้ยินเสียง เกิดโสตวิญญาณ จมูกได้กลิ่น เรียกฆานวิญญาณ แล้วมันก็เกิดผัสสะ และก็เกิดเวทนา ฟังถูกไหมตอนนี้
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : เกิดผัสสะและเกิดเวทนา เกิดเวทนา สุขทุกข์แล้วก็เกิดตัณหาในเวทนา แล้วก็เกิดอุปาทานจากตัณหา นี่เป็นตัวกูปลอมๆ ขึ้นมาว่าตัวกูได้อย่างนั้น ตัวกูได้อย่างนี้ ตัวกูจะเอาอย่างนั้น ตัวกูจะเอาอย่างนี้ ตัวกูนั้นมันปลอม มันเป็นเพียงเพราะว่ามันมีรูป อายตนะภายนอก และก็มีตา อายตนะภายใน ประจวบกันเป็นวิญญาณ เป็นผัสสะ เป็นเวทนา เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน เป็นภพ เป็นชาติ เป็นทุกข์ทั้งนั้นแหละ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ว่าไปอย่างนี้ไม่รู้จักจบหรอก นี่พุทธศาสนา อย่าไปเอาตรงไหนส่วนไหนว่าเป็นวิญญาณที่เป็นตัวกู จะว่าวิญญาณตัวกูเห็นรูป ตัวกูเสวยเวทนา ตัวกูอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ ไม่ ไม่เป็นพุทธศาสนา พุทธศาสนามีเพียงว่าเหตุปัจจัยนี้ปรุงแต่งผลอันนี้ กลายเป็นเหตุอีก ปรุงแต่งผลอันนี้อีก ตัวตนที่เป็นตัวตนจริงๆ ก็ไม่มี นี้คำว่าชาติ เกิดแล้วเกิดอีก เกิดแล้วเกิดอีก นี่ก็คือว่า มันคิดว่าตัวกูทีหนึ่งก็ชาติหนึ่ง คิดว่าตัวกูทีหนึ่งก็ชาติหนึ่ง นี่มันก็มีตัวกูชาติก่อน เนื่องมาถึงไอ้ตัวกูชาติหลังเหมือนกัน ชาตินี้ ชาติสมมุติว่าชาตินี้มันคิดขโมย มันก็เป็นชาติหนึ่ง แล้วมันไปขโมยเป็นชาติหนึ่ง แล้วมันติดคุกติดตะรางก็เป็นชาติหนึ่ง หรือมันไม่ติดก็ชาติหนึ่ง อะไรมันเป็นชาติ ชาติ ชาติ ชาติอย่างนี้ วันเดียวก็มีตั้งหลายชาติ ปีหนึ่งก็มีหลายร้อยหลายพันชาติ ถ้ามันสืบเนื่องกันอย่างนี้ เขาก็เรียกว่า ไม่ใช่ของตัวตนหรอก มันเป็นของที่มันต้องเกิด เกิดเกิดสิ่งนี้มีแล้วสิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้มีแล้วสิ่งนี้จึงมี อย่ามีตัวตน ตัวตนนี้ดับเสีย คือว่าอย่าคิด อย่าไปโง่ว่ามีตัวตน ตัวตนมันก็ไม่มี นี่ นี่ว่างมาอีกแล้ว โครงมาอีกแล้ว อมิตายุมาอีกแล้ว พอไม่มีตัวตนอย่างนี้มันก็ว่าง เดี๋ยวตัวตนมาก็วุ่น สลับกันอยู่อย่างนี้ เป็นชาติ ชาติ ชาติ ชาติ ชาติหมายอย่างนี้ อย่าคิดถึงว่าต่อเข้าโลงแล้วจึงจะมีชาติ ชาติต่อเข้าโลงแล้วนั้นไม่สำคัญ เขาพูดสำหรับคนที่ไม่มีปัญญาจะมองเห็นชาติที่มีอยู่เดี๋ยวนี้มากๆ ชาตินี้จริงกว่า สำคัญกว่า คิดอย่างไรเกิดเป็นอย่างนั้น คิด คิดดีเกิดเป็นคนดี คิดชั่วเกิดเป็นคนชั่ว คิดอย่างจีนก็เป็นจีน คิดอย่างแขกก็เป็นแขกนี่ คิดอย่างเทวดาก็เป็นเทวดา คิดอย่างมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ นี่ชาติ ชาติ ชาติ ชาติอยู่ที่นี่ ชั่วโมงหนึ่งมันก็เป็นได้หลายชาติ หลายสิบชาติ หลายร้อยชาติต่อวัน ต่อเดือน ต่อปี นี่ดับชาติอย่างนี้เสีย คืออย่าไปคิดว่ามันเป็นตัวกู คือกูไม่เป็นอะไร ไม่มีกูที่เป็นอะไร คือดับชาติเสีย นี่คือว่าง นี่คืออมิตายุ นี่คือสุขาวดีอย่างที่พูดเมื่อวาน ไม่เกิดไม่ตายอย่างนี้เป็นสุขาวดี เดี๋ยวนี้เรามันขี้ขลาด มันไปกลัว มันไปกลัว มันก็มีเกิดมีตายแหละ พอมีตัวตนกันขึ้นมามันก็มีเกิดมีตาย ที่จริงก็ไม่ได้มีตัวตน ไม่ได้มีวิญญาณที่เป็นตัวตนอย่างพระพุทธเจ้าท่านว่า แล้วที่คนไปคิดถึงชาติหน้าชาติโน้น มันคิดเผื่อกันทั้งนั้นแหละ ที่แท้จริงใจจริงมันไม่ได้ต้องการหรอก พิสูจน์ได้ง่ายๆ ว่า ทุกคนมันกลัวตาย ทุกคนกลัวตาย จริงไหม
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : แน่นะ
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : ทำไมมันจึงกลัวตายล่ะ เพราะมันอยากจะอยู่ที่นี่ อยากจะเอาอะไร อะไรๆ ที่มันมีอยู่ที่นี่ มันจึงได้กลัวตาย มันไม่ได้อยากจะไปเอาข้างหน้านี่ ไอ้คนที่ทำบุญไว้มากๆ มันก็ไม่ ไม่อยากจะรีบๆ ตายเร็วไปเอาบุญข้างหน้า
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : หรือคุณต้องการอย่างนั้น คุณอยากจะตายเดี๋ยวนี้ ไปเอาบุญข้างหน้าเร็วๆ นะ
นายเป็งฮั้ว : ไม่ๆ
ท่านพุทธทาส : ไม่ นี่มันแสดงว่าไอ้ ไอ้หลังจากตายแล้วคนมันไม่ได้ต้องการนะ ถ้ามันคิดว่าเกิดดีมันก็อยากตายเร็วๆ ไปเอาดีเร็วๆ นี่ เหมือนกับว่าไอ้เสื้อตัวนี้เก่าแล้วก็อยากจะเปลี่ยนไปเอาเสื้อตัวใหม่ๆ นี่ คือร่างกายใหม่ๆ นี่ นี่มันไม่จริง มันไม่อยากตายนี่ แก่หง่อมแล้วมันก็ไม่อยากตาย ความต้องการของมันนั้นจำกัดวงอยู่แต่ที่นี่ทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงไม่ให้พูดถึงไอ้หลังจากตายแล้ว เพราะมนุษย์มันต้องการแต่ที่นี่ ที่ยังไม่ทันตายนี่ พระพุทธเจ้าท่านเลยพูดว่า อย่าไปพูดตายแล้วเกิด ตายแล้วไม่เกิด อย่าพูด พูดว่าอยู่ที่นี่ทำอย่างไรปฏิบัติอย่างไรมันจึงจะหมดตัวกูของกูนะ เป็นสุขาวดีที่นี่ เป็นอมิตายุที่นี่ นี่พระพุทธเจ้าท่านพูดตรงกับความประสงค์ของคนนะ แต่เขาไม่ เขาไม่ต้องการจะตายนี่ เขาไม่ต้องการจะตายแล้วไปเอาอะไรที่นั่น เพราะฉะนั้นเขาจึงกลัวตายไม่อยากตาย แก่ชราแล้วก็ยังไม่อยากตาย เพราะว่าเรื่องของคน ปัญหาของคนมันอยู่ที่นี่ แต่ว่าที่นี่นะมันมีหมดนะ มีนรก สวรรค์ เทวดา มีสุขาวดี มีอมิตายุ อมิตาพระอยู่ที่นี่ ในจิตใจนี่ จิตใจที่เป็นๆ นะ ตายแล้วไม่มีนะ ไอ้ร่างกายที่ยังเป็นๆ นี่มันมีหมด ฉะนั้นท่านว่า อ้าว, ที่นี่ได้ก่อนสิ ถ้าที่นี่ได้อย่างไร ตายแล้วมันก็ได้อย่างนั้นแหละ ทีนี้คนก็ทำดีทำบุญ ทำบุญ ทำบุญ ทำบุญแล้วมันก็ไม่เห็นว่ามันจะ จะมีความสุขได้อย่างไร มันก็รับบุญมันก็หวงบุญ มันก็มีโลภะ โทสะ โมหะ มันไม่อยากตาย ทีนี้ก็ตัดมันเสียที่นี่ตรงนี้ ให้หมดเรื่องเหล่านี้ ก็คือว่าเห็นความจริง ความจริง แท้จริงไม่มีตัวเราเว้ย ไม่มีวิญญาณที่เป็นตัวเราเว้ย มีแต่วิญญาณที่เกิดชั่วขณะวอบๆ แวบๆ ทางตาทางหูทางจมูกนี่ นี่พอเห็นอย่างนี้แล้วมันก็นิพพาน ไม่ต้องเกิดเป็นมนุษย์ ไม่ต้องเกิดเป็นเทวดา ไม่ต้องเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่ต้องเกิดเป็นอะไรหมด เป็นสุขาวดีในความหมายที่ถูกต้อง คือเป็นอมิตายุ มีอายุที่ไม่ ไม่สิ้นสุด ก็หมดกัน ปัญหามันจบเสียก่อนเข้าโลง ปัญหามันจบเสียก่อนเข้าโลง แล้วคุณจะมาถามว่าตายแล้วไปเกิดหรือไม่เกิดนี่มันก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าทำที่นี่ถูกแล้ว ก็หลังจากตายแล้วถ้าว่ามันมีเกิดอีกนะ มันก็ไม่มีปัญหา มันก็ถูกไปหมด นี้เราทำเสร็จเสียที่นี่ มันยิ่งกว่าถูก ยิ่งกว่าดี ยิ่งกว่าถูก ก็เลยเรื่องก็หมด ได้ยินเขาพูดว่า ขงจื๊อพูดว่า จัดการเรื่องโลกนี้ให้ถูกต้องเสียก่อนเถอะ จึงค่อยไปพูดถึงเรื่องโลกหน้า อันนี้จริงไหม
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : ได้ยินว่าอย่างนี้ นี่ขงจื๊อก็ยังพูดถูก ถ้าว่าจัดการโลกนี้ได้ดี โลกหน้าไม่มีปัญหาหรอก แต่นี่โลกนี้ก็ยังไม่ได้จัดอะไร ยังเอาชนะไม่ได้ ยังไม่หมดปัญหาที่เกี่ยวกับโลกนี้ ทีนี้ถ้าจะพูดอย่างพระพุทธเจ้า มันก็เรื่องเดียวกันก็ได้ จัดปัญหาเกี่ยวกับโลกนี้โลกนี้ คือว่าให้มันเห็นชัดว่าโลกนี้มันก็หลอกลวง ไอ้ที่เราว่าอร่อย ว่าดี ว่าสุข มันก็เป็นเรื่องโง่ มันควรจะเฉย ไม่อร่อยหรือไม่ไม่อร่อย ไม่ดีไม่ชั่วไม่สุขไม่ทุกข์ไม่แพ้ไม่ชนะนั่นแหละดี ถ้าจิตใจเป็นได้อย่างนี้ก็เรียกว่าชนะโลกนี้ หมดเรื่องโลกนี้ เรื่องโลกหน้าเลยหมดไปเอง ฉะนั้นคำพูดของขงจื๊อก็ถูก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทำเรื่องโลกนี้ให้มันดีก่อนเถอะ เรื่องโลกหน้ามันมาตาม ไป ไปตามที่ว่าเราจัดทำไว้ดีอย่างไรในโลกนี้ นี่ก็อย่าไปหลงไอ้เรื่องเงินทองข้าวของทรัพย์สมบัติ อำนาจวาสนา กามารมณ์นะ ทำโลกนี้ให้ชนะ ปัญหาก็หมดเท่านั้น เป็นอันชนะทุกโลก ชนะโลกนี้ได้ ปัจจุบันนี้ได้ เป็นอันว่าชนะทุกโลก
นายเป็งฮั้ว : ขอเรียนถามท่านอีกเถอะ คือว่า ที่พระคุณเจ้ากล่าวถึงว่า ขงจื๊อพูดถึงเรื่องในโลกนี้นะครับ จริงไหมครับ
ท่านพุทธทาส : จริง
นายเป็งฮั้ว : เพราะว่ามีศิษย์ไปถามขงจื๊อว่า โลกหน้าเป็นอย่างไร ขงจื๊อตอบว่า โลกนี้เธอยังไม่ทราบแจ่มชัด เธอจะไปทราบถึงโลกหน้าได้อย่างไรนะครับ ฉะนั้นขง ขงจื๊อก็สอนแต่เรื่องของโลกนี้ ให้คนปฏิบัติดี ละชั่วในโลกนี้นะครับ แต่ว่าศาสนาพุทธนี่เผยแพร่เข้าไปในประเทศจีน ซึ่งประชาชนชาวจีนเข้าใจในคำสอนของขงจื๊ออยู่แล้วว่า ให้ทราบแต่ในโลกนี้ เข้าใจในชีวิตของโลกนี้ ศาสนาพุทธที่เผยแพร่เข้าในประเทศจีนนั้น ก็ทราบชัดอย่างนี้ แต่ว่ามีความเด่นอยู่อีกอันหนึ่งในศาสนาพุทธก็คือ สอนเรื่องโลกหน้า สอนเรื่องโลกหน้า ซึ่งชาวจีนก็ได้รับเอาไอ้คำสอนที่ว่าเกี่ยวกับโลกหน้านี้นะเป็นพิเศษ ซึ่งถือว่ายิ่งใหญ่กว่าขงจื๊อ จึงได้รับเอาศาสนาพุทธนี้เข้าไปในประเทศจีนอย่างกว้างขวาง การที่นำเอาไปเผยแพร่ได้กว้างขวางก็เกี่ยวกับการที่ว่า เมื่อคนตายไปแล้วหรือสัตว์ตายไปแล้ว ในโลกหน้ามีเหตุการณ์อย่างไร ประชา ประชาชนชาวจีนได้สนใจอย่างนี้ ศาสนาพุทธจึงได้รุ่งเรือง แล้วก็มีคำอีกคำหนึ่งที่กล่าวในคำสอนนั้นเรียกว่า ปฏิสนธิจิต คือจิตที่ไปปฏิสนธิหรือเรียกว่าวิญญาณที่ไปปฏิสนธิ ไปเกิดใหม่นั้นนะ เนื่องมาแต่ว่าด้วยเหตุหรือปัจจัยในสมัยที่เป็น เอ่อ, ในสมัยปัจจุบันนี้ยังไม่สิ้น หมายความว่ายังไม่สิ้นเหตุกับปัจจัย เหตุกับปัจจัยนั้นจึงได้นำส่งให้ไปเกิดในอนาคต ฉะนั้นก็อยากให้พระคุณเจ้าได้อธิบายถึงปฏิสนธิจิต ซึ่งในฝ่ายเถรวาทได้กล่าวไว้ว่าอย่างไร เพื่อเป็นการให้ชัดเจนเกี่ยวกับการที่สัตว์จะไปเกิดใหม่ เฉพาะผู้ที่ยังไม่หมดเหตุหมดปัจจัย ขอประทานความกรุณา
ท่านพุทธทาส : ที่เขาถามว่าในประเทศจีนแต่ก่อนนี้ถือลัทธิขงจื๊ออยู่ดีๆ แล้ว ลัทธิขงจื๊อเขาสอนว่าโลก โลกหน้ายังไม่ต้องพูด ทำโลกนี้ให้ถูกต้องก่อน ทีนี้ต่อมาพุทธศาสนาไปถึงประเทศจีน แต่คุณไม่ได้ว่าพระพุทธเจ้าพาไปเองนะ
นายเป็งฮั้ว : เปล่าครับ
ท่านพุทธทาส : มันไป
นายเป็งฮั้ว : มีสาวก
ท่านพุทธทาส : มีสาวกหรือใครพาไป นี่มันเหมือนกับเอาสินค้าใหม่ไปขายใช่ไหม
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : ถ้ามันเหมือนเดิมมันขายออกเหรอ
นายเป็งฮั้ว : เหมือนเดิมก็ขายไม่ออก
ท่านพุทธทาส : ของเหมือนเดิมก็ขายไม่ออกหรอก เพราะฉะนั้นมันก็ต้องมีอะไรแปลกจากเดิม ก็เลยเอาคำพูดที่มัน มันดิ้นได้ ที่มันกำกวม มันพลิกแพลงได้นะว่า ฉันมีเรื่องโลกหน้า แปลก ทีนี้คนจีนมันโง่นี่ มันก็ว่าเรื่องโลกหน้านี่แปลก ดีกว่าของเรา ดีกว่าที่มีอยู่แล้ว มันเอา เอา เอาว่าสิ ว่ายังไง โลกหน้า ก็เลยได้โอกาส ก็สอนเรื่องอย่างที่เขาสอนในอินเดีย สอนนั้นเขาสอนคน คนต่ำๆ คนโง่ๆ คนพื้นฐานทั่วไปก็ต้องสอนอย่างนั้น เมื่อวานเราก็พูดกันแล้วว่าพระพุทธเจ้าพูด ๒ ภาษา ภาษาสำหรับคนโง่ภาษาหนึ่ง มีตัวฉัน มีตัวกู ทำบุญทำทานมีตายแล้วไปได้บุญ นี้ก็ภาษาหนึ่ง แล้วภาษาไม่มีตัวกู ที่นี่ก็ไม่มีตัวกู หยุดดับหมดที่นี่ เป็นสุขาวดีที่นี่ ไม่ใช่สุขาวดีต่อตายแล้ว ทีนี้ก็ไอ้พวกที่พาพุทธศาสนาไปเมืองจีนเอาแง่นี้ไปพูด แต่เขาไม่ได้หมายความอย่างนั้นก็ได้ ไอ้โลกนี้โลกหน้านั่นมันก็เดี๋ยวก็จะว่าให้ฟัง ที่นี้คนจีนเขารับเอา คง คง คงหมายถึงคนจีนที่ ที่ ที่โง่นะ ขออภัยที่พูดอย่างนี้นะ
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : คนจีนทั่วๆ ไปนะมันโง่ ไอ้คนจีนที่มันฉลาด ที่เข้าใจลัทธิขงจื๊อมันไม่โง่ มันไม่ยอมไม่ ไม่ต้องยอมรับเอา นี่แสดงว่ามันไม่ได้ทิ้งขงจื๊อแล้วไปรับพุทธศาสนากันหมดใช่ไหม มันยังมีเหลือถือขงจื๊ออยู่นะ
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : ในประเทศจีนนั่นนะ พุทธศาสนาเข้าไปนี่ ไอ้ ไอ้พวกที่เคยถือขงจื๊ออยู่ก่อนหันไปถือพุทธก็มี แต่พวกที่ไม่ยอมถือก็มีนะ มันจึงมีอยู่บัดนี้นะ เพราะเรามันยังถือหลักถูกต้องที่ว่า จัดการโลกนี้ให้ถูกต้องมันก็หมดปัญหา ทีนี้ไอ้พวกที่จัดการโลกนี้ไม่ได้ คนธรรมดาทั่วไปมันก็ ก็เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นมันจึงไปลอง ลองของใหม่ ลองสินค้าใหม่ ที่มีคนมาบอกว่าโลกหน้า ยังมีหวังโลกหน้า ถ้าโลกนี้มัน มันเจ๊งหรือมันอะไรไปก็มีหวังโลกหน้า เขาถือกันมาก ที่ไหนๆ ก็ถือกันมาก แม้ในอินเดียเองก็ถือกันมาก ทีนี้มาพูดถึงเรื่องโลกหน้าดีกว่า โลกหน้ามันมี ๒ อีกแหละ โลกหน้าภาษาคนโง่ กับโลกหน้าภาษาคนฉลาด คุณเคยอ่านเรื่องปฏิจจสมุปบาทไหม
นายเป็งฮั้ว : ครับ เคยอ่านครับ
ท่านพุทธทาส : ไปอ่าน ไปอ่านอีก
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : ที่ว่าเคยแล้วนี่ไม่ ไม่หมด โลกเกิดเมื่อไหร่ ถ้าคุณเคยอ่านปฏิจจสมุปบาทแล้วคุณตอบซิว่าโลกเกิดเมื่อไหร่
นายเป็งฮั้ว : ก็
ท่านพุทธทาส : โลกดับเมื่อไหร่ โลกเกิดเมื่อไหร่
นายเป็งฮั้ว : โลกเกิด
ท่านพุทธทาส : เมื่อ
นายเป็งฮั้ว : ไม่ ไม่มีกำหนดที่เกิด
ท่านพุทธทาส – อือ, นี่ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท โลกเกิดเมื่อคิดว่ามีตัวกู มีตัวฉัน มีของกูเมื่อไหร่ เมื่อนั้นโลกเกิด นี่โลกมีอย่างนี้ยังไม่เกิด จนกว่าเราจะเข้าไปจับฉวยเอาว่าของเรา ฉะนั้นในพระ เอ่อ, ในบาลีเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้นก็สอนไว้ชัด ถ้าตาเห็นรูปเป็นต้นนะ ตาเห็น รู้ หูฟังเสียงอะไรก็ตาม เกิดผัสสะนี่ แล้วเกิดเวทนา สุขหรือทุกข์ นี่ก็เกิดเวทนา ก็เกิดตัณหาอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ รู้สึกความอยากขึ้นมา พอรู้สึกความอยากขึ้นมา มันก็มีว่าฉัน ฉันนี่อยาก ฉันนี่ต้องการ ฉันนี่จะได้ หรือฉันนี่ได้แล้ว นี่เรียกว่าโลกเกิด นี้กล้ายืนยันเลย ไปเอาเรื่องปฏิจจสมุปบาททั้งหมดมาอ่านเลย จะว่านี่โลกเกิด โลกเกิดเมื่อมีตัณหาอุปาทาน แล้วว่าโลกดับเมื่อดับตัณหาอุปาทาน ฉะนั้นโลกนี่จะเกิดแก่เราวันหนึ่งหลายหน ไอ้โลกที่เกิดที่แล้วก็เรียกว่าโลกที่แล้ว ไอ้โลกที่จะเกิดต่อไปก็เรียกว่าโลกหน้า ฉะนั้นเราทำผิดโลกนี้เรายังมีแก้ตัวในโลกหน้า ใน ๑ นาทีต่อมาก็ได้ ใน ๕ นาทีต่อมาก็ได้ เพราะโลกใหม่มันเกิดเรื่อย ดับทิฏฐิของปฏิจจสมุปบาทในพุทธศาสนา เรื่องนี้ถ้าไม่เข้าใจไปอ่านอีกนะ
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : ไปถามหมอทองมอเชียนด้วย (น. 22.45) ว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาทน่ะมันยังไง ยังไง ยังไงแล้วก็จะพบว่า เกิดปฏิจจสมุปบาททีหนึ่งโลกเกิดทีหนึ่งแล้ว ทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ มัน มัน มันเกิดโลกทีหนึ่งแล้ว ฉะนั้นมันจึงมีโลกนี้ โลกนี้ โลกนี้ โลกนี้มันก็ผลัดกันเป็นโลกหน้าโลกนี้และโลกทีหลังของกันและกันเรื่อย ฉะนั้นเราจึงมีโอกาสที่ว่ามันทำผิดโลกนี้ แล้วโลกนี้ก็สิ้นๆ ไป แล้วโลกหน้าก็ทำให้ถูกได้ รับผลได้ นี่โลกนี้โลกหน้าอย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัส แต่ทีนี้ชาวบ้านมันพูดกันอยู่ก่อนอย่างอื่น เอา เอา เอาเรื่องร่างกายเข้าโลงเป็นหลัก ฉะนั้นไปหาพระไตรปิฎก อ่านดูตอนที่สำคัญตอนหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าตรัสแก่ไอ้เทวดา ไอ้คนๆ หนึ่งมันเที่ยวหาที่สุดของโลก มันว่าตรงไหนจะจบโลก จะ จะสิ้นสุดของโลก จะหมดโลก พระพุทธเจ้าว่า โอ๊ย, บ้า เที่ยววิ่งหา หามันก็ไม่พบหรอก เพราะว่าโลกนี่มันก็อยู่ในนี้ เหตุให้เกิดโลกมันก็อยู่ในนี้ ความดับของโลกมันก็อยู่ในนี้ ทางแห่งถึงความดับของโลกมันก็อยู่ในนี้ ทั้ง ๔ อย่างมันอยู่ในร่างกายที่เป็นๆ ตายแล้วไม่ต้องพูด ตายแล้วมันไม่มี ไอ้โลกที่แท้จริงนะมัน มันตายแล้ว คนตายแล้วมันไม่มี ต่อเมื่อคนเป็นๆ นะเดี๋ยวมันก็เกิดโลก เดี๋ยวเป็นเหตุให้เกิดโลก เดี๋ยวก็เกิดโลก ก็เดี๋ยว โลกนี้ก็ดับไป แล้วโลกใหม่ก็เกิดอีก มันมีเหตุอีกอย่างนี้ ถ้าเราต้องการจะดับโลกเราก็ต้องปฏิบัติให้ถูก ตามมรรคมีองค์ ๘ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี่ก็รู้แล้วนะ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี่ถ้าตั้งอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ได้จริง โลกไม่เกิด ฟังถูกไหม
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : ถ้าคนนี่มันมีกายวาจาใจตั้งอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว โลกมันจะไม่เกิดสำหรับคนนั้น ไอ้นี้มันตายด้านอยู่นี่ มันมาเกิดเป็นของกูตัวกู เป็นยึดมั่นถือมั่นเลย นี่โลกมันจบนี่ ที่สุดโลกมันก็อยู่ในนี้ เป็นสุขาวดีอีกแหละ มันไม่เกิดไม่ตายนะ ที่สุดโลกคือมันหมดตัวกู พอหมดตัวกูมันก็ไม่มีไปไม่มีมา ไม่มีอยู่ที่ไหน มันเป็นอมิตายุถาวรอย่างนี้ เรื่องโลกนี้เรื่องโลกหน้าที่แท้จริงของพระพุทธเจ้ามันอย่างนี้ นี่ถ้าคุณอยากจะสนใจปฏิสนธิวิญญาณ ก็หมายความว่า ถ้าตาเห็นรูปเป็นต้น เป็นจักษุวิญญาณ จักษุวิญญาณนี่จะทำหน้าที่ปฏิสนธิวิญญาณ มันทำให้เกิดผัสสะ เวทนา ตัณหา จนกระทั่งเกิดอุปาทาน เกิดภพ เป็นตัวกูขึ้นมา มันทำหน้าที่ปฏิสนธิวิญญาณ แล้วมันก็เจริญเป็นไอ้ผัสสะ เวทนา ตัณหา เพระอุปาทานก็เกิดใหม่แล้ว มันนาทีเดียว วินาทีเดียว หรือครึ่งวินาที มันเกิดหมด พอตาเห็นรูปปั๊บ เกิดกู คือเห็นเกิดของกู เรียกว่าไอ้วิญญาณที่ตามันทำปฏิสนธิวิญญาณให้เกิดกู ปฏิสนธิวิญญาณในพระพุทธเจ้า ใน ในพระพุทธเจ้าตรัส ตรัสอย่างนี้
ส่วนปฏิสนธิวิญญาณที่ว่าเข้าไปในท้องแม่แล้วก็อยู่เป็นวิญญาณจนกว่าจะตายเข้าโลงนั้น เขาพูดอยู่ก่อนพระพุทธเจ้านะ ไปอ่านดูเถอะไปค้นเถอะมันมี เขาเรียกว่า สัสตทิฏฐิ คนหนึ่งเขาชื่อว่าสาติ นามสกุล เจวัตบุตร เขามาบวชในพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าแล้วเขาว่าอย่างนี้ พระพุทธเจ้าเรียกตัวมาถามก็ว่าอย่างนี้ ว่าไงสาติ วิญญาณอะไรของแก เออ, ก็วิญญาณนี่ที่มันอยู่ข้างในนี้เป็นประจำนะ มันพูด มันทำ มันกิน มันคิด มันนึก พอร่างกายตายแล้วมันไปเกิดใหม่ ไปเอาอะไรใหม่ ยังไม่ใช่ วิญญาณของฉันมันไม่ใช่อย่างนั้น มันก็เกิดทุกทีที่ ที่มันมีโอกาสจะเกิดนะ เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง มันก็เกิดเป็นวิญญาณขึ้นมา แล้วมันก็เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดจนกระทั่งเป็นชาติ เป็นทุกข์แหละ เพราะฉะนั้นอย่าให้มันเกิดดีกว่า คือตาเห็นรูปก็อย่าให้เกิดไอ้เวทนาตัณหา หรือว่าเกิดเวทนาแล้วอย่าเกิดตัณหา อย่าเกิดอุปาทาน เราฉลาด เรามีสติ เห็นของน่ารักก็ไม่รัก เห็นของน่าเกลียดก็ไม่เกลียดนี่ นี่แหละวิญญาณ เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่วิญญาณนั่นมีแน่นอนถาวรอยู่ในนี้ เป็นผู้คิด เป็นผู้พูด เป็นผู้ทำอะไรนั่น มันวิญญาณสัสตทิฏฐิ ไม่ถูก นี่พระพุทธเจ้าพูดเท่านี้ พูด พูดอยู่อย่างนี้ พระองค์นี้ก็ไม่เชื่อ น่าหัวเราะไหมเป็นลูกศิษย์แล้วไม่เชื่ออาจารย์นี่ ฮื่อ, นี่พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสคำสุดท้ายว่า ไอ้นี่มันมุดอยู่ในแหในอวนออกมาไม่ได้ มหาชาละ อ่า, มหาอะไร มหาชาละมุกกัง มหาชาละแล้วก็มหาอะไร ที่เขาแปลว่าแห ว่าอวน คำนี้ มุกกัง แปลว่ามุดติดอยู่ในอวน นี่คล้ายๆ กับด่านะ ไอ้มุดอยู่ในอวน ไอ้มุดอยู่ในแห มันติดอยู่ในสัสตทิฏฐิ มีทิฏฐิว่าตัวตนนี่ แล้ว แล้วสูตรนี้มันก็จบ ไม่ได้ปรากฏว่าพระองค์นี้มันจะไปทางไหนกันก็ไม่รู้ แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าภิกษุทั้งหลาย จงจำไว้ว่าไอ้หมอนี่มันมุดอยู่ในอวน เลิกกัน สูตรมันจบ ไอ้วิญญาณอย่างนั้น อย่างของภิกษุองค์นั้นนะไม่ใช่ในพุทธศาสนา มันมาแต่เดิม มันพูดอยู่ก่อนแล้ว ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด นี่พระพุทธเจ้าเกิดท่านก็พูดให้ถูกเสียใหม่ว่า มันไม่มีหรอกไอ้ที่อย่างนั้นนะ ไอ้ที่มันมีจริงก็คือว่าไอ้วิญญาณนี่ ไอ้ทางตา ทางหู เป็นต้นนี่ แล้วมันก็เกิดเป็นตัวกู กู กู กู กูขึ้นมาในใจนี่ เพราะฉะนั้นกูอย่างมนุษย์ก็มี กูอย่างเทวดาก็มี กูอย่างสัตว์เดรัจฉานก็มี ดีบ้างชั่วบ้างนี่ มันเกิดดับ เกิดดับ เพราะฉะนั้นมันก็มีปฏิสนธิวิญญาณเรื่อยแหละ ปรุงแต่งเรื่อยแหละ กว่าจะ กว่าเราจะเข้าโลงนี่ มันก็มีปฏิสนธิวิญญาณหลายร้อยหลายพันครั้ง คือว่าหลายชาติหลายชาติ ฉะนั้นชาตินี้เป็นเพียงอย่างนี้ อิทัปปัจจยตา คำนี้คุณไม่เคยได้ยินแน่ มีในพระไตรปิฎกแยกหมวด จำให้ดี อิทัปปัจจยตา จดด้วย อิทัป อิทัปปัจจยตา ถูก เขียนถูก อิทัปปัจจยตา เขียนหนังสือจีนด้วยก็ได้ อิทัปปัจจยตา แปลว่าเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี นั่งว่าทั้งวันทั้งเดือนทั้งปีก็ว่าได้อย่างนี้แหละ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ฉะนั้นเมื่อตาเห็นรูป เมื่อตามีมันก็เห็น เมื่อเห็นมันก็เกิดรู้แจ้งว่าอะไร เกิดวิญญาณ แล้วก็เกิดผัสสะ เกิดตัณหา เกิดเวทนา เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี จนเป็นตัวกู มันเลยเป็นทุกข์ พอหยุดกระแสนี่เสียได้ ไอ้สิ่งนี้มันไม่เกิดขึ้นมาหรอก ปรุงแต่งสิ่งไหนอีก นี่เป็นสุขาวดีที่ถูกต้อง สุขาวดีที่ไม่ถูกต้องก็เป็นโลกที่สนุกสนาน มีดอกบัวใช่ไหม
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : นั่นนะมันเขียนหลอกเด็ก มันก็ต้องแปลความหมายคำว่าดอกบัวเสียใหม่นะ ดอกบัวมันไม่ใช่ดอกบัวที่อยู่ในหนอง เพราะมันเป็นรูปเขียนอุปมา ดอกบัวนี่มันต้องหมายถึงรูป ถึงตื่น ถึงเบิกบาน มันเต็มไปด้วยดอกบัวทั้งนั้นแหละ
นายเป็งฮั้ว : ดอกบัวดอกใหญ่ๆ ไปเกิดในดอกบัว
ท่านพุทธทาส : ไปเกิดในดอกบัวนั่นนะ มันก็ต้องไม่ใช่ดอกบัวในหนอง ไม่ใช่ไปเกิดในดอกบัวในหนอง
นายเป็งฮั้ว : ครับ เกิดในดอกบัว
ท่านพุทธทาส : ดอกบัวนี่คือแสงสว่างในใจ ความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของความรู้ ของความตื่นจากหลับ ตื่นนอนนะ แล้วก็เบิกบาน เบิกบานเหมือนดอกบัว เกิดในดอกบัวใช้ได้ ขอให้ทุกคนพยายามเกิดในดอกบัว แต่ว่าดอกบัวของพระพุทธเจ้านะไม่ใช่ดอกบัวในหนองนะ ไอ้รูปภาพสุขาวดีมันดอกบัวในหนอง แถมมีเขียนเต่าเขียนเขียดไว้ด้วย ในภาพสุขาวดีนะ ดอกบัวในหนองมันใช้ไม่ได้ ทีนี้เรามันเกิดอยู่ทุกคราวที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียง แล้วเรามันโง่ไป นี่ต้องใช้คำนี้ด้วย ขณะนั้นเรามันโง่ไป เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูได้ยินเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น ขณะนั้นเรามันก็โง่ไป อย่างนี้เราหวังได้แล้ว ไอ้วิญญาณนั้นจะปฏิสนธิ จะทำหน้าที่ปฏิสนธินะ เดี๋ยวเกิดตัวกู แป๊บเดียวเกิดตัวกูนะ ปฏิสนธิวิญญาณอยู่ที่นี่ ถ้ามีเกิดใหม่อย่างนี้ ฉะนั้นเอาชนะเสียให้ได้ มันก็เป็นเรื่องอย่างขงจื๊อว่า ต้องทำให้เกิดก่อนเข้าโลง เป็นเรื่องที่ต้องทำให้เกิดก่อนเข้าโลง คือว่าถ้าเอาภพเอาชาติทางร่างกาย ก็ชาตินี้ปัจจุบันนี้ทั้งนั้น แต่ถ้าชาติทางสติปัญญาแล้ว อู้, ชาติมันมาก ในวันหนึ่ง วันหนึ่งมันก็หลายชาติ โลกก็เหมือนกันวันหนึ่ง วันหนึ่งมันเกิดหลายโลกหลายชนิด โลกนี้โลกหน้ามันเป็นอย่างนี้ ในทางพุทธศาสนาอธิบายอย่างนี้ ไปดูได้ในพระคัมภีร์ โดยเฉพาะคัมภีร์ปยุตนิกายพูดเรื่องปฏิจจสมุปไว้อย่างนี้นะ ถ้าไม่ใช่อย่างนี้ให้ตัดคอเลย เอาไหม แต่ถ้าอย่างนี้คุณต้องเชื่อนะ ถ้ามันอย่างนี้จริงคุณต้องเชื่อนะ
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : เออ, ถ้าไม่อย่างนี้มาตัดคอ โอ๊ย, เรามันอ่านอยู่ตั้งเป็นปีๆ เห็นแต่อย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องโลกนี้โลกหน้า เรื่องปฏิสนธิวิญญาณ ตรัสอย่างนี้ทั้งนั้น
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : เดี๋ยวปฏิสนธิวิญญาณ เดี๋ยวก็ปฏิสนธิวิญญาณโดยอาศัยทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางอะไรบ้าง
นายเป็งฮั้ว : จะขอเรียน เรียนถามท่านนะครับ
ท่านพุทธทาส : ว่ายังไง
นายเป็งฮั้ว : ท่านนะ ได้กล่าวว่านะครับ ได้กล่าวถึงว่าผู้ที่หยุดกระแสได้ คือหยุดกระแสได้ในโลกนี้ แล้วก็เป็นพวกที่ไม่ต้องไปเกิดอีกนะครับ แต่ทีนี้มีอีกจำพวกหนึ่งนะครับ ซึ่งสัตว์ในจำพวกนี้นะหยุดกระแสไม่ได้ แล้วก็เป็นสัตว์ที่โง่นะครับ ในลักษณะที่พวกหยุดกระแสไม่ได้และเป็นสัตว์ที่โง่ ก็ยังไม่หมดเหตุหมดปัจจัย ฉะนั้นก็ขอเรียนถามพระคุณเจ้านะครับ ขอให้กล่าวถึงว่าในจำพวกที่หยุดกระแสไม่ได้ ในจำพวกที่ไม่หมดเหตุหมดปัจจัยเหล่านี้นะ จะไปเกิดอีกหรือเปล่าครับ
ท่านพุทธทาส : เกิดแล้วเกิดอีก เกิดแล้วเกิดอีก เกิดแล้วเกิดอีก อย่างที่พูดเมื่อตะกี้ คุณไม่ฟังนี่ จับได้แล้วคุณไม่ฟัง
นายเป็งฮั้ว : ครับ แต่นี้ระหว่างที่
ท่านพุทธทาส : คุณไม่ฟังนะ
นายเป็งฮั้ว : เกิดแล้วเกิดอีก เกิดแล้วเกิดอีกนะ ที่กำลังเกิดแล้วเกิดอีกนี่ตายไปเสีย เพราะร่างกายแตกดับไปเสีย แล้วการเกิดแล้วเกิดอีกอันนี้มันไปจบอยู่แค่ที่ตายไปหรือ
ท่านพุทธทาส : หลังจากทางโลก..
นายเป็งฮั้ว : ยังไม่จบ ยังไม่จบ ขอให้พระคุณเจ้ากรุณาได้อธิบายอีกสักนิดครับ
ท่านพุทธทาส : อือ, ไอ้ที่ว่ามันเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้เห็นแล้วว่าเห็นแล้วว่า ตายเกิด ตายเกิด ตายเกิด ตายเกิดนะ นี่คนที่เขาไม่ ไม่ ไม่รู้ ไม่ ไม่ ไม่มีปัญญา ยังมีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่ง มันเกิดแล้วเกิดอีก เกิดแล้วเกิดอีกวันหนึ่งหลายๆ หนกว่าจะเข้าโลง ทีนี้เราไม่ได้มีปัญหาว่าต่อตายแล้วนี่ มีปัญหาว่าเดี๋ยวนี้ยังเป็นทุกข์ จะต้องดับไอ้ความเกิด เกิด เกิด เกิด ตาย ตายที่นี่เสีย ปัญหามันอย่างนี้ เพราะว่าถ้า ถ้าสมมุติว่า เกิดมาอีกปัญหามันก็อย่างนี้อีกแหละ ใช่ไหม
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : ถ้าสมมุติว่าเกิด เกิดเข้าโลงแล้วเกิดอีก ปัญหามันก็อย่างเดียวกันนี้อีก
นายเป็งฮั้ว : อ้อ
ท่านพุทธทาส : อ้าว, เกิดอีก ปัญหามันอย่างนี้อีก ถ้าสมมุติว่ามันเกิดนะ
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : นี่เราพูดว่าถ้าสมมุติว่านะ ไม่ได้ยินว่ามันเกิดนะ ถ้าสมมติว่ามันเกิดอีกปัญหามันก็อย่างนี้อีก และมันก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปคิด คิดว่าเดี๋ยวนี้ปัญหาอย่างนี้จะทำลายเสียยังไง เพราะว่ามีตัวกูที่สำคัญผิด ตัวกูที่เกิดมาจากความสำคัญผิด มันเป็นความสำคัญผิดทั้งนั้น ไอ้ชาติหรือเกิดมานี่มันไม่ได้มีอย่างที่คิดแล้ว มันเป็นเพียงอย่างที่ว่านี้ เป็นเพียงเหตุปัจจัยอย่างที่ว่า แต่เรามันไม่ได้คิดอย่างนั้น เราเห็นว่ามีตัวฉันมีตัวกูเรื่อยไป นี่คุณจะต้องแล่นไปในวัฏสงสารไม่มีที่จบ ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีที่จบ เพราะเหตุนี้ ถ้าอยากจะสุดจะจบก็ต้องดูที่ตรงนี้ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงว่า ไม่ใช่ ไม่ใช่ต้นเงื่อนที่จะเอามาคิดเอามาพูด ถามอย่างคุณนี่ พระพุทธเจ้าจะตอบว่า ไม่ต้องพูด ไม่ต้องถาม ไม่ใช่ต้นเงื่อนที่จะนำไปปลูกประโยชน์ ให้มาคิดดูเถอะเดี๋ยวนี้ที่นี่มันมี มี มี มี มี มีความรู้สึกว่าเราขึ้นมาเพราะเหตุใด นี่ปัญหาที่ต้องคิด แล้วก็จะเห็นว่า อ้าว, เพราะมันมีไอ้นี่ มีตามีอย่างที่ว่านี่ ตากระทบรูปแล้วเกิดความรู้สึกว่าตัวฉัน ตัวฉันนี่ พอเห็นว่านี่มันเป็นเพียงอย่างนี้เท่านั้น มันไม่มีตัวตน ถ้าตัวตนต่อเข้าโลงแล้วมันจะเกิดยังไง ทำไอ้ความรู้สึกว่าตัวตนนี้ให้หมดเสีย มันก็เป็น เอ่อ, นิพพานทันที ทีนี้บางคนยังทำไม่ได้ มันต้องรอจนไอ้การ การเกิดตัวกู เกิดตัวกู เกิดตัวกู นี่อีกหลายๆ ครั้งมันก็ทำได้นี่ บางคนจะต้องรอทั้งเดือนทั้งปี มันก็เกิดตัวตนตัวกูนี่หลายร้อยหลายพันหลายหมื่นครั้ง ก็หลายหมื่นชาติอยู่แล้ว จะเอายังไงอีกนะ ยังไม่พออีกหรือ
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : มันหลายหมื่นชาติแล้วใน ๑ เดือน เพราะฉะนั้นอย่า อย่า อย่า อย่าไปทำ คืออย่าไปคิดสิ่งที่มันจะไปไม่มีที่สิ้นสุด ไม่จบ ไม่สิ้น มาพุทธ มา มาดูตรงที่ว่าพอเห็นตรงนี้แล้วมันจะเห็นว่าไม่มี ไม่มีคน คน คนที่ ที่ไม่ฉลาดมองไม่เห็น แต่คนที่ฉลาดมันจะมองเห็นว่าเดี๋ยวนี้มันไม่มี ไม่มีคน คุณมันไม่มีคนนี่ แล้วคุณจะตายได้ เกิดยังไงได้
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : ทีนี้ปัญหามันก็เลิกไปเอง มันหลบ มันหมดไปเอง ปัญหานั้นมัน มันสลายไปเอง พอเห็นว่าเดี๋ยวนี้มันก็ไม่มีคน ไม่มีฉัน ไม่มีตัวตน ไม่มีตัวตนที่ว่าจะเข้าโลงแล้วไปเกิดนั่นมันไม่มี ที่นั่งอยู่ตรงนี้มันยังไม่มีแล้วมันจะเข้าโลงไปเกิดได้ยังไง
นายเป็งฮั้ว : นั่น นั่นสิครับ นั่นก็ผู้สำเร็จแล้วครับ
ท่านพุทธทาส : นั่นความจริง ไม่ใช่ว่าผู้สำเร็จ ไม่สำเร็จ
นายเป็งฮั้ว : ทีนี้จะเรียนถามท่านก็ เรียนถามท่านโดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่สำเร็จ
ท่านพุทธทาส : อ้าว, ก็ความจริงมันมีอยู่อย่างนี้ ถ้าคนไม่สำเร็จก็หมายความว่าคนมันไปถือให้มันผิดจากความจริง อย่าไปเป็นคนโง่กับเขาเลย นี่มาเป็นคนรู้จริง ฉลาด มารู้จริงเสียที่นี่สิเดี๋ยวนี้สิ เพราะเดี๋ยวนี้มันไม่มีตัวฉัน
นายเป็งฮั้ว : ใช่ครับ ทีนี้อยากจะเรียนถามเฉพาะคนที่โง่นะครับ คนที่โง่
ท่านพุทธทาส : อ้าว, คุณอยากจะเป็นคนโง่หรือ หือ, คุณอยากจะเป็นคนโง่
นายเป็งฮั้ว : ครับ สมมติว่าอย่างนั้นละ ยอมรับว่าเป็นคนโง่ละครับ แต่ว่าคนโง่คนนี้นะ จะต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างไร
ท่านพุทธทาส : มันไม่มีคน ฟังไม่ถูก ไม่ถูกคำ ฟังไม่ถูกในคำที่ว่ามันไม่มีคน
นายเป็งฮั้ว : ครับ ไม่มีคน
ท่านพุทธทาส : ไอ้ที่คิดว่ามีคนและคิดว่าโง่นะมันว่าเอาเอง
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : มันว่าเอาเองด้วยความโง่นี่ ที่จริงมันไม่มีคน และไม่ ไม่มีคนโง่นี่ ฉะนั้นต้องเรียนรู้เรื่องไม่มีคน พุทธศาสนาสอนเรื่องไม่มีคน ไม่มีตัวตน ไม่มีไอ้ ไอ้ ไอ้ตัวกู ตัวตนนั่นแหละ ไม่มีวิญญาณที่เป็นตัวตน นี่มัน มัน มันเป็นความจริง เป็นความจริงอยู่ที่นี่ ถ้าไป ไป ไปรู้ผิดความจริงมันก็ไม่จริงขึ้นมาได้หรอก มันก็ไม่ใช่เรื่องจริงนะ ที่เขาคิดว่ามีตัวตนแล้วไปเกิด มันก็ไม่ใช่เรื่องจริงขึ้นมาได้ เพราะว่าเรื่องจริงมันไม่มีตัวตน ตลอดเวลานี่ตัวตนที่แท้จริงไม่มี มีแต่เพราะปัจจัยปรุงแต่ง ปัจจัยปรุงแต่ง ปัจจัยปรุงแต่ง จนเกิดความคิดมั่น สำคัญทีเดียวว่ามีตัวฉัน มีของฉัน ฉันจะไปเกิดอีก นี่มันว่าเอาเองนี่ พระพุทธเจ้าไม่รับผิดชอบ ไม่ต้องตอบ ฉะนั้นจึงว่าอย่าพูดเรื่องนั้น ไม่ใช่ต้นเงื่อนของไอ้ความดับทุกข์ ต้นเงื่อนฟังถูกไหม
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : ต้นเงื่อน ตั้งต้น ไอ้ที่ตั้งต้นนะ เขาเรียกต้นเงื่อน ไอ้พูดอย่างนั้นมันไม่เป็นต้นเงื่อนของการที่จะดับทุกข์ ฉะนั้นเรามาพูดเรื่องที่เป็นต้นเงื่อนของความดับทุกข์กันดีกว่า คือมาดูว่าที่มานั่งอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้นะมันคืออะไร ดูไป ดูไป อ้าว, มันไม่มีคน มันว่างที่นี่นะ มันอนัตตาที่นี่ มัน มัน มันเหลือแต่ว่างนี่ ไอ้ว่างนี่ วันก่อนเราเคยสัญญากันว่า ไอ้ว่างนี่ว่าเที่ยง ว่าสุข ว่าตัวตน จำได้ไหม
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : แล้วจะไปเอาอะไรต่อเข้าโลงแล้วนะ เอาที่นี่ไม่ดีกว่าหรือ พอว่างนี่มันก็เป็นเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนที่ควรจะพอใจ
นายเป็งฮั้ว : ขอเรียนถามท่านอีกนะครับ คือว่า สมมุติว่าเวลานี้นะมีคนไข้เป็นโรคไส้ติ่งอักเสบที่จะต้องผ่าตัดล่ะนะครับ หมอก็บอกว่า บอกกับคนไข้บอกว่า ถ้าเธอนะได้รับการผ่าตัดแล้วชีวิตของเธอจะต่อไปได้อีก แต่ว่าถ้าเธอไม่ได้รับการผ่าตัด ก็หมายความว่าไส้ติ่งอักเสบนั้นจะแตก หนองจะออกในท้อง แล้วก็ชีวิตจะหาไม่ อย่างนี้เราจะกล่าวกับคนที่ว่า ถ้าเธอยังไม่หยุดกระแสที่เป็นอิทัปปัจจยตานะครับ ต้อง ต้องมีสิ่งนี้แล้วเกิดเป็นสิ่งนั้น คือยังไม่หมดเหตุหมดปัจจัยอย่างนี้ละ เธอยังจะต้องเกิดอีก ถึงแม้ว่าร่างกายเธอจะแตกดับ เธอยังต้องเกิดอีก การกล่าวเช่นนี้นะ เปรียบเทียบเช่นนี้นะ จะเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ ขอประทาน
ท่านพุทธทาส : ถ้าว่าพูดถึงหลักธรรมะ ว่ามีตัวตนไปเกิดอีกนี่ เขาเรียกว่าสัสตทิฏฐิ มันมีอยู่ในจำพวกมิจฉาทิฏฐิ แต่นี้เราจะไม่คิดอย่างนั้น เรามองดูว่าถ้าไอ้อย่างนี้มันจะทำให้เขาสบายหรือว่าไม่กลัวตาย จะได้ไม่มีความทุกข์แล้วมันก็ถูกเหมือนกัน มันเป็นเพียงอุบาย
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : ที่เขาคิดอย่างนั้น นี่จะถามคุณสักหน่อยว่า ไส้ติ่งนะ อะไรมันเป็น ร่างกายมันเป็นหรือว่าคนมันเป็น
นายเป็งฮั้ว : ไส้ติ่งนะมันเป็น เอ่อ,
ท่านพุทธทาส : มันเป็นที่ร่างกายหรือว่าเป็นที่คน
นายเป็งฮั้ว : เป็นที่ร่างกายของคน
ท่านพุทธทาส : เป็นที่ร่างกายของคน นี่คนมันมาแต่ไหนละ คนมันมาแต่ความคิดว่ากูเป็นคน
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : ที่จริงไส้ติ่งมันเป็นที่ร่างกาย
นายเป็งฮั้ว : แต่ว่า
ท่านพุทธทาส : มันทำอะไรฉันไม่ได้ ทำก็ได้แต่ร่างกาย ทีนี้ร่างกายนี้ก็หมายถึงไอ้จิตใจด้วย ฉะนั้นมันก็มีความคิดนึกรู้สึกว่ามันควรจะผ่าเสีย ถ้ามันหายได้ก็ดี ถ้ามันหายไม่ได้มันต้องตายก็ไม่ ไม่ ไม่เดือดร้อนอะไร ถ้าเห็นธรรมะแล้วมันก็จะเป็นอย่างนี้ จะ จะ จะ จะหายหรือจะต้องตาย ก็ไม่ ก็ไม่ ไม่นั่นทั้งนั้นนะ คือว่ามัน มันเฉยอยู่ได้ ถึงคราวต้องตายนะ มัน มัน มันผ่าแล้วไม่หายมันก็ต้องตาย ถึงจะไปผ่ามันก็ต้องตาย ทีนี้ดีกว่านั้นอีก พระพุทธเจ้ามีสอนไว้อีก ใน ใน ใน ในสูตรชัดๆ เลยว่า ถ้าคนมันจะต้องตายเพราะโรคที่ร้ายกาจ แล้วจะต้อง จะแนะเขาว่าอย่างไรนี่ มันก็แนะเขาว่า อ่า, ถ้าเราไปเกิดอีก ถ้านะ ถ้านะไม่ใช่ยืนยันว่าต้องเกิดอีกนะ ถ้าเราไปเกิดอีก มันก็ต้องแก่เจ็บตายอีกแหละ เป็นไส้ติ่งอีกแหละ ฉะนั้นจงน้อมจิตของเธอไปในทางว่าดับไม่เหลือ ดับตัวกู ดับของกู ดับไอ้ว่ายเวียนนี้เสีย เขาเรียกว่าดับไม่เหลือ ดับไม่เหลือนี้คือนิพพานนะ นิ ไม่เหลือ พานะ แปลว่าไป คือดับ นิพพานแปลว่า ดับไม่เหลือ แต่ถ้าพูดอย่างนั้นเขาไม่เข้าใจ ก็เลยพูดว่าคุณจงคิดว่าถ้าเกิดอีกนี่ เราก็ต้องเป็นเด็กอีก เป็นหนุ่ม เป็นสาว เป็นแก่ เป็นเฒ่าอะไรอีก มันก็อย่างนี้อีกนะ เพราะฉะนั้นไหนๆ มันจะดับแล้วก็สมัครดับให้ไม่เหลือเสียเลยดีกว่า ถ้าพูดให้ง่ายก็ว่าไม่อยากเกิดอีกนั่นแหละ เพราะว่าถ้าเกิดมาอีกจะเป็นอย่างนี้อีก เป็นเทวดาก็ต้องเป็นอย่างนี้ ทีนี้เขาก็น้อมใจ ไม่ต้องรู้อะไรมาก น้อมใจสมัครใจ อ้าว, สมัครดับไม่เหลือ อย่างนี้ดีกว่า มันง่ายและมันทันต่อเวลา ทีนี้ถ้าหากว่าคนเขามัน มัน มัน มันสบายไม่มาก มันเจ็บไม่มาก มันยังไม่ทันจะตายนี่ เขาก็ให้ร่ายไปโน่น ว่าคุณเป็นทุกข์เพราะอะไร เพราะลูกเพราะเมีย เพราะว่าไปนึกถึงไอ้โลกหน้าโลกสวรรค์ดีกว่า มันยังดีกว่า ไอ้คนจะตายก็ อ้าว, ทีนี้ เดี๋ยวนี้พอใจสวรรค์ แล้วก็เรียกว่า โอ้, สวรรค์มันก็อย่างเดียวกันอีก พรหมดีกว่า เป็นเทวดาอย่างมีกามาวจร กามาวจรนี่ ยัง ยัง ยัง ยังวุ่นวายมาก ยังบ้ามาก เป็นพรหมดีกว่า ไอ้คนเจ็บนั้นมันก็ อ้าว, คิดแล้ว อ้าว, สมัครเป็นพรหม คือบอกว่าแม้เป็นพรหมมันก็ยังมีตัวกู มีของกูแบบหนึ่ง คุณน้อมไปเพื่อความดับไม่มีเหลือดีกว่า
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : คนเจ็บนั้นก็น้อมไปดับไม่มีเหลือ นี่เขาก็ต้องดับไปด้วยความดับไม่มีเหลือ ไม่ต้องพูดถึงการเกิดอีก เพราะเขาสมัครจริงๆ เขาเห็นว่าเกิดเป็นคนก็ไม่ไหว เกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ก็ไม่ไหว เป็นพรหมในพรหมโลกก็ไม่ไหว พอกันที หยุดกันที แต่วันนี้มันทำได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้โดยไม่ต้องเจ็บ หรือโดยยังไม่ต้องเจ็บไข้จนต้องตาย เราเป็นๆ นี่ เราคิดว่าเราเป็นๆ อยู่นี่ มันก็เจ็บอยู่แล้วนี่ เจ็บอยู่ด้วยกิเลสนะ ใช่ไหม
นายเป็งฮั้ว : ครับ
ท่านพุทธทาส : นี่ดี๋ยวคุณก็เจ็บ เป็นคนเจ็บ ไม่ ไม่ ไม่รับหรือ
นายเป็งฮั้ว : รับครับ
ท่านพุทธทาส : เออ, คุณก็เป็นคนเจ็บ เจ็บอยู่ในโลกกิเลส ฉะนั้นก็รีบคิดสิ รีบคิดอย่างที่ว่านี่ เป็น เกิดเป็นอะไรก็ไม่ไหว โอ๊ย, เป็นเถ้าแก่ก็ไม่ไหว เป็นลูกจ้างก็ไม่ไหว เป็นไอ้ สมัครไม่เป็นอะไรแต่เดี๋ยวนี้ นี่จิตว่าง ว่างไม่เป็นอะไร นี่สุขาวดีมาปั๊บเลย สุขาวดีอย่างที่เราพูดกันวันก่อนนะ มาปั๊บเลย พอ พอไม่คิดจะเป็นอะไร มันก็ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย เป็นอมิตายุ เดี๋ยวนี้ที่นี่ทันทีนี้มันได้กำไรมาก ถ้าพูดกันในการค้าแล้วมันได้กำไรมาก ที่มีสุขาวดีเดี๋ยวนี้ง่ายๆ เร็วๆ โดยไม่ต้องลงทุนอะไร นอกจากดูนิดเดียว ว้า, เกิดเป็นอะไรไม่ไหวทั้งนั้น เพราะฉะนั้นทุกๆ คนฟังให้ดีเถอะ เมื่อจะต้องทำหน้าที่ของอะไรก็อย่าได้ยึดถือว่าเราทำหน้าที่อันนั้น เดี๋ยวมันจะเกิดเป็นนั้นนะ จะเกิดเป็นสิ่งนั้นนะ เมื่อเราทำหน้าที่ของแม่ ก็อย่าสำคัญว่าเป็นแม่นะ ก็เมื่อเราทำหน้าที่ของพ่อ ก็อย่าสำคัญว่าเป็นพ่อนะ มันจะเกิดเป็นแม่เป็นพ่อด้วยมันตายเลย มัน มัน มัน มันเหลือทนนะ มัน มันแย่ ทำใจคอให้ปกติ รู้แต่ว่าหน้าที่อย่างไรทำอย่างไรก็ทำไป เป็นพ่อก็พ่อโดยสมมุติ เป็นแม่ก็แม่โดยสมมุติ เป็นนายก็นายโดยสมมุติ ลูกจ้างก็ลูกจ้างโดยสมมุติ คือว่าอย่าได้เกิดความร้อนใจขึ้นมาเป็นอันขาด นี่เราก็เรียกว่าไม่ตายด้วย และก็อยู่ด้วยความผาสุกสบายด้วย ไม่มีเดือดร้อน ความทุกข์เกิดเพราะยึดมั่น ยึดมั่นว่าเป็นชาย ยึดมั่นว่าเป็นหญิง ยึดมั่นว่าเป็นนาย เป็นบ่าว เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นเศรษฐี เป็นขอทาน เป็นผู้แพ้ เป็นผู้ชนะ โอ๊ย, มากมาย ถ้าไปรู้สึกอย่างนั้นนั่นนะคือเกิด แล้วก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น ไม่ว่าง พอว่างแล้วไม่รู้สึกมีตัวฉันอย่างนั้น แต่ว่าร่างกายนี้มันอยู่ในสภาพอย่างไรก็ทำด้วยสติปัญญา อย่าว่ามีตัวฉัน ที่ว่ามีตัวฉัน ฉันพูด ฉันทำ ฉันคิด เหมือนพระองค์นั้นแล้วก็ต้องมีความทุกข์นะ พระพุทธเจ้าถึงว่าปฏิเสธหมดเลย ที่ว่าไม่มีตัวตนก็หมายความอย่างนี้ แล้วก็มันไม่มีความทุกข์ได้ เพราะมันไม่มีตัวตนจะทุกข์ พอแล้วเหนื่อยแล้ว ไว้ถามทีหลังอีก
นายเป็งฮั้ว : สักนิดเถอะครับ
ท่านพุทธทาส : ไม่เอาแล้ว
นายเป็งฮั้ว : ขอๆ อีกสักนิดเถอะครับ
ท่านพุทธทาส : ไว้คืนนี้ก็ได้
นายเป็งฮั้ว : อ้าว, คืนนี้เหรอ ครับๆ
ท่านพุทธทาส : จะได้พูดนานหน่อย
นายเป็งฮั้ว : ขอบพระคุณครับ
ท่านพุทธทาส : โน่นแขกเขามาคอยคุณเอาเปรียบคนทั้งหลาย ไม่ให้คนอื่นพูดเลย
ท่านพุทธทาส : พระเจ้า เพราะว่าเมื่อเกิดนี้ก็เกิดไม่ใช่ว่าเกิดกลางดิน ที่นั่งอยู่ที่นี่ใครเกิดกลางดินยกมือซิ ใครเกิดกลางดินบ้างที่นั่งอยู่ที่นี่ทั้งหมด ไม่มี พระพุทธเจ้าประสูติกลางดิน ฉะนั้นเราดีกว่าพระพุทธเจ้า ดังนั้นลองนั่งกลางทรายลดเสียบ้าง เพื่อจะลดความเห็นแก่ตัว ลดทิฐิมานะ ความถือตัว เพราะฉะนั้นนั่งกลางทรายนี่มันลดทิฐิมานะได้กว่านั่งบนเสื่อ เพราะฉะนั้นจึงถือว่านั่งที่ทรายได้บุญมากกว่านั่งบนเสื่อ มันเหมือนพระพุทธเจ้ามากกว่า มันก็เป็น เอ่อ, การช่วย การช่วยให้รู้ความจริง ลองนั่งบนทรายสิจะรู้ความจริงยิ่งกว่านั่งบนเสื่อ ถอดรองเท้าเสียเดินบนนี้สิจะรู้ความจริง ว่ามันเป็นยังไง ย่องกะแย่ง กะย่องกะแย่ง ปวดเท้า ถ้าสวมรองเท้าเสียมันก็ไม่รู้ ไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้นคนที่นั่งบนทรายจะรู้ความจริงยิ่งกว่าคนนั่งบนเสื่อ เพียงเท่านี้ก็พอแล้ว เรียกว่าคนนั่งบนทรายได้บุญกว่าคนนั่งบนเสื่อ นี่ไม่ใช่พูดต้ม ต้มหมู เพราะเสื่อไม่พอ ไม่ใช่อย่างนั้น เสื่อยังมีอีกแยะไปเอามาสิ ยังมีอีกแยะนะ เสื่อนะ แต่บอกตามจริงว่านั่งบนทรายได้บุญกว่านั่งบนเสื่อ เพราะฉะนั้นจึงไม่เอาเสื่อมาปูให้มากนัก
นี่มาทำไมกันนะ
ผู้ฟัง : มาชมบารมีค่ะ
ท่านพุทธทาส : แล้วจะชมได้ยังไงล่ะ
ผู้ฟัง : ผมขอเรียนถามว่า ถ้าหากนั่งบนทรายแต่นั่งคุยกัน นั่งนินทากันโดยไม่ได้ฟังอะไรเลย กับนั่งบนเสื่ออย่างนี้ อย่างไหนจะ
ท่านพุทธทาส : ก็ยังบาปน้อยกว่านั่งนินทากันบนเสื่อ
ผู้ฟัง : ที่ท่านบอกว่าต้องพยายามทำตัวให้เหมือนกับพระพุทธเจ้านั้น ถ้าฉะนั้นก็ฆราวาสเวลาจะบวชก็ต้องแต่งงานก่อนสิครับ
ท่านพุทธทาส : ก็เกิด ก็ไม่ห้ามนี่ ก็ไม่ได้ห้ามนี่ ถ้าไม่ต้องการเรียนลัดก็ทำอย่างนั้นสิ
ผู้ฟัง : แล้วอย่าง อย่างบวชโดยแต่งงานก่อนกับบวชโดยก่อนที่จะแต่งงาน อย่างไหนจะได้บุญมากกว่า
ท่านพุทธทาส : นี่แน่ ไม่แน่เป็นคนๆ ไป ไอ้คนที่มันมีปัญญา ฉลาด ไม่ต้องไปลองไอ้ของอย่างนั้นก็ได้ ก็ถ้าไปตามธรรมดาก็ไปลองกันก่อนก็ได้ ถ้าไม่เรียนลัด ครั้งพุทธกาลก็มี ก็ไม่ได้แต่งงานไปบวชเป็นพระอรหันต์ก็มีเหมือนกัน มันก็ไปเร็วๆ นี้ไปตามธรรมดาก็ ก็ได้ นี่จะบอกให้ฟังว่า ถ้าจะมา ถ้ามาสวนโมกข์ให้ได้ประโยชน์ ก็ต้องรู้จักสวนโมกข์ นี่ถ้าว่าจะมาชมบารมีมันไม่รู้ว่าอะไร มัน มัน มัน มัน มัน มันไม่รู้ว่าอะไร ถ้ามาสวนโมกข์นี้ให้รู้จักสวนโมกข์สิ ถึงจะได้ประโยชน์ เดี๋ยวนี้รู้สึกสบายใจหรือเปล่า ถามก่อน
ผู้ฟัง : ตอนนี้หรือคะ
ท่านพุทธทาส : ตอนนี้เวลานี้เดี๋ยวนี้รู้สึกสบายใจหรือเปล่า
ผู้ฟัง : สบายใจค่ะ ธรรมดา
ท่านพุทธทาส : อือ, เหมือนกับที่บ้านที่กรุงเทพฯ หือ, เหมือนกับที่บ้านที่กรุงเทพฯ เหรอ
ผู้ฟัง : สบายกว่าค่ะ
ท่านพุทธทาส : อือ, ไม่ใช่ว่าเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้ในหัวใจรู้สึกสบายหรือเปล่า
ผู้ฟัง : สบายค่ะ
ท่านพุทธทาส : อือ, แล้วที่กรุงเทพฯ อยู่ที่บ้านที่กรุงเทพฯ ก็สบายอย่างนี้หรือ
ผู้พัง : ไม่ค่ะ (น. 55.40)
ท่านพุทธทาส : อือ, ไอ้เวลาที่สบายที่บ้านนั้นมันก็ยังหนักๆ มีอะไรหนักๆ ที่นี่มันว่าง มันเบา มันโปร่ง มันเย็น มันสบาย ทีนี้เราก็อยากจะเอาความสบายอย่างนี้กลับไปที่บ้านไหม
ผู้ฟัง : อยากค่ะ
ท่านพุทธทาส : นั่นแหละ สบายใจอย่างนี้อยากเอาติดไปที่บ้านไหม
ผู้ฟัง : อยากค่ะ
ท่านพุทธทาส : ใครอยากนะ ยกมือซิ บางคนไม่อยาก ยกมือก็ไม่กี่คน นี่แสดงว่าไม่ต้องการ ไม่ต้องการไอ้ความสบายใจแบบนี้เอาไปบ้าน ถ้าใครอยากเอาความสบายใจแบบนี้ไปบ้าน ก็ต้องคิดต่อไปอีกว่า เมื่อนั่งอยู่ที่ตรงนี้ทำไมจึงสบายใจ ใครคิดออก เพราะเหตุใดนั่งอยู่ตรงนี้มันจึงสบายใจ
ผู้ฟัง : (น. 56.40)
ท่านพุทธทาส : อ้าว, คนอื่นอีก คนอื่นอีก คนอื่นอีก คนอื่นว่าที คนอื่นว่าต่อไปอีก เพราะเหตุใดนั่งอยู่ตรงนี้จึงสบายใจ
ผู้ฟัง : (น. 56.45)
ท่านพุทธทาส : อ้าว, คุณลองทำอะไรที่ตรงนี้ดูซิ จะ จะ จะเป็นทุกข์ไหม เอ่อ, ก็มาทำงานอยู่ตรงนี้ ทำนี่เหมือนที่บ้านจะเป็นทุกข์ไหม
ผู้ฟัง : (น. 57.13)
ท่านพุทธทาส : เขาควรจะมองให้ลึกทีเดียวไปเลยว่า เพราะว่าที่นี่ไม่มีอะไรเป็นของเรา นี่ตรงนี้ต้องฟังให้ดีหน่อยว่า เพราะที่นี่ไม่มีอะไรเป็นของเรา เราหมายถึงคุณนั่นแหละ พวกคุณนั่นแหละ ที่นี่ไม่มีอะไรเป็นของกู ไปที่บ้านมันล้วนแต่มีอะไรเป็นของกู อยู่ที่บ้านมันมีอะไรเป็นของกูเต็มไปหมด เดี๋ยวนี้จิตกำลังไม่มีอะไรเป็นของกู เมื่อนั่งอยู่ที่นี่ เมื่อจิตที่มีอะไรเป็นของกู มันก็หนัก มันก็ร้อน มันก็ไม่เย็นนะ พอไม่มีอะไรเป็นของกู มันเป็นอย่างนี้ กำลังที่สบายอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวนี้ลืมหมดว่าบ้านช่องของกูก็ลืม แม้แต่ชีวิตร่างกายนี้ก็ลืมว่าเป็นตัว ว่าเป็นของกูด้วย นั่งอยู่ที่นี่กำลังไม่ ไม่ได้รู้สึกว่าไอ้ร่างกายนี้ก็ของกู ชีวิตของกูก็ไม่ได้นึกถึง มันหมดของกู หมดตัวกู แม้กระทั่งชีวิตก็ไม่ได้นึกถึง เพราะฉะนั้นจึงสบาย สบายเหมือนที่กำลังรู้สึกอยู่นี่ นี่ก็กลับไปบ้านก็เอาไปสิ ไปถึงบ้านก็อย่ามีอะไรเป็นของกูสิ ไม่เอาอีก กลัวๆ มันทำได้เหมือนที่นี่ เหมือนที่นี่ เราอย่าไปยึดถือว่าเป็นของกู เหมือนเราไปทำงานให้คนอื่นเสียก็แล้วกัน ไปที่บ้านกลับไปบ้านทีนี้เหมือนกับไปบ้านคนอื่น ทำงานให้คนอื่น กินข้าวของคนอื่น อะไรก็ของคนอื่น อย่า อย่าเป็นของกู เพียงเท่านี้ก็สบายเยอะแล้ว คล้ายๆ ที่นี่ นี่มาที่นี่มาเพื่อเรียนด้วยของจริง ด้วยจิตใจจริงๆ ว่า ถ้าเมื่อใดไม่มีตัวกู ไม่มีของกู เมื่อนั้นมีความสุขอย่างยิ่ง เหมือนเรานอนหลับนี่ เรามีความสุขสบาย เพราะว่าเมื่อหลับแล้วมันไม่มีตัวกูของกู แต่บางทีมันก็หลับไม่ได้ มันฝันเป็นของกูตัวกูอยู่ อยู่ในส่วนลึก ตื่นมาก็อ่อนเพลีย จิตที่ไม่มีตัวกู มีของกู นั้นสบายที่สุด มาหัดกันที่นี่แล้วพากลับไปบ้าน นั่งอยู่ที่นี่ต้นไม้มันช่วยดึงความคิดไปเสียไม่ให้เป็นตัวกูของกู ธรรมชาติทั้งหลายมันก็เป็นอย่างนี้ มันไม่ให้เกิดความคิดว่าเป็นตัวกูของกู ลืมตัวกูของกูเลยสบาย พอไปถึงที่บ้านก็พยายามดูเสียใหม่ สมบัติข้าวของเงินทองการงานภาระอะไรต่างๆ ดูเสียใหม่ อย่าให้มันเป็นของกู แล้วก็ทำไป โดยที่ไม่ต้องเป็นของกู สมมุติว่าคุณจะตักน้ำตำข้าวผ่าฟืนที่นี่ มันก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะมันไม่ใช่ของกู แต่เมื่อไปตักน้ำตำข้าวผ่าฟืนชนิดที่เป็นของกูจริงๆ มันจึงจะเป็นทุกข์ แล้วไปยึดมั่นมากเกินไป ฉะนั้นเรามีจิตใจอย่างนี้แล้วก็ทำงานสนุก พอมีตัวกู ของกูมันก็เป็นทุกข์ทรมาน ฝืนทำ ฝืนทำ ไม่สนุก ฉะนั้นเอาไอ้ เอาความยึดถือที่เยอะแยะ เยอะแยะทิ้ง ทิ้งไว้ที่นี่บ้าง อย่าเอากลับไปกรุงเทพฯ ทั้งหมด ที่นี่เป็นที่ปล่อยความโง่ ยอมรับเอาไว้ ใครมีกิเลส ใครมีความยึดถือ ใครมีความโง่ ขอให้ช่วยทิ้งไว้ที่นี่ กลับไปให้ฉลาดกว่าเดิม ให้เบาสบายกว่าเดิม ได้ประโยชน์ได้ผลของการมาถึงที่นี่ เรียกว่า โมกขะ แปลว่าหลุดพ้นรอดตัวไปได้ ป่าไม้ก็ตามอะไรก็ตามที่จัดขึ้นไว้นี่ก็เพื่อให้คนสะดวกในการที่จะเกิดความรู้สึกเรื่องไม่มีตัวกูของกู แล้วจิตใจน้อมไปในทางที่ไม่อยากจะมีตัวกูของกู มีแต่ของธรรมชาติ ยืมกินยืมใช้ไปอย่างนั้น จะทำอะไรก็ได้ จะมีบุตรภรรยาสามีก็ได้ หรือยืมของธรรมชาติ อย่ายึดมั่นว่าเป็นตัวกูของกูให้มากนัก ไปเรียนในที่อย่างอื่นมันเรียนยาก ต้องมาเรียนในที่อย่างนี้ แล้วก็ให้คล้ายพระพุทธเจ้า เกิดกลางดิน นิพ เออ, ตรัสรู้กลางดิน นิพพานกลางดินนี่ นั่ง นั่ง นั่ง นั่ง นั่งดื่มไอ้ความว่างนะ พอมาถึงนี่ไม่มีตัวกูของกู พักหนึ่งก็ว่าง ว่างก็นั่งดื่มรสของความว่างให้ ให้ ให้ชัด เมื่อกลับ กลับไปบ้านมันจะได้ติดไปด้วย ไอ้รสของความว่างมันจะได้ติดไปด้วย อย่างนี้ได้กำไรเหลือหลาย ได้นิพพานชิมลอง นิพพานตัวอย่างกลับไปบ้าน ยิ่งกว่าบุญกุศลเสียอีก พอจิตว่างจากตัวกู นิพพานก็ปรากฏชิมลองให้เห็น พอตัวกูกลับมานิพพานก็หนีหายไป ไอ้ความทุกข์ก็เข้ามาแทนที่
ดังนั้นไหนๆ มาพูดแล้ว ก็อธิบายให้ฟังเสียเลยว่า เดินไปที่ตรงโน้นจะเห็นสระน้ำสระหนึ่ง มีต้นมะพร้าวต้นหนึ่งอยู่กลางสระ ให้เข้าใจว่าเราจะต้องอยู่กันอย่างนั้น ต้นมะพร้าวนั้นหมายถึงนิพพาน ไอ้น้ำในสระนั้นหมายถึงไอ้วัฏสงสาร นิพพานมันจะต้องพบวัฏสงสาร อย่าเอาไปไว้คนละฝ่าย ว่ามีความทุกข์ที่ตรงไหนก็ต้องดับทุกข์ที่ตรงนั้น เดี๋ยวนี้เอาไปไว้เสียคนละทิศคนละทางคนละฝ่าย ให้จำไว้ ให้ถือเสียใหม่ว่าความทุกข์อยู่ที่ตรงไหน ต้องดับทุกข์ที่ตรงนั้น แล้วก็จะเป็นนิพพานที่ตรงนั้น ตัวกูเกิดที่ตรงไหนก็ดับตัวกูเสียที่ตรงนั้น มันก็จะเป็นสุข คือไม่ทุกข์ที่ตรงนั้น นี่พิสูจน์เลยเดี๋ยวนี้ตัวกูกำลังไม่ ไม่เกิดอยู่ในใจ ใจจึงสบาย เยือกเย็น สะอาด สว่าง สงบอย่างที่ว่าเมื่อตะกี้ รู้สึกสบาย ดังนั้นมาที่นี่ก็ต้องได้อะไรที่แปลกกว่าที่อื่น อย่างน้อยก็ได้นั่งกลางทรายแปลกกว่าที่อื่น แล้วก็เป็นต้นเงื่อน ต้น ข้อคิด เป็นต้นเงื่อนสำหรับคิดต่อไปในทางที่จะปลดเปลื้องตัวกูของกูไปทุกอย่างทุกทาง ก้อนหินพูดได้ ต้นไม้พูดได้ แต่คุณไม่ได้ยิน พูดว่าให้ ให้ ให้เอาตัวอย่าง ให้เอาอย่างฉัน ก้อนหินนี่มันพูดว่าให้เอาอย่างฉัน คืออย่าร้อน อย่ามีตัวกูของกูให้มาก ให้มันเย็น ต้นไม้ก็พูดอย่างนั้น อยู่นิ่งๆ อย่า อย่ากระวนกระวาย อยู่นิ่งๆ อยู่อย่างต้นไม้ให้มันเย็นๆ นิ่งๆ ไม่มีตัวกูของกู
ผู้ฟัง : (น. 57.00)
ท่านพุทธทาส : จิตใจมันนิ่ง ร่างกายมันจะเคลื่อนไหวแต่จิตใจมันนิ่ง จิตใจยิ่งนิ่งยิ่งฉลาดยิ่งว่องไว อ้าว, ก็ต้อง ก็ต้อง ก็ต้องเร่งด้วยความนิ่ง ไอ้ความไม่นิ่งนะ คือหมายถึงความโลภ ความโกรธ ความหลง ความกลัว ความวิตกกังวล นี่เรียกว่าไม่นิ่ง นี่เราเอานี่ออกไปเสีย ก็เรียกว่ามันนิ่ง ที่ทำงานด้วยความนิ่ง ด้วยจิตที่มัน ที่มันว่าง ที่มันนิ่ง จิตที่ไม่วุ่นวาย อย่าไปทำงานแข่งกับคนอื่นด้วยจิตที่วุ่นวายจะแพ้เขา ให้ทำงานด้วยจิตที่เหนือกว่า ที่ฉลาดกว่า ที่สงบกว่า ที่เยือกเย็นกว่า ที่ปลอดโปร่งกว่า ไอ้วิธีเดิมๆ นะใช้ไม่ได้นะ ที่ทำด้วยจิตใจที่กระวนกระวาย กระหืดกระหอบ ทะเยอทะยานนั้น มันจะตกนรกทั้งเป็น ทำด้วยจิตใจที่สงบแล้วก็จะได้ผลดี แล้วก็ไม่ต้องร้อน แล้วก็ชนะด้วย จะทำงานหรือว่าจะต่อสู้จะ จะรบราต่อสู้ด้วยกันก็ต้องทำด้วยจิตใจที่นิ่ง คำพูดมี ๒ ความหมาย ความหมายธรรมดาอย่างหนึ่ง ความหมายพิเศษอย่างหนึ่ง
เอาล่ะทีนี้ที่ว่าจะไปชมสวนโมกข์ ก็ ก็เชิญได้ ไปที่ในตึกนี้ ดูพวกภาพเขียนภาพปั้นรอบๆ ล้วนแต่สอนเรื่องความว่าง ไปที่สระที่ทางโน้นก็สอนเรื่องความว่าง ไปบนภูเขาก็ยิ่งสอนเรื่องความว่าง