แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำบรรยายเกี่ยวกับธรรมฑูตต่างประเทศในครั้งที่ ๒ นี้ ผมอยากจะกล่าวโดยหัวข้อว่า
การทำจิตให้ยิ่งนั่นแหละคือพุทธศาสนา ครั้งนี้มีความตั้งใจที่จะพูดกันถึงเรื่องที่เป็นเรื่องนำเรื่อง ของสิ่งที่เรียกว่า สมาธิภาวนา ให้เป็นที่เข้าใจกันพอสมควรเสียก่อน จึงจะได้กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า สมาธิภาวนา โดยตรง ดังนั้นเราจะเสียเวลากันอีกครั้งหนึ่งเพื่อพูดถึงในเรื่องเบื้องต้นของเรื่องนั้น การทำจิตให้ยิ่งนั่นแหละคือตัวพุทธศาสนา ซึ่งถ้าเป็นภาษาบาลีก็มีชัดอยู่แล้วว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ. ถึงอย่างไรก็ต้องแปลว่า การทำจิตให้ยิ่งนั่นเป็นตัวพุทธศาสนา บทประกอบอื่นๆ นอกนั้นมันเป็นบทประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง คือเป็นอยู่ให้ถูกต้องเรื่องกินเรื่องอยู่ เรื่องพูดเรื่องจา เรื่องอะไรต่างๆ แล้วก็มาสรุปคำท้ายสุดว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ. ผมขอเสนอแนะข้อนี้ในฐานะเป็นหัวข้อของเรื่องทั้งหมดว่า การทำจิตให้เป็นจิตยิ่งนั่นแหละคือตัวพุทธศาสนาแท้ และเป็นตัวพุทธศาสนาที่จะต้องเผยแผ่สำหรับพวกธรรมฑูต
เมื่อพูดถึงคำว่า ตัวพุทธศาสนาแท้ ก็ทำให้นึกไปถึงหลักธรรมะอื่นๆ อีกหลายอย่าง ถึงแม้
ในโอวาทปาฏิโมกข์นั่นเองก็ได้เอ่ยถึง คำว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ ฯ นี้ขึ้นมาก่อน ไม่ทำบาปทุกอย่าง ทำกุศลให้ถึงพร้อม ทำจิตให้ขาวรอบ นี้เป็นตัวพุทธศาสนา เรื่องไม่ทำบาป เรื่องทำกุศลให้ถึงพร้อมนั้นมันเป็นเรื่องเบื้องต้น เพื่อจะสนับสนุนในข้อสุดท้ายที่ว่าทำจิตให้ขาวรอบ เพราะทำจิตให้ขาวรอบแล้วมันก็ทำบาปไม่ได้ มันเป็นกุศลที่ถึงพร้อมอยู่ในตัว นั้นใน ๓ อย่างนั้นมันก็เหลือเพียงอย่างเดียวคือทำจิตให้ขาวรอบ การทำจิตให้ขาวรอบจึงเป็นตัวแท้ของพุทธศาสนา แม้ว่าเราจะตัดเอามาแต่เพียงว่า สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ ฯ อย่างนี้ก็ไม่เสียหลักเกณฑ์อะไร เพราะถ้าทำจิตให้ขาวรอบได้มันก็เป็นอันว่าไม่มีการทำบาป และเป็นกุศลอยู่ในตัว และอยู่เหนือบุญ - เหนือบาปอยู่แล้วในตัว
ที่บางคนอาจจะนึกไปถึงว่าหัวใจพุทธศาสนายังมีอย่างอื่น เช่น คาถาพระอัสสชิที่ว่าธรรม
เหล่าใดเป็น เอ่อ ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด พระพุทธเจ้าท่านตรัสเหตุแห่งธรรมนั้นและความดับแห่งธรรมนั้น นี้มันเป็นเพียงแต่บอกว่าท่านตรัสเรื่องอะไรก็ยังไม่ได้ชัดเจนลงไปนัก แต่ว่าตรัสเรื่องการเกิดขึ้นและดับไปแห่งสิ่งที่มีเหตุ นี้มันตรัสแต่ในเรื่องของปัญญาซึ่งเป็นจิตที่ยิ่งอยู่แล้ว คนจะมองเห็นข้อเท็จจริงข้อนี้ก็เฉพาะด้วย จิตยิ่ง เท่านั้น หรือว่า จิตยิ่ง แล้วจึงจะเห็นข้อเท็จจริงข้อนี้มันก็เท่ากัน นั้นจึงไม่แสดงการปฏิบัติโดยตรง เป็นแสดงแต่หลักกว้างๆ เพื่อจะบอกให้รู้ว่าพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาแห่งเหตุ – ผล ไม่งมงาย นี้ยิ่งไปถึงไอ้ประโยคที่ว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น มันก็ยิ่งเป็นหัวใจของพุทธศาสนาที่รัดกุมยิ่งขึ้นไปอีก ขอให้ถือเอา ความไม่ยึดมั่น ถือมั่น เป็นหลักทั้งในการเรียนให้รู้ และการประพฤติปฏิบัติ และกระทั่งการได้ผลในการปฏิบัติ ก็หมายความว่าไอ้จิตนี้มันรู้เรื่องนี้ดี ทั้งในแง่ของความรู้ของการปฏิบัติและการได้ผลของการปฏิบัติ ทีนี้ การทำจิตให้ไม่ยึดมั่น ถือมั่นนั่นแหละคือการทำจิตให้ยิ่ง จิตที่ไม่ยึดมั่น ถือมั่น แล้วเป็น จิตที่ยิ่ง สูงสุดกว่าความยิ่งชนิดไหนหมด นี้อาศัยเหตุผลเหล่านี้ผมจึงขอเสนอว่าให้ยึดถือหลักคำว่า ทำจิตให้ยิ่ง นี้เป็นตัวพุทธศาสนาที่จะต้องเผยแผ่ เป็นตัวพุทธศาสนาที่จะต้องประพฤติ ปฏิบัติให้ได้ก่อนแล้วจึงมีการเผยแผ่ออกไป โดยเหตุที่มันเป็นพุทธศาสนาที่ต้องรู้ก่อนการเผยแผ่นั้นจึงเอามาพูดในที่นี้
ทีนี้ก็จะพูดถึงคำว่า จิตยิ่ง ให้มันละเอียดออกไป คำว่า ทำจิตให้ยิ่ง หรือว่า ทำจิตให้เป็น
จิตยิ่ง นี้มันมีความหมายกว้างมาก ถ้าถือเอาแต่ภาษาถ้อยคำๆ นี้เป็นหลักมันก็กว้างมาก ต่อเมื่อถือเอาแต่ตามหลักของพุทธศาสนามันจึงจะแคบเข้ามา นั้นคำว่า ทำจิตให้ยิ่ง นั้นที่กินความกว้างไปถึง วัฒนธรรมทางจิต ทั้งหมด ดังที่เราได้พูดกันแล้วอย่างยืดยาวในครั้งที่แล้วมา การทำจิตให้ยิ่ง เป็นสิ่งที่มนุษย์ได้เริ่มรู้จักมาแล้วและรู้จักมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล มันยิ่งขึ้นมาตามลำดับแต่ไม่ถึงระดับสูงสุด ซึ่งมันถึงระดับสูงสุดในยุคที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้น ข้อนี้อยากจะให้สังเกตตัวอย่างในเรื่อง นิพพาน เพราะคนได้ค้นคว้าเรื่อง ความเย็นของจิต คือสิ่งที่เรียกว่า นิพพาน นั้นน่ะมาแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาล คำว่า นิพพาน แปลว่าเย็น เป็นเรื่องของวัตถุก็ได้ เป็นเรื่องของสัตว์เดรัจฉานก็ได้ เป็นเรื่องของมนุษย์ก็ได้ นี้เย็นของมนุษย์มันก็มีทั้ง เย็นกาย และ เย็นใจ เย็นกาย นี้ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องสูงสุดอะไร แต่เรื่อง เย็นใจ นั้นเป็นเรื่องที่ค้นคว้ากันมาก เริ่มต้นตั้งแต่คิดว่าถ้ามันได้ตามต้องการทุกอย่างแล้วก็เป็นเรื่องเย็นคือเป็นเรื่อง นิพพาน แล้วปรากฏว่าไม่ถูกต้องถึงที่สุด จึงค่อยๆ เปลี่ยนเป็นเรื่อง เอ่อ หยุดความต้องการ ทีแรกคิดว่าการได้ตามต้องการทุกอย่างเป็นเรื่องสูงสุดคือเป็นเรื่อง นิพพาน ต่อมาพบว่ามันกลับหลังกัน กลับตรงกันข้าม เป็นว่าต้องเป็นเรื่องหยุดความต้องการนั้นเสีย
นี้ไม่รู้ว่าจะหยุดมันได้อย่างไรก็ค้นไปๆ จนพบว่าบังคับจิตให้หยุดความอยากนั้นเสีย มันก็
พบในระดับเบื้องต้น คือเอาจิตไปคิดหรือไปรู้สึกอารมณ์อื่นเสีย ไม่ให้ความอยากมันมารบกวนจิต มันก็เป็นที่พอใจกันอยู่พักหนึ่งหรือยุคหนึ่ง คือยุคที่เรียกว่า เอาไอ้ความสุขที่เกิดจาก ฌาน หรือ สมาธิ นั้นว่าเป็น นิพพาน อย่างที่ปรากฏอยู่ในพรหมชาลสูตร เรื่องความเข้าใจผิดต่างๆ แล้วต่อมาก็ถูกพิสูจน์ว่ามันยังไม่เย็นถึงที่สุด จึง เอ่อ หาวิธีที่จะหยุดความอยากโดยวิธีอื่นคือว่าตัดรากเหง้าของมันเสีย นี่จึงมาถึงยุคที่ว่าจะทำลายกิเลสด้วยปัญญา แล้วก็แสวงขึ้นมาเรื่อยๆ จนสมบูรณ์ในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า นี่ลองเปรียบเทียบระดับต่างๆ ในตัวอย่างเหล่านี้ดู ว่าคนที่ออกไปเป็น วานปรัสถ์ อย่างที่กล่าวมาแล้วในการบรรยายครั้งที่แล้วนี้ มันๆ ค้นคว้าเรื่องทางจิตที่สูงขึ้นไปตามลำดับ ไปหลงเอาไอ้การได้อย่างใจ แม้เป็นเรื่องทางวัตถุ ทางเนื้อหนังคือกามารมณ์ ว่านี้เป็นเรื่องเย็นหรือสูงสุดของมนุษย์ ต่อมาก็เอา...พอเห็นว่าไม่ไหว ก็เลื่อนมาเป็นเรื่องจิตที่หยุดจากความหลงใหลในกามารมณ์นี่ จากการที่จิตในทำนองของสมถะหรือสมาธิ แล้วต่อมาก็พบว่าไม่พอ ไม่ถึงที่สุดจึงเลื่อนมาทางเรื่องของปัญญา ทีแรกตั้งต้นด้วยเรื่องทางกายคือเนื้อหนัง แล้วเลื่อนมาทางเรื่องจิต แล้วก็เลื่อนมาทางเรื่องปัญญา
นี่เรามีคำ ๓ คำที่จะถือเป็นหลักเพื่อสะดวกง่ายดายแก่การพูดจาแนะนำสั่งสอนว่า เรื่อง
ทางกาย เรื่องทางจิต เรื่องทางปัญญา เรื่องทางกาย – ทางวัตถุนี่เรียกว่าเรื่องทางฟิสิกส์ เรื่องทางจิตนี่คือเรื่องทาง mental เรื่องทางปัญญา – เรื่องทาง spiritual ที่ผมใช้คำว่าวิญญาณเพราะไม่รู้ว่าจะเอาไอ้คำไหนมาใช้ให้ๆ เป็นที่พอใจกว่าคำนี้ จึงมีเรื่องทางกาย เรื่องทางจิต เรื่องทางวิญญาณ ถ้าใครเข้าใจคำว่าวิญญาณนี้ผิด มันก็เข้าใจไม่ได้เหมือนกัน ถ้าเป็นเรื่องวิญญาณผีสางคือไปกันทางนู้นยิ่งผิดใหญ่เลย แม้แต่คำว่า Spiritualism เองของภาษาต่างประเทศนั้นมันก็หมายถึงผีสางก็ได้เหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้เขารู้กันแล้วว่า Spiritualism หรือ faculty อันนี้ไม่ได้หมายถึงเรื่องผีสาง หมายถึงเรื่องปัญญา ความคิด ความเห็น ในชั้นระดับ...ในระดับสูงสุด เช่น พูดว่าความสุขก็ความสุขทาง...ทางกาย ความสุขทางจิต ทาง mental แล้วความสุขทาง Spiritual คือต้องประกอบไปด้วยปัญญาสูงสุดเสมอ
นี่วิวัฒนาการในเรื่อง การทำจิตให้ยิ่ง นี้มันมีมาอย่างนี้เป็นหลักใหญ่ๆ มีตั้งแต่ที่มนุษย์
เริ่มรู้จักเรื่องที่สูงไปกว่าเรื่องปากเรื่องท้องคือเอียงมาในทางจิต ค่อยๆ ไกลออกไปจากเรื่องปากเรื่องท้อง เรื่องเนื้อเรื่องหนังมาเป็นเรื่องจิต มาเป็นเรื่องวิญญาณโดยสมบูรณ์ ก็ยอมรับว่ามีแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธศาสนา คือตั้งแต่วันแรกที่มนุษย์คนแรกแยกตัวจากสังคมไปเป็นวานปรัสถ์ ถ้าถือตามตัวหนังสืออย่างเถรตรงก็ยิ่งกว้างออกไป คือว่าจิตที่ได้รับการฝึกฝนอบรมบ้างแล้วก็เป็นจิตที่ยิ่งกว่าธรรมดาทั้งนั้น แม้เด็กเล็กๆ ได้รับการสั่งสอนอบรมให้รู้หนังสือหนังหา ให้รู้นั่นรู้นี่ก็เรียกว่าจิตมันยิ่งกว่าธรรมดาเหมือนกัน แต่เราไม่ได้หมายถึงเรื่องอย่างนี้ ก็หมายถึงเรื่องทางธรรมที่เกี่ยวกับวิชาความรู้เพื่อการดับทุกข์ทางจิตโดยตรง นี้ไอ้คุณสมบัติพื้นฐานของจิต เช่น เรียนหนังสือ หรือรู้จักคิด รู้จักนึก หรือว่าจำเก่ง หรือว่าอะไรเหล่านี้มันก็...มันเป็นของธรรมดาเกินไป จนกระทั่งจิตรู้จักเชื่อคำสั่งสอน เชื่อลัทธิคำสั่งสอน นี้ก็เรียกว่ามันเริ่มต้นที่จะมีความสูงในทางที่เกี่ยวศาสนา โดยถือว่าถ้ารู้จักเชื่อพระเจ้า หรือว่าเชื่อสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาไม่อาจจะรู้จักหรือเชื่อได้นี้ก็มันเป็นเรื่องที่จิตสูงขึ้นมาแล้ว แต่แล้วก็ยังไม่อยู่ในระดับที่เราต้องการสำหรับพุทธศาสนา เราต้องการให้มันสูงถึงขนาดที่ว่ามีๆ กำลังมีอำนาจประเภทสมาธิฝ่ายสมาธิ แล้วก็มีกำลังมีอำนาจฝ่ายปัญญา เช่น เรารู้จักกันดีว่าส่วนสมาธิหรือส่วนปัญญา หรืออีกทีหนึ่งว่าส่วนสมถะหรือส่วนวิปัสสนา ใช้คำว่าส่วนสมาธิกับส่วนปัญญานั้นดูจะดีกว่าเพราะเป็นคำที่แพร่หลายในพระบาลีในพุทธภาษิต ส่วนสมถะ – วิปัสสนานั้นไม่ค่อยจะมี แล้วถือว่าเป็นคำที่หลังชั้นหลัง
ทีนี้ก็มานึกถึงสิ่งที่เรียกว่า ไตรสิกขา ก็มี ศีล สมาธิ ปัญญา ในชั้นศีลนั้นไม่เกี่ยวกับจิต
โดยตรง แล้วมุ่งหมายให้เป็นเรื่องทางกาย ทางวาจา ที่ปรับปรุงดีแล้วสำหรับเป็นพื้นฐานที่ดีของจิตหรือของเรื่องที่เกี่ยวกับจิต เพราะมันจะเกี่ยวข้องกับเรื่องจิตก็เพียงเป็นพื้นฐานเท่านั้น เราต้องมีร่างกายที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดี ในทางฝ่ายร่างกายนี่ แล้วมันจะได้เป็นพื้นฐานสำหรับก้าวหน้าไปในเรื่องของจิต นั้นเอาศีลออกไปเสียก็ยังได้ ก็เหลือเรื่องสมาธิกับปัญญา เป็นเรื่องของจิตโดยตรง นี่ก็พิจารณาดูไอ้ จิตยิ่ง หรือ อธิจิต ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมาธิและเกี่ยวกับปัญญานั้นว่ามีอยู่อย่างไร
ในส่วนที่เป็นสมาธิ เราก็มีหลักอย่างที่ปรากฏอยู่แล้วในบาลีอันพูดถึงเรื่องนี้ เราไม่ต้องตั้ง
กฎเกณฑ์เอาใหม่ คือเอา ผลของสมาธิ นั่นแหละเป็นหลักเกณฑ์ จิตที่เป็นสมาธิประกอบอยู่ด้วยคุณสมบัติ ๓ อย่าง คือ บริสุทธิ์จากกิเลสที่รบกวน เรียกว่า ปริสุทฺโธ ตั้งมั่น แน่นแฟ้น แข็งแรง มีกำลังสูง นี่เราเรียกว่า สมาหิโต แล้วก็ว่องไวในหน้าที่ของจิตเองนั้น เรียกว่า กมฺมนีโย คำ ๓ คำนี้สำคัญมาก ขอให้จำไว้เป็นหลัก ที่พระพุทธเจ้าท่านจะตรัสถึงในเมื่อพูดถึงจิตที่อบรมดีแล้วในฝ่ายสมาธิ ปริสุทฺโธ – บริสุทธิ์ สมาหิโต – ตั้งมั่น กมฺมนีโย – ว่องไวในหน้าที่ แล้วมันช่างเป็นหลักที่กว้างขวาง เป็นเรื่องทางจิตวิทยา หรือเป็นเรื่อง อืม กฎเกณฑ์ของธรรมชาติทั่วๆ ไปที่ว่ามนุษย์พวกไหนก็ต้องการสิ่งนี้ ไม่ใช่เฉพาะแต่ในพุทธศาสนา เป็นเรื่องของธรรมชาติที่เร้นลับและค้นพบ แล้วก็เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ เป็นวิวัฒนาการของ วัฒนธรรมทางจิต ในขั้นสมาธิ
นี้ชาวต่างประเทศก็จะพอใจทันทีในเมื่อทราบถึงผลหรืออานิสงส์ของจิตที่ฝึกดีแล้วในส่วน
สมาธิ คือจิตสะอาด จิตตั้งมั่นแล้วก็จิตว่องไวในหน้าที่ ความรู้ทางจิตวิทยาของพวกฝรั่งกำลังคลานต้วมเตี้ยม มาสู่จุดนี้เขาก็ยังไม่รู้ว่าจะทำยังไง แต่พอมาพบไอ้วิธีการอันนี้ในพุทธศาสนา ก็เห็นว่ามันเป็นเรื่องทั้งหมดที่เขาต้องการ ไม่ต้องไปเสียเวลาไปค้นเอง เช่น เขาค้นเรื่องจิตตานุภาพ กำลังจิต เรื่องอย่างนี้มันก็ค้นไปในแง่เปะๆ ปะๆ จนกระทั่งได้มาก็เป็นอย่างเฟ้อหรือว่าอย่างเกิน เกินในแง่นั้น ขาดไปในแง่นี้ สู้ที่พระพุทธเจ้าพบแล้วตั้ง ๒ พันกว่าปีมาแล้วไม่ได้ ขอให้จำไว้เป็นหลักที่จะไปสู้หน้ากับพวกเหล่านี้ ว่าจิตที่อบรมดีแล้วในฝ่ายสมาธิของเราคือมันมีความสะอาด บริสุทธิ์ จะ Clear หรือ Clean อะไรก็ได้ แล้วก็มันมีความตั้งมั่นหรือ Firm หรือ Stable อะไรก็ได้ รวมทั้ง Concentrate อะไรด้วย แล้วก็ว่องไวในหน้าที่ (Activeness) Active หรือ Activeness เมื่อเข้าใจไอ้ลักษณะอย่างนี้แล้ว ก็มองเห็นได้ด้วยตนเองทั้งนั้นแหละว่า แหม มันมีประโยชน์มาก มีประโยชน์ยังไง ในกี่แขนง เรื่องชาวบ้านก็ต้องการลักษณะจิตอย่างนี้ ต้องการจิตที่มีลักษณะอย่างนี้ เรื่องชาววัด เรื่องศาสนา เรื่องสูงสุดอะไรก็ต้องการจิตที่มีลักษณะอย่างนี้ เพราะงั้นจึงถือว่าจิตนี้เป็นจิตที่...ที่อบรมแล้ว Cultivate แล้ว Develop แล้ว อะไรแล้ว แล้วแต่จะเรียกว่าอะไรก็ได้ ซึ่งในภาษาของเราเรียกว่า ภาวิต (พา-วิ-ตะ) ภาวิต แปลว่า ทำให้เจริญแล้วโดยภาวนา ด้วยการทำภาวนาจิตนี้จึงเป็น ภาวิตจิต แล้ว นี้ จิตยิ่ง ในส่วนสมาธิ
ทีนี้จิตที่สูงขึ้นไปก็คือในส่วนปัญญา นี้มันไม่เกี่ยวกับไอ้เรื่องของจิตโดยตรง ไม่เกี่ยวกับตัวจิตโดยตรง แต่มันเกี่ยวกับคุณสมบัติอันสูงสุดของจิต ถ้าเราเรียนบาลีเราก็รู้ว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าปัญญานี้เขาจัดไว้ว่าเป็นพวกเจตสิก หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับจิต แล้วก็ทำให้จิตนั้นมีสภาพเป็นอย่างนั้นๆๆ เป็นอย่างๆ ไป นี้จิตที่ประกอบด้วยปัญญานี่คือจิตที่อบรมแล้วในส่วน...ส่วนสูง ในๆ ขั้นสูง
นี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ญาณทัสสนะ คำว่า ญานทัสสนะ ใช้ได้กว้าง มากมายหลายอย่าง
หรือหลายสิบอย่าง บัญชีหางว่าวมีอยู่ในเรื่อง อานาปานสติในปฏิสัมภิทามรรค แต่ในที่นี้เราพูดกันแต่หลักสั้นๆ ลุ่นๆ ว่า ญานทัสสนะ ประเภทที่ทำจิตให้หมดกิเลสอาสวะนี้ประเภทหนึ่ง แล้ว ญานทัสสนะ ประเภทที่ทำจิตให้มีคุณสมบัติส่วนเกิน เช่น อภิญญา เช่น ปฏิสัมภิทานี่ มีฤทธิ์ มีเดช มีอะไรที่เป็นปาฏิหาริย์ทั้งนั้นเลย นี้ผมเรียกเอาเองว่าส่วนเกิน ส่วนที่ต้องการก็คือเป็น อาสวักขย ทำอาสวะให้สิ้น จะเป็นประเภท เจโตวิมุตติ หรือ ปัญญาวิมุตติ ก็ตาม ที่เหลือนอกนั้นเป็นส่วนเกิน แม้แต่ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จตูปปาตญาณ อิทธิวิธิ ปฏิสัมภิทาอื่นๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับ อาสวักขยญาณ แล้วก็เรียกว่าส่วนเกิน คือมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ถ้ามีมันก็ดีมากขึ้นไปเท่านั้น แต่ไม่...ไม่ใช่ในเรื่องดับกิเลสหรือดับทุกข์ ไอ้กิเลส ดับกิเลส ดับทุกข์มันอยู่ในส่วน อาสวักขยญาณ แม้ในชั้น สุขวิปัสสก สิ้นกิเลส สิ้นอาสวะ สิ้นทุกข์ สิ้นเชิงแล้วจะเอาอะไรกันอีกเล่า แล้วมันก็มีว่าไอ้ส่วน อภิญญา นี้รู้ยิ่งหรือเกินออกไปนี่มันเพื่อประโยชน์อย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
สำหรับพระอรหันต์หรือพระพุทธเจ้าที่จะทำหน้าที่เผยแผ่พุทธศาสนา ต้องมีคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้ จึงจะเผยแผ่พุทธศาสนาได้โดยสะดวกและได้ผลดี ซึ่งแสดงฤทธิ์ปาฏิหาริย์ได้นี่มันก็ทรมานคนที่ไม่เชื่อ - ให้เชื่อได้ ที่ไม่ยอม - ให้ยอมได้ นี่ถ้าได้มาเกี่ยวกับธรรมฑูต...งานธรรมฑูตก็เห็นได้เหมือนกันว่าไอ้ส่วนเกินนั้นแหละเป็นคุณสมบัติส่วนที่เกินกว่าการทำกิเลสให้สิ้นนี้ก็จำเป็นสำหรับงานธรรมฑูต จึงยกไว้ในฝ่ายปาฏิหาริย์ จะปาฏิหาริย์ชนิดฤทธิ์เดชก็ได้ ปาฏิหาริย์ชนิดไม่เกี่ยวกับฤทธิ์เดชก็ได้ คือเรามีปฏิภาณเฉียบแหลมในการที่จะพูดให้เข้าใจ อย่างนี้ก็เรียกว่าปาฏิหาริย์เหมือนกัน ขอให้ไปศึกษาเรื่องปาฏิหาริย์ ๓ ในหลักสูตรนักธรรมโทที่เคยเรียนกันมาแล้ว ถ้ามีปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้หรืออย่างใดอย่างหนึ่งก็ทำให้การงานธรรมฑูตมันง่ายขึ้น ดีกว่าที่จะเพียงแต่ว่าสิ้นกิเลส สิ้นอาสวะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภท สุขวิปัสสก คำว่า สุขวิปัสสก นี้ก็เป็นคำทีหลัง คำเดิมแท้มีอยู่ว่า เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ หลุดพ้นด้วยการหลุดพ้นที่มีกำลังของจิตเด่นเป็น เอ่อ เป็นเบื้องหน้าหรือเป็นที่ปรากฏ ถ้า ปัญญาวิมุตติ ก็หลุดพ้นด้วยอำนาจของปัญญา แต่อย่าเข้าใจผิดว่า ๒ อย่างนี้แยกกันหมด แยกกันเด็ดขาด พวกเจโตวิมุตตินั้นมีปัญญาถึงที่สุด มีปัญญาอย่างยิ่งเหมือนกัน แต่ว่าไอ้กำลังทางจิตคือสมรรถภาพทางจิตนี่มันเด่นออกมากว่า มีปัญญามาก...หรือมาก มากเท่าๆ กับสุขวิปัสสกจะพึงมีในการทำกิเลสให้สิ้น แต่แล้วมันมีมากในส่วนเกิน ส่วนปฏิสัมภิทา ส่วนอภิญญา เพราะว่าเขามีกำลังของจิตที่เรียกว่าเจโตนั้นน่ะ ผนวกเข้าไว้ส่วนหนึ่งด้วย ก็แปลว่าผู้นี้สิ้นอาสวะด้วย มีกำลังทางจิตอย่างกว้างขวางมากมายด้วย ส่วนปัญญาวิมุตตินั้นไม่ๆ ค่อยจะสนใจกับไอ้เรื่องจิตๆ หรือกำลังของจิต มีกำลังของจิตเท่าที่ธรรมชาติอำนวยให้ คือเกิดๆ ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เพียงสนับสนุนปัญญาให้เป็นไปได้ แล้วปัญญานั้นมันพอที่จะทำอาสวะให้สิ้นได้ จึงเอาปัญญาออกมาข้างหน้าเป็นๆ ...ใช้เป็นชื่อ เป็นยี่ห้อ ส่วนเรื่องของจิตนั้นมันแฝงอยู่ข้างใต้ ข้างใต้ปัญญาอีกทีหนึ่ง
แต่ทั้ง ๒ พวกนี้ต้องมีทั้งสมาธิและมีทั้งปัญญานะ...ด้วยกันทั้งนั้น ระวังอย่าไปพูดใน
ทำนองที่ว่า จิตล้วน หรือ ปัญญาล้วน ขอให้เข้าใจว่าคำว่า เจโต นี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้สำหรับพระอรหันต์เท่านั้น ใช้กับอะไรก็ได้ นั้น จิตยิ่ง ในทางฝ่ายปัญญาก็คือประกอบอยู่ด้วย ญาณทัสสนะ ๒ ประเภท คือประเภทที่ทำอาสวะให้สิ้น และประเภทที่ทำให้มีคุณสมบัติในทางๆ จิต ในทางจิตใจนี้ที่เป็นส่วนเกิน เกินกว่าความดับทุกข์อีกส่วนหนึ่งด้วย แต่กลับไปมีประโยชน์ในการที่จะเผยแผ่พุทธศาสนา นั้นพวกที่เป็นธรรมฑูตก็ต้องสนใจทั้ง ๒ อย่าง นี้เป็นการอธิบายคำว่า จิตยิ่ง หรือ อธิจิต ในบทว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ. การทำจิตให้เป็น จิตยิ่ง นั้นเป็นพุทธศาสนา ทำจิตให้เป็น จิตยิ่ง ก็คือยิ่ง ๒ อย่างนี้ ยิ่งในฝ่ายสมาธิและยิ่งในฝ่ายปัญญา
ทีนี้เราพูด อธิจิต หรือ จิตยิ่ง พอเป็นแนวสังเกตแล้ว เราก็จะพูดถึงคำว่า อาโยค กันบ้าง
อธิจิตฺเต จ อาโยโค อาโยค นี้คืออะไร โยคะ แปลว่า ผูกพัน มาจาก ยุช (ยุ-ชะ) ที่แปลว่าผูกพันหรือประกอบ นี่ อา ก็เป็นอุปสรรค ที่ว่าเพิ่มน้ำหนักให้มากขึ้นว่าทั่วถึง นี้ อาโยค ก็คือ โยคะที่ทั่วถึง นี้คำว่า โยคะ นี้มันแปลว่าผูกพันก็ได้ แปลว่าประกอบก็ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องระวังให้ดี ถ้าใช้ความหมายไปในทางผูกพันกลายเป็นกิเลสไปก็ได้ กิเลสทั้งหลายชื่อว่า โยคะ เพราะเป็นเครื่องผูกพันจิตให้ติดอยู่ในกองทุกข์ นี้เราไม่เอาคำนี้ เราเอาคำว่า ประกอบ หรือมันผูกให้ติดกันในลักษณะที่มิใช่เป็นการผูกพันให้ลำบาก แต่เป็นเรื่องประกอบกันเข้าเพื่อทำให้มันเกิดความสามารถในหน้าที่
ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า อ่า ภาษาธรรมะ ภาษาทางศาสนา ภาษาทางธรรมะที่เป็นภาษา
บัญญัติเฉพาะนี่มันไปยืมภาษาชาวบ้านมาทั้งนั้น ถ้ายังไม่ทราบก็ขอให้ทราบเสียเถิดว่า ไอ้ภาษาธรรมะทางศาสนายิ่งสูงเท่าไร ยิ่งเกิดทีหลัง แล้วก็ไปยืมคำชาวบ้านธรรมดาๆ มาใช้ เช่น คำว่า นิพพาน นี้ที่แปลว่า เย็น นี้ก็เป็นภาษาธรรมดาที่เด็กก็พูดเป็นนี้ แล้วก็มาใช้ให้เป็นไอ้ชื่อของสิ่งสูงสุด คือดับกิเลส ดับทุกข์ ไอ้คำว่า โยคะ นี้ก็เหมือนกันที่แปลว่า ผูกหรือประกอบ ไปเอาไอ้อาการที่ผูกวัวเข้ากับแอก กับไถ หรือผูกม้าเข้ากับรถ ฉะนั้นถ้าจะไปอธิบายให้พวกฝรั่งฟังไอ้คำว่า โยคะ คำนี้ ใช้คำว่า Harness หรืออะไรทำนองนั้นนะ ที่เอาม้าเข้าไปติดกับรถ หรือเอาวัวไปติดกับไถนา คือเทียมอานๆ หรือเทียมแอก ไม่ใช่ผูกพันที่จะทำให้ลำบากที่เป็นกิเลส นั้น โยคะ ที่เป็นชื่อของการปฏิบัติกัมมัฏฐานทางจิตใจนี้มีความหมายเป็นอย่างนี้ คือประกอบจิตเข้ากับอารมณ์สำหรับฝึกจิตให้เป็น จิตยิ่ง ทีนี้คำว่า อา ก็มีความหมายเพียงเพิ่มน้ำหนัก คำว่า อาโยค ก็แปลว่า การประกอบอย่างครบถ้วน ซึ่งหมายถึงการกระทำอย่างครบถ้วน คำว่า ประกอบ ในที่นี้หมายถึงการกระทำ กระทำอย่างครบถ้วน ฉะนั้น อธิจิตฺต อาโยค ก็แปลว่า การประกอบ กระทำอย่างครบถ้วนเพื่อให้จิตเป็นจิตยิ่ง เป็นคำกว้างครอบจักรวาล ใครมีวิธีใดทำจิตให้มันเป็นจิตสูงไปกว่าธรรมดา ก็ต้องเรียกว่า อธิจิตตาโยค นี้ทั้งนั้น
แต่ในทางพุทธศาสนาเราเอาถึงระดับ สมาธิ หรือ ปัญญา จึงจะเรียกว่า อธิจิตตาโยค คำ
ว่า อาโยค จึงมีความหมายในลักษณะเป็นคำบัญญัติเฉพาะขึ้นมาอีกเหมือนกัน ทีนี้คำว่า อาโยค กับคำว่า ภาวนา นั่นแหละดูให้ดีๆ มันเป็นสิ่งเดียวกัน ผมได้ขอร้องไว้ตั้งแต่คราวที่แล้วมาว่า ให้ใช้คำว่า สมาธิภาวนา ซึ่งเป็นคำที่พระพุทธเจ้าท่านใช้ให้ถือเป็นหลัก สมาธิภาวนา คือ ทำให้เจริญขึ้นด้วยอำนาจของสมาธิ ทำจิตให้เจริญขึ้นด้วยอำนาจของสมาธิ และนั่นแหละคือ อธิจิตตาโยค คือการประกอบพร้อมเพื่อทำจิตให้เป็น จิตยิ่ง ตัวหนังสือต่างกันแต่ความหมายเป็นอันเดียวกัน เป็นสิ่งเดียวกัน สำหรับคำว่า อธิจิตตาโยค กับ สมาธิภาวนา
คำว่า อธิจิตตาโยค แปลกหู เพราะเราไม่...ไม่เอามาใช้พูดกันในประเทศไทย แต่เอาคำ
ว่า ภาวนา หรือ สมาธิภาวนา มาใช้ จะเป็นคำแพร่หลาย ทีนี้เราเป็นนักศึกษา เราก็ต้องรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะ ๒ คำนี้คือสิ่งเดียวกัน แล้วมันก็เล่งถึงสิ่งทั้ง ๒ ที่ว่ามาแล้ว คือทั้งสมาธิและทั้งปัญญา จะพูดว่า อธิจิตตาโยค ก็เล็งถึงสมาธิและปัญญา จะพูดว่า สมาธิภาวนา ก็เล็งถึงทั้งสมาธิและปัญญา แต่ขอให้ถือเอาความหมายอย่างที่ผมอธิบายแล้วในครั้งก่อน อย่าถือเอาตามความหมายที่พูดกันอยู่ทั่วๆ ไป หรือแม้ที่สอนในโรงเรียนนักธรรม สอนกันอยู่ในขอบเขตที่มันแคบ ว่าถ้า สมาธิภาวนา แล้วก็ทำ สมาธิ เท่านั้น ขอให้ตั้งรูปสมาสคำนี้เสียใหม่ว่า ภาวนา คือการทำให้เจริญ สมาธิ นั้นเอาเป็นสรณะแปลว่าด้วย หรือโดย ด้วยสมาธิ ทำจิตให้เจริญโดยใช้สมาธิเป็นเครื่องมือ มันก็มีผลเป็นทั้งสมาธิและปัญญา ให้เกิดความสุข ให้เกิดอำนาจทิพย์ ให้เกิดความสมบูรณ์ของสติสัมปชัญญะ ให้เกิดความสิ้น อาสวะ ทั้ง 4 ประการนี้เหมือนที่ได้พูดมาแล้ว นี่คือความหมายของคำว่า อาโยค ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายอย่างเดียวกันกับคำว่า ภาวนา ขอให้ระวังให้ดีคำว่า อาโยค หรือ โยคะ ในที่อย่างนี้ไม่ใช่ผูกพันในลักษณะที่เป็นกิเลส แต่เป็นการประกอบพร้อมในวิธีการฝึกจิต เอาจิตผูกเข้ากับอารมณ์ที่จะใช้เป็นเครื่องฝึกจิตเหมือนอย่างเอาม้าไปผูกเข้ากับรถ แล้วให้มันลากรถไป นี้อารมณ์ของจิต อารมณ์สำหรับจิตกำหนดนั้นเราจะพูดกันวันหลัง ที่เป็นเรื่องการเจริญสมาธิภาวนาโดยตรง
ในที่นี้รู้ว่าจิตจะต้องมีอะไรอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์สำหรับให้มันเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ในแง่ที่
จะเป็นสมาธิก็ตาม ในแง่ที่จะเป็นปัญญาก็ตาม กิริยา...กิริยาอาการที่เรียกว่า โยคะ หรือเอาจิตเข้าไปผูกนั้น เรามีชื่อเรียกว่า ฌานะ หรือ ฌาน ฌาน ฌ – กะเฌอ สระอา น – หนู ที่เรียกกันว่า ฌาน อย่างนี้ขอให้ถือเอาความหมายกลางๆ ว่าเพ่ง อย่าทำอย่างที่สอนกันอยู่ในโรงเรียน ว่าถ้า ฌาน แล้วก็เป็นเรื่องสมาธิไปหมด มันถูกครึ่งเดียว คำว่า ฌาน ต้องให้แปลว่าเพ่ง ทีนี้คำว่าเพ่งมี ๒ ความหมาย เพ่งอารมณ์ มันก็เพ่งเพื่อให้อารมณ์นั้นเป็นที่เกาะยึดของจิต ผลก็เกิดขึ้นเป็นสมาธิ ทีนี้ถ้า เพ่งลักษณะ หรือ เพ่งข้อเท็จจริง ของสิ่งต่างๆ ว่ามันเป็นอย่างไร ผลก็เกิดขึ้นเป็นปัญญา เป็น...เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในสิ่งนั้นๆ เป็นปัญญาที่ทำให้เบื่อหน่ายคลายกำหนัด สิ้นกิเลสเป็นนิพพานไป คำว่า ฌาน นี่ให้ใช้เป็น ๒ ความหมาย ให้ใช้เป็นคำกลาง ไม่ใช่สมาธิ ไม่ใช่ เอ่อ ปัญญาโดยเฉพาะ คือจะเป็นสมาธิก็ได้ เป็นปัญญาก็ได้ นี่คือเป็นคำกลาง ถ้าเพ่งอารมณ์-ผลคือสมาธิ ถ้าเพ่งข้อเท็จจริงหรือลักษณะ-ผลก็คือปัญญา ทีนี้เราใช้กันผิดๆ ไอ้ ฌาน แล้วก็เป็นสมาธิเสียเรื่อยไปมันก็เลยถูกครึ่งเดียว ให้นึกถึงพุทธภาษิตที่ว่า นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน ไม่มีฌานก็ไม่มีปัญญา ไม่มีปัญญาก็ไม่มีฌาน คำว่า ความเพ่ง อย่างนี้จึงเป็นความเพ่งที่เป็นกลางๆ แล้วต้องประกอบให้ชัดเข้าไปว่าเป็นเพ่ง...เพ่งอารมณ์หรือว่าเพ่งลักษณะ
เคยถกกันถึงคำที่จะใช้ เกี่ยวกับคำว่า ฌาน นี้ ในที่สุด ไม่เห็นคำอะไรดีไปกว่าคำว่า
meditate ไอ้ meditate นี้อย่าเอาไปจัดเป็นสมาธิหรือเป็นปัญญา ให้มันเป็นกลางๆ เข้าไว้ คำว่า meditation นั้นน่ะ อย่าไปพูดว่าเป็นสมาธิหรือเป็นปัญญา ให้มันเป็นกลางๆ เข้าไว้ นี้มัน meditate ไปบน object คือตัววัตถุ หรือมัน meditate ไปที่ characteristic ของวัตถุ ถ้ามัน meditate ลงไปบนตัว object โดยตรงแล้วล่ะมันเป็นสมาธิ นำผลมาคือ concentration แล้วถ้ามันเพ่งไปทาง characteristic ของวัตถุนั้น คือเพ่งข้อเท็จจริง ผลของมันก็คือ wisdom หรือ Intuitive wisdom เป็นๆ พวกปัญญา มันต่างกันลิบ มันไกลกันลิบ อันหนึ่งมันให้หยุด ให้สงบเป็น concentration เตลิดเปิดเปิงไปเป็นสมาบัติ เป็น Trance เป็นอะไรทำนองนั้น ไม่เกี่ยวกับปัญญา ทีนี้ถ้ามันเพ่งมาในทางลักษณะ คือมองดูลักษณะ เช่น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันมาทางปัญญาเป็น Realization เป็นไอ้ที่เราเรียกว่า ปฏิเวธ รู้แจ้งแทงตลอด มันก็นำมาซึ่งความสิ้นกิเลส สิ้นอาสวะ
ทีนี้ถ้าเราไปพูดกันอย่างที่สอนกันอยู่ในโรงเรียน ฌาน เป็นสมาธิอย่างเดียวแล้วมันจะตัน
มันจะตีบตัน หรือมันจะขัดแย้งกันไปหมด จนพูดให้มันตลอดลุล่วงไปไม่ได้ สำหรับไอ้การทำจิตให้ยิ่ง แล้วระวังให้ดีใช้คำว่า ฌาน นั้นน่ะให้ถูกต้อง อย่าให้แคบเหมือนที่ใช้สอนอยู่ในโรงเรียน แล้วจะแย้งหรือค้านให้ชะงักไปทันทีได้ โดยพระพุทธอุทานที่ว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นก็สิ้นไป นี้น่ะ อาตาปิโน ฌายโต น่ะ ถ้า ฌายโต นั้นหมายถึงเพ่งสมาธิแล้วความสงสัยจะสิ้นไปได้ยังไง เพราะว่า ฌายโต ในที่นั้นมีจิตเป็นสมาธิ แล้วเพ่งอยู่ที่ลักษณะของสิ่งทั้งปวงจนเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อนั้นน่ะ อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา มันก็เกิดขึ้นมาได้ สำหรับทำจิตให้ยิ่งจึงมีความหมาย ว่าทำได้ด้วยการเพ่ง แล้วก็เพ่งทางสมาธิหรือจะเพ่งทางปัญญา คำว่า เพ่ง สงวนไว้เป็นคำกลาง นี่คือคำว่า อาโยค ได้แก่ การทำ...การเพ่งจนจิตมีผลเป็นสมาธิ หรือว่ามีผลเป็นปัญญาไปตามลำดับ แล้วคุณก็ระวังใช้ไอ้คำภาษาต่างประเทศให้ๆๆ ตรงตามความมุ่งหมาย อย่าเอาตาม Dictionary บางเล่ม หรือที่เรานึกเอาเองหรือที่สอนกันอยู่ในโรงเรียนนี้ มันยังไม่...เรียกว่ายังไม่...ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามเรื่องที่จะมี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เช่น คำว่า ฌาน ไม่ใช่เรื่องสมาธิล้วน แล้วโดยเฉพาะคำว่า สมาธิภาวนา นี้ไม่ใช่เรื่องสมาธิ เป็นเรื่องปัญญาด้วยก็ได้ แต่ถ้าใช้คำว่า อธิจิตตาโยค มันก็ปลอดภัย เพราะคำว่า จิตยิ่ง นี้มันกว้าง กว้างจนเอาอะไรด้วยก็ได้ เอาศีลด้วยก็ได้ เอาสมาธิก็ได้ ปัญญาก็ได้ จนกระทั่ง มรรค ผล นิพพาน ไปเลย จิตที่บรรลุ นิพพาน ก็เป็น จิตยิ่ง สูงสุดในระดับสุดท้าย
นี้เราบอกอานิสงส์ของการทำจิตให้ยิ่งในฐานะเป็นสิ่งที่จำเป็นแก่มนุษย์ทุกคน พยายามไป
พิสูจน์ข้อนี้ โดยเอาคุณสมบัติของจิตที่เป็นสมาธิไปแสดงให้เห็น ให้เขาเห็นว่าจำเป็นแก่คนทุกคน คนทุกคนควรจะมีจิตบริสุทธิ์ มีจิตตั้งมั่น มีจิตควรแก่การงาน แล้วก็จะมีปัญญา มีความแตกฉาน เดี๋ยวนี้คนธรรมดาเราเรียกว่า คนที่ไม่มีจิตยิ่ง ถ้าจะพูดกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราก็จะบัญญัติขึ้นมาทีเดียวว่า คนธรรมดาสามัญนี้เป็นคนที่ไม่มี จิตยิ่ง หรือว่าจิตยังไม่ยิ่ง นั้นถ้าเป็นคนที่มี จิตยิ่ง ก็คือคนที่สูงกว่าธรรมดา มีลักษณะเป็น อุตริมนุสสธรรม ถ้ารู้อะไรเกินกว่าธรรมดาในทางจิตก็เรียกว่า อุตริมนุสสธรรม แม้ไม่ใช่ขั้นพระอรหันต์ก็เรียกว่า อุตริมนุสสธรรม คำนี้มันหมายความ เอ่อ กว้างมากนะ แล้วก็เข้าใจผิดกันอยู่ว่าจะหมายถึงแต่มรรคผล หรือนิพพาน อะไรก็ได้ที่มันเหนือกว่าจิตธรรมดาแล้วเรียกว่า อุตริมนุสสธรรม (อุด-ตะ-ริ-มะ-นุด-สะ-ทำ) คนธรรมดารู้จักใช้สิ่งที่เรียกว่าจิตให้เป็นประโยชน์น้อยเกินไป นี้เรียกว่าคนธรรมดา คือคนที่รู้จักใช้จิตให้เป็นประโยชน์ได้น้อยเกินไป จนแทบจะไม่ประสีประสา เป็นแต่เรื่องปากเรื่องท้อง
เดี๋ยวนี้เรามาบอกวิธีที่จะทำให้คนรู้จักใช้จิตให้เป็นประโยชน์ยิ่งกว่าธรรมดา แล้วก็เพราะ
ไม่รู้จักใช้จิตให้มากกว่าธรรมดานี้คนเราจึงฉิบหาย หรือว่าไม่เจริญ หรือว่าโลกนี้มีวิกฤตการณ์ถาวรนานาชนิด เพราะว่ามนุษย์ไม่รู้จักใช้จิตให้เป็นประโยชน์เต็มตามที่จิตมันจะมีให้ได้หรือเป็นให้ได้ เราบอกเขาให้รู้ว่า จิตนี้เป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มาสำหรับทำอะไรได้มากเกินคาดคือมหาศาล เรื่องทางวัตถุ ไปโลกพระจันทร์ได้ ก็เพราะว่าจิตมัน develop มากไปในทางนั้น ทีนี้ถ้าว่ามันมา develop กันไปในทางที่จะดับกิเลส ดับทุกข์ ไปนิพพานมันก็ทำได้ แต่เพราะไม่สนใจ เพราะไม่รู้จัก เพราะไม่ชอบ เราก็ถือว่าเขารู้จักใช้จิตให้เป็นประโยชน์ได้น้อยเกินไปแม้ไป...ไปโลกพระจันทร์ได้ เราก็ยังกาหน้าว่างั้น ตราหน้าว่ายังรู้จักใช้จิตให้เป็นประโยชน์น้อยเกินไปทั้งๆ ที่คุณไปโลกพระจันทร์ได้ เพราะว่าไม่ได้ทำให้เกิดผลดีอะไรแก่มนุษย์ในทางที่จะมีความสงบสุข นั้น จิตยิ่ง หรือ อธิจิต ก็ต้องหมายถึงจิตที่เป็นไปแต่ในทางที่จะทำให้มนุษย์มีความสงบสุขโดยส่วนตัวและส่วนรวม คือบรรลุมรรคผลนิพพาน แล้วก็ช่วยทำให้ผู้อื่นบรรลุมรรคผลนิพพานด้วยนั่น นี่เรียกว่าทำจิตให้ยิ่งเป็นตัวพุทธศาสนา
เราไปเผยแผ่พุทธศาสนา ก็คือไปเผยแผ่วิธีการทำจิตให้ยิ่ง แล้วก็ยิ่งจริงๆ คือยิ่งชนิดที่มันมี
ประโยชน์คือมันดับทุกข์ได้ ไม่ใช่ยิ่งไปในทางเฟ้อ ยิ่งรู้มากยิ่งยากนาน อย่างความเจริญถึงขนาดไป...ไปโลกพระจันทร์และจะไปโลกอื่นได้ต่อไปข้างหน้านั้นมันยิ่งรู้มาก ยิ่งยากนาน ยิ่งลำบากมากขึ้นตาม...เท่ากับที่มันยิ่งรู้มาก เอาละในวันนี้เราสรุปความกันเสียทีว่า การทำจิตให้ยิ่งนั้นน่ะคือตัวพุทธศาสนาที่ธรรมฑูตจะไปเผยแผ่ในประเทศก็ดี ต่างประเทศก็ดี งานธรรมฑูตในประเทศก็ดี ต่างประเทศก็ดีคือไปบอกเรื่องการทำจิตให้ยิ่งโดยใจความอย่างที่ว่ามาแล้ว ฉะนั้นธรรมฑูตก็จะต้องเป็นผู้ที่มี จิตยิ่ง เพราะฉะนั้นขอให้สนใจในการที่จะมี จิตยิ่ง ซึ่งเราจะได้พูดกันโดยละเอียดโดยหัวข้อ โดยชื่อที่เรียกว่า สมาธิภาวนา การทำจิตให้ยิ่งคือตัวพุทธศาสนา หรือผู้มี จิตยิ่ง สูงสุดคือพระพุทธเจ้า เราเปรียบคำว่ายิ่งกับ พุทธะ ก็แล้วกันเพื่อเป็น common sense หน่อย ว่า พุทธะ นี้คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้มี จิตยิ่ง คือผู้มีจิตรู้ มีจิตตื่น มีจิตเบิกบาน นี้ชาวบ้านเข้าใจกันดีอยู่แล้ว ไปช่วยอธิบายให้รู้จัก ปฏิบัติให้มันเป็นจิตที่รู้ และตื่น และเบิกบาน พระธรรมฑูตเป็นผู้มีจิตที่เป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยตนเองก่อนแล้ว ก็ไปเที่ยวทำคือปลุกผู้อื่นให้เป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นธรรมฑูตต้องเป็นผู้ฉลาดใน อธิจิตตาโยค หรือใน สมาธิภาวนา ที่เราจะได้กล่าวกันต่อไปในวันหลังๆ วันนี้ก็หมดเวลาตามที่กำหนดไว้