แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เป็นวันที่ ๒ ของการบรรยาย และคราวที่แล้วมา เราได้พูดกันถึง พระพุทธองค์ ในฐานะ
ที่ทรงเป็นนายแพทย์ของโลก ส่วนวันนี้ เราจะได้พูดถึงสัตว์โลก ที่เป็นคนไข้กันตามสมควร การที่เรา จะเข้าใจอะไรได้ดี ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนายแพทย์หรือฝ่ายคนไข้ หรือฝ่ายอะไรก็ตาม ขอให้นึกถึง พระพุทธคุณ ข้อนี้อยู่เสมอ ข้อที่ว่า สัพพัญญู สัพสัตถาวี ชิโนอาจริโย มามะ มหาการุนิโก สัตถา สัพพะโลกะ กิติจะโก (นาทีที่ 02:05) อาจารย์ของเรา เป็นผู้รู้สิ่งทั้งปวง เป็นผู้เห็นสิ่งทั้งปวง เป็นผู้ชนะมาร เป็นผู้สั่งสอน ที่มีความกรุณาใหญ่หลวง เป็นนายแพทย์ผู้เยียวยารักษา ของโลกทั้งปวง ดังนี้
ข้อที่เป็น สัพพัญญู สัพสัตถาวี (นาทีที่ 02:42) นี่เป็นเหตุให้รู้โลกทั้งปวง ในพระพุทธคุณ บทอื่น เช่น บทที่เราสวดกันอยู่ทุกวันว่า โลกวิทู ซึ่งแปลว่า เป็นผู้รู้แจ้งซึ่งโลก นี้ก็ระบุชัด ว่าเป็น ผู้รู้แจ้ง ซึ่งสิ่งที่เรียกว่า โลกนั้น เพื่อจะเล็งถึงโลกแผ่นดินก็ตามโลกสมุสัตว์ (นาทีที่ 03:16) ก็ตาม หรือโลกในความหมายทางธรรมะ คือความทุกข์ทั้งปวงก็ตาม พระพุทธองค์เป็นผู้ ทรงรู้แจ้ง ซึ่งสัตว์โลกเฉพาะในกรณีนี้ เป็นผู้รู้แจ้งซึ่งสัตว์โลก แทนที่จะเป็นโลกแผ่นดิน เมื่อรู้แจ้งสัตว์โลก ก็มีหลายแง่ ในกรณีนี้ เราหมายถึง รู้แจ้งสัตว์โลก ในแง่ที่ว่า เขาเป็นทุกข์หรือมีความทุกข์อยู่อย่างไร
ข้อที่ พระองค์ทรงชนะมารนี้ นั่นก็คือชนะกิเลส ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ความทุกข์ ในที่นี้ มีความหมายเหมือนกับคำว่า โลก เพราะว่าโลกนี้ คือสิ่งที่ประกอบอยู่ในความทุกข์ หมดความ เป็นโลกเมื่อไร ก็หมดความเป็นทุกข์เมื่อนั้น ซึ่งโลกในความหมายนี้ เกิดมาจากกิเลสโง่ ว่าตัวกูว่าของกู มันก็มีโลกขึ้นมา ถ้าอย่ามาโง่ เรื่องตัวกูของกู มันก็ไม่มีโลก มันก็ไม่มีความทุกข์ ที่พระศาสดาเป็นผู้มี มหากรุณาเป็นปกติ เราจึงได้รับประโยชน์จากท่าน ในฐานะที่เป็นผู้แก้ไขเยียวยารักษา ซึ่งโลกทั้งปวง
ทีนี้ก็มาถึงคำว่า โลกทั้งปวงในฐานะที่เป็นหมู่สัตว์ คำว่าสัตว์ในที่นี้ หมายถึงสัตว์มนุษย์ สัตว์ที่มีความรู้สึกนึกคิดได้ จะหมายถึง สัตว์เดรัจฉานด้วยก็ได้ เพราะว่าสัตว์เดรัจฉานบางชนิด มันก็มีความรู้สึกนึกคิด แต่มันไม่ถึงระดับ ไม่ถึงขนาดที่จะเข้าใจรู้แจ้ง ในธรรมะถึงขนาดนี้ เพราะใน สัตว์เดรัจฉานทั่วไป น่าจะตกอยู่ในฐานะเป็น ผู้มีความทุกข์เหมือนกับคนไข้ ก็ยังต่ำเกินไปกว่าที่ พระศาสดาจะรักษาแก้ไขได้ก็ได้ แต่ว่าให้เราช่วยกัน เมตตากรุณามัน ก็ตามธรรมดาสามัญ ในเรื่องทางฝ่ายร่างกาย หรือเป็นโรคกายหรือเป็นโรคจิต ธรรมดาสามัญนี้ก็ช่วยเหลือมันได้ แต่ที่จะ ช่วยแก้ไขโรคทางวิญญาณ มันก็เป็นไปได้ ทีนี้มันก็ยังเหลือแต่หมู่สัตว์ที่เป็นมนุษย์ ถ้าใช้คำว่า มนุษย์ มันก็ยังแคบไป จึงมักจะใช้คำว่า สัตว์ที่มีความรู้สึกคิดนึก เพราะเขาอยากให้คำว่ามนุษย์นี้ มันกินความ ไปถึงเทวดาในเบื้องบน หรือว่าสัตว์ในนรกในเบื้องต่ำด้วย เพราะคำว่าสัตว์ สัตว์โลกนี่ หมายถึง สัตว์ที่มีความรู้สึกคิดนึก มีสติปัญญา พอที่จะเข้าใจเรื่องสุขเรื่องทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ เรื่องดี เรื่องชั่ว สำหรับจะได้ยึดมั่นถือมั่น ความดีความชั่ว
ถ้าบางคนยังไม่ทราบ ก็ควรจะทราบเสียว่า ไอ้ความทุกข์ หรือซึ่งเปรียบเหมือนโรค มันพึ่งตั้งต้น เมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ดีหรือชั่ว แล้วก็ยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งที่ดีหรือชั่วนั้น โดยความเป็นของกู ในคัมภีร์ไบเบิลของพวกคริสเตียน เขากล่าวไว้ในรูปของอุปมาที่ดีที่สุด เข้าใจได้ง่าย ก็เมื่อมนุษย์คู่แรก คือ อดัมกับอีฟ กินผลไม้ของต้นไม้ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกดีรู้สึกชั่ว เข้าไป ทันทีทันใดนั้น ก็มีความทุกข์ แต่เขาเรียก ในภาษาธรรมะขั้นสูงว่าตาย หมายความว่า มันตายจากความไม่มีทุกข์ มาสู่ความมีทุกข์ ในขณะที่มนุษย์รู้จักดีรู้จักชั่ว มนุษย์สมัยหินหรือว่า สมัยก่อนโน้น มันก็ไม่รู้จักดีไม่รู้จักชั่ว เป็นครึ่งมนุษย์ ครึ่งสัตว์เดรัจฉานกันอยู่
ยุคไหนสมัยไหน มนุษย์ถึงเริ่มรู้จักดีรู้จักชั่ว ยุคนั้นเป็นยุคตั้งต้น แห่งความทุกข์ของมนุษย์ เรียกว่า โรคทางวิญญาณ ได้ตั้งต้นขึ้นที่จุดนั้น นักประวัติศาสตร์ เอ้ย, นักโบราณคดี ประมาณกันว่า สัก ๘๐๐๐ ปี มานี้เอง ที่ความดีความชั่ว เป็นสิ่งที่ฝังแน่นขึ้นมา ในความรู้สึกของมนุษย์ จนรู้สึกยึดมั่นถือมั่น ก็มีความทุกข์อย่างมนุษย์ มีความทุกข์ในระดับสูง เราก็ว่าจะถือว่าเมื่อใด มันรู้จักดีรู้จักชั่ว ในลักษณะที่จะยึดถือแล้ว ก็เรียกว่า โรคได้ตั้งต้นขึ้นที่นั่น จึงเป็นกันทุกคน ที่รู้จักยึดถืออย่างนี้
ทีนี้พวกคุณทุก ๆ องค์นี่ ต้องการจะรู้ธรรมะ สำหรับความเป็นแพทย์ เพื่อเป็นแพทย์ที่ดี ตรงนี้มันก็มีปัญหา ซึ่งควรจะพูดกันเสียเลย ในฐานะที่คุณเป็นแพทย์ อย่างที่เล่าเรียนศึกษามานี้ มันก็มีแต่รักษาโรคในทางกายหรือทางจิต ยังไม่มีความรู้เรื่องโรค หรือการรักษาโรค ในทางฝ่าย วิญญาณ จึงต้องถือโอกาสบวช ในระหว่างปิดภาค เพื่อจะมาศึกษาเรื่องนี้ ถ้าพูดกันใน ๆ แง่ของ โรคกายโรคจิต คุณก็เป็นแพทย์ แต่ถ้าพูดกันในแง่ของโรคทางวิญญาณ คุณก็เป็นคนไข้เสียเอง ถ้าเราพูดถึงโรคทางวิญญาณ ทุก ๆ คนก็เป็นคนไข้หมด เว้นแต่พระอริยเจ้า
ปุถุชนธรรมดาสามัญ ซึ่งยังไม่ใช่พระอริยเจ้า ก็เป็นคนไข้กันหมด พระอริยเจ้า ก็เริ่มเป็น คนหายโรค จนกระทั่งหายเด็ดขาด เป็นพระอรหันต์ นั้นเราก็พูดกันในฐานะที่คนธรรมดาสามัญ เป็นไข้ เป็นคนมีโรคด้วยกันทั้งนั้น ทั้งนั้น เราจะเรียกคนไข้ทั้งโลกนี้ว่า เป็นคนไข้ของอวิชชา คุณควรจะจำคำ วลีนี้ว่า คนไข้ของอวิชชา อวิชชาเป็นภาษาบาลี อวิชชาเป็นภาษาไทย ถ้าเรายังเป็น คนธรรมดา หมายความว่า เรายังมีอวิชชา ถ้าเราเป็นคนผิดธรรมดา หมายความว่า เหนือธรรมดา สูงกว่าธรรมดา ก็เป็นคนมีวิชชา วิชชา อวิชชา นี่ ก็รากศัพท์เดียวกับเวชโช หรือเวชชะ หรือเวชกรรม ซึ่งแปลว่า หมอ มาจากคำว่าผู้รู้ มันก็รู้ไอ้สิ่งที่มนุษย์จะรู้ หรือพอจะรู้หรือหากินได้ วิชชา แปลว่า ความรู้ เวชชา ก็แปลว่า ผู้มีความรู้ พวกผู้มีความรู้ แล้วก็จะอยู่ในรูป เอกวัจนะ(นาทีที่ 13:12) หรือพหุวัจนะ (นาทีที่ 13:12) แต่ความรู้นี้ มันไม่ใช่มุ่งหมายเฉพาะรู้ดับทุกข์ รู้ทั่วไปก็ได้ เราเอาคำว่า ผู้เยียวยาสัตว์โลกทั้งปวง ดีกว่า แน่นอนว่า เป็นผู้มีความรู้ ชนิดจะดับความทุกข์ของโลกได้
วิชชาตัวนี้ จึงควรจะเขียนเป็น ช ช้าง ๒ ตัว ซ้อนกันอยู่เสมอ มันจะได้ผิดแผกแตกต่าง ออกมาเสียจากคำว่า วิชาในภาษาไทย วิชาเลข วิชาการฝีมือ อะไรก็ตาม มันไม่ใช่วิชชาในที่นี้ ซึ่งรู้เรื่องความดับทุกข์ จนดับทุกข์ได้ สัตว์โลกทั้งปวงเป็นคนไข้ของอวิชชา อวิชชา คือ ภาวะที่ ปราศจากวิชชา มันจะรู้ผิด ก็เรียกว่า ปราศจากวิชชา มันไม่รู้เสียเลย ก็เรียกได้ว่า ปราศจากวิชชา ต่อเมื่อใดมัน รู้เรื่องนี้ถูกต้อง ถึงขนาดที่รู้ด้วยใจจริงอยู่ในใจ เป็นความรู้สึกของใจเป็น truth vision (นาทีที่ 14:42) รู้สึกอยู่ด้วยใจจริง จึงจะเรียกว่า วิชชา ในที่นี้ ถ้ารู้เพราะท่องจำ หรือจดไว้นี้ มันก็ยัง ไม่ใช่วิชชา เหมือนเราจะมีพระไตรปิฏก ซื้อมาเมื่อไรก็ได้ มันก็ไม่มีวิชชาขึ้นมาได้ แม้จะอ่านจนทั่วถึง พระไตรปิฏก แต่ถ้าไม่รู้ซึมซาบถึงความทุกข์ ความดับทุกข์ แล้วมันก็ยังไม่มีวิชชา การที่พวกคุณ อุตส่าห์จดจำ จำจดทั้งใส่สมุดลงไปนี้ ก็ยังไม่แน่ ว่าจะมีวิชชา มันต้องไปกระทำให้ ปรากฏแจ่มแจ้ง ในความรู้สึก จนจิตใจเปลี่ยนแปลง เขาถึงจะเรียกว่า มีวิชชา
ที่นี้เราก็พูดกันถึงคำว่า คนไข้ของอวิชชา ก็คนไข้ของความไม่รู้ หรือปราศจากความรู้ที่ถูกต้อง นี่เรียกว่า เป็นคนไข้ของอวิชชาไปหมด วิชชา คือ ความรู้ ตามหลักในพระพุทธศาสนานี้ หมายถึง ความรู้เรื่องความดับทุกข์ หรือแก้ไขความทุกข์ อย่างที่เป็นคุณบทของพระพุทธองค์ ว่าเป็นนายแพทย์ ผู้เยียวยารักษาโรคของโลกทั้งปวง ต้องรู้จักการรักษาเยียวยาโรคนั้น ให้หายไปแล้ว รู้จักความหายของ โรคนั้น คือ ไม่มีทุกข์แล้ว อย่างนี้เรียกว่า มีวิชชา
วิชชาในที่นี้ หมายถึงรู้เรื่องดับทุกข์ แต่อาจจะขยายออกไปถึงว่า รู้จักตัวความทุกข์นั้นด้วย รู้จักตัวเหตุให้เกิดความทุกข์นั้นด้วย รู้จักภาวะปราศจากทุกข์ หรือปราศจากโรคนี้ด้วย แล้วก็รู้จักวิธี ทำให้เป็นอย่างนั้นด้วย มันเลยเป็น ๔ อย่างด้วยกัน เรียกว่า อริยสัจ เป็นพวกทฤษฎีล้วน ๆ ก็มี เช่นว่า ความทุกข์เป็นอย่างไร เหตุจะเกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความไม่มีทุกข์เลย มีสภาวะเป็นอย่างไร นี่ก็มันเป็น พวกทฤษฎี
ส่วนข้อที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะดับทุกข์ได้นั้น เขาไม่หมายถึงทฤษฎี หมายถึงการปฏิบัติเลย คือ การดำเนินอยู่ในอริยมรรค มีองค์ ๘ นี่เป็นหนทางแห่งความดับทุกข์ หมายถึง ตัวการปฏิบัติอยู่ ตัวความทุกข์ ตัวความเหตุให้เกิดทุกข์ ภาวะมันมีทุกข์นั้น เกี่ยวกับความรู้ในทางทฤษฏี แต่ก็มาจาก ความเห็นแจ้งแท้จริงในจิตใจ เป็นทฤษฎีในความรู้สึก ไม่ใช่ทฤษฎีตัวหนังสือ ในสมุดในตำรา เดี๋ยวนี้ เราก็รู้อริยสัจกันเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่รู้ ก็มาอ่านมาเรียนมาท่องมาจำกันก็ได้ แต่มันรู้อย่างทฤษฎีตำรา หรือหนังสือ คำพูด ไม่ใช่ทฤษฎีจากความรู้สึก ที่เป็นอยู่ภายในตัวจริง ๆ ก็ต้องพยายามให้มันรู้ถึง ขนาดนั้น แล้วความรู้ถึงขนาดนั้น มันก็มาต่อเมื่อ เราปฏิบัติเสร็จแล้ว ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ เสร็จแล้ว ก็รู้แจ้งขึ้นมาถึงที่สุดเลยว่า ทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ภาวะไม่มีทุกข์ เป็นอย่างไร มันก็รู้
เหมือนกับคุณ เรียนแพทย์จบหลักสูตร มันก็รู้ว่า ไอ้ ไอ้ความหมาย ตามที่คุณเล่าเรียนมา โรคนั้นเป็นอย่างนั้น โรคนี้เป็นอย่างนี้ แก้ไขอย่างนั้นอย่างนี้ แต่มันคงจะสู้ ความรู้ในเมื่อคุณได้เป็น โรคเสียเอง เป็นคนเจ็บเสียเอง เมื่อรักษาหายแล้วอย่างไรนี้ อย่างนี้มันรู้กว่า รู้มากกว่า นั้นเมื่อเราเรียน เรื่องโรคอะไรมา ก็รู้ไปตามเรื่องเรียน แต่พอเรามาเป็นโรคนั้นเข้าเอง แล้วรักษาหายไปแล้ว เราก็รู้ ดีกว่า ในโรคทางจิตทางวิญญาณนี้ ก็เหมือนกัน มันรู้ไม่ได้เมื่อเอาเรื่องราวนั้น มาอ่านจากพระไตรปิฏก มันรู้ต่อเมื่อว่า เรามันเป็นอย่างนั้นเสียจริง และได้รักษาหายไปแล้วจึงจะรู้ ถ้าเรากำลังเป็นโรคนั้นอยู่ เราไม่มีทางรู้ว่า เราเป็นโรคนั้น แล้วเราก็ไม่เชื่อด้วยว่า เราเป็นโรคนั้น นี่เรียกว่า เราเป็นคนไข้ของ อวิชชา
ขอให้ระวังให้ดี ๆ คำว่า เป็นคนไข้ของอวิชชานี่ เป็นต้นเหตุของทั้งหมด ที่เป็นความทุกข์ มันตั้งต้นให้เกิดความประมาท ความอวดดี ทุกคนก็คิดว่าตัวรู้ แต่เป็นการรู้ด้วยความประมาท รู้ด้วยความอวดดี ถ้ามันรู้จริงมันก็แก้ไขได้ เดี๋ยวนี้มันรู้เพื่ออวดดี ว่ารู้ตามที่ได้ยินได้ฟังมา หรือมันรู้ ชนิดที่เรียกว่า ผิวเผินมาก ตามความรู้สึกสามัญสำนึก มันก็นึกไปต่าง ๆ ว่ากูไม่เป็นอะไร ถึงขนาดที่ ไม่รู้จักตัวความทุกข์ นั้นตามปกติ ปุถุชนคนธรรมดาสามัญ ไม่รู้จัก ไม่รู้สึกว่าตัวมีความทุกข์ เหมือนกับคนบางคน เขาไม่รู้ว่าเขาเป็นโรคอะไร ทั้งที่เป็นโรคอยู่ ก็ไม่รู้ว่าเป็นโรค นี่เรียกว่า มันยังหลับหูหลับตามากเกินไป แล้วก็อวดดีด้วย นี่เรียกว่า ความประมาท
ดังนั้นคนไข้ของอวิชชาทุกคน มีความประมาท โง่ หลงใหลอยู่ เป็นปกติวิสัย เข้าใจว่า ตัวไม่มีโรค เข้าใจว่าตัวจะยังไม่ตาย เป็นความประมาทอยู่เสมอ นี่ก็เป็นเงื่อนต้น สำหรับที่จะเป็น คนไข้หนักขึ้น ไปอีกหลาย ๆ ระดับ ตั้งต้นด้วยอวิชชานี่ แล้วมันก็เป็นได้มากมาย หลายแขนง อวิชชามันปรุงแต่งอะไร ๆ ได้มากมายหลายแขนง เป็นสังขาร สังขาร ก็แปลว่า สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง ก็ปรุงแต่งได้หลายแขนง คือ กิเลสหลายระดับ ความทุกข์หลายชนิด
นี่เราก็มาดูให้ดี ถึงคำว่า อวิชชา สำหรับคำว่า อวิชชา โดยใจความที่มันสรุป นั่นก็คือ ไม่มีความรู้ ปราศจากความรู้ ที่เป็นญาณ เป็นอะไร เป็นทรรศนะในความรู้สึกจริง ๆ ว่าความทุกข์ เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความไม่มีทุกข์เป็นอย่างไร ทางให้ถึงความไม่มีทุกข์นั้น เป็นอย่างไร ถ้ามันเกิดรู้ ๔ อย่างนี้เสียแล้ว มันก็กลายเป็นวิชชา มาอยู่ในฝ่ายพระอริยเจ้าเสียแล้ว ตลอดเวลาที่ยังไม่รู้ เรื่อง ๔ เรื่องนี้เลย มันก็เป็นฝ่ายปุถุชน คนพาล คนโง่ หรือฝ่ายพญามาร หรือฝ่ายโลก อยู่ในฝ่ายโลก
พอรู้เรื่อง ๔ เรื่องนี้ อย่างถูกต้อง พอสมควรระดับหนึ่งแล้ว ก็เริ่มมาอยู่ในฝ่ายพระอริยเจ้า หรือฝ่ายผู้หายโรค ดังนั้นโรคทางวิญญาณนี้ เราให้วิชชานี้เป็นฝ่ายหายโรค ให้อวิชชาเป็นฝ่ายมีโรค เป็นโรคทางวิญญาณ ตรงนี้อยากจะขอแทรกอะไร ๒-๓ คำว่า เรานิยมใช้คำว่า ทางวิญญาณ เป็นพิเศษ สำหรับที่จะพูดกันที่นี่ หรือพูดโดยผมพูด เขาหาว่าเป็นคำพูดครึคระ บ้า ๆบอ ๆ หรืออะไรก็ไม่รู้ แต่ผมขอร้องให้ช่วยกันจำไว้ ในฐานะเป็นคำประหยัดทางวิญญาณ ทางวิญญาณนี่ มันหมายถึง เรื่องทางจิตใจฝ่ายสูง ฝ่ายสติปัญญา ฝ่ายความคิดความเห็น ซึ่งมันจะมาใช้กันได้ กับเรื่องคนไข้ หรือคนหายไข้ ตามแบบของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นหมอทางวิญญาณ รักษาโรคทางวิญญาณ คือรักษาโรคอวิชชา เมื่อโรคนี้มันหายแล้ว โรคทางกายทางจิต ก็พลอยหาย พลอยหมดไปด้วย หรือป้องกันไม่ให้เกิดได้อย่างยิ่ง
ที่นี่เรามีโรงมหรสพทางวิญญาณ มหรสพ แปลว่า เครื่องทำความเพลิดเพลิน ทางวิญญาณ ก็กำกับได้ชัดเจนแต่เพียงว่า ทางที่มันจะทำลายอวิชชา แล้วทำวิชชาให้เกิดขึ้น ในโรงมหรสพทาง วิญญาณของเรา ก็เต็มไปด้วยเครื่องมือ ที่จะช่วยให้เกิดความเพลิดเพลิน ในทางที่จะหลุดพ้น จากโรค ในทางวิญญาณ ดังนั้นถ้าคุณเข้าใจมันดี ก็จะช่วยได้มาก ที่จะประหยัดเวลาได้มาก แล้วมันสนุกด้วย คงสนุกกว่า มานั่งทนฟังผมพูด ในเวลาอย่างนี้ ดังนั้นในระหว่างที่พักอยู่ที่นี่ ขอให้ใช้ประโยชน์จาก โรงมหรสพทางวิญญาณนั้นด้วย ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เป็นเครื่องมืออันหนึ่ง เป็นอุปกรณ์ อันหนึ่ง ที่จะแก้ไขโรคของอวิชชา หรือความเป็นคนไข้ของอวิชชา อย่าเป็นอวิชชาขึ้นมาใหม่ โดยไม่เห็นคุณค่าของมัน มองดูก็มองดูผ่าน ๆ เดินผ่าน ๆ ไปทุกด้าน แล้วก็ เอ้า, พอแล้วไม่มีอะไรแล้ว นั่นมันจะเป็นอวิชชาอันใหม่ขึ้นมา แขนงใหม่ ไปดูภาพเหล่านั้นให้มันเข้าใจ มันก็จะเป็นเรื่อง ๆ เดียว กันกับเรื่องที่กำลังพูดถึงนี้ มันประหยัดเวลา ประหยัดความน่าเบื่อ
ดังนั้นธรรมะ หรือการรักษาโรค หรือการหายจากโรคทางวิญญาณนี้ ต้องไม่น่าเบื่อ ความเบื่อ หรือความไม่เบื่อ มันอยู่ที่ความฉลาดหรือไม่ฉลาด ถ้าไม่ฉลาดก็จะเบื่อ เรื่องที่เป็นของชั้นสติปัญญา ดังนั้นคนโง่ ก็ไม่อาจจะชอบหรือสนุก ด้วยเรื่องของคนมีสติปัญญา บางทีจะฟังไม่ถูก ไม่รู้เรื่องอะไร เสียเลยด้วยซ้ำ ให้กรรมกร ให้พ่อครัว ให้คนเหล่านี้ มาฟังเรื่องปรัชญา เรื่องศาสนาในชั้นลึก มันก็ฟัง ไม่ถูก ไม่รู้เรื่อง แล้วมันก็เบื่อแสนจะเบื่อ แต่ถ้าเป็นพวกผู้รู้เป็นบัณฑิต นักปราชญ์ มันก็สนุกแสน ที่จะสนุก ในการที่จะพูดจะคุย จะถกจะวิจารณ์ หรือจะกระทั่งปฏิบัติในเรื่องอย่างนี้
นี่คนหนึ่งมันเป็นคนไข้ ของอวิชชามากเกินไป อีกพวกหนึ่ง มันก็เริ่มจะหายโรคจึงพอใจ ในสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ ซึ่งเป็นมหรสพทางวิญญาณ คุณมีเวลาอยู่ที่นี่น้อย ก็รีบใช้มันให้เป็นประโยชน์ ในทางที่จะแก้ไข ความเป็นคนไข้ของอวิชชา ให้มาอยู่ในฝ่ายที่เป็นแพทย์ ร่วมกันกับพระพุทธเจ้า แล้วคุณก็จะออกไป เป็นหมอทางกายทางจิต รักษาโรคทางกายทางจิตได้ดี นี่เรียกว่า เรามาอยู่ในฝ่าย วิชชา ตรงกันข้ามกับอวิชชา ขอให้ทุกคนตั้งต้นหรือตั้งจุดตั้งต้น ด้วยความรู้ข้อนี้ เริ่มหยุดการเป็น คนไข้ของอวิชชา รักษาให้หาย กลายมาอยู่ในฝ่ายที่เป็นแพทย์ เป็นลูกสมุนของพระพุทธเจ้า ผู้เป็น นายแพทย์ใหญ่ของโลก ในทางฝ่ายวิญญาณโดยเฉพาะ
ทีนี้ก็อยากจะพูดถึง คำว่าคนโง่ คือคนที่มีอวิชชา จะขอเตือนว่า แม้คุณจะเรียนจบมาจาก มหาวิทยาลัย กี่แห่ง กี่สิบแห่ง มันก็ยังกล่าวไม่ได้ว่า เป็นผู้พ้นจากความเป็นคนโง่ ถ้ามันเป็นเรื่อง ทางฝ่ายวิญญาณ ทีนี้ในภาษาไทย เขาเรียกว่า พาล พาละ คนพาล หรืออันธพาลไปเลย แต่ความหมาย มันต่างกันกับคำว่า พาลในภาษาไทย ภาษาบาลีคำว่า พาละ แปลว่า อ่อน เด็กเพิ่งคลอดมาเป็นทารก นั้น เขาเรียกว่า พาล หมายความว่า มันยังอ่อนอยู่ แต่ในภาษาไทยไม่เรียก ไม่เรียก เด็ก ว่าเป็นคนพาล แต่ในภาษาบาลี เขาเรียกว่า พาละเหมือนกัน คือ มันยังอ่อนอยู่
ทีนี้มันเกเรเติบโตขึ้น เกเรเป็นอันธพาล มาอยู่ลาดยาวนี่ มันก็เป็นอันธพาลตามเดิม นั่นแหละ เพราะว่าคนเหล่านั้น อ่อนอยู่ด้วยความรู้ทางวิญญาณ ยังเป็นทารกในภาษาวิญญาณ จนกระทั่งมัน ตายไป แก่ตายไป มันก็ยังเป็นคนพาล คนอ่อน ดังนั้นคำว่า พาล ก็แปลว่า อ่อน คำว่า ลูกอ่อน หรือคำว่า ลอนนี้ มาจากคำว่า อ่อน อ่อนนี่ หมายถึงว่าเป็นคนพาล พาล คือ อ่อนไม่ใช่พาล อันธพาล แต่จะเป็นพาล ชนิดไหนก็ตาม มันปราศจากวิชชา หมายความว่า มันยังไม่มีวิชชา เด็กเพิ่งคลอด มันก็ ไม่มี ไม่มีวิชชา โตขึ้นมา ๆ มันไม่มีวิชชา ก็ยังเป็นพาลอยู่ตลอดไป จนเข้าโลงไป นี่เขาเรียกว่า คนโง่
ขอให้ระวังดี ๆ ตกอยู่ในความประมาทแล้ว ก็จะเป็นคนโง่ชนิดนี้ จนเข้าโลงไป แม้เรียน พระไตรปิฏกจบ มันก็มีโอกาสที่จะเป็นคนโง่ เพราะมันอ่อน ในเรื่องของวิชชา ความรู้แจ้ง ถึงขนาดที่ จะดับทุกข์ได้ ดังนั้นเราประมาทไม่ได้ เรื่องบวชหลายพรรษาแล้ว จบพระไตรปิฏกแล้ว มันก็ยังมีความ เป็นคนพาล เป็นคนอ่อนอยู่นั้น มันเต็มอยู่ด้วยอวิชชา มันว่างจากวิชชาอยู่เสมอ นั้นคำว่า คนโง่หรือ คนพาล ในทางพุทธศาสนา ก็หมายความอย่างนี้
เด็กมันเกิดมีความรู้สึก เรื่องนี้อย่างถูกต้อง ด้วยเหตุอะไรก็ตาม มันก็เป็นพระอริยเจ้าได้ ก็มีพูดเรื่องพระโสดาบัน อายุ ๗ ขวบ พระอรหันต์อายุ ๑๕ ขวบ มันมีกล่าวในคัมภีร์ มันจะเป็นตัว Incedent (นาทีที่ 33:25) หรือเป็นอะไรก็สุดแท้แต ่มันให้เกิดความรู้สึกจริง ๆ อันนี้ มันก็รู้อยู่จริง ๆ แล้วมันก็ไม่มัวเมา ไม่หลง ในเรื่องกิเลสทุกชนิด มันก็เป็นคนแก่ ไม่ใช่คนอ่อน แล้วเป็นคนเป็นบัณฑิต ไม่ใช่เป็นคนพาล ถ้าไม่ลืมข้อนี้เสีย ความประมาทก็เกิดขึ้นยาก ถ้าลืมข้อนี้เสียแล้ว ความประมาท ก็เกิดได้ง่ายที่สุด คอยรู้จักความเป็นคนอ่อน คนพาล คนโง่ของตัวเองไว้ อย่าได้อวดดี
ทีนี้พอไปเรียนเข้าหน่อย ได้บวชสักพรรษาหนึ่ง มันก็อวดดีเสียแล้ว พอได้สัก ๑๐ พรรษา มันก็ยิ่งอวดดีมากขึ้น มันแข็งกระด้างมากขึ้น นั่นคือ ความโง่ ความเป็นคนพาล ความอะไรมากขึ้น นั่นนะคืออวิชชาที่ไม่รู้สึกตัว เป็นคนไข้ของอวิชชา แล้วแถมไม่รู้สึกตัวด้วย คนไข้ชนิดนี้ จะดื้อหมอ อย่างยิ่ง แล้วมากกว่านั้นก็คือ ไม่ยอมรับการรักษา ในการที่คุณบวชกันในคราวนี้ ก็เพื่อจะรู้เรื่องนี้ จะแก้ไขเรื่องนี้ ก็ขอให้ถือเอาจุดนี้ เป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญที่สุด คือ ความเป็นคนโง่ เป็นคนพาล เป็นคนอ่อนอยู่ด้วยอวิชชา เป็นคนไข้ของอวิชชา แล้วก็จะค่อยเปลี่ยนไป ๆ ลืมหูลืมตา สว่างไสวขึ้น นับตั้งแต่แรกเริ่ม ด้วยการฟัง มีความรู้ของการใช้เหตุผล จนมีความเข้าใจ แล้วก็ไปปฏิบัติดู จนมีความรู้สึกแจ่มแจ้ง เป็น experience เป็น realization เป็น truth vision (นาทีที่ 35:30) เป็นอะไร ไปตามลำดับ
มันก็จะเริ่มกันในคนหายโรค เข้าไปอยู่ในเครือของพระพุทธเจ้า ผู้ที่จะช่วยกันรักษา เยียวยา มนุษย์ เพื่อนมนุษย์กันอีกต่อไป ตามความสามารถ ไม่ได้ตั้งตัวเป็นพระพุทธเจ้า แต่ว่าเป็นลูกน้องของ พระพุทธเจ้า ที่ทำงานเหมือนกัน ในที่สุดก็จะเป็นบุคคลประเภทที่มีค่า มีคุณค่าสูง คือ เป็นปูชนียบุคคล แล้วข้อนี้ จะเป็นกำลังใจอย่างมาก ที่ให้พวกคุณอุตส่าห์ทนเรียน ทนคิดนึกศึกษา และปฏิบัติ
ตัวเราเกิดมา ให้ได้เป็นปูชนียบุคคล นั้นอาชีพบางอาชีพ สะดวกแก่การเป็นปูชนียบุคคล ผมพูดอย่างนี้ไม่ค่อยมีใครเชื่อ ถ้าเกิดเป็นชาวนา เป็นกรรมกร นี้มันยาก ที่จะมีความเป็นปูชนียบุคคล ถ้ามาเกิดเป็นหมอ เป็นครู เป็นผู้ทำหน้าที่เสียสละอย่างอื่น นี้มันก็ง่ายที่จะเป็นปูชนียบุคคล แม้จะเป็น ตำรวจเป็นทหาร ถ้าเขาปฏิบัติหน้าที่ดีจริง ตรงจริง มันมีส่วนที่จะเป็นปูชนียบุคคล คือเสียสละให้ผู้อื่น ได้มีความสุข ได้นอนตาหลับ หรือได้หายจากโรค หรือได้หายโง่หายหลง อย่างพวกครูนี่ก็ทำให้คน หายโง่ หายหลง พวกหมอก็ทำให้คนหายเจ็บหายไข้ พวกตุลาการ อาชีพตุลาการ ก็ทำให้มีความเป็น ธรรม ยุติธรรมอยู่ในโลกนี้ อาชีพอย่างนี้ มันช่วยให้เป็นปูชนียบุคคลได้
ดังนั้นในฐานะที่คุณเป็นหมอกันทั้งนั้น ที่มาบวชนี้ ก็ให้รู้ไว้ว่า ความประเสริฐ ของการได้เกิด มาในชาตินี้ มันก็คือความเป็นปูชนียบุคคล โดยอาศัยวิชาหมอ ก็เรามีเจตนาบริสุทธิ์ ที่จะช่วยคน ให้หายจากทุกข์ เรื่องเงินค่ารักษาค่าบริการนั้น เป็นของขี้ฝุ่น ให้มันมาอยู่ใต้ฝ่าเท้าเรา อย่า อย่ามาอยู่ บนหัวของเรา เราเผลอนิดเดียว มันก็กลายมาอยู่บนหัวเรา มันก็หมดความเป็นแพทย์ กลายเป็นหมอ ที่ขูดรีด ที่ชาวบ้านเขาเรียกกันอยู่ทุกวันนี้ เขาเรียกว่า หมอที่ขูดรีด ไม่ค่อยได้ยินคำว่า นายแพทย์ที่ ขูดรีด ส่วนที่คุณมีเมตตากรุณา เหมือนพระพุทธเจ้านั่นแหละ ทำให้เป็นปูชนียบุคคล และความรู้ เป็นผู้มีความรู้นี่ ก็ทำให้เขาหาย นี้เขาขอบใจ เขามีความรู้สึกขอบใจ เขาก็ตอบแทนเอง บางทีเขาจะให้ มากกว่า ที่เราจะคิดเสียอีก จะเรียกร้องเสียอีก
แต่ก็ต้องมียกเว้นว่า คนในโลกมันมาก คนที่อกตัญญูต่อหมอ มันก็ต้องมีบ้าง อย่าเห็นเป็น ของแปลก แต่มันคงไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ ๒ เปอร์เซ็นต์ ต้องยกไว้ ให้เป็นคนไข้พิเศษไป ช่างหัวมัน แต่เราจะรักษาด้วยดี ด้วยความรู้สติปัญญา สามารถอย่างเต็มที่ เอาความเป็นปูชนียบุคคลไว้ก่อน ถึงจะอยู่ในพวกที่ไม่เป็นคนไข้ของอวิชชา แต่เป็นปูชนียบุคคลไปได้ มันแก้กันได้โดยตรง โดยจริงจัง อย่างนี้ นั้นขอให้สนใจคำว่าวิชชา คำว่าอวิชชา เป็นจุดตั้งต้น เราเลิกเป็นคนไข้ของอวิชชาให้มากขึ้น มากขึ้น ๆ เป็นผู้ตื่นอยู่ด้วยวิชชา เป็นหมอ สมกับคำว่าเวชโช เป็นผู้มีวิชชา รายละเอียดเรื่องวิชชา เรื่องอวิชชามีอยู่ในพระคัมภีร์ ในหนังสือหนังหา ที่ผมพูดไว้แล้วในที่อื่นก็มีมาก ไปหาดู อ่านได้ แต่ทีนี้ก็พูดกันในส่วนที่มันเป็น apply แก่อาชีพของคุณ
เอาละทีนี้ เราก็พูดเรื่องวิชชา ที่เล็งถึงอริยสัจ ๔ ประการนี้ ออกไปอีกหน่อย เพราะมันเป็น จุดตั้งต้น ในคัมภีร์ โดยเฉพาะคัมภีร์ ที่เป็นคำอธิบายของพระไตรปิฏก อธิบายพระพุทธวจนะ เขาเปรียบอริยสัจ ๔ นี่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหมอนี้ อย่างในคัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นต้น ว่าอริยสัจที่ ๑ คือ ทุกข์นั้น ได้แก่ โรค อริยสัจที่ ๒ เหตุให้เกิดทุกข์นั้น ได้แก่ สมุฐาน(นาทีที่ 41:53) ของโรค อริยสัจที่ ๓ นิโรธนั้น คือ สภาพที่ปราศจากโรค อริยสัจที่ ๔ คือ อัฏฐังคิกมรรคนั้น เป็นวิธีทำให้ปราศจากโรค
อริยสัจทั้ง ๔ ซึ่งเป็นหัวใจเป็นตัวแท้ ของพุทธศาสนา กลายเป็นเรื่องโรค เรื่องรักษาโรค ไปโดยตรง นี่ก็ควรจะภาคภูมิใจว่า การเป็นหมอนี่ มันเกี่ยวข้องเข้ามา กับหัวใจของพุทธศาสนา คือเรื่องโรค เรื่องเหตุให้เกิดโรค เรื่องความไม่มีโรค เรื่องทางถึงความไม่มีโรค ผิดกันในตัวหนังสือ บางทีใช้คำว่าทุกข์ บางทีใช้คำว่าโรค บางทีใช้คำว่าโลก มันก็เหมือนกัน หมายถึงการเสียดแทง ทุกข์ก็เสียดแทง โรคก็เสียดแทง ไอ้โลกนี้ก็เครื่องเสียดแทง เพราะถ้ามันเป็นโลก มันก็โง่อยู่ด้วยอวิชชา มันก็เสียดแทง เผาลน
นี่เมื่อเราเอา ไอ้เรื่องของความเป็นแพทย์ เป็นหมอของเรา ไปเป็นเรื่องตัวแท้ของ พระพุทธศาสนา ได้อย่างนี้ มันก็ง่าย มันกลายเป็นเรื่องง่าย ในการที่จะเรียนจะรู้ จะปฏิบัติ เข้าใจได้ดี รู้เรื่อง ๔ เรื่องนี้ มันก็เป็นวิชชา ปราศจากความรู้ ๔ เรื่องนี้ มันก็เป็นอวิชชา ถ้าคุณเรียนวิชาแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยนี้ มันก็ไม่พ้นไอ้หัวข้อ ๔ หัวข้อนี้ ถ้าเราจะมาแยกด ูตามหลักทาง logic เป็นก็จะเห็นว่า ๔ หัวข้อนี้เอง ว่าอันนี้มันคืออะไร อันนี้มันมาจากอะไร อันนี้เพื่อผลอันใด อันนี้มันทำอย่างไร จึงจะได้ ผลอันนั้น มันเป็นเรื่อง logic ที่ใช้ได้ทั่วไป ทั้งเรื่องโรคทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณ ก็อยู่ในหัวข้อ logic เหล่านี้ ถ้าเคยคุ้นเคยกับการเป็นแพทย์ ทางกายทางจิตมาแล้ว มันก็จะง่าย ได้เปรียบคนเหล่าอื่น ที่จะมารู้เรื่องโรคหรือความเป็นแพทย์ ในทางฝ่ายวิญญาณ คือ ตัวพุทธศาสนา และตัวพระพุทธเจ้านี้ ขอให้รักคำว่า วิชชา ให้ พยายามเรื่องวิชชานี้ ก็จะได้กำจัดอวิชชา พร้อมกันไปในตัว โลก สัตว์โลก เป็นคนไข้ของอวิชชา
ทีนี้ก็จะพูดถึงสัตว์โลกนี่ เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับพวกคุณ ที่ยังใหม่นัก ต่อคำบัญญัติ เฉพาะต่าง ๆ ในทางศาสนา ทีนี้เราจะพูดคำว่า สัตว์โลกทั้งปวง ที่เป็นคนไข้ของอวิชชานะ มันมีพวกไหนบ้าง เกี่ยวกับคำพูดเรื่องนี้ มันต้องรู้ความหมาย ของคำ ๒ คำว่า ภาษาคนกับภาษาธรรม ทีนี้เราจะพูดอย่างภาษาคน ที่คนธรรมดาเขาพูด หรือเขาเข้าใจกันอยู่ก่อน เขาแบ่งโลกนี้ คือ สัตว์โลก คำว่า โลกในที่นี้หมายถึงคำว่า สัตวโลกทั้งหมดนี้ ออกเป็น ๒ พวก คือพวกที่อยู่ในทุกข์คติ กับพวกที่ อยู่ในสุขคติ ทุกข์คติ แปลว่า คติชั่ว คติเลว คติทราม คติที่เป็นทุกข์ สุขคติ นี่หมายถึง คติดี คติสะดวก คติสบาย คติที่เป็นสุข
ทีนี้คนมันว่าเอาเอง ภาษาคน คนก็ว่าเอาเอง คนปุถุชนธรรมดาก็คือคนโง่ ก็ไปแบ่งมันว่า สุขคติ ทุกข์คติ ทุกข์คติเขามี ๔ พวก สุขคติก็มี ๔ พวก ทุกข์คติก็ นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย เป็นทุกข์คติ ทีนี้สุขคติ ก็หมายถึง มนุษย์ แล้วก็เทวดา กามาวจร แล้วก็พรหม ที่เป็นรูปาวจร แล้วพรหมที่เป็นอรูปาวจร มันก็ได้อีก ๔ เป็น ๘ ภาษาชาวบ้านธรรมดา ภาษาญาติโยม ธรรมดา ชาวไร่ชาวนา ก็เรียกว่ามนุษย์นี้พวกหนึ่ง แล้วก็เทวดาในสวรรค์พวกหนึ่ง แล้วก็พรหมที่เป็น รูปพรหมพวกหนึ่ง เป็นอรูปพรหมพวกหนึ่ง เขาพูดกันติดปาก เรื่องอย่างนี้ เขาก็พูดกันมานานแล้ว จนจะไม่ค่อยพูดกันแล้ว คุณเกิดทีหลังก็ไม่ค่อยได้ยิน
ถ้าเคยอ่านหนังสือ ไตรภูมิพระร่วง ที่เป็นหลักสูตรมหาวิทยาลัย ทางอักษรศาสตร์ ก็มีเรื่อง อย่างนี้ ทุกข์คติเอาไว้ขั้นต่ำ สุขคติคือไว้ขั้นสูง พูดอย่างภาษาคนหรือภาษามนุษย์นี้ ก็เอานรกไว้ต่ำที่สุด แล้วสูงขึ้นมาชั้นหนึ่ง ก็เดรัจฉาน สูงขึ้นชั้นหนี่งก็เปรต สูงขึ้นมาชั้นหนึ่งก็อสุรกาย หมดเรื่องต่ำมาถึง เรื่องสูง อันแรกก็คือมนุษย์ในโลกธรรมดานี่ แล้วก็สูงขึ้นไปถึงเทวดาในสวรรค์ เขียนที่ฝาผนังโบสถ์ แล้วถึงจะรูปพรหม และอรูปพรหม ที่เขาพูดว่า ชั้นอกนิษฐ์ ชั้นอัฒนิฐ อัฒนิฐธา อัธนิฐ(นาทีที่ 49.15) นั่นก็พรหมชั้นสูงสุด
นี่มันพูดเรื่องอย่างสมมุติ อย่างภาษาโลก นรกก็เหมือนกับที่เขียนผนังโบสถ์ ถูกต้ม ถูกเผา เดรัจฉานที่เพ่นพ่านอยู่นี่ เปรตก็ที่ผอมโซ ทรมานอยู่ด้วยความเจ็บความไข้ อสุรกายก็เป็นผี ชนิดที่ มองไม่เห็นตัว ไม่มีตัว มนุษย์ก็คือผู้ที่อาบเหงื่อต่างน้ำ แลกกามารมณ์ ทีนี้สวรรค์ เทวดา สวรรค์นั้น ก็คือว่า เขาไม่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ เหมือนมนุษย์ แล้วก็เต็มไปด้วยกามารมณ์
นี้พวกพรหม เขาไม่ต้องการกามารมณ์ เขาต้องการความสุข ที่สะอาด ที่จืด ที่สนิท รูปพรหม ก็ต้องการความสุข ที่มาจากรูปธรรมที่บริสุทธ์ อรูปพรหมก็ต้องการความสุข ที่มาจากสิ่งที่ไม่มีรูป เป็นนาม เป็นเกียรติยศ ชื่อเสียง ทำนองนั้น ความดีความอะไร ที่มันไม่ใช่รูปธรรม ก็ได้ความสุขจาก อันนั้น ก็เป็นอรูปพรหม ถ้าพูดภาษาวัดแท้ ๆ ก็พูดว่า พรหมที่เข้าฌาน ของที่มีรูปร่าง มาเป็นอารมณ์ ของฌาน ได้ผลอันนี้เขาเรียกว่า เป็นรูปพรหม ถ้าเอาสิ่งที่ไม่มีรูป มาเป็นอารมณ์ของฌาน เข้าฌาน ได้ผลอันนี้ มีความสุขเรียกว่า เป็นอรูปพรหม
ก็จะเห็นได้ว่า มันเป็นชั้น ๆ สูงขึ้นไป ขนาดต่ำสุด แล้วก็สูงสุดนี้เรียกว่า โลกทั้งปวง แล้วก็ น่าหัวที่ให้ ๔ ชั้นต้นนี่เป็นทุกข์คติ และ ๔ ชั้นปลายว่าสุขคติ นี่ภาษาคน ภาษาชาวบ้าน เดี๋ยวเราจะพูด ให้เห็นว่า ทั้งหมดนี้ยังเป็นโรคทางวิญญาณ ทั้ง ๘ ชั้นนี้ เป็นโรคทางวิญญาณ แต่ว่าเป็นโรคที่อยู่กัน คนละระดับ ทำความเข้าใจ ในเรื่องทางภาษาคนกันอย่างนี้ก่อน แล้วก็เข้าใจภาษาธรรม ที่จะให้เห็นว่า ทั้ง ๘ พวกนี้ เป็นโรคทางวิญญาณ เป็นทุกข์นะ อันดับต่ำที่สุดนรก มันก็เป็นโรคอยู่ชัด ๆ แล้ว
นรก มีความหมายว่า เดือดร้อน อยู่ด้วยความเดือดร้อน ทางกายทางจิต มันเดือดร้อนเหมือน ไฟเผา เมื่อนั้นเรียกว่า นรก ทั้งสัตว์ในนรก ก็เป็นโรคทางวิญญาณ ชนิดที่เจ็บปวด ทรมาน ร้ายกาจ เป็นโรคเรื้อน หรือเป็นโรคมะเร็ง หรือเป็นโรคอะไร มันเดือดร้อนเหลือประมาณ เพราะนรก มีความหมายว่า เดือดร้อน โลกเดรัจฉานสูงขึ้นมา มันมีความหมายว่า โง่ สัตว์เดรัจฉาน คำว่าเดรัจฉาน มีความหมายว่า โง่ มันก็เดือดร้อน ทิ่มแทงจิตใจตัวเอง อยู่ด้วยความโง่ นี้มันค่อยยังชั่ว ที่ว่ามันไม่ค่อย เจ็บปวดเดือดร้อน เหมือนกับที่เอาไฟเผา เอาอะไรมาแทง แต่มันก็เป็นความทิ่มแทงอย่างลึกซึ้ง หรือความโง่ เราเจ็บปวดด้วยความโง่นี่ มันเจ็บปวดด้วยเอามีดมาเชือด แต่มันไม่รู้สึก หรือเห็นว่า ไม่เจ็บ ถึงกับเฉย ๆ ก็มี
ฉะนั้นเดรัจฉาน ก็เป็นโรคทางวิญญาณเต็มประตู คือความโง่ อยู่ด้วยอวิชชา ที่สูงขึ้นมาเปรต เปรต มีความหมายว่า หิว กระหาย ทะเยอทะยาน ด้วย ด้วยอวิชชา นี่พวกเปรตก็ไม่พ้นจากที่ความเป็น คนไข้ของอวิชชา มีความทุกข์ นี้อสุรกาย มีความหมายว่า กลัว เป็นอาณาจักรแห่งความกลัว คือ อาณาจักรแห่งอสุรกาย อสุร แปลว่า ไม่กล้าหาญ กาย แปลว่า พวก พวกที่ไม่กล้าหาญ มันก็เพราะ อวิชชาจึงทำให้กลัว หมดอวิชชาเมื่อไร เป็นไม่มีความกลัวอะไรเมื่อนั้น
แม้สิ่งที่เขากลัวกัน จะเป็นเสือ หรือเป็นความตาย หรือเป็นอะไรมันก็ไม่กลัว ก็มันรู้ว่า คืออะไร มันก็ไม่กลัว ถ้ามีวิชชา เพราะมีอวิชชามันจึงกลัว กลัวได้สารพัดอย่าง กลัวแม้กระทั่ง สิ่งที่ไม่ควรจะกลัว มันก็มีโรคทางวิญญาณ มีโรคของอวิชชาเสียดแทง นรก คือ ความเดือดร้อน เดรัจฉาน คือ ความโง่ เปรต คือ ความหิว อสุรกาย คือ ความกลัว นี่พูดภาษาธรรมนะ
ทีนี้มันไม่ได้อยู่ที่โลกอื่นนะ มันอยู่ในคนนั่นเอง คน ๆ เดียว ถ้าพูดภาษาคน การที่เขาเขียนว่า นรกอยู่ใต้ดินลึกลงไป ขุดเท่าไรก็ไม่รู้ มันลึกถึงศูนย์กลางโลก ที่หลอมละลายอยู่ นี่เห็นได้ว่ามันพูด หลับตาพูด ว่านรกอยู่ข้างล่าง สวรรค์อยู่ข้างบน ถ้าเรารู้วิทยาศาสตร์ เราจะรู้ว่าไม่มีข้างบนไม่มีข้างล่าง มันมีแต่ความดึงดูด รอบตัวของโลกไปสู่จุดศูนย์กลางของโลก นอกนั้นก็เป็นรัศมีที่แผ่ออกไป ไม่ใช่ ข้างบน-ข้างล่าง แต่ว่าสมัยโบราณ เขาก็พูดตามความรู้สึกว่า นรกมันให้อยู่ข้างล่าง จึงเขียนภาพ นรกอยู่ใต้ดิน เต็มไปด้วยเมืองยมบาลนี้ มันภาษาโลก ภาษาคน
ภาษาธรรม นรกอยู่ที่ความร้อนใจ ร้อนใจที่ตรงไหนเป็นนรกตรงนั้น เพราะนั้นมันอยู่ในคน ในมนุษย์นี้ เป็นโรคกำลังเดือดร้อนเหมือนไฟเผา อยู่ที่ไหนก็เป็นนรกที่นั่น เดี๋ยวมันก็หายไป มันโง่ มันก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน เดี๋ยวมันเกิดหิว ๆ อย่างไม่มีเหตุผล หิวทางจิตทางวิญญาณ ไม่ใช่หิวข้าว หิวอย่างจะถูกล็อตเตอรี่ หรือว่าหิวอย่างจะรับปริญญา อะไรก็ตาม ถ้ามันเป็นเรื่องหิว เกินขอบเขต แล้วมันก็เรียกว่า เป็นเปรต คือ หิว นี่ถ้ามันกลัวเมื่อไร กลัวสอบไล่ตกหรืออะไรก็ตาม แม้แต่กลัวตาย ก็เป็นเรื่องอสุรกาย คือ กลัว
นี่พูดถึงภาษาคน มันอยู่ที่อื่น เดรัจฉานก็อยู่ตามทุ่งนา เปรตก็อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ทั่ว ๆ ไป ตามภูเขา ตามทะเล อะไรก็แล้วแต่ ที่เขาจะพูดกัน อสุรกายก็เป็นผีที่ไม่เห็นตัว หลอกหลอนอยู่ในที่ ทุกหนทุกแห่ง นั่นพูดภาษาคนธรรมดา ที่เป็นคนไข้ของอวิชชา หรือถ้าเป็นผู้รู้ธรรมะ เป็นภาษาธรรม เป็นบุคคลที่มีธรรมแล้ว มันก็ทั้งนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกายนี่ มันอยู่ในจิตใจของมนุษย์ สวรรค์ใน อก นรกในใจ หมายความอย่างนี้
ที่เราก็จะพบทันที ก็คือ มนุษย์จะเป็น medium (นาทีที่ 57.31) เป็นอะไร เป็นจุด จุดศูนย์กลาง อันหนึ่ง ซึ่งมันจะเป็นอะไรก็ได้ นั้นเป็นแต่เพียงร่างกาย ในร่างกายอย่างมนุษย์ ที่ยาวประมาณวานึงนี้ ถ้ามีความร้อนใจ ก็มีความเป็นสัตว์นรกสิงอยู่ ถ้าโง่ก็มีความเป็นสัตว์เดรัจฉานสิงอยู่ ถ้าว่าหิว ก็เป็น เปรตอยู่ ถ้าว่ากลัวก็เป็นอสุรกายอยู่
ที่นี้ถ้า มันว่างจากความเป็นอย่างนั้น มันมาอยู่ในระดับธรรมดาสามัญ มีความต้องการอย่าง สามัญ ทำงานอยู่อย่าง เหงื่อไหลไคลย้อย ตามหน้าที่ของมนุษย์ เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ปรารถนาสิ่งที่ ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอย่างนี้ เราเรียกว่า ในร่างนี้มันมีมนุษย์ มีความเป็นมนุษย์สิงอยู่ แต่พอเมื่อใด มันไม่ต้อง เหน็ดเหนื่อย อาบเหงื่อต่างน้ำ มันได้เล่น ได้หัว ได้สนุกสนานร่าเริง ก็เรียกว่า เป็นเทวดา ชั้นกามาวจร เทวดาที่บริโภคกามารมณ์ แม้จะ ๓ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมง หรือสักครึ่งวัน สัก ๑ วัน ก็ได้
บางเวลา เรามีจิตใจเหมือนนรก เดรัจฉาน เปรต ก็แล้วแต่ แต่บางเวลา เราก็มีสบาย หลงใหล อยู่ในกามารมณ์ นี่เราเป็นเทวดา ก็บางเวลาเราก็เกลียดกามารมณ์ เราอยากจะอยู่นิ่ง ๆ อยากจะพักผ่อน นี่จิตมันน้อมเข้ามา เพื่อความเป็นพรหม เราไปพักผ่อนอยู่กับ เรื่องวัตถุ สิ่งของ ถ้าสบายอยู่ด้วย สิ่งเหล่านั้น ก็มีจิตใจเหมือนกับรูปพรหม แม้จะไปเล่นฟุตบอล เล่นแบดมินตัน เล่นอะไรอยู่อย่างนี้ ก็อาศัยวัตถุเหล่านั้นเป็นหลัก นี้ก็เรียกว่า อาศัยของที่มีรูปเป็นหลัก ให้เกิดความสบายใจอยู่
ทีนี้เราเห็นว่ารูปธรรม หรือวัตถุเหล่านี้ มันก็เกะกะ อยากจะพักผ่อน ให้มากไปกว่านั้น ไปนั่งอยู่ในความรู้สึก ที่เป็นความคิดนึก เป็นนามธรรม ถึงความดี ถึงเกียรติยศชื่อเสียง หรือความ ถูกต้อง หรือพอใจอยู่ในพวกคุณธรรมที่สูง ที่สะอาดกว่านั้น มันก็พอที่จะเป็นอรูปพรหมได้ นี่เรียกว่า พูดภาษาธรรมกันแล้ว พูดภาษาผู้รู้ ภาษาทางวิญญาณ ทั้ง ๘ อย่างนี้ มันรวมอยู่ในร่างกายที่ยาววาหนึ่ง
ทีนี้เราพูดอย่างภาษาคน มันพูดอุปมา ออกไปไว้นอกโลก นรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บน ข้างบนโน้น โง่ก็มีข้างใต้หรือมีข้างบน มันโง่ขนาดนั้น มันก็เป็นอวิชชา มันทำให้เกิดของเป็นคู่ ๆ ขึ้นมาว่า ข้างบน-ข้างล่าง ข้างซ้าย-ข้างขวา ข้างสูง-ข้างต่ำ ข้างดี-ข้างชั่ว ข้างหอม-ข้างเหม็น ข้างไพเราะ-ข้างไม่ไพเราะ นี่เกิดเป็นของคู่ ๆ ขึ้นมา หลอกให้โง่อย่างยิ่ง ขึ้นไปอีก
ดังนั้นเรื่องโลก เรื่องของความโง่ ภาษาคนนี่ มันจะมีของเป็นคู่ ๆ คือดีคือชั่ว คือบุญคือบาป ให้ยึดมั่นถือมั่น พอพูดถึงภาษาธรรมแล้ว มันไม่มีคู่ ภาษาที่จริงกว่า ไม่มีบน ไม่มีต่ำ ไม่มีสูง มี ไม่มี ไม่มีบน ไม่มีล่าง ไม่มีสูง ไม่มีต่ำ ไม่มีดี ไม่มีชั่ว ไม่มีร้อน ไม่มีเย็น ความรู้สึกธรรมดา เรารู้สึกว่า นี่มันร้อน นี่มันเย็น เป็นน้ำแข็งกับน้ำร้อน แต่ถ้าเราเรียนวิทยาศาสตร์ เรารู้ว่า มันเป็นสิ่งที่มีอุณหภูมิ ต่างกัน เท่านั้น มันมีแต่อุณหภูมิที่ต่างกันเท่านั้น ถ้าพูดกันในแง่ธรรมดา เราพูดว่า อุณหภูมิที่ต่างกัน เราพูดกลับกัน ซึ่งเราไม่ค่อยได้พูดกัน มันมีความเย็นที่ต่างกัน เราพูดว่า เรามีความร้อนที่ต่างกัน เรามีความเย็นที่ต่างกันก็ได้ วิทยาศาสตร์ก็มันมีอุณหภูมิต่างกัน มันเป็นของที่เหมือนกันอย่างเดียวกัน มันแล้วแต่ว่า ผิวหนังร่างกาย ความรู้สึกทางฟิสิกส์ของสัตว์ตัวนั้น มันมีมากน้อยอย่างไร เย็นของคน มันก็ยังไม่เย็นของสัตว์บางชนิด หรือมันกลายเป็นร้อนของสัตว์บางชนิดได้ แล้วแต่ว่าสัตว์ตัวนั้น มันมีร่างกายอย่างไร
นี่เราก็เลิกมีคำว่า คำคู่ ๆ สูง-ต่ำ เย็น-ร้อน แข็ง-อ่อน ก็ ก็หายไปหมด นี่วิชชามันตั้งต้นที่นี่ นั้นพูดอย่างพระพุทธเจ้า ผู้เป็นนายแพทย์ใหญ่ ของโลกทั้งปวงนี้ ไม่มีของที่เป็นคู่ มีแต่ทุกข์กับ ความทุกข์น้อย แล้วก็หมดทุกข์ มันมีแต่โรคกับความค่อยหายโรค แล้วก็จนหมดโรค มีเท่านั้น นั้นเราไม่ถืออันหนึ่ง เป็นสุขเป็นทุกข์ ให้มันมากไป ถือว่ามันมีทุกข์ก็แล้วกัน แล้วทุกข์มันน้อย ๆๆ จนหมดทุกข์ เป็นสมมุติเรียกว่า นิพพาน คือ ดับสนิทแห่งความทุกข์ อย่าพูดถึงความสุขขึ้นมา ถ้าพูดถึงความสุขขึ้นมา เรียกว่าพูดโฆษณาชวนเชื่อ ภาษาคนขึ้นมาอีก
ภาษาธรรมเขาไม่มีโฆษณาชวนเชื่อ คือไม่หลอกใคร บอกตรง ๆ ว่ามีแต่โรค แล้วก็ค่อย ๆ หายโรค แล้วก็หมดโรคเท่านั้นเอง มีแต่ทุกข์ เมื่อทุกข์ดับไป ๆ จนหมดทุกข์ มีเท่านั้นเอง เรียกว่า ภาษาธรรม หรือภาษาที่จริงกว่า เป็นปรมัตถ์ลึกซึ้ง ภาษาคนพาล คนโง่ ภาษาเด็กอ่อนนี่ มันก็มีของ เป็นคู่ ๆ มีสุขมีทุกข์ มีเย็นมีร้อน มีอ่อนมีแข็ง มีไพเราะมีไม่ไพเราะ มีหวานมีขม มีมันเป็นไม่รู้กี่คู่ กี่ร้อยคู่ พันคู่ เขาก็หลงกันอยู่ในคู่ ๆ นี้ อีกคู่ที่ร้ายกาจนี่ ก็เป็นคู่เป็นหญิงเป็นชาย ซึ่งต่อไปคุณจะรู้จัก มันมากขึ้นอีก ถ้ามีความหมายเป็นคู่แล้ว ก็จะเกิดความรู้สึกเป็นรัก และเป็นเกลียด นั่นก็คือ ตัวอวิชชา รักก็อวิชชา เกลียดก็อวิชชา
จำไว้ดี ๆ เรื่องของเป็นคู่ มันไม่มีอะไรนอกไปจากนี้ ถ้าอยากจะให้เป็นวิชชา ก็เลิกความเป็นคู่ มันรู้แจ้งตามที่เป็นจริงว่า มันไม่ได้เป็นคู่ นี้โลกทั้งปวง สัตว์โลกทั้งปวง ทั้ง ๘ ชนิดนั้น มันเต็มอยู่ด้วย อวิชชา เต็มอยู่ด้วยความถูกลวง ของความเป็นคู่ ความอยาก คือ กิเลสตัณหานี่ มันก็อยากในสิ่งฝ่าย ที่ต้องการ ที่มันตรงความที่ต้องการ เช่นหอม เช่นหวาน เช่นนิ่มนวล เช่นไพเราะ อะไรนี่ มันอยาก แล้วมันก็เกลียด ไอ้ที่ตรงกันข้าม มันก็เลยยินดียินร้ายอยู่ที่นี่ ยึดมั่นถือมั่นอยู่ทีนี่ ไม่ปล่อยทั้งหมดเลย นรกมันเดือดร้อน เป็นนรกเป็นโรค เพราะมันกำลังเดือดร้อน เหมือนกับไฟเผา เดรัจฉานมันเป็นโรค เพราะมันกำลังลำบากยุ่งยาก อยู่ด้วยความโง่ พวกเปรตเป็นโรค เพราะกำลังทรมาน อยู่ด้วยความหิว พวกอสุรกาย ก็เป็นโรคลำบากยุ่งยาก อยู่ด้วยความกลัว มนุษย์ลำบากยุ่งยาก อยู่ด้วยต้องอาบเหงื่อ ต่างน้ำ แลกของที่ต้องการ เทวดากามารมณ์ในสวรรค์ ก็กำลังเป็นโรค มันเปียกเปื้อนอยู่ด้วย กามารมณ์นั้น ๆ ด้วยกามาคุณนั้น ๆ
ทีนี้พวกพรหม ทั้งรูปพรหม มันก็เป็นโรคด้วยความติดฝิ่น ในความสุขที่ดีไปกว่านั้น กูมีความสุข กูบริสุทธิ์ กูสะอาดและพอใจตัวเอง พอใจตัวเอง เป็นสุขในตัวเอง แล้วก็ติดฝิ่นในโรคนี้ เป็นโรคติดฝิ่น ในรูปธรรมบริสุทธ์ ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ ทีนี้พวกอรูปพรหม มันก็เหมือนกัน จะเป็น ติดเฮโรอีน ด้วยซ้ำไปทีนี้ มันยิ่งกว่าติดฝิ่น ทีนี้พวกอรูปพรหมเหมือนกัน พวกพรหมชั้นสูงสุดนี่ มันติดเฮโรอีนของความสุข ที่เป็นทั้งบริสุทธิ์สูงสุด ที่มีความยึดมั่นถือมั่น เราเรียกว่า อรูปสุข ทั้ง ๘ พวกนี้ มันเป็นโรคอย่างนี้
ถ้าเรียกให้ดี มันก็มีความอยาก มีความหิวอยู่ทุก ๆ พวก ทั้ง ๘ พวกนะ แต่มันหิวต่าง ๆๆ กัน เปรตนี่มันหิวทางตัณหา ทางกิเลสกามารมณ์มากเกินไป ก็ยกให้เป็นอาณาจักรแห่งความหิว เพราะมัน หิวออกหน้าเกินไปก็เป็นเปรต แต่มนุษย์ก็มีความหิวในระดับมนุษย์ เทวดาก็มีความหิวอย่างเทวดา พรหมก็มีความหิวอย่างพรหม ถ้าหิวจนแผดเผาใจมากเกินไป ก็เรียกว่า เปรต นั่นมนุษย์นี่ มีโอกาส ที่จะเป็นเปรตเมื่อไรก็ได้ เทวดาหรือพรหมก็เหมือนกัน มันอาจจะกลายสภาพ มาเป็นเปรตเมื่อไรก็ได้ มันหิวจัดเกินไป นี่เขาเรียกว่า จุติ จุติจากความเป็นพรหม มาเป็นเปรตอีกก็ได้ มันยังเป็นปุถุชน ยังอยู่ในวงของปุถุชน ยังเป็นคนไข้ของอวิชชาเหมือนกัน ตั้งแต่นรกชั้นต่ำสุด อเวจี หรือนรกอะไร ก็ตาม มันมีชื่อหลาย ๆ อย่าง รวมแล้วเรียกว่า นรก นรกชั้นต่ำสุดขึ้นไปถึงพรหมชั้นสูงสุด มันเป็นคนไข้ของอวิชชา ทั้งนั้น
นี่ถ้ามีปัญหาเรื่อง คุณเองเป็นอะไร มันก็บางคราว ถ้าร้อนใจก็เป็นสัตว์นรก ถ้าโง่ก็เป็น สัตว์เดรัจฉาน ถ้าหิวก็เป็นเปรต ถ้ากลัวก็เป็นอสุรกาย ถ้าอาบเหงื่อต่างน้ำอยู่ก็เป็นมนุษย์ บ้ากามารมณ์ ก็เป็นเทวดา บ้ารูปสุขก็เป็นรูปพรหม บ้าอรูปสุขก็เป็นอรูปพรหม ทุกคนเป็นคนไข้ของอวิชชา นี่คือ โลกทั้งปวง ที่เป็นคนเจ็บ จะให้พระพุทธเจ้ารักษาเยียวยา แล้วเราพูดกันถึงเรื่อง คนไข้ทั้งปวง หรือสัตว์โลกทั้งปวง เป็นคนไข้ของอวิชชา มีโรคของอวิชชา อยู่ในรูปต่าง ๆ กัน เสียดแทงอยู่เสมอ
เวลาของเราก็หมด นกมันก็ร้องพอดี ดูนาฬิกาธรรมชาติก็มี เราก็ต้องยุติการบรรยายวันนี้ กันไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน