แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เริ่มบรรยายเมื่อนาทีที่ 00:30
การบรรยายในตอนนี้ คงเป็นการบรรยายสำหรับผู้บวชใหม่ ต่อไปเรื่อยๆก่อน เพราะว่าผู้บวชใหม่มีเวลาจำกัดอย่างหนึ่ง และควรจะได้ทำอะไรที่เป็นความถูกต้องไปตั้งแต่ต้นมือ และก็จะได้ไม่ต้องเสียใจทีหลัง จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามไม่ควรจะขาดประโยชน์ที่ควรจะได้ เพราะฉะนั้น ขอให้สนใจฟัง เพื่อให้ได้ประโยชน์เท่าที่จะได้
วันนี้ก็จะไม่มีเรื่องอะไรมาก นอกจากเรื่องที่เกี่ยวกับคำพูดสำคัญประโยคหนึ่ง ซึ่งพบในพระบาลีมากที่สุด อยู่ในรูปของพุทธภาษิตทั้งนั้น คือ พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสถึงการบวชของบุคคลผู้ออกบวชก็จะตรัสประโยคนี้ คือว่าเมื่อมีใครถามว่าสาวกในศาสนานี้ออกบวชเพื่ออะไรก็ตาม หรือเมื่อพระองค์จะทรงเล่าเองว่าไอ้ระเบียบการบวชในศาสนานี้มันตั้งต้นขึ้นมาอย่างไรและเป็นอย่างไร ก็จะตรัสถึงข้อที่ว่า ผู้ได้ฟังธรรม แล้วเข้าใจธรรมะอย่างทั่วถึงแล้วจะรู้สึกว่า การจะประพฤติพรหมจรรย์ดังที่กล่าวนั้น ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ด้วยดี เป็นการกระทำได้ยากเกินไป ดังนั้น เราจักปลงผมและหนวด ออกบวชจากเรือนถึงความเป็นผู้ไม่มีเรือน ประพฤติพรหมจรรย์นั้น
ประโยคที่สำคัญก็คือประโยคที่ว่า การจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ด้วยดี เหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้วนั้นทำได้ยากสำหรับการอยู่ครองเรือน จึงออกบวช สั้นเข้ามาอีกก็ว่า จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เหมือนสังข์-หอยสังข์ที่เขาขัดดีแล้วนั้น ต้องบวช พูดกันอีกกลับกันอีกทีหนึ่งก็ว่า บวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยดี เหมือนสังข์ที่เขาขัดแล้ว ขัดดีแล้ว นี่, ประโยคนี้มีเท่านี้ เพื่อจะประพฤติ พรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์-บริบูรณ์เหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้ว บริสุทธิ์ หมายความว่า สะอาด สังข์ที่ขัดดีแล้วมีความสะอาด ขาว นี่แหละคือ ความมุ่งหมายการบวช เพราะว่าจะทำขัดสังข์ให้ขาวไม่ได้ในความเป็นผู้ครองเรือน จึงออกบวช เราก็ควรจะอยู่ในพวกนี้ คือว่า ออกบวชนี้ก็เพื่อจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้ว อย่างอื่นดูไม่ ไม่ ไม่มีความสำคัญเท่า
เรื่องนี้ก็น่าแปลกเหมือนกัน คือว่าเปรียบด้วยหอยสังข์ที่เขาขัดดีแล้ว สังข์นี้มีอยู่ในทะเลเป็นสัตว์ทะเล ประเทศอินเดียส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าที่เสด็จไปเสด็จมาอยู่นั้นไกลทะเล ไกลเอามากๆ เพราะฉะนั้น หอยสังข์นี้คงเป็นสิ่งที่แพร่หลายในฐานะเป็นสิ่งที่สำคัญหรือมีค่า หรือมีความศักดิ์สิทธิ์อะไรสักอย่างหนึ่ง จึงมีทั่วไปถึงประเทศอินเดียส่วนที่มันไกลทะเลเหลือประมาณ แล้วทำไมจะต้องเปรียบกับหอยสังข์ด้วย? เอาละเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรก็ตามใจ เรามันอยู่ใกล้ทะเล เห็นหอยสังข์ สังข์ที่เขาขัดดีแล้วเป็นอย่างไร? ก็ถือเอามาทำไว้ในใจ-กันลืม ว่าบวชมาขัดหอยสังข์กันก็ได้ มันกันลืม พรหมจรรย์ เปรียบเหมือน หอยสังข์ เขาขัดจนขาวถึงที่สุด
ทีนี้ มันก็มามีปัญหาตรงคำว่า พรหมจรรย์ คืออะไร? ตัวหนังสือมันแปลว่า การประพฤติ หรือความประพฤติที่ประเสริฐสูงสุด คำว่า พรหม นี่ถ้าไม่เป็นชื่อของสัตว์บางชนิด แล้วมันหมายความว่า มันมีความหมายว่า ประเสริฐที่สุด สูงสุด พรหมจรรย์ - ประพฤติประเสริฐที่สุด มีความหมายในภาษาบาลี-กว้าง มีความหมายในภาษาไทย-แคบนิดเดียว เพราะเหตุใดก็อย่าไปรู้มันก็ได้ ว่า พรหมจรรย์ ในภาษาบาลีหมายถึงเรื่องอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับผู้หญิง เกี่ยวกับอะไรทางนั้นเสียมากกว่า นี่, น่าหัว หรือน่าสงสาร จน พรหมจรรย์ ในภาษาบาลีของพุทธศาสนา ก็หมายถึง การประพฤติปฏิบัติทั้งหมดในพระศาสนาเพื่อไปนิพพาน เพื่อบรรลุผลสุดท้าย คือ นิพพาน ภิกษุนี้ คือ ผู้ประพฤติ พรหมจรรย์ แต่ละคน ละคน เป็นเพื่อน พรหมจรรย์ ด้วยกัน ประพฤติ พรหมจรรย์ ร่วมกันเรียกว่า สพรหมจารีย์ (นาทีที่ 9.33) เหมือนที่เราสวด เพื่อเตือนตนเองว่า สพรหมจารีย์หิปุจฉโถ (นาทีที่ 9.36) เพื่อน พรหมจรรย์ ด้วยกันถาม เราต้องไม่เก้อเขิน เพราะเรามีอะไรดีพอที่จะไม่เก้อเขิน นี้ก็แปลว่าทุกๆรูป ที่เป็นนักบวชนี้ เป็นผู้ประพฤติ พรหมจรรย์
ในที่บางแห่งบางสูตรในบาลี ท้าวสักกะเทวราชประกาศตัวเองเป็น สพรหมจารีย์ แก่ภิกษุ มีเหมือนกัน (นาทีที่ 10.12) นี้มันเป็นเรื่องพิเศษ จะเป็นตามธรรมเนียมหรือพูดแต่ปากก็ได้ หรือว่าถ้าตั้งใจจริง ๆ ถ้า ถ้าพูดด้วยใจจริง ก็หมายความว่าเป็นผู้ตั้งใจจะประพฤติอย่างเดียวกับภิกษุ แต่ว่าภาษาพูดมันดิ้นได้ กำกวมได้ นับถือศาสนาร่วมกันนั้นก็เรียกว่า เป็น สพรหมจารีย์ (นาทีที่ 10.53) ต่อกันอย่างนี้ เราไม่เอาไอ้เรื่องเหล่านั้นเป็นประมาณ เอาเรื่องของภิกษุเรื่องบรรพชิตอย่างเดียวเป็นหลัก ประพฤติ พรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์ ให้เหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้วอย่างสุดความสามารถ
ทีนี้ตัว พรหมจรรย์ของภิกษุ นี้คืออะไร? ถ้ามันไปตอบกันอย่างนักเรียนปริยัติในโรงเรียน มันก็อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้นเสียก็มากเข้า ๆ จนในที่สุดมันก็เวียนหัว รู้แบบรู้มากแล้วก็ไม่รู้จะเอายังไง เพราะฉะนั้น ขอให้ระบุลงไปยังไอ้สิ่ง ๓ สิ่ง ที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา นี่, พูดอย่างนี้ก็เป็นภาษาแขก ใช้คำว่าอย่างนี้ พูดว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ยังเป็นภาษาแขก ภาษาต่างประเทศ เป็นภาษาเฉพาะ นี่พูดเป็นภาษาความหมายเสียเลย ไม่ใช่ภาษาไอ้..ไอ้คำ คำที่เป็น..เป็นคำพูดเฉพาะที่เรียกว่าพยัญชนะ เช่น ศีล สมาธิ ปัญญา นี้ก็เรียกว่าเป็นคำภาษาหนังสือหรือพยัญชนะ ไม่สนใจก็ได้ถ้าสามารถจะจับเอาความหมายของมันได้ ความหมายของมันก็มี ๓ ข้อ ตามนั้นแหละ นี่, คอยฟังให้ดี นี่, แล้วมันจะง่ายนิดเดียว ทั้ง..ทั้งในการจำและการปฏิบัติ
ถ้าพูดถึง ศีล ก็คือว่า ไม่มีผิด ไม่มีความผิด ไม่มีผิด เรียกว่า ไม่มีผิด หรือจะพูดว่า ไม่สกปรก ไม่เศร้าหมอง ไม่มีตำหนิอะไรก็ได้ แล้วแต่จะพูด พูดกลาง ๆ ก็ว่า ไม่มีผิดทางกาย วาจา
ข้อ ๒) สมาธิ ก็คือไม่มีผิด ไม่มีการกระทำผิดในทางจิต
แล้วก็ที่ ๓) ก็ไม่มีการกระทำผิดในทางความคิดเห็น หรือ ที่เรียกว่า ปัญญา ถ้าจำคำเหล่านี้ได้ ก็ไปหาคำอธิบายเอาเองได้ ไม่มีผิดในทางกาย ทางวาจา ก็คือ มีกาย วาจา สะอาดบริสุทธิ์ เหมือนสังข์ที่ขัดไปแล้วส่วนหนึ่ง ขั้นหนึ่ง ทีนี้ ก็ไม่มีผิดทางจิต คือ จิตก็บริสุทธิ์ แต่บริสุทธิ์อย่าง อย่าง อย่าง อย่างของจิตหรือในขั้นของจิตยังไม่หมด ก็ต้องถึงไอ้ขั้นที่ ๓ ก็คือว่า ไม่มีผิด ไม่มีการกระทำผิด หรือไม่มีความผิดในทางความคิดเห็น คือ ปัญญา ในเรื่องของ ปัญญา
เพราะฉะนั้นเราต้องแยกให้เห็นชัดว่ามันต่างกันอย่างไรไอ้กาย-วาจานี่ เข้าใจได้แล้วว่ามันส่วนข้างนอก คือ การทำ หรือการพูด ทีนี้ จิต นั้นหมายความว่า ถ้าตั้งไว้ผิด มันก็ร้อน เป็นความร้อนด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลงอะไรขึ้นมา จนร้อนใจ คือ จิตไม่สงบ ถ้าตั้งไว้ผิด-จิตจะไม่สงบ ถ้าตั้งไว้ถูกมันก็พอจะมีความสงบ คือ หาความสุขได้ แต่ไม่ ไม่สว่างไสว ไม่บริสุทธิ์ถึงที่สุด เพราะฉะนั้น จึงมีเรื่องอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องสุดท้ายคือ เรื่อง ปัญญา แปลว่า ความเข้าใจ ความรู้ความเข้าใจ ความคิดเห็น ความอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับ ปัญญา ต้องถูกต้องด้วย เราไม่ทำผิดทางกาย ทางวาจา ก็มีความสบายเป็นส่วนหนึ่งแล้วมันไม่กระทบกระทั่งใครแน่ ถ้าทำไม่ผิดทั้งกาย ทางวาจา ถ้าผิดทางกาย ทางวาจา มันก็ไปกระทบคนนั้นคนนี้เข้า มันพลอยยุ่งไปหมด ทีนี้ ก็พยายามทำให้ไม่มีผิดในขั้น ขั้น ขั้นต้น คือ ทางกาย ทางวาจา มันเหมือนกับเอาหอยสังข์มาลิดหนามออก ยังไม่ทันจะขัด
ทีนี้ขั้นต่อไป มันก็ ไม่ให้เกิดความผิดในทางจิต คือ จิตขุ่นขึ้นมา มี นิวรณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นความขุ่น เป็นความร้อน เป็นความมืดมัว เป็นความรำคาญ เป็นความทรมานอะไรขึ้นมา-อย่าให้มันมี อย่างนี้เรียกว่า ไม่ ไม่ ไม่ผิดในทางจิต ไอ้ผิดทางจิตนี้มันเดือดร้อนอยู่คนเดียว เพราะว่าลำพังแต่คิดอยู่ในใจมันทำคนอื่นให้เดือดร้อนไม่ได้ ไม่เหมือนกับทางกาย ทางวาจา ทีนี้ เราคนเดียวก็ไม่ ไม่ ไม่เดือดร้อนแล้ว แต่ก็ยังโง่ มันไปเดือดร้อนอย่างลึกซึ้ง อย่างไม่รู้สึกตัว มีความทุกข์อย่างไม่รู้สึกตัว เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นดีเป็นชั่ว ให้มัน กลับกันอยู่ มันต้องมีความถูกต้องในทาง ปัญญา นี้อีกทีหนึ่ง ทิฏฐิ ความเห็นนั้น ต้องเป็น สัมมาทิฏฐิ ไม่ใช่ มิจฉาทิฏฐิ อาจจะใช้คำภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ มาช่วยแบ่งเขต จำกัดเขต ทาง Physics คือ ทางเนื้อหนัง แล้วก็ทาง Mental คือทางจิต และทาง Spiritual คือ ทาง ปัญญา หรือทาง วิญญาณ ถ้าไม่มีความผิดใน ๓ ทางนี้แล้ว มันก็เรียกว่าไม่มีอะไรที่จะผิด มันก็เหมือนกับสังข์ที่ขัดดีแล้ว ในขั้น ศีล ก็เหมือนกับรูป ละรูป ไอ้ ลิด ลิดหนามหอย หอยออก ขั้น สมาธิ ก็เหมือนกับขัดให้มันได้รูปหรือเสมอไป ในขั้น ปัญญา ก็ขัดเป็นเงาขาวเลย
ถ้าเราตั้งหลักไว้อย่างนี้แล้ว มันจะทำไปได้เอง ถูกเอง แม้เราจะไม่ได้เรียน สิกขาบท เรียน ปาฏิโมกข์ เรียนอะไรต่าง ๆ อย่างที่สอน ที่ท่องอะไรกันอยู่นี้ ก็ยังไม่อาจจะทำผิดเหมือนกัน คือว่า ไอ้ส่วนที่มันไม่รู้มันก็ยังไม่เป็นอันตรายอะไร ส่วนที่ยังพอจะรู้ได้ด้วยสามัญสำนึกนี้มันก็มาก เพราะฉะนั้น ขอให้เข้าใจว่าไอ้เรื่องศีล นี่ ไม่ใช่เหลือวิสัยที่จะรู้ หรือเหลือวิสัยที่จะคิดนึกเอาเองว่ามันเป็นอย่างไร อะไรควรจะห้าม อะไรควรจะไม่ห้าม ถ้าใช้สติ ปัญญา สักหน่อย แล้วก็เป็นคนบริสุทธิ์ใจ คือ ซื่อตรงต่อตัวเอง คิดนึกอะไรออกไปมันก็ต้องรู้ว่านี่ผิดหรือนี่ถูก นี่ควรทำ นี่ไม่ควรทำ เดี๋ยวนี้มันเป็นคนคด ขบถ หรือหลอกลวงตัวเอง เพราะฉะนั้น ก็เลยไม่รู้ว่าอะไรจะไม่ควรทำ อะไรควรทำ เพราะมันอยากทำตามกิเลส อำนาจของกิเลสมันมีมากกว่าไอ้ความรู้สึกผิด ชอบ ชั่ว ดี มันก็ตัดสินใจไปในทางที่ว่า จะทำ ตามที่กิเลสทำ แล้วเมื่อไม่มีใครมาห้าม หรือว่าไม่รู้เรื่อง เรื่อง ศีล เรื่องวินัย ก็เลยไม่ต้องถือ นี่เพราะมันหลอกลวงตัวเอง
ถ้าเราเป็นคนซื่อตรงต่อตัวเองโดยบริสุทธิ์ใจแล้ว มันก็รู้ว่าอะไรไม่ควรทำทางกาย ทางวาจา คือว่าถ้ามันทำลายผู้อื่น ทำลายตัวเองแล้วก็มันไม..ไม่ควรทำ นึกถึงอกเขา/อกเรา ว่าเมื่อเราก็ไม่ชอบ เขาก็ไม่ชอบ สิ่งนั้นก็ไม่ควรทำแน่ นี่, ถือหลักเกณฑ์เท่านี้ก็พอที่จะมี ศีล ทั้งหมดในพระ ใน ใน ในพระปาฏิโมกข์ หรือในอะไรก็ตาม เมื่อถือหลักอย่างนี้ก็จะมี ศีล บริสุทธิ์ไปตั้งแต่แรกบวช ยังไม่ทันจะลง ปาฏิโมกข์ ทางพุทธกาลก็ไม่ใช่ว่าจะมีการลง ปาฏิโมกข์ ที่หาได้โดยง่าย ผู้ที่อยู่ในที่ที่ไม่อาจจะมี ปาฏิโมกข์ ก็มี แต่โดยเหตุที่เขาเป็นคนซื่อตรงต่อตัวเอง เขาจึงรู้ได้ด้วยสามัญสำนึก อย่างนี้ไม่ควรแน่ นี้ไม่ควรแน่ นี้ไม่ควรแน่ เขาตั้งใจมาจากบ้านแล้วว่าจะทำให้ดีที่สุดเหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว เพราะฉะนั้น จึงมี ศีล
ทีนี้พอมาถึงขั้นที่สอง ขั้นจิต คือ นิวรณ์ ก็รู้ได้เองอีกว่า ความคิดที่เอียงไปทางกามารมณ์-ไม่ดีแน่ สั่นหัว ความคิดที่ในทางเกลียดชัง พยาบาท โกรธแค้นเขา-ก็ไม่ดีแน่ ไม่ต้องมีใครมาบอกหรอก มันรู้ได้ด้วยสามัญสำนึก
ทีนี้ที่ ๓ ถีนมิทธะ ความที่จิตใจมันอ่อนเพลีย เอือมระอา มึนชา ง่วงเหงา มันก็ไม่ดีแน่เด็ก ๆ มันก็รู้
ทีนี้อันถัดไปว่า อุทธัจจกุกกุจจะ ฟุ้งซ่าน ฟุ้งเฟ้อ ความคิดที่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ้งซ่าน ซึ่งธรรมดาใคร ๆ เขาก็เกลียดทั้งนั้น
อันสุดท้ายเขาเรียกว่า วิจิกิจฉา ก็แปลว่า ความลังเล โดยเนื้อแท้คือ ความไม่แน่ ความมีใจไม่แน่นอนลงไปว่าจะเอาอย่างไร นี้ก็เป็นสิ่งที่น่าเกลียดชัง แล้วมีความทุกข์ แล้วก็น่าติเตียน ตามหลักธรรมะ บัญญัติความผิด หรือความเลว หรือความไม่สะอาดในทางจิตไว้เพียงเท่านี้ นิวรณ์ ๕ อย่าง
ทีนี้ถ้าว่าเราถือหลักแต่เพียงว่า เราจะมีใจคอที่โปร่ง ที่แจ่มใส ไม่ร้อน ไม่มัว ไม่อะไรเหล่านี้ มันก็ถูกของมันเองในตัว อย่างออกบวชมาแล้วถ้าใจมันยังเอียงไปในทางกาม มันก็ไอ้นี่บ้าแล้ว มันก็ไม่เอาได้โดย โดยความรู้สึกตามสามัญสำนึก ในเรื่องโกรธ ชาวบ้านเขาก็รู้ว่ามันไม่ดี แล้วทำไมนักบวชจะไม่รู้ ผลมันก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราจึงถือหลักรวมมาเสียว่า ไอ้ความไม่สะอาดในทางจิต ของจิต ความไม่สะอาดของจิตนี้จะต้องสลัดไปหมด ด้วยสามัญสำนึกก็ทำได้ ขอให้มันมีใจซื่อตรงบริสุทธิ์ต่อตัวเอง ขอให้รู้ไว้ด้วยว่าไอ้วินัย ศึกษาบทต่าง ๆ มันเกิดขึ้น เพราะ คนเลวเข้ามาบวช ตามหลักฐานที่มีอยู่ในพระบาลี วินัยต่าง ๆ เพิ่งบัญญัติเมื่อมีคนมาบวชมากเข้า มากเข้าจนมีเรื่องนั้น จึงได้บัญญัติ อย่างในสมัยแรก ๆ มีพระปัญจวัคคีย์ มีสาวกตั้ง ๖๐ รูป หรือเป็นร้อยเป็นพันรูปขึ้นมาแล้วก็ยังไม่ได้บัญญัติวินัยเลย เพราะมันคนดีทั้งนั้น ภายในไม่กี่เดือนก็มีพระอรหันต์ ๑๒๕๐ รูป เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้ไม่มีเรื่องวินัย ไม่มีบัญญัติวินัย ไม่มี ปาฏิโมกข์ ไม่มี เพราะมันยังไม่ต้องบัญญัติ
ต่อมาอีกกี่ปีก็ไม่ทราบ มันจึงจะมีเรื่องบัญญัตินั่น บัญญัตินี่ บัญญัติโน่นเข้ามา แล้วก็เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆไปก่อน ไอ้เรื่องใหญ่ เรื่อง ปาราชิก เรื่องอะไรนี่ยัง..ยังไม่มี หลายปีเต็มทีจึงจะมีเรื่องชนิดที่ต้องบัญญัติไอ้ปาราชิก นี้ ในชั้นแรกก็มีวินัยพวก อภิสมาจาร ก่อน ว่า สัทธิวิหาริก จะต้องปฏิบัติต่อ อุปัชฌายะ-อาจารย์ อย่าง อย่างไงนี่, นี่, พวกนี้บัญญัติก่อน ไอ้ตัว ปาฏิโมกข์ แท้ ๆ เพิ่งมี เพิ่งบัญญัติทีหลัง เมื่อมีคน คนไม่ซื่อตรงต่อตัวเอง คนไอ้ทุจริตมาบวชเข้ามาในนี้ ทีแรกมีแต่คนดีบวชไม่ต้องบัญญัติวินัยอะไรเลย ทีนี้ คนดีแต่ยังไม่รู้ขนบธรรมเนียมประเพณี มันมีความเสียหายขึ้นแก่การปกครองของหมู่คณะที่มันมากเข้า มากเข้าถึงต้องบัญญัติอันนี้ก่อน ถ้าสมมติว่าเราแต่ละองค์ ละองค์ เป็นคนดี เป็นผู้เข้ามาบวชที่ดีก็ ก็ไม่ต้องบัญญัตินะ ก็ไม่ต้องจำเป็นที่จะต้องเรียนวินัยก็ได้
แต่เดี๋ยวนี้มันมีคนเลว นี่, ต้องพูดตรง ๆ ว่ามันมีคนเลว แม้ในวัดนี้ก็มีพระเณรที่เลว ที่มีจิตใจที่ไม่ประกอบด้วยธรรม ที่ว่าไม่พินิจพิจารณาอะไร เอาแต่ความสะดวกปาก สะดวกมือ สะดวกเท้าของตน ทำนั่นทำนี่ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมาย ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายมาแต่บ้านว่าจะเข้ามาประพฤติ พรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์สมบูรณ์ เหมือนสังข์ที่ขัดแล้ว เพราะฉะนั้น ก็มีไอ้การพูด การทำอะไรเป็นนักเลง เป็นอันธพาล เป็นอะไรอยู่ไม่น้อย ในการพูดการจาต่อเพื่อนภิกษุ-สามเณรด้วยกันอย่างนี้ นี่, มันเป็น...มันเป็นสิ่งที่มัน มันอยู่คนละระดับหรือเดินคนละทาง มันจึงจำเป็นต้องมีวินัย มีอะไร ชนิดที่สำหรับคนเลว
เพราะฉะนั้น ปาฏิโมกข์ ๒๒๗ สิกขาบท นี่, มันสำหรับคนเลวทั้งนั้นแหละ คนเลวมาก ไม่มากก็น้อย ไปอ่านดูตัว ปาฏิโมกข์ ทั้ง ๒๒๗ สิกขาบท มันสำหรับคนเลวทั้งนั้นที่จะทำ ถ้าเรามีจิตใจสูงพอสมควรแล้วมันทำไม่ได้เอง ในตัว ปาฏิโมกข์ ทั้งหลายนั้น แม้แต่จะหยอกจะล้อกัน หรือว่าจะพูดกระทบกระเทียบกัน เงื้อมือกัน นี่, มันก็มีไม่ได้ เป็นผู้ดี เป็นมีสมบัติผู้ดีหน่อย ก็จะไม่ต้องข้องแวะกับไอ้ สิกขาบท เหล่านั้น นี้มันยังไกลกันอยู่กับข้อที่ว่าประพฤติ พรหมจรรย์ เหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว ซึ่งมันเป็นเรื่องสำหรับคนดีเคารพนับถือตัวเอง บูชาความดี ไม่มัวยกหูชูหางอะไรอยู่
นี่มันเป็นความจริงที่จะต้องพูด พอเรียนอะไรจำได้หน่อยก็ยกหูชูหางว่าเรา เราเก่งกว่าคนที่จำไม่ได้ พอสอบไล่อะไรได้หน่อย ก็ยกหูชูหางว่าเราก็เก่งกว่าคนที่สอบไล่ไม่ได้ หรือเรามีฝีไม้ลายมือในการขีดการเขียน การอะไรหน่อยก็ เอ้า ยกหูชูหางว่าเราเก่งกว่าคนที่ทำไม่ได้ แม้ในแง่อื่น ๆ ในการงาน ศิลปะ อะไรก็ตาม มันเป็นเรื่องสำหรับที่จะมีการยกหูชูหาง มีไปเตลิดเปิดเปิงไปตามนี้ มันก็สำนึกตัวไม่ได้
เพราะฉะนั้น ขอให้มุ่งตรงไปยังว่า เราไม่ต้องการจะมาเอาสิ่งเหล่านี้ เราต้องการจะประพฤติ พรหมจรรย์ ขัดหอยสังข์ ระวังกาย-วาจาไม่ให้ไปสกปรกเข้า จิตไม่ให้ไปสกปรกเข้า ทิฏฐิ-ความคิดความเห็นก็ไม่ให้ไปสกปรกเข้า เรื่อง ทิฏฐิ-ความคิดความเห็นนี้ มันไปชั้นลึก มันไม่เบียดเบียนใคร มันไม่เป็นบาปขนาดหนัก มันเป็นบาปขนาดละเอียด เป็นความเศร้าหมองขนาดละเอียด แต่ถ้าไม่รู้มันก็ทำให้มีความทุกข์ คือไม่รู้ดี ไม่รู้ชั่ว ไม่รู้ไอ้ความจริง จนถึงกับว่าไม่ยึดถือดี-ชั่ว
ไอ้เรื่อง ศีล เรื่อง สมาธิ นี้ มัน มัน มันเป็นเรื่อง กันความชั่วไป แล้วพอดี พอสบายเข้า มันก็ไปยึดถือแล้ว มันจึงต้องมีไอ้ ไอ้ ไอ้จิตที่เก่งกว่านั้น คือ ปัญญา คือจะไม่ยึดถือดีหรือชั่ว นี่, จิตไอ้ไอ้ไอ้ วิญญาณ แท้ ๆ สติ ปัญญา แท้ ๆ จึงจะสะอาดอีกทีหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่นว่า ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิดอย่างนี้ ถ้ามีความเห็นผิดมันก็เรียกว่ามันชั่วในฝ่าย ทิฏฐิ - ความคิดความเห็น ไม่ได้ชั่วฝ่ายจิต หรือฝ่ายกาย วาจา คำว่า ทิฏฐิ หมายความว่าอย่างนี้ ทีนี้ ไปยึดมั่นความดีเข้า ก็เป็นทุกข์เพราะความดี อย่างนี้ไม่ผิดในทาง ศีล ไม่ผิดในทาง สมาธิ แต่ว่าผิดในทางปัญญา นี้จึงเข้าใจยากอยู่ในอันที่ ๓ นี่, คือ ปัญญา ความคิดเห็นจะถูกต้องอย่างไร เข้าใจยาก ก็ต้องดูไอ้คนที่มีความดีแล้วนอนไม่หลับ คนที่ไม่ทำชั่วแล้วมีแต่ความดีแล้วก็ยังนอนไม่หลับ เพราะความเห็นหรือ ทิฏฐิ หรือความเข้าใจอะไรบางอย่างมันไม่ถูก มันก็รบกวนด้านลึก ส่วนลึกของจิต คือทาง วิญญาณ ทางสติ ปัญญา
ทีนี้ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านธรรมดาก็
๓ อย่างนี้ก็คือ พรหมจรรย์ ถ้าพูดเป็นความสะอาดก็ ก็ได้
ทีนี้ถ้าสมมติว่าเราไม่รู้หรือไม่สนใจกับคำ ๓ คำนี้ ก็ถือเอาไอ้ความไม่ผิด หรือความถูกต้อง หรือความสะอาดในความรู้สึกทั้งหลาย เท่าที่เราจะทำได้ก็ทำให้หมด และเท่าที่เรายังไม่ทราบก็ค่อยไต่ถามต่อไป มันไปอยู่ไอ้ส่วนลึก ส่วนที่จะปล่อยวางหรือไม่ยึดมั่นถือมั่น เว้นชั่ว ทำดี และจิตสะอาด ไม่ยึดถือชั่วหรือดีนั้น นั่น แหละคือ หมดกันเท่านั้นเอง พรหมจรรย์ มีเท่านั้น พรหมจรรย์ ขั้นมาลิดหนามหอย ก็คือว่า ไม่ ไม่ทำชั่ว ขณะ ขณะที่มาทำให้เที่ยงลงไปอีก ราบลงไปอีก ได้รูปได้ร่างนี้ มันคือ ทำดี ทีนี้ก็ไม่ยึดถือทั้งชั่วและดี คือ มีจิตใจบริสุทธิ์แท้นี้ก็ถือว่าขัดเงา ขัดเงาให้เป็น เป็นเงา
แล้วทีนี้ขอให้เข้าใจว่าการพูดอย่างนี้ ไม่ใช่พูดเพื่อให้เกิดความเฉื่อยชา ท้อถอยในการศึกษาเล่าเรียน เดี๋ยวจะเข้าใจว่า พูดเพื่อให้ไม่ต้องเรียนศึกษาวินัย ไม่ต้องเรียนอะไร มันก็ค่อย ๆ เรียน ค่อย ๆ ไป มันก็จะเข้า เข้าใจเพิ่มขึ้น และเข้าใจสิ่งที่เข้าใจทีแรกนี่, มากขึ้น พูดเพื่อให้รู้จักถือหลักชนิดที่มันจะผิดไม่ได้ไปตั้งแต่ทีแรก ไอ้คำว่าจะทำผิดไม่ได้ไปตั้งแต่ไม่ทันจะเรียน ปาฏิโมกข์ มันจะมีได้ด้วยวิธีอย่างนี้ เพราะว่าเรายังไม่ได้เรียนแม้แต่ ปาฏิโมกข์ เรายังไม่ได้เรียนแม้แต่การทำ สมาธิ ไม่ได้เรียนอะไรอีกมากมาย เพราะฉะนั้น เราจะไม่ผิดในเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร ก็ต้องอย่างโดยวิธีอย่างที่ว่านี้ เพราะฉะนั้น คนไม่รู้กฎหมาย จะไม่ผิดกฎหมายได้ด้วยวิธีใด มันใช้สามัญสำนึก หรือถือความบริสุทธิ์ใจเป็นหลัก ก็มันก็ไม่มี มันก็ยากที่จะทำอะไรผิดกฎหมาย ในทางวินัยก็เหมือนกันนี้ ซื่อตรงต่อตัวเองเข้าไว้มันจะถูกของมันไปหมด เพราะอย่างน้อยมันก็สอนให้พอทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง มันจะมีความทุกข์ขึ้นมาลงโทษทันที ทุกข์อย่างหยาบ ทุกข์อย่างกลาง ทุกข์อย่างละเอียด มันจะเกิดขึ้นมาลงโทษผู้ทำผิดทันที ไอ้ความทุกข์นั่นแหละเขาเรียกว่า ความสกปรกถึงที่สุด กิเลสก็สกปรก แต่ถ้าถึงกับมีความทุกข์แล้วก็คือสกปรกถึงที่สุด เพราะฉะนั้นอย่ามีอะไรที่มันรู้สึกว่ามันสกปรก
นี่คือความหมายของคำว่า ประพฤติพรหมจรรย์ ให้เหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว เป็นพุทธภาษิต พูดถึงไม่ ไม่รู้ว่ากี่สิบครั้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น ผู้บวชใหม่ลองนึกถึงหลักอันนี้เถอะ มันจะเป็นไอ้เครื่องคุ้มครองปลอดภัยที่สุด แล้วก็ค่อย ๆ ค่อย ๆเรียนไป เรียนศึกษาบทเรียน ปาฏิโมกข์ อะไร จะพบว่า อ้าว มันก็อยู่ที่ตรงนี้ ทุก ๆข้อมันจะมาอยู่ที่ตรงนี้ เพราะเป็นคนไม่สะอาด ไม่ซื่อตรงต่อตัวเอง มันจึงผิด ผิดข้อนั้น ผิดข้อนั้น ผิดข้อนั้น ทีนี้ เราเอาเครื่องรางอันเดียวศักดิ์สิทธิ์มาคุ้ม คุ้มเราไว้ มันก็ไม่ทำผิดทุกข้อ ความรู้สึกซื่อตรง เคารพตัวเอง นับถือตัวเอง บริสุทธิ์ใจ เพราะฉะนั้นถือ ศีล ตัวใหญ่ตัวเดียวนี้ไว้ก่อนเถอะ จะมี ศีล ทุกข้อ ทุกตัว และก็ต้องด้วยความไม่ประมาท
เดี๋ยวนี้ก็ด้วยความประมาท ภิกษุ-สามเณรที่พูดพล่าม ที่ยกหู-ชูหาง ที่อะไรต่าง ๆ ไม่ใช่มันไม่รู้ มันพอจะรู้แต่ว่ามันไม่มีการบังคับตัว ให้มันมีความประมาท ไม่มีการบังคับตัว บางทีเราไปพูด ไปทำ ไปอะไร ในเรื่องที่ไม่ควรพูด-ควรทำ ตั้งใจว่าจะ ประพฤติพรหมจรรย์ ให้เหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว แล้วก็ด้วยความไม่ประมาท ความไม่ประมาทนี้ก็เคยพูดกันทีแล้ว คือ ความมีสติ ความ ไอ้หลาย ๆ อย่างที่มันเป็น เป็นไปในทางความถูกต้อง เพราะฉะนั้น ความไม่ประมาทนี้มันก็รวมอยู่ในพวก ปัญญา เป็นการขัดเงา การจะมีความไม่ประมาท มันต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแบ่งออกมาส่วนหนึ่งมาใช้เป็นสำหรับเครื่องมือ เป็นเครื่องมือขัด เป็นความไม่ประมาท ตั้งจิต ตั้งความมุ่งหมายไว้ถูกต้อง โดยอาศัยสามัญสำนึก อันนี้สกปรก อันนี้สกปรก อันนี้ก็สกปรก นี่ก็มองเห็นที่กาย ที่วาจานั้นประเภทหนึ่ง ที่จิต ตัวจิต ส่วนที่เกี่ยวกับจิตตามธรรมชาตินี้ก็ส่วนหนึ่ง จิตส่วนนี้มันเนื่องอยู่กับกาย-วาจา มีสติ ปัญญา ความคิด ความเห็นนั้นอีกส่วนหนึ่ง ก็ต้องไม่สกปรก เห็นดีเป็นชั่ว เห็นชั่วเป็นดี อันนี้เรียกว่าสกปรก โง่ ก็คือ สกปรก
วันนี้ก็ตั้งใจจะพูดเพียงประโยคเดียวนี้ว่า จงถือ พรหมจรรย์ มี มี มีจิตใจที่ปักแน่วแน่ลงไปว่าจะประพฤติ พรหมจรรย์ ให้เหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว สรุปรวมอยู่ที่คำ ๓ คำว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ทีนี้ไม่อยากใช้คำบาลีเหล่านั้นก็ใช้คำว่า ไม่มีความผิดที่กาย-วาจา ไม่มีความผิดที่จิต ไม่มีความผิดที่ความคิดเห็น ถ้าจะพูดให้กว้างขวางออกไปเป็นเรื่องของคนทั่วไป ไม่จำกัดแต่ในวงศาสนาก็ยังมี มีหลักเกณฑ์ที่จะต้องขยายออกไปอีกหน่อย ลองฟังให้ดี เราจะมีกายและวาจาที่เหมาะสม คือ ที่ถูกต้อง คือ เหมาะสม เหมาะสมคือถูกต้อง แล้วเราก็จะมีจิตที่สามารถ จิตที่มีคุณสมบัติ สามารถในการทำหน้าที่ของมัน แล้วก็เรามีความรู้ถูกต้อง เพียงพอที่ควรจะรู้ นี่แหละคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ครอบจักรวาล จะไปใช้กับคนพวกไหน ที่ไหนก็ได้ เทวดาก็ได้ มนุษย์ก็ได้ เราจะมีกาย-วาจาที่ ที่เหมาะสม ที่ถูกต้องหรือเหมาะสม เราจะมีจิตที่เหมาะสม มีความรู้ความเข้าใจที่มันเหมาะสม
ธรรมดาถ้าเราไม่ระวัง เรามีกาย-วาจาที่ไม่เหมาะสม คือ มันไปกระทบกระทั่งผู้อื่นเข้า หรือว่าทำให้ตัวเองเดือดร้อนได้ นี้ไม่เหมาะสมแล้ว มีจิตไม่เหมาะสม ก็คือ ไม่มีสมรรถภาพในการที่จะทำหน้าที่ หรือทำการงานทางจิต ต้องอบรมจิตให้มันอยู่ในสภาพอย่างนี้ เรียกว่า สมาธิ ทีนี้ เรามีความรู้ที่ควรจะรู้ที่มนุษย์ควรจะรู้ คือเท่าที่มันจะดับทุกข์ของมนุษย์ได้ นี่, ต้องรู้ ๓ อย่างนี้ เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา หรือเป็น ไตรสิกขา ของสัตว์มีชีวิต สากลจักรวาล ไม่จำกัดอยู่แต่ในวงของพุทธศาสนา ทีนี้ เราจะเอาให้ดี เอาตามให้ดีถึงระดับถึงขั้นที่พระพุทธเจ้าท่านวางไว้ เราจึงเรียกว่าเราจะ ประพฤติพรหมจรรย์ ในพุทธศาสนา ถึงขนาดนั้น มีความสะอาดทางกาย-วาจา มีความสะอาดทางจิต มีความสะอาดทาง ปัญญา ทาง ทิฏฐิ มันก็หมดเท่านั้นเอง
นี่, คือวิธีที่พระอรหันต์ในกาลก่อนท่านใช้กัน หรือเป็นอยู่ ไม่รู้เรื่อง ปาฏิโมกข์ ไม่รู้เรื่องอะไรมากมาย ไม่รู้ไอ้มากอย่างที่เรียกว่า อภิธรรม ปรมัตถ์ นี่, ไม่รู้เลย ท่านรู้แต่ว่ามีความจริงใจใน ๓ อย่างนี้ ทุกอย่างมันเป็นถูกขึ้นมาเอง ทำถูกขึ้นมาเอง คิดถูกขึ้นมาเอง เข้าใจถูกขึ้นมาเอง แล้วก็เป็นพระอรหันต์ด้วย
นี่เราเกิดสมัยนี้ ก็ยังถือหลักอันนี้ได้ แต่แล้วจะไม่หยุดอยู่แต่เพียงเท่านั้น จะต้องศึกษาออกไป ๆ ๆ แล้วก็พยายามบังคับตัวเองนี้ให้มากเข้า มากเข้า มากเข้าก็เท่านั้นเอง เรียกว่า ประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อเราทำเต็มที่ สุดความสามารถแล้วก็พอ ไม่มีข้อติเตียนส่วนไหน มันก็เป็นการทำให้ขาวสะอาดเหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว เป็นแน่นอน ใช้คำว่า ขัดดี ต้องฟังไว้บ้าง ขัดดี ขัดไม่ดีขาวไม่ได้ จะขัดให้ตายก็ขาวไม่ได้ ต้องขัดถูกต้อง ขัดโดยวิธีที่ถูกต้อง ขัดดี ขัดพอดี มันจึงจะขาวสะอาดได้ ขัดไม่ดีก็ทะลุเปล่าๆ พังทลายเปล่าๆ มันก็ไม่ขาวได้ มันบ้าบิ่น อวดดี ประมาท ทำอย่างมุทะลุดุดัน มันก็ไม่เป็นประโยชน์ อีกทางหนึ่งก็ขี้เกียจ อ่อนแอ เหลวไหล โลเล เหลาะแหละมันก็ไม่ได้เหมือนกัน ทั้งหมดนี้ไม่เรียกว่า ขัดดี ถ้า ขัดดี ก็ขัดถูกต้อง ขัดพอดี ขัดเต็มที่ ก็มีผลตามที่ต้องการ นี่, คำสำคัญเพียงประโยคเดียวที่พบมากในพระบาลี ออกบวช ประพฤติพรหมจรรย์ โดยหวังว่าจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว
เอ้า, วันนี้ขอพูดเพียงเท่านี้