แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายวันนี้อยากจะพูดถึงเรื่องกรรมต่อจากที่พูดมาแล้วอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ยากที่จะพูดให้เข้าใจได้ในการพูดเพียงครั้งเดียวหรือ ๒ ครั้ง ในคำบรรยายตอนนี้ในชุดหลังนี้ก็เรียกว่า การเรียนในพุทธศาสนาในวิธีของวิทยาศาสตร์ นี่ ๒-๓ ครั้งมาแล้วพูดอย่างนี้และก็คงเป็นอย่างนั้นต่อไป สำหรับพุทธศาสนานั้น ถ้าพูดอย่างมีคน คือ เป็นอย่างทางศีลธรรม-มีคน มีบุคคล อย่างนี้ก็ไม่ใช่พุทธศาสนาโดยแท้ คือ ไม่ใช่อย่างวิทยาศาสตร์ ถ้าพูดอย่างวิทยาศาสตร์ก็ว่าไม่มีคน ไม่มีบุคคล สัตว์ บุคคล ตัวคนเรา เขานั่นแหละ -ไม่มี มีแต่ธรรมชาติชนิดที่เป็นรูป ร่างกาย หรือวัตถุ และธรรมชาติชนิดที่เป็นความรู้สึก ที่เรียกกันว่า จิตใจ นั่นแหละ มันเป็นไปหรือเกิดขึ้นตามเหตุ-ตามปัจจัย เป็นขณะ เป็นขณะ เป็นขณะไป ต้องทบทวนถ้อยคำเหล่านี้อยู่เสมอ อย่างนี้ก็เรียกว่า มีแต่ ปฎิจจสมุปบัณณธรรม คือ มีแต่ธรรมชาติที่อาศัยการเกิดขึ้น เกิดขึ้น เกิดขึ้นทยอยกันไป ไม่ถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล-ตัวตน เรา-เขา คนนั้น-คนนี้ ทีนี้ ในเรื่องทางศีลธรรมที่ต้องพูดกับชาวบ้านนั้น พูดอย่างนั้นไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้น จึงต้องพูดให้มีสัตว์ มีบุคคล ตัวตน เรา-เขา ดังนั้น เรื่องกรรมนี้มันจึงมีเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทศีลธรรม-สอนคนที่ยังมีตัว-มีตน มีความคิดว่าตัว-ตนนี้ให้กลัวความชั่ว ให้รักความดี ให้ทำแต่ความดี มีหลักว่า บุคคลเป็นผู้กระทำ ถ้าทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว เพียงเท่านี้เอง ขอให้ละเว้นความชั่ว-ให้ทำแต่ความดี เรื่องทางศีลธรรมมันมีเพียงเท่านี้ นี่ ไม่ใช่เรื่องกรรมในพุทธศาสนา เป็นเรื่องกรรมในศาสนาทั่วๆไป ศาสนาไหนที่สอนเรื่องกรรมก็สอนอย่างนี้ทั้งนั้น เรียกว่า เป็นกรรมอย่างมีบุคคล เป็นเรื่องกรรมสำหรับสอนศีลธรรม และเอาเรื่องภายนอกเป็นหลัก นอกออกมาจนกระทั่งถึงว่านอกตัวตนออกไป เช่นว่า ไปทำความชั่วเข้า เขาฆ่าตาย หรือเขาจับเอาไปใส่คุกใส่ตาราง อย่างนี้เรียกว่า ผลกรรม เหมือนที่ได้ยินได้ฟังกันอยู่มาก ถึงอย่างนั้นก็ยังสับสน คือ คนบางคนไม่มองเห็นว่าทำกรรมแล้วก็จะได้รับผลกรรมตามนั้นเสมอไป ถือว่าไม่ได้รับก็มี ทำชั่วได้ดี-ทำดีได้ชั่ว กลับกันเสียอย่างนี้ก็มี มันก็ยังยุ่งยากซับซ้อนอยู่ และเป็นกรรมชนิดที่ไม่อาจจะตกหลักวิทยาศาสตร์โดยแท้จริงได้ มันเป็นเรื่องศีลธรรมเพื่ออาศัยความเชื่อให้คนทำดี-เว้นทำชั่ว ต้องจัดไว้พวกหนึ่ง จะไม่เอามาปนกันกับเรื่องกรรมของพุทธศาสนาโดยตรง คือ กรรมอีกชนิดหนึ่ง ไม่เรียกว่าดี-ไม่เรียกว่าชั่ว สำหรับจะทำให้คนอยู่เหนือกรรมดี-กรรมชั่ว และก็ไม่มีความทุกข์เลย ทีนี้ กรรมอันหลังนี้ที่ไม่อาจจะเรียกว่ากรรมดี-กรรมชั่ว ถ้าไปทำเข้าจะทำให้กรรมดี-กรรมชั่วหมดความหมายไปเลย เป็นเรื่องกรรมที่ซับซ้อน ซึ่งจะต้องอธิบายกันมากจึงจะเข้าใจ และก็จะเป็นไปในรูปที่เรียกว่า เป็นวิทยาศาสตร์ ที่เข้าใจได้หรือเห็นแจ้งได้ไปตามลำดับ และก็ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นด้วย เป็นสิ่งที่เรามองเห็นได้ด้วยตนเองจากในภายในนี้
นี่เป็นเรื่องธรรมะชนิดที่เป็น สันฐิติโก ถึงที่สุด ทีนี้ ผมรู้สึกว่าอธิบายยากลำบาก ถึงแม้ว่าจะมีความเข้าใจเรื่องนี้เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น ก็ยังรู้สึกว่าเอามาอธิบายได้ยากที่สุด ยิ่งกว่านั้นก็อาจจะถูกหาว่าบ้า ที่เอาเรื่องที่ไม่อาจจะเข้าใจได้หรือฟังยาก หรือว่าในที่สุดอาจจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยให้แก่คนทั่วๆไปนี้ ที่จริงจัดว่าเป็นเรื่องบ้าหลัง ที่เอาเรื่องอย่างนี้มาพูด แต่ถ้าไม่เอาเรื่องอย่างนี้มาพูดมันก็ไม่ถึงตัวของพุทธศาสนา วิชาความรู้เรื่องนี้ เรื่องกรรม เป็นต้นนี้จะไม่ถึงตัวของพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ก็ต้องลอง ต้องพยายามพูดไปเรื่อยๆ ใครจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตามใจ เราต้องการจะพูดหลักของพุทธศาสนาที่เป็นพุทธศาสนาโดยตรง ซึ่งสรุปความแล้ว ก็คือ เรื่องไม่มีตัวตน คำเดียวเท่านั้น เรื่องที่เป็นเรื่องของพุทธศาสนาสรุปใจความสั้นๆว่า ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตน ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ถือว่าไม่ใช่ตัวตน คือ ไม่มีตัวตน แล้วสิ่งต่างๆจะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อไม่มีตัวตน? เช่น เรื่องกรรมนี้-ไม่มีตัวตน แล้วใครเป็นผู้ทำกรรม? แล้วใครจะเป็นผู้ได้รับผลกรรม? นี่ก็เข้าใจยากเพราะฉะนั้น จึงมีภิกษุบางองค์เกิดฉงนขึ้นอย่างที่เอามาเล่าให้ฟังว่า อนัตตา ไม่ใช่ตนเป็นผู้ทำกรรมแต่ผลของกรรมมาถึง อัตตา ที่เป็นผู้ทำกรรมนี้ ฉงนถึงที่สุด ทีนี้ เพื่อที่จะให้เข้าใจได้ มันก็ต้องพูดคำว่า กรรม ในตามแบบนี้ ตามแบบที่เป็นพุทธศาสนา ก็ต้องขอร้องให้ย้อนไประลึกนึกถึงเรื่องที่เคยพูดบางเรื่องมาแล้ว ตามหลักพุทธศาสนานั้นจะถือว่าสิ่งต่างๆ-มี ต่อเมื่อจิตเข้าไปสำคัญมั่นหมายว่า-มี หรือว่าเป็นนั่น เป็นนี่ เมื่อจิตในภายในทำหน้าที่สำคัญมั่นหมายในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จนเกิดความรู้สึกประเภทที่เป็นตัวตน เป็นของตนขึ้นมา เมื่อนั้นสิ่งต่างๆมันจะมี จะมีขึ้นมา ทั้งที่ไม่มีอะไรจะเป็น ตน ได้ ความรู้สึกว่าเป็นตัวตนเกิดขึ้นเมื่อไรซึ่งเป็นลมๆแล้งๆทั้งนั้น เมื่อนั้นจะถือว่าทุกอย่างที่มันเนื่องกันมันพลอยมีขึ้นมา ที่ชื่อว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ-นี้ไม่ได้มีอยู่ จนกว่าเมื่อไรมันทำหน้าที่ เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรสไปในลักษณะไปยึดมั่น-ถือมั่น เห็นตัวกู-เห็นตัวกูอย่างนั้นอย่างนี้ ในขณะนั้น ในขณะที่มีความรู้สึกอย่างนั้นเท่านั้น ที่จะถือว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ-มี รวมทั้งจะถือว่าข้างนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ข้างนอกที่เป็นตัวโลกนั้นก็เพิ่งมีในขณะนั้นเท่านั้น ไม่ถือว่าโลกมีอยู่ตลอดเวลา โลกมีเฉพาะเมื่อจิตเข้าไปสำคัญมั่นหมายด้วยความยึดถือเป็นตัวตนนั้นจึงจะเรียกว่า มีโลก อย่างนี้คนก็ฟังไม่ถูกแล้วเพราะเขาถือว่าโลกมีอยู่ตลอดเวลา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของคนก็มีอยู่ตลอดเวลา หนักไปกว่านั้นอีกก็ถือว่า แม้แต่ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ อะไรนี้ประกอบขึ้นเป็นร่างกายนี้ ก็ถือว่ามิได้มีอยู่ตลอดเวลา พลอยมีอยู่ เฉพาะเมื่อไอ้ร่างกายกลุ่มนี้มันเกิดความรู้สึกยึดมั่น-ถือมั่น เป็นนั่น เป็นนี่ขึ้นมา จึงมี ตัวของฉัน และตัวของฉันซึ่งประกอบอยู่ด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ และประกอบอยู่ด้วย อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ และธาตุอื่นๆจึงจะถือว่า-มี นี่ ฟังดูก็น่าหัว คือ ไม่ถือว่าสิ่งเหล่านี้-มี จนกว่าจะมีความสำคัญชนิดที่เป็น ตัวตน เกิดขึ้น และความสำคัญของตัวตนนั่นก็-เหลว คือ ไม่ใช่เป็นตัวตนที่แท้จริง ถือเอาใจความสำคัญว่า เมื่อมันไปมีตัวตนมันในขณะนั้นก็ถือว่ามันไปมีตัวตนสำหรับที่จะทำกรรม สำหรับที่จะเป็นทุกข์ หรือเสวยผลกรรม นี่พูดได้ว่าคน สิ่งที่เรียกว่า คน นี้อย่างลมๆแล้งๆเท่านั้น ก็มีเป็นคราวๆ คือ มีทุกคราวที่มีความยึดมั่น-ถือมั่นว่า-ฉัน ว่า-เรา ว่า-ของเรานี้ และในขณะที่มีความรู้สึกอย่างนั้นแหละจึงจะมีสิ่งที่เรียกว่า กรรม และได้รับ ผลของกรรม แล้วมันก็อยู่ข้างในไม่ออกมาถึงข้างนอกให้คนอื่นรู้ มันเป็นการกระทำกรรมเพื่อเสวยผลของกรรม แล้วก็เสร็จอยู่ข้างในโดยไม่มีใครรู้ ทีนี้ ส่วนที่มันออกมาข้างนอกความคิดนั้น มันทำให้ออกมาเป็นการพูดดี-พูดร้าย ทำดี-ทำร้าย ฆ่าเขา-ลักเขานี้ มันออกมาเป็นกรรมข้างนอกประเภทมีสัตว์ มีบุคคล เป็นกรรมทางศีลธรรม มันก็เปะๆปะๆไปทางภายนอก ซึ่งไม่แน่นอนว่าจะมีปฏิกิริยาเข้ากับกิริยาอย่างนี้ เป็นต้น
ทีนี้ มันฟังยากตรงที่ว่า การรับผลกรรมนี้ ใครจะเป็นผู้รับผลกรรม? หรือใครจะเป็นผู้ทำกรรม? มันก็คือ จิตที่ยึดมั่น-ถือมั่นอย่างโง่ๆเขลาๆว่ามี-ตัวฉัน มี-ของฉัน และก็เป็นผู้ทำและเป็นผู้รู้สึก ทีนี้ ส่วนข้างนอกนั้นมันก็ยิ่งหยาบออกไป และเราก็ไปเอาของข้างนอกเป็นหลักมากขึ้น เช่น ทำให้เดือดร้อนถึงขนาดที่เรียกว่าเหมือนติดคุก ติดตาราง หรือเสื่อมเสียชื่อเสียง ก็เรียกว่า ไม่ได้รับผลกรรม ถึงทำชั่วแสนจะชั่วมันก็ไม่ได้รับผลกรรม-เขาว่าอย่างนั้น เพราะฉะนั้น มันจึงไม่เป็นวิทยาศาสตร์ได้ เพราะมันไปเล็งเอาจิตใจของคนเป็นความรู้สึกของคนเป็นหลักแล้วก็ไปเนื่องกับคนข้างนอก สังคมหรือโลกเขาจะเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วก็ทำอะไรเอาอีกด้วยว่าเป็น ผลกรรม มันก็ยิ่งไปกันใหญ่ ยิ่งไม่แน่นอน เพราะฉะนั้น จะไม่พูดถึงกรรมชนิดนั้น ไม่พูดถึงเรื่องกรรมทางศีลธรรมของบุคคลที่ยังมีตัว-มีตน และรับผลกรรมเนื่องด้วยวัตถุสิ่งของข้างนอก จะพูดแต่เรื่องกรรมชนิดที่ว่ามีอยู่ในหลักของพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ เรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ที่เป็นตัวเรื่องพุทธศาสนา เมื่อใดที่เกิดความรู้สึกเป็นตัวฉัน-ของฉันขึ้นมา เมื่อนั้นเขาเรียกว่า เกิดใหม่ เกิดขึ้นมาชาติหนึ่ง-เกิดใหม่ มันจะรู้สึกอย่างนั้นขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อตาเห็นรูป เป็นต้น ข้างในนะไม่ได้เป็นข้างนอก แล้วก็มี วิญญาณ รู้สึกว่าอะไรขึ้นมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางใดทางหนึ่งก็ตาม การที่ ๓ อย่างนี้ร่วมกันนี้ เรียกว่า ผัสสะ เมื่อมี ผัสสะ แล้วก็มี เวทนา เกิดขึ้นในใจนี้ โดยที่คนอื่นไม่ต้องรู้ของเรา แล้วก็มี ตัณหา คือ ความอยาก นี่ เป็นความคิดแล้ว เป็นความคิดที่เต็มๆรูปแล้ว เพราะมันคิดอย่างมีผู้คิด-ผู้ต้องการนั่นนี่ คือ ความรู้สึกคิดนึกอย่างโง่เขลานี้มันปรุงขึ้นมาได้ เป็นตัวฉันที่ต้องการนั่นนี่ ก่อนนั้นมันไม่ได้คิด มันเพิ่งคิดเมื่อตอนนี้ นี่ก็เรียกว่า การเกิดของบุคคลชาติใหม่ ขึ้นมาก็ได้ แล้วก็เป็นไปถึงยึดมั่น-ถือมั่นในความเป็นอย่างนั้นของตัวฉัน แล้วก็จะเกิดความทุกข์ในการยึดมั่นนั้นๆ ในลักษณะที่เป็นปัญหาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความได้ ความไม่ได้แล้วแต่เรื่องของมัน
ทีนี้ ลองทบทวนใหม่ว่า พอตาเห็นรูป เป็นต้น เกิด วิญญาณ นี้และก็จะเกิดไอ้สิ่งที่ถ้าพูดอย่างละเอียดนะ ตาข้างในเห็นรูปข้างนอก นี่ยกตัวอย่างเพียงทางเดียวก่อนนะ แล้วก็ไอ้สิ่งที่เรียกว่า วิญญาณทางตา ขึ้นมา เพราะก่อนหน้านั้นมันไม่มีการเห็นด้วยตา เพิ่งมีการเห็นด้วยตาที่นี่ เวลานี้ เดี๋ยวนี้ เมื่อมันเห็นรูปนี้ ทีนี้ เกิดไป ๓ อย่างแล้วคือ ตา กับ รูปข้างนอก และ วิญญาณ ที่เกิดขึ้นทางตา ทั้ง ๓ อย่างกระทบกันเข้า เรียกว่า ผัสสะ ถ้าพูดอย่างละเอียดก็ถือว่าระหว่างที่เกิด จักษุวิญญาณ ขึ้นนี้ มันยังเต็มอยู่ด้วยความโง่ คือ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะคนเกิดมาไม่ได้ฉลาด ไม่มีความรู้ ไม่มีความฉลาดนั้น คือ ความโง่ เพราะฉะนั้น มันจึงปล่อยความคิดไปตามความโง่ ไปจนถึงความทุกข์จนได้ เขาจึงมีว่า อวิชชา ให้เกิด สังขาร สังขาร ให้เกิด วิญญาณ กันตอนนี้เอง เมื่อตากระทบรูปเกิด วิญญาณ ตอนนี้มี อวิชชา เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดอำนาจปรุงแต่งที่เรียกว่า สังขาร ทำให้มี นาม-รูป ทำให้มี วิญญาณ แล้วก็มี นาม-รูป ตอนนี้หมายความว่า นาม-รูป ก็เพิ่งเกิดเดี๋ยวนี้ กายกับใจก็เพิ่งเกิดเดี๋ยวนี้ ตลอดเวลากายกับใจ-ไม่มี กว่าจะเกิดเรื่องอย่างนี้ไอ้สิ่งที่เรียกว่า กายกับใจ จึงจะเกิดมีขึ้นมา คือ มันจะมีการหน้าที่ของมันขึ้นมา นี่ วิญญาณ นี้ก็เพิ่งเกิดเมื่อตากระทบรูปนี้ แล้วมันจึงสร้างไอ้ร่างกายที่มันหลับอยู่นี้-กายกับใจที่มันหลับอยู่นี้เป็นกายกับใจชนิดนี้ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ วิญญาณทางตา นั้นด้วยเหมือนกัน พร้อมกันไปในขณะนั้น การประจวบพร้อมนั้น เรียกว่า ผัสสะ วิญญาณ เกิดขึ้นทำ นาม-รูป นี้ให้มันเป็นที่ตั้งของ วิญญาณ ของ ผัสสะ และพร้อมกันนั้น อายตนะ คือ ตานั้นมันก็ทำหน้าที่ได้ขึ้นมา ก่อนนี้มันไม่ทำหน้าที่-มันเหมือนกับไม่มี จึงเรียกว่ามี อายตนะ ขึ้นมา และก็การกระทบหมดนี้มันก็เรียกว่า ผัสสะ เพราะว่า อายตนะ นั้นเป็นเครื่องสำหรับกระทบ อายตนะ นั้นมันก็คือ ตา ที่ยังไม่ทำงาน-เดี๋ยวนี้มันก็ทำงานขึ้นมา ทำให้รูปข้างนอกมีความหมายขึ้นมาก็เรียกว่า ผัสสะ มีอะไรก็เกิดกรูๆกันขึ้นมานี้ พรึบขึ้นมา ไม่ใช่ว่าจะมาเป็นช้าๆ หรือเป็นจังหวะช้าๆ มันเกิดพรึบขึ้นมาเลยในคราวเดียว มากๆอย่างด้วยกัน
นี่ ฟังดูให้ดี-ตาที่ไม่เคยเป็นตา-ก็เป็นตาขึ้นมา รูปข้างนอกที่ถือว่าไม่เคยเกิด-ก็เกิดขึ้นมา เพราะมันไปมีการเห็นเข้า ถ้ายังไม่มีการ เห็น ก็เรียกว่า รูปข้างนอกก็ยังไม่เกิด ทีนี้ ตาเข้าไปเห็นเข้าก็ทำให้ร่างกายนี้เป็นขึ้นมาพร้อมกันกับตา ร่างกายทำหน้าที่ให้ตาเห็นรูปได้ จิตใจก็เหมือนกัน ส่วนหนึ่งทำหน้าที่ให้ตาเห็นรูปได้ อำนาจที่ทำให้สิ่งเหล่านี้ลุกขึ้นมาทำงานได้นี้ เขาเรียกในที่นี้โดยเฉพาะว่า สังขาร สังขาร เป็นเพียงอำนาจอันหนึ่งเท่านั้น ที่ทำให้สิ่งต่างๆลุกขึ้นทำหน้าที่ ถ้าทำหน้าที่ไปโดยปราศจากความรู้ที่ถูกต้องอันนี้เรียกว่า อวิชชา ตรงนี้จะน่าหัวที่สุด ขอแทรกหน่อยว่าตรงนี้จะน่าหัวที่สุดที่ในพระบาลีมีว่า ไอ้เด็กทารกที่เกิดมาจากท้องแม่นั้น พอออกมาเป็นเด็กแล้วเพราะมันได้เห็นรูปทางตา ได้ฟังเสียงทางหู เป็นต้น เพราะความที่มันไม่มีความรู้ในเรื่อง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ พูดถึงอย่างนั้นนะ เด็กเพิ่งคลอดมาจะรู้ เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ได้อย่างไร? เป็นเรื่องที่ทำให้รู้แจ้งและเป็นพระอรหันต์นะ วิมุตติ นี้ แต่คำพูดก็ใช้คำนี้ ทารกน้อยๆนั้นไม่มีความรู้เรื่อง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ นั่นแหละคือ อวิชชา เพราะฉะนั้น ทารกน้อยๆนั้นจึงคิดนึกไปด้วยจิตนั้น ด้วย กระแสจิตนั้น ตามแบบ ปฏิจจสมุปบาท นี้ ก็มันเห็นรูปชนิดที่มันเป็นที่ตั้งแห่ง กามารมณ์ ได้ ความรู้สึกทาง เวทนา ที่เป็นเรื่องจะยึดมั่น-ถือมั่นได้ ไอ้เด็กคนนี้มันก็เกิดความคิดนึก-รู้สึกไปตามกระแสที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท มันก็เกิดใหม่ในขณะนั้นแหละ เรียกว่า มันทั้งหมดเกิดใหม่ในขณะนั้น หมายความว่า ตามันเกิดขึ้นมา รูปข้างนอกมันเกิดขึ้นมา วิญาณเกิดขึ้นมา อายตนะ เกิดขึ้นมา ผัสสะ เกิดขึ้นมา เขาเรียกว่า นาม-รูป นี้เกิดขึ้นมา แล้วอะไรที่เนื่องกันอยู่กับ นาม-รูป นี้มันก็พลอยเกิดขึ้นมาด้วย เช่น ธาตุทั้ง ๖ เป็นต้น ที่ประกอบให้เป็นคนนี้ก็พลอยต้องเกิดขึ้นมา หรือที่เรียกว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เพิ่งเกิดมาในขณะนี้ และก็ไปเต็มรูปเอาตรงที่เรียกว่า ตัณหา หรือ อุปาทาน นั้น นี่ คอยสังเกตดูให้ดีว่ามันมี ผัสสะ และมันก็มี เวทนา เวทนา จะเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ก็ตาม พอมี เวทนา แล้วก็จะเกิดความรู้สึกอีกชนิดที่เรียกว่า ตัณหา นี่ เกิดโดยไม่ต้องมีคน ไม่ต้องเป็นคน ไม่ต้องเรียกว่า คน เพราะตามสมมติอย่างโลกๆเขาถือว่า คน คลอดมาจากท้องแม่ แล้วก็มีคนแล้วอยู่ตลอดเวลา แต่ธรรมะไม่ถือว่านี้เป็นคน ต่อเมื่อเกิด ตัณหา นี้จึงจะมี คน คือ ความคิดที่มันอยากอย่างนั้น อย่างนี้ลงไปนี้ ไอ้ความอยากนั้นมันต้องมีสิ่งที่ถูกอยากนะ เพราะฉะนั้น ไอ้ความอยากนั้นมันคือ ตัวผู้ฝ่ายกัตตา นาทีที่ 24:32 ผู้กระทำ คือ เป็น ตัวฉัน แล้วสิ่งที่มันถูกอยากมันเป็นฝ่ายกรรมที่ถูกกระทำ หรือเป็น ของฉัน จะในทางดี-ทางร้าย ทางไหนก็ตาม มันจะมีความรู้สึกที่จะรู้สึกว่า ฉัน ต้องการ หรือ ฉัน จะทำอย่างนี้ ก็มีความรู้สึกที่ยึดมั่นใน ตัวฉัน ในเรื่องที่เกี่ยวกับ ฉัน ขึ้นมา เขาเรียกว่า อุปาทาน นั่นเอง เรียกว่า ตัณหา ให้เกิด อุปาทาน ตอนนี้เป็นการเกิดใหม่เต็มๆ เต็มรูป มันตั้ง ปฏิสนธิ มาตั้งแต่ วิญญาณทางตา เกิดขึ้นนะนี่ แล้วมันเจริญงอกงามมาเป็น ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ทีนี้ พอถึง อุปาทาน มันก็เหมือนเต็มตัว-มันใหญ่เต็มตัว พอมันยึดถือว่าเราเป็นอะไรก็เรียกว่านี่ คือ ภพ ภพ คือ ความเป็น แตกเป็น กามภพ รูปภพ อรูปภพ อะไร กามภพ หมายถึง ความเป็น ฉัน ชนิดที่บ้าในเรื่อง กามารมณ์ รูปภพ ความเป็นฉันที่ไม่ยุ่งเรื่อง กามารมณ์ แต่ไปยุ่งกับความสุขที่มาจากรูปบริสุทธิ์ นี่มันพูดถึงเรื่องผู้ใหญ่แล้ว ถ้าเป็นเรื่องของเด็กๆก็ต้องสมมติ ผู้ใหญ่ก็ผู้ใหญ่ที่รู้จักหาความสุขจากสิ่งที่ไม่ใช่กามารมณ์ แต่ยังต้องอาศัยรูปวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งที่บริสุทธิ์ นี่ วิภวตัณหา ที่ทำให้เกิด วิภพ หรือ อรูปภพ เหมือนกัน ความเป็นฉันที่มันไปหลงอยู่กับเรื่องที่ไม่มีรูป แต่ว่าพอใจความสุขที่เกิดมาจากสิ่งที่มิใช่รูป ถ้าเปรียบง่ายๆก็ เช่นว่า หลงชื่อเสียง หลงเกียรติ หลงเห่อ หลงตัวกูนี้ อย่างนี้เรียกว่า มันเป็น ภพ เป็น ตัวฉัน สมบูรณ์
ทีนี้ ที่มันจะมีปัญหาต่อไปก็เรียกว่า ชาติ ชรา มรณะ ถ้ามันมี ตัวฉัน แล้วมันก็มีปัญหาเนื่องกันกับความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความอะไรเหล่านั้น ชาติ ออกมาก็เป็นความทุกข์ ถ้าถึงขนาด ชาติ แล้วก็เรียกว่า มันมีปัญหาที่เกี่ยวกับคำว่า ชาติ หรือ ความเกิดนี้ และก็เป็นทุกข์ด้วย อย่างน้อยก็เป็น ฉัน ไม่ได้อย่างใจ จึงกล่าวให้เป็นหลักว่า เมื่อมี ชาติ ก็ต้องมี ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส เหมือนที่สวดกันนี้ นี่ กระแสจิตที่มันปรุงๆๆให้เกิดๆๆไปตามลำดับอย่างนี้ อันหนึ่ง อันหนึ่ง เรียกว่า ปฎิจจสมุปบัณณธรรม ถ้ารวมทั้งหมดนั้นเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ทีนี้ ใน ปฏิจจสมุปบาท ที่ว่านี้ ใน ปฏิจจสมุปบาท สายหนึ่งที่ประกอบไปด้วย ปฎิจจสมุปบัณณธรรม แบ่งอย่างละเอียดเป็น ๑๑ อาการหรือ ๑๒ อาการนี้ ในสายหนึ่งนี้มีอะไรครบหมด จะดูอะไรก็ได้ ในวันนี้จะพูดว่า จะดูเรื่องกรรมที่มีอยู่ในสายของ ปฏิจจสมุปบาท นั้น แต่อยากจะพูดเสียก่อนเพื่อเข้าใจง่ายๆว่า จะดูอะไรก็ได้ในสายแห่ง ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเกิดขึ้นในจิต ซึ่งจะกินเวลาไม่ถึง ๑ นาทีครึ่งนาทีนี้ เพราะว่าจะมีทุกอย่างที่มนุษย์เรียกกันอยู่ จะเรียกว่ามีโลกทั้งหมดก็อยู่ในนั้น นรก สวรรค์ ก็อยู่ในนั้น มีสวรรค์ วิมาน พรหมโลก ข้างบนไปโน่น และก็มีนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ก็อยู่ในนั้น มันเป็นความหมายของจิตชนิดหนึ่ง ชนิดหนึ่งเท่านั้น ความหมายอย่างสวรรค์ อย่างพรหม อย่างนี้ก็เหมือนที่ว่าเมื่อตะกี้ มันได้อร่อย อย่างที่เป็น กามตัณหา อย่างนี้ก็เรียกว่า สวรรค์ ทั้ง กามาวจร - สวรรค์ที่มีวิมาน มีนางฟ้า ถ้าเผอิญเป็นกรณีที่ได้ความอร่อยอย่างไม่เกี่ยวกับ กามารมณ์ มันก็ไปสวรรค์ชั้น พรหมโลก ที่มี รูป กระทั่งสวรรค์ชั้น พรหมโลก ที่ไม่มีรูป ทีนี้ ถ้าเป็นนรก คือ ร้อนใจเหมือนไฟเผา ไม่ต้องมีใครมารู้ สำเร็จรูปทางความคิดที่นี่แล้ว มันร้อนใจในปัญหาต่างๆในตัวมันเอง ในบางกรณีมันร้อนใจเป็นนรก แต่ในบางกรณีมันเอร็ดอร่อยเป็นสวรรค์ บางทีมันก็โง่ อย่างสัตว์เดรัจฉาน ก็มีโลกอย่างสัตว์เดรัจฉานในจิตนั้น บางทีก็หิวอย่างเปรต-มีโลกของเปรตอยู่ในนั้น บางทีก็ขี้ขลาดอย่างอสุรกายมันก็มีอสุรกายอยู่ในนั้น นี่ พูดกันอย่างท้าวๆหยาบๆ
ทีนี้ ถ้าดูให้ละเอียดออกไปจะเห็นว่า ความเป็นอย่างนั้นนั้น ความรู้สึกเป็นสวรรค์ เป็นนรกมากๆนั้น มันเป็นผลของ กรรม ที่ทำให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้นขึ้นมา ทีนี้ กรรม มันก็เริ่มตั้งต้นตั้งแต่ที่ว่ามี/เกิด ตัณหา ขึ้นนี้ และมันอยากอย่างไร? ต้องการอย่างไร? เสร็จแล้วก็เกิด ผล จากความอยากนั้นออกมา เป็นความรู้สึกที่เผาตัวเอง หรือว่า...รวมความแล้วมันทุกข์ทั้งนั้นแหละ แต่ว่าในรูปที่ว่ามันเผาเหมือนไฟเผาหรือว่ามันทำให้หลงว่าเป็นของอร่อย เป็นของเย็น เป็นของสบาย อะไรไปเรื่อย มันเกิดเป็นความรู้สึกเป็นตัวฉันอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาแล้ว ในตอนที่เรียกว่า อุปทาน นี้ ก็เรียกว่า มีตัว-มีตนของคน นั้นขึ้นมาในขณะนั้น อย่างเทวดาก็ได้ อย่างมนุษย์ก็ได้ อย่างสัตว์นรกก็ได้ อันนี้คือ สิ่งที่เรียกว่า ผลกรรม แต่บางทีในบาลีเรียกว่า กรรม ก็มี ถ้าเรียกว่า กรรมเก่า ก็หมายถึง ผลกรรม เท่านั้น และก็มีบาลีที่ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายนี้มิใช่ของเธอทั้งหลาย และก็มิใช่ของคนผู้อื่น ในขณะนั้นเราจะรู้สึกว่า เรา มีเรา-มีของเรา กระทั่งว่า มีกายของเรา ทั้งหมดนี้เรียกว่า กาย เพราะเราคิดว่า ของเรา-เราโง่ จนถึงขนาดพระพุทธเจ้าต้องบอกว่า กายนี้มิใช่ของเธอทั้งหลาย และก็ไม่ใช่ของคนอื่นด้วย มันเป็นเพียงกระแสของ ปฏิจจสมุปบาท มันจึงรู้สึกว่า กายนี้ และก็คิดว่า ของเรา
ทีนี้ ถ้าถามว่าทำไมรู้สึกคิดนึกได้? รู้สึกคิดนึกต้องการอย่างนั้นอย่างนี้เป็นคุ้งเป็นแควไป? ก็มีพุทธภาษิตที่ต่อไปอธิบายว่า กรรมเก่านี้ อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้นทำให้รู้สึกคิดนึกได้ และทำให้เสวยอารมณ์ที่มาเกี่ยวข้องด้วยได้ คำว่า กรรมเก่า นี้หมายความว่า ร่างกายในขณะนั้น ประกอบพร้อมด้วยสิ่งทั้งหลายที่ทำให้มันเกิดเป็น ตัวกู ขึ้นมาแล้วนี้ ทีนี้ ในความรู้สึกอันนั้น ที่มันมีอยู่ใน ตัวกู นั้น มันสามารถจะคิดนึกได้ อย่างนั้น อย่างนี้ กระทั่งรู้สึกเสวยอารมณ์สุข ทุกข์ อุเบกขา อะไรได้ก็เท่านั้นเอง ทีนี้ เพื่อที่จะแสดงว่าไม่ต้องมี ตัวตน ที่แท้จริง มันมีแต่ในการปรุงแต่งตอนหนึ่งเรียกว่า กรรม ตอนหนึ่งเรียกว่า ผลกรรม ถ้าถือตามในนี้ ร่างกายของเราในขณะที่มันรู้สึกสุข หรือรู้สึกเป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์นี้ก็เรียกว่า กายในขณะนั้น กายในขณะนั้นไม่ใช่ของเราและไม่ใช่ของคนอื่น ไม่ใช่ของเราเพราะมันไม่มีตัวเรา มันเกิดมาจากความรู้สึกตามธรรมชาติของสิ่งที่มีร่างกาย มีชีวิต มีจิต มีอะไรปรุงแต่ง คิดนึกได้ ซึ่งมันไม่ใช่ของเรา และก็มิใช่ของคนอื่น ก็หมายความว่า ไม่ใช่ของพระเจ้า ไม่ใช่ของเทวดา ไม่ใช่ของคนอื่นนอกไปจากเรา ซึ่งเขามีอำนาจเหนือเรา ก็เป็นอันว่าปฏิเสธพระเจ้า ปฏิเสธในสิ่งทำนองที่จะเป็นผู้มามีบังคับควบคุม/สร้างอะไรอย่างนี้ แต่ถ้าจะเกณฑ์ให้มีคนสร้าง มีพระเจ้าสร้างก็ได้เหมือนกัน คือ กฎแห่ง ปฏิจจสมุปบาท นั้น-มันสร้าง กฎแห่ง ปฏิจจสมุปบาท นั้นที่ทำให้ทุกอย่างต้องเป็นอย่างนี้ครบวงหนึ่ง ๑๑-๑๒ อาการนี้ คือ พระเจ้าผู้สร้าง ให้เกิดความต้องการ-มั่นหมาย เป็นตัวฉัน-ของฉัน เป็นกรรม เป็นผลกรรม เป็นอะไรนี้ ทีนี้ ถ้าเราจะมีพระเจ้า ก็มีกฎแห่ง ปฏิจจสมุปบาท นี้เป็นพระเจ้าผู้สร้าง ผู้สร้างขึ้นมา และเป็นผู้ให้สุข-ให้ทุกข์ และผู้ทำให้ดับไป ให้เลิกกันไปครั้งหนึ่ง นี่คือ พระเจ้า ถ้าจะเรียกพระเจ้าก็ต้องเรียกเป็นสิ่งนี้ แต่ว่าในพุทธภาษิตไม่ได้เรียกว่าพระเจ้า กลับปฏิเสธผู้อื่นที่เป็นเจ้าของสิ่งนี้เสียด้วย จึงบอกว่า กายนี้ในขณะที่มีตัวเธอรู้สึกอยู่ในใจนั้น-มิใช่ของเธอทั้งหลาย และมิใช่ของคนเหล่าอื่นด้วย เป็นเพียง กรรมเก่า กรรมเก่า นี้ก็คือ ความคิดนึก รู้สึก ปรุงแต่งของจิตระยะต้นๆนั้น ทำให้เกิดความรู้สึกคิดนึกที่ถัดมา มันจึงรู้สึกอย่างนั้น อย่างนี้ เป็นตัวฉัน เป็นของฉัน เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นคิดมากไปต่อไปอีกเป็นหลายๆชั้น ที่มันคิดได้อย่างนี้ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่มี วิญญาณ มี เจตภูต มี อัตตา มีอะไรสิงอยู่ในนั้น มันเป็นเพียง เหตุปัจจัย แต่หนหลังปรุงแต่งขึ้น ทำให้รู้สึก ให้คิด ให้นึกก็ได้ ให้รู้สึกทางอารมณ์ก็ได้ มันน่าอัศจรรย์ประหลาดที่สุดเลยที่มันจะรู้อะไรได้มาก ได้หมดอย่างประหลาด
ทีนี้ เราจะมาดูกันแต่ในแง่ของ กรรม นี่มันอาจจะมากหรือละเอียดเกินไป จนหาว่าผู้พูดนี่บ้าก็ได้ คือ ตั้งแต่ อวิชชา อวิชชา นี้ก็ถือว่าเป็น กิเลส เมื่อใดไม่มีความรู้-เมื่อนั้นก็เรียกว่า มีอวิชชา ทีนี้ ในขณะที่ตากระทบรูป เป็นต้นนี้ ในขณะนั้นไม่มีความรู้-ในขณะนั้นเรียกว่า มีอวิชชา อวิชชา นี้เรียกว่า กิเลส เมื่อมี อวิชชา มีอย่างนี้แล้วก็มันจะมีสิ่งที่เรียกว่า สังขาร คือ อำนาจที่จะปรุงแต่งให้สิ่งต่างๆลุกขึ้นพรึบขึ้นมาทำหน้าที่ สังขาร อย่างนี้ก็เรียกว่า กรรม ได้เหมือนกัน ดูเอาว่ามันจะเป็นอย่างไร? มันจะเป็นเรื่องชนิดไหน? สังขาร อำนาจปรุงแต่ง อำนาจลึกลับอะไรอย่างหนึ่งก็ไม่รู้ บอกไม่ถูก แต่ด้วยอำนาจของ อวิชชา นี้ สังขาร จะมี คือ อำนาจปรุงแต่งสำหรับจะจุดสิ่งที่มันหลับๆให้ตื่นขึ้นมา ทีนี้ก็มีสิ่งที่ตื่นขึ้นมาเป็น วิญญาณ เป็น นาม-รูป เป็น อายตนะ เป็น ผัสสะ นี้ นี่คือ ผลของกรรม โดยไม่ต้องมีตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขาที่ไหน มันมี กิเลส ที่ อวิชชา มี กรรม ที่ สังขาร มี วิบาก-ผลของกรรม ที่ วิญญาณ นาม-รูป อายตนะ ผัสสะ กระทั่ง เวทนา ตอนนี้ขึ้นไปชุดหนึ่งแล้ว มีทั้ง กิเลส มีทั้ง กรรม ทั้ง ผลกรรม
ทีนี้ จะเริ่มชุดที่เป็นตัวการ ตัวเรื่อง-ตัวราว พอหลังจาก เวทนา ซึ่งเป็น วิบาก เสร็จแล้วก็จะมี ตัณหา อุปาทาน ซึ่งเป็นตัว กิเลส อันใหม่อันรุนแรง กิเลส คือ ตัณหา ถ้า อุปาทาน จะทำกรรมชนิดที่เป็น มโนกรรม มีความคิดและเจตนา มีเจตนาที่เป็นตัวกรรมว่าเป็น-ตัวกู ต้องการนั่น-นี่ ต้องการจะทำนั่น-ทำนี่ จะเอานั่น-เอานี่ ก็ด้วยอำนาจ อวิชชา แต่เดิมนั่นแหละ เพราะฉะนั้น จึงเรียกกิจนี้ว่า กิเลส เรียก ตัณหา อุปาทาน นี้ว่า กิเลส แล้วมันก็ทำ กรรม คือ ทำให้เกิด ตัวกู ที่จะทำนั่น-ทำนี่ รู้สึกอย่างนั้น-อย่างนี้ ตอนนี้เขาเรียกว่า กรรม ในฐานะที่เป็น ภพ ภพ คือ คำที่อธิบายไปเมื่อกี้ ทีนี้ครึ่งหลังของ ภพ ก็เป็น วิบาก คือเป็น อุปปัตติภพ - ตัวฉันสมบูรณ์ ตัวฉัน-ของฉันสมบูรณ์ มันจึงเป็น ผลกรรม ทีนี้ ก็มีความทุกข์เพราะ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ นี่ก็เรียกว่า ผลกรรม เต็มตัว วิบากของกรรม เต็มตัว
ทีนี้ เราจะถือว่าตอนไหนเป็น ตัวกู มันก็ตอนนั้นก็เป็น วิบากของกรรม อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งนั้น ถ้าถือเอา เวทนา เป็น ตัวกู อย่างในบทบาลีที่ว่า เห็นว่า เวทนา เป็น อัตตา เท่านั้นไม่เห็นว่าเป็น อนัตตา นี้ ตอนนั้นมันก็เป็นตัวกู มันก็เป็นกรรม หรือเป็นตัวกู ถ้าเป็นตัวกู-พระพุทธเจ้าบอกว่า นี่ไม่ใช่ของเธอ และไม่ใช่ของใครอื่น คือ ไม่ใช่ตัวกู เป็นแต่เหตุ-ปัจจัยปรุงขึ้นมา นี่ เป็น ตัวกู ที่ เวทนา ถ้าโง่มากกว่านั้นอีก จะไปเอาตัวกูที่ วิญญาณ ทางตาที่เห็นรูป เป็นต้น มันไม่ใช่ตัวกูของเธอ-ไม่ใช่ตัวกูของใคร เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นความรู้สึก-คิดนึกที่เต็มไปด้วยอำนาจของ อวิชชา และถ้าจะถอยมาทางนี้ มาเอาตัวกู-ของกูที่ อุปาทาน นี้มันก็ไม่ใช่ตัวกูของเธอ หรือของใคร มันเป็น ปฎิจจสมุปบัณณธรรม ที่เกิดตามธรรมชาติ กระทั่งจะมาเอา ภพ เอา ชาติ มาเป็น ตัวกู ก็ยิ่งเอาความทุกข์เป็นตัวกู เอาวิบากกรรม เป็นตัวกู ก็ว่า ไม่ใช่ตัวกูของเธอ ไม่ใช่ตัวกูของเธอไม่ใช่ตัวกูของใคร เป็นเพียง ปฎิจจสมุปบัณณธรรม ที่เกิดขึ้นตามความปรุงแต่งในทางจิต นี่ จะเอา กิเลส กรรม วิบาก ชุดไหนเป็น ตัวกู ชุดแรกก็ได้/ชุดหลังก็ได้ เอา อวิชชา เป็น กิเลส - สังขาร เป็น กรรม / วิญญาณ นาม-รูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา นี้เป็น ผลกรรม ชุดนี้เป็น ตัวกู ก็ได้ ถ้ามันโง่มาในทางนี้ พระพุทธเจ้าก็ปฏิเสธว่า ไม่ใช่ของเธอ-ไม่ใช่ของใคร ที่จะเอา ตัณหา เป็น กิเลส / อุปาทาน เป็น กิเลส / เอา ภพ เป็น กรรม / เอา ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ เป็น วิบาก ชุดนี้มันก็ไม่ใช่ของเธอ มันเป็นของ ปฎิจจสมุปบาท ทั้งหมดเป็น ปฏิจจสมุปบาท แยกเรียกเป็นเรียงสิ่ง เรียกว่า ปฎิจจสมุปบัณณธรรม นี่คือข้อที่แสดงว่า ไม่ต้องมีตัวผู้บุคคลที่กระทำ-แต่การกระทำมีแล้ว ไม่ต้องมีตัวผู้หรือบุคคลที่จะเสวยผลกรรม-แต่การเสวยผลกรรมก็มีแล้ว นี่คือ เรื่องที่ฟังไม่ถูกแล้วจะว่าผมบ้า เอาเรื่องที่ไม่ควรพูดมาพูด แต่นี่มีอยู่ในพระบาลีอยู่ในพระพุทธภาษิตที่สอนเรื่องกรรมตามหลักของพุทธศาสนา ผมก็เคยคิดเหมือนกันว่าจะพูดดีหรือไม่พูดดี ก็คิดว่าไม่พูดแหละดี เดี๋ยวนี้มันอยู่กันแต่เรา หรือคิดว่าจะมีใครเข้าใจบ้างก็จะมีประโยชน์จึงพูด
กิเลส เป็นเหตุให้ทำ กรรม / กิเลส ไม่ใช่ตัวตน บุคคลเรา เขา / กรรม ก็ไม่ใช่ ตัวตน บุคคล เรา เขา / ผลกรรม ก็ไม่ใช่ ตัวตน บุคคล เรา เขา แต่เมื่อรวมกันแล้วมีผู้ มีการกระทำกรรม เสร็จแล้ว ทำเสร็จแล้วมันก็ไม่ต้องมีผู้กระทำกรรม ที่มันเกิดร้อนใจเป็นนรกขึ้นมา ดีใจเป็นสวรรค์ขึ้นมาอะไรก็ตามมันก็มีรับผลกรรมแล้ว แต่ตัวผู้รับผลกรรมหามีไม่ ถ้ามองเป็นก็จะมองเห็นว่า เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เป็นไปตามนั้นจริง แต่ไม่มีใครที่เป็นตัวตน-เป็นตัวกู นี่ จึงว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์เหมือนกับว่าเราเห็นรถยนต์คันหนึ่งเป็นส่วนๆๆๆๆไป และการปรุงแต่งของมันทำให้รถยนต์วิ่งไปได้ ส่วนประกอบทุกส่วนเมื่อทำการปรุงแต่งกันได้ มันก็เป็นรถยนต์ที่วิ่งไปได้โดยไม่ต้องมีรถยนต์ รถยนต์วิ่งไป-แต่ไม่ต้องมีรถยนต์ รถยนต์ก็วิ่งไปแล้วแต่ก็ไม่มีรถยนต์ ทีนี้ ให้มองดูทุกส่วนที่ประกอบกันเป็นมนุษย์นี้เกี่ยวข้องกับสิ่งภายนอก แล้วเกิดรู้สึกอย่างนี้ อย่างนี้ ว่าเป็นเพียงอย่างนั้นแหละ เรียกว่า ปฏิจจสมุปบัณณธรรม ก็คือ ธรรมชาติที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของมันเอง เป็นไปได้มากถึงขนาดนี่โง่ไปว่ามีตัวกู-มีของกู แล้วก็ไปเล่นงานคนอื่นเข้าก็มี แล้วมันก็เป็นสุขได้เป็นทุกข์ได้
ทีนี้ การที่จะได้รับความรู้สึกเป็นผลกรรม เป็นวิบากนั้นไม่ต้องมีใครมาเกี่ยวข้อง มันเป็นไปตามกฎของมันเอง เพราะฉะนั้น มันจึงแน่นอนที่สุด เช่นเดียวกับที่บอกว่า กิริยา มันมีอย่างไร-ปฏิกิริยา มันจะต้องมีอย่างนั้น ที่นั่นทันทีที่นั่น เพราะฉะนั้น เรื่องกรรมในแบบนี้จึงมีพระพุทธภาษิตตรัสว่า มันจะเสวยผลกรรมในขันธ์นั้น-ในอัตภาพนั้น และขันธ์นั้นในอัตภาพนั้นก็มีในช่วงเวลาอันสั้น คือว่า ความรู้สึกว่า ตัวฉัน มันเกิดขึ้นมาได้ใน ขันธ์ ชุดไหน ขันธ์ ทั้ง ๕ นี้บอกว่ามันเกิดเป็นคราวๆและเป็นชุดๆอย่างที่ว่า ตัวฉันเกิดใน ขันธ์ ชุดไหน-มีการทำกรรมใน ขันธ์ ชุดนั้น และจะได้รับผลกรรมใน ขันธ์ ชุดนั้นเสร็จเลย ไม่ว่าจะเป็นกรรมชนิดที่ได้รับทันควัน หรือรับในขณะต่อมา หรือรับในขณะต่อไปอีก ไม่ต้องพูดถึงชาติหน้า แต่ถ้าลงแล้วภายใน ๑ วินาทีก็มีครบหมด มันให้ผลกรรมเป็นทันควันที่นั่น หรือว่าถ้าไม่ที่นั่นมันก็ถัดมาก็หมายความว่า ในการเกิด ตัวกู ครั้งที่ ๒ จึงจะเกิดความสุขหรือความทุกข์อันนั้น และถ้าไม่เกิดในการเกิดตัวกูครั้งที่สอง คือ ปฏิจจสมุปบาทรอบที่ ๒ มันก็เกิดความรู้สึกอย่างนั้นได้ในของ ปฏิจจสมุปบาท รอบที่ ๓ รอบที่ ๔ รอบที่ ๕ ซึ่งไม่ต้องใช้เวลาถึง ๕ นาที ๑๐ นาทีหรอก เพราะใน ๑ นาทีมันก็เกินไปแล้วที่จะเกิด ปฏิจจสมุปบาท รอบหนึ่ง เราเหลือบตาไปเห็นคนเป็นศัตรูเดินมานี้ มันก็เกิดเปรี๊ยะขึ้นมาที นี่ก็รอบหนึ่งแล้ว มันก็มีกรรมและเสวยผลกรรมเพราะความรู้สึกเกลียดนี้มันร้อนเป็นไฟ ทีนี้ ถ้าสมมติว่าความรู้สึกเกลียดนั้นมันไม่ร้อนเป็นไฟขึ้นมา สมมติว่านะ ต่อเมื่อมี ปฏิจจสมุปบาท รอบที่ ๒ คิดต่อไปถึงขนาดที่ว่าจะฆ่ามันแล้วมันก็มีโอกาสที่จะร้อน สมมติว่าใน ปฏิจจสมุปบาท รอบหลังๆคิดพยายามอย่างนั้น พยายามอย่างนี้ พยายามอย่างโน้นที่จะฆ่ามันนี้ มันก็มีโอกาสที่จะร้อน หรือเป็นทุกข์ ร้อนทันควัน เรียกว่า ชาติทิฏฐธรรม ใน ทิฏฐธรรม คือ ทันควัน ร้อนใน ปฏิจจสมุปบาท รอบที่หลังก็เรียกว่า สัมปรายะ สัมปรายิกะ นาทีที่ 48.20 ทีนี้ ถ้าร้อนใน ปฏิจจสมุปบาท รอบหลังๆมาอีก ก็เรียกว่า อปราประเวทนียะ แต่ในบาลีแท้ๆเรียกว่า อปรวิตะเย นาทีที่ 48.35 ในบาลีเรียก อปรวิตะเย แต่ในอรรถกถาในอภิธรรมที่เขามาสอนในโรงเรียนว่า อปราประเวทนียะ นาทีที่ 48.49 ถ้าถือตามหลักพระพุทธเจ้าทั้ง ทิฏฐธรรม ทั้ง สัมปราปะระ นี้เวลาไม่เท่าไหร่หรอก คือ ขณะที่ ปฏิจจสมุปบาท รอบนี้เกี่ยวกับรอบหลัง เกี่ยวไปถึงรอบหลังและรอบถัดไป เพราะฉะนั้น จึงพูดได้ว่า การได้รับผลกรรมชนิดที่เป็น ทิฏฐธรรม ก็ดี ที่เป็น สัมปรายิกะ ก็ดี ที่เป็น อปราประเวทนียะ ก็ดี-สำเร็จอยู่ในขันธ์ชุดนั้นเอง อันเป็นชุดที่เราได้ อัตภาพ ว่า ตัวกู มันยังเนื่องกันอยู่-มันยังไม่ดับ ความคิดนี้ยังไม่ดับอยู่เพียงไร ขันธ์ ชุดนั้น อัตภาพ นั้นก็ยังอยู่ มันก็ทำ กรรม และก็ได้รับ ผลกรรม ใน อัตภาพ นั้น บาลีมีคำว่า ตัตถะ เอวะ ด้วย ทั้ง ตัตถะ ทั้ง เอวะ นั้นนั่นเทียว จะเป็น ทิฏฐธรรม ก็ดีเป็น อุปปัชเช ก็ดี เป็น อปรวิตะเย ก็ดีนี้ แต่ทีนี้ชาวบ้านเขามาเรียกว่า ในชาติปัจจุบัน ในชาติต่อไป ในชาติหลังๆ เขาก็เอาชาติเข้าโลงเป็นหลัก มันก็ไปไกลมาก แต่ที่นี้เอาชาติที่ ปฎิจจสมุปบาท เป็นหลักแล้วก็ติดๆๆกันไปเลย ระยะเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็มีทุกชาติ มีทุกชนิดได้ มีการได้รับผลกรรมทันควัน หรือในระยะต่อมา หรือในระยะถัดไปนั้น-มีได้ในชุดของ ปฎิจจสมุปบาท นั้น ที่ก่อเป็นความรู้สึกขึ้นมาสำเร็จรูปเป็น ตัวกู ขึ้นมา ของกู ขึ้นมา เรื่องนี้ต้องไปนึกถึงคำอธิบายที่ได้อธิบายมาก่อนๆแล้วว่า เบญจขันธ์ เกิดขึ้นเมื่อไร? รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นเมื่อไร? เกิดขึ้นเป็นชุดๆและดับไปเรื่อย อย่าไปเข้าใจอย่างชาวบ้านเข้าใจว่าเกิดอยู่ทีเดียวตลอดกาล นั่นไม่ใช่พุทธศาสนา เป็น สัสสตทิฏฐิ เป็น มิจฉาทิฏฐิ ถ้าเป็นพุทธศาสนาก็จะเป็นชั่วขณะ ชั่วขณะ ชั่วขณะ ไม่มีตัวตน บุคคล เรา เขา และก็ไม่อะไรที่เกิดอยู่ได้ยืนยาวตลอดกาล เหมือนกับที่จะไปคิดนึกว่านี่เราเกิดอยู่ตั้งแต่จากท้องแม่แล้วก็อยู่จนตลอดเข้าโลงนี้ เพราะฉะนั้น ขันธ์ ทั้ง ๕ ก็เกิดดับ เกิดดับไปตามจังหวะของความรู้สึกในจิตใจที่ว่ามี ตัวกู-มี ของกู ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็เกิดดับ เกิดดับไป ตามขณะที่มีความรู้สึกในจิตใจว่าตัวกู-ของกู
ทีนี้ ส่วนที่เป็นปลีกย่อย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างใด อย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปชั่วขณะที่เรียกว่า มีตัวกู-ของกู และที่ทำกรรม เป็นการกระทำของกรรม เป็นผลของกรรม นี้มันคาบเกี่ยวกันไป การปรุงแต่งของจิตในระยะหนึ่งเป็น ตัวกู ต้องการอย่างนั้น อย่างนี้ นั่นเป็นการทำกรรม เป็น มโนกรรม และได้รับผลของกรรมไปตามเรื่องของมีความทุกข์หรือมีความสุขคือความพอใจ หรือว่าไม่สุข-ไม่ทุกข์ และเราจงรู้สึก จงสังเกตให้รู้สึกว่าเมื่อเรารู้สึกพอใจนี้อย่างหนึ่ง ไม่พอใจนี้ก็อย่างหนึ่ง ยังเฉยๆยังสงสัยนี้ก็อีกอย่างหนึ่ง นั่นแหละ คือ ผลกรรม ที่เราได้รับในขั้นแรก ทีนี้ ต่อมาเรามีความคิดนึกเนื่องจาก เวทนา นั้น ถ้า เวทนา อร่อยก็ให้เกิด โลภะ เกิดคิดจะทำต่อไปตามแบบของ โลภะ ถ้าไม่อร่อยก็มี โทสะ คิดจะทำไปตามแบบมี โทสะ ทีนี้ก็จะมีความทุกข์ขนาดหนัก มีตัวกูขนาดหนักอย่างเต็มที่ก็จะมีความทุกข์ขนาดหนัก ติดกันมาทันควันกับจิตที่คิดนึกอย่างนั้น เพราะฉะนั้น มันไม่มีทางจะพูดได้ว่าผู้ทำไม่ได้รับผลของกรรมนั้นไม่มีทางที่จะพูดได้ และก็ไม่มีทางที่จะพูดได้ว่าผู้ทำได้รับผลกรรมไม่สมกับที่ทำนั้น ไม่มีทางที่จะพูดได้ ผู้ทำมันจะต้องรับผลกรรมและก็จะต้องรับสมกับกรรมที่กระทำ แต่บอกแล้วว่าไม่ต้องมีผู้ที่เป็นบุคคล ตัวตน เรา เขา ผู้ที่เป็นเพียง กิเลส เป็นเพียง อวิชชา ก็ได้ เป็นเพียง ตัณหา อุปาทาน ก็ได้ นี่คือ ผู้ แล้ว คือ สิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า เราทำ กรรม ด้วยความรู้สึกนั้น แล้วก็รู้สึกเป็นชนิดที่เรียกว่า ผลกรรม ขึ้นมาเลยในจิตที่มันเนื่องกัน เราก็ถือว่า กรรม ตามหลักนี้เป็นวิทยาศาสตร์ที่จริงแท้แน่นอนว่า มันมีการกระทำกรรม-การรับผลของกรรมอย่างเที่ยงแท้ อย่างยุติธรรม ไม่มีทางที่จะหาว่าไม่ได้รับ หรือรับไม่สมกัน หรือเป็นเรื่องลำเอียงอะไร มันจะรับเสร็จอยู่ในเวลานั้นหมด ชนิดทันควัน หรือชนิดในระยะถัดมา หรือชนิดต่อไป ไม่ต้องพูดถึงเรื่องตายแล้วเข้าโลงแล้วไปรับข้างหน้า นั่นเป็นอีกชุดหนึ่ง อีกประเภทหนึ่ง อีกแบบหนึ่ง อย่าเอามาปนกัน กรรมอย่างโน้นเราไม่ถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ถือว่าเป็นกรรมทางพุทธศาสนา กรรมในพุทธศาสนาต้องเป็นอย่างที่ว่านี้ แล้วเป็น สันทิฐิโก - ความเห็นได้โดยประจักษ์นี้เราเรียกว่าเป็นความหมายทางวิทยาศาสตร์ แต่ต้องเป็นเรื่องทางจิตใจ
ทีนี้ จะไปกันได้ถึงจุดหมายปลายทางก็คือว่า จะเป็นผู้สิ้นกรรม สามารถที่จะทำกรรมให้สิ้นได้ก่อนจะเข้าโลงนี้ ก็จะศึกษาเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของทุกสิ่ง ทุกตอน ทุกระยะ ให้ฉลาดถึงขนาดที่ว่า มันจะไม่เกิดความรู้สึกเป็นตัวกู-ของกูได้ เมื่อนั้นจะสิ้นกรรม จะใช้คำพูดอย่างไหนก็ได้ เมื่อมองเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่นี้ แม้เมื่อมอง อนิจจัง อย่างเต็มที่ ก็มองเห็น ทุกขัง อนัตตา – ทีนี้ โลภะ โทสะ โมหะไม่มีทางจะเกิด โลภะ โทสะ โมหะไม่มีทางจะเกิดมันก็ไม่มีทางทำกรรม กรรมมันไม่เกิดขึ้นมาได้ อย่างนี้เขาเรียกว่า สิ้นกรรมเป็นพระอรหันต์ กรรม ที่ทำให้ อวิชชา ไม่มีทางจะเกิดนี้ และ วิชชา พร้อมที่จะเกิดอยู่เสมอ จะตายตัวไปเลย นั่นแหละคือ กรรม ที่ไม่มีชื่อเรียกว่าดีหรือชั่ว ดำหรือขาว ต้องเรียกว่า กรรมที่ไม่ดำ-ไม่ขาว ไม่ดี-ไม่ชั่ว จะทำให้กรรมทั้งหลายที่ดี-ที่ชั่ว ที่ดำ-ที่ขาวนั้นหมดความหมายไป อย่างนี้เขาเรียกว่า สิ้นกรรม กรรมที่ทำความสิ้นกรรม คือ จิตนั้นไม่ต้องมีบุคคล-ตัวตนที่ไหน จิตนั้นอยู่เหนือวิสัยที่จะมีกรรม หรือมีการรับผลของกรรมตามแบบที่ว่ามาแล้ว ภาวะอย่างนี้สมมติเรียกว่า อรหัตมรรค / อรหัตผล และสมมติเรียกอย่างเลวอีกทีหนึ่งก็คือเรียกผู้ที่มีจิตใจเป็นอย่างนั้นว่า เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ เป็นบุคคลขึ้นมา ทีนี้ เมื่ออะไรอะไรไม่ใช่บุคคลก็ไม่ได้เป็นหมด มันเป็นแต่เพียงจิตที่ประกอบอยู่ด้วยลักษณะ อาการ คุณสมบัติอย่างนั้น เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ ที่แท้จริงก็ไม่ใช่คนที่เดินไปเดินมาได้ มันเป็น ภาวะของจิต อันหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะที่เรียกได้ว่า ไม่ทำกรรมใหม่ ไม่มีกรรมเก่า และก็เป็นคนสิ้นกรรม นี่ ก็จะพูดได้เพียงว่าเป็นหลักคร่าวๆเท่านั้น ผู้ฟังไม่อาจจะฟังเข้าใจแจ่มแจ้งอย่างละเอียดหมดได้ ผู้พูดก็ไม่อาจพูดให้เข้าใจแจ่มแจ้งละเอียดหมดจดได้ ก็พูดได้แต่หลักคร่าวๆอย่างนี้ สำหรับไปหาคำอธิบายที่ละเอียดเป็นส่วนๆตอนๆไปจนกว่าจะเข้าใจหมดได้ นี่เป็นเรื่องของความเข้าใจ ถ้าจะเป็นเรื่องที่เห็นจริง บรรลุกันแล้ว ก็ต้องไปทำอย่างว่านี้ จนกว่าจิตจะเปลี่ยนไปอยู่ในลักษณะที่ว่า ทำอย่างไรเสียมันก็ไม่เกิด อวิชชา ไม่เกิด ตัวกู-ของกู ไม่มี กรรม ไม่มีการ รับผลของกรรม เมื่อนั้นจะ สิ้นกรรม และจะรู้ว่า สิ้นกรรม เขาเรียกว่า วิมุตติ - หลุดพ้นไปจากกรรม จากความวนเวียนแห่งกรรม และเกิด ญาณทัศนะ ขึ้นมารู้ว่าเดี๋ยวนี้หลุดพ้น พ้นแล้วจาก กรรม
นี่คือเรื่อง กรรม ในหลักคร่าว ตามหลักที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ในรูปอย่างนี้เป็น หลักกรรมในพุทธศาสนา ยิ่งศึกษาไปเท่าไร ก็จะมีลักษณะเป็นการศึกษาเรื่องกรรมในวิถีทางของวิทยาศาสตร์ คือ เห็นแจ้งโดยประจักษ์ได้ทุกขั้น ทุกตอน ทุกสัด ทุกส่วน และก็ไม่ต้องเนื่องกับผู้อื่น ไม่ต้องเชื่อตามกับผู้อื่น สมกันแท้กับการที่จะกล่าวว่า กรรมนี้เป็นของเฉพาะตัว ถ้ามันเนื่องกับผู้อื่น ไปติดคุกติดตาราง ไปทำอะไรใครเดือดร้อนเป็นเรื่องกรรมอย่างอื่น กรรมอย่างศีลธรรม-กรรมอย่างมีไว้สอนศีลธรรม สำหรับคนที่มีตัว-มีตนอยู่กันในโลก มีผลทางสังคมดีอย่างนั้น แต่ถ้าส่วนตัวแท้ๆเป็นเรื่องกรรมอย่างที่ว่านี้ คือ กรรมอย่างวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้น ก็อยากจะให้ศึกษาทุกเรื่อง อะไรพุทธศาสนา ที่เป็นหลักพุทธศาสนาในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ แล้วจะเข้าใจพุทธศาสนาโดยแท้จริง เรื่องไหนก็ตามถ้ายังจะไม่เข้าใจ เรื่องนั้นจะเป็นปรัชญาที่มัว ที่สลัว ที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ พอเข้าใจแจ่มแจ้งถึงตัวจริงก็กลายเป็นวิทยาศาสตร์ และมันก็อยู่ในการที่จะประพฤติได้ กระทำได้ เกิดผลขึ้นมาได้ แล้วก็ เฉพาะตน ตามเคย ธรรมะ เป็น สันทิฐิโก - เห็นเองเฉพาะตน ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ - ถึงแม้จะเป็นคนฉลาดเท่าใดก็รู้ได้เฉพาะตน นี่ เรื่องกรรมในพระพุทธศาสนาที่เป็นพุทธศาสนาจริงๆ จะอยู่ในรูปของวิทยาศาสตร์อย่างนี้-ไม่เป็นปรัชญา ถ้ายังเป็นปรัชญาก็ยังไม่เห็นเรื่องกรรมนั้น
เอาละ พอกันที