แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายในวันนี้ยังคงเป็นการบรรยายในชุดที่เรียกว่า ศึกษาพุทธศาสนาตามวิธีของวิทยาศาสตร์ต่อไปตามเดิม เพราะว่ามันมีแง่มีมุมให้ศึกษาได้อีกมาก และในวันนี้โดยเฉพาะเราก็จะได้พูดกันถึงสิ่งที่เรียกว่า กรรม หรือ การกระทำ ผู้ฟังจะต้องทบทวนว่า วิธีการที่เรียกว่า อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ นั้นหมายถึงว่า เห็นได้ชัด เหมือนกับเอามาใส่ฝ่ามือดูได้ ถ้ามันไม่อย่างนั้นมันก็เป็นเรื่องอย่างไม่ใช่เรื่องวิทยาศาสตร์ เป็นปรัชญา เป็นอะไรก็สุดแท้ พุทธศาสนาที่แท้จริงมีหลักความจริง หรือหลักการสอน หรือว่าวิธีการศึกษาและปฏิบัตินี้ เป็นไปในรูปของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ขอให้ถือเป็นหลักว่า ต้องเป็นสิ่งที่ดูเห็นได้ด้วยความรู้สึก ไม่ต้องฝากไว้กับความเชื่อ
ทีนี้ ก็มาถึงไอ้เรื่อง กรรม เรื่อง กรรม ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในรูปของ ภาษาธรรม หรือที่จะเรียกว่าในรูปของวิทยาศาสตร์นั้นก็มีอยู่ แล้วก็ยังตรัสเรื่อง กรรม ไว้โดยภาษาคน ก็อย่างที่เป็นลัทธิศีลธรรม เป็นปรัชญา ที่บางคนอาจจะเรียกว่าปรัชญาอะไรก็สุดแท้ เรื่อง กรรม อย่างแรก คืออย่างที่เป็นวิทยาศาสตร์นั้น ต้องเป็นเรื่องที่มองเห็น มองเห็นด้วย ตาใน ด้วย ธรรมจักษุ นี่ว่ามันคืออะไร? ให้ผลอย่างไร? มันเกิดมาอย่างไร? มันจะสิ้นดับสิ้นไปอย่างไร? ต้องเห็นชัด
ส่วนที่พูดไว้ในภาษาศีลธรรมสำหรับคนทั่วไป-ชาวบ้านทั่วไปนั้น พูดไว้ในลักษณะที่ต้องเชื่อ หรือเพียงแต่สำหรับเชื่อ แล้วก็ไม่มองเห็นชัด เช่นว่า กรรม ทำไว้ในชาตินี้ ตายแล้วก็จะได้รับผลในชาติหน้า ได้รับผลชาตินี้ก็มี ชาติหน้าต่อตายแล้วก็มี กระทั่งชาติต่อๆๆๆไปก็มี เมื่อพูดถึงคำว่า ชาติต่อๆไปหลังจากตายแล้วนี้ มันก็เป็นสิ่งที่เอามาดูไม่ได้ เห็นไม่ได้ อย่างนี้ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องความเชื่อ หรือเป็นเรื่องศีลธรรมที่ตั้งรากฐานอยู่บนความเชื่อ เพราะฉะนั้น ต้องแยกไอ้เรื่อง กรรม ที่ฝากไว้กับความเชื่อเพื่อสอนศีลธรรมนั้นเป็นพวกหนึ่ง คือพวกที่ไม่อาจจะทำให้เป็นวิทยาศาสตร์ได้ เพราะมันอ้างเอาเวลาหลังจากตายแล้วเป็นเรื่องสำคัญ แล้วก็มีตัว-มีตนเป็นผู้ทำ มี เรา เป็นผู้ทำ กรรม มี เรา เป็นผู้ได้รับผลของ กรรม นี่ภาษาคน-ภาษาศีลธรรมต้องเป็นอย่างนี้ คือ ต้องมีตัวคน มีตัวฉัน-ผู้ทำ ผู้รับผลของการทำ แล้วก็รับกันจริงจังเกิดต่อตายแล้วในชาติหน้า นี่ เรียกว่าเรื่อง กรรม ชนิดที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ และไม่ใช่พุทธศาสนา พูดอย่างนี้ดีกว่าเพราะว่าศาสนาอื่นเขาก็สอนกันอยู่แล้วอย่างนั้น ไอ้เรื่องทำอะไรไว้แล้วตายไปเข้าโลงไปแล้วชาติหน้าไปได้รับไป แบบนี้ศาสนาอื่นเขาก็สอนกันอยู่แล้วก่อนพระพุทธเจ้า หรือในพ้องสมัยกับพระพุทธเจ้าแล้วคนก็เชื่อ ไม่มีทางพิสูจน์
ทีนี้ เราก็จะพูดเรื่อง กรรม อย่างที่เป็นวิทยาศาสตร์นี้ ไม่ต้องมีคน มันกลายเป็นเรื่อง สภาวธรรม ถ้าพูดว่า สภาวธรรม ไม่เข้าใจก็ให้นึกถึงคำว่า ธรรมชาติ ธรรมชาติทางรูป ธรรมชาติทางนาม หรือทางใจนี้ที่มันจะเกิดขึ้นมาเป็นอย่างหนึ่ง อย่างหนึ่ง หรือชั่วขณะหนึ่ง ชั่วขณะหนึ่งนี้ ก็เรียกว่า ธรรมชาติ ที่เป็น ปฏิจจสมุปบันธรรม เมื่อได้เหตุ-ได้ปัจจัยแล้วมันก็เกิดขึ้นนี้ เข้าใจคำนี้ดีเสียก่อน เช่น ต่อเมื่อ ตา เห็น รูป การเห็นจึงจะเกิดขึ้นนี้ เมื่อก่อนที่ตาจะเห็นรูปนี้ การเห็นไม่ได้เกิดขึ้น ฟังดูให้ดี การเห็น นั้นคือ ธรรมชาติอันหนึ่งที่มันจะเกิดขึ้นตามเหตุ-ตามปัจจัยครั้งหนึ่ง ชั่วขณะหนึ่งนี้ คือ เมื่อมีการเห็นรูปแล้ว มันก็เกิดไอ้สิ่งถัดไปอีก เป็นลำดับไป คือ ความรู้สึกที่เกิดมาจากการเห็นนั้น ถ้าซอยละเอียดลงไปก็ว่ามันก็เกิด สัญญา ความจำได้ว่ารูปอะไร? แล้วก็เสร็จแล้วก็เกิดความรู้สึกต่อไปอีกว่า มันมีความหมายอย่างไร? คือดี-เลวอย่างไร? ให้คุณ-ให้โทษอย่างไร? น่ารัก-ไม่น่ารักอย่างไร? นี่ มันก็อีกอันหนึ่ง ทีนี้ มันก็เกิดความรู้สึกต่อไปถึงกับว่า รักมันเข้าหรือเกลียดมันเข้า ชอบใจหรือไม่ชอบใจนี้ ความชอบใจนี้หรือความไม่ชอบใจต่างๆนี้ ก็เป็น ปฏิจจสมุปบันธรรม อีกอันหนึ่ง เป็นธรรมชาติ เป็น สภาวธรรม ที่มันเป็นไปเองตามกฎของมัน
นี่ ให้มองดูในลักษณะอย่างนี้เรื่อยไป จนกระทั่งว่ามันเกิด ความอยาก ขึ้นมา ถ้าสวย หรือหอม หรืออร่อย หรือถูกใจ มันก็อยากขึ้นมา อยากจะเอา อยากจะยึดครอง อยากจะเสพ พอมันมีความอยากอย่างนี้ มันก็เกิดความรู้สึกชนิดที่ว่า เป็นฉัน เป็นฉัน-อยาก เพราะฉะนั้น ไอ้ฉันนี่ ลมๆแล้งๆนี้ก็เพิ่งเกิด แล้วได้เกิดขึ้นมาว่าความคิดว่า ฉัน จะกระทำอย่างไร? จะไปขโมย หรือว่าจะไปปล้นเอาซึ่งหน้า จะไปฉุดคร่า หรือจะไปอะไร มันก็เกิดขึ้นมาเป็น มโนกรรม เรียกว่า กรรม เกิดขึ้นแล้ว เป็น มโนกรรม
ทีนี้ มโนกรรม ก็ทำให้มี กายกรรม เช่นว่า ไปขโมยมา หรือว่าเกิด วจีกรรม เช่น ใช้วาจาหลอกลวงเอามา มันก็มี กรรม แล้ว พอมี กรรม อย่างนี้ก็มีไอ้ วิบาก คือ ผลของ กรรม หรือปฏิกิริยาของ กรรม มันก็เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จนได้สุขหรือได้ทุกข์ในรอบสุดท้ายนี้แก่จิตใจนั้น ในเรื่องนั้น ในอัตภาพนั้น เรื่องติดคุก-ติดตารางอย่าเอามาพูดถึงมันไม่เกี่ยวกัน ถ้าพูดถึงเรื่อง กรรม ตามแบบของวิทยาศาสตร์ ของพระพุทธเจ้านี้ เช่นว่า ไปลักขโมยแล้วจะไปติดคุก-ติดตารางนั้นเป็นเรื่องภายนอก เป็นเรื่อง กรรม ทางศีลธรรม มี ตัวฉัน ที่จะติดคุก-ติดตารางอะไรไปตามเรื่อง กรรม ของชาวบ้าน ของภาษาคน ของฝ่ายศีลธรรม ไม่ใช่วิทยาศาสตร์
ถ้า กรรม ทางวิทยาศาสตร์ ก็เดินต่อไปว่ามันเกิด มโนกรรม ก็ไม่ต้องหมายถึงใคร หรือของใคร ไม่ต้องหมายถึงผู้ใด แล้วมันก็เกิด กายกรรม หรือ วจีกรรม เพราะมันไปทำเข้า ปฏิกิริยามันก็ย้อนมาให้คนนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข สมมติว่า เขาถูกติดตาราง ไอ้เรื่องของติดตะรางนั้นเป็นเรื่องของ กรรม ฝ่ายศีลธรรม ไอ้ กรรม วิทยาศาสตร์นี้มันก็เป็นเรื่องใหม่ เรื่องความรู้สึกอย่างใหม่ เป็น ทุกขเวทนา หรือเป็นไอ้ความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปอีก เพราะว่าไม่มีคน นี่ จะไม่มีคนตลอดสาย มีแต่มันเป็นไปตาม กฎของธรรมชาติ เกิดนั่นเกิดนี่ไปเรื่อยๆๆๆ นี่ เข้าใจยาก ถ้าเป็นเรื่อง กรรม ทางศีลธรรม ก็บัญญัติว่าดี-ชั่ว หรือไม่ก็จะปนกัน ดี-ชั่วปนกันก็ตามใจ เพราะมันมี คน ผู้เป็นผู้ต้องการอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วมันก็จะเอาผลของ กรรม ดี จะหลีกผลของ กรรม ชั่วนั้นมันมี คน ไปตามแบบของไอ้เรื่องความเชื่อ ความยึดมั่น-ถือมั่น
เพราะฉะนั้น ขอให้เข้าใจว่า เรื่อง กรรม ตามความหมายที่มันเป็นวิทยาศาสตร์นี้มันไม่มี คน ไม่ต้องเกี่ยวกับ คน ผู้ทำ หรือผู้รับผล กรรม แต่มันก็มีสิ่งต่างๆเกิดขึ้นตามลำดับ แล้วก็มีความรู้สึกแก่จิตใจนั้นด้วยเหมือนกัน เปรียบเทียบข้อนี้ให้เห็นให้ง่ายขึ้นอีกสักนิดหนึ่งก็ว่า ถ้าพูดอย่างนักวิทยาศาสตร์นะ มันก็ไม่มีรถยนต์ ไม่มีรถไฟ ไม่มีบ้านเรือน ไม่มีอะไร คือ มันไปมองที่ชิ้นส่วนนี้ แล้วก็ยังมองลึกถึงกับว่ามันเป็น ธาตุ เหล็ก ธาตุ ทองเหลือง ธาตุ อะไรไปทำนองโน้น และถ้ามองอย่างคน ความรู้สึกอย่างคน คนธรรมดาสามัญนี้มันจะมองว่าเป็นรถยนต์บ้าง เป็นรถไฟบ้าง เป็นบ้าน เป็นเรือน เป็นตึก เป็นอะไรบ้าง นี่ มันต่างกันอย่างนี้ ถ้าวิทยาศาสตร์จะมองแต่ในแง่ที่ว่ามันเป็นไอ้ วัตถุธาตุ อย่างใดอย่างหนึ่งประกอบกันอยู่ แต่ถ้าคนธรรมดาสามัญก็จะมองเป็นรูปบ้าน รูปเรือน รูปตึก รูปอะไรไปตามเรื่อง มันเป็นเรื่องของนักสถาปัตย์ หรือว่าไอ้นักอย่างอื่น ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์
ทีนี้เรื่อง กรรม ก็เหมือนกัน ถ้าเป็น กรรม แท้ในพุทธศาสนาเป็นไปตามหลักของวิทยาศาสตร์ เขาจะไม่พูดเรื่อง คน ผู้ทำ กรรม ผู้รับผลของ กรรม ต่อตายแล้วนี้จะไม่พูด มันพูดชัดกว่า ละเอียดกว่า เจาะจงกว่า ไปยังไอ้ความรู้สึกคิดนึกหรือการกระทำล้วนๆ แต่ถ้าเป็นเรื่อง กรรม ในขั้นศีลธรรมแล้วจะพูดทีเดียวว่า คน แล้วก็ยังแถมว่า นาย ก นาย ข นาย ค นาย ง หญิง-ชาย หรืออะไรว่ามันทำ กรรม นั้น แล้วมันก็ได้รับผลในชาตินี้ ติดคุก ติดตาราง ตายแล้วมันไปตกอบายอีกไม่รู้กี่ชาติ พันชาติ แล้วหลังจากนั้นแล้วมันจะมารับเศษ กรรม เป็นรูปร่าง เป็นเปรต อย่างนั้นอย่างนี้อีกมากมาย อันนี้มันมี คน ก็ไปตามความคิดนึกที่ยึดมั่น-ถือมั่นเป็น คน อย่างนั้นอย่างนี้ นรก-สวรรค์อย่างนั้นอย่างนี้ไป รูปนี้ไม่ใช่รูปของวิทยาศาสตร์ และไม่ใช่รูปของพุทธศาสนาโดยตรง เพราะว่าพุทธศาสนาโดยตรงต้องการจะสอนเรื่อง ไม่มีคน มีแต่ ปฏิจจสมุปบันธรรม หรือ สภาวธรรม แต่แล้วมันทำเช่นอย่างนั้นอย่างเดียวไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงได้สอนทั้ง ๒ เรื่อง คือ สอนอย่างเรื่องศีลธรรมเหมือนศาสนาอื่นทั่วๆไปก็สอน อย่างนี้เรียกว่า สอนว่า มีคน นะ มีเรา มีเขา มีฉัน มี ผู้ทำกรรม รับผลของ กรรม ตายแล้วก็ได้รับผลเรื่อยไปนี้ แต่ที่เป็นของพระพุทธองค์เองจริงๆ ของพระพุทธศาสนาจริงๆนั้น เป็นเรื่องไม่มีคน จะไม่ยอม ไม่ยอมมีคนในกรณีไหนๆทั้งหมด มีแต่ ขันธ์ แต่ ธาตุ , อายตนะ แล้วแต่จะเรียก หรือส่วนประกอบต่างๆที่ประกอบกันขึ้น แล้วก็เป็นไปอย่างนั้น อย่างนั้น เมื่อใดมีความรู้สึกว่า คน ว่า ฉัน - เมื่อนั้นจึงจะมี คน เมื่อใดไม่มีความรู้สึกว่า ฉัน - เมื่อนั้นไม่มี คน เหมือนกับที่ได้พูดกันแล้วหลายครั้งหลายหนที่วัน ธรรมปาฏิโมกข์
เอาละ ทีนี้ก็จะพูดไอ้เรื่อง กรรม ชนิดที่ตามหลักพระพุทธศาสนานี้ ที่เป็น ธรรมะ เป็นธรรมชาติแท้ เป็น ปฏิจจสมุปบันธรรม แท้ ไม่ใช่ คน 17.24 พูดทีเดียวคงไม่รู้เรื่องหมดจดได้ เพราะฉะนั้นก็ค่อยฟังไป พูดอย่างที่ไม่มีคน ไม่มีความยึดถือแล้ว มันก็ต้องไม่มีดี-ไม่มีชั่ว เพราะฉะนั้น จะพูดว่า กรรม ดี กรรม ชั่ว รับผล กรรม ดี กรรม ชั่วนี้มันไปตามเรื่องของ กรรม ในเรื่องศีลธรรม ถ้าเป็นเรื่อง ปรมัตถธรรม วิทยาศาสตร์นี้ก็เราไม่ต้องการ กรรม อะไรเลย เพราะว่า กรรม แล้วก็มีผล กรรม แล้วก็ไม่เป็นอิสระ เพราะฉะนั้น เราอยากจะทำให้ กรรม นี้สิ้นสุดลงไป จะไม่มามัวรับผล กรรม ดี ทำ กรรม ดี รับผล กรรม ดี กลัวชั่วอยู่นั่นมันสำหรับเด็กๆ สำหรับเรื่องศีลธรรม เพราะฉะนั้น คำว่า กรรม ดีให้ผลดี กรรม ชั่วให้ผลชั่ว หรือว่ารับผล กรรม นี้ มันเป็น กรรม ฝ่ายศีลธรรม พอมาถึง กรรม ที่ ๔ นี้ จะไม่เรียกว่าดี ว่าชั่ว ว่าดำ ว่าขาวแล้ว คือ เจตนาที่จะละถอนเสีย เพิกถอนเสีย ชำระให้หมดไปเสียซึ่ง กรรม ทั้ง กรรม ดี กรรม ชั่วอย่างที่เขาพูดกัน นี่ มันมีภาษิตที่เป็นหลักของพุทธศาสนาซึ่งทุกคนที่จะรู้จักพุทธศาสนาแล้ว ต้องเข้าใจความหมายของภาษิตนี้ เช่น เรื่อง อริยสัจจ์ อย่างนี้จะมีหลักว่า ความทุกข์มี แต่ผู้ทุกข์หามีไม่ และ การทำความดับทุกข์นั้นมี แต่ผู้ทำความดับทุกข์หามีไม่ ถ้าฟังถูกแล้วก็ใช้ได้ เช่นเดียวกับการทำ กรรม นี้-มี แต่ผู้ทำ กรรม -หามีไม่ การเสวยผล กรรม ก็มี แต่ผู้เสวยผล กรรม หามีไม่
นี่ จำไว้ก่อน ไม่เข้าใจก็ได้ ยังไม่เข้าใจก็ได้แต่จำไว้ก่อนเลย ว่านี่ มันเป็น หัวใจของพุทธศาสนา ที่ว่าสอน อนัตตา สอนว่า ไม่มีคน ความทุกข์-มี การเสวยความทุกข์-ก็มี แต่ ผู้ทุกข์ หรือ ผู้เสวยความทุกข์ นั้น-ไม่มี ก็หมายความว่า สิ่งต่างๆมันเป็นไปตามกฎที่ว่านี้ เช่นว่า ตาเห็นรูป ก่อนนี้ไม่ได้เห็นรูป ทีนี้ ตาเห็นรูปเกิด จักขุวิญญาณ ขึ้นมาอันหนึ่งแล้ว จาก จักขุวิญญาณ จาก ๓ อันนี้เกิด ผัสสะ คือ การกระทบ แล้วก็เกิด เวทนา พอเกิด เวทนา ก็เกิด ตัณหา ความอยากตาม เวทนา นั้น เกิด อุปาทาน ยึดมั่นเป็นไอ้ ฉัน อยาก หรือความอยาก ของฉัน นั่นนี่ ฉันจะเอาให้ได้ นี่ อุปาทาน ก็มี ตัวฉัน ที่เป็นความรู้สึกและความคิดที่จะเอา จะเอาให้ได้ จะทำให้ได้นี้เป็น มโนกรรม เกิด กรรม ขึ้นมาแล้ว โดยไม่ต้องมีตัวคน สิ่งที่เรียกว่า กรรม ก็มีแล้ว มีความคิดที่จะขโมย แล้วก็ไปขโมยเข้าจริงๆเป็น มโนกรรม ก่อน แล้วเป็น กายกรรม แล้วเป็น วจีกรรม ทีหลัง ถ้ามันมีความรู้สึกทุกข์เกิดขึ้นเพราะการกระทำนั้น มันก็เรียกว่าได้รับผล กรรม โดยไม่ต้องมี ตัวคน อย่าง ตัวฉัน อย่างไม่ต้องมีตัวคนจริง มีแต่ ตัวฉัน ที่สำคัญเอาโดย อุปาทาน นั้น หรือแม้แต่เพียงว่า อยาก อยาก นี่ มันก็เป็น มโนกรรม แล้วมันก็ร้อนอยู่ด้วยความอยากนั้น โดยไม่ต้องไปทำอะไรเป็น กายกรรม เลย เพียงแต่ มโนกรรม เฉยๆ มันก็ร้อนอยู่ในใจแล้ว นี่ ก็เรียกว่า รู้สึก หรือ เสวยทุกข์ แล้วเหมือนกัน แต่ตัวบุคคลผู้เสวยทุกข์หรือผู้ทุกข์นั้นหามีไม่
นี่ ก็มันมองเป็น รูป ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ส่วนๆๆๆหนึ่งเสียหมด ไม่ยอมให้ปรุงเป็นคน เช่นเดียวกับมองรถยนต์ นี่ก็มองเป็นเหล็ก เป็นทองแดง เป็นยาง เป็นไม้ เป็นกระจก เป็นอะไรไปอย่างนั้น ไม่มองให้เห็นเป็นรถยนต์ หลักนี้ก็เป็นอย่างเดียวกันกับเรื่องทางธรรม จะมองเห็นเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มองเห็นเป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมามารมณ์ จะมองเป็นรูป ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มองเป็นส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่ง แล้วก็เกี่ยวเนื่องกันเกิดขึ้น เกิดขึ้น เกิดขึ้น แล้วก็พอสิ้นฤทธิ์ของมัน ก็ดับลง ดับลง ดับลง มีอยู่แต่อย่างนี้ ไม่ต้องมี คน นี่ เรียกว่า เรื่อง กรรม อีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนกับที่ชาวบ้านเขาพูด หรือพระเทศน์สอนกันอยู่ ทำดีทำชั่ว ไปนรก ไปสวรรค์ นั่นมันเรื่องของพวกนั้น เรื่องของพวกนี้มันไม่มี ถ้ามีก็สมมติ คือไอ้ร้อนเป็นไฟนั้น คือ นรก ไอ้ได้สนุกสนานรื่นเริงไปนั้น คือ สวรรค์ ความรู้สึกเอร็ดอร่อย ได้หลงไปนั้น คือ สวรรค์ ไม่มีคนตลอดเวลา
ทีนี้ ถ้าพูดกันเรื่อง กรรม ในทาง ปรมัตถธรรม หรืออย่างแบบวิทยาศาสตร์ ศึกษาพุทธศาสนากันอย่างวิทยาศาสตร์แล้ว ต้อง ไม่มี คน ที่จะทำ กรรม หรือรับผลของ กรรม มีแต่ธรรมชาติล้วนๆ เป็นไปอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น เหมือนที่ยกตัวอย่างมาให้ฟังแล้ว ฟังให้ดีๆ ไม่ต้องมีคน มีดวงตา ข้างนอกมีรูป ตาเห็นรูป เกิดความรู้สึกทางตา คือ การเห็น เป็น จักขุวิญญาณ ไอ้ ๓ อย่างนี้ทำให้เกิดการร่วมมือกันทำงาน เรียกว่า ผัสสะ แล้วก็เกิด เวทนา สบายตาหรือไม่สบายตา นี่ มันไปอย่างนี้เรื่อย ไม่ต้องมีคน ไม่ใช่ ฉัน สบายตา มันเป็นในความรู้สึกที่เกิดขึ้นเองใน ใน รูป-นาม ไอ้ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ มันเป็นสุข เป็นทุกข์ ก็เป็นเพียงเพียงความรู้สึก ไม่มี ฉัน
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า กรรม นี้มาจาก ผัสสะ ไอ้สุข-ทุกข์ก็มาจาก ผัสสะ กรรม นี้ก็มาจาก ผัสสะ พูดอย่างอื่นก็ถูกที่ว่า กรรม นี้มาจาก กิเลส นี้ก็ถูก เพราะว่า กิเลส นี้มาจาก ผัสสะ เพราะฉะนั้น พูดเสียทีเดียวว่า กรรม นี้มาจาก ผัสสะ ที่เราพูดกันทั่วๆไป เราจะพูดว่า การกระทำ นี้มาจาก กิเลส แล้วเมื่อถามว่า กิเลส นี้มาจากไหน? มันต้องมาจาก ผัสสะ จุดตั้งต้นของมัน คือ ผัสสะ ผัสสะ คือ อายตนะข้างใน เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นต้น กับ อายตนะข้างนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ พบกันเข้า จะเกิดความรู้สึก ทีเรียกว่า วิญญาณทางตา วิญญาณ ทางหู วิญญาณ ทางจมูก วิญญาณ ทางลิ้น นี้ ๓ อย่างนี้พบกันเข้าเรียกว่า ผัสสะ มันเป็นวิทยาศาสตร์ล้วนๆอย่างนั้น ไม่ต้องมี กู เห็น ไม่ต้องมี ฉัน เห็น ไม่ต้องมีบุคคลคใดคนหนึ่งเห็น ไม่ต้องมีบุคคลอย่างนี้ มันมี อายตนะ ภายนอก อายตนะ ภายใน พบกันเข้ามันก็เกิดความรู้สึกอันหนึ่งขึ้นมาได้เองตามธรรมชาติ ตาม สภาวธรรม ของร่างกายนี้ ร่างกาย และ ใจนี้ คือ นาม-รูป อันนี้ แล้วมันจึงมีการ เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้อง-โผฎฐัพพะ ทางผิวหนังขึ้นมา นี่ ไม่มีคน ทีนี้ต่อไปอีก มันก็ไม่มีคนเรื่อยไปจนกระทั่งว่า แม้จะเกิด เวทนา เป็นสุข เป็นทุกข์ขึ้นมาแล้ว มันก็เป็น เวทนา เท่านั้น สักว่า เวทนา ไม่ใช่ สัตว์-บุคคล
ทีนี้ ไอ้ถือเอาเรื่องจุดตั้งต้นตรงที่ ผัสสะ ไม่ถือเอาที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือไม่ถือเอาที่รูป เสียง กลิ่น รส ไม่ถือเอาที่เป็น จักขุวิญญาณ เป็นต้น แต่ถือเอาที่มันกระทบกัน ๓ สิ่งนี้ ตาข้างใน รูปข้างนอก แล้วเกิด จักขุวิญญาณ ขึ้นมา ๓ อันนี้ทำงานร่วมกัน เรียกว่า ผัสสะ นี่ จุดตั้งต้นอยู่ที่ตรงนี้ เหมือนกับว่ามันมีเมล็ดพืชอยู่ แล้ว ก็มีที่จะเพาะเมล็ดพืช เช่น แผ่นดิน นี่ มีเมล็ดพืช แล้วมีแผ่นดิน แล้วก็มีน้ำ หรืออากาศ ไอ้ที่ใช้แวดล้อมอีกทีหนึ่ง พอ ๓ อย่างนี้ได้เข้าร่วมกัน มันก็เป็นหน่องอกขึ้นมา ลำพังเมล็ดพืชมันก็งอกหน่อไม่ได้ ไม่มีเมล็ดพืชก็ไม่มีอะไรจะงอกหน่อ เพราะฉะนั้น ยังต้องมีแผ่นดินให้มันงอกหน่อ หรือว่ามีน้ำ มีอากาศ มีอะไรก็ตาม ถ้าได้ครบกัน ๓ เรื่องนี้แล้วมันก็งอกหน่อ หน่อของพืชขึ้นมา ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ผัสสะ ก็เหมือนกัน ต้องมี อายตนะ ข้างใน อายตนะ ข้างนอก กระทบกันแล้ว มีอันหนึ่งโผล่ขึ้นมาอีกเป็น วิญญาณ วิญญาณ นี่เพิ่งเกิดเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เกิดอยู่ตลอดเวลา พอ ๓ อันนี้ได้ร่วมกันแล้วก็จะเรียกว่า ผัสสะ นี่ คือจุดตั้งต้นของทั้งหมด ของทุกสิ่ง ของทุกอย่าง จะเรียก, จะออกชื่อเท่าไรก็ได้ ไอ้โลกก็ตั้งต้นที่ตรงนิ้ ไอ้ กรรม ก็ตั้งต้นที่ตรงนี้ ความคิด ความเห็น การกระทำอะไรต่างๆ ก็ตั้งต้นที่ตรงนี้ สุข-ทุกข์ก็ตั้งต้นที่ตรงนี้ แล้วไอ้สิ่งที่เรียกว่า ผัสสะ นั้นก็คือ สิ่งที่มันจะคลอด คลอดเป็น เวทนา ออกมา เหมือนกันที่จะพูดว่า ตั้งต้นที่ ผัสสะ หรือตั้งต้นที่ เวทนา นี้มันเหมือนกัน เพราะถ้ามี ผัสสะ แล้ว มันอดไม่ได้ มันเว้นไม่ได้ ที่จะไม่มี เวทนา พอมี ผัสสะ แล้วก็ต้องมี เวทนา เราจะดูที่เหตุ คือ ผัสสะ หรือดูที่ผล คือ เวทนา ก็ได้ทั้งนั้น บางทีพระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า เวทนา, เวทนา เป็นตัวเรื่อง ตัวการอะไรยุ่งไปหมด ถ้าพูดให้ลึกไปท่านพูดว่า ผัสสะ มันเป็นวิทยาศาสตร์กว่าอีก
ในที่นี้ จะพูดว่า ผัสสะ นี้เป็น เหตุให้เกิด กรรม ที่เคยได้ยินว่า กิเลส เป็นเหตุให้ทำ กรรม นั้นก็ถูก แต่นั่นมันยัง...มันเอาแต่แค่ กิเลส แล้วเราว่า กิเลส มาจากอะไร? มันก็ต้องถอยไปจนถึง ผัสสะ พอมี ผัสสะ แล้วก็มี เวทนา พอมี เวทนา ก็มี ตัณหา นั่นแหละคือ กิเลส เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจไอ้คำเหล่านี้ให้ดีๆ ที่เรียกว่า ปฏิจสมุปบาท นี่ ต้องเข้าใจให้ดีๆ พอมี ผัสสะ แล้วก็มี เวทนา รู้สึกเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ไม่สุข พอมี เวทนา แล้วต้องอยาก อยากไปตามอำนาจของ ตัณหา นั้น นั่นแหละคือ ตัณหา คือ กิเลส
ทีนี้ กิเลส หรือ ตัณหา ไอ้ที่ว่า ตัณหา หรือที่เรียกว่า โลภะ โทสะ ก็ได้ เวทนา ทำให้เกิด โลภะ ก็ได้ โทสะ ก็ได้ โมหะ ก็ได้ นี่ เรียกว่า ตัณหา มันก็เกิด อุปาทาน ก็ยึดมั่น-ถือมั่นไปตามความอยากนี้ ทีนี้ มันจะเกิด จิต ชนิดที่เรียกว่า ตัวฉัน ขึ้นมาตรงนี้ คือ ฉัน คิด ฉัน ต้องการ ฉัน อะไรนี้ ด้วยอำนาจของ อุปาทาน นั้น ความคิดชนิดนั้น เรียกว่า มโนกรรม หรือ จะออกไปเป็น กายกรรม วจีกรรม ก็ได้ กรรม นี้จึงมาจาก อุปาทาน จะเรียกว่า ภพ หรือ กรรมภพ เสียทีหนึ่งก่อนก็ได้ หรือจะมาเรียกว่า กรรม นี้มาจาก อุปาทาน เลยก็ได้
เพราะฉะนั้น การที่พูดว่า กรรม ทั้งหลายมาจาก ผัสสะ นี้เป็นวิทยาศาสตร์ถึงที่สุด จะเรียกว่า กรรม ทั้งหลายมาจาก เวทนา ก็ได้เหมือนกัน เป็นวิทยาศาสตร์เหมือนกัน แต่ยังไม่แยบคายกว่า...ไม่แยบคายเท่าที่ว่า กรรม ทั้งหลายมาจาก ผัสสะ สุข-ทุกข์ทั้งหลายมาจาก ผัสสะ ทิฎฐิ ทั้ง มิจฉาทิฎฐิ สัมมาทิฏฐิ มาจาก ผัสสะ ไอ้โลกทั้งโลกเป็นโลกขึ้นมาได้นี้ เพราะ อาศัยไอ้สิ่งที่เรียกว่า ผัสสะ ไม่มีสิ่งทีเรียกว่า ผัสสะ แล้วจะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า โลก ฟังดูก็น่าประหลาด ที่มีคน มีสัตว์ มีอะไรอยู่นี้ มันมีความสำคัญอยู่ที่มันมี ผัสสะ มี เวทนา ถ้าไม่อาจจะมี ผัสสะ ไม่อาจจะมี เวทนา แล้ว โลกไม่มีโลก ไม่เป็นโลก
นี่ ศึกษา กรรม เรื่อง กรรม ในพุทธศาสนา ที่เป็นเรื่อง กรรม ในพุทธศาสนาแท้ๆ เป็น ธรรมะ ในพุทธศาสนาแท้ๆ ไม่ใช่ศาสนาอื่นนี้มันเป็นอย่างนี้ไม่ต้องมีสัตว์ บุคคล ตัวตน อะไรที่ไหน มันก็เกิดไอ้สิ่งต่างๆเหล่านี้ขึ้นมาตามลำดับ แล้วเราเรียกอันนั้น-ว่าอันนั้น เรียกอันนั้น-ว่าอันนั้น เรียกอันนั้น-ว่าอันนั้น เรียกความคิดนี้ว่า มโนกรรม เรียกการกระทำว่า กายกรรม เรียกคำพูด การพูด ว่า วจีกรรม ล้วนแต่มาจาก ผัสสะ ทั้งนั้น แต่มันออกไปเสียเป็นสุข -เป็นทุกข์ มันก็สักว่า เวทนา เท่านั้นแหละ มันเป็น เวทนา สุข-ทุกข์มาทีหนึ่งแล้ว ไปเกิด กิเลส ไปเกิด กรรม แล้ว มันก็มีปฏิกิริยากลับมาเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเป็น อทุกขมสุข นั่นแหละ มันก็เท่านั้นแหละ มันไม่มีอะไรมากกว่านี้ นี่ คน ไม่ต้องมี ทีนี้ ถ้าพูดว่า คน มีคนเกิด มีคนตาย มีคนหอบหิ้วผล กรรม ไป อันนั้นเป็นเรื่องศีลธรรม เป็นเรื่องพูดอย่างภาษาศีลธรรม เป็นพุทธศาสนาชั้นศีลธรรมที่พูดเหมือนๆกับศาสนาอื่น ฉะนั้น ขอให้ระลึกนึกถึงที่เคยพูดเตือนไว้เสมอๆว่า พระพุทธเจ้าท่านพูดภาษา ๒ ภาษา คือ พูด ภาษาศีลธรรม สำหรับคน-ปุถุชนทั่วไป ที่ยังมี ตัวกู มี ของกู มี สัตสตทิฏฐิ ว่า ว่ามี ตัวกู ว่ามี ของกู มี อัตตานทิฏฐิ ว่า มีตัวกู-ของกู แล้วก็มี สัตสตทิฎฐิ ว่า ตัวกู ของกู นี้เที่ยงแท้แน่นอน ถาวร ถ้าพูดว่าคนอย่างนี้ คือ คนทั่วไปในโลกโดยมากเป็นอย่างนี้ ถ้าพูดกับคนอย่างนี้ เพื่อประโยชน์แก่คนอย่างนี้ จะพูดเรื่องว่ามีสัตว์ มีบุคคล มีผู้ทำ กรรม มีผู้ได้รับผลของ กรรม มีดี มีชั่ว จงพยายามเอาแต่ที่ดี ทำดีให้มาก นี่ นั่นก็พูดไปตามแบบนั้นเพื่อว่าจะมีศีลธรรมในโลก จะอยู่กันเป็นผาสุกตามแบบชาวโลก แต่ไม่พ้นทุกข์หรอก ไม่พ้นทุกข์อันลึกซึ้ง คือ ความยึดมั่น-ถือมั่นนี้ส่วนหนึ่ พูดทบทวนอยู่ที่ตรงนี้เพื่อจะแยกไอ้ กรรม นี้ออกเป็น ๒ ส่วนนะ เรื่อง กรรม สำหรับปุถุชนนี้พระพุทธเจ้าท่านก็พูดภาษาคน พอเรื่อง กรรม สำหรับผู้ที่จะหลุดพ้น ผู้มีปัญญาที่จะหลุดพ้นออกไปได้ พระพุทธเจ้าท่านก็พูด ภาษาธรรม ว่าไม่มีคน ไม่มีคนผู้ทำ กรรม แต่ กรรม ก็ยังมีได้ การเสวย กรรม ก็ยังมีได้ การปฏิบัติเพื่อให้สิ้น กรรม ก็ยังมีได้ ไม่ต้องมีคน ภาษาธรรมไม่มีคน มีแต่ธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุ-ตามปัจจัย ภาษาคนต้องมีคน มีตัวฉัน นาย ก นาย ข นาย ค นาย ง ทำนั่นทำนี่ ได้รับผลอันนี้ แม้แต่ตายแล้วก็พาไปด้วย สมมติเป็นอย่างนั้น
เมื่อพระพุทธเจ้าท่านพูด ๒ ภาษาอย่างนี้ เราต้องฟังให้ดีว่าท่านกำลังพูดภาษาอะไร? เรื่องไหน? สูตรไหน? บรรทัดไหน? ท่านพูด ภาษาคน หรือพูด ภาษาธรรม ต้องระวังให้ดี ในพระไตรปิฏกนี้มีตั้ง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ นะ ธรรมขันธ์ ไหนเป็น ภาษาคน? ธรรมขันธ์ ไหนเป็น ภาษาธรรม? ต้องระวังให้ดี ถ้าเอามาปนกันแล้ว ยุ่งหมด แล้วไม่ได้ประโยชน์อะไรและฟังไม่ถูกด้วย ในสูตรหนึ่ง บรรทัดหนึ่ง ว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีคน เป็น อนัตตาทั้งนั้น เป็น สุญญตา ว่างทั้งนั้น แล้วไปในอีกสูตรหนึ่ง ก็มีเขียนว่า จงทำเป็นตนให้เป็นที่พึ่งแห่งตน จงทำความดี จงรักษาความดีอะไรนั่น มันก็ไปกลายเป็นคนทำความดี รักษาความดี มีตัวตน มีบุญ-บาปของตนไปแลยนี่
เอ้า ไปเปิดหน้าต่อไป เอ้า เดี๋ยวพบ อ้าว! ไม่มีตัวตนอีกแล้ว มีแต่ ปฏิจจสมุปบันธรรม อีกแล้ว เพราะฉะนั้น ในพระไตรปิฏกนั้นมันปนกันยุ่งทั้ง ภาษาคน และ ภาษาธรรม เพราะเหตุว่าพระไตรปิฏกเป็นเพียงที่รวบรวมคำสอนเท่านั้น คำสอนสูตรนั้น สูตรนี้ ที่นั่น ที่นี่ ก็เทลงไปเหมือนกับเทลงรวมกันในยุ้งในฉาง ไม่ได้เลือก ไม่ได้คัด ไม่ได้เลือก ไม่ได้จัดเป็นพวกๆ เพราะฉะนั้น เราต้องรู้เองว่า ในสูตรไหน? หรือว่าครึ่งของสูตรไหน? หรือว่าบรรทัดไหน? พูดอย่าง ภาษาคน ถ้าตอนไหน? บรรทัดไหน? สูตรไหน? ที่พูดอย่างภาษาธรรม อย่าปนกัน ถ้าพูดอย่าง ไม่มีคน นั่นแหละ ยิ่งเป็นพุทธศาสนา ถ้าพูดอย่างมีคนแล้วก็เป็นทั่วไป เพราะว่าศาสนาอื่นเขาก็พูดเหมือนกัน ศาสนาอื่นก็มีคนทำดีเถิด จะได้ดีมีความสุข ตายแล้วจะได้ไปสวรรค์ เขาก็พูดกัน พูดอย่างนี้เหมือนกันทุกศาสนาในประเทศอินเดีย หรือหลายศาสนาในประเทศอินเดียพูดอย่างมี คน นะ อันนี้ มันปฏิเสธ มันยกเลิกเสียไม่ได้ จะเอาไปทิ้งเสียไม่ได้เพราะว่าคนมันยังโง่ คนในในโลกมันยังโง่ตั้ง ๙๙ เปอร์เซ็นต์นี้ ก็ต้องมีระบบสำหรับคนโง่ แล้วก็ต้องพูดด้วย ภาษาคน ต้องพูดอย่างมี สัตสตทิฎฐิ ว่ามี ตัวกู ว่ามี ของกู ว่า เที่ยงแท้แน่นอน นี่ถ้าพูดในภาษาคน มีคน อย่างนั้นเรื่อง กรรม มันก็ไปอย่างหนึ่ง
ทีนี้ เรื่อง ภาษาธรรม ไม่มีคน เรื่อง กรรม ก็ไปอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราจะศึกษาเรื่อง กรรม ชนิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ของพุทธศาสนาแท้ ต้องเอาอย่างหลังนี้-อย่างที่ ไม่มีคน กรรม เกิดได้โดยไม่ต้องมีคน กรรม ให้ผลได้โดยไม่ต้องมีคนรับผล กรรม ไม่ต้องพูดอะไรให้มาก อย่าพูดให้มากเรื่อง พูดว่า พอตาเห็น รูป นี่ เกิด วิญญาณทางตา ขึ้นมา ๓ อันนี้ผสมโรงกันเป็น ผัสสะ คือ การกระทบระหว่าง ๓ อันนี้ เสร็จแล้วเกิด เวทนา ขึ้นมา คือ ความรู้สึก เป็นสุข หรือไม่เป็นสุขนี้ จาก เวทนา ก็เกิดความรู้สึกเป็น ตัณหา อยากอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ เวทนา นั้นมันบังคับ แล้วก็ทำให้เกิด อุปาทาน ยึดว่ากูนี่อยาก กูนี่ต้องการ กูนี่จะทำ มันก็มีความคิดชนิดนั้นเกิดขึ้น เรียกว่า มโนกรรม นี่เกิด กรรม แล้วโดยไม่ต้องมีคน มีอะไรที่ไหน อันนี้ดับไป อันนี้เกิดขึ้นมา อันนี้ดับไป อันนี้เกิดขึ้นมา อันนี้ดับไป อันนี้เกิดขึ้นมา จนถึงไอ้ชนิดที่เรียกว่า นี่คือ คน คน ในความยึดมั่น-ถือมั่น แต่ถ้าเห็นจริงแล้วจะเห็นว่าไม่ใช่คน มันมีแต่อย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ จนกระทั่งมี กรรรม แล้วก็มีความรู้สึกสุข-ทุกข์ไปตาม วิบาก ของ กรรม นั้น อย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าจะเน่าเข้าโลงไป แล้วจึงหยุดกัน-ไม่ต้องพูดกันอีก
เรื่อง กรรม ตามหลักพุทธศาสนานี้ จะไม่พูดไปถึงไอ้หลังจากตายแล้ว เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ปัญหา ปัญหามันอยู่ที่นี่ มันเป็นทุกข์ จะทำอย่างไรอย่าให้เป็นทุกข์? ก็ทำอย่าให้มีความรู้สึกว่า คน นั้นแหละ ก็ไม่มีความทุกข์ได้ถ้าไม่มีความรุ้สึกว่าคน มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า อุปาทาน ภพ ชาติ
ทีนี้ พอมาถึงคำว่า ชาติ มันก็เลยเกิดเป็น ๒ พวกอีก ชาติ ของภาษาคนก็ นี่ เกิดมาทีจากท้องแม่อยู่ ก่อนจะเข้าโลง แล้วตายไปเกิดใหม่ นี่ชาติ ในภาษาคนธรรมดา ภาษาปุถุชนคนธรรมดา แต่ถ้า ชาติ ในภาษาธรรมะลึก ในพุทธศาสนานี้ หมายความว่า เรารู้สึกว่า คน ว่า ฉัน ว่า กู ที เมื่อหลายทีก็เลยเรียกว่า ชาติ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งมีหลาย ชาติ เราโง่ไปรู้สึกว่ามีตัวกูอย่างนั้น อย่างนี้ขึ้นมาทีหนึ่งนั้น คือ ชาติ เหมือนกัน ไม่ได้เกิดจากท้องแม่หรอก มันเกิดจากตา-หูกระทบกันนี้ ตากระทบ รูป เกิด วิญญาณ เกิด ผัสสะ เกิด เวทนา เกิด ตัณหา เกิด ภพ เกิด ชาติ ได้ทันทีไม่ต้องเกิดจากท้องแม่ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งเกิดได้หลายสิบครั้ง แล้วมันก็ตายได้หลายสิบครั้ง เพราะฉะนั้น เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ก็เลยนับหมื่นนับแสนเลย นับหมื่นนับแสน ชาติ เลย และเมื่อมันท่องเที่ยวไปหลายหมื่นหลายแสนชาติอย่างนี้ มันก็มีโอกาสที่มันจะฉลาดขึ้น ฉลาดขึ้น ฉลาดขึ้น รู้จักหยุดเวียนว่ายในแบบนี้กันเสียที นี่ มันจะไปสู่ มรรคผลนิพพาน คือ จะหยุดไอ้เวียนว่ายอย่างนี้เสียที ฉะนั้นไม่มี ไม่ต้องมีตัวคน ไม่ต้องมีบุคคล ก็บรรลุ มรรคผลนิพพาน ได้ หรือพูดอีกทีหนึ่งว่า การบรรลุ มรรคผลนิพพาน มี แต่ บุคคล ผู้บรรลุ มรรคผลนิพพาน ไม่ต้องมี หรือไม่มี นี่ พูดให้น่าหัวอีกก็ว่า ไอ้การกินข้าวนั้นมี ฉันข้าว-กินข้าว-มี แต่คนผู้กินหามีไม่ ไม่นึกถึง ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ธาตุมัตตะเมเวตัง บ้างว่านั่นสักว่าเป็นธาตุ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล นั้นคือ อาหารบิณฑบาตก็ดี และบุคคลผู้ฉันอาหารบิณฑบาตรนั้นก็ดี ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่คน นี่ การกินข้าวมีได้ เสร็จไปแล้วเลย แต่คนผู้กินหามีไม่ นี่ ถ้าพูดอย่างนี้ฟังถูกแล้วรู้พุทธศาสนา ถ้าพูดอย่างนี้ยังฟังไม่ถูกคนนั้นยังไม่รู้พุทธศาสนา ฉะนั้น เมื่อการกินมีได้โดยไม่ต้องมีบุคคล-อื่นๆก็เหมือนกัน การนอน การอาบ การถ่าย การอะไรก็เหมือนกัน มีได้หมดแต่ไม่ต้องมีคน-โดยไม่ต้องมีคน
การเรียหนังสือหนังหานี้ก็มีเสร็จแล้ว แต่ไม่ต้องมีคนที่เป็นผู้เรียน แต่เขาไม่ได้แจกกันถึงขนาดนี้ เขาแจกกันแต่เพียงว่า ความทุกข์มีได้แต่ไม่ต้องมีบุคคลผู้ทุกข์ ความดับทุกข์มีได้แต่ไม่ต้องมีบุคคลผู้ดับทุกข์ มันมีแต่กายกับใจทำหน้าที่ที่จะสัมผัสกับ อายตนะ ข้างนอก ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น อย่างที่พูดแล้วซ้ำๆซากๆไม่รู้กี่ร้อยครั้งพันครั้ง มีแต่เหล่านี้ทั้งนั้น แล้วเมื่อมันกระทบกันเข้ามันเกิดความรู้สึกได้ ก็เลยเป็นเหมือนกับว่าเครื่องจักรที่ละเอียด ลึก ประณีต สุขุม อันหนึ่งเท่านั้น เมื่อให้มันทำงานแล้วมันก็ต้องทำอย่างนี้ ไอ้ตากับรูปพบกันเข้าก็เกิด วิญญาณ ทางตา ขึ้นมา แล้วมันก็จะผลิต ผัสสะ ออกมา แล้วมันก็ผลิด เวทนา ออกมา ผลิต ตัณหา ออกมา เพราะฉะนั้น ไม่ต้องมี คน ก่อนที่ตาจะกระทบรูปนี้ เราก็ไม่รู้สึกว่าคน เดี๋ยวนี้ ที่นั่งอยู่ที่นี่ทุกคนก็ไม่รู้สึกว่ากูเป็นคน มันจะไปรู้สึกว่ากูเป็นคนต่อเมื่อมี เวทนา มี ตัณหา โน่น ชั่วขณะนั้นเท่านั้นว่า กูอย่างนั้น อย่างนี้ขึ้นมาแล้ว นั่นเป็นคน มีคนขึ้นมาพักหนึ่ง เดี๋ยวก็ดับไปอีก คือ ตายไปอีก เดี๋ยวได้กระทบทางอื่นอีก ทางหู ทางจมูก อะไรก็ตาม กระทั่งมันมีกูอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมาอีก มันก็มีคนอีก เพราะฉะนั้น คนนั้นเป็นมายา-ไม่ใช่คนจริง นี่คือ หลัก กรรม ที่เป็นหลักที่แท้จริงในพุทธศาสนา คือ ไม่ต้องมี คน มี กรรม ก็ได้ เสวยผล กรรม ก็ได้ สิ้น กรรม ก็ได้ โดย ไม่ต้องมีคน
ทีนี้ ถ้าว่าเป็นพูดอย่างที่เรารู้กันมา ตามชาวบ้านพูดนั้นก็เรียกว่า กรรม ทั่วๆไป กรรม อย่างศีลธรรมทั่วๆไป แล้วเรารู้จักกันอยู่แต่อย่างนั้น แล้วก็หวังอยู่ว่าเราตายแล้วจะได้รับผล กรรม อย่างนั้นก็ได้เหมือนกัน ก็ดีเหมือนกัน มันเป็นเรื่องดีที่จะได้ทำดี ดีกว่าทำชั่ว ถ้าเป็นเรื่องพุทธศาสนาจริง ไอ้ดีมันก็ไม่เอา-สั่นหัว ไอ้ดีก็บ้าชนิดหนึ่ง ไอ้ชั่วมันก็บ้าชนิดหนึ่ง ไม่เอาทั้งดีทั้งชั่ว เพราะไม่ต้องการจะมี ตัวฉัน ที่ทำ กรรม ไอ้สิ้น กรรม สิ้น กรรม ได้อย่างไร? สิ้น กรรม ได้ก็คือว่า ทำให้ ผัสสะ ไม่มีความหมาย พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้ชัดว่า สิ้น ผัสสะ คือ สิ้น กรรม ผัสสะ ในที่นี้ก็หมายถึง ผัสสะ สักว่า ผัสสะ ผัสสะ ไม่ปรุง เวทนา ไม่ปรุง ตัณหา ไม่ปรุงอะไร เช่นว่า ตาเห็นรูปนี่ ไม่ต้องเกิดดีใจ ยินดียินร้ายนี้ อย่างนี้เรียกว่า ผัสสะ ไม่มี ผัสสะ ทำหน้าที่ไม่เป็นผล หรือว่าเมื่อมันยังไม่มีการกระทบทางตา เป็นต้น ผัสสะ ยังไม่มี กรรม ก็ยังไม่มี ถ้าเราอยากจะไม่ให้เป็น กรรม เราก็ ทำให้ ผัสสะ ไม่มีความหมาย ผัสสะ สักว่า ผัสสะ หรือว่า เวทนา สักว่า เวทนา ก็ได้เหมือนกัน แต่มันไม่ค่อยจะปลอดภัย สู้ให้ว่ามันเป็น ผัสสะ สักว่า ผัสสะ ไม่ได้ พอตาเห็นรูป เกิด วิญญาณ ทางตา เป็น ผัสสะ ขึ้นมา อย่าให้มันเดินไปทาง เวทนา ตัณหา โน้น ให้มันเดินไปทางที่ว่า นี่มันคืออะไร? นี้มันมาทำไม? นี้มันจะต้องอะไร? แล้วก็ทำไปสิ สติปัญญาก็ทำไป นี่แหละ คือ วิธีการหรืออุบายอะไรอันหนึ่งซึ่งลึกลับ สุขุม ละเอียดมาก ที่จะทำให้คนนี้ไม่เป็นทุกข์ ที่จะทำให้มนุษย์ไม่เป็นทุกข์ จะทำให้สิ่งที่เรียกว่า มนุษย์ หรือ คน นี้ไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าไม่อย่างนั้นจะต้องมีทุกข์ ขาดทุนก็เป็นทุกข์ ได้กำไรก็เป็นทุกข์ เสมอตัวก็เป็นทุกข์ มันทุกข์ไปแบบหนึ่ง แบบหนึ่ง แบบหนึ่ง เพราะมันยึดถือ ขาดทุนก็นอนไม่หลับ ได้กำไรก็นอนไม่หลับ เสมอตัวก็นอนไม่หลับ ถ้าไม่ยึดถึงอย่างนี้ ไม่ต้องการถึงอย่างนี้ ก็ไม่มี... ไม่มีเรื่องจะต้องพูด ก็เอาไปสิ มันก็หัวหกก้นขวิดไปตามเรื่อง ขึ้นสวรรค์-ลงนรกกันไปตามเรื่อง นี่ เขาไม่ต้องการจะให้บ้า หรือให้หัวหกก้นขวิดแบบนั้น ต้องการจะให้มันหยุด หรือมันว่าง หรือมันเย็นนี้ต้องรู้ความลับของธรรมชาติ ถึงขนาดที่เรียกว่า ไม่มีคน - กรรม ก็ กรรม แต่ไม่มี ผู้ทำ กรรม - ผล กรรม ก็ผล กรรม แต่ไม่มีผู้รับผล กรรม นี่แหละ คือ เรื่อง กรรม ในพุทธศาสนาอย่างวิทยาศาสตร์
ทีนี้ ที่เขาสอนกันอยู่ในโรงเรียน หรือสอนกันอยู่ทั่วๆไป มันเอาไปปนกันยุ่งหมด แล้วก็ที่แท้ก็สอนแต่เรื่อง กรรม ชนิดภาษาคนทั้งนั้นแหละ-มีตัวกู เพราะมันมีตัวกูอยู่แล้วตลอดเวลา ความเชื่อความคิดที่ว่ามี-ตัวกู มีอยู่ตลอดเวลา กูอยากมี-กูก็ทำ แล้วทีนี้มันก็ไม่เป็นไปตามที่อยาก เช่น ทำดีไม่ได้ดีก็มีอยู่บ่อยๆ นั่น มันโง่ เพราะจะไปเอาเรื่องติดคุก ติดตาราง หรือได้เงิน ได้ของ ได้ทอง มาเป็นเรื่องของ กรรม ด้วยนั้นมันไม่ใช่ของ กรรม ที่แท้จริงไอ้ กรรม ทีแท้จริงนี่มันอยู่แต่ข้างใน สุข-ทุกข์อะไรอยู่ข้างในนี้ เพราะติดตารางไม่เป็นทุกข์ก็ได้ หรือว่าได้เงิน ได้ของ ไม่มีความสุขก็ได้ นั้นมันไม่แน่ เขาเรียกว่าไอ้ของที่มันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ของข้างนอกที่มันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ใช่เรื่องจริงหรอก ที่ทำดี-ทำชั่วแล้วจะต้องได้นั่น-ได้นี่ หรือเสียนั่น-เสียนี่ มันไม่ใช่เรื่องจริง เรื่องจริงก็คือว่าทำดี--มันดีแน่ ทำชั่ว-มันชั่วแน่ พอเราบัญญัติเหล่านี้ว่า-ดี พอทำดีแล้วมันก็ต้องถือว่าดีแล้ว ดีทันที ดีเมื่อทำ ถ้าบัญญัติอย่างนี้ว่าชั่ว พอไปทำเข้ามันชั่วแล้ว ชั่วทันทีแล้วเมื่อทำเช่นนี้ ส่วนที่เรื่องผลอื่นที่จะตามมาทีหลังนั้น-ไม่ใช่ นั่นมันเรื่องพลอยมาแฝง มาเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น แล้วบางทีมันก็ได้ บางทีมันก็ไม่ได้ แล้วมันไม่แน่นอนหรอกที่ว่ามันได้เงินแล้วมันจะเป็นดี มันก็ไม่แน่ มันชั่วก็ได้ ไม่ได้เงินนี่มันก็ดีก็ได้ ทีนี้ คนมันไม่รู้เรื่องนี้ เอามาปนกันยุ่งไปหมด เลยเกิดความเข้าใจผิดว่า ทำดี-ไม่ได้ดี ทำชั่ว-ไม่ได้ชั่ว ที่แท้ถ้าจะทำดีมันก็ดี ดีอยู่ในตัวการกระทำ ทำชั่วมันก็ชั่วอยู่ในตัวการกระทำ พอทำเสร็จก็ดีเสร็จ ชั่วเสร็จ ทีนี้ ความรู้สึกว่าดีนี้ หรือชั่วนี้ พอไปยึดถือเข้าก็เป็นทุกข์ทันที ทีนี้ ก็มีฉลาดถึงขนาดที่จะไม่ยึดถือดีหรือชั่ว พูดให้เก่งกว่านั้นก็ว่า ฉันจะอยู่เหนืออิทธิพลของความดี-ความชั่ว
นี่ กรรม กรรม -การกระทำ หรือ กรรม ที่วิเศษเกิดขึ้นทันที คือ อริยมรรค นี้ หรือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ จะเข้ามาทำหน้าที่ ที่จะให้คนรู้ถึงขนาดที่ว่า โอ้ย! ทั้งดี-ทั้งชั่ว-ยกเลิก เรื่องบ้าทั้งนั้น นี่ มันจึงเป็นสิ้นสุดแห่ง กรรม ดี และ กรรม ชั่ว, เหนือ กรรม ดีและ กรรม ชั่ว แล้วมันก็ไม่มีความทุกข์อีกต่อไป อย่างนี้เขาเรียกว่า สิ้นกรรม จิตสูง อย่านึกนะว่า กรรม ไม่มีความหมาย ทั้งดีและทั้งชั่วนั่นก็เรียกว่า สิ้นกรรม การทำให้ สิ้นกรรม นี้ก็เป็น กรรม อันหนึ่งเหมือนกัน คือ ปฏิบัติให้ถูกตามหลักของธรรมะในพระพุทธศาสนา ในชั้นที่เป็น สัจจธรรม หรือ ธรรมะแท้ ที่พูดไว้ใน ภาษาธรรม ถ้าไปมัวยึดตามในเรื่องภาษาโลกแล้วก็เวียนว่ายตายเกิดไปเถิด ตามความคิดโง่เขลา แล้วจะจริงหรือไม่จริง ไม่มีอะไรมาดูให้ดูได้ ตายเข้าโลงแล้วไม่มีอะไรพิสูจน์ได้
ทีนี้ คำพูดมันก็เลยแบ่งเป็น ๒ แผนกอยู่เรื่อยไป คำพูดเรื่องเวลา-ที่แสดงถึงเวลา ก็เลยแบ่งเป็น ๒ พวก คำพูดเรื่องเวลาในพระคัมภีร์มีอยู่ ๓ คำ ว่า
๓ คำนี้ ถ้าพูดตามภาษาคน ภาษาคนโง่
มันเอา ชาติ เข้าโลง ชาติ เกิดจากท้องแม่แล้วตายเข้าโลงเป็นหลักเรื่อยไป เพราะฉะนั้น ชาตินี้แล้วคือชาตินี้ แล้วชาติต่อไปก็ตายเข้าโลงแล้ว แล้วชาติต่อๆไปอีกก็ต้องหลังจากนั้นอีก นั่น ภาษาคน เป็นอย่างนั้น
ถ้า ภาษาธรรม - ชาติ นี้ คือ ทันควัน ทิฏฐธรรม ที่เรียกว่า ทิฏฐธรรม ที่เราชอบแปลกันว่า ชาตินี้ คือ ให้ผลทันควัน สัมปรายะ คือ ให้ผลในเวลาถัดมา ต่อมาอีก แล้ว ปราประ คือว่า ต่อมาอีก แต่ว่าทั้ง ๓ อันนี้ใน อัตภาพ นี้ ในอัตภาพ นี้ ในชีวิตนี้ เพราะฉะนั้น จึงมีหลักว่า อัตภาพ มันเกิดขึ้น เพราะอาศัย ขันธ์ ใดนี้ นี่ พูดอย่างวิทยาศาสตร์ที่สุดเลย อัตภาพ นี้ คือ ความเป็นคนของที่เราเรียกว่า ความเป็นคนของเรานี้ อัตภาพ นี้ มันเกิดขึ้นใน ขันธ์ เหล่าใดนี้ ใน ขันธ์ ใดนี้
ทีนี้ ทำ กรรม - กรรม ดี กรรม ชั่ว ทำโดย โลภะโทสะ / อโลภะ อโทสะ ก็ตาม มันทำใน อัตภาพ นั้น แล้วมันจะได้รับผลใน อัตภาพ นั้น นี่เป็นพระพุทธภาษิตว่าอย่างนี้ จะได้รับผลใน อัตภาพ นั้นในฐานะที่เป็น ทิฏฐธรรม คือ ทันควันก็ตาม ในฐานะที่เป็น อุปปัชเช หรือ สัมปราเย คือ ในเวลาต่อไปก็ตาม หรือใน อัประวิสะเย นาทีที่ 54.25 คือที่เรียกว่า อปราปรเวทันยะ นาทีที่ 54.30 ในเวลาต่อไปก็ตาม ทั้งๆที่อยู่ใน อัตภาพ นี้ อัตภาพ ที่อาศัย ขันธ์ เหล่าใดทำ กรรม นี้ มันก็เลยเป็นเรื่องเดียวเรื่องนั้นเท่านั้น ไม่พูดถึงเรื่องอื่น เพราะฉะนั้น ไม่พูดถึงพรุ่งนี้ มะรืนนี้ พอเกิด มโนกรรม ขึ้นมา มันก็เกิดผลทันควันบ้าง หรือถัดไปอีกระยะหนึ่ง หรือถัดไปอีกระยะหนึ่ง แต่ต้องใน อัตภาพ นั้น ที่อาศัย ขันธ์ เหล่าใดเกิดขึ้นนั้น พูดให้ชัดก็ว่า ความรู้สึกว่า ตัวกู เกิดขึ้นใน ขันธ์ ใน ขันธ์เหล่าใด คือ ขันธ์ ๕ นี่ เมื่อตากระทบรูป หูกระทบเสียง เป็นต้น มันจะเกิดความรู้สึกจนกระทั่งเป็นครบ ขันธ์ ๕ นี้เรียกว่า อัตภาพ นั้นเกิดใน ขันธ์ นั้น แล้วใน ขันธ์ นั้นได้ทำ กรรม ใดสัตว์นั้นจะเสวยวิบากของ กรรม นั้น ใน อัตภาพ นั้น ไม่ว่าจะเป็นอย่าง ทิฏฐธัม หรือ สัมปรายะ หรือ อปราประ ใน อัตภาพ นั้นมีครบ ก็คือ ไม่ต้องตาย แล้วก็คือไม่ต้องพรุ่งนี้ ไม่ต้องมะรืนนี้ แล้วก็ใน อัตภาพ ที่มีความรู้สึกว่า ตัวกู ทีหนึ่งนะ อาศัย ขันธ์ เหล่าใดในเรื่องนั้น แล้วมันก็ระบุชัดว่า ชั่วตาเห็นรูป นี่แหละคือ ชาติ หนึ่งแล้วจะมี ขันธ์ ๕ ครบ ชั่วตาเห็นรูปด้วยความโง่ ด้วย อวิชชา ตาเห็นรูปแล้วมี อวิชชา เข้ามา มี วิญญาณ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อะไรเป็น อวิชชา หมด คือ เป็นทุกข์ไปหมด นี่ คือเป็น ตัวกู มันมีทั้ง รูป ทั้ง เวทนา ทั้ง สัญญา ทั้ง สังขาร วิญญาณ พร้อมอยู่ที่กลุ่มนั้น เรียกว่า กรรม และ อัตภาพ มันอยู่ที่ ขันธ์กลุ่มใด แล้วก็ทำ กรรม ลงไปในด้วยอัตภาพนั้น สัตว์นั้นจะต้องเสวยผลของ กรรม นั้นใน อัตภาพ นั้น ไม่ว่าชนิด ทิฏฐธัม หรือ สัมปรายะ หรือ อปราประ
นี่ ไม่เหมือนที่สอนในโรงเรียนเห็นไหม? นี่ ไม่ใช่ผมว่าเอาเอง นี่พูดจากพุทธภาษิตที่เปิดให้ดูเมื่อไรก็ได้ แต่ผมเลยพูดให้ฟังเสียว่า นี่ คือ กรรม ในภาษาคนที่สอน สัจจธรรม ไม่ใช่สอนศีลธรรม ถ้าสอนศีลธรรมก็ต้องเป็นเรื่องมี คน แล้วก็อย่างว่า อย่างในหนังสือ ธรรมวิภาคปริเฉท ๒ เรื่อง กรรม นั้น กรรม ในภาษาคน มี คน ทำ มีการไปตามชาติ ก็คือ ตายแล้ว เกิดแล้ว เข้าโลง เกิดแล้ว เข้าโลงนั้น ไม่ใช่ ชาติ อย่างที่ว่านี้ ทีนี้ มีคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นพุทธภาษิตมีอยู่อย่างนี้ ชั่วตาเห็นรูปทีเดียว ถ้าโง่ไป คือ มีอวิชชา เข้ามาเกี่ยวขึ้น เกิดขึ้นเกี่ยวข้องแล้วมันก็จะเป็น คน ขึ้นมา แล้วก็ทำ กรรม แล้วก็เลยเสวยผลของ กรรม สิ้นเสร็จไปในเรื่องนี้ ในกรณีนี้ คือ ในกรณีที่ตาเห็นรูปนี้ การที่ตาเห็นรูปทีหนึ่ง จะมี ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นครบ แล้วได้อัตภาพ ใน ขันธ์ ๕ เพราะตาเห็นรูปนี้ กรรม ใดทำในอัตภาพนี้ จะได้รับผลใน อัตภาพ นั้น ไม่ว่าชนิด ทิฏฐธัม หรือสัมปรายะ หรือ อปราประเวทนียะ นี่ ผมจึงบอกให้อีกทีหนึ่งว่า แม้แต่สิ่งที่เรียกว่า เวลา ก็ต้องแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท เวลา ประเภทภาษาคน มันก็ไปอย่าง เวลา ประเภทภาษาธรรม ก็ไปอย่าง
ฉะนั้น คำ ๓ คำที่ว่า ทิฏฐธรรม, สัมปรายะ, อปราประ นี้ต้องแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด ชนิดคนธรรมดา คนที่ไม่รู้ธรรมะก็ไปอย่างหนึ่ง ชนิดคนที่รู้ธรรมะอย่างพระพุทธเจ้าสอนก็ไปอีกอย่าง ให้ผลใน ทิฏฐธรรม คือ ให้ผลทันควัน ให้ผลใน สัมปรายะขณะ ก็เลื่อนไปอีกนิด อปราประ ก็เลื่อนไปอีกนิดหนึ่งจนกว่ามันเลิกกัน รายนี้หมดไป รายอื่นเข้ามาอีก มาทางหู มาทางจมูก มาทางลิ้น ทางอะไร เรื่อยไป ฉะนั้น ชั่วเวลานั่งถ่ายอุจจาระอยู่นี่ ไม่ทันออกจากส้วมนี้ อาจจะมี กรรม และการได้รับผล กรรม หลายราย หลายเรื่อง บางทีเป็น ทิฏฐธรรม บางที่เป็น สัมปรายะ บางทีเป็น อปราประ หรือมากกว่านั้นก็ว่า เวลาเคี้ยวข้าวคำหนึ่งไม่ทันจะกลืนนี้ยังมี กรรม ถ้ามันคิดเก่งนะ เคี้ยวข้าวไปพลางมันอร่อย กินแกงไก่อร่อย มันก็คิดถึงแต่จะไปขโมยไก่มากินอีก เหมือนฤาษีจะกินเหี้ยนั้นน่ะ แค่นี้แหละมันก็เป็น กรรม แล้วรับผล กรรม เสร็จ ไม่ว่าจะเป็น ทิฏฐธรรม หรือ อุปัชชะ หรือ อปราประ ไม่ทันกลืน เอ้า! คิดเรื่องใหม่อีก ถ้าว่าตอนสุดท้ายมันเกิดไม่อร่อยขึ้นมา เกิดก้าง เกิดอะไรขึ้นมา มันก็คิดอย่างอื่นอีก เป็น มโนกรรม อย่างอื่นอีก ได้รับผล กรรม เสร็จแล้วเหมือนกัน นี่ ชื่อว่ากินข้าวคำเดียวยังไม่ทันจะเสร็จนี้ มันก็ยังเป็นได้หลาย กรรม หรือได้หลายอย่างในขณะหนึ่ง เรียกว่า ปฏิสนธิวิญญาณ เลยก็ได้ คือ วิญญาณ ชนิดที่จะ... นี่ วิญญาณนี้อร่อยไอ้ลิ้นกระทบกับแกงกับนี้แล้วอร่อย แล้วมันจะมี วิญญาณ ที่รู้รสนี้ด้วย ถ้าเอา อวิชชา เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย วิญญาณ นี้เรียกว่า ปฏิสนธิวิญญาณ ได้เลย เพราะว่า วิญญาณ นี้จะทำไปให้เกิด ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน คือ เกิด ตัวกู / วิญญาณ นี้เลยเรียกว่า ปฏิสนธิวิญญาณ ได้เลย เพราะฉะนั้น ในชั่วกินข้าวนี้อาจจะมี ปฏิสนธิวิญญาณ หลายหน เพราะว่าเกิดหลายหน มี กรรม และรับผล กรรม หลายหน ขอให้สังเกตดู ไอ้ กรรม ชนิดนี้ การรับผล กรรม ชนิดนี้ เห็นชัดเหมือนกับเอาก้อนกรวดมาใส่ฝ่ามือแล้วดู ไม่เหมือนกับ กรรม ที่ฝากไว้ที่ไหนก็ไม่รู้ ชาติหน้าชาติไหนก็ไม่รู้ แล้วก็เหมาๆเอาว่า ทำดี-ได้ดี ทำชั่ว-ได้ชั่ว ทำดีแล้วก็จะสวย จะรวย จะถูกเลข ๓ ตัวนี้ มันล้วนแต่มองไม่เห็นทั้งนั้น ถ้า กรรม ตามแบบที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ สำหรับภาษาธรรมเพื่อเป็นพุทธบริษัทแท้จริงแล้วมันมีอยู่อย่างนี้ นี่ ขอให้เข้าใจ กรรม ในลักษณะอย่างนี้ เรื่อง กรรม ที่ศึกษาโดยวิธีวิทยาศาสตร์ และเป็นคำสอนของพรพุทธเจ้าจริง มันมีอย่างนี้ นอกนั้เป็น กรรม ทั่วไป เรื่อง ศีลธรรม ของคนทั่วไป ศีลธรรมของคนทั้งโลก ต้องการให้เชื่อว่าดี-ได้ดี / ชั่ว-ได้ชั่ว แล้วชวนกันทำดี หนักเข้าไม่มีใครทำ เดี๋ยวนี้ในโลกไม่มีเชื่อฟังคำสอนข้อนี้ ถือว่าได้แล้วเป็นดี ไม่มีดี ไม่มีชั่ว ถือว่าได้แล้วเป็นดี แล้วก็รบรา ฆ่าฟัน เบียดเบียนกันไปตามเรื่อง มันไม่มีสิ้นสุด
ถ้าเมื่อใดมาศึกษา กรรม ตามแบบพระพุทธเจ้า จะรู้สึกทันทีว่ามันเป็น ทุกข์ อย่างนี้ มันไม่ควรทำจริง อย่าไปเล่นกับ กรรม เลย เลิก กรรม เลิกการกระทำ กรรม กันเสียที จะมีความสุข เย็นๆๆๆ ถึงที่สุด เป็น นิพพาน สิ้น กรรม ก็คือ นิพพาน เพราะว่าจิตใจนั้นเป็นอิสระ อยู่เหนือ กิเลส ตัณหา อยู่เหนือ กรรม อยู่เหนือการเสวยผล กรรม และเพราะว่าโดยเนื้อแท้แล้วมันไม่มีคน มีแต่ ปฏิจสมุปบันธรรม คือ ธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุ-ตามปัจจัย เกิดขึ้น-ดับลง เกิดขึ้น-ดับลง เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ เป็น วิญญาณ เป็น ผัสสะ เป็น เวทนา เป็น ตัณหา เป็น ภพ เป็น ชาติ เป็น ทุกข์
เอ้า! ย้อนกลับอีก พอสิ้นเรื่องแล้วก็ตั้งต้นตั้งเรื่องใหม่ พอเรื่องนี้สิ้นไปมันก็ตั้งเรื่องใหม่ เพราะมันมีทั้งตา ทั้งหู ทั้งจมูก ทั้งลิ้น ทั้งอะไร แล้วก็มันมีอะไรที่จะมา แม้แต่ตา เรื่องตาอย่างเดียว มันก็มีหลายชนิดที่จะมาทำให้ตาเกิดเรื่อง หูก็เหมือนกันมีเรื่องหลายชนิดที่จะมาทำให้หูเกิดเรื่อง
เพราะฉะนั้น สรุป กรรม ว่า กรรม นี้เกิดมาจาก ผัสสะ จงจัดการให้ ผัสสะ หมดความหมาย แล้ว กรรม ก็จะสิ้นสุด เอาละ พอกันที