แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายในวันนี้เป็นการบรรยายต่อจากครั้งที่แล้วมา ดังที่ได้บอกให้ทราบแล้วว่าเราจะเปลี่ยนเรื่อง จากเรื่องสำหรับภิกษุใหม่ มาเป็น เรื่องหลักธรรมะที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาโดยตรง
ในครั้งที่แล้วมาเราพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า เวทนา ในฐานะที่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงและก็เป็นต้นเหตุของทุกสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหายุ่งยากขึ้นแก่มนุษย์เรา แล้วให้มองดูสิ่งที่เรียกว่า เวทนา นั้นเป็นต้นเหตุให้เกิดสิ่งยุ่งยากแก่มนุษย์เราได้ ในลักษณะที่มันเป็นสิ่งที่เห็นได้จริงๆตรงๆตามกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น เราจึงเรียกการศึกษาชุดนี้ว่า การศึกษาพุทธศาสนาตามวิถีทางของวิทยาศาสตร์ ที่ต้องทบทวนดูให้เข้าใจถึงสิ่งที่จะเป็นตัววัตถุของการศึกษา เพราะศึกษาตามวิธีการของวิทยาศาสตร์ต้องมีตัววัตถุสำหรับการศึกษาอย่างประจักษ์ คือ ไม่ใช่เรื่องคำนึงคำนวณโดยเหตุผลเหมือนกับวิธีของปรัชญา
ทีนี้ เราก็ได้พูดแล้วว่าแม้สิ่งที่เรียกว่า เวทนา นั้นจะเป็นเพียงความรู้สึกในทางจิต มิได้เป็นตัวเป็นตนอย่างวัตถุ นี่ ก็ขอให้เข้าใจว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ฝ่ายนามธรรม ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ฝ่ายวัตถุ เรื่องนามธรรมกับเรื่องวัตถุนี้มันก็มีอะไรบางอย่างที่ยังเข้าใจผิดกันอยู่ สำหรับผู้มีปัญญาในทางธรรมะจริงๆแล้ว จะเห็นว่าเรื่องนามธรรมนั้นก็เป็นเรื่องระดับเดียวกันกับเรื่องวัตถุ ตรงนี้ยากที่ใครๆจะเข้าใจหรือมองเห็นได้ทันที ว่าไอ้เรื่องทางจิตใจนั้นถ้ามองเห็นและเข้าใจแล้ว มันก็จะกลายเป็นเรื่องทางวัตถุโดยกฎเกณฑ์อย่างเดียวกัน นี่ เป็นเหตุให้เราสามารถที่จะเอา เวทนา เอาสิ่งที่เรียกว่า เวทนา มาเป็นวัตถุสำหรับศึกษาได้เช่นเดียวกับที่เราจะเอาก้อนหิน ก้อนดิน ไม้ไร่นี้มาเป็นวัตถุสำหรับการศึกษา ค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ฝ่ายวัตถุ อีกทีหนึ่งขอให้ทราบไว้ด้วยว่า ไอ้ระบบจิตใจที่เนื่องกันอยู่กับร่างกายนี้ ตามทางธรรมะเขาถือว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับร่างกาย ดังนั้น เราจึงต้องมีคำใช้ที่แบ่งแยกกันเด็ดขาด
ระบบรูปธรรม คือ วัตถุทั้งหลายที่เรียกเข้าเป็น reality นี้ก็ตาม ระบบทางจิตที่เนื่องกันอยู่กับร่างกายที่เรียก mentality นี้ก็ตาม ล้วนแต่ถือว่าเป็นเรื่องวัตถุทั้งนั้น ต่อเมื่อเป็นเรื่องที่สูงขึ้นไปกว่านั้นที่เป็นเรื่องทางสติปัญญาล้วนๆ ที่เราเรียกกันว่าทาง spiritual นั่นแหละจึงจะเป็นเรื่องทางที่ไม่อาจจะเรียกว่าวัตถุ
จะยกตัวอย่างให้ฟังง่ายๆว่า ในทางธรรมะนี้เรามีเรื่องที่จะต้องเอามาเป็นวัตถุสำหรับการศึกษา ๒ เรื่อง คือ เรื่องกาย กับ จิต กายจะต้องถูกศึกษาเช่นเดียวกับจิต จิตจะต้องถูกศึกษาเช่นเดียวกับกาย ทีนี้ เอาอะไรมาศึกษาจิตและกาย อันนั้นรู้จักกันหรือยัง? อันนั้นจะไม่เรียกว่าจิต เพราะว่าจิตนี้มันเป็นคู่กับกาย ถูกศึกษาพร้อมกันไปกับกายในลักษณะอย่างเดียวกันกับกาย เช่น ขันธ์ ๕ - รูป นี้คือ กาย / เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้คือ จิต นำมารวมกันเป็น ขันธ์ ๕ แล้วอะไรจะศึกษา ขันธ์ ๕ เอา ขันธ์ ๕ เป็นวัตถุสำหรับการศึกษา นี่ ที่มันเตลิดขึ้นไปจนไม่มีชื่อจะเรียกนี้ ในภาษาธรรมะเขาเรียกว่า ปัญญา หรือ ญาณทัศนะ หรืออะไรที่มันยิ่งไปกว่าไอ้ร่างกายกับใจนี้
ทีนี้ ก็พอจะเห็นได้ว่าเรามีสิ่งนี้ที่จะศึกษารูปร่างกายในลักษณะที่เป็นวัตถุ ศึกษาจิต เรื่องเกี่ยวกับจิต ความรู้สึกของจิตในลักษณะที่เนื่องกันอยู่กับวัตถุ เรียกง่ายๆว่า ศึกษาเรื่อง คน คนก็มีทั้งกายและทั้งจิต เพราะฉะนั้น คนทั้งคนถูกศึกษา ทีนี้ สิ่งที่จะมาศึกษามันได้นี้ ก็ต้องเป็นเรื่องที่สูงกว่า ดีกว่าไอ้ ๒ สิ่งนี้ นี่คือ มีเรื่องของสิ่งที่สูงไปกว่าร่างกายกับจิตนี้ ซึ่งในภาษาไทยเราก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร แต่ในภาษาบาลีนั้นเขาเรียกว่าเรื่องทางจิต นั่นแหละ โดยยกเอาจิตที่คู่กันอยู่กับกายนี้เอามาไว้เป็นฝ่ายร่างกายเสีย แล้วก็อย่าลืมที่เคยเปรียบเทียบให้ฟังว่า เพื่อเข้าใจสิ่งทั้ง ๓ นี้ดี-ให้ใช้คำว่า ร่างกาย จิต แล้วก็ วิญญาณ
วิญญาณ ในที่อย่างนี้ไม่ใช่เรื่องจิต ไม่ใช่ วิญญาณ ใน ขันธ์ ๕ แล้วก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร ก็ต้องยืมคำว่า วิญญาณ มาใช้เพื่อเข้ากับคำว่า spiritual ของภาษาสากล อย่างเราเรียกตึกนี้ว่าโรงหนังทาง วิญญาณ นี้ คำว่า วิญญาณ นี้ไม่ใช่จิต มันมีอะไรไกลไปกว่านั้น ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจสิ่งนี้ดียิ่งชัดเจนไม่ปนกันยุ่ง ก็เลยยกตัวอย่างให้ฟังว่า ถ้าเราเป็นโรคภัยไข้เจ็บทางร่างกายนี้เราก็ไปที่โรงพยาบาลทั่วๆไป แต่ถ้าเราเป็นโรคภัยไข้เจ็บทางจิต เราก็ไปที่โรงพยาบาลปากคลองสาน หรือโรงพยาบาลอะไรทำนองนั้น แต่ถ้าเราเป็นโรคทาง วิญญาณ เราต้องไปหาพระพุทธเจ้า นี่ ไปที่โรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า โรงพยาบาลทางทั่วๆไปกับโรงพยาบาลปากคลองสานนี้ช่วยไม่ได้ ไปหาโรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า คือ ศึกษาเรื่องที่มันเหนือจากนั้นไป รู้ว่า กิเลส คืออะไร? ความทุกข์คืออะไร? อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์?
นี่ก็หมายความว่า คนทุกคนในโลกนี้ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังเป็นโรคทาง วิญญาณ อยู่ด้วยกันทั้งนั้น แต่เราไม่ถือว่าเขาเป็นโรคกายหรือโรคจิตในระบบ physical หรือ mental นี้มันยังดีๆอยู่ แต่ไอ้ระบบ spiritual เสียไปหมด คือ โง่ ใครที่ยังโง่เรื่องความดับทุกข์ โง่เหล่านี้เรียกว่ายังเป็นโรคทาง วิญญาณ สำหรับผมจะพูดให้เข้าใจ แต่ในภาษาบาลีใช้คำว่า จิต แทนคำว่า วิญญาณ ทีนี้ คำว่า จิต ในภาษาไทยเอามาใช้ต่ำเกินไปแล้ว-ใช้ไม่ได้ ต้องใช้คำว่า วิญญาณ แทน นี่ อย่าให้มันปนกันยุ่ง รู้ว่าภาษาบาลีใช้อย่างไร? ภาษาไทยใช้อย่างไร? แล้วภาษาที่เรากำลังจะพูดอยู่นี่ใช้อย่างไร?
นี่ เราก็รู้ได้ทันทีว่าไอ้ระบบทาง spirituality นั้นจะเป็นผู้ศึกษาระบบทาง ...lity นาทีที่ 10.47 หรือ mentality เราจึงสามารถศึกษาพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องวิถีทางดับทุกข์นี้ ในลักษณะอย่างเดียวกับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ คือ ใช้วิธีการอย่างวิทยาศาสตร์ คือ ต้องมีอะไรมาเอาวางลงสำหรับเป็นวัตถุสำหรับศึกษา แล้วก็ศึกษาให้เข้าใจ เหมือนที่ได้พูดมาแล้วในวันก่อนว่า จะต้องเอาตัวสิ่งที่เรียกว่า เวทนา นั้นมาวางลงไปในที่ทดลอง ในที่ศึกษา ถ้าไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า เวทนา มันก็ล้มเหลวหมด คือ มันโง่เกินไปที่จะศึกษาอะไรได้ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องรู้จักสิ่งที่เรียกว่า เวทนา ที่เกิดอยู่เป็นประจำวัน ให้รู้จักดีจนเอามาศึกษา และก็ศึกษาในส่วนลึก ในส่วนที่มันลึกกว่าที่คนธรรมดาเขารู้ หรือเขาพูดกัน จึงจะเป็นวิทยาศาสตร์ทางฝ่าย จิต หรือฝ่าย วิญญาณ
ทีนี้ จะยกตัวอย่างให้ฟังอีกด้วยเรื่องที่เทศน์เมื่อคืนก่อนนี้ว่า ความรู้สึกของคนเราซึ่งทำให้เกิดความสำคัญมั่นหมายนั้น ควรจะจัดเป็น ๔ ประเภทจึงจะหมดจด แต่คนธรรมดาสามัญรู้จักเพียง ๓ ประเภท
อันที่ ๑ เรียกว่า รู้สึกว่า กูขาดทุน
อันที่ ๒ รู้สึกว่า กูเสมอตัว
อันที่ ๓ เรียกว่า กูได้กำไร
คนปุถุชนคนธรรมดาเหล่านี้โง่ถึงขนาดที่เรียกว่า... และทั้ง ๓ อย่างนี้มันต่างกัน มันต่างกันอย่างตรงกันข้ามหรืออะไรทำนองนั้น เพราะว่าอันหนึ่งมันขาดทุน อันหนึ่งมันได้กำไร อันหนึ่งมันเสมอตัว มันโง่เพราะมันรู้แต่เพียง ๓ อย่าง ไม่รู้จักอย่างที่ ๔ ที่เรียกว่า นิพเพธิกะภาคิยะสัญญา คือ ความรู้ที่มันจะแทงตลอดไอ้ ๓ อย่างโง่ๆนั้นให้ทะลุเข้าไปว่ามันเหมือนกัน เมื่อรู้สึกว่าขาดทุนมันก็โง่ชนิดหนึ่ง รู้สึกว่าเสมอตัวมันก็โง่ชนิดหนึ่ง รู้สึกว่าได้กำไรมันก็โง่ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นความโง่ด้วยกัน อันหนึ่งมันทำให้เกิด เวทนา เป็น ทุกขเวทนา เมื่อขาดทุน ก็เดือดร้อนไปตามประสา ทุกขเวทนา เกิด โทสะ เกิด โกรธะ ตกนรกไปตามแบบนั้น อันหนึ่งได้รู้สึกว่าได้กำไรก็สบายดีใจลิงโลดเป็น สุขเวทนา มันก็โง่หรือบ้าไปตามแบบนั้น ส่วนที่เสมอตัวนี้มันก็ยังเป็น โมหะ ความรู้สึกที่เป็น โมหะ ยังสงสัย ยังหวัง ยังอะไรต่อไปอีก จึงเรียกว่า โง่ เสมอกัน แต่คนธรรมดาไม่รู้สึกอย่างนั้น เขาจะรู้สึกยินดีเมื่อได้กำไร แล้วก็เสียใจเมื่อขาดทุน แล้วก็หวังต่อไปว่ามันเสมอตัว ไอ้เรื่อง นิพเพธิกะภาคิยะสัญญา นั้นมันมาในลักษณะที่จะบอกว่า รู้สึกว่าขาดทุนนี้ ก็ยัง โง่ รู้สึกว่าเสมอตัว ก็ยัง โง่ รู้สึกว่าได้กำไร ก็ยัง โง่ เพราะคนเหล่านั้นมันโง่ไปตาม เวทนา นั้นๆ นี่ ถ้าจะไม่ให้โง่ ก็หมายความว่า เมื่อมันมีการขาดทุนเกิดขึ้น ต้องให้ไอ้ความขาดทุนนั้นทำให้เราฉลาดในเรื่องนั้นๆ และเมื่อความเสมอตัวเกิดขึ้น ก็ให้ไอ้ความเสมอตัวนั้นทำให้เราฉลาดในเรื่องนั้นๆ และเมื่อการได้กำไรเกิดขึ้น ก็ให้ไอ้การได้กำไรนั้นทำให้เราฉลาดในเรื่องนั้นๆ คือ มันให้ปัญญาทั้ง ๓ อย่าง ไม่ใช่มาให้ความยินดี-ยินร้าย อันหนึ่งเศร้า อันหนึ่งระเริงเหลิงอย่างนี้ ก็ลองคิดดูอันไหนเป็นวิทยาศาสตร์
คนที่เมื่อมันขาดทุนแล้วมันเสียใจ พอกำไรแล้วมันดีใจ เสมอตัวมันก็หวังต่อไปอย่างนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่? ไม่มีลักษณะแห่งความเป็นวิทยาศาสตร์ คือ มันโง่ไปด้วยอำนาจ อวิชชา มีความยึดมั่น-ถือมั่น ได้อย่างใจก็ดีใจ ไม่ได้อย่างใจก็เสียใจหรือโกรธ ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์มันก็ต้องรู้ว่าไอ้ความรู้สึก 3 อย่างนี้นั้นมันสำหรับคนโง่ มี อวิชชา อุปาทาน และ ยึดถือ ไปแบบหนึ่ง แบบหนึ่ง ๓ แบบ และแบบของพระพุทธเจ้าท่านถือว่ามันเป็น ปฏิจจสมุปบันธรรม เสมอกัน คือ ความรู้สึกที่จะต้องเกิดขึ้นตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เสมอกันเป็น ปฏิจจสมุปบันธรรม เสมอกัน ไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นที่น่ารัก น่าพอใจ หรือน่าโกรธ น่าเกลียด น่าอะไร คิดดูอันไหนมันเป็นวิทยาศาสตร์กว่า หรือคนไหนมันจะรู้วิทยาศาสตร์กว่า ถ้าคนหนึ่งพอขาดทุนแล้วโกรธเสียใจ พอได้กำไรแล้วยินดีเหลิง เสมอตัวก็หวังต่อไปอีก นี่ คนชนิดนี้มันอย่างหนึ่ง ไอ้คนหนึ่งมันรู้ว่ามันเป็นเพียงความรู้สึกที่มันเกิดมาจากความปรุงแต่งในจิตใจเมื่อมันเป็นอย่างนั้น อย่างนั้น แล้วก็ไม่ยินดี-ยินร้าย ไม่ยินดีในส่วนที่ว่าเป็นกำไร หรือยินร้ายในส่วนที่ว่าขาดทุน หรือไม่หวังอะไรในส่วนที่เสมอตัว คงมีใจคอที่ฉลาดขึ้นไปกว่าเดิม
เมื่อมันขาดทุนก็รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ มันก็ต้องเป็นอย่างนี้แล้วก็เป็นธรรมดา ก็ไม่ได้เสียใจอะไร เมื่อได้กำไรก็พิจารณาดูว่ามันก็ต้องเป็นอย่างนี้ตามกฎอย่างนี้ อย่างนี้ ไม่แปลกอะไรและก็ไม่ยินดีอะไรที่มันจะได้กำไร มันเสมอตัวก็รู้อย่างเดียวกันอีกว่ามันมีสิ่งต่างๆแวดล้อมอยู่อย่างนี้ ผลมันก็ออกมาอย่างนี้คือ สิ่งที่เราเรียกว่าเสมอตัวนี้ นี่ก็ระบุตรงๆไปได้เลยว่า ปุถุชนคนโง่ คนพาล คนเขลา คนหลงในโลกนี้มันก็จะมีความรู้สึกว่าได้กำไร เสมอตัว หรือขาดทุน ส่วนพระอรหันต์จะไม่มีความรู้สึกว่าขาดทุน หรือเสมอตัว หรือได้กำไรนี้ เพราะจิตมันไม่ยึดถือใน เวทนา ที่ได้เกิดขึ้นตามเหตุนั้นๆ แล้วก็จะไม่เกิด เวทนา ด้วย ถึงว่าพระอรหันต์จะมีการทำอะไรลงไปซึ่งส่วนตัวเองก็ไม่ต้องการอะไรแล้ว แต่ทำเพื่อผู้อื่นนี้ จะไม่มีความรู้สึกที่สรุปได้เป็นว่าขาดทุน หรือเสมอตัว หรือได้กำไร จะมีความรู้สึกแต่ว่าสิ่งนี้ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ มันมีสิ่งแวดล้อมมากมายหลายอย่าง มันเป็นไปตามเหตุ-ตามปัจจัย แล้วมันมีผลขึ้นมาอย่างนี้ ที่คนโง่เรียกว่าขาดทุน หรือที่คนโง่เรียกว่าได้กำไร หรือว่าเสมอตัวนี้ พระอรหันต์จึงไม่มีความรู้สึก ๓ ชนิดนั้น แต่มีความรู้สึกอย่างที่ ๔ ที่เรียกว่า นิพเพธิกะภาคิยะสัญญา คือ มีความรู้สึกที่แทงตลอดไอ้ความโง่ ๓ ชนิดนั้นได้หมด ความรู้สึกที่แทงตลอดความโง่ว่าขาดทุน ว่าเสมอตัว ว่าได้กำไรนี้ได้หมด เพราะฉะนั้น ไอ้ความโง่ว่าได้กำไร ขาดทุน เสมอตัวเลยกระจายสูญหายไปหมดไม่เหลืออยู่รอหน้า ก็คิดดูเถอะว่าใครเป็นนักวิทยาศาสตร์มากกว่ากัน ปุถุชนคนโง่ที่มีความรู้สึก ๓ อย่างนี้ กับ พระอรหันต์ที่ไม่มีความรู้สึก ๓ อย่างนี้ได้ ในระหว่าง ๒ พวกนี้ ใครเป็นนักวิทยาศาสตร์มากกว่ากัน?
นี่ ถ้าเข้าใจข้อนี้แล้วจะเข้าใจได้ทันทีว่า เรียนพุทธศาสนาก็เรียนในวิถีทางของวิทยาศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ฝ่าย วิญญาณ ฝ่าย spiritual เป็น faculty อันอื่นเอามาเข้ากับชุดนี้ไม่ได้ นี่ผมพยายามทั้งนี้ก็เพื่อให้เข้าใจคำว่า จะเรียนพุทธศาสนาอย่างวิทยาศาสตร์ ทีนี้ ก็บอกให้เลยว่าถ้ายังโง่ คือ ยังไม่รู้จักพุทธศาสนานั้น ก็ไม่อาจเรียนพุทธศาสนาอย่างวิทยาศาสตร์ จะไม่อาจเรียนพุทธศาสนาอย่างวิทยาศาสตร์ แล้วก็จะเข้าใจว่าพุทธศาสนาเป็นปรัชญาอยู่เรื่อยไป ถ้าใครเข้าใจพุทธศาสนาที่แท้จริง ตัวจริงเป็นปรัชญา คนนั้นยังโง่อยู่ จะพูดดังๆให้ตลอดโลกทั้งโลกเลย ในฐานะที่เราเป็นผู้รับใช้พระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านตรัสในพระพุทธศาสนา หรือหลักธรรมะพรหมจรรย์ของท่านไว้ในรูปของวิทยาศาสตร์ คือ อริยสัจจ์ ๔ ระบุตรงๆ นี้ หรือ ปฏิจจสมุปบาท ก็ตาม แต่เรื่อง อริยสัจจ์ ๔ หรือเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท นี้ถ้าใครยังไม่เข้าใจ มันจะแสดงอาการสลัว มืดมัว เข้าใจไม่ได้อยู่ในรูปของปรัชญา สิ่งที่เรียกว่า ปรัชญา นั้นเข้าใจไม่ได้ ไม่มีความแจ่มแจ้ง ไม่มีความเด็ดขาดตลอดลงไปได้ เพียงแต่สรุปว่าเป็นมติอันใดอันหนึ่งว่าพอใจแล้วก็ยึดถือไว้ รักษาไว้ปฏิบัติเท่านั้น ไม่แสดงความแจ่มแจ้งชัดเจนเหมือนกับเอาก้อนดินมาใส่ฝ่ามือดูได้ แต่ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์มันก็ต้องมีความแจ่มแจ้งเหมือนกับสิ่งที่เอามาใส่ฝ่ามือดูได้อย่างนี้
เพราะฉะนั้น เรื่อง อริยสัจจ์ นั้น ถ้าศึกษาถูกวิธีมีผลแล้วมันจะเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่เป็นปรัชญา ว่ามันทุกข์คืออย่างนี้ อย่างนี้ เหตุให้เกิดทุกข์คืออย่างนี้ อย่างนี้ ความดับสนิทไม่มีทุกข์คืออย่างนี้ อย่างนี้ ทางถึงความดับสนิทแห่งทุกข์คืออย่างนี้ อย่างนี้ คือ ต้องเห็นชัดอย่างนี้ ถ้าไม่ชัดอย่างนี้มันเป็นปรัชญา ถ้าชัดอย่างนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์ ฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะรู้จักสิ่งนี้มาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะคือสิ่งที่เรียกว่า เวทนา เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เราบัญญัติ อริยสัจจ์ ๔ สำหรับบุคคลที่มี เวทนา คือ กำลังมี เวทนา เรื่องของ อริยสัจจ์มันจึงจะมีได้
ตัวความทุกข์นั้น เป็น เวทนา และก็ต้องมีตัว เวทนา นั้นมาดูว่าเป็นอย่างไร? ดูด้วยใจว่าเป็นอย่างไร? แล้วมาจากอะไร? เห็นชัดเลย ไม่ต้องเชื่อตามคนอื่น ไม่ต้องเชื่อครูบาอาจารย์ ไม่ต้องเชื่อหนังสือหนังหาตำรับตำรา เพราะมองเห็นได้ด้วยตนเองว่าความทุกข์เป็นอย่างนี้ เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ ทุกข์ไม่มีเป็นอย่างนี้ ทางให้ถึงความไม่มีทุกข์มันเป็นอย่างนี้ มันเห็นชัดเลย แม้จะแสดงออกไปให้ละเอียดถี่ยิบจนเป็น ปฏิจจสมุปบาท คือว่า ตั้งแต่แรกเริ่มจนกว่าจะเกิดทุกข์แยกมาเป็นตั้ง ๑๑ ตอนอย่างนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเห็นชัด-จะชัดอย่างเห็นของวัตถุ เห็นว่าทุกข์เกิดขึ้นมาอย่างนี้เลย เดี๋ยวนี้มันไม่มองเห็น เรื่อง ปฏิจจสมุปบาท เลยกลายเป็นเรื่องปรัชญาลึกลับไปหมด อธิบายกันไป อธิบายกันมาในประเทศไทย ในประเทศพม่า ลังกาก็ไม่รู้ เอาประโยชน์อะไรไม่ได้ ไม่มีความชัดเจนอะไรที่ไหน เพราะมันไม่รู้ เพราะมันไม่เข้าใจ มันเลยอยู่ในรูปปรัชญา-ไม่เป็นวิทยาศาสตร์
นี่ เราจะค่อยๆศึกษากันไปให้เห็นชัดว่า อริยสัจจ์ ๔ ก็ดี ปฏิจจสมุปบาท ก็ดี มันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์สำหรับบุคคลผู้เห็นอยู่ เข้าใจอยู่ เห็นแจ่มแจ้งแทงตลอดอยู่ เดี๋ยวนี้มันผิด มันมีการศึกษาผิดไปตั้งแต่ต้น ตามหลักที่บอกแล้วว่า ต้องเอาตัวจริงมาสำหรับศึกษา เช่น ความทุกข์นี้-ต้องเอาทุกข์ตัวจริงมาสำหรับศึกษา เอาทุกข์ที่ไม่ใช่ตัวจริง ทุกข์แต่ชื่อมาศึกษาไม่มีทางที่จะเป็นวิทยาศาสตร์ขึ้นมาได้ เป็นปรัชญาโง่ๆ มืดๆ ต่อไปอีก
ข้อแรก พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ นี่ยกตัวอย่างอย่างนี้ ทีนี้ อธิบายว่า ความเกิด นั้นคือว่า ออกมาจากท้องแม่ ได้ อัตภาพ ได้ ขันธ์ ได้ อินทรีย์ นี้ ก็อย่างที่เราเข้าใจกันทั่วไปว่าเกิดจากท้องแม่นั้น แล้วก็อธิบาย ชรา ว่า ผมหงอก ฟันหัก หูหนวก หนังย่น อะไรต่างๆ เหล่านี้ ไปอ่านดูใน นิเทส ที่เขามีในพระคัมภีร์ อธิบาย ความตาย ว่ามันเคลื่อน มันตาย มันเข้าโลงไป หรือมันทิ้งซากไว้ที่นี่ อย่างนี้เป็นต้น ถ้าเอาไอ้ตัวนี้ ๓ อย่างนี้เป็นตัว ชาติ ตัว ชรา ตัว มรณะ แล้ว ไม่มีทางที่จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ความทุกข์ ตามแบบของ อริยสัจจ์ ได้ ไอ้ความเกิด ความแก่ ความตายอย่างนั้นมันมีอยู่ตามธรรมชาติ ตามธรรมดาอยู่ทั่วไป-ไม่เป็นทุกข์ มันจะเป็นทุกข์ต่อเมื่อมันไปยึดว่า ชาติ-ของเรา การเกิด-ของเรา ความแก่-ของเรา ความตาย-ของเรา เมื่อใดมันไปโง่ด้วย อวิชชา ยึดถือตัวตนของตนเข้าที่อันใดอันหนึ่งแล้ว มันก็จะยึดถือว่า เราที่เกิดอยู่นี้ เป็น ชาติ-ของเรา แล้วเราต้องการจะเอานั่น เอานี่ มีนั่น มีนี่ เป็นนั่น เป็นนี่ ชาติ นี้เป็น ชาติ ฝ่าย วิญญาณ นะ ต้องใช้คำอย่างนั้นอีก คือ ชาติ ที่ถูกยึดถือว่าเป็น ชาติ-ของเรา ความเกิดจากท้องแม่หรือความเกิดธรรมดานี้ ถ้าเราไม่ยึดถือว่ามันเป็น ชาติ-ของเรา มันไม่มีทุกข์ พอยึดถือว่าเป็น ชาติ-ของเรา มันก็มีทุกข์ ความชราก็เหมือนกัน ชราแบบไหน แบบไหนถ้ามันอยู่ไปตามธรรมดา- มันไม่เป็นทุกข์ ไม่ได้เป็นทุกข์ตามความหมายของ อริยสัจจ์ ต่อว่ามี อวิชชา ในใจ มีความโง่ในใจ ยึดถือว่า ชรา นี้ ของเรา และเราเกลียดกลัวชรา มันก็เป็นทุกข์ทันที ความตายก็เหมือนกันอีก ความตายเข้าโลงนั่นแหละ ถ้าไม่ได้ยึดถือว่าความตายนี้ของเรา ความตายนี้จะมีแก่เรา ไม่เกี่ยวกับเราแล้ว-มันจะไม่เป็นทุกข์
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสรุปไว้ว่า สังขิตเตนะปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา, เบญจขันธ์ ที่ประกอบด้วย อุปาทาน ยึดมั่น-ถือมั่นว่าเราว่า ของเรา นั่นแหละเป็น ตัวทุกข์ ดูให้ดี ฟังดูให้ดี เพราะฉะนั้น เบญจขันธ์ ธรรมดานี้ไม่ใช่ทุกข์ ไม่เป็นทุกข์ ขันธ์ เฉยๆ ไม่เป็นทุกข์ ต้อง อุปาทานขันธ์ คือ ขันธ์ ที่กำลังยึดถือว่า เรา ว่า ของเรา จะเป็นทุกข์ จำให้ดีว่า คำว่า ขันธ์ กับคำว่า อุปาทานขันธ์ นี้ไม่เป็นสิ่งเดียวกัน ขันธ์ ทั้ง ๕ นี้เมื่อกำลังไม่ได้ถูกยึดถือด้วย อุปาทาน แล้ว-ไม่เป็นทุกข์ มันเกิดอยู่ได้ตลอดเวลาเหมือนกัน แต่พอมันปรุงไปถึงขนาดว่ายึดถือเป็นเกี่ยวกับ-เรา เกี่ยวกับ-ของเราแล้ว มันจะเป็นทุกข์ทันที เพราะฉะนั้น คำว่า ความเกิด ความแก่ ความตาย ก็เหมือนกัน ถ้าไม่ถูกยึดถือว่า ของเรา -ไม่เป็นทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ นั้นหมายความว่า ถูกยึดถือแล้ว ทำไมไม่แถมคำว่ายึดถือแล้วเข้าไป? ก็เพราะว่าตามธรรมดาคนทุกคนในโลกนี้ยังเป็นคนโง่ ยังเป็นปุถุชนอยู่ จะต้องยึดถือความเกิด ความแก่ ความตายว่าเป็น ของเราทั้งนั้น เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสแต่เพียงว่า ความเกิด ความแก่ ความตายเป็นทุกข์ เพราะว่าถ้าไม่ยึดถือ มันไม่มีความหมาย เป็นความเกิด แก่ ตายของใคร นี่ปุถุชนมันต้องยึดถือแล้วมันจึงกลัวไอ้ทุกอย่างที่มันเกี่ยวกับความเกิด ความแก่ ความตาย
ทีนี้ เพื่อจะให้เข้าใจจับฉวยได้ง่ายเข้าผมจึงผูกคำพูดขึ้นมาให้ฟังง่ายๆ ว่า ปัญหาที่เกี่ยวกับความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย นั่นแหละเป็นตัวทุกข์ คำว่า ปัญหา นี้ไม่ใช่คำถามนะ ปัญหา คือ ไอ้สิ่งที่ทำความยุ่งยากลำบากให้แก่จิตใจนั้น ที่เกิดมาจากการที่จะต้องเกิด ต้องแก่ ต้องตายนี้เป็นความทุกข์ เรายึดถือว่า ชาติ เราอยากจะเกิดอยู่นี่ เราก็ไม่อยากตายทั้งนั้นแหละ เราจึงกลัวตาย -เราจึงเป็นทุกข์ เราก็ไม่อยากแก่ เมื่อไปยึดถือความแก่เข้าเราก็กลัวความแก่ ความแก่นั้นก็ทำให้เป็นทุกข์
ถ้าเข้าใจที่ผมพูด จะเข้าใจได้ทันทีว่า ไอ้ความเกิด ความแก่ ความตายที่ไม่ได้ถูกยึดถือนั้น-ไม่เป็นทุกข์ ความเกิด ความแก่ ความตาย ที่ถูกยึดถือว่าเราหรือว่าของเรานั้นแหละ-จะเป็นทุกข์ ทีนี้ เราไม่ได้เอาตัวความเกิด ความแก่ ความตายที่กำลังถูกยึดถือนั้นมาเป็นวัตถุสำหรับศึกษา หูของเราได้ยินว่าความเกิด ความแก่ ความตายอธิบายไว้อย่างนั้น เราก็ไปเอาที่ได้ยินหรือในหนังสือหรืออะไรมาแล้วก็เลยจะศึกษา ทำอย่างนี้จนตายก็ไม่มีเรื่อง อริยสัจจ์ ไม่เป็นเรื่อง อริยสัจจ์ เกิดขึ้น ไม่ได้ศึกษา อริยสัจจ์ และก็ไม่รู้ อริยสัจจ์ เพราะว่าเรื่อง อริยสัจจ์ เขาพูดถึงความเกิด ความแก่ ความตายที่ถูกยึดถือว่าตัวเรา-ว่าของเรา คือ รวมอยู่ในคำว่า สังขิตเตนะปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ก็เอาอันนั้นมาศึกษา เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีปัญหาที่เกี่ยวกับความเกิด ความแก่ ความตายในตัวเราจริงๆ ในความรู้สึกของเราจริงๆ มาเป็นตัววัตถุสำหรับศึกษา สำหรับเป็น object มันไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นวัตถุสิ่งของเป็นไปได้เป็น object สำหรับศึกษา ต่อเมื่อใดเรากำลังทุกข์ มีทุกข์หนักอยู่ด้วยความยึดถือในความเกิด หรือทุกข์หนักด้วยความยึดถือในความแก่ หรือทุกข์หนักด้วยความยึดถือเกี่ยวกับความตาย แต่เรายังไม่ทันตายนะ แต่ยึดถือแล้วมันก็เป็นทุกข์เหมือนกัน นั่นแหละ เอาความรู้สึกเป็นทุกข์นี้มาเป็นตัวศึกษา ทำอย่างนี้จะมี อริยสัจจ์ แล้วจะเป็นการศึกษา อริยสัจจ์ อย่างวิถีทางของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเอาตัวจริง-ของจริงมาดู มาเห็น มานั้นกันเลย ถ้าไม่ทำอย่างนั้นมันก็เป็นปรัชญา คือ คำนวณเอาตามที่ได้ยิน ได้ฟังว่าความเกิดมันต้องเป็นทุกข์แน่ ความเจ็บมันต้องเป็นทุกข์แน่ ความตายมันต้องเป็นทุกข์แน่ ถือเอาตามที่ว่าเมื่อไม่สบายมันก็เป็นทุกข์ ความแก่มันก็เป็นทุกข์ทางวัตถุทางร่างกายนี้มันก็ไม่ถูก เพราะว่าถ้าไม่ยึดถือ-มันไม่เป็นทุกข์ ผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้วจะไม่ยึดถือความเกิด ความแก่ ความตายนี้ ถึงแม้ร่างกายมันจะแก่ จะตายมันก็ไม่มีความทุกข์ แต่ปุถุชนคนธรรมดายึดถือไปหมด ยึดถือไกลออกไปอีก มันก็เป็นทุกข์หมดเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะศึกษา อริยสัจจ์ ข้อที่ ๑ ว่า ความทุกข์ - เรื่องความทุกข์ ก็ต้องเอาไอ้ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส อย่างใดอย่างหนึ่งที่ กำลังเกิดอยู่จริง กำลังยึดถืออยู่ว่าเป็นทุกข์ของเรานั้น เราแค้นใจ เราร้อนใจ เราเหี่ยวแห้งใจอย่างไรก็ตาม แล้วก็เลยยึดถือเอาไอ้ความรู้สึกนั้นว่าเป็นเรา ว่าเป็นของเรา หรือเรากำลังมีความรู้สึกนั้น ต้องดูให้ถูกตัวความยึดถือเสมอไป ความเจ็บนี้ ความเจ็บที่ร่างกายนี้ถ้าไม่ยึดถือก็ไม่เป็นทุกข์ ต่อเมื่อยึดถือจึงจะเป็นทุกข์ แม้จะเอามีดมาเชือดอย่างนี้มันก็เป็น เวทนา ชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้ายึดถือก็เป็นทุกข์-ไม่ยึดถือก็ไม่เป็นทุกข์ แต่ตามปกติคนจะต้องยึดถือ คนโง่จะต้องยึดถือ คนปุถุชนจะต้องยึดถือ คนธรรมดาจะต้องยึดถือ เพราะฉะนั้น เลยเจ็บ ๒ ซ้อนเหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไอ้คนโง่คนหนึ่งมันถูกยิงด้วยศรลูกหนึ่งแล้ว-เจ็บแล้ว แล้วมันถูกยิงด้วยศรอีกลูกหนึ่งตามมาอีก แล้วถูกอีก-แล้วมันก็เจ็บอีก มันเป็น ๒ ซ้อนแล้วมันจึงเจ็บเต็มที่ ทีนี้ ว่าถ้ายิงลูกหนึ่งถูกแล้ว ยิงลูกทีหลังไม่ถูกนี้ มันก็เจ็บเท่าเดียว อธิบายว่า การที่ถูกมีดตัดนี้ ถูกมีดตัดเนื้อนี้มันก็เจ็บส่วนหนึ่ง ถ้ายึดถือว่า เราเจ็บ ของเราเจ็บ รู้สึกว่า เราเจ็บ-ของเรา ความเจ็บ ของเรานี้ มันจะเจ็บเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง แล้วส่วนหลังนี้มากที่สุด ส่วนแรกนั้นเล็กน้อย จะใช้คำว่าไม่ระคายขนก็ได้ คือ มันไม่เผาหัวใจ ถ้าไปยึดถือว่านี่ความเจ็บของเรา เราถูกฟัน เราถูกฆ่า เราถูกอะไรแล้วมันจะเจ็บชนิดที่มันมหาศาล
นี่คือ ความต่างกันระหว่างไอ้ความเจ็บที่ถูกยึดถือ กับความเจ็บที่ไม่ถูกยึดถือ ความเจ็บที่ถูกยึดถือนั่นแหละ คือ สิ่งที่เรียกว่า ความทุกข์ ใน อริยสัจจ์ ๔ ของพระพุทธเจ้า ในคำว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส อย่างใดอย่างหนึ่งในชื่อเหล่านั้น-แต่ต้องยึดถือด้วย เช่น คำว่า ทุกข์ ทุกขะ เป็นทุกข์กาย โทมนัส เป็นทุกข์ใจ ร่างกายถูกทำให้เจ็บอย่างนี้ว่าเป็นทุกข์กาย แล้วก็ต้องยึดถือด้วยมันจึงจะตรงตามคำนั้นใน อริยสัจจ์ ๔ นั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังไม่เข้าใจ ยังโง่ไม่สามารถจะเอาตัวทุกข์จริงๆมาเป็นวัตถุสำหรับการศึกษาแล้ว ก็ไม่อาจจะศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างวิทยาศาสตร์ได้ ก็ศึกษาไปอย่างหลับหูหลับตาอย่างคนเชื่อ อย่างมีความเชื่อ นี้ก็ไปอย่างหนึ่ง แล้วก็ศึกษา คำนึง คำนวณไปตามเหตุผล ไม่มีตัวจริงมาแสดงให้จริงนี้ก็เป็นเรื่องปรัชญาบ้าๆ บอๆไป พูดได้มาก เรียนได้มาก พูดได้มาก มันไม่มีการดับทุกข์เลย นี่ เรียกว่า เรียนพุทธศาสนาในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์นั้นจึงจะเป็นพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า ถ้าเรียนเรื่องเดียวกันนะแต่เรียนในรูปของปรัชญา วิถีทางของปรัชญา หรือสักว่าเป็นลัทธิแห่งความเชื่อนี้เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ที่จะถึงตัวพุทธศาสนาแล้วดับทุกข์ได้นี้ มันก็เป็นอะไรเปะๆปะๆไปเล็กๆน้อยๆ พอปลอบใจให้มีทุกข์น้อยหน่อยก็ได้ แต่ในที่สุดก็จะต้องมีความทุกข์ ต้องร้องไห้ ต้องอะไรไปตามเดิม
ดังนั้น เราจะต้องรู้จักไอ้ ตัวทุกข์ คือ ความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นในความรู้สึดเพราะถูกยึดถือว่าเป็นของเรานี้ รวมเรียกสั้นๆ ว่า เวทนา มีชื่อใดบ้างในคำสอนของพระพุทธเจ้า เราต้องรู้จักสิ่งนั้นๆในชื่อนั้นๆ อย่างถูกต้องตามตัวจริง คือ มีตัวจริงมาดูเลย-ไม่ใช่มีแต่ชื่อ เช่นว่า กิเลส นี้ก็ต้องมี กิเลส จริงๆมาดู พอ ตัณหา ก็ต้องมี ตัณหา จริงๆ มาดูไม่ใช่เป็นเพียงคำพูด ทีนี้ เราก็ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าเป็น กิเลส เพราะเราไม่รู้จักแม้แต่สิ่งที่เรียกว่า เวทนา คืนก่อนได้พูดแล้วว่า ทุกอย่างต้องตั้งต้นมาจาก เวทนา ต้องมีต้นตออยู่ที่ เวทนา
เพราะฉะนั้น เวทนา เกิดได้จากการขาดทุน จากการได้กำไร และจากการเสมอตัว อันหนึ่งเป็น สุขเวทนา อันหนึ่งเป็น ทุกขเวทนา อันหนึ่งเป็น อทุกขมสุขเวทนา แต่แล้วมันก็เป็น เวทนา เหมือนกัน ต้องเอา เวทนา นี้มาใส่ฝ่ามือดูเลย นี่ ใช้คำพูดอย่างภาพพจน์ มันเป็นนามธรรมมันใส่ฝ่ามือดูไม่ได้หรอก แต่ว่าเราต้องรู้จักมันเหมือนกับเอาก้อนกรวดมาใส่ฝ่ามือดูแล้วเราเห็นชัดอย่างนี้ ขอให้ไปสนใจกับไอ้สิ่งที่มันจะเป็นวัตถุอันแรก เป็นต้นตออันแรก แล้วเราศึกษาพระธรรม ศึกษาพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นตัวจริง คือ ศึกษาโดยวิถีทางของสิ่งที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์
เอาละ ทีนี้ก็เป็นอันว่ายุติไว้ที่ตรงนี้ว่าต้องมี เวทนา มา ต้องรู้จักสิ่งที่เรียกว่า เวทนา ทีนี้ เวทนา ก็มาจากการกระทบของ อายตนะ ก็เลยต้องรู้ไปถึงสิ่งที่เรียกว่า อายตนะ
อายตนะ ข้างในเราเรียกว่า โลกข้างใน
อายตนะ ข้างนอก เราเรียกว่า โลกข้างนอก
อายตนะ ข้างใน ที่เรียกว่า โลกข้างใน คือ ความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้ที่มันอยู่ข้างในสำหรับจะรู้สึก นี่เราเรียกว่า โลกข้างใน อายตนะ ภายใน ๖ ที่เรียนอยู่ทุกวันนี้ ธรรมตรี ก็มีที่เรียกว่าโลกข้างใน
ที่โลกข้างนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ นี้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ๖ อย่างนั้นมัน โลกข้างนอก
รูป ก็คู่กับ อรูป / โลกข้างนอก ก็คู่กับ ตาที่เป็นโลกข้างใน เสียง ก็คู่กับ หู จมูก ก็คู่กับ กลิ่น ลิ้น ก็คู่กับ รส สัมผัสผิวหนัง ก็คู่กับ กาย การรู้สึกในใจ ก็คู่กับ ใจ นี้ ทีนี้ โลกข้างนอกกับโลกข้างในมันจะเป็นต้นตอของสิ่งที่เรียกว่า เวทนา ดังพระบาลีว่า เมื่อตากระทบกับรูป เมื่อรูปกระทบกับตา หรือตากระทบกับรูป ก็จะเกิด จักษุวิญญาณ ขึ้น คือ วิญญาณทางตา เกิดขึ้น ทีนี้ การประจวบกันของสิ่งทั้ง ๓ นี้ คือ ตา รูป กับ จักขุวิญญาณ ที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ เรียกว่า การประจวบกันของของ ๓ อย่างนี้เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะ ในความหมายทางภาษาธรรมะนะ คือ ผัสสะ ทางจิตทาง วิญญาณ นั้นเอง และเมื่อมี ผัสสะ แล้วไม่ต้องสงสัยจะต้องมี เวทนา เวทนา ที่เป็นที่พอใจก็เรียกว่าสุขเวทนา เวทนา ที่ไม่พอใจ ก็เรียกว่า ทุกขเวทนา ที่เป็นกลางๆ ก็เรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา ทีนี้ เวทนา นี้จะเป็นตัวร้ายกาจ เป็นตัวอะไรทุกอย่าง ทุกสิ่ง ที่มันจะทำให้เกิดความทุกข์นั้น พอถูกยึดมั่นจะเกิดรู้สึกเป็นทุกข์ทันที ถ้าไม่ยึดมั่น-มันก็เป็น เวทนา ที่ไม่มีความทุกข์ ที่มันจะเลือนลางหายไป สมมติว่า เราเห็นดอกไม้สวยอย่างนี้ หรืออะไรสวยก็ตามใจให้มันสวยก็แล้วกัน ถ้าเห็นแล้ว-แล้วไป มันก็ไม่มีเรื่อง มันเป็น เวทนา ที่ไม่ได้ถูกยึดถือ ทีนี้ ถ้าว่ามันสวย-แล้วก็ยึดถืออย่างใดอย่างหนึ่ง เป็น เวทนา ที่ถูกยึดถืออย่างนี้ นี่ต้องเป็นทุกข์ ต้องเป็น เวทนา ที่ให้เกิด กิเลส และเกิด ทุกข์ ในเมื่อตาเราเหลือบไปเห็นอะไรสวยนั้น มันก็ยังมีทางที่จะแยกกันว่าจะยึดถือหรือว่าจะไม่ยึดถือ เพราะบางเวลาเราเห็นดอกกุหลาบสวยดอกหนึ่งมันก็เฉยไม่ได้ แต่บางเวลาเราคิด คิดมาก คิดหลายอย่าง คิดอย่างนั้น คิดอย่างนี้ นี่ ทางตา ถ้าคิดในทางยึดถือจะเอา จะเป็น จะเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะเป็นตัวกู-ของกู นี้มันก็ต้องเป็นทุกข์แล้ว ทีนี้ ไม่ใช่เห็น ดมมันเลยว่ามันหอมหรือมันไม่หอม ไปดมมันเลย ถ้ามันเป็นกุหลาบที่หอมมันก็ต้องมี เวทนา ทางจมูกนี้ ทาง ฆานะสัมผัส นี้ หอมเฉยๆ ก็แล้วไป แต่ถ้าหอมแล้วยึดถือ คิดอย่างนั้นอย่างนี้มันก็ต้องเป็น เวทนา ที่ถูกยึดถือแล้วก็จะต้องเป็นทุกข์
ต้องไปพยายามศึกษาวัตถุอย่างนี้ วัตถุของเรื่องตัวเรื่องอย่างนี้ให้เข้าใจไว้ก่อน ให้รู้จัก เวทนา ที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือ อทุกขมสุข ที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง จนเข้าใจแจ่มแจ้งดีว่าเป็นอย่างไรในวันหนึ่ง วันหนึ่ง วันหนึ่ง? อันไหนคือยึดถือแล้วเป็นอย่างไร? อันไหนคือไม่ยึดถือแล้วเป็นอย่างไร? ด้วยตา ด้วยหู ด้วยจมูกนี้ที่มันจะมองเห็น หรือจะได้ยิน หรือได้ดมอยู่ทุกวัน ทุกวันนี้ บางทีของสิ่งเดียวกันนี้ ดอกไม้ดอกนี้ หรืออะไรอันนี้ เห็นคราวหนึ่งไม่ได้ยึดถือเลย เห็นคราวหนึ่งยึดถือเอาเป็นเอาตาย นี่ มันแล้วแต่สิ่งแวดล้อมหรือเหตุปัจจัยอื่นอีกหลายอย่าง เพราะอย่างนั้น เราจึงต้องศึกษาจนให้รู้ว่าไอ้ที่ถูกที่ยึดถือคืออย่างไร? ที่ไม่ยึดถือคืออย่างไร? แล้ววัตถุที่ถูกยึดถือ กับ วัตถุที่ไม่ถูกยึดถือ มันต่างกันอย่างไร? อันไหนมันเกิดเป็นไฟขึ้นมาเผาจิตใจของเรา? ส่วนอันไหนมันก็ไม่มีอะไรมันเฉยไปตามเดิม?
ไอ้โลกข้างนอกทุกอย่างนั้นมันจะมีอะไร มีกี่ร้อย กี่หมื่น กี่แสน กี่ล้านอย่าง มันสรุปอยู่ในคำ ๖ คำเท่านั้นว่า เป็นสิ่งที่เห็นด้วยตา สิ่งที่ดมได้ด้วยจมูก ที่ได้ยินได้ฟังทางหู ดมได้ทางจมูก แล้วรู้รสได้ด้วยลิ้น หรือรู้ได้ด้วยสัมผัสผิวหนังทั่วทั้งตัว หรือว่ารู้ได้ด้วยใจคิดนึก ในโลกนี้มันมีอีกมากมายหลายล้าน ไม่รู้กี่ล้าน กี่ล้าน ล้านสิ่ง แต่มันสรุปเหลือเพียง ๖ สิ่งเท่านั้น ข้างในก็เหมือนกันต้องมี ๖ สิ่งเท่ากันมันจึงจะเป็นคู่รับอารมณ์เหล่านั้นได้ครบถ้วน และทั้งหมดนี้เพื่อเกิดสิ่งๆ เดียว คือ เวทนา เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็น อทุกขมสุข บ้าง คำเหล่านี้เคยได้ยินแล้วทุกคน-ผมเชื่อ เตยได้ยิน ได้ฟัง ได้เรียนในโรงเรียนแล้วทุกคน เชื่อว่าได้ยินได้ฟังแล้ว-แต่ไม่เชื่อว่าเข้าใจ แล้วก็ยิ่งไม่เชื่อว่าคุณจะรู้จักสิ่งเหล่านี้ดี เพราะเพียงแต่เรียน จำได้ แล้วพูดได้ เทศน์ได้นั้นมันไม่พอ เป็นนกแก้วนกขุนทองไปเท่าไรก็ได้ นี่เรียกว่า ยังไม่ได้เรียนพุทธศาสนาอย่างวิทยาศาสตร์ มันเรียนอย่างบ้าๆ บอๆ นกแก้ว-นกขุนทอง พูดได้ เทศน์ได้เท่านั้น ถ้าจะเรียนกันอย่างวิทยาศาสตร์นี้ ก็ต้องเรียนอย่างที่เขาเรียกว่า ทำกรรมฐาน ทำวิปัสสนา ทำอะไรอย่างนั้น แต่ถึงอย่างนั้นก็เถิด ทำกรรมฐาน ทำวิปัสสนาบ้าๆ บอๆไปทำตามแบบนั้นก็มี ต้องหมายถึงการทำกรรมฐานวิปัสสนาที่ถูกต้อง ที่มันตรงตามที่มันเป็นจริงว่า เวทนา เป็นอย่างไร? ก็ต้องรู้จัก ให้เกิดความยึดถืออย่างไร? ก็ต้องรู้จัก แล้วเกิดทุกข์อย่างไร? ก็ต้องให้รู้จัก ถ้าเอาเป็นรายละเอียดกันก็ต้องมีว่า มีตามหลักของ ปฏิจจสมุปบาท นั้น มีว่า เมื่อตากระทบรูป เป็นต้น-เกิด จักษุวิญญาณ ความประจวบเหมาะของสิ่งทั้ง ๓ นี้เรียกว่า ผัสสะ พอมี ผัสสะ แล้วก็มี เวทนา พอมี เวทนา อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็จะเกิด ตัณหา คือ ความอยากชนิดใดชนิดหนึ่ง กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ก็ตาม ความอยากชนิดใดชนิดหนึ่งที่เหมาะสมกับ เวทนา นั้น เวทนา ทำให้เกิด ตัณหา อย่างนี้ และ ตัณหา นี้เมื่อมีรู้สึกอยากแล้วจะมี อุปาทาน คือ ตัวกู นี้เป็นผู้อยากผู้ต้องการ ตัณหา ทำให้เกิด อุปาทาน อุปาทาน ให้เกิด ภพ คือ ตัวกู ชนิดหนึ่งขึ้นมาแล้ว พอมันเต็มที่ก็เรียกว่า ชาติ คือ ตัวคนนั้นที่เกิดมาเป็น-เกิดขึ้นมาในลักษณะอย่างนั้น คือ มีความรู้สึกอย่างนั้น กำลังยึดถืออะไรอยู่นี้ ทีนี้ ปัญหาเรื่อง ชาติ มันก็เกิดขึ้น การเกิดมาจากท้องแม่มันไม่หยุดอยู่เฉยๆ มันเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา คือ เป็นความทุกข์ขึ้นมาแล้ว ทีนี้ ความชรามันก็เป็นปัญหาขึ้นมา เราไม่อยากแก่ เราไม่อยากตายไปจากสิ่งที่กำลังรัก กำลังหลง กำลังยึดถือนี้ หรือว่าปัญหามันเป็นในทางกลับกันตรงกันข้าม คือ วิภวตัณหา แล้ว มันก็อยากตาย ไม่ชอบสิ่งที่เรียกว่า ความเกิด ความแก่ แต่แล้วมันก็อยากตายอย่างนี้ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ตัณหา ถึงได้แยกไว้ถึง ๓ อย่าง คือ
แต่ถ้าพูดลัดๆสั้นๆ เร็วๆ อย่างในเรื่อง อริยสัจจ์ ๔ ที่เรียนๆ กันอยู่ในชั้นต้นชั้นแรกเรียนกันแต่ว่าพอมี ตัณหา ก็เกิด ทุกข์ พูดอย่างนี้เลย ทุกข์ เกิดมาจาก ตัณหา ตัณหา ก็มาจากสัมผัสทาง อายตนะ เกิด เวทนา เกิด ตัณหา แล้วก็เกิด ทุกข์ นี่พูดรวบรัดสั้นๆ อย่างนี้ อย่างในเรื่อง อริยสัจจ์ ก็ว่า ตัณหา เป็นเหตุให้เกิด ทุกข์ พูดสั้นเพียง ๒ สิ่ง หรือ ๒ คำเท่านั้น แต่ในเรื่องของ ปฏิจจสมุปบาท มันขยาย ๒ คำนี้ออกไปเป็น ๑๑ คำ ก็เท่ากันแหละ เท่าเดิม เพียงแต่พูดให้ละเอียด ให้คนที่อยากจะศึกษาอย่างละเอียดได้เห็นชัด
ในที่สุด มันก็ไปรวมจุดสำคัญอยู่ตรงที่สิ่งที่เรียกว่า เวทนา เหมือนที่อธิบายแล้ววันแรกนั้น กิเลส ก็เกิดมาจาก เวทนา ความทุกข์ก็เกิดมาจาก กิเลส นั้น หรือแม้แต่ความคิด-ความเห็นจะโง่ไปในทางความคิด-ความเห็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็ต้องตั้งต้นมาจาก เวทนา ที่ตนรัก หรือเกลียด หรือที่ตนชอบอะไรก็ตาม จึงบัญญัติเป็นความคิด-ความเห็นออกมา เช่น พวกหนึ่งมันจะถือว่าตายแล้วเกิดอีกอย่างนี้ ก็เพราะมันอยากจะเกิดอีก เพราะมันชอบความเกิด ได้รับความพอใจ หรือ เวทนา จากความเกิด มันก็อยากจะคิดว่าตายแล้วเกิดอีกนี้ อีกพวกหนึ่งไม่ชอบ เวทนา นี้มันก็อยาก มันก็น้อมความคิด มันก็ถูกปรุงให้คิดไปในทางว่า-ไม่เกิด นานๆ เข้ามันก็มีทิฏฐิมั่นคงหลงไปว่ามันไม่เกิด เพราะฉะนั้น เราอยากเรียนเพราะอยากจะได้ สุขเวทนา เราทำงานอาชีพก็อยากได้ สุขเวทนา เรามีอำนาจวาสนา มีเกียรติยศ ชื่อเสียง ก็เพราะว่าเป็นปัจจัยแห่งการได้มาซึ่ง สุขเวทนา หรือว่าเรามีชีวิตอยู่นี้เพื่อประโยชน์แก่ สุขเวทนา เราทำบุญให้มาก ตายไปแล้วเราจะมีบุญสำหรับแสวงหา สุขเวทนา อะไรๆมันไม่พ้นไปจากสิ่งที่เรียกว่า เวทนา เป็นตัวเหตุ-ตัวการ
ทีนี้ เรารู้ให้ลึกไปจนถึงว่า เวทนา นี่มาจาก อายตนะ ข้างนอก อายตนะ ข้างในกระทบกัน เกิด วิญญาณ เป็น ผัสสะ เป็น เวทนา อย่าท่องจำ-ไม่มีประโยชน์ ต้องไปมองเห็น ถอยหลังไปจาก เวทนา ก็ได้ มาจากการกระทบระหว่าง อายตนะ ข้างนอก-ข้างในแล้วเกิด วิญญาณ ขึ้นนี้ หรือว่าเมื่อไอ้ ตา อายตนะ ข้างในเห็นรูปเข้า ก็เกิดความเห็นรู้สึกว่าเห็นอะไร นี่แหละ วิญญาณ ๓ อย่างนี้เป็น ผัสสะ รวมกันเป็น ผัสสะ แล้วก็ต้องเกิด เวทนา เพราะที่เห็นว่าอะไรนั่นแหละ มันจะต้องเกิดความรู้สึกขึ้นมาชั้นหนึ่งว่าอย่างไร? ว่าพอใจ หรือว่าไม่พอใจหรือเฉยๆ จึงจะเห็นว่า นี่ เป็นดอกกุหลาบ วิญญาณ มีหน้าที่รู้ว่า นี่ เห็นสีสันรูปร่างอย่างนี้ สัญญา มาช่วยบอกให้ได้ว่า นี่ เป็นดอกกุหลาบ อย่างนี้ก็แค่ วิญญาณ เท่านั้น แต่ความคิดมันจะเกิดออกไปอีกก้าวหนึ่งว่า ความหมายของมันคืออะไร มันจะรู้ทีเดียว เรื่องหอม เรื่องสวย เรื่องดีอะไรอย่างนี้ ถ้าสวยก็สบายทางตา ถ้าหอมก็สบายทางจมูกนี้ เป็นต้น ตอนนี้เป็นตัว เวทนา สักว่าเห็นสี เห็นอะไรได้ โดยอาศัย สัญญา เป็นเครื่องช่วยนั้น ก็เรียกว่าเป็น วิญญาณ พอ เวทนา เกิดแล้วมันก็ต้องมีความคิดที่เรียกว่า สังขาร - คิดดี คิดชั่ว คิดไม่ดี-ไม่ชั่วเกี่ยวกับเรื่องนั้น มันก็ครบ ขันธ์ ทั้ง ๕ ร่างกายนี้กำลังถูกยึดถือด้วยความโง่ ด้วย อุปาทาน ที่มาจาก เวทนา นั้นและก็จะเป็นร่างกายที่จะไปด้วยกันทั้งกาย ทั้งใจมันพร้อมที่จะไปด้วยกันเพื่อเป็นทุกข์ตามแบบนั้น ตามเรื่องนั้น ตามเหตุปัจจัยนั้นๆ
นี่ ถ้าทำ วิปัสสนา จริงๆ ต้องทำอย่างนี้ แล้วดูอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ รู้อย่างนี้ ที่ตัวจริงนี้ อย่าทำสักว่าทำแบบที่บัญญัติไว้ แล้วมันก็ใช้ความโง่หรือคือโง่นี้ จูงจิตใจ จูงความคิด-ความนึกไปตามแบบที่มันมีไว้ บัญญัติไว้ เป็น อุปาทาน อีกชนิดหนึ่งว่าจะต้องเห็นนั่น เห็นนี่ อย่างนั้น อย่างนี้ ถ้าเป็น วิปัสสนา จริงจะกลายเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าเป็น วิปัสสนา แบบตามแบบ ตามธรรมเนียม ตามความเชื่อนี้ มันก็เป็น-ปรัชญา
นี่ จะต้องศึกษาปฏิบัติในรูป คือ วิธีการของวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้น จึงขอทบทวนว่าขอให้ศึกษาพุทธศาสนาตามวิถีทางแห่งวิทยาศาสตร์อย่างที่ว่ามานี้ ในคืนที่แล้วมาบอกให้รู้จัก จุดตั้งต้น คือ เวทนา ในวันนี้ก็บอกให้รู้จักไอ้ที่มาของ เวทนา แล้วให้รู้จักศึกษา เวทนา นั้นในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าเป็นปรัชญาก็เป็นเรื่องงมงาย คือ ฝากไว้กับเหตุผล คำนึง-คำนวณไม่ได้ เห็นจริงไม่ได้ รู้สึกจริงไม่ได้เอามาใส่ฝ่ามือดูจริง ต่อไปนี้ถ้าได้ยินได้ฟังว่า พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์แล้วก็ขอให้เข้าใจอย่างนี้ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ทางวัตถุที่ทำได้ในห้องทดลองทางวัตถุ มันเป็นวิทยาศาสตร์ฝ่าย วิญญาณ ฝ่ายเลยจิตขึ้นไปอีก ต้องมีห้องทดลองในจิต ในความคิดนึก ส่วนในสมองอะไรๆ มันก็รวมกันอยู่ที่ในสมอง นี่คือ ข้อที่ พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ เราจะต้องศึกษาสิ่งทุกสิ่งตามวิถีทางของวิทยาศาสตร์จึงจะเป็นพุทธศาสนา แล้วก็จะรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ทุกข์ ว่า เหตุให้เกิดทุกข์ ว่า ความดับทุกข์ ทางให้ถึงความดับทุกข์ ๔ อย่างนี้-อย่างเป็นวิทยาศาสตร์
ทีนี้ คุณเรียนกันอย่างอักษรศาสตร์ เรียนกันอย่างอักษรศาสตร์ แล้วต่อไปก็จำได้ ก็เป็นอะไรก็ตามใจเป็นบทมนต์ เป็นอะไรไป แล้วต่อไปก็คาดคะเนเอาตามความคิดนึก รู้สึก สามัญสำนึกของตนลึกเข้าไป ลึกเข้าไป มันก็เป็นปรัชญาบ้าๆบอๆไปก่อน จนกว่าจะมามองเห็นแจ้งเหมือนกับเรามองเห็นวัตถุนี้ แล้วมันก็จะกลายเป็นวิทยาศาสตร์ ตามบทที่ว่า สันทิฎฐิโก ปัจจัตตังเวทิตัพโพ วิญญูหิ กระทำเป็น สันทิฎฐิโก -ต้องเห็นเอง และก็เห็นได้อย่าง วิญญูชนผู้มีปัญญา มี ญาณทัศนะ
นี่ เรื่อง การศึกษาพุทธศาสนาอย่างวิทยาศาสตร์ ในขั้นนี้ก็มีอย่างนี้ รู้จักที่มาของ เวทนา และต่อไปเราก็จะค่อยพูดกันถึงว่ามันจะเกิด ทุกข์ ว่าเกิดความทุกข์ได้อย่างไรโดยละเอียด
วันนี้พอกันเท่านี้ที
ตั้งแต่นาทีที่ 01.00 จนจบ เป็นการถาม-ตอบช่วงท้ายไฟล์ เนื้อหาอาจไม่เกี่ยวกับเทศน์กัณฑ์นี้เลย
ท่านพุทธทาสฯ : ถามอย่างนี้มันตอบไม่ได้หรอก ถ้าถามว่า นิพพาน ในพุทธศาสนามีอย่างไรนั้นอธิบายได้ ถ้าไม่เคยอ่านหนังสือเรื่องนี้ เรื่อง นิพพาน
ถาม : เคยอ่านครับ แต่มันเกิด conflict กับที่ครูสอนครับ
ท่านพุทธทาสฯ : อย่าเอามาปนกันสิ ครูสอนอย่างนั้นก็จำไว้ว่าครูสอนอย่างนั้น
ถาม : ทีนี้ มันมาขัดกับที่ทางหลักธรรมของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง คือ การที่ครูสอนมาแบบนั้นมันก็รู้ว่าจะผิด
ท่านพุทธทาสฯ : ครูเขาเรียนมาเท่านั้น เรียนมาอย่างนั้น เรียนมาเท่านั้น มันก็สอนอย่างนั้น ไม่ต้องครูหรอก แม้ในโรงเรียน ในพระ ในวัดนี้ก็เหมือนกัน ก็สอนกันเท่าที่รู้-เท่าที่เข้าใจนั้น แต่ถ้าเราค้นมาให้หมดมันก็ได้ความอย่างอื่น
ถาม : ครับ ผมก็ฟังบรรยายในโรงหนังอย่างนี้ เสร็จแล้วผมก็มีความเห็นว่าที่เรียนมานั้นผิด
ท่านพุทธทาสฯ : มันไม่ผิด มันถูกน้อย มันไม่หมด มันเรียนมานิดเดียว แล้วก็เฉพาะคนที่เขามีขอบเขตเท่านั้น ถ้าเขาต้องเรียนหมดก็ต้องว่า นิพพาน นี้มันเกิดขึ้นในคำพูดของมนุษย์เมื่อไร? เรื่องนี้ต้องเข้าใจหลักพื้นฐานเสียก่อนว่า คำพูด-ภาษาธรรมนี้ที่ใช้ในในศาสนา คำธรรมะนี้ เป็นคำพูดที่ยืมจากคำชาวบ้านทั้งนั้น ทุกคำ ไม่ว่าคำไหน ถ้าเข้าใจก็จะรู้จะเห็นนะ เช่น คำว่า พุทธะ นี้ ยืมจากคำว่า ตื่นนอน พอหลับแล้วตื่นนอนขึ้นมา ภาษาพูดตามธรรมดาว่า พุทธะ หรือ พุชาติ นาทีที่ 1.10 แล้วคำนี้ต่อมาก็เอามาใช้เป็นชื่อพระพุทธเจ้า คือ ผู้ที่ตื่น ตื่นจากนอนหลับ หมายถึง นอนหลับทาง วิญญาณ คือ อวิชชา ทีนี้ คำสอนของพระองค์ที่เรียกว่า มรรค ก็ยืมคำว่า ทางเดิน ไปใช้ คำว่า ทางเดิน ชาวบ้านมนุษย์สมัยป่าเถื่อนพูดกันอยู่แล้วหมายถึงในประเทศอินเดีย เอาคำว่า ทาง นี้มาใช้ หรือแม้แต่คำว่า ธรรมะ นี้ ธร / ธรรมะ นี้ก็หมายถึง สิ่งที่สามารถทรงสิ่งอื่นไว้ได้ก็ เรียกว่า พระธรรม พอ พระสงฆ์ ก็มาจากฝูงนี้เอง ฝูงวัว-ควายนี้ แต่ว่าพอมาเป็นคำธรรมะแล้วความหมายมันก็เปลี่ยนไปตามเรื่องของธรรมะ ทุกคำมีการยืมมาจากภาษาธรรมดา คำว่านิพพาน นี้ยืมมาจากคำว่า เย็น ภาษาพูดธรรมดาแปลว่า เย็น ของที่ร้อน-เย็นลง เรียกว่า มัน นิพพาน ของที่เป็นพิษมันหมดพิษลง ก็เรียกว่า มัน นิพพาน อย่างเด็กๆพูดว่าข้าว นิพพาน แล้วมากิน มากินนี้ไม่ได้หมายถึง นิพพาน หมด กิเลส หมายถึง วัตถุข้าวร้อนๆ นี้ เย็นพอจะกินได้ก็เรียกว่า นิพพาน นี่ พูดอย่างนี้มาแต่เดิมก่อน จนกระทั่งมนุษย์รู้เรื่อง วิญญาณ รู้เรื่องความเย็นในทางจิตใจ ก็ยืมเอาคำว่า เย็น นี้เรียกว่า เย็น เย็นโว้ย! แต่ความหมายมันเย็นทาง วิญญาณ ไม่ใช่เย็นทางวัตถุ คำว่า เย็น เป็นคำอื่นๆก็มีอีก ล้วนแต่เป็นของถูกยืมมาใช้เรียกธรรมะสูงสุดทั้งนั้น อะไรทำให้เย็นได้...ทำให้จิตใจเย็นได้ ก็เรียกว่า นิพพาน ตอนหลังนี้ เพราะฉะนั้น จึงมียุคหนึ่งก่อนพระพุทธเจ้า ว่าการได้ตามใจทุกอย่างได้กามารมณ์สูงสุดนี้ เรียกว่า เป็น นิพพาน อยู่พักหนึ่ง ยุคหนึ่ง ต่อมาเห็นว่าไม่ใช่แล้วโว้ย! ก็เอาจิตเป็นสมาธิเป็น สมาบัติ สงบเป็นสมาธินี้เป็น นิพพาน มาพักหนึ่ง สูงขึ้น สูงขึ้น จาก ปฐมฌาน ถึง ทุติยฌาน ถึง ตติยฌาน จตุตถฌาน แล้วก็ละเอียดไปถึง อรูปฌาน คือ อากาสานัญจายตนะ กระทั่ง เนวะสัญญานาสัญญา นี้เป็น นิพพาน ทั้งนั้น
ทีนี้ ต่อมาพระพุทธเจ้าเกิดขึ้ บอกว่า นั่นไม่ใช่ นิพพาน ที่สมบูรณ์ตามความหมาย มันเป็น นิพพาน ระดับนั้นๆ เท่านั้น เย็นระดับนั้นเท่านั้น ถ้าเย็นแท้ต้องสิ้น กิเลส กิเลส เป็นของร้อน โลภะโทสะโมหะ เป็นไฟ ก็ยืมคำว่า ไฟ มาใช้เป็นชื่อ กิเลส จะต้องพูดให้มนุษย์ฟังก็ต้องเอาภาษามนุษย์มาพูด พูดแล้วเข้าใจทันที ไฟของแกเป็นอย่างนั้น แต่ไฟของฉันเป็นอย่างนี้ มันก็รู้ความหมายว่า ร้อน โลภะ ร้อน โทสะ ร้อน โมหะ ร้อน ทีนี้ พอหมด โลภะโทสะโมหะ มันก็เย็น นี่คือ นิพพาน จริง
ทีนี้ สรุปความแล้วมันก็ได้ความว่า ถ้าเป็นเรื่องของวัตถุ นิพพาน ก็หมายถึง เย็น เย็นอย่างวัตถุเย็น เช่น ถ่านไฟแดงๆนี้ยังไม่ นิพพาน พอเอาออกมาจากกองไฟวางไว้เดี๋ยวก็เย็น ดำ เรียกว่า ถ่านไฟนั้น นิพพาน ถ่านไฟนั้น นิพพาน นี่ คำพูดที่มีใช้อยู่ ทีนี้ สัตว์เดรัจฉาน นิพพาน ก็คือว่า มันหมดอันตราย สัตว์ป่า เสือ ช้าง หมี หมาอะไรก็ตามใจ ฝึกกันจนหมดอันตรายอย่างนี้ เรียกว่า สัตว์ตัวนี้ นิพพาน คือ พิษร้ายของมันหมด ทีนี้ พอมาถึงคนก็ต้อง กิเลส หมดจึงเรียกว่า นิพพาน ถ้า กิเลส หมดชั่วคราว เพียงไม่ปรากฏชั่วคราว ก็เรียกว่า นิพพาน ชั่วคราว กิเลส หมดเลยก็ นิพพาน จริง ทีนี้ กิเลส หมดไปจริงแต่เพียงบางส่วนก็เรียกว่า นิพพาน บางส่วน เป็น นิพพาน อย่างพระโสดาบัน ก็มี นิพพาน อย่าง พระสกิทาคามี ก็มี นิพพาน อย่าง อนาคามี ก็มี นิพพาน ถึงที่สุดก็คือ นิพพาน อย่าง พระอรหันต์ อย่างนี้ มันหลายความหมายเต็มที แล้วครูสอนว่า นิพพาน แต่พระพุทธเจ้านี้ มันก็ถูกนิดเดียว
ถาม : ในกรณีเช่นนั้นนะครับ บุคคลธรรมดาก็อาจจะ นิพพาน ได้เหมือนกันถ้าหมด กิเลส จริงๆ
ท่านพุทธทาสฯ : ไม่ว่าใครหรอก ถ้าหมด กิเลส ก็เป็นพระอรหันต์ไป คือ นิพพาน
ถาม: คือ ไม่ต้องอยู่ในสมณเพศก็ยังได้..
ท่านพุทธทาสฯ : ไม่พูดถึง ไม่พูดถึงสมณเพศ หรือว่าฆราวาส หรือบรรพชิต ไม่พูดว่าหญิง ว่าชาย ว่าเด็ก ว่าผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้น เราเลยมี นิพพาน ที่พอจะถึงกันได้ พอจะมีกันได้ ได้รับประโยชน์กันได้ เรียกว่า นิพพานประจวบเหมาะ ไม่ใช่ นิพพาน จริง ในพวกที่ไม่ใช่ นิพพาน จริงนั้น มี นิพพานประจวบเหมาะ เช่น คุณเข้ามาในสถานที่นี้-ใจเย็นลงไปเอง ใจว่าง หรือใจเย็นลงไปเอง ก็เรียก นิพพานประจวบเหมาะ โดยบังเอิญ จะได้กี่ชั่วโมงก็ตามใจ ไปชิมรส นิพพาน เท่านั้นชั่วโมง หมายความว่า เวลานั้น กิเลส คือ ไฟ มันไม่ได้เกิดขึ้นมา มันไม่มีไฟก็เรียกว่า นิพพาน แบบ ตทังคนิพพาน โดยบังเอิญ-ประจวบเหมาะเข้ากับสิ่งแวดล้อมทุกสิ่ง ก็ชิม นิพพานชิมลอง นี่ มันไม่อยู่ในอำนาจเรา-มันโดยบังเอิญเท่านั้น ที่ดีขึ้นไปกว่านั้น เราฝึกฝนการบังคับจิตไปในทางที่ให้หยุด ให้สงบ ไม่ใช่เพื่อให้รู้แจ้ง ฝึกไปในทางให้มันหยุด ให้สงบ ที่เรียกว่า สมาบัติ / ฌานสมาบัติ นี้มันก็เป็น นิพพาน ชนิดหนึ่ง มีรสเย็นเหมือนกัน แต่อยู่ชั่วที่เราบังคับไว้ด้วยวิธี สมาบัติ ก็ไม่ใช่ นิพพาน จริง ทีนี้ ก็เลื่อนไปหา นิพพาน จริง ก็คือ ทำให้ กิเลส หมด กิเลส หมดไปเท่าไรก็เรียกว่า นิพพาน เท่านั้น จนกระทั่งหมดสิ้นเชิง เรียกมีละเอียดมากพูดกันหลายชั่วโมงก็ไม่หมด แต่ว่าหลักใหญ่เป็นอย่างนี้
ถาม : ครับ
ท่านพุทธทาสฯ : สำหรับ พระโสดาบัน กิเลส ๓ ชื่อคือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส นี้ ดับสนิทไปดีเหมือนกัน แล้วท่านก็เย็นจริงขึ้นมาเท่านี้ เท่าที่อันนี้มันหายไป ถ้าเป็น พระอนาคมี มันก็เลื่อนไปอีก ๒ ถ้าเป็น พระอรหันต์ มันก็เลื่อนไปหมด คือ ทั้ง ๑๐ ความเย็นก็มากกว่ากันตามลำดับ ทีนี้ ถ้าได้พูดถึง นิพพาน กันแล้ว พระพุทธเจ้าก็ตาม อรหันต์ทั่วไปก็ตาม เย็นเหมือนกันหมด แล้วทำไม ต่างกันตรงไหน? มันต่างกันในส่วนอื่น ส่วนที่พระพุทธเจ้าท่านเย็นได้แล้วท่านยังมีความสามารถที่จะทำให้ผู้อื่นเย็นได้ด้วย สามารถสอนให้ผู้อื่นปฏิบัติและเย็นได้ด้วย ส่วนพระอรหันต์ธรรมดาไม่สามารถ พระอรหันต์ชั้นเก่งก็ทำได้เหมือนกัน แต่ไม่เท่าพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น จึงไม่มีใครที่จะไปเท่าพระพุทธเจ้าโดยประการทั้งปวง แต่ว่าในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย จะเป็นพระอรหันต์ชนิดไหน หรือเป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ก็ตาม เขามีความเย็นในส่วนที่ไม่มี กิเลส นี้เท่ากัน คือ ความสิ้นไปแห่ง โลภะโทสะโมหะ นี้เท่ากัน แต่สติปัญญาความสามารถอย่างอื่นผิดกัน และพระพุทธเจ้าก็ยังมีชนิดที่ว่าไม่สามารถจะสอน หรือไม่อยากจะสอน อย่างนั้นเขาเรียกว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านอาจจะพูดได้แต่ท่านไม่อยากจะพูด หรือท่านไม่ได้ฝึกฝนมาสำหรับจะพูด เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้ายังมีชนิด สัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างพระศาสดาองค์หนึ่งนี้ แล้วก็ยังมีชนิดที่เรียกว่า ปัจเจกพระพุทธเจ้า อีกมากมายนับไม่หวาดไหวจำนวน นั่นก็เรียกว่าเป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน โดยเหตุที่ท่านรู้ขึ้นด้วยตัวท่านเอง ถ้าไม่ได้รู้ได้ด้วยตัวเอง ต้องฟังจากพระพุทธเจ้านี้ อย่างมากก็เป็นเพียงพระอรหันต์ แต่ กิเลส นั้นทั้งหมดเท่ากัน ถ้าเป็นพระพุทธเจ้า หมายความว่า การคิดค้นของตนนั้นเองนำไปจนหมด กิเลส นี่ เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าอย่างดีมันมีการกระทำพากเพียรบ้าง ก็เป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ตรัสรู้ถูกต้องครบถ้วนด้วยพระองค์เองแล้ว ยังสามารถทำผู้อื่นให้รู้ตามได้ด้วย ปัจเจกพระพุทธเจ้า ก็รู้เฉพาะท่าน แต่ไม่มีใครสอนเหมือนกัน ตามหลักเขาวางกันไว้อย่างนี้
ทีนี้ รองลงมาก็ต้องมีใครสอน สอนแล้วก็หมด กิเลส เหมือนกัน อย่างนี้เป็น พระอรหันต์ กับ สาวก ทีนี้ พระอรหันต์เหล่านี้บางองค์ก็พอจะสอนคนอื่นได้ บางองค์ก็ไม่สามารถจะสอนได้ คล้ายๆกับ ปัจเจกอรหันต์ กับ สัมมาสัมพุทธอรหันต์ แต่เขาไม่เรียกหรอก ก็เรียกว่า อรหันต์ปฏิสัมภิทา สามารถสอนผู้อื่นอะไรอื่นได้ดีมาก แล้ว อรหันต์สุกขวิปัสสก นี้ ก็ไม่สนใจที่จะสอนใครหรือสอนไม่ได้ แต่ว่าทุกองค์ นิพพาน จะเป็นพระอรหันต์ชนิดไหนก็ นิพพาน โดยแท้จริง ไม่ใช่ว่า นิพพาน ที่ไม่จริง ไม่ได้ขาด รองๆลงมาก็เช่นว่า ผู้ที่ทำสมาธิเข้าอยู่ในสมาบัติ ได้ นิพพาน ช่วงที่บังคับไว้ด้วยสมาธิเท่านั้น
ถาม : อาจจะ นิพพาน โดยตำแหน่งหน้าที่หรือภารกิจ...
ท่านพุทธทาสฯ : ไม่ใช่ เขาต้องทำ ต้องฝึกและต้องทำ ต้องทำได้
ถาม : คือ ในฐานะที่เป็นประชาชนก็อาจจะ นิพพาน ได้ ในตำแหน่งและหน้าที่ของประชาชน
ท่านพุทธทาสฯ : ใน ระดับ ไม่ใช่ตำแหน่งหน้าที่ ใน ระดับ ของประชาชน
ถาม : ครับ
ท่านพุทธทาสฯ : จะมีได้โดย นิพพานประจวบเหมาะ / นิพพานธรรมชาติ ถ้าว่าผู้ใดไม่มี นิพพาน ตามธรรมชาติ เสียเลย คนนั้นเป็นโรคเส้นประสาท คือ เป็นบ้า...แน่นอนทีเดียว เพราะฉะนั้น คนที่มันเป็นโรคเส้นประสาท เป็นโรควิกลจริตอะไร เพราะมันไม่รู้จัก นิพพานตามธรรมชาติ เสียเลยนั่นเอง ก็เรียกว่า นิพพานประจวบเหมาะ ไง นิพพาน ที่ว่าคุณไปที่หัวหิน ไปบางแสน ถ้าไปหยุดพักผ่อนนะ ไปทะเลบ้าง ภูเขาบ้าง มันช่วยแวดล้อมจิตใจให้ว่าง ให้หยุด ให้เย็นไปได้นั้นเป็น นิพพานประจวบเหมาะ แต่ถ้าไปกินเหล้า ไปเที่ยวผู้หญิง มันก็ลงนรกแบบในปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้น นิพพาน ในปัจจุบันนี้ นรกในปัจจุบันนี้-มันมีได้ ก็เอาแต่เพียงว่าเมื่อใดมันว่างจากตัวกู-ของกู เมื่อนั้นก็เป็น นิพพาน หน้าที่ก็ได้ หน้าที่ก็ได้ พอมีตัวกู-ของกูมามันก็เป็น วัฏฏสงสาร คือ ทุกข์ เดือดร้อน จิตดวงนี้พลิกไปทางนี้ก็เป็น นิพพาน พลิกไปทางนี้ก็เป็น วัฏฏสงสาร ถ้ามันพลิกไปเรื่อยๆไม่มีทางกลับหลังก็เป็น นิพพาน จริงไป
ถาม : ทีนี้ อีกอันหนึ่งครับ อีกคำถามหนึ่ง ไอ้การเวียนว่ายตายเกิดนี่ ที่เอาเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้าสอนนี่นะครับ ท่านหมายความว่าเป็นอย่างไร?
ท่านพุทธทาสฯ : เรื่องนี้มันเป็นเรื่องซับซ้อน เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกันอยู่มานานแล้ว
ถาม : ครับ ผมเองก็ยังงงอยู่เวลานี้
ท่านพุทธทาสฯ : เวียนว่ายตายเกิดนั้นต้องเป็น ๒ ชนิด....