แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายในวันนี้ก็จะเป็น เรื่องของตัวธรรมะโดยตรง เป็นวันแรกดังที่ได้บอกไว้ล่วงหน้าแล้ว เรื่องธรรมะโดยตรงในที่นี้ หมายถึง เราจะไม่พูดเรื่องเกี่ยวกับบุคคล การบวช หรืออะไร ศาสนา หรืออะไรทำนองนี้ แต่จะพูดถึงหลักธรรมะโดยตรงที่พุทธบริษัททั่วไปควรจะทราบ แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่แรกเข้ามาสู่พุทธศาสนา ในส่วนที่เป็นเรื่องธรรมะโดยตรง ไม่ใช่พิธีรีตอง หรือไม่ใช่อะไรทำนองนั้น นี่ จึงเรียกว่า หลักธรรมะโดยตรง สิ่งแรกที่สุดแล้วก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่เป็นของทุกสิ่งทุกเรื่อง มีอยู่สิ่งหนึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องทราบ ถ้าเกินกว่าทราบคือว่าต้องรู้จัก ต้องเข้าใจ ต้องถึงกับรู้สึกอยู่ด้วยใจ รู้จักมันอยู่ด้วยใจในสิ่งนั้นๆ ในสิ่งนั้นโดยเฉพาะ สิ่งๆเดียวที่ว่ามันเป็นทั้งหมด เป็นทั้งเหตุ เป็นทั้งผล เป็นทั้งอะไรทั้งหมดทุกอย่าง แล้วก็ของเรื่องพุทธศาสนาทั้งหมดที่เราจะต้องเรียนนั้น สิ่งเดียวนั้น ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า เวทนา
ตามที่สังเกตเห็น เราไม่ได้สนใจสิ่งที่เรียกว่า เวทนา กันในฐานะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หรือเรื่องที่สำคัญที่สุดถึงสิ่งเดียว เราจะเห็นเขาพูดถึง เวทนา กันเป็นเพียงสิ่งหนึ่งในหลายๆสิ่ง ซึ่งมีความสำคัญเสมอๆกัน เดี๋ยวนี้ เมื่อได้รวบรวมมาทั้งหมดมาสอบสวนดู ดูพระพุทธภาษิตทั้งหลาย มันก็พบที่พระพุทธเจ้าท่านทรงยืนยันว่าคือ สิ่งนี้เป็นต้นเหตุ เป็นต้นเรื่องอะไรทั้งหมด ที่จะต้องรู้จัก ถ้ารู้จักสิ่งนี้ก็จะเป็นเหตุให้รู้จักสิ่งอื่นหมด และถ้ารู้จักสิ่งนี้ก็จะรู้ธรรมะในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ คือ ไม่ต้องฝากไว้กับความเชื่อนั่น เชื่อนี่ ซึ่งมันไม่ใช่หลักวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ในที่นี้ก็ หมายถึง เรื่องที่มันประจักษ์แก่ใจ วิทยาศาสตร์ทางวัตถุก็ประจักษ์แก่เครื่องทดลองทางวัตถุ นี่ วิทยาศาสตร์ทางจิตมันก็ต้อง หมายถึง ที่ประจักษ์แก่ความรู้สึกโดยไม่ต้องเชื่อตามผู้อื่น หรือไม่ต้องใช้เหตุผลอย่างอื่นนอกจากความรู้สึกที่มันรู้สึกอยู่จริง บางคนอาจจะคิดว่าเอาสิ่งที่เรียกว่า จิต หรือเอาความรู้สึกของ จิต อะไรมาดูไม่ได้ แล้วก็ไม่จัดว่าเป็นวิทยาศาสตร์ อย่างนี้อยากจะพูดว่านั่นมันยังโง่อยู่มาก เพราะว่าถึงแม้วิทยาศาสตร์ทางฝ่ายวัตถุนี้ มันก็มีสิ่งที่เอามาดูไม่ได้อยู่อีกมากมาย แม้แต่ตัวสิ่งที่เรียกว่า ไฟฟ้า ตัวจริงของ ไฟฟ้า นี้ก็ยังเป็นสิ่งที่เอามาให้ดูกันไม่ได้ แต่เราก็รู้จักใช้ ไฟฟ้า รู้จักประกอบ รู้จักทำอะไรต่างๆตามกฎเกณฑ์นั้นๆตามต้องการได้ แต่มันมียกเว้นบางอย่างที่เอามาให้ดูอย่างนี้ไม่ได้ นั้นจึงเอาเท่าที่มันจะรู้สึกได้ เห็นได้ เพียงพอแก่ความสำเร็จประโยชน์ ก็มีเหตุผลอยู่ที่ความรู้สึกนั้น ไม่ใช่เหตุผลทางคำนึงคำนวณ เดี๋ยวนี้ วิชาที่เรียกกันว่า Psychotherapy รักษาโรคด้วย จิต ด้วย อำนาจจิต หรืออะไรของ จิต นี้ก็กำลังเจริญแพร่หลาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการที่เอาจิตมาดูได้ หรือจับตัวจิตมาจัดการอะไรได้ ก็ได้แต่ทำไปตามกฎเกณฑ์ที่จะเกิดผลไปทางความรู้สึกที่เรียกว่า จิต เท่านั้นเอง นั่นคือ สิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ในทางธรรมะ ในทางจิตใจนั้น ก็มีได้แต่เพียงอย่างนี้ คือ ที่เรารู้สึกได้ รู้สึกอยู่เป็นปกติ เป็นประจำวัน แล้วก็มีเรื่องที่หรือมีสิ่งที่สืบต่อเนื่องไปจากสิ่งที่รู้จักดีแล้วนั้น เป็นเรื่องๆไปในลักษณะที่เห็นได้ อย่างนี้ก็ควรจะเรียกได้แล้วว่ามันเป็นวิธีการตามทางของศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ หลักธรรมะในพระพุทธศาสนาที่เป็นตัวพุทธศาสนาแท้จริงจะต้องมีลักษณะอย่างนี้ คือ เป็นตามหลักที่เรียกว่าศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ ทั้งฝ่ายร่างกาย และฝ่ายจิตใจ ฝ่ายร่างกายนั้นไม่สู้มีความสำคัญอะไรมันเป็นเหมือนกับภาชนะที่จะรองรับเรื่องทางจิตใจ เรื่องทางจิตใจเลยสำคัญเพียงสิ่งเดียวในการที่จะต้องศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติ
ทีนี้ ก็จะย้อนไปถึงสิ่งที่เรียกว่า เวทนา เป็นเรื่องสำคัญของทั้งหมดซึ่งจะได้อธิบายให้เห็น และก็ยังจะต้องศึกษาต่อไปอีกไม่รู้จักสิ้นสุดจนกว่าจะหมด กิเลส เป็นพระอรหันต์ จึงจะหมดเรื่องที่เราจะศึกษาอันเกี่ยวกับ เวทนา เวทนา คือ ความรู้สึกที่เราจะต้องรู้สึกกันวันละหลายๆครั้ง ภาษาอังกฤษก็แปลกันง่ายๆว่า Feeling เฉยๆ สำหรับคำๆนี้ในพระพุทธศาสนาก็แบ่งเป็น ทุกขเวทนา สุขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา นี่คือ เวทนา ที่ทำให้รู้สึกเป็นสุข เวทนา ที่ทำให้รู้สึกเป็นทุกข์ และก็ เวทนา ที่ไม่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มีอยู่ ๓ เวทนา เรียก เวทนา เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องไปเชื่อตัวหนังสือหรืออะไรที่อื่น แต่ต้องมองดูไปยังสิ่งที่เรียกว่า เวทนา ที่เกิดขึ้นแก่เราทุกวัน ทุกวัน บางวันไหนลักษณะของความสุข รู้สึกพอใจ รู้สึกสบายใจ อย่างนี้เรียกว่า สุขเวทนา บางวันก็แย่ บางเวลาก็แย่ คือ ไม่พอใจ อึดอัด เป็นทุกข์ เดือดร้อน นี่ก็ เรียกว่า ทุกขเวทนา ทีนี้ ถ้าไม่ถึงอย่างนั้น ไม่ชัดลงไปว่าสุขหรือทุกข์ แต่มันยังเป็นความรู้สึกที่มีผลกับจิตใจ มีอิทธิพลกับจิตใจนี้ในทางที่เกิดความยึดถือด้วยเหมือนกัน คือ สงสัย สนใจ หรือหวัง หรืออะไรอยู่ใน เวทนา ชนิดนี้ ทั้งที่มันไม่ชัดลงไปว่าสุขหรือทุกข์นี้ มันก็จัดเป็น เวทนา ทีนี้ คนบางคนเมื่อยังไม่เข้าใจแล้วก็จะไม่เข้าใจ คือ จะค้านว่า อทุกขมสุขเวทนา - เวทนา ที่ไม่เป็นสุขเป็นทุกข์นี้ทำไมต้องเรียกว่า เวทนา ด้วย? เขาเข้าใจอย่างนั้น เดี๋ยวนี้เราอยากจะถือตามหลักธรรมะในพระพุทธศาสนา หรือความรู้ของพระพุทธเจ้าว่า ท่านเรียกสิ่งนี้ว่ามันเป็น เวทนา ด้วยเหมือนกัน คือ มันเป็นที่ตั้งแห่งความสนใจจนกระทั่งมีความยึดมั่น-ถือมั่นได้เท่ากันกับ เวทนา ๒ อย่างข้างต้น คือ สุข กับ ทุกข์ เพื่อจะจำให้ง่ายก็จำในหลักอย่างนี้ไว้ทีก่อนก็ได้ว่า
สุขเวทนา คือ รู้สึกเป็นสุข พอใจ ยินดีนี้ มันเพิ่มให้เกิดนิสัย นิสัยสันดานที่จะ รัก
ส่วน ทุกขเวทนา นั้นมันเพิ่มความรู้สึกนิสัยสันดานที่จะ เกลียด
ส่วน อทุกอสุขเวทนา มันก็มีนิสัยสันดานในทางที่จะ สงสัย ลังเล
นี่ ต้องมาทำความเข้าใจตอนนี้กันก่อน ไม่อย่างนั้นจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ จะกลายเป็นเรื่องหนังสือ หรือเป็นเรื่องที่ต้องเชื่อตามคนอื่นอยู่เรื่อยไป
เวทนา แปลว่า ความรู้สึก
สุขเวทนา แปลว่า เวทนา ที่มีลักษณะเป็นสุข
ทุกขเวทนา คือ เวทนา ที่มีลักษณะเป็นทุกข์
อทุกขมสุขเวทนา เวทนา ที่ไม่อาจจะกล่าวว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
ถ้าเรารู้จัก ๒ อย่างแรกเราก็รู้จักอย่างที่ ๓ ได้
สุขะ แปลว่า ทนง่าย หรือ ทนได้อย่างดี คือ ชอบทน สุ แปลว่า ง่าย หรือ ดี -ขะ นั้นแปลว่า ทน สุขะแปลว่า ทนง่าย ทนได้ ทนอย่างดี และเราก็ชอบทน ชอบทนอย่างนั้น ทนรู้สึกอร่อย ทนรู้สึกเป็นสุข ทนรู้สึกเบิกบาน สนุกสนานนี้เรียกว่า สุขะ คือ ความสุข
ส่วน ทุกขะ นั้นคือ ทนยาก ทนไม่ได้ ทนไม่ค่อยจะไหว และเราก็ไม่ค่อยอยากจะทน ใครๆก็ไม่อยากจะทน ทุกขเวทนา สุขะ กับ ทุกขะ อันหนึ่งชวนทน อันหนึ่งไม่ชวนทน
อทุกขมสุข ก็ยังไม่ปรากฏใน ๒ อย่างนั้น แต่ก็ยังมีการที่ต้องทนคือ ทนข้องใจ ทนสงสัย หวังลังเล
เพราะฉะนั้น พูดกันง่ายๆก็จำง่ายก็ไปเทียบกันกับหลักที่เรารู้กันอยู่แล้วเรื่อง โลภะ โทสะ โมหะ ๓ อย่างของ กิเลส นั้น
สุขเวทนา ก็ทำให้เรารักให้เราอยากได้ ให้เรากำหนัด ให้เราโลภ สุขเวทนา มันเพิ่มนิสัย โลภ ใน
ทุกขเวทนา เราไม่ชอบ เราไม่รัก เราอยากจะทำลาย มันก็เพิ่มนิสัย โกรธ หรือ เกลียด คือ โกรธ โกรธะ โทสะ เพิ่มนิสัยโกรธ
อทุกขมสุขเวทนา ที่ทำให้เราฉงน ฉงน หรือหวัง หรือสงสัย หรือเกี่ยวข้องอยู่ในความสงสัยเรื่อยนี้ มันเพิ่มนิสัยแห่งความโง่ คือ โมหะ ไปเที่ยวหลง ไปเที่ยวสนใจ ไปเที่ยวติดใจอยู่ ถอนออกไม่ได้นี้เรียกว่า โมหะ
สุขเวทนา เกิดขึ้นทีไรเพิ่มนิสัยสันดานแห่งความโลภ หรือ ความกำหนัด ทุกขเวทนา เกิดขึ้นทีไรเพิ่มนิสัยสันดานแห่งความโกรธ ความประทุษร้าย คือ โทสะ / อทุกขมสุขเวทนา เกิดขึ้นทีไรเพิ่มนิสัยสันดานแห่งความโง่ ความหลง ความมัวเมา เขียนเป็นตัวหนังสือสั้นๆเป็นคู่กันก็ว่า
สุขเวทนา คู่กับ โลภะ
ทุกขเวทนา คู่กับ โทสะ
อทุกขมสุขเวทนา คู่กับ โมหะ
จริงไม่จริง ต้องไปสังเกตดูด้วยตนเอง นี่ ที่เรียกว่า เรียนธรรมะ เรียกว่า การเรียนธรรมะจากใจ จากใจจริง จากความรู้สึกจริงๆไม่ใช่จากเรียนหนังสือ จากฟังคนอื่นเขาพูด ต้องไปรู้จัก เวทนา ทั้ง ๓ นี้ให้ดีเสียก่อน ต้องสังเกตไปตามหลักว่าอันหนึ่งให้เกิดหรือเพิ่ม โลภะ อันหนึ่งเพิ่ม โทสะ อันหนึ่งเพิ่ม โมหะ นี่ เรียกว่า กิเลส ประจำวันของเราคือ โลภะ โทสะ โมหะ นี้อาศัยอยู่บน เวทนา สุขเวทนา ก็ โลภ แล้วก็เพิ่มนิสัย โลภ ทุกขเวทนา -โกรธ แล้วก็เพิ่มนิสัยโกรธ อทุกขมสุขเวทนา แล้วก็เพิ่มนิสัยโง่ มัวเมา หลง
อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ถ้าเข้าถึงเรื่องที่ว่าเล็กน้อยนี้ไม่ได้แล้ว ไม่มีทางที่จะเข้าใจธรรมะในพระพุทธศาสนา ก็เรียนๆจำๆลืมๆ แล้วก็ไม่มีทางที่จะช่วยตัวได้ให้พ้นจากอันตรายอย่างยิ่ง คือ กิเลส นี่คือสิ่งที่เรียกว่า เวทนา มีอยู่ ๓ ชนิด เขาเรียกว่า เวทนา เหมือนกันหมด อันนี้เป็นต้นตอของทุกอย่าง
ถ้าจะพูดกันไปในแง่ของการที่เป็นเหตุ เวทนา นี้เป็นเหตุให้เกิดอะไรอีกมากมาย เกิดความคิด เกิดความเห็น เห็นผิด-เห็นถูก ทิฏฐิต่างๆนี้ ทุกชนิดก็เกิดมาจาก เวทนา ทีนี้ ความดับทุกข์ ทุกข์ หรือความดับทุกข์อะไรนี้มันก็เกิดมาจาก เวทนา นี่ เป็นในฐานะที่มันเป็นผลขึ้นมา เป็นความทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่าเรื่อง อริยสัจจ์ เป็นเรื่องที่พูดไว้สำหรับคนที่มี เวทนา -สำหรับสัตว์ที่มี เวทนา ถ้าสัตว์เหล่าใดไม่มี เวทนา นี่ ฟังดูให้ดี สัตว์เหล่าใดคนใดไม่มีสิ่งที่เรียกว่า เวทนา ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียน ต้องรู้ ต้องปฏิบัติเรื่อง อริยสัจจ์ เพราะพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าเรื่อง อริยสัจจ์ ทั้ง ๔ ตรัสไว้ บัญญัติไว้สำหรับสัตว์ผู้มี เวทนา ทีนี้ สัตว์ไหนบ้างที่จะไม่มี เวทนา ? ทุกสัตว์จะต้องมี เวทนา แต่ท่านตรัสจำกัดชัดลงไปกว่านั้นว่า กำลังมีเวทนาอยู่นั้น ในระยะกาลในระยะที่กำลังมี เวทนา อยู่ คือ อริยสัจจ์ สำหรับคนนั้น เขามี เวทนา ที่เป็นทุกข์อยู่ คือ ทุกขอริยสัจจ์ เมื่อเขามี ทุกขเวทนา อยู่นั้น มันต้องเป็น เวทนา ที่มาจาก ตัณหา คือ สมุทยสัจจ์ เพราะว่า เวทนา นั้นให้เกิด ตัณหา และ ตัณหา ทำให้เกิดทุกข์ ทีนี้ สำหรับการจะดับทุกข์เสียได้ก็ดับ ตัณหา จะดับ ตัณหา ได้ ต้องดับอำนาจของ เวทนา มันจึงจะดับ ตัณหา ได้ เวทนา หมดอำนาจ ตัณหา จึงจะดับ ตัณหา ดับ-ทุกข์จึงจะดับเป็น ทุกขนิโรธ
ทีนี้ อริยสัจจ์ ข้อสุดท้ายที่เรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค นี้ ทางถึงความดับทุกข์นี้เป็นเรื่องควบคุม เวทนา ทั้งนั้น องค์มรรคทั้ง ๘ องค์นี้เป็นกฎแบบ หรือการปฏิบัติที่มันจะควบคุม เวทนา ไม่ให้ลุกขึ้นมา ไม่ให้เกิดขึ้นทำหน้าที่ หน้าที่นั้น ก็คือ ทำให้สัตว์เป็นทุกข์ เมื่อเรามี เวทนา อยู่ จะเกี่ยวข้องกับ อริยสัจจ์ ทั้ง ๔ ตัวทุกข์เป็น เวทนา อยู่ในตัวแล้ว ทุกข์มันมาจาก ตัณหา คือ ความอยาก ตัณหา ก็ต้องมาจาก เวทนา มาจากอื่นไม่ได้ ดับทุกข์ก็ต้องดับ ตัณหา ก็คือดับอำนาจของ เวทนา แล้วเมื่อเรามี ทุกขเวทนา แล้วก็มีครบทั้งตัวทุกข์และตัวเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้น เราต้องการหาความดับทุกข์ เราก็ดิ้นรนที่จะหยุด ตัณหา เสีย หรือว่าเมื่อมันไปจนสุดเหวี่ยงของมันแล้วมันก็หยุดเองเหมือนกัน มันจะทุกข์อยู่อย่างนั้นเรื่อยไปไม่ได้ มันก็ตายแล้วถ้ามันทุกข์ไม่มีหยุด เรื่องเป็นทุกข์เป็นร้อนชนิดไหนก็ตาม ของใครก็ตาม พอมันสุดเหวี่ยงเข้ามันก็หยุด นั่นคือ ตัณหา อุปาทาน ที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์นั้นมันคลายไปเอง มันจางไปเอง ถึงขณะนั้นเราก็รู้เรื่องนี้ เรื่องที่ว่า ตัณหา มันจางไป เรื่องทุกข์มันก็ดับลง ทว่าเราจะมองไปที่ อริยสัจจ์ ที่ ๔ ก็หมายความพอเราเป็นทุกข์ขึ้นมา เราก็ต้องหาทางแก้ไขความทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ ต้องคิดไปให้ถูกทาง ต้องทำไปให้ถูกทาง คือ มรรค นั่นเอง แล้วมันก็จะดับทุกข์ได้
สรุปความว่า เรื่อง อริยสัจจ์ นี้ ทั้ง ๔ อย่างนี้ จะรู้จักมันได้จริง ศึกษามันได้จริงก็เฉพาะเมื่อยังมี เวทนา อยู่ นั่นจึงกลายเป็นเรื่องที่บัญญัติไว้สำหรับสัตว์ผู้มี เวทนา อยู่ ทีนี้ ทุกคนก็ทราบแล้วว่าเรื่องพระพุทธศาสนานี้ไม่มีเรื่องอะไร นอกจากเรื่องความดับทุกข์อย่างเดียว หรือขยายออกไปเป็นเรื่อง ทุกข์ กับ ความดับทุกข์ ๒ เรื่อง หรือขยายออกไปอีก ทุกข์นั้นแยกเป็น ๒ คือ ตัวทุกข์ กับ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ก็มี ๒ คือ ความดับทุกข์ กับ วิธีที่จะให้ได้มาซึ่งความดับทุกข์ กลายเป็น ๔ เรื่อง เป็น อริยสัจจ์ ขึ้นมาอย่างนี้ นี่คือ ทั้งหมดในพระพุทธศาสนา พุทธศาสนาทั้งหมดมันมีเพียงแต่ ๔ เรื่องนี้ ถ้าย่นก็เหลือ ๒ พระพุทธเจ้าท่านตรัส ๔ เสมอ คือ อริยสัจจ์ ๔ แต่ในที่บางแห่งนั้น ท่านตรัสแต่เพียง ๒ เมื่อก่อนก็ตาม เดี๋ยวนี้ก็ตาม ท่านพูดแต่เรื่อง ทุกข์ กับ ความดับทุกข์ เรื่องอื่นไม่พูด แต่มันขยายออกไปได้เป็น ๘๔,๐๐๐ ข้อ ตามสมมติกัน ไม่มีใครเคยนับ คาดคะเนกัน สมมติกันว่าพระธรรมในพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกทั้งหมดนี้นับดูจะได้ ๘๔,๐๐๐ หัวข้อของเรื่อง คือ ประเด็น แม้อย่างนั้นเราก็ยังพูดได้ว่า ถ้ามัน ๘๔,๐๐๐ ประเด็นจริง มันก็ไปรวมอยู่ที่คำว่า เวทนา คำเดียว มันเป็นเรื่องของความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางถึงความดับทุกข์ เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อริยสัจจ์ ๔ บัญญัติสำหรับบุคคลผู้กำลังมี เวทนา อยู่ พอเขาไม่มี เวทนา กำลังไม่มี เวทนา อะไร ตอนนั้นไม่มีเรื่อง อริยสัจจ์ พอมี เวทนา ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็จะมีความจำเป็นที่มี-จะต้องการเรื่อง อริยสัจจ์ แล้วก็มี อริยสัจจ์ นี่ จำไว้ทีว่าหลัก อริยสัจจ์ คือ ตัวพุทธศาสนาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของบุคคลผู้มี เวทนา พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนั้น ทีนี้ ว่าเรื่องตัวศาสนาแท้ๆมีต้นเหตุมาจากสิ่งที่ร้ายกาจที่สุดสิ่งหนึ่ง คือ เวทนา
ทีนี้ ก็มีแต่จะพูดให้ละเอียดออกไปว่า ทุกข์- เรื่องทุกข์ทั้งหลายมาจาก เวทนา อย่างไร? เหตุให้เกิดทุกข์คือ ตัณหา นี้ อุปาทาน นี้ มาจาก เวทนา อย่างไร? พูดออกไปมันก็พูดได้มากมาย นี่ ความดับทุกข์ก็พูดได้ตามแบบของความดับทุกข์ ทางของความดับทุกข์-ก็พูดตามแบบของความดับทุกข์ พูดเรื่อง เวทนา ได้มากมาย ซึ่งเราจะต้องค่อยๆสังเกตไปแล้วพูดกัน นี่ เฉพาะในวันนี้อยากจะพูดเรื่องที่มันเป็นตัวทุกข์ เพราะมันเนื่องกันอยู่กับเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้น ขอตั้งหัวข้อใหม่ว่า ทุกเรื่องมันจะตั้งต้นขึ้นมาจาก เวทนา ปัญหาต่างๆ คำสอนต่างๆ หลักต่างๆนี้มันจะตั้งต้นขึ้นมาจากสิ่งที่เรียกว่า เวทนา
เอาพวกที่เรียกว่า กิเลส กันก่อน กิเลส ทั้งหลายที่เป็นตัว กิเลส ความรู้สึกก็ดี ที่เป็นแต่เพียง ทิฏฐิ ความคิด-ความเห็นก็ดี ล้วนแต่มาจาก เวทนา กิเลส ที่เป็นต้นบท-แม่บทของ กิเลส ทั้งหมด ก็คือ กิเลส ที่มีชื่อว่า อวิชชา ทีนี้ ดูสิว่า อวิชชา มาจาก เวทนา อย่างไร? พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า อวิชชา มี นิวรณ์ เป็นอาหาร หัวข้ออย่างนี้ต้องจำไว้ให้ได้ ไม่อย่างนั้นมันลืมแล้วมันเลอะกันหมด มันฟั่นเฟือนกันหมด อวิชชา มี นิวรณ์ เป็นอาหาร - นิวรณ์ ก็คือ ที่เราท่องอยู่ใน นักธรรมตรี - กามฉันทะ พยาบาท ถินมิทะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ๕ อย่างนี้ ถึงจะถือว่าทุกๆองค์ทราบแล้วเพราะพอเรียน นักธรรมตรี ก็ต้องพบเรื่อง นิวรณ์
นิวรณ์ ที่ ๑ กามฉันทะ สิ่งที่มากลุ้มรุมจิตที่ทำให้จิตกลุ้มอยู่ด้วยความรู้สึกที่เป็น กาม กามารมณ์
พยาบาท ก็คือ ความรู้สึกที่มากลุ้มรุมจิตทำให้จิตกลุ้มอยู่ด้วยความรู้สึกที่เรียกว่า พยาบาท คือ โกรธ คือ ไม่ชอบ คือ อึดอัด
แล้วอันที่ ๓ เรียกว่า ถีนมิทะ คือ ความรู้สึกที่มากลุ้มรุมจิตทำให้จิตมันเต็มไปอยู่ด้วยความรู้สึกที่เป็นไปในทางแฟบ ถีนะ นี่ก็แปลว่า ง่วงเหงา มิทะ นี่มัน เซื่องซึม หดหู่ ละเหี่ย รวมกี่คำที่จะพูดในภาษาไทยที่มันเป็นไปในทางให้มันทรุด ต่ำ แฟบลงไปนี้ก็ เรียกว่า ถินมิทะ ทั้งนั้น ก็ลองนึกๆถึงบางเวลาเรามีจิตใจที่เศร้าโดยไม่มีเหตุผล ละเหี่ย-ละห้อย มึนชา ง่วงโดยไม่มีเหตุผล นี่ เขาเรียกว่า นิวรณ์ ตัวที่ ๓
ทีนี้ ตัวที่ ๔ เรียกว่า อุทธัจจะกุกกุจจะ นี้มันตรงกันข้าม คือ ฟุ้งเฟ้อ เมื่ออันที่ ๓ มันแฟบ อันที่ ๔ นี้มันขยายออกเรียก ฟุ้งเฟ้อ อุทธัจจะ ว่า ฟุ้งซ่าน กุกกุจจะ ว่า รำคาญ คำแปลนี้ไม่ถูกต้องนักหรอก ชวนให้เขวได้ ไปรู้สึกเอาเองก็แล้วกัน เพราะการบัญญัติคำแปลนี้มันยาก ต้องเห็นอกเห็นใจผู้บัญญัติคำแปลทีแรกบ้าง ไม่มีใครบอก ต้องคิด ต้องบัญญัติ มันก็มีเขวบ้าง หย่อนบ้าง มากบ้าง เพราะฉะนั้น เราต้องรู้ความหมายถือเอาความหมาย อุทธัจจะกุกกุจะ ก็คือ ฟุ้งซ่าน ฟุ้งแล้วก็ซ่านไป ๒ คำนี้พอ ถีนมิทะ ก็ว่าละเหี่ย หดหู่ หรือแฟบลง เหมือนอดข้าว อีกอันหนึ่งมันฟุ้ง อีกอันมันแฟบเข้ามา นี่ ก็เรียก นิวรณ์ นิวรณ์ ตัวที่ ๔ เกิดขึ้น เมื่อ นิวรณ์ ตัวที่ ๔ เกิดขึ้น จิตก็มีลักษณะฟุ้ง คือ ขยายออกแล้วก็ซ่านไป
อันที่ ๕ เรียกว่า วิจิกิจฉา คือ สงสัย ลังเล สงสัย การแปลต้องแปลอย่างนั้น ทีนี้ ตามความหมายจริงของมัน คือ ความรู้สึกจริงๆ ก็คือว่า ความที่มันไม่แน่ใจอะไรลงไปได้ ไม่มีศรัทธา ไม่มีความแน่ใจอะไรลงไปได้ อยู่ในความลังเล-สงสัย มืดมัว สลัว มีจิตใจที่ไม่แจ่มแจ้งแน่นอนชัดเจนอย่างนี้ ลักษณะอย่างนี้ก็เรียกว่า วิจิกิจฉา
ขอร้องให้ไปทำความรู้จักกับสิ่งทั้ง ๕ นี้ให้ดี ทั้งๆที่มันเกิดอยู่เป็นประจำทุกวันนี้แต่ก็ไม่ได้สังเกต ไม่รู้จัก ไม่เห็นมันอย่างแจ่มชัด เพราะเราไม่สนใจกับมัน มีเรื่องอะไรอยู่มากเรื่องที่มันมีอยู่ในตัวเราแท้ๆ และเราก็ไม่ได้สนใจกับมัน ไม่รู้จักมัน เรื่อง นิวรณ์ นี้ก็เหมือนกัน เกิดเป็นประจำวัน เกิดอย่างยิ่ง เราก็ไม่สนใจที่จะแยกดูว่ามันมีกี่อย่าง เราก็ต้องสนใจจนรู้จักมันทุกอย่าง แล้วรู้จักความหมายของคำว่า นิวรณ์ ก็คือ กลุ้มรุมจิต ห่อหุ้มจิต นิวรณะ แปลว่า กั้น หรือ บัง เหมือนกับฝา ฝาเรือน ก็มีความหมายเหมือนกับ นิวรณ์ มันกั้นบังสิ่งต่างๆไว้ หรือเปลือกหุ้ม นี่ก็ความหมายของ นิวรณ์ มันกั้นบังสิ่งต่างๆไว้ ทีนี้ มันเป็นเครื่องกั้นบังจิตไว้ จิตส่องแสงสว่างตามธรรมชาติของจิตไม่ได้ คือ จิตจะ ประภัสสร จะมีแสงสว่างตามธรรมชาติของจิตไม่ได้ ก็ นิวรณ์ มันคอยหุ้มเอาไว้ เดี๋ยวตัวนั้นมา เดี๋ยวตัวนี้มา เดี๋ยวตัวโน้นมา เปรียบเทียบเหมือนกับว่า ของที่มีแสงสว่าง คือ มีรัศมี..ดีกว่า เช่นว่า เพชร มีน้ำ มีรัศมีแวววาวนี้ ถ้ามันมีโคลนบ้าง หรือมีอะไรก็ตามใจ หลายๆอย่างมาปะเข้าไว้ มันก็ไม่อาจจะส่องแสง ส่องรัศมีของมันออกมาได้ มันก็ไม่ทำหน้าที่ของมันได้ หรือหลอดไฟฟ้านี้เอาอะไรมาหุ้ม เอาสีมาทา เอาโคลนมาทา เอากระดาษมาปิด อะไรหลายๆอย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็ส่องแสงออกมาไม่ได้ คือ มันทำหน้าที่ของมันไม่ได้ จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้า นิวรณ์ อย่างใดอย่างหนึ่งมากลุ้มรุมมัน มันทำหน้าที่ของมันไม่ได้-มันจะเกิด อวิชชา
ตรงนี้ก็มีปัญหาที่ว่าคนบางคนได้รับคำสั่งสอนแนะนำว่า อวิชชา นั้นคือ ความโง่ มีอยู่เป็นประจำ มักจะเข้าใจกันอย่างนั้น ผมก็เคยเข้าใจอย่างนั้น เพราะเมื่อแรกเรียนนักธรรมครูก็สอนอย่างนั้น แต่พอมาดูในบาลี คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่อย่างนั้น คือ พระองค์ตรัสว่า แม้แต่ อวิชชา นี้ก็เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดเป็นครั้งเป็นคราวชั่วขณะๆ ตามเหตุ-ตามปัจจัยของมัน นี่ สิ่งที่เรียกว่า อวิชชา นี้ก็เพิ่งเกิด เป็น กิเลส ที่เพิ่งเกิดเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าใครเข้าใจว่า อวิชชา เป็นของเกิดอยู่ตลอดเวลาตายตัวแน่นอนนั้นคือเข้าใจผิด และแถมเป็น มิจฉาทิฏฐิ ด้วย คือ เป็น สัสสตทิฏฐิ ที่ถือว่ามีอะไรที่เที่ยงแท้ถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง คือ ไม่เกิด-ดับ ถ้ารู้ตามที่เป็นจริงคือถูกต้อง ก็จะรู้ว่าตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า แม้ อวิชชา ก็เพิ่งเกิด คือ เราโง่ต่อเมื่อมีเรื่อง แต่คือว่า เราโง่อยู่ตลอดเวลา หรือความโง่ของเรามีอยู่ตลอดเวลา ขอให้ถือความโง่นี้ก็เป็น สังขาร อันหนึ่ง คือ มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ความโง่นี้ก็เพิ่งโง่เป็นเรื่องๆๆๆไป แล้วแต่อะไรมันจะทำให้โง่อย่างไรนี้ เรียกว่า อวิชชา ก็มีเหตุ-มีปัจจัย แล้วก็เป็นของเพิ่งเกิด และเกิดเรื่อย เหตุ-ปัจจัยที่สำคัญ ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า เวทนา เพราะ เวทนา ทำให้เกิด นิวรณ์ หรือเกิด นิวรณ์ อยู่ย่อมมี เวทนา เมื่อมีนิวรณ์ ๕ อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ เมื่อนั้นจะเป็น เวทนา ที่ทำให้จิตมันโง่ไปตามนั้น
กามฉันทะ กลุ้มรุมจิต จิตก็โง่ไปตามแบบ กาม
พยาบาทนิวรณ์ กลุ้มรุมจิต จิตก็โง่ไปตามแบบของความไม่ชอบ ความประทุษร้าย
ถีนมิทะนิวรณ์ กลุ้มรุมจิต จิตก็โง่ไปทางที่จะแฟบ จะเหี่ยว จะเศร้า จะละเหี่ย-ละห้อย
อุทธัจจะกุกกุจจะ เข้ามาครอบงำจิตมันก็โง่ไปทางฟุ้ง
วิจิกิจฉา หากเข้ามาจิตก็โง่ไปทางที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ไม่รู้ว่าจะเอาอะไร ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรนี้
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า อวิชชา มี นิวรณ์ เป็นอาหาร ให้จำประโยคสั้นๆนี้ไว้ นิวรณ์ มาจาก เวทนา เพราะฉะนั้น เวทนา ก็เป็นตัวให้เกิด อวิชชา ถ้าใครรู้สึกว่ามันผิดกับหลักที่เคยเรียนมาก่อน หรือกำลังรู้อยู่ก็ขอให้อย่าเพิ่งคิดอะไรมาก เอาพระพุทธภาษิตเหล่านี้ที่ผมเอามาเล่าให้ฟังนี้ไปคิด แล้วการเรียนธรรมะจะเป็นเรื่องจริงเหมือนเรียนวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เรียนอย่างเชื่อๆตามๆกันไป ท่องแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็ท่อง เพราะว่าวิทยาศาสตร์ต้องมีของจริงเอามาเป็นตัวเรื่อง แล้วก็ดู ก็เรียน ก็เห็น ก็รู้อยู่ที่สิ่งเหล่านั้น นี่ ดูให้รู้จัก นิวรณ์ ว่า นิวรณ์ เกิดขึ้นแล้วก็จะเป็น เวทนา อย่างหนึ่ง แล้วจิตจะโง่ไปตาม เวทนา นั้นๆ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อวิชชา มี นิวรณ์ เป็นอาหาร นี่ แม่บทของ กิเลส ของสิ่งที่จะทำความฉิบหายนั้น คือ อวิชชา และ อวิชชา ก็มาจาก เวทนา เป็นตัวเรื่องที่ทำให้เกิด อวิชชา
ทีนี้ ขยายความออกไปถึง ทิฏฐิ / ทิฏฐิ ที่เป็น มิจฉาทิฏฐิ ก็ตาม ที่เป็น สัมมาทิฏฐิ ก็ตาม มันอาศัยสิ่งที่เรียกว่า เวทนา มันจึงเกิดขึ้นได้ สิ่งที่เรียกว่า ทิฏฐิ นี้ก็แปลว่า ความเห็น ความเห็นก็เป็น สังขาร คือ มีปัจจัยปรุงแต่ง ดังนั้น ความเห็นจึงเปลี่ยนได้ วันนี้มีความเห็นอย่างนี้ พรุ่งนี้อาจจะมีความเห็นอย่างอื่น หรือว่าถูกอบรมสั่งสอนมาในลักษณะหนึ่ง-มันก็มีความเห็นอย่างหนึ่ง ถ้าถูกอบรมสั่งสอนมาในลักษณะอื่น-มันก็มีความเห็นอย่างอื่น ทีนี้ เราก็ต้องเอาไปตั้งแต่ที่มันเห็นชัดๆเมื่อ เวทนา เกิดขึ้นทางตา หู อะไรก็ตาม มันให้เราเกิดความรู้สึกอันหนึ่ง ซึ่งมันมีความหมายทำนองว่า นี้คืออะไร? หรือนี้คืออย่างไร? หนักเข้าๆมันก็สรุปเป็นความเห็นอันหนึ่งว่า นี้คืออะไร? หรืออย่างไร? มิจฉาทิฏฐิ เช่นว่า ตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด โลกเที่ยง หรือไม่เที่ยง โลกมีที่สิ้นสุด หรือไม่มีที่สิ้นสุดและ มิจฉาทิฏฐิ ต่างๆ ที่รู้จักชื่อกันมามากแล้ว มิจฉาทิฏฐิ ทั้งหมดก็มาจาก เวทนา หากแต่ว่ามันมาลึก มานาน มาไกล ถ้า เวทนา เป็นสิ่งที่ให้เกิดความรู้สึก ถ้าไม่มี เวทนา ก็ไม่มีความรู้สึกที่จะรู้สึกต่ออะไรว่าอย่างไร ว่าอะไร? ว่าอย่างไร? คนที่บัญญัติ ทิฏฐิ ทีแรกว่าตายแล้วเกิด ตายแล้วไม่เกิดนี้ ความรู้สึกอย่างนั้นมันก็มาจาก เวทนา ที่มีเป็นประจำ เวทนา ที่เป็นเหตุให้พอใจ ให้ยึดถือเอานี้ ให้ยึดมั่น-ถือมั่นเอาเป็นของเรา มันทำให้เกิดความคิด หรือความเห็นว่าอะไรที่เราควรจะเอา ผลของการที่เสวย เวทนา มากเข้า มากเข้า มากเข้า มันจะปรุงขึ้นเป็นความคิดความเห็นอันหนึ่งว่า อะไรคือสิ่งที่เราควรจะเอา? อะไรคือสิ่งที่เราสั่นหัวไม่อยากจะเอา? ความรู้สึกอันนี้จะมาจาก เวทนา เท่านั้น เพราะว่าไม่มีอะไรจะมาครอบงำจิตคนได้นอกจาก เวทนา เวทนา คือ ซ้ำซาก ซ้ำซาก มันจะค่อยๆแยกตัวไปว่า อันนี้เราจะเอา อันนี้เราจะไม่เอา ทีนี้ คนพวกหนึ่งก็จะมีความคิดเป็นทำนองว่า ความเห็นว่าพอตายแล้วเกิดนี้-เราจะเอา ความเห็นที่ว่าพอตายแล้วไม่เกิด-เราไม่เอา เพราะฉะนั้น เราจึงมี ทิฏฐิ ว่าตายแล้วเกิด ทีนี้ ผู้อื่นตรงกันข้าม เวทนา มันคอยทำให้เขาลำบาก ยุ่งยาก หรือมีลักษณะการอย่างอื่น พวกนั้นก็ชอบไปในทางใน ทิฏฐิ ความคิดเห็นว่า เราจะเอาอย่างว่า-ตายแล้วไม่เกิด มิจฉาทิฏฐิ ว่าตายแล้วเกิดหรือ มิจฉาทิฏฐิ ว่าตายแล้วไม่เกิดนี้ มันมาจากสิ่งที่เรียกว่า เวทนา ที่มารู้สึกแก่จิตอย่างซ้ำซาก
แต่ในกรณีอย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสลึกลงไปถึง ผัสสะ / ผัสสะ ก็คือ สิ่งที่ทำให้เกิด เวทนา เราจะพูดว่า ผัสสะ ก็ได้ เวทนา ก็ได้ เพราะว่าเมื่อมี ผัสสะ แล้วก็ต้องมี เวทนา / เวทนา มันต้องมีชื่อว่า สัมผัสสะชาเวทนา - เวทนา ที่เกิดมาจากสัมผัส สัมผัสทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง คือ ไปสัมผัสที่อารมณ์อะไรเข้า หลังจากสัมผัสแล้วก็ต้องมี เวทนา เพราะฉะนั้น เวทนา จึงมีชื่อไปตามสัมผัสว่า จักขุสัมผัสชาเวทนา - เวทนา ที่เกิดมาจาก จักขุสัมผัส เวทนา ที่เกิดมาจาก โสตสัมผัส คือ หู เวทนา ที่เกิดมาจาก คานะสัมผัส คือ จมูก เขาเรียกว่า เวทนา ทั้งนั้น บางทีพระพุทธเจ้าก็ทรงใช้คำว่า ผัสสะ บางทีก็ทรงใช้คำว่า เวทนา ที่เป็นตัวเรื่อง ตัวการที่ทำให้เกิดอะไรยุ่งยากลำบากนี้ แต่เดี๋ยวนี้ เราเรียกกันว่า เวทนา ให้มันแน่นอน เพราะมันแน่นอนกว่า มันเป็นความรู้สึกให้สุข หรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ เวทนา อย่างไหนทำให้เราเกิดความคิดขึ้นมาอย่างไร หนักเข้าก็เป็น ทิฏฐิ ของเรา เรามีความเห็นอย่างนั้น เวลาอย่างอื่นเราไม่เห็น ไม่ยอมเห็น ไม่ยอมเชื่อ เพราะฉะนั้น จึงเกิดมี ทิฏฐิ ต่างๆ เช่นว่า ตายแล้วเกิด-ตายแล้วไม่เกิด หรือว่าเกิดบ้าง-ไม่เกิดบ้าง แล้วก็ ตายแล้วสูญ โลกเที่ยง-โลกไม่เที่ยงนี้ มันเนื่องกันทั้งนั้นว่าสิ่งต่างๆแน่นอน-ยั่งยืน สิ่งต่างๆไม่แน่นอน-ไม่ยั่งยืน ความเห็นเหล่านี้ปรุงมาจากความรู้สึกที่เรียกว่า เวทนา ตรงนี้นึกดูให้ดี บางคนอาจจะเห็นว่าความเห็นนี้มาจากการที่เราเล่าเรียนในโรงเรียนเรื่อยๆมา เรามีความเห็นอย่างนี้ นั่น เขารู้นิดเดียว เขาไม่รู้ลึกลงไปถึงว่า สิ่งที่เราได้ยินฟังนั้นทำให้เกิด เวทนา ที่เราได้เล่าเรียนในโรงเรียนตลอดเวลาทั้งหมดนั้น มันทำให้เราเกิด เวทนา คือ ความรู้สึกที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจ หรือยังอะไรก็ไม่รู้ อันนี้ต่างหากที่ทำให้สร้างความเห็น ยึดมั่น-ถือมั่นอย่างเหนียวแน่นขึ้นมา อย่างใดอย่างหนึ่ง แม้แต่ความคิดเห็น ลัทธิ เรื่องการเมือง เรื่องอะไรอย่างโลกๆนี้ก็เหมือนกัน มันก่อรากฐานมาจากสิ่งที่เรียกว่า เวทนา คือ ที่มันเข้าไปทำในจิตใจของเราชอบหรือไม่ชอบ นี่ ตามหลักพระพุทธศาสนาหรือคำสอนของพระพุทธเจ้ามีหลักอย่างนี้ ทีนี้ วิชาสมัยใหม่ของฝรั่งของพวกอื่นอาจจะเป็นอย่างอื่น ที่อะไรจะจริง อะไรจะใช้ประโยชน์ได้นี้ ชนิดไหนจะใช้ประโยชน์ได้ก็ไปคิดดูเอาแล้วกัน พูดสนุกๆว่าเหมือนอย่างว่า เราจะชอบพรรคการเมืองพรรคไหน เรามี ทิฏฐิ ที่เกิดขึ้นว่าเราชอบพรรคการเมืองพรรคไหน จะไปลงคะแนนเสียงให้พรรคนั้น ความชอบที่เป็น ทิฏฐิ อันนี้ขึ้นมาก็มาจาก เวทนา มาจาก เวทนา ที่เกิดมาจากการกระทำของพรรคการเมืองพรรคนั้นก็ได้ หรือแม้แต่สุดแต่ว่าที่เราไปคิดเข้าแล้วเกิดความรู้สึกในใจเป็น เวทนา ก็ได้ อันไหนมันเป็นไปในทางให้เราชอบ เราก็ชอบความรู้สึกอันนั้น เพราะฉะนั้น เราจึงเกิดความเห็นว่าเราชอบพรรคการเมืองพรรคนี้ แต่คนทั่วไปเขาคงไม่อธิบายอย่างนี้ เขาอธิบายแต่ผิวๆว่า มันความเห็นของเขา ความเห็นของเขาเป็นคนฉลาด จะตัดสินเอาเองตามความฉลาดของเขาว่า พรรคการเมืองนั้นต้องดี พรรคการเมืองนี้ต้องไม่ดี แต่ถ้าพูดตามแบบของพระพุทธเจ้า - ทิฏฐิ อันนี้มันเกิดขึ้นมาจาก เวทนา คือ มันลึกกว่า เช่น กำปั้นทุบดินว่า เราไปนึกถึงการเมืองพรรคไหนเราสบายใจ เราแน่ใจ เราอะไร มันทำให้เราฝังหัวในพรรคการเมืองพรรคนั้น หรือมี ทิฏฐิ ขึ้นมาว่าพรรคการเมืองพรรคนั้นดีแน่ นี่ ลองคิดดูสิว่าคำพูดของใครจะเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่ากัน? คำพูดของพระพุทธเจ้าหรือคำพูดของคนพวกนั้นจะเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่ากัน? ในเมื่อพระพุทธเจ้าพูดว่า ทิฏฐิ นี้มาจาก เวทนา ที่มันประทับใจลงไป ประทับใจลงไปจนเป็น ทิฏฐิ รูปนี้ขึ้นมา นี่ เรื่องเล็กๆน้อยๆในโลกก็ยังเป็นอย่างนี้ ทีนี้ เรื่องทางศาสนา ทาง มิจฉาทิฏฐิ มากมายจนถึงกับว่ามี ๖๒ ชนิด โดยละเอียด โดยย่อก็มี ๒-๓ ชนิด เรียกว่า นัตถิตทิฏฐิ อุจเฉททิฏฐิ สัสสตทิฏฐิ ทุกอย่างทุกชนิดของ ทิฏฐิ มาจากสิ่งที่เรียกว่า เวทนา ที่แสนจะละเอียด ลึกซึ้ง ซับซ้อน เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ ทั้งหลายมาจาก เวทนา หรือ ผัสสะ ที่ให้เกิด เวทนา
ทีนี้ก็มาถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ สัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้องที่เป็นที่จะพึ่งได้นี้ ก็มาจาก เวทนา แต่มันมาในทางที่ถูกต้อง การที่จะเกิดความเข้าใจถูกต้องขึ้นมาได้ว่าอะไรเป็นอะไร มันต้องมีเรื่อง แล้วเรื่องที่มีขึ้นในใจต้องให้ เวทนา ทีนี้ เวทนา นั้นจะมาทำให้โง่หรือมาทำให้ฉลาดนั้นมันแยกทางเดินตรงนี้ ถ้า เวทนา นั้นมันมาทำให้เกิดความฉลาด คือ ความเจ็บปวดทุกครั้งสอนให้คนฉลาดนี้ ไม่เท่าไหร่ก็พอที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรในทางที่ถูกต้อง ทีนี้ ความเจ็บปวดบางอย่างมันทำให้คนเข้าใจผิด หลงโง่ไปเรื่อยมันก็เป็น มิจฉาทิฐิ จนเมื่อเกิดความเสื่อมเสีย ฉิบหายขึ้นมาในชีวิต นี่ ก็เป็น เวทนา แล้ว คือ เดือดร้อนเหลือประมาณแล้ว ถ้ามันเดินไปในทางความโง่ด้วยเหตุปัจจัยอย่างใดก็ตาม มันก็ทำให้คิดไปว่า ผีเป็นต้นเหตุ เทวดาเป็นต้นเหตุ โชคหรือเคราะห์เป็นต้นเหตุ ดวงดาวเป็นต้นเหตุให้เป็นไปทางโน้น ที่ถ้าเผอิญ เวทนา นั้นเกิดทำให้ฉลาด เพราะเขามีความฉลาดหรือมีบุญ มีอะไร มันกลับมาไปมองเห็นว่า มันเป็นเรื่องของ เวทนา นั้น เหตุของ เวทนา นั้น มี กรรม เป็นต้น คือ เหตุปัจจัยเกี่ยวกับสิ่งนั้นเองที่ทำให้เรามีความทุกข์นี้ ก็เดินถูกทางเป็น สัมมาทิฏฐิ ว่ามันไปตามเหตุ มันไปตามปัจจัยโดยเฉพาะของมัน ความทุกข์นี้จึงเกิดขึ้น จะไม่ถือว่าความทุกข์นี้มาจากเทวดา มาจากผีสาง มาจากเหมือนกับที่เขาถือกันอย่างเป็น มิจฉาทิฏฐิ แต่พระพุทธเจ้าท่านยังไปไกลกว่านั้นอีกในข้อที่ว่า จะไม่ให้ถือทั้งทุกอย่างนี้ว่าเป็นตัวตน แม้ที่มันมาจากกรรม มาจากเหตุปัจจัยของมันโดยตรง ก็อย่าได้ถือว่าเป็นตัวคน เป็นของคน เป็นอะไร ให้ถือเป็นเหตุปัจจัย เป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นเป็นอย่างๆไปอย่างนั้นแหละ อย่าถือว่าเป็นของเรา อย่าพูดว่ากรรมของเรา เราทำกรรม กรรมของเรา ทำให้เราเป็นทุกข์ อย่างนี้พูดภาษาเด็กๆ ภาษาชาวบ้าน ภาษาคนโง่ ยังมีตัวตน มีเรา มีของเรานั้นอยู่ เป็น สัสสตทิฏฐิ อะไรทำนองนั้น จะพูดให้ถูกตามเรื่องของพระพุทธเจ้า คือ ไม่มีเรา ไม่มีกรรม ไม่มีการกระทำกรรมของเรา รับผลกรรมของเรา ต้องไม่มีเรา เหตุปัจจัยคือนั้นๆๆเลย นั่นคือ จิต นั่นคือ ร่างกาย นั่นคือ ตา คือ หู จมูก ลิ้น กาย นั้นคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มากระทบกันเข้าเกิดความรู้สึกเป็น วิญญาณ เกิด ผัสสะ เกิด เวทนา เกิดความโง่ยึดถือใน เวทนา นั้นเป็น อุปาทาน เป็น ตัณหา เป็น อุปาทาน เป็น ทุกข์ ความทุกข์เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีเรา ไม่ต้องมีตัวผู้ทุกข์ เป็นผู้สร้างความทุกข์ หรือผู้ทำทุกข์ ให้ทุกๆตอนเป็นธรรมชาติ ตามธรรมชาติ เรียกเป็นบาลีอย่างถูกต้องเต็มที่ก็เรียกว่า ปฏิจจสมุปบันธรรม คือ สิ่งที่อาศัยกันเกิดขึ้น ไม่มีความรู้สึกเป็นตัว-เป็นตน เป็นเรา เป็นของเรา ถ้า ทิฏฐิ มันเดินไปว่าเป็นตน เป็นของตน เป็น อัตตานุทิฏฐิ หรือ อัตตะ อัตตนียานุทิฏฐิ ยึดติดว่าเป็นเรา-เป็นของเรานี้ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ มันก็เกิดมาจาก เวทนา ก็ไปหลงใน เวทนา อันใดอันหนึ่งเข้า แล้วยึดว่าเราว่าของเรา- เป็นความผิดไป แต่ถ้ามันมาในทางที่ไม่ยึดถืออย่างนั้น เห็นเป็นเพียงธรรมชาติอย่างนั้น อย่างนั้น จะปรุงแต่งกันอย่างนั้น เกิดอันนั้นๆ อย่างนี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ มาจากต้นตอเดียวกันคือ เวทนา ถ้าเดินทางผิดเป็น มิจฉาทิฏฐิ เดินทางถูกเป็น สัมมาทิฏฐิ
นี่ เท่าที่พูดมานี้ก็เป็นเพียงตัวอย่าง เป็นเหตุผลที่แสดงให้เห็นบางส่วนเท่านั้นไม่ใช่ทั้งหมด เพราะว่ามันไม่มีเวลาที่จะพูดทั้งหมด นี่ เท่าที่พูดมานี้มันเป็นเหตุผลหรือเรื่องราวบางส่วน ที่ทำให้เห็นว่ามันจริงอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อะไรๆนี้มันรวมจุดอยู่ที่ เวทนา มันตั้งต้นอยู่ที่ เวทนา แล้วมันจะแยกออกไปเป็น มิจฉาทิฏฐิ กี่อย่าง กี่อย่าง หรือเป็น สัมมาทิฏฐิ / สัมมาทิฏฐิ มีเพียง ๑ อย่าง และก็มาจาก เวทนา เพราะฉะนั้น ระวังเรื่องเกี่ยวกับ เวทนา ใครจะมาสอนใครพระพุทธเจ้าก็ช่วยอะไรไม่ได้นอกจากแนะหนทาง ส่วนที่จะเล่าเรียนศึกษานั้นต้องทำเอง เพราะฉะนั้น ก็เสวย เวทนา เข้าไป เวทนา อะไรมีขึ้นมาก็เสวย เวทนา นั้น แต่แล้วก็มีแตกต่างกันอยู่ ๒ อย่างว่า ปุถุชน คนพาล คนโง่ คนเขลานี้มันเสวย เวทนา ด้วยความโง่ ส่วน อริยสาวก ก็เสวย เวทนา ด้วยความฉลาด มีแค่นั้น มันระมัดระวังดี มันดูดี มันต่างกันมาเสียแต่ทีแรกแล้วว่า ปุถุชน คนพาล คนเหล่านั้นมันไม่ได้เคยฟังธรรมะของพระอริยเจ้า มันฟังแต่ธรรมะแต่ของคนพาล ปุถุชน มิจฉาทิฏฐิ ส่วน อริยสาวก นั้นหมายถึงผู้ที่ได้ฟังธรรมะของพระอริยเจ้าแล้วก็เป็นผู้มีปัญญา ถูกนำไปตามคำสอนของพระอริยเจ้า ตั้งมั่นด้วยดีในธรรมะของพระอริยเจ้า นี่ก็เรียกว่า อริยสาวก คือ คนไม่โง่ ไม่เป็นพาล ตรงกันข้ามกับปุถุชน คนพาลที่มันเกิดมาด้วยเหตุอะไรก็ตามใจ มันไม่ได้ยินได้ฟังเรื่องที่เป็นธรรมของพระอริยเจ้า เพราะฉะนั้น ใจของมันก็มีอยู่อย่างหนึ่ง ทีนี้ พอ เวทนา เกิดขึ้นนี้มันก็ต่างกัน แยกทางกันเดิน คนพาลก็เสวย เวทนา ด้วยความโง่ อริยสาวก ก็เสวย เวทนา ด้วยความฉลาด คนพาลจึงเกิด ตัณหา เกิด อุปาทาน เกิดความยึดมั่นเป็น ทิฏฐิ อย่างนั้น อย่างนี้ แล้วก็มีความทุกข์ ส่วนพระอริยเจ้านั้นรู้เท่าทัน เวทนา เพราะได้เรียนมาดี ได้อบรมมาดี ได้ปฏิบัติมาดี ไม่ยึดมั่น-ถือมั่นใน เวทนา นั้น คือ มันเกิดความฉลาดมันเกิดความรู้เสียว่าอะไรเป็นอะไร? อะไรเป็นอย่างไร? เวทนา นี้คืออะไร? ก็ไม่โง่ไม่หลงที่จะไปยึดมั่นใน เวทนา นั้น มันก็ไม่เกิด ตัณหา ไม่เกิด อุปาทาน ไม่เกิด ทิฏฐิ เห็นผิดที่จะทำให้เกิดทุกข์ได้
ทีนี้ เราทุกคนก็อยู่ในโลก โลกนี้ก็มีอารมณ์สำหรับมากระทบทางตา ทางหูนี้ เรียกว่า โลก นี้มันมากระทบแล้วมันก็เกิด ผัสสะ เวทนา เราที่อยู่ในโลกด้วยกันทุกคนจะเสวย เวทนา นั้นในลักษณะที่ต่างๆๆๆกันไป เคยชินมาในทางไหนมากก็สะสมความคิดเห็นที่จะมี ทิฏฐิ อย่างนั้น คนอื่นก็มี ทิฏฐิ อย่างอื่น นี่ เราพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะว่าเราถือเอาความหมายของสิ่งที่เรียกว่า เวทนา นี้มันผิดกัน ผิดกัน ผิดกันเป็นพวกๆ ๆไม่รู้กี่พวกต่อกี่พวก เพราะฉะนั้น ขอให้เข้าใจไว้ทีว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ ทุกอย่างมันไปรวมอยู่ที่ เวทนา ที่มันจะงอกออกไปเป็นนั่น เป็นนี่ เราต้องรู้เรื่องนี้ เราถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นพระอริยเจ้า ท่านสอนไว้อย่างนี้ เราได้ฟังแล้ว แล้วก็มาทำให้มันตรงกับที่ท่านสอนไว้นั้น จะเป็นการลองดูก็ได้ว่ามันจะจริงหรือไม่จริง เวทนา เกิดแล้วมันทำให้เกิดความคิดที่เป็น ทิฏฐิ ต่างๆได้ เกิดทุกข์ได้ เกิดอะไรได้ และทำให้เกิด อวิชชา ได้เป็นครั้ง เป็นครั้ง เป็นครั้ง เป็นครั้งไปจนชินๆๆๆเข้าเป็นความเคยชินที่จะเกิด อวิชชา ชนิดนั้นอย่างทันทีทันควัน จนคนโง่บางพวกเข้าใจไปว่า อวิชชา เป็นสิ่งที่นอนรออยู่แล้วในสันดาน นี่ กลายเป็น มิจฉาทิฏฐิ ไปอีกแบบ อวิชชา เพิ่งเกิดแต่เกิดเร็วเกินไปจนไอ้คนนี้ไม่รู้ว่ามันเพิ่งเกิด คิดว่ามันเกิดอยู่แล้ว รออยู่แล้ว นอนอยู่เป็นประจำอยู่ในสันดาน
นี่พูดมาตั้งชั่วโมงแทบจะไม่ได้เรื่องได้ราวอะไรถ้าฟังไม่ถูก ถ้าฟังถูกก็จะต้องได้เรื่องสักหน่อยหนึ่งว่า ทุกเรื่องนั้นในโลกนี้ ทุกเรื่องของมนุษย์นี้ จะเรื่องอะไรก็ตามใจของมนุษย์นี้ มีจุดตั้งต้นหรือจุดสำคัญอยู่ที่สิ่งที่เรียกว่า เวทนา ถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า เวทนา ทุกอย่างไม่มีความหมาย แม้แต่โลกนี้ก็ยังไม่มีความหมาย เพราะว่าเราอยู่ในโลกนี้เพื่อแสวงหา สุขเวทนา อุตส่าห์เกิดมา ศึกษาเล่าเรียน ทำการงานนั่นนี่ จนกว่าจะตาย เพราะเป็นทาสของ เวทนา ต้องการ สุขเวทนา แต่แล้วไอ้ เวทนา นี้ก็เป็นเหตุให้เกิดอะไรอีกมากมาย เกิดความคิดผิด คิดถูก ให้มีความทุกข์มากขึ้น หรือให้มีทุกข์น้อยลงได้ทั้งนั้น คือ ไปผิดก็ได้ ไปถูกก็ได้ แล้วก็มีการเตรียมตัวสำหรับที่จะจัดให้มันเป็นไปแต่ในทางถูก ทุกครั้งที่เรามีการประสบหรือเสวยสิ่งที่เรียกว่า เวทนา วันหนึ่งนับไม่หวาดไหว เดี๋ยวตา เดี๋ยวหู เดี๋ยวจมูก เดี๋ยวลิ้น เดี๋ยวกาย ชั่วนอนอ่านหนังสือชั่วโมงเดียวนี้มันมี เวทนา หลายแบบเกิดขึ้น สลับซับซ้อนกันไป ก็เข้าใจความหมายเหล่านั้น มันเกิดในลักษณะเป็น ธรรมารมณ์ เข้าไปรบกวนจิตใจ เป็น เวทนา หลายๆชนิด ทีนี้ ถ้าเราไม่อ่านหนังสือ เราออกไปเดินเล่น ตา หู ก็ไปได้ยิน ได้เห็นอะไรอย่างนั้นอย่างนี้เข้าอีก มันล้วนแต่เต็มไปด้วยสิ่งที่เรียกว่า เวทนา แล้วก็เป็นต้นเหตุให้เกิดอะไรอีกมากมาย แล้วแต่ว่ามันมีความเหมาะสมของมันอย่างไร? มีเหตุปัจจัยของมันอย่างไร? เราอยู่ในท่ามกลางสิ่งที่ร้ายกาจที่สุด อันตรายที่สุด คือ สิ่งที่เรียกว่า เวทนา เพราะฉะนั้น อย่าไปกลัวเสือ กลัวผี กลัวจน กลัวตาย กลัวอะไร กลัวพิษร้ายของสิ่งที่เรียกว่า เวทนา นี้ น่ากลัวกว่าสิ่งใดหมด นี่ถ้ามองเห็นอย่างนี้ก็จะรู้จักพระพุทธเจ้า จะรู้จักจิตใจของพระพุทธเจ้า จะรู้จักธรรมะของพระพุทธเจ้า
เดี๋ยวนี้มนุษย์เราในโลกนี้ไม่รู้จักสิ่งนี้ว่าน่ากลัวที่สุด ไปกลัวจน ที่จริงเขาก็รู้ว่าเขาไม่จน เขายังไม่มีเกียรติ เขาก็จะเอาเกียรติ รวยแล้วยังรวยไม่พอจะรวยไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้น ก็เบียดเบียนกันเรื่อย เบียดเบียนกันทั้งโลก หรือเบียดเบียนกันเรื่อยเพราะไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า เวทนา ถ้าเขารู้จักก็จะรู้ว่านี่อันตรายที่สุด สิ่งที่น่ากลัวที่สุด น่าหวาดเสียวที่สุด ซึ่งศาสนาทุกศาสนาต้องการจะให้เข้าใจ และให้เอาชนะได้ ผลร้ายที่เกิดมาจากสิ่งที่เรียกว่า เวทนา นี้ ศาสนาคริสเตียนก็จะเรียกว่า ซาตาน หรืออะไรทำนองนั้น เราก็เรียกไปตามที่เราอยากจะเรียกได้เหมือนกัน สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ สิ่งที่เรียกว่า เวทนา เข้าไปใกล้มัน หรือไปแตะต้องมัน ไปเกี่ยวข้องกับมัน ถูกวิธีหรือผิดวิธีมีทั้งนั้น หากผิดวิธีก็เป็นอันตรายที่สุด คือ จะโง่ลง โง่ลง โง่ลง โง่ลงแล้วก็จมลงไปในความโง่ จมลงไปในความทุกข์อย่างไม่รื้อไม่ถอน จมใน วัฏฏสงสาร ตกนรกหมกไหม้เป็นกัปป์ เป็นกัปป์ไปเลย คือ อยู่ในความทุกข์ ในดงแห่งความทุกข์ ในอะไรแห่งความทุกข์นี้ ทีนี้ ถ้าว่าจัดทำไปในทางถูกต้อง มันก็คือ ฉลาด ก็ไม่ไปหลง ก็ไม่จมลงไปในความเป็นทาสของ เวทนา แต่รู้จักฉลาดขึ้น ฉลาดขึ้น จนอยู่เหนือ เวทนา กำจัด เวทนา เสียได้ หมายความว่า กำจัดอิทธิพลหรืออันตรายจาก เวทนา เสียได้ ก็ไป นิพพาน คือ อยู่เหนือความทุกข์ ตกนรกอย่างแสบเผ็ดก็เป็นนรกในความหมายธรรมดา ตกนรกหอมหวน หอมหวาน เอร็ดอร่อยก็เป็นสวรรค์ เรียกกันว่า สวรรค์ สวรรค์ คือ นรกที่ชวนตก ไม่มีใครรู้ว่ามันเป็นนรก นรกธรรมดา คือ นรกที่มันแสบเผ็ด นี่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ เวทนา ทั้งนั้น นรก สวรรค์ นิพพาน ทั้งหมดเกี่ยวกับ เวทนา เป็นต้นเหตุด้วย เป็นผลด้วย เป็นผลสุดท้ายด้วย เป็นผลต่อๆไปด้วย จนกระทั่งเป็น เวทนา ชนิดที่ประเสริฐที่สุด คือ เวทนา ที่มันรู้สึกเพราะไม่มีความทุกข์เลยนี้ เพราะมันหมด กิเลส แล้วอย่างนี้ ในลักษณะอย่างนั้นมันไม่ใช่ เวทนา อย่างที่กำลังพูด เป็น เวทนา ของผู้ที่ชนะ เวทนา แล้ว ไม่รวมอยู่ในข้อนี้ เว้นไว้แต่จะถือว่าความสุขอันนี้เป็นความสุขเกิดมาจากการดับ กิเลส ได้ ดับทุกข์ได้เป็น นิพพาน นี้ มันมี เวทนา ดึงดูดใจให้คนอยากไปปฏิบัติธรรมก็ได้ แต่ผู้ที่จะบรรลุ เวทนา นั้นจริง คือ พระอรหันต์ ไม่รู้สึกเป็น เวทนา ท่านไม่รู้สึกว่าเป็น เวทนา หรือ เวทนา ก็ชนิดที่สักว่าไม่มีความหมาย เป็น เวทนา ที่ไม่สร้างความยึดมั่น-ถือมั่นแก่จิตใจได้ คำว่า เวทนา ในกรณีทั่วไปนั้นหมายถึง เวทนา ของคนที่จะไปยึดมั่นใน เวทนา นั้น แม้จะยึดมั่นด้วยสติปัญญา ตามธรรมดานี้ก็เรียกว่า ยึดมั่น จนกว่ามันจะหลุดพ้นไปเสียแล้วจาก เวทนา จึงจะอยู่เหนือความยึดมั่น-ถือมั่น
ดังนั้น ในความถูกต้องมันก็ยังมีความยึดมั่น-ถือมั่นชนิดที่ละเอียด ลึกซึ้ง สุขุมอยู่ด้วยเหมือนกัน แต่ต้องค่อยๆก้าวสูงขึ้นไป คือ ข้ามมาให้พ้นไป นี่ ข้ามจากความเลวหรือความชั่ว-มาสู่ความดี ความดีหรือบุญกุศลก็ตาม พอข้ามความดีหรือบุญกุศลนี้ไปสู่ความที่ไม่เรียกได้ว่าดีหรือไม่ดี คือ ไม่มีเหตุที่เป็นที่ตั้งแห่งความดีหรือความไม่ดีนี้ ไม่เป็นที่ตั้งความสุขหรือความทุกข์ ไม่เป็นที่ตั้งของความยึดมั่น-ถือมั่นว่าเรา-ว่าของเรา พอไม่มีเรา-ไม่มีของเรา มันก็หมดเรื่องกัน ไม่มีได้-ไม่มีเสีย ไม่มีอะไรทุกอย่าง ตอนนี้เป็นสิ่งที่ลึกลับอยู่ คนที่ไม่เคยถึงก็คิดว่าเป็น เวทนา ที่ดีที่สุด ที่เป็นสุขที่สุดก็อยากจะได้ คนที่ถึงจริงคือพระอรหันต์ก็เฉยไปหมด นี่ มันเล่นตลกกันอยู่อย่างนี้ ไม่รู้สึกเป็น เวทนา ชนิดที่เขายึดมั่น-ถือมั่นกัน รู้แต่ว่ามันเป็นผลของการกระทบ ความรู้สึกทาง อายตนะเช่น ใจ กับ ธรรมารมณ์ เป็นต้น นี่ก็เลยเป็นของที่ไม่มีความหมาย นี่ ชนะ เวทนา อยู่เหนือ เวทนา มันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ขอให้เห็นว่า ตั้งแต่ต้นที่สุดไปจนถึงปลายสุดที่สุดก็มี เวทนา อย่างเดียวเป็นตัวเรื่อง เป็นเจ้าของเรื่อง เป็นตัวเรื่อง เป็นเหตุของเรื่อง เป็นผลของเรื่อง เป็นหมดเลย
เพราะฉะนั้น วันนี้ทว่าฟังอะไรไม่ถูก ก็ขอให้เพียงแต่สนใจสิ่งที่เรียกว่า เวทนา ให้รู้จักมันเหมือนเอามาใส่ฝ่ามือดูได้ถ้ามันเป็นวัตถุว่า-มันเป็นอย่างไร? เดี๋ยวนี้มันเป็นเรื่องที่เกิดแก่จิตใจ ก็ให้มันรู้จักให้ประจักษ์ชัดด้วยความรู้สึกของจิตใจ คล้ายๆกับว่าเหมือนเอามาใส่ฝ่ามือดูได้ จะได้เรียนธรรมะอย่างวิทยาศาสตร์ คือ ไม่โง่ ไม่ต้องเชื่อตามผู้อื่น ไม่ต้องเชื่อตามเหตุผลอย่างอื่น นอกจากเหตุผล คือ ความรู้สึกอยู่ด้วยใจตลอดเวลา ทุกเรื่อง ทุกเรื่อง ทุกขั้น ทุกตอน คือ บทว่า สันทิฏฐิโก ที่เราสวดทุกวันนี้ ก็สวด สวาขาโต ภควะตา ธัมโม ก็ต้องมี สันทิฏฐิโก ติดมา นี่คือความหมายอย่างนี้ นี่ เป็นวิทยาศาสตร์ เรียนด้วยความแจ่มแจ้งที่เป็น สันทิฏฐิโก เห็นธรรมะ รู้ธรรมะ เข้าใจธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ ดับทุกข์ด้วยธรรมะ ในลักษณะที่มันเป็นวิทยาศาสตร์
เอาละพอกันที