แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
และการบรรยายประจำคืนในวันนี้ ยังอยากจะกล่าวถึงเรื่องอย่างเดียวกันกับที่ได้กล่าวมาแล้วครั้งก่อน ๆโน้น อีกสักครั้งหนึ่ง แล้วจึงจะค่อยเปลี่ยนเป็นเรื่องประเภทหลักธรรมะโดยตรง
ในตอนแรก ๆ นี้อยากจะพูดแต่เรื่องสำหรับผู้บวชใหม่ จะได้ถือเอาประโยชน์ของการบวชให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เป็นส่วนสำคัญ แล้วมันก็เป็นเรื่องสำคัญด้วย ก็หาอ่านในหนังสือไม่ค่อยจะได้ เราได้พูดกันถึงเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ในฐานะที่บวชอุทิศพระพุทธเจ้า ก็เพื่อที่จะได้รับอะไรจากที่พระพุทธเจ้าท่านประทานไว้ และเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในทุกแง่ทุกมุมที่พุทธบริษัทจะต้องรู้ และก็ต้องปฏิบัติหรือจะต้องสังวรณ์ไว้ เพราะว่าถ้าปฏิบัติผิดต่อพระพุทธเจ้า ก็เท่ากับปฏิบัติผิดในทุกสิ่ง คือ ปฏิบัติผิดต่อพระธรรม และพระสงฆ์ด้วย ด้วยเหตุที่ว่าเป็นของที่เนื่องกัน โดยเนื้อแท้แล้วก็คือสิ่งเดียวกัน พระพุทธเจ้าโดยเปลือกนอกนั้น คือ บุคคล คือ ร่างกาย ส่วนนั้นก็ไม่ค่อยสำคัญ พระพุทธเจ้าโดยเนื้อแท้ ก็คือ พระธรรม อย่างที่ตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรม-ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา-ผู้นั้นเห็นธรรม เมื่อมีการปฏิบัติหรือการเห็นธรรม อันนี้มันก็คือพระสงฆ์นั่นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าปฏิบัติผิดเพียงอย่างเดียวมันก็เนื่องกันไปหมดทุกอย่าง กระทั่งการบวชก็ได้ผลไม่ตรง หรือไม่เต็มตามที่ต้องการ เพราะฉะนั้น จึงขอร้องให้ปฏิบัติกันเป็นข้อ ๆ ไป ในลักษณะที่เป็นการสังวรณ์อย่างยิ่งเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า
ในครั้งที่แล้วมาก็ได้พูดถึงเรื่อง ไม่ดูหมิ่นพระพุทธเจ้า ซึ่งอาจจะมีได้โดยไม่รู้สึกตัว และก็มากด้วย เพราะคำว่า ดูหมิ่นนี้มันไม่ได้หมายความเพียงแต่การมีเจตนาจะดูหมิ่น มันทำไปด้วยความโง่ นั่นแหละมาก และมากที่สุด ไม่มีใครอยากจะดูหมิ่นพระพุทธเจ้าด้วยเจตนา แต่กำลังมีการดูหมิ่นพระพุทธเจ้าทั่วไปทุกหัวระแหงในโลกของพุทธบริษัท คือ ไม่ให้ความสำคัญแก่พระพุทธเจ้า หรือคำตักเตือนของพระองค์นี้ เพราะฉะนั้น คนเหล่านั้นจึงไปทำอะไรที่ไม่ควรทำ นับตั้งแต่ทำศีลขาดไปหมด นี่ เป็นการดูหมิ่นพระพุทธเจ้าโดยไม่รู้สึกตัว คือ ให้ความสำคัญแก่คำสอนของพระองค์น้อยไป จึงไม่มีความละอายบาป หรือกลัวบาป อย่างกินเหล้านี้ ก็ถือเป็นการดูหมิ่นพระพุทธเจ้าเหลือประมาณ แต่เขาก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาไป มีข้อแก้ตัวอย่างนั้นอย่างนี้ ฉะนั้น เราจะต้องไม่ประมาท จะต้องระมัดระวังกันถี่ยิบ ที่จะไม่ให้มีอะไรเป็นการดูหมิ่น-ล่วงเกินพระพุทธเจ้า แม้โดยไม่รู้สึกตัวตลอดชีวิตเลย และก็ได้เคยพูดว่า จะทำอะไรให้ถามพระพุทธเจ้าก่อน จะตัดสินใจอะไรลงไปก็ให้ถามพระพุทธเจ้าก่อน คนธรรมดาเขาฟังไม่ถูก เขาไปยึดถือพระพุทธเจ้าที่เปลือก พระองค์ท่านก็นิพพานแล้วไม่รู้จะไปถามใครที่ไหน ไปถามพระพุทธรูป อันนี้มันก็เป็นเรื่องที่จะโง่มากขึ้นไปอีก ต้องถามพระพุทธเจ้าที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม-ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา-ผู้นั้นเห็นธรรม เราสำรวมจิตใจเหมือนกับเราจะไปทูลถามพระพุทธเจ้าก่อน ก็คือว่า ไม่ตัดสินใจผลุนผลันลงไปในเรื่องนั้น ๆ ไม่ทำไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ชะงักไว้ รีรอ ทบทวนว่า ถ้าไปถามพระพุทธเจ้า ท่านจะตรัสว่าอย่างไร? นี่ ให้ถือเป็นหลักอย่างนี้ แล้วมันก็ยากที่จะทำผิดด้วยประการทั้งปวง
ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของคนเราก็เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง เกิดขึ้นทันที ตอบคำถามทันที แต่เดี๋ยวนี้เราได้บวชแล้ว ได้เรียนแล้ว เลยรู้เรื่อง ผู้ใดเห็นธรรม-ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา-ผู้นั้นเห็นธรรม มากแล้ว อันนั้นมันมีอะไรมากที่จะตอบคำถาม ยิ่งรู้หลักพระพุทธศาสนาว่ามีอย่างไรนี้ โดยหลัก ทักษิณธรรมวินัย โคตมีสูตร เป็นต้นอย่างนี้ด้วยแล้ว มันก็ยิ่งผิดยาก คือ จะมีพระพุทธเจ้าตอบให้ทุกทีไป
และก็ยังมีพูดถึงให้เป็นอยู่ให้เหมือนพระพุทธเจ้าที่สุด เพื่อมันง่ายเข้าในการที่เราจะมีอะไรเหมือนพระพุทธเจ้าต่อไปอีก คือ ทางจิตใจ คือ อะไรนี่มันก็จะเหมือนพระพุทธเจ้ามากขึ้น ถ้าเราเป็นอยู่คล้ายๆ พระพุทธเจ้าที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ และก็โดยความหมายก็เป็นความหมายใหญ่ๆ เป็นอยู่อย่างเป็นอิสระ เป็นอยู่อย่าง สัมมาทิฏฐิ เป็นอยู่อย่างประหยัด เป็นอยู่อย่างเป็นเกลอกับธรรมชาติเหล่านี้ เรียกว่า เป็นอยู่อย่างให้เหมือนพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ เท่าที่เราจะทำได้ แม้จะอยู่ในเพศบรรพชิตหรือจะสึกออกไปเป็นฆราวาสก็ตาม ให้มีการเป็นอยู่ที่มีหลักใหญ่ๆ หรือมีสปิริตของมันนี้เหมือนกับการเป็นอยู่ของพระพุทธเจ้า อะไรๆมันก็จะเหมือนกันได้ง่าย โดยไม่ต้องลำบาก คือ จะไม่ต้องไปถาม ไม่ต้องไปทูลถามพระพุทธเจ้าบ่อยนักก็ได้ อย่างนี้เป็นต้น นี่ เรียกว่า เป็นหลักพื้นฐานทั่วไปที่สำคัญที่สุด ที่จะมีไว้เป็นหลักยึด ยึดถือ สำหรับเราพุทธบริษัท ในระหว่างที่บวชนี้มันก็มีโอกาสที่จะเป็นอยู่ให้คล้ายได้มาก ศึกษาได้มาก อะไรได้มาก ก็รีบถือเอาประโยชน์อันนี้ให้มาก นี่คือ ความมุ่งหมาย
ทีนี้ ก็อยากจะพูดต่อไปอีกสัก ๒-๓ ข้อ ที่จริงมันก็เป็นเรื่องที่รวมอยู่แล้วในนั้น แต่ถ้าไม่ชี้ให้เห็น บางทีก็จะไม่มอง ไม่มองเห็น อยากจะใช้คำว่า เราจะทำให้ถูกพระทัยของพระองค์ นี้ แม้ในลักษณะที่เรียกว่าประจบ คือ คำว่า ประจบ นั้น ถ้ามันเป็นคำธรรมดามันก็เป็นคำที่เลว หรือใช้ไม่ได้ แต่ถ้าใช้กับพระอรหันต์ ใช้กับพระพุทธเจ้า-มันได้ นี่เป็นความเห็นของผม เพราะจะประจบพระพุทธเจ้าสักเท่าไหร่ก็ไม่มีทางที่จะผิดได้แม้ในฝ่ายเราหรือฝ่ายพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลายนั้น เขาจะเรียกว่า เป็น ตาทีบุคคล ตาทีแปลว่า ตายตัว คือ เปลี่ยนแปลง หรือหวั่นไหว หรืออะไรอีกไม่ได้ นี่ ตาที ใครจะไปประจบก็ไม่มีอะไรผิดไป ใครจะไม่ประจบก็ไม่มีอะไรผิดไป ทีนี้ ข้างเราต่างหาก ที่ว่าเราจะไม่งอนง้อพระพุทธเจ้า ไม่พยายามทำให้ถูกพระทัยของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เราจะต้องยอมทำแม้ในลักษณะที่จะเรียกกันว่า ประจบ ก็ตามใจ มันทำสุดความสามารถ สุดชีวิตจิตใจที่จะทำได้ ประจบ ก็หมายความว่า ทำให้รัก พูดภาษาเด็กๆทารกที่จิตใจยังบริสุทธิ์กันดีกว่า เด็กๆประจบพ่อแม่ก็ต้องการให้พ่อแม่รัก แต่ถ้าประจบอย่างผู้ใหญ่หรือว่าในหน้าที่ราชการนี้กลายเป็นเรื่องที่เลวไป -มันคนละเรื่อง แต่สำหรับกับพระอรหันต์แล้วทำได้ เราจะประจบเท่าไหร่ โทษก็ไม่มีที่จะเกิดขึ้น ก็เหมือนกับไอ้ลูกเล็กๆมันประจบพ่อแม่ให้รัก ให้เอ็นดู ให้คุ้มครองป้องกัน นี่ เรียกว่า ทำให้ถูกพระหฤทัยของพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด แม้จะปรินิพพานแล้วโดยร่างกายนี้ แต่ยังทรงคงอยู่ตลอดเวลาโดยพระคุณ เพราะฉะนั้น จึงมีทางที่จะประจบ หรือทำเหมือนอย่างประจบ คือ ถ้าทำให้ถูกพระทัยของพระพุทธเจ้า ได้เช่นเดียวกับที่ว่า เราจะไปถามพระพุทธเจ้าในเมื่อปัญหามันเกิดขึ้น เดี๋ยวนี้เขาก็มีอาการที่เป็นกลาง ทำให้ถูกพระทัยพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา นี่ ก็เรียกว่านอกจากจะไม่ดูหมิ่นแล้ว ยังเอื้อเฟื้ออย่างยิ่ง จะทำอะไรสักนิดหนึ่ง จะเคลื่อนไหวอะไรสักนิดหนึ่ง ก็จะทดสอบ จะสอบดูก่อนว่ามันเป็นการถูกพระทัยพระพุทธเจ้าหรือไม่ ?นี่ จะทำการอะไรก็ตามใจ จะศึกษาเล่าเรียน จะประกอบการงานการอาชีพ แม้แต่จะหาภรรยา-หาสามีอะไรสักคนหนึ่ง ก็ยังน่าจะนึกถึงว่า นี่มันจะถูกพระทัยของพระพุทธเจ้าหรือไม่? มันเป็นหลักที่ใช้ได้ทั่วไปอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะยั้งคิดสักหน่อยหนึ่ง ให้สิ่งต่างๆมันเป็นไปในลักษณะที่ถูกพระทัยพระพุทธเจ้าไปเสียทุกสิ่งทุกอย่างแล้วก็คงจะปลอดภัยมากตลอดชีวิต
ส่วนที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านประสงค์อย่างไรนั้นมันยืดยาว มันมีไว้ มันพูดกันแล้ว มันก็มีเรื่องมากไม่ต้องพูดอีกในที่นี้ แต่สรุปความสั้นๆก็คือว่า ท่านเกิดมาเพื่อให้คนรู้จักทำความดับทุกข์ รู้จักป้องกันไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้น นี่ มีเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงมีพระพุทธภาษิตว่า ฉันพูดแต่เรื่องทุกข์กับซึ่งความดับทุกข์อย่างเดียว ไม่พูดเรื่องอื่น นั้นคือ ความประสงค์ของท่าน ถ้าเราไปทำอะไรเข้าจนเป็นทุกข์ นี่เรา...เราแย่แล้ว คือ เราทำผิดส่วนตัวเราเอง เราไม่ทำตามประสงค์ของพระพุทธเจ้า หรือว่ากลายเป็นดูหมิ่นพระพุทธเจ้าไป ให้ความสำคัญแก่พระพุทธเจ้าน้อยไป เพราะฉะนั้น ต้องถือหลักเป็นไอ้หลักที่ผิดไม่ได้ หรือกำปั้นทุบดินว่า ต้องทำตัวเองไม่ให้เป็นทุกข์ด้วยความรับผิดชอบว่าจะไม่ให้เป็นการผิดพระพุทธประสงค์ เรื่องราวก็เคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้วว่า พระพุทธเจ้าท่านตั้งปรารถนา ตั้งบารมี ตั้งความเพียร สี่อสงไขย แสนกัป เพื่อเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อความหมายอย่างเดียว คือ เพื่อช่วยผู้อื่น ถ้าเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ก็ถือว่าท่านเป็นพระอรหันต์ไปได้แล้วในชาตินั้น ไม่ทนมาตั้งแปดหมื่น สี่อสงไขย แสนกัป นับไม่ไหว เพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้าด้วยความมุ่งหมายนิดเดียว ข้อเดียว คือ ช่วยผู้อื่น ให้สามารถช่วยผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ นี่ เรียกว่า พระพุทธประสงค์ เพราะฉะนั้น ถ้าใครยังทำอะไรให้มันเป็นความทุกข์ขึ้นมาโดยตรง โดยอ้อม โดยมาก โดยน้อยอะไรก็สุดแท้ เรียกว่า ยังผิดพุทธประสงค์ ให้ความสนใจ ให้ความเคารพเอื้อเฟื้อแก่พระพุทธเจ้าน้อยไป นี่ ขอให้จำความข้อนี้ไว้ด้วยว่า ว่าจะพยายามทำให้ถูกพระทัยพระพุทธเจ้าที่สุด และมากที่สุดในลักษณะที่เรียกว่า ประจบ
ทีนี้ ข้อที่ถัดไปก็อยากจะให้บท..บทท่องจำง่ายๆว่า เราจะมีชั่วโมงที่อยู่กับพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด คำว่า ชั่วโมงที่อยู่กับพระพุทธเจ้านี้ เป็นคำพูดที่แกล้งพูด ให้เป็นธรรมดาสามัญ ให้ฟังง่าย-ลืมยาก และก็เข้าใจโดยง่าย ชั่วโมงที่อยู่กับพระพุทธเจ้านั้น มีความหมายได้ลึกซึ้งมาก เราต้องมีเนื้อตัวหรือการกระทำนี้ ชนิดที่เชื่อแน่ได้ว่าพระพุทธเจ้าท่านจะไม่ทรงรังเกียจ คือ จะไม่ไล่ตะเพิดกลับออกไป ลองอ่านในบาลีดู มีหลายสูตรทีเดียว ที่ว่าภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ๆ ถูกไล่ตะเพิดออกไปด้วยเหตุเพียงว่าพูดเสียงดังเท่านั้น ไม่มีอะไรมากกว่านั้น แต่เพียงเท่านั้นก็ถือว่าไม่เหมาะสมที่จะเข้าไปใกล้พระพุทธเจ้าเสียแล้ว แล้วจะไปนั่งอยู่กับท่านได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ชั่วโมงที่ไม่มีอะไรที่มันฝืน หรือขัดกับการที่จะเข้าไปใกล้พระพุทธเจ้านั้น ก็ต้องมีให้มาก ที่มันลึกเข้าไป ก็คือ มันมี จิตใจเหมือน คำว่า จิตใจเหมือน นี้ก็ยังมีหลายชั้น ชั่วโมงที่มีจิตใจเป็นสมาธิ มีความสงบ เพียงแต่สักว่ากิเลสไม่รบกวนเท่านั้นแหละ ยังไม่หมดกิเลสแต่กิเลสไม่รบกวน นี่ก็เป็นชั่วโมงที่นั่งใกล้พระพุทธเจ้า อยู่กับพระพุทธเจ้าได้เหมือนกัน ชั่วโมงที่มันว้าวุ่นไปตามเรื่องของไอ้คนที่ยังมีกิเลสนั้น มันก็มีมาก แต่ว่าชั่วโมงที่มันหยุด สงบ มีความสะอาด สว่าง สงบ ระดับใดระดับหนึ่งนั้นแหละ เป็นชั่วโมงที่เราอยู่กับพระพุทธเจ้า หรือถ้าเป็นศาสนาอื่นเขาก็จะเรียกว่า อยู่กับพระเจ้า และเขาก็ชอบชั่วโมงชนิดนั้น เพราะฉะนั้น จึงจัดให้มีในวันหนึ่งๆ เป็นประจำไปเลย วันละครั้ง หรือสองครั้ง หรือสามครั้ง คือ เก็บตัวอยู่ในสภาพที่มันมีจิตใจเป็นอย่างนั้น เช่น เวลาไหว้พระ สวดมนต์ประจำวันนี้ ถ้าทำให้ดีมันก็อยู่ในข้อนี้ แต่ถ้าทำเพ้อๆไปมันก็ไม่ใช่ นี่ เวลาที่ดีไปกว่านั้น ก็คือ ทำความสงบส่วนตัว ในที่อยู่ส่วนตัว ทำสมาธิ ให้มีจิตใจ สะอาด สว่าง สงบ โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง และก็ชอบอยู่อย่างนั้นให้นาน เมื่อมันมีเวลาว่าง ว่างจากกิจการงานแล้ว ก็มักจะเป็นตอนกลางคืน ถ้าเป็นสมัยก่อน มันก็ต้องใช้พิธีรีตองกันบ้าง คือว่า ทำพิธีเหมือนกับเชื้อเชิญพระพุทธเจ้าให้มาสู่ตัวเราอะไรอย่างนี้ ทำให้เป็นพิธีรีตองแล้วมันก็ช่วยได้มากสำหรับผู้ที่มีการศึกษาเพียงเท่านั้น แต่ถ้ามีการศึกษาอย่างสมัยนี้มันก็ไม่ได้ มันต้องพูดคำจริงตรงๆว่า พยายามมีจิตใจเหมือนพระพุทธเจ้า และก็อยู่ให้นาน เช่น เวลาที่นั่งสงบใจในที่อยู่ Private ของเราเอง เวลาไหว้พระสวดมนต์นี่
ผมถามเพื่อนฝูงบางคนที่เป็นอิสลามที่เขาทำละหมาด วันหนึ่งตั้ง ๕ ครั้ง เขาทำอะไร? เขาอธิบายแล้วว่าเป็นเรื่องนี้เหมือนกัน วันหนึ่ง ๕ ครั้ง ครั้งหนึ่งก็หลายๆนาที เขาทำอย่างที่เรียกว่า เคร่งครัด จนเรารู้สึกละอาย ไปเที่ยวอินเดียด้วยกันกำลังเดินทางอยู่ในรถไฟ พอถึงเวลาเขาทำ ทำตรงนั้นเลย ทำบนหิ้งนอน บนที่นอนรถชั้น ๑ ขอตัว ก็เป็นอันทำได้ ไม่ขาดตกบกพร่อง แม้ว่ากำลังเดินทางอยู่ในรถไฟ เราเลยรู้สึกละอายว่าเรายังไม่ได้ทำมากและจริงจังขนาดนั้น หรือว่าคุณจะสังเกตเห็นพวกที่เขาถือศาสนาพระเจ้า โดยเฉพาะศาสนาอิสลามที่ทำละหมาด ๕ ครั้งนี้ เขาจะทำทั่วไปทุกหนทุกแห่ง บางทีวางหอบของ กำลังเดินทาง-หยุดทำ ที่อาบน้ำก็ทำ ที่ริมลำธารก็ทำ ที่ไหนก็ทำ เพราะฉะนั้น แสดงว่ามันมีจิตชนิดสงบ หยุด นี้มาก มีผลทางร่างกาย ทางจิตใจ ในทำนองเดียวกับที่ว่า เรามีชั่วโมงที่อยู่กับพระพุทธเจ้านี้ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เมื่อเขาวางระเบียบไว้อย่างนั้นเขาก็ทำได้ง่าย ไอ้เราสิ-ไม่เอาจริง จะเป็นไอ้นักมีเหตุผลมากเกินไป มันเลยทำไม่ได้ สู้คนที่มีความเชื่อมากไม่ได้
ทีนี้ก็ได้พูดมาแล้วว่าไอ้ความสะอาด สว่าง สงบนี้มีหลายชั้น ชั้นธรรมดาก็มี ประสบเหมาะประจวบโดยบังเอิญเป็นอย่างนั้นก็มี แต่ในที่นี้หมายถึงว่า ตั้งใจทำ ถ้ามันประจวบเหมาะเป็นขึ้นมาเองก็ยิ่งดี ก็ถือเอาโอกาสนั้นเลย มีจิตใจเยือกเย็น บริสุทธิ์ สะอาด ไม่เกิด กิเลส กลุ้มรุมรบกวน แม้แต่ นิวรณ์ สักนิดหนึ่งก็ไม่ได้มี และสว่างไสว คือว่า ในเรื่องที่จะทำจิตใจให้ว่าง ให้โปร่ง ให้สว่างแล้วมันไม่ขัดข้องเลยในเวลานั้น ผมเรียกว่า ๓ ส. ส-สะอาด ส-สว่าง ส-สงบ เรียกเพื่อจำง่ายๆ นี่ อยู่ด้วยสิ่งนี้ คือ ชั่วโมงที่อยู่กับพระพุทธเจ้ามากที่สุดที่จะมากได้ ทั้งในทางเวลา-ยาวนาน และทั้งในคุณภาพ คือ จิตที่มันลึกซึ้ง มีชั่วโมงที่อยู่กับพระองค์ให้มากเป็นพิเศษอย่างนั้น ทีนี้ แม้ในเวลาที่ทำงานอยู่ ทำงานอยู่ที่ออฟฟิศด้วยซ้ำไป มันก็ยังต้องรักษาหลักนี้ คล้ายๆกับว่ามีพระพุทธเจ้ามายืนคุมอยู่ข้างๆ หรือว่าอยู่ใกล้ๆนี้เอง เราก็รู้ได้เองว่าท่านต้องการให้เราทำอะไร? และคุมอะไร? เราก็ปล่อยให้เป็นไปตามความประสงค์นั้น มันก็เหมือนกับว่าแม้เวลาที่เราทำงานที่ออฟฟิศก็มีพระพุทธเจ้าอยู่ข้างๆด้วย สงเคราะห์รวมในคำว่า มีพระพุทธเจ้ามาอยู่กับเราเป็นเวลามาก และเราก็สมัครที่จะอยู่กับพระพุทธเจ้าให้มากในวันหนึ่งๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาพิเศษ Private ในสถานที่ Private เวลาจัดไว้พิเศษ นี่ ก็เป็นข้อหนึ่งซึ่งมันมีอะไรมาก แต่ถ้าไม่เข้าใจ หรือไม่เชื่อ หรือไม่รู้จักใช้เป็นประโยชน์ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร
ทีนี้ อีกข้อหนึ่งก็อยากจะให้หัวข้อว่า เราขอมีส่วนในกิจการของพระองค์ด้วย คือ เรารู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านมีการงานอย่างร? มีบริการแก่โลกอย่างไร? เราขอมีส่วนในนั้นเต็มที่ ก็เห็นได้ชัดว่าเรื่องช่วยกันทำให้พระธรรมนี้เป็นที่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งปวงในโลก นั่นแหละการงานของพระองค์ Mission ของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น ทีนี้ เราขอมีส่วนในนั้นมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ด้วยเรี่ยวแรงก็ได้ ด้วยเงินทองก็ได้ ด้วยอำนาจ วาสนา บารมีอะไรก็ได้ คือ มันบันดาลให้กิจการนั้นมันเป็นไปได้ มันก็ใช้ได้ทั้งนั้น นี่ เราเป็นพุทธบริษัทก็ต้องนึกถึงข้อนี้ ไม่ใช่ว่าจะนึกถึงเอาตัวรอดผู้เดียวแล้วมันก็พอ มันเป็นการไม่เห็นแก่พระพุทธประสงค์ กลายเป็นดูหมิ่นพระพุทธเจ้าไปอีก เมื่อพระพุทธเจ้ามีสาวกได้ ๖๐ องค์ ก็รีบส่งไปประกาศพระศาสนา คำพูดนั้นเป็นสำนวนวิงวอนเห็นได้ชัด ไม่ใช่บังคับ แต่มันก็วิงวอนเชิงบังคับอยู่ในตัวแล้ว ว่าฉันนี้ก็พ้นแล้วจากเครื่องผูกพันทั้งที่เป็นของทิพย์และเป็นของมนุษย์ พวกเธอก็พ้นแล้วจากเครื่องผูกพันทั้งที่เป็นของทิพย์และเป็นของมนุษย์ เพราะฉะนั้น จงไป จงจาริกไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เพื่อความเกื้อกูลแก่มหาชน แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นอันมาก ทั้งเทวดาและมนุษย์ ท่านว่าอย่าไปสายเดียวกันเกินกว่า ๑ รูป คือ แยกกันไปคนละคน คนละคน มันจะได้มากสาย แม้ฉันก็จะไปยัง ตำบลอุรุเวฬา เดี๋ยวนี้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะใช้แต่พระสาวกไป ท่านก็ตรัสว่าฉันก็จะไปที่ ตำบลอุรุเวฬา เดี๋ยวนี้เหมือนกัน ส่งพระสาวก ๖๐ รูปไปทั้ง ๖๐ สาย ๖๐ ทิศทาง แล้วพระองค์ก็ไปที่สายหนึ่ง คือ ตำบลอุรุเวฬา เพื่อมุ่งหมายจะไป เรียกว่า โปรด ชฎิล ๑๐๐๐ คนที่นั่น ชฎิล นั้นเป็นผู้ที่....ชฎิล คณะนั้นเป็นคณะที่มีชื่อเสียงมาก มันก็มีอะไร... เข้มแข็ง อย่างพระสาวกไปไม่สำเร็จ พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงเลือกเอาไว้สำหรับพระองค์เอง ไปโปรด ชฎิล เหล่านั้นได้ตามความประสงค์ นี่ ก็ยังลงความว่าไอ้กิจการ Mission ของพระองค์ ก็คือ ไป หรือโดยวิธีใดก็ตาม ให้มหาชนได้รับประโยชน์ในทางจิตใจ พ้นจากความทุกข์โดยเร็วที่สุด โดยมากที่สุด
นี่ เราขอมีส่วนให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เดี๋ยวนี้ที่เห็นๆกันอยู่มันก็มีทั่วๆไป แต่ว่ามันเลือน หรือมันน่าหัว มันไม่รู้สึกตัว และมันบานปลายออกไปจนกลายเป็นเรื่องลบ ไม่ใช่เรื่องบวก คือ มันกลายเป็นเรื่องเสียไปเลย แทนที่จะเป็นเรื่องได้ ในปัจจุบันนี้ ก็มีอยู่มากที่เจตนารมณ์เป็นอย่างเดียวกัน แต่พวกหนึ่งทำไปโดยรู้สึกตัว พวกหนึ่งทำไปโดยไม่รู้สึกตัว เพราะการที่จะทำให้พระธรรมหรือพระศาสนาแพร่หลายไปยังเพื่อนมนุษย์นี้ มันมีมาก..มากวิธี และก็หลายระดับ แต่ว่าใจความมัน คือ ทำให้คน ให้เพื่อนมนุษย์กันรู้แจ้งในพระธรรม และปฏิบัติให้พ้นทุกข์ มันมีเท่านั้น ทีนี้ มันมีหลายระดับ คือ ระดับที่ว่าช่วยในหลังฉาก ช่วยในเบื้องหลังอย่าง ทายก ทายิกา นี้ ก็ช่วยสนับสนุนความเป็นอยู่ของภิกษุ สามเณร ผู้เล่าเรียนศึกษาและปฏิบัติ และจะสั่งสอนนี้ ทายิกา ทำไม่ได้ก็ช่วยเหลือในเรื่อง จตุปัจจัย ที่แท้มันเป็นความมุ่งหมายอันนี้ แต่เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นอย่างอื่น เพราะเขาทำบุญให้ทาน เขาจะเอาสวรรค์ เขาจะเอาอะไร เป็นประโยชน์ เป็นกำไรนี้ นี่ มันผิดเจตนารมณ์อันนั้น ทั้งที่ว่ามันทำไปก็เพื่อเจตนารมณ์อันนั้น แม้แต่สร้างวัดนี่ก็ขอให้ลองคิดดู การที่ช่วยกันสร้างวัดขึ้นมานี้ มันก็ด้วยความมุ่งหมายที่ว่า สัตว์ทั้งหลายนี้ เพื่อนมนุษย์กันนี้ มันจะได้โอกาสหรือได้รับธรรมะนั้น แต่เราสร้างวัดขึ้นมานี่มันก็ยังไม่แน่ว่าเขาจะได้รับในสิ่งนั้น กลายเป็นได้รับสิ่งอื่น ได้รับสิ่งที่มันตรงกันข้าม แทนที่จะเป็นบวก-มันกลายเป็นลบ นี่ ขอให้ระวังให้ดี เรื่องขอมีส่วนในกิจการของพระองค์นั้น ระวังให้ดีๆ โดยตรงมันเป็นหน้าที่ของทุกคน จะเป็น ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา อะไรก็ตามใจ มันเป็นหน้าที่ เป็น คฤหัสถ์ อยู่บ้านเรือนแต่ถ้าว่ามีความรู้ มีปัญญาก็ยังมีโอกาสที่จะช่วยเผยแผ่ธรรมะนี้ และบางทีในบางกรณีก็ยังทำได้ดีกว่า ภิกษุ สามเณร เสียอีก ภิกษุ สามเณรที่ยังแรกเรียน ยังไม่รู้อะไรก็ทำอะไรไม่ได้ ที่เหลวไหลเสียก็มาก ที่ไม่ฉลาดก็ยิ่งมาก ทีนี้ ไปเปรียบเทียบกับ อุบาสก ที่ฉลาดมันนั้นมันก็ผิดกันไกล ฆราวาสเขาทำได้มากกว่า ดีกว่า โดยปริมาณ โดยคุณภาพ ดีกว่า มากกว่า ในพระบาลีฝ่าย เถรวาท เรานี้ ก็มีเรื่องที่เขียนไว้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับข้อนี้ คือ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้มีชื่อเสียงที่สุด ซึ่งใครๆก็ต้องรู้จักคนนี้ในเรื่องของพุทธศาสนา ตามธรรมดาก็เป็นผู้เลี้ยงพระสงฆ์ เป็นเศรษฐี และก็มีหลักในการเลี้ยงพระสงฆ์ว่า ถ้าพระสงฆ์รูปไหนไปบิณฑบาตที่ไหนก็ไม่ได้ในวันนี้ ก็ให้ตรงไปที่บ้านนั้น ก็จะได้รับอาหารบิณฑบาตพอประทังชีวิต เป็นอันว่าได้แน่ ก็จะมีภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปที่ต้องไปที่บ้านนั้น จนเป็นที่รู้จักกันอย่างนี้ แต่ทีนี้เรื่องมันไม่ใช่อย่างนั้น มันมีปัญญา มีความรู้ ปรากฏอยู่ในสูตรๆหนึ่งว่า วันหนึ่ง ท่านไปที่สำนักของ เดียรถีย์ มีเรื่องเล่าว่าพวก เดียรถีย์ พวกอาจารย์ทั้งหลายเหล่านั้นกำลังคุยกันเอ็ดตะโร พอเห็น อนาถบิณฑิก เดินมาแต่ไกล ก็สะกิดกันบอกเงียบ ๆ ๆ สาวกของ พระสมณโคดม มาแล้ว นี่ เป็นที่รู้ว่า พระสมณโคดม หรือว่าสาวกของ พระสมณโคดม นี้เป็นผู้มีเสียงน้อย ก็อยู่ด้วยความเงียบ หรือมิฉะนั้นก็เพราะว่ามันขายหน้า ไอ้พวกเราคุยกันเอะอะลั่นวัดก็ขายหน้า อนาถบิณฑิก ซึ่งเป็นสาวกของ พระสมณโคดม เข้าไปนั่งใกล้ทักทายพูดจาปราศรัยกันแล้ว อาจารย์ เดียรถีย์ เหล่านั้นก็ถาม อนาถบิณฑิก ว่า พระศาสดาของท่านนั้นคือพระสมณโคดมมีลัทธิอย่างไร? มี ทิฏฐิ อย่างไร? เขาใช้คำว่าอย่างนั้น ทิฏฐิ คือ ลัทธิที่ถือ ที่ยึดถือ อนาถบิณฑิก ตอบว่า ไม่ทราบ ทีนี้ เดียรถีย์ ก็ถามว่า ถ้าอย่างนั้นคณะสงฆ์ของ พระสมณโคดม มี ทิฏฐิ อย่างไร? อนาถบิณฑิก ก็บอกว่า ไม่ทราบ ทีนี้ เดียรถีย์ ถามอะไรก็ไม่ทราบ อะไรก็ไม่ทราบ ก็ถามว่าแล้วท่านเองเล่า ท่านเศรษฐีเองเล่ามี ทิฏฐิ อย่างไร? ท่านก็บอกว่า โอ้ ง่ายนิดเดียว ทิฏฐิ ของผม ลัทธิของผม บอกได้ง่าย ๆ นิดเดียว แต่ว่าผมขอถามถึงลัทธิหรือ ทิฏฐิ ของท่านอาจารย์แต่ละองค์ ละองค์นี้ก่อน บอกให้ผมฟังก่อนแล้วผมจะบอก ทิฏฐิ / ลัทธิของผมทีหลัง นี่ เมื่อมากันรูปนี้ อาจารย์ เดียรถีย์ ก็บอกลัทธิของตัวตามที่ตัวถืออยู่ เช่น สายหนึ่งก็เรื่องโลกเที่ยง อันหนึ่งก็เรื่องโลกไม่เที่ยง หรือว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ร่างกายก็อันนั้น ชีวิตก็อันนั้นอย่างนี้ จนครบทั้ง ๑๐ / ๑๐ ชนิด ตามแบบของ เดียรถีย์ ทีนี้ ท่าน อนาถบิณฑิก ก็ตอบว่า ไอ้ความรู้สึกอันนี้เกิดมาจากความคิดเห็นเกี่ยวกับ ผัสสะ คือ เวทนา ที่เป็นความรู้สึกที่จิตใจ มันรักมันชอบอย่างไร มันก็พูดไปอย่างนั้น มันก็ถืออย่างนั้น ทีนี้ ความรู้สึกชนิดนี้เป็นของไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ คือ ไม่เที่ยง ก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์ทั้งหลายนี้กำลังติดกับความทุกข์ กำลังยึดอยู่กับความทุกข์ นี่ ทำให้พวก เดียรถีย์ นั้นต้องหุบปาก มันไม่รู้จะพูดยังไง เพราะมันพูดออกไป มันจริงทุกคำ ทุกประโยค ทีนี้ ก็อาจารย์ เดียรถีย์ เหล่านั้นก็ทวง ทีนี้ถึงทีที่ท่าน อนาถบิณฑิก จะต้องพูดตามที่สัญญาไว้ ท่านก็พูดว่า ไอ้ความรู้สึกที่เป็น ทิฏฐิ นี้ไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์ก็ไม่ควรจะถือ ทิฏฐิ หรือ ลัทธิ นี้ไม่ควรจะถือ เพราะมันเป็น อนัตตา ไม่ควรจะถือว่าเป็น ทิฏฐิ ของเรา หรือเป็นตัวเรามี ทิฏฐิ อย่างไร ถ้าเป็นบาลีก็ว่า จะไม่ถือว่า เอตังมะมะ นี่ ทิฏฐิ ของเรา เอโสหะมัสฺ เราเป็นอย่างนี้ เอโส เม อัตตา, อัตตา ของเราเป็นอย่างนี้ ซึ่งมันเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดา ทิฏฐิ ๑๐ ของ เดียรถีย์ เหล่านั้น สรุปความว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี บอกว่าไอ้เรื่อง ทิฏฐิ นี้มันถือไม่ได้ เพราะไม่เที่ยง และก็มันก็ต้องเป็น ทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์ก็เป็น อนัตตา ไม่ควรจะถือว่าอย่างนี้ของเรา เราเป็นอยู่อย่างนี้ อย่างนี้เป็นตัวตนของเรานั้น เป็นต้น อาจารย์ เดียรถีย์ ทั้งหลายเหล่านั้นก็เลยหุบปากยิ่งขึ้นไปอีก หุบปากเป็นครั้งที่ ๒ และยิ่งขึ้นไปอีก
นี่ ขอให้คิดดูเถิด ว่าเป็นชาวบ้าน เป็นคฤหัสถ์อยู่ที่บ้าน เขาก็ทำหน้าที่อย่างนี้ได้ ซึ่งภิกษุทั้งหลายเป็นจำนวนมากก็ยังทำไม่ได้ พ่ายแพ้แก่พวก เดียรถีย์ กลับไปบ่อยๆ มีภิกษุทั่วไปนะ มันต้องภิกษุขนาดพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอานนท์ที่จะไปปะทะกับพวก เดียรถีย์ ได้ นี่ ในฝ่ายเถรวาทเราก็มี อนาถบิณฑิกเศรษฐี นี้เป็นตัวอย่าง และก็ไม่ใช่แกคนเดียวที่ทำหน้าที่เผยแผ่หลักอันเป็นหัวใจของพุทธศาสนาออกไปได้ อย่างเหมือนกับฟ้าฝ่าอย่างนั้น ซึ่งมันทำความพ่ายแพ้ให้แก่ เดียรถีย์ ทั้งหลายได้ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วจะไม่ถือว่าบุคคลนี้มีส่วนในกิจการของพระองค์ ในมิชชั่นของพระองค์อย่างยิ่งแล้วจะทำอย่างไร? มันเห็นได้ชัดว่ามันเป็นผู้ที่มีส่วนในกิจการเผยแผ่ แผ่พระธรรมที่ดับทุกข์ของพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง
ทีนี้ ต่อมา อนาถบิณฑิกเศรษฐี ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วก็ไปทูลเรื่องนี้ให้พระพุทธเจ้าทราบว่ามันมีเรื่องอย่างนี้ พระพุทธเจ้าเลยสรรเสริญในที่ชุมนุมสงฆ์นั้นเอง มีพระสงฆ์อยู่มากด้วยว่า คหบดี นี้ทำถูกแล้ว ไม่ดีแต่ทำบุญให้ทาน-ว่าอย่างนั้นนะ พูดตรงๆเป็นสำนวนก็ว่าอย่างนั้นนะ ไม่ดีแต่ทำบุญให้ทานอย่างเดียว สามารถเผยแผ่ลัทธิของพระพุทธศาสนานี้ได้อย่างถูกต้อง และก็อย่างรุนแรง อย่างที่ว่าไม่มีใครต้านทานได้เหมือนกัน เป็น อัปปะฏิวัตติยัง เหมือนกัน เหมือนพระพุทธเจ้าทำเองก็เป็น อัปปะฏิวัตติยัง คือ ฝ่ายโน้นค้านไม่ได้ นี่ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็น ฆราวาส ไม่ใช่ดีแต่ทำบุญให้ทานอย่างเดียว สามารถทำหน้าที่เหมือนพระพุทธเจ้าก็ได้ นี่ ขอให้คิดดูว่าเมื่อ คฤหัสถ์ ก็สามารถทำได้อย่างนี้ นี่ พระก็ต้อง..ควรจะรับผิดชอบมากกว่านั้น ในฝ่าย มหายาน ก็มี อุบาสก คนหนึ่งชื่อ วิมลกีรติ / วิมลเกียรติ นั่นแหละ ทำนองอย่างนี้มากด้วย อันนั้นเป็นเรื่องฝ่าย มหายาน เราก็ไม่พูด พูดแต่ฝ่าย เถรวาท เรา แม้แต่ ฝ่าย เถรวาท เราก็ยังมีเรื่องอย่างนี้
เพราะฉะนั้น ขอให้มานึกดูว่าเราแต่ละคน ละคนนี้ จะมีส่วน จะเป็นผู้มีส่วนใน Mission ของพระพุทธเจ้าได้อย่างไรบ้างที่มันดีที่สุด? ก็ทำให้นึกถึงพระพุทธภาษิตอันอื่น เช่น ที่ว่า ให้ ทานธรรม ชนะการให้ทั้งปวง : สรรพทานัง ธรรมทานัง ชินาติ การให้ทานนี้มีหลายชนิด แต่การให้ ทานธรรม นี้ชนะการให้ทั้งปวง ไม่มีการให้ชนิดไหนจะเทียบได้ นี่ การให้ ทานธรรม ก็คืออย่างนี้นะ อย่างที่ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ทำไป คือ ทำให้เขาสว่างไสว ลืมหู ลืมตาขึ้นมา เรื่องมันไม่ได้มีบอกไว้ชัดว่า เดียรถีย์ ที่ได้ฟังธรรมจาก อนาถบิณฑิก ในวันนั้นจะได้สำเร็จ หรือว่าเปลี่ยนลัทธิ เปลี่ยนความคิดมาในทางที่ถูกต้องบ้างหรือไม่ แต่เชื่อว่ามันต้องมี ถ้ามันไม่มีในคราวนั้น มันก็ต้องมีในคราวหลัง นี่ เป็น นิสัยปัจจัย ต่อไป เพราะฉะนั้น เราจงพยายามถือโอกาสให้ ทานธรรม กันให้เรื่อยไป เป็นพระก็ทำได้สะดวกเพราะว่ามันมีหน้าที่ มีโอกาส แต่ชาวบ้านก็ทำได้อย่างที่ว่านี้ พูดให้เพื่อนมนุษย์กันมีความเข้าใจถูกต้อง ในรูปที่เป็นการสนทนากัน ในหมวดธรรมะก็มีอยู่ เขาเรียกว่าต้อนรับแขก คือ เมื่อแขกมาหา-เราก็ต้อนรับ นี่ เขาเรียกว่า ปฏิสัณถาร ถ้า อามิสปฏิสัณถาร ก็ ต้อนรับด้วยสิ่งของ หมาก พลู บุหรี่ น้ำดื่ม อะไรนี้ และก็ไม่ประเสริฐ สู้ ธรรมะปฏิสัณถาร ไม่ได้ ธรรมะปฏิสัณถาร ก็คือ ทำโดยวิธีใดวิธีหนึ่งให้คนนั้นได้ยิน ได้ฟัง สิ่งที่ไม่เคยได้ยิน ได้ฟัง และมีประโยชน์ และพอใจ สบาย ร่าเริงที่สุด จะให้เขากินหมาก สูบบุหรี่ หรือว่าทำอะไรมากมาย ก็ไม่ยินดีเท่าให้เขาสบายใจ เพราะได้ยินได้ฟังสิ่งที่เขาไม่เคยได้ยินได้ฟัง และเข้าใจ และรู้สึกพอใจที่สุด เพราะเมื่อแขกมาหามันต้องมีการคุยแน่ ไม่ว่าแขกคนไหน ที่ไหน เมื่อไหร่ แขกไปมาหาสู่กันมันต้องมีการพูดจา ในการพูดจานั้นจะแทรกอะไรเข้าไปก็แทรกเข้าไปได้ ถ้ายิ่งเป็นแขกชนิดที่เขาอยากจะหาความรู้อยู่ด้วยแล้ว มันก็ยิ่งง่าย ก็จำเรื่อง อนาถบิณฑิกเศรษฐี นี้ไว้ก็แล้วกัน โอกาสที่จะพูดสิ่งที่มีประโยชน์เมื่อไหร่ก็พูด พูดให้ลึก ให้ถึงหัวใจของพุทธศาสนาก็แล้วกัน ว่าสิ่งทั้งหลายมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็น อนัตตา ไม่ควรจะไปยึดมั่น-ถือมั่นว่านั่นของเรา หรือเราเป็นนั่น หรือนั่นเป็น อัตตา ของเราอะไรในทำนองนี้ ให้รู้เรื่องความไม่ยึดมั่น-ถือมั่นในทุกแง่ทุกมุม นั่นคือ ตัวพุทธศาสนา ตัวพุทธศาสนา คือ ความไม่ยึดมั่น-ถือมั่น พูดอย่างนี้ถูกที่สุด สอนให้รู้ ให้ปฏิบัติ ให้ได้รับผลของการปฏิบัติที่เป็นความไม่ยึดมั่น-ถือมั่น ไม่เกิดความทุกข์เลย เดี๋ยวนี้ ความทุกข์มันเกิดเพราะความยึดมั่น-ถือมั่นทั้งนั้น มันต้องให้มีความทุกข์ไปหมด นานาประการ เพราะเรื่องที่มันต้องยึดมั่น-ถือมั่นมันมีมาก มาก มากนัก นับไม่ไหว เรื่องทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ลูกหมาหายหรือลูกหมาตายไปสักตัวหนึ่ง ก็ทุกข์เหมือนกับตกนรก นี่ มันเรื่องความยึดมั่น-ถือมั่น มันเป็นโอกาสที่จะต้องสอนกัน แนะนำกัน เตือนสติกัน กระทั่งวาระสุดท้าย เพื่อนจะตายหยกๆ แล้วก็ยังมีธรรมเนียมโบราณของเราว่า ให้บอกทาง บอกหนทาง คนมันจะตายแล้ว บอกทางตามประเพณี พิธีรีตองก็ว่าไป พระอรหัง อย่าลืม นี่เป็นวิธีทั่วไป พระอรหัง อย่าลืม ที่จริง ดีที่สุดถูกต้องที่สุด ถ้าเขาเข้าใจว่าคำว่า อรหัง มันหมายถึงอะไร? เป็นการบอกทางให้ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด แต่เดี๋ยวนี้มันไม่เข้าใจว่า พระอรหัง คืออะไร? ทั้งผู้บอกและผู้ฟัง ผู้บอกยังเป็นๆยังไม่รู้ ผู้นั้นก็จะตายริบหรี่ จะตายอยู่แล้ว มันก็ มันก็ไม่รู้นิ เพราะว่าเมื่อมันยังดี อยู่ มันก็ยังไม่รู้ พอมันจะตาย มันจะรู้อย่างไรได้? นี่ มันควรจะรู้กันตอนเป็นๆนี้ และพอจะตายเพื่อนพูดคำเดียวก็นึกได้ นี่ มีส่วนเผยแผ่ธรรมะกันตลอดเวลาอย่างนี้ แม้คนจะตายอยู่มะรอมะร่อแล้วก็ยังมีโอกาสที่จะช่วยกันบอก หรือเผยแผ่ธรรมะนี้
ทีนี้ ที่พูดอย่างนี้ ตัวเราจะขอมีส่วนในกิจการของพระองค์ให้มากที่สุดนี้ มันมีความหมายหลายทาง ในทางประโยชน์ ข้อแรกเลย ต้องขออ้างถึงความกตัญญูกตเวที นี่เป็นพุทธประสงค์ เราสนองพุทธประสงค์ เราเป็นหนี้พระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้า เราใช้หนี้-นี้เป็นเรื่องกตัญญูกตเวที ถ้าไม่ทำเป็นคนเนรคุณ คือ ไม่รู้บุญคุณ
ทีนี้ ถ้าเราไปทำเข้า มันก็มีประโยชน์มากมาย เขาก็มีประโยชน์ เราก็มีประโยชน์ เพราะการที่เราพูด พยายามพูดให้คนอื่นฟัง เรากลับได้รับประโยชน์มากมายกว่าผู้ฟังนั้นเสียอีก มันมีเรื่องอยู่ในสูตรๆหนึ่ง เขาเรียกว่า วิมุตตายตนสูตร คือ มีการบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ในเวลาที่กำลังพูดให้ผู้อื่นฟัง เพราะว่าเมื่อจะพูดให้ใครฟัง ต้องคิดมาก ต้องนึกมาก ต้องนึกสุขุมยิ่งกว่าเวลาธรรมดา ธรรมะมันเกิดโพล่งขึ้นมาในเวลานั้น ในเวลาที่ตั้งใจจะพูดให้ผู้อื่นฟังนี้ บรรลุธรรมะกันในตอนนี้ก็มีเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าต้องฟังผู้อื่นพูดแล้วถึงจะบรรลุเสียอย่างเดียว นี่ ประโยชน์ตนก็ได้ในการที่ทำการเผยแผ่นั้น แต่ก็ไม่ได้หมายถึงประโยชน์ที่ว่าเขาจะขอบใจ หรือเขาจะรักใคร่ หรือเขาจะตอบแทน ไม่ใช่ประโยชน์อย่างนั้น ประโยชน์ที่ว่าเราจะแจ่มแจ้งในธรรมที่เรากำลังพูดนั้นยิ่งขึ้น ถือว่าเป็นการช่วยกันให้พระศาสนา หรือพระธรรมนี้ยังมีอยู่ในโลกนี้ เป็นที่พึ่งแก่โลก สมตามความมุ่งหมายที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส อย่างขอร้อง อย่างวิงวอน ว่าไป ๆ ๆ ก็ไปเพื่อทำอันนี้ เราอยู่ที่ไหนก็หาโอกาสทำอันนี้ ไม่ได้เดินทางไปไหน อยู่ที่บ้านก็ทำได้ตามสมควร ปรับปรุงไอ้สิ่งที่กำลังทำอยู่นี้ให้มันถูก เช่น สร้างวัดขึ้นมา ก็ให้วัดนั้นเป็นแสงสว่างให้จงได้ สร้างโบสถ์ขึ้นมา ก็ให้โบสถ์นั้นเป็นแสงสว่างให้จงได้ อย่าให้เป็นโบสถ์ก้อนอิฐ ก้อนดินอยู่อย่างนั้น สร้างอะไรขึ้นมาก็ให้อันนั้นเป็นแสงสว่างให้จงได้ สร้างหนังสือ สร้างพระคัมภีร์ สร้างอะไรให้เป็นแสงสว่างให้จงได้ จะทำบุญกุศลชนิดไหนก็ให้มันกลายเป็นเรื่องแสงสว่าง อย่าเป็นเรื่องงมงาย อย่าเป็นเรื่องค้ากำไรในทางวัตถุ
นี่ พูดสรุปความสั้น ๆ ก็ว่า ทำอะไรแต่ในชนิดที่มันจะเป็นแสงสว่างนั้นก็ใช้ได้พอ อย่าให้มันกลับโง่อย่างงมงาย อย่าให้เป็น กิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ถ้าจะดูกันอีกทีหนึ่งก็คือว่า เราช่วยกันทำให้ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ กิเลส ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์นี้ มันเบาบางไปจากโลกนี้ เดี๋ยวนี้โลกกำลังมี โลภะ โทสะ โมหะ หนาขึ้น หนาขึ้น ดังนั้น ขอให้สนใจศึกษาไอ้เรื่องที่ควรจะศึกษาเสียในระหว่างบวชนี้ และถ้าว่าสึกออกไปก็ให้สามารถนำไปใช้ ในการที่จะช่วยกันทำให้โลกนี้มันมี โลภะ โทสะ โมหะ เบาบางลง เป็นการทำทีเดียวได้ผลทุกแง่ทุกมุมครบถ้วน สำหรับเราที่เป็นพุทธบริษัท และก็ตั้งใจบวช เข้ามาบวช ก็ต้องได้สิ่งที่เป็นวัตถุประสงค์การบวช
นี่ ผมก็บอกว่าเรื่องที่จะพูดสำหรับผู้บวชใหม่นี้อยากจะยุติกันไว้แต่เพียงเรื่องนี้ ต่อไปวันหลังถ้ามีเวลาก็จะพูดถึงหัวข้อธรรมะที่เป็นตัวพุทธศาสนาตรงๆ พูดไอ้เรื่องชนิดที่จะใช้มันอย่างไร หรืออะไรกันอย่างไรนี้ก็พอกันที
ฉะนั้น วันนี้ก็พอกันทีเพียงเท่านี้