แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายในวันนี้ ก็อยากจะพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับ ความเป็นบุตรของพระตถาคต ต่อไปอีกในแง่อื่นมุมอื่น เพื่อให้เห็นว่า เราจะเป็นลูกของพระพุทธเจ้าได้ถึงที่สุดอย่างไร? และจะพูดไปในลักษณะที่เป็นเรื่องของการปฏิบัติ ขอให้สังเกตว่าเดี๋ยวนี้เราอ่านกันมาก พูดกันก็มาก ถ้าเทียบกับครั้งพุทธกาลแล้วก็เรียกว่ามากเหนือประมาณ แต่เราก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการที่อ่านมาก หรือรู้มาก หรือว่าได้รับน้อยเกินไปในเมื่อมองดูในฝ่ายที่มันได้ผล แต่ฝ่ายที่เราทำหรือพูดกันนั้นมันมาก ทั้งนี้ ก็ไม่มีอะไรมากนอกไปจากที่ว่าสมัยก่อนเขาทำกันมาก สมัยนี้เขาพูดกันมาก นั่นแหละควรจะคิดดูว่ามันเป็นเพราะเหตุไร? ที่มองเห็นง่ายๆอยู่อย่างหนึ่งก็คือ เดี๋ยวนี้เรามีความเจริญก้าวหน้าในทางที่จะกลบเกลื่อนความทุกข์กันมาก ซึ่งครั้งกระโน้นครั้งโบราณนั้นไม่ค่อยจะมี มีความทุกข์ก็ทุกข์กันขึ้นมาเลยโดยการเป็นอยู่ เดี๋ยวนี้มันมีไอ้เรื่องแก้ไขความทุกข์ หรือว่ากลบเกลื่อนความทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอ้ความทุกข์ทางร่างกายนี้ก้าวหน้ามาก แต่แล้วเราก็ยังมีความทุกข์ในแง่อื่นมากทดแทนกันขึ้นมา เรื่องเกี่ยวกับความทุกข์หรือความสุขนี้มีคำอยู่ ๒ คำที่จะต้องจำไว้เพื่อจะเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ได้ง่าย มีคำ ๒ คำ คือว่า กายิกะ กับ เจตสิกะ /
กายิกะ เป็นไปในทางกาย
เจตสิกะ เป็นไปในทางจิต
กายิกทุกข์ ทุกข์เป็นไปทางกาย
เจตสิกทุกข์ ทุกข์เป็นไปในทางจิต
ตัวหนังสือฟังดูง่ายๆ แต่เข้าใจว่ายังไม่ค่อยจะรู้กันอย่างแท้จริงนัก ไอ้คำพูดเหล่านี้เป็นคำพูดตามหลักธรรมะในพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น คำอธิบายก็จะเป็นของเฉพาะตามหลักพุทธศาสนา กายิกทุกข์ มันหมายถึง ทุกข์ที่เป็นไปในทางกาย คือ เกี่ยวกับทางกาย ไม่มีความยึดมั่น-ถือมั่นในทาง จิตใจ ไม่มีความยึดมั่น-ถือมั่น ทีนี้ เจตสิกทุกข์ หมายถึง ทุกข์ที่ถูกยึดมั่น-ถือมั่น หรือเนื่องมาจากความยึดมั่น-ถือมั่นจึงเป็นทุกข์ ถ้ามันเนื่องจากความยึดมั่น-ถือมั่น ก็หมายความว่า มันยึดมั่น-ถือมั่นแล้ว นี่ เราต้องแยกดู ไอ้ความทุกข์ความเจ็บปวดอะไรที่เป็นไปในทางกายล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับ จิตใจ ที่ยึดมั่น-ถือมั่นมันไม่ทุกข์กี่มากน้อย แต่ถ้ามันเป็นความทุกข์ที่เป็นไปในทางจิต คือ มียึดมั่น-ถือมั่น หรือ อุปทาน แล้ว มันมีความทุกข์มากลึกซึ้ง ทั้งที่ว่าบางทีทางกายก็ไม่ได้มีความเจ็บปวดอะไร มันก็สามารถจะมีความทุกข์ในทาง จิตใจ ได้
ที่ว่าความทุกข์ทางกายนี้ก็ยังแยกเป็น ๒ อย่างคือ ไม่ถูกยึดถือ กับ ถูกยึดถือ เช่น ความเจ็บปวดที่เนื้อหนังของเรา ถ้าเรามี จิตใจ ที่ไม่ยึดถือ มันก็เจ็บปวดเท่านั้นเอง-ไม่มากนัก ถ้ามันยึดถือด้วยแล้วมันก็จะเกินกว่าเจ็บปวด คือ มันจะกลัว มันจะวิตกกังวล มันจะกระสับกระส่าย เดือดร้อนในทาง จิตใจ นั้นมากมาย เข้าใจได้ง่ายขึ้นอีกหน่อย ก็มองดูไปถึงความทุกข์ที่เป็นไปในทางกายของพระอรหันต์ คือ เรารู้กันอยู่แล้วว่าพระอรหันต์ไม่มีความยึดมั่น-ถือมั่น ทีนี้ ถ้าว่าร่างกายของท่านเป็นแผลเป็น มีความเจ็บปวด เป็นฝี เป็นอะไรก็ตาม มันก็มีความเจ็บปวดเท่าที่เป็นในทางกายเท่านั้น แต่ถ้าเป็นแก่เรา-ปุถุชนมีความยึดมั่น มันมากกว่านั้น มันมีความยึดมั่น-ถือมั่นไปหลายแง่ คือ ทุกแง่ที่จะยึดถือได้ คือ มันเป็นไปในความกลัวมากกว่าเหตุ ทีนี้ มันก็เลยมีความทุกข์มากเกินกว่าที่มันจะเจ็บปวดเท่าที่เส้นประสาทมันจะรู้สึก และส่วนใดที่มันเป็นความทุกข์เพราะจิตทำให้เกิดขึ้น-ทำให้รู้สึกขึ้นนี้ มันก็เป็นความทุกข์ที่เป็นไปในทางจิต ที่เป็นไปในทางกายล้วนๆมันก็ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าไปยึดมั่น-ถือมั่นเข้าอีก มันก็กลายเป็นความทุกข์ในทางจิตเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง มันก็เลยขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่าตัว หรืออาจจะมากกว่า ๒ เท่าตัวเพราะว่าความทุกข์ทางจิตมันมากกว่าความทุกข์ความเจ็บปวดทางกายล้วนๆ
นี่ เรารู้จักความทุกข์ว่ามันมีอยู่ ๒ อย่างๆนี้ ไอ้ความทุกข์ทางกายล้วนๆแม้เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังรู้สึก เพราะร่างกายของท่านก็ยังมีความรู้สึก เช่น มันเจ็บ มันไข้ หรือว่ามันเป็นหนอง เป็นแผลเป็น ที่มันเป็นอะไรที่มันรู้สึกเจ็บปวด เป็นความทุกข์ทางร่างกาย แต่ทุกข์นั้นไม่ได้ถูกยึดมั่นด้วย อุปทาน ว่า เป็นความทุกข์ของกู ความเจ็บของกู ความตายของกูอะไร มันก็เลยไม่มีความทุกข์ในส่วนนี้-ในส่วนที่เป็นทางจิต ทีนี้ คนปุถุชนรับเอาไว้ทั้ง ๒ ชนิด ร่างกายก็เจ็บปวดตามธรรมดาของร่างกาย แล้วอีกส่วนหนึ่งก็คือ ยึดมั่น-ถือมั่นในความเจ็บปวดหรือในอะไรๆที่เกี่ยวกับความเจ็บปวด กระทั่งว่าแม้ร่างกายไม่เป็นอะไรเลย จิตใจ มันก็เอาไป เอามาคิด มานึกให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ เป็นความกลัว เป็นความวิตกกังวล เป็นเรื่องของไอ้ความยึดมั่น-ถือมั่นนานาชนิด นี่ เรารู้จักแยกความทุกข์เป็น ๒ อย่างๆนี้ แล้วก็ดูพวกเราในโลกเวลานี้ แล้วก็จะเห็นได้ว่า ที่เป็นความทุกข์ในส่วนร่างกายก็มีไปตามเดิม ตามธรรมชาติที่มันจะพึงมี เจ็บไข้ได้ป่วยอย่างนั้นอย่างนี้ แต่แล้วความทุกข์ทางจิตนี้มันก็มีมากเพราะเรารู้จักยึดถือมาก พูดตรงๆก็ว่า ความไม่อยากตาย ความอยากจะอยู่สนุกสนาน-เอร็ดอร่อยกับสิ่งเหล่านี้มันมีมากกว่าในสมัยโน้น กว่าบุคคลในสมัยดึกดำบรรพ์ เมื่ออยากอยู่มาก-ก็กลัวตายมาก กลัวตายมาก-ก็มีความทุกข์มาก เพราะความอยาก-ความทุกข์นี้มันมาจากความอยาก ทีนี้ เรามีความอยากมากก็มีความทุกข์มาก แล้วก็มีเครื่องมือสำหรับกลบเกลื่อนความทุกข์นานาชนิด ทั้งทางกายทั้งทางใจ ทางกายเราก็มีหยูกยาหรือการกระทำในทางฟิสิกส์ ทางเนื้อหนังอะไรก็ได้ แล้วทางจิตก็มี กระทั่งหยูกยาก็มี เดี๋ยวนี้ ก็มีที่กินให้หยุดความรู้สึกวิตกกังวล แล้วมีการกระทำที่สนุกสนานแม้แต่เป็นลามกอนาจารก็มากลบเกลื่อนไว้ แล้วเราก็ยังฉลาดที่จะสร้างลัทธิหรืออุดมคติที่เป็นเครื่องกลบเกลื่อนความทุกข์ในทาง จิตใจ รวมความแล้วก็ว่า ความทุกข์มันไม่ได้น้อยลงทั้งที่ว่ามีการกลบเกลื่อน การกลบเกลื่อนไม่ใช่การรักษาให้หาย แต่เป็นการหมักหมมเอาไว้ ปัญหามันก็มีมาก
นี่คือ ความแตกต่างระหว่างมนุษย์ในยุคที่เรียกว่า เจริญก้าวหน้า กับ มนุษย์ในยุคที่ไม่เจริญก้าวหน้า ที่มนุษย์ในยุคที่ไม่เจริญก้าวหน้า-ในยุคพุทธกาลหรืออะไรเขาก็มีเรื่องน้อยกว่า แล้วเขายังพูดน้อยกว่า เขายังทำมากกว่า ทำการแก้ไขความทุกข์ คือ ทำมากกว่า แม้พวกที่ไม่มานับถือพระพุทธศาสนา นับถือพระศาสดาองค์อื่นๆในพร้อมสมัยกัน เขาก็ยังทำมากกว่า พยายามมากกว่าที่จะศึกษาหรือปฏิบัติเกี่ยวกับการดับความทุกข์ในฝ่าย จิตใจ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่า ธรรม-ธรรมะ นี้ มันก็เป็นสิ่งที่ต้องการกันมาก คือว่ามีกันอยู่ทั่วไป มีธรรมะอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นคู่ชีวิต จิตใจ เลย เดี๋ยวนี้ เราไม่มีอะไรกันมากถึงอย่างนั้น เพราะว่าเราเริ่มสนใจเรื่องทาง จิตใจ น้อยลง ไปเพลิดเพลินเรื่องทาง วัตถุ มาก พูดได้ว่าเดี๋ยวนี้มันก็มีความลุ่มหลงมาก มีกิเลสมาก-มีความลุ่มหลงมาก แล้วก็หาเรื่องมากลบเกลื่อนไอ้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นก็มากเหมือนกัน ปัญหามันก็เป็นปัญหาที่หมักหมมซับซ้อนหลายๆชั้น นี่ เราพูดถึงโลกทั้งโลกเป็นส่วนรวมแล้วเราก็เทียบส่วน เทียบเปอร์เซ็นต์ดูว่า มีใครสนใจที่จะดับความทุกข์ทาง จิตใจ กันกี่คน ในวงชาวพุทธเราจะมีมากกว่า เพราะว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่รับเอาปัญหาทาง จิตใจ นี้มาจัดการโดยเฉพาะ ทีนี้ ดูคราวเดียวกันทั้งหมดทั้งโลกก็เห็นว่า ส่วนใหญ่นี้มันก็หันหลัง..หันหลังให้ธรรมะกันมากขึ้น มากขึ้น จนคนส่วนหนึ่งหรือส่วนใหญ่ทั้งในโลกนี้ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ ไม่สนใจในสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ หรือแม้แต่สิ่งที่เรียกว่า พระเจ้า เขาสนใจเรื่องปาก เรื่องท้อง เรื่องเนื้อ เรื่องหนัง แล้วเอานี้เป็น พระเจ้า แล้วก็ลองคิดดูว่า ปัญหามันจะเกิดขึ้นอย่างไร? คือ มันไปเอาสิ่งที่มันจะทำให้มนุษย์มันมีความทุกข์ทางใจมากขึ้นนั่นแหละมาเป็น พระเจ้า มาเป็นหลักที่จะยึดถือ แล้วสำหรับทำไปตามนั้นเลย เดี๋ยวนี้ เราก็เห็นได้ว่าสนใจกันแต่เรื่อง วัตถุ จะแก้ปัญหาต่างๆให้ได้ด้วย วัตถุ การศึกษาเล่าเรียนทั้งหมดเป็นเรื่องทาง วัตถุ มันก็เลยเห็นอยู่ชัดเลยว่าแก้ไม่ได้ และยิ่งเลวร้ายลงทุกที คือ จะไปยึดหลักจะแก้ปัญหาทาง วัตถุ เห็น วัตถุ เป็นสำคัญภายในไม่กี่สิบปีนี้นี้ ไม่กี่ชั่วสิบปีครั้งหนึ่ง ครั้งหนึ่งจะมองเห็นได้ว่ามันมาก ที่เราพูดกันว่า ไม่มีคนดี ไม่มีคนดีจะใช้ หรือจะทำงาน หรือจะปกครองประเทศ หรือจะอะไรก็ตาม เพราะคนดีมันน้อยลง น้อยลงนี้ ก็เพราะว่าไปยึดหลักที่ว่าจะแก้สิ่งต่างๆ แก้ปัญหาต่างๆด้วย วัตถุ ไปมุ่งหมายที่จะให้ความเจริญทาง วัตถุ เพื่อให้สิ่งเหล่านี้ช่วยแก้ปัญหา ความเจริญทาง วัตถุ มากขึ้นเท่าใด คนดีก็จะหายไปเท่านั้น คนไม่ดีก็จะเข้ามาแทน เพราะว่า วัตถุ มันมีเสน่ห์ มี อัสสาทะ นี่เรียกโดยบาลีว่า อัสสาทะ สิ่งที่จะมายึดเอา จิตใจ ของคนให้ลุ่มหลงไปโดยไม่รู้สึกนี้ เรียกว่า เสน่ห์ หรือ อัสสาทะ นี้มันมากขึ้น มากขึ้น พออย่างนี้มากขึ้นไอ้คนที่จะเป็นคนดีมันจะน้อยลง น้อยลง มันเป็นเหยื่อของกิเลสไปหมด นี่ ทั้งโลกจะเป็นอย่างนี้ เพราะวิชาทุกแขนงที่เขาสนใจ เขาศึกษากันอยู่เดี๋ยวนี้มันเป็นเรื่องทาง วัตถุ ถ้าไม่ใช่เรื่อง วัตถุ มันก็เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ เรื่องปรัชญา ความคิด ความนึก การคำนวณอะไรที่มันยุ่งเหยิงเพ้อเจ้อ แม้จะเป็นจิตวิทยา เป็นปรัชญาอะไรก็ไม่ช่วยให้แก้ปัญหาทาง จิตใจ ได้ มันมาเป็น บริวารของ วัตถุ เขาใช้วิชาเหล่านั้น เพื่อเป็นบริวารของความก้าวหน้าทาง วัตถุ ทั้งนั้น ที่จริงถ้าเขาขวนขวายไปในทางที่ให้แก้ปัญหาทาง จิตใจ ก็จะทำได้เหมือนกัน เพราะมนุษย์มันฉลาดมากขึ้น แต่แล้วก็ไม่เคยใช้ที่จะเพื่อแก้ปัญหาทาง จิตใจ จนกระทั่งไม่ยอมรับว่าสิ่งที่เรียกว่า จิตใจ นี้มีอยู่ คือ วัตถุ นิยมเขาจะถือหลักว่า จิตใจ มิได้มีอยู่ เป็นไปสุดเหวี่ยงก็อย่างพวก Dynastic Materialism นี่ไม่ถือว่า จิตใจ มีอยู่ มันก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่อง จิตใจ กันเท่านั้นเอง และโลกกำลังเป็นไปอย่างนี้มากขึ้น กำลังจะเป็นไปในลักษณะนั้นมากขึ้น คอยดูไปก็แล้วกัน ที่ยังไม่เป็นคอมมิวนิวต์นั้น ก็เป็นคอมมิวนิสต์อยู่โดยทางวิญญาณ โดยไม่รู้สึกตัวอยู่มากมายแล้ว คือ ไปบูชา วัตถุ - เห็นว่ามีแต่ วัตถุ จิตใจ มิได้มี สิ่งที่เรียกว่า จิตใจ มิได้มี ก็เลยตัดออกไปหมดเลยว่าเรื่องทาง จิตใจ ไม่มี ปัญหาทาง จิตใจ ไม่มี แก้ปัญหาด้าน วัตถุ ได้หมดก็เป็นอันว่ามันหมดกันเท่านั้น จิตใจ มันก็ดีเอง-เป็นสุขเอง เขามีปรัชญาของเขาอย่างนี้ แล้วทั้งโลกก็กำลังเป็นอย่างนี้อย่างโจ่งแจ้ง อย่างโดยอ้อม โดยนั่นบ้าง ก็รวมความว่ามันเป็น โลก วัตถุ บูชา วัตถุ แล้วคนดีก็จะหายากขึ้น เพราะ วัตถุ นั้นเผลอนิดเดียวมันก็ครอบงำ มันมีปาฏิหาริย์อย่างที่ว่า มันมีปาฏิหาริย์อย่างร้ายแรงในตัวมันเอง เผลอนิดเดียวก็ถูกครอบงำทำให้เป็นตรงกันข้ามจากมนุษย์ไป แล้วก็ยากที่คนเราจะไม่เผลอ เพราะสิ่งนั้นมันมีอำนาจเหมือนกับปาฏิหาริย์-ไอ้ วัตถุ นั้น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ นั้นมันมีฤทธิ์เหมือนกับปาฏิหาริย์ เผลอนิดเดียวมันก็พาตัวไป
แล้วทีนี้พูดถึงพวกเราดีกว่า มีกี่คนก็ตามใจจะเหลืออยู่เป็นคนสุดท้ายในโลกนี้ก็ตามใจ ว่าข้อเท็จจริงมันมีอยู่ว่า เราต้องยอมรับว่ามันมีทั้ง วัตถุ และทั้ง จิตใจ เพราะเราถือว่าไอ้เรื่อง จิตใจ นั้นเป็นที่มาของทุกเรื่อง ของ วัตถุ ด้วย เพราะฉะนั้น จิตใจ จะนำ วัตถุ ไป ไม่ใช่ วัตถุ จะนำ จิตใจ ไป พระคัมภีร์ธรรมบท คัมภีร์สำคัญในพุทธศาสนาหน้าแรก-บรรทัดแรก มโนปุพพังคมา ธัมมา พฤติกรรมของมนุษย์มีใจนำหน้า คำว่า ธรรม ในทีนี้ก็หมายถึง พฤติ ของมนุษย์ ที่เกี่ยวกับมนุษย์ มโนปุพพังคมา มีใจไปข้างหน้า คือ ใจนำ นี่ เราพูดถึงเรื่องของมนุษย์ พฤติ ทั้งหลายของมนุษย์ มี จิตใจ นำหน้า-ไม่ใช่ร่างกายนำหน้า แล้วก็ยังมีว่า มโนเสฎฐา มโนมยา มีใจเป็นผู้บังคับบัญชา มีใจเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นมา เพราะฉะนั้น ถ้าใจดี-สิ่งต่างๆก็เป็นไปดี ถ้าใจชั่ว-สิ่งต่างๆก็เป็นไปชั่ว ใจชั่ว ในทีนี้ก็คือ มืดมนไปด้วย อวิชชา สำคัญผิดต่อสิ่งทั้งปวง ถ้าทำผิด-ทำชั่วก็เป็นไปในทางชั่ว แล้วก็จะมี ความทุกข์ ติดตามเหมือนกับ ล้อเกวียนตามเท้าวัวที่ลากเกวียน อุปมาก็แจ่มแจ้งพอจะมองเห็นไอ้ภาพพจน์นี้ได้ ว่ามันจะไม่มีอะไรนอกจาก ความทุกข์ แล้วมันก็จะติดตามเขาไปเหมือนกับล้อเกวียนติดตามเท้าวัวที่ลากเกวียน ทีนี้ก็เป็นอันว่า แยกพุทธศาสนาออกมาจาก วัตถุนิยม มาเป็นเรื่องของ จิตใจ มี จิตใจ เป็นใหญ่ แล้วก็ต้องทำ จิตใจ แก้ปัญหากันที่ จิตใจ เพื่อให้ความทุกข์ต่างๆมันหมดไป แม้แต่ความทุกข์ที่เป็นไป ทางกาย นี้ ก็ต้องแก้ด้วย จิตใจ ด้วย ความทุกข์ทางกาย สมมุติว่าเจ็บป่วยทางกาย เป็นไข้ทางกาย มันก็ต้องกินยา ต้องรักษา ต้องใส่หยูกยา นั้นมันก็ส่วนทางกาย แต่เท่านั้นมันไม่พอ มันต้องรู้จักทาง จิตใจ ให้ไม่ทุกข์ ไม่เป็นทุกข์เพราะไปยึดมั่น-ถือมั่นเพิ่มเข้า ให้มันเจ็บเท่าที่ร่างกายมันเจ็บ ใจอย่าไปพลอยเพิ่มความเจ็บ แม้แต่เรื่องทางกายล้วนๆนี้ถ้าตั้งทำ จิตใจ ไว้ดี ทำ จิตใจ ไว้ดี มันก็เป็นไปในทางดีขึ้น คือ หายเร็วขึ้นเหมือนกัน คือ โรคทางกายล้วนๆแต่ถ้าทำ จิตใจ ไว้ดี และการรักษาทางกายก็มี แล้วการทำ จิตใจ ไว้ดีแล้ว มันก็จะกลับหายดีกว่าไม่ทำ หรือว่าถ้าทำความรู้สึกในใจไว้ไม่ดี ไอ้โรคทางกายที่มันควรจะหายมันก็ไม่หาย เพราะว่ามันเนื่องกันอย่างไม่แยกกันได้ในลักษณะนี้ ทางใจที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับร่างกายนี้ เราเป็นโรคที่ร่างกาย เช่น เป็นโรคปอดนี้มันก็เป็นโรคทางกาย แต่ถ้า จิตใจ ตั้งไว้ไม่ดี คือ กลัว หรือว่ายึดถืออะไรทำนองนี้ มันก็ยากที่จะหาย เพราะมันไปทรมานความรู้สึกทาง จิตใจ มันก็คือ มันไปแบ่งกำลังที่จะรักษาเยียวยาโรคให้หาย เอามากลัว เอามาวิตกกังวล เอามาอะไรเสีย เพราะฉะนั้น ถ้ามี จิตใจ ที่ตั้งไว้ถูกต้องดี โรคทางกายก็หายเร็ว โรคทางจิตก็ไม่มี โรคทางกายก็เป็นยาก เป็นได้ยาก อย่างโรคความดันสูง โรคเบาหวาน โรคอะไรเหล่านี้ แม้แต่โรคหัวใจนี้ มันก็เป็นโรคทางร่างกายโดยเนื้อแท้ แต่ถ้าหากว่า จิตใจ มันวาง,ทำไว้ไม่ดี มันก็เป็นมาก หรือไม่ควรจะเป็นก็เป็นขึ้นมา เป็นแล้วไม่รู้จักหาย กินยามันก็บรรเทานิดหน่อย เล่นตลกกลับไปกลับมากันอยู่อย่างนั้น ส่วนใหญ่ก็จะต้องทำ จิตใจ ให้มันดี แล้วมันจะไม่เป็น แล้วมันจะหายง่าย หายได้โดยง่าย นี้คือ ความต่างกันระหว่างพวกที่ถือว่า วัตถุ เป็นใหญ่ กับ พวกที่ถือว่า จิตใจ เป็นใหญ่
ทีนี้ ก็มาดูถึงพระพุทธเจ้าของเรานี้ ท่านเป็นผู้ที่ถือหลัก มโนปุพพังคมา ธัมมา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงมี จิตใจ นำหน้า มี ใจ เป็นใหญ่ มี ใจ เป็นผู้สร้าง ทีนี้ เราก็ต้องการจะเป็น ลูกของพระพุทธเจ้า จะต้องทำอย่างไร? เอาล่ะ ทีแรกก็ยอมให้ว่าไม่ต้องเชื่อ พระพุทธเจ้าท่านมีอย่างนี้เสมอ ว่าแรกได้ฟัง ได้ยิน ไม่ต้องเชื่อ เอาไปคิด ไปพิจารณา ไปสังเกต ไปทดสอบ กระทั่งไปดูเข้าที่มันเป็นอยู่ในตัวเรา-ในใจของเราจริงๆ จึงค่อยเชื่อ พระพุทธเจ้าท่านพูดว่า ไอ้ต้นตอหรือว่า...ไอ้ต้นตอของทั้งหมดนั้นมันคือ ใจ ทีนี้ ท่านบอกเล่าชี้แจงต่อไปว่า ใจ เป็นอย่างไรจึงจะเป็นทุกข์? ท่านบอกว่าเพราะมีความยึดมั่น-ถือมั่น จิตใจ ไปฝังเข้าไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความยึดมั่น-ถือมั่นว่าเป็น เรา เป็น ของเรา ก็จะต้องเป็นทุกข์ เช่น ความเจ็บนี้ ถ้ารู้จักทำใจให้ไม่ให้ยึดมั่นมันก็เจ็บน้อย หรืออาจไม่รู้สึกเจ็บเลยก็ได้ ถ้าทำจิตให้เป็นสมาธิ ไม่ไปรู้สึกต่อมัน ทีนี้ ไปยึดมั่น-ถือมั่นเข้า เจ็บนิดเดียวก็เป็นเจ็บมาก บางทีไม่ทันเจ็บพอยึดมั่น-ถือมั่นมันก็กลัวขึ้นมาเท่านั้น เช่น กลัวจะเป็นโรคนั้น กลัวจะเป็นโรคนี้ นึกไว้ได้ล่วงหน้าจนเป็นทุกข์ แล้วในที่สุดก็เป็นขึ้นมาจริงๆด้วยลองไปนึกแบบนั้น เราไม่เป็นวัณโรค ไม่เป็นความดันสูงอะไรอย่างนี้ เราไปนึกกลัว ไม่เท่าไหร่จะได้เป็น ที่ว่าไม่กลัวนี้ก็หมายความว่า ไม่กลัวโดยความรู้สึกนะ แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อไม่กลัวแล้วก็ประมาท แล้วก็ไม่ป้องกัน ไม่รักษา ไม่ใช่อย่างนั้น อะไรก็เป็นไปตามเรื่องของมัน-แต่ใจไม่กลัว
ทีนี้ ความที่จะเป็นลูกของพระพุทธเจ้าได้มากที่สุด ก็คือ ทำให้เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านทำ ท่านแนะนำ สั่งสอน และก็ท่านทำให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วเราก็ตั้งต้นด้วยความรู้สึกที่จะไม่ดูถูก-ดูหมิ่น ไอ้คำว่าดูถูก-ดูหมิ่นนี้มันยังซับซ้อนอยู่หลายชั้นนะ เช่นว่า พวกเรามาบวชในพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าด้วยศรัทธาอย่างนี้ แม้ตามธรรมเนียมก็เถอะ นี้ก็เรียกว่ามิได้ดูหมิ่นแล้วในข้อนี้ เราอุตส่าห์เสียสละมาบวชได้ นี้ก็เรียกว่า ไม่ดูหมิ่นพระพุทธเจ้า ไม่ดูหมิ่นความคิด หรือไอ้หลักการ หรือไอ้พระธรรมของพระพุทธเจ้า ในส่วนนี้-ส่วนที่มาบวชนี้ แต่ทีนี้ พอบวชแล้วก็มีเรื่องที่ไม่รู้สึกตัว ให้สังเกตดูเอง แต่ละองค์ แต่ละองค์ ทุกองค์มันมีเรื่องที่ไม่รู้สึกตัว ซึ่งเป็นการดูหมิ่นพระพุทธเจ้าอย่างไม่รู้สึกตัว เราไปสนใจไอ้เรื่องที่พูดได้ว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ต้องการให้สนใจอย่างนี้ ก็มีอยู่มากมายหลายเรื่อง ถ้ามันมีหนังสือวางอยู่ ๒ เล่ม แล้วเราไปจับหนังสือพิมพ์อ่านก่อนที่อ่านหนังสือธรรมะ หรือว่าสิ่งต่างๆที่กระทำกันอยู่นี้ มองดูให้ดีจะเห็นว่าเราทำอย่างดูถูก-ดูหมิ่นพระพุทธเจ้ามากอยู่เหมือนกัน ข้อนี้ ต้องเอาหลักธรรมที่เรียกว่า หลักตัดสินธรรมวินัย เอามาวัดดู มาจับดูว่าอะไรที่ว่ามันเป็น ธรรมวินัย ยิ่งเมื่อดูเป็นในส่วนกว้างๆ ส่วนรวมๆกันนี้จะเห็นว่า ในคณะสงฆ์ของเรานี้ ก็ยังมีอะไรที่ทำไปอย่างที่เรียกว่าเป็นการดูหมิ่นต่อพระพุทธเจ้า คือ ไม่เชื่อฟัง ไม่ตรงตามพุทธประสงค์นี้อยู่มาก มากทีเดียว ไปดูเอาเองก็แล้วกัน มันหมายถึงทั้งหมดนะ ทั้งประเทศ หรือว่าทั้งหลายๆประเทศ จนกระทั่งว่า มันมีพุทธศาสนาแต่ชื่อนี้ในบางประเทศ ทั้งๆที่ว่ามันอยู่ในเครื่องแบบของภิกษุนี้ ขอให้สะสางดูส่วนตัว อย่าให้มีอะไรที่มันเป็นการดูหมิ่นพระพุทธเจ้า เราไปทำอะไรอื่นก่อนที่จะมาทำเรื่องของพระพุทธเจ้า เช่น มีของเล่น ของอะไร หรือว่าของอะไรงมงายอะไรอย่างนี้ มากกว่าที่จะมาสนใจเรื่องธรรมะโดยตรง อย่างนี้เรียกว่า ดูหมิ่นพระพุทธเจ้า หรือบางทีมันก็มากไปถึงกับว่า เนรคุณ นี้มันมากไปกว่า ดูหมิ่น เลย คือว่า เราจะเป็นอย่างไรก็ตามใจ เดี๋ยวนี้ ต้องถือว่าเรามีชีวิตอยู่ด้วยบารมีของพระพุทธเจ้า นับตั้งแต่อาหารการกินที่เราได้ฉันได้กินอยู่ทุกวันนี้ มันด้วยบารมีของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ว่าเพราะเราเดินไปบิณฑบาตแล้วเขาใส่ให้ มันต้องคิดถึงว่าที่เขาใส่ให้นั้น มันด้วยบารมีของพระพุทธเจ้า ทีนี้ เราต้องไม่มองข้ามข้อนี้ แล้วก็ไม่หลบหลู่บุญคุณท่าน ไม่เนรคุณคุณท่าน โดยว่าจะต้องทำตามที่ท่านประสงค์จะให้ทำ คือ วางระเบียบไว้ให้ทำ นี่ เป็นการเริ่มต้นข้อแรกที่ว่า เราจะไม่ดูหมิ่นพระพุทธเจ้า ซึ่งมีความหมายลึกลับซับซ้อนมากไปดูให้ดี แต่สรุปความได้ว่า พอเราทำอะไรฝืนพระพุทธประสงค์ ก็เรียกว่า เราเหยียบย่ำหรือดูหมิ่นพระพุทธเจ้า ไม่ต้องมีใครรู้ เรารู้คนเดียว เพียงแค่เรานึกคิดไปในทางที่ไม่สมควร ก็เรียกว่า ดูหมิ่นพระพุทธเจ้า ทั้งที่เรารู้สึกตัวแล้วก็ยังคิดอย่างนั้นเรื่อยไป ยังปล่อยให้ความคิดไหลไปอย่างนั้นเรื่อยไป ไม่เอื้อเฟื้อ ไม่เคารพพระพุทธเจ้า มันก็กลายเป็น ดูหมิ่นหรือเหยียบย่ำพระพุทธเจ้า นี่คือ สิ่งที่ต้องทำด้วย จิตใจ ที่ละเอียดสุขุม แต่ถ้ามี จิตใจ หยาบแล้วก็มองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ ก็ขอให้มี หิริ โอตัปปะ ให้มี สติ สัมปชัญญะ มีพินิจ-พิจารณาให้มาก อย่าให้มันมีอาการชนิดนั้น ข้อที่ ๑ จะไม่ดูหมิ่นพระพุทธเจ้า แม้โดยไม่รู้สึกตัวก็จะต้องรับผิดชอบ แม้โดยไม่รู้สึกตัว
ทีนี้ ข้อที่ ๒ ก็อยากจะพูดว่า จะทำอะไรขอให้ถามพระพุทธเจ้าก่อน พูดอย่างนี้เด็กๆอาจจะไม่ฟังถูก เพราะบอกเขาถือว่าพระพุทธเจ้านิพพานแล้วจะไปถามที่ไหน? แต่เราโตๆแล้วย่อมฟังถูก เราจะทำอะไรทางกาย ทางวาจา ทางใจลงไปนี้ ให้ถามพระพุทธเจ้าก่อน ถ้าพุทธบริษัท ทั้งฆราวาส ทั้งบรรพชิตถือหลักอย่างนี้แล้วจะมีความสุขกันมากมายกว่านี้ ที่ว่าเราอาจจะถามพระพุทธเจ้าก่อนได้นั้น คือเรา เดี๋ยวนี้เรารู้ เราเรียนมาก สมัยนี้ต้องเห็นได้ว่าเรียนมาก เรียนพุทธประวัติมาก โดยเฉพาะหนังสือ พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ นั้น เสียเวลาอ่านดูสักไม่กี่ชั่วโมงจะรู้จักพระพุทธเจ้า แล้วรู้จักชนิดที่เราอาจจะถามพระพุทธเจ้าได้ทีเดียวว่า สิ่งนี้ควรทำอย่างไร? ทีนี้ มันยังมีอะไรลึกซึ้งไปกว่านั้น นี่พูดไปเดี๋ยวก็หาว่าเป็นเรื่องลัทธิอื่น นิกายอื่น คือ หลักที่ถือว่าในบุคคลทุกคนก็มีพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว ในใจของคนทุกคนมีพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว แล้วก็อธิบายว่า หากแต่ว่าพระพุทธเจ้าของบุคคลบางคนนั้นยังหลับอยู่ พระพุทธเจ้าบางคนนั้นก็ตื่นขึ้นมาบ้างแล้ว แล้วก็ตื่นมาก ถึงตื่นมากที่สุด จนกระทั่ง ตื่นเต็มที่ก็จะรู้เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ คือ รู้จักดับทุกข์ได้ ข้อนี้ต้องนึกถึงไอ้สิ่งๆหนึ่งที่เขาเรียกกันว่า ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีนี้ คือ ธรรมชาติฝ่ายสูงนั้นจะมีอยู่แล้วใน จิตใจ ของทุกคน แต่แล้วมันถูกหุ้มไว้ด้วยความรู้สึกประเภทที่เรียกว่า อวิชชา โมหะ เหมือนมีเปลือกหุ้มไว้ มันเบิกบานออกมาไม่ได้ ต้องมีการทำลายเปลือกนั้นมันจึงจะเบิกบานออกมาได้ นี่คือข้อที่เขาพูดว่าความเป็น พุทธะ หรือ เชื้อแห่งความเป็น พุทธะ หรือ พุทธะ เฉยๆนั้นมีอยู่แล้วในทุกคน ทีนี้ ของบางคนมันส่องแสงไม่ได้เพราะมันมีอะไรหุ้มไว้หลายๆชั้น ของบางคนมัน...เปลือกหุ้มมันหลุดไป หลุดไปตามลำดับ นี่คือ การที่คนบางคนมันฉลาดมาก บางคนฉลาดน้อย บางคนไม่ฉลาด เพราะว่าพระพุทธเจ้าของเขามันยังถูกหุ้มไว้ด้วยเปลือกหลายชั้น คือ อวิชชา โมหะ อะไรของคนนั้น เราถือว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีนั่นแหละ คือ พระพุทธเจ้าในที่นี้ ที่อยู่ในใจ ทีนี้ เราก็มาอ่านเรื่องของพระพุทธเจ้าเพิ่มเติม จนรู้จักแต่ความหมายของคำว่า ผิด ชอบ ชั่ว ดี นั้นมากขึ้นอีกตามทางของพุทธศาสนา เดิมเรามีเชื้อ..เชื้อของความเป็น พุทธะ อยู่ในใจแล้ว ทีนี้ เรามาศึกษาพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น นั่นหละคือ การทำลายเปลือกที่หุ้มพระพุทธเจ้าข้างในของเรานั้น ให้มันหลุดไป หลุดไป หลุดไป มันจะเบิกบานขึ้นมา เบิกบาน คือ รู้ขึ้นมา ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี้จะมีขึ้นมาตามลำดับ นี่คือ พระพุทธเจ้าที่จะคอยตอบเราว่าสิ่งนี้เป็นอย่างไร? ควรทำหรือไม่ควรทำ? นี่ พูดเป็นอุปมามากไปหน่อย หรือว่าเป็นแบบวัดๆวาๆมากไปหน่อย พูดอย่างสมัยใหม่ก็คงจะพูดว่า ให้รำลึกหรือสำนึกถึงความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเสียก่อนแล้วจึงจะค่อยทำอะไรลงไป ก็ถูกเหมือนกัน เป็นอย่างเดียวกัน แต่เดี๋ยวนี้ผมมันอยากจะพูดว่าให้ถามพระพุทธเจ้าเสียก่อน มันเป็นวิธีหรือวิธีการที่ดีกว่า คือ เราจะต้องสำรวม จิตใจ ให้ สะอาด สว่าง สงบ พอสมควรเสียก่อน ถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในใจนี้เราจะถามพระพุทธเจ้านะ เราจะต้องกระทำด้วยวิธีที่จะต้องสำรวม จิตใจ ให้เป็นสมาธิ ให้มีความสะอาด สว่าง สงบมากพอเสียก่อน เพื่อว่าพระพุทธเจ้าข้างในนั้นจะมีทางที่จะส่องแสงออกมา แล้วจึงถามว่าปัญหานี้เป็นอย่างไร? ควรจะทำอย่างไร?
ทีนี้ สิ่งที่เคยศึกษาเล่าเรียนมา ก็มาผนวกกันเข้ากับความรู้สึก ผิด ชอบ ชั่ว ดี ซึ่งเป็นเชื้อของความเป็น พุทธะ ที่อยู่ใน จิตใจ แล้วของคนทุกคน มันก็รวมกัน มันก็ออกมาเป็นคำตอบได้ว่าควรทำอย่างไร? ฉะนั้น ขอฝากไว้ให้ทุกๆคนนี้จำออกไปในอนาคตมันยังมีอีกมาก ถ้าเกิดมีปัญหายุ่งยากใจอะไรขึ้นมา-ขอให้ทำอย่างนี้ ขอให้ทำอย่างที่เรียกว่า จะต้องรอถามพระพุทธเจ้าเสียก่อนจึงจะตัดสินลงไป และสิ่งอะไรที่มันแปลกออกมา แปลกจากที่เคยทำมาก็ต้องถามพระพุทธเจ้าเสียก่อน ว่าจะต้องทำอย่างไร? คือจะควรทำหรือไม่ควรทำ? ที่เป็นปัญหายุ่งยากซับซ้อน ก็ยิ่งต้องใช้เวลานานหน่อยในการที่จะถาม ทูลถามพระพุทธเจ้า ถ้าทุกคนทำอย่างนี้ พุทธบริษัท ไม่มีทางจะทำผิด พุทธบริษัท ไม่มีทางที่จะทำคอร์รัปชั่นหรือทำอะไรต่างๆ แม้ที่สุดแต่ว่าปัญหาที่ฟังดูแล้วไม่น่าจะไปถามพระพุทธเจ้า เป็นเรื่องจะทะเลาะกันกับเพื่อนฝูง ทะเลาะกันกับภรรยา-สามี ความยุ่งเหยิงในครอบครัวเกี่ยวกับผัวๆเมียๆนี้ ถ้าใครทำได้ในลักษณะนี้ก็จะประเสริฐที่สุด พอเราคิดว่าเราจะทูลถามพระพุทธเจ้าก่อน-ก็ไปถาม พระพุทธเจ้าจะบอกคำแรกว่า อดทน และ ให้อภัย นี่ คุณจำไว้เถิด พระพุทธเจ้าจะพูดคำแรกอย่างนี้เสมอ เรื่องต้อง ให้อภัย ต้อง ไม่โกรธ จะต้อง ให้อภัย จะต้อง อดทน นี้เป็นภาษาของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เรื่องมันก็มีไม่ได้ที่เป็นเรื่องร้าย คือ ผลุนผลันมันก็มีไม่ได้ คำตอบคำใหญ่ที่สุด ก็คือ อย่าไปยึดมั่น-ถือมั่น ทีนี้ คำตอบเล็กๆมันก็ออกมาจากคำตอบใหญ่นั้นว่า อย่าโกรธ อย่าผูกโกรธ อย่าถือโทษ ให้ให้อภัย ให้อดทน ให้รอได้ แก้ไขไปด้วยจิตใจที่สงบได้ นี่ พระพุทธเจ้าจะตอบอย่างนี้เสมอ ในเรื่องต่างๆมันก็เป็นไปในทางดี คือ ทางที่จะไม่เกิดความเสียหายขึ้นมา แม้ที่สุดแต่ว่าจะไปตลาด จะไปซื้อของ เอาเงินไปจะซื้อของ ก็ควรจะถามพระพุทธเจ้าเสียก่อนว่าควรจะซื้อไหม? จะไปซื้อรถยนต์ จะไปซื้อตู้เย็น กระทั่งจะไปซื้ออะไรนิดๆหนึ่งก็จะต้องถามพระพุทธเจ้าดูก่อน ขอให้ทำให้จริงๆในเรื่องนี้จะไม่มีผิดพลาด
ทีนี้เรื่องทาง จิตใจ ล้วนๆที่จะปล่อยความคิดเดินไปในแนวนี้ หรือหมกมุ่นอยู่อย่างนี้ หรือว่าทนทรมานอยู่อย่างนี้ก็จะถูกกวาดล้างไปหมด คือ พระพุทธเจ้าจะตอบเราว่า-ไม่ได้ให้เกิดมาสำหรับมีความทุกข์โว้ย อันนั้นต้องบอกไปก่อนเสมอ ไอ้ความยุ่ง ไอ้ความเป็นทุกข์อะไรนี้ ต้องเลือกเอาข้างไม่เป็นทุกข์ ให้ใจคอปกติ เดี๋ยวนี้คนมันโง่ ธรรมชาติไม่ได้สร้างมาเพื่อให้เป็นทุกข์ ไม่ใช่ให้เกิดมาให้เป็นทุกข์ มันก็ไปทำจนกลายเป็นเหมือนกับว่าเกิดมาเพื่อเป็นทุกข์ ทุกข์ไปทุกอย่าง พร้อมที่จะทุกข์ พร้อมที่จะเอามาทุกข์ นิดเดียวก็เอามาทุกข์ให้มันมากขึ้นหลายๆเท่า
ผมขอพูดเป็นคำสรุปเลยว่า ทุกเรื่องขอให้ถามพระพุทธเจ้าก่อน
ข้อที่ ๑ ว่า อย่าดูหมิ่นพระพุทธเจ้าเป็นอันขาด
ข้อที่ ๒ ว่า ถ้าจะมีอะไรเกิดขึ้นแล้วก็ขอให้ถามพระพุทธเจ้าก่อนอย่าเพิ่งไปทำ
นี่ข้อสุดท้ายเพื่อให้สิ่งต่างๆเหล่านั้นมันเป็นไปได้ง่าย เรียกว่า
ข้อที่ ๓ ขอให้เป็นอยู่เหมือนพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด นี่ เดี๋ยวฟังไม่ดีก็จะหาว่าทำให้ยกหูชูหางจองหองจะเป็นพระพุทธเจ้าหรืออย่างไร? ไม่ได้หมายความอย่างนั้น หมายความว่า เรานี้ให้มีชีวิตเป็นอยู่ให้เหมือนพระพุทธเจ้าโดยหลักการให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ นี่ มันดีหลายอย่าง จงพยายามเป็นอยู่ กินอยู่ อะไรต่างๆตามที่เราทราบว่าพระพุทธเจ้าท่านทำอย่างไรนี้ ให้เหมือนกับพระพุทธเจ้าให้มากที่สุดแล้วมันจะแก้ปัญหาต่างๆได้มาก คือ เราจะเกิดความคิดที่เหมือนพระพุทธเจ้าขึ้นมาเอง เราจะเข้าใจ จิตใจ ของพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง แถมเราจะยังจะเกิดความคิดขึ้นมาโดยลำพังเหมือนกับความคิดของพระพุทธเจ้า ได้มากขึ้น ง่ายขึ้น ขอให้ถือหลักว่าเราอยากจะให้มี จิตใจ เหมือนผู้ใด ขอให้มีความเป็นอยู่เหมือนผู้นั้น เราอยากจะรู้เรื่องรู้ความคิดนึกรู้สึกอย่างแท้จริงของผู้ใด ก็อย่างน้อยขั้นต้น ขั้นแรกก็จงเป็นอยู่ให้เหมือนผู้นั้นเอาไว้ก่อน เหมือนที่เรามาบวชนี้ ก็เป็นบรรพชิตมานี้ก็เพื่อจะเป็นอยู่เหมือนพระพุทธเจ้าในอันดับแรกก่อน แล้วเราจะเข้าใจ จิตใจ ของพระพุทธเจ้าได้ง่ายขึ้น ความคิดที่มันจะเกิดขึ้นใน จิตใจ ของเรานี้ จะคล้ายความคิดของพระพุทธเจ้าได้มากขึ้น อันนี้แม้ในทางจิตวิทยาทั่วๆไปสากลก็ดูเหมือนจะถืออย่างนี้ด้วย ให้ใกล้ชิดบุคคลนั้น ให้อยู่อย่างบุคคลนั้น ให้ทำอย่างบุคคลนั้น แล้วเราจะเข้าใจบุคคลนั้นได้ดีขึ้น ทีนี้ เราอย่าเพียงแต่ว่าบวช ใส่เครื่องแบบนักบวช มันต้องทำทุกๆอย่างด้วย ทางกาย ทางวาจา ทางใจให้เหมือน พยายามให้เหมือนจึงจะเรียกว่า เป็นอยู่เหมือนพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ไปอ่านดูในพุทธประวัตินับตั้งแต่ข้อแรกที่มีมากที่สุด มากอย่างไม่น่าเชื่อว่าเป็นคนพูดน้อย จงเป็นผู้มีเสียง-เสียงน้อย ไม่ใช่เรื่องธรรมะอย่าพูด-ไปนอนเสียดีกว่าอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้เรียกว่าเป็นอยู่เหมือนพระพุทธเจ้าไปตั้งแต่ลำดับแรกที่สุดนี้ ฉันอาหารโดยหลักการอย่างพระพุทธเจ้าท่านฉัน คือ ไม่ฉันเพื่อเอร็ดอร่อย ไม่ฉันเพื่อมัวเมา เพื่อเล่นอย่าง ปัจจเวก นี้ จะนุ่งห่มเครื่องนุ่งห่ม จะบริโภคอาหาร จะใช้สอยที่อยู่อาศัย จะใช้หยูกยาบำบัดโรคนี้ ก็ให้มันมีหลักการเหมือนพระพุทธเจ้า ทีนี้ การคิด การนึก การแสวงหา การอะไรต่างๆ ก็ให้มันเหมือนพระพุทธเจ้าเท่าที่เรารู้ แล้วเท่าที่ผมค้นคว้าอยู่ตลอดเวลานี้ อยากจะบอกให้ทราบให้เป็นที่แน่ใจด้วยว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่ตึงเครียด คือ ไม่เคร่ง เรียกว่า ไม่เคร่ง-แต่พอดี ภิกษุสาวกบางพวก บางองค์เคร่งเครียดกว่าพระพุทธเจ้ามาก ภิกษุบางพวกก็หย่อนยานกว่าพระพุทธเจ้ามาก แต่พระพุทธเจ้าท่านจะพอดี เช่น เรื่องฉันนี้จะไม่มาก-ไม่น้อย ท่านไม่ถือให้ฉันน้อย-ฉันพอดี เครื่องนุ่งห่มใช้สอยนี้ก็ไม่ได้ตึงเครียดอย่างนั้นอย่างนี้-อยู่พอดี ถ้าถือตามพระพุทธเจ้าได้ในข้อนี้ เครื่องใช้ ไม้สอย กิน อยู่อะไรต่างๆนี้จะพอดี ไม่ตึงเครียด ไม่เคร่งเครียด แล้วก็ไม่หย่อนยาน นี่ จากข้างนอกที่สุด ไปอ่านเรื่องต่างๆแล้วก็สะสมไว้ จดใส่สมุดโน้ตไว้ ไปพบความเป็นอยู่ของพระพุทธเจ้าอย่างไรบ้าง ก็จดใส่สมุดโน้ตไว้ นานๆก็จะมากพอที่จะสันนิษฐานลงไปเป็นหลัก นี่ เก็บสะสมอย่างนี้ดีกว่า ดีกว่าไปสะสมเรื่องราวอย่างอื่นๆ หนังสือหนังหาตำรับตำราอื่นๆ
ทีนี้ เขยิบขึ้นไปถึงความคิดนึก นี่ เราก็กำลังไกลกันกับพระพุทธเจ้าที่ว่าเรามันเป็นผู้ที่ยังไม่ดับทุกข์ ยังมีความทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้พ้นทุกข์ และก็ชี้ทางแห่งความพ้นทุกข์ ทีนี้ เราก็เดินตามที่พระพุทธเจ้าท่านชี้ เพื่อให้เป็นอย่างพระพุทธเจ้า คือ พ้นทุกข์ หรือ ดับทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านเห็นแก่ผู้อื่นอย่างที่สุด เสียสละความสุขส่วนตัว ทีนี้ เราก็ทำอย่างนั้น นี่ โดยหลักใหญ่ๆเรียกว่าเป็นอยู่อย่างพระพุทธเจ้าท่านเป็น คำบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับธรรมะเหล่านี้ก็มีอยู่ในหนังสือที่เราศึกษาเล่าเรียน นับตั้งแต่หนังสือ นวโกวาท สำหรับ นักธรรมชั้นตรี เป็นต้นขึ้นไป ไปดูก็แล้วกัน แม้แต่เพียงหลักธรรมะหมวดเดียวก็พอ คือ หมวดตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการ นั้น ในหนังสือนวโกวาท ไปเปิดดูหมวด ๘ ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการเท่านั้นก็พอที่รู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านเป็นอยู่อย่างไร เดี๋ยวนี้ เราดูหมิ่นนะ ดูหมิ่นหนังสือ นวโกวาท พูดคงจะไม่มีใครเชื่อว่าดูหมิ่นหนังสือ นวโกวาท ว่าเป็นหนังสือครึคระ มันครึคระจริงในเมื่อเราไม่เข้าใจ ที่เขารวบรวมหลักธรรมะที่ควรจะรู้อย่างยิ่งมาใส่ไว้ให้ครบถ้วน แต่พอเราไม่เข้าใจเราจะเห็นว่าครึคระ พ้นสมัยบ้าง ไม่เกี่ยวกับเราบ้าง นั่นมันอยู่ที่เราไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น ไปดูหลักตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการเสียใหม่ อย่าเห็นว่ามันครึคระนะ ไปทำความเข้าใจจะเห็นว่าไม่มีครึคระ ไม่ล้าสมัย หรือว่าไม่ขัดต่อเหตุผล หรือว่าไม่ใช่สิ่งที่เหลือวิสัยที่จะปฏิบัติได้เลย อันนี้เป็นทางให้เรามีการเป็นอยู่ทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางใจเหมือนพระพุทธเจ้า เป็นข้อที่ ๓
ทีนี้ พอเราทำตัวให้มีการเป็นอยู่เหมือนพระพุทธเจ้า ไอ้ ๒ ข้อข้างต้นมันจะหายไป มันจะหมดปัญหาไป คือ ไม่มีดูหมิ่นพระพุทธเจ้า และจะเป็นการถามพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา หรือยิ่งกว่านั้นก็คือว่ามันจะไม่ต้องถามเลย เพราะว่าเราเป็นอยู่เหมือนพระพุทธเจ้า ความคิดเหมือนพระพุทธเจ้า ความนึกเหมือนพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น มันก็นึกไปในทางเดียวกับพระพุทธเจ้า ปัญหามันก็ไม่เกิดขึ้นจนถึงกับต้องไปถามพระพุทธเจ้า เดี๋ยวนี้ เราตั้งต้นไปตั้งแต่คนที่ยังเป็นปุถุชนที่สุดนี้ ว่าอย่าดูหมิ่นพระพุทธเจ้า ให้นับถือ ให้เคารพ ให้... แล้วก็เรายังไม่รู้อะไรและเราไม่อาจจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เรื่องอะไรเกิดขึ้นจะต้องถามพระพุทธเจ้าก่อนเสมอด้วยวิธีที่ได้พูดมาแล้ว ทีนี้ ตลอดเวลานั้นทั้งหมด ตลอดชีวิตนั้นพยายามเป็นอยู่เหมือนพระพุทธเจ้าท่านเป็นอยู่ ๓ ข้อเท่านี้ก็พอ มันจะกินความไปหมดทุกข้อในการที่จะป้องกันไม่ให้ทำผิดได้ เพราะในการที่จะให้ก้าวหน้าไปในทางของความถูกต้องนี้ คือ สิ่งที่เรียกว่ากระทำ หรือปฏิบัติ-ไม่เพียงแต่พูด คนสมัยก่อนเขาพูดน้อยแต่เขาก็ทำมากก็หมายความอย่างนี้ คนเดี๋ยวนี้พูดมากแล้วไม่ทำเลย หรือทำแต่น้อย หรือว่ามันรู้มาก พูดมาก แต่ว่าไม่รู้ความหมายที่แท้จริง เลยทำไม่ถูก-ได้แต่พูด ชนิดที่ไม่เกี่ยวกับการกระทำ ทีนี้ เราก็มารู้เรื่องการกระทำและก็ไม่ต้องพูดก็ได้ เว้นไว้แต่ว่าอยากจะปรึกษาหารือกับเพื่อนฝูงก็ทำได้เหมือนกัน เพียงปรึกษาหารือไม่ใช่เอามาวิพากษ์วิจารณ์กันเล่นสนุกๆ แล้วก็ตีสำนวนโวหารเพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง จะได้เกียรติว่าจะได้เป็นคนรู้มาก หรือพูดเก่ง หรืออะไรทำนองนั้น อย่างนี้จัดไว้ในจำพวกที่เรียกว่า พูดมากแล้วก็ไม่มีการกระทำ
นี่ วันนี้ก็ตั้งใจจะพูดในแง่นี้ คือ ในแง่ที่จะทำให้เราเป็นลูกของพระพุทธเจ้าได้ง่ายขึ้นด้วยและมากขึ้นด้วย และไปประกอบกันกับแง่อื่นๆที่ได้พูดแล้วมาแต่ต้น โดยหัวข้อที่ว่าจะพูดในเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็น สมณศากยปุตติยะ หรือ พุทธชินโนรส สมตามที่ทุกๆองค์ได้บวชเข้ามาในพระศาสนานี้
เอาละ วันนี้เพียงเท่านี้ที