แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายข้อธรรมะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งกระทำอยู่เป็นประจำวันนั้น วันนี้เปลี่ยนเป็นการตอบปัญหาที่มีผู้ถามค้างคาอยู่เป็นอันมาก ที่จริงการตอบปัญหาข้อหนึ่งก็คือการบรรยายธรรมะข้อหนึ่งนั่นเอง หากแต่ว่าเราไม่ได้บรรยายกันอย่างยืดยาว คงบรรยายเป็นเพียงคำตอบเฉพาะประเด็นที่เขาถาม ผู้ฟังจะต้องกำหนดเอาเองว่ามันเป็นธรรมะข้อไหนอย่างไร
มีผู้ถามว่าการทำให้จิตว่างหรือสุญญตาเกิดขึ้นตลอดไป จำเป็นหรือไม่ที่จะฝึกวิปัสสนาสมาธิ ปัญหานี้แสดงว่าผู้ถาม ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าวิปัสสนาสมาธิ รวมทั้งยังไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าสุญญตาด้วยพร้อมกันไป จึงได้ถามอย่างนี้ การทำให้จิตว่างหรือจิตประกอบด้วยสุญญตาธรรมอยู่เสมอ นั่นแหละคือตัวการทำวิปัสสนาหรือการทำสมาธิ ในที่นี้เขาใช้คำวิปัสสนาสมาธิ เป็นคำที่ถูกต้องที่สุด แต่รู้สึกว่าจะเกินความรู้ของผู้ถาม ผู้ถามไม่ได้มีความรู้ถูกต้องถึงอย่างนั้น ใช้คำไปโดยบังเอิญ แล้วก็ไปตรงกับคำที่ถูกต้องที่สุด ซึ่งไม่ค่อยมีใครใช้พูดกันด้วย คำว่าวิปัสสนาสมาธิมันกลับกันอยู่กับคำที่เขาพูดกันอยู่ตามปกติว่า สมาธิและวิปัสสนา ถ้าไปพูดว่าวิปัสสนาสมาธินั้นมันถูกเกินระดับธรรมดา แปลว่า สมาธิที่ให้เกิดวิปัสสนานี่ถูกอย่างยิ่ง ทำวิปัสสนาสมาธิหมายความว่าทำสมาธิชนิดที่ให้เกิดวิปัสสนา เขาจะต้องฝึกฝนสมาธิชนิดที่ให้เกิดวิปัสสนา และใน เอ่อ, วิปัสสนานั้นเห็นความจริงเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือเรื่องสุญญตานั่นเอง เมื่อจิตเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงแล้ว จิตก็ไม่จับฉวยอะไรไว้โดยความเป็นตัวกูหรือของกู นี่จิตมันจึงว่างจากการจับฉวยเราเรียกว่าจิตว่าง เปรียบเหมือนกับมือของเราถ้าไม่ได้จับอะไรไว้ เราก็เรียกว่ามือว่าง แต่ว่าอย่าไปทำเล่นกับมือว่าง ไอ้มือว่างนั่นแหละมันจะชกเอาเจ็บหรือว่าจะทำอะไรได้ทุกอย่าง ถ้ามือมันไปกำอะไรอยู่หรือไปถูกล่ามถูกมัดเสียมันก็ทำอะไรไม่ได้ ไอ้มือที่ว่างนั้นคือเก่งกล้าสามารถจะทำอะไรได้ดี จิตว่างก็เหมือนกันประกอบอยู่ด้วยสติปัญญาและกำลัง ทำอะไรได้ดีที่สุดแม้กระทั่งในชีวิตประจำวัน แม้กระทั่งที่จะดับกิเลสดับทุกข์ให้เป็นไปเพื่อนิพพาน ฉะนั้นถ้าใครทำวิปัสสนาสมาธิได้ถูกต้องจริงตรงตามตัวหนังสือของคำๆ นี้ นั่นคือการทำให้จิตว่างหรือจิตประกอบด้วยสุญญตา การที่เขาถามว่าการทำให้มีจิตว่างหรือสุญญตาเกิดขึ้นตลอดไปนั้นจำเป็นหรือไม่ที่จะฝึกวิปัสสนาสมาธิ เราก็ตอบว่าจำเป็น เพราะว่านั่นคือการทำให้จิตว่างหรือประกอบอยู่ด้วยสุญญตา
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า ธรรมะสำคัญข้อเดียวที่ควรถือเป็นคติประจำใจคือข้อไหนครับ ถามว่าอย่างนี้ ธรรมะสำคัญข้อเดียวที่ควรถือเป็นคติประจำใจคือข้อไหนครับ คำตอบนี้มีอยู่แล้วในการบรรยายตอนหลังๆ ๔-๕ ครั้งนี้ แต่ถ้าจับใจความยังไม่ได้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าธรรมะข้อเดียวที่สำคัญคือข้อไหน ถามอย่างนี้คล้ายกับถามว่าหัวใจพุทธศาสนาคือข้อไหน คืออะไร ไอ้คำตอบมันตอบได้หลายอย่างหลายๆๆคำแต่ความ หมายเป็นสิ่งเดียว ที่ตอบตรงไปตรงมาด้วยภาษาธรรมดาสามัญก็คือความไม่ยึดมั่นถือมั่น ธรรมะข้อเดียวคือความไม่ยึดมั่นถือมั่น นี่ถือเป็นหลักประจำใจได้ในการปฏิบัติพุทธศาสนา ทีนี้ไอ้ความไม่ยึดมั่นถือมั่นนี่เราก็เรียกอีกอย่างอื่น เรียกอย่างอื่นได้อีกหลายอย่างเช่นเรียกว่า สุญญตาก็ได้ คือความไม่ยึดมั่นถือมั่นเหมือนกัน จะเรียกว่าความปล่อยวางก็ได้ จะเรียกว่าความไม่ปล่อยให้กิเลสเกิดขึ้นในใจก็ได้ เพราะว่าถ้ากิเลสเกิดขึ้นในใจมันก็มีความยึดมั่นถือมั่นอย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับคำถามเช่นนี้อยากจะตอบว่า ความไม่ยึดมั่นถือมั่น มันมีเหตุผลดี เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสเองว่า คำสอนและวิธีปฏิบัติหรือผลของการปฏิบัติก็ตามในพุทธศาสนา สรุปเอาไว้ได้ในประโยคประโยคเดียวว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นมันก็เกิดกิเลสไม่ได้มันก็เกิดความทุกข์ไม่ได้ จึงถือว่าสำคัญที่สุดเพียงข้อเดียว แม้ฆราวาสก็ปฏิบัติธรรมะข้อเดียวข้อสำคัญข้อเดียวนี้ได้ คือเมื่อมีอะไรเข้ามากระทบเราทางตาทางหูอะไรก็ตาม ระวังจิตให้ดีๆ อย่าปล่อยให้เกิดความรู้สึกชนิดที่เป็นความยึดมั่นถือมั่น ถ้าเป็นความยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้นมาในจิตแล้วมันก็คือความโลภบ้างความโกรธบ้างความหลงบ้าง แล้วก็มีผลเป็นความทุกข์ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ฆราวาสระวังไปตามประสาฆราวาส อย่าให้เผลอเกิดความรู้สึกในใจที่เขาเรียกว่าความยึดมั่นถือมั่นหมายมั่นปั้นมือ ให้รู้ว่าสิ่งอย่างนี้มันเกิดขึ้นแล้วเราจะต้องทำอย่างไรก็แล้วกัน ไม่ต้องมีความโลภความโกรธความหลงเกิดขึ้นเพราะสิ่งนั้น อะไรเข้ามาทางตาทางหูทางจมูกนี้ก็มีสติสัมปชัญญะระวังจิตไว้ให้ดีอย่าเพิ่งไปเกิดความรู้สึกที่เป็นรักหรือโกรธหรือเกลียดหรือกลัวหรืออะไรเข้า สำรวมจิตที่ใจอย่าให้เกิดความยึดมั่นชนิดนั้น แล้วก็พิจารณาดูว่าเราควรจะจัดการกับเรื่องนี้ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรานี้อย่างไร ก็ทำไปอย่างนั้น ถ้าเห็นว่าไม่จำเป็นต้องไปยุ่งกับมันก็ไม่ยุ่งกับมันก็แล้วกัน นี่หลักที่จะปฏิบัติเท่ากับฆราวาสทั่วไปเกี่ยวกับความยึดมั่นถือมั่น อย่างนี้ไม่มีความทุกข์เลย มันทำให้เกิดความเฉยได้ในทุกสิ่ง แม้จะมีคนด่ามี มีคนไอ้เบียดเบียนหรือมีคนอะไรก็ตาม มันเฉยได้ไม่ทุกข์ไม่ร้อนแล้วก็รู้ว่าเราจะต้องจัดการอย่างไรกับสิ่งเหล่านั้นหรือกับคนที่มาเบียดเบียนเป็นต้น จะเป็นเรื่องในครอบครัวก็ดีเป็นเรื่องนอกครอบครัวก็ดีอะไรก็ดี ใช้ของแก้เพียงข้อเดียว เครื่องรางเพียงอย่างเดียว คือความมีสติสัมปชัญญะไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ปล่อยให้ความยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้นในจิตใจ เขาถามว่าธรรมะสำคัญข้อเดียวที่ควรถือเป็นคติประจำใจคือข้อไหนครับ ก็คือความมีสติสัมปชัญญะไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด ที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยจะเป็นฆราวาสก็ตามจะเป็นบรรพชิตก็ตาม
ปัญหาของคนต่อไป ทีละคนๆ มีว่า การเรียนจากธรรมชาติควรจะเรียนอย่างไรครับ แล้วจะได้ผลในเวลาเพียง ๑ เดือนหรือครับ เพราะการเข้าใจธรรมชาติต้องใช้เวลามาก นี่เราเห็นได้ว่าผู้ถามรู้สึกว่าจะพักอยู่ที่นี่ ๑ เดือน และมีการแนะให้เรียนจากธรรมชาติ เขาไม่รู้จะเรียนอย่างไร เขาสงสัยว่าเพียง ๑ เดือนนี้จะเรียนไหวไหม เพราะว่าการเข้าใจธรรมชาตินั้นยากมาก มันก็ถูกแล้วตามที่ว่ามันเข้าใจยากมาก เวลา ๑ เดือนอาจจะเรียนรู้จากธรรมชาติได้ไม่หมด แต่จะเรียนได้เท่าไหร่ก็เรียนเอาเท่านั้นก็แล้วกัน เรียนจากธรรมชาติที่มีความหมายหลายชั้น แต่พอจะพูดได้ว่าเราศึกษาให้รู้จักธรรมชาติ คือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่ามันเป็นอยู่ตามธรรมชาตินั้น ไม่มีส่วนที่ควร ที่ใครๆ จะไปยึดถือเอาว่าเป็นเราหรือเป็นของเรา ใจความสำคัญมันอยู่อย่างนี้ ธรรมชาติเป็นของธรรมชาติอย่าไปตู่เอามาเป็นของเรา ทีนี้ข้อปลีกย่อยที่จะเรียนจากธรรมชาติ เช่นว่าธรรมชาตินี้มันดูสิมันสงบ เราหมายถึงไอ้ที่เป็นตามธรรมชาติแท้ๆ ก้อนหิน ต้นไม้ เม็ดกรวด เม็ดทรายอะไรต่างๆ ที่อยู่ตามธรรมชาติ นี้ก็เรียกว่ามันอยู่ด้วยความสงบ ถ้าเราถือเอาความหมายเฉพาะแง่นี้ แง่ที่มันอยู่ด้วยความสงบนี่ ก็มาทำตนให้เป็นอยู่ด้วยความสงบบ้าง มันมีอีกมากมายหลายแง่หรือหลายสิบแง่ที่เราจะดูให้เกิดความคิดจากธรรมชาติ มันเป็นเรื่องปลีกย่อย ตัวเรื่องสำคัญนั้นอยู่ที่ว่าเราจะเรียนรู้เรื่องความสงบหรือธรรมะที่เป็น ไปเพื่อความสงบจากธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้ามาในที่อย่างนี้ ไม่มีไอ้ ไอ้สิ่งที่ผิดธรมชาติ คือสิ่งที่มนุษย์ปรุงแต่งอะไรขึ้นนี้ไม่ค่อยมี เรามาอยู่ใกล้ธรรมชาติอย่างนี้ มันก็แปลกจากที่เราเคยอยู่ที่บ้านหรือที่ ที่ไม่ใช่ธรรมชาติ พอเข้ามาในที่อย่างนี้จิตใจมันเปลี่ยน และความเปลี่ยนของมันนั้นมันเปลี่ยนไปในทางว่าง ซึ่งรู้สึกว่ามันไม่มีความทุกข์ไม่มีปัญหาไม่มีวิตกกังวล ไม่มีอะไรต่างๆ ก็เลยรู้สึกสบายอย่างยิ่ง ทีนี้ก็เรียนจากไอ้ความรู้สึกสบายอย่างยิ่งที่มีอยู่ในใจของเราเรียกว่าเรียนจากธรรมชาติ คือพิจารณาดูให้รู้ว่าทำไมเวลานี้จิตใจของเราจึงสบายมากถึงอย่างนี้ ถ้า ถ้าฉลาดและมองเห็นก็จะรู้ว่า เอ้า, เพราะว่าธรรมชาติเหล่านี้มันทำเกิดความรู้สึกว่างไปในจิตใจของเราลืมตัวกูลืมของกู ที่กลัดกลุ้มอยู่ในใจแล้วก็ไม่สร้างตัวกูของกูขึ้นมาใหม่ ธรรมชาติสอนความสงบสุขที่แท้จริงให้แก่เรา เราเข้าใจ รู้สึกรับเอาความสุขอันนั้นด้วย รู้ความจริงว่าไอ้ความไม่ทุกข์หรือความสุขนี้มันมาจากความไม่มีอะไรเป็นตัวกูไม่มีอะไรเป็นของกู เอาความรู้นี้ติดกลับไปบ้านไปเมือง ว่าถ้ามีตัวกูของกูเมื่อไหร่เป็นมีความทุกข์เมื่อนั้น ถ้าว่างจากตัวกูของกูเมื่อไหร่ก็ไม่มีความทุกข์เมื่อนั้น ทีนี้เราก็ไปทำเสียใหม่ อย่าให้เกิดตัวกูของกู หรือให้เกิดอยู่ในควบคุม เมื่อเกิดเล็กน้อยหรือว่าเกิดแล้ว ขจัดออกไปเสียได้อย่างนี้เรียกว่าเรียนจากธรรมชาติอย่างยิ่งอย่างใหญ่หลวง ถ้าคนมันฉลาดและประเหมาะ คือว่ามีความเหมาะสมอย่างอื่นด้วย มันก็อาจจะถึงธรรมะลึกซึ้งนี้ได้ภายในชั่วโมงเดียวหรือครึ่งชั่วโมง ไม่ต้องถึงเดือน ให้เดือนหนึ่งยังมากไปเสียอีก แต่เดี๋ยวนี้มันไม่มีความเหมาะสมคือคนนั้นมันโง่ หรือมันฉลาดนิดเดียวแล้วก็ไม่มีความเหมาะสมอย่างอื่นอีก มันก็ไม่ได้รับผลอันนี้ อย่างนี้เดือนหนึ่งก็ไม่พอ บางทีหลายเดือนก็ยังไม่มีประโยชน์อะไรอย่างนี้ นี่เราจำกัดเวลาไม่ได้ ถ้าเหตุปัจจัยต่างๆ มันเหมาะสม มันอาจจะใน ๑ นาทีก็ได้ ได้รับคำชี้แจงให้สังเกตในข้อเท็จจริงอันนี้ ภายใน ๑ นาทีเขาเปลี่ยนจิตใจหมด คือเปลี่ยนจิตใจไปในทางที่เกลียดในความยึดมั่นถือมั่นอย่างยิ่ง มันก็มองเห็นความโง่ความหลงความอะไรต่างๆ ที่ยึดมั่นถือมั่น ก็มีความสังเวช เป็น emotion อย่างแรง เปลี่ยนนิสัยเดิมๆ ของเขาได้ คือมันเศร้าหรือมันเกลียดหรือมันสลดหรือมันสังเวชตัวเองอย่างแรงที่มันเคยโง่เคยยึดมั่นถือมั่น มันเข็ดขยาดที่จะไปทำอย่างนั้นอีก ฉะนั้นที่เขาถามว่า เรียนจากธรรมชาติเรียนอย่างไร เรียนอย่างที่ว่านี้ ธรรมชาติมันสอนของจริงให้เกิดขึ้นในใจ และเรียนจากของจริงนั้น ได้ผลแท้จริงดีกว่าเรียนหนัง จากหนังสือจากคำพูดของคนที่พูด สำหรับเวลา ๑ เดือนนั้นไม่แน่ ทำถูกมันก็ไม่ถึงเดือน
คำถามต่อไปมีว่า อธิบายเคล็ดลับและวิธีการเจริญภาวนา การทำสมาธิวิปัสสนาและการฝึกอานาปานสติ อันนี้ไม่ใช่ปัญหา คือเขาขอร้องว่าในการบรรยายทุกวันๆ ๆนั้นขอให้อธิบายเคล็ดลับ และวิธีการเจริญภาวนาการทำสมาธิวิปัสสนาและการฝึกอานาปานสติ ไอ้ ๒-๓ อย่างข้างต้นนั้นอธิบายกันอย่างละเอียดอยู่แล้วจนกระทั่งวันสุดท้าย ส่วนการฝึกอานาปานสตินั้นมันเป็นเรื่องยาวเราไม่มีเวลาพอที่จะอธิบาย แล้วที่ยิ่งกว่านั้นก็คือว่าได้อธิบายไว้เป็นอย่างดีอย่างละเอียดลออทั่วถึงแล้ว ในการพูดแบบนี้เมื่อปีที่แล้วๆ มาเขากำลังพิมพ์เป็นหนังสือออกมาแล้วเรียกว่า หนังสืออานาปานสติภาวนา หรือว่าอีกทีหนึ่ง ก็เรียกว่า บรมธรรมเล่มที่ ๓ ว่าด้วยอานาปานสติภาวนา ใครสนใจก็ไปหาอ่านเอาเอง
ทีนี้ปัญหาต่อไปว่า ผมมีความคิดว่า การดำรงชีวิตแบบสงฆ์และแบบฆราวาสนั้น ถ้าการดำรงชีวิตแบบฆราวาสในกรณีเช่นของผมนี้ คือมีความรู้ทางวิชาชีพบ้าง พอหาเงินในทางที่ถูกที่ควรได้พอสมควร พอเลี้ยงชีวิตในครอบครัวได้ไม่คับแค้น แล้วเราประพฤติตัวดี รู้จักประมาณตนรู้จักว่าของทุกอย่างไม่เที่ยงย่อมมีการเกิดเป็นอยู่แล้วดับไป ไม่เกิดการยึดมั่นในบุตรภรรยาเงินทองและอื่นๆ จนทำให้เกิดความทุกข์อย่างล้นพ้น แต่ย่อมจะมีความทุกข์บ้างตามวิสัยผู้ครองเรือน ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนกับความสุขจากการกินอยู่อย่างสมบูรณ์ แต่ไม่ถึงกับฟุ่มเฟือย ได้รับเอาความ ได้รับความเอาอกเอาใจจากผู้อื่นบ้าง ได้เอาอกอกใจผู้อื่นบ้างซึ่งเป็นวิสัยของบุถุชนทั่วไป ได้ฟังดนตรีไพเราะบ้าง ได้ทานอาหารที่อยากทานบ้าง ซึ่งผิดกับสงฆ์ซึ่งมีความเป็นอยู่อย่างคนตายแล้วทางด้านจิตใจ อยู่ด้วยกาย แต่ทำงานเพื่อศาสนาเพื่อประชาชน รอคอยวันตายของร่างกาย ผมมีความคิดอย่างนี้จะผิดหรือถูก ตามความคิดของท่านอาจารย์ผมไม่ทราบ แต่ผมคิดว่าผมก็มีเหตุผลอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่ด้วยการอ่อนต่อโลกขอให้ท่านอาจารย์ช่วยแนะแนวสำหรับผมและคนระดับผมด้วย ซึ่งอาจจจะยังอ่อนต่อโลกอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ปัญหายืดยาว บางคนฟังแล้วลืมข้างต้นลืมตรงกลาง แต่สรุปความว่า อ่า, เขามีชีวิตอย่างฆราวาส มีความสามารถจะทำอาชีพมีเงินและก็ใช้เงิน มีบุตรภรรยาอย่างฆราวาสผู้ครองเรือน มีสุข เอ่อ สุขบ้างทุกข์บ้างสลับกันไป แล้วก็เรียกว่ามันชดเชยกัน อย่างนี้ก็ยังมีส่วนที่จะได้กินอาหารอร่อย หรือฟังดนตรีไพเราะ ไม่เหมือนพระที่อยู่อย่างตายแล้ว เขาถือว่าความเห็นอย่างนั้นจะเป็นของถูก แต่เขาถามว่ามันจะถูกหรือไม่ถูก ไอ้รายละเอียดที่เขาพูดมานั้นมันก็เป็นเรื่องธรรมดาสามัญของฆราวาส แล้วก็ถูกแล้วตามความหมายของฆราวาส ที่รู้อะไรอย่างฆราวาสเพียงเท่านั้น หมายความว่ายังไม่ได้เป็นกัลยา ฆราวาสชั้นดีหรือฆราวาสชั้นที่จะเป็นพระอริยเจ้า ถ้าได้ฆราวาสอย่างนี้ก็พอจะเป็นพลเมืองที่ไม่ทำความยุ่งยากลำบากได้เหมือนกัน แต่ข้อที่ว่ายอมสุขบ้างทุกข์บ้างชดเชยกันไปอย่างนี้มันไม่น่าดู มันควรจะให้มีความทุกข์น้อยลงๆ ไม่ทุกข์มากขึ้น ถ้าเขาสมัครจะเป็นอย่างนั้นเขาก็ต้องมีวิธีที่จะให้ความทุกข์มันน้อยลง เราอาจจะอยู่ในโลกได้โดยไม่ต้องมีความทุกข์ รู้จักทำจิต ใจไม่ให้มันทุกข์ ชีวิตอย่างฆราวาสนี้ มีคำเปรียบอีกอย่างหนึ่งว่าเหมือนกับ กินปลาอย่าให้ถูกก้างปลา ก็มันยังชอบกินปลาอยู่มันก็กินไปสิ แต่อย่าให้ถูกก้างปลา ชีวิตอย่างโลกๆ อย่างฆราวาสโลกๆ นี้มันเหมือนกับปลาที่มีก้างมาก เมื่อเขาสามารถจะกินปลาได้โดยไม่ถูกก้างปลาก็เรียกว่าถูกต้อง สำหรับความเห็นของเขาที่ว่าพระอยู่ด้วยชีวิตที่แห้งแล้งเหมือนคนตายแล้ว ทำอะไรฆ่าเวลาเพื่อรอวันตายนั้น มันมีความหมาย ๒ อย่าง คำว่ารอวันตายนี้มีมากที่สุดในบาลี ว่าพระอรหันต์อยู่อย่างรอวันตายมีมากมายหลายแห่งในบาลี แต่เขาไม่ได้หมายความว่า อยู่อย่างคนหมดหวังทำอะไรไม่ได้แล้วก็รอวันตาย มันหมายความไปในทางที่ว่าเขาไม่มีตัวตน เสร็จแล้วตั้งแต่เวลานี้คือไม่มีความทุกข์เกี่ยวกับตัวตนเกี่ยวกับชีวิต เสร็จแล้วตั้งแต่เวลานี้ ทีนี้ไอ้ชีวิตที่เหลือมันก็คล้ายๆ กับรอว่าเมื่อไหร่ร่างกายมันจะแตกดับ แล้วเขาก็ทำงานด้วย ด้วยเวลาที่เหลือที่ว่ารอวันตาย ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นในเมื่อตัวเองไม่ต้องการประโยชน์อะไร รอให้เวลามันปิดฉากทางร่างกาย ไอ้ทางจิตใจนี้ปิดฉากแล้วเสร็จแล้ว คือว่าตัวตนตัวกูนั้นมันไม่มีเกิดอีกแล้ว เหลือแต่ร่างกายที่ปราศจากกิเลสปราศจากความทุกข์ปราศจากความเศร้าหมอง ถ้าไม่ทำงานอะไรเพื่อใครมันก็ไม่รู้จะทำอะไร เพราะร่างกายมันอยู่นิ่งไม่ได้ มันเป็นเรื่องของร่างกายไม่ใช่ของคนนั้น แต่คำพูดมันคล้ายๆ กับคนนั้นยังมีตัวตนอยู่ สำหรับรอวันตายอยู่ นี่มันเป็นเรื่องของคำพูดที่จำเป็นจะต้องพูดอย่างนั้น มันไม่มีความรู้สึกกระวนกระวายว่าเมื่อไหร่จะตายเสียทีอย่างนี้ก็ไม่มี เขาเรียกว่าเป็นคนที่อยู่เหนือความตายเสียแล้ว สำนวนที่พูดว่า รอความตายนั้นมีความหมายไม่เหมือนกับที่ชาวบ้านเขารู้สึก เมื่อไม่รู้สึกว่าตายแล้วมันก็ไม่ต้องรอวันตาย ไม่ต้องทำงานแข่งกับความตาย ก็ทำไปตามสบายของ ของร่างกาย หรือของจิตใจส่วนที่เนื่องหรือเกี่ยวข้องกันอยู่กับร่างกายไม่มีตัวกู ที่เขาถามว่าความคิดของผมผิดหรือถูก ตอบว่าถูก เพราะว่าที่จะเป็นฆราวาสอย่างนั้น ตามความหมายของคำว่าฆราวาสทั่วไปมันก็อย่างนั้น อยากสุขแสวงสุข ถึงทุกข์ทนรัน สุขบ้างทุกข์บ้างก็ช่างหัวมัน คำกลอน โอมาร์ คัยยัม ที่สมเด็จกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ท่านแปล ว่าเป็นความรู้สึกของพวกวัตถุนิยม ก็ต้องการจะหาความสุขสนุกสนานเอร็ดอร่อยทางวัตถุจากวัตถุทางเนื้อทางหนัง จึงบอกว่าสุขบ้างทุกข์ก็ช่างหัวมัน เราอยากจะมีความสุขก็แสวงหาความสุข รบสู้กันไป ขอแต่ให้มันได้ดื่มนั่นน่ะ รสของวัตถุนั้นก็แล้วกัน นี่คือฆราวาสแท้ ทีนี้กลัวว่ามันจะไม่เหมือนที่ว่า มันทำไม่ได้ที่จะไม่ให้รู้สึกเป็นทุกข์ ถ้าไม่รู้สึกเป็นทุกข์ก็เรียกว่าถูก หรือทุกข์นิดหน่อยพอชดเชยกันได้กับความสุขที่ได้มามากๆ มันเป็นข้อเท็จจริงที่เรารู้ไม่ได้แน่ ว่าแต่ละคนมันจะทำได้แค่ไหนอย่างไร เลยเหมาๆ เอาว่าถ้าเป็นเรื่องฆราวาสแล้วก็อย่างนั้น สุขบ้างทุกข์บ้างก็ช่างหัวมัน อย่าไปนึกถึงมันมาก
ปัญหาต่อไปว่า ผมอยากทราบว่าคนเราตายแล้วสูญหรือไม่ ถ้าตายแล้ววิญญาณแตกดับลงจริง คนทั่วไปก็จะไม่มีใครทำดีทำผลบุญไว้ต่อไป จะคดโกงจะประพฤติตัวเลวทรามอย่างไรก็ได้ เพราะชีวิตนี้มันสิ้นสุดลงแค่ชาตินี้ จะไปหวังอะไรทำไมในชาติหน้า จะไปหวังนิพพานทำไม เพราะชีวิตคนสั้น กว่าจะบรรลุนิพพานได้ซึ่งเมื่อไหรก็ไม่รู้ อาจจะตายไปโดยที่ยังไม่บรรลุโสดาเลยก็ได้ สู้หาความสนุกทางโลกไม่ดีกว่าหรือ ข้อเดียวมันหลายปัญหา หลายประเด็น คนเราตายแล้วสูญหรือไม่ นี่เขาถามเผื่อๆ ไว้จะพูดในข้อที่ว่าถ้าตายแล้วสูญคือไม่เกิดอีกนั้น คนก็จะไม่ทำความดี จะทำอะไรเอาแต่เพียงในชีวิตนี้ ชีวิตสิ้นสุดเพียงแค่การเข้าโลงหลังจากนั้นไม่มีอะไร ที่จะบรรลุนิพพานก็ยาวนานเกินไป เอาอย่างใกล้ๆ ง่ายๆ หาความสนุกทางโลกไม่ดีกว่าหรือ จะตอบข้อนี้ให้เป็นหลักทั่วไปเสียทีก่อน ว่าคนเราตายแล้วสูญหรือไม่ นี้ปัญหานี้มันคู่กันมากับปัญหาที่ว่าคนเราตายแล้วเกิดอีกหรือไม่ ทั้ง ๒ อย่างนี้มันไม่ใช่ปัญหาที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนเรื่องสุญญตา ให้รู้สึกตามที่เป็นจริงว่า คนหรือกูนี้มิได้มีอยู่แม้ในเวลานี้ (นาทีที่ 36.54-36.59) สุทธัง ธัมมะ สมุปปันนัง สุทธัง สังขาระ สันตะติง คือว่า ธรรมชาติล้วนๆ เกิดขึ้นปรุงแต่งสืบต่อกันไปเท่านั้นเองไม่มีคนไม่มีตัวกู อย่างนี้เขาเรียกว่าที่นี่ก็ไม่มีตัวกู ที่ถูกที่แท้เดี๋ยวนี้เวลานี้ที่นั่งกันอยู่เต็มไปหมดนี่ ไม่มีคนหรือไม่มีตัวกูแท้จริง แต่เรา เราไม่เห็นเราไม่รู้สึกเราไม่บรรลุธรรมะข้อนี้เรายังมีตัวกูอยู่เสมอ ทีนี้ต้องแยกพูดกันคนละทีสิ คือตามข้อเท็จจริงมันไม่มีตัวกูไม่มีคน นั่นแหละข้อเท็จจริงแล้วก็ไม่มีใครตาย เพราะว่าเดี๋ยวนี้มันก็มิได้มีคนอยู่ ฉะนั้นมันก็ไม่มีใครตาย ฉะนั้นปัญหาที่ถามว่าตายแล้วเกิดอีกไหม ตายแล้วสูญไปไหม นี่มันไม่มี ปัญหาอย่างนั้นมีไม่ได้ สำหรับข้อเท็จจริงที่ว่าเดี๋ยวนี้มันไม่ได้มีคนอยู่ไม่ได้มีตัวตนอยู่ มันก็เลยไม่มีเกิดไม่มีตาย นี้มันเป็นปัญหาที่ตั้งขึ้น แล้วตอบไปบนข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ที่ว่ามันมีแต่ธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีคนไม่มีตัวเราตัวเขาตัวใคร เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า การที่ถือ การที่จะพูดว่าตายแล้วเกิดอีกก็ผิด ตายแล้วสูญไม่เกิดอีกก็ผิดเหมือนกัน เพราะว่าไม่ได้มีใครตาย การที่จะมีความเห็นว่าตายแล้วเกิดอีกแน่นอนอย่างนี้ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ เขาเรียกว่า สัสสตทิฎฐิ ตายแล้วสูญเลยว่างไปเลยไม่มีอะไรเหลืออยู่นี่ก็ผิดอีกเป็นมิจฉาทิฎฐิ เรียกว่า อุทเฉจทิฎฐิ ทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นมิจฉาทิฎฐิ ขอบอกให้พวกเราทุกคนรู้ไว้ ถือไว้เป็นหลักที่ถูกต้องอย่าให้เสียท่า หรือเสียเหลี่ยมของพุทธบริษัท ถ้าใครมาถามเราว่าตายแล้วเกิดไหม ตายแล้วสูญเลยหรือ เราบอกว่าที่นี่ก็ไม่มีคน ตอบอย่างนักเลง ตอบอย่างหลัก หลักธรรมะสูงสุดในพุทธศาสนา บอกว่าที่นี่ไม่ได้มีคน ฉะนั้นไม่มีใครตายไม่มีใครที่จะเกิดหรือจะสูญไป ตอบอย่างนี้ไม่มีผิด แม้ผู้ตอบเองก็ไม่เข้าใจ ตอบอย่างนี้ไม่มีผิด ถ้าว่าตายแล้วเกิดอีกก็เป็น สัสสตทิฎฐิ ตายแล้วไม่เกิดอีกก็เป็น อุทเฉจทิฎฐิ นี่ส่วนที่ถูกที่แท้ที่จริงมันเป็นอย่างนี้ ทีนี้ส่วนที่มันเป็นอยู่จริงนั้นมันไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าคนมันไม่รู้คนมันยังโง่อยู่ ในความรู้สึกของคนมันก็ว่ามีตัวตนตัวกูอยู่ที่นี่ แล้วตัวคนหรือตัวตนหรือตัวกูนี่มันจะต้องตายอย่างที่เราเห็นจับใส่โลงกันอยู่ เราก็ถูกจับใส่โลง มีปัญหาว่าหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร จะเกิดอีกหรือว่าจะหมดสิ้นกันเท่านั้น มันก็เลยเกิดขึ้นมาอีกระบบหนึ่ง สำหรับที่จะพูดจะตอบอะไรสำหรับ สำหรับผู้ที่ยังโง่อยู่ ว่าเรามีเราเรามีตัวมีตนเรามีคนเรามีตัวกู อย่างนี้คุณลองคิดดูทีว่าพระพุทธเจ้าท่านจะให้ตอบว่าอย่างไร ท่านก็มาเหนือเมฆตามแบบของพระพุทธเจ้า ที่ไม่มีใครค้านได้ คือจะไม่ตอบลงไปว่า เกิดอีกหรือไม่เกิดอีก แต่จะตอบว่าถ้าเหตุหรือปัจจัยสำหรับให้เกิดอีกมีอยู่มันก็เกิดอีก ถ้าเหตุปัจจัยสำหรับให้เกิดอีกมันไม่มีแล้วมันก็ไม่เกิดอีก นี่ก็ช่วยจำไว้ที ว่าถ้าจะตอบอย่างสำหรับผู้ที่เขามีตัว ตัวตนตัวกู เกิดๆ ตายๆ อยู่แล้วก็ให้ตอบอย่างนั้นมันไม่มีทางจะผิด อย่าใช้โวหารชนิดที่เรียกว่า ยืนยันโดยส่วนเดียว แปลเป็นไทยว่ายืนยันโดยส่วนเดียว เช่นว่าเกิดอีกหรือว่าไม่เกิดอีก ยืนยันโดยส่วนเดียวอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างนี้แล้วมันผิด แล้วก็มีแต่ทางที่จะผิด แล้วก็ผิดหลักของพุทธบริษัท ที่ถือว่าทุกสิ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย คุณก็รู้จักตอบ ถ้าพูดอย่างปรมัตถสัจ คือความจริงที่เด็ดขาด absolute truth เราตอบว่าไม่มีคนโว้ย ไม่มีใครตาย ไม่มีใครอยู่ ไม่มีใครตาย ไม่มีไม่มีเรื่องที่จะต้องตอบว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด แต่ที่มันเป็นอย่างชาวบ้านพูดหรือชาวบ้านรู้สึกเป็นความจริงอย่างสมมติ เขาเรียกว่า relative truth คือ truth ที่ขึ้นอยู่กับเหตุผลของคนธรรมดา หลุบๆ ล่อๆ ได้ยืดหยุ่นได้ตามความรู้สึกของคนธรรมดา อย่างนี้ก็ยังไม่ตอบว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด ยอมรับว่ามีคนมีตัวกูที่จะตาย แล้วที่ว่าจะมาเกิดอีกหรือไม่ก็ตอบว่า ถ้ามันมีเหตุมีปัจจัยสำหรับให้เกิดอีกเหลืออยู่มันก็เกิดอีก ถ้ามันไม่มีเหตุมีปัจจัยสำหรับเกิดแล้วมันก็ไม่เกิดอีก มันลดลงมาเป็นสมมติสัจจะ เพื่อให้คนยึดมั่นในศีลธรรมตั้งหน้าตั้งตาทำความดี เป็นเหตุปัจจัยสำหรับให้เกิดดี ให้เขาทำบุญทำกุศลทำ ที่เรียกกันว่าดี สำหรับจะได้ไปเกิดดีเป็นปัจจัยสำหรับจะได้ไปเกิดดี แต่ถ้าคนบางคนมันเกิดเดินไปสูงกว่านั้น มันก็มองเห็นว่าไม่น่าเกิดโว้ย เกิดดีเกิดชั่วอะไรไม่น่าเกิดโว้ย มันก็ไม่สร้างปัจจัยเหล่านั้นมองเห็นความไม่น่าเกิด ก็เพ่งเล็งไปยังความดับไม่เหลือที่นี่และเดี๋ยวนี้มองเห็นความที่มันไม่มีอะไรที่น่าไปเกิด ต้องการดับสนิทไม่มีส่วนเหลือ ไม่มีเหตุปัจจัยสำหรับไปเกิด ไอ้ความเกลียดการเกิดใหม่นั่นแหละคือปัจจัยอย่างยิ่งที่จะทำให้ไม่เกิด ที่จะทำให้ไม่สร้างปัจจัยสำหรับให้ไปเกิด สำหรับคำถามที่ถามว่า คนเราตายแล้วสูญหรือไม่ ก็ตอบอย่างนี้ ทีนี้มันเป็นปัญหาปลีกย่อยที่เอามาปนกันยุ่งไปหมด คือถ้าว่าคนเขาถือว่าตายแล้วสูญ คนก็ไม่ตั้งใจที่จะทำดี แล้วถ้าตายแล้วสูญจะไปหวังอะไรให้มันมากไปกว่าที่ว่าอะไรๆ สนุกกันได้เดี๋ยวนี้ เอากันเสียเดี๋ยวนี้ดีกว่า นี้คือความคิดที่มันสั้นหรือแคบ เพราะความรู้มันสั้นหรือแคบ ติดอยู่ที่วัตถุนิยมเอาได้เข้าว่า ฉะนั้นรีบเอาเสียเดี๋ยวนี้ เอาๆๆ เอาสิ่งที่แมัว่ามันจะน้อยหน่อย ก็เอาเดี๋ยวนี้ เอาที่นี่ให้มันได้แน่ เขาใช้คำที่ไม่เหมาะสม คือว่าสู้หาความสนุกทางโลกไม่ดีกว่าหรือ ความสนุกทางโลกนั้นมันเป็นของหลอกๆ ไม่ใช่ความสุข คุณช่วยจำไว้สัก ๓ คำว่า ความสนุกนี่มันอันหนึ่ง แล้วความสุขมันอีกอันหนึ่ง แล้วความสงบเย็นมันอีกอันหนึ่ง อย่าให้มันเป็นอันเดียวกัน เราก็มีคำที่จะแบ่งแยกกันอย่างนี้ว่า ความ ความสนุก พวก pleasure amusement อะไรทำนองนี้ มันเป็นความสนุก สูงขึ้นไปจนถึงความสุขเป็น happiness หรือคำอื่นที่ระดับเดียวกัน ทีนี้ความสงบเย็นนั้นเลยไปถึง peacefulness peacefulness หรืออะไรคล้ายๆ นั้นทำนองชั้นเดียวกัน มัน มันเหนือกว่าความสุขตามธรรมดา เพราะว่ามัน มันเล็งถึงไอ้ความสงบเย็นจริงๆ ไอ้ความสุขตามธรรมดานี้มันยังมีอะไรที่หนักๆ อยู่ ฉะนั้นไอ้การหวังเอาความเพียง เพียงความสนุกนี่มันน่า น่าสงสาร ความสุขก็ยังมีทั้งสุขร้อนและสุขเย็น ก็ต้องเอาสุขเย็นสุขที่ไม่ๆๆ ต้องแบกต้องหามต้องทน มันก็เลยเป็นสันติหรือว่านิพพานจึงจะเป็นสุขเย็น สุโขธรรมดานี้ยังไม่ ไม่ ไม่แน่นอน การที่จะมัวหลงใหลในความสนุกอยู่นี้มันก็น่าสงสาร หลักธรรมะแท้ๆ มันก็มีพอสำหรับให้เราได้รับความสุขสงบเย็นในชีวิตนี้ ไม่ต้องพูดถึงตอนตายแล้วก็ได้ให้ลำบากยุ่งยาก ส่วนเรื่องที่จะว่าจะไปประพฤติเลวหรือคดโกง แล้วเอามาแลกเอาความสนุกนี้มันก็ยิ่งโง่ลึกซึ้งลงไปอีก สรุปความแล้วปัญหานี้มันก็ตอบว่า คนตายแล้วสูญหรือไม่ บอกว่าไม่มีคนที่จะตาย แต่ถ้าเขาจะถามว่าไอ้ที่เรารู้สึกว่าเรามีคนมีเราอยู่นี้จะว่าอย่างไร เราก็ว่าถ้าอย่างนั้นต้องถือว่าถ้าเหตุปัจจัยที่จะให้สูญให้ ให้ไม่เกิดอีกมีมันก็ ก็ไม่เกิดอีก ถ้าเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดอีกมีมันก็เกิดอีก แล้วแต่คน คนนั้นมันจะสร้างเหตุปัจจัยชนิดไหน ส่วนที่ว่าหาความสนุกทางโลกไปดีกว่า นี้ก็บอกว่าตามใจสิ ถ้าเห็นว่าดีกว่าก็หมายความว่าคนนั้นมันยังไม่รู้จักอะไร
ทีนี้ปัญหาต่อไปมีว่า ถ้าตายแล้วเกิดวิญญาณก็มีจริงผีสางก็คงมี แต่วิญญาณที่ไหนมาเกิดกันมากมายจนมนุษย์จะล้นโลกอยู่แล้ว ไอ้อย่างนี้มีคนเคยคิด เคยคิดและเคยถามกันมาก ถ้าวิญญาณตัวต่อตัว ถ้าตายแล้วไปเกิดตัวต่ออย่างนี้เรื่อย คนก็จะไม่ ไม่มากขึ้นในโลกมันจะเท่าเดิม มันตัวต่อตัวเรื่อยไป ทีนี้ลืมนึกไปว่าคนคนหนึ่งเกิดมาก่อนจะตายนี้สืบพันธุ์ออกมา ๒-๓ คนหรือหลายคน เอาวิญญาณไหนมาเกิด ถ้ามัน มันมีตัวต่อตัวมันก็ไม่มีใครเกิดขึ้นมาได้ มันต้องมีวิญญาณที่แบ่ง หรือเฉลี่ยมาให้ได้เรื่อยให้เด็กๆ เกิดออกมาได้เรื่อย คนที่เป็นหัวโบราณเขาเชื่อว่า กษัตริย์ทั้งหลายนี่ที่มัน มันมี มีบุญมีวาสนาสูงขึ้น สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายก็มาสูงขึ้นมาเป็นมนุษย์ได้ ตามกฎเกณฑ์ของการเวียนว่ายในวัฏสงสาร สัตว์เดรัจฉานมาเกิดเป็นมนุษย์ได้ ทีนี้มันก็มากพอ นี้มันก็เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่พอจะเห็นกันอยู่แล้ว ถ้าเรียนวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่าไอ้วิวัฒนาการของสัตว์ที่ต่ำต้อย มันก็มาเป็นสัตว์สูงเป็นมนุษย์ มันก็ตอบปัญหานี้ได้ ทีนี้คนที่ไม่เรียนวิทยาศาสตร์มันก็เชื่อตามคติ ที่ได้รับการสั่งสอนมาทางศาสนาว่า สัตว์เวียนว่ายในวัฏสงสารมากเข้ามันดีขึ้นๆ ที่เลวก็เลวไปแล้วมันก็กลับมาดีขึ้นๆ ก็ได้มันก็มีวิญญาณที่มาเกิดเป็นมนุษย์มากขึ้นมากไม่จำกัดเหมือนกัน แต่ว่าการตั้งคำถามอย่างนี้ไม่ใช่คำถามของพุทธบริษัทหรือเกี่ยวกับพุทธศาสนา เราเป็นพุทธบริษัทเราจะไม่มามัวตั้งคำถามแบบนี้ เป็นคำถามไอ้ที่เขาเรียกว่าปัญหาโลกแตกหรือปัญหาเสียเวลา ไม่ใช่เงื่อนต้นของพรหมจรรย์ อย่าไปบ้ากับมัน ตั้งปัญหาว่าที่เกิดอยู่เดี๋ยวนี้ทำอย่างไรจึงจะไม่มีความทุกข์ นี่ปัญหาของพุทธบริษัทมีเท่านี้ ว่าที่มันเกิดอยู่เดี๋ยวนี้ทำอย่างไรจึงจะไม่มีความทุกข์ แล้วก็ศึกษาไปพิจารณาไปว่าทำอย่างไรจึงจะไม่มีทุกข์ ในที่สุดมันก็ไปพบว่า เอ้า, คนไม่มี อย่าไปโง่ว่ากูมีตัวกูมีอย่าเกิดความยึดมั่นถือมั่น แล้วจะเป็นทุกข์ ศึกษาไอ้เรื่องสุญญตาอย่างที่บรรยายมาแล้วตลอดเวลา ไม่มีตัวกูไม่มีคนก็ไม่มีทุกข์ แล้วก็ไม่ต้องตอบว่าวิญญาณไหนมาจากไหน วิญญาณไหนไปเกิดที่ไหน มันเป็นเรื่องบ้าไม่มีประโยชน์ไม่คุ้มแก่เวลา อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ทำอย่างไรจึงจะไม่มีความทุกข์ จนไปถึงที่สุดคือดับไปไม่เหลือ อย่าไปเสียเวลากับปัญหาที่เขาเรียกว่าปัญหาโลกแตก คือว่าพูดกันไปก็ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วก็ไม่มีอะไรจะมาอ้างอิงเป็นหลักฐานพยานหรือมาแฉให้ดูได้ว่ามันจริงอย่างที่พูด ป่วยการ หรือแม้ว่ามันทำได้จริงอย่างที่พูด คือเห็นว่ามัน มันอะไรไปเกิด อะไรเกิดอะไรจริง มันก็ยังเหลือปัญหาที่ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่มีทุกข์มันมาติดที่ปัญหานี้ ทีนี้ปัญหาว่าทำอย่างไรจึงจะไม่มีทุกข์เขาเรียกว่าเป็นปัญหารีบด่วน ปัญหารีบด่วนขนาดว่า ไฟไหม้อยู่ที่ศีรษะของเรา ปัญหาของเราก็ต้องรีบดับไฟ อย่าไปมัวคิดว่า อู้ย, ใครมาจุดโว้ย ใครเอาอะไรจุดโว้ย ใครมาจุดเพราะเหตุใดโว้ย อย่าไปมัวถามอย่างนั้น อย่าไปมัวแก้ปัญหาอย่างนั้น แก้ปัญหาว่าจะดับไฟเดี๋ยวนี้อย่างไร ใครจุดก็ตามใจ มันจะเอาอะไรจุดก็ตามใจ เราจะดับไฟนี้อย่างไร ความทุกข์ที่ได้รับอยู่เดี๋ยวนี้เราจะดับมันเสียได้อย่างไร ก็รีบรู้ในข้อนี้ก็คือดับตัวกูของกู ทีนี้ปัญหาข้อเดียวนี้ยังมีถามต่อว่า ถ้าวิญญาณไม่มี ทำไมในบทสวดมนต์ทำวัตรเช้า เย็น เวลากรวดน้ำ เราพร่ำแผ่ส่วนบุญให้แก่เทวดามารพรหม ซึ่งเป็นลัทธิพราหมณ์อยู่ เราเป็นภิกษุสงฆ์ยึดมั่นในพระรัตนตรัยไม่ควรที่จะเชื่อนอกรีตนอกรอย ควรเป็นเรื่องของชาวบ้านมากกว่า นี้มันช่างคิดช่างสังเกตหรือมันช่างแย้ง นี่ต้องพูดข้อเท็จจริงกันก่อน ว่าบททำวัตรสวดมนต์ที่มีการกรวดน้ำแผ่ให้เทวดามารพรหม ผมเป็นคนแปลเป็นคนจัดให้สวดพิมพ์ให้สวดเพราะฉะนั้นรู้ดี ว่ามันหมายความว่าอย่างไร เหตุผลมันมีอยู่ ๒ อย่าง คือว่าเมื่อเราของเดิมก็มีอยู่อย่างนั้น เขามีความประสงค์อย่างไรเราควรจะทำลายของเขาไหม หรือว่าควรจะเว้นเสียไหม ทีนี้เหตุผลที่ว่ามันไม่ควรจะเว้นนั้นมันมีมาก เพราะว่ามันสวดอย่างนี้กันมาปู่ย่าตายายไม่รู้กี่ชั่วคนแล้ว ทีนี้เรานึกถึงคนโบราณเขาถือว่าเทวดามารพรหมหรือว่าอะไรก็ตามใจนี่ มันล้วนแต่เกี่ยวข้องกันเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายกันมีบุญคุณแก่กันและกัน มันเชื่อกันว่ามีสัตว์ชนิดนั้นคือสัตว์ที่สูงกว่ามนุษย์ มีสัตว์ที่ต่ำกว่ามนุษย์ และเชื่อว่ามีอยู่ในสวรรค์ในเบื้องบนหรือว่าในนรกเบื้องล่างก็ ก็ได้เหมือนกัน เพราะต้องการให้คนไม่เห็นแก่ตัวให้แผ่เมตตา ถ้าเรามีความรู้สึกอยู่ว่ามีอะไรที่ไหนเป็นแผ่เมตตาให้หมดแหละ จะเป็นเทวดามารพรหมข้างบนหรือว่านรกเดรัจฉานข้างล่าง มีหน้าที่ที่จะต้องแผ่เมตตาให้หมด ฉะนั้นไม่ต้องตัดออก ในแง่เมตตา แง่อื่นๆ ยังมีอีกแยอะ เช่นแง่ว่า กตัญญู เขาถือว่าเทวดาฟ้าฝนนี้ นี้มีบุญคุณทั้งนั้นแหละมีประโยชน์แก่มนุษย์ คล้ายๆ กับเดี๋ยวนี้ถือเป็นหลักว่าเราอยู่ในโลกนี้คนเดียวไม่ได้ ต้องอยู่กันมากๆ แล้วทุกคนมีประโยชน์เป็นบุญคุณแก่กัน เพราะฉะนั้นต้องกตัญญูแก่กันและกัน คน คนต่อคนก็มีบุญคุณแก่กัน เทวดาอะไรผีสางนางไม้ก็เผื่อไปว่ามันก็ทำหน้าที่ของมันเป็นประโยชน์แก่คนก็มีประโยชน์แก่กันเป็นบุญคุณแก่กัน เพื่อสร้างจิตใจที่รับรู้รับผิดชอบในการที่ว่ามันจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ฉะนั้นจึงแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลหรือความดีให้ไป เราต้องนึกถึงคนอื่นบ้าง ถ้าเขายังมีความเชื่ออย่างนั้นอยู่ก็ ก็ปล่อยให้เขาเชื่ออย่างนั้นไปพลาง ก็เพื่อความปลอดภัยให้เขามีความตั้งใจอย่างนี้เขาจะได้หายกลัว เขาจะได้มีความสงบสุข ศีลธรรมในข้อเมตตากรุณามันก็จะดี กตัญญูมันก็จะดี คนโบราณเขาถือว่ามีบุญคุณไปหมด ฉะนั้นเขาไม่ล่วงเกินสิ่งใด พวกเจ๊กพวกจีนบางคนเอาทองปิดไม้คาน ไม้คานหาบของที่เขาได้ใช้หาบของจนบ่าบวม ตั้งเนื้อตัวตัวได้เดี๋ยวนี้เป็นอะไร เป็นเจ้าสัว เดี๋ยวนี้เป็นเจ้าสัวเก็บไม้คานอันนั้นไว้ปิดทองบูชาอยู่ นี่มันบ้าหรือมันดี มันเป็นคนดีในหลายแง่หลายมุม เดี๋ยวนี้มันก็ไม่ประมาทมันคิดว่า โอ้, นี่เรามันรอดตัวมาได้อย่างนี้ แล้วก็ถือว่ามันควรจะขอบใจมันมีบุญคุณแก่มันมีบุญคุณแก่เรา เราก็ต้องแทนคุณมันแทนคุณไม้คานทั้งๆ ที่ไม้คานนั้นมันเป็นวัตถุไม่มีชีวิตแท้ๆ เขาก็ยังทำขนาดว่ามันเป็นเหมือนกับเทวดาหรืออะไรองค์หนึ่ง ศีลธรรมในระดับนี้สำคัญมากเหมือนกัน คือคนจะรักใคร่กันจะกตัญญูต่อกันและกันจะไม่ประมาทจะหลายๆ อย่าง ฉะนั้นคุณก็สวดไปก็แล้วกันอุทิศส่วนกุศลให้เทวดามารพรหม เพราะว่าเรายังมีทางที่จะคิดนึกอย่างอื่น คือในแนวของภาษาธรรม มนุษย์คือผู้ที่มีคุณสมบัติอย่างนี้ ไอ้เทวดามารพรหมก็คือผู้ที่มีคุณสมบัติอย่างอื่น ในโลกมนุษย์เรา ถ้ามีคุณสมบัติเหนือกว่ามนุษย์ธรรมดา เขาก็เป็นเทวดาเป็นมารเป็นพรหม แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินนี่ภาษาอินเดียโบราณเขาเรียกว่าเทวดา เทวะ เทโว เทวดา ทีนี้คนที่มีจิตใจสูงกว่านั้นเราก็เรียกว่าพรหม คือมีแต่เมตตากรุณาไม่เบียดเบียนใครไม่ลุ่มหลงในกามารมณ์ เรียกว่าพรหม เป็นคนที่มีอยู่ในโลกนี้ก็ได้ เทวดามารพรหมในภาษาธรรมมันก็มีอยู่จริง แล้วแต่ว่าสภาพของจิตใจนั้นเป็นอย่างไร คนที่กำลังร้อนใจอยู่ก็เรียกว่าสัตว์นรก เราแผ่ส่วนบุญให้เขา คนที่โง่อยู่เรียกว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน เราก็แผ่ส่วนบุญให้เขา คนที่หิวด้วยความโง่นี่ก็เรียกคนเป็นเปรตอยู่ เราก็แผ่ส่วนบุญให้เขา คนขี้ขลาดอย่างยิ่งไม่มีเหตุผลนี่เราก็สงสารเขาแผ่ส่วนบุญให้เขา แผ่ส่วนบุญให้สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย คืออย่างนี้ ที่มนุษย์เสมอกันเอาเหงื่อแลกความสุขอย่างที่นายคนนี้ว่า เอาความสนุกไปก่อนนี่เป็นมนุษย์นี่ก็แผ่ส่วนบุญให้เขา ทีนี้คนที่เขาทำได้ดีบริโภคความสุขความสนุกโดยไม่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำจัดเขาเป็นเทวดาเสียหน่อย แต่เขาก็ยังโง่อยู่บางอย่างเราก็แผ่ส่วนบุญให้เขา ทีนี้ผู้ที่มีจิตใจสูงไม่ลุ่มหลงในกามารมณ์แล้ว อยู่ด้วยธรรมบริสุทธิ์ แล้วก็ยังเป็นผู้ที่มีชีวิตยังมีความยึดถือตัวกูอยู่ด้วยน่าสงสารอยู่บางอย่าง เราก็แผ่ส่วนบุญให้เขา เทวดา มาร พรหม ข้างบนทั้งหมดก็ยังอยู่ในวิสัยที่เราควรจะแผ่ส่วนกุศลให้เขา ฉะนั้นเมื่อคุณจะสวดมนต์และกรวดน้ำอุทิศให้เทวดามารพรหมก็ทำอย่างนี้ ก็ไม่ผิดอะไรไม่เป็นศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาอื่นออกไปได้ ยังเป็นศาสนาของมนุษย์ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดอยู่นั่นเอง มันดีทั้งในส่วนศีลธรรมและในส่วนศาสนา เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้ก็ไม่นอกรีตนอกรอย แล้วก็ไม่ขัดกันกับข้อที่ว่าเราถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะสูงสุด ที่เราไปสงสารเทวดาไม่ใช่เราจะถือว่าเทวดาแทนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่ว่าควรจะเป็นเรื่องของชาวบ้านมากกว่าไม่ใช่หรือ นั้นก็ตอบว่าไม่ ไม่ว่าชาวบ้านหรือว่าชาววัดถ้ายังไม่พ้นจากความทุกข์ ยังดับความทุกข์สิ้นเชิงไม่ได้ก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องทำอย่างนี้อยู่ต่อไป นี่ก็ตอบปัญหาข้อนี้จบแล้ว เวลาก็หมดแล้วยุติกันไว้เพียงเท่านี้ก่อน