แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายวันนี้ จะพูดเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ได้พูดในครั้งที่แล้วมา ให้ติดต่อกันไปจนตลอดเรื่องตามที่มุ่งหมายไว้
ครั้งที่แล้วมาก็ได้พูดถึงเรื่อง ปาฏิหาริย์ โดยมุ่งหมายจะให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ปาฏิหาริย์ ตรงตามความหมายของคำๆนี้ ซึ่งมันมีมากไปกว่าที่เรารู้กันอยู่ทั่วๆไปโดยเฉพาะในภาษาไทย สิ่งที่เรียกว่า ปาฏิหาริย์ นั้นมันเกี่ยวข้องกันอยู่กับมนุษย์ทุกคนอย่างยิ่ง อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเข้าใจความหมายของคำว่า ปาฏิหาริย์ ดีแล้ว ก็จะเห็นด้วยในเรื่องนี้ เท่าที่กล่าวมาแล้วเมื่อครั้งที่แล้วมานั้น ขอให้ทบทวนดูใหม่จนพบความหมายอันแท้จริงของคำๆนี้ว่า สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่มีอำนาจที่จะนำเอาเราไปตามความประสงค์ของสิ่งนั้น หรือของผู้ใช้ ปาฏิหาริย์ นั้น ตัวหนังสือว่า ปาฏิหาริย์ แปลว่า นำไปเฉพาะ แต่ความหมายของมันๆมีว่า นำไปตามความต้องการของผู้ใช้ ปาฏิหาริย์ หรือของสิ่งที่มี ปาฏิหาริย์ แล้วสรุปความหมายคำว่า ปาฏิหาริย์ ก็คือ มันพาเราไปโดยเรายังไม่มีโอกาสจะต่อต้าน หรือไม่รู้สึกตัวที่จะต่อต้าน หรือบางทีก็ไม่สามารถจะต่อต้าน เพราะฉะนั้น คำว่า ปาฏิหาริย์ มันก็หมายถึง สิ่งที่มันจะพาเราไปตามความประสงค์ของมัน ถ้าทำได้ถึงขนาดนั้นเขาจึงจะเรียกกันว่า ปาฏิหาริย์ แล้วก็มีไว้สำหรับคนโง่ เพื่อคนโง่ เพื่อประโยชน์แก่คนโง่ และเป็นที่ชอบใจของคนโง่ และคนโง่ก็ชอบใช้ ปาฏิหาริย์ นี่ จึงรวมความสั้นๆว่า มันเป็นเรื่องสำหรับคนโง่ คนที่ยังโง่อยู่ก็จะกลัว ปาฏิหาริย์ นี้และจะตกอยู่ใต้อำนาจของ ปาฏิหาริย์ และก็นับถือ และก็เลื่อมใส และก็พอใจ และก็อยากจะใช้ด้วย ตัวเองเลยอยากจะใช้ขึ้นมา อิทธิปาฏิหาริย์ ก็ดี อาเทสนาปาฏิหาริย์ คือ การทายใจก็ดี กระทั่งถึงแม้ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ เป็น ปาฏิหาริย์ พวกที่มีผู้ใช้ คือ ต้องมีบุคคล ๒ ฝ่ายและก็ใช้แก่ฝ่ายหนึ่ง
แล้วทีนี้ก็ยังเหลือไอ้สิ่งที่ลึกลับไปกว่านั้นก็คือว่า ปาฏิหาริย์ ที่มันมีอยู่ในตัวสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ สิ่งที่เรียกว่า ธรรม / ธรรมะ หรือ ความจริง จนอยากจะให้จำกันไว้ทุกคนว่า ความจริง เป็นสิ่งที่มี ปาฏิหาริย์ อยู่ในตัวมันเอง ถ้าเราเข้าถึงความจริง ไอ้ความจริงมันจะใช้ ปาฏิหาริย์ ของมันพาเราไปในทางที่ปลอดภัย ส่วน อิทธิปาฏิหาริย์ , อาเทสนาปาฏิหาริย์ นี้มันไม่แน่ และส่วนใหญ่มันก็เป็นเรื่องหลอกลวง คือ เราจะต้องเป็นทาสของมัน เราจะต้องเสียประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้ นี่ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ นี้ ก็ถ้ามันเป็นของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในธรรมอย่างพระพุทธเจ้านี้มันก็ปลอดภัย แต่ก็ยังต้องมีบุคคลเป็นผู้ใช้ และบุคคลเป็นผู้ถูกใช้ คือ รับ ปาฏิหาริย์ นั้น ทีนี้ ถ้าเรายังโง่มากอยู่ เราก็จะตกอยู่ใต้อิทธิพลของไอ้ ปาฏิหาริย์ ที่ต่ำๆลงไป เช่น อิทธิปาฏิหาริย์ เป็นต้น เพราะเราไปเชื่อเข้าหรืออะไรเข้า แล้วเราก็ถูกพาไปในทางที่เรียกว่าเป็น อวิชชา หรือว่า งมงาย ทั้งนั้น
ทีนี้ มาวันนี้ก็อยากจะพูดเรื่อง การเข้าถึง ธรรมะ เข้าถึง ความจริง ให้มากขึ้น โดยให้ไอ้ความจริงซึ่งมี ปาฏิหาริย์ อยู่ในตัวมันเองนั่นแหละ-กระทำแก่เราให้เพียงพอที่จะดับทุกข์ได้ หรือมีประโยชน์ ทีนี้ ก็อยากจะยกตัวอย่างไปตั้งแต่เรื่องต่ำๆให้รู้จักคำว่า ปาฏิหาริย์ หรือความหมายของคำว่า ปาฏิหาริย์ โดยจำกัดความให้ชัดลงไปอีกว่า ปาฏิหาริย์ คือ สิ่งที่มันจะนำจิตใจของเราไปอยู่ในอำนาจของมัน เปรียบเหมือนกับว่าเราถูกซื้อเอาไปโดยเด็ดขาด เราไปเป็นทาส เราไปเป็นสิ่งที่ตกอยู่ใต้อำนาจของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นี่เราเลิกพูดเรื่อง อิทธิปาฏิหาริย์ , อาเทศนาปาฏิหาริย์ , อนุสาสนีปาฏิหาริย์ กันแล้ว จะพูดถึงไอ้สิ่งที่มี ปาฏิหาริย์ อยู่ในตัวมันเอง แม้เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น ธรรมะ เป็นต้น ทีนี้ ก็อยากจะพูดลงมาถึงไอ้วัตถุที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่กับเราเป็นประจำวัน ให้รู้จักคำว่า ปาฏิหาริย์ นั้นมีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า อิทธิพล หรืออะไรทำนองนี้ และมันเป็นได้มาก เป็นได้รุนแรง เราก็เลยเรียกว่า ปาฏิหาริย์ ถ้าเป็นไปอย่างธรรมดาเราก็เรียกว่า อิทธิพล ตามธรรมดาเท่านั้น แต่ถ้า อิทธิพล นั้นมันเป็นมาก เป็นแรง เป็นอย่างเราไม่มีทางจะต่อสู้แล้ว ก็เรียกว่าเป็น ปาฏิหาริย์ ได้เหมือนกัน
ทีนี้ ในทางธรรมะนั้นมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องสุขุม เป็นเรื่องลึกซึ้ง และมุ่งหมายในทางจิตใจ และยิ่งกว่านั้นก็ยังมุ่งหมายแต่เรื่องที่เกี่ยวกับ ความดับทุกข์ ด้วย เรื่องอื่นไม่พูด อะไรที่มันมี ปาฏิหาริย์ แก่จิตใจเรา-เราก็ควรจะรู้จัก สิ่งใดที่เราไปมองเข้าหรือว่าไปเกี่ยวข้องเข้า แล้วมันดึงเอาจิตใจของเราไปหมดนี้ก็เรียกว่า ปาฏิหาริย์ แต่มันจะเหมือนกันทุกคนไม่ได้ เพราะว่าคนเรามันเกิดมาต่างกัน มันมีการศึกษาต่างกัน มีความรู้สึกสูง-ต่ำกว่ากัน แม้จะไม่มากเท่ากับว่าความแตกต่างระหว่างคนกับสัตว์ มันก็เกือบจะน้องๆกันไป ในระหว่างคนบางหมู่บางพวกหรือว่าคนบางคน เพราะฉะนั้น เราจึงจะเห็นบางคนหลงใหลในสิ่งที่คนอื่นไม่หลงใหล นี่ ขอให้มองดูที่ความจริงข้อนี้กันเสียก่อน หรือแม้คนๆเดียวกัน-ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งหรือวัยหนึ่งก็ไม่หลงใหล แต่ในวัยหนึ่งมันก็หลงใหลเอามากๆ เช่น วัยเด็กก็ไม่หลงใหลในเรื่องกามารมณ์มากเท่ากับวัยหนุ่มสาว อย่างนี้เป็นต้น และกามารมณ์นั้นมันก็เพิ่งจะเป็น ปาฏิหาริย์ ขึ้นมาเมื่อคนเรามันถึงวัยที่จะหลงใหล
เรามันก็มีวัฒนธรรมต่างกัน ไอ้คนที่เล่าเรียนมากศึกษามากนั่นแหละจะลำบากมาก เพราะมันมีความคิดละเอียดอ่อนลึกซึ้ง มันคิดได้เก่งกว่าคนที่ไม่มีการศึกษา เพราะฉะนั้น ปัญหาจึงมีมากกว่า ปู่ย่าตายายของเราเคยพูดไว้ว่า รู้มากยากนาน แม้คำว่า รู้มากจะลำบากมาก ยิ่งรู้มากจะยิ่งลำบากมาก จะยิ่งมีปัญหามาก ถ้ารู้น้อยก็ไม่ค่อยมีปัญหาไม่ค่อยลำบาก เพราะคนรู้มากเรียนมาก-มันคิดเก่ง มันจึงทำปัญหากันได้มาก แล้วบางทีก็เตลิดเปิดเปิงเกินไป ยกตัวอย่างง่ายๆเดี๋ยวนี้ เช่น ไอ้ศิลปะที่กำลังมีอิทธิพล ศิลปะใหม่ๆพวกแอ๊บสแตร็คท์ (abstract -ผู้ถอดเทป) พวกอะไรต่างๆนี้ มันมีขึ้นมาได้จากไอ้การศึกษาที่มันมีมากไปทางนั้น แล้วก็เกินจำเป็น ไม่มีอิทธิพลแก่ชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา แล้วก็ไปมีอิทธิพลแก่ผู้ที่ศึกษาแต่ในทางนั้น เข้าใจไปตามแบบที่เขาวางไว้ หรือว่าจำกัดไว้ เรามอบตัวไปเป็นทาสของการตีความหมายอย่างนั้น หรือความลุ่มหลงอย่างนั้น มันก็ลุ่มหลงในอาร์ท (art -ผู้ถอดเทป) คือในศิลปะนั้นอย่างมาก ซึ่งชาวนาชาวไร่เขาจะไม่มีปัญหาอะไรเลย คือว่า ไม่ลุ่มหลงอะไรเลย เพราะฉะนั้น เราจะเห็นหรือจะได้ยินข่าวว่า ไอ้รูปภาพเขียนแบบศิลปะบางแผ่นขาย ๗ แสนปอนด์ จากประเทศฝรั่งเศสไปประเทศอังกฤษเหล่านี้ หมายความว่า คนต้องเป็นทาสของ กิเลส หรือของอะไรที่มันจะเป็นเหยื่อของไอ้ ปาฏิหาริย์ ที่มันมีอยู่ในภาพแผ่นนั้น แล้วก็เฉพาะแก่บุคคลคนนั้น หรือพวกนั้น หรือที่มีความคิดนึก-ศึกษามาอย่างนั้น เอามาขายชาวนา ๕ บาทก็ไม่ซื้อ นี่คือ ความที่มันถลำลึกเข้าไปในอะไรบางอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง เพื่อให้ตัวเองตกหล่มชนิดนี้ มันเหมือนกับขุดหลุมหลอกตัวเอง ฝังตัวเอง ไอ้สิ่งที่ไม่มี ปาฏิหาริย์ ก็กลายเป็น ปาฏิหาริย์ ขึ้นมา
นี่ ดูโลกในปัจจุบันนี้มันเป็นอย่างนี้มากขึ้น เพราะว่ายิ่งโง่เท่าไหร่ มันก็ยิ่งตกเป็นเหยื่อของไอ้ความลำบากมากเท่านั้น แล้วยิ่งฉลาดมาก ก็ยิ่งโง่ได้ลึก ขอให้เปรียบดูด้วยตัวอย่างที่ว่ามานี้ นี่ เราก็มัวแต่ก้าวหน้ากันแต่ในทางอย่างนี้ คือ ฉลาดมากสำหรับจะโง่มาก ก็คือ เป็นเหยื่อของไอ้สิ่งที่เราทำขึ้นเพื่อหลอกตัวเอง ปาฏิหาริย์ อย่างนี้เรียกว่า น่าอันตราย น่ากลัว น่าหวาดเสียว! มันไม่ใช่ตัววัตถุล้วนๆเป็น ปาฏิหาริย์ มันเป็น ความโง่ ของมนุษย์เองที่ฝังอะไรลงไปในวัตถุนั้น ทำให้วัตถุนั้นกลายเป็นมี ปาฏิหาริย์ มีค่า มีอะไรขึ้นมา และก็กระทำแก่มนุษย์เหล่านั้นให้ลำบากมาก ถ้าอย่ามีเรื่องนี้-มันก็ไม่มีเรื่องอะไร มันก็ยังอยู่สบายหรือว่าอยู่ง่ายๆไปตามประสาธรรมชาติ ทีนี้ เราไปทำไอ้เรื่องอย่างนี้ขึ้นมา ขนาดยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น เราก็ต้องลำบากมากยิ่งขึ้น แล้วสิ่งนั้นก็ไม่ให้ความสุขอันแท้จริง นอกจากความสุขที่มาจากความโง่ คือ เมา! เมา แล้วก็ต้องรู้สึกเป็นสุข ไม่ว่าอะไรถ้าว่าเกิดเป็น เมา ขึ้นมาแล้วต้องรู้สึกเป็นสุข จะเมาเหล้าหรือเมาอะไรก็สุดแท้ มันจะรู้สึกเป็นสุข เมากามารมณ์ก็ตาม หรือเมาไอ้ศิลปะ-ศิลปินที่เขาประดิษฐ์ให้มันลึกลงไป แล้วสร้างความนิยมขึ้นมาได้สำเร็จนี้ ก็เรียกว่า เมา เดี๋ยวนี้โลกเราก็กำลังถูกครอบงำโดยอิทธิพลหรือ ปาฏิหาริย์ ของสิ่งชนิดนี้
ทีนี้ ย้อนมาดูตามธรรมชาติ-ธรรมดาบ้าง ก็จะเห็นว่ามันก็มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน และก็ต่างๆกัน ยกตัวอย่างเช่น ดอกไม้ ไอ้เราก็ชอบดอกไม้ พอเห็นเข้ามันก็มี ปาฏิหาริย์ แก่จิตใจของเราเสียแล้ว นี่ ว่าถึงคนทั่วๆไป คนธรรมดาสามัญทั่วๆไปเห็นดอกไม้ที่เราชอบมันก็มี ปาฏิหาริย์ เหนือจิตใจเราแล้ว แล้วมันยังแตกต่างกันไปตามความหมายของดอกไม้หลายๆชนิด ที่เราไปให้ความหมายแก่มันโดยไม่รู้สึกตัว แล้วมันก็พอดีกันด้วยกับที่ธรรมชาติมันก็สร้างมา เราไปเพิ่มให้อีก ความหมายนั้นก็มีมาก และก็แตกต่างกัน เช่น เราเห็นดอกกุหลาบ เราเป็นคนชอบดอกกุหลาบ มันก็มี ปาฏิหาริย์ แก่จิตใจของเรา ให้รู้สึกไปทำนองใดทำนองหนึ่ง แต่พอเราไปเห็นดอกบัว รูป และกลิ่น และสีอะไรของดอกบัวมันทำให้เกิด ปาฏิหาริย์ แก่จิตใจของเราไปในอีกทางหนึ่งก็ได้ เช่น ดอกกุหลาบ-ส่งเสริมความรู้สึกเป็นไปในทางเพศ แต่ดอกบัวส่งเสริมความรู้สึกไปในทางไม่เกี่ยวกับเพศ หรือจะให้ห่างไกลไปจากเพศ นี่ จนกระทั่งดอกไม้บางชนิด เช่น ดอกลำเจียก ดอกลำดวน อย่างนี้ไปดมเข้า มันรู้สึกแปลกกว่าที่จะไปดมดอกพิกุลหรือดอกจำปา บางชนิดทำให้เกิดความรู้สึกไปในทางเพศไม่มากก็น้อย บางชนิดไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกทำนองนั้น นี้แปลว่าไอ้สิ่งเหล่านี้ที่แวดล้อมเราอยู่มันก็มี ปาฏิหาริย์ แต่เป็นเรื่องละเอียด แล้วเราก็ถูกครอบงำ ทีนี้ ตรงกันข้ามมันทำให้มี ปาฏิหาริย์ ที่ทำให้เราทนอยู่ไม่ได้ กระสับกระส่าย คือ ที่มันเหม็น ที่มันมีกลิ่นเหม็น มีรูปร่างน่าเกลียด ไอ้ที่มันมีกลิ่นหอม มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกไปอีกทาง แล้วมันก็ยังเปลี่ยนแปลงไปตามความรู้สึกของคนเราที่โง่มาก-โง่น้อย ยึดถือมาก-ยึดถือน้อย ตีความหมายเก่งหรือตีความหมายไม่เก่ง ตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้เรามันถลำลงไปในทางที่จะเป็น ทาส ของสิ่งที่มี ปาฏิหาริย์ เหล่านี้ แล้วเราจึงติดในสิ่งต่างๆเหล่านี้ ตามมาก ตามน้อย ตามแต่บุคคล ไม่เหมือนกันทุกคน บางคนมีจิตใจกระด้าง จนดอกไม้ที่สว ยที่หอม ที่อะไรก็ไม่ทำให้เขารู้สึกหวั่นไหวอะไรได้ หรือว่าเขามีความโง่มากถึงขนาดที่ไม่รู้ความหมายของมัน แล้วก็ไม่มีอิทธิพลต่อใจของเขา ไอ้เรานี่มันไปโง่ที่จะให้สิ่งเหล่านั้นมันมามีอิทธิพลเหนือจิตใจของเรา มันก็เลยมีความหมายที่ยังให้เกิดความยินดี-ยินร้าย ภาษา ธรรมะ เขามีอยู่ ๒ คำเท่านั้น ยินดี กับ ยินร้าย คือ ชอบ กับ ไม่ชอบ ภาษาบาลีก็ว่า อพิชชา คำหนึ่งนี้ คือว่า ชอบ หรือ โทมนัส อีกคำหนึ่ง คือ ไม่ชอบ
ภาษาธรรมะโดยตรง ๒ คำนี้มีความหมายอย่างนี้ โทมนัส คือ ไม่ชอบ อพิชชา คือ ชอบ สิ่งต่างๆมันมีอิทธิพลแก่จิตใจของเรา ๒ อย่าง คือ ให้ชอบหรือให้ไม่ชอบ และมันก็เป็นแรง มันเป็นถึงขนาดมี ปาฏิหาริย์ คือ ให้เราไม่ชอบขนาดหนัก หรือว่าชอบขนาดหนัก ส่วนที่ชอบก็ยังชอบต่างๆกันโดยความหมายอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น แต่รวมแล้วก็เรียกว่า ชอบ ส่วนที่ไม่ชอบก็มีความหมายต่างๆหลายอย่าง แต่รวมกันแล้วก็เรียกว่า ไม่ชอบ พอจิตใจของเราไหวไปในทาง ๒ ทางนี้แล้วก็เรียกว่า เราพ่ายแพ้แก่สิ่งนั้น แล้วเราจะพ่ายแพ้มากขึ้นในเมื่อเรามีความยึดมั่นมากขึ้น หลงใหลมากขึ้น เพราะมีความยึดมั่นในค่าของสิ่งเหล่านั้น เป็นความต้องการอย่างนั้นอย่างนี้ ของสวยของงามเหล่านี้ไม่มีค่าสำหรับไอ้คนที่ไม่รู้จักสวยจักงาม เขาก็รอดตัวไปอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่เราก็ประณามเขาว่า ป่าเถื่อน ทีนี้ สัตว์เดียรัจฉานก็ยิ่งแล้วเลย จะไม่รู้จักค่าของไอ้ดอกกุหลาบ หรือดอกบัว หรือดอกจำปี จำปา หรือดอกอุตพิดเหมือนกับมนุษย์รู้ มันก็เลยไม่มีปัญหา มันก็รอดตัวไป
เดี๋ยวนี้ มนุษย์เรามีปัญหามากขึ้น ความที่เรามันฉลาด คิดให้มันมากขึ้น ละเอียดมากขึ้น ให้ความหมายเก่งขึ้น กระทั่งให้ความหมายไอ้เส้นขีดๆยุ่งๆ เป็นภาพที่ดี ที่มีราคาและยืนดูกันเป็นวันๆ เป็นต้น นั้นก็เรียกว่า ถูกสิ่งนั้นซึ่งมี ปาฏิหาริย์ -ใช้ ปาฏิหาริย์ เอาแล้ว เข้าแล้ว หรือว่าโดยบุคคลคนใดคนหนึ่งก็ใช้ ปาฏิหาริย์ ทางไอ้สิ่งที่ประดิษฐ์นั้นขึ้นมา นี่ มันคล้ายๆกับว่า ดอกบัวมี ปาฏิหาริย์ แก่จิตใจของเรา ดอกกุหลาบมี ปาฏิหาริย์ แก่จิตใจของเรา ดอกไม้ที่เหม็นก็มี ปาฏิหาริย์ แก่จิตใจของเรา ทำนองเดียวกันนั้น ด้วยเราสร้างความหมาย-ค่าของมันขึ้นมา นี่เป็นเรื่องทางธรรมะหรือหลักเกณฑ์ทางธรรมะ เราไปให้ค่าแก่มัน แล้วเราอยากในสิ่งที่มันมีค่า คำพูดหรือหลักเกณฑ์อันนี้ก็คล้ายๆกับเรื่องวิชาเศรษฐกิจนั้นแหละ ไอ้สิ่งที่มันมีค่าขึ้นมาก็เพราะว่ามันตรงกับความอยากของคน ความต้องการของคน มันจึงมีค่าขึ้นมา พอมันมีค่าขึ้นมามันก็มี ปาฏิหาริย์ แก่จิตใจของมนุษย์ แต่นั้นมันเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องเงิน เรื่องของสังคม เป็นเรื่องโลกๆ
ทีนี้ ไอ้เรื่องทางธรรมก็เหมือนกัน พอจิตใจมันไปหลงทำให้เกิดค่าขึ้นมา แม้ไม่เป็นเรื่องจริงมันก็มีค่าขึ้นมา ถ้าลองมีความหลงมีความต้องการแล้ว-มันก็มีค่า มันก็เลยเป็นเรื่องที่จะให้เกิดไอ้สิ่งที่เรียกว่า ตัณหา คือ ความต้องการด้วยอำนาจของความโง่ มันก็มี อุปาทาน ความยึดมั่น-ถือมั่น แล้วก็มีความทุกข์อย่างที่ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้ นี่ก็เรียกว่า ปาฏิหาริย์ ของอารมณ์ ที่จะเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางจิตใจ แต่ส่วนใหญ่ก็มีอยู่ข้างนอกนี่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้ เป็นที่อันตรายมาก เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านั้นมันมี ปาฏิหาริย์ เหนือมนุษย์ แต่เป็นไปในทางที่จะให้มี ความทุกข์ ทีนี้ ก็มีสิ่งหนึ่ง ส่วนหนึ่งประเภทหนึ่ง ที่ตรงกันข้าม คือ พระธรรม หรือ ธรรมะ หรือ ความจริง มันมี ปาฏิหาริย์ อยู่ในตัวมันเอง ที่จะดึงคนออกมาเสียจากความหลงใหลในสิ่งที่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องหันหน้าไปหา ธรรมะ คือ หา ความจริง ซึ่งก็มี ปาฏิหาริย์ อย่างยิ่งอยู่ในตัวมันเอง พอที่จะดึงเราหลุดออกมาได้จากความผูกพันของไอ้สิ่งที่มี ปาฏิหาริย์ ในมายา หลอกลวง คือ จะดึงไปหาความทุกข์ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องมีการฝักใฝ่ข้างฝ่าย ธรรมะ หรือ ความจริง นี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านแนะวิธีไว้ให้ว่าจะเข้าถึงได้อย่างไร? จะมีได้อย่างไร?
ทีนี้ ก็มาถึงคำพูดที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆว่า ธรรมะนั่นแหละ คือ พระพุทธเจ้า ไม่ใช่บุคคลที่พูดได้ เดินได้ ยืนได้เป็นพระพุทธเจ้า แต่ว่า ธรรมะ ที่ทำความดับทุกข์ได้นั้นเอง เป็นพระพุทธเจ้า -ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ที่ไม่เห็นธรรมไม่มีทางจะเห็นเรา แม้ว่าจะเกาะแข้งเกาะขาเกาะแขนเราอยู่ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่า ธรรม นี้มันคืออะไร? ก็เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาต่อไป
พอมาถึงตรงนี้ก็อยากจะพูด ..ก็อยากจะนำเอาพระพุทธภาษิตที่สำคัญอยู่ข้อหนึ่ง คือ ตรัสว่า
มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง
ให้มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง
พูด ๒ ที ใช้คำว่า ตน ทีหนึ่ง ใช้คำว่า ธรรม ทีหนึ่ง
ที่เราได้ยินแต่ว่า มีตนเป็นที่พึ่งแก่ตน นั้นมันครึ่งเดียวนะ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตรัสครึ่งเดียวอย่างนั้น แต่เรามักจะได้ยินกันเพียงครึ่งเดียว ในบาลีที่มีหลักฐานจะเต็มบริบูรณ์ว่า มีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นที่พึ่ง คือ มี ธรรม เป็นที่พึ่ง
ทีนี้ ตนนี้มันมี ๒ ตน คือว่า ตนมายา ตน-ในที่ กิเลส เข้าใจว่า ตน นั้นตนหนึ่ง ทีนี้ ไอ้ ตน ที่พระพุทธเจ้าเอามาใช้แทนคำว่า ธรรม ให้เป็นคำเดียวกับคำว่า ธรรม นี้มี ตน เป็นที่พึ่งก็คือมี ธรรม เป็นที่พึ่ง มี ธรรม เป็นที่พึ่งก็คือมี ตน เป็นที่พึ่ง ไอ้ ตน อย่างนี้มันหมายถึง ธรรม พูดให้ฟังง่ายๆจำง่ายๆก็คือว่า ถ้าเราอยากจะมีตน มีตัว มีตนกันบ้างแล้วก็ขอให้ถือเอา ธรรม เป็น ตัวตน อย่าเอาร่างกายและจิตใจนี้ว่าเป็น ตัวตน ทีนี้ ให้มี ธรรม เป็นที่พึ่งก็เท่ากับมี ตน เป็นที่พึ่ง มี ตน เป็นที่พึ่งเท่ากับมี ธรรม เป็นที่พึ่งนี้มันเนื่องกัน มันแยกออกจากกันไม่ได้ คือว่า ต้องทำตนให้ถึงธรรม ให้ธรรมนั้นเข้ามาเป็นตน จะพูดอันไหนก่อนก็ได้ จะต้องทำ ตน นี้ให้มันเป็น ธรรม ให้ทำธรรม ธรรม นั้นแหละให้เป็น ตน แล้ว ตน นั้นน่ะก็จะเป็นที่พึ่ง แล้ว ธรรม นั้นแหละจะเป็นที่พึ่ง
ทำ ตน ให้เป็นที่พึ่งแก่ ตน อย่างไร? นี่เรื่องของชาวบ้านก็ต้องพูดในทำนองว่า เราต้องช่วยตัวเอง ต้องทำงานเอง ต้องหาเงินเอง ต้องอะไรเอง นั่นภาษาชาวบ้านก็จะเป็นอย่างนั้น ที่ว่า ทำตนให้เป็นที่พึ่ง แต่ในภาษาธรรม หรือเป็นเรื่องในทางธรรม ทำตนให้เป็นที่พึ่ง นั้นคือ การทำตนให้เห็นธรรม ระบุชัดลงไปเลยว่า ให้พยายามปฏิบัติจนเห็นตามที่เป็นจริงว่า ความ ยึดมั่น-ถือมั่น ใน เบญจขันธ์ ที่ประกอบไปด้วย อุปาทาน นั้นเป็นตัว ทุกข์ เพราะ ความไม่ยึดมั่น ก็เป็นตัว ไม่ทุกข์ พอเห็นอันนี้เท่านั้นแหละ เห็นความจริงอันนี้เท่านั้น ตน ก็จะเป็นที่พึ่งแก่ ตน คือ ธรรมะ จะเป็นที่พึ่งแก่ ตน เพราะว่า ธรรมะ หรือ ความจริง ที่เห็นนี้มันมี ปาฏิหาริย์ อยู่ในตัวมันเองที่จะครอบงำจิตใจ คือว่า ธรรมะ หรือ ความจริง นี้มันมีอำนาจอย่างสูงสุด ที่จะครอบงำจิตใจ เปลี่ยนแปลงจิตใจให้เป็นไปในทางที่ตรงกันข้าม ก็เลย ไม่มีความทุกข์ เพราะ ไม่มีความทุกข์ นี้จึงเรียกว่า ตน เป็นที่พึ่งแก่ ตน ได้เสร็จแล้ว หรือว่ามี ธรรม เป็นที่พึ่งแก่ ตนได้เสร็จแล้ว
เพราะฉะนั้น เรารู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่า ธรรม หรือ ธรรมะ นี้ว่ามันมีอยู่อย่างไร ในกรณีเช่นนี้? เราเรียกอันนั้นเป็น ตน ที่จะเป็นที่พึ่งแก่ ตน ได้ มองในแง่นิดหนึ่งก็มองได้เหมือนกันว่า ต้องใช้ตนทำเอง คนอื่นมาทำแทนไม่ได้ นี่ก็ถูกแล้ว นี่ก็รวมอยู่ในความหมายของคำว่า ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน แต่ทีนี้มันยังมีปัญหาเหลืออยู่ว่า ทำอะไร? ทำอย่างไรนี้? ที่จะทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตน ต้องทำตนให้ถึงธรรม ให้ธรรมะลงมาเป็นตน คนก็กลายเป็นธรรม ธรรมก็กลายเป็นคน มาเป็นสิ่งเดียวกันไปอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าหมดปัญหา คือ ไม่มีความทุกข์เหลืออยู่ อย่างนี้เราเรียกว่า ด้วยอำนาจของธรรม ด้วยอิทธิพลของธรรม หรือว่าใช้คำสุดท้ายคือ ปาฏิหาริย์ ของ ธรรม หมายความว่า ธรรม นำเอาจิตใจของเราไปเสียอย่างเป็น ปาฏิหาริย์ คือ เอาไปหมด เอาไปทำให้เปลี่ยนแปลงอย่างที่ตรงกันข้าม นี่ เรียกว่า ความจริง มี ปาฏิหาริย์ อยู่ในตัวมันเอง พอเข้าถึงความจริงนั้นเท่านั้น มันจะทำหน้าที่ของมันเอง จะมี ปาฏิหาริย์ เหนือเรา เปลี่ยนเราให้ละความไม่จริงไปสู่ความจริง ไปถือหลักที่เป็นความจริง หรือกลายเป็นความจริงเป็นตัวความจริงไปเสียเลย จิตใจของคนเราเปลี่ยนแปลงได้ถึงอย่างนี้ ก็ด้วย อำนาจ และ ปาฏิหาริย์ ของสิ่งที่เรียกว่า ธรรม หรือ พระธรรม หรือ พระธรรมเจ้า หรือจะไปพลอยยืมไอ้คำว่า พระเจ้า มาใช้ก็ได้ ถ้าใครอยากจะมีพระเจ้าก็จงมีสิ่งอย่างนี้เป็นพระเจ้า พระเจ้าก็จะช่วยให้หมดความทุกข์ หมดปัญหา พระเจ้าอย่างบุคคลนั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันจะเป็นเทวดาหรือเป็นอะไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่อย่างเดียวกัน สิ่งที่จะช่วยทำหน้าที่พระเจ้าให้ได้จริงๆ ก็คือ ความจริง หรือ พระธรรม ซึ่งมี ปาฏิหาริย์ มากถึงที่สุด
ทีนี้ เรื่องที่เราพูดค้างไว้ในตอนนี้ก็คือเรื่องที่ว่า เป็นลูกของพระพุทธเจ้าให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ มันก็มีเครื่องวัดที่ตรงนี้ เข้าถึง ความจริง ได้มากเท่าไร? เข้าถึง ธรรมะ ได้มากเท่าไร? ก็เป็นลูกของพระพุทธเจ้าได้มากเท่านั้น เป็นลูกของพระพุทธเจ้า คือ เป็นลูกของ พระธรรม เป็นลูกของพระธรรม คือ เป็นตัวธรรมเสียเองมากเสียเท่านั้น ให้ธรรม ตัวธรรม ตัวพระธรรม นี้พาไป คือ ชนะจิตใจของเราที่เรายินดี เราสมัคร หรือเราต้องการ บางทีเราก็อธิษฐานว่าขอให้เป็นอย่างนั้น แต่ถ้าอำนาจของสิ่งอื่นที่เป็น ปาฏิหาริย์ ของ กิเลส เป็น ปาฏิหาริย์ ของสิ่งอันเป็นที่ตั้งแก่ กิเลส คือ กระทั่งเป็น ปาฏิหาริย์ ของความหลอกลวงนี้เราไม่ต้องการ เราเกลียด เราขยะแขยง อย่างพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า ท่านขยะแขยงใน ปาฏิหาริย์ เหล่านั้น มันเต็มไปด้วยความหลอกลวงแล้วมันก็พาไปหาไอ้สิ่งที่ไม่ดับทุกข์ได้
เพราะฉะนั้น เราจึงแยก ปาฏิหาริย์ ออกเป็น ๒ ประเภท
ปาฏิหาริย์ ของอารมณ์ของกิเลส มันก็พาไปหาไอ้ความทุกข์ ปาฏิหาริย์ ของพระธรรมก็จะพาไปหาความดับทุกข์ เรายอมรับว่าเป็น ปาฏิหาริย์ ด้วยกัน มีฤทธิ์ร้ายกาจด้วยกัน ถ้ามันไม่มีฤทธิ์ร้ายกาจมันไม่ทำแก่เราได้ถึงอย่างนี้ ใช้คำสำนวนที่ว่ากำปั้นทุบดิน เดี๋ยวนี้ เราเกิดมาต้องลำบาก ต้องหาทางต่อสู้ กระทั่งมาบวช กระทั่งต้องเป็นไปตามกรรม ตามอะไรอีกมากมายนั้น มัน ปาฏิหาริย์ ของไอ้สิ่งฝ่ายตรงกันข้ามที่ลำพังคนแท้ๆนี้สู้ไม่ได้ ต้องไปหา พระธรรม มาเป็นที่พึ่ง พึ่ง พระธรรม มี ธรรมะ เป็นที่พึ่ง และก็สู้กับมันได้ เพราะว่า พระธรรม นั่นแหละมี ปาฏิหาริย์ ที่จะสู้กับสิ่งเหล่านี้ได้
ทีนี้ เรื่องที่จะต้องเข้าใจกันให้ละเอียดยิ่งๆขึ้นไป เกี่ยวกับจิตใจที่จะเป็นทุกข์ รู้ที่จะค่อยๆถอยออกมาเสียจากความทุกข์ มาสู่ความเป็นอิสระจากความทุกข์ ทีนี้ มาเป็นลูกของพระพุทธเจ้าก็คือเพื่ออย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงต้องทำหน้าที่ของตน คือ การเข้าถึง ธรรม ยิ่งขึ้นไปตามลำดับ ตามลำดับ เพราะฉะนั้น เราอย่าทำเล่น เราอย่ามัวทำเล่น เราอย่ามัวประมาท และเวลานี้ควรถือว่ามีน้อย อย่างบวช ๓ เดือนก็ยังมีน้อย ยิ่งมีน้อย คือ เขาพูดไว้ทำนองว่า ต่อให้ตลอดชีวิตก็เรียกว่ายังเป็นเวลาที่น้อยอยู่ เพราะฉะนั้น อย่าได้ประมาทเลย รีบทำให้มันเข้าถึงธรรม ให้เป็นธรรม เป็นตัวธรรมไปเสียเลยโดยรีบด่วน ทุกคนจะบวชหรือจะไม่บวชก็ต้องทำหน้าที่อันนี้ ทีนี้ บวช ก็คือ จะเป็นโอกาสที่ทำให้ได้เร็วขึ้น สะดวกขึ้นและเร็วขึ้น รีบถือเอาโอกาสนี้ทำให้ได้มาก อย่าให้ไปเหลวไหล โลเล เหลาะแหละเหมือนอย่างที่พูดกันแล้ววันก่อนๆนั้นไม่ต้องพูดอีก เมื่อไม่โลเลเหลาะแหละแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ให้มันไปเร็วเข้าในการที่จะถึงธรรม? ให้ธรรมะช่วยได้อย่างมี ปาฏิหาริย์ ทีเดียว เพราะฉะนั้น คำแนะนำต่างๆที่ได้พูดไปแล้ววันก่อนๆนั่นแหละ-ประมวลกันเข้า ในที่สุดก็ได้ความว่า ให้มีความเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนกันแล้ว ให้เป็นอยู่อย่างถูกต้อง โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์
ทีนี้ เป็นอยู่อย่างถูกต้อง เป็นอยู่ชอบ นี้คือ เป็นอยู่ชนิดที่ว่าจะให้เห็นธรรมอยู่และเห็นยิ่งๆขึ้นไป นี่ พูดไปพูดมาก็ไม่พ้นไปจากข้อนี้ คือ อยู่ชนิดที่มันจะเป็นโอกาสให้มีการเห็นธรรม และเราต้องกิน ต้องอยู่ ต้องหลับ ต้องนอนในพื้นฐานทั่วๆไปนี้ให้มันสะดวก ให้เหมาะสมที่จะเห็นธรรม ถ้าเราไปเห็นแก่กิน แก่นอน แก่อะไร หาความสุขทางเนื้อหนัง ทางไอ้กินนอนมากไป มันก็ไม่เป็นโอกาสที่จะให้เห็นธรรม เพราะฉะนั้น จึงจะเป็นอยู่ในลักษณะที่พอดีเกี่ยวกับเรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องอะไรต่างๆ แล้วก็จะต้องทำกาย-วาจาให้เหมาะสมแก่จิตใจที่มันจะเห็นธรรม เพราะฉะนั้น เราจึงต้องมี ศีล, ศีล นี้เป็นเรื่องการเตรียมกาย-วาจาให้พร้อม เหมาะที่จะเป็นเครื่องรองรับจิตใจที่จะเห็นธรรม
ทีนี้ เราก็ปรับปรุงจิตใจให้เป็นจิตใจที่พร้อมที่จะให้เห็นธรรมยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการทำสิ่งที่เรียกว่า ภาวนา หรือ สมาธิ นี่ ฝึกหัดจิตใจในขั้นแรก ก็ให้มันเป็นจิตใจที่มีกำลังรวมกัน ไม่ฟุ้งซ่าน นี่ เรียกว่าเป็น สมาธิ ทีนี้ พอเป็น สมาธิ แล้วมันก็สนับสนุนต่อการเห็นแจ้ง คือ ปัญญา เห็นแจ้งจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ยึดมั่น-ถือมั่นไม่ได้ แต่เราก็ได้โง่ได้หลงไปยึดมั่น-ถือมั่นมันอย่างยิ่งอย่างเหลือเกิน ขยายออกไปในทางที่ไม่จำเป็น หรือไม่สมควรเลยนี้มากมายที่สุด ไม่ใช่จะไปยึดมั่น-ถือมั่นแต่สิ่งที่มันน่ายึดมั่น-ถือมั่น หรือว่าเป็นสิ่งที่จะต้องยึดมั่น-ถือมั่นอยู่ตามธรรมชาติ เช่นว่า เราจะต้องมีบ้านเรือน เงินทอง ข้าวของ นี้เรียกว่า มันเป็นสิ่งที่ควรจะยึดมั่น-ถือมั่นอยู่ตามธรรมชาติ เดี๋ยวนี้ เราขยายออกไปถึงสิ่งที่ไม่จำเป็นมากกว่าสิ่งที่จำเป็น ความเจริญสมัยนี้เป็นอย่างนั้น ก็จะได้เปลี่ยนแปลงกันเสียใหม่ ถ้ามนุษย์เข้าใจในข้อนี้ก็จะทำโลกนี้ให้มีสันติภาพได้ เรียกว่า เราจะต้องมีชีวิตอยู่โดยชอบ คือ เป็นอยู่อย่างนี้ มีการกินอยู่ให้ร่างกายมันเหมาะสมที่จะมี ศีล คือ มีกาย-วาจาที่ดี และให้มันเหมาะสมที่จะมี สมาธิ ขึ้นไปขั้นหนึ่ง ให้เหมาะสมที่จะมีความเฉียบแหลมทางปัญญาอีกชั้นหนึ่ง เท่านี้ก็พอแล้ว ให้อยู่ด้วยความเหมาะสมของ ร่างกาย จิตใจ ทิฏฐิ ความคิดความเห็น ทีนี้ การก้าวหน้าไปหา ธรรมะ มันก็จะเป็นไปเอง เจริญขึ้นทุกวัน ทุกวัน ในที่สุด เราก็จะพบกับ ธรรมะ ที่มามี ปาฏิหาริย์ ที่จะเปลี่ยนจิตใจปั้บเดียวจากความเป็น ปุถุชน เป็นความเป็น พระอริยะเจ้า ในขณะจิตเดียวนี้ เขาเรียกว่า เหมือน ปาฏิหาริย์ การ บรรลุมรรคผล นั้นถือว่ามีในขณะจิตเดียวนะ จากความเป็น ปุถุชน ไปเป็น พระอรหันต์ หรือเป็น พระอริยะเจ้า ที่รองลงมาก็ตามนี้ มีลักษณะเหมือนกับ ปาฏิหาริย์ มันต้องเข้าถึง ธรรมะ นั้นในขนาดมาตรฐานอย่างนั้น มันจึงจะมี ปาฏิหาริย์ ชนิดนี้ขึ้นมาได้ เราก็มีเข็มหรือเป้าหมายที่นั่น เป็นอยู่ให้ถูกต้อง คือ ให้มันเป็นไปตามเป้าหมายนั้น นี่คือว่า อย่าประมาทเลย
คำว่า อย่าประมาทเลย นั้นเป็นคำสำคัญในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสอยู่เสมอเรื่อง อย่าประมาทเลย นี้ และพอจะนิพพานจะดับจิตเป็นจิตสุดท้าย คือ คำสั่งสุดท้ายก็คือคำๆนี้ว่า จงเต็มด้วยความไม่ประมาท แล้วท่านก็นิ่งเงียบไปแล้วก็นิพพาน คำสั่งเสียหรืออะไรครั้งสุดท้าย พินัยกรรมคำสุดท้ายมีว่าอย่างนี้ ตลอดเวลาก็เตือนแต่ว่า อย่าประมาท / ประมาทเหมือนกับตาย! ถ้าไม่ประมาทก็จะไม่รู้จักตาย ทั้งไอ้พรหมจรรย์ทั้งหลายมันตั้งรากฐานอยู่บนความไม่ประมาท ฉะนั้น เราอย่าประมาทเลย อย่าไปเสียเวลามองผู้อื่นในแง่ร้าย หรือในแง่ที่ไม่มีประโยชน์อะไรนั้นก็เป็นความประมาทชนิดหนึ่ง เป็นความประมาทอย่างเลวมาก อย่างต่ำมาก ทีนี้ เราก็มามองในหน้าที่ของเราที่จะต้องทำนี้ ก็ด้วยความไม่ประมาท ไม่เหลวไหล ไม่ขี้เกียจ ไม่โลเล ความหมายสำคัญอยู่ที่ มีสติอยู่เสมอ พอขาดสติเมื่อไหร่เป็นความประมาทเมื่อนั้น ฉะนั้น คำว่า ความประมาท ก็คือ ขาดสติ / ความไม่ประมาท คือ ความมีสติ ความมีสติ เป็นชื่อของ ความไม่ประมาท คือเป็น ไวพจน์ เป็น ซินโนนิม (Synonym -ผู้ถอดเทป) แก่กันและกัน ไม่ประมาท คือ มีสติ / มีสติ คือ ไม่ประมาท จะใช้ชื่อไหนก็ได้ ใช้คำไหนก็ได้ ความไม่ประมาท หมายถึง รู้อยู่ว่าอะไรเป็นอะไร และก็ทำถูกต้องตามความหมายนั้น มีสติ ก็คือ รู้อยู่ว่าไม่เป็นอะไร และก็ทำไปถูกต้องตามความหมายอันนั้น มันจึงเป็นอย่างเดียวกัน
ทีนี้ เมื่อเรายังเป็นผู้ที่มีปัญหามาก คือ ยังเป็นปุถุชนมากก็ยังมีปัญหามาก ก็ต้องสนใจมาก ต้องพยายามมาก ปรับปรุงการเป็นอยู่อย่างที่ว่ามาแล้ว ปรับปรุงร่างกาย ปรับปรุงวาจา ปรับปรุงจิตใจ ปรับปรุงความคิดนึกความคิดเห็นต่างๆให้มันเป็นไปในทางถูกต้องด้วย ในที่สุด มันก็จะไปเป็นทุกอย่างที่พูดมาแล้ว ที่เป็นไปในทางที่จะดับทุกข์ได้ คือว่า เรามีตนเป็นที่พึ่งก็ด้วยวิธีดังอย่างนี้
ด้วยการเห็นแจ้งว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดถือ
เห็นแจ้งว่ายึดถือเมื่อไรเป็นทุกข์เมื่อนั้น
ไม่ยึดถือเมื่อไรก็ไม่เป็นทุกข์เมื่อนั้น
มันมีเท่านี้เอง พอมีความยึดถือ สิ่งต่างๆก็จะลุกขึ้นมาพรึบเดียวพร้อมกันหมดสำหรับที่จะเป็นทุกข์ เรื่องนี้ก็พูดแล้วที่เมื่อวัน ธรรมะปาติโมกข์ พอมี อวิชชา ทำให้เกิด อุปาทาน ยึดถือในทำนองมีความหมายเป็นตัวกู-เป็นของกู ทุกสิ่งที่มันอยู่เฉยๆ นอนอยู่นิ่งๆ นอนอยู่เงียบๆมันจะลุกพรึบขึ้นมาพร้อมกันหมด สำหรับจะเป็นทุกข์ นี่ตามหลักธรรมะมีอย่างนี้ว่า ร่างกายนี้ ดิน น้ำ ลม ไฟที่เป็นร่างกายนี้ มันจะไม่อยู่เฉยๆ อย่างเป็นดินเฉยๆ มันจะลุกขึ้นมาเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นร่างกายสำหรับจะเป็นทุกข์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็จะไม่เป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เฉยๆ แต่จะลุกขึ้นมาเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่จะทำความทุกข์ และก็เรียกว่า อินทรีย์ อะไรขึ้นมา แล้วแต่จะเรียก เป็น ทวาร ก็เป็น ทวาร สำหรับจะเป็น ทุกข์ เป็น อินทรีย์ ก็เป็น อินทรีย์ สำหรับจะเป็น ทุกข์ เป็น อายตนะ ก็เป็น อายตนะ สำหรับจะเป็น ทุกข์ นี่ มันกลายเป็นอย่างนี้
ไอ้ ขันธ์ ๕ หรือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งไม่เป็นอะไร เป็นธรรมชาติกลางๆเฉยๆแล้วมันจะลุกพรึบขึ้นมาเป็น ขันธ์ ๕ ที่มี อุปาทาน และเป็นตัว ทุกข์ ทุกส่วนในร่างกายนี้ที่ประกอบกันอยู่เป็นร่างกายเป็นคนนี้ ทั้งกาย-ทั้งใจนี้ จะลุกพรึบขึ้นมาในคราวเดียวทุกอย่างเพื่อจะเป็น ทุกข์ นั่นแหละ ปาฏิหาริย์ ของฝ่ายที่จะเป็น ทุกข์ ของฝ่าย สังขาร หรือฝ่าย กิเลส ที่มันจะเป็น ทุกข์ แล้วเราก็สู้ไม่ไหวเพราะเป็นทุกข์ ถ้าถึงขนาดนั้นแล้วรายนั้นต้องเป็นทุกข์ ในกรณีนั้นต้องเป็นทุกข์ ทีนี้ พอทุกข์เสร็จแล้ว เสร็จไปแล้วในกรณีนั้น ทีนี้ ก็มาตั้งตัวกันใหม่ อย่าให้มันเป็นอย่างนั้น ถ้าเรามีสติแรง มีปัญญาแรง เราอาจจะทำเกิดให้ชะงักกลางคันก็ได้ ตาเห็นรูปอะไรที่สวยงามที่จะยั่วให้เป็นทุกข์ จนจวนจะเผลอไปเป็นทุกข์ สะดุดหยุดชะงักกลางคัน จะได้แค่นี้ก็นับว่าเก่งมาก แต่ตามธรรมดาไม่ค่อยมี มันต้องเก่งมากมันจึงจะชะงักกลางคันได้ ส่วนมากมันก็ไปรักหรือไปเกลียดเสียก่อนแล้ว ถึงจะมานั่งนับ ๑ ถึง ๑๐ อยู่อีก - ตั้งต้นกันใหม่ แต่ก็เป็นเรื่องที่ควรฝึกฝนให้สตินี้มาให้ไวที่สุด ให้ทันกับเหตุการณ์ ให้ชะงักกลางคันได้ก็ดี ข้อนี้มันเป็นรายละเอียดถี่ยิบในทาง พฤติ ของจิตที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ๑๑ ขั้น ๑๑ ตอน ให้เกิด อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป อายะตนะ ผัสสะ ขึ้นมาตามลำดับ เป็น เวทนา ตัณหา อุปทาน ภพ ชาติ แล้วเป็น ทุกข์ ไอ้ตรงกึ่งกลางที่จะชะงักได้ ก็คือ ตรงที่เป็น เวทนา ขึ้นมาแล้ว สวยหรือไม่สวย หอมหรือเหม็น หรืออะไรขึ้นมาแล้วอย่างนี้ ตรงนี้ จะกลับหลังไปหยุด หรือว่าจะไปต่อไปจนไปเป็น ทุกข์ พอ เวทนา เกิดแล้วก็ทำไม่ถูกหรือไม่ทัน มันก็เป็น ตัณหา พอเป็น ตัณหา ถ้าสติมาหยุด ตัณหา เสียได้ ก็ยังนั่นอีกทีหนึ่ง เหมือนกับว่าเป็นครึ่งๆ แต่ถ้า ตัณหา เกิด อุปาทาน แล้ว-ไม่มีทางแล้วทีนี้ ก็ต้องเป็น ภพ เป็น ชาติ และเป็น ทุกข์ ในกรณีที่เห็นด้วยตาในสิ่งนั้น ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนังทางอะไรก็เหมือนกันอีก นี่ ขอให้หลับตามองดูไอ้สิ่งเหล่านี้ให้เห็นราวกับว่ามันเป็น วัตถุ เป็น วัตถุธรรม วัตถุธาตุ ที่จริงเป็น นามธรรม นามธาตุ เป็น จิต เป็น วิญญาณ มองยาก แต่ถ้าเราเข้าใจเราอาจจะมองเห็นเหมือนอย่างว่าเป็นวัตถุ ถ้ามีเผลอแล้ว พอเผลอแล้วมันก็..ทุกอย่างมันก็พรึบขึ้นมาที่จะทำหน้าที่ให้เราเป็น ทุกข์ เราก็รู้..รู้สึกตัว ชะงักได้เท่าไหร่ เร็วเท่าไหร่ก็เป็นการดีเท่านั้น ก็จะได้เป็นทุกข์น้อย หรือเพียงแต่สะดุ้งแล้วก็ไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้ก็ยังดี ที่มาสะดุ้งแล้วมาเป็นทุกข์ตัวสั่นหวั่นไหวอยู่ แล้วยังนอนไม่หลับอีก กลางคืนยังฝันร้ายอีก-นี้ก็ไม่ไหว นี่มันมากเกินไป ไม่เก่ง ไม่สมกับที่เป็นลูกของพระพุทธเจ้า
ทีนี้ ก็มาถึง หิริ และ โอตัปปะ รู้จักละอาย-รู้จักกลัว ถ้าเราพลั้งพลาดมากถึงอย่างนั้น ก็ต้องมาละอาย ละอายแล้วก็กลัว แล้วก็เสียใจให้มากๆที่ทำผิดพลาดในข้อนี้ เพื่อมันจะไม่ผิดพลาดอีก นี่ ตอนนี้ก็เป็นความ ไม่ประมาท ในขั้นสุดท้าย เอามากลัว เอามาเสียใจ เอามาละอายอยู่ ตนเองติเตียนตนเองได้เมื่อไหร่ละก็ เอามาละอายเสียใจให้มาก เป็นความไม่ประมาทลำดับสุดท้ายในกรณีนั้น ทำได้อย่างนี้มันก็ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปในทางดี เดี๋ยวนี้แล้วก็แล้วไป เล่นหัวเรื่องอื่นกันต่อไปไอ้เรื่องนั้นไม่ต้องคิดถึง ผิดพลาดอย่างขนาดที่เรียกว่า ไม่สมควรจะเป็นลูกของพระพุทธเจ้าแล้วก็ยังไม่รู้สึกว่ามันมีอะไร ไม่รู้-ไม่ชี้อยู่ตามเดิม ถ้าอย่างนี้ก็ช่วยไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราทดสอบอยู่เสมอว่า อย่างนี้เรามีเพศต่างจาก คฤหัสถ์ แล้วนี้ ในบทสวด ปัจจเวก อภิณหปัจจเวก ที่สวดอยู่ทุกวันเดี๋ยวนี้ วัน-คืนล่วงไปเราทำอะไรอยู่ เราทำสมกับเรามีเพศต่างจาก คฤหัสถ์ แล้วหรือไม่? เราติเตียนตัวเราได้หรือไม่อย่างนี้? ผู้อื่นที่มีปัญญาพิจารณาแล้วติเตียนเราได้หรือไม่อย่างนี้? เราสวดอยู่ทุกวัน เพราะฉะนั้น อย่าทำเล่นกับการสวด อย่าสวดพอให้แล้วๆไป ทำให้มันเป็นความรู้สึกฝังเข้าไปในจิตใจ เป็นเครื่องป้องกันอยู่ทุกวัน ทุกวัน
นี่ วันนี้ก็มีพูดอย่างนี้ ให้ระวัง ปาฏิหาริย์ ของ ฝ่ายพญามาร แล้วก็ เปิดโอกาสให้ได้รับ ปาฏิหาริย์ ของ ฝ่ายพระ พระธรรม พระพุทธเจ้า หรือ พระธรรม ทีนี้ ปาฏิหาริย์ ของฝ่ายพญามารมันก็เป็นหมันไป-ทำอะไรเราไม่ได้ เราก็มีความเจริญงอกงามในพระศาสนา จนกว่าจะถึงอันดับสุดท้าย คือ เปลี่ยนเป็นบุคคลชนิดที่เรียกว่า เหนือโลก เหนือสิ่งทั้งปวง เราไม่เอ่ยอ้างถึงว่าจะเป็นพระอรหันต์เป็นนั่นเป็นนี่ ให้มันเป็นความยึดถือ-เป็นความทะเยอทะยาน เราต้องการอย่างมากเพียงเป็น ผู้ที่ไม่มีความทุกข์ เหมาะสมที่จะเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไม่มีความทุกข์ ถือหลักที่เขาเขียนอยู่ในประกาศนียบัตรผู้สอบ นักธรรม ได้ ว่า อติโรจติ ปญฺญาย สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโก โอ้! เดี๋ยวก่อน ประกาศนียบัตรรุ่นหลังจะเขียนอย่างนี้แล้วหรือไม่ก็ไม่ทราบ? แต่ประกาศนียบัตรสอบนักธรรมได้-รุ่นผมเรียนนั้นเขามีเขียนอย่างนั้น ที่ดวงตราข้างบน อติโรจติ ปญฺญาย สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโก สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมรุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญา เท่านั้นก็พอ
แล้ววันนี้ก็พอกันที