แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายในวันนี้ ก็จะได้กล่าวถึง พระพุทธเจ้าซึ่งเราจะถือเอาเป็นที่พึ่งให้ถูกวิธียิ่งๆขึ้นไปได้อย่างไร? เลยนึกขึ้นได้ว่าจะได้กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า ปาฏิหาริย์ เพราะเป็นเรื่องที่เนื่องกันอยู่ แล้วเรื่อง ปาฏิหาริย์ ก็เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งสำหรับคนทั่วไป แต่แล้วไอ้เรื่องไอ้สิ่งที่เรียกว่า ปาฏิหาริย์ นั้นเอง กลับเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดปัญหา หรือเป็นอุปสรรคในการที่จะถึงพระพุทธเจ้า ในวันก่อนๆได้พูดถึง เราทุกคนเกิดมาเพื่อเป็นลูกของ พระพุทธเจ้า โดยเราจะรู้สึกตัวหรือไม่ก็ตาม โดยที่บิดา-มารดาจะรู้สึกหรือต้องการอย่างนั้นหรือไม่ก็ตาม แต่ตามธรรมชาติบังคับให้ต้องเป็นไปอย่างนั้น ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็หลีกไม่พ้น คือ จะต้องมีความทุกข์ เพื่อจะไม่มีความทุกข์ ก็จะต้องมีภาวะเหมือนกับว่าเราเป็นลูกของพระพุทธเจ้า คือ ภาวะที่ธรรมะคุ้มครอง แล้วก็ได้ขอร้องว่าอย่าทำเล่นกับเรื่องนี้ คือ จะต้องพยายามชำระสะสางสิ่งที่ซึ่งเป็นปัญหา เป็นอุปสรรคอะไรต่างๆ ให้เราได้เข้าถึงความเป็นอย่างนั้นให้จนได้ คือโดยเรียกโดยอุปมาว่าหรือโดยเปรียบเทียบว่า ความเป็นลูกของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่เป็น บรรพชิต เพราะมีขนบธรรมเนียมประเพณีเรียกว่า สมณะศากยปุตติยะ หรือว่า พุทธชิโนรส อะไรอย่างนี้อยู่แล้ว ซึ่งหมายความว่า ภิกษุทั้งหลายนั้นเป็นลูกของพุทธเจ้า นั่นมันก็เป็นธรรมเนียมมา ตั้งต้นด้วยการเป็น ธรรมเนียม แล้วก็เป็นโดย วินัย ที่บังคับไว้อย่างในบท อนุศาสน์ เป็นต้น เดี๋ยวนี้ก็มาถึงไอ้ที่มันจริงกว่านั้น ก็โดย สัจจะ หรือโดย ธรรมะ มันก็ต้องเป็นลูกของพระพุทธเจ้ากันให้ได้จริงๆ ทีนี้ ปัญหาก็มีอยู่หลายอย่าง ในวันนี้ก็จะพูดเฉพาะปัญหาที่มันเกี่ยวกับสิ่งที่มันเรียกว่า ปาฏิหาริย์
ปาฏิหาริย์ มีไว้สำหรับคนโง่ นี่ เป็น บทสูตร ที่จะต้องจำไว้ แล้วจะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ปาฏิหาริย์ ได้ในที่สุด คนมันโง่ มันไม่มีสติปัญญาในการที่เข้าถึงธรรมะ หรือความจริงได้โดยอำนาจของความจริง ดังนั้น จึงต้องมีวิธีอื่นซึ่งผู้ที่มีปัญญา มีเมตตา มีกรุณา หรือมีความประสงค์อย่างใดก็ตาม จะต้องทำให้เขาเข้าถึงธรรมะนั้นโดยวิธีที่เรียกว่า ปาฏิหาริย์ ในที่นี้ขอให้ทราบไปเสียให้ตลอดว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ปาฏิหาริย์ นี้มันก็มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนพระพุทธเจ้า แล้วก็ไม่เกี่ยวกับธรรมะกับศาสนาก็มี มันเป็นเรื่องของมันเองเรื่องหนึ่ง คือ เป็นเรื่องของเครื่องมือที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์ตามที่ตัวต้องการได้ ในลักษณะที่มันน่าอัศจรรย์ คือ ไม่ใช่ตามธรรมดา เพราะสิ่งที่เรียกว่า ฤทธิ์ หรือว่า ปาฏิหาริย์ นี้ เป็นของมีก่อน จะก่อนพุทธศาสนา หรือก่อนสิ่งที่จะเรียกว่าศาสนาด้วยซ้ำไป ก็หมายถึง ปาฏิหาริย์ อย่างง่ายๆหรืออย่างเลวๆ
ไอ้คำว่า ปาฏิหาริย์ นี้ถ้าดูตามตัวหนังสืออาจจะพูดได้ว่า การนำไป หรือสิ่งที่จะให้เกิดการนำไป เฉพาะ คือ ตรงตามจุดหมาย ตามตัวหนังสือว่า นำไปเฉพาะ แต่ความหมายของมัน ก็คือ การนำไปตามความต้องการของผู้กระทำ ปาฏิหาริย์ นั้นเอง คำว่า เฉพาะ ในที่นี้หมายความถึง เฉพาะความต้องการของผู้ทำ ปาฏิหาริย์ เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่เขาแสดงออกไปในลักษณะที่ครอบงำผู้อื่นได้ จนผู้อื่นต้องยอมทำตามความประสงค์ของเขาอย่างน่าอัศจรรย์ ก็เรียกว่า ปาฏิหาริย์ ทั้งนั้น มีสำหรับใช้กับผู้อื่น ทีนี้ต่อมา ก็มาเป็นเรื่องที่จะใช้กับประโยชน์ของตัวเอง ทำให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเอง แต่มันก็ไม่พ้นจากที่จะไปทำเพื่อครอบงำผู้อื่น จึงจะเรียกว่า ปาฏิหาริย์
โดยหลักทั่วๆไปที่กล่าวไว้เรื่อง ปาฏิหาริย์ นี้ ในพระคัมภีร์ก็มี ในคัมภีร์ฝ่ายพุทธศาสนานี้ กล่าวถึง ปาฏิหาริย์ ทุกอย่าง จัดไว้เป็น ๓ อย่าง หรือ ๓ ประเภท คือ
อิทธิปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์ ที่กระทำโดยการใช้ ฤทธิ์ ใช้ อิทธิ นั่นแหละ อิทธิ แปลว่า ฤทธิ์ ฤทธิ์ แปลว่า เครื่องให้สำเร็จ แต่เขาหมายถึง อิทธิ ที่มันเป็นเรื่องทั่วๆไป นับตั้งแต่ว่ามันบังคับเอา หรือว่าอะไรเอา โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง กระทั่งถึงมี ฤทธิ์ ชนิดที่คนกลัวอย่างนั้น เช่นว่า ใครแสดง ฤทธิ์ ได้ เหาะได้ ดำดินได้ แปลงกายได้ ทำอะไรออกมาเป็นสิ่งที่น่ากลัวต่างๆได้เหล่านี้ ทั้งหมดนี้รวมเรียกกันเรียกว่า อิทธิปาฏิหาริย์ หรือ ฤทธิปาฏิหาริย์ มีมาแต่โบรมโบราณ พวกยักษ์ พวกมาร พวกอะไรก็ทำได้ ชาวบ้านตามธรรมดาทำไม่ได้ ก็ต้องไปอบรม มันก็เป็นเรื่องทางจิตใจ คือ ควรให้ถูกตามวิธีที่มีอยู่ ก็เกิดไอ้สิ่งที่เรียกว่า ฤทธิ์ นี้ขึ้นมาได้
ทีนี้ อันที่ ๒ เรียกว่า อาเทสนาปาฏิหาริย์ ใช้เรื่องดักใจ ทายใจอย่างนิ่มนวล อย่างไม่ต้องหวาดเสียว หรือว่าอะไรเหมือนกับ ฤทธิปาฏิหาริย์ ก็ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมแพ้ได้
ทีนี้ อันสุดท้ายเรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ มีการพูดจา ชี้ชวน สั่งสอน การชี้แจงให้เข้าใจ จนเขาทำตามความประสงค์หรือความต้องการได้ ใช้เหตุผล นี่ก็เป็น ปาฏิหาริย์ ที่ใช้อยู่ในการสั่งสอน หรือเผยแผ่ศาสนา ถือกันว่าพระพุทธเจ้าท่านใช้ ปาฏิหาริย์ อันนี้ อันที่ ๓ นี้ คือ คำสั่งสอน แต่มันมีความหมายพิเศษ คือยิ่งไปกว่านั้น เดี๋ยวจะลองว่าให้ฟัง แล้วเราควรจะพูดกันถึง ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ให้เป็นที่เข้าใจก่อน อย่าเอาเพื่อที่จะได้ไม่เอา ปาฏิหาริย์ ไปปนกับไอ้เรื่องบางชนิดที่มันไม่ใช่ ปาฏิหาริย์ แล้วก็จัดเป็น ปาฏิหาริย์ ไปหมด
สำหรับการแสดง ฤทธิ์ ได้ ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมแพ้นี้ พระพุทธเจ้าท่านรังเกียจว่าไอ้พวกอันธพาลก็ทำได้ ถ้าพระสาวกหรือพระพุทธเจ้าเองจะไปใช้ ปาฏิหาริย์ อย่างนั้นเข้า มันก็จะถูกเหมาว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แล้วก็จะพาลดูหมิ่นเอา เพราะใช้วิธีอย่างพวกอันธพาลใช้ พวกยักษ์ พวกมารใช้ พวกที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตทั้งหลายเขาก็ใช้ในการรบราฆ่าฟัน ในการเอาเปรียบผู้อื่น นี้มันเกี่ยวการใช้อำนาจจิตอย่างแรงมันจึงจะมี ฤทธิ์ มี ปาฏิหาริย์ ขึ้นมาได้ คือ ให้มีการแสดงออกมา ในลักษณะที่น่าหวาดเสียว น่ากลัว หรือไม่น่าเชื่อ ก็จะเป็นไปได้ จนต้องยอมแพ้ เราได้ยินในเรื่องหนังสือเรื่องจักรๆวงศ์ๆ เรื่องไอ้ที่เขาเรียกกันทำนองนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เรื่องรามเกียรติ์ ใช้ ปาฏิหาริย์ ในการรบราฆ่าฟันกัน คือ แสดง ฤทธิ์ แผลง ฤทธิ์ แม้ว่าที่ใช้ไปในทางไม่ทำอันตรายใครก็มี คือ เนรมิตนั่นนี่ขึ้นมาให้คนเขากลัว ให้คนเขาเชื่อ อย่างนี้ก็ยังเรียกว่า อิทธิปาฏิหาริย์ ไปใช้ในการทำลายผู้อื่นก็เรียกว่า อิทธิปาฏิหาริย์ ทีนี้ โดยหลักใหญ่ๆ เราอาจะมองดูได้ว่ามันเป็นเรื่อง มายา คือ ไม่ใช่เรื่องจริง สิ่งที่แสดงออกมานั้นเป็นการแสดงโดยการบังคับทางจิตใจให้เห็นอย่างนั้น ให้รู้สึกอย่างนั้น ให้ได้กลิ่นอย่างนั้น ให้เจ็บปวดอย่างนั้น เมื่อมีอำนาจจิตสูงกว่า ก็บังคับฝ่ายหนึ่งให้รู้สึกอย่างนั้น ตามที่ผู้แสดงต้องการ บางทีมันกลัวจนขาดใจตายไปก็ได้ ถ้าต่างฝ่ายต่างมี ฤทธิ์ เท่ากัน ก็เลยทำอะไรกันไม่ได้ นี่ มันก็เลิกกันไป ไอ้ส่วนที่นิรมิตขึ้นมาเป็นนั่น เป็นนี่ พอเสร็จเรื่องแล้วก็เป็นสิ่งที่มิได้เหลืออยู่ คือ หายไป ไม่มีร่องรอย เพียงแต่บังคับให้เกิดขึ้นในความรู้สึกแก่ฝ่ายข้าศึก ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ที่แท้ก็คือ เป็น มายา มีเรื่องที่มีพูดไว้ในคัมภีร์ฝ่ายพุทธศาสนาในชั้น อรรถกถา นี้ก็มี และก็มีไม่น้อย แสดง ปาฏิหาริย์ อย่างนั้นอย่างนี้ โดยพระเถระองค์นั้นองค์นี้ พอเสร็จเรื่องแล้วก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่ คือ เป็น มายา แสดง ปาฏิหาริย์ เนรมิตให้มีอะไรออกมาเป็น เป็นกุฏิ วิหาร เป็นวัดวา-อาราม เป็นข้าวปลา-อาหาร เป็นอะไรก็สุดแท้ แต่เสร็จแล้วก็มิได้มีอยู่จริง ก็หายไปในเวลาที่กำหนดไว้ เพราะฉะนั้น จึงใช้ ปาฏิหาริย์ นี้เนรมิตข้าวกินไม่ได้ เนรมิตกุฏิ-วิหารอยู่อย่างถาวรไม่ได้ ยังต้องไปบิณฑบาต แล้วยังต้องไปให้คนเขาปลูกกุฏิ-วิหารให้อยู่อยู่นั่นเอง
ดังนั้น สรุปความว่าไอ้เรื่อง อิทธิปาฏิหาริย์ นี้มันเป็นเรื่องที่แสดงออกมาด้วยกำลังของจิต เพื่อกระทำแก่บุคคลฝ่ายตรงกันข้าม ชั่วขณะ ชั่วเหตุการณ์ แต่มันมีแรงมากจนในบุคคลฝ่ายที่ถูกกระทำนั้นไม่รู้ว่าเป็นเรื่อง มายา หรือเป็นเรื่องเล่นตลกอะไร มันรู้สึกจริงจังไปขณะหนึ่งจึงได้ยอมแพ้ หรือถึงกับตายไปเพราะไอ้การกระทำที่เข้าใจไม่ได้นี้ เพราะฉะนั้น เราอย่าไปหลงเชื่อ ปาฏิหาริย์ ชนิดนี้ให้มันมากเกิน เกินความจริงไป ในหมู่คนที่ไม่มี... ในหมู่คนโบราณที่ไม่มีอะไรรบกวนจิต ก็มีจิตใจสูง เข้มแข็ง อบรมกันแต่ทางจิต มันก็มีกำลังจิตสูง แล้วประชาชนก็กำลังจิตใจมันอ่อน มันก็ทำได้ อิทธิปาฏิหาริย์ ก็เป็นสิ่งทำได้ ครั้นมาถึงสมัยนี้ ที่ผู้ที่จะบำเพ็ญ ฤทธิ์ นั้นมันเป็นคนที่มีจิตใจเลว มันเห็นแก่วัตถุนิยม เนื้อหนัง มันก็ไม่มีกำลังใจพอที่จะเป็นสมาธิหรือแสดง ฤทธิ์ ได้ ทีนี้ ประชาชนทั้งหลายก็ฉลาดมีจิตใจเข้มแข็ง มันก็บังคับไม่ได้ ไอ้เรื่อง อิทธิปาฏิหาริย์ มันก็เลยสลายตัวไปเอง ยังเหลืออยู่ก็แต่เป็นเรื่องของคนโง่ที่สุด คือ โง่ไปกว่านั้นมันอยากจะเชื่อมันก็สมมติเชื่อเอาไปตามข่าวเล่าลือ มันกลายเป็นข่าวเล่าลือ หรือเป็น มายา ยิ่งขึ้นไปอีกทีนี้ เชื่อผี เชื่อสาง เชื่อเทวดา แม้แต่พระพุทธรูปก็มี ปาฏิหาริย์ กินเด็กได้ ทำให้คนมีบุตรได้ อะไรได้ มันก็เป็นเรื่องโง่กว่าธรรมดา ซึ่งก็มีไว้ระดับหนึ่งสำหรับให้เชื่อ ปาฏิหาริย์ นี้ก็เป็นเรื่องที่ชี้ให้เห็นชัดว่าเรื่อง ปาฏิหาริย์ เป็นเรื่องของคนโง่ หรือคนโง่ที่สุด
ทีนี้ เรื่อง อาเทสนาปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์ ด้วยการดักใจ หรือทายใจ นี่ก็มีเหมือนกันอีก ต้องมีจิตใจพิเศษ คือ มีจิตที่เป็นสมาธิพิเศษ อบรมมาเป็นพิเศษ มันจึงจะอ่านความรู้สึกของผู้อื่นได้ ที่ทำได้ดีที่สุด ถึงที่สุดก็คือว่า มันอ่านความรู้สึกของฝ่ายที่ตรงกันข้ามได้ เพราะคนทุกคนมันก็มีความรู้สึก-คิดนึกอะไรอยู่ ทีนี้ เมื่ออีกคนหนึ่งมันสามารถที่จะใช้กระแสจิตของตัว ดู หรือมอง หรือสัมผัสไอ้กระแสจิตของอีกคนหนึ่ง มันก็ทายได้ มันก็ยิ่งกว่าทาย มันไม่ใช่ทาย-มันอ่านไปตามนั้น เพราะฉะนั้น มันจึงบอกได้เป็น ปาฏิหาริย์ แต่วิชาเล่นกลชนิดหนึ่งในสมัยโบราณ เขาเรียกว่า มนต์มณิกา หรือ มณิกามันต์ มณิกามนต์ มนต์มณิกา เมื่อฝึกถึงที่สุดแล้วมันก็ทายใจผู้อื่นได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติอยู่มาก เมื่อเล็กๆผมก็เคยสังเกตการเล่นชนิดนี้ คือ อาจารย์ให้เราเด็กๆเล็กๆ เอาอะไรก็ได้กำ กำเอาไว้ในมือ เป็นก้อนกรวดเล็กๆ เป็นเม็ดผลไม้เล็กๆ หรือเป็นอะไรแล้วแต่หาได้นี้กำเอาไว้กี่ชิ้น กี่เม็ด เอามาให้อาจารย์บอก-ทายว่ากำอยู่กี่เม็ด ทีนี้ การทายมันก็ถูกเป็นส่วนมาก เพราะว่าเรามันกลัวว่าจะทายถูก เรารู้อยู่กี่เม็ดในใจของเรามันก็ภาวนาอยู่ไอ้แต่จำนวนนั้นเป็น ๓ เม็ด อย่างนี้ ก็คิดอยู่แต่ว่า ๓ เม็ด แล้วกลัวว่าเขาจะทายถูก แต่ถ้าเขาก็อ่านใจเราได้ เขาก็เห็นเลข ๓ ในใจเรา ไม่ใช่เห็นตัวเลข แต่ว่ารู้สึกว่าไอ้ ๓ นี้มันแน่นอน ยิ่งไปดูหน้า ดูตา เพ่งที่ลูกตาเด็กๆนั้นอีกมันก็ยิ่งง่ายขึ้น นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆน้อยๆที่จะอธิบายว่าคำว่า การทายใจ ทำได้อย่างไร? ทีนี้ คนที่เขามีสมาธิมาก มีสมาธิลึกก็บังคับได้มากกว่านั้น ทีนี้ เขาเชื่อกันว่าไอ้กระแสความคิดนึกนี้มันมีอยู่ เป็นพลังอะไรอันหนึ่งที่ออกมาจิตใจของคน แผ่ไปโดยรอบ เพราะฉะนั้น ถ้าคนมีจิตใจดี มีสมาธิสูง ทำจิตสำหรับต้อนรับไอ้กระแสความรู้สึกที่แผ่อยู่นั้นได้ มันก็อ่านออกหมดได้ มันจึงรู้ว่าเขากำลังคิดอย่างไร รวมความแล้วก็เป็นเรื่องทางจิตที่มีสมาธิอย่างเดียวกันกับ อิทธิปาฏิหาริย์ ยิ่งจิตเป็นสมาธิได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสามารถจะอ่านจิตใจหรือความรู้สึกของผู้อื่นได้มากเท่านั้น มันก็จึงผิดธรรมดาถึงขนาดที่เรียกว่า ปาฏิหาริย์ หากินได้ นั่นที่โน้นก็ใช้ มณิกามนต์ หากินได้ หรือว่าทำอะไรที่มันมากไปกว่านั้น ซึ่งมันก็ต้องเป็นเรื่องทุจริตอันธพาลอยู่ดี จึงจะเอาประโยชน์ของผู้อื่นมาเป็นของตนได้ แต่ความมุ่งหมายใหญ่ๆกว้างๆ ก็คือว่า ให้เขายอมแพ้และทำตามความประสงค์ของผู้แสดง ปาฏิหาริย์ นี้ ก็เลยได้ทั้ง ๒ อย่าง จะแสดง อิทธิปาฏิหาริย์ ก็ได้ อาเทศนาปาฏิหาริย์ ก็ได้ เขาก็ยอมทำ จะยอมหรือไม่ยอมก็พูดยาก แต่ว่าเขาจะต้องทำตามความประสงค์
ทีนี้ เราก็มาดูกันในแง่ที่ว่าเป็นประโยชน์อย่างไร? ประโยชน์จาก ปาฏิหาริย์ นี้มีน้อยมาก เพราะว่าผู้ที่เลื่อมใสเพราะเขามี ปาฏิหาริย์ นั้นมันก็หยุดอยู่แค่นั้น ไม่ทำให้รู้ ธรรมะ ได้ ผู้ที่แสดง ปาฏิหาริย์ ๒ วิธีนี้ ไม่ทำให้ผู้ที่ถูกกระทำ ถูกกระทำ ปาฏิหาริย์ นี้ รู้ธรรมะ หรือว่ามีความแจ่มแจ้งในธรรมได้ มันจึงเลยไม่มีประโยชน์อะไร จนกว่าเมื่อไรผู้ที่พ่ายแพ้นั้นจะยอมฟังคำพูด นี่ มันจึงเลื่อนมาเป็น อนุสาสนีปาฏิหาริย์ สมมติว่าทีแรกแสดง ฤทธิ์ ให้ดูจนกลัว จนกลัวทุกอย่างเลยยอมทำตามคำสั่ง ก็ต้องเอามาสอนกันเรื่องธรรมะธรรมโม เรื่องที่จะดับกิเลสได้อีกทีหนึ่ง จะโดย อนุสาสนีปาฏิหาริย์ หรือว่าจะชนะเขามาด้วย อาเทสนาปาฏิหาริย์ คือ การอ่านความรู้สึก ทายความรู้สึกนี้ก็เหมือนกันอีก เพียงเท่านั้นมันช่วยไม่ได้ มันไม่มีประโยชน์แก่การดับทุกข์ มันก็ต้องเนื่องมาถึง อนุสาสนีปาฏิหาริย์ จึงเป็นธรรมดาที่ครูบาอาจารย์จะต้องใช้ โดยเฉพาะพระพุทธเจ้า อนุสาสนี ก็แปลว่า พร่ำสอน สั่งสอน ไม่ใช่สอนคำเดียวเลิกกัน อนุศาสน์ หรือ อนุสาสนี นี้แปลว่า พร่ำสอน ประสาท เฉยๆนั้นแปลว่า สอน พอใส่ อนุ เข้าไปด้วย มันแปลว่า ตาม หรือ ตามลำดับ หรือทำเรื่อยนี้ อนุสาสนี จึงคือ การสั่งสอนด้วยการพร่ำสอนจนกว่าจะรู้ คือ พูดกันหลายคำ แต่ถ้าพระศาสดาเป็นผู้มีปัญญา เป็นพระพุทธเจ้าก็พูดกันน้อยคำ ถึงอย่างนั้นก็ต้องมีการพูดกันหลายคำอยู่ดี
ทีนี้ ก็จะเห็นได้ว่ามันเป็นของที่ต่างกันกับ ปาฏิหาริย์ ๒ อย่างข้างต้น ปาฏิหาริย์ ๒ อย่างข้างต้นใช้กับคนที่โง่หรือโง่มาก และแม้ ปาฏิหาริย์ อันที่ ๓ คือ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ก็ต้องใช้แก่คนที่ยังโง่เหมือนกัน แม้จะไม่โง่อย่างงมงาย ไม่ใช่โง่อย่างดักดาน มันก็ยังอยู่ในวิสัยที่เรียกว่า ยังไม่รู้ คือ ยังโง่ ยังต้องสอนให้หายโง่ มันก็ใช้ ปาฏิหาริย์ ชั้นดีนี้ ไปสอนคนที่โง่น้อยให้รู้สิ่งที่ควรจะรู้ ถ้ามันโง่มากก็สอนไม่รู้เหมือนกัน ดังนั้น เขาจึงมีหลักไว้ว่ามันเหมือนกับบัวต่างๆชนิด บัวที่จะบานเดี๋ยวนี้ บัวที่จะบานวันต่อไป บัวที่ยังไม่โผล่จากน้ำ บัวที่ไม่อาจจะโผล่ขึ้นมาได้เลยนี้ ถ้าคนมันโง่เกินไป – แม้พระพุทธเจ้าก็โปรดไม่ได้ ในทางที่จะให้ดับกิเลสหรือดับทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้ามีความโง่น้อย มีความฉลาดมาก พอที่จะรับ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ได้ พระพุทธเจ้าโดยเฉพาะท่านรู้อะไรมากไปกว่าเรื่องที่ท่านจะสอน คือ ท่านรู้อุปนิสัย อินทรีย์ อะไรต่างๆของบุคคล ก็แปลว่า ท่านรู้จักบุคคลที่จะรับคำสั่งสอนนั้นดีอีกทีหนึ่ง อย่างที่เรียกเดี๋ยวนี้กันว่า วิชาครู แต่พระพุทธเจ้าท่านมีมากกว่านั้น คือ เป็นเรื่องทางจิตใจที่ลึกกว่า สูงกว่า มีจิตใจที่เป็นสมาธิแหลมคมกว่า ก็ดูจิตใจของผู้ที่รับคำสั่งสอนได้ดีกว่า เลือกเรื่องได้ดีกว่าอะไรอย่างนี้ ท่านจึงสอนสำเร็จ เมื่อมันเป็นกรณีของคนธรรมดาไม่โง่เกินไป อันนี้ก็เรียกว่า ปาฏิหาริย์ ได้ สามารถที่จะทำคนที่กำลังเป็นอันธพาล หรือร้ายกาจ หรือกำลังทำผิดอะไรอยู่ ให้กลับเป็นตรงกันข้ามได้ เรื่องที่รู้จักกันดีที่สุด เช่น เรื่ององคุลีมาล เป็นต้น แต่ไอ้เรื่องนั้นยังเล็กน้อยกว่าเรื่องคนที่เขามีทิฏฐิจัด ทิฏฐิมานะจัด มีความเห็นผิดมาแต่เดิม พระพุทธเจ้าสามารถล้างความเห็นผิดของเขาได้นี้ เช่น นักบวชลัทธิอื่น ศาสนาอื่น ที่ยอมแพ้แก่พระพุทธเจ้า แล้วก็มาเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสนานี้ นี่คือ ปาฏิหาริย์ การล้างทิฏฐิ ที่เรียกกันว่า ล้างสมองนี้มันยาก มันต้องทำถึงขนาดที่เป็น ปาฏิหาริย์ อย่างนี้เรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ มุ่งหมายให้เป็นเรื่องบริสุทธิ์ แล้วเป็นเรื่องของสติปัญญา หรือเหตุผลเป็นอย่างน้อย ต่างจาก ปาฏิหาริย์ ๒ อย่างข้างต้น
ทีนี้ ก็ยังมีส่วนที่อยากจะพูดให้เห็น ให้มองเห็น ซึ่งไม่มีหรืออาจจะไม่รวมอยู่ใน ๓ อย่างที่ว่ามาแล้ว คือ จะพูดเป็นประโยคสำหรับจำง่ายอีกทีหนึ่งก็ว่า ความจริงทุกอย่างมันย่อมมี ปาฏิหาริย์ อยู่ในตัวมันเอง ความจริงย่อมมี ปาฏิหาริย์ อยู่ในตัวมันเอง สั้นที่สุดก็ว่าอย่างนั้น ความจริงที่เป็นของจริงทุกชนิดจะมี ปาฏิหาริย์ อยู่ในตัวมันเอง แล้วพวกเราจะพ่ายแพ้แก่ ปาฏิหาริย์ นี้ ไม่มีทางดิ้นไปได้ ทีนี้ ก็ขอให้มองในสิ่งที่เรียกว่า ความจริง เมื่อพูดถึงความจริง นี้ก็ต้องหมายถึง ความจริงชนิดที่จริง จริง จริง ไอ้จริงกันโดยสมมติ จริงกันโดยโวหารธรรมดาไม่รวมอยู่ในข้อนี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังใช้กฎอันนี้ได้ ใช้กฎเกณฑ์อันนี้ได้ ถ้าความจริงย่อมมี ปาฏิหาริย์ อยู่ในตัวมันเอง จะจริงอย่างสมมติ จริงอย่างเด็กๆ จริงอย่างอะไรก็ตามมันก็ใช้กฎอันนี้ได้ แต่โดยเนื้อแท้เราไม่ประสงค์ในความจริงไอ้เด็กอมมือ หรือไอ้ความจริงระดับธรรมดาอย่างนั้น เราเล็งถึงความจริงที่เป็น หลักธรรมะ ที่เป็นความจริงของธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจริงเรื่องที่จะดับทุกข์ที่เรียกว่า อริยสัจจ์ นั้น ความจริงที่เมื่อใครรู้แล้ว หรือเข้าถึงแล้ว หรือมีแล้ว มันดับทุกข์ได้ เราเรียก ความจริง ในที่นี้ แล้วก็มี ปาฏิหาริย์ อย่างยิ่งอยู่ในตัวมันเอง ส่วนความจริงนอกไปจากนั้น ต่ำๆลงไป มันก็มี ปาฏิหาริย์ อยู่ในตัวมันเองเหมือนกัน แต่เป็นเรื่องเล็กๆ เมื่อเอาไปเทียบกับเรื่องความจริงสูงสุดแล้วมันไกลกันมาก ความจริงเช่นว่า พูดจริง ความสัตย์นี่เรียกว่า ความจริง คนนี้พูดจริง ถือความสัตย์ซึ่งใครๆรู้ ไอ้ความสัตย์หรือความจริงของเขานั้นมันก็ทำให้คนอื่นชอบ นับถือ เลื่อมใสไปได้ ความจริงอันนั้นของเขามีอำนาจครอบงำจิตใจบุคคลอื่นได้ นี่ ก็เรียกว่า ความจริงมี ปาฏิหาริย์ ในตัวมันเองได้เหมือนกัน หรือแม้แต่จริงที่มันรู้กันอยู่อย่างเด็กๆก็รู้ เช่น ไฟนี้มันร้อนจริง หรือน้ำตาลมันก็หวานจริง บอระเพ็ดมันก็ขมจริงอย่างนี้ก็เรียกว่า จริง ชนิดหนึ่งเหมือนกัน มันก็จริงตามที่รู้อยู่ว่าเป็นอย่างไร มันก็มี ปาฏิหาริย์ คือ มันมี ปาฏิหาริย์ ที่ให้คนจะต้องยอมรับ และกลัว หรือว่าเชื่อไปตามนั้น ลงมัน จริง แล้วมันก็มี ปาฏิหาริย์ อยู่ในตัวมันเอง ที่เราเอาความจริงที่มันมากกว่านั้น นั้นมันธรรมดาเกินไป นับขึ้นมา ตั้งต้นที่ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็น อนัตตา นี่ให้เข้าถึงความจริงข้อนี้ สังขาร คือ สิ่งที่ประกอบอยู่ด้วยเหตุปัจจัย เป็นของไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ สิ่งทุกสิ่งเป็น อนัตตา ไม่ว่าจะประกอบอยู่ด้วยปัจจัย-เหตุปัจจัยหรือไม่ประกอบอยู่ด้วยเหตุปัจจัย ย่อมเป็น อนัตตา ความจริงอันนี้ใครไปรู้เข้านี่ มันจะมี ปาฏิหาริย์ เหลือประมาณ นับตั้งแต่จะทำให้คนนั้นพอใจ ชอบใจ ศรัทธา เลื่อมใส เปลี่ยนความรู้สึกคิดนึก แล้วมันก็จะเปลี่ยนจิตใจของบุคคลนั้นให้มีความจางคลายของกิเลสจนไม่มีกิเลสเหลืออยู่ นี้เรียกว่า ไอ้ความจริงนี้มันมี ปาฏิหาริย์ อยู่ในตัวมันเอง ดังนั้น เรายอมรับความจริงนี้ โดยไม่ต้องใช้ ปาฏิหาริย์ อื่น แม้ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ นั่นจึงจะถูกต้อง เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ก็ตรัสยืนยันว่า ให้ใช้ความเห็นแจ้งของตัวเอง อย่าเชื่อตามผู้อื่น อย่างในหลัก กาลามาสูตร ให้ไปจดจำกันไว้บ้าง ให้เชื่อความเห็นแจ้งอันด้วยปัญญาถูกต้องตามที่เป็นจริงของตนเองนี้ แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะเป็นผู้บอกก็ยังไม่เชื่อ เพราะมันเชื่อไม่ได้ถ้าเราไม่เห็นเอง-มันเชื่อไม่ได้ คือ มันไม่ยอมเชื่อ ถ้าเชื่อมันก็ไม่มีประโยชน์ มันไม่ทำให้ไอ้จิตใจนี้เปลี่ยนแปลงได้ ต่อเมื่อเราเห็นด้วยปัญญาเอง จิตใจมันจึงจะเปลี่ยน เราจะเชื่อด้วยความเชื่อ หรือด้วยความเคารพพระพุทธเจ้าว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ มันก็ไม่เกิดผลอะไรขึ้นในจิตใจในทางที่จะทำลายกิเลส ต่อเมื่อเรามันเห็นชัดด้วยปัญญา ความเชื่อ ความรู้สึกของตนเองนี้จึงจะเปลี่ยนได้ มันกลายเป็นเชื่อความจริง หรือตัวสิ่งนั้นเองที่มองเห็นนั่นแหละ มันจึงเปลี่ยนจิตใจทำให้หมดกิเลสได้ เรื่อง กาลามาสูตร นี้ บางคนยังไม่เคยได้ยิน บางคนได้ยินแล้วก็ไม่ค่อยสนใจ นี่ ผมขอร้องให้ไปดูกันเสีย และให้เข้าใจด้วย ไม่ใช่เพียงแต่จำได้ แต่ต้องเข้าใจด้วย เกี่ยวกับผู้ได้ยินได้ฟัง มันมีอยู่ ๓ ข้อ
มา อนุสสะเวนะ อย่าเชื่อเพราะได้ฟังตามๆกันมา
มา อิติกิรายะ อย่าเชื่อเพราะมันกำลังลือกระฉ่อนอยู่อย่างนั้น
มา ปรัมปรายะ อย่าเชื่อเพราะว่ามันสืบๆกันมาแต่ดึกดำบรรพ์อย่างนี้
ทีนี้ที่เกี่ยวกับหนังสือหนังหา ตำรับตำรา มีอยู่ ๑ ข้อ
มา ปิฏะกะสัมปะทาเณนะ อย่าเชื่อเพราะว่าข้อนี้มันมีอยู่ในตำรา
ทีนี้ ที่เกี่ยวกับการคิดการคำนวณ มันก็มีอยู่ ๔ ข้อ
มา ตรรกกะเหตุ อย่าเชื่อตามวิธีของตรรกะ (44.28)
มา นะยะเหตุ อย่าเชื่อตามวิธีของนัย คือ ปรัชญา นั่นเอง คือ หลักวิธีของ ปรัชญา
มา อาการะปะริวิตักเกนะ อย่าเชื่อตามสามัญสำนึก ตามที่เป็นไปตามอาการ ตัวหนังสือว่าอย่างนั้น
มา ทิฏฐินิชฌานักขันติยา อย่าเชื่อเพราะว่านี้มันทนต่อการพิสูจน์ของเราได้ ข้อนี้ฟังยาก แต่มันหมายความว่า เรามันยังโง่ไป การพิสูจน์ของเรามันยังไม่พอ อย่าเชื่อแต่เพียงว่ามันทนต่อความพิสูจน์ต่อความเห็นของเราได้
ที่เกี่ยวกับผู้อื่นก็มีอยู่ ๒ ข้อ
มา ภัพพะรูปะตายะ อย่าเชื่อเพราะว่าคนนี้มันดูน่าเชื่อ
อันสุดท้ายที่สำคัญก็
มา สัมโณโน คะรูติ อย่าเชื่อเพราะว่า สมณะ นี้เป็นครูของเรา
นี่มันก็หมดกันเท่านั้นแหละ และพระพุทธเจ้าท่านก็ปฏิเสธตัวเองด้วย อย่าให้ใครมาเชื่อท่านเพราะว่าท่านเป็นครูของเขา อย่างนี้ก็เรียกว่าหลัก กาลามสูตร ให้เชื่ออะไร? ให้เชื่อด้วยอะไร? ให้เชื่อต่อเมื่อประจักษ์แต่ความรู้ในภายในอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง เรียกว่า ยถาภูตะสัมมัปปัญญา ปัญญาที่ถูกต้องตามที่เป็นจริง เจ้าปัญญานี้ไม่ใช่ปัญญาเล่าเรียน หรือปัญญาคิดคำนวณ เป็นปัญญาจากความรู้สึก ถ้ายังไม่รู้สึกก็ต้องพยายามไปจนรู้สึก ให้มันเห็นว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จริง อย่างนี้เป็นต้น หรือว่า กิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์อย่างนี้ ไม่ต้องคำนวณด้วยเหตุผล มันต้องมีกิเลสจริงและเป็นทุกข์จริงและรู้ได้จากความที่มันเป็นทุกข์จริง รู้สึก อย่างนี้เรียก ปัญญาถูกต้องตามที่เป็นจริง คำนี้ก็ไม่ค่อยจะรู้กันนัก แต่ในบาลีมี ให้เชื่อด้วย หรือตาม ยะถาภูตะสัมมัปปัญญา ปัญญาที่ถูกต้องตามที่เป็นจริง จำง่ายๆเช่นว่า ไฟร้อนนี้ เขาบอกยังไม่เชื่อ เห็นคนอื่นไฟไหม้มือแสดงอาการว่าร้อน นี้ ก็ยังไม่เชื่อ เพียงแต่เชื่อว่าคงจะเป็นอย่างนั้น จนกว่าตัวเองไปหยิบไฟเข้าจริงๆแล้วร้อนนี้จึงจะเชื่อ ความรู้แจ่มแจ้งว่าไฟร้อนนี้จริงด้วยตนเอง นี้ก็เรียกว่า ยะถาภูตะสัมมัปปัญญา
ทีนี้ เรื่องในใจเป็นเรื่องของ กิเลส ตัณหา เป็นเรื่องในใจ มันมีทางทำได้ง่ายกว่านั้นเพราะมันเคยอยู่แล้ว มันเคยรัก เคยเกลียด เคยโกรธ เคยกลัว เคยโลภ เคยหลง มาอยู่แล้ว มันศึกษาจากความรู้สึกโดยตรงนั้นมันก็รู้ได้ หลายๆหนเข้าก็ยิ่งรู้ชัดขึ้น ชัดขึ้นทุกที นี่ ทุกทีเราจะพ่ายแพ้แก่ความจริงซึ่งมี ปาฏิหาริย์ อยู่ในตัวมันเองไม่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เรื่องนี้พระพุทธเจ้าท่านทรงยืนยันอยู่เสมอว่า ตถาคตจะเกิดขึ้น หรือตถาคตจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม ไอ้ ธรรมทิฏฐิ หรือ ธรรมธาตุ ย่อมมีอยู่อย่างนั้นเอง หมายถึง กฎธรรมดา กฎธรรมชาติ หรือความจริงของธรรมชาตินั้น มันจะมีอยู่อย่างนั้นเอง และในนั้นแหละมี ปาฏิหาริย์ ไม่ต้องมีใครมาพูด หรือเอามาพูด หรือมาชี้แจงอะไรก็ได้ ลองไปเข้าถึงมันเถิด มันจะมี ปาฏิหาริย์ ที่จะครอบงำจิตใจของบุคคลนั้นให้ยอมแพ้ เช่นเดียวกับว่า ไฟมันร้อนนี่ เรามันยอมแพ้ทันทีพอไปถูกเข้า รู้ความจริงเข้า มันก็เลยเป็น ปาฏิหาริย์ ซึ่งไม่รวมอยู่ใน ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างที่ว่ามาแล้ว เป็น ปาฏิหาริย์ อันลึกซึ้ง อันพิเศษ อยู่ในตัวความจริง และเราก็รอดตัวมาด้วย ปาฏิหาริย์ นี้ เชื่อไม่เชื่อก็ไปลองคิดดู เราไม่ได้รอดตัวมาได้ด้วย อนุศาสนีย์ปาฏิหาริย์ หรืออะไรเพียงเท่านั้น เรามาพ่ายแพ้ให้แก่ ปาฏิหาริย์ ของความจริงในตัวมันเอง เราจึงรอดตัวได้ นี่แหละ พระธรรมเป็นผู้แสดงบทบาทในความเป็น ปาฏิหาริย์ ของพระธรรม หรือธรรมะ หรือว่าธรรมธาตุ หรือว่าธรรมทิฐิ หรืออะไรแล้วแต่จะเรียก มันเป็นตัวความจริงของความจริงของมันเอง พอใครเห็นธรรมะนี้ คือ รู้ธรรมะนี้ ธรรมะนั้นจะแสดง ปาฏิหาริย์ ขึ้นมาทันที คือว่า เปลี่ยนจิตใจของบุคคลคนนั้น นี่ เรารอดตัวมาก็ด้วย ปาฏิหาริย์ อันนี้ แต่ว่าเราอาจจะไม่รู้สึกเพราะไม่เคยคิด ไม่เคยดูอะไรก็ได้ แต่ต่อไปข้างหน้าจะต้องดู เพราะเรื่องมันสำคัญมากขึ้น คือ มันจะไปถึงความดับทุกข์ ความพ้นทุกข์ แต่ที่แล้วมาแต่เด็กๆเล็กๆมาเราก็เกี่ยวข้องกับไอ้ ปาฏิหาริย์ นี้ แล้วก็รอดตัวด้วยไอ้ ปาฏิหาริย์ นี้เรื่อยๆไป เพราะพ่อแม่สั่งสอนอย่างไรเราก็ยังไม่เชื่อ จนกว่าธรรมะหรือความจริงอะไรอันหนึ่งนี้ จะเรียกว่า พระธรรม หรือ พระเจ้า หรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียกนี้จะเข้ามาสั่งสอน จะเข้ามาแสดง ปาฏิหาริย์ มาแสดงบทบาท ถ้ามันเหมาะสมกันเราก็พ่ายแพ้ แล้วยอมเปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนไอ้สันดานที่เลว หรืออะไรไปเป็นคนดีได้ ถ้าอันนี้ ความจริง หรือ พระธรรม อันนี้ยังไม่แสดงบทบาท มันก็ไม่มีการเปลี่ยน มันก็ยังดื้อพ่อ ดื้อแม่ ดื้อศาสนา ดื้อคำสั่งสอน ดื้ออะไรทุอย่าง บางทีมันจะไปยอมแพ้ อิทธิปาฏิหาริย์ หรือ อาเทสนาปาฏิหาริย์ แบบโน้นไปเสียมากกว่า แต่แล้วก็ไปไม่รอดอยู่ดีเพราะว่าคนที่แสดง อิทธิปาฏิหาริย์ เขาไม่เคยสอนให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในทางจิตนี้ เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ของ อิทธิปาฏิหาริย์ เว้นเสียแต่ว่าจะเอามาสวมต่อๆๆๆกันเข้า เลื่อนลำดับมาเรื่อย จาก อิทธิปาฏิหาริย์ มาถึง อาเทสนาปาฏิหาริย์ จาก อาเทสนาปาฏิหาริย์ มาถึง อนุสาสนีย์ปาฏิหาริย์ จาก อนุสาสนีย์ปาฏิหาริย์ มาถึง ธรรมะปาฏิหาริย์ หรือ สัจจะปาฏิหาริย์ คือ ปาฏิหาริย์ ในตัวความจริงนั้นเอง
ทีนี้ ก็มาถึงข้อที่ต้องมองดูกันว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ถือว่าไอ้ร่างกายองค์ๆนั้น เป็นองค์ๆนั้นเป็นพระพุทธเจ้า ท่านสอนให้มองจนเห็นว่า ผู้ใดเห็น ธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็น ธรรม ผู้ใดเห็น ธรรม จึงจะได้ชื่อว่าเห็นเรา เห็นด้วยตาที่เดินอยู่ หรือถ้าไปจับตัว เกาะแข้ง เกาะขาได้ นั้นก็ไม่ใช่พระพุทธเจ้า มันเป็นเพียงภาชนะ หรือเปลือก หรืออะไรอันหนึ่งซึ่งซ่อนความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ข้างใน ความเป็นพระพุทธเจ้า คือ ธรรม ต้องเห็น ธรรม ก็คือ เห็นความจริงที่ว่านี้ ธรรมะที่ดับทุกข์ได้ คือ ธรรม ผู้ใดเห็น ธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็น ธรรม อันนี้จึงได้ชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราต้องหมายความว่าผู้นั้นเห็น ธรรม เพราะฉะนั้น ตัวพระพุทธเจ้าแท้นั้นใครเห็นเข้าก็จะพ่ายแพ้ คือ เห็น ธรรม หรือ ความจริง ซึ่งมี ปาฏิหาริย์ อยู่ในตัว พอเห็นเข้าก็จะเปลี่ยนจากไอ้คนธรรมดาที่มีความทุกข์ ความโง่ ความหลง ไปเป็นไอ้คนที่ประเสริฐ เป็นพระอริยะเจ้าในอันดับแรก และเป็นต่อไปตามลำดับ จนถึงที่สุดได้ นี่เราเรียกว่า ธรรมะ มี ปาฏิหาริย์ อยู่ในตัว ธรรมะ เอง ถ้าไปเจอแตะต้องเกี่ยวข้องให้ได้จะเกิดการเปลี่ยนแปลง คนถึง ธรรม หรือ ธรรม ถึงคน คนถึง ธรรม หรือ ธรรม ถึงคน แล้วแต่จะพูดด้วยประโยคไหนมันเหมือนกัน ถ้าคนถึง ธรรม ธรรม มันก็ถึงคน ธรรม ถึงคน คนมันก็ถึง ธรรม นี่มันเป็นความหมายเดียวกัน เพราะฉะนั้น เราเมื่อจะเป็นบุตรที่ดีของพระพุทธเจ้า หรือว่าเป็นบุตร หรือมีการเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าจริงๆ มันก็ต้องถึงข้อนี้ คือ ถึง ธรรม ซึ่งเป็น ปาฏิหาริย์ อยู่ในตัวมันเอง แล้วมันก็จะเปลี่ยนในสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ให้กลายเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาไปจนหมดสิ้น
เพราะฉะนั้น การประพฤติ ธรรม ทั้งหลายที่เราเรียน หรือสอน หรือปฏิบัติกันอยู่ก็เพื่อจุดประสงค์อันนี้ ประพฤติ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เพื่อจุดประสงค์จะให้ถึง ธรรม การประพฤติ ธรรม ก็เพื่อจะให้ถึง ธรรม เมื่อถึง ธรรม ในความหมายที่ถูกต้องอย่างนี้มันก็จบเรื่อง นี่ จะมองกันในแง่ไหนก็ได้ นี่ เราพูดกันอุปมาว่า เดี๋ยวนี้เป็นลูกของพระพุทธเจ้าจริงๆ คือ ถึง ธรรม จริงๆ แล้วประโยชน์มันก็เกิดขึ้น คือว่า มันก็ดับทุกข์ได้ มีความทุกข์ดับไปตามสัดส่วนที่ว่าถึงได้มากน้อยเท่าไร ถึงที่สุดแล้วก็ถึงมีประโยชน์ที่สุด แต่อย่างน้อยก็ขอให้มันถึงในระดับที่เขาเรียกว่า ถึงประตู ซึ่งเป็น ไวพจน์ ของความเป็น พระโสดาบัน ถึง ประตูของธรรม หรือว่า ถึงประตูของนิพพาน เป็นอันว่ามันเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ มันมีแต่จะไปตามทางที่ถูกต้องจนถึงอันดับสุดท้ายนี้
นี่คือ ข้อความที่ได้พูดมาแล้ววันก่อนๆก็เป็นเรื่องนี้ เรื่องที่ว่าธรรมชาติมันสร้างเรามา เพื่อมาเป็นลูกของพระพุทธเจ้า โดยที่เราจะรู้หรือไม่รู้ ยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ตาม และพ่อแม่ของเราจะรู้หรือไม่รู้ ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ธรรมชาติมันต้องการอย่างนี้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะลงโทษ คือ จะให้เป็นทุกข์นานาชนิด หาความสุขไม่ได้ เพราะฉะนั้น ควรจะรีบ รีบเอาชนะ หรือว่าถึง ธรรมะ เสียในเวลาอันสมควร ถ้าพูดอุปมาก็ว่า เป็นลูกของพระพุทธเจ้าเสียให้ถึงขั้นที่ปลอดภัย
แล้วก็ขอแถมในข้อที่ว่า อย่าไปหลงโง่หวังพึ่ง ปาฏิหาริย์ ชนิดที่คนธรรมดาเขาหวังพึ่งกันนัก เอา ธรรมะ ใส่ไว้ในใจนี้ ดีกว่าจะมาห้อยอะไรไว้ที่คอให้มันรุงรัง ธรรมะ ในใจนั้นเป็น ปาฏิหาริย์ กว่าไอ้สิ่งที่ห้อยไว้ให้รุงรังอยู่ที่คอ
เอาละพอกันที