แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำบรรยายเรื่องสมาธิภาวนา หรืออธิจิตตาโยคธรรม ในครั้งที่ ๑๒ นี้ คือ คำอธิบายอานาปานสติ หมวดที่ ๔ เนื่องจากได้อธิบายมาตามลำดับแต่หมวดที่ ๑ ๒ ๓ เป็นต้นมา วันนี้ก็มาถึงหมวดที่ ๔ คือการปฏิบัติในการทำตนให้เป็นผู้ตามเห็นอยู่ซึ่งความไม่เที่ยง ความจางคลาย ความดับ และความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ ทั้ง ๔ ขั้นนี้ รวมเรียกว่า หมวดธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน แล้วก็จัดเป็นหมวดที่ ๔ ซึ่งก็ทราบกันอยู่เป็นอย่างดีแล้ว ว่าหมวดที่ ๑ คือ กายานุปัสสนาสติปัฎฐาน พิจารณาเกี่ยวกับกาย หมวดที่ ๒ เวทนานุปัสสนาสติปัฎฐาน พิจารณาเกี่ยวกับเวทนา หมวดที่ ๓ จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน พิจารณาเกี่ยวกับจิต หมวดที่ ๔ ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน พิจารณาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆ ของสภาวธรรม
ตรงนี้อยากจะขอเตือนให้ทบทวนไปถึงคำพูดครั้งแรกว่า อานาปานสติ นั้น มิใช่กำหนดลมหายใจโดยตรง หรือแต่อย่างเดียว แต่ได้กำหนดอยู่ที่สภาวธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือข้อเท็จจริงที่เนื่องกันอยู่กับสภาวธรรมนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ทุกครั้งที่มีการหายใจออก-เข้า ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า อานาปานสติ ไปทั้งหมดแม้จะมีอยู่ถึง ๑๖ ขั้น หรือ ๑๖ ชนิดของอารมณ์ที่ต่างต่างกัน มาใช้เป็นอารมณ์ของอานาปานสติ ประเภทนี้ ซึ่งเรียกว่า ประเภทสมบูรณ์แบบ โดยประเภทอื่น โดยอานาปานสติอย่างอื่นนั้นไม่สมบูรณ์แบบ
ทีนี้ก็ต้องขอให้ทบทวนอีกครั้งหนึ่งถึงเงื่อนต่อ ที่ต่อกันอยู่อย่างไม่ขาดสายในระหว่างขั้นก็ดี ในระหว่างหมวดก็ดี นี้คือความสำคัญที่สุดของอานาปานสติ ชนิดที่เรียกว่าสมบูรณ์แบบ สำหรับเงื่อนต่อระหว่างหมวดนั้น ขอให้กำหนดให้ได้ใจความสั้นๆ ที่สุดว่า หมวดกายานุปัสสนาสติปัฎฐานนั้น ปฏิบัติแล้วมีผลทำให้เกิดสมาธิ ในขั้นสุดท้ายของหมวด และก็ทำให้มีสิ่งที่เรียกว่าปีติและสุขปรากฎอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าสมาธินั้น นี่คือเงื่อนตอนท้ายของหมวดที่ ๑ คือ ปีติและสุข ทีนี้หมวดที่ ๒ คือ เวทนานุปัสสนาสติปัฎฐานนั้น ก็เริ่มฉวยเอาปีติและสุขนั้นเป็นบทเรียน ปฏิบัติไปเพื่อให้สามารถบังคับจิตได้ ผลที่ทิ้งไว้ตอนปลายของไอ้หมวดนี้ก็คือการบังคับจิตสังขารให้ปรุงแต่งจิตเท่าไร อย่างไร หรือไม่ปรุงแต่งเลยได้ตามต้องการ นี้เราเรียกว่าบังคับจิต ทางจิตสังขารได้ ทิ้งเงื่อนตอนท้ายของหมวดนี้ไว้อย่างนี้ ทีนี้หมวดที่ ๓ คือหมวดจิตตานุปัสสนาสติปัฎฐานนั้น ดูลักษณะต่างๆ ทางจิตที่มันเนื่องกันอยู่กับจิตสังขารนั่นเอง แล้วก็ฝึกจิตให้อยู่ในอำนาจโดยประการต่างๆ คือให้ปราโมทย์ก็ได้ ให้ตั้งมั่นก็ได้ ให้ปล่อยก็ได้ ทิ้งเงื่อนตอนท้ายไว้ในลักษณะที่เป็นจิตที่ได้ฝึกฝนอบรมดีอยู่ในอำนาจแล้ว นี่เป็นเงื่อนตอนท้ายของหมวดที่ ๓ ทีนี้หมวดที่ ๔ ก็กล่าวได้ว่า ใช้จิตชนิดที่ฝึกดีแล้วอย่างนั้นดูสิ่งที่เรียกว่าอนิจจัง กระทั่งวิราคะ นิโรธะ และปฏินิสสัคคะ ไปตามลำดับ แล้วก็จบกัน ถ้าไม่เข้าใจในเงื่อนที่มันต่อกันหรืออาการที่มันต่อกันอย่างนี้แล้ว ชื่อว่าไม่เข้าใจอานาปานสติ แบบนี้ ต้องพยายามทำความเข้าใจในข้อนี้ ผลของมันก็คือ ไม่เฟือน ไม่เลือน จะมีการปฏิบัติที่ก้าวหน้าไปเป็นอัตโนมัติอย่างถูกต้อง นี่เรียกว่าเป็นเงื่อนต่อระหว่างหมวดต่อหมวด ทีนี้ภายในหมวดหนึ่งๆ ก็มีเป็นขั้นๆ ๔ ขั้นทุกหมวด เงื่อนต่อระหว่างขั้นนั้นเข้าใจง่าย จึงไม่จำเป็นจะต้องอธิบายในที่นี้ ไปทบทวนดูด้วยตนเองได้
ทีนี้ก็จะได้กล่าวถึงหมวดสุดท้าย คือหมวดธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐานนี้โดยละเอียด หมวดนี้ได้ชื่อว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐานเพราะเหตุใด คงจะเข้าใจได้ไม่ยากนัก เพราะเหตุว่า อนิจจังนั้นก็คือธรรม ที่เป็นลักษณะของสภาวธรรม คือความเป็นอนิจจัง หรืออนิจจตา นี้วิราคะ ก็คือธรรมที่ปรากฎมาจากการเห็นอนิจจัง ก็เรียกว่าธรรมด้วยเหมือนกัน นิโรธะ ดับกิเลส ดับทุกข์ ก็เรียกว่าธรรมด้วยเหมือนกัน ปฏินิสสัคคะ การสลัดคืน สิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่น ก็เรียกว่าธรรมได้เหมือนกัน งั้นเราจึงมีสิ่งที่เรียกว่าธรรม เป็นอารมณ์ของหมวดนี้ ก็เลยได้ชื่อว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน นี้คือความรัดกุมที่สุดของอานาปานสติ แบบนี้ หรือของสติปัฎฐาน ๔ ตามแบบนี้ สติปัฎฐาน ๔ ตามแบบอื่น เช่นแบบมหาสติปัฎฐานสูตรเป็นต้น ไม่อธิบายอย่างนี้ ขอให้ไปเปิดดูเองได้ ยกตัวอย่างเช่น หมวดธรรมนี้ ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐานนี้ ก็ระบุเรื่องนิวรณ์ เรื่องอริยสัจ เรื่องโพชฌงค์ เรื่องมรรคมีองค์ ๘ เป็นหมวด หมวดๆๆ ไปเลย ซึ่งมันก็พร่า หรือกว้าง ก็เป็นหมวดธรรมตามธรรมดาเอามากองๆ เข้าไว้ นี่ความแตกต่างมันอยู่กันที่ตรงนี้ แบบนี้คือคำว่า ธรรมนั่นก็คือ ธรรม ๔ อย่างที่เนื่องกันไป เห็นอนิจจังแล้วก็เกิดวิราคะ เมื่อเกิดวิราคะก็จางคลาย แล้วมันก็สลายตัวลง สลายตัวลงก็เกิด ปฏินิสสัคคะ คือขว้างทิ้งกลับไป มันจะเนื่องกันอย่างนี้ เราจะหาความเนื่องกันอย่างนี้ไม่พบในสติปัฎฐานแบบมหาสติปัฎฐานสูตรในทุกหมวดเลย จะเป็นหมวดกายาก็ตาม เวทนา จิตตา ธรรมาอะไรก็ตาม นี่ขอให้สังเกตข้อเท็จจริงอันนี้ไว้ด้วย
ทีนี้ก็จะได้ดูกันถึงคำว่า อนิจจานุปัสสี ข้อแรก เป็นผู้ตามเห็นความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ การปฏิบัติก็คือ ย้อนไปทำอานาปานสติ มาตั้งแต่ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ขึ้นมาเรื่อย ทบทวนให้คล่องแคล่ว ชัดเจน แจ่มแจ้งในทุกทั้ง ๑๒ ขั้นที่แล้วมา เพราะเดี๋ยวนี้เรากำลังปฏิบัติในขั้นที่ ๑๓ ใน ๑๒ ขั้นที่แล้วมา ทบทวน ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๑๐ ๑๑ ๑๒ นะ แล้วก็ ๑๒ ๑๑ ๑๐ ๙ ๘ ๗ ๖ ๕ ๔ ๓ ๒ ๑ ไปอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็ค่อยเกิดแง่มุมต่างๆ ขึ้นมาเต็มไปหมด สำหรับจะให้เราพิจารณาดูความไม่เที่ยง เช่นว่า เรื่องลมหายใจยาว นี่ก็ดูความไม่เที่ยงของลมหายใจ ของความยาว ความสั้น ของความที่มันไม่ได้อยู่เฉยๆ มันปรุงแต่ง ร่างกายอย่างนั้น อย่างนี้ ร่างกายที่ถูกปรุงแต่งก็ไม่เที่ยง อย่างนั้น อย่างนี้ แม้ในการพิจารณาลมหายใจที่ยาวนี่ก็มีแง่มุมเป็นอันมาก ให้ดูความไม่เที่ยง พิจารณาลมหายใจสั้นก็เหมือนกัน มีแง่มุมเป็นอันมาก ที่จะให้เราสามารถดูเห็นความไม่เที่ยง ทีนี้เมื่อมาถึงขั้นที่ ๓ กายสังขาร ก็มีแง่มุมเป็นอันมาก และยิ่งทำกายสังขารให้ระงับอยู่จนเกิดสมาธิ เกิดฌาณ ยิ่งมีแง่มุมเป็นอันมาก อะไรๆ ก็ตามที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับข้อปฏิบัติเหล่านี้มันเป็นสังขารทั้งนั้น และมันเต็มไปด้วยความไม่เที่ยง อารมณ์ที่เอามากำหนด คือลมหายใจนี้ก็ไม่เที่ยง จิตก็ไม่เที่ยง สติก็ไม่เที่ยง องค์ฌาณก็ไม่เที่ยง นิวรณ์ก็ไม่เที่ยง นี่เห็นความไม่เที่ยงพรั่งพรูไปหมด แล้วแต่จะมองไปทางไหน ก็เห็นความไม่เที่ยง ที่มาถึงหมวดเวทนา ก็เห็นเวทนาและไอ้ทุกๆ สิ่งที่มันเกี่ยวกับเวทนาไม่เที่ยง มีมากแง่มากมุมที่จะเห็นความไม่เที่ยงจากเวทนาและสิ่งที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับเวทนานั้น มาหมวดจิตก็ดูจิต หลายๆ ชนิดนานาชนิด แล้วก็พลิกแพลงไปมาอย่างนั้นอย่างนี้ ตามการบังคับ นี่ก็มากแง่มากมุมที่จะเห็นความไม่เที่ยง นี่ก็ขอทบทวนอีกทีว่า การพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงนี้ ไม่ใช่นั่งพิจารณาว่ามันอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น โดยการคำนึง คำนวน แต่ต้องดูเข้าไปตรงๆ ที่สิ่งที่มันปรากฎอยู่ในความรู้สึกนั่น แล้วก็เห็นความไม่เที่ยงที่นั่นอย่างชัดเจน ไม่ต้องคำนึงคำนวน ไม่ต้องสันนิษฐาน ไม่ต้องใช้เหตุผลอะไร ก็มองเห็นชัดอยู่ ทีนี้เมื่อดูอยู่ที่ตัวจริงอย่างนั้นนั่นแหละมันจะเห็นทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกัน เช่นเหตุผล เช่นอะไร ก็จะปรากฎชัดออกมา
ทีนี้เราก็จะตั้งปัญหาขึ้นเพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับความไม่เที่ยงนี้บ้างตามสมควร เช่นปัญหาว่า ที่เรียกว่ามันเที่ยงมันคือ อย่างไร ตอบได้สั้นๆ ว่า ไม่เที่ยงนะ คือมันเกิด-ดับเรื่อย แล้วไม่เที่ยงนั่นคือ เกิดทีหลังไม่เหมือนกับทีแรก มันเกิด-ดับเรื่อย และเกิดทีหลังไม่เหมือนกับทีแรก นี่บทนิยามที่เป็นหลักเหตุผลที่สุดหรือเป็นโลจิกที่สุด ทีนี้เราก็พูดไปได้ว่า ไอ้ที่มันเกิดดับเรื่อย และไม่เหมือนกันเรื่อย คือความเปลี่ยนแปลง ความไหลไป ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วแต่จะพูด คำมันมากมาย แต่หัวใจมันอยู่ที่ตรงนี้ ว่ามันเกิด-ดับ เสียเรื่อย แล้วก็มันเกิดทีหลังไม่เหมือนกับเกิดทีแรก ถ้าไปต่างประเทศไปสอนพวกฝรั่งที่เป็นนักศึกษาแล้วก็ บอกให้ค้นดูทฤษฎี แพนทาเร (Panta Rhei) ของฮิราคลิตัส (Heraclitus) แพนทาเร ชื่อทฤษฎี แปลว่าทุกอย่างไหล ของนักปรัชญาชื่อ ฮิราคลิตัส พวกกรีกพร้อมกับสมัยพระพุทธเจ้า พร้อมๆ สมัยกับพระพุทธเจ้า เพราะพวกฝรั่งเขาเข้าใจอันนี้ดีอยู่แล้ว และทฤษฎีอันนี้แสดงไอ้ความ ทุกอย่างไหลได้ดีอยู่แล้ว เราก็ไม่เสียเวลาที่จะอธิบาย
ทีนี้ปัญหาต่อไปก็ว่า อะไรไม่เที่ยง ตอบอย่างยาว ตอบในโรงเรียนนักธรรม ก็ตอบสั้นๆ ลุ่นๆ ว่าสังขารไม่เที่ยง ที่เราสวดมนต์อยู่ สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง นี้มันได้ประโยชน์น้อย เพราะคำว่าสังขารที่ไม่เที่ยงนี้มันคืออะไร ก็ยังมีทางที่จะพิจารณา งั้นถ้าเป็นนักเลง เขาไม่ตอบอย่างนั้น ถ้านักเลงกรรมฐานอานาปานสติ เขาไม่ตอบอย่างนั้น นี่ในปฎิสัมภิทามรรค แจกลูกออกไปว่า ตอบกันอย่างชัดเจนละก็ว่า ขันธ์ ทั้งหลายนี่ สภาวธรรมที่ปรากฏตัวยืนโรงอยู่นี่เรียกว่าขันธ์ทั้งหลายในฐานะเป็นสภาวธรรม ไม่เที่ยง ทีนี้ก็อายตนะ ในฐานะที่เป็นสื่อหรือเป็นเงื่อนสำหรับติดต่อกันระหว่างสองฝ่าย คือข้างนอกและข้างในนี่ อายตนะนี้ก็ไม่เที่ยง ที่ถัดไปก็คือ ปฏิจจสมุปาทะ คืออาการที่มันอาศัยกันและกันแล้วเกิดขึ้นเรื่อย นี่คือสิ่งที่ไม่เที่ยง นั้นโดยหมวดใหญ่ๆ แล้วก็ได้ทั้ง ๓ หมวด สำหรับสิ่งที่เรียกว่าไม่เที่ยง จำนวนของมันมีนับด้วยร้อยด้วยพันด้วยหมื่นก็ได้ แต่สังเคราะห์ลงได้เพียง ๓ หมวดที่เป็นหลัก หนึ่งไอ้ตัวสภาวธรรมตามธรรมดา ตามธรรมชาติ คือขันธ์ คือธาตุ คืออะไรก็แล้วแต่จะเรียก รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามธรรมดา ตามธรรมชาติ ก็คือสิ่งที่ไม่เที่ยง นี่เราก็มีมาก แจกออกไปเถอะ แจกขันธ์เป็นรูปนั้นรูปนี้ อุปาทายรูป มหาภูตรูป หรืออะไรรูป มากมาย แล้วก็เวทนาก็เหมือนกันแหละ เวทนาอย่างนั้น เวทนาอย่างนี้ สัญญาอย่างนั้น สัญญาอย่างนี้ สังขารอย่างนั้น สังขารอย่างนี้ วิญญาณอย่างนี้ นี่มันชี้ระบุไปยังไอ้ตัวสภาวธรรม ที่มันมีอยู่ตามปกตินั้น นี่หมวดหนึ่ง เรียกว่าชี้ไปที่สภาวธรรม เพราะไม่เที่ยง และหมวดที่ ๒ ชี้ไปยัง ธรรมที่เป็นเครื่องต่อ เครื่องติดต่อ หรือการติดต่อ นี่เขาจะมองกันในแง่ที่ว่า ไอ้นี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดเรื่อง ไอ้การที่มันติดต่อกันนี่ อายตนะข้างในคือตา จมูก ลิ้น กาย ใจ มีอาการ มีหน้าที่ติดต่อ แล้วก็ทำการติดต่อกับอายตนะภายนอก คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ถ้ามันมีแต่ขันธ์ห้าเฉยๆ มันไม่ต้องการติดต่ออย่างนี้ มันก็ไม่เกิดเรื่อง เดี๋ยวนี้เราเล็งถึงเรื่องหรืออาการที่มันทำการติดต่อ เพราะการติดต่อจะปรุงนั่นปรุงนี่ กระทั่งปรุงให้เกิดขันธ์ห้าขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่งตามขณะนั้น นี่เป็นรายละเอียดมาก เมื่อตาเห็นรูปเป็นต้น เกิดวิญญาณ วิญญาณขันธ์ แล้ววิญญาณให้เกิดผัสสะ เกิดเวทนา ที่จริงเมื่อมีวิญญาณแล้วมันมีสัญญา หรือมีผัสสะแล้วมันมีสัญญา ตัวกระทบกันแล้วมันมีสัญญาว่าอะไรเป็นอะไร รูปอะไร อย่างนี้เป็นต้น มันมีสัญญา สัญญาขันธ์เกิดขึ้น แล้วก็เกิดเวทนาขันธ์ หลังจากเวทนาขันธ์ก็เกิดตัณหา ซึ่งเป็นตัวสังขารขันธ์ นี่เรียกว่า ขันธ์ทั้งหลายก็เพิ่งเกิด เกิดแล้วก็ไม่ได้อยู่ในสภาพอย่างนั้นได้ มันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ดับไป เดี๋ยวก็มีการติดต่อทางอายตนะอื่นอีก หรืออายตนะนั้นก็ได้ แต่ว่าเปลี่ยนเป็นอารมณ์อย่างอื่นอีก มันก็เกิดวิญญาณ เกิดสัญญา เกิดเวทนา เกิดสังขารขึ้นมาอีก งั้นเรามองดูในส่วนที่มันเป็นการติดต่อ คืออายตนะ เรียกว่าอายตนะก็แล้วกัน ทีนี้หมวดที่ ๓ ดูปฏิจจสมุปบาท นี่คือดูละเอียดกว่าที่แล้วมา การที่มันอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น ไม่มีอะไรเกิดได้ตามลำพัง เพราะเกิดขึ้นแล้วจะไม่เป็นที่อาศัยของสิ่งอื่นต่อไปก็ไม่มี มันอาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น แล้วก็เป็นที่อาศัยของสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่อไปข้างหน้าอีก นี่ก็คือเรียกว่า ปฎิจจสมุปบาท คือ การอาศัยกันเกิดขึ้นเรื่อยไปเป็นสายยาวไป นี้ก็ดูที่อาการที่ว่าลึกลับซับซ้อน แล้วก็ดูว่าอาการอันนี้ก็ไม่เที่ยง เราพูดว่า อวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารให้เกิดวิญญาณ วิญญาณให้เกิดนามรูป อันนี้ก็แสดงความไม่เที่ยงอย่างยิ่งแล้ว แต่ไม่ใช่ดูตามกันตัวหนังสืออย่างในโรงเรียน งั้นต้องดูอะไรที่มันกำลังเกิดในใจจริงๆ ในขณะที่ปฏิบัติอยู่นั่นแหละ มันมีอะไรเกิดขึ้นทางตาเป็นต้น แล้วก็มันมีอะไรเกิดต่อไป ก็ดูที่สิ่งนั้นลงไปโดยตรง ไม่ใช่ดูที่ตัวหนังสือ หรือว่านึกถึงตัวหนังสือคำพูด พอตากระทบรูปก็เกิดจักษุวิญญาณขึ้นมา ในการเกิดจักษุวิญญาณขึ้นมานี้มันไม่ใช่เพียงเท่านั้น มันต้องเป็นในกรณีที่ว่ามันจะเกิดทุกข์หรือไม่ ถ้าในกรณีที่จะเกิดทุกข์ จักษุวิญญาณนั้นมันก็มาจากอวิชชาโน่น คือปราศจากสติในขณะนั้น แล้วก็ทำให้เกิดสังขาร หรืออำนาจหรือกำลังที่จะเกิดการปรุงแต่งให้วิญญาณหรือนามรูปในเรื่องนี้ ในกรณีนี้ ในขณะนี้มันจะเป็นวิญญาณหรือนามรูปที่จะพร้อมที่จะมีผัสสะ มีอายตนะ มีผัสสะชนิดที่จะเพื่อทำงานอันนี้คราวเดียวกันเท่านั้นแหละ เพื่อจะทำหน้าที่อันนี้ในงาน อันนี้คราวเดียวกรณีนี้เท่านั้น ไม่ใช่ตลอดไป ไม่ใช่ตลอดชาติ งั้นก็จึงถือว่า แม้แต่วิญญาณ นามรูป อายตนะนี้ ก็มิได้เกิดอยู่เป็นประจำแข็งทื่อ อย่างนั้นมันเป็น สัสสตทิฏฐิ ไม่ใช่พุทธศาสนา พุทธศาสนาก็เป็น ขณิกวาท ทุกอย่างเกิดชั่วขณะ ชั่วขณะ เมื่อจะทำหน้าที่ของมัน ตามหน้าที่ เมื่อไม่อยู่ในหน้าที่ เราถือว่าไม่เกิด เหมือนกับร่างกายนี้ ถ้าเราพูดอย่างภาษาชาวบ้าน ก็แปลว่ามันเกิดอยู่แล้ว มันอยู่อย่างนี้และจนกว่าจะครบหลายๆ สิบปีแล้วจะเน่าเข้าโรงไป นั่นเป็นภาษาชาวบ้านพูด ภาษาคนพูด ถ้าภาษาธรรมพูด เขาไม่ถือว่าร่างกายนี้เกิดอยู่ ร่างกายนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ เช่นตาเห็นรูปเป็นต้น มีอวิชชา มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง มันจะทำให้ไอ้ร่างกายนี้ นามรูปนี้ มันพร้อมที่จะทำหน้าที่ของมัน คือการเห็นรูปนั้น เมื่อมันทำหน้าที่จริง ถือว่ามันได้มีอยู่หรือเกิดขึ้น พอมันทำหน้าที่เสร็จแล้วก็ถือว่ามันดับไป แม้แต่รูป แม้แต่รูปกายนี้ อย่าได้ถือว่ามันเที่ยงแท้เป็นอันเดียวกันถาวรตลอดกาลไป มันจะเป็นมิจฉาทิฐิ ร่างกายล้วนๆ มันก็มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเพื่อการเกิด แล้วเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยนั้นอยู่แล้ว นั้นจึงถือว่า ขณะจิตหนึ่งๆ ร่างกายนี้ก็เปลี่ยนไปด้วย เพราะมันอาศัยนาม นี่เรามาดูไอ้ตรงที่มันสำคัญคือตัวเรื่อง อารมณ์ที่มากระทบทางตาเป็นต้น ให้เกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ เกิดทุกข์ ชรา มรณะ โสกเทวทุกขะ ไปทางโน้นเลย นี่ดูให้มันละเอียดอย่างนี้ก็เรียกว่า ดูความไม่เที่ยงที่ปฏิจจสมุปบาท กลุ่มใหญ่ๆ สำหรับเป็นหลัก มี ๓ กลุ่มเท่านั้น ดูสภาวธรรม คือ เบญจขันธ์ ดูไอ้ที่ต่อ ที่ทำเรื่องทำราว อินทรีย์ อายตนะ ก็ดูที่อายตนะ คืออินทรีย์ ๖ อายตนะ ๖ ที่ดูไอ้ที่มันไม่เที่ยงอย่างรุนแรง อย่างร้ายกาจก็คือ ลักษณะของปฏิจจสมุปบาท นี่คือเมื่อจะตอบให้ชัดเจนว่าอะไรไม่เที่ยง ก็ตอบว่า ขันธ์ ธาตุ เอ้อ, ขันธ์ อายตนะ ปฏิจจสมุปบาท ๓ หมวดนี้ คือสิ่งที่ไม่เที่ยง ถ้าตอบคลุมๆ อย่างเอาเปรียบ ก็ตอบว่า สังขารทั้งปวงนั้น ไม่เที่ยง ก็ได้ประโยชน์น้อย
ที่นี้ถามว่า ดูให้เห็นไม่เที่ยงนะ ดูอย่างไร นี่ก็ตอบได้เป็นกลุ่มๆ เป็นประเภทๆ อีกเหมือนกัน ก็มีหลายๆ อย่าง เอาเท่าที่มันสำคัญหรือเพียงพอแล้วก็คือว่า ดูอย่างหยาบที่สุดก่อนนะ ดูเกี่ยวกับเวลา ดูทางเวลา ที่เราเรียกว่าวัย หรือเวลาก็ได้ วัยก็ได้ เวลานี้ก็เวลาถัดมา เอาเวลานี้เป็นหลัก เวลานี้มันเป็นอย่างนี้ ถัดมานิดเดียวมันก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นแล้ว ไอ้ที่หยาบที่สุดก็คือปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฌิมวัย นี่ชีวิตหนึ่งมี ๓ วัย แล้วในหนึ่งวัยนั้นนะ สมมติว่าอายุ ๙๐ ปี แบ่งเป็น ๓๐ ปี ๓ ที หรือใน ๓๐ ปีนั้นมันก็ยังแบ่งเป็น ๑๐ ปี ๕ ปี ๑ ปี ๑ วัน หนึ่งอะไรไปอีกนี่ ดูทางเวลาก็คือดูอย่างนี้ เห็นความไม่เที่ยง ดูอย่างนั้นมันหยาบ แต่ถ้าว่ามันสำเร็จประโยชน์ได้ก็ใช้ได้เหมือนกัน บางคนก็อาจจะสำเร็จประโยชน์ได้ สำหรับคนที่เขาไม่ชอบคิดมาก ไม่รู้มากยากนาน เพียงเท่านั้นก็พอแล้วที่จะเบื่อหน่าย คลายกำหนัด สลดสังเวช ถ้าเป็นเด็กแล้ว เป็นหนุ่มสาวแล้ว เป็นผู้ใหญ่แล้ว เป็นคนแก่แล้วก็เป็นคนตาย
ทีนี้ทางจะดูในข้อที่ว่าสังขารทั้งหลายประกอบอยู่ด้วยปัจจัยทั้งหลายซึ่งเปลี่ยนอยู่เสมอ สังขารทั้งหลายประกอบอยู่ด้วยปัจจัยทั้งหลาย ซึ่งเปลี่ยนอยู่เสมอ ปัจจัยทั้งหลายก็เปลี่ยนเสมอ สังขารที่เกิดจากปัจจัยนั้นก็เปลี่ยนเสมอ ทางกาย เช่นว่า เรากินอาหารเข้าไป อาหารคือปัจจัย อาหารคือปัจจัยนี้ก็เปลี่ยนเสมอ แล้วร่างกายจะไม่เปลี่ยนอย่างไรได้ พอกินอาหารเข้าไปในท้อง อาหารที่เข้าไปมันเปลี่ยนอยู่เสมอ แล้วมันก็ตกแต่งร่างกายให้เปลี่ยนอยู่เสมอ ทีนี้ทางนามธรรมก็เหมือนกัน จิต หรือเจตสิก เป็นนามธรรม มันก็มีเหตุมีปัจจัย รายละเอียดมันมีอยู่ในแบบเรียน ตำราเรียนนักธรรมที่เราเรียนกันมาแล้ว อะไรเป็นปัจจัยของอะไรบ้าง ขันธ์ไหนมีเหตุปัจจัยอย่างไร เราท่องกันตั้งแต่เรียนนักธรรม ยิ่งใช้คำที่มันกว้างรวมว่า สังขารทั้งหลายประกอบอยู่ด้วย หรืออาศัยอยู่ด้วย เหตุปัจจัยทั้งหลายซึ่งเปลี่ยนอยู่เรื่อย เหตุปัจจัยที่สำคัญก็พวกที่เข้ามาทางอายตนะ ทางตา ทางหู ทางอะไร ผัสสะนี่เป็นปัจจัยที่ร้ายที่สุด
ทีนี้ดูให้ละเอียดไปกว่านี้อีกก็ว่า ทุกๆ สิ่ง ทุกๆ อย่าง ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าจิตเพียงอย่างเดียว นี่ก็เลยเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างน่ากลัว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับจิตดวงเดียวหรือสิ่งเดียว อะไรก็ตาม จิตเป็นผู้รู้จักสิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงมีค่า มีความหมายขึ้นมา อย่างหนังสือ คัมภีร์วิสุทธิมรรคเขียนว่า ชีวิต อตฺตภาโว จ สุขทุกฺขา จ เกวลา
เอกจิตฺตสมา ยุตฺตา ลหุโส วตฺตเต ขโณ เราเคยเรียนกันมาแล้วทั้งนั้น ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับจิตทั้งนั้น ชีวิต อัตภาพ ความสุข ความทุกข์ ไม่ว่าอะไรทั้งหมด ยกตัวอย่างเพียงเท่านั้นก็จริง แต่ว่าไม่ว่าอะไรทั้งหมด มันขึ้นอยู่กับเอกจิตตะ คือจิตดวงหนึ่งเท่านั้น ลหุโส โดยเร็ว โดยพลัน วตตเต ขโณ ขณะย่อมเป็นไป นี่คือขณิกวาท ไม่มีอะไรมีอายุยืนยาวอยู่ได้เกินหนึ่งขณะจิต ถ้ามองเห็นนะ จะไม่มีอะไรที่มีอายุยืนยาวอยู่ได้เกินหนึ่งขณะจิต แต่ทีนี้มันเปลี่ยนจิตต่อไปเรื่อย เรามองไม่ทัน เรามองไม่เห็นก็คิดว่ามัน มันเที่ยง คิดว่ามันเที่ยง นี่ถ้าไปพูดให้ฝรั่งฟัง ให้ดูหลอดไฟฟ้า ตาเห็นว่าหลอดไฟฟ้านี่เที่ยง แต่นั่นคือการเกิดดับไม่น้อยกว่าพันห้าร้อยครั้งต่อหนึ่งนาที ที่แสงนี่ไม่น้อยกว่าพันห้าร้อยครั้งต่อหนึ่งนาที ทีนี้ไอ้ความที่มันถี่เกินไป มันปรากฏแก่ตาของเราซึ่งโง่ ตานี้มันโง่ มันเห็นว่าเที่ยง พวก engineer พวกวิศวกรเขารู้ดี เขารู้ว่าเครื่องยนต์หมุนกี่รอบ ไดนาโมหมุนกี่รอบในหนึ่งวินาที ในหนึ่งนาที นี่จิตก็เหมือนกัน มันเกิดถี่ยิบทำให้เราไม่อาจจะรู้ว่าทุกอย่างมีอายุเพียงชั่วหนึ่งขณะจิตเท่านั้น นี่เรียกว่าดูไม่เที่ยงอย่างหยาบ แล้วก็ดูว่าตามเวลา วัยนั่น วัยนี่ อายุเท่านั้น เท่านี้ นี่ดูอย่างละเอียดขึ้นไปอีกก็ดูข้อที่ว่าสังขารประกอบอยู่ด้วยปัจจัยซึ่งเปลี่ยนอยู่เสมอ ทีนี้ดูกันอย่างละเอียดยิบก็ว่า อุ้ย,ไม่มีอะไรที่มีอายุเกินกว่าหนึ่งขณะจิต อารมณ์มันเปลี่ยนเรื่อย มันเกิดดับ เกิดดับเรื่อย จึงดูเป็นว่าเกิดอยู่ นี่มันเป็นหลัก เป็นหัวข้อ เพียง ๓ หัวข้อ เอาไปใช้เถอะ มันจะออกไปได้ตั้งร้อย ตั้งพัน ตั้งหมื่น
นี่ถามว่าดูด้วยอะไร ตรงนี้อาจจะไม่ค่อย ไม่ค่อย นึกกันว่ามันจะมีอะไรอีกบ้าง มันต้องพร้อมกันทั้งสติและปัญญา มันจึงจะมีการดูได้ สติเป็นผู้ที่ไปกำหนดเข้าที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่สังขารใดสังขารหนึ่งแล้วเกิดปัญญารู้ขึ้นมาว่ามันเป็นอย่างไร สติกำหนดต่อสิ่งซึ่งจะดู เราสมมติ สมมติสติว่าเป็นผู้ดู ทีนี้เมื่อสติกำหนดอยู่นั้นนะ ปัญญาเกิดขึ้น ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างไร เกี่ยวกับสิ่งที่กำลังดูอยู่นั้น แล้วก็สมมตินะ สมมติปัญญานี้ว่าผู้เห็น สติเป็นผู้ดู ปัญญาเป็นผู้เห็น ที่แท้คือจิตที่ประกอบอยู่ในเจตสิกต่างวาระกัน
ถามว่าใครเห็น ผู้ดู หรือดูด้วยอะไร สติเป็นผู้ดู ปัญญาเป็นผู้เห็น ทีนี้เมื่อดูอยู่อย่างนี้ คือดูอนิจจัง ความไม่เที่ยงอยู่ในลักษณะ อยู่โดยอาการอย่างนี้ ก็มีปัญหาว่า จะเห็นอะไรสืบต่อไปอีกหลังจากการเห็นอนิจจัง แล้วจะเห็นอะไร ก็คือเห็นทุกขัง เห็นอนัตตา เห็นสุญญตา ขอให้ดูให้เห็นอนิจจังเถอะ มันก็จะง่ายนิดเดียวที่จะเห็นทุกข์ เห็นอนัตตา คำว่าทุกขัง ให้ถือเอาตามคำอธิบายทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในอรรถกถา แบ่งเป็น ๓ ความหมาย ทุกขะ แปลว่า ทนยาก ทุ ว่ายาก ขมะว่าทน ขะ มาจาก ขมะ ก็แปลว่าทนยาก นี่ถ้ามันทุ แปลว่าน่าเกลียด อิขะแปลว่าเห็น ทุขัง ทุอิขะแปลว่าเห็นแล้วรู้สึกน่าเกลียด ทีนี้อีกอันหนึ่งเขาแยกว่า ทุ แปลว่าน่าเกลียดเหมือนกัน แต่ขัง แปลว่าว่าง ว่างเหมือนอากาศ ก็คือว่างอย่างน่าเกลียด ความหมายของคำว่าทุกข์ มีอยู่ ๓ อย่าง อย่างนี้ และถูกทุกอย่างเลย คุณไปดู จะถูกทุกอย่าง พอเห็นอนิจจังแล้วก็จะรู้สึกว่าแหม ทนยาก ทนได้แสนยาก ความหมายที่หนึ่ง ซึ่งรู้จักกันทั่วไปว่าทนยาก ทุกข์นี้ เห็นแล้วน่าเกลียดนั่นหนะ เพราะมันทรมาน มันเจ็บปวด มันทนทุกข์ มันให้เกิดทุกข์ เราจึงว่าไอ้นี่มันน่าเกลียดที่สุด ไม่น่ารักเลย ที่ลึกไปกว่านั้น ที่มันมีจิตใจสูงไปกว่านั้น มันก็รู้สึกว่าโอ๊ย มันไม่มีอะไร มันมีแต่ทุกข์ทั้งนั้น มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น ว่าง ว่างจากไอ้สิ่งที่น่ายินดี ว่าง ว่างอย่างเลวร้าย ว่างอย่างน่าเกลียด ยิ่งเห็นอนิจจังเท่าไหร่ ยิ่งเห็นทุกขังใน ๓ ความหมายนี้มากเท่านั้น นี่ถ้ามันสังเกตต่อไปอีกก็เห็นอนัตตา อนัตตาให้ถือเอาความหมายที่ดีที่สุด มีบทนิยามที่ดีที่สุด เพราะไม่ใช่สิ่งที่ควรเรียกว่าอัตตา ไอ้อย่างอื่นมันยุ่ง อธิบายคำว่าอนัตตาได้มากมายหลายๆ ความหมาย แต่ความหมายที่จะไปพูดให้ชาวบ้าน หรือชาวโลกหรือฝรั่งเข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือว่า อนัตตา แปลว่า มิใช่สิ่งซึ่งควรเรียกว่า อัตตา นี่หมายความว่า ไม่ได้ปฏิเสธว่าสิ่งทั้งหลายไม่มี มันมี แต่มันมิใช่สิ่งที่ควรเรียกว่าอัตตา ว่าอาตมัน ว่า soul ว่า self มันมิใช่สิ่งที่ควรจะเรียกว่า self หรือว่า soul นี่อธิบายไปเถอะ มันจะไม่อยู่ในอำนาจ มันชั่วคราว ตามอรรถกถาเยอะแยะไปหมด เราไม่มีเวลาที่จะพูดถึงไอ้เรื่องชนิดนี้ แล้วก็รู้กันดีอยู่แล้วไปเปิดดูตำราก็มี แต่ทั้งหมดนั้นแหละ ไอ้เหตุผลทั้งหมดมันรวมอยู่ข้อนี้ข้อเดียวว่า มันไม่ใช่สิ่งที่ควรเรียกว่าอัตตา ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะยึดมั่น ถือมั่น มั่นหมายว่าเป็นอัตตา
ทีนี้สำหรับคำว่าสุญญตา มันก็มีความหมายว่า ว่าง แต่ทีนี้มันไม่ได้หมายความว่าไม่มีอะไร ทั้งที่มีอะไรนั้นก็ยังว่าง อย่างเดียวกันอีกแหละ คือว่างจากไอ้ภาวะของอัตตา ธรรมชาติที่มีภาวะที่ควรจะเรียกว่าอัตตา มันไม่มีในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น สิ่งเหล่านั้นว่าง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่างจากภาวะที่ควรเรียกว่าอัตตา หรือ อัตตนียา ก็ตาม ว่าตน หรือว่าของตน ถ้าจิตเห็นภาวะอันนี้ จิตอันนั้นก็เลยงง ไม่รู้จะไปฉวยอะไร ไม่รู้จะไปจับอะไร ก็เรียกว่าจิตว่าง สิ่งทั้งหลายก็มีอยู่ แต่ว่างจากสาระที่ว่าอัตตา ตรงนี้มีข้อสำคัญอยู่อันหนึ่งที่ว่าจะต้องพิจารณาให้เข้าใจ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๓ อย่างนี้ก็พอ มันเป็นเหตุให้เกิดแยก ผลของการปฏิบัติเป็นสาม สามเกรด หรือว่าสามพวกไป อนิมิตตะ อัปปะณิหิตะ อะไร ๓ อันนี้ เห็นอนิจจัง มันไปเป็นพวกเห็นอนิมิตตะ เห็นทุกขัง เห็นเป็นอัปปะณิหิตะ เอ๊ะ ผมลืมแล้วไอ้สามอันนี้ คุณจำได้เหรอ อนิมิตตะ อัปปณิหิตะ สุญญตะ เห็นอนิจจัง คือมันไม่มีนิมิต เห็นทุกขัง ชวนให้รู้สึกว่าไม่มีที่ตั้ง เห็นอนัตตา ทำให้เห็นว่าง นี่หมายความว่า ไอ้คนบางคน เขาเพียงเห็นแต่อนิจจัง มันพอเสียแล้ว มันก็ไม่มองในแง่ทุกขัง หรืออนัตตา เห็นอนิจจังอย่างเดียวมันก็พอเสียแล้ว ที่ให้จิตเบื่อหน่าย คลายกำหนัด แล้วไปบรรลุมรรคผลไปเลย ทีนี้บางคนเพียงเห็นอนิจจังมันไม่พอ มันต้องเห็นทุกข์ ต้องเห็นรุนแรง เห็นทุกข์ นี่เป็น อัปปณิหิตะ ไม่มีที่ตั้ง ทีนี้ถ้าว่า เท่านั้นไม่พอ บางคนจะต้องถึงอนัตตา มันจึงเป็นสุญญตะ เขาเรียก อนิมิตตะนิพพาน อัปปณิหิตะนิพพาน สุญญัตตะนิพพาน (นาทีที่ ๔๔:๒๖) ก็นิพพานเดียวกันนั่นแหละ ถ้ามันมาทางสายที่เห็นอนิจจังขึ้นหน้าเป็นเหนืออะไรหมด มันก็เรียกว่าอนิมิตตะนิพพาน ถ้ามันเห็นทุกขัง คือว่า เจ็บปวดน่ากลัว นี่มันก็จะ อนิมิตตะนิพพาน เห็นอนัตตาเป็นเบื้องหน้าไม่วี่แววเสีย อนิจจัง ทุกขัง ในขณะนั้นก็บรรลุมรรคผล มีนิพพิทาวิราคะ บรรลุมรรคผลก็เรียกว่า สุญญัตตะนิพพาน ทีแรกผมก็งง เห็นรูปภาพในสมุดข่อยเขียนสัญลักษณ์ของนิพพานสามปราสาทแก้วสามดวง ดูคำอธิบายจึงรู้ว่าเขาเล็งถึงอย่างนี้ นิพพานที่มาทางอนิจจัง นิพพานที่มาทางทุกขัง นิพพานที่มาทางอนัตตาไม่เหมือนกัน แต่ละคน ละคน นี่มันไปจบอยู่ที่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การปฏิบัติในขั้นที่ ๑๓ ที่เรียกว่าอนิจจานุปัสสี มีผลทำให้เห็นอนิจจัง แล้วก็เลยไปถึงทุกขัง ถึงอนัตตาได้ หรือจะรวมเรียกว่าสุญญัตตาก็ได้ นี่ขั้นที่ ๑๓ มันก็มีเพียงเท่านี้ เห็นอนิจจังชัดเจนถึงที่สุด กระทั่งทุกขัง อนัตตาก็ปรากฎด้วย
ทีนี้ก็มาถึงขึ้นที่ ๑๔ สิบสาม สิบสี่ วิราคานุปสฺสี อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ มีปรกติตามเห็นซึ่งวิราคะอยู่เป็นประจำ หายใจออกหายใจเข้า วิราคะแปลว่า ไม่มีราคะ แต่เราแปลกันว่าคลายกำหนัด คลายราคะ ตรงนี้จะต้องพูดถึงสิ่งๆ หนึ่งซึ่งเรียกว่านิพพิทา คือความเบื่อหน่าย แล้วจึงจะวิราคะ คือคลายกำหนัด เมื่อเห็นอนิจจังเต็มที่ มันก็มีเบื่อหน่าย พอเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด ฉะนั้นถือเอานิพพิทาเป็นเงื่อนที่ต่อกันระหว่างอนิจจานุปัสสีกับวิราคานุปัสสี แล้วมันก็อยู่ฝ่ายวิราคานุปัสสี นิพพิทาเป็นอย่างไร ก็คือความเบื่อแล้วก็ระวังให้ดี อธิบายให้ดีๆ ว่า ไม่ใช่เบื่อ เบื่ออย่างทางวัตถุ คือเบื่อเพราะซ้ำซาก แล้วรำคาญอึดอัด แล้วเบื่อ เป็นทุกข์ เบื่ออย่างนั้นเป็นทุกข์ ไอ้นิพพิทาในที่นี้ไม่ใช่เบื่ออย่างนั้น ไม่ใช่เบื่อเพราะว่ามันซ้ำซาก เช่นกินอาหารอย่างนี้ทุกวันๆ แล้วมันเบื่อ มันซ้ำซาก แล้วเกลียดชัง รำคาญ ไอ้นิพพิทา ไม่ เบื่อหนะ ไม่ใช่เบื่ออย่างนั้น เบื่อเฉย ไม่ต้องรำคาญ ไม่ต้องอะไร มันเป็นความเบื่อที่มองเห็นด้วยสติปัญญา มันน่าเบื่อ หรือมันชวนเบื่อ เพราะไม่เที่ยง เพราะเป็น มายา (นาทีที่ ๔๘:๒๐) เพราะไม่เที่ยง แล้วก็เบื่อ เบื่อคือเฉยได้ ไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าเบื่อถึงขนาดเป็นทุกข์ นั่นคือยังเป็นเบื่อชนิดหยาบ เบื่อชนิดยังไม่ได้ที่ ปัญญามีมากพอมันก็เบื่อถึงที่สุดแต่มันก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ทีนี้ก็มาถึงวิราคะจางคลาย สิ่งที่คลายออก จางออก คืออะไร มีปัญหาถามอย่างนี้ มันก็คือกิเลสประเภทราคะ หรือประเภทอุปาทาน คำว่า ราคะก็แปลว่าย้อม หรือจับ เป็นเหมือนสีย้อมผ้า จับผ้า และคำว่าอุปาทานก็เข้าไปยึดถือเอา มันเรื่องเดียวกัน ไอ้เรื่องราคะกับเรื่องอุปาทานหรือกิเลสชื่ออื่นซึ่งมันเป็นเครือเดียวกัน มันมีความหมายว่า จับ ยึด หรือย้อม หรือติด ที่ว่าคลาย คลายแห่งอะไร ก็คลายสิ่งที่มันจับ มันยึด มันย้อม มันติด นี่มือมันกำ เดี๋ยวนี้มันก็คลายออก นี่คืออาการของคลายออก สิ่งที่มันคลายออกก็คืออุปาทาน บางทีก็เรียกว่าราคะ ฉะนั้นจึงเอาคำว่าราคะมาใช้แล้วเติมคำว่าวิเข้าไป วิราคะก็จางออกแห่งราคะ อะไรเป็นธรรมที่ทำให้จาง ก็คือญาณทัศนะที่มีมาจากการเห็นไม่เที่ยง การเห็นไม่เที่ยงอย่างถูกต้อง สมบูรณ์ เราเรียกว่าญาณทัศนะหนึ่ง อำนาจญาณทัศนะนี้ก็เกิดการจางคลายขึ้น อุปาทานหรือราคะ
ที่นี้ก็การเห็นซึ่งวิราคะนะมันเห็นอะไร มันก็เห็นทุกอย่างที่มันเนื่องกันอยู่ ถึงการที่ว่าราคะ หรืออุปาทานจางออก แล้วก็เห็นสิ่งที่ทำให้จางออก คือ ญาณทัศนะ นั้นญาณทัศนะนั้นก็เห็นตัวเองด้วย เห็นสิ่งที่ถูกเห็นด้วย เห็นการคลาย การจางของสิ่งที่มันเคยยึดมั่นหรือย้อมติดด้วย ตลอดถึงการที่มันเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม ตามสัดตามส่วน เช่น ยกตัวอย่างอย่างนี้จะเข้าใจได้ง่าย ถ้าเราจะพูดกับชาวบ้าน เช่นล้อรถไฟหมุน มันก็เห็นล้อที่หมุน เราเห็นอะไรบางอันที่มันทำให้ล้อหมุน ไม่เห็นที่อาการที่มันสัมพันธ์กันอย่างมีสัดมีส่วน มันเห็นพร้อมกันหมดหลายอย่าง ล้อเป็นผู้หมุน แต่แล้วอะไรมาทำให้ล้อมันหมุน ไอ้เหล็กบางอันที่มันทำ เหวี่ยงให้ล้อหมุน แล้วก็ที่มันพันกันระหว่างล้อกับเหล็กอันนั้น นี่มันก็เห็นพร้อมกันไปหมดเลย เห็นพร้อมกันอย่างนี้จึงจะเรียกว่าเห็นวิราคะ เห็นสิ่งที่เป็นตัวจางคลาย และเห็นสิ่งที่เป็นตัวทำให้มีการจางคลาย กับเห็นอาการที่มันจางคลายอย่างสัมพันธ์กันเป็นสัดเป็นส่วน อย่างนี้เรียกว่าเห็นวิราคะ ใช้คำเป็นคำเดียว แต่ความหมายของมันสัมพันธ์กันไปหลายๆ ทาง อันนี้ไม่ต้องอธิบายเพราะว่า ขอให้เห็นอนิจจัง อนิจจตา เห็นอนิจจังหรือทุกขัง อนัตตา ไอ้ความจางคลายนี้ก็จะเป็นขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ถ้าอธิบายมันก็จะเป็นอภิธรรมมากเกินไป หรือเป็นอะไรที่มัน มันไม่จำเป็น การปฏิบัติในขั้นที่ ๑๔ ก็มีเพียงเท่านี้ เราไม่ไปให้มันจางคลายได้ ไอ้ธรรมมันทำของมันเอง ฉะนั้นเราเพียงแต่ดู จึงว่ามีปกติตามเห็นซึ่งความคลาย ความจางคลายอยู่เป็นประจำ การกระทำมันทำในขั้นที่เห็นอนิจจัง อนิจจานุปัสสี มีการกระทำด้วยเจตนา และมีประโยค มีความเพียร มีอะไรมากๆๆๆๆๆ พอมาถึงจุดสูงสุดของมันมันก็เกิดนิพพิทะ วิราคะนี้ขึ้น แล้วก็เห็น แล้วก็ดู
นี่ขั้นต่อไปที่ ๑๕ มันก็เป็นผลที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติตามสัดส่วน จางคลายเท่าไร มันก็ลงไปเท่านั้น ไอ้ส่วนที่จางคลาย ส่วนที่ดับลง ดับลงแห่งอะไร ดับแห่งกิเลส ตัวการมันอยู่กิเลส ดับเหตุแห่งคือกิเลส แล้วก็ดับแห่งผลคือดับทุกข์ ทุกข์ก็ดับไปตามสัดส่วนของกิเลส เห็นอันนี้เรียกว่านิโรธะ เป็นอย่าง กุปปธรรม มันก็กลับไปกลับมา เป็นอย่างอกุปปธรรมคือการรู้มรรคผลไปตามลำดับของมรรคผล นี่ศึกษาเรื่องสังโยค เรื่องอนุสัย พระโสดาละอะไร พระสกิทาละอะไรได้ พระอนาคาละอะไรได้ พระอรหันต์ละอะไรได้ ก็อยู่ที่ตรงนี้ ดับไปแห่งกิเลส เป็นเหตุ ดับไปแห่งทุกข์ เป็นผล อันนี้มันเนื่องมาจากมันถูกวิธีมาตั้งแต่อนิจจานุปัสสี อันนี้ก็เกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ส่วนใหญ่นั้นมันก็ได้แต่ประคับประคองหรือดู
ทีนี้ขั้นสุดท้ายเรียกว่า ปฏินิสสัคคานุปัสสี คำนี้แปลว่าสลัดคืน เป็นสำนวนโวหารที่จะพูดให้มันเต็ม เต็มเรื่อง เต็มรูป ที่จริงเพียงแต่ดับทุกข์ก็พอแล้ว สลัดคืนนี้ไม่สนใจก็ได้ แต่มันมีแง่ที่จะให้ดู ให้เต็มที่ ก็จึงจะใช้คำว่าสลัดคืน สลัดคืนตัวตน สลัดคืนของตน เพราะการดับไปแห่งกิเลสนี้ ขั้น อนิจจานุปัสสี (นาทีที่ ๕๕:๒๕) มันดับกิเลสเช่นราคะ เช่นอุปาทาน ทีนี้พอมาถึงขั้นสลัดคืน มันก็คือสลัดคืนตัวตน สลัดคืนของตน ตัวตนนี่ ของตนนี่ มันเกิดขึ้นเพราะอุปาทาน มีอุปาทานเมื่อไร ตัวตน ของตนเกิดเมื่อนั้น ตัวอุปาทานดับไป ตัวตนของตนมันก็ดับไป เดี๋ยวนี้มีการทำให้อุปาทานหรือกิเลสประเภทนี้จางไปๆ คือดับไปๆ นั่น มันดับไปเท่าไหร่ก็ซัดคืนเท่านั้น สลัดคืนเท่านั้น หมดก็หมด ถ้ายังไม่หมดก็ยังเหลือเท่าที่มันดับ ดับไปเท่าไร จางคลายไปเท่าไร ก็ดับไปเท่าไร ก็รอซัดคืน สลัดคืนเท่านั้น อุปาทานเคยมีในอะไร ก็มันไปมีตัวตนในนั้นแหละ อุปาทานมีในรูป ก็รูปเป็นตน อุปาทานในเวทนา เวทนาก็เป็นตน อย่างที่เราชินหูกันอยู่อย่างยิ่ง อุปาทานมีเบญจขันธ์ จึงเรียกว่าปัญจุปาทานขันทา (นาทีที่ ๕๖:๔๔) ขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานขันธ์ห้า ขันธ์ห้าประกอบอยู่ด้วยอุปาทานสี่ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน (นาทีที่ ๕๖:๕๐) อุปาทานมันมีลักษณะสี่ หรือสี่ประเภท สี่ชนิด มันพร้อมที่จะเข้าไปอุปทานในเบญจขันธ์ ที่นี้เบญจขันธ์นี้บางทีเราเรียกว่ารูปนาม บางทีเราเรียกรวมว่าสังขารเฉยๆ กามุปาทานเกิดขึ้นในเบญจขันธ์นี้ ในบางโอกาส ในบางโอกาสทิฎฐุปาทานก็เกิด อะไรก็เกิด คือทุกอย่างมันจะเนื่อง เบญจขันธ์เสมอ มันมีอะไร คำว่าเบญจขันธ์นี้มันกว้างเหลือประมาณ มันเป็นทั้งสากลจักรวาล ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม แต่ทั้งที่ไม่ใช่รูปธรรมและนามธรรม ไอ้เรื่องนี้เราเถียงไม่ได้ มันทะเลาะกันตาย เช่นนิพพาน ผมอยู่กับพวกที่ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นาม แบบที่เขาซัดกันอยู่ หรือตามอรรถกถาที่มันก็ ระบุนิพพานเป็นนามนี้ผมไม่เชื่อ ไอ้รูปและนามเป็นแค่ เบญจขันธ์ นิพพานอยู่เหนือความเป็นรูปและความเป็นนาม แต่ถึงอย่างนั้นก็จะถูกอุปาทานยึดครองได้ว่า นิพพานของเรา มันก็เป็นนิพพานหลอกไม่ใช่นิพพานจริง นิพพานจริงมันยึดถือไม่ได้ ทีนี้สลัดคืนอะไร สลัดคืนสิ่งอุปาทานที่ตัวเองยึดถือ (นาทีที่ ๕๘:๒๐) ก็เบญจขันธ์ทั้ง ๕ ที่เคยยึดถือด้วยอุปาทาน ๔ นี่ขั้นสุดท้ายมีเท่านี้ มันไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติอะไรนักแล้ว มันดูผลของการปฏิบัติที่มาตามลำดับๆ เพราะนั้นมันปฏิบัติมากสุดในขั้นต้นๆ และก็ปฏิบัติรุนแรงในขั้นอนิจจานุปัสสี ที่หลังจากนี้มันคือผลที่จะคลอดออกมาในลักษณะเป็นอัตโนมัติ
ทีนี้ทั้ง ๔ ขั้นนี้เราเรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน การตั้งไว้ซึ่งสติเพื่อการตามเห็นซึ่งธรรม ทีนี้คำว่าธรรมนี้มี ๔ ความหมาย เป็นอนิจจา เป็นวิราคา เป็นนิโรธา เป็นปฏินิสสัคคา สรุปความธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐานนี้มันก็คือ เห็นธรรม เห็นธรรม ธรรมนี้คือข้อเท็จจริง เห็นธรรม คือข้อเท็จจริง แล้วก็แห่งธรรม คือสภาวธรรม คือเบญจขันธ์เป็นต้น แล้วก็บรรลุธรรม คือ นิโรธะ ซึ่งเป็นมรรคหรือเป็นผล ใช้คำว่าธรรม คำเดียวได้ตลอดนะ เห็นธรรม แล้วทีนี้คือสัจจะหรือข้อเท็จจริง แล้วของธรรมคือสภาวธรรมมีขันธ์เป็นต้น แล้วก็บรรลุธรรม คือ มรรค ผล และนิพพาน บรรลุธรรมมันอยู่ในขั้น นิโรธานุปัสสี ปฏินิสสัคคานุปัสสี อนิจจานุปัสสีเป็นข้อจริงของสภาวธรรม มีขันธ์เป็นต้น มีผลให้เกิดมาตามลำดับคือนิราคะ นิโรธะ ปฎินิสสัคคะ เห็นข้อเท็จจริง ของสภาวธรรม คือ ธรรม แล้วก็บรรลุธรรม คือมรรคผล คือธรรม ในหมวดมันเกี่ยวกับธรรม คำเดียวไปหมด จึงตั้งชื่อ ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน นี่จบเรื่องอานาปานสติ หมวดที่ ๔ มีอยู่ ๔ ขั้น เรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน
แล้วทีนี้ก็จะต้องบอกให้ทราบว่า ไอ้การบรรยาย อานาปานสติ เพียงไม่กี่ครั้งเช่นนี้ เป็นการชี้ให้เห็นเพียงข้อ หรือเงื่อนงำ หรือว่าไอ้เคล็ด หรือความลับอะไรบางอย่าง ที่ไม่ค่อยได้เห็น ไม่ค่อยได้สอนกัน รายละเอียดก็ถวายหนังสือชุด ๓ เล่มนี้ไป รายละเอียดที่มากกว่าที่อธิบายนี้ แต่อยากจะพูดสักหน่อยว่า ถ้าไม่ได้เค้าเงื่อนอย่างนี้ การไปอ่านหนังสือที่อธิบายอย่างละเอียดจะเวียนหัวจะงงไปหมด ฉะนั้นอย่า อย่าทำเล่นกับคำอธิบายโดยสังเขปนี้ เพราะว่ามันเป็นวิธีที่ทำให้ไม่หลง ไม่ให้เฝือ ไอ้คำอธิบายมากๆ ตั้งเท่านั้นแหละ มันมีทางที่จะให้มึน ให้งง ให้เวียนหัว ให้ จนสุดท้ายก็ขี้เกียจ แล้วทิ้งไปเลย มันต้องใช้เวลาหลายสิบชั่วโมง มันจึงจะเข้าทุกตัวอักษรนั้นได้ แต่นี่เราใช้เวลาไม่เท่าไร เราเข้าใจไอ้โครงร่างทั้งหมดของมันได้ จับกุมเอาไว้ได้ไม่ให้เฝือ ก็มีอยู่แต่ว่าอยากจะรู้ละเอียดตรงไหนก็ไปเปิดดูไอ้ตอนนั้น นั่นแหละ ๓ เล่มนั้นมันอธิบาย ๑๖ ขั้น เป็นอันว่าเวลาก็หมดสำหรับวันนี้