แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายธรรมเพื่อประโยชน์แก่ผู้ฟัง ซึ่งเป็นลูกคนเมืองตำปรื้อโดยเฉพาะ ได้พูดกันมาถึงครั้งที่ ๑๒ ในวันนี้ ในวันก่อนได้พูดถึงธรรม ที่ทำให้เกิดความสำเร็จในการประพฤติ ในวันนี้จะพูดถึงผลแห่งความสำเร็จในการประพฤติ เราได้เคยพูดกันถึงเรื่องสิ่งที่ต้องประพฤติ เราได้พูดกันถึงสิ่งที่จะทำให้เกิดความสำเร็จในสิ่งที่จะต้องประพฤติ ในวันนี้เราพูดความสำเร็จหรือผลของความสำเร็จของการประะพฤติ ในฐานะที่เป็นผลโดยส่วนเดียว เพื่อให้เข้าใจให้กว้างหรือให้ทั่วถึง พอๆ กันกับเรื่องสิ่งที่ต้องประพฤติ และหลักแห่งการประพฤติ
โดยที่จริงแล้วเรื่องผลสำเร็จของการประพฤตินี้ก็มีหลักเกณฑ์กว้างขวางเท่าๆ กับตัวการประพฤติเหมือนกัน และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือว่า ถ้ามองเห็นผลของการประพฤติหรือเข้าใจใน ผลของการประพฤติ นี้มันจะช่วยให้เกิดกำลังใจในการที่จะประพฤติได้มาก เพราะฉะนั้นควรจะเข้าใจให้เพียงพอ
ผลแห่งความสำเร็จในการประพฤติปฏิบัติ หน้าที่ที่มนุษย์จะพึงปฏิบัติหรือที่เรียกว่าการประพฤติธรรมนี้มันก็มีมากมาย แล้วก็มีหลักเกณฑ์ที่จะแบ่งแยกและจัดเป็นพวกๆ ให้มันสะดวกแก่ความเข้าใจ เฉพาะในที่นี้จะพูดกันอย่างง่ายๆ แบ่งแยกออกเป็น ๓ พวก
คือ ผลสำเร็จเกี่ยวกับฆราวาสโดยตรง ผลสำเร็จเกี่ยวกับบรรชิตโดยตรง และผลสำเร็จที่เกี่ยว ที่คาบเกี่ยวกันได้ทั้งฆราวาสและบรรชิต ถ้ามองให้ดีก็จะเข้าใจได้ว่ามันมีอยู่เป็นพวกๆ
ผลสำเร็จที่เกี่ยวกับฆราวาสหรือคฤหัสถ์นี้ ถ้าพูดกันติดปากเขาพูดแต่ว่า มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติไม่เลยไปถึงนิพพานสมบัติ แต่ว่าถ้ามองให้กว้างตามหลักธรรม ก็ยังมีอะไรบางอย่างที่จะนอกไปจาก มนุษย์สมบัติ และสวรรค์สมบัติ คอย คอยฟังให้ดี ที่ว่าถือตามหลักธรรมในพุทธศาสนา มนุษย์สมบัติ ก็หมายความว่า ที่มะ ที่มนุษย์ปรารถนาอย่างมนุษย์ หรือของรักของชอบใจอย่างมนุษย์ คือเท่าที่มนุษย์จะพึง พึงได้ ทีนี้ สวรรค์สมบัติ แล้วมันก็ เอ่อ, ความสุขหรือของที่ปรารถนาสำหรับบุคคลชั้นที่สูงไปกว่ามนุษย์ เขาเรียกว่า เทวดา และมันเป็นเรื่องสวรรค์ไม่ใช่ ไม่ใช่เป็นเรื่องมนุษย์ ทีนี้ขอแถมอีกอย่างหนึ่งซึ่งแปลกหูสำหรับคนทั่วไป คือ อเนญชาสมบัติ อเนญชาสมบัติ นี่ก็เพื่อจะแยกไอ้ความสุขหรือความปรารถนาอย่างเทวดาชั้นสูงสุดคือชั้นพรหมออกมาเสียจากเทวดาชั้นกามาวจร นี่ถ้าพูดตามหลักธรรมที่เขาเรียก ปรมัตถ์ อภิธรรมเขาเรียก กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร ไอ้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัตินี้เป็นกามาวจร ทีนี้ อเนญชาสมบัติ นี้เป็น รูปาวจร อรูปาวจร แต่โดยมากหมายเอา อรูปาวจร ล้วนแต่คำที่ไม่เคยได้ยินต้องอธิบาย
อันแรก มนุษย์สมบัติ เรียกว่า กามหรือความปรารถนาอย่างมนุษย์สำเร็จ อยู่ในวิสัยที่มนุษย์จะได้รับ ชาวบ้านตามธรรมดา ก็หมายความว่า ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ มีเงินมีทรัพย์สมบัติ มีรูปร่างสวยงาม มีความสะดวกสบายอย่างมนุษย์ นี่แหละมนุษย์สมบัติ นี่ถ้าว่าพูดถึงสวรรค์สมบัติเขาว่าไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นต้น อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ คนพูดก็ไม่รู้ แต่มีแต่ความเชื่อกันว่ามันสนุกสนานยิ่งกว่าอย่างมนุษย์ คือไม่มีเหงื่อจะออก มนุษย์นี้มันเต็มไปด้วยเหงื่อ คือความเหน็ดเหนื่อย พวกเทวดาในเมืองสวรรค์ตามที่เขาว่ากัน มันไม่มีเหงื่อจะออก คือไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทีนี้สำหรับอเนญชาสมบัตินี้พวกพรหม พวกพรหมนี้ไม่เกี่ยวกับกามเลย แต่ก็ยังเป็นฆราวาสอย่าเข้าใจว่าพวกพรหมมันเป็นบรรพชิต จะเป็นพรหมชนิดไหนก็ตามมันเป็นฆราวาส รูปพรหมก็เป็นฆราวาส อรูปพรหมก็เป็นฆราวาส ทีนี้พรหมโลกอยู่ที่ไหนยิ่งเข้าใจยาก ผู้พูดก็ไม่รู้แต่พูดได้ว่าอยู่สูงขึ้นไปกว่าเทวโลก ถ้าพูดอย่างชาวบ้านธรรมดาว่า นรก อบายอยู่ใต้ดิน มนุษย์อยู่บนดิน เทวโลกอยู่สูงขึ้นไปเท่าไหร่ก็บอกไม่ถูก แล้วพรหมโลกอยู่เหนือนั้นขึ้นไปอีก ภาษาวัตถุของชาวบ้านที่ได้สอนสั่งกันมาเป็นอย่างนี้ ภาพเขียนตามผนังโบสถ์ก็เป็นอย่างนี้ ไอ้ข้อนี้ไม่สำคัญ มันสำคัญอยู่ที่ว่าทำให้ประชาชนเชื่อและยินดีปฏิบัติธรรมะหรือไม่เท่านั้น ไอ้เรื่อง สวรรค์ นรกจะจริงไม่จริงตามที่พูดไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าถ้ามันทำให้คนกลัวบาปและรักบุญแล้วก็ประพฤติธรรมได้แล้วก็เป็นใช้ได้ ในบางสมัยอาจจะใช้ได้ในบางสมัยอาจจะใช้ไม่ได้ ต้องมีคำอธิบายชนิดว่าใช้ได้ทุกสมัย คืออธิบายอย่างภาษาความจริงไม่สมมติ ภาษาคนนี้อยู่ในลักษณะสมมติ ภาษาความจริงเอาแต่เนื้อหาสาระของเรื่อง เช่น มนุษย์ไม่ต้องเล็งถึงตัวมนุษย์หรือโลกของมนุษย์ แต่ว่าเล็งถึงสภาวะทางจิตใจสภาวะหรือสถานะทางจิตใจ สถานะทางจิตใจที่มันยังเป็นขณะนี้ ขณะที่มนุษย์รู้จักแต่เรื่องปากเรื่องท้อง แล้วทำงานหน็ดเหนื่อยเอาเหงื่อแลกสิ่งที่ต้องการมาได้แล้วก็ยินดีปรีดาอยู่ สถานะจิตใจเท่านี้เรียกว่า มนุษย์ คือคนธรรมดานี่ คือถ้าสวรรค์ก็หมายความว่า เรื่องทางกามารมณ์สมบูรณ์ แล้วก็ไม่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ ยอดสุดของสวรรค์ ๖ ชั้นเป็นชั้นที่พญามารอยู่ พวกลูกคนเมืองตำปรื้อรู้เสียบ้างอย่าโง่ข้อนี้ ว่าสิ่งที่เรียกว่าพญามารจอมมารวสวัตตีมารที่มาผจญพระพุทธเจ้าเป็นมารที่สูงสุด อยู่ที่สวรรค์ชั้นสูงสุดที่เรียกว่า ปรนิม ปรนิมมิตวสวัตตี นั่นนะสวรรค์มันมีความหมายอย่างนี้ ไอ้สวรรค์ชั้นล่างๆ ชั้นดาวดึงส์นี้กามคุณนี้ไม่เข้มข้นเหมือนสวรรค์ชั้นสูงสุด คือปรนิมมิตวสวัตตี แต่ว่าล้วนแต่เรื่องกามา เอ่อ, กามคุณทั้งนั้นอย่างที่ไม่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ ทีนี้ชั้นสูงสุดหมายถึงว่าคล้ายๆ ว่าจะไม่ต้องกระดิก กระดิกตัวมีผู้อื่นทำให้ แม้แต่จะหยิบใส่ปากก็ไม่ต้องหยิบเอง เขาเรียก ปรนิมมิตต แปลว่า ผู้อื่นเนรมิตให้ ชั้นสูงสุด ปร แปลว่า ผู้อื่น นิมมิตต แปลว่า เนรมิต แม้แต่จะบริโภคกามคุณแบบไหนก็ตามใจมีผู้อื่นช่วยทำให้ ถ้ายังทำเอง เดี๋ยวหยิบใส่ปากเองสู้ไม่ได้ พญามารอยู่ที่ชั้นนั้นแหละ พญามารชั้นสูงสุดที่มา มาผจญพระพุทธเจ้า ขี่ช้างคีรีเมฆ ที่เราเห็นตามภาพฝาผนัง นั่นนะคือสวรรค์สมบัติ คือสถานะทางจิตที่สมบูรณ์ด้วยกามารมณ์สูงสุด จนเกลียดไอ้สิ่งที่ตรงกันข้าม อิจฉาริษยาสิ่งที่ตรงกันข้าม อย่าเข้าใจว่ามารอยู่ในนรกจะ จะโง่หลายๆ เท่านะ มารอยู่ในสวรรค์ชั้นสูงสุดเสียด้วย เทวดา มาร พรหม ที่เราสวดบทสวดมนต์ก็มี เทวดา แล้วก็มาร แล้วก็พรหม คำว่าเทวดาสามัญเรียกว่าเทวดา เทวดาสุดยอดเรียกว่ามาร สูงไปกว่ามารก็คือพรหม ที่เราพูดว่า สวรรค์สมบัตินี้ก็หมายถึงเทวดา ชั้นเทวดา และชั้นสูงสุดของเทวดาที่เรียกว่ามาร มารโดยแท้จริงไม่ใช่ยักษ์หน้าเขียวหน้าแดงเขี้ยวโง้งอะไรอย่างนั้น มารที่แท้จริงก็คือความหลงใหลในสวรรค์ชั้นสูงสุด ที่เรียกว่าชั้น ปรนิมมิตวสวัตตี ทีนี้พอมาถึงชั้นพรหม สถา สถานะทางจิตใจสูงเกินกว่าที่จะยินดีเรื่องกามารมณ์ทางเนื้อทางหนังทางตาทางหูทางจมูกลิ้นกายใจ ต้องการอยู่อย่างจิตด้วยจิตที่สงบ สะอาด จืด แต่ก็ยังมีตัวกู ไม่หมดตัวกู ถือเป็นปุถุชนชั้นพรหมยอดสุดก็เป็นปุถุชนและเป็นฆราวาส นี่เราจะเรียกแยกออกไปว่า อาเนญชาสมบัติ คือ ไม่ ไม่หวั่นไหวไปในทางกามไม่เกี่ยวข้องกับกามแต่ยังมีตัวกูเหนียวแน่นมั่นคงเหมือนกันแหละ สถา สถานะทางจิตก็ยังต้องเหนื่อยยากลำบากด้วยการแสวงหากาม แต่ก็หลงใหลในกามนี่เรียกว่ามนุษย์ สถานะทางจิตที่อิ่มเอิบไปด้วยกามกามารมณ์นี้ นี่เรียกว่าสวรรค์หรือเทวดา สถานะทางจิตที่มันพอใจอยู่ได้โดยไม่ต้องมีกาม มีกาม ไม่มีกามารมณ์เลยนี่เขาเรียกว่า ชั้นพรหม หรือพรหมโลก มันก็กลายเป็นสถานะทางจิตที่อยู่ในมนุษย์คนใดก็ได้ เมื่อมีสถานะอย่าง มีสถานะทางจิตอย่างมนุษย์มันกำลังเป็นมนุษย์ เมื่อมีสถานะทางจิตอย่างเทวดามันก็เป็นเทวดา เมื่อมีสถานะทางจิตอย่างพรหมมันก็เป็นพรหม เมื่อมีสถานะทางจิตอย่างสัตว์นรกมันก็เป็นสัตว์นรก ภาษาธรรมเขาก็พูดว่า สวรรค์ในอกนรกในใจ ครบหมดเลยแหละ ทีนี้พูดตามภาษาชาวบ้านที่ได้เชื่อกันมาแต่ปรัมปราว่า นรกอยู่ใต้ดิน มนุษย์อยู่บนดิน สวรรค์อยู่สูงขึ้นไปมองไม่เห็นเลยยอดเขาสุเมรุไปอีก เมื่อพระพุทธเจ้าจะขึ้นไปแสดงธรรมแก่พระพุทธมารดาในเทวโลก เหยียบขึ้นไปทางเขาสุเมรุเป็นขั้นๆ ไปนะจนถึงชั้นเทวดาที่จะแสดงธรรมในชั้นดาวดึงส์ แล้วก็มีพรหมโลกอยู่จากนั้นไปอีก นี่เขาเรียกภาษาคนภาษาโลกพูดกันอย่างนั้นอธิบายกันอย่างนั้นเชื่อกันอย่างนั้น เหมือนกับภาษาธรรมภาษาผู้รู้ธรรมเขาพูด เหมือนอย่างที่พูดทีหลัง ว่าทั้งหมดอยู่ในจิตใจของคน แล้วแต่สถานะของจิตใจเป็นอย่างไรก็จัดได้ว่าเป็นอย่างนั้นๆ ถ้าคนมันโง่เกินไปพูดอย่างภาษาธรรมไม่เข้าใจก็ต้องพูดอย่างภาษาคนแหละ พูดภาษาคนเข้าใจมันเชื่อแหละ ทีนี้มันก็กลัวบาปมันก็ปฏิบัติดีทำบุญก็พอแล้วเท่านั้นเอง ถึงแม้จะพูดภาษาธรรมก็เพื่อให้คนละบาปเกลียดบาปกลัวบาปแล้วก็มาทำบุญทำดี ในภาษาไหนก็สุดแท้ใช้ให้เหมาะกับคน ถ้าคนมันโง่ก็ใช้ภาษาคนโง่คนฉลาดต้องใช้ภาษาฉลาด ผลมันก็ได้ตรงที่ว่าให้ทุกคนเว้นความชั่วทำแต่ความดี เราจึงจัดมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ อเนญชาสมบัติ นี้เป็นฆราวาสทั้งนั้นเป็นปุถุชนทั้งนั้น นี้เรียกว่าความสำเร็จที่เกี่ยวฆราวาสโดยตรง ฆราวาสมนุษย์ ฆราวาสเทวดา ฆราวาสชั้นพรหม มีต่างๆ อย่างนี้ที่เหมือนกันมันก็เป็นฆราวาส คือว่ามันก็มีบ้านเรือนหรือมีสิ่งลักษณะที่มีลักษณะเหมือนบ้านเรือนที่ยึดถือว่าตัวกูว่าของกู บ้านเรือนภาษาคนมันก็เรือนเป็นหลังๆ ตึกเป็นหลังๆ บ้านเรือนภาษาธรรมก็หมายถึงสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่น เหมือนกับร่างกายนี้ก็ยังเรียกว่าบ้านเรือนได้ นี้เรียกความสำเร็จชนิดที่เป็นเรื่องของคฤหัสถ์ของฆราวาสโดยตรงมันมีอย่างนี้ แต่บางคนอาจจะไม่นับรวมสวรรค์หรือชั้นพรหมเข้ามาในเรื่องของคฤหัสถ์ แต่ผมพิจารณาดูดีที่สุดแล้ว เห็นว่ามันก็ยังเป็นคฤหัสถ์ ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกาม เรื่องตัวกูของกูอย่างไม่ลืมหูลืมตาก็ต้องถือเป็นฆราวาสคฤหัสถ์ มนุษย์ก็มีบ้านเรือนอย่างมนุษย์ สวรรค์เทวดาก็มีบ้านเรือนอย่างเทวดา พรหมก็มีบ้านเรือนอย่างพรหม ถ้าไม่อย่างนั้นจะเขียนไอ้วิมานของพรหมเหมือนกับเป็นบ้านเป็นเรือนทำไม นี่ความสำเร็จสำหรับพวกฆราวาสโดยตรง อย่าลืมคำว่าโดยตรง มันยังมีโดยอ้อม
ทีนี้ความสำเร็จที่มันคาบเกี่ยวกันอยู่ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ขอพูดข้อนี้ก่อน ถ้าพูดถึงข้อนี้ พวกคุณนึกถึงหลักที่น่าขันแต่ว่าจริงที่สุดสักอย่างหนึ่งว่า ไอ้ความทุกข์นี้มันไม่มี มันไม่มีเพศ มันไม่มีวรรณะ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันไม่มีเพศประเภทฆราวาสหรือว่าเพศบรรพชิต หรือว่าเพศหญิงหรือว่าเพศชาย หรือว่าเป็นจีนเป็นแขกเป็นฝรั่งอะไรมันไม่มี ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายที่เรียกว่าตัวทุกข์ มันไม่ ไม่เป็นฆราวาสหรือไม่เป็นบรรพชิตได้ กระทั่งมันจะไม่เป็นสัตว์เดรัจฉานหรือเป็นมนุษย์ได้ด้วยซ้ำไป มันเป็นตัวมันเองเป็น เป็นความทุกข์ ในเรื่องความทุกข์มันไม่เป็นฆราวาสหรือเป็นบรรพชิต ฉะนั้นการดับทุกข์ก็มันไม่ต้องเป็นฆราวาสหรือไม่ต้องเป็นบรรพชิต ไอ้เรื่องที่มันเกี่ยวไปถึงฆราวาสบรรพชิต นี่มันเรื่องชั้นนอกเรื่องเปลือกนอก เพราะฉะนั้นถ้ามันเป็นการปฏิบัติหรือว่าได้ผลของการปฏิบัติที่เกี่ยวกับความดับทุกข์ แล้วมัน มันได้ทั้งฆราวาสและบรรพชิต คฤหัสถ์ครองเรือนก็ดับทุกข์อย่างเดียวกัน คือดับกิเลส บรรพชิตไม่มีบ้านไม่มีเรือนก็ดับทุกข์อย่างเดียวกันคือต้องดับกิเลส พระอริยบุคคล โสดา สกิทาคา อนาคานี้จึงมีได้แม้ที่เป็นฆราวาสอยู่บ้านอยู่เรือน ส่วนพระอรหันต์นั้นพ้นจากความเป็นฆราวาสหรือเป็นบรรพชิต ไอ้เรื่องพูดว่าเป็นอรหันต์ต้องบวชทันทีนั้นบ้า พูดอย่างหลับตาพูด ไม่เคยพบพระพุทธภาษิต เป็นพระอรหันต์มันพ้นที่จะเป็นบรรพชิตหรือจะเป็นฆราวาส มันเหนือความเป็นบรรพชิตเหนือความเป็นฆราวาส จิตใจมันอยู่เหนือความเป็นบรรพชิตหรือความเป็นฆราวาส มันเป็นบวชในตัวทันที พอเป็นอรหันต์ปั๊บมันก็เป็นการบวชอีกแบบหนึ่งทันที คือบวชพ้นความเป็นฆราวาสและเป็น พ้นความเป็นบรรพชิต ทีนี้เขามาสมมติจัด จัดมันไว้ในจดทะเบียนว่ามันเป็นบรรพชิต เขาเชื่อกันว่าเป็นบรรพชิต ถ้าพูดให้ถูกแล้วก็ต้องเหนือเหนือความเป็นบรรพชิต แล้วมันก็ย่อมจะเหนือความเป็นฆราวาสด้วย เขาถือกันเป็นหลักว่าพระอรหันต์ไม่มีในบ้านเรือนอย่างฆราวาส ส่วนพระโสดา สกิทาคา อนาคายังมีตามบ้านตามเรือน ยังมีเป็นผู้ที่มีภรรยาสามีก็มี โสดา สกิทาคา นี่ก็ยังมีภรรยาสามี อนาคาไม่มีภรรยาสามี แต่ว่าก็ยังอยู่ที่บ้านได้เหมือนกันไม่บวช ไอ้นี่ทำความยุ่งเวียนหัวให้พวกคุณ ถ้าไปพูดตามเขาพูดเอาข้างนอกเป็นเกณฑ์แล้วมันยุ่งแหละ เอาข้างในใจเอาสถานะทางใจเป็นหลักแล้วมันก็ไม่ยุ่ง ทีนี้จะพูดเรื่องมรรคผลสัก สักนิดให้พอเข้าใจได้กลัวจะมากมายเกินไป จะ จะ จะเกินฐานะหรือไม่นี้ยังสงสัยแต่คุณลองฟังดู ใครฟังไม่รู้เรื่องก็หลับไปเสียก็แล้วกัน ใครพอฟังรู้เรื่องก็ลองฟังดูหรือจะจดจำให้ดี เขาเรียกพระอริยบุคคล จะเป็นฆราวาสก็ได้เป็น บรร บรรพชิตก็ได้
อันที่หนึ่ง เรียก พระโสดา ละกิเลสได้ ๓ อย่าง คือละความเห็นแก่ตัว ความเห็นว่าตัวอย่างหยาบๆ เสียได้ แล้วละความลังเลในเรื่องความดับทุกข์เสียได้ แล้วก็ละความประพฤติปฏิบัติที่งมๆ งายๆ เสียได้ ๓ อย่าง อย่างแรกที่ว่า ละความเห็นแก่ตัว ความมีตัวอย่างหยาบๆ เสียได้ ก็เทียบกับปุถุชนคนธรรมดา มีตัวกู มีของกู อย่างหยาบอย่างเลวอย่างต่ำที่สุด อันนั้นต้องเริ่มละเสียได้ ต้องเริ่มเห็นว่ามันไม่ใช่ตัวกู แต่เราละไม่ได้เท่านั้น เริ่มมีความเข้าใจว่ามันไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกูแต่เราก็ยังละไอ้ความรู้สึกอันนี้ไม่ได้ มันผิดกับคนธรรมดาที่ไม่มองเห็นเสียเลย เขาเรียกว่า ละสักกายทิฎฐิเสียได้ นี่เขาละความลังเลในการปฏิบัติธรรมเสียได้ คนปุถุชนมันลังเลว่าการปฏิบัติชนิดที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้นี่ มันจะดับทุกข์ได้หรือไม่นี่ก็ลังเล ว่ามันจะดีจริงหรือไม่น่าปรารถนาหรือไม่นี่มันก็ลังเล เพราะมันอยากแต่เรื่องสนุกสนานเอร็ดอร่อยทางกามารมณ์ มันก็ลังเลว่าอย่างนี้มันจะเหมาะจะละเสียจะเหมาะสำหรับเราหรือไม่มันก็ลังเล นี่เขาเรียกว่าลังเลในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ลังเลว่า ว่าพระพุทธเจ้านี่จะดีจริงจะมีประโยชน์แก่เราจริงหรือไม่ นี่มันก็ลังเล ลังเลว่าพระธรรมข้อปฏิบัติหลักเกณฑ์ต่างๆ มันจะมีประโยชน์แก่เราตรงกับความประสงค์ของเราหรือไม่มันก็ลังเล ลังเลในพระสงฆ์ว่ามันเป็นคนที่ดีจริงหรือไม่ ต่อเมื่อหมดความลังเลชนิดนี้เขาเรียกว่าละ วิจิกิจฉา เสียได้
เดี๋ยวนี้คนธรรมดาสามัญนี้ มันจะคิดว่าเงินดีหรือว่าธรรมะดี หรือบางทีว่าเงิน เอาเงินดีหรือเอาพระพุทธเจ้าดี บางทีปากว่าเอาพระพุทธเจ้าอยู่พักหนี่งพอมีคนเอาเงินมาให้มากๆ ก็เลยไม่เอาแล้วพระพุทธเจ้าเอาเงิน หมายความว่าทำผิด ทำเลว ทำชั่วฝืนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่เอาพระพุทธเจ้าไปเอาเงิน ไม่เอาพระธรรม ไม่เอาพระสงฆ์ มันไปเอาเงิน ถ้ามันยังลังเลลังเลอยู่อย่างนี้เป็นปุถุชน ยังไม่ก้าวขึ้นมาเป็นพระอริยเจ้าแม้ขั้นต้นที่สุด คือ พระโสดาบัน
ข้อที่ว่าไม่มีความประพฤติอย่างงมงายอีกต่อไป เมื่อเรายังไม่รู้อะไร เราก็ประพฤติงมงายมาโดยไม่มีเหตุผล เป็นเรื่องไสยศาสตร์โดยตรง เพราะว่าเรื่องไสยศาสตร์นี่มันสร้างขึ้นด้วยอำนาจของความขี้ขลาด ความกลัว ความอ่อนแอ ไสยศาสตร์เขาสร้างขึ้นเพื่อขจัดปัญหาของคนอ่อนแอ ขี้ขลาดและขี้เกียจ อ่อนแอ ปฏิบัติไม่ต้องมีเหตุผล มีแต่ว่าให้เชื่อแล้วมันก็ มันก็อุ่น อุ่นใจสบายใจ สมมติว่าได้แขวนตะกรุด ติดสมรแขวนเครื่องรางเข้าไปแล้วมันก็สบายใจ สบายใจจริงเหมือนกันแหละ เพราะมันมีความโง่ มีความขี้ขลาด มีความอ่อนแอ จะกินข้าวต้องหันหน้าไปทางนั้น จะถ่ายปัสสาวะต้องหันหน้าไปทางนี้ จะนอนต้องหันหัวไปทางโน้น นี่มันเรื่องแต่ทำให้คนโง่ คนขี้ขลาด คนอ่อนแอสบายใจทั้งนั้น แต่ว่าเหตุผลความจริงทางวิทยาศาสตร์อะไรมีซ่อนอยู่ในนั้นก็มี ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเสียทีเดียว ทีนี้เขาเอาหลักที่เชื่อถือกันมาแต่เดิมๆ โน้น เรื่องเทวดา เรื่องยักษ์ เรื่องมาร เรื่องผีเรื่องสางเรื่องอะไรที่มีมาแต่เก่าๆ ก่อนๆ เป็นหลัก แล้วก็พูดกลับกันเสียว่าให้มันคุ้มครองแล้วโว้ย ผีสางเทวดาคุ้มครองแล้วโว้ย ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เจดีย์ศักดิ์สิทธิ์อะไรศักดิ์สิทธิ์นี่คุ้มครองแล้วโว้ย ทำกันมาอย่างนี้จนชิน ในพวกคุณนี่มีใครเสกน้ำล้างหน้าบ้าง หรือเสกแป้งผัดหน้าบ้าง ไอ้อย่างนั้นแหละเขาเรียกว่าไสยศาสตร์ มันก็มีผลเพียงหลอกตัวเองให้สบายใจ แต่อย่างนี้ระดับบุถุชน สิ่งเหล่านี้มีมากมายจาระไนไม่ไหว ละได้เขาเรียกว่าละ สีลพตปรามาส แม้ที่สุดเรื่องศีลเรื่องทำบุญให้ทาน เรื่องศีลเรื่องบวชบวชพระบวชเณรอะไรนี้ก็มีทางที่จะเป็น สีลพตปรามาส ได้เหมือนกัน ให้ทานหรือรักษาศีลหรือบวชให้มันเป็นของศักดิ์สิทธิ์ไม่ ไม่คำนึงถึงเหตุผลเอาเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ถือศีลให้มันขลังให้มันศักดิ์สิทธิ์ ก็เป็น สีลพตปรามาส เคร่งจนโง่ ถ้าถือศีลให้ละความชั่วได้นี่ไม่เป็น ไม่เป็นสีลพตปรามาส มันต้องละส่วนที่เป็นสีลพตปรามาส ถือศีลหรือประพฤติวัตรปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้เคร่งให้ขลังให้ศักดิ์สิทธิ์นั่นเป็น สีลพตปรามาส ถือประพฤติด้วยความงมงาย เช่นถ้าสมมติว่าลงปาฏิโมกข์บาปหมดไปเหมือนอาบน้ำอย่างนี้มันโง่มันงมงาย เป็น สีลพตปรามาส ได้ทั้งเป็นพระเป็นเณร แต่ถ้าเราลงปาฏิโมกข์นั้นคือทำอะไรคือทำอย่างไรเพื่อผลอย่างไรอย่างนี้แล้วก็นั่นแหละไม่ ไม่เป็น สีลพตปรามาส สีลพตปรามาส ลุกลามเข้ามาถึงในขอบเขตของผ้าเหลือง คือประพฤติศีลก็ตาม ประพฤติวัตรก็ตามด้วยความงมงายแล้วเป็นข้อนี้หมดไม่เป็นพระโสดาบันได้ เป็นบุถุชนดิบๆ อยู่ในผ้าเหลืองนี้ก็ได้ มันต้องละสักกายทิฎฐิ ความเห็นแก่ตัวอย่างหยาบๆ นั่นแหละ วิจิกิจฉา ความลังเล สีลพตปรามาส ประพฤติศีลวัตร อย่างงมงาย จะได้ ๓ อย่าง สถานะทางใจของคนคนนั้นเป็นพระโสดาบัน โสดาบัน แปลว่า ผู้ถึงกระแสของพระนิพพาน แต่ยังไม่ถึงตัวนิพพาน เป็นถึงเกลียวหรือกระแสที่จะไหลไปสู่นิพพาน นี่เขาเรียกว่า โสดาบัน โสดา แปลว่า กระแส อาบันนะ แปลว่า ถึง โสดาบันนะ แปลว่า ถึงกระแส กระแสที่จะแน่นอนไปทางนิพพานไม่ไหลกลับเป็นอีกอีกต่อไป ไม่ไหลกลับไปโง่ไปอ่อนแออะไรอีกต่อไป ทีนี้สูงไปกว่านั้นเขาเรียกว่า พระสกิทาคามี ลักษณะคล้ายพระโสดาบันที่สุดแต่ไปได้ไกลอีกนิด ถือว่ายังจะวกกลับอีกครั้งเดียว พระโสดาบันนี่วกกลับได้คือว่าจิตน้อมกลับมาได้อีกหลายครั้ง พระสกิทาคามีนี้ครั้งเดียว ถ้าเอาเรื่องกามารมณ์เป็นหลัก พระโสดาบันยังหวนกลับไปหากามารมณ์ได้หลายครั้ง พระสกิทาคามีนี้ไปไกลถึงว่าอย่างจะเหลียวดูอีกครั้งเดียว เขาเปรียบการเดินทางไปไกลๆ พระโสดาบันจะเหลียวดูต้นทางหลายๆ หนด้วยความอาลัย พระสกิทาคามีจะเหลียวดูเพียงครั้งเดียวแล้วก็ไปเลย ก็ละได้เหมือนกับพระโสดาบันแต่ว่ามี มีอะไรมีปริมาณบางอย่างมากขึ้นไปอีกนิด พวกกิเลสใดที่ยังเหลือจากที่ละแล้ว ๓ อย่างพระสกิทาคามียังละได้อีกบ้าง ถ้าแปลว่าละอย่างเดียวกับพระโสดาบันแต่ว่าบางอย่างยังละได้มากกว่าบ้าง ไอ้ ไอ้ส่วนที่ยังเหลือ
ทีนี้พวกที่ ๓ เขาเรียกว่า พระอนาคามี อนาคามีแปลว่าไม่ ไม่กลับมาอีกต่อไป คือไม่เหลียวแล ไม่เหลียวหลังอีกต่อไป อนะ อนะ แปลว่า ไม่ อาคามี แปลว่า กลับมา ไอ้นี่จะต้องละเพิ่มขึ้นอีก คือละกามราคะกับรูปรา เอ่อ, กับปฏิฆะ คือ ละความรู้สึกทางกาม ทางเพศได้เด็ดขาด เขาเรียกว่าละ กามราคะ แล้วก็ละปฏิฆะ คือความรู้สึกทางโกรธ ทางขัดแค้นนี้ได้เด็ดขาด ซึ่งพระโสดาบัน พระสกิทาคามีละไม่ได้ ละไม่ได้เด็ดขาดละไม่ได้หมด คุณทบทวนดูให้ดี ละได้หรือยังอย่างพระโสดาบัน ๓ อย่างนั้น ยังต้องละไอ้ความรู้สึกที่เป็นกามารมณ์เป็นเรื่องเพศเรื่องอะไรนี้ด้วย และก็ละความรู้สึกที่โกรธขัดใจขัดแค้นขุ่นข้นขุ่นไปด้วยความโกรธได้ คำว่าละในที่นี้หมายถึงอยู่เหนือ จะไม่ปรากฏก็แล้วกัน ถึงแม้จะมีความเคยชินก็มันบังคับได้ไม่ปรากฏ ทำให้ไม่ปรากฏได้เรียกว่าละได้ในที่นี้ ใครละได้เต็มๆ ๕ อย่างพระชั้นพระอนาคามี ครองเรือนอยู่บ้านอยู่เรือนก็มีแต่ไม่มีลูกไม่มีเมีย ไม่เหมือนกับพระโสดา สกิทาคา นั่นยังมีลูกมีเมีย พระอนาคามีอยู่อย่างชาวบ้านเป็นคนที่ไม่มีลูกไม่มีเมีย มีเหตุผลบางอย่างบางประการว่า พ่อแม่ไม่มีใครเลี้ยง ฆราวาสคนนี้หัวใจไม่เป็นฆราวาส เพราะมัน มันหมดความรู้สึกทางเพศทางกิเลสหยาบๆ อย่างนี้ แต่หน้าที่ผูกพันยังมี พ่อแม่ตาบอดหากินไม่ได้และตัวเองก็ต้องเลี้ยง เขามีพูดเรื่องเกี่ยวกับอนาคามีไว้พอจะเข้าใจได้ ไม่ทำบาป ไม่ฆ่าหมูขาย ไม่ทำอะไรขาย ไปเอาดินที่หนูหรือสัตว์บางอย่างขุดขึ้นไว้ไม่ได้ขุดดินเอง คือไม่เจตนาจะขุดดินเอง ไปเก็บเอาดินที่หนูหรือสัตว์บางอย่างสัตว์ไอ้พวก Rodent ต่างๆ มันขุดรูเอาทั้งนั้น ไอ้ขุยดินนี้นั้นเอามาทำหม้อปั้นหม้อปั้นอิฐขายเลี้ยงบิดามารดา หลีกเลี่ยงบาปกรรมอยู่แม้กระทั่งว่าดินก็ไม่ขุดเอง สถานะทางจิตใจสูงอยู่เหนือความรู้สึกทางกามารมณ์และความโกรธ แต่มันยังเหลืออยู่บางอย่างอีก
ทีนี้ก็มาถึงพระโสดาบันที่จะต้องละไอ้กิเลสที่เหลือต่อไป เขาเรียก รูปราคะ อรูปราคะ คือละราคะ ความพอใจชนิดที่เรียกว่า พรหม ที่พวกรูปพรหมหลงใหลพอใจกันนัก อรูปพรหมหลงใหลพอใจกันนักแม้ไม่เกี่ยวด้วยกามารมณ์ อันนี้เขาเรียกว่า รูปราคะ และ อรูปราคะ ราคะแปลว่า ความกำหนัดพอใจ พอใจในความสุขที่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ ความ ความสุขนั้น ความสุขนั้นยังต้องอาศัยรูปธรรมบ้างไม่อาศัยรูปธรรมบ้าง ถ้าอาศัยวัตถุก็เรียกว่าเป็น รูปพรหม ถ้าไม่อาศัยวัตถุก็เรียกว่า อรูปพรหม แต่ว่าความรู้สึกนั้นไม่เกี่ยวกับกามไม่เกี่ยวกับเพศ เช่นว่าเอาของที่เป็นวัตถุสีเขียว สีแดงหรืออะไรมาเพ่งให้จิตสงบ ได้ความสุขจากการที่จิตสงบอย่างนี้มันไม่ใช่กามารมณ์ แต่สิ่งนั้นยังต้องอาศัยวัตถุ คราวนี้บางคนทำได้ดีกว่านั้นก็ไม่เอา ไอ้สิ่งที่เป็นวัตถุรูปร่างสิ่งของอย่างนี้ไม่เอา เอาไอ้ความที่ไม่เอาไอ้เอาของที่ไม่ใช่วัตถุเช่น เอาความว่างอากาศอย่างนี้เป็นอารมณ์ หรือเอาสิ่งที่เรียกว่า วิญญาณธาตุ ในสากลจักรวาลเป็นอารมณ์ หรือหนักกว่านั้นเอาความไม่มีอะไร ความที่ไม่มีอะไรเอาเป็นอารมณ์ อย่างนี้เขาเรียกว่า อรูปพรหม ไม่เอาสิ่งที่มีรูปเป็นอารมณ์ ถ้าเกิดความพอใจสบายใจขึ้นมานี้เขาเรียกความสุขอย่าง อรูปพรหม กำหนัดยินดีในสิ่งนี้เขาเรียกว่า อรูปราคะ จะหลับกันหลายคนแล้วนะ มันไม่มีทางจะอธิบายอย่างอื่นนี่ต้องอธิบายให้หมดให้สูงไปถึงที่สุด ทั้งรูปราคะก็ต้องละ อรูปราคะก็ต้องละ เพราะมันไปยึดมั่นเป็นของกูตัวกูของกูเท่านั้น
อันถัดไปเขาเรียกว่า มานะ คือ ความสำคัญว่าตัวกูนี้เป็นอย่างไร ความสำคัญว่าตัวกู ความสำคัญว่าตัวกูยังมีอยู่คือกูมี สำคัญว่ากูมี ก็กูมีมีอย่างไร มีดี ดีกว่าเพื่อนหรือว่าเลวกว่าเพื่อนหรือเสมอเพื่อน ความรู้สึกเช่นนี้เขาเรียกว่า มานะ ต้องหมดความรู้สึกชนิดจึงจะเรียกว่าหมดมานะ ละมานะความสำคัญว่าตนเป็นอะไรเสียได้อีก และละสิ่งถัดไปคือ อุทธัจจะ ที่จิตใจ ที่มันคอยจะสนใจนั่นนี่โน่นอยู่เรื่อย บางทีสิ่งนี้มันไม่เกี่ยวข้องกับเราก็ยังไปสนใจ เพราะมันยังเป็นห่วงอยู่อาลัยห่วงอยู่ สิ่งนี้อาจจะดีมีประโยชน์ จิตกระเพื่อมหรือไหวทุกทีที่ยังเห็น สิ่งใดหรือได้ยินสิ่งใดที่มันมากระทบ เรายังสงบถึงที่สุดไม่ได้ เรื่องกามเรื่องอะไรก็ไม่เอาแล้ว มันก็ยังมีอะไรบางอย่างที่ว่ามากระตุ้นความสนใจมีความทึ่งมีความสนใจในอะไรบางอย่างอยู่ นี่ยังต้องละอีกทีอย่าให้มันเหลือเลย ไม่มีอะไรจะน่าทึ่งน่าสนใจสำหรับผู้ที่จะเป็นพระอรหันต์ นี่เขาเรียก ละ อุทธัจจะ ความกระเพื่อมแห่งจิต ในเมื่ออะไรเข้ามาทางตาทางหู ทางจมูก มันเพียงแต่กระเพื่อมแม้ไม่เกิดกิเลสก็ยังถือว่าใช้ไม่ได้ มันต้องไม่กระเพื่อม อันสุดท้ายละ อวิชชา อวิชชา ที่ว่าไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้ความไม่มีทุกข์และทางซึ่งความไม่มีทุกข์ อวิชชาข้อนี้จะต้องละได้ก็ต่อเมื่อดับทุกข์ได้แล้ว มันจึงจะเห็นชัดว่าทุกข์เป็นอย่างไร ความดับทุกข์เป็นอย่างไร ต้องดับทุกข์ได้หมดแล้วจึงจะละอวิชชาชั้นนี้ได้ มันจึงเป็นแต่พระอรหันต์เท่านั้นจะละอวิชชานี้ได้ ทั้งหมดมี ๑๐ อย่าง พระอรหันต์ละหมดทั้ง ๑๐ อย่าง พระอนาคามีละแต่ ๕ อย่างขั้นต้น และพระโสดาบัน สกิทาคามี ละแต่ ๓ อย่างขั้นต้นขึ้นไปอีก สถานะทางจิตใจมีอยู่อย่างนี้ พวกเหล่านี้เขาเรียกว่า อริยบุคคล เป็นฆราวาสก็มีเป็นบรรพชิตก็มี ที่อยู่เหนือความเป็นฆราวาสความเป็นบรรพชิตก็มี ฉะนั้นจึงถือว่าความสำเร็จอันนี้คาบเกี่ยวอยู่ระหว่างคฤหัสถ์ก็ได้บรรพชิตก็ได้ ไปหารายละเอียดเอาในคำบรรยายบางปี ที่เขาพิมพ์ไว้แล้วก็มี นี่เราพูดถึงความสำเร็จของความเป็นมนุษย์ที่ปฏิบัติธรรม เป็นความสำเร็จที่คาบเกี่ยวกันอยู่ว่าเป็นบรรพชิตก็ยังมีที่ทำได้คฤหัสถ์ก็ทำได้คือคฤหัสถ์ก็ยัง คฤหัสถ์ก็ยังเป็นอริยบุคคลได้
ทีนี้พวกที่ ๓ ที่ประสบความสำเร็จที่เป็นประโยชน์แก่บรรพชิตโดยตรง ข้อนี้ต้องพูดอย่างอะไร ต้องพูดอย่าง logic คือพูดชนิดที่ว่าบัญญัติอย่าง logic ไอ้ที่ฆราวาสมัน มันไม่อาจจะได้รับนั่นแหละ มันมีอยู่ส่วนหนึ่งที่บรรพชิตจะได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือประโยชน์และความสุขที่เกิดขึ้นเพราะการออกบวชโดยตรง ไอ้สิ่งนี้ฆราวาสไม่อาจจะได้รับถึงแม้ฆราวาสที่เป็นพระอริยบุคคลก็ไม่อาจจะได้รับ เขาเรียกว่า เนกขัมมะ คำนี้มัน มันเคยได้ยินอยู่บ่อยแต่อาจจะไม่เข้าใจ เนกขัมมะ แปลว่า หลีกออกไป ถ้าของบุคคลที่สำคัญเขาเรียกว่า อภิเนกขัมมะ คือของพระพุทธเจ้า ออกบวชของพระพุทธเจ้าเขาเรียกว่า อภิเนกขัมมะ ไอ้อย่างของเราๆ นี่เรียกว่าเนกขัมมะก็พอแล้ว ถ้าเรียกเป็นสันสกฤตเขาเรียก เนศกรม อภิเนศกรม พระพุทธเจ้าออกบวชถ้าเรียกเป็นภาษาสันสกฤต รากศัพท์มาจากสันสกฤต ออกเสียงว่า อภิเนศกรม ถ้าเป็นบาลีก็เป็น อภิเนกขัมมะ สำหรับพระพุทธเจ้า สำหรับพวกเราเนกขัมมะหรือเนศกรม เน-ศะ-กระ-มะ-นะ ประโยชน์และความสุขที่จะได้รับจากไอ้เนกขัมมะนี้ ฆราวาสไม่อาจจะได้ รับ เพราะฆราวาสไม่ได้หลีกออกมาจากซ่อง คือบ้านเรือน ไอ้ ไอ้ความเป็นอยู่มันก็ยุ่งอีรุงตุงนัง มีลูกมีเมียมีอะไรมันนุงนังอย่างนี้ นี่ฆรา อา, บรรพชิตหลีกไปจากบ้านเรือนมันไม่มีไอ้เรื่องอย่างนั้น ประโยชน์อันนี้ก็เกิดขึ้นเขาเรียกว่าประโยชน์จากเนกขัมมะ เปรียบเหมือนกับว่าเป็นนกแล้วทีนี้ ไม่มีบ้านไม่มีเรือนไม่มีอะไร มีสมบัติอย่างเดียวคือปีกเท่านั้นแหละ นกมีสมบัติคือปีก มันก็บิน ประโยชน์หรือความสุขอันใดที่มันเกิดขึ้นจากที่ไม่มีบ้านไม่มีเรือนไม่มีลูกไม่มีเมียไม่มีอะไร ก็เป็นผลของเนกขัมมะนี่จะได้รับแต่บรรพชิตเท่านั้น อีกอย่างเรียกว่า วิเวก วิ-เว-กะ วิเวกะ แปลว่า สงัด สงัด หมายความว่า ไม่มีอะไรรบกวน กายวิเวก ข้อแรก คืออยู่ตามป่า ตามเขาไปตามแบบอย่างนั้น มันก็ไม่มีอะไรรบกวน ไม่มีเรื่องลูกเรื่องเมียเรื่องเงินเรื่องทองเรื่องอะไรรบกวน แล้วมันได้กายวิเวกนี้โดยตรงที่ว่าบรรพชิตเท่านั้นได้รับ คฤหัสถ์ไม่อาจจะได้รับ ทีนี้ จิตตวิเวก หมายความว่าจิตไม่ถูกกิเลสกลุ้มรุม ข้อนี้บรรพชิตก็มีโอกาสได้มากกว่าคฤหัสถ์ คฤหัสถ์ทำได้ยาก ข้อที่ทำได้น้อยหรือทำได้ยาก มันก็ไปอยู่ฝ่ายคฤหัสถ์ มันก็ได้เปรียบฝ่ายบรรพชิตเพิ่มขึ้นในข้อนี้ เนกขัมมะ แปลว่า หลีกออกไป มันยังมีความหมายเป็น 2 ชั้น หลีกออกไปทางกายหลีกออกไปจากบ้านจากเรือน หลีกออกไปทางใจก็คือหลีกจากความรู้สึกที่เป็นกามารมณ์ กามารมณ์กับบ้านเรือนเขาเอาไว้ด้วยกัน บ้านเรือนหมายถึงตัวบ้านตัวเรือน กามารมณ์หมายถึงสี่งที่มีความมุ่งหมายของการมีบ้านเรือน เนกขัมมะ ละความเป็นฆราวาส หลีกไปจากความเป็นฆราวาส นี่คือผลสำเร็จของการประพฤติปฏิบัติที่ได้รับแต่เฉพาะพวกบรรพชิต ฆราวาสไม่อาจจะได้รับ แล้วทีนี้ที่ฆราวาสจะได้รับและพวกบรรพชิตไม่มีส่วน ถ้าปฏิบัติถูกต้องตามหลักก็คือ ไอ้พวกกามารมณ์ที่เป็นชั้นมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติก็ตาม หรือแม้ที่สุด แต่ชั้นพรหม จะเป็นบุถุชนเป็นเรียกว่าฆราวาส บัญญัติไว้ว่าไม่เป็นที่พึงปรารถนาของภิกษุ ฉะนั้นภิกษุจะประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อเกิดในเทวโลกในพรหมโลกไม่ได้ไม่ถูกไม่ควร บ้านั่นเอง ครั้นจะประพฤติพรหมจรรย์เพื่อจะไปเกิดในสวรรค์มีวิมานมีนางฟ้านี้มันบ้า มันไม่มีในในหลักเกณฑ์ ส่วนนั้นเขายกไว้ให้ฆราวาสโดยตรง หมายถึงฆราวาสจริงๆ ทีนี้ที่มันคาบเกี่ยวกันก็คือการดับทุกข์ได้ในขั้นใดขั้นหนึ่ง ฆราวาสก็ทำได้ บรรพชิตก็ทำได้ อุตส่าห์พูดยืดยาวนี่ก็เพื่อว่าให้มันเข้าใจกันเสียที อย่าพูดให้มันปนเปกันยุ่งไปหมดจนผิดๆ ถูกๆ มันจะเสียหายและมันจะน่าละอาย คำพูดที่พูดกันอยู่เกี่ยวกับมรรคผลนิพพาน เกี่ยวกับเทวดา เกี่ยวกับมนุษย์ เกี่ยวกับพรหม เกี่ยวกับฆราวาส เกี่ยวกับบรรพชิต มัน มันยังสับสนยังพูดไม่ค่อยถูก เรามันเป็นคนที่เกิดในเมืองตำปรื้อ ได้รับพุทธศาสนา ๑,๒๐๐ กว่าปีมาแล้ว ถ้ามันยังมัวพูดผิดๆ อยู่อีกเป็นคนโง่ดักดาน รีบแก้ไขความผิดๆ ข้อนี้ให้มันถูกเสียที นี่เรากำลังพูดกันถึงเรื่องที่ไกลออกไปมาก พูดถึงเรื่องมรรคผลนิพพาน แต่ด้วยโวหารธรรมดาสามัญแก่พวกคุณที่บวชชั่วคราว ด้วยคิดว่าพอถึงเวลาเปิดเทอมก็จะสึกไป ไปเรียนอีก ก็เพื่อให้มันรู้ว่าจะไปข้างไหน จะอยู่กันตรงไหน เขาเรียกว่าให้รู้หนทาง ถึงแม้ว่ายังเดินไม่ถึงก็ให้รู้แผนที่ รู้แนวทางไว้ก็แล้วกัน ว่าผลสำเร็จของการประพฤติปฏิบัติมันมีอยู่อย่างนี้ เท่านี้เกี่ยวกับฆราวาส เท่านี้เกี่ยวกับบรรพชิต เท่านี้เป็นสมบัติรวมไม่พูดถึงบรรพชิตหรือฆราวาส และนั่นล่ะที่มุ่งหมายอยู่ตรงนั้น ที่สำคัญที่ดีที่สุดมันอยู่ตรงนั้น ทีนี้จะพูดเพื่อให้เข้าใจกว้างๆ อีกๆๆๆนิดนึง เวลาเหลือนิดอยู่พูดอีกนิด ว่าไอ้ความสำเร็จหรือผลของการประพฤติปฏิบัตินี้ เราจะมองกันไปในแง่ที่ว่า เป็นภาษาธรรมดาสามัญ อย่าเกี่ยวกับศาสนา เราจะใช้คำบัญญัติเฉพาะว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ผมพูดคำนี้มาหลายสิบครั้งแล้วไม่ใช่เหรอ ว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ผมพูดหลายสิบครั้งแล้ว คุณยังจำไม่ได้ก็ไม่ไหวแล้ว อย่างน้อยให้จำชื่อให้ได้ว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ นั่นนะคือผลของการปฏิบัติ ผลสำเร็จของการปฏิบัติ อยากจะพูดเตลิดไปถึงดึกดำบรรพ์ อย่างที่คนป่าเขาพอใจ อย่างที่คนป่าสมัยหิน สมัยโน้นพอใจผลสำเร็จ คล้ายกับว่ามันที่เขาจะถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ หมายความว่าแม้แต่คนป่าสมัยหินมันก็มีความคิดนึกในข้อที่จะให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดเหมือนกัน ทั้งที่มันไม่รู้ว่าไอ้ดีที่สุดคืออะไรมันไม่รู้ ไม่รู้เรื่องมรรคผลนิพพาน ไม่รู้อะไรทั้งหมด แต่จิตใจมันก็ต้องการจะให้ได้ดีที่สุดที่เราควรจะได้รับ คนป่าก็พยายามจะได้สิ่งเหล่านั้นเหมือนกัน แต่ใน ในที่สุดก็มันมีความหมายเหมือนๆ กันแหละ คือการเป็นอยู่อย่างสงบไม่ ไม่ถูกรบกวนไม่มีความทุกข์ความร้อนมันก็ต้องการ ถึงไม่ใช่ขั้นมรรคผลนิพพานมันก็ต้องการนั่นแหละ แล้วก็มัน มันมีปัญหาน้อยมันมีเรื่องน้อย เพราะคนป่าสมัยนั้นมันไม่ ไม่มีอะไรต้องการมากเหมือนคนสมัยนี้ ฉะนั้นก็ทำได้ง่าย ทำมาหากินเท่าที่จำเป็นวันหนึ่งเดือนหนึ่งปีหนึ่ง แล้วไม่ต้องการอะไรมาก ถ้าว่าผ้าไม่ต้องนุ่งด้วยแล้วก็ดีแหละ ไอ้เรื่องที่จะยุ่งกับผ้ามันก็ไม่มี หรือว่าจะนุ่งหนังสัตว์ ใบไม้อะไรสักนิดมันก็มีปัญหาน้อย เรามันนุ่งมากผืนเหลือเกิน บางคนมีเป็นตู้ๆ มันก็ลำบากมากแหละ พระอรหันต์ในศาสนาไชนะก็ไม่นุ่งเสียเลยยังอยู่ถึงบัดนี้ เพื่อจะไม่ให้มันยุ่งไม่ให้ลำบากเรื่องนี้ เรื่องกินเรื่องปากเรื่องท้อง กินง่ายถูกหลักธรรมชาติ กินดิบๆ กินอย่างนี้ก็ได้สบายแล้วแข็งแรง นี่มันกินดีเกินไปก็เป็นโรคเกิดขึ้นมากมาย เพราะมันกินดีเกินไป กินของที่ย่อยง่าย กินของที่ปราณีตเกินไป ก็เป็นโรคนั้นโรคนี้โรคโน้น กินอะไรผิดนิด ท้องขึ้นท้องเสีย คนป่าสมัยหินกินเข้าไปก็ไม่ท้องขึ้น เพราะว่ามันอยู่อย่างแบบเหมือนกับวัวกินหญ้าไม่เห็นท้องขึ้นเลย คนไปกินเข้าจะตายเลยมันก็ท้องขึ้น ได้เปรียบแบบ แบบระดับคนป่าสมัยหินมีความสันโดษอยู่ในตัวมีอะไรอยู่ในตัว มีความทุกข์น้อย บาปของมนุษย์ก็คือมันขยายไปในทางที่ให้ตัวเองลำบากมากขึ้น มาถึงคนสมัยนี้เท่านั้นไม่ชอบที่จะอยู่อย่างคนป่า มันก็เลยต้องว่าไอ้ที่ดีที่สุด ที่มนุษย์สมัยคนป่าต้องการมันไม่ใช่อย่างเดียวกับคนสมัยปัจจุบันต้องการ คนปัจจุบันต้องการมากมายกว่านั้นหลายสิบเท่าหลายร้อยเท่า หรือบางทีสำหรับบางคนจะหลายพันเท่า ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ยุ่งทั้งนั้น ไม่จำเป็นไม่ต้องมีก็ได้ เช่น รถ รถยนต์ เรือบินไม่ต้องมีก็ได้ ไม่ต้องยุ่งเพราะเหตุนั้น มันบาปและมันไปโง่ที่จะต้องมีมันก็ยุ่ง มันยุ่งเหมือนๆ กับมันบ้าเหมือนๆ กันทั้งหมดก็เลยไม่มีใครติเตียนใคร มันก็ยอมรับกันไปหมด แต่ว่าถึงอย่างไรก็ดีเรายังมองเห็นว่าไอ้คนสมัยนี้ เด็กก็ต้องการอย่างหนึ่ง คนหนุ่มสาวต้องการอย่างหนึ่ง คนผู้เฒ่าก็ต้องการอย่างหนึ่ง คนแก่ก็ต้องการอย่างหนึ่ง พ่อบ้านแม่เรือนก็ต้องการอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกันที่ดีที่สุดที่เราชอบใจ ฉะนั้นไปทบทวนเรื่องสัน เอ่อ, อาๆๆ อาศรม ๔ อย่าง พรหมจารีย์ คฤหัสถ์ วานปรัสถ์ สันยาสีดูใหม่ พรหมจารีย์ ต้องการอย่างพรหมจารีย์ คฤหัสถ์ต้องการอย่างคฤหัสถ์ วานปรัสถ์ ต้องการอย่างวานปรัสถ์ สันยาสีต้องการอย่างสันยาสี เป็นที่พอใจสูงสุดเมื่อได้ตรงตามนั้น และเที่ยวนี้จะพูดอีกครั้งสุดท้ายว่า ไอ้ชนิดที่พระอริยเจ้าต้องการ ไม่พูด ไม่พูดว่าสมัยหินหรือสมัยนี้หรือสมัยอะไรก็ตาม พูดว่าที่พระอริยเจ้าต้องการคืออะไร ไม่เกี่ยวกับเวลา ไม่เกี่ยวกับปัจจุบัน ไม่เกี่ยวกับอดีต อนาคต ถ้าพูดเป็นเวลาก็ต้องเป็นอนันตกาลไปเลย เป็นนิรันดร เป็น eternity ไปเลย เพราะใช้ได้ทุกยุคทุกสมัยทุกที่ทุกหนทุกแห่ง ก็คือความที่ว่าไม่มีทุกข์ไม่มีความทุกข์ แม้ชั้นละเอียดที่ลึกลับซ่อนเร้นอะไรก็ไม่มีไม่มีความทุกข์ ทั้งโดยเปิดเผยและทั้งโดยเร้นลับ ความดับทุกข์ทางจิตใจที่สิ้นเชิง พระอริยเจ้าต้องการ ก็คือดับตัวกูของกูเหมือนที่ได้พูดอยู่ทุกวันที่คุณก็ฟังอยู่ทุกวัน ดับตัวกูของกูเสียอย่าต้องเป็นมนุษย์ อย่าต้องเป็นเทวดา อย่าต้องเป็นมารเป็นพรหม อย่าต้องเป็นอะไร อย่าต้องเป็นแม้แต่ว่าเป็นพระอริยเจ้าก็อย่าต้องเป็น นั่นน่ะจุด จุดปลายสุดของไอ้การเดินทางอยู่ที่ว่าไม่มีความทุกข์ โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเรามีอยู่เราเป็นอยู่อย่างนั้นอย่างนี้ เขาเรียกว่าจิตมันว่างจากตัวกูของกูโดยสิ้นเชิงเป็น จิตบริสุทธิ์ สะอาด เป็นจิตที่สว่างไสว แจ่มแจ้ง เป็นจิตที่สงบเยือกเย็นก็พอแล้ว นี้เรียกว่าผลสำเร็จของการประพฤติ คุณไปทำลำดับให้ดีๆ อย่าปนเปกัน ครั้งแรกเราต้องรู้จักสิ่งที่เราต้องประพฤติ และเราจะประพฤติมันอย่างไร และเรามารู้ว่าเมื่อประพฤติแล้วมันได้ผลอย่างไร นี่คือคำพูดวันนี้ เวลาที่กำหนดไว้หมดแล้ว