แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๑๔ สำหรับพวกเราที่นี่ ได้ล่วงมาถึงเวลา ๔.๓๐ น. แล้ว วันนี้เป็นการบรรยายครั้งที่ ๑๑ และเป็นเรื่องที่ ๒ ของความรู้ที่จำเป็น ก่อนแต่ที่จะมีการเยียวยารักษา จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า วงล้อของชีวิต ในชีวิตประจำวัน ทำไมจึงได้พูดเรื่องนี้ ในชื่ออย่างนี้ เรื่องทั้งหมดของเราก็มีเรื่องการแก้ไขเยียวยารักษาโรคของโลก ตามแบบของพระพุทธเจ้า ในการแก้ไขเยียวยารักษาโรคของชีวิตนั้น จำเป็นที่จะต้องรู้ความลับ เป็นต้น ของสิ่งที่เรียกว่ามีชีวิตนั้น ในชีวิตประจำวันหรือแต่ละวัน
ถ้าเราไม่รู้ความลับอันนี้ มันก็ไม่มีหนทางที่จะแก้ไข เยียวยา หรือรักษาโรค หรือะไรต่าง ๆ ในปัญหาของชีวิต หรือตัวชีวิตเองได้ นี่ต้องรู้ความเร้นลับอะไรบางอย่างของมัน ที่ยังไม่ค่อยเปิดเผยแก่คนทุกคน และมันจะเปิดเผย มันก็เปิดเผยแต่ในด้านทางฝ่ายวัตถุ หรือฝ่ายร่างกาย ฝ่ายจิตใจยังไม่เปิดเผย หรือจะเปิดเผยบ้างก็เพียงบางส่วนที่ไม่ลึกซึ้ง ดังนั้น เราจึงไม่อาจจะแก้ไขให้โรคของชีวิตนี้ในส่วนลึก คือ ความดับทุกข์สิ้นเชิงได้ ในบรรดาความลับของชีวิตนี้ ที่เกี่ยวกับความดับทุกข์โดยตรงแล้วก็คือ ห่วง เหมือนกับห่วงโซ่ แห่งพฤติของจิต คือจิตมีพฤติอยู่ตลอดเวลา แล้วมันคล้องกันเป็นห่วง หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัฏสงสาร หรือไตรวัฏฏ์นี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในบรรดาความลับของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต สำหรับการที่จะแก้ไข รักษาเยียวยา ปรับปรุงต่าง ๆ ให้มันมีความดับทุกข์สิ้นเชิง
แม้พวกคุณจะเป็นนักศึกษา แต่ก็คงไม่มีความรู้เรื่องเรื่องนี้ เพราะยังไม่ได้เรียน เพราะมันไม่ได้อยู่ในหลักสูตรของคุณ หรืออาจจะยังไม่ทราบ ไอ้วงล้อที่คล้องกันเป็นห่วงที่สำคัญที่สุด คือ การอาศัยกันเกิดขึ้นคล้องกันไปเป็นห่วง เป็นลูกโซ่ ของสิ่งที่เรียกว่าตัวกู ตัวกูในทางความยึดมั่นถือมั่น ทางจิต ทางวิญญาณ เมื่อเป็นอย่างนี้ก็จะไม่รู้จักชาติ หรือความเกิด ที่สำคัญกว่าชาติ ที่รู้กันอยู่โดยทั่ว ๆ ไป
คำว่าชาติ ความเกิดนี้มีหลายความหมาย ชาติ ความเกิดที่สำคัญที่สุดกว่าชาติที่รู้จักกันอยู่แล้วทั่ว ๆ ไป นี้มันมีอยู่ชาติหนึ่ง นี่อาจจะยังไม่รู้ หรือไม่เคยคิดว่ามันมี ดังนั้น ขอให้พยายามทำความเข้าใจ ในเรื่องนี้ ในวันนี้ ซึ่งจะเรียกว่าวงล้อที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวชีวิตนี้ ก็ขอเตือนว่า ถ้าอยากรู้ไอ้ความลับลึกซึ้งในทำนองนี้ แล้วก็ ให้ขยันไหว้ครูไปตามเดิม สัพพัญญู สัพพทัสสาวี ชิโน อาจาริโย มะมะ มหาการุณิโก สัตถา สัพพะโลกะ ติกิฉะโก อาจารย์ของเรานั้นเป็นผู้รู้สิ่งทั้งปวง เป็นผู้เห็นสิ่งทั้งปวง เป็นผู้ชนะมารแล้ว เป็นพระศาสดาผู้ประกอบไปด้วยกรุณาอันยิ่งใหญ่ เป็นผู้รักษาเยียวยาโรคของสัตว์โลกทั้งปวงดังนี้
ให้สิ่งเหล่านี้มัน ให้ความหมายในถ้อยคำเหล่านี้มันแจ่มชัดอยู่ในใจเสมอ ใจนั้นก็จะพร้อมที่จะรู้ความลับของสิ่งทั้งปวง นี่ก็คือหัวข้อที่ทำไมจะต้องพูดเรื่องนี้ ทีนี้ก็จะได้พูดถึงตัวเรื่องมันต่อไป เรื่องแรกก็คือ ห่วงโซ่แห่งพฤติของจิต หรือวงล้อของชีวิตที่หมุนจี๋อยู่ตลอดเวลา ทั้งเป็นชนิดที่ใต้สำนึกและเต็มสำนึก ในขั้นแรกเราจะพูดถึงคำว่าวงล้อเสียก่อนดีกว่า ชีวิตนั่น ความหมายกว้าง ๆ คือ ความเป็นอยู่ ความมีอยู่ ชื่อว่าความเป็นอยู่ หรือชีวิตนี้มันต้องมี การหมุน หรือที่เรียกว่าวงล้อ ไอ้ตัววงล้อนั้นเขาเรียกว่า จักร จักกะระนี้ ที่เรียกว่าเครื่องจักร จักรตัวนี้แปลว่า วงล้อ ทีนี้การหมุนของมันน่ะเขาเรียกว่า สังสาระ หรือสงสาร ไม่ใช่เมตตาสงสาร มันอีกคำหนึ่งต่างหาก สังสาระ แปลว่า หมุนไป สังสารวัฏ สังสารจักร หมุนไปแห่งวงล้อ ชีวิตจึงมีอยู่ได้
แม้ชีวิตในฝ่ายรูปธรรมและแม้รูปธรรมที่ปราศจากชีวิต เช่นอย่างในปรมาณูหนึ่ง ๆ อย่างความรู้สมัยใหม่นี้ ก็มีอนุภาคของมันอันหนึ่ง ซึ่งหมุนอยู่รอบ ๆ อนุภาคอีกอันหนึ่ง ถ้าไม่มีการหมุนอันนี้ มันก็ไม่มีความหมายของคำว่า ปรมาณูหนึ่ง ๆ ในปรมาณูหนึ่งนี้จะถือว่ามีชีวิต หรือไม่มีชีวิต คนสมัยนี้เขาถือว่าเป็นไม่มีชีวิต แต่ข้อที่มันมีการหมุนอยู่รอบ ๆ ตลอดเวลา จึงทรงตัวอยู่ได้ หรือมีอยู่ได้นี้ มันก็ควรจะเรียกว่าชีวิต ความมีอยู่ ตามแบบของสิ่งทีเราไม่เรียกว่ามันว่ามีชีวิต แม้แต่ปรมาณูของแร่ธาตุ มันก็ต้องมีอาการอย่างนี้ ที่เรียกว่าสังสารจักร หรือสังสารวัฏ ถ้าปราศจากสังสารจักรแล้ว มันก็มีอยู่ไม่ได้ ชีวิตมันก็มีอยู่ไม่ได้ ตรงนี้ ก็อยากเตือนไว้เสมอว่า คำพูด ภาษาธรรมะที่ลึกซึ้ง อย่างไร มันก็ยืมภาษาง่าย ๆ ธรรมดาของชาวบ้านนั้นมาใช้เสมอไป ให้จำไว้ เช่นคำว่า หนทาง นี่ยืมมาใช้ อัฏฐังคิกมรรค เพื่อปฏิบัติ และเพื่อจะดับทุกข์ ไอ้ความเย็นของความร้อนนั้นก็เรียกว่า ดับลง มันก็เรียกว่า นิพพาน ในที่นี้ก็เหมือนกัน ยืมคำว่าล้อ ล้อเกวียน มาใช้ แทนความหมายของคำว่า จักร ของชีวิต แล้วที่มันหมุน ๆ ๆ ก็ให้หมุน ก็เอามาเป็นการหมุนของจักร ของชีวิต นับตั้งแต่ สังสารวัฏ ของวัตถุแท้ ๆ ที่เราเรียกว่าไม่มีชีวิต มันก็มีไอ้สังสารจักรอันนี้
ทีนี้ มันก็มาถึงสิ่งที่มันมีชีวิต ในส่วนที่เป็นร่างกายนั้น ก็ประกอบด้วยสังสารจักรอยู่หลาย ๆ อย่าง ที่เป็นอย่างหยาบที่สุด ก็คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนไป เวียนไปเป็นวงใหญ่ ๆ วงแคบเข้ามา มันก็มี อดีต อนาคต ปัจจุบันที่เรียกว่าวัย ปฐมวัย มัชฌิมวัย ตามเรื่องของมันที่มองแคบเข้ามา ไอ้ร่างกายมันอยู่ได้เพราะการไหลเวียนของสิ่งที่ไหลเวียน ไหลเวียนของโลหิต ไหลเวียนของการหายใจ ไหลเวียนของเนื้อหนังล้วน ๆ คือเซลล์ต่าง ๆ ที่มันต้องทยอยกัน ด้วยการสับเปลี่ยน มันก็มีอาการที่เรียกว่าหมุน การที่หมุน เรียกว่ามันเป็นห่วงโซ่ คือ คล้องกันหลาย ๆ วง นอกจากจะหมุนไปในหนึ่งวง แล้วมันยังคล้องกันอยู่ทุกวง มันสัมพันธ์ หรือสืบต่อกัน นี่แหละสิ่งที่เรียกว่าสิ่งที่มีชีวิตมันก็มี แม้ในเซลล์หนึ่ง ๆ มันก็ยังมีการไหลเวียนของการได้กิน ได้ตั้งอยู่ ได้ถ่ายออกไป ได้เกิดขึ้น แล้วก็ได้สลายไป ในวงเล็ก ๆ เฉพาะเซลล์ก็มี ในวงใหญ่ ๆ เฉพาะกลุ่มของเซลล์ก็มี ถ้ามันไม่มีอาการหมุนอย่างนี้ มันอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นชีวิตมันจึงเป็นการหมุน การหมุนที่เป็นอาการของวงล้อ นี่ฝ่ายวัตถุ ฝ่ายร่างกายมันก็เป็นอย่างนี้ เต็มที่ แต่ปัญหาส่วนใหญ่ มันอยู่ที่ฝ่ายจิตใจ หรือฝ่ายนามธรรม ดังนั้น เราจึงมีสิ่งที่เรียกว่าวงล้อฝ่ายนามธรรม ที่เป็นเรื่องของกิเลสและความทุกข์ บุคคลสูงสุด คือพระอรหันต์ ก็แปลว่าผู้ทำลายวงล้อนี้เสียได้ กิเลสและความทุกข์ มันก็หยุดหมุน
คำว่าพระอรหันต์ ในความหมายหนึ่งแปลว่า ผู้หักวงล้อ จะได้ล้อหมุนไม่ได้อีกต่อไป มันจึงสะอาด จึงบริสุทธิ์ จึงไม่มีความทุกข์ พระอรหันต์หักวงล้อ ของอะไร ก็ของชีวิต ของชีวิตในด้านไหน ของชีวิตในฝ่ายนามธรรม วงล้อนี้ประกอบอยู่ด้วยกิเลส กรรมและผลกรรม ซึ่งเราจะได้พูดกันต่อไป
ในที่นี้ ขอให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า วงล้อ วงล้อ และก็วงล้อในชีวิต ที่มีอยู่มากมายหลาย หลายด้าน หลายแขนง แต่ละวงหมุน หมุนเพื่อวัตถุแท้ ๆ อยู่ หมุนเพื่อร่างกายอยู่ หมุนเพื่อจิตใจอยู่ ให้หมุนเพื่อกิเลสและความทุกข์จะเกิดขึ้น จะได้เกิดขึ้น นี่เรียกว่าพฤติของจิต พฤติ ภาษาสันสกฤต วัตติ ภาษาบาลี แปลว่าความเป็นไป ความไม่หยุด motion แปลว่าพฤติ มีพฤติมันก็ต้องไป ไปนะมันไม่ได้ไปซื่อ ๆ มันไปเป็นอย่างหมุนไป ถ้าเราเห็นแต่การไป เราไม่เห็นการหมุนที่เป็นวัตถุล้วน ๆ เช่นหลอดไฟฟ้าสว่างโร่อยู่นี้ คือการหมุนที่ถี่ยิบ เป็นรอบ ๆ จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มาที่หลอดก็กลับไป นาทีหนึ่งตั้งพัน ตั้งหลายพัน ตั้งหมื่นก็มี แล้วแต่เขาจะทำมันขึ้น เราไปมองเห็นแต่ว่าไฟ ไม่เห็นว่าส่วนหนึ่งมันหมุน
วงกลม หรือวงล้อแห่งพฤติของจิต คือ motion ของจิต ที่พุ่งไปทางไหนก็ตามใจ หรือว่ามันพุ่งอยู่เป็นวงกลมใหญ่ก็ตาม ในนั้นมันมีวงกลมเล็ก จิตมันเคลื่อนไปด้วยวง ด้วยอาการหมุน อย่างนี้เราเรียกว่า วงล้อแห่งชีวิต แห่งสิ่งที่เป็นอยู่ ไม่ว่าเป็นอยู่ชนิดไหน วัตถุก็ได้ ร่างกายก็ได้ จิตใจก็ได้ รวมกันก็ได้ ทีนี้ที่พูดว่า ในขณะแห่งจิตใต้สำนึกหรือเต็มสำนึก มันก็มีวงล้ออย่างที่ว่านี้ นี้ก็พูดถึงเรื่องจิต คือ พฤติของจิตสองประเภท คือ ประเภทใต้สำนึก และประเภทเต็มสำนึก ไอ้ใต้สำนึกนี้ไม่มีความชัดที่จะรู้ แต่มันก็มีอยู่อย่างแรง นั่นคือตัวจิตเอง ตัวสิ่งที่เรียกว่าจิตล้วน ๆ ยังไม่เกี่ยวกับความรู้สึก ไม่มี concept อะไรเลย มันก็มีการหมุนอย่างวงล้อ
ตัวสิ่งที่เรียกว่าจิตนั้น ถ้าไม่มีการหมุน ก็ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าจิต เช่นเดียวกับอะตอมหนึ่ง ๆ ถ้าไม่มีการหมุน แห่งอนุภาค ก็ไม่มีอะตอมหนึ่ง ๆ นั้นเป็นธาตุวัตถุ นี้ธาตุจิตใจนี้มันก็มีอาการอย่างนั้น เขาเรียกเป็น ๓ ระยะ หรือ ๓ ขณะ ว่า อุปาทะ แปลว่าเกิดขึ้น ฐิติ แปลว่าตั้งอยู่ เฉทะ หรือพังคะ ดับลง นามธรรมหรือว่าธาตุฝ่ายนามธรรมอันหนึ่ง มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับลง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับลง ถี่ยิบ นี้คือการเกิดของสิ่งที่เรียกว่าจิต ที่เกิดยู่ และจิตจึงมีอยู่ ถ้าขาดสิ่งนี้จิตก็ไม่ได้มี เหมือนกับว่ากระแสของไฟที่มันวิ่งมาที่หลอดไฟ ผ่านแล้วก็กลับไป แล้วก็วิ่งมาอีก ผ่านแล้วกลับไป นี่ดวงไฟมันจึงโร่อยู่ได้
ในทางนามธรรม ทางจิตก็เหมือนกัน สิ่งที่เรียกว่าจิตนั้น มีอยู่ด้วยความหมุนหรือจักรของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ถี่ยิบ และนามธรรมอันนั้นก็มีลักษณะเป็นจิต อยู่ในร่างกายนี้ ไอ้อย่างนี้ใต้สำนึกไม่มี concept ไม่มีอะไร แต่อยู่ตลอดกาล กว่ามันจะ กว่าชีวิตชุดนี้มันจะดับลงไป นี้เรียกว่า พฤติของจิตหรือวงล้อของจิต แล้วก็ใต้สำนึก คือเราไม่รู้สึก แล้วมันก็ไม่ทำอะไร ทำ concept ไม่มีconception อะไรเลย ยังคล้ายกับว่าอยู่เป็นรากฐาน เช่นเดียวกับ อะตอมอันหนึ่ง เป็นรากฐานของไอ้สิ่งต่าง ๆ ที่มันจะปรุงกันขึ้นมาเป็นนั่นเป็นนี่
ทีนี้จิตที่เต็มสำนึก หมายความว่าจิต ที่มีแต่การทำหน้าที่ มี concept ไอ้มันจะมาจากไหน จะอย่างไร นี่มันเป็นรายละเอียดมากเกินไป อย่าเพิ่งพูดถึงในที่นี้ แต่ว่าได้มีอะไรแทรกเข้ามา ให้มันเกิดเป็นจิตที่กำลังมี concept ที่มีการทำงานทำหน้าที่ เปรียบให้เห็นง่าย ๆ กันลืม ก็เช่นว่า กระแสไฟฟ้าที่เราทำมันขึ้นมามีแรงมาก แล้วหมุนอยู่เฉย ๆ ไม่มีโหลด นี่มันก็จิตใต้สำนึก หรือที่เรียกว่าภวังคจิต จิตประจำชาติ ประจำภพ เป็นพื้นฐาน เหมือนกระแสไฟฟ้าที่ไม่มีโหลด
ทีนี้กระแสไฟฟ้าที่เราทำโหลดอะไรใส่เข้าไป มันชั่วคราว ชั่วเรื่อง ชั่วขณะ มันก็คงเป็นกระแสไฟฟ้า แต่มันถูกบรรทุกด้วยโหลดอย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็ต่างกัน ไอ้จิตใต้สำนึกชนิดนั้น เดี๋ยวนี้มันเต็มสำนึกโดยการที่มันมีโหลดอะไรเข้าไป ได้มีการกระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ที่เราเคยพูดกันมากแล้ว แล้วมันเกิดการปรุงขึ้นจากการกระทบนั้น เป็นผัสสะ แล้วก็เป็นเวทนา ทีนี้ก็จะเป็นกิเลสตัณหา ไอ้ตอนนี้คือไอ้วงล้อที่เต็มสำนึก แล้วก็เป็นตัวเรื่อง ตัวราว ตัวปัญหา หรือตัวอันตรายที่จะเกิดทุกข์หรือเกิดสุข
ไอ้วงล้อนี้ คือ วงล้อที่ต้องจัดการ ทำลายอย่าให้เกิดขึ้น หรือว่าควบคุมไว้ ในสภาพที่ไม่เป็นอันตราย หรือพอจะทนได้ สรุปความว่า ไอ้จิตใต้สำนึก เป็นภวังคจิต หมุนอยู่เป็นพื้นฐานเฉย ๆ ไม่ประกอบอยู่ด้วยตัวกู ไม่มี concept ต่อตัวกู ทีนี้ไอ้จิตที่มันเต็มสำนึก เขาเรียกว่า ชวนะจิต คือ จิตที่มันมีโหลดแล้ว มันก็จะปรุงกันไปจนเกิดตัวกู ความยึดมั่นถือมั่น มั่นหมายในทางจิต ว่าตัวกูนี่แหละ หรือแม้มันแม้ไม่ทันจะเกิดตัวกู แต่มันปรุงมาถึงขนาดครึ่ง ๆ กลาง ๆ แล้วมันสลายไปก็ได้เหมือนกัน มีเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วคนธรรมดาสามัญ แล้วมันต้องเกิดตัวกู ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ตัวกูอย่างมีความโลภ ตัวกูอย่างมีความโกรธ ตัวกูอย่างมีความหลง มันต้องเกิด เช่น ตาเห็นรูปเข้า มันก็เกิดการปรุงขึ้นมาทันที ภวังคจิตที่ไม่มีโหลดนั้นก็ ก็เกิดมีโหลดเป็นชวนะจิตขึ้นมาทันที ตาเห็นรูปก็รู้สึกต่อรูปนั้น ถ้ามันสวยก็สุขเวทนาก็เกิด ถ้ามันไม่สวยทุกขเวทนาก็เกิด ก็เกิดเวทนาอย่างนี้แล้ว ถ้าสวยมันก็รัก มันก็อยากจะได้ อยากจะดม อยากจะเป็นกิเลสตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ประเภทความโลภหรือราคะ นี้ถ้ามันไม่สวย มันขัดใจ มันก็โกรธ เกิดกิเลสประเภทโทสะ หรือโกธะขึ้นมา ถ้ามันยังเป็นที่น่ารัก น่าระแวงสงสัยไม่รู้อะไรอีกมันก็โง่ หลงโมหะ วนเวียน สนใจอยู่นั้น นี่เรียกว่าพฤติของจิตเต็มสำนึก จนเกิดตัวกู
กูมันอยาก หรือกูมันเกลียด หรือกูมันโกรธ หรือกูมันอิจฉาริษยา หรือว่าแล้วแต่มันมีมาก ไอ้ตอนนี้มันก็เป็นความทุกข์ใช่ไหม พฤติของจิตทำเล่นกับมัน เป็นวงล้อที่ปรุงหรือหมุน มันอาศัยกันเกิดขึ้นจนเกิดตัวกู แล้วเป็นความทุกข์ นี่เรื่องห่วงโซ่แห่งพฤติของจิต มันมีอยู่อย่างนี้ ไอ้ที่มันเพียงแต่เกิดดับ เกิดดับอยู่เฉย ๆ ไม่มีปัญหา พอร่างกายแตกดับมันก็สิ้นสุดเอง แต่ที่มันเกิดดับ เกิดดับ ชนิดที่มันเกี่ยวกับกิเลส หรือเป็นกิเลส นี่คือตัวปัญหา
อาการที่มันอาศัยกัน อาศัยกันมาเป็น ระยะ ระยะ ระยะ จนเกิดเต็มรูปเป็นตัวกู เป็นความทุกข์ แล้วก็จะกลับไปตั้งต้นใหม่ คือ พฤติของจิตที่หมุนเป็นวงกลม แล้วคล้องกันเป็นห่วงโซ่ อย่างนี้เขาเรียกเป็นภาษาบาลี จำยากสำหรับพวกที่ไม่ได้เรียนภาษาบาลี โดยเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจะ แปลว่า อาศัยกัน อาศัยซึ่งกันและกัน สมุปบาท แปลว่าเกิดขึ้นพร้อมบริบูรณ์ ความอาศัยกัน อาศัยกัน อาศัยกันแล้วเกิดขึ้นพร้อมบริบูรณ์ นี้เขาเรียก ปฏิจจสมุปบาท
ถ้าคุณไม่เคยได้ยิน ได้ฟังได้ศึกษา คุณก็คิดว่ามันอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ มันเป็นเรื่องทางศาสนา เป็นเรื่องของคนแก่ไปเข้าไปเรียนเถิด แต่ที่จริงมันคือสิ่งที่เกิดอยู่ในชีวิต เป็นประจำวัน เป็นขณะ ขณะ ตลอดเวลา วันหนึ่งไม่รู้ว่ากี่วง กี่ห่วง คือ ตัวเราที่กำลังคิดได้ รู้สึกได้ พูดได้ ทำได้ มัน มันมีอยู่ได้เพราะไอ้สิ่งนี้ คือ สิ่งที่คล้องกันเป็นห่วง หมุนไป รอบ รอบ รอบ รอบ รอบ แล้วมันมีชนิดที่มันเป็นสำนึกด้วยกิเลส คือตัวกู แล้วเป็นทุกข์ เราต้องการจะทำลายห่วงนี้ มันต้องการจะทำลายวงล้ออันนี้ คือวงล้อแห่งความทุกข์
ส่วนวงล้ออันอื่น ๆ ไม่จำเป็นแหละ ให้มันไปตามเรื่องของมัน เรื่องกินเข้าไปแล้วย่อย เลี้ยงร่างกายแล้วถ่ายก็ออกมา แล้วกินเข้าไป นี้มันก็ไม่ต้องทำลายอะไรมัน รักษาควบคุมมันให้ดี ๆ ความไหลเวียนอะไรต่าง ๆ ก็ควบคุมมันให้ดี ให้ร่างกายมันปกติ หรือจิตที่มันมีพฤติแต่เพียงว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นภวังคจิต นี้ก็ไม่ต้องไปทำลายมัน ถ้าไปทำลายก็คือทำลายชีวิตทั้งหมด
ทีนี้ชีวิตชนิดหนึ่งที่มันเป็นอยู่ของกิเลส และกรรม และวิบากนี่ ต้องทำลาย ต้องควบคุม ควบคุมได้ก็คือมันไม่เกิด ไม่เกิดก็คือการทำลาย คือมันหมุนไม่ได้ มันก็เป็นทุกข์ไม่ได้ เท่านี้ก็พอแล้ว จะเรียกว่าควบคุมก็ได้ จะเรียกว่าทำลายก็ได้ แต่เขาเรียกเป็นภาพพจน์ที่รุนแรงเรียกว่า หักเสียซึ่งวงล้อของสังสารจักร ของชีวิต ฟังแล้วมันน่ากลัว มันก็จริง โดย โดยความหมายเนื้อแท้มันจริง คือวงกลมนี้มันหมุนไม่ได้ เดี๋ยวก็จะพูดกันถึงเรื่องนี้
ไอ้ที่อาศัยกันเกิดขึ้น อาศัยกันเกิดขึ้นนี่ เป็นปฏิจจสมุปบาทวงใหญ่วงหนึ่ง มีบัญชีรายชื่อตั้ง ๑๑ ๑๒ อวิชชา สภาพปราศที่จากความรู้ทำให้เกิดสังขาร คือ อำนาจปรุงแต่ง ให้สิ่งนั้นหยุดอยู่ไม่ได้ต้องเปลี่ยนแปลงไป สังขารเป็นเหตุให้เกิดวิญญาณ คือ จิตชนิดที่ทำหน้าที่ของจิต ไอ้จิตที่อยู่เฉย ๆ เป็นภวังคจิตมันไม่ทำหน้าที่อะไรได้ นี้มันถูกสังขารปรุงให้เป็นวิญญาณ วิญญาณจิตชนิดที่ทำหน้าที่รับอารมณ์ได้ เฉพาะเรื่องเฉพาะขณะนั้น วิญญาณนี้ก็ทำให้ นาม รูป คือ กายกับใจ ที่มันไม่ ไม่ยังไม่เป็นอะไร ยังไม่ทำหน้าที่อะไร เหมือนกับตายด้านอยู่ ลุกขึ้นมา เป็นกายกับใจที่ทำหน้าที่ได้ ชั่วขณะ ชั่วเรื่องชั่วขณะนั้น ชั่วตาเห็นรูป ชั่วหูฟังเสียง ชั่วขณะอย่างนั้นเท่านั้น
ไอ้นาม รูป ที่เป็น active บังเกิดขึ้น นอกจากนั้นมันเป็น dormant ที่หลับอยู่ กายกับใจที่มันไม่ทำหน้าที่ ทีนี้ วิญญาณนี้มันจะทำให้กายกับใจที่หลับอยู่เกิดเป็น active ขึ้นมา จะทำหน้าที่ กายกับใจ นาม รูป อันนี้ มันก็ทำให้อวัยวะ คือ ตาหู จมูก ลิ้น กาย หก หกอวัยวะที่หลับอยู่นี่ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ รับอารมณ์ รับอะไรทางตา ทางหู ทางจมูก นี้การที่ว่า ไอ้อวัยวะข้างในนี่มันพบกันเข้ากับสิ่งข้างนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส ที่จะเข้ามาพบนี้ เขาเรียกว่าการกระทบ หรือว่าผัสสะมันก็เกิดขึ้น
กระทบผัสสะอย่างนี้แล้วมันก็มีเวทนาเกิดขึ้น ถูกใจหรือไม่ถูกใจ เวทนาเกิดขึ้นแล้วมันก็ทำให้เกิด ตัณหา คือ ความต้องการ หรือความโง่อันนี้ เพราะมันมีมูลมาจากอวิชชา มันตั้งต้นมาจากอวิชชา มันก็มีความอยาก หรือความโง่ เรียกว่า ตัณหา ถูกใจก็อยากจะยึดครอง ไม่ถูกใจก็อยากจะทำลาย ส่วนใหญ่มันเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นไปในกามารมณ์ ก็เรียกกามตัณหา ถ้าเป็นไปในสิ่งที่เป็นรูปบริสุทธิ์ ไม่มีกามารมณ์ หรือเป็นเพียงความมีความเป็น ก็เรียกว่า ภวตัณหา ถ้าเป็นไปในสิ่งที่ไม่มีรูป หรือไม่มีความมีความเป็น ก็เรียกวิภวตัณหา ความอยากและความโง่มี ๓ ประเภทแค่นี้
ตัณหาเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ต้องสงสัย ก็ยึดมั่นในสิ่งที่มันอยาก มันต้องการนี้เรียกว่า อุปาทาน พฤติของจิตมี concept มาถึงอุปาทาน อย่างนี้แล้วเขาก็เรียกว่าพร้อม ความพร้อมที่จะเป็น เป็นอยู่หรือเป็นชีวิตอันหนึ่งในขณะนั้น เขาเรียกว่า ภพ ภพนี้เรียกเป็นภาษาที่จะเข้าใจสำหรับพวกคุณก็เช่น คำว่า existence คือความมีอยู่ เป็นอยู่ เป็นขึ้นมาพร้อมของชีวิต นั้นเรียกว่า ภพ หลังจากภพก็มี ชาติ คือความเกิด นี้เป็นความรู้สึก คือ เป็นตัวฉัน ตัวเรา ตัวไอ้เต็มที่ นี่แหละชาติที่คนยังไม่รู้จัก ก็คือชาติตอนนี้ ไม่ใช่ชาติเกิดจากท้องแม่ ชาติที่เกิดมาจากอวิชชาประจำวัน พอมีชาติอย่างนี้แล้ว ก็มีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ หรือว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ที่นอนหลับอยู่เฉย ๆ ไม่รู้อยู่ที่ไหนจะมาเป็นปัญหาขึ้นในใจทันที เห็นความทุกข์ ความกลัว ความอะไร มันมี เกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้อย่างใจ ไม่ได้อย่างใจ พบกับสิ่งทีไม่ชอบ พลัดพรากจากสิ่งที่ชอบ ปรารถนาอะไรแล้วไม่ได้อย่างนั้น ที่เรียกว่าความทุกข์ มันมาจาก ตัณหา อุปาทาน ภพ และชาติ พอถึงความทุกข์ ก็เรียกว่ารอบหนึ่งแล้ว
ทีนี้ความทุกข์เกิดแล้ว ไม่ใช่อวิชชามันหมด อวิชชามันยังอยู่ มันคือมันยังมีความเคยชินที่จะเกิดอยู่ นั่นแหละ ที่มันไปกระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางไหนเข้าอีก มันก็ทำงานอย่างนี้อีกแหละ เป็นวง ๆ ไปอย่างนี้ นี่คือปฏิจจสมุปบาท ที่เรียกแล้วฟังยาก แล้วไม่มีใครสนใจ ที่แท้ก็คือไอ้ motion ของสิ่ง สิ่งซึ่งประหลาดลึกลับอันหนึ่งที่หมุนอยู่ในตัวคนนี้ แล้วก็ให้มันเกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ นี่วงล้อแห่งชีวิตที่อันตราย ที่ทรมานคน ที่พระอรหันต์ จะหักละเสียได้ ทำลายเสียได้ ปุถุชนยังทำลายไม่ได้ บุรุษ ปุถุชนก็ต้องเป็นทุกข์ไปเรื่อย ๆ
นี่เรามาพูดกันสำหรับให้รู้ ให้เข้าใจ เพื่อเป็นความรู้ ที่จำเป็นก่อนแต่ที่จะรักษาเยียวยา ชีวิตนี้ให้ปราศจากโรคทางวิญญาณ โรคทางร่างกายมันเป็นหน้าที่ของคุณ ที่เรียนแพทย์ เป็นแพทย์ทางฝ่ายร่างกาย แต่โรคทางจิต ทางวิญญาณ เป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นนายแพทย์รักษาโรคแห่งสัตว์โลกทั้งปวง เป็นโรคทางจิต หรือโรคทางวิญญาณ ไปทางนู้น แล้วมันขึ้นอยู่กับวงล้อของชีวิต ที่หมุนในลักษณะที่จะเกิดความทุกข์ อวิชชาเป็นมูลเหตุ นี่เรียกว่า ห่วงโซ่แห่งพฤติของจิต ชนิดเต็มสำนึก ปรุงขึ้นมาเป็นกิเลส ตัณหาแล้วก็ทำกรรม แล้วก็ทำให้เกิดผลของกรรม แล้วก็เป็นความทุกข์
ปฏิจจสมุปบาท ๑๑ อาการ ๑๒ ทั้งผลของมันคือความทุกข์นี้ นั่นแหละคือตัวชีวิตประจำวัน ที่ซ่อนเร้นอยู่ ถ้าอันนี้ไม่เกิด ชีวิตก็ไม่มีความหมายอะไร มันเหมือนกับต้นไม้ ที่ไม่มีความหมายที่เป็นทุกข์ร้อนอะไร แต่เพราะมันวิวัฒนาการมาก จนเกิดไอ้ความรู้สึกอันนี้ขึ้นมา เป็นคราว ๆ นี้ มันจึงถึงขนาด ที่จะเป็นทุกข์ ยิ่งวิวัฒนาการในส่วนนี้มาก ยิ่งเป็นทุกข์มาก เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงมีความทุกข์ มากมายกว่าสัตว์เดรัจฉาน เพราะสัตว์เดรัจฉาน พฤติของจิตในทำนองนี้ มันไม่มี หรือมันไม่ค่อยจะมี ส่วนของมนุษย์เรามันมีมาก แล้วมากเกินขอบเขต เป็นปัญหาเฉพาะมนุษย์ และก็เฉพาะมนุษย์ที่มีวิวัฒนาการ แรงขึ้นไป แรงขึ้นไป
คนป่าสมัยหิน ไม่ค่อยมีเรื่องอย่างนี้ มันอยู่ในระดับที่ยังต่ำต้อยมาก ยิ่งเจริญด้วยสติปัญญาและความคิด มันก็ยิ่งมีกิเลสลึกและสูง กิเลสยิ่งลึกและสูง ความทุกข์ก็ยิ่งมาก นี่ยิ่งรู้มากยิ่งยากนาน ยิ่งเจริญยิ่งเป็นทุกข์ ในส่วนนี้ มนุษย์ในสมัยที่มีความเจริญ นี่ยิ่งมีความทุกข์มากกว่ามนุษย์ในสมัยที่ยังไม่ค่อยเจริญ หรือมากกว่าสัตว์ที่มันยังไม่มีความเจริญในด้านนี้ วงล้อแห่งชีวิตของสัตว์มันจึงไม่ค่อย ไม่ค่อยมีความหมายอะไร และของคนป่าสมัยหิน ก็ไม่ได้มีความหมายอะไร เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ตามธรรมดา
ส่วนของมนุษย์ที่เจริญด้วยความคิดนี่ มันเกิดวิวัฒนาการมาก แล้วมันก็มีกิเลสมาก มีกรรมมาก มีผลกรรมมาก คือ ความเดือดร้อนที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ที่เรียกว่าความทุกข์มันมาก ที่ท่านจะมีคำถามเพื่อความเข้าใจชัดออกมาอีกว่า เมื่อไหร่ มีอาการอันนี้ มีอาการหมุนแห่งล้อของชีวิต ในด้านพฤติของจิตนี้ ตอบได้อย่างไม่มีผิดเลยว่า เมื่อมีการกระทบทางอายตนะ มีการกระทบทางอายตนะเป็นคำบัญญัติให้มันชัดเจน คือเมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูฟังเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น เมื่อลิ้นได้รส เมื่อผิวหนังได้สัมผัสทางผิวหนัง เมื่อจิตมันได้อารมณ์สำหรับคิด นึก รู้สึก ก็หก มีอยู่หก ก็มันหกคู่ เมื่อนั้นแหละ เมื่อมีการกระทบทางอายตนะ ไอ้ความหมุนไอ้รอบที่เป็นอันตรายนี้มันเกิด คือปฏิจจสมุปบาทมันเกิด
ถ้าจัดการไม่ดีมันเป็นคนโง่ ไม่รู้เท่ามันก็ต้องเป็นทุกข์ ไปตามธรรมดาสามัญของปุถุชน ช่วยไม่ได้ ถ้าเป็นพระอริยะเจ้า รู้จักจัด รู้จักทำ ให้มันมีทุกข์น้อย หรือไม่ทุกข์เลย แล้วแต่ว่าจะเป็นพระอริยะเจ้าชั้นไหน ระดับไหน ถามว่า เมื่อไร ก็เมื่อมีการกระทบทางอายตนะ อินทรีย์พบอารมณ์เข้าแล้ว ทำงานเที่ยงตรงหลักต่างหาก อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พบอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วทำงานไปตามกฎของธรรมชาติ เมื่อนั้นนะจะเกิดอันนี้ วงล้อแห่งชีวิต คือปฏิจจสมุปบาทที่มีความทุกข์
มันเกิดได้เมื่อขาดอะไร นี่ผมตั้งปัญหาไว้เอง ว่า มันเมื่อขาดอะไร เมื่อขาดวิชชา เมื่อขาดสติ ปัญญา เมื่อขาดวิชชา ก็มันคือเมื่อมันมี อวิชชา ถ้าอวิชชาอยู่ วิชชามันก็ไม่อยู่ ถ้าวิชชาอยู่ อวิชชามันก็ไม่อยู่ ฉะนั้น ปฏิจจสมุปบาทมันนี้เกิดได้เมื่อมันขาดวิชชา เวลานั้นมันขาดวิชชา คือ ขาดสติ สัมปชัญญะซึ่งเป็นตัววิชชา สตินั้นคือวิชชาที่วิ่งมาทันเวลา สัมปชัญญะนั้นคือวิชชานั้นนะที่มันอยู่ตลอดเวลา มันมาแล้วมันอยู่ตลอด เวลา เพราะขาดสติสัมปชัญญะนี่ ไอ้วงล้อแห่งชีวิตมันก็หมุน ในลักษณะของความทุกข์ นี้แปลว่า อาการของปฏิจจสมุปบาทนี้ มันเกิดเมื่อขาดวิชชา คือ ขาดสติ อวิชชากำลังครอบครองจักรวาลนี้ อวิชชากำลังครอบครองชีวิต จักรวาล ถ้าชีวิตและจักรวาลมันถูกครองด้วยวิชชา มันก็สบายแค่นั้นแหละ เดี๋ยวนี้มันมีอวิชชาแทรกเข้ามาครอบ มาครอบครองอยู่เป็น เป็นคราว เป็นคราว แล้วมากเสียด้วย ก็เพราะว่าเดี๋ยวตามันเห็นรูป เดี๋ยวหูมันฟังเสียง เดี๋ยวจมูกมันได้กลิ่น ที่นี้คนมันโง่ ก็เปิดโอกาสให้อวิชชายึดครอง
นี้จะถามว่า จะป้องกันมันได้อย่างไร มันก็ตอบด้วยกำปั้นทุบดินว่า ป้องกันมันได้ด้วยสติ ด้วยวิชชา หรือด้วยสตินี่ เช่นเราจะต้องมีสติ มีสติจนชำนาญ คือว่ามันไม่เคยพลาด ไม่เคยเผลอสติ อะไรมาสติมันมีทุกที อย่างนี้เรียกว่ามีสติ ที่ ที่ชำนาญ สติที่ทันท่วงทีอยู่เสมอ นี่แหละเป็นเครื่องป้องกัน ไม่ให้วงล้อนั้นมันเกิดหมุนขึ้นมา วงล้อของปฏิจจสมุปบาท จะไม่ ไม่มีทางที่จะปรุงมันขึ้นมาเป็นความทุกข์ เพราะป้องกันไว้ได้ด้วยสติ กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทนี้ จะถูกั้นไว้ได้ด้วยสติ ไม่ให้มันเกิดขึ้นมาได้ ไม่ให้มันหมุนได้ ในภาษาธรรมะที่ลึก ๆ ที่ชวนง่วงนอนกันนี้
นี้เราพูดมาถึงเรื่องห่วงโซ่แห่งพฤติของจิต คือ วงล้อแห่งชีวิต ได้แก่พฤติของจิต ที่มันหมุนไปด้วยการปรุงเป็นวงกลม ตั้งแต่อวิชชาถึงความทุกข์ นี่รอบหนึ่ง เดี๋ยวก็รอบหนึ่ง เดี๋ยวก็รอบหนึ่ง เดี๋ยวก็รอบหนึ่ง ในชีวิตวัน วันเดียว วันหนึ่งนี้ มันก็ไม่รู้ว่ากี่รอบ กี่สิบรอบ ไปถึงหลายร้อยรอบก็ได้ แล้วแต่มันมีเรื่องมากหรือเรื่องน้อย คนโง่มากหรือโง่น้อย คนโง่มากมีสติน้อย มันก็ปรุงได้มาก ในวันหนึ่ง ๆ คนที่มีธรรมะ รู้ธรรมะ มีสติสัมปชัญญะ มันก็ปรุงได้น้อย น้อยรอบ หรือไม่ปรุงเลยก็ได้ หลาย ๆ วันจึงจะเกิดตัวกูสักครั้งหนึ่งก็ได้ หลาย ๆ เดือนจะเกิดตัวกูสักครั้งหนึ่งก็ได้ นี่คือใกล้เข้าไปทางความเป็นพระอริยะเจ้า ถ้ามันเกิดมากในระดับธรรมดาสามัญ ก็เรียกว่า เป็นปุถุชน
ทีนี้เลยมองดู ในแง่ที่มันเป็นวงล้ออย่างไร มองดูตัวจักร จักรหรือวงล้อมันเป็นอย่างไร เมื่อสักครู่พูดถึงการหมุนไป ที่มันจะดูเฉพาะไอ้ตัววงล้อมันสักที ที่ว่าในปฏิจจสมุปบาททั้ง ๑๑ อย่าง หรือ ๑๒ อย่างนั้นแหละ ไอ้ตอนหนึ่งมันเป็น กิเลส ไอ้ตอนหนึ่งมันเป็นกรรม ตอนหนึ่งมันเป็นผลกรรม เรารู้จักเรื่องชนิดนี้ ที่เห็นง่าย ๆ เสียก่อน ในส่วนที่เห็นง่าย ๆ เสียก่อน กรรมหรือกิริยานี่ มันทำเพราะอยากทำ เราจะทำอะไรนี่มันจะทำเพราะอยากทำ มันจะถ้าไม่อยากจะทำ มันมีการกระทำไม่ได้หรอก มันมีการอยากที่จะทำ แล้วถัดมามันก็มีการกระทำ พอมีการกะทำลงไป มันก็มีปฏิกิริยา หรือ reaction เกิดขึ้นมา นี้คือผลของกรรม เกี่ยวกับความทุกข์ก็มี ไม่เกี่ยวกับความทุกข์ก็มี ถ้ามันไม่ได้ทำด้วยเจตนา มันก็ไม่เกี่ยวกับความทุกข์ คือไม่ได้ทำด้วยกิเลส เช่น กิ่งไม้หักลงมานี้ มันจะมีปฏิกิริยาที่แผ่นดินมากมายสักเท่าใดก็ตามใจ อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าความทุกข์ เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่มีจิต มีวิญญาณ มีความคิดปรุงแต่งอะไรได้ มันจึงเป็นเพียง action ที่ปราศจากชีวิต ปราศจากความรู้สึก อย่างนี้ก็ไม่เรียกว่า กรรม ไอ้ที่เรียกว่ากรรมต้องมีความรู้สึกที่เป็นกิเลส เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็ตามนี้เป็นกิเลส รวมแล้วก็หมาย คือความโง่ อวิชชานั้นแหละ เป็นกิเลส ปรุงให้เกิดเป็นตัณหา เป็นอุปาทาน ขึ้นมา นี่คืออยากทำด้วยความโง่ ด้วยความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มันจึงอยาก ถ้ามันรู้ว่าอะไรเป็นอะไรเสียแล้วมันไม่อยาก เขาไม่เรียกว่าความอยากด้วย มันเป็นความรู้ที่ว่าควรทำอะไร อย่างไร อย่างนี้ไม่ใช่ความอยาก ส่วนความอยากนั้น มันโง่แล้วมันอยาก เหมือนใจจะขาด มันอยาก อยากด้วยความโง่ อย่างนี้เรียกว่า กิเลส
ถ้าทำไปด้วยกิเลสอันนี้ ก็เรียกว่ากรรม พอกรรมแล้ว ก็ต้องมีผลกรรม ได้รับผลกรรมแล้วมันไม่ใช่จะหยุดอยากได้ มันก็อยากอย่างอื่นต่อไปอีก นี่มันเป็นผลที่ที่เกิดมาจาก ไอ้ผลกรรมนั้นอีกที่หนึ่ง มาเป็นกิเลสใหม่ ก็ทำกรรมอีก ได้รับผลกรรมอีก แล้วก็อยากต่อไปอีก ทำกรรมอีก ได้รับผลกรรมอีก นี่เป็นวงกลมอย่างนี้ เขาเรียกว่า วัฏสงสาร ความหมุนไปแห่งวงกลม หรือหมุนไปแห่งจักร ดังนั้น สังสารจักร หรือวัฏสงสารนี้ อยู่ในคน แล้วก็ในวันหนึ่ง วันหนึ่ง ก็มีได้หลาย ๆ วง อย่าไปเข้าใจว่า ชาตินี้เราก็ทำกรรม แล้วก็เข้าโลงไปแล้วจึงรับผลกรรม แล้ว ไปกันไกล ๆ อย่างนั้น ไอ้พวกนั้นเขาพูดกันอย่างนั้นก็ตามใจเขา แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่พูดอย่างนั้น ตามความรู้ของผมที่ได้ศึกษามาตลอดเวลานี้ คือ ระบุ ปฏิจจสมุปบาท ในชีวิตประจำวันวงหนึ่ง วงหนึ่ง ไม่รู้กี่วง เพราะเหตุว่า วันหนึ่งเราอยากด้วยความโง่นี้ หลายหน อยากด้วยความโง่ที่ไร มีการทำกรรมทีนั้น และทันใดนั้นก็มีผลแห่งกรรม แล้วก็มาทำให้เกิดความอยากใหม่อีก นี่มันวนอยู่อย่างนี้ในวันหนึ่งมีได้หลายหน ดังนั้น ปฏิจจสมุปบาท นั้นก็คือเรื่อง ที่จะเกิดขึ้นแก่ชีวิตประจำวัน วันหนึ่ง มากหน หลายหน นี้แหละ คือ วงล้อ ตัววงล้อมันอยู่ที่นี่ พูดเป็นภาษาไทยธรรมดา ก็คือ อยาก แล้วก็ทำ แล้วก็ได้ผล แล้วก็อยากอีก แล้วก็ทำ แล้วได้ผล แล้วก็อยากอีก แล้วก็ทำ แล้วก็ได้ผล นี่คือวงล้อวงหนึ่ง ซึ่งคล้องกันเป็นห่วงโซ่ เข้าไปดูโซ่เส้นหนึ่งจะเห็นว่าหลายวง แล้วแต่ละวงมันคล้องกันไปเรื่อง มันจึงเป็นสายโซ่ ผลสุดท้ายของวงกลมอันนี้ มันตั้งต้นทำให้เกิดวงกลมอันที่สอง และวงกลมอันที่สามเรื่อยไป เป็นสายโซ่ ถ้าดูทั้งสายก็เป็นปฏิจจสมุปบาท ที่มันคล้องกันเป็นชีวิตยืดยาว ถ้าโดยเฉพาะวง เฉพาะวง มันเป็นวงล้อวงหนึ่ง
ที่นี้ เมื่อสักครู่บอกแล้วว่า ปฏิจจสมุปบาท มันมีตั้งต้น อวิชชา สังขาร วิญญาณ นาม รูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ สิบเอ็ดอยู่ข้างต้นก่อนชาติ นี่เป็นฝ่ายเหตุ ในชาติ มีความทุกข์ทั้งหลาย ฝ่ายโน้นนะเป็นผล ฉะนั้นตั้งแต่อวิชชา ไปถึงสังขาร วิญญาณ นาม รูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา นี่มันเป็นขณะแห่งการเตรียมพร้อมที่จะเกิดกิเลส อวิชชา สังขาร วิญญาณ นาม รูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ผัสสะ แล้วกระทั่งเวทนาที่มันลุกขึ้นมา จากการที่มันหลับไปนิ่ง ๆ เป็น นามรูป คือกายกับใจ ที่มีอายตนะ ที่พร้อมที่จะทำงานแล้วมันทำงาน แล้วมันก็มีเวทนาเกิดขึ้น
ตอนนี้เป็นการเตรียมพร้อมที่จะเกิดกิเลส สังขารที่เตรียมพร้อมที่จะเกิดกิเลส ที่นี้พอเกิดเวทนาแล้ว มันก็เกิดอีก ตัณหา และอุปาทาน ตอนนี้คือตัวกิเลส เรากำลังอยากอะไรอยู่ อย่างจะขาดใจ และยึดมั่นในสิ่งที่อยากอยู่อย่างเหนียวแน่น นี้เรียกว่ากิเลส คือ ตัณหาและอุปาทาน พอเกิดอุปาทานแล้วก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าภพ นี่คือกรรม คือการกระทำที่เต็มรูปของตัณหาและอุปาทาน นี่เป็นตัวภพ คือ ความมีอยู่ ตัวความมีอยู่หรือตัวชีวิตนะมันตั้งต้น สมบูรณ์ที่จะออกมาเรียกว่ากรรม กรรมภพ คือการปรุงแต่งของกิเลสนั้นแหละ เรียกว่ากรรม พอมีกรรมอย่างนี้แล้ว ก็มีผลกรรม คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เหมือนที่คุณสวดอยู่สักครู่หยก ๆ นั้นคือตัวผลกรรม
ในปฏิจจสมุปบาทสายหนึ่งตั้งแต่อวิชชามาถึงเวทนา นี่เป็นการเตรียมพร้อมของกิเลส ตัณหา อุปาทานนั้นคือตัวกิเลส ที่นี้เราพูดรวบไปเลยว่า ไอ้เตรียมพร้อมแห่งกิเลสและกิเลสนี้ เป็นพวกกิเลสไปเสียเลยก็แล้วกัน ตั้งแต่อวิชชามาถึงอุปาทานนี้คือกิเลส ภพคือกรรม ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ คือ ผลกรรม คือความทุกข์ นี้ปัญหามันอยู่ที่ตัวความทุกข์ ถ้าไม่มีความทุกข์ ก็ไม่มีเรื่องอะไร ที่เราต้องการที่จะไม่มีทุกข์ ไม่ให้ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความกลัว ความโกรธ ความเกลียด และอย่าทำ อย่าให้มันมีเป็นปัญหาขึ้นมา เราก็ต้องทำลายอวิชชา ทำลายกิเลส มันไม่สร้างกรรมที่จะเป็นตัวกูขึ้นมา แล้วก็มาโกรธ มาเกลียด มากลัว มาลำบาก อยู่ที่นี่
ทุกคราวที่มันเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส อย่าให้มันเกิดวงล้อที่หมุนขึ้นมา ในลักษณะอย่างนี้ เราก็เย็นสบาย คือ สงบอยู่ สะอาดอยู่ สว่างอยู่ สงบอยู่ มันก็สบาย ไม่มีความทุกข์ นี่พูดได้หัวข้อสำหรับให้ไปค้นคว้า กิเลส ไม่มีตัว ไม่มีตนอะไรหรอก เป็นความรู้สึกที่ปรุงแต่งขึ้นมาในจิต แต่มันก็มีฤทธิ์มีเดชมากเหลือประมาณ แล้วก็ทำให้เกิดกรรมขึ้นมา แล้วมันก็ช่วยไม่ได้ที่ไม่เป็นไปตามกรรม หรือผลกรรม เพราะมันมาจากอวิชชา ต่อเมื่อทำลายอวิชชาได้ มันจึงจะไม่มีกิเลส ไม่ทำกรรม ไม่รับผลกรรม ถ้ายังโง่อยู่แล้วก็มันยังต้องมีกิเลส มีกรรม มีรับผลกรรม เดี๋ยวนี้เรายังไม่เป็นพระอริยะเจ้า เรายังโง่เต็มที่อยู่ ก็ต้องทนไปเอา ทีนี้มันทนไม่ไหวก็ดิ้นรนที่จะแก้ไขมัน จึงต้องมีความรู้เรื่องนี้ ฉะนั้น ผมจึงเรียกมันว่า เป็นความรู้ที่จำเป็น ที่จะต้องรู้ก่อน แต่การที่จะมีการเยียวยารักษาโรค ตามแบบของพระพุทธเจ้า ที่จะต้องรู้เรื่องอะไรอีกหลาย ๆ ชุด หลาย ๆ เรื่อง ก่อนแต่จะที่จะลงมือทำการเยียวยารักษาโรค นี่คือความลับ ที่จะต้องเปิดเผยออกมา ความลับเกี่ยวกับวงล้อของชีวิต ชีวิตเป็นวงล้อ ไม่ว่าชีวิตชนิดไหน มันมีความลับซ่อนอยู่ที่นี่ คือ ความลับที่เราจะต้องรู้ ก็มันเกี่ยวกับกิเลสและกรรมนี้ และผลกรรมนี้ เราต้องรู้กฎแห่งกรรม เราจะต้องรู้ประเภทของกรรม จะต้องรู้สมุฏฐานของกรรม และต้องรู้การทำลายเสียซึ่งวงล้อแห่งกรรม
กฎของกรรมนี่มันก็มีมาก ป่วยการที่จะไปพูดมันทั้งหมด กฎแห่งกรรม คือ ปฏิจจสมุปบาท ที่พูดมาแล้ว กฎแห่งกรรมก็คือว่ากิเลสให้กระทำกรรม ทำกรรมให้เกิดผลกรรม ผลกรรมมันหล่อเลี้ยงกิเลส กิเลสให้มันเกิดกรรม กรรมให้เกิดผลกรรม เวียนอยู่อย่างนี้ นี้แหละเป็นตัวกฎแห่งกรรมที่สำคัญที่สุด มันเกี่ยวกับมนุษย์ตรงที่ว่า มนุษย์มันทนไม่ได้ มันต้องทำกรรมอันนี้ เพราะมันมีกิเลส นี้มนุษย์ทำกรรมเข้าแล้ว มนุษย์อย่าหนีไปไหนเลย หนีไม่พ้นหรอก จะต้องรับผลของกรรม มนุษย์รับผลของกรรมแล้วมันยังไม่หายโง่ มันก็มีกิเลส สำหรับทำกรรมเรื่อย ๆ ไปแหละ ทีนี้กรรมดี กรรมชั่ว กรรมอะไรก็ตาม มนุษย์ไปทำเข้า แล้วมันก็ต้องมีปฏิกิริยาที่มนุษย์ แล้วนุษย์จึงเวียนว่ายไปตามกรรม นี้เรียกว่ากฎแห่งกรรมที่เกี่ยวกับมนุษย์
ที่นี้ประเภทแห่งกรรม เขาไปจำแนกกันมันฟุ้ง มันเฟ้อ มันป่วยการ กรรมดี กรรมชั่ว กรรมสิบสอง กรรมอะไร อยากรู้ก็ไปเรียนเอาเอง ผมไม่ชอบพูดไอ้เรื่องที่มันไม่คุ้มกับเวลา เป็นอภิธรรมเฟ้อ ถ้าเป็นอภิธรรมจริง ไอ้เรื่องกรรมมันมีอยู่ สอง สองประเภท คือ กรรมดำ กรรมขาว นี่คือกรรมดี กรรมชั่ว ที่ทำให้เราสุขหรือทุกข์ ตามประสาโง่ ๆ นี้ สุขกับทุกข์กันตามประสาโง่ ๆ สุขอย่างที่คนโง่สุข คนปุถุชนสุข เป็นผลของกรรมขาว แล้วปุถุชนทนทุกข์ก็ผลของกรรมดำ ทีนี้มันมีกรรมที่ไม่อาจจะเรียกว่า ดำหรือขาว คือ กรรมที่พระพุทธเจ้าท่านคิด ท่านพบใหม่มาสอน คือ กรรมที่จะหักเสียซึ่งวงล้อแห่งวัฏฏะนี้ เราปฏิบัติถูกต้องตาม มรรคมีองค์ ๘ ประการ ที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนาแล้ว หักเสียซึ่งวงล้อแห่งกรรมดำ กรรมขาว หักเสียซึ่งวงล้อแห่งวัฏฏะนั่นแหละ นี่ก็กรรมที่ไม่ดำไม่ขาว คือ อริยมรรค ประพฤติในอริยมรรคนี้เป็นกรรมที่ไม่ดำไม่ขาว แล้วก็ทำลายวงล้อแห่งความทุกข์นี้เสียได้ นี้กรรมที่นำไปโลกุตระ นี้กรรมที่นำให้เวียนว่ายอยู่ใน โล โลกิยะ นี้คือกรรมดำ กรรมขาว กรรมไม่ดำ ไม่ขาวก็ดึงออกไปเสียจากโลกิยะ ไปสู่โลกุตระ คือ ออกไปเสียนอกวงล้อ วงล้อก็เป็นหมัน นี่ก็เรียกว่าหักเสียซึ่งวงล้อ ก็เลยได้กรรมเป็น ๒ ประเภท กรรมที่หมุน ที่หมุนติดอยู่ในวงล้อ หรือเป็นวงล้อนั้น กรรมหนึ่ง แล้วกรรมที่จะทำลายทุบวงล้อนี้เสียให้แหลก มันเป็นอีกกรรมหนึ่ง ประเภทแรกเรียกว่ากรรมดำ กรรมขาว คือดี ชั่ว สุข ทุกข์ อยู่ที่นี่ แต่เป็นสุขเก๊ สุขหลอก สุก กอ สะกด ไม่ใช่ สุข ขอ สะกด แต่คนก็หลงใหลกันมาก ไอ้สุขร้อนนั้นนะ
ทีนี้ไอ้กรรมไม่ดำไม่ขาวก็ทุบวงล้อนี้หักเสียนี้ ทีนี้จะสุขอย่างนิพพาน คือ สุขเย็น ไม่ใช่สุขร้อน แต่เขาไม่เรียกว่าความสุขหรอก เขาเรียกว่าที่สุดแห่งความทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านพูดอย่างภาษาของท่าน และท่านพูดว่า ที่สุดแห่งความทุกข์ แต่อย่างนี้ชาวบ้านฟังไม่ถูก ก็ต้องพูดภาษาชาวบ้านว่า นี่โว้ย สุขอย่างยิ่งอยู่ที่นี่ โว้ย สุขอย่างยิ่งอยู่ที่นิพพาน ท่านพูดชวน ชวนชาวบ้านให้สนใจ แต่ถ้าพูดตามแบบของพระอริยะเจ้า แล้วพูดว่า ที่สุดสิ้นแห่งความทุกข์
นี่สมุฏฐานแห่งกรรม ถ้าคุณฟังผมพูดเข้าใจมาแต่ต้น คุณตอบได้เองว่า สมุฏฐานแห่งกรรมคืออะไร กรรมประเภทดำขาว ดำขาว สุขทุกข์ วนเวียนอยู่นี่ สมุฏฐานของมันคือ อวิชชา คือ ความโง่ คือ กิเลส ทีนี้ ถ้ากรรมฝ่ายไม่ดำ ไม่ขาว ที่จะพาไปนิพพานนั้น สมุฏฐานของมันคือ วิชชา หรือที่เรียกว่าโพธิ โพธิ หรือวิชชา หรือปัญญา นี้ก็เหมือนกันแหละ ไอ้วิชชานี้มันเป็นสมุฏฐานของกรรม ไม่ดำ ไม่ขาว ไอ้อวิชชานี้เป็นสมุฏฐานกรรมดำ กรรมขาว สำหรับให้เวียนว่าย สำหรับให้เวียนว่ายไปในวงล้อนี้ อวิชชาเป็นสมุฏฐาน ที่นี้ วิชชามันตรงกันข้ามอวิชชา ที่มันเป็นสมุฏฐานของกรรมไม่ดำไม่ขาว ที่มันจะทุบวงล้อนี้ให้แหลกลาญไป นี้เรียกว่าสมุฏฐานแห่งกรรม แยกกรรมออกเป็นสองฝ่าย กรรมฝ่ายนี้ก็มีสมุฏฐานอย่างนี้ กรรมฝ่ายนี้ก็มีสมุฏฐานอย่างนี้
ทีนี้การทำลายวงล้อแห่งกรรม ก็คือ อย่าไปทำกรรมที่มันเป็น ดำ ๆ ขาว ๆ อย่าไปมัวยุ่งไอ้กรรมดำ ๆ ขาว ๆ ไปทำแต่กรรมในด้านที่จะไม่ดำ ไม่ขาว ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่กระโดดโลดเต้นอยู่ไปตามเหตุการณ์ ถูกเชิดของกิเลสนี้ อย่างนี้เรียกว่ามันโง่ มันก็ถูกเชิดอยู่ด้วยกิเลส ขึ้น ๆ ลง ๆ ขึ้น ๆ ลง ๆ คือ ฟู ๆ แฟบ ๆ เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้อยู่อย่างนี้ คือ เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ อยู่ตามแบบชาวบ้าน ทำลายล้อแห่งกรรมก็ไปหันไปหากรรมที่มันไม่ดำไม่ขาว ไม่เป็นเหตุให้ต้องเวียนว่าย หรือหมุนเป็นวงกลมอีกต่อไป ไม่มีขึ้น ไม่มีลง ไม่ต้องหัวเราะ ไม่ต้องร้องไห้ ไม่ต้องสุข ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องดี ไม่ต้องชั่ว คือ อยู่เหนือดี เหนือชั่ว ถ้ายังฟังไม่ถูกเอาไปคิดต่อ ไปจนกว่ามันจะรู้ จะเข้าใจ ไอ้เหนือดี เหนือชั่ว นี่มันเข้าใจยาก ถ้ายังไม่เข้าใจก็อย่าเพิ่งอวดดีว่า ไอ้คำพูดนี้มันบ้า ๆ บอ ๆ
พุทธศาสนามุ่งจะยกคนขึ้นเหนือดี เหนือชั่ว คุณมาบวชในพุทธศาสนา แล้วมาเข้าใจว่า ไอ้เรื่องเหนือดีเหนือชั่ว บ้า ๆ บอ ๆ นี้ คุณก็จะบ้าเอง มาบวชในพุทธศาสนาก็อยู่เหนือดี เหนือชั่ว แล้วก็ไม่เข้าใจ แล้วก็ไม่สนใจเห็นว่าเป็นเรื่อง บ้า ๆ บอ ๆ ถ้าจะอยู่เหนือความทุกข์ทั้งปวง ต้องอยู่เหนือความดี ความชั่ว เพราะความดีความชั่ว มันปรุงแต่ง มันเสือกไสให้ หมุนไปในวงกลมของความดี ความชั่ว คือ วัฏสงสาร นี้เรามาบวชในพุทธศาสนา นี้มันคือตั้งต้นเพื่อจะหักวงล้อนี้ แต่ถ้าคุณบวชระหว่างปิดภาคเรียนมันก็ได้แต่ ศึกษาให้รู้เค้าเงื่อน ส่วนการกระทำมันยังค่อนข้างจะยืดยาว แต่แล้วขอให้เข้าใจไว้ด้วยให้มองเห็นด้วยว่า แม้สึกไปเป็นฆราวาสแล้วก็ยังทำได้ ถ้ารู้จักศึกษา รู้จักสังเกต ไอ้กิเลสที่มันจะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เราก็ทำการศึกษา หรือพยายามจะหักวงล้อ ไปตามแบบของฆราวาส ผู้มีเรื่องมาก มีภาระมาก แต่บรรพชิต มีเรื่องน้อย ภาระน้อย มันทำได้ดีกว่า เร็วกว่า แต่ฆราวาสก็ทำได้ อย่างช้า ๆ หรือหนัก ๆ หรืออืด ๆ ไป ก็ยังดีกว่าไม่ทำ เพื่อมันจะมีความทุกข์น้อยเข้า
สรุปความแล้ว วันนี้เรามาพูดกันถึงเรื่องวงล้อของชีวิต ในตัวชีวิตประจำวัน วง หรือกงล้อแห่งชีวิต กับวิธีที่จะหักวงล้อ หรือหักกงแห่งชีวิต หรือถ้าทำไม่ได้ถึงขนาดนั้น ก็เพียงแต่ควบคุมความหมุน หรือการหมุนของมัน อย่าให้มัน อย่าให้มันระหกระเหิน หรือว่ามันบอบช้ำมากนัก ถ้าหักวงล้อนี้เสียได้ก็ไม่มีความทุกข์เลย ถ้ายังหักมันเสียไม่ได้ก็ควบคุมการหมุนของมันให้ดี ๆ ให้อยู่ในอำนาจของสติปัญญา อย่าให้ความโง่มันพาไปโดยส่วนเดียว นี้เรียกว่ามีชีวิตอยู่ด้วยวิชชา ดีกว่าทีมีชีวิตอยู่ด้วยอวิชชา
อวิชชาแปลว่า ปราศจากความรู้ วิชชาแปลว่า ความรู้ รู้เรื่องอะไร รู้เรื่องความลับของชีวิต คือ รู้เรื่องวงล้อแห่งชีวิตที่มันหมุนอยู่อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตทางฝ่ายนามธรรมที่ ที่เกี่ยวกับกิเลสและความทุกข์ ส่วนวงล้อหรือไอ้ความหมุนอย่างอื่น ๆ ทางวัตถุ ทางร่างกายก็มีอยู่ พวกคุณอาจจะรู้ดีกว่าผม ผมไม่ค่อยมีความรู้เรื่องอะตอม เรื่อง molecule อะไรเหมือนคุณ นั้นมันวงล้อแห่งวัตถุ ผมศึกษาแต่เรื่องวงล้อแห่งนามธรรม กิเลส วัฏสงสารที่เป็นวงล้อแห่งความทุกข์ ประจำวัน และชำระสะสางให้มันจางไป จางไป จนมันไม่หมุนได้ และเวลาที่กำหนดไว้ก็พอดี นกก็ร้องบอก เมื่อวานนาฬิกานกเก เหลว ไม่ร้อง ไม่ตี วันนี้มันก็ตีตามเวลา ตรงเป๊ง