แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายในวันนี้ อยากจะพูดด้วยหัวข้อที่เนื่องกันกับหัวข้อที่แล้วมา เพื่อความเข้าใจง่าย
ในครั้งที่แล้วมาเราพูดกันด้วยหัวข้อว่า บิดา มารดาคลอดเรามาเพื่อที่จะเป็นลูกของพระพุทธเจ้า ทีนี้ เราก็จะพูดว่าถ้าเป็นลูกของพระพุทธเจ้า ก็จะต้องมองเห็นสิ่งต่าง ๆ อย่างเดียวกันกับพระพุทธเจ้ามอง สำหรับคำว่า เป็นลูกของพระพุทธเจ้านี้ ขอให้ช่วยพยายามทำความเข้าใจ เช่น มีคำเรียกภิกษุว่า พุทธชิโนรส พุทธบุตรอะไรอย่างนี้อยู่แล้ว ซึ่งมันมีความหมายตรงๆว่า เป็นลูกของพระพุทธเจ้า ใน อรรถกถา จะมีคำ...ใน อรรถกาถาเขียนไว้ชัดๆเลย พระพุทธเจ้าใช้คำว่า ลูกของเรา บ่อยที่สุดกับ ภิกษุ แต่นี้เราไม่เอาตามเรื่องหรือตัวหนังสืออย่างนั้น เราเอาจากข้อเท็จจริงว่า มนุษย์ต้องการจะได้สิ่งที่ดีที่สุด ทีนี้ ลำพังพ่อ-แม่ช่วยให้ไม่ได้ ก็ต้องโอนไปให้พระพุทธเจ้า ให้ไปเป็น ลูกของพระพุทธเจ้า เพื่อช่วยทำให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ นี่ ก็มิได้หมายความว่าบิดา-มารดาจะเป็นผู้รู้สึกตัวอย่างนั้น แล้วก็ต้องการอย่างนั้น แต่ว่าเรื่องจริงๆมันกลับเป็นอย่างนั้น ลำพังบิดา-มารดา ก็ไม่อาจจะทำบุตร-ธิดาให้ได้รู้ หรือให้ได้รับไอ้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ยิ่งเดี๋ยวนี้ยิ่งไกล เพราะฉะนั้น ต้องถือว่าการที่ได้พลัดมาบวชในพุทธศาสนานี้มันก็เป็นโชคดี มันเข้ารูปกันไปเองโดยไม่ได้มีเจตนาหรือมีความรู้สึกตัว บวชเข้ามาโดย วินัย มันก็เป็นลูกของพระพุทธเจ้า โดยการมาประพฤติ ธรรมะ มันก็เป็นลูกของพระพุทธเจ้า ขอให้เข้าใจว่า ไอ้คำว่าเป็นลูกของพระพุทธเจ้านี้มันมีความหมายที่สุด มีประโยชน์ที่สุด และควรจะเป็นความจริงที่สุดด้วย
ทีนี้ ก็มาถึงไอ้หัวข้อที่ว่า ถ้าเป็นลูกของพระพุทธเจ้า ก็ต้องมีอะไรไปทางเดียวกันกับพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เช่น จะต้องเห็นโลกอย่างเดียวกับที่พระพุทธเจ้าท่านเห็น หรืออย่างน้อยก็เท่ากับที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เห็น นี่คือ ธรรมะในขั้นสูงสุด คือ ข้อเท็จจริงของโลกที่เราจะต้องเห็นให้ถูกต้องตามที่เป็นจริง แล้วเขาก็สรุปคำนี้ไว้ในคำสั้น ๆ เพียงพยางค์เดียว...คำเดียวว่า สุญญตา คำเดียว ๓ พยางค์ว่า สุญญตา ซึ่งเป็นภาษาไทยก็แปลว่า ความว่าง พระพุทธเจ้าสอนให้เป็นผู้มีสติเห็นโลกด้วยความเป็นของว่างทุกเมื่อ ที่เราไม่เข้าใจ เราไปเข้าใจว่า โอ๊ย, มันสอนต่างกัน เดี๋ยวสอนอย่างนั้น เดี๋ยวสอนอย่างนี้ เดี๋ยวสอนอย่างโน้น เดี๋ยวสอนว่าให้ดับทุกข์ เดี๋ยวสอนว่าให้เว้นจากการทำชั่ว ให้ทำดี ให้ทำจิตให้บริสุทธิ์ แล้วยังมีอะไรอีกมากมาย ซึ่งถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็จะเห็นว่ามันตีกันยุ่งไปหมด แต่ความจริงนั้นมันไปรวมอยู่ที่คำนั้นคำเดียวว่า เห็นโลกโดยความเป็นสุญญตา คือ ของว่าง เห็นโลกโดยความเป็นของว่างนั้น ขอเตือนไว้เสมอว่ามันเป็น คำพูดคนละคำ คนละความหมาย กับคำว่า ว่าง ตามธรรมดาที่ชาวบ้านเขาพูด เขารู้สึกกัน ชาวบ้านถ้าพูดว่า ว่าง ก็หมายความว่าไม่มีอะไรเลย เห็นโลกด้วยความ เป็นของไม่มีอะไรเลย อย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้ มันบ้า ก็ต้องมีอะไรไปตามเดิม ตามที่มันมีอยู่ แต่แล้วทำไมถึงเรียกว่า ว่าง มันว่างเพราะว่ามันไม่มีอะไรที่ควรจะเรียกว่าเป็นชิ้นเป็นอันเป็นตัวเป็นตนที่เราควรจะเข้าไปยึดเอาหรือหมายมั่นไว้ แล้วมันไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน ที่เป็นอิสรภาพในตัวของมันเองเลย ตัวมันเองไม่เป็นตัว-เป็นตน เป็นไปตามเหตุ-ตามปัจจัย สำหรับตัวมันเองก็เป็นอย่างนั้น ทีนี้ สำหรับเราที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับมัน-ก็เป็นอย่างนั้น มองเห็นในข้อนี้แล้ว ก็เรียกว่า เห็นโลกโดยความเป็นของว่าง จากการที่จะเข้าไปจับฉวยเอาว่าเป็นตัวเรา-ว่าเป็นของเรา นี้มันเป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ แล้วก็มันเป็นทั้งหมด คือ เป็นทั้งตรงกลาง เป็นทั้งเบื้องปลายสุดของพรหมจรรย์ ก็เรียกว่าเป็นเรื่องของพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ให้เห็นโลกโดยความเป็นของที่ไม่อาจจะยึดถือเอาเป็นตัวตนอะไรได้ ทีนี้ การประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลายก็เพื่ออย่างนี้ ก็เพื่อให้ถึงจุดอันนี้ การประพฤติพรหมจรรย์ในเบื้องต้น ในขั้นต่ำ เช่น ศีล นี้ก็เตรียมตัวเพื่อเป็นอย่างนั้น เพื่อเห็นความเป็นอย่างนั้น ทำสมาธิก็รวมกำลังจิตเพื่อรู้แจ้งแทงตลอดความเป็นอย่างนั้น ก็เป็น ปัญญา ก็รู้จริงอย่างสมบูรณ์ในเรื่องนี้
ทีนี้ ต่อไปก็อยากจะพูดด้วยคำที่มันจำง่าย ช่วยให้จำง่าย ว่า เห็นโลกโดยความเป็นของว่างจากสาระตัวตนนั้น ก็คือ เห็นเป็นเพียง ไม้ฟืน และ ขี้เถ้า ไปเท่านั้น เพราะว่าโลกทั้งโลกทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ไม่มีอะไรนอกจาก ไม้ฟืน กับ ขี้เถ้า ส่วนใดที่ กิเลสตัณหา ของมนุษย์ยังไม่เข้าไปแตะต้อง ส่วนนั้นก็ยังเป็น ไม้ฟืน เป็นเชื้อเพลิง ส่วนใดที่ กิเลสตัณหา ของมนุษย์เข้าไปแตะต้องแล้ว ส่วนนั้นก็กลายเป็น ขี้เถ้า เพราะในตรงหน้าเราโดยรอบ แม้ที่นี่มันก็มีทั้ง ไม้ฟืน และ ขี้เถ้า ก็ต้องแบ่งกันเป็นพวกๆ เป็นชั้นๆ คือว่า สำหรับมนุษย์กันก่อน สำหรับมนุษย์เรา สิ่งที่เรายังไม่ได้ไปแตะต้อง ปรับปรุง สร้างสรรค์นั้นมันเป็น ไม้ฟืน เป็นวัตถุดิบ เป็น Material หรือ ทัพสัมภาระ ที่ยังไม่ได้แตะต้อง เหมือน ไม้ฟืน ทีนี้พอ กิเลสตัณหา ของเราเข้าไปแตะต้องเพราะต้องการอย่างไร เราก็ใช้ ความอยาก หรือ กิเลส เลยก็ได้ แตะต้อง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้น จนกระทั่งมันกลายเป็น ขี้เถ้า คือสิ่งที่ กิเลสตัณหา ของเราแผดเผาสิ้นสุดไปแล้วกลายเป็น ขี้เถ้า ไป อย่างตึกหลังใหญ่นี้ก็ควรจะเรียกว่าเป็น ขี้เถ้า เมื่อก่อนมันยังเป็น ไม้ฟืน ก่อนที่มันจะมาเป็นปูนซีเมนต์ เป็นเหล็ก เป็นอะไรขึ้นมานี่ มันเป็นไปตามธรรมชาติ มันเป็นดิน เป็นทราย เป็นหิน เป็นไม้ เป็นอะไรอยู่ตามธรรมชาติ อันนี้เหมือนกับ ไม้ฟืน ต่อมาถูกกระทำให้เปลี่ยนเป็นอุปกรณ์ แล้วมากลายตัวตึกขาวโพลนอยู่นี้ คือ ได้กลายเป็น ขี้เถ้า นี่ มีหลักอย่างนี้ก่อน ว่าที่มนุษย์ยังไม่แตะต้องนั้นมันเป็น ไม้ฟืน ไปก่อน เป็นเชื้อเพลิงไปก่อน พอมนุษย์เข้าไปแตะต้อง เสร็จแล้วด้วย กิเลสตัณหา ก็กลายเป็น ขี้เถ้า เพราะฉะนั้น ขอให้เราดูว่ามันมีอะไรบ้างที่มันอยู่ที่นี่ เวลานี้ อะไรที่ยังเป็น ไม้ฟืน อะไรที่เป็น ขี้เถ้า พูดกันแต่สำหรับมนุษย์ เช่น ต้นไม้ เช่น ดิน ทราย อะไรนี้ยังเป็น ไม้ฟืน ไอ้ส่วนที่มันปรุงเสร็จแล้วมันก็เป็น ขี้เถ้า เป็นเครื่องบันทึกเสียง เป็นอุปกรณ์อะไรต่างๆที่เราเห็นอยู่นี้มันเป็น ขี้เถ้า สำเร็จมาจากการเผาผลาญของ กิเลสตัณหา เผา ไม้ฟืน เชื้อเพลิงให้กลายเป็น ขี้เถ้า ขึ้นมา
นี่ เกี่ยวกับมนุษย์มันมีหลักว่า ทั้งหมดในโลกนี้มีสำหรับมนุษย์ก็ไม่มีอะไร นอกจาก ไม้ฟืน กับ ขี้เถ้า แล้วก็จะเปลี่ยนจาก ไม้ฟืน นี้เป็น ขี้เถ้า มากขึ้นเป็นลำดับ ลำดับ ด้วยน้ำมือหรือด้วย กิเลส อันแรงร้ายของมนุษย์ คือว่า ทรัพยากรทั้งหลายแหล่ในโลกนี้ ในแผ่นดินนี้ จะค่อยๆกลายเป็น ขี้เถ้า ไปด้วยน้ำมือของมนุษย์ สินแร่ต่างๆ ก็มากลายเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นบ้าน เป็นเรือน เป็นรถ เป็นเรือ เป็น..นับไม่ไหว แต่แล้วก็เรียกได้ว่ามันเป็น ขี้เถ้า ของ กิเลสตัณหา ที่เหลืออยู่ แล้ว กิเลสตัณหา ก็ผ่านไปไหนแล้วก็ไม่รู้ นี่ เราตกอยู่ในสภาพอย่างนี้ ว่าผลาญให้ทรัพยากรของธรรมชาติของพระเจ้าให้เป็น ขี้เถ้า ไปอย่างน่าใจหาย สิ่งต่างๆที่เราทำขึ้นนั้น มันเพื่อ กิเลสตัณหา ของเราทั้งนั้น ในทางที่เหมาะสมก็มี ในทางที่ไม่เหมาะสมนั้นมากที่สุด เรากิน เราเล่นเราอะไรต่างๆนี้ เราเห็นได้ว่ามันมากกว่าที่ว่ามันจำเป็นที่จะต้องมี เรื่องนี้ก็ไม่ต้องพูดมากเพราะว่าคงจะมองเห็นกันได้ ในบ้านในเรือนนี้เรามีสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องมีตั้ง ๙๐% ตั้ง ๙๕% แต่เราก็ว่าจำเป็นไปหมด เพราะว่า กิเลสตัณหา ของเรามันว่าอย่างนั้น สิ่งที่เราใช้สอยอยู่นี้ก็เพื่อความไม่จำเป็น แต่เราเข้าใจว่าจำเป็น แล้วเราจึงต้องวิ่งไปวิ่งมา วิ่งไปวิ่งมา ทำโลกให้สับสนวุ่นวาย เราคิดว่าเราชนะธรรมชาติหรือสิ่งเหล่านี้ แต่ที่แท้นั้น เราพ่ายแพ้หรือเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ นี่คือ ข้อที่ต้องมองให้เห็น ถ้ามองไม่เห็นเป็นลูกพระพุทธเจ้าไม่ได้ สิ่งที่เราเข้าใจว่าเราเอามันมา เราใช้มันไปตามอำนาจของเรา มันแพ้เรา มันอยู่ในอำนาจของเรานั้น ระวังให้ดี ที่แท้คือ เราแพ้มันอยู่ตลอดเวลา เราเป็นทาส เราต้องไปแสวงหา ต้องไปทำอะไรมาเพื่อให้ได้มันมานับตั้งแต่เราต้องอุตสาห์เล่าเรียนสอบไล่ได้ให้มีวิทยฐานะสูง ให้มีอาชีพ ที่สบาย ให้มีเงินมาก ให้มีอะไรมาก เราเรียกว่าเราชนะนะ แต่ในสายตาอันลึกของชาวพุทธนี้เห็นว่าเป็นการพ่ายแพ้ ถ้ามันเป็นสิ่งที่จำเป็นตามธรรมชาติมันก็ดีไป เดี๋ยวนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเกือบทั้ง ๑๐๐% มันจำเป็นแต่ว่าเพียง กิเลส ของเราต้องการให้เอร็ดอร่อยสนุกสนานทางเนื้อทางนั้นทางอะไรไม่มีขอบเขต มันเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น ขอให้ไปรู้ประมาณ คือ ความพอดีเอาด้วยตนเองก็แล้วกัน ว่ามันควรจะเป็นสักเท่าไหร่? ถ้าทำได้อย่างนี้มันจะถูกหลักของพุทธศาสนา คือ จะไม่มีความทุกข์เกิดขึ้น จะทุกข์กับเขาไม่เป็น อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า เป็นลูกพระพุทธเจ้านั้น คือ เป็นบุคคลที่ทุกข์กับเขาไม่เป็น คือ มีความทุกข์กับเขาไม่เป็น มันรู้ตามที่เป็นจริงไปหมด จนไม่มีอะไรมาทำให้ทุกข์ได้ ไม่ใช่ว่าให้เป็นอะไรๆ เหมือนอย่างที่เขาเข้าใจผิด เช่น ว่าให้หนีโลกไปอยู่ป่า ให้ออกบวช ให้อะไรอย่างนั้น มันว่าไปตามประสาคนโง่ ความมุ่งหมายของ ธรรมวินัย ของพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า ต้องการให้ทุกข์กับเขาไม่เป็น ให้อยู่ในโลกนี้ชนิดที่ทุกข์กับเขาไม่เป็น นั่นคือ ชนะโลกนี้ อยู่ในท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยต้นเหตุแห่งความทุกข์ อะไรแห่งความทุกข์นั้น แล้วเราทุกข์กับเขาไม่เป็น ไม่ต้องหนีออกไปอยู่ป่า ไม่ต้องหนีไปอย่างโง่เขลา หรือต้องสละละทิ้งอะไรต่างๆ เอาไฟไปเผาเสีย เอาไปโยนทะเลเสีย บ้านเรือนไม่ต้องมี นั่นมันบ้าเลยเถิดไป พุทธศาสนาต้องการให้เรามี หรือ ทำ สิ่งที่ควรทำ ที่พอดี ที่ควรทำ พอดีสำหรับคน สำหรับจะกระทำ แล้วก็กระทำสิ่งนั้นโดยไม่ต้องมีความทุกข์ แล้วชีวิตนี้ก็ไม่ความทุกข์ รู้จนกระทั่งไม่มีอะไรทำให้เกิดความทุกข์ได้ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่เป็นปัญหา ไม่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ การได้ การเสีย การแพ้ การชนะ อะไรต่างๆ มันไม่มีความหมายอะไรที่จะมาทำให้เราเป็นทุกข์ นี่ เราก็ชนะความทุกข์ เรียกอีกทีว่า ชนะสิ่งทั้งปวง หรือ ชนะโลก
นี่คือ ความมุ่งหมายของการมาเรียนมารู้มาปฏิบัติ หรือมาเป็นลูกของพระพุทธเจ้า แล้วก็จะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้กันที่ตรงนี้เอง นี่ มันเป็นใจความ นี่ รายละเอียดปลีกย่อยนั้นก็ไปดู มันมีมาก เดี๋ยวนี้มันก็มาสรุปรวมอยู่ตรงที่ว่า รู้ถึงขนาดว่าไม่มีอะไรมาทำให้เป็นทุกข์ได้ ทีนี้ มองไปอีกด้านหนึ่งก็คือว่า รู้หรือเห็นหรือเข้าใจก็ตาม โลกทั้งปวงสิ่งทั้งปวงในลักษณะเป็นของว่าง ที่ว่า ไม่มีอะไรมีแต่ ไม้ฟืน กับ ขี้เถ้า นั้นแหละคือความหมายของคำว่าว่าง ไม้ฟืน จะเอาไปทำอะไร? ขี้เถ้า จะเอาไปทำอะไร? มองไปทางไหนก็ไม่มีอะไรที่จะเข้าไปหลงใหล ก็คือ ไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยอุปาทาน ว่าตัวเรา-ว่าของเรา นั่นแหละคือ ว่าง ตามความหมายในพุทธศาสนา จิตใจไม่จับยึดสิ่งใดไว้โดยความเป็นตัวตนหรือของตน ไอ้คนที่ฟังไม่ถูกแล้วไม่เข้าใจเรื่องนี้ ก็เอาไปล้อเล่น กลายเป็นแสดงความโง่ของตัวออกมาว่าไม่รู้พุทธศาสนา หลักสั้นๆมันก็มีอยู่ในพระคัมภีร์ ๒-๓ ตอนเท่านั้น ตอนแรกก็คือว่า เห็นโลกโดยความเป็นของว่างนี้เอง ว่างจากสิ่งที่ควรบัญญัติว่า หรือเข้าใจว่า หรือมั่นหมายว่า เป็นตัวตน นี่ โลกเองมันว่างอย่างนี้ ชั้นหนึ่งก่อน ทีนี้ หัวใจของเรานี้ จิตใจของเรา ความรู้สึกคิดนึกของเรานี้ พอมองไปที่โลกหรือไปสัมผัสเกี่ยวข้องกับโลก มันก็เลยไม่รู้ว่าจะเอาอะไร มันไม่เห็นว่าจะเอาอะไร เพราะมันว่าง คือ อยู่ในความหมายที่เรียกว่า ว่างไปหมด ไอ้จิตใจนี้ก็เลยไม่รู้ว่าเอาอะไร ใจก็เลยว่าง ว่างเพราะไม่ติด ไปเอา ไป Engage หรืออะไรทำนองนั้นกับอะไรเลย จึงเรียกว่า ใจ หรือจิตว่าง คำที่ ๑ ว่า โลกว่าง แล้วคำที่ ๒ ว่า จิตว่าง เพราะเหตุนี้ ทีนี้ คำที่ ๓ ก็ไม่มีอะไร คือ ไม่มีทุกข์ คือ ว่างจากความทุกข์ ว่างจากความทุกข์อย่างยิ่งนี้เรียกว่า นิพพาน นี่ พระบาลีชัด ๆ นะ มันก็เลยมีเพียง ๓ ประโยค ๓ ตอน ตอนที่หนึ่งว่า โลกว่าง พอจิตไปเห็นอย่างนั้นเข้า จิตมันก็ว่าง ทีนี้ ความว่างที่แท้จริงถึงที่สุดนั้นก็เรียกว่า นิพพาน คือ ว่างจาก กิเลส ว่างจากความทุกข์ ปรากฏอยู่ที่จิต เรียกว่า นิพพานมาปรากฏอยู่ที่จิตเพราะจิตว่าง เท่านี้เอง ก็ไปหารายละเอียดคำอธิบายรายละเอียดเอา มันมีมากมาย จะไปเถียง จะไปพูด จะไปอะไรกับใคร มันก็มีหลักเพียงเท่านี้เองในพุทธศาสนา เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นคุ้ง เป็นแควไปหมด ก็เพื่อจะพิสูจน์คำเดียวว่า มันว่าง ในสิ่งที่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันคือ เป็นสิ่งที่ว่าง โลกนี้มีลักษณะเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะโลกนี้มันว่าง เพราะฉะนั้น เราเลือกคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรืออีกหลาย ๆคำก็ได้ เหลือคำเดียวว่า มันว่าง แล้วก็มองให้เห็น
ทีนี้ การปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เพื่อมองให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็เพื่อให้เห็น ว่าง เดี๋ยวนี้ เพียงแต่ปฏิบัติ ศีล เราก็ยังทำไม่ค่อยจะได้ มันก็เกิดความปั่นป่วนระส่ำระสายทางร่างกายนี้ ร่างกายกระวนกระวายแล้ว จิตก็ไม่เป็นสมาธิ ปัญญาก็ไม่เกิด ไม่พอที่จะเห็นว่าง เพราะฉะนั้น เราจะต้องปรับปรุงไอ้ส่วนที่เป็นร่างกาย หรือการพูด การจา การกระทำทั้งหลายนี้ ให้ถึงสภาพที่เรียกว่า สงบ หรือ ปรกติ มันก็ช่วยหรือสนับสนุนให้จิตสงบ ปรกติ จิตสงบปรกติ นี้เรียกว่า สมาธิ ทีนี้ จิตที่สงบปรกติก็เป็นจิตที่จะมีปัญญามองเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง คือ เห็นว่าง นี่ พรหมจรรย์ของเราไม่มีอะไรมากไปกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ทุกวัน ทุกวัน ขอร้องให้มีการประพฤติปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญาให้ถูกต้อง ให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ ทั้งที่ขอร้องว่าขอให้พระบวชใหม่ตั้งอกตั้งใจให้ดี อย่าให้ผิดพลาดไปตั้งแต่ต้นจะได้ทันแก่เวลาก็เพราะเพื่อประโยชน์อันนี้ พระบวชเก่าหรือจะบวชอยู่ต่อไปมันก็ต้องทำหน้าที่อันนี้ ไม่มีหน้าที่อันอื่น นี่คือ ทำหน้าที่มีชีวิตอยู่อย่างถูกต้องไปในทางที่จะมีจิตใจอยู่เหนือสิ่งทั้งปวง จนเห็นว่าไม่มีอะไร มีแต่ ไม้ฟืน กับ ขี้เถ้า ที่ผมอุตส่าห์พูดด้วยโวหารหรือถ้อยคำอย่างนี้ก็เพื่อให้จำง่าย ถ้าพูดไปตามแบบฉบับ ตามเนื้อผ้า ตามอะไรแล้วมันจะเต็มไปด้วยคำบาลี เต็มไปด้วยสำนวนโวหารที่ฟังไม่ถูก แล้วก็จำก็ยาก พูดอย่างนี้เพื่อจะฟังถูก เพราะพูดอย่างภาพพจน์ เปรียบเทียบ แล้วก็เป็นภาษาธรรมดาเข้าใจได้ เมื่อเข้าใจแล้วก็ไม่ลืม นี่คือ ข้อที่ว่า พูดมาตั้งแต่ว่า..ตั้งแต่ประโยคแรกที่ว่า เราเกิดมาเพื่อมาเป็นลูกของพระพุทธเจ้า เมื่อเป็นลูกของพระพุทธเจ้าก็ต้องเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านเห็น เห็นเหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านเห็น ก็คือ เห็นอย่างที่ว่าไม่มีอะไร มีแต่ ไม้ฟืน กับ ขี้เถ้า ก็มีแต่เชื้อเพลิง กับ ขี้เถ้า เต็มไปทั้งนั้น ถ้ายังไม่เห็นอย่างนี้ ยังไม่รู้สึกอย่างนี้ก็พยายามต่อไป ให้เห็นชัดที่สุดเลย ที่นี่มี ไม้ฟืน มากกว่า ขี้เถ้า ที่ตลาดมี ขี้เถ้า มากกว่า ที่กรุงเทพยิ่งมีแต่ ขี้เถ้า แทบจะไม่มี ไม้ฟืน ที่ประเทศที่เจริญแล้ว ประเทศอเมริกาแถวนั้น ยิ่งเต็มไปด้วย ขี้เถ้า ทั้งนั้น ไม้ฟืน แทบจะหายาก ถ้าเข้าใจคำนี้ได้ล่ะก็ไม่มีวันลืมหลักธรรมในพุทธศาสนา แล้วก็ประหยัดเวลาที่สุด พูดกัน ๒-๓ คำไม่กี่นาที ไม่กี่ชั่วโมง มันก็เลยเหลืออยู่แต่ว่าจะทำได้หรือไม่? พูดนี่พูดได้ และพูดแล้ว พูดจบแล้วด้วย มันก็เหลืออยู่แต่ว่าจะทำได้หรือไม่? เดี๋ยวเราก็เผลอไป หลงรัก เพราะไม่เห็นเป็น ขี้เถ้า เพราะไม่เห็นเป็น ไม้ฟืน เพราะไม่เห็นเป็น ขี้เถ้า มันก็ไปหลงรัก กำหนัด ยึดถือในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่คือ ปัญหาที่กำลังประสบอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในโลกของ ฆราวาส มันก็มีแต่อย่างนี้ มันก็ถูกเผาทางวิญญาณนี้ จนในตัวเรานี้ก็เหมือนกับ ขี้เถ้า เป็น ขี้เถ้า แล้ว ขี้เถ้า อีก อยู่ตลอดชีวิต นั่นแหละ คือ ความร้อนหรือความทุกข์ที่ กิเลส แผดเผา ก่อเรื่องใหม่ขึ้นมาก็เผาจนเป็น ขี้เถ้า แล้วเดี๋ยวก็มีเรื่องใหม่ขึ้นมาก็เผาจนเป็น ขี้เถ้า วันหนึ่ง วันหนึ่งไม่รู้กี่ครั้ง หรือกี่สิบครั้ง เหมือนกับเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ทีนี้ ก็มีหน้าที่ที่ว่าจะมองให้มันเห็น จะทำให้มันเห็นชัด ให้มันชนะโลกทั้งปวง แล้วจะไปทำอะไรที่มันดี มีประโยชน์ควรจะทำ ก็ค่อยว่ากันทีหลัง แต่เดี๋ยวนี้เราจะต้องเป็นผู้ชนะไอ้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในลักษณะนี้กันเสียก่อน เป็นเด็กๆเป็นสามเณรก็เพื่อเตรียมตัวสำหรับจะเป็น สมณะ เมื่อเป็นสมณะ แล้วก็เป็นผู้ที่เห็นไอ้สิ่งเหล่านี้ในลักษณะอย่างนี้ มีความสงบ ไม่มีการลุกโพลงของไฟนี้
แล้วทีนี้ก็จะพูดเรื่อง ขี้เถ้า ต่อลงไปถึงเรื่องของสัตว์ เพื่อจะมาเปรียบเทียบดู แล้วมันจะเย้ยให้คนเรานี้ได้ละอาย จะโดยเหตุใดก็ตาม สัตว์นั้นมี กิเลส น้อย มีไฟน้อย คือ มีไฟของความต้องการน้อย เพราะธรรมชาติมันทำให้เป็นอย่างนั้น หรือจะเรียกว่าพระเจ้าสร้างมาอย่างนั้นก็สุดแท้ แต่มันก็มี กิเลส น้อย มีความต้องการน้อย มีไฟน้อย มันก็ต้องการฟืนน้อย เพราะฉะนั้น ในชีวิตของสัตว์มันจึงมี ไม้ฟืน น้อย มี ขี้เถ้า น้อย ผู้ที่มันไม่ได้สร้างอะไรเหมือนที่เรากำลังสร้าง มันน้อยอย่างที่เปรียบกันไม่ได้นะ อย่างโวหารเปรียบเทียบในพุทธศาสนานี้ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสอยู่เสมอ ก็เปรียบอย่างที่พูดอยู่บ่อยๆนะว่า ฝุ่นที่ติดปลายเล็บ แล้วก็ฝุ่นทั้งโลกนั้น มากน้อยกว่ากันเท่าไร? หยดน้ำเล็กๆบนปลายใบหญ้าหยดเดียว กับ น้ำทั้งมหาสมุทรหรือทั้งโลกนั้น มันมากน้อยต่างกันอย่างไร? นี่ ให้คำนึงถึงไอ้ความมากน้อยต่างกันอย่างนี้เสียก่อน แล้วเราก็จะเห็นว่าไอ้ความอยาก ความต้องการ หรือ กิเลสตัณหา ของสัตว์นั้นมันน้อยมากขนาดนั้น เมื่อมันเทียบกับของคน เพราะฉะนั้น คนจึงมีเรื่องมาก จึงมีความทุกข์มาก มีอะไร สัตว์มีความรู้สึกน้อย ไม่รู้จักกลัวล่วงหน้า ไม่รู้จักวิตกกังวล มนุษย์รู้จักกลัวล่วงหน้า รู้จักวิตกกังวล ขยายความวิตกกังวลออกไปมาก มันก็เป็นมนุษย์อย่างมนุษย์ที่มีบาป และมีความทุกข์มาก สัตว์มันก็มีความทุกข์น้อยสมกับที่มันโง่ มันไม่ฉลาดเหมือนคน แต่เดี๋ยวนี้เราพูดเพื่อจะดูกันในแง่ของ กิเลส ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์มันมีน้อยมาก ความทุกข์ของมันก็มีน้อยมาก เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะไม่ให้เลวกว่าสัตว์เราก็ควรจะมีความทุกข์น้อยมาก แต่เรามีความสามารถ มีประโยชน์มาก คือ เราทำชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์แก่กันและกันให้มาก ให้มากมหาศาล แต่แล้วเรามีความทุกข์น้อยไม่แพ้แก่สัตว์นั้น มันจึงจะใช้ได้ วิธีอื่นไม่มี วิธีของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะทำให้เราไม่รู้จักเป็นทุกข์เลย แล้วเรี่ยวแรง เวลา กำลังงานนั้นใช้ไปในการทำให้มันเป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น เช่นนั้นเราก็ไม่แพ้สัตว์ในข้อที่ว่าจะมีความทุกข์มากหรือน้อยกว่ากัน แล้วเราก็ดีกว่าสัตว์ ประเสริฐกว่าสัตว์ ในข้อที่เรียกว่า ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ให้ได้มากกว่า นี่ ถ้าเรามองดูมันอย่างนี้ เราก็จะละอาย ในเมื่อเราไปทำให้มีความทุกข์เกิดขึ้นแก่เรา ในเมื่อสุนัขและแมวไม่เคยมีความทุกข์ในเพราะข้อนั้นเลย นี่ ผมเลี้ยงสุนัขไว้เป็นอาจารย์ ฝรั่งมันมาถามว่าเลี้ยงไว้ทำไม? บอกว่าเลี้ยงไว้เป็นอาจารย์ - มันไม่เชื่อ มันหัวเราะ อย่างที่เรียกว่าหัวเราะใส่หน้า ดูหมิ่น นี่ ก็ไม่ต้องพูดกัน เห็นว่าสกปรก ว่าหนวกหู ว่าไม่น่าดู ไอ้เราก็ว่ามันเป็นอาจารย์ ก็จะต้องทนบ้างนะ เพื่อปฏิบัติอาจารย์ มันคอยขู่ไว้ว่า แกอย่ามีความทุกข์มากกว่าฉัน เพราะแกเป็นมนุษย์-ฉันเป็นหมา มันดีอย่างนี้ เป็นอาจารย์ นี่ ทุกคนควรจะมีหลักที่ว่า เราจะไม่แพ้สัตว์ในเรื่องที่มีความทุกข์มากหรือน้อย แล้วเราจะประเสริฐกว่าสัตว์ในข้อที่เราทำประโยชน์อะไรได้มากมหาศาลเทียบกันไม่ได้ มันจึงพูดหรือให้เห็นว่าสัตว์ไม่มี ไม้ฟืน ไม่มี ขี้เถ้า กี่มากน้อย ไอ้คนนี้มีมาก
ทีนี้ ลดไปจากสัตว์ก็ถึงต้นไม้ พืชพันธุ์ต่างๆนี้ มันก็ยิ่งเป็นลักษณะเดียวทำนองเดียวกันอีก มันยิ่งน้อยกว่าอีก คือ ต้องถือหรือต้องมองเห็นนะว่าไอ้พืชทั้งหลายนี่ ต้นไม้ชนิดไหนก็ตาม หญ้าบอนอะไรก็ตาม มันก็มีชีวิต มีความรู้สึก แต่มันน้อยถึงขนาดที่ไม่บัญญัติว่า-เป็นชีวิต จิตใจ หรือวิญญาณ หรืออะไร หรือความคิดนึกในที่สมบูรณ์ แต่มันต้องมี เพราะสิ่งที่มีชีวิตแล้วมันก็ต้องมีไอ้ความรู้สึก แล้วความรู้สึกก็เป็นเพียงปฏิกิริยาของไอ้อณู ปรมาณู ของไอ้เซลล์ต่างๆอะไรเหล่านี้ มันออกมา-ปฏิกิริยาออกมาเป็นไอ้ความรู้สึกที่เป็นนามธรรม ทีนี้ เซลล์หนึ่งๆ มันก็มีความต้องการอย่างนั้น อย่างนี้ มันจึงรู้จักเจริญเติบโต รู้จักกินอาหาร รู้จักอะไร ทีนี้ ต้นไม้ใบไม้มันก็ประกอบด้วยเซลล์มากมาย มันต้องการน้ำ ต้องการอาหาร ต้องการแสงแดดเห็นได้ชัด มันจะออกไปทางที่มีแสงแดด มันจะส่งรากออกไปทางที่มีน้ำ แล้วมันต่อสู้ที่จะไม่ให้ตาย ต่อสู้อย่างน่าเห็นอกเห็นใจมันนะ ต่อสู้เพื่อจะไม่ให้ต้องตาย แต่นั่นมันก็ยังน้อย ในระดับที่น้อยกว่าสัตว์ แต่มันมีหลักเกณฑ์เดียวกัน ต้องการอะไรเอามาแล้วมันก็กินตามความต้องการ แล้วก็ทำให้เป็น ขี้เถ้า ไป แต่แล้วมันน้อย ทีนี้ มันแสดงอาการออกมาเป็นเหมือนกับว่าไม่มีความทุกข์เลย สุนัขและแมวมันยังแสดงอาการที่พอจะมองออกว่าเป็นความทุกข์บ้าง แม้ไม่มากเท่าคน ทีนี้ ต้นไม้พืชพันธุ์นี้มันแสดงน้อยจนเราไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์เลย เห็นเป็นเย็น ชุ่มชื่น หยุดนิ่ง สงบไปหมด นี่ ผมบอกคนทั้งหลายว่า ให้ดูให้ดีต้นไม้มันพูดได้ เพราะฉะนั้น ฟังให้เข้าใจว่าต้นไม้มันพูดว่าอย่างไร? มันแสดงความเย็น ความหยุด ความสงบ นั่นแหละคือ มันพูด มันคล้ายกับพูดว่า ไอ้มนุษย์นี่หยุดกันเสียบ้าง เย็นกันเสียบ้าง อย่าบ้าไปนัก มันรู้สึกอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราจึงพยายามที่จะเป็นเพื่อนกับต้นไม้ หรือว่ามีต้นไม้เป็นอาจารย์ก็ได้ ถ้ามากไปนักก็เป็นเพื่อน แล้วคอยเตือนสติเราว่าอย่าบ้าไปนัก อย่าร้อนไปนัก อย่าเป็นทุกข์ไปนัก ดูๆ ดูต้นไม้สิ คือ ดูฉันสิ ทีนี้ มันมีประโยชน์ ถ้าเรามานั่งกันอยู่ในระหว่างต้นไม้อย่างนี้ มันช่วยแวดล้อม ต้นไม้ทั้งหลายช่วยแวดล้อมให้เราหยุด เราเย็น เราเป็นโดยอัตโนมัติโดยไม่รู้รู้สึกตัว เพราะฉะนั้น เราจึงรู้สึกได้โดยไม่รู้สึกตัวอย่างที่ว่านะ พอเราเข้ามาในหมู่ไม้อย่างนี้เราก็สบายใจขึ้นมาทันที หยุด-เย็นขึ้นมาทันที มันมีแต่บรรยากาศที่จะชวนให้หยุด นี่ก็ศึกษาเอาจากต้นไม้ ฟังที่มันพูดให้ได้ยิน นึกถึงว่ามันมีความประหลาดอย่างยิ่งที่ว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ตรัสรู้ที่โคนต้นไม้ ไม่เคยมีพระพุทธเจ้าองค์ไหนตรัสรู้ในกุฏิ หรือบนปราสาท หรืออะไรทำนองนั้น ตรัสรู้ที่โคนต้นไม้ทั้งนั้น เพราะที่นั่นมันไม่มี ขี้เถ้า หรือไม่มี ไม้ฟืน อะไรมากมายนี้ ในโลกของต้นไม้ ในโลกของพืชนี้ มันแทบจะไม่มี ไม้ฟืน หรือ ขี้เถ้า มันมีน้อยเกินไป มันเย็นสบาย ในโลกของสัตว์นี้ก็มีมากขึ้น พอโลกของมนุษย์แล้วก็มากจนเทียบกันไม่ไหว คนที่เคยขึ้นไปเรือบิน บินไปสูงๆ ผ่านเมืองใหญ่ๆ เมืองของฝรั่งนั้นก็เห็นอยู่แล้วว่านั้นมัน ขี้เถ้า ทั้งนั้น มันมากเท่าไร มันก็จะรู้ความที่มนุษย์นี้มี ขี้เถ้า มี ไม้ฟืน มากสำหรับ เผา ตัวเองมันจนกลายเป็น ขี้เถ้า ไร้ความหมาย ที่เรียกว่า ขี้เถ้า นี่หมายความว่า มันต้องการสิ่งอื่นต่อไปอีก เมื่อสิ่งที่เป็น ขี้เถ้า ไปแล้ว มันก็หมด หมดความรัก หมดความที่จะเกี่ยวข้องด้วย มันก็แสวงหาอันอื่นต่อไปอีก ไปหา ไม้ฟืน ใหม่มาเผาเป็น ขี้เถ้า อีก อย่างนี้เรื่อยไป นี่คือ โลกตามที่เป็นจริง จนถึงกับพระพุทธเจ้าตรัสว่า โลก คือ ความทุกข์ เมื่อตรัสเรื่อง อริยสัจจ์ ๔ นี้บางทีก็ตรัสว่า
โลก
ว่าเหตุให้เกิดโลก
ว่าความดับสนิทของโลก
ทางให้ถึงความดับสนิทของโลก
รวมเป็น ๔ อย่าง เป็น อริยสัจจ์ คำว่าโลก ในที่นี้คือ ความทุกข์ เพราะว่าโลกมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ โลกของมนุษย์ธรรมดาสามัญปุถุชนที่ว่าเป็น โลก ถ้าพ้นจากความเป็นโลกมันก็เหนือโลกไปเสีย มันก็เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ เมื่อเป็นโลกอยู่ตราบใดมันก็เป็นอย่างนี้ คือ เป็นทุกข์ คือ โลกเป็นทุกข์ก็หมายความอย่างนี้ ไม่ใช่หมายความตื้นๆง่ายๆ จนเอามาหัวเราะเยาะเล่นกันได้ ผมขอบอก ขอยืนยัน ขอวิงวอน ขอร้องว่า คุณทุกองค์นี้อย่าได้คิดว่าพระพุทธเจ้าจะพูดอะไรผิดๆ จนเอามาหัวเราะเยาะได้ มันไม่มีเลย เพราะฉะนั้น อย่าไปผสมโรงกันกับไอ้พวกคนบ้า ที่จะเอาคำอะไรบางคำของพระพุทธเจ้ามาหัวเราะเยาะได้ ขอให้คิดจนเข้าใจ แล้วจะหัวเราะไม่ออก คือ เป็นความจริง นี้ที่เห็นแล้วเศร้า หรือสลด ในความโง่เขลาของตัวเอง มันหัวเราะไม่ออกอย่างนี้
นี่ ก็ที่ท่านพูดว่า โลกมันเป็นของว่าง และผมเอามาอธิบายให้ฟังว่า มันมีแต่ ไม้ฟืน กับ ขี้เถ้า ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ก็มองเห็นได้ทันทีว่า โลกนี้ไม่มีอะไรนอกจาก ไม้ฟืน กับ ขี้เถ้า เพราะฉะนั้น ที่เรียกมันว่า เป็น โลกแห่งความทุกข์ มันก็ถูกแล้ว มันมีแต่เผา ไม้ฟืน ให้เป็น ขี้เถ้า เรื่อยไปไม่มีหยุด ไม่มีหย่อน จนกว่ามันจะเป็นเหนือโลก เป็น โลกุตตระ ไม่มี กิเลส ที่ไปเผาอะไร ถึงแม้จะไปทำอะไรอยู่อย่างเดิม มันไม่เป็นการเผาแล้ว เพราะมันไม่มี กิเลส ไม่มีไฟ กิเลส ที่จะไปเผาอะไร เพราะฉะนั้น ทำอะไรก็ได้ ไม่เป็น ขี้เถ้า ไม่เป็นอะไรที่เป็นความทุกข์ ตรงนี้ต้องขอเตือนไว้เสมอว่า พระพุทธเจ้าท่านก็เป็น Dynamic คือ เคลื่อนไหวเรื่อย ทำอะไรเรื่อย ไม่ได้อยู่นิ่ง ท่านทำงานมากกว่าพวกเรา ก่อนนี้เขาเอามาเป็นบทสวด เขาเรียกว่า บอกวัตร คือ ต้องมาบอกกันทุกวัน ทุกวัน มีอยู่หลายบท บทหนึ่งมันมีว่า
ปุพพัณ เหปิณฑปาตัญจะ
สายัณเหธัมมเทสนัง ปโทเสภิกขุโอวาทัง
อัฑฒรัตเตเทวปัญหานัง
ปัจจูเสวตเตกาเล ภัพพาภัพเพวิโลกนัง
นี่เขาเรียกว่า บอกวัตร ถ้าสวดมนต์เย็นนี้ต้องมี บอกวัตร อย่างนี้ เดี๋ยวนี้ไม่บอกนะ คงจะอวดดี หรือขี้เกียจนี่ก็ตามใจ เมื่อผมแรกบวชจะได้ฟังอย่างนี้ทุกวันตอนที่ทำวัตรเย็นตอนค่ำ แล้วผมเองก็เคยบอก พอพระองค์ไหนบอกได้อาจารย์ก็ยอมให้บอก ที่แท้เขาสงวนไว้เป็นคำของพระเถระผู้ใหญ่จะบอก แต่พอเห็นว่าพระองค์เด็กๆนี้องค์ไหนจะบอกได้ มันจำได้ก็ให้มันบอก มันก็บอกได้กันเกือบทุกคน ในบท บอกวัตร หลายๆบทนั้น มีบทอย่างนี้อยู่บทหนึ่งว่า ตอนเช้าไปบิณฑบาต นี่ ทำงานของพระพุทธเจ้า แล้วก็ตอนบ่าย ตอนเย็น ตอนบ่ายนี้สอนภิกษุ คือ สอนประชาชน แสดงธรรมสอนประชาชนอย่างนี้ แล้วตอนหัวค่ำ สอนภิกษุ
ปโทเสภิกขุโอวาทัง ตอนหัวค่ำสอนภิกษุ
แล้ว อัฑฒรัตเตเทวปัญหานัง พอตกดึกก็แก้ปัญหาพวกเทวดา แล้วก็บรรทมนิดหนึ่ง
ปัจจูเสวตเตกาเล ภัพพาภัพเพวิโลกนัง พอตอนจะหัวรุ่งก็เล็งญาณส่องโลก
ถ้าคุณไม่เข้าใจคุณจะเห็นว่าไม่มีความหมายอะไร ไม่เป็นการงานอะไร ที่ไหน
ที่ว่า ปุพพัณ เหปิณฑปาตัญจะ ตอนเช้าไปบิณฑบาตนี้ กินเวลาไปจนถึงเที่ยง เพราะการไปบิณฑบาตของพระพุทธเจ้านั้นไปเพื่อเป็นประโยชน์แก่คน เริ่มตั้งแต่ว่าถ้ายังเช้าเกินไป แวะเข้าไปในวัดพวก เดียรถีย์ ไปทำความแจ่มแจ้งกับพวก เดียรถีย์ พระพุทธเจ้าเป็นฝ่ายให้ความแจ่มแจ้ง มีใน สูตร ทั้งหลาย มากเหลือเกิน แล้วไปบิณฑบาตในเมือง ตามปกตินั้นมีความตั้งใจ พระพุทธเจ้าท่านมีความตั้งใจที่จะไปเล่นงานใครคนหนึ่งเสมอ จึงจะไปบิณฑบาตที่แถวนั้น ที่บ้านนั้น ให้เขาทำบุญ คือ เขาจะนิมนต์ เขาจะเอาบาตรพระพุทธเจ้าเข้าไปบนเรือน พระพุทธเจ้าจะต้องนั่งรอกว่าเขาจะใส่บาตรเสร็จจากในครัว ต้องพูดกันกับเจ้าของบ้าน บางทีก็ถือโอกาสฉันที่นั่นเลย ก็มีโอกาสพูดกันมาก นั่นแหละคือ ไปเล่นงานคน ไปบิณฑบาต นั้นคือ ไปโปรดสัตว์จริงๆ ไปทำคนให้หาย มิจฉาทิฏฐิ ให้รู้ ให้อะไร ให้ละ กิเลส ละความทุกข์ เสียเวลาไปจนเที่ยงแน่ะ แล้วก็ไปไกลด้วย ก็ต้องเหนื่อยบ้าง ท่านก็ต้องพักบ้าง จนกว่าจะเที่ยง จนถึงเวลาเที่ยง เสร็จบิณฑบาตแล้วก็ตอนบ่ายก็พักผ่อน ก็ไปหาที่เร้นที่ไม่มีใครกวน ในป่าละเมาะหรือว่าที่ตรงไหนก็สุดแท้ จึงจะกลับมาที่พักที่วัด ก็เป็นเวลาเย็น บ่ายจวนเย็น
สายัณเหธัมมเทสนัง ตอนเวลาสายัณห์ก็แสดงธรรมแก่ชาวบ้าน หรือใครที่ไปหาถึงที่นั่น มันก็หมดเวลาไปอีก ตอนเย็นอาจจะได้ไปสรงน้ำ ไปพักผ่อนส่วนตัวนิดๆหน่อย ก็มาถึงเวลาที่
ปโทเสภิกขุโอวาทัง นี่ ประชุมภิกษุทั้งหลาย มีเรื่องมีราวก็พูดกันไปเรื่อย สอนกันไปเรื่อยประจำวัน
อัฑฒรัตเตเทวปัญหานัง ตอนดึกแก้ปัญหาเทวดานี้ เห็นได้ชัดในเรื่องต่างๆที่มีอยู่จริง คือ พวกพระราชา พวกเจ้าแผ่นดิน พวกอิสระชน พวกอะไรอย่างนี้ กลางวันเขาไม่มีเวลา ก็จะไปตอนดึกเสมอ ตอนค่ำจนดึกเสมอ พระเจ้าแผ่นดินจะยกกองไปวัด ไป...เรียกว่า ไปคุย สนทนากับพระพุทธเจ้า ที่จะต้องไปกลางคืนเพราะกลางวันไม่มีเวลาว่าง มันเรื่องมันมาก แล้วกลางคืนเป็นพระเจ้าแผ่นดินมีเวร มีศัตรูมาก ก็ต้องเอากองทหารไปด้วย แล้วไปสนทนานั่นนี่ ก็มีเรื่องเยอะแยะในพระบาลีนั้น พระเจ้าผ่านดินไม่รู้ว่าองค์ไหนพระพุทธเจ้า เพราะเหมือนกันหมด คนที่ไปด้วยต้องบอกว่าคนที่นั่งพิงเสา อย่างนี้เป็นต้น นี้ก็เรียกว่าประเภทเจ้านายนี่เขาไปกลางคืน ตอนดึก แต่ว่าใน อรรถกถา หรือที่อื่นเขาก็มีเขียนว่าเทวดาลงมาจากข้างบนสวรรค์โน่นก็มีเหมือนกัน ถ้ามาก็มาตอนเดียวกันนี้ เรื่องมีแต่ตอนนี้ทั้งนั้น มาตอนดึกอย่างนี้ทั้งนั้น เทวดาที่ลงมาจากสวรรค์ จะจริงไม่จริงก็ไม่วินิจฉัย แต่ที่เชื่อแน่ได้ ก็คือ เจ้านายนี้จะไปตอนดึก มันก็ดึกมาก กรุงเทพก็ยังมีที่ว่าพวกเจ้านาย ข้าราชการชั้นสูง ชั้นสบายแล้วอะไรนี้ ชั้นบำนาญนี่ ไปคุยกับพระจนดึกตีหนึ่ง ตึสอง ตีสาม ไปคุยกับพระแก่ๆที่เป็นสมเด็จ เป็นอะไร จนพระ-เณรขี้เกียจนั่งเฝ้า
ทีนี้ พอพระพุทธเจ้าพักผ่อนนิดหน่อยแล้ว ก็มาถึง อัฑฒรัตเตเทวปัญหานัง ปัจจูเสวตเตกาเล ภัพพาภัพเพวิโลกนัง ตื่นแต่ตี ๔ นะ แล้วก็เล็งญาณส่องโลก หมายความว่า โลกกำลังอยู่ในสภาพอย่างไร? วันนี้สว่างแล้วเราจะไปทำอะไร? ที่ไหน? คือ จะไปเล่นงานใคร? ที่ไหน? ด้วยการไปบิณฑบาตนั้น คือ ท่านมีแผนการลึกซั้งขนาดนี้ มันจึงสำเร็จ บางทีคอยจ้องอยู่เลยว่า ไอ้พราหมณ์คนนี้ มิจฉาทิฏฐิ คนนี้ มันเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ ท่านคอยสังเกตมาเป็นเดือน เป็นปี เป็นอะไร ว่า เอ้า, ยังไม่เหมาะ ที่จะไปเล่นงานกับมัน ล่วงมาเป็นเดือน เป็นปี วันหนึ่ง เอ้า เหมาะแล้ววันนี้ ก็ไปอย่างนี้ นี่คือ ภัพพาภัพเพวิโลกนัง นี่คือ การทำงานของพระพุทธเจ้า มีมากเท่านี้ แสดงว่า คนที่หมด กิเลส แล้วยังทำงานมาก ยังเคลื่อนไหวเสมอ ไม่ใช่คนเห็นโลกเป็นของว่าง เป็น ขี้เถ้า ไปทั้งหมดแล้วจะไม่ทำอะไร จึงขอให้เลิกคิดผิดๆกันสักทีว่าถ้าหมด กิเลส แล้วจะไม่ทำอะไร มันมีกำลังแรงอีกอันหนึ่ง คือ กำลังของ โพธิ ของ ปัญญา นี้มาเป็นแรงงานให้... เป็นแรงผลักดันให้ทำงาน ถ้าเป็นปุถุชนเราทำงานด้วยความผลักดันของ กิเลส เอาแรงของ กิเลส มา มาเล่า มาเรียน มาขวนขวาย อย่างนั้น อย่างนี้ แล้วก็ทำงานไปด้วยอำนาจของ กิเลส ก็ทำมากเหมือนกัน แต่ร้อนเป็น ไฟ เป็น ขี้เถ้า ไปแล้วตลอดเวลา เดี๋ยวนี้ ก็มาเปลี่ยนเป็น กิเลส ไอ้ไฟชนิดนั้นหมดแล้ว มันก็เหลือไอ้ โพธิ เป็น ปัญญา เป็น ความเย็น ไม่เผาอะไร แต่รู้ว่าควรจะทำอะไร พระพุทธเจ้าท่านจึงทำได้มาก พระอรหันต์ทั้งหลายก็ทำมาก แล้วประโยชน์นั้นมีค่าเหลือแสน มีค่าเหลือหลายกว่าประโยชน์ของคนที่ทำด้วยอำนาจของ กิเลส นี้ คนมี กิเลส ก็ทำเพื่อตัวกู เพื่อปาก เพื่อท้อง เพื่อลูก เพื่อเมีย เพื่ออะไรทั้งนั้นเลย ไม่มีโดยแท้จริงที่ว่า เพื่อสันติของโลก พอมันหมดไอ้เรื่อง กิเลส เรื่องไฟนี้แล้ว มันก็เหลือแต่ว่าทำอะไรไปเพื่อความสงบสุข สันติสุขของสัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวง ไม่จำกัดว่าเทวดาหรือมนุษย์
เพราะฉะนั้น อย่าได้กลัวว่าหมด กิเลส แล้วจะไม่ทำอะไร จะสงวนเอาไฟของ กิเลส ไว้คอยกระตุ้น แล้วอย่าได้กลัวว่าไม่มี ขี้เถ้า ว่าไม่มีไฟแล้วจะไม่สนุก มันสนุกไปตามแบบอื่น คือ ตามแบบของ สนุกในธรรม -สนุกในธรรมะ เป็นปุถุชนคนธรรมดานี้ใช้คำว่า กามนันทิ ฟังดู กามนันทิ นันทิ ใน กาม แต่พอเป็นพระอริยะเจ้าแล้ว มันกลายเป็น ธรรมนันทิ มี นันทิ ใน ธรรม ปุถุชนก็ นันทิ ใน กาม ใน กามารมณ์ เพลิดเพลินใน กามารมณ์ พอเป็นพระอริยะเจ้าแล้วก็เป็น ธรรมนันทิ เพลิดเพลินใน ธรรม ที่อร่อยเท่ากัน น้ำหนัก ปริมาณ ไอ้ค่าของความเอร็ดอร่อยมันเท่ากัน แต่วัตถุมันต่างกัน เพราะจิตใจมันเปลี่ยนเสียแล้ว สัตว์ที่กินของสกปรกมันก็อร่อยเท่ากับคนที่กินของไม่สกปรก ความอร่อยมันเท่ากัน แต่วัตถุนั้นมันต่างกันก็ช่างมัน เพราะฉะนั้น การที่มีธรรมะเป็นเนื้อ เป็นตัว เป็นอะไรไปนี้ มันก็มีความสุข ไม่แพ้ไอ้ความสุขอย่างชาวบ้าน อย่างไอ้ที่โง่-ที่หลงอยู่ด้วย กิเลส อย่าได้เข้าใจว่ามันจะหมดความสุข มันจะจืดชืด ไม่มีรส ไม่มีชาตินะ ขอให้เข้าถึงรสของพระธรรม ของ ธรรมะ แทนรสของ โลกียะ นี่ บวชมาเป็นลูกของพระพุทธเจ้าก็ได้สิ่งนี้มาแทน ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น มันก็ได้ไอ้สิ่งที่ได้กันอยู่ตามธรรมดานี้ ล้วนแต่เป็น ไม้ฟืน กับ ขี้เถ้า ทั้งนั้น ทีนี้ ก็เลิก หรือพ้น หรือเหนือ เหนือความเป็น ไม้ฟืน เป็น ขี้เถ้า ก็เป็น โลกุตตระ ก็มีความสุขเย็นไปตามแบบของ โลกุตตระ จนพูดไม่ได้ว่าเท่าไร ต้องพูดว่า ที่สุด
นิพพานัง ปรมัง สุขัง – นิพพาน นำมาซึ่งความสุขอย่างยิ่งนี้ สุขคนละแบบ เป็นคู่ๆ คู่ๆ เปรียบกันเป็น สุขเย็น กับ สุกร้อน สุขชาวบ้านนี่-สุกร้อน สุขธรรมะคือ-สุขเย็น มันเป็นคู่ๆ กันไปอย่างนี้
สรุปความว่า มันไปยังจุดๆหนึ่งที่พอจะเรียกได้ว่า เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เราได้โดยอาศัยพระพุทธเจ้า หรือบุคคลอย่างพระพุทธเจ้า หรือวิธีการอย่างของพระพุทธเจ้า ถ้าเราตรัสรู้เองได้-ก็ได้เหมือนกัน มันก็มีคนที่ตรัสรู้เอาเอง แต่พวกเราคงเหลือวิสัย เราจึงต้องพึ่ง การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า นี่ เราจึงมาบวชเพื่อจะรีบศึกษา รีบทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของความเป็นมนุษย์ เกิดมาเป็นมนุษย์ควรจะได้อะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้น อย่าประมาท อุตส่าห์ทำให้วันคืนล่วงไปด้วยความเจริญในทางของธรรมะนี้ อย่าเหลวไหล อย่าโลเล อย่าไปเห็นแก่ของที่หลอกลวง อย่างที่พูดมาแล้วคืนก่อนๆนั้นว่า มันเป็นสิ่งที่ต้องเว้นเพราะมันเป็นเรื่องไม่มีสาระ มันหลอกลวง เสียสละเสียเถิด การหัวเราะ การพูดดัง การไอ้อะไรต่างๆ คือ เป็นการตามใจตัวเอง นั้น - เสียสละเสียเถิด ก็เพื่อให้มันหมุนมาในทางที่ใกล้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ยิ่งขึ้นทุกที ถ้าเป็น พระโสดาบัน เขาเรียกว่า อมตะทวารา - อมตะทวารา - อมตัทวารัง ติฏฐติ ยืนอยู่ที่ประตูของ อมตะ นี่ ถึงถ้าถึงขนาดเป็น พระโสดาบัน แล้วนะ ไปยืนอยู่ที่ประตูของ อมตะ ทีนี้ เรายังไม่ถึง ก็พยายาม พยายาม พยายามให้มันใกล้เข้าไปที่นั่น
นี่ สรุปความว่า เราจะต้องเห็นโลกอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านเห็น คือว่า เต็มไปในโลกนี้ไม่มีอะไรนอกจาก ไม้ฟืน กับ ขี้เถ้า ให้สมกับที่เรามาเป็น ลูกของพระพุทธเจ้า
เอาละ พอกันทีสำหรับวันนี้