แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
การบรรยายเรื่องจิตภาวนา หรือสมาธิภาวนา หรืออธิจิตตาโยคธรรมแล้วแต่จะเรียก ในครั้งที่ ๑๑ นี้ คือ การอธิบายอานาปานสติ หมวดที่ ๓ อันเป็นหมวดที่ได้นามว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คำอธิบายโดยรายละเอียดนั้นมีอยู่ในคำอธิบายคราวก่อนๆ ตั้งหลายปีมาแล้ว ที่มีการพิมพ์เป็นเล่มหนังสือขึ้นแล้ว สำหรับในที่นี้จะอธิบายเฉพาะส่วนที่จะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง บางคนอ่านคำอธิบายเหล่านั้นไม่รู้เรื่อง เพราะว่ามันเป็นคำอธิบายที่ละเอียดหรือมากเกินความจำเป็นบ้าง หรือมันเป็นการอธิบายอย่างสำหรับนักศึกษาทางปริยัติโดยละเอียดบ้าง ทำให้ลำบากหรือบางทีก็เข้าใจไม่ได้สำหรับคนธรรมดาสามัญทั่วไป และอันนี้เป็นเหตุให้มีการบรรยายเรื่องอานาปานสติหลายแบบหลายชนิดขึ้นมา แต่สำหรับท่านทั้งหลายที่เป็นธรรมทูตล้วนแต่เป็นผู้ศึกษาธรรมะและบาลีมาแล้ว เรื่องจึงเหลืออยู่นิดเดียว คือ การชี้ให้เห็นแง่ปมอะไรต่างๆ แล้วก็ทำการประสานกัน หรือติดต่อกันให้ได้ และอีกอย่างหนึ่งก็คือให้มันเป็นเรื่องที่กระทำจริงๆ ขึ้นมา ซึ่งมันต่างกันอยู่ไม่น้อยกับวิธีสอนหรือเรียนอย่างวิชาฝ่ายปริยัติ นี่ขอให้ตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ก็จะเข้าใจคำอธิบายนี้ได้ง่ายเข้า
วันนี้เราพูดกันถึงเรื่องอานาปานสติหมวดที่ ๓ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิต มันก็จะต้องรู้ที่ต่อหรือเงื่อนต่อกันระหว่างหมวดเป็นข้อแรก แล้วก็อย่าลืมว่าการศึกษาคือการปฏิบัติเกี่ยวกับอานาปานสตินี้ มันต้องคอยทบทวนตั้งแต่ขั้นที่ ๑ มาสู่ขั้นที่กำลังปฏิบัติอยู่ในขณะนั้นเสมอไป มันจึงเหมือนกับทางเดินที่เราเดินซ้ำๆ ซากๆ จนเป็นทางเดินที่ชัดเจนหรือเดินสะดวก ทีแรกก็เหมือนกับสนามหญ้าที่ไม่มีใครเดินตัด ครั้นเดินตัดมากเข้า มากเข้า ก็เกิดเป็นร่องรอยที่ชัด เรื่องอานาปานสตินี้ต้องการลักษณะอย่างนั้นมากที่สุด ทุกครั้งที่จะมีการปฏิบัติ ต้องตั้งต้นมาแต่ขั้นที่ ๑ เสมอ ถ้าประมาทในข้อนี้เป็นอันว่าล้มเหลวแน่นอน เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องสำหรับคนขี้เกียจ จึงได้ย้ำมากในคำว่า อาตาปีสัมปชาโน สติมา ทำนองนี้ แล้วก็เข้าใจว่าที่ล้มเหลวไม่สำเร็จนั้นก็เพราะเรื่องขี้เกียจอย่างฉลาดนี้มากกว่า คือมาคิดเสียว่าเรื่องเหล่านี้มีเท่านี้เองเป็นเรื่องเล็กน้อยเป็นเรื่องประมาท ไม่เห็นว่าการท่องสูตรคูณนั้นเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับเด็กนักเรียน จึงต้องย้ำเรื่องนี้อยู่เสมอเหมือนกับเราแรกเรียนหนังสือ การเรียน ก ข มันก็เรื่องจำเป็นที่สุดที่จะต้องทบทวนอยู่เรื่อย จึงทบทวนมาตั้งแต่ลมหายใจยาวอย่างไร ลมหายใจสั้นอย่างไร เป็นกายสังขารอย่างไร ระงับจิตสังขารอย่างไร เป็นปีติอย่างไร เป็นสุขอย่างไร เป็นจิตสังขารอย่างไร ทำให้มันระงับไปอย่างไร
ทีนี้ก็มาถึงหมวดที่กำลังจะต้องทำ คือหมวดจิต เราอย่าลืมว่า ในหมวดที่ ๒ นั่น ศึกษากันเป็นอย่างดีถึงสิ่งปรุงแต่งจิต สิ่งที่ปรุงแต่งจิต ฉะนั้นเมื่อรู้จักสิ่งที่ปรุงแต่งจิต คือจิตสังขารดี ก็ย่อมรู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิตดี แต่ว่ายังไม่ได้เจาะจงที่จะกำหนดหรือที่จะพิจารณาไอ้สิ่งที่เรียกว่าจิตให้มากเป็นพิเศษ เพราะไปสนใจในแง่ของสิ่งที่ปรุงแต่งจิต คือ จิตตสังขาร และโดยเฉพาะคือเวทนา แต่โดยเนื้อแท้แล้วรู้จักสิ่งที่ปรุงแต่งจิต ก็คือรู้จักจิตที่เป็นผลของการปรุงแต่ง เราจึงดูเวทนาให้มากในฐานะเป็นจิตตสังขาร แล้วทำให้มันอ่อนกำลังลงโดยวิธีต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว นับตั้งแต่การทำลมหายใจให้ละเอียด เป็นต้น นั่นหล่ะ คือเราสามารถบังคับจิตได้โดยหลักการใหญ่ๆ ย่อๆ ทีนี้เราจะมาทำให้เป็นพิเศษเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับจิต ไม่ใช่จิตตสังขาร จึงมีการดู การพิจารณา การกำหนดอะไรต่างๆ สิ่งที่เรียกว่าจิต ดังนั้นมันจึงเริ่มขึ้นด้วยหัวข้อว่า จิตฺตปฏิสํเวที รู้พร้อมเฉพาะเรื่องจิต อภิปฺปโมทยํ จิตฺตํ ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ สมาทหํ จิตฺตํ ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ วิโมจยํ จิตฺตํ ทำจิตให้ปลดปล่อยอยู่ หัวข้อมันเลยกลายเป็นเรื่องจิตไปหมด
นี้ในหมวดนี้ทั้ง ๔ ขั้น ขั้นแรก ก็คือว่ารู้พร้อมเฉพาะเรื่องจิต ว่าจิตอะไร หรือเมื่อไร หรืออย่างไร หัวข้อทาง logic ของเราก็มีอยู่ว่า จิตอะไร เมื่อไร แล้วก็อย่างไร หรือโดยวิธีใด เหมือนกัน และถามว่าจิตอะไรหรือจิตไหน ก็ต้องเล็งถึงจิตที่กำลังประกอบอยู่ด้วยสติ ซึ่งเป็นจิตผู้กำหนด คือจิตผู้ทำหน้าที่กำหนด คือจิตที่กำลังประกอบอยู่ด้วยสติเจตสิก มันเป็นจิตที่เป็นสติ ที่ทำหน้าที่กำหนด แล้วก็เมื่อไร ก็ในทุกขณะของแต่ละขั้น ละขั้นของการปฏิบัติตั้งแต่ขั้นที่ ๑ มาจนถึงขั้นนี้ซึ่งเป็นขั้นที่ ๙ ก็โดยลักษณะอย่างไร โดยลักษณะว่าเป็นจิตที่มีราคะหรือปราศจากราคะเป็นต้น ดังนั้นเราต้องทำให้สิ่งทั้ง ๓ นี้สัมพันธ์กันในการศึกษา จิตไหน เมื่อไร อย่างไร ๓ คำถาม จิตที่เป็นผู้กำหนดเราเรียกชื่อมันว่าสติ แล้วก็จิตในทุกขณะที่มีการกำหนดในทุกขั้น แล้วก็จิตที่ประกอบอยู่ด้วยลักษณะอย่างนั้น อย่างนั้น จิตที่เป็นผู้กำหนดคือสตินั้น เราพูดกันมามากแล้วทุกขั้น ก็ย้อนไปดูก็ได้ถ้าลืมไป ที่จริงมันควรจะไม่ลืม เพราะสิ่งที่เรียกว่าสตินี้ ทุกครั้งที่หายใจออก-เข้า มันดูง่าย เว้นไว้แต่จะไม่ได้ดู นี้ก็ดูไอ้ความแตกต่างกัน เมื่อมันทำอะไรต่างๆ ชนิดกัน เมื่อจิตกำหนดลมหายใจยาว จิตเป็นอย่างไร เมื่อจิตกำหนดลมหายใจสั้น จิตเป็นอย่างไร เมื่อจิตกำหนดกายสังขาร จิตเป็นอย่างไร เมื่อจิตกำหนดความที่กายสังขารระงับอยู่นั้นจิตเป็นอย่างไร มันเนื่องกันในระหว่างจิตที่ทำหน้าที่กำหนดกับสิ่งที่ถูกจิตกำหนด เมื่อเรามีลมหายใจยาว จิตมักมีลักษณะอย่างหนึ่ง เมื่อเรามีลมหายใจสั้น จิตมันมีลักษณะอย่างหนึ่ง นั้นตัวจิตเองในขณะนั้นมันจึงมีลักษณะต่างกัน ไปตามไอ้สิ่งที่ถูกกำหนด อย่าได้เข้าใจว่าจิตมันจะคงสภาพเป็นอย่างนั้นกันเรื่อยไม่ว่ามันจะไปกำหนดอะไร ที่แท้นั้น จิตนั้นย่อมเปลี่ยนสภาพไปด้วยตามสิ่งที่มันกำหนด เพราะว่ามันเป็นสังขารธรรม หรือ สังขตธรรม มีปัจจัยปรุงแต่ง และเนื่องอยู่กับปัจจัยนั้น นั้นเพียงแต่เรากำหนดจิตในการปฏิบัติแต่ละขั้นทั้ง ๙ ขั้นนั้นก็ย่อมจะเห็นจิตต่างๆ กันไม่มากก็น้อย เพราะว่าสิ่งที่ถูกกำหนดนั้นมันต่างกัน
ฉะนั้นในขั้นแรกที่สุดของการปฏิบัติขั้นที่ ๙ นี้ก็คือว่าทำอานาปานสติขั้นที่ ๑ แล้วดูจิตในขณะนั้น ทำอานาปานสติขั้นที่ ๒ แล้วดูจิตในขณะนั้น ขั้นที่ ๓ เมื่อนั้นเรื่อยมาจนถึงขั้นที่ ๙ ให้รู้ความที่จิตมันเปลี่ยนแปลงไปตามสมควร แก่สิ่งที่เอามาให้จิตกำหนดในลักษณะที่ต่างๆ กัน นี้ก็ต้องทำมาก ใช้เวลามาก
ทีนี้จึงมาถึงขั้นที่ว่ามันมีลักษณะอย่างไรโดยเฉพาะขึ้นไปอีก คือ พวกอื่น เจตสิกพวกอื่นที่มาประกอบจิตอยู่ ในตอนนี้ในพระคัมภีร์ก็ยกตัวอย่างมาไว้ให้ ๘ คู่หรือ ๑๖ ชนิด ซึ่งเราจะต้องขึ้นใจว่าจิตมันกำลังประกอบอยู่ด้วยโลภะหรือไม่ประกอบอยู่ด้วยโลภะ นี่ข้อหนึ่งแล้ว ว่าจิตมันประกอบอยู่ด้วยโทสะหรือกำลังไม่ประกอบอยู่ด้วยโทสะ นี่ก็คู่หนึ่ง จิตประกอบไปด้วยโมหะหรือไม่ประกอบอยู่ด้วยโมหะนี่คู่หนึ่ง จิตหดหู่หรือไม่หดหู่ ไม่หดหู่นี่หมายถึงฟุ้งซ่าน ตรงกันข้ามจิตหดหู่หรือฟุ้งซ่านนี่คู่หนึ่ง จิตตั้งอยู่ในสมาธิหรือฌาน จิตตั้งอยู่ในฌานหรือไม่ได้ตั้งอยู่ในฌานนี่คู่หนึ่ง เพราะจิตโดยการเปรียบเทียบ ว่ามันมีจิตอื่นยิ่งกว่านี้หรือไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่านี้ นี่คู่หนึ่ง และจิตมั่นคงคือตั้งมั่นหรือว่าไม่ตั้งมั่นนี่คู่หนึ่ง จิตมีการปลดปล่อยหรือไม่มีการปลดปล่อยนี่คู่หนึ่ง มันจึงเป็น ๘ คู่และ๑๖ รายการ แล้วนี่เป็นตัวอย่างเท่านั้น อาจจะพิจารณาให้เห็นมากไปกว่านี้เพื่อทดสอบให้ยิ่งขึ้นไปก็ได้ เพราะฉะนั้นคำแต่ละคำบัญญัติเฉพาะนี้จะต้องเข้าใจ เช่นไอ้พวกแรกเข้ามาเป็นราคะ โทสะ โมหะ เราไม่เอาตามตัวหนังสือนักก็ได้เหมือนกัน คือว่าราคะหรือโลภะนี้หมายความว่า มันมีความหมายเป็นการเอาเข้ามาหาจิต พวกโทสะ โกรธะนั้นเป็นพวกที่ผลักออกไปเสียจากจิต พวกโมหะ ความโง่ ความหลงนี่มันเป็นเรื่องที่วนเวียนเอาอารมณ์เข้ามาหาจิตด้วยความรัก ประเภทราคะหรือโลภะ แล้วผลักอารมณ์ออกไปจากจิตนี้เป็นโทสะหรือโกรธะแล้วก็วนเวียนด้วยความสนใจ ด้วยความสงสัย ด้วยความทึ่ง ด้วยความลังเลอยู่รอบอารมณ์นั้นๆ มันก็เป็นพวกโมหะ ในโรงเรียนเราไม่ค่อยได้ให้คำจำกัดความทำนองนี้ มันจึงทำให้นักเรียนเข้าใจไอ้สิ่งทั้ง ๓ นี้ไม่ ไม่ชัดเจนจนต้องบอกให้ท่องว่ากิเลสชื่อนั้นมันพวกโลภะ กิเลสชื่อนั้นมันพวกโทสะ กิเลสพวกนั้นมันเป็นพวกโมหะ มันอาศัยความจำแล้วก็เลือนไปเลือนมา แล้วบางทีมันกำกวม นั้นก็จะแยกให้ชัดลงไปก็ว่า ไอ้โลภะนี่มันก็คือเอาเข้ามาหาตัว ไอ้โทสะก็ผลักออกไปจากตัว ไอ้โมหะมันทึ่งมันสงสัยมันก็วนเวียนอยู่รอบๆ อารมณ์นั้น อาศัยหลักชนิดนี้มันก็พิจารณาได้ง่ายว่ามันเป็นโลภะหรือโทสะหรือโมหะ ถ้ามันกำลังประกอบด้วยสิ่งทั้ง ๓ นี้หรือไม่ หมายความว่าคราวละอย่าง คราวละอย่าง ไม่ใช่ประกอบคราวเดียวได้ทั้ง ๓ อย่าง ทีนี้หดหู่หรือไม่หดหู่ คำนี้มันก็ต้องหมายถึงความอ่อนเพลีย ความเศร้า ความซึมหรืออะไรก็ตาม หลายๆ ชนิดแต่มาอยู่ในคำว่าหดหู่ นี้ตรงกันข้ามกับที่ว่ามันแผ่ออกไป อันหนึ่งมันหดเข้ามา อันหนึ่งมันแผ่ออกไป ตรงกันข้ามกับความฟุ้งซ่าน เห็นได้เป็นเรื่องของนิวรณ์ชัดๆ
แม้ที่สุดแต่ไอ้เรื่องง่วงนอนนี้มันก็ไปอยู่ในพวกนี้ คือพวกหดหู่ แล้วทีนี้มันมีความสำคัญอยู่ตรงที่ว่า บางชนิดมันละเอียด ละเอียดจนเราไม่พบสาเหตุ มองไม่เห็นสาเหตุ เช่นตื่นนอนขึ้นมามันงัวเงียไม่สบายและไม่รู้ว่าเหตุอะไร บางทีมันจะเป็นว่าคืนนั้นมันฝันร้ายหรือมันนอนไม่หลับสนิท หรือมันมีอะไรๆ ค้างอยู่ในจิต นั้นในกรณีอย่างนี้ต้องใช้การสังเกตพิจารณาที่ละเอียดอย่างยิ่ง สำหรับสิ่งที่เรียกว่าหดหู่
นี้คำำว่าอยู่ในฌานหรือไม่อยู่ในฌานนี้ ก็เคยอธิบายแล้วว่า คำว่า ฌาน ๒ ความหมาย คือ เพ่งอารมณ์หรือเพ่งลักษณะ แต่ในที่นี้มีเราความหมายเดียวมันกำลังเพ่งอะไรอยู่หรือไม่ เอาแต่เพียงว่ามันกำลังเพ่งอะไรอยู่หรือไม่เท่านั้นเอง จะเพ่งอย่างอารมณ์หรือจะเพ่งอย่างลักษณะก็ตามใจ คือเพ่งสมถะหรือเพ่งวิปัสสนาก็ได้ ความสำคัญอยู่ที่เดี๋ยวนี้จิตกำลังเพ่งอยู่ที่อะไรหรือไม่ กำหนดอะไรอยู่อย่างรุนแรงหรือไม่ เรียกว่ามีฌานหรือไม่มีฌาน อยู่ในฌานหรือไม่อยู่ในณาน กระทั่งว่ามันอยู่ในปฐมฌานหรือทุตติยฌานหรือจตุตถฌาน นี้ก็สงเคราะห์อยู่ในข้อนี้ มีสติเข้าฌาน มีสติออกจากฌาน มีสติหยุดอยู่ในฌาน มันก็ทำให้รู้ข้อนี้ได้เหมือนกัน
ทีนี้ไอ้ข้อที่ว่ามีจิตอื่นยิ่งกว่านี่หรือไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า คำนี้อธิบายยากหรือมีปัญหา แต่ถ้าถือเอาแต่เพียงหลักกว้างๆ ว่าเรารู้สึกว่าจิตนี้ยังไม่ถึงที่สุด ของ ของคุณสมบัติของจิต มันก็พอจะเข้าใจได้ง่าย แม้ว่าจิตยังไม่หมดกิเลสอาสวะเป็นพระอรหันต์ มันก็มีทางจะรู้ได้ด้วยการเปรียบเทียบ เมื่อจิตนี้ไม่มีกิเลสอะไรรบกวนมันก็เป็นจิตที่ว่างจากอุปาทาน จากกิเลส จิตนี้ก็เรียกว่าไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าเหมือนกัน หากแต่ว่าเป็น กุปปธรรม คือ กลับกำเริบไปสู่จิตที่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ในบางกรณีเป็นตทังคหรือวิกขัมภน จิตกำลังว่างจากกิเลสหรือความทุกข์ ก็เรียกว่านี้เป็นลักษณะของจิตที่ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ดังนั้นเมื่อแม้ยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็อาจจะรู้จักจิตที่เรียกว่าไม่มี จิตที่ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าได้เหมือนกัน เพราะการว่างหรือการหลุดพ้นอย่างตทังควิมุตติ หรือ วิกขัมภนวิมุตติ นี้ก็มีอยู่ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตทังควิมุตติ นั้นมีได้ง่าย เมื่อมารมาในที่ที่เป็นวิเวก อย่างว่ามาในที่เป็นป่าสงบสงัดหรืออะไรที่คล้ายกันทำให้จิตลืมตัวกู ลืมของกู ลืมอะไรไปในบางครั้งมันก็มีลักษณะว่างอย่างเดียวกัน แล้วก็โดยรู้สึกตัวโดยบังเอิญด้วยซ้ำไป นี่เราไม่ได้กำหนด เราไม่สนใจศึกษากัน เรา จึงไม่รู้ว่าในบางกรณีมันว่างได้โดยตทังคะอย่างนี้ ถ้าว่างหรือเกษมไม่ถูกรบกวนโดยกิเลส ก็เรียกว่า กำลังรู้สึกหรือรู้รสของจิตที่ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า คือรู้ว่ามันได้เพียงเท่านี้ มันสูงสุดเพียงเท่านี้ แล้วเราก็พอใจก็มีกำลังใจที่จะทำให้ได้ไอ้อย่างนี้อยู่ตลอดเวลาก็เป็นประโยชน์มาก ก็เป็นเหตุให้เรารู้จักจิตประเภทประภัสสร ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า จิตนี้เป็นประภัสสรอยู่ตามธรรมชาติ เศร้าหมองเมื่อมีอุปกิเลสจรมา เมื่อกำหนดจิตอยู่ในข้อนี้ในการปฏิบัติขั้นนี้ทำให้เข้าใจจิตประภัสสร หรือว่าจิตที่ไม่มีกิเลสรบกวนได้ นี้ก็คู่หนึ่งว่ามันมีจิตอื่นยิ่งกว่าหรือไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า เป็นการรู้ล่วงหน้าในข้อที่ว่าไอ้ความหลุดพ้นแท้จริงนั้นมันจะเป็นอย่างไร ทีนี้ก็ว่ามีจิตที่มั่นคงหรือไม่มั่นคง มีจิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาหิตะหรือไม่ นี่ก็สังเกตว่ามั่นคงด้วยอำนาจของการกำหนดอารมณ์ที่ถูกวิธี มันก็มั่นคง เราก็ได้พูดกันแล้วในการปฏิบัติในขั้นที่ ๔ เรื่องทำกายสังขารให้ระงับ แล้วก็ทำ ในขั้นที่ ๘ คือทำจิตตสังขารให้ระงับ เมื่อกายไม่ถูกกระตุ้น เมื่อจิตไม่ถูกกระตุ้นมันก็อยู่นิ่งคือมั่นคง แล้วก็ดูเถอะว่า เดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างนั้นหรือไม่เป็นอย่างนั้น ที่ว่าจิตกำลังยึดอะไรอยู่หรือไม่ยึดอะไรอยู่ ปล่อยหรือไม่ปล่อย นี้เรายังทำให้ปล่อยไม่ได้นะ แต่ว่าเรากำลังรู้ เราจะดูให้รู้ว่ามันกำลังจับยึดอะไรอยู่หรือไม่จับยึดอะไรอยู่ ไอ้เรื่องทำให้ปล่อยนี่จะบังคับต่อไปข้างหน้า ที่แท้ก็มีการทำให้ปล่อยอยู่โดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่รู้สึก คือการที่ทำกายสังขารให้ระงับ หรือจิตตสังขารให้ระงับ อันเป็นผลสุดท้ายของหมวดที่ ๑ และหมวดที่ ๒ นั่นแหละ เป็นการทำจิตให้ปล่อยจากอะไรที่รบกวนจิตอยู่ โดยที่เราไม่ได้เรียกชื่อมันว่าให้ปล่อย ไอ้การที่มันระงับอยู่มันต้องมีอะไรออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือมีนิวรณ์ออกไป มีกิเลสออกไป สำหรับในการปฏิบัติขั้นต้นๆ นี้ก็หมายถึงไอ้สิ่งกลุ้มรุมจิต เบ็ดเตล็ดเล็กน้อย หยุมๆ หยิมๆ ก็เรียกว่าปล่อยออกไปได้หรือไม่ปล่อย มันกำลังเกาะกลุ้มรุมจิตอยู่ ส่วนคำว่า วิมุตติปล่อยโดยเด็ดขาดนั้น มันจะไปในขั้นต่อๆ ไปหรือขั้นสุดท้าย เดี๋ยวนี้ถ้าคำว่ามีคำว่าปล่อยหรือวิมุตติ มันก็เป็นพวกตทังควิมุตติ อีกเหมือนกัน เป็นเรื่องชิมสิ่งที่ยังเป็นกุปปธรรม กลับไปกลับมาได้ นี่คือคำว่า จิตฺตปฏิสํเวที รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตซึ่งจะต้องขยายความออกไปว่ารู้พร้อมเฉพาะซึ่งลักษณะต่างๆ ของจิต จิตไหนเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างมาให้ดูเพียง ๘ คู่ ต้องมีลักษณะเป็นคู่ๆ เสมอไปสำหรับเปรียบเทียบ นี่ขั้นนี้ก็ไปนั่งกำหนดเฝ้าดูจิตว่ากำลังตั้งอยู่ในลักษณะอย่างไร เราจะดูเพียงคู่เดียวไม่ได้ มันไม่อาจจะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าจิตได้รอบ รอบรอบ ด้าน เราจะตั้งข้อสังเกตขึ้นมาเองว่ามีอะไรอีกก็ได้ กี่สิบคู่ก็ได้ แต่ว่าไม่จำเป็น ไอ้เพียง ๘ คู่นี้มันก็พอหรือว่าจะเกินพอ เพราะอะไรมันก็มักจะมารวมใน ๘ คู่นี้ ถ้าว่ากันโดยที่แท้แล้ว ๓ คู่แรกก็พอ ประกอบด้วยโลภะหรือไม่ประกอบด้วยโลภะ ประกอบด้วยโทสะหรือไม่ประกอบด้วยโทสะ ประกอบด้วยโมหะหรือไม่ประกอบด้วยโมหะ เมื่อเราเรียนนักธรรม เราก็เรียนหรือครูก็สอนถึงข้อที่ว่า กิเลสร้อยแปดพันเก้า อะไรก็ตาม มันจะสงเคราะห์ลงไปได้ในสาม สามกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ ดังนั้นสิ่งที่มันขยายออกไปก็คือ ไอ้สามอย่างนั่นแหละ ก็ในบางแง่ซึ่งเป็นแง่ที่มันเร้นลับอยู่ นี้การปฏิบัติข้อ ขั้นที่ ๑ ของหมวดที่ ๓ หรือเป็นขั้นที่ ๙ ของทั้งหมดมันคืออย่างนี้ รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต
นี้ขั้นถัดไปคือขั้นที่ ๒ ของหมวดนี้ หรือขั้นที่ ๑๐ ของทั้งหมด มีหัวข้อว่า อภิปฺปโมทยํ จิตฺตํ ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ มีคำว่า อภิ เติมเข้ามาด้วย นั้นปราโมทย์ยิ่ง ก็มุ่งหมายจะเอาให้ถึงที่สุดเท่าที่จะทำได้ นี้คำว่าปราโมทย์นี้เป็นคำแทนกันได้กับคำว่าปีติ นั้นเราได้พูดกันถึงเรื่องปีติที่เป็นนิรามิส คือเกิดจากการปฏิบัติ เพื่อละกิเลสนี่เป็นปีตินิรามิส ไม่อาศัยเรือนมาพอสมควรแล้ว แล้วก็รู้ว่าที่อาศัยเรือนคือกามารมณ์ด้วย พอมาถึงคำว่า ปราโมทย์ นี้ก็เหมือนกันอีก ต้องปราโมทย์เป็นนิรามิส ไม่ได้อาศัยกามารมณ์ ถ้าปราโมทย์อาศัยกามารมณ์เกิดขึ้นมันก็ไม่ ไม่ ไม่ต้องสนใจแล้วมันเกิดไม่ได้ด้วย ถ้ามันเกิดในลักษณะอย่างนี้ ในเวลาอย่างนี้ได้ มันก็เรียกว่าการปฏิบัตินั้นล้มเหลวหมดมาตั้งแต่ต้น คือถ้าเผอิญว่ามันจะจู่เข้ามา มันก็ไม่ต้องสนใจ คือเป็นสิ่งที่ต้องปัดออกไปแล้วมันจู่เข้ามาไม่ได้ เพราะว่ามันกำลังมีปราโมทย์อย่างนี้มาเรื่อยๆ พอลงมือปฏิบัติมันก็มีปราโมทย์แบบไม่อาศัยเรือนนี้ ปีติอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง ในปริมาณมากหรือน้อยอยู่แล้ว ก็เป็นอันว่ามีปีติชนิดที่เป็นนิรามิส สำหรับชาวบ้านเรียก เรียกสำหรับเปรียบเทียบกับชาวบ้านก็เรียกว่านิรามิส ปีติที่ไม่เป็นเหยื่อ ปราโมทย์ที่ไม่เป็นเหยื่อ แต่ถ้าพูดถึงทั้งหมด มันก็ยังเป็นที่ตั้งความยึดถือ นี่เราต้องรู้จักขยับขยายไอ้ใจความของคำคำนี้ให้พอเหมาะ ไอ้ปราโมทย์ ก็คือปีติ ปีติก็คือวิปัสสนูปกิเลสอันหนึ่ง เดี๋ยวนี้การปฏิบัติของเราต้องการจะให้คล่องแคล่วในการที่จะบังคับจิต จะบังคับจิตเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าปีติหรือปราโมทย์ แล้วก็ทำไปในสายที่จะเป็นนิรามิส แล้วก็จะทำให้ยิ่งขึ้นไป มันเป็นการสำคัญ มีความสำคัญมากอยู่อย่างหนึ่งที่ว่าจะต้องฝึกจิตให้คล่องแคล่วในข้อนี้ เพื่อจะใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้กับความถอยกำลัง ความอ่อนกำลังหรือความหดหู่ของจิตเป็นต้นที่จะมาบ่อยๆ ที่จะเข้ามาบ่อยๆ นี้ต้องฝึกกันถึงที่สุดในการที่จะประคับ ประคองหรือว่าจะบังคับหรืออะไรก็ตาม ให้จิตมีสภาพพอใจตัวเอง เป็นปีติหรือเป็นปราโมทย์
นี้ท่านวางหลักไว้ตามแบบของอานาปานสติ คำนี้สังเกตเห็นแล้วหรือยังว่า หลักตามแบบของ อานาปานสติมันก็พูดแล้วพูดเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่าเคล็ดลับอานาปานสติ ก็คือการร่ายมาตั้งแต่ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ อะไรก็ตาม ต้องร่ายมาขั้นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ นี่ ทำจิตให้ปราโมทย์ก็หัดทำมาตั้งแต่ขั้นที่ ๑ คือลมหายใจยาว พอกำหนดลมหายใจยาวได้ ก็มีปีติปราโมทย์ กำหนดลมหายใจสั้นได้ก็มีปีติปราโมทย์ รู้กายสังขารอยู่ ก็ปีติปราโมทย์ รู้ความสงบแห่งกายสังขารก็มีปีติปราโมทย์ นี่อย่าเห็นเป็นของเล่นนะ ทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จอยู่ที่ตรงนี้ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นมันไม่แน่นแฟ้นมันไม่ลงรากอย่างแน่นแฟ้น ถ้าทำอย่างนี้มันแน่นแฟ้นถึงที่สุดที่มันจะแน่นแฟ้นได้ สร้างปีติที่มีรากฐานลึกซึ้งขึ้นมาเรื่อย จากลมหายใจยาว ลมหายใจสั้น กายสังขารระงับ กายสังขาร รู้จักปีติ รู้จักสุข รู้จักจิตตสังขาร รู้จักจิตตสังขารที่ระงับอยู่ กระทั่งมารู้จักจิตในลักษณะต่างๆ อยู่ ไอ้ความพอใจมันเพิ่มขึ้นๆ ๆ ๆ มากขึ้นๆ มันเหมือนกับเราเบ่งอะไรให้มันแรงขึ้นๆ เป่าลมลูกโป่งให้มันเต็มที่ขึ้น มันก็ต้องเริ่มเป่ามาตั้งแต่ อันที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ จนมาถึงอันที่ ๙ แล้วก็มาเต็มที่กันในอันที่ ๑๐ ที่ว่าจะฝึกให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ สร้างรากฐานที่มั่นคงขึ้นมาจากขั้นที่ ๑ ที่ ๒ เลื่อนเป็นลำดับมาทุกขั้นๆ นี่เดี๋ยวจะเกิดถามขึ้นว่าไปเอาอะไรที่ไหนมาทำให้จิตปราโมทย์ นี่ถ้าตอบตามแบบของนักอานาปานสติ ก็ตามในหลักของอานาปานสติ ไม่เอาอะไรที่ไหนมา เอามาจากขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ เรื่อยมา เป็นของที่จริง มีอยู่จริง และมีอยู่ในปัจจุบัน เป็นเรื่องของปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องอดีตหรืออนาคต ผู้ที่ปฏิบัติอานาปานสติมันก็ต้องคล่องแคล่วใน ๑๖ ขั้นนี้ ไม่ใช่คล่องแคล่วเพราะจำ คล่องแคล่วเพราะจำไม่มีประโยชน์ คล่องแคล่วเพราะว่าผ่านไปผ่านมา ผ่านไปผ่านมาอยู่ที่ทางเดินนั้นจนเป็นรอยลึก ไม่เกี่ยวกับความจำ ไม่เกี่ยวกับเหตุผล ไม่เกี่ยวกับการใช้เหตุผล เกี่ยวกับปฏิเวทะ คือว่ามี experience มีไอ้ realization เพิ่มมากขึ้นๆๆ ไม่ใช่ความรู้ ไม่ใช่ความจำ ไม่ใช่การใช้เหตุผล นี้คือการทำจิตให้ปราโมทย์จนเป็นรอยลึกของความเคยชินในการที่จะทำให้ปราโมทย์
ทีนี้ก็ไปถึงขั้นที่ ๑๑ ทำจิตให้ตั้งมั่นโดยหัวข้อว่า สมาทหํ จิตตํ อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ นี้เกือบจะไม่ต้องอธิบายอะไรเพราะมันเป็นเรื่องของ เพราะมันเป็นเรื่องที่อธิบายกันอย่างยิ่งแล้วในขั้นที่ ๔ ทำกายสังขารให้ระงับอยู่ แล้วจิตมันก็เป็นสมาธิขั้นที่ ๔ นั้นไปทบทวนใหม่ ทีนี้ถ้าว่าเป็นเรื่องปฏิบัติมันก็ไม่ต้องทบทวนอะไร มันก็ลงมือปฏิบัติ ๑ ๒ ๓ ๔ มาพอถึงที่ ๔ มันก็เริ่มเห็นไอ้ความที่จิตตั้งมั่น แต่แล้วตามแบบฉบับของอานาปานสติ ไม่เอาลุ่นๆ สั้นๆ ลัดๆ อย่างนั้น ก็ไปเอาตั้งมั่นมาจากลมหายใจยาว ตั้งมั่นมาจากลมหายใจสั้น ตั้งมั่นมาแต่เริ่มกำหนดลมหายใจยาว กำหนดลมหายใจสั้น แล้วมันก็เริ่มตั้งมั่น นี่เห็นได้ไหมว่า มันเป็นเรื่องที่ที่สมบูรณ์ที่สุด ที่ไม่ลวกๆ ที่มันสมบูรณ์ที่สุด มีรากฐานสมบูรณ์ที่สุด มีตัวตนอะไรสมบูรณ์ที่สุดของการปฏิบัติ ที่คำอธิบายที่ผมอธิบายนั้นก็คือว่า อธิบายแล้วในขั้นที่ ๔ และในขั้นที่ ๘ ทำกายสังขารให้ระงับอยู่ ทำจิตตสังขารให้ระงับอยู่ คือใจความสำคัญของการทำจิตให้ตั้งมั่น แต่เราจะร่ายไปตามลำดับทั้ง ๘ ขั้น ๙ ขั้นแล้ว ๑๐ ขั้น ถ้าถามว่าตั้งมั่นเมื่อไร ก็ตั้งมั่นในทุกขั้น ในทุกขั้นที่ผ่านมา เมื่อผ่านมาแต่ละขั้น ละขั้น ก็ตั้งมั่น แล้วก็เห็นชัดในขั้นที่ ๔ และที่ ๘ เพราะไอ้สิ่งปรุงแต่งมันไม่กระตุ้น มันก็ไม่โยกโคลง มันก็ตั้งมั่น ตั้งมั่นเมื่อไร ก็เมื่อไอ้แต่ละขั้นละขั้นมาจนถึง ๑๐ ขั้น ที่ไอ้ตั้งมั่นนี่มีลักษณะอย่างไร มันก็คือตามมากตามน้อย ในขณะที่มันเป็นบริกรรมสมาธิหรือเป็นอุปจารสมาธิ มันก็ตั้งมั่นน้อยกว่าที่มันมีในขณะอัปปนาสมาธิหรือในขณะของการอยู่ในฌาน นี้เกือบไม่ต้องอธิบายเพราะในโรงเรียนเราเคยเรียนเรื่องบริกรรมสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ พูดไปมันก็ไม่มีประโยชน์อะไรเกิดขึ้น คือมันซ้ำกับที่รู้อยู่แล้ว
แต่ทีนี้อยากจะแนะให้สังเกตไอ้ที่เป็นพิเศษ ที่จะไม่รู้หรือไม่เสพ เพราะไอ้ความตั้งมั่นนั้นมันมีอยู่ ๒ ประเภท คือ ตั้งมั่นในขณะที่จิตเป็นสมาธิล้วนๆ ไม่มีการใช้จิตนั้นให้ทำงาน คือเป็นสมาธิอย่างเดียวไม่ได้ใช้จิตนั้นให้ทำงานในทางวิปัสสนา แล้วก็อยู่ในฌานหรือในอัปปนาเป็นที่สุด นี้มันไม่ถูกใช้กำลังจิตนั้นให้ทำงาน ทีนี้มาอีกอย่างหนึ่งก็ตรง ก็คือว่าในขณะที่ใช้จิตนั้นให้ทำงาน คือต้องการพิจารณาโดยลักษณะของปัญญาหรือวิปัสสนาอยู่ เช่น กำลังพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ แม้ในขณะนั้นก็ต้องมีความตั้งมั่น
คนที่มีความรู้เรื่องเครื่องยนต์ เครื่องไฟฟ้าอะไรอยู่บ้างโดยเฉพาะสมัยนี้เห็นได้ง่าย เราก็เคยเห็น ทุกคนก็เคยเห็น เมื่อเราให้เครื่องยนต์มันเดินมันก็เดินแน่ว คือตั้งมั่นเหมือนกัน พอเราเข้าเกียร์ให้เครื่องยนต์นั้นทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ลากอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง เวลานั้นมันก็ต้องตั้งมั่นเหมือนกัน คือเครื่องยนต์จะต้องเดินแน่วดีอยู่อย่างเดิม ไม่ใช่พออะไรไปโหลดเข้าและมันเอะอะตึงตังรวนเรขึ้นมานี้มันไม่ได้ เมื่อเครื่องยนต์มันเดินอยู่เฉยๆ มันก็แน่วแน่ เมื่อถูกพ่วงเข้าไปด้วยงานโหลดอันใดอันหนึ่ง มันก็ยังแน่วแน่ เพราะฉะนั้นสมาธิจึงมีอยู่ ๒ สมาธิ คือ สมาธิล้วนๆ กับสมาธิที่แนบเนื่องอยู่กับวิปัสสนา ทั้ง ๒ สมาธินี้ต้องตั้งมั่น หรือว่าเมื่อเด็กๆ จะคิด คิดเลขนี้ มันก็มีไอ้ ไอ้สมาธิรวมอยู่กับการคิด ถ้าสมาธิเสียการคิดก็เป็นไปไม่ได้
ฉะนั้นเราฝึกให้เป็นสมาธิมันก็อย่างหนึ่ง เป็นสมาธิล้วนๆ และก็ใช้สมาธินั้นทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ สมาธินั้นก็ต้องยังอยู่ และตั้งมั่นอยู่ตามลักษณะของสมาธิ สมาธิที่ไม่ใช้งานและสมาธิที่กำลังใช้งานอยู่ เป็นสองอย่างอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าสมาธิที่ใช้งานนั้น คือสมาธิที่มีค่า สมาธิที่ไม่ใช้งานจะมีค่าไม่มาก สมาธิที่ใช้งานอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่มันมีค่ามาก นั้นไม่มีสมาธิใดมีค่ามากเท่ากับอนันตริยสมาธิ สมาธิที่แนบกันอยู่กับวิปัสสนา แม้สมาธินี้ก็ต้องมีความตั้งมั่นเต็มที่แต่มันถูกปิดบังความตั้งมั่นไม่ให้มองเห็นเพราะมันมีการพิจารณาเข้ามาทำงานอยู่
ที่ว่าทำจิตให้ตั้งมั่น มันจึงมีความสำคัญอยู่ตรงที่ทำให้ตั้งมั่นเมื่อใช้งาน หรือเครื่องยนต์มีโหลดต้องเดินเรียบตอนนั้นมันจำเป็นกว่า หรือว่าเราจะไปดูไอ้ส่วนที่เป็นโหลดเข้ามา ถ้ามันเรียบร้อยแน่วแน่มันก็เป็นอันรู้ว่าเครื่องยนต์มันแน่วแน่ ไปดูที่เครื่องสีข้าวที่มันเดินอยู่แน่วแน่เรียบร้อยก็เป็นอันรู้ได้ว่าเครื่องนั้นมันเดินแน่วแน่เรียบร้อย นี่ถ้าการพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เดินไปได้โดยสะดวกเรียบร้อย ก็แปลว่าไอ้ความตั้งมั่นของสมาธิที่เป็นรากฐานมันก็เรียบร้อย ก็ตั้งมั่นด้วย เป็นความตั้งมั่นทั้งส่วนปัญญาและส่วนจิต นี่เป็นการถึงที่สุดของสิ่งที่เรียกว่า ฉลาดในการทำจิตให้ตั้งมั่น ต้องการเมื่อไรเป็นได้เมื่อนั้น ต้องการเท่าไรเป็นได้เท่านั้น
ทีนี้ก็มาถึงขั้นสุดท้ายที่เรียกว่า วิโมจยํ จิตฺตํ อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ให้สังเกตคำว่า วิ ด้วยมีอุปสรรคเพิ่ม ไม่ใช่มุจะเฉยๆ มันมีวิมุจะ เช่นเดียวกับ อภิปฺปโมทยะ นี่มี วิมุจะ วิโมจยัง ทำจิตให้ปล่อยวิเศษอยู่ ถ้าจะถามว่าปล่อยอะไร และปล่อยอย่างไร ซึ่งเป็นหัวข้อ ก็แบบอานาปานสติอีก ไม่มีอะไรที่ไปไล่มาจาก ๑ ๒ ๓ หรือ ก ข ค ค ง มา ปล่อยอะไร มันก็ปล่อยสิ่งรบกวนกลุ้มรุมจิต เรียกว่านิวรณ์ก่อน ในขณะมีลมหายใจยาวปล่อยได้เท่าไร ลมหายใจสั้นปล่อยได้เท่าไร อย่างไร ทำกายสังขารระงับอยู่ ปล่อยได้เท่าไร ปล่อยได้อย่างไรต้องไปไล่มาอย่างนี้มาก่อนจนทางเดินนี้ลึก ผมพูดแล้วพูดอีกว่าจนทางเดินนี้ลึก นั้นผู้ปฏิบัติต้องไปกำหนดขั้นที่ ๑ คือลมหายใจยาว แต่ไม่ได้กำหนดความยาวเหมือนเมื่อปฏิบัติขั้นที่ ๑ ตอนโน้น ปฏิบัติให้กำหนดรู้ลมหายใจยาว แล้วรู้ว่านิวรณ์ออกไปเท่าไร นิวรณ์ไม่มีอย่างไร กำหนดลมหายใจยาวนิวรณ์ที่เมื่อตะกี้มีอยู่หยกๆ นี่มันจางไปอย่างไร มันก็รู้ได้ ทุกขั้นที่เป็นมาตามลำดับ เมื่อลมหายใจยาวปล่อยได้อย่างไร เมื่อลมหายใจสั้นปล่อยได้อย่างไร ก็กำหนดละเอียดเข้าไป ถึงความเป็นกายสังขารของลมหายใจนี้ก็ปล่อยได้อย่างไร นี่ทำกายสังขารให้ระงับอยู่ให้มันยิ่งปล่อยมาก ปล่อยมากขึ้นไปอีก แล้วมารู้ปีติ ก็ปล่อยอะไร ก็ปล่อยตรงกันข้ามคือไม่ปีติ มามีปีติ นิวรณ์ออกไปอย่างไร สุขก็เหมือนกันอีก แล้วรู้ความที่ปีติและสุขเป็นจิตตสังขาร ก็ปล่อยมากขึ้นอีก เพราะจิตประณีตละเอียดขึ้นเท่าไร ระงับลงไปเท่าไร มันก็ปล่อยมากขึ้นเท่านั้น นี่คือเป็นนักเลงโดยสมบูรณ์ เล่นกับจิต เรียกว่า เป็นนักเลงทางจิต เป็นโยคี ฉะนั้นอย่าลืมไอ้เรื่องแตกตามลำดับ จะรู้เมื่อไร ทีนี้เพื่อจะให้ชัดขึ้นไปก็อาศัยคำอธิบายที่เกี่ยวกับตัวจิต ว่าจิตประกอบอยู่ด้วยโลภะหรือไม่ประกอบด้วยโลภะ ประกอบด้วยโทสะหรือไม่ประกอบด้วยโทสะ โมหะหรือไม่โมหะ หดหู่หรือไม่หดหู่ อยู่ในฌานหรือไม่อยู่ในฌาน ทั้ง ๘ คู่นี้ มันก็ปล่อยตามหลักเกณฑ์ในคู่เหล่านั้น หรือส่วนที่ไม่พึงประสงค์ก็ปล่อยไป ก็เหลืออยู่แต่ส่วนที่พึงประสงค์ ในขั้นนี้เอากันเพียงเท่านี้ก่อน ในที่สุด ขั้นสุดท้าย มันก็คือปล่อยทั้งหมดไม่มีอะไรเหลือ นี้เมื่อถามว่าปล่อยอะไรก็ปล่อยไอ้ที่ไม่พึงประสงค์ นิวรณ์หรือกิเลสที่ไม่พึงประสงค์ ที่ว่าจะปล่อยอย่างไร ก็ทำมาตั้งแต่ ๒ ๓ ๔ ๕ ก ข ค ง เรื่อยมา มันก็ปล่อยอย่างนั้น
แต่ที่มาสรุปกันอีกที ปล่อยอย่างไร ปล่อยโดยอำนาจของสมาธิก็อย่างหนึ่ง ปล่อยโดยอำนาจของปัญญาอย่างหนึ่ง ปล่อยโดยอำนาจของสมาธิ ก็คือไปกำหนดอารมณ์ จิตแน่วแน่อยู่ในอารมณ์ ทีนี้ปล่อยโดยปัญญา คือลักษณะซึ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา กำหนดอยู่ที่เท็จจริง ที่เป็นธรรม ทั้งสองอย่างนี้จะปลดเปลื้องจิตจากอารมณ์หรือปลดเปลื้องอารมณ์จากจิตได้ ถ้ากำหนดโดยความเป็นสมาธิและปล่อยนิวรณ์ธรรมดาซ้ำ กำหนดอยู่ในปัญญาก็ปล่อยกิเลส ที่จริงจังยิ่งขึ้นไปอีก คำอธิบายนี้มีแล้วในโรงเรียนที่เราเรียนกันไปโน้น
ทีนี้เราจะปลดปล่อยจิตใช้ ๒ วิธี นี้ในขั้นต้นก็ทำเป็นสมาธิ ก็ปล่อยส่วนที่เป็นนิวรณ์ ทำส่วนปัญญา ก็ปล่อยส่วนที่เป็นกิเลส อนุสัยปลดเปลื้องไป นั่นเป็นตัวหนังสือ คำพูด ตำรา มันต้องทำจริงๆ จนปรากฏกับจิตจริงๆ ว่า ลมหายใจยาวปล่อยอะไรได้บ้าง ลมหายใจสั้นปล่อยอะไรได้บ้าง ดังกล่าวมาแล้ว เป็นทั้งสมาธิ เป็นทั้งปัญญาคลุกเคล้ากันไปในนั้น เป็นขั้นที่ ๔ ของหมวดนี้หรือเป็นขั้นที่ ๑๒ ของทั้งหมด เรียกว่าจิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน นุปัสสนา คอยตามมองคอยตามเห็น ก็ซึ่งจิตนั้น ในแง่ต่างๆ ในปริยายต่างๆ ดูตัวจิต ดูลักษณะของจิต ดูความที่จิตเปลี่ยนแปลงไปตามความบังคับของพระโยคีนั้น เดี๋ยวทำให้ปราโมทย์ก็ได้ เดี๋ยวทำให้ตั้งมั่นก็ได้ เดี๋ยวทำให้ปลดปล่อยสิ่งต่างๆ ก็ได้ นี่ก็คือการที่มีความคล่องแคล่วในเรื่องของจิตยิ่งขึ้นทุกที ถ้าว่ากันโดยที่แท้แล้วแม้ในหมวดกายานุปัสนา มันก็เป็นเรื่องจิต แต่ไม่เรียกว่าเรื่องจิต เพราะเราไปเพ่งในขั้นต้นที่เป็นบทเรียนนั้น คือ เรื่องกายคือลมหายใจนั้น แล้วมันก็เนื่องกันอยู่กับจิต มีผลลงไปยังจิต
ที่นี้มาถึงหมวดเวทนามันก็ไอ้เรื่องจิต เพราะเวทนามันปรุงแต่งจิต จิตก็ขึ้นอยู่กับเวทนา มันก็เรื่องจิต แต่มันไม่ถึงที่สุดเหมือนกับหมวดที่ ๓ นี้ที่มีชื่อเรียกโดยตรงว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี่ถ้าเผอิญกลับไปเป็นครูสอนนักธรรมใหม่ก็ช่วยสอนในรูปอย่างนี้ด้วย คือว่าอย่าได้เพียงว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขาไปเสียเรื่อย คือสอนให้รู้จักไอ้ตัวจิตและสิ่งปรุงแต่งจิต และวิธีบังคับจิตมาลำดับเป็นเรื่องสติปัฏฐาน
ที่รายละเอียดอื่นๆ ก็ดูค้นเอาเอง ที่จริงถ้าผมจะพูดตรงๆ ผมจะพูดว่า อย่าเอาไปทิ้งเสียสิ เพราะเรียนธรรมบท เรียนอะไรมาแล้วดีที่สุด ข้อความในธรรมบทเรื่องจิตวัตร เรื่องอื่นๆ วัตรอื่นๆ มันมากเหลือเกินไอ้เกี่ยวกับจิต ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจิตนานาชนิดอยู่ในพระบาลีเหล่านั้น เช่นว่าจิตนี้คอยจะไหลไปทางต่ำเรื่อยเหมือนปลา โยนขึ้นมาบนบกมันจะไหลลงไปในน้ำเรื่อยอย่างนี้ มันมีความสำคัญเท่าไหร่ ลองคิดดู มันก็บอกไอ้ลักษณะของจิตอย่างดี ก็เป็นความรู้ที่ต้องใช้ในกรณีนี้ ในกรณีจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้เหมือนกัน แต่เราละเลย ก็ไม่รู้จักสัญชาติ หรือว่าธรรมชาติ หรือว่ากำพืด หรืออะไร แล้วแต่จะเรียกอะไร ของสิ่งที่เรียกว่าจิตนั้น ก็ต้องไปทบทวนกันใหม่ถ้าทำหน้าที่สำคัญคือต้องสอนผู้อื่น ในเรื่องการบังคับจิตหรืออานาปานสตินี้ นี่หมวดจิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน มีอยู่อย่างนี้ ถ้าพูดว่าอะไรกันแน่ ก็คือ อานาปานสติ สตินั้นแหละคือจิต ไม่ใช่สติเจตสิก สติเจตสิกมันเป็นคุณธรรมอันหนึ่งที่คอยประกอบจิต นี้เมื่อเจตสิกนั้นประกอบจิตแล้ว จิตนั้นเรียกว่า เป็นจิตสติ หรือสติจิต คือจิตที่ประกอบอยู่ด้วยสติ แล้วทำไอ้หน้าที่นี้คือ อานาปานสติ ด้วยเหตุนี้อานาปานสติจึงเป็นเรื่องบังคับจิต ควบคุมจิต แก้ไขจิต ปรับปรุงจิต เดี๋ยวจะไปดูคำว่าอานาปานสติแล้ว ไม่มองเห็นคำว่าจิต สำหรับเวลาก็หมด