แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายธรรมสำหรับผู้ฟัง ที่เป็นลูกคนชาวเมืองตำปรื้อ ล่วงมาถึงครั้งที่ ๑๑ ในครั้งที่แล้วมา ได้พูดถึงหลักธรรม ซึ่งบุคคลผู้ต้องการประโยชน์จะพึงประพฤติ บุคคลที่ฉลาดในประโยชน์จะพึงประพฤติ เรียกว่าธรรมที่ผู้ต้องการประโยชน์ด้วยความฉลาดในประโยชน์จะพึงประพฤติ มีหัวข้อเช่นว่าเป็นผู้สามารถ เป็นผู้ตรง เป็นผู้จริง เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้สุภาพอ่อนโยน เป็นผู้ไม่กระด้างด้วยมานะ เป็นผู้สันโดษ เป็นผู้เลี้ยงง่าย เป็นผู้มีกิจการงานแต่พอประมาณ เป็นผู้มีความประพฤติเป็นอยู่เบา มีอินทรีย์อันระงับ มีปัญญาพอตัวไม่คึกคะนอง ไม่พัวพันด้วยการคลุกคลี ไม่พึงประพฤติความต่ำทรามแม้ทุกชนิด และเป็นผู้มีเมตตาไม่มีขอบเขต เป็น ๑๖ ประการด้วยกัน เรียกว่า ธรรมที่ผู้ต้องการประโยชน์จะพึงประพฤติ
ในวันนี้จะได้พูดถึงธรรมที่ทำความสำเร็จในการประพฤติ ข้อนี้หมายความว่า เมื่อเรามีความประสงค์จะประพฤติธรรมให้สำเร็จ เราต้องมีธรรมอีกประเภทหนึ่งซึ่งจะเป็นเครื่องช่วยให้ประพฤติสำเร็จ ธรรมประเภทนี้มีลักษณะเหมือนกับเครื่องมือ จึงได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมะประเภทเครื่องมือ คือธรรมที่ทำความสำเร็จ เหมือนเราจะสร้างบ้านสร้างเรือน สร้างรถ ต้องมีเครื่องมือ และบ้านหรือรถนั้นเป็นสิ่งที่เราจะทำให้สำเร็จ ในเครื่องมือนี้คือเครื่องอุปกรณ์ที่จะช่วยให้ทำสำเร็จ ฉะนั้นขอให้มีความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ดีๆ ว่าสิ่งที่เรียกว่า ธรรม หรือ ธรรมะ นี่มีหลายประเภท ธรรมะสำหรับรู้สำหรับเรียน ธรรมะสำหรับประพฤติ ธรรมะสำหรับช่วยให้ประพฤติได้สำเร็จ ธรรมะที่เป็นผลของการประพฤติหรือกระทำสำเร็จนี่ มีกันอยู่เป็นหลายฝ่าย สำหรับในวันนี้เราจะพูดกันแต่ฝ่ายเครื่องมือ ขอให้กำหนดไว้ให้แม่นยำว่าจะพูดกันแต่ในเรื่องที่เป็นฝ่ายเครื่องมือหรือเกี่ยวกับเครื่องมือ มันก็มีมากเหมือนกัน เช่นเดียวกับเครื่องมือของมนุษย์ในสมัยปัจจุบัน มีมากเหลือเกิน เครื่องมือประเภทนั้น เครื่องมือประเภทนี้ กระทั่งเครื่องมือวิเศษที่จะทำให้คนโง่ คือเครื่องมือสำหรับคิดคำนวณไว้แทนคน ไม่เท่าไหร่คนก็โง่ เพราะไม่ต้องคิดต้องนึก ธรรมะเป็นเครื่องมือมีหลายชนิด ในที่นี้ ในที่นี้ก็เรียกว่า มีเรียกว่า
ฆราวาสธรรม คือ ธรรมเป็นคู่มือฆราวาสโดยตรง แจกเป็น ๔ อย่างหรือ ๔ ข้อ คือ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ ๔ ข้อ ไอ้ธรรมที่เราจะพึงประพฤติออกชื่อมาแล้วเมื่อวานนี้ตั้ง ๑๖ ข้อ ธรรมะที่เป็นเครื่องมือมี ๔ ข้อ
สัจจะ ความจริงใจ
ทมะ ความบังคับตัวเอง
ขันติ อดทน
จาคะ สละ
สำหรับพวกคุณที่อยู่ในเมืองตำปรื้อควรจะนึกถึงบรรพบุรุษ อย่างที่เคยขอร้องให้นึกบ่อยๆ ว่าปู่ย่าตายายของคนเมืองตำปรื้อนี้ มีวัฒนธรรมที่เนื่องมาแต่ศาสนาฝังแน่นอยู่ในจิตใจ ใน ๔ ข้อนี้เห็นได้โดยง่าย คือ บูชาความสัตย์ ความจริง แล้วก็บังคับตัวให้อยู่ในร่องในรอยที่สุด แล้วก็อดทนเมื่อจะต้องทนอดกลั้นอดทน แล้วคอยบริจาคสิ่งที่ควรบริจาค พวกคุณเพิ่งเกิดอย่าคิดว่าผมพูดเอาข้างเดียว นี่พูดตามความจริงว่า ปู่ย่าตายายที่ทันเห็นนี่มีวัฒนธรรมทางจิตใจใน ๔ ข้อนี้อย่างเห็นได้ชัด ไอ้ลูกหลานนี่ชักจะแหวกแนว ไม่มีความสัตย์เหมือนกับปู่ย่าตายาย ไม่บังคับตัวให้เข้มงวดเหมือนกับปู่ย่าตายาย ไม่อดทนเหมือนกับปู่ย่าตายาย แล้วก็ไม่เสียสละสิ่งที่ควรสละเหมือนกับปู่ย่าตายาย ผมสังเกตแล้วก็เหลือบตามองไปฝ่ายข้างหลังที มองไปยังปัจจุบันนี้ที รู้สึกว่า ไอ้ธรรมะ ๔ ข้อนี้มันจางไปในสายเลือดของลูกหลานของคนเมืองตำปรื้อ สมัยที่มีพระธาตุ สมัยที่สร้างพระธาตุ คงจะยิ่งกว่าสมัยที่ผมทันเห็น สมัยมีพระธาตุ ๑,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว สมัยผมทันเห็นมัน ๔๐-๕๐ ปีมานี้จะเท่าไร แต่ก็ยังผิดกันมาก ลูกหลานสมัยนี้กับปู่ย่าตายายสมัยโน้น ความหนักแน่นอดทน ความจริงความจัง ความอยู่ในร่องในรอยมันมีผิดกันเสียไกลเลย ถ้าถอยหลังไปตั้ง ๑,๐๐๐ กว่าปีน่ากลัวว่าจะเทียบกันไม่ได้ นี่แหละช่วยกันฟื้นฟูวิญญาณของบรรพบุรุษขึ้นมาใส่ในใจของเรา ให้มีวัฒนธรรมในทางธรรมเข้มข้นเหมือนเดิม ขอให้สังเกตดูไอ้สิ่งต่างๆ ที่เหลืออยู่เป็นอะ อนุสรณ์ เป็นอนุสาวรีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เช่น องค์พระธาตุนครศรีธรรมราชก็ดี ไชยาก็ดี แสดงความจริงจังเอาจริงเอาจังด้วยความเสียสละด้วยความอดทนมากที่สุด ลูกหลานนี้ไม่ค่อยจะเป็นชนิดนั้นเพราะว่าด้วยเหตุหลายอย่าง ไอ้อย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือว่า วัฒนธรรมสมัยใหม่มาทำให้เด็กอ่อนแอเหลาะแหละโลเล จะเอาแต่ความเอร็ดอร่อยสนุกสนานทางเนื้อทางหนัง ไปหลงใหลเรื่องชนิดนี้ แล้วมันก็อ่อนแอ ถ้าต้องการไอ้เรื่องที่ลึกกว่านั้นดีกว่านั้นมันก็ต้องเข้มแข็ง เวลานี้ถ้าจะพูดกันแล้วอาจจะพูดได้ว่าทั้งโลกดีกว่า ทั้งโลกเลยมนุษย์ทั้งโลกนี้แหละ เหลาะแหละโลเล อ่อนแอ ในการที่จะบังคับตัวเอง หรือว่าจะตั้งอยู่ในกฎในเกณฑ์ของศาสนาของพระเจ้า เอาแต่เล่นแต่หัวยิ่งขึ้นทุกทียิ่งขึ้นทุกที จริงหรือไม่จริงขอให้คอยดูต่อไปในข้างหน้า ฆราวาสธรรม ๔ ประการ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เคยเข้มข้นอยู่ในบรรพบุรุษของคนเมืองตำปรื้อ เวลานี้มันจางเจือ เจือ มันจางออกไปมันเลือนออกไป ทีนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่านี่เป็นเครื่องมือ ถ้าเราจะทำอะไรให้สำเร็จเราจะต้องใช้ ๔ ข้อนี้ทุกเรื่องเลย เรื่องทางโลก เช่นเรื่องทำมาหากิน หรือว่าเรื่องศึกษาเล่าเรียน เรื่องทำมาหากิน เรื่องทางธรรม ก็เรื่องปฏิบัติเพื่อจะละกิเลสไปนิพพาน ตามใจไม่ว่าเรื่องอะไรที่มนุษย์จะต้องทำต้องใช้ธรรมะ ๔ ประการนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพวกฆราวาสยิ่งจะต้องมี คุณจดจำไว้ดีๆ ว่า ๔ ข้อ คือ สัจจะ ความจริงใจ ทมะ การบังคับตัวเอง ขันตี ความอดทน จาคะ สละสิ่งที่จะต้อง ที่ควรจะสละ คำว่าสัจจะ หรือ สัตย ความจริงนี่มันพอรู้กันได้ไม่ต้องอธิบาย ขอให้ปฏิบัติไม่ใช่ ไม่ใช่เรื่องจะ ต้องพูดกันว่าจะรู้หรือไม่รู้มันรู้แล้ว ไอ้เรื่องจริงต่อเวลา จริงต่อบุคคล จริงต่อหน้าที่การงาน ในโรงเรียนก็สอนกันเสียเรื่อย รวมความแล้วให้มันจริงต่อตัวเอง จริงต่ออุดมคติของความเป็นมนุษย์ของตัวเอง นี่เรียกว่าสัจจะหรือจริง ทีนี้มีสัจจะแล้วตั้งใจว่าจะทำแล้ว มันต้องมีทมะคือบังคับให้กระทำจนกว่าจะสำเร็จ ถ้าไม่มีการบังคับ ไอ้สัจจะนี้มันรวนเรได้ เราต้องมีการบังคับให้ทำตามสัจจะอยู่เสมอไป นี้เรียกว่าทมะบังคับตัวเอง เมื่อบังคับตัวเองมันก็ต้องมีความเจ็บปวดเป็นธรรมดา อย่างน้อยก็เจ็บปวดในใจ กิเลสมันอยากจะทำสิ่งที่ไม่ควรทำ เราบังคับไม่ให้ทำมันก็ต้องมีความเจ็บปวด ก็เลยต้องอดทน บังคับก็บังคับอย่างมาก อดทนก็ต้องอดทนให้เท่ากันกับความที่เจ็บปวดที่เกิดจากการบังคับ บังคับนี้เขาเรียกบังคับกิเลส เหมือนกับบังคับช้างตกน้ำมัน โกลาหลวุ่นวายอันตราย เราต้องทำให้จริงให้จังแล้วอดทนให้มากพอ ทีนี้เพื่อให้ทนได้ไม่ ไม่ ไม่เหลือ ไม่เหลือวิสัย ไอ้สิ่งใดที่จะต้องสละต้องเอาสละไปเรื่อยๆ เหมือนกับไอ้ลิ้นระบายความกดดันที่เกินส่วนเกินให้ออกไปเสีย มันไม่ระเบิด เรามีการระบายไอ้ส่วนกดดันเหลือทนออกไปเรื่อยๆ มันก็ไม่ระเบิดมันก็ทนได้ นี่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ทนอย่างหลับหูหลับตา ทนจนระเบิด เรียกว่ามันเป็นธรรมที่บัญญัติไว้โดยผู้ที่เป็นสัพพัญญู รู้สิ่งทั้งปวงเห็นสิ่งทั้งปวง มีความจริงใจในการกระทำ แล้วก็บังคับตัวให้ทำ แล้วก็อดทน แล้วก็ระบายสิ่งที่เป็นอุปสรรค สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ให้ท่องไว้อยู่ปลาย ปลายลิ้น เพื่อให้แม่นยำที่สุดแล้วเข้าใจความหมายให้มากขึ้นทุกที นี่ ๔ ข้อนี้จำไว้ให้แม่นยำ เพราะมันเป็นตัวเครื่องมือสมมติว่า ๔ อย่าง ทีนี้เครื่องมือนี้มันจะต้องกลมกลืนกัน ถ้าเครื่องมือแต่ละอันมันมาเกิดขัดขวางกันแล้วก็มันก็ล้มละลายเหมือนกัน เครื่องมือทุกชนิดต้องใช้ไปอย่างกลมกลืนกัน เรียกในภาษาธรรมะธรรมโมเขาเรียกว่า ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ
ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ แปลว่า ประพฤติธรรม สมควรแก่ธรรม หมายความว่าประพฤติธรรม ก็ต้อง ประพฤติมีหลายอย่าง ประพฤติให้มันเข้ารูปเข้ารอยกันให้ดี ประพฤติธรรมให้สมควรแก่ธรรม คำนี้จำไว้ด้วย เป็นไทยก็ได้ ประพฤติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ให้มันกลมเกลียวกันไม่ปีนเกลียวกัน ไม่มากไม่น้อย ไม่เกินไม่ขาด นี่เขาเรียกว่าประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม พวกคุณอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่ประพฤติธรรมให้สมควรแก่ธรรม มีขาดมีเกิน มีบางอย่างขาดบางอย่างเกินไม่กลมกลืนกันได้ ต้องประพฤติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ทีนี้ความสมควรแก่ธรรมทั้งปวงนี่ ได้จำแนกหมวดธรรมที่แสดงความสมควรได้ดี ที่เรียกว่า สัปปุริสธรรม ธรรมของสัตบุรุษ คือคนดี เราต้องรู้ความเหมาะสมความสมควรของสิ่ง ๗ ๗ อย่าง สมควรแก่เหตุ แล้วสมควรแก่ผล สมควรแก่ตน สมควรแก่ประมาณหรือ มาตร สมควรแก่เวลา สมควรแก่บริษัทหรือสังคม สมควรแก่ปัจเจกชน รวมเป็น ๗ ๗ อย่าง ไอ้ทั้งหมด หมดนี้มัน มันสมควรคือมันถูกต้อง เรียกเป็นความถูกต้องที่สุด เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บริษัท บุคคล ถ้าย่อเข้าให้ท่องจำง่ายๆ เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บริษัท บุคคล คนที่เคยเป็นนักธรรมเขาก็ท่องอย่างนี้ติดปาก ๗ ประการนี้ต้องรู้ คือทำให้มันกลมกลืน เป็นลักษณะของความกลมกลืน รู้จักเหตุแล้วประพฤติในส่วนเหตุให้มันถูกต้อง อะไรเป็นเหตุของอะไร แล้วรู้จักผล มันจะเกิดขึ้นมาได้เท่าไหร่ อย่างไร โดยวิธีใด จากเหตุอันไหน เขาเรียกว่ารู้จักผล ทีนี้รู้จักตนคือตัวเองนี่ อันนี้สำคัญที่สุด ความล้มเหลวที่อยู่ทุกวันนี้คือไม่รู้จักตัวเอง คนแต่ละคนไม่รู้จักตัวเองพูดแล้วไม่น่าเชื่อ แต่กลับเป็นมากที่สุดในโลก การเรียนที่ก้าวหน้า การประดิษฐ์ที่ก้าวหน้า ที่โลกก้าวหน้าก้าวหน้านั้นมันผิด มันผิด มันผิดต่อตน มันเพราะมันไม่รู้จักตนมันก็เลยบ้ากันใหญ่ ความเจริญในโลกมันไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของโลก และควรจะต้องการ ในโลกนี้ก็เลยบ้ากันใหญ่มีแต่ความทุกข์ ทีนี้ส่วนตัวเราก็เหมือนกันแหละ เราไม่รู้จักตัวเอง คุณเป็นลูกเมืองตำปรื้อก็ยังไม่รู้จักตัวเอง ว่าเป็นลูกคนเมืองตำปรื้อจะต้องทำอะไรบ้าง คนโบราณเขาพูดไว้ดีว่า ไม่มองหัวแม่เท้าของตัวเอง เลยไม่รู้จักตัวเอง ฉะนั้นจงพยายามรู้จักตัวเอง รู้จักตนให้มากที่สุดว่ามันอยู่ในสถานะเช่นไรมีอะไรอย่างไร เท่าไหร่ อย่างไหน แล้วมันจะได้รู้ว่าเราควรจะทำอะไร ถ้าเราไม่รู้จักตัวเอง เราไม่อาจจะรู้ว่าเราควรจะทำอะไร เป็นคนบ้า ถ้ารู้จักตัวเองว่าควรจะทำอะไรก็ทำไม่ผิด รู้จักตัวเอง ว่าเอาสมมติว่าจะประกอบอาชีพ จะประกอบอาชีพอะไรเหมาะสมกับตัวเรา เราก็ทำถูก เช่นเราควรจะเป็นชาวนา เราก็ไปเป็นอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่ชาวนา มันก็ลำบาก ความลำบากมันอยู่ที่ข้อนี้มาก เด็กนักเรียนไม่มองหัวแม่เท้าตัวเอง อยากจะไปเรียนไอ้วิชาที่มันไม่อยู่ในความเหมาะสมแก่ แก่ตัวเอง มันก็ลำบากแล้วมันล้มละลายในที่สุด จึงว่ารู้จักตนเสียสักที เมื่อรู้จักตนและก็รู้จักประมาณคือความพอดี ประมาณในภาษาบาลีเรียกว่า มัตตะ ภาษาสันสกฤต ว่า มาตร ถ้าเราแปล แปลว่าประมาณ พอดี พูดเป็นไทยว่ารู้จักความพอดี เราไม่รู้จักความพอดีทุกอย่างทุกประการ มีขาดมีเกิน มันก็มีความยุ่งยากลำบากเกิดขึ้นเพราะข้อนี้ เช่นว่าเรียน เรียนน้อยไปก็เป็นคนขี้คร้าน เรียนมากไปก็เป็นคนเจ็บไข้ นี่ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าไอ้พอดีมันอยู่ตรงไหน ความพอดีนี้สำคัญเป็นหลักในพระพุทธศาสนา ให้เป็นรู้จักพอดีในการเป็นอยู่ ในการกินอยู่ เรียกว่ากินอยู่พอดีอย่าไปนิยมว่ากินดีอยู่ดี ซึ่งไม่รู้ว่าขอบเขตอยู่ที่ไหน เราต้องเอาความพอดีไว้เสมอ แล้วมันก็รู้ยากข้อที่จริงแต่อาจจะรู้ได้ แล้วก็ดีกว่าที่จะไปหลงว่าเปิดไว้กว้างว่าไม่กินดีอยู่ดี มันเขยิบไปเรื่อยๆ ๆ พอดีเท่าที่เราไม่เป็นทุกข์ บทนิยามนี้ง่ายๆ เราอยู่ในฐานะอย่างนี้จะกินอยู่อย่างไร เวลานี้กินอยู่กินดีอยู่ดีกันทั้งนั้นไม่กินอยู่พอดี เงินเดือนไม่พอใช้ยุ่งยากกันไปทุกคน ทั้งรัฐบาลด้วย มีเงินเดือนเท่านี้จะกินอยู่อย่างไร มันโง่ในข้อนี้มันเลยลำบากกันไปหมดทั้งบ้านทั้งเมือง เงินเดือนเท่านี้ ทำไมจะต้อง จะต้องสูบบุหรี่ เงินเดือนเท่านี้ ทำไมจะต้องกินน้ำอัดลมแทนน้ำ เงินเดือนเท่านี้ ทำไมจะต้องไปดูหนังวันละหลายๆ ครั้ง มันไม่รู้ความพอดีไม่รู้ประมาณ คุณไปนึกเอาเองได้ไม่ต้องพูดไปให้มันยืดยาวลำบากเสียเวลา
ทีนี้ต่อไปต้องรู้จัก กาล กาละ เวลา ผิดเวลาแล้วก็มันคือผิดหมด ผิดจังหวะผิดเวลา สิ่งที่มีค่าหรือมีอะไร เลยเป็นหมันไปหมด ไอ้ผิดเวลาขนาด ขนาดใหญ่ขนาดหนักคือเวลาในอายุ เวลาเป็นเด็ก เวลาเป็นผู้ใหญ่ เวลาเป็นคนเฒ่าคนแก่นี้ทำผิดกาละแล้วก็เสียหายหมด ไอ้พวกที่เป็นเจ้าชู้ตั้งแต่เล็กผิดกาละที่สุดในขั้นแรกขั้นต้น หรือว่าเป็นเด็กแล้วเป็นนักเรียนกลายไปเป็นเจ้าชู้ตั้งแต่เล็กๆ มันทำผิดรอบด้าน นี่เรียกว่า กาละ จะต้องระวังในข้อแรก ต้องให้ไปตรงจุดตามเวลา เขาเรียกอไร เขาเรียกว่า ชิงสุกก่อนห่าม เป็นคำด่า เผลอนิดเดียวมันเป็นเรื่องชิงสุกก่อนห่ามโดยไม่รู้สึกตัว เป็นสุขที่ชนิดเน่าไม่มีค่า อย่าไปทำเจ้าชู้ตั้งแต่เล็กมันจะเน่า รู้จักกาละ ยิ่งเรื่องที่สำคัญคอ ขาดบาดตาย เช่นรบราฆ่าฟันกันในสนามทำสงคราม ไอ้เรื่องกาละนี่ยิ่งสำคัญมากเหมือนกัน เครื่องมือดี อาวุธดีใช้ผิดเวลาผิดจังหวะ เหลว แพ้ด้วยซ้ำ แพ้ผู้ที่มีอาวุธไม่ ไม่สู้ดี แต่ว่าทำถูกกาละเวลาถูกจังหวะ
ทีนี้ข้อต่อไปก็ สังคม คือบุคคลทั้งหลายที่เราจะไปเกี่ยวข้องด้วย ต้องรู้จัก เรียกง่ายๆ ว่า ผู้อื่นที่รวมกันเป็นหมู่เป็นคณะเรียกว่าสังคม บางทีก็เรียกว่า บริษัท บริษัทแปลว่า คนหลายๆ คนรวมกันเพื่อวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน นี้เขาเรียก บริษัทหรือสังคม ต้องรู้จักสังคมประพฤติให้ถูกต้องต่อสังคม แต่ว่าไม่ใช่กินเหล้าเพื่อเข้าสังคม สูบบุหรี่เพื่อเข้าสังคม เป็นเจ้าชู้ก็เข้าสังคม มันไม่ใช่สังคมอย่างนั้น รู้จักสังคมหมายความว่า จะได้ทำตัวให้มันเข้ากันได้ไม่ฝืนกัน ถ้ามันฝืนกันเขาก็ไม่ร่วมมือกับเรา เราต้องทำในลักษณะที่ว่าเราชนะน้ำใจของสังคมได้ แล้วก็ชวนกันทำในเรื่องที่มันถูกต้องที่ควรทำ สังคมของสัตบุรุษ สังคมของอันธพาลไม่ต้อง ไม่ต้องพูดถึง สังคมในที่นี้ก็หมายถึงสังคมของสัตบุรุษ ถ้าไม่มีสัตบุรุษไม่เรียกว่าสังคมดีกว่า
ทีนี้อันสุดท้ายเรียกว่า ปัจเจกชน คือบุคคลเฉพาะคน เฉพาะคน อันนี้ก็ยิ่งสำคัญ บางทีเราจะต้องไปติดต่อเกี่ยวข้องกับบุคคลเพียงคนเดียว เพราะเป็นผู้มีอำนาจเป็นผู้มีอะไรมาก มีความ สำคัญในความสำเร็จประโยชน์หรือไม่สำเร็จประโยชน์ของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เช่น บิดามารดา ครูบาอาจารย์ ปัจเจกชนชนิดนี้ระวังให้ดีๆ ออกไปจนถึงปัจเจกชนที่มีมันหน้าที่ต้องเกี่ยวข้องกันในการงานต่อไปในอนาคต
๗ อย่างนี้ต้องกลมกลืนกลมเกลียว มีความกลมเกลียวกลมกลืนซึ่งกันและกัน ก็จึงเรียกว่ามีความเหมาะสมของธรรมะที่เป็นเครื่องมือ เรียกว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เราต้องเอา ๗ ข้อนี้เป็นเครื่องวัด เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บริษัท แล้วก็ปัจเจกชน ท่องไว้ให้ขึ้นใจ เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บริษัท บุคคล นั่นก็ ๗ อย่าง ถ้าอันนี้มันผิดไปแต่อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ไอ้สิ่งที่เราจะทำมันมีหวังที่จะประสบอุปสรรค มันไม่ราบรื่นมันไม่สม ไม่ ไม่ได้ผลสมบูรณ์ตามที่ต้องการ ถ้ามันผิดไปหลายอย่างมันก็ล้มละลายเลย ไม่ต้องผิดทั้งหมดผิดไปหลายๆ อย่างเท่านั้น มันก็ล้ม ใน ๗อย่างผิดไป ๓ – ๔ อย่างมันก็ล้มละลาย ผิดไปสักอย่างเดียวมันก็รวน รวนเรแล้ว เช่นเราจะมีสัจจะ นี่ก็ต้องมีสัจจะที่ถูกต้องเหมาะสมแก่เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บริษัท บุคคล ถ้าเราจะมีทมะบังคับตัวเองที่มันถูกต้องเหมาะสมแก่ เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บริษัท บุคคล เหมือนกัน ทีนี้ ขันตี อดทนก็ถูกต้องตามเหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บริษัท บุคคล ถึงจะบริจาคอะไรออกไปก็ต้องดู เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บริษัท บุคคล ถ้าไม่ ไม่สำคัญจริงๆ พระพุทธเจ้าไม่เอามาสอนและไม่ตั้งชื่อว่า สัปปุริสธรรม ธรรมะสำหรับสัตบุรุษของสัตบุรุษ สัตบุรุษแปลว่า คนดี หรือคนสงบ สะ นี่แปลว่า ดีก็ได้ แปลว่าสงบก็ได้ ทีนี้เรามีเครื่องมือ ๔ อย่าง แล้วทำให้เครื่องมือนั้นได้มีการใช้ถูกต้องกลมกลืนกันเป็นอันดีโดยหลักเกณฑ์อีก ๗ อย่าง ทีนี้เรามีเครื่องมือที่ใช้ได้ดีแล้วนะ มีการใช้เครื่องมือที่ดีแล้วมีอะไรอีก ต้องมีแรง มีกำลัง ธรรมะที่เป็นเหมือนกำลังมีอยู่อีกหมวดหนึ่ง เขาเรียกว่า ธรรมะเป็นกำลัง พละ พละ แปลว่า กำลัง กำลังนี้หมายถึงกำลังทางใจ กำลังทางกายนั้น เราไม่ค่อยพูดถึงเพราะเป็นเรื่องของชาวบ้าน ซึ่งรู้ดีอยู่แล้ว เรียกว่ามีร่างกายแข็งแรงทางกาย แต่มันไม่สำเร็จประโยชน์ ไอ้กำลังทางกายอย่างเดียวมันไม่สำเร็จประโยชน์แน่ มันเหมือนก้อนหินหรืออะไรอย่างนั้น มันต้องมีความเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง มีกำลังทางจิตทางวิญญาณ คือธรรมะ ระบุเป็น ๕ อย่างคือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธาพลัง วิริยะพลัง สติพลัง สมาธิพลัง ปัญญาพลัง กำลังของศรัทธา กำลังของความเพียร กำลังของสติ กำลังของสมาธิ กำลังของปัญญา เคยได้ยินหรือไม่ได้ยิน ถ้าไม่ได้ยินหรือไม่สนใจ ก็ไม่สมกับเป็นลูกคนเมืองตำปรื้อ ซึ่งเจริญด้วยธรรมะด้วยศาสนา หลักจารึกเรื่องเมืองศรีวิชัยมีพูดถึง กำลังพละนี้มาก มีหลายคำ หลายที่ กำลังศรัทธา พอเราเชื่อถึงกำลังมาจากไหนก็ไม่รู้ เราเชื่อว่ายกได้ กำลังมาจากไหนไม่รู้ พอเราเชื่อว่ายกไม่ไหว กำลังหายไปไหนหมดก็ไม่รู้ ในความที่แน่ใจ ความที่เชื่อตัวเองไว้ใจตัวเองเป็นกำลังที่ประเสริฐในข้อแรกขั้นแรกต้องมี ถ้าเราไม่เชื่อว่าตัวเราว่าเรียนได้ เราก็เรียนไม่ได้ ก็เหลาะแหละโลเล เหลาะแหละไป ความเชื่อในที่นี้หมายถึงเชื่อตัวเอง เชื่อผู้อื่นมันไม่เรียกว่าศรัทธาที่ปลอดภัย วิริยะ กำลังความเพียร มันมีอยู่อีกมุมหนึ่งแล้ว ว่าเชื่อแล้วมันยังต้องพากเพียร คือว่าอย่าไปหยุดเสีย แล้วต้องรวมความกล้าไว้ด้วยในความเพียร ความเพียรมีความกล้ารวมอยู่ด้วย ทีนี้ สติ กำลังของสติ อันนี้คนไม่ค่อยเข้าใจ แล้วไม่มองในแง่ว่าที่ว่าสตินี่เป็นกำลังอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน สติ จำไว้ คือ ปัญญาที่วิ่งมาทันแหตุการณ์ เรียกว่าสติ ความรู้ที่วิ่งมาทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยกระทันหัน ความรู้อันนี้เรียกว่าสติ ถ้ามันมาไม่ทันมันเป็น ไม่มีประโยชน์อะไร ความไม่ทันต่อเหตุการณ์ก็ขาดสติ เหมือนเรามีปืน มีอาวุธที่ไว้จะยิงขโมย พอเอาเข้าจริงไม่รู้อยู่ที่ไหน หรือหยิบมาใช้ไม่ทัน มันมีอาการของขาดสติ เมื่อเหตุการณ์มันเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ไอ้ความรู้ที่จำเป็นแก่อันนั้นมาไม่ทัน ก็ล้มละลายหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออันตรายมาถึงถ้าสติไม่มีก็เป็นเรื่องวินาศหมดเลย พอถึงอันตรายทำให้สติกระจัดกระจาย เสียขวัญเขาเรียกว่าเสียขวัญ เสียขวัญคือเสียสติ แล้วคุณก็เคยรู้จักมาแล้วไอ้เสียขวัญมัน มันอันตรายเท่าไร กำลังขวัญไม่มี สูญเสียสติสมประดีไปเสียแล้วทำอะไรไม่ถูก ฉะนั้นสติเป็นกำลังอย่างยิ่งเหมือนกัน สมาธิ เป็นกำลังจิต แรงของจิต เรียกว่า จิตตานุภาพ บ้างอะไรบ้าง ในที่นี้เราเรียก สมาธิพลัง พลังของสมาธิ เราพูดโก้ๆ กัน ว่า Will Power บ้าง อะไรบ้างก็ตามใจแหละ เราพูดว่ากำลังของสมาธิ สมาธินั้นคือจิต จึงเป็นสมาธิ เป็นสมาธินั้นคือมีอารมณ์อันเดียวหมายความว่ากำลังรวมอยู่ที่จุดเดียว ตั้งมั่น บริสุทธิ์ ตั้งมั่น ว่องไวในหน้าที่ เคยพูดแล้ว แต่ถ้ายังจำไม่ได้ก็จำไว้ให้ดีๆ เขาเรียกสมาธิจิตเป็นสมาธินั้น ประกอบด้วยองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ บริสุทธิ์สะอาดดี และก็มี ความตั้งมั่น และก็มีความไวต่อหน้าที่ Activeness คือคุณสมบัติอันแท้จริงของจิตที่มีสมาธิ ถ้าไม่บริสุทธิ์มัน มันตั้งมั่นไม่ได้ จิตน่ะ ถ้าจิตมัน มันเต็มไปด้วยไอ้สิ่งชั่วสิ่งสกปรก เช่นฟุ้งซ่านเช่นอะไรอย่างนี้ มันตั้งมั่นไม่ได้ มันต้องบริสุทธิ์จากไอ้สิ่งสกปรกก่อนมันจึงจะตั้งมั่นได้ ตั้งมั่นไม่ใช่แข็งทื่อเป็นท่อนไม้ หมายความว่ามันมีความเข้มแข็งมีกำลัง แล้วมันจึงสามารถในหน้าที่ ว่องไวในหน้าที่ เหมาะ สมแก่หน้าที่ นั่นคือจิตที่มีความเป็นสมาธิ ความเป็นสมาธินั้นเป็นตัวกำลัง ในที่นี้เขาเรียกสมาธิพลัง ใช้ได้สารพัดอย่าง กำลังจิตหรือจิตตานุภาพ ใช้ได้มากมายทุกกรณีเลย เรียกอย่างนั้นดีกว่า
อันสุดท้ายเรียกว่า ปัญญาพลัง กำลังแห่งปัญญา นี่ก็มหาศาลเหลือเกิน ปัญญาเป็นเรื่องที่ประ เสริฐสูงสุดบอกไม่ถูก ปญฺญา หิ เสฎฺฐา กุสลา วทนฺติ นกฺขตฺตราชาริว ตารกานํ บาลี แปลว่า คนฉลาดทั้งหลาย กล่าวปัญญาว่าเป็นของประเสริฐสุด เด่นกว่าธรรมใดๆ เช่นเดียวกับดวงจันทร์ย่อมเด่นกว่าดวงดาวทั้งหลายฉันนั้น พูดง่ายๆ ปัญญานี้มัน มันเหนือสิ่งใดหมดแหละ เอาไว้รั้งท้ายก็จริง แต่ว่ามันเหนือสิ่งใดหมด มันจะดึงมาซึ่งไอ้ ไอ้สิ่งต่างๆ ที่จำเป็น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ อะไรนี้มันอยู่ในวิสัยที่ปัญญามันจะสร้างขึ้นหรือมันจะดึงออกมาหรือมันจะใช้ให้เป็นประโยชน์ ปัญญาจึงมีหน้าที่ที่มีสมรรถภาพมีกำลังอย่างเหนือกำลังใดๆ พูดง่ายๆ ถ้าเราไม่มีปัญญาไม่มีความรู้ก็ทำอะไรไม่ได้ สิ่งที่เรียกว่าความรู้นี้คือปัญญา ปัญญานั้นมาจากการ ศึกษาเล่าเรียนก็มี มาจากคิดคำนวณก็มี มาจากอบรมให้มันเกิดขึ้นโดยวิธีเฉพาะก็มี เขาเรียกว่า สุต เอ่อ, (นาทีที่ 41.14 -41.17) สุตตปัญญา จินตาปัญญา ภาวนาปัญญา เรียกกันอีกทีว่า ความรอบรู้ ปะ ว่ารอบ ญา ว่ารู้ ปัญญาแปลว่ารอบรู้ มีเป็นชั้นๆ ความรู้ในเบื้องต้นที่เราเรียนในโรงเรียนนี้เขาเรียกว่าความรู้ อย่าเพิ่งเรียกว่าปัญญาเรียกว่าความรู้ เป็นปัญญาในขั้นรากฐาน ไม่ ไม่เรียนก็ไม่รู้มีปัญญา ปัญญาชนิดนี้ยังไม่ใช่ปัญญา เป็นปัญญาเตรียม ชั้นเตรียม ทีนี้ถัดจากนี้ก็คิด เราใช้ reasoning กับ (นาทีที่ 42.08) calculating อะไรก็ตามใจ คิดคำนวณ ก็ได้ปัญญาที่อาศัยเหตุผล เป็นไปตามอำนาจแห่งเหตุผล ตั้งอยู่บนเหตุผล อันนี้ก็เรียกว่าปัญญาได้เหมือนกัน แต่เป็นปัญญาประเภท intellect ไม่ใช่ wisdom ไม่ใช่ intuitive wisdom ปัญญาประเภทแท้จริงสูงสุด มันตั้งอยู่บนความรู้สึกในจิตใจโดยตรงที่เขาเรียกว่า experience spiritual experience นี่ถ้ามี จะเกิดปัญญาประเภท intuitive wisdom ขึ้นมาเป็นปัญญาอันแท้จริง เป็นปัญญาที่อยู่เหนือเหตุผล ไม่ต้องใช้เหตุผล ไม่ ไม่ ไม่อิงอาศัยอยู่กับเหตุผล ปัญญาเด็กอมมือ อาศัยการเล่าการเรียนควรจะเรียกว่า knowledge อย่างมากที่เป็น knowledge ธรรมดาสามัญ เป็นความรู้เป็นปัญญาอย่างเด็กๆ จะเป็น intellect เป็นอะไรขึ้นมามันก็มีเหตุผลมาก เฉลียวฉลาดในการใช้เหตุผล ถ้าปัญญาที่รู้แจ้งแทงตลอดด้านลึกด้านวิญญาณจริงๆ มันมีได้กับบุคคลผู้มี spiritual experience มากเท่านั้น เพราะฉะนั้นมันจึงอยู่กับคนแก่คนฉลาด และอายุมาก ผ่านสิ่งต่างๆ มามากเด็กๆ ทำไม่ได้ แต่ว่าเราอาจจะเปรียบเทียบได้ เด็กๆ อาจจะมีปัญญาใน ๓ ลักษณะนี้ในขั้นต้นๆ ได้ เพื่อให้เข้าใจง่ายคุณลองคำ คำนวณดู เด็กได้รับคำบอกเล่าจากพ่อแม่หรือพี่เลี้ยงว่าไฟร้อน เด็กก็รู้ว่าไฟร้อน นี่เป็นความรู้ ต่อมาเด็กสังเกตเห็นไฟมันไหม้กระดาษ ไหม้ผ้า ไหม้อะไรฉิบหายหมด ฉะนั้นไฟคงจะต้องร้อนแน่เหมือนกับเขาว่า นี่ reasoning ทำให้ฉลาดขึ้นมานิดหนึ่ง ทีนี้ต่อมาเด็กเผอิญเอามือไปโดนไฟไปจับไฟเหตุใดก็ตาม มือพอง นี่มันเป็น experience ขึ้นมาทันทีไม่ต้องเหตุ ผลไม่ต้องอะไรหมด รู้ว่าไฟร้อนแท้จริง นี่มันเรื่องทางวัตถุ ทีนี้เรื่องทางจิตทางวิญญาณมันไกลไปกว่านั้นคนเราจะต้องมีชีวิตอยู่นานพอสมควร มี experience อยู่มากในชีวิตนั้นๆ จึงจะมีปัญญา แล้วปัญญาชนิดนี้มันจะมีกำลังมหาศาลกำลังแห่งความรู้ ถูกต้องแท้จริงไม่โงนเงน ไอ้ ไอ้ปัญญาที่อาศัยเหตุผลมันโงนเงนด้วยเหตุผลได้ เพราะเหตุผลยังไม่แน่นอนสักทีว่าจริงหรือไม่จริง เหตุผลเปลี่ยนได้เหตุผลเป็นสังขารธรรมที่เปลี่ยนได้ มันก็ทำให้ใช้การคำนวณผิดพลาดได้ก็ยังมี ฉะนั้นถ้าพูดถึงปัญญากันแล้วขอให้รู้ว่ามันมีอยู่ ๓ ชั้น แล้วชั้นสุดท้ายนี่เป็นปัญญาแท้จริง ฉะนั้นเด็กๆ เหมือนพวกคุณอย่าเพิ่งอวดดี เช่นลูกน้อยอายุยังไม่ถึง ๒๐ ปีอย่าเพิ่งอวดดี ปัญญาประเภทแท้จริงยังไม่ค่อยจะมี มีแต่ปัญญาหัวดื้อซึ่งอาศัยเหตุผลที่มันผิดพลาด คนเรามันก็ดื้อ คนเรา มันมีเหตุผลที่จะดื้อมันจึงดื้อ ไม่ใช่ว่าคนดื้อไม่มีเหตุผล มัน intellect ที่ผิดทางมันทำให้ดื้อได้ แต่มันฉลาดในการที่จะดื้อในการที่จะต่อสู้ อย่างนี้ไม่ใช่กำลัง จำให้ดีว่าในเมื่อเรามีเครื่องมือ แม้จะคมเฉียบแล้วนะ แต่ถ้าเราไม่มีกำลังแล้วมันก็ตัดอะไรไม่ได้ มีดโกนถ้าไม่มีกำลังมีดโกนก็ตัดอะไร ตัดขนมเปียกก็ไม่ได้ มันไม่มีกำลัง ฉะนั้นเรามีเครื่องมือที่ดีที่คมก็ยังต้องมีกำลังที่จะใช้ ฉะนั้นขอให้ใช้ ศรัทธาพลัง วิริยาพลัง สติพลัง สมาธิพลัง ปัญญาพลัง ให้มันครบ นี่เรามีเครื่องมือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เรามีความกลมกลืนแห่งการใช้เครื่องมือ คือรู้จักเหตุผล ตน ประมาณ กาล บริษัท บุคคล เรามีกำลังเต็มที่คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เรายังต้องมีฤทธิ์ พูดให้น่าขัน เรายังต้องมีฤทธิ์ มีฤทธิ์ที่จะต้องใช้ระดมให้เต็มเหวี่ยงหรือเต็มเหนี่ยว ไอ้นี่เราจะเรียกว่า อิทธิบาท อิทธิบาทบาทของฤทธิ์ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ถ้าเรามี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา มันจะระดมกำลังสุดเหวี่ยงเต็มเหนี่ยวสุดเหวี่ยง แล้วในวิธีที่ ที่ไม่มีอุปสรรค ไม่ ไม่มีอุปสรรคอันใดต้านทานได้ ฉันทะ คือพอใจ รักสิ่งนั้นสุดชีวิตจิตใจเลย เช่นเรียนนี่รักเรียนสุดชีวิตจิตใจเลย ทีนี้ วิริยะ นั้นมันเพียรจนสุด สุดความสามารถ จิตตะ นี่ก็คิดนึก เอาใจใส่คิดนึกอยู่เสมอนี่ เต็มที่เลย วิมังสา พิจารณาสอดส่อง ด้วยปัญญาอยู่เสมอ มันต่างจากจิต จิตตะตรงที่ว่าจิตตะนี่เอาใจใส่ไม่ละวาง วิมังสา สอดส่องพิจารณา หมายความว่าลูบคลำอยู่เสมอ จิตตะ หมายถึงจับกุม วิมังสา ลูบคลำ ฉันทะ มันรักและพอใจ วิริยะ นี่กระทำเหมือนกับการจับฉวย ๔ อย่างนี้เขาเรียกว่า อิทธิบาท บาท แปลว่ารากฐานหรือที่ตั้ง อิทธิแปลว่า ฤทธิ์ ฤทธิ์แปลว่าสำเร็จหรือเครื่องให้เกิดความสำเร็จ อิทธิบาท รากฐานให้เกิดความสำเร็จ ฉะนั้นใครมีฤทธิ์ ๔ ประการนี้ก็สำเร็จ เพราะมันเป็นธรรมะที่เป็นตัวฤทธิ์คือความสำเร็จ กลัวจะรักการเล่าเรียนน้อยไป พากเพียรน้อยไป เอาใจใส่น้อยไป สอดส่องพิจารณาน้อยไป การเรียนไม่สำเร็จ การงานก็เหมือนกัน ทีนี้ เท่านี้พอ ธรรมะประเภทเครื่องมือหรือเกี่ยวข้องด้วย และเกี่ยวข้องกับเครื่องมือนี้ เท่าที่ออกชื่อมาทั้งหมดนี้มันพอ ตัวเครื่องมือตัววิธีใช้เครื่องมือ กำลังที่จะใช้แก่เครื่องมือ แล้วความมุมานะที่จะให้มันลุล่วงไปได้จริง เป็นธรรมะ ๔ หมวด สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ แล้วก็รู้จัก เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บริษัท บุคคล ถ้าเรียกเป็นบาลีเขาเรียกว่า ธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู กาลัญญู ปริสัญญู และ ปุคคลปโรปรัญญู รู้จักบุคคล ทีนี้กำลัง ศรัทธาพลัง วิริยาพลัง สติพลัง สมาธิพลัง ปัญญาพลัง ทีนี้ฤทธิ์ เขาเรียกว่า ฉันทะอิทธิบาท วิริยะอิทธิบาท จิตตะอิทธิบาล วิมังสาอิทธิบาท บางทีเรียก อธิบดี หรือ อธิปตยัง อธิปไตย ความเป็นอธิบดี ฉันทาธิปไตย วิริยาธิปไตย จิตตาธิปไตย วิมังสาธิปไตย อธิปไตยแปลว่าความเป็นอธิบดี ความเป็นใหญ่ ขอให้สนใจว่ามันเป็นเครื่องมือวิเศษสารพัดนึกใช้ได้ทุกอย่าง วิเศษสำเร็จแน่สารพัดนึกใช้ได้ทุกอย่าง ยกตัวอย่างในทางฝ่ายที่จะละเสีย เช่นว่าคุณจะละอบายมุขสักอย่างหนึ่ง เช่น สูบบุหรี่หรือกินเหล้า มันก็ต้องเริ่มด้วยไอ้การใช้สิ่งเหล่านี้ให้ครบถ้วน สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ มีสัจจะก็จะละให้มันพอ มีทมะบังคับให้มันละจริงๆ แล้วเมื่อมันอยากขึ้นมาต้องขันติอดทน จาคะต้องสละสิ่งที่มันจะทำให้ล้มเหลว อย่าเข้าไปใกล้เพื่อนที่สูบบุหรี่ หรือว่าอย่าไปมองก้นบุหรี่ที่ทิ้งอยู่ตามพื้นดิน นี่คือว่าสละไอ้สิ่งที่มันจะทำให้เราล้มเหลวไปเสียให้หมดเลย นี่เป็นหลักเบื้องต้น ทำให้เหมาะสมกันนี่ เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บริษัท บุคคล แล้วก็มีไอ้ปัญญา ให้มี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาให้เพียงพอ ความเชื่อเพียงพอ ความเพียรเพียงพอ สติเพียงพอ สมาธิเพียงพอ ปัญญาเพียงพอมันก็ละบุหรี่ได้ ยิ่งถ้าระดมด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสาด้วยแล้วก็ แน่นอนเร็วขึ้น ทีนี้มันละเล่นๆ ไม่มี ไม่มีแม้แต่ความจริงหรือสัจจะมันจะละอะไรได้ ไอ้ ไอ้เงื่อนต้นมันเสียไปเสียแล้ว ทีนี้ยกตัวอย่าง ฝ่ายข้างที่จะสร้างขึ้นมา เขาเรียกว่าฝ่าย ฝ่ายสร้างขึ้นมาทำให้เจริญขึ้นมา เช่นเราอยากจะเป็นคนว่าง่าย เขาเรียกว่าฝ่ายที่สร้างขึ้นมา หน้าที่ทางธรรมะมีอยู่ ๒ อย่าง ที่จะละออกไปพวกหนึ่ง ที่จะสร้างให้มีขึ้นมานี่อีกพวกหนึ่ง มันมี ๒ อย่างเท่านี้ ความชั่วความเลวมี มี มีหน้าที่ต้องละออกไปละออกไป ความดีความงามความถูกต้องความอะไรมีหน้าที่สร้างขึ้นมาสร้างขึ้นมา เราละอบายมุขทุกอย่างแล้วก็สร้างขึ้นมาเป็นความเจริญขึ้นมา มีธรรมะประเสริฐ ๑๖ ประการ ที่พูดแล้ววันก่อน ที่เราจะสร้างขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น สุวะโจ โสวะจัสสะตา ความเป็นผู้ว่าง่าย เด็กจะดีที่สุดก็คือเด็กที่ว่าง่าย ทีนี้เราจะสร้างความว่าง่ายขึ้นมา นี่ก็ต้องใช้อันนี้แล้วแหละ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ในความเป็นผู้ว่าง่าย เมื่อเราตั้งใจว่าจะเป็นผู้ว่าง่ายเพราะว่าเราแน่ใจว่าไอ้ความว่ายากนี้มันเป็นเรื่องอันตราย มีสัจจะในความว่าง่าย บังคับตัวเองเสมออย่าให้ดื้ออย่าให้กระด้างอย่าให้นั่นนี่ แล้วก็เมื่อ เมื่อมันจะต้องทน มันก็ต้องทน ก็เมื่อถูกเขาว่านี่มันต้องทน ก็เรามันไม่ชอบให้ว่าทั้งๆ ที่เราผิดๆ นี่เราเป็นคนเลวนี่เรายังไม่ชอบให้ว่า เด็กๆ เณรๆ เห็นอย่างนี้ทั้งนั้น ทั้งที่ผิดไม่ชอบให้อา ชอบให้อาจารย์ว่า เมื่อเราตั้งใจจะให้เป็นคนดีมันก็ต้องยอมให้ว่าแล้วต้องอดทน สิ่งใดที่มันเป็นข้าศึกให้ว่ายากเป็นข้าศึกของความว่าง่าย ทำให้กลายเป็นคนว่ายากเช่นนั้นต้องคอยสละอยู่เสมอ ต้องคอยเสียใจอยู่เสมอว่าเป็น เป็นคนว่ายาก ทีนี้ไอ้ธรรม ธรรมะเหล่านี้มันสัมพันธ์กัน มันสัมพันธ์กันอยู่ในตัวและพร้อมกันไม่ใช่อยู่ตามลำดับเหมือนที่เราพูด เวลาพูดเราต้องพูดตามลำดับ แต่เวลาที่มันเป็นอยู่จริงมัน มันรวมกันอยู่พร้อมในที่นั้นแหละ จะยกตัวอย่างเช่นว่าเราจะเป็นคนว่าง่ายเรามีสัจจะ สัจจะนี้จะต้องเจือด้วยศรัทธาด้วยปัญญา ถ้าไม่มีศรัทธา สัจจะจะมาจากไหน ศรัทธาก็เป็นตัวกำลังที่อยู่หมวดถัดไป มันเอามาใส่เข้าไปในข้อต้นว่ามีสัจจะเพราะว่าเรามันศรัทธา เรามีปัญญาเราว่าอันนั้นมันไม่ดีอันนี้มันดี หรือว่าในเวลาที่เรามีสัจจะนั้นเวลานั้นเรามีสมาธิ สัจจะนั่นมันเป็นธรรมะประเภทสมาธิ ใครมีสัจจะแรงคนนั้นก็มีสมาธิ แล้วสัจจะมันก็เลี้ยงไว้ด้วยสติ ในความพยายามทำไปนี่ก็เรียกว่า วิริยะ ถ้ามีสัจจะอยู่ตัวเดียวนี้มันก็ต้องเลี้ยงไปด้วย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา และก็ต้องเลี้ยงอยู่ด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เราต้องรักสัจจะ เราต้องพยายามให้มีสัจจะแล้วเอาใจใส่ให้มีสัจจะแล้วสอดส่องแก้อุปสรรคในการที่จะไม่มีสัจจะ ฉะนั้นคุณจดไว้เป็นหมวดๆ แล้วคุณต้องรู้จักเชื่อมโยงเข้าไปถึงข้อสำคัญทุกๆ ข้อ
ธรรมะทุกๆ ข้อจะเชื่อมโยงไปยังธรรมะข้อเดียว เนื่องกันเป็นกลุ่มเป็นพวงเป็นพรรค เราจะมี มีการบังคับตัวเองมันตั้งอยู่บน ศรัทธา วิริยะ สมา เอ่อ, สติ สมาธิ ปัญญาก็เป็นตัวกำลัง ถึงเราจะอดทน ความอดทนก็ตั้งอยู่ได้ด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ทีนี้เราจะสละความชั่วก็มันต้องอาศัย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เรียกว่าทั้งหมดนั่นแหละแต่ละข้อต้องจะอาศัยไอ้ความกลมเกลียวของ เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บริษัท บุคคล ความถูกต้องของสิ่งเหล่านี้ นี่แสดงให้เห็นว่าเราจะปฏิบัติทำสำเร็จในการละสิ่งควรละก็ดี ในการทำให้เกิดมีในสิ่งที่ควรทำให้เกิดมีก็ดี ต้องอาศัยธรรมะเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือทุกหมวดที่ได้ว่ามาแล้ว มีเครื่องมือครบถ้วน สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ใช้เครื่องมือให้ถูกต้องกลมกลืนกัน มีความรู้ไอ้เรื่องเหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บริษัท บุคคล แล้วต้องใช้กำลังที่จะเหวี่ยงเครื่องมือนั้นให้ถูกต้องเพียงพอ มี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ในการใช้ความระดมให้เต็มเหนี่ยวเต็มเหวี่ยงนี้เขาเรียกว่ามี ฉันทา วิริยะ จิตตะ วิมังสา
สรุปความว่าโดยหลักนี้
๑ มีเครื่องมือครบถ้วน
๒ ใช้เครื่องมือให้มันกลมกลืนกัน และ
๓ มีกำลัง มีกำลังแรงถูกต้องและเพียงพอ
๔ ใช้ฤทธิ์ระดมให้เต็มเหนี่ยว เต็มเหวี่ยง
เพียง ๔ หัวข้อนี้ทำให้เกิดความสำเร็จได้ในการประพฤติธรรม ต้องการธรรมะข้อไหนอย่างไรสำเร็จได้โดยการใช้หลักเกณฑ์ ๔ ประการนี้ ฉะนั้นจึงเรียกว่า ธรรมที่ทำความสำเร็จในการประพฤติ ประพฤติธรรมนั่นแหละ ทีนี้ว่าทำถูกต้องโดยหลัก ๔ ประการนี้ทั้งหมดแล้วรวมเรียกคำเดียวสั้นๆ ว่า ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ทำสิ่งต่างๆ โดยสมควรแก่สิ่งต่างๆ พูดอย่างนี้ก็ได้ ทำสิ่งต่างๆ โดยถูกต้องสมควรแก่สิ่งต่างๆ นี่เป็นหลักปฏิบัติในพุทธศาสนาทั้งเรื่องต่ำๆ หรือเรื่องขนาดกลางหรือเรื่องสูงสุด ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่คนเฒ่าคนแก่ แม้จะแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ละทิ้งบุหรี่หรือว่าเลิกกินเหล้านี่ก็ต้องใช้ธรรมะเหล่านี้ จะปฏิบัติเพื่อให้เกิดมรรคผลนิพพานก็ใช้ธรรมะเหล่านี้ ไปพิจารณาให้เห็นจริงตามนี้ แล้วภาวนาอยู่เสมอว่าปู่ย่าตายายของคนเมืองตำปรื้อนี้เคยก้าวหน้าในธรรมะเหล่านี้ อยู่ที่เนื้อที่ตัวจนเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมประจำตัว แสดงแววให้เห็นว่าเป็นคนมีธรรมะเหล่านี้ ปู่ย่าตายายของเราเคยหนักแน่นบึกบึนอดทนเข้มแข็งบริสุทธิ์ซื่อตรงเหลือที่จะพูด ไอ้ลูกหลานชักจะรวนแรเต็มที ช่วยกันกู้เกียรติอันนี้ให้กลับคืนมา เมืองตำปรื้อก็จะเป็นเมืองที่ว่าไม่มีใครดูถูกได้ เวลาหมดพอกันที