แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำอธิบายจิตภาวนาหรืออธิจิตตาโยคธรรมในครั้งที่ ๑๐ นี้ เป็นการอธิบายอานาปานสติหมวดที่ ๒ คือ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การบรรยายนี้เป็นการบรรยายติดต่อกันมาตามลำดับจากหมวดที่ ๑ ซึ่งเราจะต้องทบทวน
ขั้นที่ ๑ คือการกำหนดลมหายใจยาวจนรู้จักลักษณะและข้อเท็จจริงต่างๆเกี่ยวกับลมหายใจยาว
ขั้นที่ ๒ กำหนดลมหายใจสั้นจนรู้จักลักษณะและข้อเท็จจริงอื่นๆ เกี่ยวกับลมหายใจสั้น
ขั้นที่ ๓ กำหนดความที่ลมหายใจทั้งปวงเป็นกายสังขาร คือ ปรุงแต่งกาย
ขั้นที่ ๔ กำหนดการทำกายสังขารให้ระงับอยู่ คือให้ลมหายใจละเอียดระงับลง มีกายระงับลง เมื่อประสบความสำเร็จมันก็เป็นสมาธิตั้งแต่อุปจารสมาธิขึ้นไปตามลำดับกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิ รูปฌาน อรูปฌาน ๔ ขั้น คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน นี่ได้อธิบายแล้ว แต่ต้องทบทวนออกมาเพื่อให้เป็นเงื่อนสำหรับต่อกันระหว่างหมวดที่ ๑ กับหมวดที่ ๒ เมื่อประสบความสำเร็จในขั้นที่ ๔ ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายของหมวดที่ ๑ มีสมาธิเกิดขึ้นเป็นความสำเร็จของการปฏิบัติ แม้เป็นเพียงอุปจารสมาธิ ก็ย่อมจะเกิดปีติและสุขตามสมควร นั้นเราจึงใช้ปีติและสุขนั้นเป็นอารมณ์สำหรับกำหนดในการปฏิบัติขั้นต่อไป คือ ขั้นที่ ๕ ๖ ๗ ๘ ซึ่งจัดเป็นหมวดที่ ๒ เพราะว่าเราไม่อาจจะใช้ปีติและสุขอย่างอื่น คือปีติและสุขตามธรรมดาที่เกิดมาจากการได้ซึ่งกามคุณ เป็นต้น ซึ่งเป็นปีติหรือสุขที่อาศัยเรือน คืออาศัยกามคุณ ส่วนปีติและสุขที่เกิดจากสมาธินั้นเป็นปีติที่อาศัยเนกขัมมะ เรียกว่า นิรามิส เป็นปีติกับสุขที่ไม่ได้อาศัยเรือน ไม่เป็นเหยื่อสำหรับตัณหา เพราะฉะนั้นจึงเหมาะสมที่จะเอามาใช้เป็นบทเรียนสำหรับกำหนดในการปฏิบัติขั้นต่อไป
จงรู้จักความแตกต่างระหว่างปีติหรือสุข ซึ่งแตกต่างกันอยู่เป็น ๒ ชนิดอย่างนี้ คืออาศัยเรือน กับไม่อาศัยเรือน ที่อาศัยเรือนก็ปรุงแต่งให้เป็นกิเลสตัณหามากยิ่งขึ้น ที่ไม่อาศัยเรือนนี้เอามาใช้สำหรับเป็นเครื่องพิจารณาต่อไปได้โดยสะดวก และเมื่อเอาชนะปีติชนิดนี้ได้ ก็สามารถที่จะเอาชนะปีติที่อาศัยเรือนได้ในโอกาสต่อไป ในที่นี้ปีติที่อาศัยกามคุณเป็นต้น ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นบทเรียนในที่นี้
นี้จากอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิซึ่งเป็นฌานขึ้นมาแล้ว นั้นเราจะหาพบปีติและสุข ถ้าพูดให้ชัดกว่านี้ก็คือว่า จะต้องปฏิบัติในขั้นที่ ๔ ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายในหมวดที่ ๑ นั้นจนกระทั่งเกิดความรู้สึกที่เป็นปีติและเป็นสุข ว่าที่จริงก็ต้องปฏิบัติอย่างนั้นอยู่เป็นประจำ แม้ในขั้นที่ยังปฏิบัติอยู่ในขั้นนั้น คือขั้นที่ ๔ นั้น ต้องพยายามที่จะทำองค์แห่งฌาน คือ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกคัตตา ให้ปรากฏชัดกลับไปกลับมาอยู่เสมอ ถ้าสามารถทำได้ คือเป็นผู้มีความคล่องแคล่วชำนาญในการเข้าอยู่ในปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน แล้วก็ถอยหลังกลับลงมาตามลำดับ แล้วเขยิบสูงขึ้นไปอีกตามลำดับ กลับไปกลับมาอย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ที่สามารถจะถือเอาองค์ฌาน คือ ปีติและสุข ออกมาได้อย่างชัดเจน เป็นความรู้สึกที่ปรากฏอยู่แก่จิตสำหรับกำหนดการปฏิบัติในขั้นที่ ๕ และที่ ๖ ต่อไป คือ อานาปานสติภาวนา
หมวดที่ ๒ นี้ เริ่มขึ้นด้วยข้อปฏิบัติขั้นที่ ๕ มีหัวข้อว่า ปีติปฏิสังเวที อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ เป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจออก - เข้า สุขสังเวที อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ รู้พร้อมเฉพาะเรื่องสุข หายใจออก หายใจเข้า นี่คือขั้นที่ ๕ และขั้นที่ ๖ นี่ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า ต้องเอาไอ้ปีติและสุขที่เคยพบมาแล้วในการปฏิบัติขั้นต้นๆ นั้นมาดูกันใหม่ และมิใช่เพียงแต่ดูกันใหม่อย่างเดียว แต่ต้องทำให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง คือให้รุนแรงยิ่งขึ้น เพราะเราต้องการจะรู้จักลักษณะ รู้จักอิทธิพล รู้จักข้อเท็จจริงอะไรต่างๆ อีกมากมายที่เกี่ยวกับปีติและสุขนี้ นั้นจึงเอามาทำให้ปรากฏชัดอยู่ในใจเป็นขั้นที่ ๕ ก่อน คือ ปีติ และก็ถึงขั้นที่ ๖ คือ สุข
ทีนี้ขั้นที่ ๗ ก็จะดูในแง่ที่ว่า ปีติและสุข ซึ่งเรียกว่าเวทนานี้ มันปรุงแต่งจิตอย่างไร เมื่อรู้ข้อที่มันปรุงแต่งจิตอย่างไรแล้ว การปฏิบัติขั้นที่ ๘ คือขั้นสุดท้ายของหมวดนี้ก็ทำได้โดยง่าย คือทำให้มันปรุงแต่งน้อยลงและปรุงแต่งไม่ได้ ก็เป็นผู้ที่สามารถที่จะมีจิตอยู่ในสภาพที่พึงปรารถนาได้ ปีติมีลักษณะอย่างไร เขาอธิบายกันไว้มาก ไปดูไอ้เรื่องปีติ ๕ ในแบบเรียน ปีติซาบซ่าน ปีติขนพอง ปีติโคลงเคลง ปีติอะไรต่างๆ นี่ เราไม่จำเป็นจะต้องมาเสียเวลา เพราะมีอธิบายอยู่ในแบบเรียนแล้ว แต่สรุปความว่า มันเป็นเรื่องของความพอใจที่เกิดมาจากความสำเร็จในการปฏิบัติ แล้วก็มีแง่ที่ต้องระมัดระวังก็คือว่า ปีติบางชนิด แม้เป็นนิรามิสอย่างนี้ ก็ดึงดูดใจมาก คือทำให้พอใจอยู่เพียงเท่านั้น ไม่อยากจะละสิ่งนี้ไป ซึ่งทำให้จมจิตอยู่ที่ตรงนี้ ไม่สามารถจะปฏิบัติในขั้นต่อไปได้ นี่คือการรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ปีติ อย่างดี ที่เรียกว่า ปฏิสังเวที รู้พร้อมเพราะ สิ่งที่เรียกว่า ปีติ นั้นว่ามันเป็นอย่างไรบ้าง คือมันดึงดูดใจอย่างยิ่ง และมันก็ทำหน้าที่ปรุงความคิดที่เป็นจิตอย่างอื่น แม้ที่สุดแต่ความหลงรักอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า ปีติ นี้ ไม่อยากก้าวหน้าไป เป็นต้น
ทีนี้ขั้นต่อไปขั้นที่ ๖ ที่เรียกว่า สุข นั้นก็มีเรื่องที่จะต้องศึกษาและปฏิบัติเหมือนกัน และมีข้อเท็จจริงอยู่ว่า เมื่อปีติทำหน้าที่เสร็จแล้ว ความสุขก็เข้ามาทำหน้าที่แทน ผิดกันอยู่ตรงที่ว่าไอ้ปีติ นั้นมันระส่ำระสาย คือมันวุ่นวาย ส่วนความสุขนั้นมันระงับกว่า ก็พิจารณาอย่างเดียวกันที่ว่า มันเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต มันเป็นสิ่งที่มีความยั่วยวนมาก จะทำให้ผู้ปฏิบัติหลงติดอยู่ที่นี่ ไม่อยากก้าวหน้าไป ซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นวิปัสสนูปกิเลส (นาทีที่ ๑๑:๕๕) คือพอใจแต่ในความสุข และการพิจารณาทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะพอใจในความสุขนี้เสียแล้ว แต่ทีนี้แม้ว่ามันจะเป็นอันตรายอยู่อย่างนี้ เราก็ต้องพยายามจะศึกษามันอยู่นั่นเอง คือ ทำปีติและสุขให้เกิดขึ้น แล้วก็ศึกษาไอ้รสชาติของมันว่ามันมีรสชาติที่ดึงดูด ยั่วยวนเพียงไร เอาเพียงเท่านี้ก่อน สำหรับขั้นที่ ๕ และขั้นที่ ๖
ทีนี้ขั้นที่ ๗ จิตตสังขารปฏิสังเวที รู้พร้อมเฉพาะซึ่งเครื่องปรุงแต่งจิต เรียกว่า จิตตสังขาร ก็คือไอ้ ปีติและสุขนั่นเอง เดี๋ยวนี้เราจะไม่ดูในแง่อื่นแล้วถ้ามาถึงขั้นนี้ จะเพ่งกำหนดพิจารณาอะไรก็ตาม ดูแต่ในแง่ที่ว่า มันเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต สิ่งที่เรียกว่าเวทนา ย่อมปรุงแต่งจิต นี้เป็นหลักหัวข้อใหญ่ที่จะขีดเส้นใต้ เวทนาเป็นพวกเจตสิก เจตสิกทั้งหลายย่อมปรุงแต่งจิต เจตสิกชนิดไหนก็ตามเป็นตัวการปรุงแต่งจิต หรือเป็นอุปกรณ์ของการปรุงแต่งจิต เจตสิกที่เป็นอกุศลก็ปรุงแต่งจิตเป็นอกุศล เจตสิกที่เป็นกุศลก็ปรุงแต่งจิตที่เป็นกุศล พวกสาธารณะทั่วไปก็เป็นอุปกรณ์ของการปรุงแต่ง ในบัดนี้เราเล็งถึงตัวเวทนาที่เป็นนิรามิส ด้วย คือปีติและสุขที่เกิดจากสมาธินี้ นี่ก็เป็นเจตสิก แล้วมันก็ปรุงแต่งจิต คือ ให้เกิดความรู้สึกคิดนึกอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาโดยสมควรแก่เวทนานั้น ๆ นี่ก็พูดอย่างธรรมดาสามัญที่สุด สมมติว่าเราเป็นเด็ก พอเรากินขนม หรือกินอะไรอร่อยขึ้นมา เราก็มีความคิดต่อไปทันทีที่ว่า ทำอย่างไรจะได้กินอีก จะเอามาจากไหนอีก หรือว่าจะอะไรก็ตามใจ ไอ้ความคิดอันนี้ที่เรียกว่า จิต ถูกปรุงแต่งขึ้นมาจากสิ่งที่เรียกว่า เวทนา คือความอร่อย ของของที่กินเข้าไปในเวลานั้น หรือถ้าได้เวทนาที่ตรงกันข้าม คือ ไม่อร่อย มันก็คิดไปอย่างตรงกันข้าม อย่างงุ่นง่านทีเดียว นั้นเวทนาที่เป็นฝ่ายสุข ก็ให้มีความคิดไปอย่างหนึ่ง ที่เป็นฝ่ายทุกข์ ก็ให้มีความคิดไปอย่างหนึ่ง นี่เป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่สุด ไม่เกี่ยวกับธรรมะ หรือการปฏิบัติกรรมฐานภาวนาอะไร คือเป็นอยู่ตามธรรมชาติ เวทนาย่อมปรุงแต่งจิตอย่างนี้
เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องของการปฏิบัติกรรมฐานภาวนา เราก็ต้องรู้ละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ตามหลักธรรมะที่เราเรียนมาแล้วในโรงเรียนนักธรรม ก็มองเห็นชัดอยู่แล้ว ว่าเวทนาต้องปรุงแต่งจิต คือความคิดนึกอย่างใดอย่างหนึ่ง อันแรกที่สุดที่เป็นปัญหาก็คือว่า เวทนาย่อมปรุงแต่งตัณหา ตัณหาคือ ความอยาก ๓ อย่าง กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ก็ต้องพิจารณาดูที่ลักษณะของตัณหา ก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น กามตัณหา อยากในสิ่งที่เป็นกาม ภวตัณหา อยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ วิภวตัณหา อยากไม่ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ กระทั่งอยากตาย เวทนาทั้งหลายก็อยู่ใน แม้จะมีมากมายเท่าไร ก็จะปรุงตัณหา ๓ ชนิดนี้ ถ้าเป็นเวทนาทางกามารมณ์ ก็ปรุงความคิดทางกามารมณ์ คือ กามตัณหา สัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกี่ยวกับเรื่องเพศตรงกันข้าม ทำให้เกิดเวทนาชนิดที่ปรุงกามตัณหา ทีนี้ถ้าไม่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเพศตรงกันข้าม มันก็เป็นเรื่องอยากเป็นนั่นเป็นนี่ อยากเป็นดิบเป็นดี อยากเป็นใหญ่เป็นโต อยากเป็นผู้มีอำนาจวาสนา กระทั่งอยากเป็นเทวดา อยากเป็นพรหม ก็เป็นเรื่องภวตัณหา นี้ถ้าว่ามันตรงกันข้ามจากนั้น ก็คืออยากที่จะไม่เป็น อยากจะไม่เป็นคนจน อยากจะไม่เป็นคนทุกข์ยากลำบาก อยากจะไม่ กระทั่งอยากจะไม่มีชีวิตอยู่ คือตายเสียดีกว่า ทุกขเวทนาที่แสบเผ็ด ทำให้คนอยากตาย เป็นวิภวตัณหา เราได้ยินเรื่องคนฆ่าตัวตายด้วยปืน ด้วยยาพิษอะไรต่างๆ เพราะมันทนไอ้ความบีบคั้นของทุกขเวทนาบางอย่างไม่ได้ มันก็ปรุงความคิดขึ้นมา ก็ฆ่าตัวเองตาย นี่ก็เป็นวิภวตัณหา เป็นจิตชนิดหนึ่ง นี้ก็คือเวทนา ย่อมปรุงแต่งจิต คือความคิดที่อยู่ในรูปของสิ่งที่เราเรียกว่า ตัณหา นี่เป็นหลักทั่วไปเกี่ยวกับความทุกข์หรือความดับทุกข์ โดยเฉพาะเรื่องอริยสัจ เวทนาปรุงแต่งตัณหาขึ้นมาอย่างนี้
ทีนี้ถ้าเราจะดูในแง่อื่น มันก็มีให้ดู เช่นว่าเวทนาปรุงแต่งกุศลวิตก หรืออกุศลวิตก มันอยู่ที่ว่าเวทนานั้นประกอบด้วยญาณหรือไม่ประกอบด้วยญาณ เวทนาเป็นญาณสัมปยุต มันก็ประกอบด้วยความรู้ที่ถูกต้องอยู่ในขณะนั้น เวทนาที่ปราศจากญาณเป็นวิปปยุตต มันก็มีอวิชชาเต็มอัดอยู่ที่นั่น นี้เวทนาที่มีความรู้ สติปัญญาเจืออยู่ มันก็คิดไปทางที่จะทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ทำบุญทำกุศลยิ่งๆ ขึ้นไป มีความคิดที่ว่า ไม่พัวพันในกามดีกว่า ไม่เบียดเบียน ไม่พยาบาทดีกว่า ไม่เบียดเบียนดีกว่า ที่ว่าเป็นกุศลวิตก เช่นไปได้เวทนาที่เกิดมาจากความสงบเย็นของธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับกาม ความรู้สึกเป็นเนกขัมมวิตกขึ้นมา อยากบวช อยากออกไป อยู่ป่า อยากอะไรนี่เป็นกุศลวิตก ไม่คิดพยาบาท ไม่คิดเบียดเบียน คือจิตที่ไม่พยาบาท จิตที่ไม่เบียดเบียนก็เกิดขึ้นมา นี้ถ้าเป็นฝ่ายตรงกันข้าม ถ้ามีอวิชชา ก็เป็นกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก วิตกเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพราะเวทนาที่มันปราศจากปัญญา วิชชา ที่เห็นได้ง่ายที่สุดก็ความโลภ ความโกรธ ความหลงนี่เกิดขึ้นหลังจากที่มีเวทนาปรากฏอยู่ในใจ เป็นสุขเวทนาเกิดความโลภ เป็นทุกขเวทนาเกิดความโกรธ ยังไม่แน่เกิดความโง่ ความหลง ความโลภ ความโกรธ ความหลงซึ่งเป็นตัวจิตเต็มรูปนี่ มันก็เกิดมาจากเวทนา ทั้งหมดนี้อย่าไปเอาตามตัวหนังสือหรือความจำตามตัวหนังสือ ขอให้สังเกตที่มันปรากฏอยู่ในใจของตนเองจริงๆ ไม่ต้องละอายใคร มันมีอยู่อย่างไร ในใจ ก็หยิบขึ้นมาพิจารณาอย่างนั้น ไม่มีใครรู้ของเราก็ไม่ต้องละอายใคร เราต้องการแต่จะรู้ว่า เวทนานี้ปรุงแต่งจิตอย่างไรเท่านั้น นั่นจึงต้องเอาเวทนาจริงๆแล้วมันก็ ปรุงแต่งจิตคิดนึกอยู่ในใจจริงๆ นั่งกำหนดอยู่อย่างนี้โดยกว้างๆ เสียก่อน แล้วจึงให้แคบเข้ามาๆ จนถึงว่าไอ้ปีติและสุขที่เป็นนิรามิสเกิดมาจากสมาธินี้ มันปรุงแต่งความคิดนึกในใจของเราอย่างไรบ้าง มันอยากจะเป็นพรหมหรือไม่ หรือว่ามันอยากจะหลงใหลอยู่ในความสุขอันนี้ตลอดไป ไม่อยากจะก้าวหน้า ดูที่ปีติและสุขที่ทำได้ให้เกิดขึ้นได้ในใจจริงๆ มันกำลังปรุงแต่งความคิดไปในแง่ไหน อย่างนี้เรียกว่า จิตตสังขารปฏิสังเวที รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสิ่งที่ปรุงแต่งจิต ถ้าเราจะไปคิดคำนวณด้วยเรื่องของคนอื่น ด้วยอะไรที่แล้วมาแต่หนหลังก็ไม่ได้ ไม่เป็นปฏิสังเวทีได้ ต้องเอาที่กำลังรู้สึกอยู่จริงๆ ในปัจจุบันนั้นในเวลานั้น จึงจะมีลักษณะปฏิสังเวที รู้พร้อมเฉพาะอยู่ซึ่งสิ่งนั้นที่รู้สึกอยู่ในใจจริงๆ ที่มีในหนังสือแล้วใช้ไม่ได้ ที่มีอยู่ในอดีตก็ใช้ไม่ได้ ในอนาคตก็ใช้ไม่ได้ สำหรับบทเรียนนี้ สำหรับบทเรียนบทนี้ คือ ขั้นที่ ๗ ที่เรียกว่า จิตตสังขารปฏิสังเวที
ทีนี้อยากจะให้ศึกษาละเอียดถี่ยิบหน่อยก็ดูลำดับในเรื่องปิยรูปสาตรูป ที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งตัณหา ที่กล่าวไว้ในนิเทศแห่งมหาสติปัฏฐานสูตร ก็ไล่มาตั้งแต่อายตนภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ ๖ อย่าง แล้วอายตนภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แล้วก็จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆนวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นี่วิญญาณ ๖ แล้วก็จักขุสัมผัส โสตสัมผัส นี่คือสัมผัส ๖ ก็คือเวทนา ๖ จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ก็เป็นเวทนา ๖ ขึ้นมา พอมีเวทนา ๖ แล้วก็มีสัญญา รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา นี่มันหมายมั่นปั้นมือในสิ่งนั้นว่าจะเป็นตัวตนหรือเป็นของตนขึ้นมานิดหน่อย ความสำคัญมั่นหมายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เป็นเหตุให้เกิดเวทนานั้นก็ เรียกว่า สัญญา ๖ อีก ถ้าจะเอาสัญญา คือ สัญญเจตนา นี่มันมีเจตนาเต็มรูป รู้สึกอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น จึงมีสัญญเจตนา ๖ ทีนี้ก็มีตัณหา รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา เป็นตัณหา ๖ ตามอายตนะ หลังจากนั้นก็เป็นวิตกวิจารณ์ รูปวิตก สัทธวิตก รูปวิจารณ์ สัทธวิจารณ์ นี่คือความคิดนึกเต็มที่ อยู่ที่วิตกและวิจารณ์ เวทนาให้เกิดตัณหา ตัณหาให้เกิดวิตก วิจารณ์ ตัววิตก วิจารณ์นั้นคือจิตเต็มที่ มาจากตัณหาซึ่งก็เป็นตัวจิตแล้ว แล้วก็มาจากเวทนาซึ่งเป็นประเภทเจตสิก อันนี้ก็ควรจะจำไว้ให้แม่นยำ มีอยู่ ๑๐ หมวด หมวดละ ๖ ตั้งแต่อายตนะภายในขึ้นมาจนถึงวิจารณ์ แสดงลำดับแห่งการปรุงแต่งทางจิตได้ละเอียดลออว่า เวทนาปรุงแต่งให้เกิดจิตได้อย่างไร เวทนานี้ได้นามว่าจิตตสังขาร เพราะมันทำอะไร เพราะมันทำอย่างไร โดยหลักทั่วไปก็อย่าลืมว่า เจตสิกทั้งหลายย่อมปรุงแต่งจิต เวทนาก็เป็นเจตสิกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงปรุงแต่งจิต เจตสิกทั้งปวงแม้ว่ามันจะปรุงแต่งจิตมันไม่เป็นปัญหามากเท่าเวทนา เจตสิกมีตั้ง ๕๒ อย่าง อย่างที่เคยเรียนอภิธรรมกันมาแล้ว แต่ไม่มีอันไหนจะเป็นปัญหาร้ายกาจมากเท่าสิ่งที่เรียกว่า เวทนา เพราะมันปรุงความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือว่าปรุงกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา มันมีเรื่องมาก ซึ่งเดี๋ยวก็จะพิจารณากันดูว่า โลกนี้มีอันตรายที่สุดอยู่ที่สิ่งๆ เดียว คือ เวทนา สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา เพราะฉะนั้นในอานาปานสติภาวนานี้จึงระบุที่เวทนา หรือยกเอาเวทนามาเป็นบทเรียนสำหรับศึกษาและปฏิบัติ สิ่งที่เรียกว่าเวทนาเป็นปัญหามาก กว่าเจตสิกใดหมด จึงยกเอาเจตสิกนี้มาเป็นบทเรียน และอีกอย่างหนึ่งก็ว่า เจตสิกทั้งหลายอื่นนั้นไม่สะดวกในการที่จะนำมาทำเป็นบทเรียน สู้เอาเวทนาอันรุนแรงอันชัดเจนอยู่ในใจมาใช้เป็นบทเรียนไม่ได้ คือมันทั้งเป็นตัวปัญหาที่ร้ายกาจ กับทั้งเป็นตัวที่สะดวกที่จะเอามาเป็นบทเรียน ดังนั้น เราจึงระบุเวทนา ๒ อย่าง คือ ปีติและสุขนี้ว่าเป็นจิตตสังขาร
สำหรับบทเรียนขั้นที่ ๗ ของอานาปานสติภาวนา คือเป็นผู้กำหนดจิตตสังขารนี้อยู่ หายใจออกอยู่ หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ หายใจเข้าอยู่ นี่เรียกว่า ขั้นที่ ๗ กำหนดที่ตัวจิตตสังขาร ตัวจิตตสังขารคือเวทนาที่ปรุงแต่จิตอยู่ในขณะนั้น เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องตัวหนังสือ ฉะนั้นจะต้องทำให้มาก ทำให้ชำนาญในข้อนี้ คือขั้นที่ ๗ นี้มันจึงจะไปสู่ขั้นที่ ๘ ได้ ถ้าขั้นที่ ๗ คือ พิจารณาเวทนาในฐานะเป็นจิตตสังขารมันทำไม่ค่อยจะได้ มันสลัว หรือมันเลือนรางอะไร ก็ย้อนกลับไปสู่ขั้นที่ ๕ ทำปีติให้มันปรากฏชัดขึ้นมาใหม่ แล้วก็ทำขั้นที่ ๖ คือความสุขให้ปรากฏชัดขึ้นมาใหม่ แล้วคอยเฝ้าดูสังเกตดูว่ามันปรุงแต่งความคิดนึกอย่างไร ถ้ามันยังสลัวอยู่อีก ก็ต้องย้อนกลับไปทำให้มันชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้นมา นี้เป็นเคล็ดทั่วไปในการปฏิบัติอานาปานสติทั้งหลายที่มีอยู่มากขั้น ถือไว้เป็นกฎว่า ถ้าปฏิบัติขั้นที่กำลังปฏิบัติอยู่นี้ไม่ได้ เพราะมันคอยแต่เลือนราง คอยสลัว คอยล้มเหลว ก็กระโดดไปยังขั้นที่ต้นกว่านั้น ไปไล่ ๆ ๆ มาขั้นที่ต้นกว่านั้น เหมือนอย่างเด็กท่องสูตรคูณ ท่องขึ้นไปๆ ถึงแม่สูงมันติด ทางที่ดีมันควรจะไล่ไปท่องตั้งแต่ต้นมาใหม่ มันก็ไม่ต้องถามใคร ความเคยชินมันจะช่วยด้วย มันก็จะช่วยตัวเองได้ ในการปฏิบัติสมาธิภาวนาที่เป็นขั้นๆ ก็มีวิธีการอย่างนี้ เมื่อขั้นที่ ๗ ทำไม่ค่อยจะได้ก็กระโดดไปขั้นที่ ๕ ขั้นที่ ๖ ตั้งต้นมาใหม่ ทีนี้ก็ระวังให้ดี เดี๋ยวมันก็ได้
ทีนี้ก็มาถึงขั้นที่ ๘ ที่ว่า ปสฺสมฺภยํ จิตตสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ทำจิตตสังขารให้ระงับอยู่ หายใจออก หายใจเข้า นี่ไม่ใช่หมายความว่าเราทำได้เหมือนปั้นดินหรือว่าหยิบของ มันเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม มองไม่เห็นตัว มันต้องทำให้ถูกวิธีตามอุบายที่มีไว้ เมื่อเรารู้ว่า ปีติและสุขนั้นปรุงแต่งจิต หลักมันก็จะเกิดขึ้นเองว่า เราก็ทำลายหรือตัดทอนกำลังของปีติและสุขนั้นให้น้อยลง การปรุงแต่งจิตนั้นมันก็น้อยลงเอง ถ้าปีติสุขมีกำลังแรงกล้า มันก็ปรุงแต่งจิตที่มีกำลังแรงกล้า ที่เราหาอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะมาทอนกำลังของปีติและสุขให้มันจางลง นั่นคือการทำจิตตสังขารให้ระงับอยู่หรือให้ระงับลง ทีนี้มันจะมีวิธีอย่างไรบ้างที่จะทอนกำลังของปีติและสุข คิดดู ปีติมันแรงกล้า ถึงกับตัวโยกคลอน ตัวสั่น ขนลุก ขนหัวลุก นี่มันแรงกล้า แล้วจะทำยังไงให้มันถอยกำลังลง มันก็มีวิธีมาก แต่รวมแล้วก็เป็นหลักเพียง ๓ ประเภทก็พอสำหรับผู้ปฏิบัติ คือ ประเภทที่ ๑ ทำลมหายใจออก-เข้านั้นให้ละเอียดลง ตรงนี้ต้องเข้าใจว่า เมื่อกำลังปีติเป็นไปแรงกล้าจนถึงขนลุก หรือว่าตัวสั่นนั้น ก็คือลมหายใจมันก็หยาบด้วย ทีนี้ก็เราบังคับการหายใจไม่ไปยุ่งกับตัวปีติ มายุ่งกับไอ้ตัวการหายใจ ทำการหายใจให้ละเอียดลง ประณีตลงๆ ไอ้แรงของปีตินั้นมันก็อ่อนลงๆ คือ จางลง ก็ใช้ลูกไม้ บังคับลมหายใจคือกายสังขารนั่นล่ะ ให้มันระงับลงๆ เถอะ จิตตสังขารมันก็ถูกตัดทอนกำลัง คือกำลังของปีติและสุขมันถูกตัดทอนลงด้วยการที่เราบังคับลมหายใจ คือ กายสังขารนี้ให้มันอ่อนลง ให้มันระงับลง เป็นของที่เนื่องนุงนังกันอยู่ในนั้น นั้นเราก็ทำได้ง่ายๆ ก็โดยพยายามทำลมหายใจออกและเข้านั้นให้ละเอียดลง ปีติและสุขก็อ่อนกำลังลง เมื่อไอ้กายสังขารมันถูกทำให้ถอยกำลังลง ไอ้จิตตสังขารมันก็พลอยถอยกำลังลง นี่เป็นอุบายระดับพื้นฐานหรือระดับทั่วไป ก็จะลดอิทธิพลของไอ้จิตตสังขาร คือ ปีติและสุขได้ โดยทำลมหายใจให้ละเอียดลง นี่ก็เป็นวิธีหนึ่ง ทีนี้ถ้าว่าให้ดีกว่านั้น ก็พิจารณาความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในเวทนานั้น นี่ข้อที่ ๒ ประเภทที่ ๒ คือจะใช้ประเภทใดประเภทหนึ่งก็ได้นะ ประเภทที่ ๒ นี่ถ้าว่าให้ทำอย่างนั้นมันยังไม่เป็นที่พอใจ ก็มาตั้งข้อพิจารณา ความเป็นของหลอกลวง มายา เหลวแหลกของไอ้สิ่งที่เรียกว่า ปีติและสุข เห็นเป็นอนิจจัง ของหลอกลวง มายา ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง หรือเห็นเป็นทุกขัง คือดูแล้วน่าเกลียด หลอกลวง มายา ว่างจากสาระ หรือเห็นเป็นอนัตตา ไม่มีส่วนไหนที่น่าจะยึดเอาว่าเป็นตัวตนหรือของตน นี่ใช้อาวุธ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใส่เข้าไปที่ปีติหรือสุขนั้น ก็ทำลายกำลังของปีติและสุขนั้นให้อ่อนกำลังลง นี่เราใช้ปัญญา ไอ้อย่างที่หนึ่งใช้กำลังของสมาธิ ตือทำลมหายใจให้ละเอียดลง ส่วนอันนี้ใช้กำลังของปัญญาพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาที่มีอยู่ในปีติและสุขนั้น ก็เป็นของน่าขยะแขยงไปทันที มันก็หมดกำลังที่จะกระตุ้นจิตหรือว่าจะปรุงความคิดใหม่ๆ ออกไป
เหมือนอย่างว่าเด็กกินขนมอร่อย แล้วก็อยากไปขโมยมากินอีก ทีนี้ก็เกิดมาเห็นว่าอร่อย เรื่องอร่อย ไอ้ความอร่อยนี้ก็ไร้สาระหรือว่าไม่ใช่จีรังยั่งยืนอะไร ทำลายความอร่อยเสีย ไอ้ความคิดที่จะไปขโมยมากินอีกมันก็หยุดได้เหมือนกัน นี่เรียกว่า ใช้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น ทอนกำลังของจิตตสังขารนั้นเสีย ทีนี้อย่างที่ ๓ ที่ว่าให้มันไปไกลกว่านั้น เป็นนักเลงมากกว่านั้น มันก็พิจารณามากไปกว่านั้น คือละเอียดไปกว่านั้นนั่นเอง ตามหลักที่มีอยู่ทั่วไป มีไว้เป็นหลักทั่วไปสำหรับพิจารณากับสิ่งที่มันจะทำอันตรายเรา คือกิเลส เพราะสิ่งนั้นคืออะไร เพราะสิ่งนั้นมีอัสสาทะ อย่างไร สิ่งนั้นมีอาทีนวะอย่างไร สิ่งนั้นมีนิสสรณะ อย่างไร เพียง ๔ อย่างก็พอ ที่จริงมันมีมาก แต่ว่า ๔ อย่างก็พอ สิ่งนั้นคืออะไร ก็หมายความว่า ไอ้ปีติและสุขนั้นมันคืออะไร คือธรรมชาติอันหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อตากระทบรูป เป็นต้น นี่คืออะไร และสิ่งนั้นมีอัสสาทะ เป็นอย่างไร หมายความว่าสิ่งนั้นมันมีเสน่ห์อย่างไร คือความอร่อยของมันนั้นเป็นอย่างไร นี่เขาเรียกว่าอัสสาทะ อัสสาทะของมันเป็นอย่างไร ก็พิจารณาดูด้วยสติสัมปชัญญะว่าความอร่อยของมันนั้นเป็นอย่างไร ความยั่วยวนของมันเป็นอย่างไร ความเป็นเหยื่อล่อของมันนั้นเป็นอย่างไร
ทีนี้ก็พิจารณาอันที่ ๓ อาทีนวะ อาทีนพ หรืออาทีนว คือโทษอันต่ำทรามหรือความเลวทรามของมันนั้นเป็นอย่างไร ในแง่หนึ่งมันมีความเอร็ดอร่อยยั่วยวนที่สุด ในแง่หนึ่งมันมีความเลวความต่ำทราม คือเป็นอันตรายทำให้เกิดความทุกข์ เหมือนกับเหยื่อที่เบ็ดนั้น ถ้าปลาตัวหนึ่งพิจารณาว่าอร่อยน่ากิน ก็หลงใหลในอัสสาทะ ถ้าปลาตัวหนึ่งเห็น อ้าว มันมีเบ็ดแหลมกินเข้าไป ก็นี่เป็นอาทีนวะ เมื่อเห็นอาทีนวะ ก็คือว่าเห็นไอ้สิ่งที่ตรงกันข้ามกับเสน่ห์ คือเห็นพิษสงของมัน อันสุดท้ายก็คือ นิสสรณะ วิธีที่จะปลอดภัยจากสิ่งนี้หรือวิธีที่เราจะอยู่เหนือ เหนืออำนาจของสิ่งนี้คืออะไร นี่เรียกว่า นิสสรณะ อุบายเป็นเครื่องออกไป ออกไปจากอำนาจหรือความดึงดูดของสิ่งเหล่านี้ คืออะไร ก็คือวิธีกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พิจารณาเห็นไอ้ความหลอกลวง ความอันตราย แล้วก็ปฏิบัติถอนตัวออกมาเสียได้นี่ นิสสรณะ ถ้าให้พิจารณาว่าเวทนานั้นคืออะไร อัสสาทะ เสน่ห์ของเวทนานั้นคืออะไร อาทีนวะ ความเลวทรามของมันนั้นคืออะไร นิสสรณะ คือ อุบายสำหรับจะออกมาเสียจากมันได้นี้คืออะไร พิจารณาไป พิจารณาอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวกำลังของเวทนา คือ ปีติและสุขนั้นก็จะถอยลง คือจะไม่ปรุงแต่งจิตให้เข้มข้นไปในทางโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ นี่เป็นอุบายที่ว่าจะทำจิตตสังขารให้ระงับลง ให้ระงับอยู่ หายใจออก หายใจเข้า หายใจออก-เข้าๆ หายใจเข้าอยู่ ด้วยความรู้สึกอย่างนี้อยู่เรื่อยไป มันก็มีผลเป็นการทำให้จิตตสังขารระงับลง หรือถอยกำลังลง หรือว่าไม่ปรุงแต่งจิตเลย นี่เราก็พยายามทำให้ชำนิชำนาญเป็นที่สุด เป็นชั่วโมงๆ เป็นวันๆ เป็นเดือน เป็นปี นี่เป็นอุบายสำหรับจะบังคับกระแสแห่งจิตที่จะเกิดขึ้นเป็นกิเลสให้อยู่ในความควบคุมได้ จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อไปข้างหน้า แต่เดี๋ยวนี้ในบทเรียนบทนี้เอาแต่เพียงว่า จะบังคับโดยวิธีต่างๆ ที่ฉลาด คือหัดบังคับกันก่อน เท่านั้น อย่าให้มันปรุงแต่งจิตได้ตามที่มันจะเป็น เป็นเองตามธรรมชาติ คือมันเป็นเองตามที่เป็นอยู่แก่คนทั่วไปนั้นมันอันตราย เดี๋ยวนี้เราเป็นผู้มีอำนาจเหนือสิ่งเหล่านี้ ควบคุมไว้ได้ บังคับไว้ได้ ไม่ให้ไปในทางที่เป็นบาปเป็นอกุศล ให้ไปในทางที่เป็นบุญเป็นกุศล หรือว่าจะไม่ให้เป็นไปเลย นี่เป็นบทเรียนขั้นที่ ๘ เป็นอย่างนี้
ทบทวนก็ว่า อย่างแรกก็ไปบังคับที่ลมหายใจออก-เข้าให้ละเอียดลง อิทธิพลของเวทนานั้นก็ถอยลง อย่างที่ ๒ ใช้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น ใส่เข้าไปที่นั่น มันก็ถอยกำลังลง อย่างที่ ๓ ที่เป็นนักเลงกว่าก็พิจารณาโดย ๔ ความหมาย ว่ามันคืออะไร เสน่ห์ของมันคืออะไร ความร้ายกาจของมันคืออะไร อุบายจะอยู่เหนือมันคืออะไรนี่ มันก็ยิ่งได้แน่ขึ้น เป็นสิ่งที่ทำได้อย่างยิ่งแน่ยิ่งขึ้นไป นี่คือคำอธิบายโดยสังเขปเกี่ยวกับอานาปานสติ หมวดที่ ๒ เรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าทั้ง ๔ ขั้นมันเกี่ยวกับเวทนา ปีติและสุขนั้นคือเวทนา แล้วเรารู้จักเวทนา แล้วเราควบคุมเวทนาไว้ในอำนาจ นั้นการปฏิบัติทั้ง ๔ ขั้นนี้เกี่ยวข้องกับเวทนา เพราะฉะนั้นการปฏิบัติหมวดนี้จึงเรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี้ขอร้องให้นักศึกษาสังเกตดู ว่าการที่เราจะศึกษาไอ้เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานแต่เพียงสักว่า พูดว่าเวทนานี้ สักว่าเวทนามิใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา มัวแต่ท่องอยู่อย่างนี้ตามที่สอนกันอยู่ในโรงเรียนนั้น มันจะเป็นได้อย่างไร มันจะมีผลได้อย่างไร เพราะมันก็ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองอยู่นั่นน่ะ เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนามิใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา ท่องสักล้านครั้งมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่เรามาทำอย่างนี้สิ ไอ้เวทนานี่ จะแสดงอะไรให้เห็นว่า ไม่น่ารัก ไม่น่ายึดถือ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือขึ้นมาทีเดียว เพราะมันควบคุมได้ แล้วก็แสดงความหมายที่ว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขาอยู่ในตัวมันเองโดยไม่รู้สึกตัว เพราะมันตัดทำลายอัสสาทะ ออกไปเสียหมด คือ เสน่ห์ที่ยั่วยวนให้หลงรักถูกทำลายไปหมด มันก็ไม่มีให้ไปตะครุบเอาว่าสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา นี้มันไม่ใช่แต่พูด มันเป็นการทำที่ได้ผล เวทนานั้นก็ปรากฏแก่ความรู้สึกของเราว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขาจริงๆ ไม่ต้องมีใครมาบอกก็ยังรู้ได้เอง ขอให้สนใจในข้อเท็จจริงอันนี้ให้มาก ว่าที่เราเรียนโดยปริยัติและท่องจำนั้นมันยังช่วยไม่ได้ มันต้องทำลงไปตามนั้น ให้มีผลตามนั้น เพราะฉะนั้นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นคือ การกระทำลงไปจริงๆ อย่างนี้ ไม่ใช่เพียงแต่มานั่งนึกๆ หรือคำนวณเอาอย่างที่สอนให้นักเรียนจดจำแล้วก็สอบไล่ได้ พอสอบไล่เรื่อง สติปัฏฐาน ๔ ได้ แต่เราก็ไม่เคยมีสติปัฏฐาน ๔ อย่างนี้เป็นต้น ต้องสนใจในแง่นี้ด้วย
แล้วทีนี้ที่จะพูดต่อไปอีกก็อยากจะเน้นในข้อที่ว่า ความร้ายกาจของเวทนานั้นเป็นอย่างไร เพราะเดี๋ยวนี้เวลาสำหรับการบรรยายของเราเหลืออยู่ ๔ ครั้งแล้วนะ การบรรยายโดยหัวข้อปัญหาธรรมทูตนั้นจะต้องงดไป หรือเอามาแฝงไว้ในเรื่องการบรรยายอธิจิตตาโยคธรรมนี้ ไอ้ชนิดที่มันจะบรรยายตอนหัวรุ่งนั้นไม่มีโอกาสแล้ว ต้องเอามาใส่ไว้ในการบรรยายชนิดหัวค่ำก็จะหมดเวลา ๔ ครั้งนี้ ทีนี้ก็จะแนะในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาธรรมทูตว่า ความร้ายกาจของเวทนานั้นเป็นอย่างไร สำหรับธรรมทูตจะต้องพิจารณาโดยเฉพาะไอ้ความร้ายกาจของเวทนานี้ มันก็ดูกันในข้อเท็จจริงที่กว้างขวางว่า ไอ้คุณค่าหรือความหมายของสิ่งทุกสิ่งทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมนี้ มันมารวมอยู่ที่สิ่งๆ นี้ คือ เวทนา ขนมชนิดนี้มีราคากิโลละ ๕ บาท ขนมชนิดนั้นมีราคากิโลละร้อยกว่าบาท นี่คุณค่าทางวัตถุของรูปธรรม หรือบ้านเรือนหลังนี้ ตึกหลังนี้มีค่าเท่าไร รูปธรรมนี้มีราคาเท่าไร หรือสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น เกียรติยศที่ได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้มีมากน้อยสูงต่ำอย่างไรนี่มันขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าเวทนา เช่น กล้วยน้ำว้าถูกกว่ากล้วยหอม ก็เพราะมีคุณค่าอยู่ที่เวทนามันต่างกันตามความรู้สึกของคนทั่วไป กล้วยหอมอร่อยกว่ากล้วยน้ำว้าเพราะนั้นแพงกว่าอย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าค่าหรือความหมายของรูปธรรมก็ดี ของนามธรรมเช่นเกียรติยศ มันขึ้นอยู่กับสิ่งๆ เดียวคือเวทนา ถ้ามันไม่เกิดเวทนาแล้ว ถ้าไม่ทำให้เกิดค่าทางเวทนาแล้ว ให้เปล่าๆ ก็ไม่เอา เช่น สุนัขมันไม่ยอมกินขนมที่แพงที่สุด ผมลองดู ขนมเค้กที่แพงที่สุดหมาของผมไม่กิน มันก็ไม่มีค่าอะไรสำหรับสุนัขนี้ แต่มีค่าแพงมากสำหรับคน ไอ้ดำๆ ไอ้เหม็นเนยมาก สุนัขนี้ไม่กิน มันไม่ได้มีค่าอยู่ที่วัตถุ มันมีค่าอยู่ที่เวทนา สำหรับคนก็เหมือนกัน ไอ้สิ่งที่เรียกว่า เวทนา เป็นสิ่งที่ร้ายกาจตรงนี้มันทำให้สิ่งทั้งหลายมีค่า แล้วก็มีค่าอย่างนั้น มีค่าอย่างนี้ มีค่าเท่านั้น มีค่าเท่านี้ ตึกหลังหนึ่งมีค่าแพงกว่ากระท่อมหลังหนึ่ง เพราะไอ้ความหมายทางเวทนามันมีมากกว่า ก็มองดูทั่วโลก โลกมีค่าขึ้นมาเพราะสิ่งที่เรียกว่าเวทนาที่จะพึงได้รับจากสิ่งนั้นๆ นี่คือความร้ายกาจโดยพื้นฐานของสิ่งที่เรียกว่า เวทนา คือมีค่ามีความหมาย ทีนี้เวทนามันเป็นเหยื่อของตัณหา ไอ้เวทนามันไม่ใช่เวทนาเฉยๆ มันเป็นเหยื่อของตัณหา คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา แล้วเมื่อเป็นตัณหาแล้วมันไม่มีทางอย่างอื่น นอกจากจะต้องเป็นทุกข์ ต้องมีความทุกข์ พอมีตัณหาที่ไหน มีความทุกข์ที่นั่น นั้นมันจึงเป็นตัวร้ายกาจ เพราะมันเป็นเหยื่อของตัณหาซึ่งเป็นต้นเหตุของความทุกข์ อย่างที่พูดมาแล้วเมื่อตะกี้นี้ว่า ไอ้สุขเวทนาก็เป็นเหยื่อของตัณหา เช่น กามตัณหา ภวตัณหา ไอ้ทุกขเวทนาก็เป็นเหยื่อของวิภวตัณหาอย่างรุนแรง เป็นต้น พอมีตัณหาก็มีทุกข์ นั้นปัญหาอื่นๆ นั้นไม่มี ไม่มาก ไม่มีเท่ากับว่าไอ้ค่าของเวทนานี้ มันทำให้เกิดความโกลาหลวุ่นวายในโลกนี้ไปทั้งโลก
นี้เวทนามันเป็นที่เกาะที่ยึดของอุปาทาน เวทนาให้เกิดตัณหา ตัณหาให้เกิดอุปาทาน เวทนานั้นมันเป็นอัสสาทะ ที่เป็นที่เกาะที่ยึดของอุปาทานอย่างเหนียวแน่น ไม่ดับลงไปได้ง่ายๆ มันเป็นของกู มันเป็นตัวกูหรือมันเป็นของกูอยู่อย่างตลอดเวลา ไม่ดับไปง่าย ๆ เพราะว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าเวทนานี่ มันเป็นที่เกาะ ที่ยึด ที่เหนี่ยว ที่รัดรึง อะไร ของไอ้สิ่งที่เรียกว่าอุปาทาน แล้วก็มีภพมีชาติ แล้วก็เป็นทุกข์ มันมีเสน่ห์สำหรับยั่วตัณหา และมันเป็นที่เกาะ ที่ยึดอย่างเหนียวแน่นของไอ้สิ่งที่เรียกว่าอุปาทาน ผลก็คือมีแต่ความทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงมีพระพุทธภาษิตมากมาย ไอ้สูตรทั้งหลายที่จะเริ่มขึ้นด้วยการชี้ให้เห็นทางมาแห่งความทุกข์แล้ว ไปสำรวจดูจะพบว่า จะเริ่มขึ้นด้วยเวทนานี้มากกว่าไอ้เรื่องอื่นหมด สูตรเช่น เวทนาปริคหสูตร เป็นต้น เป็นสูตรที่ละเอียดลออชัดเจนที่สุด เกี่ยวกับการที่เวทนามันจะให้เกิดปฏิจจสมุปบาทแห่งความทุกข์ขึ้นมาได้อย่างไร นี่เป็นเครื่องรับรองว่า ตามความรู้สึกที่เรามองเห็นอยู่มันก็เป็นอย่างนี้ แล้วพระคัมภีร์พระบาลีก็เป็นอย่างนี้ การสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็เป็นอย่างนี้ ชี้ให้ระวังไอ้สิ่งที่เรียกว่าเวทนา ในฐานะเป็นสิ่งที่น่าเกลียด น่าชัง น่ากลัว น่าหวาดเสียวยิ่งกว่าสิ่งใด อย่าได้ไปหลงใหลว่ามันเป็นของอร่อย
สำหรับโลกในปัจจุบันที่เป็นปัญหาพระธรรมทูตจะต้องเผชิญ อย่างที่เราพูดมาแล้วในวันก่อนๆ ว่า มันยากลำบากตรงที่ว่า ไอ้โลกนี้มันเป็นธาตุของอายตนะอย่างจมมิดลงไปเลย เราจะเผยแผ่พรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้าไปทั่วโลกในเทวดาแลมนุษย์นี่มันมีปัญหาที่ว่า โลกมันกำลังมิด จมมิดในความเป็นทาสของอายตนะ เวทนาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจไปดูให้ดี นี่มันเป็นรากฐานของปัญหาต่างๆ ในโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือไอ้ลัทธิวัตถุนิยม ที่โลกกำลังหลงใหลบูชาเป็นพระเจ้า เห็นกงจักรเป็นดอกบัวกันอยู่เวลานี้ กงจักรถูกเห็นเป็นดอกบัวก็เพราะมันให้เวทนาที่มนุษย์ต้องการ วัตถุนิยมเป็นลัทธิที่จะทำลายมนุษย์ ทำลายโลก ทำลายมนุษยชาติ แต่คนกลับบูชาลัทธิวัตถุนิยม เพราะในลัทธินั้นมันก็มีไอ้สิ่งสำคัญอยู่คือเวทนานี้ เวทนาที่เป็นที่พอใจที่ได้มาจากวัตถุ ประดิษฐ์วัตถุขึ้นมาเรื่อยให้ยั่วยวนไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นแก่ชีวิต ก็มองเห็นเป็นสิ่งที่จำเป็นแก่ชีวิต เอามาเป็นสิ่งที่จำเป็นแก่ชีวิต จะจ่ายเพื่อสิ่งเหล่านี้ก่อนที่จะจ่ายเพื่อไอ้สิ่งที่จำเป็นโดยแท้จริง ผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ทางหมู่บ้านโน้น ลูกไม่สบายมาที่ตลาด มาเพื่อจะซื้อยาไปให้ลูกกิน พอดีไอ้ละครมันกำลังโหมโรงแสดงอยู่ มันเอาสตางค์นั้นไปซื้อตั๋วเข้าไปดูละคร แล้วก็ไม่มีสตางค์เหลือที่จะซื้อยากลับไปบ้านให้ลูกกิน นี่ไม่ใช่นิทาน ไม่ใช่นิยายเล่าขึ้น เป็นเรื่องจริงก็ลองคิดดูสิว่า มันมีอำนาจร้ายกาจเท่าไรไอ้สิ่งที่เรียกว่าเวทนานั้น หรือวัตถุนิยมนั้น เดี๋ยวนี้มีอันธพาล มีฮิปปี้ในโลกและในมหาวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาสูงสุดมีอันธพาล มีความเป็นฮิปปี้ ก็เพราะวัตถุนิยมซึ่งมีนิวเคลียสอยู่ตรงที่เวทนา การยื้อแย่งกันเป็นการสงครามในโลกนี้ระหว่างชนกรรมาชีพกับนายทุน คือคอมมิวนิสต์กับเสรีประชาธิปไตยนี่ เหตุปัจจัยมีอยู่นิดเดียวคือเวทนา นายทุนก็ต้องการจะสงวนเวทนา ไอ้สุขเวทนา กรรมกรก็ต้องการยื้อแย่งสุขเวทนา เลยรบกันยืดเยื้อ ไม่รู้กี่เดือน กี่ปี กี่สิบปีแล้วตลอดโลก การต่อสู้ป้องกันที่เรียกว่า สงครามต่อสู้ป้องกันมันก็เพื่อป้องกันไอ้เวทนา สงครามรุกรานเข้าไปก็เพื่อรุกรานเข้าไปเอาเวทนา นี่ก็ถือโอกาสพูดซะเลยว่า อานาปานสติ หมวดที่ ๒ คือ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น มันเป็นเรื่องจริงของโลกในโลกอย่างไร
สรุปความว่า เรื่องสำคัญที่สุดของมนุษย์นี่คือ สิ่งที่เรียกว่าเวทนา ชาวบ้านเขาฟังไม่ถูก เขาไม่เคยได้ยิน เขาไม่เคยรู้เรื่อง มันเกิดคำอีกคำหนึ่งขึ้นมาว่า เวทนา (เวด-ทะ-นา) กลายเป็นความสงสาร คนละอัน อย่าเอามาปนกัน ไอ้ที่ชาวบ้านเรียกว่า เวทนา (เวด-ทะ-นา) แล้วก็ สงสาร ไม่ใช่คำว่าเวทนา ในที่นี้ ความสงสารนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไอ้เวทนาของเรา คือ เวทนา (เว-ทะ-นา) รู้สึกสุข ทุกข์ อสุขมทุกข์ ชาวบ้านใช้คำว่า เวทนา (เวด-ทะ-นา) เอามาแต่ไหนก็ไม่รู้ แปลว่า ความสงสาร ตัวที่เป็นปัญหาตัวที่ร้ายกาจที่สุด คือ เวทนา เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ไม่มีสติสัมปชัญญะแล้ว ก็ทำให้มนุษย์สูญเสียความเป็นมนุษย์ กลายเป็นนรกเดรัจฉาน เปรต อสุรกายไปที่นั่นทันที คิดดูซิ มันน่ากลัวหรือไม่น่ากลัว นั้นเราควบคุมมันได้ มันก็เป็นสิ่งที่ดี จะควบคุมมันได้โดยการปฏิบัติกรรมฐานภาวนาหมวดนี้ เมื่อทุกสิ่งมันขึ้นอยู่ที่ปีติและความสุข ทั้งอาศัยเรือนและไม่อาศัยเรือน แล้วก็ต้องจัดการปีติและสุขนี้ ทั้งที่อาศัยเรือนและไม่อาศัยเรือนนี้ให้ถูกต้อง ก็จะอยู่เหนือโลกเป็นโลกุตตระ นั้นเวลาของเราหมด
(นาทีที่ 59.18) ช่วงต่อไปนี้ เป็นเทศนาตอนท้ายของไฟล์เสียงรหัส 2425140506080 ...หนึ่งไม่ใช่ subconscious แต่ว่าเดี๋ยวนี้จิตมันแปลกแล้ว จิตมันใหม่ จิตถูกอบรมมาใหม่ เป็นจิตที่สามารถ ที่เรียกว่าเป็นจิตบริสุทธิ์ เป็นจิตตั้งมั่น เป็นจิตว่องไวควรแก่การงาน มันได้อันนี้มา เดี๋ยวนี้จิตของผู้ฝึกดีแล้วอย่างนี้มีคุณสมบัติพิเศษในทางฝ่ายสมาธิ แม้ว่าออกมาจากฌานแล้ว มันก็ยังมีประโยชน์มีอานิสงส์อันนั้นเหลืออยู่ คือว่าเป็นจิตสะอาด บริสุทธิ์ แล้วก็เป็นจิตที่ตั้งมั่น แน่นแฟ้น มีกำลัง แล้วก็เป็นจิตที่ว่องไวในหน้าที่ของมัน เรียกว่า ปริสุทโธ เรียกว่า สมาหิโต เรียกว่า กัมมัญนีโย ๓ คำนี้เป็นลักษณะพิเศษ ๓ อย่างของจิตที่อบรมดีแล้ว ถ้าเป็นอัปปนาสมาธิ มีฌานมีอะไร มันก็มีองค์ประกอบทั้ง ๓ นี้มากที่สุด ถึงแม้ไม่ถึงฌาน ไม่ถึงอัปปนาสมาธิ เป็นอัปปนาสมาธิที่ล้มๆ ลุกๆ มันก็ยังมีองค์ประกอบ ๓ อย่างนี้ตามสัดตามส่วนที่มันควรจะมี ฉะนั้น การฝึกสมาธิจึงไม่เสียหลาย จะสำเร็จฌานหรือไม่สำเร็จฌานก็ต้องได้คุณสมบัติของสิ่งที่เรียกว่า สมาธิ มา ๓ อย่างนี้ พอที่จะใช้ต่อไปในการปฏิบัติในขั้นที่สูงขึ้นไป คือ หมวดเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน แล้วไปสำคัญอยู่หมวดสุดท้ายคือ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือไปพิจารณาอนิจจา อนุปัสสี การพิจารณาไตรลักษณ์หรืออะไรทำนองนี้ มันต้องการจิตที่มีเต็มสำนึก ไม่ใช่อยู่ในฌาน นั้นคนที่มีสมาธิอบรมแล้วพอสมควร เรียกว่ามีความเป็นสมาธิถึงขนาดหนึ่งแล้วมันก็ทำได้ ไม่ต้องเก่งถึงขนาดว่าได้ฌานครบทุกฌาน แต่ว่าถ้าได้ฌานครบทุกฌาน มันก็เก่งกว่าก็ทำได้ดีกว่าในการที่จะพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
นี่วันนี้เราพูดกันถึงการปฏิบัติขั้นที่ ๔ ที่มีตัวบทว่า ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ มีใจความว่า ทำกายสังขารให้ระงับอยู่ หายใจออก-เข้า ทำกายสังขารให้ระงับอยู่ด้วยขั้นทั้ง ๕ หรือทั้ง ๗ นี้ ที่จริงก็ทั้ง ๕ ล่ะ แค่ ๕ นี้ก็พอ ๑. วิ่งตาม ๒. เฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ๓.ทำอุคคหนิมิตให้เกิดขึ้นมาได้ ๔.เปลี่ยนอุคคหนิมิตให้เป็นปฏิภาคนิมิต ๕. ในขณะแห่งปฏิภาคนิมิตนั้น ทำความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานทั้ง ๕ องค์ให้แจ่มแจ้งขึ้นมาได้ นี่คือการทำกายสังขารให้ระงับอยู่ มันก็มีเพียงเท่านี้
ทีนี้ก็เหลือแต่รายละเอียดจะทำอย่างไรโดยรายละเอียดนั้น มันก็ต้องพูดกันเฉพาะเรื่องไป แต่เค้าเรื่อง คืออย่างนี้ตลอดสายของการทำกายสังขารให้ระงับอยู่ หายใจออกเข้า ผลคือสมาธิ ในสมาธินั้นจะมีปีติและสุขแสดงให้เห็นแล้ว ก็จะใช้ปีติและสุขนี้เพื่อปฏิบัติในหมวดต่อไป คือ หมวดเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี่เป็นเงื่อนหรือเป็นหัวต่อระหว่างหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐานกับหมวดเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขอให้กำหนดไว้ดี ๆ เราก็จะพูดกันวันหลัง เวลาที่กำหนดไว้มันก็มีเพียงเท่านี้ กลับไปกุฏิอย่างเพ่อนอนเสีย ลองทำดูสิ