แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนานี้เป็นธรรมเทศนาเป็นบุพภาคของการกระทำมาฆบูชา มีความมุ่งหมายเป็นพิเศษที่จะให้ท่านทั้งหลายกระทำในใจให้แยบคาย กระทำใจให้ถูกต้อง เพื่อประโยชน์แก่การทำมาฆบูชาเป็นส่วนใหญ่ การที่จะกระทำสิ่งใดๆ ต้องรู้ความประสงค์มุ่งหมายของสิ่งนั้นกันเสียก่อน มีความเข้าใจในสิ่งที่จะกระทำนั้นเป็นอย่างดีจึงจะได้ผลเต็มที่ ดังนั้นจึงต้องมีธรรมเทศนาที่เป็นบุพภาค คือเป็นการชี้แจงล่วงหน้าให้เข้าใจในสิ่งที่จะพึงกระทำ สิ่งที่จะต้องเข้าใจเป็นพิเศษในวันนี้ก็คือ ความสำคัญหรือความมุ่งหมายหรือเรื่องราวโดยเฉพาะของวันสำคัญวันนี้ซึ่งเรียกว่าวันมาฆปุณณมี
วันสำคัญเช่นวันนี้ในพระพุทธศาสนามีอยู่ด้วยกันเป็น ๓ วัน วันวิสาขบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา เราเลยเรียกวันวิสาขบูชานั้นว่าวันพระพุทธเจ้า ถัดมาก็ถึงวันอาสาฬหบูชาคือทรงแสดงปฐมเทศนา ประกาศสิ่งที่เป็นตัวพุทธศาสนา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าธรรมจักร เป็นตัวพระพุทธศาสนาก็คือตัวพระธรรมนั่นเอง ดังนั้นเราจึงเรียกวันอาสาฬหบูชานั้นว่าวันพระธรรม ต่อมาก็ถึงวันนี้คือวันมาฆบูชา เป็นวันที่พระสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ประชุมกัน มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เป็นการประกาศความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของพระสงฆ์ ซึ่งถึงกับมีพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ มาประชุมกันในลักษณะที่น่าอัศจรรย์ คือมิได้นัดหมายดั่งนี้เป็นต้น แต่ความสำคัญของเรื่องนั้นมีอยู่ตรงที่ว่าเป็นวันประชุมของพระอรหันต์จำนวนมากถึงเท่านั้น ดังนั้นเราจึงเรียกวันเช่นวันนี้คือวันมาฆบูชานี้ว่าเป็นวันพระสงฆ์ จึงได้วันสามวันขึ้นมาเป็นวันพระพุทธเจ้า เป็นวันพระธรรมเจ้า เป็นวันพระสงฆเจ้าตามลำดับของวิสาขบูชา อาสาฬหบูชา และมาฆบูชาดังนี้ ขอให้ทำในใจเป็นข้อแรกอย่างนี้ก่อนว่า วันนี้เป็นวันสำหรับพระอรหันต์ เป็นวันที่เราพุทธบริษัททั้งหลายอุทิศไว้ สำหรับเป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ เมื่อเป็นดังนี้เราก็จะต้องเข้าใจเรื่องราวของพระอรหันต์ตามสมควร เพื่อจะระลึกนึกถึงพระอรหันต์ให้ถูกให้ตรงตามที่เป็นจริง แล้วถวายความเคารพสักการะอย่างสูงสุดแก่พระอรหันต์เหล่านั้น ดังนั้นจะได้กล่าวถึงคุณสมบัติของพระอรหันต์ ให้เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาปสาทะเป็นส่วนใหญ่ในวันนี้
หัวข้อที่จะกล่าวก็คือพระบาลีที่มีอยู่แล้วว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่กระทำซึ่งความบาปทั้งปวง กุสะลัสสูปะสัมปะทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ เอตัง พุทธานะสาสะนัง สามอย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ข้อความนี้เป็นข้อความที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงแก่พระอรหันต์ผู้มาประชุมกันในวันนั้น ๑,๒๕๐ รูป หัวข้อธรรมะนี้เรียกว่าโอวาทปาติโมกข์ โอวาทปาติโมกข์แปลว่าประธานแห่งโอวาททั้งหลาย หมายความว่าโอวาททั้งหมดทั้งสิ้นสรุปรวมลงได้ในข้อความ ๓ ข้อนี้ คือไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม ทำจิตให้บริสุทธิ์ นั่นคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย สำหรับเรื่องไม่ทำบาปทั้งปวงนั้นก็เป็นเรื่องเข้าใจกันได้โดยง่ายและก็เคยแสดงมามากแล้ว เรื่องการทำกุศลคือทำความดีให้ถึงพร้อมนี้ก็เหมือนกัน เป็นที่เข้าใจกันได้ ดังนั้นจึงจะบรรยายกันในวันนี้แต่เพียงเฉพาะข้อที่สาม คือข้อที่ว่า สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การทำจิตของตนให้ขาวรอบ เมื่อได้ทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่องดังนั้นแล้ว นั่นก็คือความเป็นพระอรหันต์ ความเป็นพระอรหันต์สำเร็จอยู่ที่นี่ จึงได้ยกเอาหัวข้อนี้โดยเฉพาะขึ้นมากล่าว เพื่อให้เข้าใจบุคคลที่เรียกกันว่าพระอรหันต์นั่นเอง สะจิตตะปะริโยทะปะนัง ตามตัวหนังสือก็แปลว่า การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ นี้ตามตัวหนังสือ ความหมายก็คือทำจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง เมื่อหมดจดจากกิเลสเศร้าหมองแล้วก็เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ขีณาสพ หรือขีณาสะโวนี้ แปลว่าสิ้นอาสวะ อาสวะก็คือกิเลส สิ้นกิเลสก็คือความเป็นพระอรหันต์
สำหรับคำว่าพระอรหันต์นี้ โดยตัวหนังสือก็แปลว่าเป็นผู้สมควร เป็นคำลุ่นๆ ยังไม่ได้แสดงให้ชัดว่าควรอย่างไร ต้องหาความเข้าใจเอาเองว่าควรอย่างไร คำว่าควรในที่นี้มันมีความหมายกว้าง หมายความว่าควรในทางที่ควรไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง นับตั้งแต่ควรกราบไหว้ขึ้นไปจนกระทั่งถึงว่าควรแก่ความเป็นมนุษย์ ส่วนความหมายที่แตกแขนงออกไปนั้นมีอยู่หลายอย่างเพราะว่าคำในภาษาบาลีนั้น สามารถที่จะยักย้ายรูปศัพท์นั้นให้เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างน้อยก็สองสามอย่าง เพราะฉะนั้นคำว่าพระอรหันต์จึงแปลได้ต่อไปอีกว่า เป็นผู้หักเสียซึ่งสังสารวัฏ ทำลายเสียซึ่งสังสารวัฏ คือความทุกข์ แต่เราจะเอาความหมายตามตัวหนังสือว่าผู้ควร กันเป็นส่วนสำคัญ ควรแก่การกราบไหว้นี้เกือบจะไม่ต้องอธิบาย หมายความสั้นๆ แต่เพียงว่าท่านเป็นผู้มีคุณธรรมสูงสุด ควรแก่การกราบไหว้ ไม่มีบุคคลใดสำเร็จไหนจะยิ่งไปกว่า ส่วนคำว่าควรแก่ความเป็นมนุษย์นี่ มีความหมายที่ควรจะพิจารณา คนธรรมดายังไม่มีคุณสมบัติควรแก่ความเป็นมนุษย์ก็ได้ ขอให้ลองคิดดูให้ดี
ถ้าเราจะถือเอาความเป็นมนุษย์เพียงแต่ว่าเป็นคน ทุกคนก็เป็นมนุษย์ได้ แต่ถ้าจะถามว่าไอ้ยอดสุดของความเป็นมนุษย์นั้นอยู่ที่ไหน ก็คงจะมีความเข้าใจต่างๆ กัน บางคนเกือบถึงกับงงไปก็ได้ ไม่รู้ว่ายอดสุดของความเป็นมนุษย์นั้นอยู่ที่ไหน พระอรหันต์เป็นผู้เป็นยอดสุดของความเป็นมนุษย์ ท่านจึงได้นามว่าเป็นผู้สมควรแก่นามว่ามนุษย์ คำว่ามนุษย์ตามตัวหนังสือนั้นแปลว่ามีใจสูง หรือเชื้อเถา (นาทีที่ 17:39) เหล่ากอของบุคคลผู้มีใจสูง คำแปลนี้ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา เพียงแต่เกี่ยวกับภาษา โดยเฉพาะภาษาโบราณในประเทศอินเดีย และมักจะอ้างถึงมนุษย์คนที่มีความสำคัญที่สุดคือพระมนู ซึ่งเป็นผู้รอบรู้มีสติปัญญามีคุณธรรมสูง แล้วก็มีลูกหลานว่านเครือสืบต่อมาคือมนุษย์ที่มีจิตใจสูงหรือดีอย่างนั้น เพราะฉะนั้นคำว่ามนุษย์นี้คงไม่ใช่คนธรรมดาเป็นแน่ แต่ต้องหมายถึงคนที่มีจิตใจสูง ต่อเมื่อมีจิตใจสูงจึงจะควรแก่คำว่ามนุษย์ ทีนี้เมื่อมีจิตใจสูงแล้ว ก็ยังมีปัญหาอยู่ว่า สูงถึงที่สุดหรือยัง ต่อเมื่อสูงถึงที่สุดจึงจะเรียกว่าเป็นยอดสุดของมนุษย์ แล้วก็เลยต้องคิดต่อไปว่าสูงสุดนั้นไปสุดอยู่ที่ตรงไหน หรือตามหลักธรรมะแล้วก็สูงสุดอยู่ตรงที่หมดกิเลสและหมดความทุกข์ เรื่องหมดกิเลสและหมดความทุกข์นี้เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะว่าความทุกข์นั้นเกิดมาแต่กิเลส ถ้ากิเลสหมดไปแล้วความทุกข์ก็เป็นอันว่าสูญหายไปด้วย คนเราเมื่อหมดกิเลสและหมดความทุกข์แล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไรอีก ดังนั้นจึงถือว่ามันสูงสุดอยู่ที่นี่ ความสูงสุดของความเป็นมนุษย์นั้นอยู่ที่ความหมดกิเลสและหมดความทุกข์ ไม่มีอะไรที่ควรจะต้องการยิ่งกว่านี้อีกแล้ว จึงถือว่าพระอรหันต์เป็นผู้สมควรแก่ความเป็นมนุษย์อย่างสูงสุดได้โดยแท้
สำหรับพระสงฆ์ทั่วไปนั้นมีหลักปฏิบัติตามที่เราสวดร้องท่องบ่นกันอยู่เป็นประจำวันว่า สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นปฏิบัติดีแล้ว อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นปฏิบัติตรงแล้ว ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะ สังโฆ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นปฏิบัติสมควรแล้ว ปฏิบัติเป็นธรรมแล้ว (นาทีที่ 20:35) สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นปฏิบัติสมควรแล้ว ทั้งสี่อย่างนี้เป็นลักษณะเฉพาะของการปฏิบัติของพระสงฆ์สาวกในพระศาสนานี้ ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรมและปฏิบัติสมควร รวมกันแล้วก็เป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าดีก็ตรง ถ้าตรงก็เป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมก็สมควร แล้วแต่จะมองกันในแง่ไหน ทั้งสี่อย่างนี้ก็จะต้องเป็นเรื่องเดียวกัน สำหรับพระอรหันต์นั้นท่านปฏิบัติดีถึงที่สุดแล้ว ปฏิบัติตรงถึงที่สุดแล้ว ปฏิบัติเป็นธรรมถึงที่สุดแล้ว ปฏิบัติสมควรถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นท่านจึงเป็นยอดสุดของสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ที่รองลงมาก็คือพระอนาคามี พระสกิทาคามีและพระโสดาบันตามลำดับ ซึ่งก็เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติสมควรด้วยกัน หากแต่ว่ารองลำดับลงมา เราจึงถือว่าพระอรหันต์เป็นยอดสุดของสงฆ์สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
วันนี้เป็นวันที่ระลึกแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูปเป็นชุดแรกที่ประชุมกันโดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข จนเราถือว่าเป็นวันพระอรหันต์ ก็จะได้พิจารณากันถึงคุณสมบัติของความเป็นพระอรหันต์ เพื่อกระทำไว้ในใจให้ถูกต้องต่อไป
สำหรับคุณธรรมของพระอรหันต์นั้นมีมากมายจนเหลือที่จะนำมากล่าวในช่วงเวลาอันจำกัดเช่นนี้ได้ ดังนั้นเราจึงสามารถที่จะกล่าวได้ทีละอย่าง สองอย่างเรื่อยๆ ไป สำหรับในวันนี้จะได้กล่าวโดยคุณสมบัติเท่าที่คนธรรมดาสามัญจะพิจารณาได้โดยง่าย หรือจะรู้สึกได้โดยง่าย โดยจะเป็นการกล่าวที่เปรียบเทียบกันประพฤติ ความเป็นไปของบุคคลที่ไม่ใช่พระอรหันต์ที่เราเข้าใจกันดี แล้วก็นำมาเปรียบเทียบดูกับความเป็นไปของพระอรหันต์ ขอให้ท่านทั้งหลายถือเสียว่าเป็นการบรรยายตรงไปตรงมา เพื่อให้เข้าใจง่ายชั่วเวลาอันจำกัดเท่านั้น
ข้อแรกที่สุด เราจะพิจารณาดูพระอรหันต์กันในลักษณะที่เรียกว่า คนเขาเข้าใจผิดต่อท่าน ดูคล้ายกับว่าท่านจะเป็นอะไรไปหลายๆ อย่างดังต่อไปนี้ คนที่ไม่รู้จักพระอรหันต์หรือแรกรู้จักพระอรหันต์ สักว่าเห็นด้วยตาหรือได้ยินเขาบอกกล่าว ก็มักจะเข้าใจว่าพระอรหันต์นี้ดูคล้ายจะเป็นคนพิกลพิการ บ้าๆ บอๆ เสียสติกระมัง เพราะว่ามีอะไรที่มันผิดแปลกแตกต่างไปจากคนธรรมดาทั้งนั้น ไม่ชอบสิ่งที่คนธรรมดาเขาประพฤติปฏิบัติกัน อย่างนี้เป็นต้น คล้ายกับว่าเป็นคนเสียสติ แม้จะนึกอยู่อย่างนี้ก็ไม่กล้าพูดออกมา เพียงแต่นึกสงสัยอยู่อย่างนั้น ยิ่งคนต่างศาสนาออกไปด้วยแล้ว ก็มักจะรู้สึกอย่างนี้ในเมื่อได้ยินเรื่องราวของพระอรหันต์ แต่พุทธบริษัททั้งหลายก็ยังไม่วายที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะว่าคนส่วนมากก็เป็นพุทธบริษัทแต่ปาก เป็นพุทธบริษัทแต่ทะเบียน หาได้รู้จักพุทธศาสนาโดยถูกต้องไม่ แล้วจะไปรู้จักพระอรหันต์ซึ่งลึกซึ้งไปกว่านั้นได้อย่างไร ดังนั้นก็เป็นสิ่งที่จะต้องสังวรณ์ระวังกันต่อไปอีกเหมือนกัน
ถ้าใครเคยมีความคิดว่า พระอรหันต์นี่จะมีอาการของคนเสียสติ บ้าๆ บอๆ เสียแล้วกระมัง ข้อนี้ขอให้เชื่อเถิดว่า ไม่ใช่คนเสียสติ แต่กลับจะสมบูรณ์ด้วยสติถึงที่สุด การที่ท่านเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสติถึงที่สุดนั้น มันแปลกหูแปลกตาสำหรับปุถุชนคนธรรมดาสามัญทั่วไป มันจึงดูน่าสงสัยว่ามีอะไรผิดปกติ ยิ่งได้เรียนได้ฟังเรื่องราวของพระอรหันต์มากขึ้น ก็จะเห็นความไม่เหมือนกับคนธรรมดาสามัญมากขึ้น แต่มันไม่เหมือนไปในทางที่คนธรรมดาสามัญไม่ชอบ คนธรรมดาสามัญไม่เข้าใจ เมื่อเอาตัวเองเป็นหลัก เป็นเครื่องวัด ก็จัดให้พระอรหันต์เป็นคนที่ผิดปกติไปดังนี้ นี่แหละขอให้พิจารณาดูให้ดีจนมีความเข้าใจอย่างถูกต้องด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อตามบุคคลอื่นว่าพระอรหันต์นั้นมิได้เป็นบุคคลที่เสียสติ หรือปราศจากสติ หรือสติไม่สมบูรณ์ แต่กลับจะสมบูรณ์ด้วยสติถึงที่สุด ที่คนธรรมดาเข้าใจได้ยากว่า เมื่อสติสมบูรณ์ถึงที่สุดแล้ว คนเราจะเป็นอย่างไร บางคนจะ (นาทีที่ 26:50) คิดว่าพระอรหันต์ดูคล้ายจะเป็นคนผิดปกติ วิปริต วิตถาร นี่หมายความว่ายิ่งไปกว่าธรรมดา ถ้าได้ศึกษาถึงที่สุดจึงจะรู้ว่า ไม่ใช่ผิดปกติหรือวิตถาร หากแต่ว่ามันปกติถึงสุดยอด มีความปกติถึงสุดยอดมันจึงมองดูเหมือนกับ (นาทีที่ 27:20) ผิดปกติ พวกคนโง่ทั้งหลายย่อมเอาตัวเองเป็นประมาณ แล้วก็ถือมาตรฐานอันนั้นว่าคนปกติ พอได้เห็นหรือได้ทราบเรื่องของพระอรหันต์ซึ่งเป็นผู้ปกติแท้จริงและสูงสุด ก็กลายเป็นรู้สึกว่าผิดปกติไปเสีย เพราะไม่เหมือนกับตนนั่นเอง นี้เป็นสิ่งที่จะต้องสำรวมระวังสังวรณ์กันอย่างยิ่ง เพื่อจะไม่ให้เกิดความผิดพลาดอันใหญ่หลวงเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเกี่ยวกับพระอรหันต์นี้
ตัวอย่างที่จะสังเกตได้ เช่นมีอยู่ว่าพระอรหันต์ท่านไม่ต้องมีอะไรสำหรับจะเล่นเหมือนกับพวกเรา พวกเราก็มีของเล่นสนุกสนานนานาชนิด แม้จะมีกินมีใช้ อยู่เป็นสุขสบายแล้วก็ยังจะต้องมีของเล่นเพิ่มเข้ามาอีกโดยไม่จำเป็นโดยความรู้สึกว่ามันจะต้องมี ซึ่งที่แท้ก็เป็นความโง่ความหลงชนิดหนึ่ง จึงต้องลงทุนไปซื้อหาของเล่น ของประดับบ้านหรือของอื่นๆ ซึ่งอยู่ในลักษณะที่เป็นของเล่น เป็นสิ่งของก็มี เป็นพืชพันธุ์ต้นไม้ก็มี เป็นสัตว์เลี้ยงก็มี เป็นอะไรก็มี มันก็ล้วนแต่เป็นของเล่น พระอรหันต์ไม่มีของเล่นชนิดนี้ ถ้าจะมีการเล่นก็เล่นอย่างที่เรียกว่าฌานกีฬา คือเล่นเข้าฌานอย่างนั้นเข้าฌานอย่างนี้ สารพัดอย่างหลายสิบอย่าง เป็นการเข้าฌานเล่นสนุกๆ แปลกๆ แต่เรียกว่าเป็นของเล่น และ (นาทีที่ 29:24) ส่วนมากท่านก็เล่นอยู่กับความสุขเรียกว่า สุขวิหาร คือสงบอยู่ในความสุข หลายๆ ขั้น หลายๆ อย่าง หลายๆ ชนิด แล้วแต่องค์ไหนจะพอใจความสุขที่เกิดมาแต่ข้อปฏิบัติอะไร หรือญาณไหน ดังนี้เป็นต้น นี้เรียกว่าไม่มีการเล่น ไม่มีของเล่นเหมือนกับพวกเรา แต่มีการเล่นอย่างแบบของพระอริยเจ้าที่เรียกว่าฌานกีฬา หรือสุขวิหาร ดังที่กล่าวแล้วนั่นเอง
ทีนี้มองกันต่อไปว่า พระอรหันต์โดยเฉพาะก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นบรรพชิต ท่านไม่ทำอาชีพอะไร นี้เป็นความคิดของคนโง่ว่าพระอรหันต์นี่ดูคล้ายกับท่านไม่ทำอาชีพอะไร แต่แล้วท่านก็บริโภคอาหาร เรื่องนี้มันเหมือนกับเรื่องเกี่ยวกับพราหมณ์คนหนึ่งที่ตัดพ้อต่อว่าพระพุทธเจ้าทำนองว่า ไม่เห็นทำอาชีพอะไร ดีแต่กินเข้าไป กินเข้าไปด้วยการขอของผู้อื่น คนทั่วๆ ไปจะมองดูพระอรหันต์คล้ายกับว่าเป็นคนที่ไร้อาชีพ แล้วก็อาศัยคนอื่นกิน แต่ถ้าเป็นผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นตามที่เป็นจริงแล้ว ก็จะเห็นได้อย่างเต็มที่ว่า พระอรหันต์ก็มีอาชีพ คือมีอาชีพเป็นพระอรหันต์นั่นเอง พูดอย่างนี้ก็คงจะฟังไม่ถูก เพราะไม่รู้จักคุณค่าของพระอรหันต์ ว่ามีความจำเป็นอะไรที่จะต้องมีพระอรหันต์อยู่ในโลก ถ้าผู้ใดรู้ว่าพระอรหันต์มีคุณค่าสูงสุด และมีความจำเป็นที่จะต้องมีอยู่ในโลกแล้ว ก็คงจะยอมรับว่าความเป็นพระอรหันต์นั้นแหละก็เป็นอาชีพอย่างหนึ่ง คือท่านเป็นตัวอย่างของคนที่ดีให้ดู ท่านเป็นตัวอย่างของบุคคลสูงสุด ควรแก่ความเป็นมนุษย์ที่สุดให้ดู ให้คนทั้งหลายได้รับประโยชน์จากการได้ดู ได้เห็นบุคคลเช่นท่าน อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นอาชีพ คือท่านต้องทำหน้าที่ที่สำคัญที่สุดที่มนุษย์ควรจะทำ ทำตัวอย่างที่ดีให้ดู แล้วก็รักษาคุณสมบัติของมนุษย์ที่สูงสุดนี้ไว้ให้ยังคงมีอยู่ในโลก อย่างนี้เขา (นาทีที่ 32:32) เรียกว่าอาชีพของปูชนียบุคคล จำไว้ได้สั้นๆ ว่าเป็นอาชีพของปูชนียบุคคลนับตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเป็นปูชนียบุคคลตรงที่ว่า มีคุณสมบัติควรแก่การสักการะบูชาครบถ้วน เพราะได้ประพฤติสิ่งที่ควรประพฤติต่อโลก ต่อสรรพสัตว์ครบแล้ว เรียกอีกอย่างหนึ่งเรียกว่าอาชีพเจ้าหนี้ ดังนั้นท่านจึงมีอาหารบริโภคจนไม่หวาดไม่ไหว เป็นอาชีพเจ้าหนี้มีกินไม่หวาดไม่ไหว ไม่ใช่กาฝากสังคมเหมือนที่คนเป็นอันมากเข้าใจ
ภายในเรื่องนี้ (นาทีที่ 33:32) มีปัญหากว้างขวางมาก นักศึกษาในโลกสมัยนี้ได้ศึกษาเล่าเรียนมากมาจากมหาวิทยาลัย หรือจากอะไรต่างๆ แล้ว ก็มองดูบรรพชิตทั้งหลายในฐานะเป็นกาฝากสังคม แล้วก็ยืนยันความคิดเห็นของตนมากเกินไปกว่าที่จะมองไปในแง่อื่น อย่างในประเทศอินเดีย ถูกฝรั่งหาว่าเลี้ยงกาฝากสังคมไว้ตั้ง ๕ ล้านคนอย่างนี้เป็นต้น ฝรั่งจะโง่หรือจะฉลาดนี้มัน (นาทีที่ 34:16) ยังเป็นปัญหาที่ยืดยาว บรรพชิตหรือนักบวชทั้ง ๕ ล้านคนนั้นเป็นกาฝากสังคมไปทั้งนั้นหรือเปล่า ที่ว่าจะเป็นกาฝากสังคมไปทั้งหมดนั้นมันเป็นไปไม่ได้ ถ้าจะมีได้ก็เป็นบรรพชิตที่ปลอม ถ้าเป็นบรรพชิตที่ดีแม้ไม่เป็นพระอรหันต์ก็ไม่เป็นกาฝากสังคมไปได้ เพราะว่าได้สืบเอาไว้ซึ่งระเบียบการปฏิบัติอันประเสริฐ ชนิดที่จะยึดหน่วงจิตใจของมหาชนไว้ในทางของพระธรรม คือในทางที่จะไม่เกิดกิเลส ในทางที่จะไม่เกิดความทุกข์ บรรพชิตเหล่านั้นเพียงแต่เป็นอยู่ให้ดูเท่านั้นเอง ก็ทำให้มหาชนทั้งหมดมีจิตใจที่เอียงมาในทางของพระธรรม ไม่เอียงไปในทางของอธรรม เพียงเท่านี้มันก็คุ้มค่าข้าวสุกสำหรับคน ๕ ล้านคนเหล่านั้นจะพึงกินจะพึงใช้ แต่สำหรับพระอรหันต์นั้นไปไกลกว่านั้น คือเป็นบุคคลที่ประพฤติปฏิบัติถึงระดับสูงสุด เกินกว่าราคาข้าวปลาอาหาร ดังนั้นท่านจึงได้ชื่อว่าเป็นเจ้าหนี้ ไม่ใช่ว่าท่านจะเรียกร้องเอาจากเรา แต่ว่าเราพิจารณาแล้วรู้สึกว่าท่านเป็นเจ้าหนี้เหลือประมาณ เหลือที่เราจะใช้หนี้คราวนี้ให้หมดไปได้ เราจึงเรียกพระอรหันต์ว่าท่านประกอบอาชีพด้วยเหมือนกัน มิได้เป็นกาฝากสังคมเลย แต่ท่านประกอบอาชีพของปูชนียบุคคล อาชีพของบุคคลผู้เป็นเจ้าหนี้ตลอดกาล ไม่มีใครสามารถใช้หนี้อันนี้ให้สิ้นสุดไปได้
ขอเราทั้งหลายจง (นาทีที่ 36:19) ได้พิจารณาดูให้ดี เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่บรรพชิตเหล่านี้ให้ถูกให้ตรงตามที่ควร ที่คนบางคนที่ประกอบไปด้วยความรู้สึกของปุถุชนก็จะมองเห็นแต่ (นาทีที่ 36:40) ว่า พระอรหันต์เหล่านี้ดูคล้ายกับจะเป็นคนเกียจคร้าน อ้างเอาความสันโดษมาเป็นเครื่องแก้ตัวอย่างนี้เป็นต้น ที่ว่าพระอรหันต์เป็นคนเกียจคร้าน ไม่ทำไร่ทำนาไม่ทำอะไรเหมือนอย่างที่ตนทำ นั่นก็ขอให้เข้าใจเถิดว่าเพราะอาชีพมันคนละอย่าง มันไม่มีทางที่จะเหมือนกันได้ จะให้มาทำงาน (นาทีที่ 37:12) เหงื่อไหลไคลย้อยในไร่ในนาเหมือนที่ตัวทำ อย่างนี้มันก็เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าท่านมิได้เกียจคร้าน สิ่งใดที่เป็นหน้าที่ที่พระพุทธเจ้าจะพึงทำ ที่พระอรหันต์จะพึงทำ ท่านก็ได้ทำหน้าที่เหล่านั้นอย่างเต็มที่ ไม่มีความเกียจคร้าน ขอให้จำไว้ง่ายๆ ว่าความเกียจคร้านนี้ก็เป็นกิเลสอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน เมื่อหมดกิเลสแล้วมันเกียจคร้านไม่ได้ เพราะว่าความเกียจคร้านมันก็เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง มีมูลมาจากโมหะ ผู้ที่หมดโลภะ โทสะ โมหะแล้ว ก็ย่อมไม่มีอะไรๆ ที่เป็นผลเนื่องมาจากกิเลส
พระอรหันต์จึงเป็นผู้ที่ขยันที่สุดก็มี หรืออย่างน้อยก็ขยันแต่พอดี และความขยันนี้มีมูลมาจากปัญญาและเมตตา แล้วแต่ว่าท่านบ่มบารมีมาในลักษณะไหนเป็นพิเศษ ผู้ที่ยิ่งไปด้วยปัญญาก็ขยันด้วยปัญญา เพราะปัญญาเป็นเครื่องบอกให้รู้ว่าเราจะต้องทำอย่างไร พระอรหันต์ที่ยิ่งไปด้วยเมตตาเพราะความเมตตานั้นเชื้อเชิญให้ทำหน้าที่ที่เป็นประโยชน์แก่สัตว์มีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง แต่พระอรหันต์บางองค์สมบูรณ์ทั้งเมตตาและปัญญาก็ยิ่งขยันมากไปกว่า อย่างน้อยที่สุดจึงขยันพอดีพอเหมาะพอสม ที่บางคนจะมาอ้างว่าท่านเป็นคนสันโดษ ไม่ต้องทำอะไรเพราะไม่อยากอะไร ไม่ต้องการอะไรนั้นเป็นเรื่องของคนโง่ ว่าเอาเองแล้วก็เข้าใจความหมายของคำว่าสันโดษนั้นอย่างผิดๆ ด้วย เขาเข้าใจว่าสันโดษนั้นเป็นเหตุให้คนไม่ทำอะไรหรือไม่ก้าวหน้า แต่ความมุ่งหมายของคำว่าสันโดษในพระพุทธศาสนานั้นมันตรงกันข้าม คือทำให้คนรู้สึกพอใจในสิ่งที่ตนได้กระทำลงไป แล้วก็สนุกสนานเพลิดเพลินที่จะกระทำให้มากยิ่งขึ้นไปอีก
คำว่าสันโดษนี้แปลว่ายินดีหรือพอใจตามที่มีอยู่อย่างไร มากหรือน้อยอย่างไร สูงหรือต่ำอย่างไร ทำมาได้เท่าไร ทำขึ้นแล้วเท่าไรก็มีความยินดีและพอใจ และอาศัยความยินดีและพอใจนั้นเป็นเครื่องค้ำจุนไว้ไม่ให้รู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียหรือท้อถอย และเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้ไม่รู้สึกไปในทางที่จะเผาลนจิตใจ ถ้าคนเรามีกิเลสตัณหามากเกินประมาณก็เผาลนจิตใจ ความสันโดษก็ช่วยให้เกิดความเยือกเย็นขึ้นมาแทน พอใจในการที่ทำได้เท่าไรก็มีความเยือกเย็นในใจเท่านั้น แล้วก็ชักจูงให้กระทำต่อไปในอัตราหรือลักษณะที่พอเหมาะพอสมเรื่อยๆ ไป ด้วยความพอดีและสนุกสนาน พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้วจะมีความเกียจคร้านไม่ได้เพราะว่าความเกียจคร้านเป็นกิเลสอย่างหนึ่งดังนี้
ทีนี้บางคนที่เป็นปุถุชนมากเกินไปก็จะมีความรู้สึกว่า ดูคล้ายกับว่าพระอรหันต์นี้เป็นคนโง่เง่าเต่าตุ่น เพราะว่าท่านไม่รู้จักต้องการอะไร ไม่รู้จักแต่งเนื้อแต่งตัว ไม่รู้จักสรวลเสเฮฮากินเหล้าเมายา ไม่รู้จักสนุกสนานด้วยเรื่องเพศตรงกันข้ามเหมือนกับตัวเองอย่างนี้ ก็เลยหาว่าเป็นคนโง่เง่าเต่าตุ่น นั้นมันความโง่เง่าของคนนั้นเองที่มากเกินไปต่างหากจึงมีความรู้สึกอย่างนั้น ถ้าจะพูดกันโดยหลักแห่งธรรมะแล้ว ความโง่นั้นก็เป็นกิเลส หมดกิเลสก็คือหมดความโง่ แต่พูดอย่างนี้มันดูคล้ายกับจะเอาเปรียบมากเกินไป ควรจะพูดว่าพระอรหันต์นั้นไม่เคยมีความโง่ในสิ่งใดหรือในอะไร เพราะว่าท่านไม่เคยต้องการอะไร คนที่ต้องการอะไรนั้นคือคนโง่ เพราะว่าต้องการอะไรขึ้นมาทีไร มันก็เดือดร้อนหรือเผาผลาญใจเท่านั้นหรือเมื่อนั้น พระอรหันต์มีแต่สติปัญญาว่าควรจะทำอะไร ก็ทำไปโดยไม่ต้องเกิดความต้องการทะเยอทะยานที่เป็นความร้อนใจ มีความรู้มีสติปัญญา รู้จักหน้าที่โดยเฉพาะว่าจะต้องทำหน้าที่อะไร แล้วก็ทำไปโดยไม่ต้องมีความต้องการ ไม่มีความอยากชนิดที่ทำให้จิตใจเร่าร้อน ซึ่งเป็นความอยากที่มีมูลมาจากความโง่ ท่านคงมีแต่ความต้องการที่มีมูลมาจากสติปัญญาอย่างของพระอรหันต์ รู้ว่าอะไรควรทำก็ทำเท่านั้นเอง ไม่ต้องมีความอยากดิ้นรนทะเยอทะยานเผาลนจิตใจแต่ประการใด ดังนั้นเราจึงกล่าวว่าท่านไม่เคยโง่ในเรื่องอะไรหรือสิ่งใด เพราะท่านไม่เคยต้องการอะไร คนไปต้องการอะไรเข้าก็คือคนโง่ และโง่ในเรื่องที่ตนต้องการนั่นเอง
เดี๋ยวนี้คนทั้งโลกต้องการในสิ่งที่ไม่ควรต้องการ ขอให้ทุกคนไปพิจารณาดูด้วยตนเองเถิด ว่าสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์กำลังผลิตขึ้นมาในโลกเวลานี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เป็นความโง่ ไปทำในสิ่งที่ไม่ควรจะทำ ไปเสียเวลาทำสิ่งที่ไม่ควรจะทำขึ้นมาให้มันยุ่งยากลำบาก รกรุงรังไปทั้งโลก แล้วก็อวดว่าเป็นความฉลาด คนโง่ด้วยกันก็จะยอมรับว่าเป็นความฉลาด เพราะทำยากแสนยาก ยิ่งก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปทุกที แต่คนฉลาดนั้นก็ยังมองดูอีกครั้งหนึ่งว่า มันควรจะมีขึ้นมาหรือไม่ ถ้ามีขึ้นมาเพื่อสำหรับให้โลกนี้มันยุ่งยากมากไปกว่าเดิมแล้ว อย่าไปมีมันเสียเลยจะดีกว่า อย่างนี้เรียกว่าเป็นคนฉลาดในการที่จะไม่ทำโลกให้วุ่นวาย คนโง่มีแต่จะทำโลกให้วุ่นวายเป็นวิกฤตการณ์ไม่มีที่สิ้นสุด คนฉลาดมีแต่จะทำโลกให้สงบเย็น ใครจะโง่ใครจะฉลาดที่ตรงไหนก็ดูกันที่ตรงนี้ พระอรหันต์นั้นไม่มีทาง ไม่มีหนทางที่จะทำโลกนี้ให้วุ่นวาย เพราะท่านไม่เคยต้องการอะไร ดังนั้นจึงไม่มีความโง่ในสิ่งใดแม้ว่าท่านไม่ทำอะไรๆ เหมือนกับที่มนุษย์ในโลกเขากระทำกันอยู่ ทั้งหมดเท่าที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า พระอรหันต์นั้นจะถูกเขามองไปในลักษณะอะไรบ้างพอเป็นตัวอย่างดังนี้ มันก็ยังมีอีกมากกว่านี้ แต่ยกมาเป็นเพียงตัวอย่างว่า มักจะถูกมองผิดๆ ไปในลักษณะอย่างนี้
ทีนี้เราก็จะได้ดูกันต่อไปในลักษณะอื่นว่า พระอรหันต์ที่แท้นั้นท่านเป็นอย่างไร ให้แก่ใครหรือให้แก่โลก ข้อแรกที่สุดพระอรหันต์นั้นเป็นตัวอย่างแบบฉบับให้แก่มนุษย์ในโลก ส่วนที่มนุษย์ในโลกจะรับเอาหรือจะพอใจหรือไม่นั้นมันอีกอย่างหนึ่ง มันอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เรื่องที่จริงนั้นมีอยู่ว่าความเป็นพระอรหันต์นั้นเป็นแบบฉบับ เป็นตัวอย่างของแบบฉบับของความเป็นมนุษย์ที่ไปจนถึงที่สุด อย่างนี้เรียกในภาษาบาลีว่า ทัสนานุตริยะ เป็นสิ่งที่ควรเห็นควรดูที่สูงสุด สิ่งที่มนุษย์ควรดูควรเห็น ควรเอาใจใส่ถึงที่สุดนั้นเรียกว่า ทัสนานุตริยะ แล้วก็ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าพระอรหันต์ บรรดาสิ่งที่ควรดูน่าดูทั้งหมดในโลกนี้หรือในโลกไหนก็ตามนั้น ไม่มีอะไรที่น่าดูน่าสนใจยิ่งไปกว่าความเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นจึงถือได้โดยสรุปว่า พระอรหันต์เป็นตัวอย่างแบบฉบับให้แก่โลก ให้แก่มนุษย์ในโลกว่าต้องอยู่อย่างนี้ ต้องเดินอย่างนี้ ต้องทำอย่างนี้ มันจึงจะไปไกล ไปไกลจากความทุกข์ ถ้าไม่ทำอย่างนี้มันจะเดินเข้าไปหาความทุกข์ หรือว่าจะถึงกับจมดิ่งหมักหมมอยู่ในกองทุกข์ ท่านแสดงตัวอย่างเป็นทัสนานุตริยะอย่างนี้อยู่ทุกอิริยาบถ ผู้รู้จึงได้ถือเป็นหลักกันทั่วไป โดยกล่าวว่าการได้เห็นพระสมณะเป็นการดี พูดสั้นๆ ว่าได้เห็นพระสมณะเป็นการดี คือได้เห็นบุคคลผู้สงบระงับแล้วเป็นการดี เพียงแต่ได้เห็นเท่านั้นก็เป็นการดี ได้เห็นตัวอย่างที่ดีที่ครอบงำจิตใจ ให้จิตใจของผู้เห็นน้อมไปในทางของความสงบ ไม่ต้องเข้าไปพูดกับท่าน ไม่ต้องอยู่กับท่าน เพียงแต่ได้เห็นเท่านั้นก็ยังเป็นการดี นี้แหละเรียกว่าพระอรหันต์เป็นทัสนานุตริยะให้แก่คนในโลกดังนี้
ทีนี้ต่อไปจากนั้น ท่านก็จะเป็นประโยชน์แก่บุคคล คือเป็นเนื้อนาบุญของคนในโลก คนในโลกตามปกติก็ถือกันว่าเป็นผู้ต้องการบุญ แต่คำว่าบุญก็มีความหมายต่างๆ กัน บุญที่แท้จริงนั้นมีความหมายแต่เพียงว่าเอามาใช้ล้างบาปได้เหมือนสบู่ล้างของสกปรก พระอรหันต์เป็นเนื้อนาให้เกิดบุญ ใครต้องการบุญต้องทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับพระอรหันต์ เหมือนคนต้องการข้าวเปลือกก็ต้องไปเกี่ยวข้องกับนา ปลูกเพาะหว่านข้าวเปลือกขึ้นมา เกี่ยวเอามาได้เป็นข้าวเปลือก แต่ถ้าต้องการบุญก็ต้องไปเกี่ยวข้องกับทักขิไณยบุคคลเช่นพระอรหันต์ ไปเกี่ยวข้องกับพระอรหันต์ด้วยการพบปะพูดจา รับฟังคำสั่งสอน แล้วก็กระทั่งถึงการถวายทาน บำเพ็ญทานในท่านเหล่านั้น ตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องได้รับคำสั่งสอนประพฤติปฏิบัติถูกต้องก็เกิดบุญ ที่เอาทานไปถวายให้ท่านมีชีวิตอยู่ได้อย่าเพ่อตายเสียก่อน ก็จะอยู่เป็นประโยชน์แก่คนทั้งหลายทุกๆ คน ทั้งบ้านทั้งตำบลทั้งประเทศหรือทั้งโลก มันก็เกิดบุญทั่วไปทั้งโลก เขาจึงเรียกทักขิไณยบุคคลชนิดนี้ว่า บุญเขต (นาทีที่ 49:57) คือเขตแห่งบุญ อย่างที่เราสวดว่า ทักขิไณยยัง ปุญญักเขตตัง อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง ในบทสวดคุณของพระอรหันต์ว่าเป็นเนื้อนาบุญ อันไม่มีเนื้อนาบุญอะไรยิ่งไปกว่า ก็มีความหมายอย่างนี้
คำที่คล้ายกันยังมีเช่น (นาทีที่ 50:20) คำว่า อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย มีความหมายว่าเป็นผู้ควรแก่ของถวายในลักษณะใดก็ตาม ของที่เอามาถวายบุคคลที่ควรถวายนั้นมีอยู่หลายๆ แบบ นำมาถวายก็มี นิมนต์ไปรับก็มี อย่างนั้นก็มี อย่างโน้นก็มี ทั้งหมดนี้พระอรหันต์เป็นบุคคลสูงสุดของบุคคลที่ควรรับทักขิไณยทาน (นาทีที่ 50:58) ทักขิณาทานเหล่านั้น มันจึงเป็นของคู่กันกับว่า (นาทีที่ 51:06) กับข้อที่ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเป็นหลักเป็นเกณฑ์อยู่ในโลกนี้ แล้วคนก็ต้องการให้หลักเกณฑ์อันนี้ยังอยู่ในโลก จึงช่วยกันเลี้ยงดูไว้อย่าให้เพ่อตายเสียก่อน ลองไม่มีใครถวายอาหารแก่พระอรหันต์ดูสักที ท่านก็คงจะไม่ไปทำไร่ทำนา หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเหมือนพวกคนธรรมดา คงจะปล่อยให้สังขารนี้แตกดับไป แล้วเรื่องมันก็จบกัน แต่เดี๋ยวนี้ยังมีคนเลี้ยงดูพระอรหันต์ ขอให้มีชีวิตอยู่สำหรับทำหน้าที่ของตัวอย่างหรือแบบฉบับของการที่จะพ้นไปจากความทุกข์ นับตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ จนกระทั่งบัดนี้แม้ที่เป็นอลัชชีไม่เป็นภิกษุที่แท้จริงเสีย (นาทีที่ 52:06) เลยก็ยังได้รับการเลี้ยงดู แล้วก็นับประสาอะไรกับผู้ประพฤติปฏิบัติดีที่จะไม่เป็นเช่นนั้น ดังนั้นบรรพชิตจึงมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้โดยง่ายด้วยการเลี้ยงดูของมหาชน ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าบารมีของพระอรหันต์นั่นแหละยังเหลืออยู่ ยังคุ้มครองอยู่ คนที่เข้ามาเนื่องในหมู่ของพระอรหันต์จึงไม่อดตาย เราทั้งหลายควรจะมองเห็นความศักดิ์สิทธิ์ข้อนี้กันให้มากไว้ จะได้มีความเข้าใจอันถูกต้อง
ทีนี้ก็จะดูต่อไปในข้อที่ว่า นอกจากท่านที่จะเป็น นอกจาก (นาทีที่ 52:56) การที่ท่านจะเป็นอะไรๆ ให้แก่คนอื่นแล้ว ท่านยังเป็นอะไรแก่ตัวท่านเองบ้าง นี่หมายถึงความหมดกิเลสและความไม่มีทุกข์ที่เป็นส่วนตัวของท่าน ซึ่งเราควรจะนำมาพิจารณาดูกันแต่โดยใจความด้วยเหมือนกัน ที่เรียกว่าโดยใจความนั้นก็หมายความว่า พระอรหันต์นั้นสิ้นอาสวะสิ้นกิเลส หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าละอัสมิมานะเสียได้ ละอัสมิมานะเสียได้นี้ก็คือละตัวกูของกูเสียได้นั่นเอง นี้พูดเป็นภาษาที่ค่อนข้างจะโสกโดก ภาษาชาวบ้าน แต่ถ้าพูดอย่างภาษาธรรมะก็ว่าถอนอัสมิมานะเสียได้ การที่ละอัสมิมานะเสียได้ หรือละตัวกูของกูเสียได้นั้น ทำให้เกิดผลหลายอย่างหลายประการที่เป็นความสูงสุดของความเป็นมนุษย์ ปรากฏอยู่ในความเป็นพระอรหันต์
ข้อแรกพระอรหันต์จะอยู่เหนืออำนาจของสิ่งที่กระตุ้น คนธรรมดาสามัญตกอยู่ใต้วิสัยของสิ่งที่กระตุ้น จึงมีสิ่งที่เข้ามากระตุ้นให้กระโดดโลดเต้นไปอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น ตามที่ท่านทั้งหลายก็เห็นอยู่ด้วยตนเองแล้ว คนที่ยังเป็นคนธรรมดาตลอดถึงที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ แม้ที่เป็นพระอริยบุคคลขั้นต้นๆ ก็ยังอยู่ในวิสัยอำนาจของสิ่งกระตุ้น คือสิ่งกระตุ้นจะมากระตุ้นให้เป็นอย่างไรได้ตามมากตามน้อยตามสัดส่วน มีแต่พระอรหันต์พวกเดียวเท่านั้นที่อยู่เหนืออำนาจของสิ่งที่มากระตุ้น ฉะนั้น (นาทีที่ 55:00) จะมีอะไรมาทำให้ท่านหัวเราะก็ไม่ได้ จะมีอะไรมาทำให้ท่านร้องไห้ก็ไม่ได้ หรือไม่มีอะไรจะมากระตุ้นให้ทำอะไรทุกอย่างไป ท่านไม่ต้องการกำลังใจจากใคร ไม่ต้องการความอบอุ่นจากใคร
คนเดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็จะเรียกร้องความอบอุ่น ยิ่งเด็กๆ ด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่ อ้างข้อที่ไม่ได้ความอบอุ่นจากผู้หลักผู้ใหญ่บิดามารดาแล้วก็ทำอะไรที่ไม่ควรจะทำ นี้ก็เป็นเรื่องสำคัญมากที่เกี่ยวกับกิเลสของมนุษย์ ถ้าปล่อยมันไปโดยปราศจากการควบคุมแล้วมันก็เตลิดเปิดเปิงไป จนอะไรๆ ก็ต้องการให้กระตุ้น แล้วก็ต้องการให้กระตุ้นจนเกินขอบเขต มันก็ไม่มีความเป็นมนุษย์ที่เป็นปกติไปได้ พระอรหันต์ไม่อยู่ในวิสัยที่อะไรจะมากระตุ้นได้ จึงเรียกว่าเป็นยอดสุดของคน ไม่ต้องการกำลังใจจากสิ่งใด ไม่มีอะไรจะมามีอาการที่เรียกกันว่าเชื้อเชิญ หรือใส่หางอย่างภาษาหยาบๆ อาการเหล่านั้นมันจะมีแต่ (นาทีที่ 56:21) บุคคลที่เป็นปุถุชนเท่านั้น พระอรหันต์ท่านอยู่เหนือความเป็นอย่างนั้นทุกอย่างทุกประการ จึงสรุปเรียกว่าท่านอยู่เหนืออำนาจของสิ่งกระตุ้นทั้งปวงในโลกนี้
ข้อถัดไปอยากจะระบุถึงการที่ท่านอยู่เหนืออำนาจของสัญชาตญาณ สัญชาตญาณทั้งหลาย เป็นที่ยอมรับกันว่ามีสัญชาตญาณเรื่องเพศตรงกันข้าม เป็นสัญชาตญาณที่เป็นปัญหาที่สุด เป็นเรื่องร้ายแรงที่สุด ความเป็นพระอรหันต์อยู่เหนืออำนาจของสัญชาตญาณทางกามารมณ์ทางเพศตรงกันข้ามเหล่านี้โดยสิ้นเชิง ไม่ไปทำอะไรชนิดที่เป็นความโง่ความหลงใหลเพราะอยู่ใต้อำนาจของสัญชาตญาณ มีสัญชาตญาณนั้นเป็นเครื่องกดศีรษะให้จมลงไป ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ เรื่องทั้งเหนื่อย (นาทีที่ 57:32) ทั้งสกปรกเพื่อความบ้าแวบเดียวอย่างนี้ก็ยังทนทำกันไปได้ เรื่องอย่างนี้จะไม่มีแก่ผู้ที่อยู่เหนืออำนาจของสัญชาตญาณ ถ้ายังไม่ถึงระดับนี้ก็ยังไม่เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ สัญชาตญาณใดๆ ที่ติดมาแต่สัตว์เดียรัจฉานนั้น มันไม่มีเหลืออยู่แล้วในจิตใจของพระอรหันต์ จึงมีคำกล่าวว่าละกิเลสได้พร้อมทั้งวาสนา แม้ว่าจะทำอะไรโดย (นาทีที่ 58:12) กิริยาอาการเหมือนกับว่ายังมีกิเลสเหลือ โดยที่แท้ก็มิใช่กิเลสเลย นี้เรียกว่าอยู่เหนืออำนาจของสัญชาตญาณชนิดที่เป็นที่ตั้งแห่งกิเลสทั้งปวง เรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าอยู่เหนืออำนาจของความอยากโดยอำนาจของสัญชาตญาณ หรือโดยอำนาจของความคิดนึกที่อบรมสั่งสมกันขึ้นมา อย่างนี้มันก็ยิ่งไกลไปกว่า หมายความว่า ความอยากของมนุษย์เรานั้นมีได้จากที่มาสองอย่าง คือจากสัญชาตญาณตามธรรมดา เช่นอยากข้าวอยากน้ำ หรืออยากในเพศตรงกันข้ามตามสัญชาตญาณนี้ก็มี แต่นี้ยังไม่ร้ายแรงเท่ากับความอยากที่มาจากความคิดนึกที่อบรมมาใหม่ๆ อย่างผิดๆ คือด้วยอำนาจของอวิชชา ตัณหา อุปาทาน หรือมิจฉาทิฏฐิที่ตนอบรมสั่งสมมากขึ้นๆๆ เกินอำนาจของสัญชาตญาณ แล้วก็ทำให้มีความอยากร้ายกาจรุนแรงยิ่งกว่าสัญชาตญาณ มนุษย์จึงได้มีความทุกข์มากกว่าที่จะเป็นไปตามอำนาจของสัญชาตญาณ กล่าวคือกิเลสตัณหานั่นเอง ความอยากตามอำนาจของสัญชาตญาณจึงอยู่ในฐานะที่รองลงมา หรือมีความทุกข์น้อยกว่าความอยากที่เป็นไปด้วยอำนาจของมิจฉาทิฏฐิ คือความเข้าใจผิดที่อบรมสั่งสมกันขึ้นมาใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกสมัยปัจจุบันนี้เองที่ได้ปล่อยให้ความเข้าใจเดินไปผิดๆ ไปมีความอยากในสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องอยากดังที่กล่าวแล้ว แม้ในเรื่องของเพศตรงกันข้ามถ้าควบคุมให้เป็นไปแต่ตามอำนาจของสัญชาตญาณ ก็คงจะไม่ลำบากยุ่งยากเป็นลามกอนาจารเหมือนกับที่เป็นอยู่ในโลกเวลานี้ จนถึงกับกล่าวกันว่าตามสถิติที่มีอยู่จริงในประเทศหนึ่งที่เจริญที่สุดนั้น มีคดีลามกอนาจารทุกๆ ๗ นาทีอย่างนี้เป็นต้น
ข้อที่ดูต่อไปที่ตรงกันข้ามก็คือเรื่องของความรัก เมื่ออยู่เหนืออำนาจของความรักแล้วก็จะไม่มีความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความเศร้า ความเหงา หรือความอะไรต่างๆ เป็นสิ่ง อ้า, (นาทีที่ 01:01:00) ข้อนี้เป็นข้อที่จะต้องพิจารณาศึกษากันให้ถูกต้องด้วยเพราะว่ายังเข้าใจผิดกันอยู่มาก ต้นตอของมันนั้นอยู่ที่ความรักหรือความต้องการ หรือความกำหนัด เมื่อ (นาทีที่ 01:01:17) มีความรักแล้วก็จะมีความโกรธได้ คือไม่ได้ตามที่ความรักต้องการก็มีความโกรธเกิดขึ้น ถ้าไม่มีความรักเสียอย่างเดียวแล้วความโกรธก็ไม่มีทางจะเกิดขึ้น ถ้าไม่มีความรักแล้วความเกลียดก็ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้น ความกลัวก็ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้น เพราะเรารักชีวิต รักร่างกายนี้จึงได้กลัวตาย เพราะเรารักบุตรภรรยาเราจึงกลัวว่าเขาจะตาย เรื่องความเศร้าความเหงาก็เหมือนกันมันมีมูลมาจากความรักต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ มันจึงเกิดความโศกเศร้าขึ้นมา เพราะว่ามันไม่เป็นไปตามที่ใจรักหรือมันมีวี่แววที่แสดงออกมาว่า มันจะเป็นไปอย่างตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตัวรักหรือความรักของตัว ความรู้สึกเปลี่ยวเปล่าง่วงเหงาอะไรทำนองนี้ มันก็มีมูลเหตุมาจากความรัก แต่ว่ามันลึกซึ้งซับซ้อนมากไปกว่านั้น ไม่มีความอยากความต้องการเพียงอย่างเดียวแล้วก็ไม่มีความรัก เมื่อไม่มีความรักแล้วก็ไม่มีความโกรธความเกลียดความกลัวความเศร้าความเหงาความเปลี่ยวเปล่าหรืออะไรทุกๆ อย่าง เราลองพิจารณาดูว่าเรากำลังจมอยู่ในสิ่งที่ทรมานเรามากน้อยเท่าไร ในเมื่อพระอรหันต์ไม่มีสิ่งเหล่านี้เหลืออยู่ในใจแม้แต่นิดเดียว เราจงรู้จักพระอรหันต์โดยคำอธิบายอย่างธรรมดาสามัญกันอย่างนี้เถิด จะเป็นการช่วยให้เข้าใจได้ง่ายไปตั้งแต่ต้นๆ คือตั้งแต่เรื่องที่ทุกคนรู้จักดี
ทีนี้ก็จะได้ดูให้สูงขึ้นไป ว่าพระอรหันต์นั้นท่านประกอบอยู่ด้วยอาการที่สูงสุดหลายอย่างหลายประการ เช่นความว่าง ความดับไม่เหลือ พระอรหันต์ประกอบไปด้วยความว่าง หมายความว่ามองดูทุกสิ่งในโลกหรือทั้งโลกโดยความเป็นของว่างจากสาระที่ควรจะสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวกูหรือเป็นของกู ว่างจากสาระหรือความหมายหรือคุณค่าที่ควรจะถือเอาว่าเป็นตัวกู ของกู มันมีอยู่อย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น เราจำเป็นจะต้องไปเกี่ยวข้องใช้สอยบริโภคมันอย่างไรก็ทำไปอย่างนั้น โดยไม่ต้องไปหมายมั่นปั้นมือว่ามันเป็นตัวกูหรือเป็นของกู ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติตามที่มีอยู่อย่างไร ควรจะเกี่ยวข้องกันเท่าใดในลักษณะอย่างไร เราก็ควรเกี่ยวข้องกันเพียงเท่านั้นในลักษณะอย่างนั้น มองดูโลกในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง ไม่มีอะไรที่เป็นตัวกูหรือเป็นของกู จิตใจไม่มีทุกข์ สติปัญญาสมบูรณ์ การกระทำตามสติปัญญาที่สมบูรณ์จึงถูกต้อง ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น นี่คือลักษณะปกติของพระอรหันต์ เรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าดับไม่เหลือ ดับตัวกูของกู ไม่เหลือ หมายความว่าแต่ก่อนนี้เคยโง่เหมือนคนธรรมดา นั่นโน่นนี่ก็เป็นตัวกู เป็นของกู เดี๋ยวนี้สติปัญญาอย่างพระอรหันต์เกิดขึ้น ก็ดับความคิดว่าตัวกูของกูนี้ได้หมด ไม่มีตัวกูของกูแล้ว ก็เรียกว่าดับไม่เหลือ ยังไม่ต้องตาย ยังมีชีวิตเป็นๆ อยู่อย่างนี้ ในใจไม่มีอะไรที่เป็นความรู้สึกมั่นหมายเป็นตัวกูของกู อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้ดับไม่เหลือ หรืออาจจะเรียกเป็นอย่างอื่นได้อีกเช่นว่า ตายเสียก่อนตาย พระอรหันต์เป็นผู้ที่ตายแล้วก่อนตาย ก็หมายความว่าไม่มีตัวกูของกูไปตั้งแต่บัดนี้ ร่างกายยังไม่ทันตาย ตัวกูของกูไม่มีแล้ว ก็เรียกว่าตายเสร็จแล้วก่อนตาย มันก็สบายไม่มีความทุกข์แต่ประการใด นี้เรียกว่าพระอรหันต์มีอาการแห่งความว่าง
ทีนี้พระอรหันต์มีอาการแห่งความเป็นอยู่เหนือ เหนืออะไรบ้าง ก็เหนือกรรม เหนือโลก เหนือทุกข์ พระอรหันต์อยู่เหนือกรรม เหนือโลก และเหนือความทุกข์ คนธรรมดาสามัญอยู่ใต้อำนาจของกรรม เป็นไปตามกฎแห่งกรรมและมีความยึดมั่นถือมั่นกรรมและผลกรรมเป็นของตัว จึงได้อยู่ใต้อำนาจของกรรม กรรมจะบีบคั้นให้นั่งร้องไห้อยู่ก็ได้ จะไปกระตุ้นให้หัวเราะไม่หยุดอยู่ก็ได้ แล้วเป็นไปต่างๆ ตรงตามที่ปรารถนาบ้าง ไม่ตรงบ้าง แล้วแต่อำนาจของกรรม สัตว์ทั้งหลายอยู่ใต้อำนาจของกรรม เป็นไปตามอำนาจของกรรมอย่างนี้ ส่วนพระอรหันต์นั้นอยู่เหนือกรรมโดยประการทั้งปวง เพราะว่าไปมีจิตใจที่อบรมแล้วถึงที่สุด ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆ โดยความเป็นตัวกูของกู ไม่มีทางที่จะเกิดโลภะ โทสะ โมหะในสิ่งใด มันจึงอยู่เหนือกิเลส อยู่เหนือกิเลสก็คืออยู่เหนือกรรม เมื่ออยู่เหนือกรรมแล้วก็จะต้องอยู่เหนือโลกเป็นธรรมดา การที่บุคคลกระทำกรรมใดๆ นั้นก็เพราะมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้มาเชื้อเชิญ มาดึงดูด มายั่วยวนให้กระทำ เดี๋ยวนี้อยู่เหนือโลกก็ไม่มีอารมณ์อะไรในโลกมายั่วยวน หรือเชื้อเชิญหรือกระตุ้นหรืออะไรก็ตามให้เป็นไปตามความยั่วยวนของอารมณ์นั้น ดังนั้นจึงเรียกว่าอยู่เหนือโลก เป็นโลกุตตระคืออยู่เหนือโลก
เมื่ออยู่เหนือโลกแล้วก็ไม่มีความสงสัยอะไรอีกที่จะไม่อยู่เหนือความทุกข์ เพราะว่าความทุกข์นี้มาจากการประพฤติหรือการกระทำไปตามอำนาจของกิเลส ตามความยั่วยวนของสิ่งที่เรียกว่าโลก จนพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าโลกนี้คือทุกข์ ดังที่ตรัสไว้เป็นหลักอริยสัจว่า โลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับสนิทของโลกก็ดี ทางให้ถึงความดับสนิทของโลกก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ในกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ ที่ยังประกอบอยู่ด้วยสัญญาและใจ สรุปความสั้นๆ ว่าในร่างกายคนเป็นๆ คนหนึ่งนี้มีทั้งโลก มีทั้งเหตุให้เกิดโลก มีทั้งความดับสนิทของโลก และทางให้ถึงความดับสนิทของโลก แต่คนธรรมดานั้นมันทำได้แต่เพียงว่ามีโลกและเหตุให้เกิดโลก คือมีทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ ส่วนความดับสนิทของโลกนั้นมันทำไม่เป็น เพราะว่าตาหูจมูกลิ้นกายใจของมัน ไปมัวเป็นทาสของรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสที่มีอยู่ในโลก จึงมีแต่ความทุกข์บนโลกไม่อยู่เหนือโลกไปได้ จะ (นาทีที่ 01:09:25) ต้องใช้ให้ (นาทีที่ 01:09:26) ร่างกายนี้แหละเป็นที่ตั้งแห่งการประพฤติปฏิบัติกันเสียใหม่ให้อยู่เหนืออารมณ์เหล่านี้ จึงจะเรียกว่าอยู่เหนือโลก
นี้จะมองกันอีกแง่หนึ่ง พระอรหันต์ก็มีอาการแห่งอุเบกขา อุเบกขาเราเข้าใจกันว่าเป็นความเฉย นี้ถูกแล้ว แต่ไม่ใช่ความเฉยของคนบ้าๆ บอๆ แต่เป็นความเฉยของบุคคลผู้รู้แจ้งตามที่เป็นจริงแห่งสิ่งทั้งหลายทั้งปวงแล้วจึงเฉย คนที่รู้ไม่จริงจะต้องมีความรู้สึกที่ไม่เฉย ยกตัวอย่างเช่นว่าจะมีความรู้สึกรักหรือต้องการสิ่งที่น่ารักหรือน่าต้องการ แล้วก็รู้สึกเกลียดชังสิ่งที่น่าเกลียดน่าชัง แล้วก็รู้สึกสงสัยลังเลในสิ่งที่ตนไม่แน่ใจว่าน่ารักหรือน่าชัง คนธรรมดามันมีได้แต่อย่างนี้ เพราะฉะนั้นมันจึงเฉยไม่ได้ ในสิ่งที่ยังเฉย (นาทีที่ 01:10:35) ในสิ่งที่ตัวรู้สึกเฉยนั้นมันก็ยังมีความสงสัย ว่ามันเป็นคน (นาทีที่ 01:10:40) หรือว่ามันเป็นสิ่งที่ควรจะน่ารักหรือน่าชัง ส่วนพระอรหันต์นั้นรู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงว่า ไม่มีอะไรที่ควรจะไปรักหรือควรจะไปชัง ท่านจึงเฉยได้ และ (นาทีที่ 01:10:57) จึงเรียกว่าพระอรหันต์มีอุเบกขาอย่างแท้จริง จะเฉยได้ต่อทุกสิ่ง เป็นอิสระต่อทุกสิ่ง ไม่มีหัวเราะ ไม่มีร้องไห้ นี้เรียกว่าเฉยได้จริง จนกระทั่งว่าหลับก็ไม่ฝัน นี้เป็นหลักที่กล่าวไว้สำหรับพระอรหันต์ว่า แม้แต่หลับก็ไม่มีการฝัน เพราะไม่มีความอยากความต้องการความยึดมั่นถือมั่นอะไรเหลืออยู่ในขันธสันดานแล้ว เพราะว่าเป็นเบญจขันธ์ที่บริสุทธิ์สะอาดจริงๆ แล้ว จึงไม่มีอะไรที่ทำให้ต้องฝัน
แล้วก็ฉันไม่อิ่ม นี้อยากจะพูดให้มันลืมยาก พระอรหันต์เป็นคนฉันไม่อิ่ม นี้คนฟังก็คงจะ คงจะ (นาทีที่ 01:11:51) อ้า, ฟังไปในแง่ที่ว่า ไม่มีอาหารจะฉันพอ แล้วก็ฉันไม่อิ่ม แต่ความจริงไม่ใช่เป็นอย่างนั้น นอนหลับไม่ฝัน ฉันไม่อิ่ม อย่างนี้หมายความว่าไม่มีความตะกละ ไม่มีกิเลสตัณหา ไม่มีอุปาทาน คนที่มีความอยากของกิเลสตัณหาก็ตะกละ แล้วก็ฉันอย่างที่เรียกว่าฉันอิ่ม ส่วนพระอรหันต์นั้นฉันเพียงอยู่ได้ จึงเป็นยาปนมัต คือตรัสว่าอัตตภาพ เป็นอยู่ได้ เพราะฉะนั้นบางมื้อไม่ฉันก็ได้ น้อยเท่าไรก็ได้ ส่วนที่มากนั้นคงจะไม่มีเป็นแน่ เพราะว่ามันเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ คำว่าฉันไม่อิ่มอย่างนี้ก็หมายความว่าไม่มีการตะกละในการฉัน ไม่ใช่เพราะว่าไม่มีอะไรจะฉัน หรือว่าแม้ไม่มีอะไรจะฉัน ท่านก็ยังไม่อิ่มและไม่หิวอยู่นั่นเอง แม้ว่าจะต้องอดอาหารจนตายไปมันก็ยังไม่มีความหิวเพราะกิเลสตัณหา นี้คือผลของการที่หมดตัณหาอุปาทาน หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็พูดได้ว่าพระอรหันต์นี้เป็นคนสิ้นหวัง ถ้าพูดอย่างนี้คนธรรมดาไม่ชอบ ไม่มีใครอยากจะเป็นคนสิ้นหวังหรือหมดหวัง เพราะอยากจะเป็นคนมีที่หวัง แต่ว่าพระอรหันต์นั้นเป็นคนสิ้นหวัง เพราะมัน มันไม่ (นาทีที่ 01:13:22) มีอะไรที่จะมาเป็นที่หวัง ที่ควรหวังแก่ท่าน ท่านไม่มีความหวัง เขาจึงเรียกว่าเป็นคนสิ้นหวัง กิเลสที่เรียกว่าความหวังคืออาสาหรือกิญจันนะ (นาทีที่ 01:13:39) หรืออะไรทำนองนี้ไม่มีแก่พระอรหันต์ จึงเป็นคนสิ้นหวัง หมดหวัง ไม่มีวิตกกังวลห่วงใยอาลัยอาวรณ์ แล้วว่า (นาทีที่ 01:13:50) อยู่ในเครือเดียวกันหมดที่ว่าเป็นคนสิ้นหวัง ไม่มีความหวังรบกวน ไม่มีอะไรเป็นที่หวัง ดังนั้นอาการของท่านจึงมีแต่ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ สะอาดเพราะจิตใจไม่มีกิเลส สว่างเพราะมีความรู้แจ้งตามที่เป็นจริงในสิ่งทั้งปวง สงบเพราะว่าไม่มีความทุกข์อะไรเลย ท่านเป็นคนสะอาด เป็นคนสว่าง เป็นคนสงบ ย่อเป็นตัว ส ได้ ๓ ส ส สะอาด ส สว่าง ส สงบ จำไว้ง่ายๆ ดี
อีกอย่างหนึ่งก็ว่าท่านเป็นคนหยุด เป็นคนเย็นและเป็นคนยอม เพราะเหตุแห่งความสะอาด ความสว่าง ความสงบนั่น ไม่มีกิเลส มีความสะอาด สว่าง สงบ (นาทีที่ 01:14:42) แล้วก็หยุด หยุดไปไหนมาไหนโดยจิตใจ เมื่อหยุดก็เย็น ไม่มีร้อนตามความหมายของคำว่านิพพานซึ่งแปลว่าเย็น เพราะหมดกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้ร้อน แล้วก็เป็นคนยอม คำนี้เป็นคำที่มีความหมายเฉพาะ ความยอมนี่เป็นเครื่องหมายของพระอรหันต์ ถ้ายังเป็นปุถุชนแล้วเป็นไม่ยอม หมายความว่าการที่จะยอมให้คนอื่นเป็นผู้ชนะ หรือเป็น อ้า, (นาทีที่ 01:15:21) ให้เรื่องราวหรือปัญหาต่างๆ มันหมดไปนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ยอม เพราะถ้ากิเลสยังมีเหลืออยู่ในจิตใจเพียงใดแล้ว ความไม่ยอมจะมีเหลืออยู่เพียงนั้น คนธรรมดาจึงไม่รู้จักยอม แม้ว่ายอมแพ้ใจมันก็ไม่ยอม หรือที่เรียกว่ายอมอะไร ที่เรียกกันว่ายอม ยอมตาม (นาทีที่ 01:15:44) ภาษาชาวบ้านนั้น ที่แท้มีความไม่ยอมอยู่ในนั้นเท่ากันทีเดียว ความที่จะยอมให้ได้เพราะตัวไม่มีความต้องการอะไรนั้น จะมีแต่ในพระอรหันต์เท่านั้น ทั้งสามคำนี้ก็คงจะช่วยความจำได้ดีด้วยเหมือนกันว่า เป็นคนหยุด เป็นคนเย็น และเป็นคนยอม
หรืออีกสักสามคำแถมทบให้ว่าเป็นคนวาง และเป็นคนว่าง และเป็นคนว้าง วาง ว่าง ว้าง ครั้งแรกต้องเริ่มต้นขึ้นด้วยการปล่อยวาง คือวิมุติ ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นตัวกูของกูในสรรพสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ อย่างนี้เรียกว่าวาง เมื่อมีการวางเสร็จแล้วมันก็มีว่าง ไม่ได้จับฉวยอะไรเอาไว้เรียกว่าว่าง แล้วมันก็มีแต่ความเวิ้งว้างที่เป็นอิสระ ไม่มีสิ่งผูกพันรึงรัดกีดกันแต่ประการใด ถ้าลองจำคำว่า วาง ว่าง ว้าง ไว้ให้ดีๆ คงจะลืมพระอรหันต์ได้ยาก วันนี้เป็นวันที่เราประชุมกันเพื่อเป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ จงช่วยจำคำสั้นๆ สามชุดนี้ไว้ด้วยเถิดว่า สะอาด สว่าง และสงบ ว่าหยุด ว่าเย็น ว่ายอม ว่าวาง ว่าว่าง ว่าว้าง ทั้งหมดนี้เป็นกิริยาอาการของพระอรหันต์
ทีนี้อันสุดท้ายที่เหลือเวลาอยู่เล็กน้อยนี้ ก็จะพูดในแง่ที่เป็นปฏิเสธ คือแง่ที่ท่านไม่เป็นหรือไม่มีอาการ พระอรหันต์ไม่เป็นอะไรแก่ใครๆ นั้นก็มีอยู่ความหมายหนึ่ง คือพระอรหันต์ไม่ใช่คนเป็นและไม่ใช่คนตาย ถ้ายังเป็นๆ เหมือนคนธรรมดานี้มันมีเบญจขันธ์ ที่ประกอบอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่น มี (นาทีที่ 01:17:54) ชีวิตที่หล่อเลี้ยงอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่นนี้เป็นคนเป็น นี้เป็นคนตายก็จับใส่โลง พระอรหันต์ไม่ใช่คนเป็นและก็ไม่ใช่คนตาย มันมีอะไรแปลกออกไปจนคนบางคนถือว่าเป็นคนบ้าคนบอคนเสียสติ พระอรหันต์ไม่เป็นหญิงไม่เป็นชาย พระอรหันต์ผู้หญิงหรือพระอรหันต์ผู้ชายก็ตาม ไม่มีความเป็นหญิงเป็นชายในความรู้สึก พระอรหันต์ไม่เป็นมนุษย์และก็ไม่ใช่อมนุษย์ นี้พูดอย่างคนธรรมดาว่าไม่ใช่คน แล้วท่านก็ไม่ใช่ไม่ใช่คน เป็นมนุษย์ก็ไม่ใช่ เป็นอมนุษย์ก็ไม่ใช่ นี้พระพุทธเจ้าท่านพูดเองว่าเป็นคนที่ละความเป็นมนุษย์และธรรม เป็นอมนุษย์เสียได้ทั้งสองอย่าง เป็นผู้ที่กิเลสตัณหาอุปาทานอะไรตบแต่งไม่ได้ ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่ากูเป็นมนุษย์หรือเป็นอมนุษย์ พระอรหันต์ไม่ได้อยู่ที่ไหน แล้วก็ไม่ใช่คนจรจัด พระอรหันต์ไม่ติดมั่นถือมั่น ไม่มีอาลัยที่เป็นที่อยู่ของตน แต่แล้วก็ไม่ใช่เป็นคนจรจัด คือไม่ใช่คนที่เร่ร่อนไปเพราะความอยากดึงหูดึงจมูกไป ไม่มีรอยเท้ารอยมือ นี้เป็นสำนวนในพระบาลี เพราะท่านไม่ไปที่ไหนไม่มาที่ไหน ไม่อยู่ที่ไหน จึงไม่มีรอยอะไรแสดงอยู่ที่ไหน
พระอรหันต์ไม่ใช่คนแพ้ ไม่ใช่คนชนะ ถ้าพูดอย่างภาษาชาวบ้าน คนแพ้ก็นอนเป็นทุกข์ คนชนะก็นอนห่วงว่ามีคนจองเวร พระอรหันต์ไม่ใช่คนแพ้ ไม่ใช่คนชนะ เพราะไม่มีการรบอีกต่อไป การรบข้างในคือการรบของกิเลสก็ไม่มี การรบข้างนอก รบกับคนนั้นคนนี้ก็ไม่มี ดังนั้นท่านจึงเป็นคนที่อยู่เหนือ หรือนอกเหนือการแพ้และการชนะ พระอรหันต์ไม่ใช่ผู้ได้หรือผู้เสีย ในโลกนี้ในวันหนึ่งๆ นั้นมันมีผู้ได้และผู้เสีย ผู้แพ้หรือผู้เสีย ผู้ชนะหรือผู้ได้ เราเองก็รู้สึกว่าได้อะไรหรือเสียอะไรอยู่เป็นประจำวัน แม้ว่าไม้ขีดไฟจะเสียไปสักก้านหนึ่งก็เสียดายอย่างนี้เป็นต้น กระทั่งมีได้มีเสียเรื่องใหญ่ๆ เรื่องทุนทรัพย์มากๆ ตั้งแสนตั้งล้าน มีได้มีเสียอะไรกันอยู่ตลอดเวลา พระอรหันต์ไม่เป็นผู้ได้และไม่เป็นผู้เสีย เพราะว่าไม่ได้ยึดถืออะไรไว้โดยความเป็นตัวตนหรือเป็นของตน จนในที่สุดนั้นพระอรหันต์ไม่ใช่ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ นี้เป็นความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่ในภาษาธรรมอันลึกซึ้ง สิ่งที่เรียกว่าสังขารนั้นทั้งถูกกระทำและกระทำสิ่งอื่น เมื่อเป็นวิสังขารคือชนะสังขารแล้วก็ไม่ถูกกระทำและไม่กระทำต่อสิ่งอื่น ดังนั้นพระอรหันต์จึงไม่ถูกใครกระทำและไม่กระทำแก่ใคร เพราะไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้กระทำแก่ใคร และไม่ยอมรับ ไม่ (นาทีที่ 01:21:35) มีกิเลสที่จะยอมรับการกระทำของผู้ใด จึงเป็นผู้ไม่กระทำและไม่ถูกกระทำดังนี้ นี้เป็นตัวอย่างที่นำมาแสดง ขอให้ท่านทั้งหลายปรับปรุงจิตใจกันเสียใหม่ เพื่อให้รู้จักพระอรหันต์ในลักษณะที่ถูกต้อง อย่างน้อยที่สุดก็พอสมควรที่จะมีความเชื่อความเลื่อมใสในการที่จะกระทำมาฆบูชา เพื่อเป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ทั้งหลายในโอกาสนี้
ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาดูให้ดีจนกว่าเกิดความรู้สึกศรัทธา ความเชื่อความเลื่อมใสในพระอรหันต์ทั้งหลาย อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้ถูกต้องตามที่เป็นจริงเถิด แล้วน้อมระลึกเป็นอนุสรณ์ว่า ในวันเช่นวันนี้คือวันเพ็ญมาฆปุณณมี ในเวลากลางวันตอนบ่ายพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูปประชุมกันในสถานที่แห่งหนึ่งอันเรียกว่าเวฬุวันอรัญคตนิวาปัสสถาน (นาทีที่ 01:22:42) ในประเทศอินเดีย พระพุทธเจ้าท่านประทับในที่ประชุมนั้น เป็นเหมือนพิธีประกาศความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เราได้ระลึกนึกถึงสิ่งนี้เป็นเหตุการณ์อันสำคัญ แล้วกระทำไว้ในใจแล้ว กระทำบูชาด้วย กาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ด้วยใจก็คือน้อมระลึกไปในคุณธรรมอันประเสริฐของพระอรหันต์ ดังที่อาตมาได้กล่าวมาแล้วนั้น นี้เรียกว่าเป็นการบูชาด้วยใจ แล้วก็จะกล่าวคำ (นาทีที่ 01:23:27) ด้วยวาจาสรรเสริญคุณของพระอรหันต์เป็นต้น นี้เรียกว่าเป็นการบูชาด้วยวาจา แล้วก็จะกระทำประทักษิณเดินเวียน ๓ รอบต่อสถานที่นี้ ซึ่งมีสัญลักษณ์ของการประสูติ การตรัสรู้ การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า คือแผ่นหินสลักจำลองที่มาวางไว้ในที่นี้บ้าง แลสถานที่นี้ก็เคยเป็นพระเจดีย์ที่ถูกคนร้ายทำลายแหลกราญไปแล้ว แต่ความเป็นพระเจดีย์นี้ก็ยังมีอยู่ที่นี่ เราถือเอาวัตถุนี้เป็นนิมิตเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธ ของพระธรรม ของพระสงฆ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งของพระอรหันต์ แล้วก็เดินเวียนประทักษิณตามขนบธรรมเนียมประเพณี สิ้นสามรอบแล้วอย่างนี้เรียกว่าทำการบูชาด้วยกาย ได้กระทำการบูชาครบทั้งทางกายทางวาจาทางใจดังนี้แล้ว ย่อมเป็นการแสดงว่าเราได้ทำที่สุด อ้า, ทำ (นาทีที่ 01:24:41) อย่างถึงที่สุดของความสามารถที่เราจะพึงกระทำได้แล้ว มีปีติปราโมทย์ในการกระทำของตนจง (นาทีที่ 01:24:51) ทุกๆ คนเถิด ก็จะไม่เสียทีที่ได้อุตส่าห์ทนลำบากมาจนถึงที่นี่ เพื่อทำมาฆบูชา ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้