แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การพูดอย่างวันนี้ด้วยความเป็นห่วงผู้บวชใหม่ โดยเป็นห่วงว่าผู้บวชใหม่มีเวลาน้อย จะไม่ได้อะไรมากที่สุดเท่าที่ควรจะได้ ถ้าประมาทหรืออวดดีผมก็คงคิดว่าไม่มีความสำคัญอะไรที่จะต้องพูด แต่ถ้าพิจารณาดูแล้วก็มีทางที่จะได้หรือจะเสีย-ไม่ได้มากอยู่ ขอให้ตั้งใจฟังดู โดยเฉพาะผู้บวชใหม่ ก็ต้องการจะพูดเวลาอย่างนี้ เย็นๆด้วย และก็เวลาอย่างนี้ มันพูดกลางวันในห้องเรียน ในชั้นเรียนก็คิดว่าไม่ค่อยดี เมื่อวานก็พูดถึงเรื่องเฉพาะหน้า คือ เรื่องถือวิสัย มันเป็นเรื่องหนึ่งซึ่งสำคัญว่ามันจะแก้ความกระด้าง ทิฐิ มานะ หรือความมักง่าย ความสะเพร่า วันนี้ก็อยากจะพูดถึงเรื่องเบื้องต้นทั่วไป คือ ความหมายของคำว่า บวช
เท่าที่รู้กันว่าบวชคืออะไรนี้มันยังน้อย คือ บวชเพียงกิริย ท่าทาง ขนบธรรมเนียม ประเพณี ไม่ค่อยสนใจกันถึงเรื่องทางจิตใจ ก็ลองฟังดูว่ามันยังมีอะไรอีก นอกจากว่าโกนหัวมาอยู่อย่างนักบวชในวัดนี้ มันยังมีอะไรอีก ใจความสำคัญมันมีว่าฝึกฝน บังคับตัวเอง ฝึกฝนการบังคับกิเลส บังคับตัวเอง ที่สูงขึ้นไปจากที่ฆราวาสเขาจะบังคับกันอยู่ ถ้าว่าโดยที่แท้ไอ้เรื่องบวชนี้เป็นเรื่องของคนที่พอใจ หรืออิ่มแล้ว ในเรื่องของความเป็นคฤหัสถ์ นี่ตามหลักทั่วไป แล้วก็เคยบอกให้ทราบแล้วหลังจากความเป็นคฤหัสถ์ก็จะเป็นวนปรัสถ์ ที่อยู่ด้วยความสงบ เรื่องบวชมันอยู่ที่นี่ ตอนนี้อายุเกษียณอายุ เกษียณอายุจากความเป็นผู้ครองเรือน ๕๐ ปี ๖๐ ปี อายุ ๖๐ ปีก็พอดีแล้ว ผมอยากจะบอกนิดหนึ่งว่า ผมก็พยามยามสังเกตมาก ก็รู้สึกทีเดียวว่าไม่ใช่ด้วยอุปาทาน พออายุ ๖๐ ปีนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงมากทางจิตใจ เขาคงถือเอาข้อเท็จจริงอันนี้ พูดกันมาแต่เดิม แต่ก่อนโบราณกาล อายุ ๖๐ ปีนี่มันพอกันทีสำหรับเรื่องยุ่งๆ ทีนี้ ต่อมานี่มาในเมืองไทยใช้อายุ ๖๐ ปีนี่ กำหนดเกษียณอายุราชการ ก็เข้ากันกับของโบราณที่เขาวางไว้ถือเป็นหลักกันมา ตามที่ธรรมชาติมันบังคับ ดังนั้น ก็ขอให้ลองสังเกตเถิดต่อเมื่อมีอายุ ๖๐ ปีด้วยตนเองมีอะไรแสดงให้เห็นไหม? ถ้าไม่สังเกตมันก็ไม่เห็น มันคล้ายๆกับว่าจะทรุดวูบวาบลงไปทางร่างกาย โดยทั่วไปนี้มีอ่อนสมรรถภาพ ในทางตา หู จมูก..อะไรนี่..พวกที่เป็นความรู้สึก ความอดทน ความคิดนึก ความจดจำ ทีนี้ถ้าต่อสู้ได้ใน ๓-๔ ปีต่อมามันจะค่อยกระเตื้องขึ้นอีกทีหนึ่ง แต่มันไปเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของคนแก่แล้ว นี่ หมายความว่าไม่ได้เป็นโรคอะไรไปตามธรรมชาติแท้ๆ ดังนั้น ไอ้ธรรมเนียมโบราณก็เมื่อพอใจแก่ความเป็นฆราวาสแล้วก็ออกบวช ทีนี้ต่อมามันเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในเมืองไทยนี้มีธรรมเนียมบวชตั้งแต่หนุ่มๆหรือบวชชั่วคราว ในระหว่างที่อายุยังไม่มาก นี่, ธรรมเนียมใหม่เนื่องจากเจ้านาย หรือเจ้าแผ่นดิน ก็บวชกันเล็กๆน้อยๆประชาชนก็เลยถือเอาเป็นตัวอย่างแล้วทำตาม ทีนี้ มันมีการบวชอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งความหมายไม่เหมือนกัน ที่แท้ก็มันไม่ใช่การบวช มันคือ โรงเรียน นั่นเองแหละ สมัยโบราณเขาไม่มีโรงเรียนเหมือนที่อย่างเดี๋ยวนี้ มันก็คือ สำนักหรืออาศรมของผู้มีความรู้ เปิดขึ้นเพื่อรับคนหนุ่ม ให้ได้รู้ในสิ่งที่ควรจะรู้ มีระยะเวลาจำกัด ถึงพอสมควรแล้วบอกว่าพอๆ ออกไปได้ ไปเผชิญโลก อย่างนี้ที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องบวช เป็นเรื่องไปเรียนอะไรนี่ เหมือนกับไปเรียนสำนัก ทิศาปาโมกข์ ยังไงทำนองนั้น เดี๋ยวนี้ที่เราบวชกันในเมืองไทย คนหนุ่มมันก็อยู่ในรูปนี้ในอย่างหลัง ผู้ใหญ่คนเฒ่าคนแก่คงมองเห็นว่าคนหนุ่ม-ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติ ไม่มีการควบคุมมากเป็นพิเศษในระยะนั้น อาจจะมีจิตใจที่อันตรายเสียหายได้ เพราะฉะนั้น ให้บวชเณรบวชพระเมื่อหนุ่มๆ แล้วก็มาอยู่ในระเบียบที่เข้มงวดกวดขัน มันก็เปลี่ยนนิสัยเป็นคนที่มีระเบียบขึ้นมา จำเป็นมากสำหรับคนบ้านนอก แต่ถ้าไปเรียนในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัยอย่างเดี๋ยวนี้ มันก็ทดแทนกันได้ ถ้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยนั้นมันดีมีหลักการที่ให้คนหนุ่มอยู่ในกรอบ อยู่ในขอบเขต ด้วยการบังคับตัวเองด้วยความอดกลั้น อดทนในทุกอย่าง แต่ตกมาถึงเดี๋ยวนี้มันเสียหมด เสียหมดทั้ง ๒ ทาง เช่น ทางวัดนี้ก็ไม่มีอะไรที่เป็นการให้บังคับตัวเองอย่างเข้มงวด อย่างแบบว่าระยะยาว ทีนี้ ทางในโรงเรียน ทางมหาวิทยาลัยก็ไปรับวัฒนธรรมใหม่มา ครูบังคับศิษย์ไม่ได้ ตีไม่ได้ ระเบียบไม่ต้องมี ดังนั้น นิสิตก็เลยเป็นลิงทโมน ไม่เคารพครู หรือมีอะไรมากไปกว่านั้นอย่างที่เห็นๆกันอยู่นะ ดังนั้น นักเรียน-นักศึกษาก็ไม่พบกันการบังคับตัวเอง ตามแบบของพรหมจารี เตลิดเปิดเปิง ไปเป็นอันธพาลทางวิญญาณมาก รู้อะไรก็เรียนเพื่อปาก เพื่อท้อง ปริญญาทั้งหลายก็เรียนเพื่อปาก เพื่อท้อง ไม่มีเพื่อบังคับจิตใจ เป็นพระเป็นเณรสมัยก่อน ก็เรียนอาชีพที่มีให้เรียนเหมือนกัน โดยมากการช่าง แต่นั่นไม่ใช่ความมุ่งหมายหรอก มุ่งมายให้อยู่ในกรอบ ในขอบเขต ในการบังคับตัวเองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย อย่างพรหมจารี ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ถ้าเรียนอะไรบ้างวิชาช่างในสมัยโบราณ วัดบางที่จะมีให้เรียน หรือมันเรียนกันแต่ในตัวมันก็เป็นพิเศษถือเป็นของพิเศษไม่ใช่ความมุ่งหมาย ความมุ่งหมายให้คนหนุ่มที่มีความกดดันมาก ในทางจิต ทางกิเลส เรียกหยาบๆว่า กลัดมัน ไปอยู่ในที่หรือในกรอบวงที่มันบีบคั้นการกลัดมัน ให้มันอยู่ในระเบียบให้มันได้ถูกต้องแล้วก็เลยเป็นผลดี แต่ตกมาถึงเดี๋ยวนี้มันก็เป็นอย่างอื่น ไอ้เรียนนักธรรม เรียนบาลีนี้ไม่ช่วยในเรื่องนี้ ทำให้มีความรู้ในทางหนังสือทางอักษรศาสตร์ ซึ่งล้วนแต่กระตุ้นจิตใจให้เห่อเหิม ทะเยอทะยาน มันก็มีความกลัดมันไปอีกแบบหนึ่งในวัดนี้เอง ก็แปลว่าวัดนี้ไม่เป็นที่พึ่งแล้วในทางนี้ ทีนี้ ทางโรงเรียนทางมหาวิทยาลัยก็เหมือนกัน ไม่มีอะไรทีจะบีบคั้นการกลัดมันของคนหนุ่มคนสาว เพราะระเบียบใหม่มันเปิดไว้อย่างที่ไม่รู้ว่าจะไปไหน ตามก้นฝรั่งในเรื่องนี้ มันก็อยู่กันอย่างคนกลัดมัน ไม่มีคำว่าครูบาอาจารย์ ไม่มีคำว่าลูกศิษย์ เขาสอนให้เรียกร้องสิทธิเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือเกินร้อยเปอร์เซ็นต์อีก ลูกศิษย์เรียกร้องสิทธิ์ที่ไม่ควรจะเรียกร้อง ทำตัวเป็นอุปสรรค หรือเป็นปรปักษ์กับครู ครูกับนักเรียนก็เลยไม่ได้รับโอกาสที่จะเป็นการบีบคั้นในทางกลัดมัน เพราะฉะนั้นต้องมุ่งหมายที่จะควบคุมซึ่งกลัดมันเป็นข้อแรกเป็นใจความสำคัญ หลังจากนั้น มันก็เรียน เรียนในสิ่งที่ควรจะเรียน เรียนวิชาความรู้ไป แต่การควบคุมจิตใจนั่นแหละเป็นข้อแรกหรือความมุ่งหมาย แต่ทีนี้พวกฝรั่งทำเสียหมด เป็นตัวอย่างทีเลวที่สุด เราไปตามก้นเขาก็ไม่มีการฝึกฝนทางจิต ทางวิญญาณ ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย พอดีมันมาพบกันเข้ากับประชาธิปไตย เด็กก็ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับเตลิดเปิดเปิงไปตามกิเลส มันก็ยุ่งกันมากขึ้นทุกที ไม่มีความสงบสุข สู้สมัยคนที่ไม่ค่อยรู้หนังสือ ความเป็นอันธพาลในเมืองหลวงหนาแน่น จนผมนึกทีไรแล้วก็สลดใจ สี่ห้าสิบปีมาผมยังไม่ทันบวช เคยไปกรุงเทพเหมือนกันแหละ ไม่พบอันธพาลกลางถนนหลวงเหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ นั่งรถลากไปกับเจ๊ก รถลากสองต่อสองจากทางล่างขึ้นไปทางท่าพระจันทร์ แล้วข้ามเรือไปบางกอกน้อยแล้วแกก็ไป แล้วไม่มีอันตรายอะไร ทุกหนทุกแห่งก็ยังเป็นอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้ได้ความว่า-ไม่ได้ ทำอย่างนั้นไม่ได้ แล้วเดี๋ยวนี้ มันเต็มไปด้วยอันตรายอย่างอื่นที่ไม่ใช่อันตรายจากอันธพาลแม้แต่กลางวันแสกๆ นี่แสดงว่าคนเรามันไปกันใหญ่แล้ว ไม่เชื่อพระ-เชื่อเจ้า ไม่เชื่อบุญ-เชื่อบาป เพราะไม่เคยพูดกันถึงเรื่องนี้การเล่าเรียน-เรียนแต่เพียงว่าหา-แสวงหาเพื่อความต้องการของเราได้มากที่สุดเท่าไร เป็นการดี เพียงเท่านี้มันก็เสียหลักจิตใจแล้วไม่ถือว่าดีหรือชั่ว ถือว่าได้แล้วเป็น-ดี นี่เรียกว่า เราหมดที่พึ่ง ทางแบบวัดนี่ก็เลวลงหรือหมดไป ทางโรงเรียนทางการศึกษาแผนใหม่มันก็ไม่ให้อะไรในเรื่องนี้ กลับยุแต่ให้อยาก หรือให้แสวงหาอย่างแรงกล้าทั้งนั้น นี่ผมขออภัย ที่พูดว่า ปริญญายาวเป็นหางนี้ มันมีแต่ปริญญายุให้ทะเยอทะยาน มีความปรารถนา มีความต้องการ มีความดิ้นรน
ทีนี้ พวกคุณมาบวชเป็นนิสิต มาบวชลาบวชระหว่างปิดภาค หรือว่าลาบวชข้าราชการ ลาบวชอะไรก็ตาม มันมีช่องมีโอกาสที่ว่าระหว่าง ๓ เดือนนี้ขอให้ได้รับอะไรที่เป็นความมุ่งหมายเดิมอันแท้จริงของการบวช นี่, ขอโอกาสพูดนิดหนึ่งว่าบางท่านที่บวชมาแต่อื่น อุปัชฌาย์จะสอนความหมายของคำว่า บวช อย่างไรก็ไม่ทราบ แต่ถ้าผมบวชก็สอนทุกทีจนคนรำคาญที่จะฟังแล้วสำหรับคำว่า บวช บวช แปลว่าเว้นหมดไปหมดจากภาวะ หรืการกระทำที่ฆราวาสเขาทำ คือให้เว้นหมดจากสิ่งที่จะต้องเว้นตามวินัยของการบวช ทีนี้ ทั้งหมดนั้นเป็นการบีบคั้น-บังคับตัวเองทั้งนั้น บังคับจิตใจ บังคับอะไรต่างๆไปในรูปใหม่ ให้ได้รับการบีบคั้น เมื่ออยู่ในระเบียบวินัย ในสิกขาบทมันมีการบีบคั้น-ช่วยไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าคิดว่าจะมาหาความสนุกสนานมันก็เป็นความคิดที่ผิด ผิดไม่มีอะไรเหลือ ถ้าคิดว่าจะเข้ามาสู่การบีบคั้นการขูดเกลานั้นแหละถูกที่สุด มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ตรงๆสั้นๆว่า พรหมจรรย์ของเรา, ของตถาคตนี้ เป็นไปเพื่อการขูดเกลา ช่วยจำไว้ที ชีวิตการบวชนี้เขาเรียกว่า พรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าท่านเปิดเผย ท่านยืนยัน ท่านบอกให้รู้ ว่าพรหมจรรย์นี้เป็นไปเพื่อการขูดเกลา มีความหมายอย่างเดียวกับว่า เป็นแผลเน่า แผลอะไรนี้ก็ขูดเนื้อเน่าออกไป ให้เหลือแต่เนื้อดีไปให้หายอย่างนั้น ขูดเกลา หมายถึงอย่างนั้น ทีนี้ พรหมจรรย์นี้เป็นไปเพื่อการขูดเกลาคือว่าเป็นไปเพื่อการขูดเกลาพิษร้าย นิวิเสวนะ นาทีที่19.28 พิษร้ายกาจต่างๆของคนหนุ่มที่มันเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นทุกวันทุกวันเพราะการตามใจตัวเอง ใครบังคับไม่ได้ แม้แต่พ่อแม่ก็บังคับไม่ได้ นี่คือ เนื้อร้ายหรือพิษร้าย ตัวหนังสือตัวนี้แปลว่า เสพมาผิด เพราะเสพมาผิดๆ เช่น เราเป็นเด็กพ่อแม่บังคับไม่ได้ มันก็เกิดความคบเสพกับสิ่งชั่ว สิ่งผิดขึ้นทีละนิดทีละนิด มีลักษณะยิ่งใหญ่ คือ การตามใจตัวเอง ตามใจกิเลส ตามใจตัวเองแล้วก็ทำอะไรอีกมากมายที่ไม่น่าดู นี่มันคือเนื้อร้ายที่ว่าพรหมจรรย์นี้มันจะต้องขูด ถ้าบวชจริงเรียนจริง ปฏิบัติจริง ก็จะต้องเอาให้จริงในระหว่าง ๓ เดือนที่บวชนี้ คือยอมให้มันขูดนะ อย่าคิดทำตามที่เคยชินอยู่เรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องนุ่ง เรื่องห่มอะไรทุกเรื่องหมดเลย ขอให้อยู่ในระเบียบแล้วระเบียบนั้นจะช่วยขูด พรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้าจะช่วยขูดให้สะอาดไปหมด ทางกาย ทางวาจา ทางใจ อิริยาบถไหน เดิน ยืน นั่ง นอน กิน อาบ ถ่าย ตลอดถึงการคิด-การนึกอะไรต่างๆ มันจะช่วยขูดให้เหลือแต่ส่วนที่สะอาดไม่มีโทษ ถ้าเอากันจริงๆ ๓ เดือนนี้ก็ช่วยได้มากนะ นี่เรียกว่า บวช ในภาษาไทย ในภาษาบาลีว่า ปัพพัชชา - ปวช ปัพ นั่นคือ ปะ / พะ ซ้อนกัน ๒ ตัวนะ คือ พ หรือ ว / พัชชา / ปวช นี่ บวช / บวช แปลว่า เว้นหมด ไปหมด เว้นหมด / ปะ แปลว่า หมด / ปช แปลว่า ไปหรือเว้น (นาทีที่ 21.27 - 21.48) มันต้องเว้นหมดจากเมื่อเป็นฆราวาส การคิด การกระทำ การพูดจา อะไรต่างๆนี่ต้องเว้น การกิน การอยู่ การนุ่ง การห่มอะไรต้องเว้นหมด เว้นความคิดนึกอย่างฆราวาส แล้วมารับเอาระเบียบวินัย วินัยที่เป็นหลักก็คือ ปาฎิโมกข์ อุตสาห์อ่านที่เป็นภาษาไทยนะ นี่เรียกว่า วินัย ที่ละเอียดปลีกย่อย เรียกว่า อภิวินัย ทำได้เท่าไรก็ได้ เว้นบ้างก็ได้ นั่นเป็นส่วน อภิวินัย แต่ว่าวินัยแท้ๆนั้นไม่มี ไม่มีโอกาสให้เว้น ไม่มีข้อยกเว้นต้องถือวินัยที่เรียกว่า ปาฎิโมกข์ ที่ว่า ๒๒๗ สิกขาบท เดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยถือเพราะเหตุการณ์บางอย่างเปลี่ยนแปลงจนไม่มีสิ่งเหล่านั้นแล้ว จนไม่มีภิกษุณี ไม่มีอะไร ข้อปฏิบัติ ๒๒๗ มันก็เหลือไม่ถึง ๒๒๗ แล้ว แต่ว่าต้องทำนะ ต้องทำกันเต็มที่ไปอ่านดูมันทั้งหมดเลย
ทีนี้ อ่านดูขอให้อ่านจับใจความให้ได้ อย่าเอาแต่ตามตัวหนังสือ ยกตัวอย่างที่ว่า เป็น อาบัติปาจิตตีย์ เพราะการหัวเราะในน้ำ หรือไปเล่นน้ำแล้วไปหัวเราะเล่นอยู่ในน้ำในสระ ในลำธารอะไรก็ตามเป็น อาบัติปาจิตตีย์ เพราะหัวเราะในน้ำ ตัวหนังสือมันว่าอย่างนั้น แต่ความหมายของมันนะเพราะเล่นน้ำเหมือนกับเด็กๆ ทีนี้ ต้องขยายความหมายออกไปว่าเล่นอย่างอื่นที่คล้ายกับเล่นน้ำก็เล่นไม่ได้เหมือนกันพระพุทธเจ้าท่านมุ่งหมายจะไม่ให้ทำในความหมายอย่างนั้น ไอ้ว่ายน้ำนี้ก็ต้องว่ายเมื่อมันมีอันตราย หรือแม้ว่าจะหัดว่ายน้ำนี้ไม่เป็นอาบัติข้อนี้ ถ้าเล่นน้ำเพื่อความสนุกสนานนั้นก็เป็นอาบัติ คือไม่ให้เล่นหัวอย่างเด็กในที่อย่างนั้น ก็ต้องเว้นกันหมด เราซื่อตรงต่อตัวเองอย่าเป็นเหมือนคนชาวบ้านฆราวาสเรียนวินัยเรียนกฎหมายเพื่อหาทางแก้ตัว เพื่อหาทางทำผิดไม่ให้ต้องผิดกฎหมาย หรือเพื่อช่วยคนทำผิด เขาเรียนกันอย่างนั้น นี่เราเรียนวินัยเพื่ออย่างนั้นไม่ได้ ต้องเรียนวินัยเพื่อปฏิบัติ ไม่ใช่เรียนวินัยเพื่อแก้ตัวว่าไม่ผิดวินัย หาช่องแก้ตัว ทีนี้โลกเลวลงเพราะว่าเขาเรียนกฎหมายกันในลักษณะอย่างนี้ เรียนกฎหมายเพื่อแก้ตัวให้ตัวเองหรือพรรคพวกของตัว เรียนกฎหมายเพื่อจะเอาเปรียบผู้อื่น คณะอื่น หมู่อื่น หรือประเทศอื่น เมื่อมีกรณีเกิดขึ้นระหว่างประเทศก็ใช้วิชากฎหมายเพื่อจะช่วยให้ตัวเองและเอาเปรียบผู้อื่น มันเป็นเสียอย่างนั้นเพราะมนุษย์มันเลวลงเห็นแก่ตัวมาก ทีนี้ เราบวชเข้ามาในศาสนานี้จะเรียนวินัยในลักษณะอย่างนั้นไม่ได้ เรียนวินัยเพื่อให้รู้หลักรู้ความมุ่งหมาย แล้วปฏิบัติให้ตรงจุดตรงความมุ่งหมาย แล้วก็ไม่งมงายชนิดถือตามตัวหนังสือ เพราะหัวเราะในน้ำตัวหนังสือมันว่าอย่างนี้ ที่จริงก็เป็นตัวหนังสือที่ถูกต้องและดีที่สุดแล้วหัวเราะในน้ำ คือ ไปหาความสนุกสนานในน้ำ ที่เขาแปลเป็นภาษาไทยให้เรียนดูเหมือนว่ายังไม่ค่อยถูกหรอกเป็น อาบัติปาจิตตีย์ เพราะว่ายน้ำเล่นยังไม่ถูก ถูกไม่หมด บาลีเดิมเขว่า อุทะเก หัสสะธัมเม ปาจิตตียัง ตามตัวหนังสือแต่ละตัวสรุปแล้วเป็น ปาจิตตีย์ เพราะหัวเราะในน้ำ จะว่ายน้ำหรือจะไม่ว่ายน้ำตามแต่ลงไปเล่นน้ำ หยอกกันเล่น หัวเราะกันได้ในน้ำก็เรียกว่า เล่นน้ำ เป็น ปาจิตตีย์ เพราะเล่นน้ำเพื่อความสนุกสนานไม่ใช่ว่ายน้ำเล่นอย่างเดียวมีอย่างอื่นด้วย นี่ก็ต้องเรียนให้รู้ว่าความหมายมันเป็นอย่างนี้ ถ้าถือตามตัวหนังสือก็ดี ดีกว่าความหมายที่มันผิด แต่ถ้าถือตามตัวหนังสืออย่างเดียวไม่ถือตามความหมายที่กว้างที่ถูกมันก็ไม่ค่อยดี เพราะฉะนั้น ทุกๆองค์ต้องมีหนังสือ นวโกวาท ถ้าบวชที่นี่ต้องระบุให้ซื้อหนังสืออุปสมบทวิธีและบุพกิจภิกษุ ใหม่ เล่มหนึ่ง นวโกวาท เล่มหนึ่ง ๒ เล่มแล้วก็พอที่จะเรียน
ทีนี้ เมื่อปฏิบัติตามวินัยเหล่านั้นมันก็มีการบีบคั้นตัวเอง ส่วนที่เป็นของเลวก็ให้รีด บีบรีดให้ออกไป ให้เหลือแต่ของที่ไม่เลว คือ ดี อยากจะขอร้องทุกๆองค์โดยเฉพาะที่บวชใหม่นี้ว่าจงเสียสละ เสียสละความสุขสนุกสนาน เสียสละความเห็นแก่นอน แก่พักแก่ผ่อนนี้ พยายามให้พระพุทธเจ้าเป็นเหมือนแพทย์ถือเหล็กคมๆมาขูดแผลเน่าของเรา พูดอย่างอุปมาให้จำง่าย ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้มันจะเป็นเหมือนอย่างนั้นจริงๆ เหมือนกับพระพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่ถือเหล็กคมๆมาขูดแผลเน่าที่ตัวที่เนื้อของเรา ขอให้นึก-ให้เห็นกันอย่างนี้ ให้เห็นอย่างเดียวกันกับที่พูดเมื่อคืนนี้ว่าโดยหลักการที่พระพุทธเจ้าได้วางไว้อย่างมีอะไรในตัวอย่างลึกซึ้ง จะทำให้ศาสนาอยู่ได้ จะทำให้พระศาสนาอยู่ได้ กี่พันปีก็ได้โดยไม่ต้องมีอะไรภายนอกชนิดที่เป็นการบีบบังคับ ลงโทษลงทัณฑ์กันเหมือนเดี๋ยวนี้ การมีกฎหมายคณะสงฆ์หรือกฎหมายทางบ้านเมืองที่มาบังคับพระนี้เป็นของไม่ถูกต้อง แต่ว่าจำเป็นเพราะว่าคนมันเลวลง ก็ต้องให้กฎหมายทางโลกๆออกกฎหมายมาบังคับพระอีกทีหนึ่ง เพราะว่าพระไม่ทำตามหลักการที่พระพุทธเจ้าท่านวางไว้ ถ้าพระเราทำตามหลักการที่พระพุทธเจ้าท่านวางไว้จะไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องมีกฎหมายคณะสงฆ์ ขอให้จงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า แล้วการบวชนี้จะเป็นการบวชที่ได้ผลเหลือที่จะกล่าว ได้ผลมหาศาล ตัวเองก็ได้ ญาติพี่น้องบิดามารดาก็ได้ เพื่อนมนุษย์ก็ได้ ศาสนาเองก็พลอยได้ ผมบอกอานิสงส์อย่างนี้ อานิสงส์ของการบวช ผู้บวชได้มากที่สุด คือ เปลี่ยนหมดข้างใน ให้มันเปลี่ยนไปในทางที่ถูกต้อง แล้วญาติทั้งหลายมีบิดามารดาเป็นต้นพลอยอิ่มอกอิ่มใจ พลอยได้รับส่วนกุศล เป็นญาติกับพระศาสนามากขึ้น คือ มีหัวใจเข้ามาในพระศาสนามากขึ้น ช่วยกันทำให้สิ่งนี้มีอยู่ในโลกโลกนี้จะมีสันติ แล้วศาสนาก็ไม่ขาดสูญ จะมีการสืบอายุพระศาสนาต่อไปอีกนี้ได้ผลดีอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงหวังว่า ๓ เดือนเท่านั้นที่ลาบวชนี้ บวชใหม่นี้ คงจะยินดีกันทุกคนอยู่หลายๆปีอยู่ อยู่ตลอดชีวิตนี้มันก็มีงานที่จะต้องทำ ต้องทนมาก แต่ว่าช่วง ๓ เดือน ๔ เดือนที่บวชนี้ควรจะตัดใจ อดกลั้น อดทนให้มันได้ ให้มันได้เต็มที่ ทีนี้ อย่าไปมองไปในแง่อื่นที่มันจะทำให้ท้อถอย ถ้ามีเพื่อนบรรพชิตที่เลวก็ไม่จำเป็นจะต้องไปสนใจหรือเอาตัวอย่าง เพราะเราต้องการจะทำให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นช่วยไม่ได้เมื่อมันอยู่กันมากๆ บวชตามที่มันเป็นประเพณีแล้วมันต้องมีคนที่เลว มีพระ มีเณรที่เลวติดเข้ามาบ้าง นี่อย่าไปเอาเป็นข้ออ้าง คือ ต้องถือเอาพระเณรที่ดีเป็นตัวอย่าง เป็นข้ออ้างไว้เสมอ ทีนี้ มักจะว่าคนนั้นทำถึงอย่างนั้น เราไม่ได้ทำถึงอย่างนั้นก็ควรจะทำได้ อย่างนี้มันก็เลวลง เลวลงเพราะไป เพราะไปเอาคนเลวเป็นเครื่องอ้าง ในโลกกำลังเป็นอย่างนี้ นักเรียนหรืออะไรก็เหมือนกัน ไปเอาผู้เลวเป็นเครื่องอ้างมันก็กระโจนตามกันลงไป ทีนี้ พระพุทธเจ้าท่านว่ามีระเบียบมีวินัยอะไรอยู่อีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่ให้ทำอย่างนั้น ให้สลัดคนเลวทิ้งไปเสีย ไม่เอาอย่างอะไร แต่ว่าไม่จำเป็นต้องไปทะเลาะกับเขา เราไม่รู้ไม่ชี้ ดูแต่ว่าอะไรมันถูกต้องก็เอาอย่างนั้น ให้ทันกับเวลาที่ว่าเราบวช ๓-๔ เดือนนี้ ต้องได้อะไรมาก อย่าไปทำอะไรรั่วไหล หกไปเสีย โดยไปสนใจในเรื่องทำนองอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านขอร้องวิงวอนอะไรมากมาย ที่ว่าให้มีศีลเสมอกัน มีความคิดเห็นเสมอ เหมือนกัน แต่มันเป็นไปไม่ค่อยได้ มีศีลเสมอกันไม่ได้ ได้โดยยาก ยิ่งมีความคิดเห็นเสมอกันไปในแนวเดียวกันมันก็ยิ่งจะไม่ได้ ทั้งนี้พระพุทธเจ้าขอร้องวิงวอนวางไว้เป็นหลักว่า จงมีศีลสามัญญตา ทิฏฐิสามัญญตา แต่ขอให้ทุกคนพยายามทำ นี่เป็นอย่างนี้ ที่เสมอกันนี้ไม่ใช่ว่าให้ไปตามใจใครคนใดคนหนึ่ง ให้เอาตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงวางไว้อย่างไร เมื่อทุกคนปฏิบัติอย่างนั้นหรือคิดไปในแนวนั้นไอ้ความคิดและการปฏิบัติมันก็เหมือนกันได้ มันมีหลักอยู่อย่างนี้ ทีนี้ เมื่อคนบางคนเขาไม่ทำก็ยกให้เป็นคนเลวไปเสียก็แล้วกัน บางองค์ก็เห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัว เห็นแก่กิน เห็นแก่เกียรติ เห็นแก่อะไรก็อยู่ในพวกเลว ก็อย่าไปสนใจ ไม่ว่าวัดไหนมันต้องมีพระเลว ถึงแม้ในวัดของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาลก็มีพระเลว ไปอ่านดูประวัติทั้งหลายใน วินัยปิฏก พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ตั้งตัวเองที่จะไม่เลวไปตามนั้น หนักๆเข้าคนเลวมันก็อยู่ไม่ได้ เปรียบในเรื่องนี้ว่าเหมือนกับ ซากศพ ทะเลมันจะซัดขึ้นหาด หรือของต่างๆที่จะไม่ควรอยู่ในทะเล คลื่นในทะเลมันจะสาดขึ้นมาบนบก ทีนี้ เมื่อแต่ละองค์ถือวินัยไม่รู้ไม่ชี้กับคนเลว คนเลวมันจะอยู่ไม่ได้เอง ไม่เร็วก็ช้า ไม่ช้าก็เร็ว นี่เป็นปัญหาส่วนหนึ่งที่ว่ามันจะไปอึดอัดกับคนเลวถ้ามันมี ทีนี้ เราก็ทำตัวเหมือนกับว่าเรามีความต้านทาน มีอะไรคุ้มครอง เพราะเรามีเวลาจำกัด บวชเวลาจำกัด บวชใหม่นี้ ศึกษาในส่วนที่ควรศึกษาเป็นพวกๆไป เป็นเรื่องๆไป ทีนี้ ก็มาถึงคำว่าศึกษาคำว่า ศึกษา ในภาษาศาสนาหมายถึง การบีบบังคับ บังคับตัวเอง เรียกว่า ศึกษา เรียนพระไตรปิฏก เรียนนักธรรม เรียนบาลีนี้ พระพุทธเจ้าท่านไม่เรียกว่า-ศึกษา ไม่มีกิจการปริยัติในสมัยพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นมันก็ไม่เคยเรียก ไม่ถูกเรียก ไม่รู้เรื่อง มีแต่ ปฏิบัติ คือ รับคำบอกไปเพียงไม่กี่คำแล้วนำไปปฏิบัติเป็นเดือน ๆ แล้วก็ได้รับคำบอกหรือคำแนะนำที่เหมาะแก่ตนด้วย ไม่เหมือนกันทุกคน ไม่ใช่เรียนอะไรเหมือนๆกันทุกคน
ทีนี้คำว่า ศึกษา ก็คือ บีบบังคับตัวเองให้อยู่ในวินัย ในศีล ในสมาธิ ในปัญญาสิกขา ศีลสิกขาเรื่องวินัยควบคุมตัวเอง และหมู่คณะ สมาธิสิกขา หรือ จิตสิกขา นี่ฝึกฝนจิตบังคับจิต ให้จิตอยู่ในความถูกต้อง แล้วก็มีอำนาจ มีกำลังที่จะทำงานของจิต ทีนี้ ปัญญาสิกขา ก็คือ ทำให้เกิดปัญญา รู้สิ่งที่ควรจะรู้ถูกต้องตามที่เป็นจริง ไม่ใช่รู้หนังสือ ไม่ใช่ท่องสูตรท่องอะไร ปัญญาสิกขา หมายถึง ให้รู้ตัวความทุกข์ ตัวเหตุให้เกิดทุกข์ จากภายในจากตัวจริง จากของจริง อย่างนี้เรียกว่า ปัญญาสิกขา ตามความมุ่งหมายของคำว่า ศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา ส่วนการบรรยายเรียนปริยัติ เรียนสุตตะนั้น มันอีกอันหนึ่งไม่รวมอยู่ในนี้ นี่จึงขอให้พูดกัน คุยกัน ปรึกษากันแต่ในเรื่องของ หน้าที่ ศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา ๓ สิกขานี้ให้มันสนุกไปกันแต่ในทางที่จะรู้ และปฏิบัติกันในส่วนนี้เท่านั้นเองไม่มีอะไรหรอกที่เรียกว่า บวช บวช คือ บรรพชา มีเท่านี้เอง ศีลสิกขา นี่ก็ขูดเกลาเนื้อเน่าๆ ใหญ่ๆเลวๆ จิตสิกขา ก็ขูดเกลาที่รองเข้าไป ปัญญาสิกขา ขูดเกลาชั้นละเอียด ชั้นที่ดูคล้ายๆว่าไม่มีอันตรายแต่อันตรายลึกนะ นี่มันมีเพียง ๓ อย่างนี้ ศีล สมาธิ ปัญญา ทำไป ทำไป สมบูรณ์เมื่อไรเป็นพระอรหันต์เมื่อนั้น ถึงความสมบูรณ์ก็เป็นอะไรที่รองๆลงมาอย่างน้อยก็เป็นภิกษุ-สามเณรที่ดี ให้ผู้บวชใหม่ทุกองค์ถือว่าเวลามีน้อยมากถ้าไปสนใจนอกเรื่อง ไปสนใจนั่นนี่ หม่นหมองฟุ้งซ่านอะไรอยู่แล้วจะไม่ได้ผลตามที่ควรจะได้ในระยะเวลา ๓-๔ เดือนนี้
ที่นี้ ก็มีเรื่องอะไรอื่นๆที่เบ็ดเตล็ดออกไปจาก ๓ เรื่องนี้ เรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา นี้เป็น ๓ เรื่อง ถ้ารวมแล้วมันก็คือเรื่องเดียว คือ พรหมจรรย์ที่ขูดเกลากิเลส แยกเป็น ๓ เรื่อง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ทีนี้ ใน ๓ เรื่องนี้จะแยกเป็นเรื่องย่อยอีกเท่าไรก็ได้ แต่รวมแล้วมันเป็นเรื่องขูดเกลา ให้เป็นเรื่องขูดเกลาไปตั้งแต่เรื่องเบื้องต้นที่สุด เรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องอยู่ เรื่องนุ่ง เรื่องห่ม เรื่องใช้ เรื่องสอยนี่ เราก็ไม่ต้องถามใครนักก็ได้ คือ คิดเอาเองว่ากิน อยู่ นุ่งห่ม ใช้สอยสิ่งของต่างๆ ในลักษณะอย่างไร? มันเป็นการขูดเกลาความมักมาก ความเห็นแก่ตัว เมื่อก่อนบวชเคยอยู่สบาย นั่ง นอน กิน อยู่อะไรมันสบาย แต่พอบวชข้ามันก็เปลี่ยนแปลงไป คำว่า สบาย ก็เปลี่ยนไปเป็น สบายอย่างบรรพชิต สบายเหมือนกัน ก็เรียกว่าสบายเหมือนกัน พอเราบวชแล้วก็กิน อยู่ ใช้สอยอะไรอย่างเมื่อไม่ได้บวชนั่นแหละ เช่น มันจะต้องที่นอนสบาย ของใช้สวยงามอะไรต่ออะไรนี้ ไอ้ที่เคย สบาย เมื่อเป็นฆราวาสนั่นแหละ กลายเป็น อบาย หรือ ฉิบหาย หรือว่าเป็น ทุกข์ แก่ผู้ที่บวช ดังนั้น ผู้ที่บวชก็ต้องใช้เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ ไม้สอย อาหาร การกินอะไรต่างๆเปลี่ยนรูปไปหมด ให้มันสบายแก่ความเป็นนักบวช กินน้อย กินง่าย กินเลวด้วยก็ได้ นั่นแหละยิ่งสบายสำหรับผู้บวช คือ มันสบายแก่การกำจัดกิเลส ที่เราเคยกินอยู่ที่บ้านนั้นมัน สบายแก่การตามใจกิเลส คือ สบายแก่กิเลส ทีนี้ พอบวชมันต้องเปลี่ยนให้เป็นเรื่อง สบายแก่การกำจัดกิเลส คือ สบายแก่พระธรรม แก่ธรรมะ แก่ความเป็นธรรม ความมีธรรม ความประกอบด้วยธรรม เพราะฉะนั้น นอนง่ายๆหนุนหมอนไม้อะไรก็ตาม กลับสบาย สบายที่สุดสำหรับการกำจัดกิเลส จะช่วยให้การกำจัดกิเลสมันง่ายเข้า เพราะฉะนั้น อาหารก็เหมือนกันเคยอร่อยเคยติดในรสอาหารนั้นมันสบายแก่กิเลสมันก็เปลี่ยนเป็นให้มันถูกต้อง ให้มันสบายแก่การกำจัดกิเลสแก่พระธรรม ตามแบบตามระเบียบที่มีอยู่ก็กินอาหารสักแต่ว่ายังชีวิตให้เป็นไป ไม่ใช่กินอาหารให้อร่อยหรอก อยู่ที่บ้านมันไม่ใช่กินอาหาร มันกินกามารมณ์ชนิดหนึ่งทางลิ้น เขาเรียกว่า กามารมณ์ หรือ กามคุณ กินเพื่ออร่อย นั่นมันกินเพื่อ กามารมณ์ หรือ กิน กามคุณ ถ้ากินเพื่อชีวิตอยู่ได้อย่างถูกต้องนี่เรียกว่า กินอาหาร กินอาหารอย่างถูกต้องไม่เป็นกามารมณ์ เราต้องเปลี่ยนมาเป็นกิน อยู่ นุ่ง ห่ม ใช้ สอย อย่างที่ไม่เป็น กามารมณ์ แต่เป็นปัจจัยที่จำเป็นแก่การมีชีวิตอยู่ เดี๋ยวจะเข้าใจผิดว่าทำไมต้องมีจีวรสวยเรียบร้อยอย่างนี้ นี่, ไอ้ความหมายที่ลึกมันอยู่ที่อย่างอื่น จีวรนี้ไม่ต้องการให้สวย ต้องการให้ตัดไห้แหลก ไม่เป็นที่ปรารถนาแห่งโจร ให้เป็นที่ขโมยไม่ต้องการเพราะมันถูกตัดแหลกแล้วมาเย็บ ปะ ชุนเข้า จีวรที่แท้มันเป็นอย่างนี้ แล้วก็ย้อมให้มันทนทาน แล้วก็เป็นสีที่เหมาะสมสำหรับผู้เป็นนักบวชจะไม่ลำบาก ทีนี้ มาเห็น โอ้, จีวรต้องเย็บสวย ต้องผ้าเนื้อดี ต้องย้อมสีสวยละก็กลายเป็นสวยไปเลยนี่มันผิด ผิดไปหมด นี่, อาหารก็เหมือนกัน ต้องเป็นเปรต ปรทัตตูปชีวี เป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่ได้เพราะสิ่งที่ผู้อื่นให้ อย่างเราฉันกันอยู่ทุกวันนี้ถือว่าชาวบ้านให้ หรือแม้แต่โรงครัวให้ ก็ต้องถือว่าเป็นผู้อื่น เราไม่ได้ไปบีบบังคับเขาว่าให้อย่างนั้น อย่างนี้ เขาจะทำมาตามเห็นสมควร ฉะนั้น เราต้องกินอาหารที่เรียกว่า ตามที่ผู้อื่นให้ ตามมี ตามได้ บางทีก็อร่อย บางทีก็ไม่อร่อย บางทีก็มากไป บางทีก็น้อยไป บางทีก็เย็นชืดมาก มันก็แล้วแต่มันจะนั้นนะจึงจะเรียกว่า กินอาหารอย่างพระ ที่อยู่อาศัยก็นับว่าไม่มีปัญหา ที่จัดให้อยู่มันก็ถูกต้อง อย่าไปเปลี่ยนแปลง อยู่ง่ายๆแต่ละส่วน เป็นส่วนๆไป เรื่องยาแก้โรคนี่-ของเดิมแท้ๆเภสัชที่ทำประกอบขึ้นมาโดยใช้น้ำมูตรเป็นหลัก เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครรู้จักแล้ว ทำไม่เป็นไม่ได้ เราถือหลักว่าให้มันง่าย ให้มันไปตามธรรมชาติ อย่าให้กลายเป็นหยูกยาที่มันสำอาง แต่เรื่องนี้ไม่เป็นไร เพราะว่าไม่มีใครอยากกินยาเพื่อความเอร็ดอร่อย หรือกามารมณ์ ก็แปลว่า ใช้ยาตามที่มันจำเป็นเพื่อที่จะแก้โรค แต่ต้องยอมรับด้วยความอดทน อย่าไปนึกว่าต้องไม่เจ็บ ต้องไม่ขม ต้องไม่อะไรอย่างนั้น ให้มันขม ให้มันเจ็บอะไรไปตามเรื่อง มันหายก็แล้วกัน
สมัยพระพุทธเจ้าโดยสมัยโน้นมันง่ายมาก พูดไปมันก็ยืดยาว แต่สรุปความว่าคนมันมีชีวิตหรือมีการเป็นอยู่ชนิดที่เป็นโรคภัยไข้เจ็บน้อย ไม่รู้จักโรคเส้นประสาท ไม่รู้จักความดันโลหิตสูง ไม่รู้จักเบาหวาน ไม่รู้จักอะไรเหล่านี้ โรคเหล่านี้เป็นของสมัยใหม่ เพิ่งเกิดเมื่อมนุษย์มีภาระมาก มีความวิตกกังวลมาก เพราะฉะนั้น เขาจึงมีโรคชนิดที่มันธรรมดาธรรมชาติเหลือเกิน เป็นได้ยากหายได้ง่าย จึงใช้ ยามูตรคูตเถ้าดินอะไรก็ได้ มูตร คือ ปัสสาวะ คูต คือ อุจจาระ ขี้เถ้า แล้วก็ดิน ๔ อย่างนี้เป็นยา ที่ภิกษุคว้ามาฉันได้ที่ไหนก็ได้ไม่ต้องประเคน เรียกว่าไม่ต้องประเคน แต่อาจจะเอามาผสมปนเป ปรุงแต่งกันไปได้ ใช้ดินเป็นเยื่อยา ใช้น้ำมูตรเป็นน้ำละลายยา แล้วเอาไปผึ่งแดดให้เปลี่ยนแปลงให้เป็นของกินได้ มันก็แก้โรคอะไรได้หลายอย่างจริงเหมือนกันโรคเท่าที่มนุษย์จะเป็นตามธรรมชาติแล้วหายแน่ แต่ถ้าโรคบ้าบอของคนสมัยนี้มันอาจจะแก้ไม่ได้ เพราะว่ามันเกินไป มันเกินธรรมชาติ แต่ดูสัตว์เดรัชฉานเป็นโรคน้อย เป็นโรคภัยไข้เจ็บน้อย เมื่อพันปีมาแล้วเป็นอย่างไรมันก็มีโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้นแหละ แต่มนุษย์นี้มีโรคภัยไข้เจ็บใหม่สมัยใหม่ยิ่งใหม่ขึ้นทุกที เพราะความเป็นอยู่มันเปลี่ยนแปลง คนเดี๋ยวนี้จะต้อกงใส่ฟันใหม่ ใส่ฟันชุดใหม่เมื่ออายุ ๒๐ ๓๐ ก็มีเพราะอาหารการกินเปลี่ยนแปลง อะไรเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลง แต่สุนัขไม่เคยใส่ฟันใหม่ อยู่ไปจนตัวตายเหมือนกับที่แล้วมา เพราะมันไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องกินเรื่องอะไร นี่มีการเปลี่ยนแปลงในการเป็นอยู่-การกินเอามาก สิ่งเหล่านี้มันก็ชำรุดเร็ว ผมเดี๋ยวนี้อายุ ๖๖ ปียังใช้ฟันชุดเดิม แม้ว่าบางอันจะผุไปบ้างต้องถอนทิ้งแต่ว่าที่ยังเหลืออยู่ยังใช้ได้ ไม่ได้เติม ที่โหว่ก็โหว่อยู่ ยังใช้ได้ เพราะว่าผมยังกินอาหารกินอะไรตามแบบเดิมหรือตามแบบวินัยของพระ แต่คนที่เขาเปลี่ยนไปกินอาหารแบบสำอาง แบบสำรวย แบบพร่ำเพรื่อ หรือได้รับเชื้อโรคชนิดนี้มาจากบิดา-มารดาที่จะให้ฟันเลวลง นี่มันก็ไปใหญ่จะเลวลงทุกที จะต้องใส่ฟันปลอมกันตั้งแต่อายุ ๒๐ / ๓๐ นี่, ความเปลี่ยนแปลงของโลกมนุษย์ไปในทางให้มีโรคมาก ให้มีทุกข์มากให้มีลำบากมาก เพราะฉะนั้น ในระหว่างบวชนี้อุตส่าห์ศึกษาให้เข้าใจ จะได้ไปจัดแจงปรับปรุงให้มันพอเหมาะสม นี่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ สำคัญตรงที่รู้ว่า กิเลส-ตัณหามันกำลังครอบครองโลกทั้งโลก ทำให้โลกเปลี่ยนแปลง ทั้งโรคภัยไข้เจ็บก็เปลี่ยนแปลง อะไรก็เปลี่ยนเลยยุ่งยากไปหมด และไม่รู้จะรักษากันอย่างไร ไอ้โรคมี่มันก้าวหน้านำความสามารถของหมอ ของเจ้าหน้าที่รักษาโรคอยู่เรื่อยไป ถ้าในสมัยโบราณมันแทบจะไม่มีอะไรลักษณะอย่างนี้ แล้วก็เป็นยาก-หายง่ายอย่างที่ว่า เพราะร่างกายมันมีความต้านทานสูงมาก เข้มแข็งมาก เดี๋ยวนี้อะไรนิดหนึ่งก็ท้องเสียเพราะว่ามันอ่อนแอเต็มที ถ้าคนสมัยโบราณครั้งกระโน้นกินอะไรเข้าไปก็ได้ ท้องไม่เสีย พวกโยคีกินรากไม้ กินใบไม้ กินอะไรอยู่ได้โดยไม่ตาย ไม่เจ็บไข้ มีแรงทำอะไรได้ เดี๋ยวนี้ ที่เขายังเป็นอยู่กันอย่างโยคีสมัยโบราณก็มีพอหาดูได้ที่อินเดียแถวฤๅษีเขตแถวนั้นไปดูได้ เขากินอาหารนิดๆเท่านั้น เขาก็แข็งแรงมาก
เอาละ สรุปความกันทีหนึ่งก่อนก็ได้ว่า ไอ้เราบวชนี้เพื่อจะมาเรียนเรื่องที่หาเรียนที่อื่นไม่ได้ คือ เรียนเรื่องทางจิตใจ ให้มีจิตใจเข้มแข็งที่ว่าอบรมดีแล้วเพื่อที่จะไปเผชิญกันกับไอ้โลกที่มันแสนจะเลวลงทุกที จะเป็นบ้ามากขึ้นทุกที ถ้าไม่อย่างนี้แล้วก็ไม่มีประโยชน์หรอกอย่าบวชเลยป่วยการ ไม่คุ้มกันหรอกที่บวช ใช้คำอย่างอื่นก็ว่า เรามาบวชเพื่อเตรียมให้พร้อมที่จะกลับไปอยู่ในโลกที่มันเต็มไปด้วยคนบ้ามากขึ้นทุกที ผมนึกดูแล้วนี่ไม่มี.. ไม่มีคำอื่นที่จะชัดเจนเหมือนอย่างนี้ ในโลกนี้จะมีคนบ้ามากขึ้นทุกที แล้วเราจะต้องอยู่ร่วมโลกกับคนบ้า นี้มันลำบาก ยุ่งยากเหลือประมาณ เพราะฉะนั้น มาบวชเพื่อโอกาสจะศึกษา วิธีของพระพุทธเจ้าที่ถ้าใครมีความรู้ความสามารถในที่นี้นะ พอจะอยู่ไปได้ร่วมโลกกันกับคนในโลกที่มันบ้าขึ้นทุกที คือ เราจะไม่เป็นทุกข์ พูดง่ายๆว่าเราจะไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าเรามีวิชาความรู้อันนี้ของพระพุทธเจ้านี่ ไอ้โลกบ้าๆนั้นจะไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ได้ นี่อานิสงส์เท่านี้ก็พอแล้ว ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วเราก็พลอยเป็นบ้าไปด้วย แล้วก็ไม่ต้องรู้กันว่าใครบ้าหรือใครดี หรือว่ามีความทุกข์จนถึงกับว่าจะต้องตายนี่ก็ไม่รู้ว่าเพราะเหตุอะไรหรือจะแก้ไขกันอย่างไร อย่าหาว่าตำหนิติเตียนหรือว่านินทาใคร ดอกเตอร์ที่วิทยาลัยสงขลานี่นะ ที่ถูกอาจารย์ผู้หญิงยิงตายในรถยนต์ที่กรุงเทพเมื่อ ๒-๓ วันนี้ คุณเอาไปคิดก็แล้วกันว่าเรื่องอย่างนี้มีไม่ได้ มีไม่ได้ในสมัยเมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ก็ยังมีไม่ได้ ดร. สตางค์ เป็นอธิการวิทยาลัยสงขลาแล้วก็อาจารย์โทอะไรที่จุฬาเป็นผู้หญิง แล้วก็ยิงตายในรถยนต์ด้วยกันตอนก่อนจะสว่าง นี่เรียกว่าคนมีความรู้ คนถูกยิงตายก็มีความรู้ คนยิงก็มีความรู้ แล้วเรื่องที่ไม่จำเป็นจะต้องมี-ทำไมมี? เอาไปคิดเรื่องอย่างนี้จะได้รู้ว่า ไอ้การศึกษามันไม่พอในทางที่ในทางที่จะทำให้คนเราเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง ขออภัยที่ต้องพูดว่าเมื่อคุณมีอายุเพียง ๒๐-๓๐ ปีนี่คุณไม่ได้เห็นว่าเมื่อ ๕๐-๖๐ ปีมาแล้วมันต่างกันอย่างไร? ผมยังพอทันเห็น คำว่า ครูหมายความว่าอะไร? คำว่าลูกศิษย์หมายความว่าอะไร? คำว่าเพื่อนหมายความว่าอะไร? มันต่างกันหมด ต่างกันลิบลับจนเดี๋ยวนี้ไม่มี ไม่มีครูบาอาจารย์ ไม่มีลูกศิษย์ ไม่มีเพื่อนกระทั่ง ไม่มีบิดามารดาแล้ว คือมันไม่ถูกต้องตามความหมายของคำเหล่านั้น ก็เรียกว่า ไม่มี ก็เรียกว่าในโลกมีคนบ้ามากขึ้นทุกที กระผมนั่งรถยนต์ไปในกรุงเทพและชอบนั่งข้างหน้ากับคนขับรถ ไม่ชอบนั่งข้างใน และบอกเตือนอยู่เสมอว่า เราต้องเผื่อคนบ้าไว้บ้างนะเธอขับรถนี่ ต้องเผื่อว่ารถคันอื่นมันเป็นคนบ้า ถ้าคิดว่าเท่ากันแล้วมันไม่ได้เดี๋ยวมันเกิดเรื่องแน่ คิดว่าเราขับรถรวมอยู่กับคนบ้า เราจะได้ระมัดระวังด้วยกันมากขึ้น จะได้ให้โอกาสแก่มัน-ให้มันไป ผมนั่งไปกับคุณสัญญา ธรรมศักดิ์ ข้างหน้าด้วยกันวันหนึ่ง ตรงที่เลี้ยวถนนมหาชัยนั่นนะ มีรถคันหนึ่งเป็นรถแท็กซี่มันทำผิด มันเลยเกิดการเฉียดเหมือนจะชนกันเพราะความผิดของเขา มันยังด่าคุณสัญญาใส่หน้าเลย ว่า มึงผิดนะ นี่ต้องถือว่าอย่างนี้นะ คุณสัญญา ธรรมศักดิ์นี่แหละ นี่ถือว่าเราอยู่ร่วมกับคนบ้ามากขึ้น มันต้องมีอะไรที่จะต้องระวัง ยอมเสียเปรียบ ยอมเสียเวลา ยอมผ่อนผันอะไรกันมากขึ้นเพื่อที่จะอยู่ในโลกร่วมโลกกับคนบ้า ในระหว่างที่บวชนี้ขอให้ฝึกการอดทน การให้อภัย การอดทน เราจะต้องเป็นฝ่ายทนให้แก่คนบ้า ทีนี้ ถ้าคุณไม่ฝึกไว้ให้ดีคุณจะทนไม่ได้แล้วจะไปมีเรื่องกับคนบ้านี่ดีไหม? ลองคิดดูระหว่างที่บวช ๓-๔ เดือนนี้มันมีบทเรียนที่ยาก ที่ลึก ที่อะไรที่จะต้องฝึกฝน แล้วมันรวมกันอยู่ในคำเดียวกันกับคำว่า พรหมจรรย์ ของพระพุทธเจ้า ความไม่อดทนนั้นคือเนื้อเน่าโรคร้ายอะไรอันหนึ่ง ต้องขูดออกไปต้องอดทน ความไม่อภัยก็ต้องขูดออกไป ความไม่เสียสละก็ต้องขูดออกไป กระทั่งไอ้ความมักใหญ่ใฝ่สูง ความทะเยอทะยาน ความไม่ดีอะไรอะไรล้วนแต่ต้องขูดออกไป ขูดออกไป ไม่บวชมันไม่ค่อยมีโอกาสจะรู้สึก หรือขูดหรอก มันยุ่งไปหมด เพราะฉะนั้น โอกาสที่บวชนี้วิเศษที่สุด ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดที่จะศึกษาเรื่องที่ละเอียดประณีตเกี่ยวกับจิตใจ เกี่ยวกับโลกนี้ว่ามันกำลังเป็นอย่างไรมากขึ้นทุกที แล้วไม่ต้องพูดถึงคนนอกหรอก แม้แต่คนในครอบครัวบุตร-ภรรยานี้ก็เหมือนกัน มันจะมีอะไรมีปัญหามากขึ้นทุกที ถ้าเราไม่ฉลาด ไม่อดทน ไม่อะไรพอมันต้องเกิดเรื่องแหละ การที่บังคับผู้อื่น-ต้องบังคับตัวเองได้ ถ้าบังคับตัวเองไม่ได้บังคับผู้อื่นไม่ได้ไม่มีทาง มันก็ไปทำให้เกิดเรื่อง เกิดราว เกิดโมโหโทโส ตีกันตายเสียก่อนเพราะฉะนั้น โอกาสที่บวชนี้เป็นโอกาสที่จะฝึกฝนการบังคับตัวเองอย่างยิ่งทุกแง่ ทุกมุม กลับออกไปจะได้เป็นคนละคน เป็นคนที่เรียกว่า มีเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง ไม่ให้ไปเป็นอันตรายอะไรได้ แขวนพระเครื่องคุ้มครองคุ้มไม่ได้หรอก ถ้าจิตใจมันไม่รู้ธรรมะ มันไม่มีธรรมะ ไม่มีความเฉลียวฉลาด ความรอบคอบความอดทน ความอะไรนี้เป็นตัวธรรมะที่เป็นพระพุทธเจ้าคุ้มครองคน รูปพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องรางแขวนคอนี้มันคุ้มไม่ได้ เราต้องอาศัยสิ่งนั้นให้ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า แล้วปฏิบัติตามพระพุทธเจ้ามันจึงจะคุ้มครองได้ เอาพระพุทธเจ้าจริงไว้ในใจเสียดีกว่า ดีกว่าเอารูปของท่านมาแขวนคอ ก็คือ อุตส่าห์ทำซะตอนนี้ ตอนที่บวชอยู่นี้ให้มันเกิดพระพุทธเจ้าจริง รู้จักพระพุทธเจ้าจริง คุณธรรมที่เป็นพระพุทธเจ้านั้นมาอยู่ในใจของเราจริงๆ ความสะอาด สว่าง สงบ กระจายออกไปเป็นความรอบรู้ เป็นความรอบคอบ เป็นสติ-สัมปชัญญะ เป็นความอดกลั้น-อดทน เป็นการให้อภัย เป็นการยิ้มได้แม้เมื่อถูกเอาเปรียบ ถูกโกง นั่นแหละเป็น คุณธรรม
แล้วสรุปแล้วก็ขอสรุปเตือนสักประโยชน์หนึ่งช่วยจำไปด้วย ถ้ามันเกิดยุ่งยากด้วยปัญญาหาอะไรก็ให้หยุดชะงักไว้ทีหนึ่งก่อน อย่าเพิ่งทำลงไปตามนั้น สำรวมจิตใจแล้วก็ถามตัวเองว่า นี่, ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้ามาอยู่ที่นี่แล้วเราทูลถามท่านเรื่องนี้ท่านจะแนะนำอย่างไร? ถ้าเราไปถามพระพุทธเจ้าท่านจะแนะนำอย่างไร? เอาประโยคนี้ไว้ใช้เมื่อมันเกิดปัญหายุ่งยากขึ้นในใจ หรือมันเผชิญหน้ากับข้าศึก-ศัตรูปรปักษ์ พระพุทธเจ้าจะแนะนำอย่างไร? เดี๋ยวก็เรานึกได้เอง พระพุทธเจ้าจะแนะนำให้เสียสละ ให้ให้อภัย ให้ไม่โกรธ ให้อะไรทำนองนั้นไปในทางที่ปลอดภัยทำนองนั้น ทีนี้ ถ้าปล่อยไปตามอำนาจของเราก็คือกิเลส กูไม่ยอมมึง-มันก็มีเรื่อง โอกาสอื่นไม่มีทางที่จะฝึกฝน ระหว่างบวชนี้มีทางที่จะฝึกฝน เพราะฉะนั้น คำว่าบวช บวช บวชนี้หมายความว่าอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ขอให้ผู้บวชใหม่ทุกองค์ที่มีเวลาจำกัดนี้เข้าใจ แล้วมันก็เป็นบวชที่บวชจริง บวชจริง เข้มข้นขึ้นทุกเดือน ทุกเดือน กว่าจะลาสิกขาไป
ผมอยากจะพูดอีกนิดหนึ่งก่อนจบว่า มันไม่เหมือนกับที่เขาใช้เป็นหลักกันในที่อื่นหรือวัดอื่น บางวัดหรือส่วนมากเขาให้เรียน นวโกวาท เขาให้เรียน คิหิปฏิบัติ เรื่องทิศ ๖ บิดา-มารดา ผมว่าไม่จำเป็นหรอก มันไม่ใช่หัวใจ มันไปอ่านเอาเมื่อไรก็ได้ มันเห็นอยู่ง่ายๆ แต่เรียนก็ดีเหมือนกัน ถึงแม้ว่าบวชระยะสั้นจะสึกนี้ก็ให้เรียนหัวใจถึงหัวใจของการบวช คือ การบังคับตัวเองไว้ให้ได้ บังคับจิตใจไว้ให้ได้ มีพระพุทธภาษิตว่า บังคับจิตของให้ได้ เหมือนควาญช้างที่ฉลาดสามารถบังคับช้างตกน้ำมันก็ได้ ถ้าควาญช้างไม่ฉลาดจริงมันบังคับช้างที่ตกน้ำมันไม่ได้ มันต้องเป็นควาญช้างวิเศษ ไอ้ที่เราเรียกว่า ควาญช้าง หัตถาโรหา(65’00) นั้นมันไม่ใช่คนเลี้ยงช้าง มันเกิดมาในตระกูลผู้เชี่ยวชาญในการบังคับช้างเรื่อยๆมาเรื่อยๆมา ทำอาชีพนี้เรื่อยๆมา ฉลาดไปหมดจนกระทั่งสู้หรือบังคับช้างที่ตกน้ำมันได้ นี่เราก็เหมือนกันบังคับจิตได้ จิตก็เหมือนกับช้าง และบางเวลาก็เหมือนตกน้ำมัน คนเราเสียหายไปเพราะว่าบางเวลาจิตนั้นเหมือนกับช้างตกน้ำมัน แล้วก็บังคับไม่อยู่-มันก็ฉิบหาย เพราะฉะนั้น มันต้องบังคับได้ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ไม่มีการผลุนผลัน ด้วยอำนาจของ โลภะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้น การฝึกการบังคับจิตอย่างเดียวนี้เป็นการบวช อื่นๆจะเป็นการบังคับไปหมด กาย วาจา ใจ อะไรนี้มันจะถูกบังคับไปหมด
เมื่อวานเราพูดเรื่องการบวชต้องมี อุปัชฌายะ แล้วต้องร่วมมือกันกับ อุปัชฌายะอาจารย์ ให้เกิดความปลอดภัยแก่ทุกฝ่าย ไม่มีความเสียหายแก่ศาสนา มีแต่ความเจริญกันทุกฝ่าย ทีนี้ มาขยายความให้มันชัดออกไปว่า ไอ้บวชนี่ บวชเข้ามาแล้วนี้ อุปัชฌาย์อาจารย์ กับเรานี้ก็ร่วมมือกันให้เราบังคับจิตได้ การบังคับจิตได้นั้นแหละ คือ พรหมจรรย์ คือ การขูดเกลาสิ่งที่ต้องขูดเกลา บวช คือ อย่างนี้ เว้นหมด ไปหมด ไกลออกไป จากสิ่งที่ควรจะไกลออกไป เอาละพอกันที