แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
และเรื่องประเดิม วันหลังจะให้พูดเรื่องอะไรก็เขียนใส่เศษกระดาษมาให้ แล้วแต่ใครจะชอบ แล้วจะมารวมๆกันดู พูดเรื่องนั้น สำหรับวันนี้ก็คิดว่าอยากจะพูดเรื่องความมุ่งหมายของการบวชของคนหนุ่ม ถ้าเราพิจารณาดูก็เห็นว่าไอ้การบวชนี่มันมีอยู่ ๒ ชนิด คือบวชของคนหนุ่ม เพิ่งจะตั้งต้นชีวิตอย่างหนึ่ง แล้วบวชของคนสูงอายุ คือในเบื้องปลายของชีวิตเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดต่อไปอีกจนถึงที่สุด นี่มันมีอยู่เป็นสองอย่างอย่างนี้ คนหนุ่มบวชเพื่อให้รู้จักตั้งต้นชีวิตที่ถูกต้อง ให้เจริญไปโดยเร็ว คนแก่บวชเพื่อเสวยผล ทั้งพิเศษ(นาทีที่ 1:52) ที่จะพึงได้ในบั้นปลายชีวิต นี่หมายถึงยุคปัจจุบันหรือว่ายุคใกล้ๆนี้ แม้ในประเทศอินเดียก็มีหลักเกณฑ์อย่างนี้ แต่ว่าในยุคแรกยุคตั้งดึกดำบรรพ์โน้น ไม่ ไม่ปรากฏอย่างนี้ คือไม่ปรากฏว่า คนหนุ่มก็บวช นี่เพราะการบวชเป็นเรื่องของคนที่ผ่านโลกมาจนไม่มีอะไรเป็นที่พอใจได้แล้วจึงออกไปบวชไปหาไอ้สิ่งที่จะพอใจได้จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ถึงแม้ว่าคนหนุ่มจะออกบวชกันในยุคนั้น ก็บวชด้วยความมุ่งหมายอย่างเดียวกับคนแก่ ที่ต่อมาถึงยุคหนึ่ง คนหนุ่มก็ออกบวชก็เกิดมีการสั่งสอนที่เหมาะสม นอกจากวิชาชีพ สอนเรื่องบังคับจิตใจ จึงมีอาศรมที่รับสอนคนหนุ่มให้ได้รับการฝึกฝนทางจิตใจ สำหรับจะออกกลับไปเป็น เป็นฆราวาสต่อสู้โลก ทีนี้ผู้ที่อยู่ในอาศรมได้รับการฝึกฝนดีถึงที่สุดเป็นที่พอใจของอาจารย์ อาจารย์ก็รับรองว่าไปได้ กลับไปเผชิญโลกได้ ก็เรียกว่าเป็นบัณฑิตด้วย นี่คำว่าบัณฑิตก็ใช้กันมาในอินเดีย ตั้งแต่โบราณกาล คือผู้ที่จบการฝึกฝนในอาศรมใดอาศรมหนึ่งแล้วออกมาต่อสู้โลกอย่างดีที่สุด นี่เขาเรียกว่าบัณฑิต ขนบธรรมเนียมประเพณีอันนี้ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยเราด้วย ตั้งแต่ยุคที่ชาวอินเดียเข้ามาเป็นครูบาอาจารย์ พวกพราหมณ์มาเป็นที่ปรึกษา ครูบาอาจารย์ในราชสำนัก ก็เลยเอาระเบียบการนี้มาใช้ให้คนได้บวช หนุ่มๆบวชแล้วก็เป็นที่พอใจแล้วก็ให้เรียกว่าบัณฑิต แล้วกลับออกไปเผชิญโลกก็ได้ผลดี เดี๋ยวนี้มันทำเลว ทำเหลว ทำอะไรเข้าไอ้บัณฑิตนี่มันเหลือแต่ทิด ที่งกงมงายเงอะงะ “บัณฑิต” อ่านเป็น “บัน-ทิด” กันไปก่อน ต่อมา “บัณ” ก็หายไปเหลือแต่ “ฑิต” เปลี่ยนเป็น “ด” สะกดก็เลยเป็น “ทิด” เคอะคะกลายเป็นของสำหรับล้อกันเล่น ไม่มีความหมาย ทิดนั่นทิดนี่ แต่ขอให้รู้ว่าทีแรกทีเดียวเขามีหลักการที่จะเป็นบัณฑิตจากอาศรมที่รับฝึกฝนคนหนุ่ม อยากเป็นนักบวชชั่วคราว นี่เราเดี๋ยวนี้ก็ควรจะถือหลักเกณฑ์อันนี้ คนหนุ่มบวชก็ด้วยความมุ่งหมายเตรียมตัวสำหรับจะต่อสู้ในชีวิตให้ดีที่สุด ทีนี้ก็มาดูกันถึงไอ้ ไอ้การที่มันได้ทำกันอยู่จริงๆเวลานี้ เมื่อก่อนนี้คงจะดีกว่านี้ ตัวมุ่งหมายจะให้อบรมให้คนหนุ่มนี่เหมาะสมที่ออกมาเผชิญโลกเผชิญชีวิตจริง ต่อมามันค่อยเลือนไปกลายเป็นธรรมเนียม ให้ได้บวชก็แล้วกัน โดยเชื่อถือว่าบวชแล้วมันก็ดี ที่จริงมันดีไม่ได้ถ้าว่าไม่ทำให้มันถูกต้องตามหลักการหรือความมุ่งหมาย ฉะนั้นขอให้ผู้บวชหนุ่มๆนี่ ทำให้มันถูกต้องตามความมุ่งหมาย อย่าให้เป็นเพียงพิธีรีตอง ถึงคราวบวชก็บวช ทีนี้เมื่อพูดถึงความมุ่งหมาย คนหนุ่มบวชเข้ามาในศาสนาหรือในขอบเขตของธรรมะ ในวงของธรรมทางศาสนานี่จะต้องทำอะไรบ้าง เท่าที่สังเกตเห็นรู้สึกว่า ที่ควรทำอย่างยิ่งหรือเป็นความมุ่งหมายอันแท้จริง นั่นน่ะคือการฝึกหัดบังคับตัวเองบังคับจิตใจตัวเอง ข้อเดียวเท่านั้น พอ ไม่ใช่มาอ่านหนังสือ มาศึกษาตำรับตำรา อะไรกันในเมื่อบวชนี้ นั่นเป็นเรื่องเข้าใจผิด แม้เรื่องเรียนนักธรรมเรียนอันนี้ก็ยังไม่ใช่ความมุ่งหมายนี้ เพราะเรียนหนังสือหนังหาตำรับตำราเดี๋ยวนี้สมัยนี้เรียนเอาเองก็ได้ เรียนที่บ้านก็ได้ ฆราวาสก็ได้ มันเรียนได้ หรือในมหาวิทยาลัยอาจจะสอนได้ แต่สิ่งที่มันทำไม่ได้ ก็คือการบังคับ ฝึกฝนการบังคับจิต นี่ที่เรียกว่า จิตตา โยคะ(นาทีที่ 8:18) หรืออธิจิตตา โยคะ(นาทีที่ 8:23) การฝึกฝนการประกอบกระทำจิต ให้เป็นจิตที่สูงหรือเป็นจิตที่ยิ่ง นี่มันไม่เกี่ยวกับเรียนหนังสือเลย มันต้องบังคับจิตด้วยการฝึกตามวิธีที่เขาวางไว้ที่เรียกว่าโยคะ เรียกกันกลางๆว่าโยคะ ระเบียบจะมีไว้สำหรับฝึกตั้งแต่ต้น ไปจนกว่าจะถึงปลายเป็นที่พอใจ เบื้องต้นก็ให้ฝึกอย่างง่ายๆเกี่ยวกับร่างกาย ให้บังคับร่างกาย อย่าให้เห็นแก่กิน อย่าให้เห็นแก่นอน ให้มีร่างกายเข้มแข็ง อดทนหนาวร้อนลมแดดต่างๆกระทั่งมันทนเอามากๆ เป็นร่างกายที่ดี แล้วก็เลื่อนขึ้นไปถึงการบังคับจิตโดยตรงคือทำสมาธิ ทำสมาธินี่คือการบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจ ให้พร้อมที่จะใช้การงานตามที่เราต้องการ นี่คือความมุ่งหมายที่แท้จริง ไม่ใช่การอ่านศึกษาทางตำรับตำรา นี่มันเป็นของที่เกิดไขว้กันเข้ามา ไอ้ตำรับตำรามันไม่ต้องบวชก็เรียนได้ ศึกษาได้ แต่การฝึกจิตนี่ทำไม่ได้ ทำไม่ได้ที่บ้าน ทำไม่ได้ไม่สะดวกในเพศฆราวาส หรือมหาวิทยาลัยอย่างเดียวนี้ไม่มีที่ไหนสอน ฉะนั้นต้องไปสู่อาศรมที่จัดขึ้น เรียกว่าอาศรม หมายความว่าเขาอยู่กันมากๆ เพื่อจะฝึกฝนอะไรแรงๆจริงๆจังๆ นี่เรียกว่าอาศรม อยู่กันเป็นร้อยเป็นพันก็ได้ เรียกว่าอาศรมเหมือนกัน ก็มีการฝึกฝนจิตให้จบหลักสูตร ให้จบหลักสูตรก็บังคับจิตได้ ทีนี้ท่านจะมีของแถมพก ซึ่งสมัยโบราณก็มี ไม่ใช่เรียนหนังสือ ไม่ใช่เรียนปริยัติ ไม่ใช่เรียนให้แตกฉานทางอักษรศาสตร์ แต่ว่าเรียนธรรม คือหลักธรรมะ ถ้าอย่างเรียกสมัยใหม่เขาเรียกว่าหลักปรัชญา สอนกันด้วยปาก เพราะมัน ไม่ไม่มากในเรื่องตัวหนังสือ แต่มันมากด้วยการซักไซ้ ซักไซ้สอบสวน ซักไซ้ไล่เรียง ว่าอะไรเป็นอย่างไร ดีเป็นอย่างไร ชั่วเป็นอย่างไร เกิดมาทำไม จะได้อะไร นั่นเป็นส่วนปรัชญา เพื่อประกอบกันกับการฝึกโยคะ เรียกว่าเป็นของผนวก หรือว่าช่วยให้โยคะมันง่ายขึ้นบ้าง ฉะนั้นตัวจริงมันก็คือการฝึกจิตฝึกนี่โดยตรง เดี๋ยวนี้เราไม่ได้ทำได้ตามนี้ เพราะว่าบวชแล้วก็มักจะอยู่เฉยๆ ตามเดือนนี่ อยู่เฉยๆ ตามสนุกพักผ่อนไปเสียบ้าง หรือไปเรียนหนังสือหนังหา ซึ่งที่จริงอ่านเอาที่บ้านก็ได้ ในมหาวิทยาลัยก็อ่านได้ หนังสือเดี๋ยวนี้เยอะแยะไปหมด ทำไมไม่ฝึกเฉพาะเกี่ยวกับร่างกาย จิตใจหรือวาจาก็แล้วแต่ กาย วาจา ใจ โดยตรงซึ่งเป็นการบังคับ ทำไมต้องใช้คำว่าบังคับ ก็เพื่อว่า ก็เพราะว่า ถ้าไม่บังคับมันบ้า ความคิดมันเป็นในทางที่เหมือนกับบ้า ชอบตามใจตัวเองเรื่องเอร็ดอร่อยแล้วมันก็ได้โลภ ได้โกรธ ได้หลง ไม่เท่าไหร่มันก็ได้โลภ ได้โกรธ ได้หลง พอโลภเข้าทีหนึ่งมันก็สะสมไอ้ความเคยชินในการโลภ เกิดโลภะขึ้นครั้งหนึ่ง มันก็เติมเชื้อให้ไอ้ราคานุสัยเอาไว้ครั้งหนึ่ง จุดโทสะความโกรธครั้งหนึ่ง มันก็ร้อนเรียกว่าเป็นทุกข์ไปแล้ว แต่แล้วมันเติมเชื้อความเคยชินของปฏิฆานุสัยเอาไว้ครั้งหนึ่ง ถ้ามีโมหะงมงายไปครั้งหนึ่ง โง่ เป็นเรื่องชั่ว เรื่องเลว เรื่องบาปก็แล้ว แต่แล้วมันก็เติมเชื้อ อวิชชานุสัย ให้อีกครั้งหนึ่ง สะสมไว้ข้างในเป็นความเคยชิน นี่มีโลภะหรือราคะก็ตามครั้งหนึ่ง จะเพิ่มไอ้เชื้อราคานุสัย มีโทสะหรือโกรธะครั้งหนึ่งมันก็เพิ่มเชื้อปฏิฆานุสัย โง่หลงงมงายไปครั้งหนึ่งก็เพิ่มเชื้อคือ อวิชชานุสัย ก็เพิ่มอนุสัยสามอย่างนี้ไปเรื่อย จนเป็นสันดาน ทีนี้มันแก้ยาก บังคับยาก อะไรมาก็โกรธ อะไรมาก็รัก อะไรมาก็บ้า นี่คนหนุ่มเป็นอย่างนี้ ไปคิดดู โดยเฉพาะคนหนุ่มที่วัยรุ่นขึ้นมามันจะมีอาการฉุนเฉียว รวดเร็วในการที่จะรัก ในการที่จะโกรธเกลียด ในการที่จะหลงใหล ถ้าถูกจับตัวมาบวชเสียตอนนี้ก็มาฝึกกันอย่างยิ่ง ในลักษณะที่มันจะไม่รัก ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่บันดาลโทสะ ไม่ปฏิฆะ ไม่หลงงมงาย มันอยู่ในระเบียบตลอดเวลาที่บวช นิสัยเคยชินเดิมๆมันถูกกวาดล้างไป มันไม่เพิ่มใหม่ ฉะนั้นถ้าคนหนุ่มได้รับการฝึกฝนอย่างนี้มันก็มีจิตใจดี เรียกว่ามีจิตใจที่ภาวิตา(นาทีที่ 15:12)อบรมดีแล้ว บังคับตัวเองได้หมายความว่า บังคับความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ในใจ แล้วก็บังคับการพูดจาได้ บังคับการกระทำทางกายได้ นี่คือการฝึกที่เรียกว่าฝึกทางจิตซึ่งออกมาถึงทางวาจาถึงทางกาย ฝึกอย่างนี้เขาเรียกว่าโยคะทั้งนั้น ถือโอกาสฝึกเสียให้มันเป็นที่พอใจให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในระหว่างออกไปอยู่อาศรม คือบวช ส่วนหนังสือหนังหานั้นไม่ต้องห่วงอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ เดี๋ยวนี้ดูมันยังไขว้กันอยู่ ระหว่างบวชนี่ไม่ได้ฝึกเรื่องที่จำเป็นโดยตรง คือฝึกใจ ไปสนใจอ่านหนังสือหนังหา แม้แต่บวชแล้วก็ยังอ่านหนังสืออย่างที่บ้าน มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรไม่คุ้มค่า ใช้เวลาผิดหมด ขอให้พยายามปรับปรุงกันให้มันได้ประโยชน์อันนี้ตลอดเวลาที่บวช เพราะว่าที่แล้วมามันมันไม่ได้ ยังไม่ได้ก็รีบทำเท่าที่จะทำได้ ให้มันได้รับผลอันนี้ ก่อนแต่จะสึกออกไป แปลว่าระหว่างนี้ที่เข้ามาอยู่ในวัด ในการบวชนี่เพื่อฝึกฝนบังคับ กาย วาจา ใจ เรียกสั้นๆ ว่าบังคับจิต บังคับจิตได้อย่างอื่นก็บังคับได้ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยจะทำกันอย่างนี้ แม้ที่บวช ๒ ปี ๓ ปี ๔ ปี ๕ ปี ก็ไม่ทำอย่างนี้ เพราฉะนั้นจึงไม่ได้ผลอันนี้ เมื่อ ๔ – ๕ ปีก่อนที่โกรธ ที่ปฏิฆะอย่างไรเดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น มันไม่ก้าวหน้าเลย มีความโลภ มีความกำหนัดอย่างไรก็ยังมีอยู่อย่างนั้น ไม่ก้าวหน้า อย่าว่าแต่คนบวชสามเดือน คนบวช ๔-๕ ปีมันก็ยังไม่ก้าวหน้า ถ้าหากว่าไม่ได้ทำจริงตามที่มันมีหลักการอยู่อย่างนั้น ไปบวชแต่อ่านหนังสือ อ่านเรื่องราวที่มันเป็นวิชาความรู้ลึกๆแปลกๆ จนไม่ได้ ไม่ได้มีการบังคับตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการประจำวัน เรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องอาบ เรื่องถ่าย เรื่องคบหาสมาคม เรื่องทำการงานติดต่อกันกับคนที่สองที่สามที่สี่ มันเป็นโอกาสสำหรับจะให้เกิดก่อนก็คือ ความโกรธเมื่อไม่ได้อย่างใจมันก็โกรธ เราก็ต้องทดสอบกันอยู่เรื่อย ว่ามันมีโกรธหรือเปล่า มีปฏิฆะหรือเปล่า ไอ้โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เป็นโกรธ เป็นโทสะ เป็นโกรธ คับแค้นหงุดหงิดหงุดหงิดอยู่ อึดอัดอยู่นี่ก็เรียกว่าปฏิฆะ โดยมากก็ไม่ถึงกับโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ แม้จะมีปฏิฆะอยู่ในใจ ขอให้ฝึกแก้ไขสิ่งเหล่านี้ เพราะว่ากลับออกไปนี้มันจะมีประโยชน์ในการเผชิญกันกับสังคม กว่าจะตาย คือว่าเราออกไปเผชิญชีวิตในโลกนี้มันไม่มีอะไรได้ตามต้องการหรอก ไม่มีอะไรที่จะเป็นไปได้ตามต้องการ จะไปเป็นข้าราชการหรือไปเป็นประชาชนหรือเป็นอะไรก็ตาม ไม่มีอะไรที่จะเป็นไปตามตัวอยากตัวต้องการ มันก็ขัดใจมันก็โกรธ มันก็มีความทุกข์ก่อน มีความทุกข์ เมื่อโกรธมีความทุกข์เป็นไฟ แล้วก็สร้างนิสัยให้มันโกรธเก่ง ให้โลภเก่ง อะไรเก่ง ต่อไปมันก็จะแย่ จะลำบากยิ่งขึ้นทุกที มีอะไรนิดหนึ่งไม่ควรโกรธมันก็โกรธทั้งนั้น แล้วมันก็ทะเลากันระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา ลูกจ้างกับนายจ้าง หนักเข้าก็ระหว่างผัวเมียที่เรียกว่ารักกันมาก ถ้ามันไม่มีธรรมะที่ว่าฝึกฝนมาเพียงพอ มันก็ทะเลาะกันได้ มันฆ่ากันตายก็ได้ หนักไปกว่านั้นอีกมันก็ทำอันตรายบิดามารดา ครูบาอาจารย์ได้ นี่เดี๋ยวนี้เราอยู่ในโลกนี่มันอยู่ด้วยความทุกข์ ในเมื่อจิตใจไม่ได้รับการฝึกฝนที่ดี มีความโลภเก่ง มีความกำหนัดเก่ง มีฝ่ายกิเลสนัมเบอร์หนึ่ง มันก็โกรธเก่ง โทสะเก่ง กิเลสนัมเบอร์สองแล้วมันก็หลงใหลมัวเมาหรือว่าสงสัยหรือว่าระแวงหรือว่าอะไร ทำผิด ในทางโมหะนี้อยู่เสมอ ตัวเองก็ไม่มีความสุข การงานในหน้าที่ก็ไม่เจริญ มีเงินก็ไม่มีใครนับถือ มีเกียรติ อำนาจวาสนาก็ไม่มีใครนับถือเพราะมันไม่มีธรรมะ นี่เราจะต้องวัดกันด้วยว่าฆราวาสนี่ ที่สมบูรณ์สอบไล่ได้ในความเป็นฆราวาสจะต้องมีทรัพย์สมบัติพอตัวเท่าที่ควรจะมีไม่ใช่เป็นมหาเศรษฐี แต่ก็ไม่ใช่น้อยจนถึงกับลำบาก ต้องมีทรัพย์สมบัติพอตัว แล้วมีเกียรติยศชื่อเสียงพอตัว แล้วก็มีคนนับถือรักใคร่นับถือพอตัว สามอย่างช่วยจำไว้ด้วย คนที่จะสึกออกไปเป็นฆราวาสนั่นน่ะนี่คือบทสอบไล่ หมายความว่าทำขึ้นได้เองไม่ใช่รับมรดก มีทรัพย์สมบัติพอตัว มีชื่อเสียงแท้จริง เกียรติยศชื่อเสียงแท้จริงพอตัวหรือพอสมควร แล้วต้องข้อที่สามด้วยนะ ต้องมีคนรักนับถือ คนที่มีเงินมากมีคนเกลียดไปทั่วบ้านก็มี มีอำนาจมากมีอะไรมากคนเกลียดกลัวไปทั่วบ้านก็มี มันไม่แน่ฉะนั้นต้องดูไอ้คนด้วยถ้าคนเขารักนับถือ เป็นที่แน่นอนว่า ไอ้การมีทรัพย์คือมีเกียรติยศชื่อเสียงนั้นมันถูกต้องตามความมุ่งหมาย ทีนี้ฆราวาสนี่กว่าจะมีทรัพย์มีชื่อเสียงนี้ จะต้องผ่านการงานที่มากทีเดียว และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมีการบังคับตัวเองได้ดี ถ้าไม่เช่นนั้นมันสร้างทรัพย์สมบัติ สร้างชื่อเสียงไม่ได้ คนที่เคยชินแต่จะมีกิเลส จะใช้กิเลสนี่จะสร้างทรัพย์สมบัติ เช่นชื่อเสียง เกียรติยศหรือความรักใคร่นับถือผู้ของอื่นไม่ได้ เดี๋ยวมันก็ด่าคนนั้น เดี๋ยวมันก็ด่าคนนี้ หรือว่าไอ้ความโลภนี่มันทำให้เอาเปรียบจนคนเกลียดไปหมด แล้วบังคับตัวเองไม่ได้มันก็มีแต่ความฉิบหายเสื่อมทรามทางจิตใจ คือโดยเฉพาะอย่างยิ่งคืออบายมุข ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการละเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านการทำงาน นี่เรียกว่าอบายมุข ล้วนแต่มาจากการบังคับตัวเองไม่ได้ทั้งนั้น ดังนั้นป่วยการที่จะไปท่องอบายมุขแต่ปาก บังคับไม่ได้เพราะบังคับจิตไม่ได้ ต้องบังคับจิตได้อบายมุขจึงจะเว้นได้ จงสนใจในเรื่องการบังคับจิตให้ได้ มันก็ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่เที่ยวกลางคืน ไม่อะไรอย่างที่เป็นอบายมุข พอบังคับไม่ได้มันก็ทำทันที ไอ้คนที่ดื่มน้ำเมา แม้แต่สูบบุหรี่นี่ก็เหมือนกัน มันบังคับจิตไม่ได้ มันก็ต้องดื่มของเมาสักนิดน่ะ ออกไปหาความเพลิดเพลินยามวิกาล ไปดูการละเล่นยั่วยวนต่างๆเล่นการพนัน นี่ก็เป็นของยั่วมาก ไปสุมหัวกับเพื่อนที่จะดึงไปในทางเลว ส่วนหน้าที่การงานนั้นขี้เกียจ ฉะนั้นพวกข้าราชการที่เขาว่า มาอย่างไทยไปอย่างฝรั่ง มาทำงานสายก็เพราะมันขี้เกียจ อยากให้ถึงเวลาเลิกงานจะไปเร็วๆ นี่มันก็ขี้เกียจ อยู่ที่นั่น เพราะมันมีทางที่จะเอาเปรียบได้ มันจึงขี้เกียจและเอาเปรียบ คนยากจนสิบางทีมันเอาเปรียบอย่างนั้นไม่ได้ มันต้องทนทำ แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังขี้เกียจ คนขี้เกียจมันก็ตกนรก เธอจำไว้ด้วย พอเบื่อการงานหรือขี้เกียจในการงาน ตกนรกทันทีที่นั่น เป็นอบายที่นั่น อบายคือต้องฝืนใจทำงาน มันไม่สนุกมันเหมือนกับตกนรก นี่พระพุทธเจ้าท่านเรียกไว้ถูกต้องดีแล้ว จำกันไว้ให้ดีๆ ท่านเรียกว่าอบายมุขหรืออบาย อบายมุขล่ะปากทางของอบายคือ ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการละเล่น เล่นการพนัน คือปากที่จะไปลงในอบาย พอลงไปมันก็คือตกนรก ไม่อยากทำงานต้องทนทำงาน มันก็ทำงานไปด้วยจิตที่ตกนรก เล่นการพนันก็ทำไปด้วยจิตที่เป็นนรก เที่ยวกลางคืน ดูการละเล่นอะไรก็ตามด้วยจิตที่เป็นนรกชนิดหนึ่ง มันไม่เหมือนนรกที่พรางตา อย่างที่เขาเรียกว่ากลางวันเป็นเปรตเป็นสัตว์นรก กลางคืนมันเป็นเทวดา เป็นได้ง่ายๆ ทนทำงานที่ออฟฟิศ หรือในทุ่งนาอะไรก็ตามแต่ มันทนทำงานเหมือนตกนรกเป็นเปรตเป็นสัตว์นรก พอกลางคืนมันก็ไปดูหนังดูละคร ไปเที่ยวสำมะเลเทเมามันเป็นเทวดา นี่มันจะเป็นไปได้สักกี่ กี่ กี่น้ำก็ ก็ดูแล้วกัน ก็นี่คือการบังคับไม่ได้ บังคับตัวเองไม่ได้ มันต้องมีอบาย อบาย อบาย จากการดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการละเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำการงาน มันทุกข์ร้อนเหมือนไฟเผามันก็เป็นสัตว์นรกเรียกว่า นีรยะไวยนรก(นาทีที่27:43) ถ้ามันทำเป็นด้วย ด้วยความโง่ อยู่ด้วยความโง่ก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน มันโง่ โง่ไปหาไอ้สิ่งที่กงจักรเป็นดอกบัว เขาเรียกว่ามันโง่ เพราะฉะนั้นมันเป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่แล้ว ไอ้คนที่ไปทำอบายมุขคือมันโง่เต็มที่แล้ว ทีนี้ตลอด ตลอด ตลอดมันหิว หิวในทางไอ้กามารมณ์น่ะ คือความเอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนัง มันหิวอยู่ตลอดเวลามันก็เป็นเปรต ทีนี้มันมีกลัว มีกลัวอะไรอยู่หลายๆ อย่าง กลัวเขาจะจับได้ กลัวจะไม่มีเงินใช้ กลัว มี มีความกลัวครอบงำอยู่ส่วนหนึ่งด้วยนี่เขาเรียกว่าอสูรกาย เพราะมันเป็นสัตว์นรกเดรัจฉาน เปรต อสูรกายอยู่ตลอดเวลาสำหรับคนที่บังคับจิตไม่ได้ ทีนี้คนที่บังคับจิตได้มันก็มีความเจริญทุกอย่าง มันก็ไม่ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่เท่าไหร่มันก็มีทรัพย์สมบัติพอตัว ไม่เท่าไหร่มันก็มีเกียรติยศชื่อเสียงพอตัว ต่อมาอีกหน่อยก็มีคนเคารพรักใคร่นับถือ นั่นน่ะคุณบวชกันสามเดือนสี่เดือนนี่มันควรจะได้ฝึก ฝึกตัว ฝึกตน ฝึกจิตนั่นเองให้สามารถทำสิ่งที่ควรทำได้เรียกว่าประสบความเจริญ ส่วนเรื่องอ่านหนังสือหนังหาตำรับตำรานั้นเมื่อไหร่ก็ได้ ที่นี้ถ้าว่ามันบังคับจิต ฝึกฝนบังคับจิตอยู่ตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน ก็ยังมีเวลาว่างพอที่จะศึกษา หลักธรรมะชั้นลึกที่มันต้องคิดต้องซักไซ้กับครูบาอาจารย์ ซึ่งหาอ่านจากหนังสือไม่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาว่าเกิดมาทำไมนี่น่ะ ควรจะมีหลักที่ถูกต้อง ว่าเราควรจะถือว่าอะไรเป็นอะไร ชีวิตคืออะไร อะไรนี้มันถูกต้อง นี่ส่วนที่มันเป็นหลัก หลักสำหรับคิด คือปัญญา ความทุกข์เกิดมากจากอะไร จะดับมันได้อย่างไร ศึกษา แต่มันก็ไม่มากมายอะไร มันไม่มากมายเลย เป็นตัวหนังสือเป็นหอบๆ(นาทีที่ 30:32)เป็นตู้ๆ มันพูดประเด็นเดียว ปัญหาเดียวอยู่ได้ทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน ว่ามันควรจะเกิดมาทำไม เกิดมาทำไม นี่พูดกันได้สามเดือนก็ไม่จบ แล้วจะเข้าใจดีแตกฉานดีว่าคนนี้เกิดมาทำไม รู้จักชีวิต รู้จักปรัชญาของชีวิต ตลอดเวลานั้นมันฝึกบังคับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ตลอดเวลา บังคับหรือฝึกกาย วาจา ใจ อยู่ตลอดเวลา ไม่ให้กิเลสเกิด นี่เรียกว่าเข้ามาอยู่ในอาศรม ฝึกเพื่อจะออกไปเป็นบัณฑิตตามความหมายเดิม ตามหลักการดั้งเดิม วัฒนธรรมดั้งเดิมของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นที่เกิดแห่งพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งมาถึงประเทศเรา แล้วก็รับถือกันทั่วไป และประเทศอินเดียมันเป็นแบบฉบับ ให้ทางจิตใจ ทางวัฒนธรรมและทางวิญญาณมาอยู่เรื่อยตลอดเวลา แม้ว่าเดี๋ยวนี้ประเทศอินเดียเดี๋ยวนี้จะเปลี่ยนแปลงไปก็ช่าง แต่ว่าหลักการเดิมๆของเขานั้น ยังประเสริฐที่สุด ถ้ายังนับถือ(นาทีที่ 31:56)มาได้จนบัดนี้แล้วเราอาจจะทำได้ดีกว่าครู ครูเดิมก็ได้ จะเป็นไรไป หลักการที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดียที่เรียกว่าอาศรม เมื่อคนๆหนึ่งเกิดมาแล้ว ต้องให้ได้เป็นไอ้พรหมจารีคือคนโสดตั้งแต่เกิดมาจนถึงเป็นหนุ่มสาว นี่เรียกว่าพรหมจารี ต้องได้เป็นดีที่สุด แล้วต่อมาก็เป็นคฤหัสถ์คือครองเรือน มีครอบครัวที่ดีที่สุด แล้วต่อมาก็ให้เป็นผู้ที่ออก มีโอกาสออกแสวงหาความสงบสุขทางจิตใจดีที่สุด อันสุดท้ายก็คือทำประโยชน์แก่ผู้อื่นในทางจิตใจให้ได้ดีที่สุด รวมเป็นสี่ สี่ขั้นสี่ตอนเกิดมาทีหนึ่งต้องได้อย่างนี้ ไม่ฉะนั้นเรียกว่า ไม่ ไม่ ใช้ไม่ได้ ไม่สมบูรณ์ในการที่เกิดมา ตั้งแต่เกิดมาจากท้องแม่จนเป็นหนุ่มเป็นสาวจนถึงวันแต่งงาน นั่นน่ะถือว่าเป็นพรหมจารี ต้องเป็นดีที่สุด แต่นี่มันเลอะเทอะสกปรก มันเจ้าชู้ตั้งแต่เล็ก ไม่มีความหมายของคำว่าพรหมจารี นี่มันก็เสีย รากฐานมันก็เสีย มันก็มีจิตใจที่เลวที่บังคับไม่ได้ ที่จะปล่อยไปตามความสะดวกสบายในเรื่องอารมณ์ มันก็ไม่มีไอ้ความรู้ที่ดี ไม่มีคุณสมบัติที่ดีสำหรับที่จะไปเป็นคฤหัสถ์ พ่อบ้านแม่เรือนที่ดี ทีนี้เมื่อเป็นคฤหัสถ์ที่ดีไม่ได้ มันก็ไม่มีอะไรทันแก่เวลา ทำจนตายมันก็ไม่พอกิน ก็ไม่มีเวลาออกไปเป็นผู้หาความสงบสุขในบั้นปลายของชีวิต และในที่สุดมันก็ไม่มีอะไรจะสอนผู้อื่น ในเรื่องวิญญาณ เรื่องจิตใจ เรื่องวิญญาณ พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างตั้งแต่เกิดมาจนกว่าจะถึงวันออกบวช นี่ท่านก็ผ่านไอ้ชีวิตที่เป็นพรหมจารีมาอย่างดี แล้วก็แต่งงานก็ทำได้ดีในเวลาอันสั้น แล้วก็ออกบวชภายใน๖ปีก็เสร็จเรื่อง สำหรับความเป็นวรรณะประดับ(นาทีที่34:44) เที่ยวแสวงหาความสงบสงัด ๖ ปีก็เสร็จเรื่องอายุ ๓๕ ปี ที่เหลืออยู่อีก ๔๕ ปีท่านเที่ยวเป็นดวงประทีปของสัตว์ ของโลก เวลาที่ทำประโยชน์ผู้อื่นนั้นมีตั้ง ๔๕ ปี นี่เป็นบุคคลพิเศษสูงสุด เรานับถือเป็นศาสดา ทีนี้คนมันไม่อย่างนั้น จนตายมันก็ไม่พอกิน ตายอย่างทุเรศ เมื่อเด็กๆมันก็ไม่เป็นพรหมจารีที่ดี ไม่เป็นคฤหัสถ์ที่ดีทำไปจนตายก็ยังไม่พอกิน ไอ้สองขั้นสุดท้ายมันก็ไม่ได้ ขั้นที่จะพบกับความสงบและเที่ยวสั่งสอนผู้อื่นให้ได้รับความสงบ มันก็ไม่มีทางที่จะได้ เพราะขั้นที่หนึ่งมันก็ไม่ดี ขั้นที่สองมันก็ไม่ดี ไม่สมบูรณ์ นี่เราบวชถ้าคนบวชตามธรรมเนียมอายุ ๒๐ ปี นี่เขาเรียกว่าเป็นพรหมจารี อย่าไปทำเวลาให้มันเหลวไหลเสียไปด้วยไอ้เรื่องที่บังคับตัวเองไม่ได้ พรหมจารีต้องเรียนวิชาหลักพื้นฐาน แล้วก็บังคับจิตใจให้อยู่ในระเบียบวินัยร่องรอยที่ดี อย่าชวนกันทำลายศีลธรรมเกี่ยวกับเรื่องเพศเรื่องอะไรเหมือนพวกฝรั่ง เดี๋ยวนี้นักเรียนมีท้องโดยไม่ต้องมีบิดามารดา เดี๋ยวนี้ เพราะถือว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย เมืองฝรั่งเขาถือว่าไม่ใช่เรื่องเสียหายหรือน่าอายน่าตำหนิ เขาถือเป็นสิทธิที่ถูกต้องที่ชอบธรรมของบุคคลนั้นที่เขาจะทำอย่างนั้นได้ ทีนี้มันจะเอาจิตใจไหนมา มา มาบังคับตัวเองให้มีธรรมะ มันเป็นทาสของกิเลสตัณหาตั้งแต่ก่อน ก่อนเรียนจบ ฉะนั้นเราต้องระวังอย่าให้ลัทธิอย่างนั้นมาครอบงำ เมื่อเป็นพรหมจารีก็เป็นไปให้ตลอดจนถึงวันที่จะเปลี่ยนเป็นคฤหัสถ์มันก็เป็นให้ดี ถ้าอย่างนี้นะไม่เท่าไหร่จะพอกิน อย่างที่เวลาบั้นปลายชีวิตออกไปหาความสงบสุขที่สูงขึ้นไป และจะมีเวลาเหลือสำหรับช่วยเหลือคนอื่นในด้านวิญญาณนี่ได้บ้างตามสมควร ไอ้เรื่องที่จะเป็นแสงสว่างทางวิญญาณแก่ผู้อื่นนั้นควรจะปรารถนากันไว้บ้าง เพราะมันจะเป็นเครื่องช่วยให้ชีวิตนี้เกิดมาทีหนึ่งมันได้เต็มที่ได้สมบูรณ์ ที่นี้เกิดมางมงายอยู่แต่กับเรื่องเป็นทาสของกิเลสจนตายนี่ไม่มีแสงสว่างที่จะไปสอนคนอื่นในเรื่องนี้ แม้แต่สอนลูกสอนหลานของตัวเองก็ทำไม่ได้ คุณช่วยกันระวังให้ดี เพราะอย่างไร อย่างไรก็ต้องผ่านสิ่งเหล่านี้ไปให้ได้ เมื่อเรียนนี่เรียนให้ดี อย่าเป็นคนโกหกตัวเอง อะไรตัวเอง อย่าเหลวไหล เรียนจบแล้วก็ทำงานให้ดี เป็นคฤหัสถ์ให้ดี เป็นฆราวาสให้ดี ทีนี้พออายุมันถึงขนาดที่เรียกกันว่าเกษียณอายุราชการ ๖๐ ปี ควรจะได้รับความสงบสุข เป็นการพักผ่อนทางวิญญาณ ทีนี้ต่อไปสัก ๑๐ ปี ๒๐ ปีมันก็จะเก่งถึงขนาด พูดให้คนอื่นฟังแล้วมีประโยชน์ เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องของชีวิตมาตั้งเจ็ดสิบแปดสิบปี อายุเจ็ดสิบแปดสิบปีอย่างนี้ก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับชีวิติที่ผ่านมามากพอที่จะเป็นแสงสว่างแก่ผู้อื่นได้ ถ้าที่จริงมัน มันจะทำได้เร็วกว่านั้น เพียงอายุหกสิบปีก็พักผ่อน หาความสงบสุขทางจิต เบิกบาน เป็นที่ปรึกษาหารือเป็นแสงสว่างแก่คนอายุน้อยวัยกลางก็ได้บุญด้วย ได้ความสุขด้วย ไม่เสียทีที่เกิดมาชาติหนึ่งมันได้อย่างนี้ นี่ไป ไปปรับกันดูให้ดีว่า บวชทำไมสำหรับวัยหนุ่ม บวชทำไม บวชเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมที่จะไปเผชิญชีวิตในอนาคตให้ได้รับผลเต็มตามที่ว่านี้ คือทั้งสี่ขั้นนี้ ทีนี้บวชพลายแก่บวชทำไม บวชเพื่อจะดึงไอ้รสของความสงบของบั้นปลายชีวิตให้เต็มที่ นั่นบวชอีกทีหนึ่ง ไม่บวชก็ได้ บวชก็ได้ มันแล้วแต่ความเหมาะสม เดี๋ยวนี้แม้ไม่บวชก็อาจจะจัดให้เหมือนบวชได้ เพราะว่าเขามีบ้านเรือนใหญ่โต บ้านเรือนเป็นสัดส่วน ต่างคนต่างหาความสงบกันได้ มีห้องที่ขังตัวเองไม่ให้คนอื่นรบกวน มีห้องประภาคารเป็นการใหญ่ แต่แล้วมันใช้ไม่เป็น ถึงแม้ไม่มีสิ่งเหล่านี้มันก็ไปนั่งอยู่ตามโคนกล้วย ตามกอไผ่ ตามริมรั้วบ้านก็ได้ ยังได้รับความสงบสุขส่วนนี้ หูตามันปิดหมดจากความรบกวน มันไม่ได้ยิน มันไม่ได้เห็น จิตมันก็สงบ มันก็สบาย เพราะเราฝึกจิตมาดีแล้ว นี่ลองคิดดูว่าคนหนุ่มๆมาบวชแล้วก็ฝึกการบังคับจิตให้ได้ในลักษณะนี้ มันดีอย่างไร ดีอะไร แล้วก็บวชสักว่าบวช บวช ว่าคุยเล่นหัวกันหรืออ่านหนังสือ แล้วกลับออกไปมันได้อะไรกี่มากน้อย สำหรับผมเห็นว่าคนหนุ่มควรบวชเพื่อฝึกจิตใจ ซึ่งเป็นบทเรียนที่มันจะฝึกได้แต่ในที่ๆจัดไว้เฉพาะ จะฝึกในบ้านเรือนไม่ได้ ในโรงเรียนไม่ได้ ในมหาวิทยาลัยอย่างเดียวนี่ไม่ได้ มันต้องไปที่วัด หรือที่อาศรม หรือที่เขาจัดไว้เฉพาะเพื่อการนี้ ฝึกให้ได้พอสมควร ให้เป็นคนที่เรียกว่าอย่างไร อย่างไร ก็ไม่พ่ายแพ้แก่กิเลสง่ายๆ บังคับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ในอำนาจ เขาเรียกว่า ปลอดภัย นั่นล่ะคือปลอดภัยของคนเรา ให้ถือว่าทุกอย่างมันสำเร็จอยู่ที่จิตใจ จะเลวจะดีหรือว่าจะ ทุกอย่างล่ะ มัน มันจะสำคัญอยู่ที่จิตใจ ฉะนั้นต้องฝึกจิตใจให้มันได้ คือตรงกับความประสงค์ที่เราต้องการ ไอ้อะไรที่ควรจะได้ มนุษย์เกิดมาควรจะได้อะไร ก็ยังไม่รู้ ฉะนั้นควรจะศึกษาให้รู้ มีเวลาไม่มากนัก แล้วรู้ว่าไอ้สิ่งนั้นมันไม่ได้เพราะเราบังคับตัวเองไม่ได้ เรารู้อยู่ว่าอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น แต่แล้วเราทำไม่ได้เพราะเราบังคับตัวเองไม่ได้ นี่คือปัญหาเฉพาะหน้าในโลกเวลานี้ คือรู้อะไรชั่ว อะไรดี นี่รู้เกินไป รู้ แต่แล้วบังคับตัวเองให้ทำไปในทางที่ควรไม่ได้ มันก็ไปทำในทางที่ไม่ควร ฉะนั้นไม่มีใครที่ไม่รู้ว่านั่นชั่ว มันรู้ทั้งนั้นแหละแต่แล้วมันไปทำเพราะมันบังคับตัวไม่ได้ นี่เดี่ยวนี้มีปัญหามากเกี่ยวกับเด็กวัยรุ่นบ้าง อะไรบ้าง มันรู้ทั้งนั้นว่านั่นไม่ดี แต่แล้วมันบังคับตัวเองไม่ได้ มันต้องการสิ่งอื่นที่อร่อยที่สนุกสนาน บังคับไว้ในระเบียบไม่ได้ มันก็ต้องเป็นอันธพาล เพราะบังคับตัวเองไม่ได้ ทีนี้เราก็เหมือนกันแหละ ถึงแม้ไม่ถึงขนาดเป็นอันธพาลมันก็เป็นอะไรชนิดที่ทำตัวเองให้ลำบากเหมือนกัน บังคับตัวเองไม่ได้ บังคับจิตใจตัวเองไม่ได้เมื่อไหร่ลำบากเมื่อนั้น ก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น หรือเสื่อมเสียเมื่อนั้น ไม่มากก็น้อย เอาล่ะทีนี้ถ้าเวลามันไม่พอในการบวชสามเดือนนี้มันก็ต้องศึกษาหลักวิธีสำหรับบังคับตัวเอง ให้รู้เรื่องหลักไว้ สึกออกไปแล้วก็ยังฝึกฝนได้ตาม ตามโอกาส อย่าไปลุ่มหลงไอ้เรื่องเหลวไหลทั้งเพ ให้สึกออกไปแล้วก็พยายามฝึกฝนในทางที่จะบังคับจิต บังคับตัว บังคับกิเลสนี้ต่อไปอีกก็ได้ เพราะเดี๋ยวนี้มันฝึกไม่ทันแล้ว มันจะสึกสองสามวันนี้แล้ว เพราะอันที่จริงเพียงสามเดือนมันก็ไม่ใช่ว่าจะฝึกได้ทัน ฝึกได้ครบ สามเดือนสี่เดือนนี่มันจะต้องปีหนึ่งสองปีหรือมากกว่า เพื่อฝึกจิตใจให้อยู่ในอำนาจจริงๆ แต่ว่าถ้าฝึกกันจริงๆไอ้สามเดือนระหว่างบวชนี่ก็ฝึกได้ ได้มาก และบางคนมีอุปนิสัยดีอาจจะฝึกได้ทันในสามเดือนนี้ก็ได้ เป็นผู้ที่มีจิตใจเปลี่ยนสภาพเดิม คือบังคับไว้ได้อยู่ในร่องในรอยของความสะอาด สว่าง สงบไว้ได้มาก น่านับถือ น่าบูชาได้ ได้เหมือนกัน ถ้ามัวแต่อ่านหนังสือ หรือฟังวิทยุ หัวเราะกันเล่นไปวันๆหนึ่ง มันก็ยิ่งไม่ได้อะไรและยิ่งจะเลวกว่าเดิม สึกออกไปจะยิ่งเลวกว่าเดิม คืออย่าดูถูกศาสนา ดูถูกวัดวา มันไม่เห็นได้อะไร นี่วันนี้ผมก็พูดเรื่องประเดิม เรียกว่า ผมเรียกว่าเรื่องประเดิม เรื่องแรกสำหรับให้รู้ว่าถ้าบวชกันตอนหนุ่มๆนี้จะบวชกันทำไม เพื่อประโยชน์อะไร นึกถึงไอ้ประวัติของมันที่มีมาแล้วแต่นมนานนั่นน่ะ เขาก็บวชกันเป็นบัณฑิต ไปตามแบบของสมัยนั้นๆ ยุคนั้นๆ แต่ใจความมันเหมือนกันล่ะ บังคับจิตทั้งนั้น จะยุคไหนก็เรียกว่าบังคับจิตทั้งนั้น ผู้บังคับจิตได้ก็เป็นบัณฑิต แล้วก็ไปเผชิญหน้าที่ในชีวิตที่เราเกิดมาต้องแสดงบทบาทให้ดีที่สุดในชีวิตนี้ กว่ามันจะสิ้นสุดลงไป มันจึงเกี่ยวเนื่องกันเป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องชีวิต เรื่องบวชนี่ก็เป็นเรื่องเดียวกันกับชีวิต หรือซีกหนึ่ง หรือส่วนหนึ่ง หรือแขนงหนึ่ง หรือตอนหนึ่งของชีวิตทั้งหมด ทำให้มันดี เป็นจุดตั้งต้น จิตดีบังคับได้ดีตลอดต่อไปข้างหน้ามันจะดีหมด ดีจนตลอด ถ้าตรงนี้ทำไม่ได้ มันคงจะลำบาก มันก็จะมีอะไรกระทบกระทั่งเรื่อยไปจนตาย ไม่ได้สิ่งที่น่าชื่นใจเลย เอาละพอกันที สำหรับวันประเดิมเรื่องแรกนี้