แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายครั้งแรกของการบรรยายชุดนี้ ซึ่งเรียกว่า อธิจิตตาโยคธรรม เป็นเรื่องที่หนึ่งของเรื่องที่เป็นบทนำ จะได้บรรยายโดยหัวข้อว่า ความเป็นมาของ วัฒนธรรมทางจิต ความเป็นมาของ วัฒนธรรมทางจิต ทำไมจึงได้พูดเรื่องนี้โดยหัวข้อนี้ เพราะว่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ผู้เป็นธรรมฑูตจะต้องนำไปเผยแผ่โดยตรงด้วยเหมือนกัน พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมทางจิตในระดับสูงสุด คือ สิ่งที่ธรรมฑูตต้องนำไปเผยแผ่
เรื่องแรกที่จะทำความเข้าใจกันก็คือ ความเป็นมาของสิ่งนี้ ถ้าเราจะใช้ภาษาสากลอย่าง
สมัยนี้ก็ต้องเรียกว่า วัฒนธรรม หากแต่ว่าเป็นเรื่องทางจิต หรือว่าเป็นอยู่ในระดับที่สูงสุด ถ้าเราจะเอ่ยถึงศาสนา หรือถึงอะไรทำนองนั้นมันไม่กว้างขวางพอ เพราะว่าบางพวกก็ไม่ต้องการศาสนา และในบางกรณีก็เผยแผ่ในรูปของศาสนาไม่ได้ คือจะไม่มีใครยอมรับเอาก็ได้ ในหมู่คนที่เขาถือศาสนาอย่างอื่นหรือในหมู่คนที่รังเกียจสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ฉะนั้นขอให้เรียกกันเสียใหม่ในลักษณะที่ใครๆ ยอมรับได้ทั่วไปทั้งโลกว่าวัฒนธรรม ซึ่งเป็นคำที่เขาใช้กันอยู่เวลานี้ แล้วจึงค่อยระบุลงไปว่ามันเกี่ยวกับทางจิตใจ ไม่ใช่ทางวัตถุ แล้วก็บอกว่าแม้ในทางจิตก็ต้องเล็งถึงระดับสูงสุด นี่คือสิ่งที่ธรรมฑูตจะต้องนำไปเผยแผ่ในต่างประเทศ และแม้ว่าในประเทศเราเองถ้าพูดไปในรูป วัฒนธรรมทางจิต มีคนสนใจมากกว่าที่จะพูดไปในรูปของศาสนา เพราะคนสมัยนี้ชักจะเบื่อระอาสิ่งที่เรียกว่าศาสนา เพราะว่ามีอะไรๆ ทำให้เขารู้สึกเบื่อเช่นนั้นอยู่มากเหมือนกัน ไม่ใช่ความผิดของเขา มันก็เป็นความผิดของเราอยู่ด้วย นี่คือข้อที่ผมอยากจะแนะให้ใช้คำๆ นี้ ว่า วัฒนธรรมทางจิต
นี้ถ้าว่ามันเป็นเรื่องที่เรารังเกียจ ว่าเป็นคำโลกๆ เป็นคำสมัยใหม่ ก็ขอให้ทำความเข้าใจ
เสียใหม่ให้ถูกต้องว่า อืม ใจความของเรื่องนั้นมันเป็นเรื่องที่เราพูดกันอยู่แล้วในวงศาสนาของเรา แล้วมีชื่อเรียกในภาษาบาลีว่า จิตตอาโยคธรรม ผมเลยถือเอาว่าที่มาของจิตตาโยคธรรมนี้มีอยู่แล้วในพระบาลี ซึ่งท่านทั้งหลายที่เป็นธรรมฑูตย่อมรู้จักดีหรือพระสงฆ์สามเณรทั้งหลายก็รู้จักดี คือพระบาลีที่ว่า อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ แล้วก็มาถึงบทว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ. บทที่สำคัญที่สุดคือบทว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค อาโยค แปลว่า ประกอบทั่ว อธิจิตฺเต ในจิตอันยิ่ง แปลว่า ในธรรมนี้ทำจิตให้ยิ่ง คือการประพฤติ กระทำที่ทำให้จิตเจริญอย่างยิ่งนั่นเอง เป็นชื่อที่มีชัดอยู่แล้วว่า อธิจิตต อาโยค, อธิจิตต อาโยค เติมคำว่าธรรมเข้าไปข้างหลังก็เป็น อธิจิตตาโยคธรรม ซึ่งเราจะได้ใช้เป็นชื่อเรียกคำบรรยายชุดนี้ อธิจิตฺเต จ อาโยโค การประกอบทั่วในอธิจิตนี่คือวัฒนธรรมทางจิต อธิจิตคือจิตที่ยิ่ง ที่สูงขึ้นไปกว่าธรรมดาแล้วการประกอบ กระทำให้จิตเป็นอย่างนั้น ก็เรียกว่า อธิจิตต อาโยค ก็ตรงกับคำว่า วัฒนธรรมทางจิต วัฒนะก็แปลว่าทำให้เจริญ ทำให้เจริญก็คือให้มันยิ่ง ทีนี้วัฒนธรรมก็ธรรมให้เกิดความเจริญ แล้วก็ทางจิต เป็น วัฒนธรรมทางจิต พูดกับชาวบ้านเราเรียกวัฒนธรรมทางจิต พูดกันในวงพวกที่ใช้ภาษาบาลีในรั้ววัดก็เรียกว่า อธิจิตตอาโยคธรรม เป็นธรรมะข้อหนึ่งในบรรดาธรรมะทั้งหลายที่เป็นตัวพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่ในโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นพระพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสออกมาในฐานะเป็นตัวบทสำคัญของพุทธศาสนา สำหรับคำว่า อนูปวาโท อนูปฆาโต เป็นต้นนั้น มันรวมเข้าไปได้ในคำๆ นี้คือคำว่า อธิจิตต อาโยค ถึงแม้จะแยกกันก็ไม่เป็นไร เป็นเรื่องที่พูดกันทีหลังก็ได้ แต่ขอให้สรุปความสำคัญมันอยู่ตรงที่ อธิจิตต อาโยค อธิจิตตาโยค โดยสนธิ ฉะนั้นให้ถือว่าวัฒนธรรมทางจิตนั้นมันมีที่มาในพระพุทธศาสนาอยู่ที่นี่ อย่างน้อยก็แห่งหนึ่งก็อยู่ที่นี่ คือในพระพุทธภาษิตที่เป็นโอวาทปาฏิโมกข์ที่เรียกว่า เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นั่นแหละคือพระพุทธศาสนา เป็นอันว่าเราจะต้องเผยแผ่สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมทางจิตในระดับสูงสุดให้แก่โลก และถือว่านี่เป็นงาน ธรรมฑูตในประเทศก็ดี ในต่างประเทศก็ดีจะต้องเผยแผ่สิ่งนี้ คำตอบที่ว่าทำไมจึงต้องพูดกันเรื่องนี้โดยหัวข้ออย่างนี้
ทีนี้ต่อไปก็จะได้พูดถึงสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมทางจิต นั่นแหละ ให้เป็นที่เข้าใจกระจ่างชัด
ลงไปว่ามันคืออะไร มันจะมีขอบเขตกว้างขวางไปถึงไหน สิ่งที่เรียกว่า สมาธิวิปัสสนา นั้นมันจะรวมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมทางจิต ได้อย่างไร หรือว่า อานาปานสติภาวนา ซึ่งเป็นหัวข้อที่เราจะต้องศึกษากันโดยละเอียดนั้นมันรวมอยู่ที่คำว่า วัฒนธรรมทางจิต นั่นเองในลักษณะอย่างไร เพราะฉะนั้นก่อนอื่นทั้งหมดเราจะศึกษากันถึงคำๆ นี้ คือคำว่า วัฒนธรรมทางจิต
วัฒนธรรมทางจิต คืออะไร เราจะใช้วิธีลัดที่จะรู้ได้จากเรื่องความเป็นมาของ วัฒนธรรม
ทางจิต นั่นเอง ถ้าเราศึกษาถึงเรื่อง วัฒนธรรมทางจิต ว่ามีความเป็นมา มีประวัติเป็นมาอย่างไรแล้ว โดยทั่วถึงแล้ว เราก็จะรู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมทางจิต ได้พร้อมกันไป แล้วก็อย่างกว้างขวางหรือทั่วถึงด้วย นั้นเราจะพูดถึงไอ้ความเป็นมาของ วัฒนธรรมทางจิต ให้เป็นที่เข้าใจกันเป็นเรื่องแรก สิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมทางจิต มันได้ตั้งต้นขึ้นมาตั้งแต่เมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักเบื่อหรือเอือมระอาผลที่ได้รับจากวัตถุ นั้นขอให้นึกถึงเรื่องแรกที่สุดที่ว่ามนุษย์เกิดขึ้นมาในโลกได้อย่างไร แล้วเป็นมาตามลำดับอย่างไร ในคัมภีร์ เช่น คัมภีร์ทีฆนิกายก็มีสูตรที่พูดถึงเรื่องนี้ จนพวกฝรั่งเขาเรียกว่า Genesis ของพุทธศาสนา คือเล่าถึงเรื่องมนุษย์เกิดขึ้นมาในโลก อย่างที่เรียกว่า พรหมลงมากินง้วนดิน ใช่มั้ย แล้วก็ติดโรคเป็นมนุษย์ขึ้นมาทีแรก เรื่องนี้ไม่สำคัญ ไม่ต้องพูดถึงก็ได้ พูดถึงแต่ว่ามนุษย์ได้มีขึ้นมาในโลกแล้ว ในครั้งแรกก็อยู่กันสบายเพราะไม่กี่คน สิ่งต่างๆ ที่เกิดอยู่ในแผ่นดิน เช่น ข้าวสาลีที่เกิดอยู่ตามป่า โดยอาศัยหลักที่ว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าพืชนี้มันเกิดขึ้นในโลกก่อนสัตว์ ก่อนมนุษย์ มนุษย์ก็ได้อาศัยพืชพรรณที่เกิดอยู่ตามธรรมชาติในป่าเลี้ยงชีวิต แต่พอมันมากเข้าๆ มนุษย์มากเข้าๆ มันไม่พอกิน มันต้องทำกสิกรรม นี่ในบาลีนั้นว่าอย่างนั้น นี้เกิดตั้งต้นมีมนุษย์ที่เป็นอันธพาล ลักขโมยของผู้อื่น จึงต้องเกิดมีการสมมติผู้ปกครองขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า สมมติราช เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์แรกในโลกมนุษย์ มีหน้าที่ทำให้มนุษย์ไม่เบียดเบียนกัน ทีนี้ก็อยู่เป็นสุขสืบมา อย่างนี้ก็เรียกว่าวัฒนธรรมได้เหมือนกัน แต่มันเป็นวัฒนธรรม ไม่ใช่ทางจิต มันทางวัตถุ ทางสังคมอะไรเรื่อยมา เกิดสิ่งที่เรียกว่า พระราชา อะไร...บุคคลประเภทที่เรียกว่าพระราชาขึ้นมา แปลว่า ผู้ทำความยินดีให้แก่สังคมตามรูปศัพท์นะ เดี๋ยวนี้สังคมนอนหลับเพราะมีพระราชา ก็เกิดแบ่งแยกเป็นพวกตามหน้าที่การงาน พวกผู้ปกครองเรียกว่า ราชา พวกที่แนะนำสั่งสอนทางวิชาความรู้เรียกว่าพวก พราหมณ์ พวกที่เฉลียวฉลาดในการอาชีพเรียกว่า เวท แล้วชั้นต่ำกรรมกรนี้เรียกว่า ศูทร เหล่านี้ก็ยังไม่ใช่ วัฒนธรรมทางจิต จนกว่าเมื่อไรเกิดมนุษย์คนหนึ่งเบื่อระอาด้วยความเกลื่อนกล่นในทางสังคม แล้วก็หลีกออกไปอยู่ตามลำพังในป่าลึกๆ เข้าไป ไปนั่งคิดค้นว่าอะไรมันดีกว่าที่ได้รับอยู่เดี๋ยวนี้ ไอ้ความเป็นอยู่กันอย่างสังคมนั้นมันก็ไม่มีอะไรมากกว่า เห็นๆ กันอยู่จนเกิดไอ้พวกที่พบเรื่องทางจิตใจที่ลึกลับเพิ่มขึ้นๆๆ คือต้องการไอ้ความสงบทางจิตใจ ก็เกิดบุคคลประเภท สมณะ ขึ้นมาในโลก ต้องการความสงบระงับทางจิตใจเป็นครั้งแรกนี่
นั้นสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมทางจิต มันก็ตั้งต้นขึ้นที่ตรงนี้ ไม่มีใครบอก พ.ศ. หรือศตวรรษ
หรืออะไรได้ มันเป็นเรื่องเก่าเกินไป แต่มันก็เป็นที่เชื่อแน่ได้โดยไม่ต้องสงสัยว่า ในประวัติศาสตร์อันยืดยาวของมนุษย์นั้น ก็มาถึงยุคหนึ่งซึ่งมีคนเบื่อไอ้เรื่องวัตถุ เรื่องสังคม เรื่องอะไรต่างๆ หลีกไปค้นหาไอ้ความดี ที่ดีกว่านั้น คือเรื่องทางจิต ต่อมาก็มีคนไปติดต่อเพราะๆ คิดว่าไอ้คนนั้นมันคงจะมีอะไรดีแน่ ไปสอบถามถึงไอ้ความรู้ที่คิดค้นได้ใหม่ ไอ้พวกนี้ก็บอกให้ ก็เลยมีรู้มาถึงพวกมนุษย์ในบ้าน ในเมือง แล้วก็มีมากคนขึ้น แล้วมันก็สูงขึ้นไปตามลำดับๆ กี่พันปีก็ตามใจจนเกิดพระพุทธเจ้าขึ้นในโลกนี้ เหล่านี้เราเรียกว่ามันเป็นต้นตอหรือที่มาของ วัฒนธรรมทางจิต ตั้งต้นตั้งแต่เมื่อมนุษย์เริ่มมีกลุ่มบุคคลที่ออกไปอยู่ในป่า ในที่สงบสงัด ที่เรียกในภาษาชั้นหลังว่า วานปรัสถ์ ตามเรื่องราวที่กล่าวถึงอาศรม ๔ ตามหลักของ มนู แบ่งมนุษย์ออกเป็น ๔ อาศรม ก็เป็นเรื่องที่จะต้องสนใจไว้ เพราะมันช่วยการอธิบายอะไรได้ง่ายมาก
มนุษย์ทั้งหมดมีอยู่ ๔ อาศรม คืออยู่กันเป็นแบบหนึ่ง...แบบหนึ่ง แบบทีแรกเรียกว่า
พรหมจารี อาศรมพรหมจารีหมายถึงไอ้เด็กๆ จนถึงหนุ่มสาว อาศรม คฤหัสถ์ ก็คือคนที่มีครอบครัว ครองบ้านเรือน หริอาศรม วานปรัสถ์ ก็คือผู้ที่หลีกออกไปอยู่ในป่า หลังจากการเอือมระอาด้วยเรื่องบ้านเพราะอายุมันมากเข้า มันผ่านโลกมามากเข้า ถ้ามันยังไม่ตายเสียมันก็เร่ร่อน เที่ยวเร่ร่อนเพื่อจะแจกความรู้อันวิเศษที่เขาค้นพบในป่า ถ้าถือตามหลักนี้ภิกษุในพุทธศาสนาก็อยู่ในพวก สันยาสี อาศรมสันยาสีเพราะว่าพระพุทธเจ้าหรือพวกเราทั้งหมดมิได้บำเพ็ญตัว อย่างชนิดที่เรียกว่าเก็บตัวเงียบอยู่ในป่า แต่มีการติดต่อกับประชาชนเรื่อยไป เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนเหล่านั้น จะเก็บตัวอยู่ในที่สงบสงัดบ้างก็เป็นระยะกาลหนึ่งเท่านั้น คือในระยะที่ฝึกหัดเพื่อให้ได้บรรลุธรรม เมื่อบรรลุธรรมแล้วก็มีการท่องเที่ยวไปตลอดเวลา นี้เป็นลักษณะของ สันยาสี ผมใช้คำพูดสั้นๆ เพื่อเข้าใจง่ายว่า เที่ยวแจกของ ส่องตะเกียง แต่ทีนี้แม้ว่าภิกษุเราในตอนแรกๆ บวชก็ยังไม่ได้เก็บตัวเงียบอยู่ในป่า อย่างพวกฤาษี มุนี โยคีที่ไปอยู่ที่หิมาลัย คือบวชแล้วก็ยังอยู่ตามบ้านเรือน ยังท่องเที่ยวไป บิณฑบาตไป ทำอะไรต่างๆ เกี่ยวข้องสังคม ก็มีเวลาทำความสงบสงัดพร้อมกันไปในตัว นี้เป็นลักษณะของพวก สันยาสี คือท่องเที่ยว เป็นนักบวชผู้ท่องเที่ยว ไม่ใช่นักบวชที่เก็บตัวเงียบอยู่ในดงลึก ไม่ติดต่อกับสังคม นี้ก็เลยเรียกว่าอาศรมทั้ง ๔ ซึ่ง มนู ซึ่งพระอะไร พระมนูได้วางบทบัญญัติไว้เป็นหลักในมนูธรรมศาสตร์ว่ามนุษย์มันมี ๔ ชนิดอย่างนี้ เรียกว่าอาศรม อาศรมหนึ่ง แปลว่า คนจำนวนมากที่ทำอะไรในวัตถุประสงค์เดียวกัน ก็เรียกว่าอาศรมหนึ่งๆ มิได้หมายความถึงกระท่อมที่อยู่ของฤาษี เหมือนในภาษาไทย เด็กๆ พอได้ยินคำว่าอาศรมก็หลับตาเห็นภาพกระท่อมเล็กๆ ที่ฤาษีเข้าไปมุดอยู่ในนั้น
ที่จริงคำว่าอาศรมในลักษณะอย่างนี้ มันหมายถึงไอ้การอยู่กันมากๆ ด้วยวัตถุประสงค์
เดียวกัน เช่น พวกฤาษีอาศรมนี้มีอยู่หลายร้อย หลายพันก็ได้ แต่ว่าประพฤติธรรมะหัวข้อเดียวกัน มุ่งหมายอย่างเดียวกัน คำนี้มาเป็นชื่อของคนที่อยู่กันในโลก เพราะว่าไอ้สังคมนั้นจะต้องมีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน เช่น อาศรมพรหมจารี เด็กทุกคนกระทั่งหนุ่มสาวจะต้องมีการศึกษาและเคร่งครัดในระเบียบวินัย นั่นแหละคือความหมายของคำว่าพรหมจารี ทุกคนเป็นพรหมจารี พอต่อมาถึงคฤหัสถ์เรียกว่าเป็นพ่อบ้าน แม่เรือน เป็นวัวลากเกวียนเหมือนกันทุกคน ไม่ว่าคนมั่งมีหรือคนยากจนจะต้องมีอาการที่ลากเกวียนด้วยกันทั้งนั้น ภาระหนักในการมีครอบครัว นี้ต่อมาถึงอาศรมวานปรัสถ์ มันก็หมายถึงว่าน้อยคนหน่อยที่หลีกออกไปอยู่ในที่สงบสงัด ในป่าในดงนี่ ทีนี้สมมติว่าออกไปไม่ได้ ก็อาศัยไอ้ริมรั้วบ้าน กอกล้วย กอไผ่ริมรั้วบ้าน คนแก่ออกไปนั่งคิดคำนึงอะไรอยู่คนเดียว ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรื่องบนเรือนมันก็อยู่ในพวกนี้เหมือนกัน โดยอ้อมว่าเป็นวานปรัสถ์ และจนกว่าจะพอใจในการท่องเที่ยว ถ้าเป็นนักบวชมันก็ท่องเที่ยวได้ เป็นสันยาสี
ทีนี้ระบอบวานปรัสถ์มันเกิดขึ้นในโลกนี้เมื่อไร นี่ผมถือว่าเป็นจุดตั้งต้นของสิ่งที่เรียกว่า
วัฒนธรรมทางจิต พวกนี้เบื่อวัตถุ เบื่อสังคม ออกไปค้นไอ้ความก้าวหน้าทางจิตจนพบเป็นที่พอใจ แล้วก็เจริญรุ่งเรืองสืบมาจนเกิดพระพุทธศาสนา มีพระพุทธเจ้าเป็นผู้สูงสุดในการรู้และเผยแผ่ วัฒนธรรมทางจิต ก็ถือเอาบาลีประโยคที่ว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค นี้เป็นหลัก คือเป็นที่มาของคำๆ นี้ ที่เราจะมาใช้กันต่อไปข้างหน้า ที่จะไปเผยแผ่แก่คนทั้งหลาย รวมทั้งในประเทศหรือนอกประเทศก็ตาม ก็สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ดีสำหรับมนุษย์ที่ควรจะได้จะถึง อย่าให้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ เมื่อเราศึกษาไอ้ประวัติความเป็นมาของมนุษย์ในแง่ของ วัฒนธรรมทางจิต เรื่อยมาอย่างนี้ ก็เราเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมทางจิต ได้ดี โดยไม่ต้องแยกออกเป็น ๒ เรื่อง ครั้งแรกก็คงจะรู้น้อยมาก รู้แต่ว่าไอ้เรื่องเงิน เรื่องทอง เรื่องลูก เรื่องเมีย เรื่องนี้มันไม่ไหว มันรบกวน ทีนี้คำว่าสงบมันก็โผล่ขึ้นมา คือปราศจากการรบกวน แล้วคำว่าสงบ เช่น คำว่า สมณะ เป็นต้นนี้ มันก็โพล่งออกมาในคำพูด ในปากของมนุษย์ว่าสงบๆๆ เช่นเดียวกับคำว่า ราชา ในสูตรนั้นกล่าวไว้ว่า พอมนุษย์ได้รับความสบาย ความปลอดภัยจากบุคคลคนนั้น ที่เขาสมมติขึ้นให้เป็นหัวหน้าควบคุมนี้ ไอ้ความรู้สึกสบาย เต็มตื้นขึ้นมา คำพูดมันจึงหลุดออกมาว่าราชาๆๆ เรื่อยไป ไม่ใช่ว่าฉันแต่งตั้งแกให้เป็นพระราชานี่ไม่ใช่ แต่งตั้งให้เป็นผู้มีหน้าที่คอยลงโทษคนที่ทำผิดหรือยกย่องคนที่ทำถูก เป็นผู้บังคับบัญชาสิ่งต่างๆ ให้เป็นไป เพราะว่าเขาได้เลือกเอาคนที่แข็งแรง ร่างกายแข็งแรง สติปัญญาเฉลียวฉลาด ทุกคนเห็นด้วยยกคนนี้ขึ้นเป็นหัวหน้า พอเขาปฏิบัติหน้าที่ลุล่วงไปด้วยดี ไม่กี่มากน้อยคำว่าราชาๆ โพล่งออกมาเองที่ปากของมนุษย์ คำนี้จึงเลยมีใช้ในโลกขึ้นมาคือคำว่า ราชา แปลว่า ผู้ที่ทำบุคคลทั้งหลายให้เกิดความยินดี ราชะ มันแปลว่ายินดี
นี้คำว่า สมณะ ก็เหมือนกัน มันเกิดขึ้นในโลกโดยทำนองนี้ คือคนพวก วานปรัสถ์ มันได้รับความสงบ มันก็หลุดออกมาจากปากเป็นความสงบๆ เหมือนกับคนบ้าพูด เกิดบุคคลประเภทสมณะขึ้นมา หมายถึง เข้าถึงและสมบูรณ์แล้วด้วย วัฒนธรรมทางจิต คือได้รับความสงบ แม้ว่าความสงบนั้นยังไม่ถึงที่สุด มันก็เรียกว่าเป็นความสงบขั้นหนึ่งได้นะ ก็หลีกออกจากเรื่องวุ่นวาย เรื่องบ้าน เรื่องเรือน เรื่องเงิน เรื่องของอะไรต่างๆ ก็สังเกตดูเอาจากไอ้ความเป็นฤาษี มุนี ที่หลีกออกไปอยู่ในป่านั้นสบายแล้วก็สงบ ไม่วุ่นวาย ไม่อึดอัด ไม่คับแคบ เรียกว่าความสงบ ทีนี้เราก็มองดูไอ้ระบบความเป็นอยู่ชนิดนี้ แล้วควรจะเรียกชื่อว่าอะไร ทีนี้เราก็เรียกว่า วัฒนธรรมทางจิต ไอ้ชื่อเหล่านี้มันตั้งขึ้นโดยอาศัยความหมายของสิ่งที่มันมีอยู่นะ ไม่ใช่เราจะตั้งคำพูดขึ้นมาโดยไม่มีอะไรเป็นหลักหรือว่าแสดงความหมายอยู่ เพราะวัฒนธรรมก็แปลว่าธรรมที่ทำความเจริญ นี้ทางจิตมันก็คือทางจิตโดยเฉพาะ คำเหล่านี้มันก็เกิดขึ้นมาเองในปากของ มนุษย์ ถึงจะใช้รูปศัพท์ภาษาบาลีต่างกัน ความหมายเหมือนกัน คือเป็นความเจริญในทางจิต สำหรับสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมโดยพยัญชนะ มันก็เราก็เคยเรียนบาลีกันแล้วทุกคน วัฒนะก็แปลว่าเจริญ คือมันมากขึ้นๆ แล้วก็หมายเฉพาะที่มันมากขึ้นไปในทางดีหรือทางสูง ไม่ใช่ทางเสียหรือทางร้าย รู้ได้โดยอรรถะ ว่าเล็งถึงแต่ที่เป็นไปในทางดีหรือทางสูง ถ้าโดยพยัญชนะคำนี้ มันแปลว่ามากขึ้นหรือว่ารกขึ้น มันอาจจะไปในทางร้ายก็ได้ ทีนี้ทางอรรถมันช่วยควบคุมไว้ มันเป็นไปได้แต่ในทางดี แล้วโดยข้อเท็จจริงนั้นมนุษย์ก็มิได้มีความต้องการในสิ่งที่เลว รู้อะไรดีเป็นหันไปทางนั้น รู้ว่ายังไม่ดีจริงหรือไม่ดีถึงที่สุดก็หันไปหาไอ้ที่มันดีกว่า โดยหลักการอันนี้มันก็ถึงที่สุดได้
เมื่อใดไอ้ความเติบโตของ วัฒนธรรมทางจิต มันเจริญเต็มที่ มันก็เข้าไปมีครบทั้งใน ๔
อาศรม เมื่อตะกี้นี้มันตั้งต้นที่อาศรมวานปรัสถ์คือคนที่ไปอยู่ป่า ทีนี้เมื่อมันเจริญเต็มที่ ไอ้ความรู้ของคนอยู่ป่านั้นมันก็แพร่เข้ามาในบ้าน จนกระทั่งสอนให้ลูกเด็กๆ ก็ต้องมีความเจริญในทางจิต อย่าให้ลูกเด็กๆ เห็นแต่เรื่องปากเรื่องท้อง เรื่องไอ้เงิน เรื่องของ เรื่องวัตถุ ก็เลยสอนให้ลูกเด็กๆ ให้มี วัฒนธรรมทางจิต สอนหนุ่มสาว พ่อบ้าน แม่เรือนให้มี วัฒนธรรมทางจิต นี่อาศรมที่ ๑ อาศรมที่ ๒ก็มี วัฒนธรรมทางจิต แทรกเข้ามา อาศรมที่ ๓ อาศรมที่ ๔ เดี๋ยวมันก็เป็นผู้ที่เต็มไปด้วย วัฒนธรรมทางจิต อยู่แล้ว นี่ว่าจนมันครบไปทั้ง ๔ อาศรม เต็มเปี่ยมอยู่ด้วย วัฒนธรรมทางจิต ตามระดับที่มันจะพึงมีได้
ทีนี้ก็มาถึงวันนี้ของโลก คือยุคปัจจุบันนี้ ถ้ามองดูในแง่ที่ว่าไอ้วัฒนธรรมทางจิต ที่มันได้
เกิดขึ้นอย่างไรในสมัยดึกดำบรรพ์นั้นก็เป็นเรื่อยมา ก็จะเห็นได้ว่ามันจำเป็นที่สุดแม้แก่มนุษย์วันนี้ คือมนุษย์ที่เจริญด้วยวัตถุ มีความก้าวหน้าในทางวัตถุ การศึกษา ค้นคว้าก้าวหน้า ถ้าไม่มีไอ้ความรู้เรื่องนี้ ไม่มี วัฒนธรรมทางจิต มันก็ต้องเป็นสัตว์ สัตว์ป่าหรือว่าคนป่าที่อันตรายที่สุด เดี๋ยวนี้ก็มี วัฒนธรรมทางจิต ช่วยป้องกันคุ้มครอง ไม่ให้มันเป็นสัตว์ป่าไปได้ เป็นสัตว์ป่าที่ร้ายกาจกว่าสัตว์ป่าตามธรรมดา ทีนี้มาถึงสมัยหลังๆ นี้หนักเข้าๆ มัน เรื่องมันจะกลับกัน อย่างที่เรียกว่า โอละพ่อ คือความเจริญทางวัตถุนี้ทำให้มนุษย์ในยุคนี้ชักจะเหินห่าง ห่างเหินไปจากไอ้ วัฒนธรรมทางจิต มามัวเมาแต่วัฒนธรรมทางวัตถุที่ออกมาแปลกๆ ใหม่ๆ และยั่วยวนหนักขึ้น แล้วพาลพาโลแก้ตัวว่านี่ก็เป็น วัฒนธรรมทางจิต พอ วัฒนธรรมทางจิต มันเริ่มถอยหลัง ลดตัวลงไป ในเมื่อวัฒนธรรมทางวัตถุมันก้าวหน้าพรวดพราด จนคล้ายว่าจะเอาอะไรก็เอาได้ จะไปโลกพระจันทร์ก็ไปได้ แล้วมีอะไรมากไปกว่านั้น มันมีความยั่วยวนมาก ไอ้มนุษย์ก็เลยเป็นทาสของวัฒนธรรมทางวัตถุ แล้วก็มีขบถต่อ วัฒนธรรมทางจิต แม้ที่สุดแม้แต่ว่าพวกที่เคยนับถือพุทธศาสนามา ก็เริ่มมาอย่างเคร่งครัดเต็มที่ มันก็เริ่มคลาย เริ่มจาง เริ่มคลาย ทนไอ้ความยั่วยวนของวัตถุไม่ไหว นี่เรียกว่าไอ้สภาพการณ์มันเปลี่ยนไปอย่างนี้ แต่ข้อเท็จจริงอันลึกซึ้งนั้นมันก็ยังคงมีอยู่ว่า โลกยิ่งต้องการ วัฒนธรรมทางจิต ที่ถูกต้องยิ่งขึ้นทุกที ยิ่งขึ้นตามที่ไอ้ทางวัตถุมันเจริญนั่นน่ะ ทางวัตถุมันเจริญเท่าไร ความจำเป็นที่จะต้องมี วัฒนธรรมทางจิต มันก็มีมากเท่านั้น แต่นี่มนุษย์มันไม่รู้สึกอย่างนั้น มันก็ละเลยต่อ วัฒนธรรมทางจิต ก็ไปเข้มข้นในทางวัฒนธรรมทางวัตถุ โลกจึงอยู่ในสภาพที่มีอันธพาลมากขึ้นๆๆ เรื่องนี้ก็พอจะเข้าใจกันได้แล้วว่าหมายถึงอะไร ในประเทศไทยเราก็แย่ด้วยอันธพาลมากขึ้น โลกทั้งโลกมันก็เป็นอย่างนั้น แสดงออกมาเป็นสงคราม รบราฆ่าฟันกันอย่างไม่มีมนุษยธรรม แล้วก็ยืนยันว่านี่เพื่อมนุษยธรรม เขาว่าเขารบกันเพื่อมนุษยธรรม ซึ่งที่แท้มันคือไอ้หมดความเป็นมนุษย์ สูญเสียมนุษยธรรม แต่เราจะไปด่าเขาซึ่งหน้าอย่างนี้ไม่ได้ เขาก็จะโกรธแล้วจะไม่ฟังเราพูด แต่โลกในสถานะปัจจุบันมันเป็นอย่างนี้จริง นี่คือปัญหายากที่สุดสำหรับพวกธรรมฑูต รวมอยู่ที่นี่ ถ้าเราไม่เก่งจริง เราก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้ เพราะโลกมันกำลังเป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องการไอ้ วัฒนธรรมทางจิต เราก็จะพูดกันโดยรายละเอียดต่อไป
นี้เป็นเรื่องนำของเรื่องที่เราจะพูดกันถึง วัฒนธรรมทางจิต แล้วก็มาถึงตัว วัฒนธรรมทางจิต ในพุทธศาสนา ที่เราเรียกกันว่า สมาธิภาวนา ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์มุ่งหมายที่จะบรรยายเรื่องนี้ให้เป็นที่เข้าใจกันอย่างแจ่มแจ้ง เรียกคลุมๆ กว้างๆ ว่า วัฒนธรรมทางจิต ใช้แก่ศาสนาไหนก็ได้ ในระดับไหนก็ได้ แต่ถ้าจะให้พูดกันในวงพุทธบริษัทเราโดยเฉพาะ แล้วก็ในระดับที่สูงเป็นที่พอใจแล้วเราจะเรียกอีกคำหนึ่ง เรียกโดยชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า สมาธิภาวนา ในฐานะเป็น วัฒนธรรมทางจิต สำหรับคำนี้ผมจะขอร้องเป็นพิเศษให้สนใจวิพากษ์วิจารณ์ คำว่าสมาธิภาวนา นี้สำคัญที่สุด เมื่อได้สอบดูทั่วทั้งพระไตรปิฎกแล้ว เห็นได้ว่าคำนี้มันเป็นคำที่ดีที่สุด รัดกุมที่สุด แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสด้วยคำนี้ คือไปเปิดดูในอังคุตตรนิกาย ไอ้ตอนหมวด ๔ จะมีเรื่อง สมาธิภาวนา ๔ จตฺตาโร ภิกฺข เว สมาธิภาวนา ให้ถือคำว่า สมาธิภาวนา นี้เป็นคำบัญญัติเฉพาะที่ตายตัว อย่าไปเปลี่ยนแปลง อย่าไปแก้ไข จะพูดว่าสมาธิเฉยๆ ก็ไม่ถูก จะภาวนาเฉยๆ ก็ไม่ถูก จะพูดว่าสมาธิภาวนา วิปัสสนาภาวนาแค่นี้ก็ไม่ถูก ไม่พบที่มาที่เป็นพระพุทธภาษิต ก็พบที่มาที่เป็นพระพุทธภาษิตแท้ๆ คือคำว่า สมาธิภาวนา แล้วก็มิได้หมายถึงสมาธิอย่างเดียว เหมือนที่เราเข้าใจกันโดยมากแล้วสอนกันอยู่ในโรงเรียน
นี่ผมเชื่อเพราะผมหยั่งใจรู้ว่า พอได้ยินคำว่า สมาธิภาวนา พวกครูนักธรรม นักเรียน
นักธรรมก็จะเล็งถึงเรื่องสมาธิอย่างเดียว แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้หมายความอย่างนั้น สมาธิภาวนา ๔ มันหมายถึงหมดทั้งสมาธิและปัญญา สมาธิภาวนาที่ ๑ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบันทันตาเห็นคือการเจริญรูปฌาณ สมาธิที่ทำไปจนได้รูปฌาณนี่คือสมาธิภาวนาที่ทำไป...ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขทันตาเห็น อันที่ ๒ สมาธิภาวนา เป็นไปเพื่อจักษุทิพย์ หูทิพย์ ตาทิพย์นั้นมันคือเจริญไอ้อาโลกสัญญา ทิวาสัญญาอะไรทำนองนั้น แล้วสมาธิภาวนาที่เป็นไปเพื่อสมบูรณ์แห่งสติสัมปชัญญะนี้ก็มุ่งหมายแต่เพื่อความสมบูรณ์แห่งสติสัมปชัญญะ ไม่พูดถึงความสุข ไม่พูดถึงตาทิพย์ หูทิพย์นั้นจึงเป็นการเจริญเฉพาะคือการคอยกำหนด การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของเวทนา สัญญา วิตกอะไรพวกนี้ คือความเปลี่ยนแปลงของจิต จะเป็นประเภทเวทนาก็ได้ สัญญาก็ได้ วิตกก็ได้ เพราะไอ้เหล่านี้มันมีการเกิดขึ้นมาแล้วตั้งอยู่ขณะหนึ่งแล้วดับไป นั้นการเจริญสมาธิภาวนาคอยเฝ้ากำหนดอยู่ที่การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของสิ่งเหล่านี้จึงได้ผลเป็นความสมบูรณ์แห่งสติสัมปชัญญะ เมื่อมีความสามารถถึงขนาดนี้คือมีความสมบูรณ์แห่งสติสัมปชัญญะแล้วเอาไปใช้อะไรก็ได้ เรื่องทางธรรมดาก็ได้ เรื่องจะไปนิพพานก็ได้ ก็ต้องการสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ เรื่องยุบหนอ-พองหนอ อะไรหนอๆ นี้ก็อยู่ในพวกนี้ เพื่อความสมบูรณ์แห่งสติสัมปชัญญะ นี้ สมาธิภาวนาประเภทที่ ๔ คือสมาธิภาวนาเป็นไปเพื่อความสิ้นแห่งอาสวะ นิพพานคือการกำหนดพิจารณาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปแห่ง ปัญจุปาทานขันธ์ คือว่าเมื่อมันเกิดรูปขันธ์หรือเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์อะไรขึ้นมาในลักษณะที่มีอุปาทานเข้าไปยึดถือว่าตัวเรา ว่าของเรานี้ ดังนั้นเขาเรียก ปัญจุปาทานขันธ์ ไม่ใช่ขันธ์ล้วนๆ มันก็เกิดขึ้นเป็นคราวๆ เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูฟังเสียง เป็นต้น ไปยึดมั่นสิ่งใดในขันธ์ทั้ง ๕ นั้นเป็นตัวเรา เป็นของเราก็เรียกว่า ปัญจุปาทานขันธ์ อย่างใด อย่างหนึ่งได้เกิดขึ้น นี่พิจารณาเห็นในความเป็นจริงข้อนี้ มันก็เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เบื่อหน่ายคลายกำหนัด สิ้นอาสวะไป
นั้นคำว่า สมาธิภาวนา จึงไม่ได้หมายแต่เพียงว่าทำสมาธิล้วนๆ นั้นเราต้องถอดสมาสๆ นี้
ให้กว้างจนถึงกับว่ามันกินความไปถึงปัญญาหรือวิปัสสนา สมาธิภาวนา นี่ไอ้สมาสที่ง่ายที่สุดมันคงจะแปลว่าการเจริญสมาธิ สมาธิภาวนา ที่เราจะยักไอ้ความหมาย ถอดรูปสมาสเป็นอย่างอื่นว่าไอ้ภาวนาที่ต้องทำด้วยสมาธิ ภาวนาแปลว่า ความเจริญ คำเดียวกับคำว่า วัฒนะ น่ะ ภาวนาแปลว่าการทำให้เจริญ แล้วสมาธิแปลว่าด้วยสมาธิ นี่การทำให้เจริญด้วยสมาธิมันจึงได้ถึงไอ้ ๔ อย่าง คือ การทำให้ความสุขเกิดขึ้นก็ได้, ทำให้สมรรถภาพเป็นทิพย์ก็ได้, ให้สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะก็ได้, แล้วให้สิ้นอาสวะก็ได้ นั้นคำๆ นี้จึงเป็นคำที่กินความหมดทั้งสมถะและวิปัสสนา คือทั้งสมาธิและปัญญาโดยที่เราถือเอาความของสมาสว่า ความเจริญที่สร้างขึ้นมาด้วยสมาธิ มีอยู่ ๔ อย่าง...อย่างนี้ นั้นสิ่งที่เรียกว่าสมาธิภาวนาอันนี้จึงเป็น วัฒนธรรมทางจิต ที่ครบถ้วนทั้งฝ่ายสมถะและฝ่ายวิปัสสนา แล้วควรจะใช้เป็นคำบัญญัติเฉพาะที่ถือเป็นหลักตายตัว อย่าเอาไปปนเปกันให้ยุ่ง แต่อยากจะแนะให้สังเกตต่อไปว่า ไอ้คำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มันมีหลายคำ แล้วเข้าๆ ออกๆ แคบๆ กว้างๆ ทำความยุ่งยากลำบาก ก็ยิ่งคำชั้นหลังนี้ด้วยแล้วยิ่งทำให้ยุ่งยากลำบาก คำที่พระพุทธเจ้าไม่เคยใช้ เช่น คำว่าวิปัสสนาธุระ ไอ้คันถธุระอะไรเหล่านี้ เป็นคำที่พระพุทธเจ้าไม่เคยใช้ แม้จะมีอยู่ในอรรถกถาธรรมบทนั้นมันมีผู้เขียนอรรถกถาธรรมบทเขียน เราจะถือเอาแต่ที่มันปรากฎอยู่ในพระบาลีคือพระไตรปิฎกเป็นหลักแล้วก็จะเอาแต่เฉพาะที่เป็นพุทธภาษิต ไม่ๆๆ รวมไอ้คำที่เกิดขึ้นชั้นหลัง โดยเฉพาะภาษาอภิธรรมยุคหลังๆ มีมากเหลือเกิน ไม่เคยมีพระพุทธภาษิตที่ใช้คำเหล่านั้นเลย
เดี๋ยวนี้เรากำลังพูดกันถึง วัฒนธรรมทางจิต ถ้าถามว่าทำอย่างไรในหมู่พุทธบริษัท ก็คือ
ทำ สมาธิภาวนา คือการทำความเจริญให้เกิดขึ้นโดยอาศัยสิ่งที่เรียกว่าสมาธิ...สมาธินั้น อยู่ใน สมาธิภาวนา ในฐานะที่เป็นตัว วัฒนธรรมทางจิต ในพุทธศาสนา สรุปความให้สั้นที่สุดก็ว่า มันเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสมรรถะ ทำให้เกิดความสามารถในการทำงานในหน้าที่ ในการทำงานในหน้าที่มันเป็นเรื่องวัตถุ เป็นเรื่องการงาน เป็นเรื่องไม่ใช่ทางจิต แต่นี้เราเจริญ สมาธิภาวนา มี วัฒนธรรมทางจิต นี้มันเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสมรรถภาพในการทำงานในหน้าที่ แล้วเป็นอย่างนี้ใครๆ ก็ต้องการ ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน มนุษย์ต้องการสมรรถภาพในการที่จะทำหน้าที่ประจำวันให้ลุล่วงไปด้วยดี ให้ได้ผลมาก พอพูดถึงเรื่องนี้แล้วก็หูผึ่ง นั้นการที่จะไปพูดกับฝรั่งก็ควรจะพูดเรื่องนี้ โดยบอกว่าสิ่งที่มันจะทำให้เกิดสมรรถนะในการทำงานในหน้าที่ชีวิตในประจำวันนี่คือข้อแรก ทีนี้ข้อสองให้เกิดความสุขชนิดที่แท้จริงที่น่าพอใจแล้วก็อยู่ตลอดเวลาในชีวิตนี้ อย่าให้เขาเข้าใจผิดว่าต่อตายแล้วเหมือนที่สอนกันอยู่โดยมาก ตายแล้วจึงจะได้รับผลอันนี้ นี้เราบอกว่าที่นี่และเดี๋ยวนี้และในขณะที่ทำงานในหน้าที่ประจำวันนั่นเอง จะมีความสุขที่แท้จริงรวมอยู่ด้วย ในงานนั่นก็ทำไป ผลก็เป็นอย่างอื่น แต่เดี๋ยวนี้เรามีความสุขคือความอิ่มอกอิ่มใจสบายใจ อยู่ในขณะที่ทำงานนั้นด้วย ความสุขที่แท้จริงนี้ไม่ได้หมายถึงความเพลิดเพลิน สนุกสนาน อย่างแบบที่เรียกว่าเพลิดเพลิน เราหมายถึงความสุขที่แท้จริงคือความพอใจที่ประกอบไปด้วยธรรม แล้วมีจิตใจสงบเย็น ไม่กระวนกระวายด้วยตัณหาความอยาก ความทะเยอทะยานอะไรหมด นี่เขาก็คงจะต้องการ เรามีชีวิตอยู่ด้วยความสุขที่แท้จริงแม้ในขณะที่ทำงาน ก็เป็นความสุขชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นความสุขตลอดๆ เวลา เมื่อทำงานก็ตาม เมื่อไม่ทำงานก็ตาม ในชีวิตประจำวันมีความสุข ทีนี้อันสุดท้ายอยากจะเรียกว่ามันทำให้เกิดความสมบูรณ์ในระดับสุดท้ายของความเป็นมนุษย์ นี้ก็เป็นสิ่งที่เขาต้องการกันทั้งโลก คือขึ้นถึงระดับสูงสุดของความเป็นมนุษย์ ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าอะไร ก็ต้องการกันทั้งนั้นแหละ ในวัฒนธรรมสากลเขาเรียกว่า ความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ พูดไว้คลุมๆ อย่างนั้นน่ะเพราะมันยังไม่รู้เหมือนกัน ไอ้พวกนักจริยธรรมของโลกมันยังไม่รู้ว่ามนุษย์จะเต็มกันที่ตรงไหนหรืออะไร แต่มันยังกล้าพูดว่าไอ้ summum bonum ข้อที่สองมันคือความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ นี้ถ้าว่าพุทธศาสนาเราคือความสิ้นอาสวะและเป็นพระอรหันต์นั้น ไม่มีอะไรสูงไปกว่านั้น ไม่มีอะไรสมบูรณ์ไปกว่านั้น นี่จิต เอ่อ สมาธิภาวนาหรือ วัฒนธรรมทางจิต ในพุทธศาสนาทำให้ถึงความสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์คือสิ้นอาสวะ
เป็นพระอรหันต์โดยเฉพาะ
สำหรับคำว่าพระอรหันต์ก็มีผู้แปล ที่ผมจะเรียกว่าผู้แปลที่ดีนะ เขาแปลว่า มนุษย์ที่เต็ม The man perfected เขาหมายถึงพระอรหันต์ มนุษย์ที่เต็ม ก็มาเข้ารูปเข้ารอยกันกับหลักเกณฑ์เหล่านี้ ใน ๓ อย่างนี้มันก็เข้ารูปกันได้กับไอ้ ๔ อย่างที่ว่า คืออำนาจทิพย์ ที่มีหูทิพย์ ตาทิพย์ กับมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ๒ ข้อนี้รวมกันเข้า ให้ชื่อว่าเป็นสิ่งที่ให้เกิดสมรรถนะในการทำงานในหน้าที่ของตน แล้วคำว่าหูทิพย์ ตาทิพย์ อะไรทิพย์นี้ก็คืออำนาจความสามารถชนิดที่เป็นทิพย์ คือมันดีกว่าระดับธรรมดาน่ะ เราไปติดตัวหนังสือกันนักก็กลายเป็นเรื่องของเทวดาในสวรรค์อะไรไป ที่แท้มันคือไอ้สมรรถนะที่มันเกินกว่าธรรมดานี่ หูธรรมดานี้เราไม่เรียกว่าหูทิพย์ แต่ถ้าหูมันเกิดได้ยินอะไรมากกว่าธรรมดาก็ต้องเรียกว่าหูทิพย์ ตาทิพย์อะไรทิพย์ ไอ้ความเป็นทิพย์นี่มันหมายความว่ามันทำอะไรได้มากกว่าธรรมดาเท่านั้นเอง นั้นสมาธิภาวนาประเภทที่สองให้ได้อำนาจเป็นทิพย์และที่สามให้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์นี้รวมเข้าด้วยกันแล้วก็คือไอ้สิ่งที่ให้เกิดสมรรถนะในการทำงานในหน้าที่ แล้วความสุขก็คือไอ้สมาธิภาวนาที่ให้เกิดสุขอยู่แล้ว แล้วสมาธิภาวนาที่ให้สิ้นอาสวะนั่นน่ะคืออันที่จะให้ถึงความสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์ นี่สมาธิภาวนาพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เป็น ๔ อย่างอย่างนี้ แล้วก็สรุปความให้เป็นที่น่าสนใจแก่มนุษย์ที่ก้าวหน้าที่สุดในยุคปัจจุบันก็คือ ๓ หัวข้อนี้ ว่า วัฒนธรรมทางจิต ของพุทธบริษัทเราน่ะจะให้อานิสงส์ ๓ อย่างซึ่งล้วนแต่ว่ามนุษย์สมัยปัจจุบันนี้มันต้องการ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า สมาธิภาวนา ตามพระพุทธภาษิตที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา ที่จะออกไปเป็น วัฒนธรรมทางจิต ที่เราพระธรรมฑูตจะเผยแผ่ จะเผยแผ่ออกไปทั่วโลกในรูปที่ต่างๆ กัน ซึ่งมีรายละเอียดอีกมาก ไว้ค่อยพูดกัน
ทีนี้อยากจะพูดเป็นเรื่องแถมพกให้เข้าใจดียิ่งขึ้นว่าเรา เอ่อ ทำอย่างไรจึงจะให้โลกนี้มันเต็ม
ไปด้วย วัฒนธรรมทางจิต เดี๋ยวนี้โลกมันเต็มๆ ไปด้วยวัฒนธรรมทางวัตถุแล้วมัวเมา มัวเมาเสพติดแล้วเราจะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนให้มันมาสนใจ วัฒนธรรมทางจิต บ้าง เพราะว่ามนุษย์จะเป็นมนุษย์ ถ้ามันหลงใหลแต่ในวัฒนธรรมทางวัตถุมันเป็นสัตว์ป่าเหมือนที่ว่ามาแล้ว มันจะกลายเป็นการเห็นแก่ตัว เบียดเบียนฆ่าฟันกัน ให้ตายคราวละหมื่น คราวละแสนมันก็ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องน่าสลดสังเวชอะไร ใครฆ่าเพื่อนมนุษย์กันให้ตายคราวละแสนกลายเป็นผู้มีเกียรติที่สุด มีอะไรที่สุด เหมือนที่เขาพูดกันอยู่เดี๋ยวนี้ แล้วเขาให้รางวัลไอ้ทหารหรือกองทัพที่มันฆ่าๆ ข้าศึกได้จำนวนหมื่น จำนวนแสน ติดเหรียญติดตรากันไปตามเรื่อง
เราต้องการให้มนุษย์ในโลกนี้มีวัฒนธรรมทั้งทางวัตถุและทั้งทางจิต นี้ในวัตถุนิยมมัน
เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น อย่างวัตถุนิยมของพวกคอมมิวนิสต์ถือว่าถ้าทางวัตถุสมบูรณ์แล้วทางจิตมันก็สมบูรณ์เอง ไม่ต้องไปนึกถึงมัน นี้ก็เป็นต้นตอของความคิดที่จะให้เกิดนิยมในทางวัตถุก็แรงขึ้น แล้วเป็นเครื่องยุให้พวกชนกรรมาชีพยื้อแย่งประโยชน์ทางวัตถุจากพวกนายทุน มันมีปรัชญาของมันลึกซึ้งมากเหมือนกัน มันจึงหนักแน่นและจึงถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดว่าให้นาย เอ่อ ให้โลก เอ่อ ให้คนทั้งโลกนี้มีวัตถุเจริญที่สุดเสมอหน้ากัน แล้วโลกก็มีสันติภาพ เดี๋ยวนี้ชนส่วนมากในโลกคือชนกรรมาชีพไม่มีความสมบูรณ์ทางวัตถุ นั้นต้องมีระบบการเมืองที่ทำให้ทุกคนมีความสมบูรณ์ทางวัตถุเสมอกัน นี้พวกชนกรรมาชีพก็ยินดีที่จะถือลัทธินี้ มันก็รวมหัวกันเพื่อจะทำลายนายทุน นี่คือโทษที่ร้ายกาจของไอ้วัตถุนิยมที่ทำให้โลกปั่นป่วน นี้ถ้ามันมีไอ้ความรู้สึก มีความรู้เรื่อง วัฒนธรรมทางจิต ไอ้ความคิดชนิดนั้นมันก็มีไม่ได้ มันหันไปสร้างความเจริญทางจิต เอาความเจริญทางวัตถุแต่พอประมาณเท่าที่จำเป็น ทีนี้มันก็ไม่มีการยื้อแย่ง มันก็ไม่เบียดเบียนกัน แล้วก็ให้กรรมเป็นผู้ตัดสิน ว่าใครมีกรรมเป็นของตัวอย่างไร มันก็ได้เท่านั้น จะเอามากกว่าไอ้กรรมที่มีอยู่ไม่ได้ นี้พวกนายทุนมันก็ไปตามแบบนายทุน พวกชนกรรมาชีพมันก็ไปตามแบบชนกรรมมาชีพ เมื่อทั้งสองฝ่ายมันมี วัฒนธรรมทางจิต แล้วมันก็ไม่เบียดเบียนกัน อยู่กันได้เหมือนกับพ่อกับลูกหรืออย่างนี้เป็นต้น
ที่จะจำง่ายที่สุด ผมพูดเป็นอุปมาว่าให้ชีวิตนี้ มันเทียมด้วยวัวหรือควายอะไรก็ตามสองตัว
ตัวหนึ่งเป็นเรื่องวัตถุ ตัวหนึ่งเป็นเรื่องทางจิต ชีวิตถูกลากไปด้วยควาย ๒ ตัวมันก็เรียบร้อย ทีนี้ชีวิตนี้มันถูกลากไปด้วยควาย ควายบ้าตัวใหญ่ตัวเดียว คือความก้าวหน้าทางวัตถุ มันก็พาไปลงเหว นี่คือโลกมันอยู่ในสภาพอย่างนี้ แล้วการที่ธรรมฑูตจะไปเผยแผ่ไอ้สิ่งที่มีประโยชน์แก่โลก มันก็ต้องเผยแผ่เรื่องนี้ คือเรื่องที่มันจะแก้ปัญหานี้ได้ ให้คนมีความรู้ ความเข้าใจว่าชีวิตนี้ต้องเทียมด้วยควาย ๒ ตัว แล้วไอ้ตัวที่เป็นทางจิตนี้สำคัญกว่าตัวที่เป็นทางวัตถุ นี้เขาก็ต้องมีความรู้เรื่อง วัฒนธรรมทางจิต ที่เราเรียกว่า สมาธิภาวนา เดี๋ยวนี้โลก ไอ้โลกหรือว่าบุคคลในโลกส่วนที่เป็นผู้นำนั้นเราเรียกว่าฝรั่ง เมื่อผมพูดว่าฝรั่งนั้นผมหมายถึงไอ้พวกฝรั่งส่วนหนึ่งหรือส่วนใหญ่ของโลกที่มันลุ่มหลงทางวัตถุ ไม่ได้รวมถึงฝรั่งบางคนที่เขามีความรู้ ความสนใจในเรื่องจิตใจ ซึ่งมีน้อยคนมาก หาทำยายาก เพราะวัฒนธรรมนั้นมันไปทางวัตถุไปเสียไกลลิบแล้ว นั้นโลกฝรั่งจึงเป็นโลกทางวัตถุ
เดี๋ยวนี้เรากำลังพูดกันหรือว่าเห็นๆ กันอยู่บ้างว่าฝรั่งกำลังตื่นวิปัสสนา พวกคุณก็จะต้อง
เอ่อ ต้องเห็น ต้องได้เห็นว่าฝรั่งตื่นวิปัสสนา เข้ามาเมืองไทยหรือเมืองพม่าอะไรก็ตามด้วยความตื่นวิปัสสนา ต้องใช้คำว่าตื่นคือตื่นตูม ตื่นเต้นหรือตื่นตูม ไอ้ความต้องการวิปัสสนาของพวกฝรั่งนี้ยังเป็นเพียงการตื่นตูม มันไม่รู้ว่าวิปัสสนาคืออะไร ไม่รู้ว่าไอ้ตัวสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมทางจิต คืออะไร หรือว่า สมาธิภาวนา ที่ได้พูดมาแล้วมันคืออะไร มันตื่นตูมวิปัสสนาเพราะได้ยินแว่วๆ ว่าอันนี้วิเศษ สามารถจะแก้ปัญหาไอ้ทางจิตใจของมนุษย์ได้ ก็เลยตื่นตูมกันไปก่อน ทั้งที่ไม่รู้ว่าอะไร ที่มีส่วนมากที่สุดก็สนใจไอ้วิปัสสนานี่ในแง่ที่ว่ามันแปลก มันเป็นของแปลก เพราะเมื่อมันมีแปลก มันต้องมีอะไรดีอยู่ในนั้นบ้าง ก็สนใจในแง่ที่ว่ามันมีอะไรแปลกๆ มันคงจะมีของดีบ้าง นั้นผมสังเกตอยู่ตลอดเวลา นี่พวกฝรั่งก็มาที่นี่บ่อยๆ เหมือนกัน พอพูดถึงวิปัสสนาถูกต้องแท้จริงแล้วมันก็ไม่สนใจเอา ไม่เข้าใจ ไม่รู้จักไม่เข้าใจ ถ้าวิปัสสนาที่แปลกๆ เจือปาฏิหาริย์ เจืออะไรแปลกๆ ที่เข้าใจไม่ได้นั้นหูผึ่งเลย สนใจเลย นี่คือมันไม่รู้ว่าวิปัสสนาคืออะไร แล้วการอธิบายเรื่องอานาปานสติที่แท้จริงแก่พวกนี้ มีน้อย มีน้อยคนที่จะเข้าใจและยินดี งั้นเราก็มีปัญหาคือมีหน้าที่ที่จะต้องกระทำ คือทำให้เขาเข้าใจให้ถูกต้อง ไปทำให้เขาเข้าใจถูกต้อง แล้วก็มีปัญหามาก มองดูแล้วมีปัญหามาก
สรุปคร่าวๆ ไว้ทีก่อนก็ว่า จะแสดงไอ้วิปัสสนานี่หรือที่เรียกให้ถูก ผมขอร้องให้เรียกให้ถูก
ว่า สมาธิภาวนา ให้แก่ฝรั่งในฐานะที่มันเป็น วัฒนธรรมทางจิต ดีกว่า เป็น culture แต่ว่าเป็นประเภท spiritual เป็น วัฒนธรรมทางจิต แทนที่จะแสดงไปในฐานะที่เป็นศาสนา คือแสดงแก่เขา ยื่นให้เขาในฐานะเป็น วัฒนธรรมทางจิต อย่าแสดงไปในลักษณะที่มันเป็นศาสนา ซึ่งเขาเบื่อ เป็นของเบื่อ น่าเบื่อ มันๆ เคยเบื่อสิ่งที่เรียกว่าศาสนาผิดๆ มาก่อนแล้ว พอได้ยินคำว่าศาสนามันก็ชักท้อถอย นี้แสดงแก่เขาในฐานะที่เป็น วัฒนธรรมทางจิต แทนที่จะแสดงในฐานะที่เป็นศาสนา อย่างนี้จะมีผลดี นี้ถ้าเราจะแสดงไปในรูปเป็นศาสนาว่าพุทธศาสนานี้มันเป็นศาสนา แล้วอธิบายกันเสียใหม่ว่าไอ้ศาสนาของพุทธศาสนานี้ไม่เหมือนๆ กับไอ้ศาสนาอย่างที่เขารู้จักมาแต่ก่อน แสดงให้เป็นรูปศาสนาที่ถูกต้องนี้ยังดีกว่าที่จะแสดงในรูปของปรัชญา แสดงในรูปปรัชญานั้นจะค่อยเฝือไปๆๆ จนไปเข้ากลุ่มปรัชญาของโลก ซึ่งทำอะไรไม่ได้นอกจากไว้พูดกันเท่านั้น มันปฏิบัติไม่ได้ นั้นแสดงในรูปที่มันเป็นศาสนาที่ถูกต้องดีกว่าที่จะแสดงเป็นปรัชญาหรือแม้แต่เป็นจิตวิทยาที่มันๆ มากมายหรือมันเฟ้อ นี้อีกทีหนึ่งในบางกรณี ในบางหมู่บางคณะแสดงในรูปที่เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต โดยหลักการอย่างเดียวกับวิทยาศาสตร์ทั่วๆ ไปที่เขารู้กันอยู่ทางวัตถุ ไอ้หลักการวิทยาศาสตร์ทางวัตถุมันก็ใช้ได้ คือมันต้องมีไอ้ผลประจักษ์ มีอะไรประจักษ์แล้วเปลี่ยนมาเป็นเรื่องทางจิต เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ทางจิตที่มีเหตุผลประจักษ์อย่างเดียวกับวิทยาศาสตร์ทางวัตถุอย่างนี้ยิ่งดี ถ้าผิดจากนี้มันก็ต้องอย่างที่ว่า ซึ่งน่าสะอิดสะเอียน แสดงในฐานะเป็นไอ้จิตศาสตร์ที่ประกอบไปด้วยปาฏิหาริย์ อย่างนี้ไม่ใช่พุทธศาสนาแล้ว แต่คนก็สนใจกันมาก เป็นเรื่องปาฏิหาริย์ เป็นเรื่องจิตศาสตร์ เอ่อ ทำให้เกิดอำนาจทางจิตในรูปปาฏิหาริย์ ทุกคนคงจะสนใจเพราะว่า อย่าว่าแต่ฝรั่งเลยแม้แต่คนไทยเราในประเทศไทยนี้ก็ยังสนใจในแง่นี้ นั้นเลือกดู โดยวิธีไหน ที่จะทำให้สังคมในโลกนี้เกิดสนใจสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมทางจิต หรือที่เราจะเรียกในภาษาเราเองว่า สมาธิภาวนา
สรุปความว่าวันนี้เราพูดกันแต่ถึงความเป็นมาของ วัฒนธรรมทางจิต ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์
ตั้งแต่แรกก่อกำเนิดจนมาถึงมนุษย์วันนี้ มันมีมาอย่างไรแล้วมันค่อยเปลี่ยนไปเป็นปัญหาที่ทำความยุ่งยากลำบากอย่างไร มันเป็นสิ่งที่เคียงคู่กันมากับมนุษย์แล้วมันก็เปลี่ยนไปๆ จะต้องแก้ไขกันอย่างไร ปรับปรุงกันอย่างไร จะเผยแผ่กันอย่างไรก็ไปคิดดู นี้ผมถือว่าเป็นเรื่องแรกที่สมควรจะเอามาพูดกัน สำหรับผู้ที่จะเป็นธรรมฑูตโดยเฉพาะที่จะไปยังต่างประเทศ ส่วนผมนั้นเป็นได้แต่ธรรมฑูตต่างประเทศโดยจิตใจ โดยร่างกายเป็นไปไม่ได้ คือผมไม่อยากไปเมืองนอกหรือไปไหน ไม่อยากออกจากวัด แต่ว่าจิตใจก็ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้พระพุทธศาสนาไปมีประโยชน์แก่คนทั่วโลก เพราะฉะนั้นทำได้เท่าไรที่นี่ ก็ทำเต็มๆ ความสามารถได้เหมือนกัน นี่คือผลการค้นคว้า สังเกตเรื่อยๆ มาตลอดเวลาหลายๆ ปี เอามาพูดให้ฟังเป็นวันแรก เป็นจุดตั้งต้นของการที่จะศึกษากันถึง วัฒนธรรมทางจิต ที่เรียกว่า สมาธิภาวนา ก็ต้องเข้าใจโดยละเอียดต่อไปในวันข้างหน้า แล้ววันนี้พอกันที เวลามันมีเท่านี้