แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เป็นวันแรกของการบรรยาย เนื่องจากคุณทุก ๆ รูป เป็นนักศึกษาวิชาการแพทย์ ต้องการความรู้ เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นประโยชน์ แก่การแพทย์ในอนาคต เป็นต้น ดังนั้นผมจึงคิดว่า เราจะพูดกันถึงเรื่อง พระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นแพทย์ เป็นหัวข้อแรก ตามปกติเรายังจะต้องพูดถึง จะต้องระลึกถึง จะพูดถึง พระพุทธเจ้า เป็นเรื่องแรกอยู่แล้ว ณ บัดนี้เราก็จะพูดถึงพระพุทธเจ้า แถมในฐานะที่ว่าเป็นแพทย์อีกด้วย
ขอให้สนใจฟังใน ๒ ประเด็น พร้อมกันไป เราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เราก็นึกถึงพระพุทธเจ้า เป็นเครื่องระลึกถึงอยู่เสมอ นี่ส่วนทั่วไปหรือส่วนพื้นฐาน ส่วนที่ท่านเป็นแพทย์นั้น เป็นเรื่องส่วนที่เป็น พิเศษ ข้อที่ว่าพระพุทธเจ้าถูกจัดไว้ ในฐานะเป็นแพทย์นี้ คงจะไม่ค่อยได้ยินได้ฟังกันนัก บางคนจะนึกไป เสียว่า เป็นเรื่องแกล้งพูด นี่จะบอกให้ทราบถึงที่มาของคำ ๆ นี้
ในพระไตรปิฎก ส่วนขุททกนิกาย มีข้อความกล่าวไว้ ว่าพระอรหันต์องค์หนึ่ง ได้ตอบคำถาม ของบุคคลที่เขาสนใจ หรือประหลาดใจอย่างยิ่ง ในพระพุทธเจ้า มาถามว่า การที่ท่านมีอะไรแปลกประหลาด ขนาดนี้ ไม่มีความกลัว ไม่มีความหวั่นไหวนี่ ท่านเป็นลูกศิษย์ของใคร ใครเป็นอาจารย์ของท่าน พระอรหันต์ องค์นั้นก็ตอบ เป็นภาษาบาลีก็มีว่า สพฺพญฺญู สพฺพทสฺสาวี ชิโน อาจริโย มามะ มหาการุณิโก สตฺถา สพฺพโลก ติกิจฺฉโก (นาทีที่ 4.55) ท่านตอบหลายคาถา นี้เป็นคาถาแรกหรือสำคัญ ซึ่งมีใจความว่า อาจารย์ของข้าพเจ้า เป็นสัพพัญญู คือ รู้สิ่งทั้งปวง สัพพทัสสาวี(นาทีที่ 05:33) เห็นสิ่งทั้งปวง ชิโน(นาทีที่ 05:38)เป็นผู้ชนะมาร สัตถา(นาทีที่ 05:43) เป็นศาสดาผู้สั่งสอน มหาการุณิโก เป็นผู้มีความกรุณาอันใหญ่หลวง สัพพะโลกะ ติกิจฉโก(นาทีที่ 05:56) เป็นแพทย์ผู้เยี่ยวยารักษาโรค ของโลกทั้งปวง
แต่ความสำคัญ ที่เราประสงค์ในที่นี้ ก็คือคำว่า สัพพะโลกะ ติกิจฉโก(นาทีที่ 06:11) เป็นแพทย์ ผู้เยี่ยวยารักษาโรค ของสัตว์โลกทั้งปวง แต่เราก็ควรจะรู้ คุณบทอื่น ๆ มาตามลำดับดัวย สัพพัญญู สัพพ ทัสสาวี (นาทีที่ 06:34) แปลว่า ผู้รู้สิ่งทั้งปวง ผู้เห็นสิ่งทั้งปวง นี่เราก็คงจะเคยได้ยินได้ฟังมาก่อน เพราะเป็น คำที่พูดกันมาก เคยชินแก่คนทั่วไป แต่อาจจะมีความเข้าใจผิดพลาด ไขว้เขวอยู่บ้าง ในคำที่ว่าทั้งปวง รู้สิ่ง ทั้งปวง เห็นสิ่งทั้งปวง คือ รู้ทุกสิ่งและเห็นทุกสิ่ง
คำว่าทุกสิ่งในที่นี้ ชาวบ้านที่เขามี การศึกษาตามแบบ ชาวบ้าน ก็มักจะเข้าใจไปทำนองว่า รู้จนไม่มี อะไรเหลือ กระทั่งว่ารู้ภาษาทุกภาษา จะพูดภาษาอะไรก็ได้ หรือจะทำอะไรก็ได้ ยังนี้เคยเข้าใจผิด กันอยู่ทั่ว ๆ ไป บางคนถึงกับว่า จะเอาพระพุทธเจ้ามาพูดภาษาจีน ภาษาฝรั่งอะไร เดี๋ยวนี้ก็ได้ หรือทำอะไร เป็นหมด จนจะเอามาให้เป็น engineer ปฏิบัติการกับเครื่องจักร ปัจจุบันอันแสนจะยุ่งยาก ทำได้ทันทีอย่างนี้ เป็นต้น เพราะว่ารู้ทั้งปวง เขาเข้าใจกันอย่างนี้ แต่เมื่อตรวจดู ตามตัวหนังสือ ตามอรรถในพระบาลี อรรถกถาจะ ระบุชัด แต่เพียงว่า รู้ทุกสิ่งที่ควรจะรู้ สำหรับความเป็น พระพุทธเจ้า
ทุกสิ่งที่ควรจะรู้ สำหรับความเป็นพุทธเจ้า ข้อแรกก็ต้องรู้จักดับความทุกข์ ทุกอย่างทุกประการ ดับทุกข์ได้แล้ว รู้เรื่องความดับทุกข์ ทุกอย่างทุกประการ จะให้ในพูดแง่ไหน ปริยายไหน อะไรก็ได้ บรรดาสิ่ง ที่เกี่ยวข้อง กับความดับทุกข์ แล้วก็รู้ทุกสิ่ง เรียกว่า สัพพัญญู ส่วนสิ่งนอกนั้น ก็ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่อง การตรัสรู้นี้ ก็รู้ ก็รู้อีกมากมายเหมือนกัน แต่จะพูดถึงกับว่า จะให้มาพูดภาษาต่างประเทศเดี๋ยวนี้ ก็จะพูดได้ หรืออะไร ทำนองนี้ มันก็เป็นเรื่องขัดกัน กับเหตุผลที่มีอยู่ในคัมภีร์นั้น ๆ
นั้นเอาเป็นว่า เรื่องที่เป็นความดับทุกข์ และเกี่ยวข้องกันอยู่ กับความดับทุกข์ พระท่านรู้หมด หรือจะพูดให้กว้างกว่านั้น ก็ต้องพูดว่า ท่านจะรู้อะไรก็ตาม จะต้องรู้ไปในแง่ ของการที่จะดับทุกข์ได้ ถ้าเผอิญท่านจะรู้อะไร นอกไปจากเรื่องทางพุทธศาสนา หรือเรียกว่ารู้เรื่องโลก โดยประการทั้งปวง แล้วก็ ต้องรู้ เฉพาะในส่วนที่จะเป็นประโยชน์ แก่การดับทุกข์หรือมันเกี่ยวข้องกันอยู่ เท่านี้มันก็กว้างขวางอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้ตรง ๆ เหมือนกันว่า สิ่งที่ตถาคตรู้ มีปริมาณมาก เปรียบเทียบเหมือนกับ ใบไม้หมด ทั้งป่าทั้งดง แต่เอามาสอน แต่เพียงเท่ากับใบไม้กำมือเดียว นั้นก็เป็นเครื่องคำนวณได้ เหมือนกันว่ารู้เท่าไร แล้วเอามาสอนเพียงเท่าไร นั้นเรารู้หรือเข้าใจความข้อนี้ ให้มันเหมาะสมกับที่เป็นนักศึกษา ว่าสัพพัญญู หมายความว่าอะไร
นี่สำหรับคำว่า สัพพทัสสาวี(นาทีที่ 10:57) มีปกติเห็นสิ่งทั้งปวง ก็มีความหมายคล้าย ๆ กัน แต่ใช้ คำว่า เห็น เห็นในที่นี่มีความหมายอย่างเดียวกับรู้ คือ เห็นด้วยปัญญา เขาเรียกว่า ตาในหรือตาใจ ธรรม ธรรมจักษุ เห็น ส่วนเห็นด้วยตาเนื้อ ตานอกเหมือนคนธรรมดานี้ ก็เห็น พระพุทธเจ้าท่าน อาจจะมีสายตา ตามธรรดานี้ ดีที่สุดด้วยก็ได้ ทั้งนอกจากนั้นก็ยังมี สายตาของปัญญา ของธรรมจักษุ มันเป็นเรื่องปัญญา เปรียบเหมือนดวงตา สำหรับจะเห็นธรรม อย่างนี้ท่านก็มีมาก ถึงที่สุด ที่เกี่ยวกับความเป็นพระพุทธเจ้า แม้แต่คนเราตามธรรมดา นอกจากจะมีดวงตาเป็นตาเนื้อ สำหรับดูอะไรแล้ว ก็ยังมีตาปัญญานี้ ด้วยกันทุกคน แต่ว่ามันน้อย
นี้บางที ไอ้ตามันเขว เห็นผิดเข้าใจผิดไปเสียอีกนี้ก็มี อย่างนี้เรียกว่า ไม่มีตา ภาษาบาลีเขาพูดว่า มีตา ก็หมายความว่า ตาเนื้อนี้ก็ไม่บอด แล้วก็มีตาใน คือ ตาใจสว่างไสว นี่เขาเรียกว่า คนมีตา มีธรรมจักษุ ก็เห็น แม้แต่เห็นวัตถุ ก็เห็นไปในแง่ของธรรมะ เห็นธรรมะก็เห็นได้ ในที่ทั่วไปจากสิ่งทุกสิ่ง หรือจากวัตถุนั้น ด้วยเหมือนกัน คือในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นี้ ที่จะรู้สึกมันได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี้เรียกว่า ทุกสิ่งที่ดู เห็นสิ่งทุกสิ่ง ว่าเป็นอย่างไรด้วยตาเนื้อ หรือว่าไอ้วัตถุหรืออวัยวะ ทางฝ่ายร่างกาย แต่ถ้าว่าเห็นทุกสิ่ง ด้วยสติปัญญา ด้วยตาใน ว่ามีความหมายอย่างไร มีความจริงอย่างไร นี้ก็เห็นหมด
สรุปแล้วก็คือ เห็นความจริงที่ว่า มันเป็นของที่ไม่จริง เหมือนที่คนทั่วไปคิด มันเป็นของที่เป็นมายา คือประกอบกันเข้า แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ไม่มีหยุด อย่างนี้จึงจะเรียกว่า เห็น เห็นสิ่งเหล่านั้น เป็นอย่าง นั้น ตามที่เป็นจริง แล้วก็ไม่โง่ไม่หลงในสิ่งเหล่านั้น แล้วทุกสิ่งที่มันเกี่ยวข้องกับมนุษย์ ไม่มีอะไรมาทำให้โง่ ให้หลงได้ ก็เรียกว่า ทัสสาวี เป็นสัพพทัสสาวี(นาทีที่ 14:14) มีปกติเห็นสิ่งทั้งปวง อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง
แต่สำนวนบาลีเขาชอบใช้คู่กัน ทั้งรู้และทั้งเห็น ถ้าจะให้มันแยกกัน รู้ก็คือว่ารู้ส่วนที่เป็นความรู้ ไอ้เห็นนี่เป็น เรื่องเห็นโดยประจักษ์ หลังจากที่ได้ ได้ผ่านสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว ด้วยชีวิตจิตใจ ด้วยการชิม ด้วยการลอง ด้วยการอะไรทุกอย่าง จนเห็นประจักษ์ เหมือนกับว่าเห็นด้วยตาเนื้อนี้ว่า ไอ้นี่มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความรู้เป็นเรื่องความรู้ทั่ว ๆ ไป เป็นพื้นฐาน ส่วนความเห็น เห็นประจักษ์ชัดเต็มที่ รวมเข้าด้วยกัน ทั้งรู้ทั้งเห็น จะมีสำนวนพูดอย่างนี้เสมอ ชานตา ปสฺสตา(นาทีที่15.22) ผู้รู้ ผู้เห็น ในที่นี้ว่า อญฺญู พทสฺสาวี (นาทีที่ 15:29) ผู้รู้ ผู้เห็น นี่เป็นจุดเริ่มแรกของคำ ของความหมายของคำว่าพุทธะ คือ พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็น พระศาสดา ถ้าท่านจะต้องเริ่มขึ้นมา ด้วยการรู้เห็นสิ่งทั้งปวงอย่างถูกต้อง
ที่นี้ก็มาถึง บทว่า ชิโน แปลว่า ชนะ คำว่าชนะนี้ก็เหมือนกัน เป็นเรื่องทางฝ่ายนามธรรม ทางฝ่าย วิญญาณ เป็นความชนะทางฝ่ายจิตใจ ไม่ใช่ชนะทางฝ่ายวัตถุหรือทางกาย ซึ่งรบกันด้วยกำลังกาย กำลังอาวุธ แล้วก็ชนะ อย่างนั้นเขาไม่เรียกว่าชนะ เพราะว่ามันไม่ชนะจริง เดี๋ยวก็แพ้ เดี๋ยวก็ชนะ มันเป็นเพียงโอกาส ของบางฝ่าย บางคราวที่จะ ได้โอกาสย่ำยีผู้อื่น หรือว่าข่มผู้อื่นไว้ได้พักหนึ่ง แล้วมันก็กลับแพ้ได้อีก อะไรก็ได้ ทางธรรมทางศาสนา เขาให้ถือเอาสิ่ง เอาอาการอย่างนี้ ว่าเป็นการชนะ ต้องเป็นชนะที่ไม่กลับแพ้ ถ้าเราชนะ อะไรแล้ว ต้องเป็นชนะที่ไม่กลับแพ้ สำหรับสิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งที่สำคัญด้วย
นั้นคำว่า ว่า ชิโน ชนะ ในที่นี้หมายความว่า ชนะมาร บรรดาสิ่งที่เป็นมารทั้งหลาย ไม่สามารถจะ เป็นมารกับท่านได้อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ กิเลส มารตัวแรก ทำให้เสียหาย ทำให้เป็นทุกข์ ทำให้ตาย ชนะมาร คือ กิเลส ก็เป็นอันว่าชนะอื่น ๆ หมด รวมทั้งชนะกรรม ชนะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้มันเป็นชนะ ไปหมดแหละ ถ้าชนะกิเลสได้ ความเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้ คนธรรมดาก็กลัว แล้วถูกมันครอบงำ ให้เป็นทุกข์ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์หรือพระพุทธเจ้าแล้ว ความหมายของคำเกิด แก่ เจ็บตายนั้นไม่มี ไม่อาจจะครอบงำ จิตใจให้เป็นทุกข์ ก็เรียกว่า ชนะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะมันได้ชนะกิเลส ไปเสียก่อนแล้ว เกิด แก่ เจ็บ ตาย เลยไม่มีความหมาย
ทีนี้ชนะกรรม ชนะผลกรรม ที่ว่าสัตว์ต้องเป็นไปตามกรรม นั้นก็หมายความว่า สัตว์มันยังยึดถือ สุข-ทุกข์ ดี-ชั่ว เดี๋ยวก็ร้องไห้ เดี๋ยวก็หัวเราะ นี้เป็นไปตามกรรม ส่วนพระอรหันต์นั้นชนะกรรม เพราะว่าเห็น สิ่งเหล่านั้น ไม่มีความหมาย กรรมดี กรรมชั่ว สุขทุกข์ มันไม่มีความหมาย มันเป็นสักว่าธรรมชาติอันหนึ่ง ฝ่ายนามธรรมเป็นไปอย่างนั้นเอง มันเป็นเหตุให้ไม่ ไม่กลัวความตาย ไม่กลัวความทุกข์ ไม่กลัว แล้วก็ไม่ยินดี หรือพอใจความสุข ด้วยความที่มันได้อย่าง มีบญ มีกุศล นี่คือ ชนะกรรม เป็นต้น
เมื่อชนะกิเลสแล้ว ก็จะชนะธรรมชาติ ทุกสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความทุกข์ เช่น ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือการเป็นไปตามกรรม หรืออะไรก็ตาม มันชนะกิเลสอย่างเดียวก่อน แล้วมันก็พลอยชนะอย่างอื่นไปหมด นี่พระพุทธเจ้าชนะมาร หมายความว่าอย่างนี้ นี่เป็นใจความสำคัญเท่านี้ก็พอ ขยายเป็นคำพูดอีก กี่หมื่นคำ แสนคำก็ได้ แต่ใจความมันมีอยู่เท่านี้ สำหรับผู้ชนะมาร นั้นคุณเป็นนักศึกษาก็ต้องรู้จักคำเหล่านี้อย่างถูกต้อง
นี่คำว่า สัตถา เป็นพระศาสดา นี่หมายความว่า ท่านไม่ได้รู้หรือไม่ได้เป็นอะไร แต่โดยส่วนพระองค์ ท่าน กลายเป็นผู้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ด้วยการสอน ด้วยการชี้ทาง ความหมายที่สำคัญ ก็คือ เป็นผู้สอน สัตถา แปลว่า ผู้สอน แต่คำว่าสอนนี้ ไม่ใช่เป็นการสอนตามธรรมดา เหมือนสอนโรงเรียน ในมหาวิทายาลัย ในอะไร มันเป็นการสอนพิเศษ คือ ทางฝ่ายวิญญาณ เรียกให้ชัด ไม่ให้ปนกันยุ่ง เขาก็มักใช้คำว่า ผู้ปลุกให้ตื่น พระศาสดาที่เราแปลว่า ผู้สอน โดยการกระทำหรือผู้ปลุก ให้ตื่นจากหลับ กล่าวคือกิเลส สัตว์ทั้งหลายกำลัง หลับอยู่ด้วยกิเลส มีอวิชชาเป็นประธาน พระศาสดา เป็นผู้ปลุกสัตว์ทั้งหลาย ให้ตื่นจากหลับ คือ กิเลสนั้น
นั่นแหละคือ ความหมายของคำว่า ศาสดาหรือผู้สอน อวิชชา คือ ความไม่รู้สิ่งที่ควรจะรู้ ถูกเปรียบ เหมือนกับความหลับ ใครมีอวิชชาก็เรียกว่า คนหลับ แล้วก็หลับไม่รู้จักตื่น จนกว่าจะมีการปลุกตามแบบ ของพระพุทธเจ้านี้ คุณจะเรียนมหาวิทยาลัยหรือเรียนอะไร ยิ่งให้ไปกว่านั้น เท่าไหร่ ๆ มันยังจะมีอวิชชา ประเภทหลับไม่รู้ตื่น มันคนละเรื่องกัน น่าจะไปเรียนปรัชญา ไปเรียนศาสนา ไปเรียนอะไร มันก็ยังมีอวิชชา อยู่นั่นเอง ถ้ามันไม่รู้แจ้งถึงขนาดที่ว่า กิเลสมันถูกทำลายไป
เดี๋ยวนี้ถ้าพระพุทธเจ้าปลุก และเป็นการปลุกที่สำเร็จ ก็ต้องหมายความว่า ทำคนนั้นให้ตื่นขึ้นมา คือมีกิเลสสิ้นไป ตามส่วนตามมากตามน้อย กระทั่งสิ้นไปเลย หมดไปเลยนี้ มันก็กลายเป็นว่าตื่นมาก ตื่นน้อย ตื่นน้อยหรือตื่นมาก ตื่นน้อยหมายความว่าเริ่มตื่นไปตามลำดับ ไม่ไม่กลับหลับอีก แล้วมันก็มีวันสักวันนึง ที่มันจะตื่นถึงที่สุด ตื่นเต็มที่ เพราะว่า พุทธะ แปลว่า ตื่น ผู้ตื่นก็ได้ หรือบางทีใช้เป็นเครื่องมือ ผู้ปลุกคนอื่น ให้ตื่นก็ได้ นั้นคำว่า ศาสดาหรือว่าสัตถานี้ ตามตัวหนังสือแปลว่า ผู้สอน แต่เป็นการสอนชนิด ที่เป็นการ ปลุกให้ตื่น ตื่นนี่ตื่นจากหลับ คือ กิเลส นี่เรารู้จักพระศาสดาในลักษณะอย่างนี้
ที่สำหรับบทว่า มหาการุณิโก ที่แปลว่า ผู้มีกรุณาอันใหญ่หลวง นี้มันมีความสำคัญ ที่เนื่องกันกับ คำว่า พระศาสดา ความหมายของคำว่ากรุณานั้น มันขนาบอยู่ทั้งข้างหน้าและข้างหลัง เพราะว่ามีความกรุณา จึงพยายามที่จะไปสอน คนที่ควรจะสอน แม้จะเหน็ดเหนื่อยลำบาก ยุ่งยากอย่างไร ก็อุตสาห์ไปสอน ไม่หวัง ค่าจ้างรางวัล ไม่หวังเกียรติยศชื่อเสียง ไม่หวังทั้งหมด แต่เป็นอำนาจของความกรุณา นำให้ไปสอน
ที่นี้เมื่อสอนอยู่ หรือสอนแล้ว ก็ตาม เมื่อสอนอยู่นี่ ก็สอนอยู่ด้วยความกรุณา ถ้าไม่มีความกรุณา มันก็มีความหมายยุ่งยากลำบากมาก คือมันก็จะสอนอย่างเห็นแก่ตัว ครูอาจารย์ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย บางคนไม่มีความกรุณา สอนด้วยความเห็นแก่ตัว คือ อยากจะได้เงินเดือน อยากจะได้ชื่อเสียง แต่พระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น นั้นสิ่งที่เลือกมาสอนจึงผิดกัน หรือความพยายามในการสอน ในการอะไรจึงผิดกัน ความกรุณาเป็นเหตุ ให้เลือกสิ่งที่สอน เอามาสอนอย่างดีที่สุด คือ พยายามปลุกผู้นั้นให้ตื่นให้จงได้ แม้มันจะ ยุ่งยากลำบากอย่างไร นี่โดยสวนพื้นฐานของจิตใจ ของพระองค์ ก็มีความกรุณาเป็นพื้นฐาน นี่เรียกว่า เป็นผู้มี ความกรุณาอันใหญ่หลวง มองเห็นสัตว์ทั้งหลาย เป็นสิ่งที่น่าสงสารอยู่เป็นพื้นฐาน และก็พยายามที่จะ ไปสอน ด้วยความกรุณานั้น แล้วเมื่อสอนอยู่ ก็สอนด้วยความรู้สึก ที่เป็นความกรุณา นั้นมันจึงบริสุทธิ์ เป็นคำสอนที่บริสุทธิ์ และก็มีประโยชน์ที่สุด
เขาจึงยกให้เป็น คุณธรรมอันใหญ่หลวง อันหนึ่ง เรียกว่าเมตตาก็มี เรียกว่ากรุณาก็มี แล้วแต่ว่า จะใช้คำไหน โดยมากไอ้คำประพันธ์ร้อยกรอง ของภาษาบาลีนั้น มันบังคับให้ ต้องเลือกคำนั้นคำนี้มาใช้ เพราะเขาต้องการคำที่มีพยางค์ครุ ลหุให้ถูกต้องตามกฎคำฉันท์คำกลอน นั้นการที่บางคราวใช้เมตตา บางคราวใช้กรุณา นั้นอย่าไปเห็นเป็นของแปลก เอาแต่ความหมายก็แล้วกัน เป็นผู้มีความบริสุทธิ์ เป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้มีความกรุณา แล้วก็เป็นผู้มีความอดทน นั้นเป็นคุณธรรม ที่ทำให้ความเป็น พระศาสดานั้นสำเร็จ ในหน้าที่คือ เที่ยวสอน เที่ยวปลุกคน
เราท่องเป็นหลัก สำหรับจำกันง่าย ๆ ไว้เสียเลยก็ได้ สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันตี สุทธิก็หมายความว่า ท่านเป็นคนบริสุทธิ์ หมดจดจากกิเลส เครื่องเศร้าหมองทั้งหลายนี้ ปัญญา ท่านทรงมีปัญญารอบรู้ เป็นสัพพัญญู สัพพทัสสาวี(นาทีที่ 27:24) อย่างที่ว่าแล้ว นี่เมตตา ก็คือ มีความกรุณา ความรักสัตว์ทั้งหลาย ทั้งปวง จนลืมพระองค์เอง แล้วขันตีความอดทน เพราะการปฏิบัติหน้าที่ ของพระพุทธเจ้านั้น มันต้อง เหน็ดเหนื่อย ยุ่งยาก ลำบากเหลือแสน เหลือทรมาน ไอ้คนอันธพาลนั้นมันลำบากมาก จะปลุกคนหลับ ให้มันตื่นนี้ มันลำบากมาก ถ้าไม่ความอดทน มันก็ทำไปไม่ได้ ทำไปไม่สำเร็จ ก็ต้องมาด้วยความอดทน ความอดทน จะต้องมาเป็น ข้อรั้งท้ายอยู่ตลอดเวลา
นี่สำหรับเราก็เหมือนกันแหละ ก็ต้องใช้คุณธรรม ๔ ประการนี้เหมือนกันแหละ แต่ในระดับน้อย ลงมา ตามแบบของเรา เราพยายามให้มีสุทธิ ปัญญา เมตตา ขันตี ตามอย่างพระพุทธเจ้า สำหรับพระพุทธเจ้า ท่านมีสิ่งเหล่านี้ เพื่อทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้าหรือแม้แต่หน้าที่ของพระโพธิสัตว์ เขาก็มีหน้าที่อย่างเดียวกัน
ที่นี้ก็มาถึง คำสำคัญที่ว่า สพฺพโลก ติกิจฺฉโก สัพพะโลกะ(นาทีที่ 28:49) แปลว่าโลกทั้งปวง ติกิจฉโก (นาทีที่ 28:58) แปลว่า ผู้เยียวยาแก้ไข มีความหมายเป็นหมอ เป็นแพทย์ เป็นแพทย์ของโลกทั้งปวง นี้ก็อยากจะทบทวน ไอ้เรื่องคำว่าแพทย์ว่าหมออีกสักทีหนึ่ง ว่าเป็นแพทย์ในภาษาไทยนี้ปลอดภัย แต่ถ้าเป็น หมอก็ยังกำกวม เป็นหมอผี หมอยา หมอเสน่ห์ หมอทำคนให้ตาย หมอความช่วยจำเลยผู้ทุจริตให้รอดนี้ ไอ้หมออย่างนี้ไม่ไหว เป็นคำที่มันกำกวม เลวก็ได้ ดีก็ได้ แต่ถ้าว่า พูดว่าเป็นแพทย์แล้ว ในภาษาไทย เขามีความหมายรัดกุม ไปในทางที่จะรักษาโรค โดยหน้าที่ โดยบริสุทธิ์ใจ เราจึงใช้คำว่า แพทย์ดีกว่า
พระพุทธเจ้าเป็นแพทย์ ของสัตว์โลกทั้งปวง ไม่ใช้คำว่า พระพุทธเจ้าเป็นหมอ ของสัตว์โลกทั้งปวง เดี๋ยวมันจะพาล ออกไปนอกลู่นอกทาง นี่ถ้าเรารู้คุณธรรมอื่น ๆ ของพระพุทธเจ้า ว่าท่านเป็น สัพพัญญู สัพพทัสสาวี(นาทีที่ 30:25) เป็นผู้ชนะมารแล้ว ท่านเป็นผู้ปลุกคนให้ตื่นด้วยความกรุณาอันใหญ่หลวง ความกรุณาอันใหญ่หลวงนั้น มันทำให้เป็นแพทย์ และทำให้เป็นแพทย์ที่ดี ความกรุณา มันทำให้อยาก ช่วยคน หรืออยากทำให้เป็นแพทย์ก่อน ทีนี้ความกรุณานั้น มันทำให้เป็นแพทย์ที่ดี คือ อดทน
ที่นี่เมื่อวานก็มี พวกคุณองค์หนึ่ง ถามถึงว่า จะมีธรรมะอะไร สำหรับการเป็นแพทย์ในอนาคต เมื่อเรียนสำเร็จแล้วนี้ ผมก็อยากจะบอกว่า นี่มันเป็นการตอบอยู่ในตัว คุณทำตามอย่างพระพุทธเจ้าแล้วกัน ในหน้าที่การงานของคุณที่เป็นแพทย์ ก็จงเป็นสัพพัญญู สัพพทัสสาวี(นาทีที่ 31:35) คือ รู้เห็นอย่างแตกฉาน อย่างทั่ว ถึงในวิชาที่เป็นหน้าที่การงานของแพทย์นี้ ในแขนงไหนก็ตาม แล้วก็เป็นชิโน(นาทีที่ 31:50) ชนะโรค หมายความว่า เราชนะไอ้โรคภัยไข้เจ็บ แล้วก็พยายามชนะตัวเอง อย่าตามใจกิเลส อย่าเห็นแก่อามิส ละโมบโลภลาภ ใช้วิชาแพทย์นี้ไปรีดคน เอาเงินนี่ อย่างนั้นไม่ใช่ชนะนะ อย่างนั้นแพ้ แพ้เกินกว่าที่จะแพ้ เพราะมันชนะตัวเอง บังคับตัวเองได้ ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ สิ่งตอบแทนนั้นให้มันเป็นไปตามปกติ ตามควร ตามยุติธรรม เพราะว่าถ้าเราได้เป็นแพทย์ที่ถูกต้องแล้ว มันได้อะไรมามากมหาศาล คือ ได้ความดี ได้คุณธรรมที่ดี ได้การปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ ส่วนเงินที่เขาจะให้เป็นค่ารักษานั้น เป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นขี้ฝุ่น ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เป็นผู้ชนะ แล้วก็เป็นผู้มีความกรุณาอันใหญ่ยิ่ง เหมือนพระพุทธเจ้า
เมื่อท่านจะทำหน้าที่ของแพทย์ สัตถา(นาทีที่ 32:57) ผู้สอน ก็คือ มีหน้าที่และมีความรู้พอที่จะเป็น ผู้ปลุก ผู้แก้ไข เยียวยารักษา ให้เราเป็นแพทย์ทางร่างกาย พระพุทธเจ้านั้น เป็นแพทย์ฝ่ายวิญญาณ ฝ่ายจิตใจ แต่ก็ต้องเป็น ผู้ที่สามารถแก้ไขให้ผู้อื่น ทำตัวเป็นผู้แก้ไข แล้วก็เรียกเป็นศาสดา ปลุกคนให้ตื่น ตื่นจากกิเลส ตื่นจากความทุกข์ ออกมาเสียจากความทุกข์ ถ้ามีความเมตตากรุณาจริง ทำตัวเป็นผู้ช่วยบำบัดทุกข์ ของคน ไม่เลือกหน้า แล้วก็อยู่บทที่ว่า สัพพะโลกะ ตีกิจฉโก(นาทีที่ 33:42) อยู่ดี นั้นเมื่อเราจะ เดินตามอย่าง พระพุทธเจ้า โดยหลักนี้แล้ว มันก็เป็นแพทย์ที่ดีได้ แม้เป็นแพทย์ฝ่ายฟิสิกส์ หรือแพทย์ที่เป็นฝ่ายจะแก้ไข ทางฝ่ายร่างกาย
ที่นี้เรื่องถัดไป ก็อยากจะพูด ให้มันเนื่องกันไปเสียเลย ก็คือว่าแก้ไข รักษาเยียวยา โรคของสัตว์โลก ทั้งปวง ไอ้คำว่า ทั้งปวง นั้นสัตว์ทั้งปวงก็ได้ หรือว่าโรคทั้งปวงก็ได้ นั้นควรจะพ่วงผนวก เข้าไปเสียด้วยกัน เลยว่า เป็นผู้เยียวยารักษาโรคทั้งปวงของสัตว์โลกทั้งปวง ถ้าเป็นหมอทางฝ่ายวัตถุร่างกายนี้ก็ เป็นผู้รักษาโรค ทุกชนิด ของคนทุกคน ถ้า ถ้าเป็นผู้แตกฉานจริง ก็สามารถรักษาโรคทุกชนิดของคนทุกคน นี่เป็นหมอพิเศษ พระพุทธเจ้าท่านเป็นได้ โดยสมบูรณ์โดยอัตโนมัติ รักษาโรคทางวิญญาณได้ทุกโรค และของแก่คนทุกคน ที่อยู่ในวิสัยที่จะรักษาได้ มีคำจำกัดไว้ชัดว่า เวไนยสัตว์ สัตว์ที่อยู่ในขอบข่าย ของการที่จะนำไปได้ หรือรักษา ไปได้
ในเรื่องความเป็นแพทย์ เป็นหมอของพวกคุณ ที่จะเป็นต่อไปนี้ ก็เห็นชัดอยู่แล้วว่า มันมีโรคหรือมี อะไรบางอย่าง ที่เกี่ยวกับโรคที่แก้ไขไม่ได้ก็มี พอเห็นแล้วหมอก็รู้แล้วว่า นี่มันตายแน่ นี่แปลว่าไอ้โรคนั้น เป็นโรคที่แก้ไขไม่ได้บ้าง หรือมันอยู่หรือถึงสภาพถึงขนาดที่ มันแก้ไขไม่ได้เสียแล้วบ้าง ก็มีเห็นชัดอยู่ เป็นโรคที่หมอ รวมกันทั้งโลกก็รักษาเข้าไม่หาย ตายแน่ นี่พระพุทธเจ้าเป็นแพทย์ทางวิญญาณก็เหมือนกัน มันยังมีข้อแม้ ที่ว่าไอ้สัตว์ทั่วไปนี่ บางคนหรือเรียกว่าบางพวกมันอยู่ต่ำเกินไป มันตายอยู่ทางวิญญาณ รักษาไม่ฟื้น ก็มีอยู่มาก ที่เป็นอภัพสัตว์ เป็นสัตว์ที่ไม่อาจจะช่วยแก้ไขได้ นั้นพระพุทธเจ้านั้น ก็ท่านไม่อาจจะ โปรดไอ้มิจฉาทิฐิ บุคคลที่ตายไปทางวิญญาณ อยู่ด้วยส่วนหนึ่งเหมือนกัน นั้นคนในประเทศอินเดีย ที่ทันเห็น พระพุทธเจ้า เคยเดินสวนทางกับพระพุทธเจ้านี้ ก็เป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าโปรดไม่ได้ ก็มีอยู่มากเหมือนกัน นั้นมันเป็นคนตายแล้ว
ที่นี้เราก็มีคำว่า เวไนยสัตว์ หรือปุริสทัมมะ(นาทีที่ 37:28) หรือคำอื่น ๆ ที่คล้ายกัน สัตว์ที่พอจะนำ ไปได้ สัตว์ที่พอจะฝึกฝนได้ ทรมานได้ นี้คำว่าโลกทั้งปวง คือโลกของหมู่สัตว์ ที่อยู่ในข่าย ที่พอจะช่วยเหลือ แก้ไข เยียวยาได้ บางคนเป็นโรคมาก บางคนเป็นโรคน้อย ที่เป็นโรคน้อย ก็เยียวยาได้ง่ายและโดยเร็ว ที่เป็นโรคมาก ก็ต้องลำบากมากหน่อย ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านก็ได้ ทรงพยายามแก้ไข เป็นอ่า, อยู่ในพวกที่ท่าน จะพยายามแก้ไข แม้จะเหนื่อยมากลำบากมาก เวลานาน
ที่คำว่า สัตว์โลกทั้งปวงหรือโรคทั้งปวงนี้ มันก็รวมกันเข้าแล้ว มันก็มีมาก มีเป็นชั้น ๆ นั้น ผมก็อยาก จะพูดถึงที่คำว่า ไอ้โรคทั้งปวงนี้ ให้เป็นที่เข้าใจกันเสียก่อน ในวันแรกนี้ เมื่อเราต้องการจะ ให้พระพุทธเจ้า เป็นผู้สามารถแก้ไข เยียวยาโรคทั้งปวง แม้กระทั่งทางฝ่ายร่างกายหรือฝ่ายจิต เราก็มีทางที่ มองเห็นได้ หรืออธิบายได้ โดยที่ข้อเท็จจริงมันมีอยู่ว่า ไอ้โรคทุกโรคนี้ มันขึ้นอยู่กับโรคทางวิญญาณ โรคทางกาย ขึ้นอยู่กับโรคทางวิญญาณ โรคทางจิตก็ขึ้นอยู่กับโรคทางวิญญาณ นั้นควรจะทำความเข้าใจ ในข้อนี้กัน เสียก่อน ให้ ให้เพียงพอ
เมื่อพูดว่าโรคทางวิญญาณ ก็คงจะเป็นของแปลก สำหรับพวกคุณ ส่วนมากที่ไม่เคยศึกษา หรือได้เคย ได้ยินได้ฟัง แล้วผมก็เอามาทำ system เอาเองด้วย ให้มีโรคทางกาย โรคทางจิต โรคทางวิญญาณนี้ ไปจำไว้ ทีหนึ่งก่อน โรคทางกายคือบำบัดทางฟิสิกส์ ทางหยูกทางยาทางอะไรก็ตาม ที่มันเกี่ยวกับร่างกาย เราเรียก กันง่าย ๆ ว่าโรคทางกาย ทางฟิสิกส์ หรือทางไหนก็ตาม ที่มันเกี่ยวกับทาง ยัง ยังเนื่องอยู่กับทางกาย
ทีนี้โรคถัดไป ก็คือโรคทางจิต ส่วนที่เป็นระบบประสาท ที่เรามักจะส่งไปโรงพยาบาล สมเด็จเจ้าพระยา หรือโรงพยาบาลอะไรพวกนั้น แม้โรงพยาบาลประสาทตามธรรมดา ก็ยังต้องสงเคราะห์เข้า ไว้ในโรคทางจิต ที่นี้โรคทางวิญญาณ มันกระโดดไปไกล คือ มันเป็นโรคของสติปัญญา ทางความคิด ความเห็น ที่เรียกว่า ทิฐิ คนสบายดีไม่เป็นโรคทางกาย ไม่เป็นโรคทางจิต ที่จะไปผ่านปากคลองสาน แต่ทุกคน ยังเป็นโรคทางวิญญาณ มีความเข้าใจผิด มีวิญญาณหม่นหมอง เป็นทุกข์เป็นร้อน มีปัญหาทางจิต ทางวิญญาณรอบด้าน ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทำให้เป็นทุกข์ทนหม่นหมอง ความได้ที่ไม่ ถูกใจ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ ความพบกับสิ่งที่ไม่ ไม่รักใคร่พอใจนี้ เป็นประจำวันด้วย นี่คนดีดี มีสติปัญญา ตามธรรมดาสามัญ ก็ยังสู้ไม่ไหว นั้นแหละเป็นเหตุ ให้ต้องมีพระพุทธเจ้าขึ้นมา สำหรับรักษา โรคส่วนนี้ ผมเรียกว่า โรคทางวิญญาณ เพื่อแยกกันให้ มันชัดออกไป
ที่นี้คุณ ในฐานะที่เป็นนักศึกษาแพทย์นี้ คุณก็มองเห็นได้ทันทีว่า ไอ้ระบบประสาท ไอ้นั้นมันเนื่อง กันอยู่กับฝ่ายร่างกาย ไม่อยู่กับฝ่ายสติปัญญา ฉะนั้นโรคทางกายโรคทางจิตนี้ มันเครือเดียวกัน เถือกเถา เหล่ากอ ฝ่ายของร่างกายเดียวกัน ร่างกายดีระบบประสาทก็ดี ระบบประสาทดี ร่างกายก็ดีอย่างนี้ เป็นต้น ส่วนโรค ของทางวิญญาณ เป็นโรคของความคิดเห็นหรือสติปัญญา มันแยกออกไปไกล ดังนั้นในทางศาสนา ทางพระคัมภีร์ ทางพุทธศาสนาที่เป็นภาษาบาลี เขามีเพียง ๒ โรคเท่านั้น คือโรคทางกายกับโรคทางจิตเท่านั้น ไม่มีคำว่า โรคทางวิญญาณ เพราะเขาให้คำว่า จิตนั้น หมายถึง เรื่องทางวิญญาณ อย่างที่ผมเรียกว่า โรคทางวิญญาณ หรือโรคที่เกิดมาจากกิเลส และโรคทางกายนี้ เลยกินความถึง เกี่ยวกับโรคทางกายโดยตรง หรือโดยอ้อม
ที่นี้เราจะใช้ตามหลัก เหมือนในพระคัมภีร์ ว่าโรคทางกายกับโรคทางจิต เพียง ๒ อย่างนั้น มันไม่ได้ เพราะภาษาไทย มันไปเปลี่ยนแปลงเสียแล้ว เอาคำว่า โรคทางจิตนี้ ไปใช้กับโรคทางระบบประสาท หรือทางจิต ที่เนื่องกันอยู่กับร่างกาย เช่น โรงพยาบาลโรคจิตนั้น ไปเรียกมันว่า โรคจิต นี้คำว่า โรคจิต ในภาษาไทยชนิดนี้ ใช้กันไม่ได้กับคำว่า โรคจิตในพระคัมภีร์ พระไตรปิฎกหรือฝ่ายอรรถกถานั้นก็มี เรียกว่า โรคทางกายและโรคทางจิต โรคจิตก็หมายถึงที่ผมเรียกว่า โรคทางวิญญาณหรือโรคทางกิเลสนี่ ถ้าว่าพูดถึง โรคทางจิตในภาษาไทย หมายถึง ไอ้โรค โรคจิต บางทีไม่ใช่ ไม่ใช่กิเลส โรคจิตที่เกี่ยวกับระบบประสาท แล้วคนก็ไม่ค่อยเป็นกัน จำนวนมาก โรคจิตตามภาษาชาวบ้าน ภาษาไทยนี้ มันไม่ค่อยเป็นกันทุกคน แต่ถ้าพูดว่า โรคจิตตามภาษาบาลีในพระคัมภีร์แล้ว เป็นกันทุกคน ถ้ายังเป็นปุถุชนกันเพียงใด ยังเป็นโรคจิต กันเต็มที่ทุกคน มันขัดขวางกันเกะกะกันอยู่อย่างนี้
นั้นผมจึงทำ system ใหม่ ให้มันมี ๓ โรค โรคทางกายนี้ส่วนหนึ่ง โรคทางจิตนี้อยู่ในระหว่างกลาง ที่จะเนื่องมาทางกายหรือทางฝ่ายวิญญาณ โรคฝ่ายวิญญาณนี้ เป็นโรคทางความคิดเห็นสติปัญญา กิเลส ล้วนไปเลย โรคทางกายก็เกี่ยวเนื่อง กับร่างกายเป็นจริงไปเลย ส่วนโรคจิตที่เนื่อง ที่หมายถึงระบบประสาท โดยตรงนี้แล้ว ให้มันมาอยู่ตรงกลาง มันจะมาเกี่ยวข้องกับโรคทางกายนี้ก็ได้ หรือจะไปเกี่ยวข้องกับโรคทาง ฝ่ายวิญญาณโน้นบ้าง ก็ได้ มันจึงเป็นโรคอีกโรคหนึ่งดีกว่า เราก็เลยมีโรคถึง ๓ โรค โรคทางกาย ทางฟิสิกส์ ล้วน ๆ โรคทางจิต เกี่ยวกับ Mentality ทุกแขนงนี้ก็ล้วน ๆ แล้วเกี่ยวกับโรควิญญาณ ทางวิญญาณ เขาเรียกว่า Spiritual Spiritualism เรียกว่า Spiritual เพราะว่าเกี่ยวเนื่องกับฝ่ายวิญญาณนี้ ก็เป็นโรคเหมือนกัน ก็เลยได้ เป็น โรคฝ่าย Physical ฝ่าย Mental ฝ่าย Spiritual
ถ้ามันยุ่งยากนัก ก็นึกถึงไอ้ตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าเรามีโรงพยาบาลธรรมดา สามัญทั่วไป นี่เรายังต้องมี โรงพยาบาลโรคจิต มันคือโรคทางกายและโรคทางจิต ส่วน Physical ส่วน Mental นี่ถ้าว่ามันเป็น โรคที่ ๓ ก็เป็นโรคฝ่าย Spiritual ก็ต้องไปหาพระอรหันต์ มีสำนักงาน อยู่ที่สำนักงาน อยู่ที่ ๆ ที่พระอรหันต์ท่าน อาศัยอยู่ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เขาเรียกว่า โรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า เรียกว่าโรคทางวิญญาณ เราทำการบัญญัติอย่างนี้ ก็เพื่อสะดวกแก่การศึกษา ทำความเข้าใจ ใครจะไปใช้อย่างอื่นก็ได้ ไม่มีใครว่า ก็ได้เหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้เราจะพูดกัน ให้รู้เรื่องเร็ว ๆ เราก็เลยแยกไอ้โรค เป็น ๓ ประเภทอย่างนี้
ทีนี้ก็มาถึงข้อที่ ผมพูดเมื่อก่อนนี้ว่า ไอ้โรคทุกโรคนะ ขอให้มองให้ดี มันขึ้นอยู่กับโรคทางวิญญาณ คือ ทางสติปัญญา ทางความคิดความเห็น สติปัญญาในที่นี้ก็อย่าไปเล็งถึงคำว่า Intellect คำว่า Intellect นี้มันเนื่องกันอยู่กับ ร่างกายและระบบประสาทมาก มันมีอีกคำที่เรียกว่า wisdom นั่นนะ สติปัญญาชนิดนั้น จึงจะเป็นเรื่องของทางฝ่ายวิญญาณจริง ๆ นั้นแถมคำว่า intuitive wisdom ให้มันชัดลงไปอีก หมายถึง wisdom ที่มองเห็นอยู่ในภายในของตัวเอง คนอื่นไม่พลอยมองเห็นหรือรู้ได้ เป็นเฉพาะตน แล้วเป็นความเห็น อย่างแจ่มแจ้งเฉพาะตน ชนิดที่พูดออกมา ก็พูดไม่ได้ สติปัญญาที่จำเป็น ที่จะต้องใช้ แก้ไขทางฝ่ายวิญญาณ ต้องเป็นสติปัญญาฝ่ายวิญญาณจริง คือ wisdom
ถ้าใช้ไอ้สิ่งที่เรียกว่า สติปัญญา wisdom นี้ แก้ไขโรคทางวิญญาณ คือ รู้จริงเห็นจริง ในสิ่งทุกสิ่งที่เป็น ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด โดยความเป็นตัวกูของกู โรค คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันก็เกิดไม่ได้ทางแก่วิญญาณนั้น ก็คือไม่มีโรคทางวิญญาณ ที่เราก็ไม่ได้อยู่ในสภาพ อย่างนั้น ตลอดไป พอไปเห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู จมูกได้กลิ่น อะไรขึ้นมา มันก็เกิดเผลอ มีความโลภ ความโกรธ ความหลงเกิดขึ้น ก็ป่วยเป็นโรคทางวิญญาณ มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นหลักใหญ่
ที่นี้มันก็มี อาการทรมานทางวิญญาณ เป็นเจ็บไข้ทางวิญญาณ นับตั้งแต่ ความโง่ ความหลง ความไม่ รอบคอบ ความไม่วิตกกังวล นอนไม่หลับ ที่พวกคุณก็เป็นนักศึกษาแพทย์ ก็ย่อมจะรู้ดี เพราะว่าถ้าคนเรา มีวิตกกังวลจนนอนไม่หลับ จะเกิดอะไรขึ้น แก่ระบบประสาท แก่ร่างกาย เพราะเรามีอารมณ์เสีย ในทางจิตใจ รุนแรงนี้ เราก็นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท เป็นเวลามากพอ เราก็ต้องเป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เกี่ยวกับโรคอัมพาต โรคอะไรไปตามเรื่อง คิดตลอดเวลา กระเพาะอาหารผิดปกติหมด
ถ้ามีโรคทางวิญญาณ คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงขึ้นมาเต็มที่แล้ว ตอนนั้นกระเพาะอาหาร ก็เสียหมด ไม่หิวข้าว เห็นกันได้ชัด กินเข้าไปก็ไม่ย่อย นี่โรคทางกาย คือ โรคทางกระเพาะอาหารนั้น ก็เป็น ปฏิกิริยา มาจากโรคทางวิญญาณ พอโกรธจัดนะ กินข้าวลงเมื่อไหร่ เพราะกระเพาะไม่ต้องการอาหาร กินลงไปมันก็เป็นโทษ หรือว่าเสียใจจัดนี้มันไม่หิวข้าว กินลงไปมันก็เป็นโทษ กลัวจัดอย่างนี้ มันก็ไม่ ระบบประสาท มันก็เสียหมด หรือกลัวอยู่เป็นเวลานานนัก มันก็เกิดโรคทางระบบจิต ระบบ Mental เป็นบ้า เป็นอะไรไป ร่างกายก็พลอยวิปริตไป
นั้นถ้าเรา อย่ามีโรคทางวิญญาณกันเลยแล้ว ไอ้โรคทางกาย โรคทางจิตนี้มัน เกิดยากที่สุด แต่เราต้อง เอาเปรียบกันหน่อยที่ว่า ไอ้โรคทางวิญญาณนี้ หมายถึง Wisdom ที่มันฉลาดจริง ๆ มันรู้จักป้องกันไปหมด มันจะไม่พลัดตกหกล้ม ถ้ามันมีความปกติทางวิญญาณ มันจะไม่ทำมีดบาด บาดมือ มันจะไม่กินมาก จนเป็นโรคที่เกี่ยวกับกินเข้าไปมาก หรือแม้แต่ที่สุดไอ้โรคคัน โรคน้ำเหลืองเสียนี้ ถ้าใจคอปกติ ไอ้โลหิตมัน ก็เสียยาก น้ำเหลืองมันก็เสียยาก ดูให้ดี ไอ้โรคทางฟิสิกส์แท้ ๆนี้ มันขึ้นอยู่กับโรคทางวิญญาณ กว่าจะมาเป็น วัณโรค หรือว่าเป็นความดันสูงนี้ มันมาจากโรคทางวิญญาณ จิตใจต้องเสียก่อน จึงแสดงมาทางความดัน โลหิตสูง แม้ที่สุดโรคเบาหวาน ถ้าจิตใจปกติแบบพระอรหันต์นี้ ไอ้ทุกอย่างในร่างกายนี้ จะทำหน้าที่ถูกต้อง หมด ไม่มีน้ำตาลเหลือ ไม่มีน้ำตาลขาด
ผมกล้าพูดอย่างนี้ แต่ไม่มีใครเชื่อ นั้นเอาไปคิดไปนึกดูด้วย ว่าถ้าเราอย่าเป็นโรคทางวิญญาณ เสียอย่างเดียวแล้ว ไอ้โรคทางฟิสิกส์ ทาง Mental นี้ ก็จะหาได้ยาก เกิดได้ยาก หรือไม่เกิด ในส่วนที่มันเป็น เรื่องกระทบกระทั่ง อุบัติเหตุจากข้างนอกนั้น มันก็ต้องยกเว้น ไปกระทบหนาว เป็นหวัด เป็น Pneumonia นั้น มันก็เป็นโรคทางฟิสิกส์ เหตุกระทบบังเอิญ แต่ถึงอย่างไรก็ดี ถ้ามีจิตใจแข็ง จิตใจสูง มีวิญญาณสูงนี้ มันสู้ได้มาก มันก็เรื่องทางจิตที่พิเศษออกไปอีก มีความอดทนมาก มีความเข้มแข็งมาก พวกโยคี เขาอบรมไป ทางจิตนี้ก่อน ไปทางวิญญาณนั้นนะก่อน แล้วก็มีจิตเข้มแข็ง มีกายเข้มแข็ง จนกินยาพิษได้ อะไรได้ มันตั้งต้น ที่เรื่องทางฝ่ายวิญญาณก่อน
ดังนั้นเราจึงถือเป็นหลักว่า ถ้าไม่มีโรคทางฝ่ายวิญญาณ ไอ้โรคทางจิตหรือทางกายนี้ มันเกิดยาก ไม่เกิด เราจะเริ่มเห็นความสำคัญของความเป็นหมอ เป็นแพทย์ไปทางฝ่ายวิญญาณ คือพระพุทธเจ้า แล้วท่านจะสามารถ รักษาโรคทุกโรคได้อย่างไร เพราะว่าท่านเป็นแพทย์ทางฝ่ายวิญญาณ เป็นโรค แก้โรคฝ่ายวิญญาณหมด แล้วก็แก้โรคฝ่ายจิต ฝ่ายกายหมดหรือเกือบหมดไปด้วย
เอาละที่นี้ ก็มาถึงคำว่า โรคกันเสียสักหน่อย ช่วงเวลาที่เหลือเล็กน้อยนี้ ก็อีกตามเคย ผมพูดใน ลักษณะ มันฟังดูคล้าย ๆ ดูหมิ่นดูถูกพวกคุณเสมอ แต่ผมก็ไม่มีจิตใจเจตนา จะดูถูกดูหมิ่น สำหรับคำว่า โรค พวกคุณคง จะรู้จักมันแต่เพียงเท่าที่ มันมีในห้องเรียนหรือในตำรับตำราอะไรของคุณ ว่าโรคอย่างนั้น ๆ ๆ แล้วก็เรียกว่า โรค ว่า Disease แล้วคุณก็จะไม่อยากเรียกว่า ไอ้โลภะ โทสะ โมหะ นั้นมันเป็นโรคทางวิญญาณ ไม่จัดไว้ในฝ่าย ฝ่ายโรค ไปจัดเป็นอย่างอื่นเสีย ก็เลยไม่ต้องมีโรคทางวิญญาณ คำว่า โรคนั้นมันเป็นภาษาบาลี ให้รู้รากของคำศัพท์ นั้นมันแปลว่า ทิ่มแทง เอาของแหลม ๆ มาทิ่มมาแทงนั้น เขาเรียกว่า รุชะ(นาทีที่ 56:06) ออกมาเป็นรูปภาษา ว่าโรคะ โรโค แปลว่า สิ่งที่ทิ่มแทง
ที่นี่คุณไปคิดดูสิิ มันทิ่มแทงหรือเปล่า โลภะ โทสะ โมหะ นี่ทิ่มแทงจิตใจ ทิ่มแทงดวงวิญญาณ เช่นเดียวที่ไอ้โรคทางกาย ทางวิญญาณนี้ ความเจ็บ ความไข้ทางร่างกายนี้ มันก็ทิ่มแทงร่างกาย ถ้าไอ้โรคมัน ไม่ทิ่มแทงร่างกาย เราจะไปเดือดร้อนอะไร จะต้องไปรักษามันเล่า แม้แต่ปวดหัว มันก็ทิ่มแทงไอ้ร่างกาย ปวดหัวทนไม่ได้ หรือว่ามีโรคที่ตรงนั้นตรงนี้ จะต้องผ่าตัด จะต้องรักษา เพราะว่าอาการของโรคนั้น มันคือ ทิ่มแทง ทนอยู่ไม่ได้ ทางกายก็ทิ่มแทงกาย ทางจิตก็ทิ่มแทงจิต ทางวิญญาณก็ทิ่มแทงวิญญาณ ด้วยเหตุนี้ เราจึงถือว่า ทั้งหมดนี้เรียกว่าโรคได้ทั้งนั้น แม้แต่โลภะ โทสะ โมหะ ความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้ ในทางศาสนา เขาก็เรียกว่า โรคมันทิ่มแทงวิญญาณ หาความสงบสุขทางวิญญาณไม่ได้ มันก็เป็นโรค
ความเป็นแพทย์ของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่ารักษาโรคทุกโรคนี้ มันเล็งไปยังไอ้โรคทางวิญญาณนี้ก่อน หมดโลภะ โทสะ โมหะแล้ว มันก็ไม่มีโรคทางวิญญาณ ก็ป้องกันไม่มีทางโรคทางกาย ทางจิตได้มากอย่างที่ว่า มาแล้ว นั้นควรจะถือว่าท่านเป็นผู้ เป็นแพทย์ผู้รักษาโรคทั้งปวง แก่สัตว์โลกทั้งปวง นี้โรคทั้งปวง เราเอาคำว่า โรคทางกาย โรคทางจิต โรคทางวิญญาณ รับรองว่าหมด ไม่มีอะไรเหลือ มันจะรวมอยู่ในคำ ๓ คำนี้ นี้ส่วนคำว่า สัตว์ทั้งปวงหรือโรคทั้งปวง ค่อยพูดกันวันหลัง
สำหรับวันนี้ เรารู้จักพระพุทธเจ้า ในฐานะที่เป็นผู้ที่เหมาะสมจะเป็นแพทย์ รักษาเยียวยาโรคทั้งปวง แล้วเราก็รู้ในส่วนที่ท่าน ได้เป็นแพทย์รักษาเยียวยา สัตว์โลกทั้งปวงอยู่จริง ในชั้นแรกท่านมีความเหมาะสม ที่จะเป็นแพทย์ชนิดนั้น คือ สัพพัญูญู สัพพทัสสาวี ชิโน สัตถา มหาการุณิโก(นาทีที่ 58:39) คุณสมบัติเหล่านี้ ทำให้ท่านเหมาะ ที่จะเป็นแพทย์ทางวิญญาณ ในที่สุดท่านก็เป็น สพฺพโลก ติกิจฺฉโก(นาทีที่ 58:52) เป็นแพทย์ ผู้เยียวยารักษา แก่สัตว์โลกทั้งปวง ไม่ว่ามันจะเป็นโรคอะไร โรคนี้คือสิ่งที่เสียดแทง โรคกายเสียดแทงกาย โรคจิตเสียดแทงจิต โรควิญญาณเสียดแทงวิญญาณ จะรู้สึกหรือไม่รู้สึก นั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ตามข้อเท็จจริง มันเป็นอย่างนี้
เป็นอันว่า เดี๋ยวนี้เรารู้จักนายแพทย์ หรือจะเป็นบรมมหาแพทย์ อะไรก็ตาม แล้วแต่จะเรียก ของสัตว์โลกทั้งปวงกันแล้ว คือ พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ที่เราทุกคนบวชอุทิศให้ จะบวชตลอดชีวิต หรือบวช ชั่วคราว อย่างคุณบวชกันนี้ก็ตามใจ บวชอุทิศพระพุทธเจ้า ด้วยความมอบกายถวายชีวิต แก่พระพุทธเจ้า เพื่อทำตามอุดมคติของท่าน นั้นในส่วนหนึ่งคุณเป็นนักเรียนแพทย์ แล้วก็จะออกไปเป็นแพทย์ทางกาย ทางจิต ก็ตาม แต่ว่าคุณจะต้องเป็นแพทย์ ในทางวิญญาณอยู่ ตามมากตามน้อย ตามสัดส่วนที่จะเป็นได้ ในอนาคต เมื่อคุณออกไปประกอบอาชีพเป็นแพทย์ คุณจะใช้หยูกยาของพระพุทธเจ้า เพื่อช่วยเหลือ คนเหล่านั้นด้วย คือธรรมะนี้ ซึ่งเป็นหยูกยาทางฝ่ายวิญญาณ ไปรักษาคนเหล่านั้น ให้มันหายจากโรคทางกาย ทางจิตให้ มันเร็วขึ้น ง่ายขึ้น ทั้งป้องกัน ไม่ให้มันมี
นี่เราก็รวม เราก็ถูกนับเนื่อง นับรวมอยู่ในความเป็น แพทย์ทางวิญญาณอย่างพระพุทธเจ้าด้วย แต่อาชีพของเรา ก็คงเป็นแพทย์ทางฝ่ายกายหรือฝ่ายจิต ตามแบบฉบับของที่คุณเรียนในหลักสูตร แต่อย่าลืมว่า เดี๋ยวนี้กำลังเป็นภิกษุนุ่งห่มผ้ากาสาวพัส กาสาวพัสตร์ มันนับเนื่องอยู่ในความเป็นแพทย์ เป็นลูกสมุน ของพระพุทธเจ้า ขอให้ระมัดระวังให้ดี อย่าทำเสียชื่อ อย่าทำเสียหาย ให้แก่สถาบันแพทย์ ทางวิญญาณ ของพระพุทธเจ้า
และเวลาของเราก็ หมดลงตามที่กำหนดไว้ ๑ ชั่วโมง ขอยุติไว้เท่านี้