แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพุทธทาส: ถือเป็นว่าคุยกันเล่น จะตอบปัญหา ถามปัญหาอะไรก็ได้ ใครมีปัญหาก็ถามกัน ให้มันเก็บข้อตกหล่นต่างๆที่ฟังแล้วไม่เข้าใจ หรือว่าสงสัยอะไรก็ได้
ผู้ถามปัญหา : อยากเรียนถามท่านอาจารย์ว่า คนที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในศีลในธรรม มีความเห็นแก่ตัว มีความยึดมั่นในตัวกู ของกู ต่อมาในบั้นปลายชีวิตของบุคคลผู้นั้นได้ปฏิบัติตนใหม่คือไม่มีความยึดมั่นในตัวกู ของกู ปฏิบัติตนเสมือนตายเสียก่อนตาย อยากทราบว่าบุคคลผู้นั้นอาจถึงนิพพานได้หรือไม่
ท่านพุทธทาส : เราต้องถือว่าทุกคนทีแรกมันก็ปฏิบัติไม่ถูกหรือไม่ได้ปฏิบัติด้วยเจตนาอะไร และต่อมาก็ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ เกี่ยวกับชีวิตเพิ่มขึ้น ก็เลยไปปฏิบัติ ก็ปฏิบัติเพื่อตรงกันข้ามจากที่แล้วมา ที่แล้วมาก็พบว่าความทุกข์เกิดมาจากความยึดมั่นถือมั่นโดยตรง นั้นจึงปฏิบัติไปในทางที่จะคิด จะพูด จะทำอะไรโดยไม่ให้ทำด้วยความยึดมั่นถือมั่น ให้ทำด้วยสติปัญญา ที่เรียกว่าป้องกันหรือว่าบรรเทาของยึดมั่นถือมั่น ในระหว่างที่ทำยังต้องทำลายความยึดมั่นถือมั่นอยู่อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าหมดความยึดมั่นถือมั่น ไอ้หมดความยึดมั่นถือมั่นมันก็คือเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้บรรลุนิพพานไปโดยตรง ถ้าพูดว่าหมดความยึดมั่นถือมั่นนี่ต้องหมายความว่าเป็นพระอรหันต์หรือบรรลุนิพพานไปแล้วโดยตรง ไม่ต้องตายมีชีวิตอยู่ นี่ความว่ากำลังบรรเทาหรือควบคุมหรือตัดทอนความยึดมั่นถือมั่นนี่คือผู้กำลังปฏิบัติ นี่คำว่าตายเสียก่อนตายนี่เป็นคำผูกขึ้นมาสำหรับให้มันจดจำง่ายๆ ถ้ากำลังปฏิบัติอยู่ก็คือปฏิบัติเหมือนกับว่าเราเป็นคนตายแล้ว นี่ปฏิบัติอยู่นะ ยังตายเสียก่อนตายไม่ได้ตามที่ต้องการ แต่กำลังพยายามอยู่พยายามยึดหลักอันนี้ นี่คือผู้ปฏิบัติเพื่อมีความทุกข์น้อย หรือบรรเทาความยึดมั่นถือมั่นเพื่อมีสติสัมปชัญญะโดยสมบูรณ์อยู่เสมอ ที่ถ้าเขาปฏิบัติได้จริง ปฏิบัติได้ถึงที่สุดคือเป็นผู้ที่ตายก่อนตายแล้วจริงๆก็หมดความยึดมั่นถือมั่นเป็นพระอรหันต์บรรลุนิพพานแล้ว เป็นเรื่องเดียวกัน คำถามนี้ ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะว่าเอาไปไขว้กัน เอาไปปนกันเข้า ต้องแยกกันตรงนี้ว่า ไอ้ที่ว่าปฏิบัติในลักษณะตายเสียก่อนตายนี่ ถ้ากำลังปฏิบัติอยู่ยังปฏิบัติไม่ชนะนี่ เขาเรียกว่ายังเป็นคนไม่เป็นพระอรหันต์ ยังไม่บรรลุนิพพาน ถ้าทำไปๆจนปฏิบัติได้จริง ได้เด็ดขาดขึ้นไปก็จะเรียกว่าหมดความยึดมั่นถือมั่น เป็นพระอรหันต์ แล้วก็บรรลุนิพพาน ชีวิตนี้ เรื่องมีอยู่อย่างนี้ พอแยกออกกันเป็นสองประเภทก็หมดปัญหาไป มีปัญหาอะไร หรือจะซักรายละเอียดเกี่ยวกับข้อนี้ก็ได้ ปัญหาเดียวกันนี้ซักให้มันละเอียดยิ่งขึ้นก็ได้
ผู้ถามปัญหา : ขอเรียนถามอาจารย์ว่าภิกษุจะมีการสร้างสรรค์อย่างไรบ้าง ถึงจะช่วยให้คนในโลกปัจจุบันพ้นจากทาสของวัตถุนิยมได้
ท่านพุทธทาส : ใจความของปัญหา มันระบุภิกษุที่จะช่วยทำให้คนพ้นจากการตกเหววัตถุนิยม เราต้องพูดกันอย่างกว้างๆก่อนว่า โลกตกเหววัตถุนิยม นี้ก็เป็นหน้าที่ที่คนที่มีความรู้สึกนี้ทุกๆคนทุกๆประเภทจะต้องช่วยกันแก้ไข ก็โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่จัดการศึกษาของโลก องค์การศึกษาของโลกที่จะทำได้มาก ทำได้เร็วคือองค์การศึกษาของโลก เดี๋ยวนี้องค์การศึกษาของโลกกำลังตกเหววัตถุนิยมเสียเอง มันก็เลยหมดที่พึ่ง ยังเหลืออยู่แต่ ทางฝ่ายนักบวชในศาสนาต่างๆ อันนี้เรามองเห็นได้ว่า ถ้าพูดกันโดยหลักธรรมะกว้างๆ หรือความรับผิดชอบร่วมกัน พระก็มีหน้าที่ที่จะต้องช่วยดับทุกข์ดับความเดือดร้อนในโลก แล้วก็มีบางพวกหาว่าไม่ใช่หน้าที่ไปเสียก็มี หรือว่านักบวชบางพวกในบางศาสนาก็ตกเป็นทาสหรือตกเหววัตถุนิยมตามพวกฆราวาสไปเสียก็มี ที่นี้ผู้ถามก็จำกัดความแคบเข้ามาเหลือแต่นักบวชในพุทธศาสนา ก็ต้องยอมรับว่าเป็นหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ปฏิบัติเรื่องส่วนตัวเสร็จแล้วดับความทุกข์ของคนได้แล้วก็ต้องเป็นหน้าที่ที่จะช่วยผู้อื่น นี้ปัญหามันก็เหลือแต่ว่ามันจะช่วยได้อย่างไร เท่าไหร่ ไอ้ช่วยได้อย่างไรนี่ที่จริงมันก็กว้างมาก มันช่วยได้ทุกอย่างทุกทางแหละ หนทางที่จะช่วยนั้นมันก็มีอยู่มาก กว้าง แต่แล้วมันจะช่วยได้หรือไม่หรือช่วยได้เท่าไหร่ นี่ปัญหา ก็เป็นเรื่องที่ผมก็คิดอยู่ตลอดเวลา ในการที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยได้เท่าไหร่ เคยประสบอุปสรรคอย่างไร บางอย่างทำไปถูกก็หาว่าบ้าด้วยซ้ำไป บ้า หรือเป็นมิจฉาทิฐิคือทำผิดๆด้วยซ้ำไป ก็เพราะเหตุว่าไอ้คนทั่วไปหรือมหาชน หรือผู้มีอำนาจในวงมหาชน ในวงของโลกของบ้านเมืองนี่ ไม่เข้าใจแล้วไม่เห็นด้วย อันนี้เป็นเหตุให้ช่วยไม่ได้ หรือช่วยได้น้อยที่สุด เพราะเขาไม่เห็นด้วยว่านี้มันมีประโยชน์ ผมเคยพูดอยู่บ่อยๆว่า ไอ้สิ่งที่ป้องกันภัยจากคอมมิวนิสต์เป็นต้นนั้น อยู่ที่ประชาชนทุกคนเข้าใจในศาสนาของตนๆอย่างถูกต้องและเพียงพอ เดี๋ยวนี้เข้าใจศาสนาของตนไม่ถูกต้อง แล้วเมื่อไม่ถูกต้องมันก็เป็นอันว่าไม่ต้องพูดถึงว่าเพียงพอ หรือไม่เพียงพอแล้ว เมื่อมันไม่ถูกต้องมันก็คือไม่มีเลย ต้องเข้าใจศาสนาของตนอย่างถูกต้องคือตรงตัวศาสนา ไม่ใช่เป็นเรื่องของพิธีรีตองเป็นเรื่องเปลือกเรื่องกระพี้ เรื่องวัตถุ เครื่องหมายเท่านั้นเอง เข้าใจอย่างถูกต้องว่า เรื่องความทุกข์ทั้งหมดทั้งของเราทั้งของผู้อื่นมันเกิดมาจากอะไร จะดับมันได้อย่างไร ต้องเข้าใจถูกต้องและเพียงพอ นี่พอเอ่ยปากพูดออกไปมันก็กลายเป็นว่า เขาไม่เห็นว่ามันมีความจริง หรือเป็นเรื่องที่น่าสนใจหรือเป็นเรื่องจริง เขาเพ่งเล็งไปทางเรื่องเศรษฐกิจก่อน แล้วก็เรื่องทหาร หรือเรื่องการเมือง เรื่องอะไรต่ออะไร เรื่องอันนั้นต้องเอาให้เต็มที่ คนถึงจะมีความสุขแล้วก็ประเทศชาติหรือโลกจะมีความสุข มันเป็นเรื่องของพวกนักเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร มันกลายเป็นวัตถุนิยมไปในที่สุด พบแล้วว่าผู้ที่จะมีหน้าที่ที่จะช่วยป้องกันความทุกข์ของโลกหรือวัตถุนิยมกลายเป็นวัตถุนิยมเสียเอง เป็นผู้สร้างปัญหาเสียเอง ก็ไปลุ่มหลงในเรื่องการทหาร การเศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งมันเป็นไปเพื่อวัตถุ เขาไม่ได้ใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อความรู้ทางธรรม ทางศาสนา ที่นี้มันเป็นกันทั้งโลก ไม่ใช่เป็นแต่ประเทศเรา ถึงพูดกับพวกฝรั่งก็ฟังไม่ถูกหรอก เพราะว่าความกลัวอย่างใหญ่หลวงบีบคั้นจิตใจของเขาอยู่ อยู่ด้วยความกลัวระแวงแต่เรื่องจะถูกฆ่าอย่างไร มันจึงไปพูดกันแต่เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องทหาร เรื่องการเมืองเป็นการใหญ่ การศึกษาก็จัดไปเพื่ออย่างนั้น การวัฒนธรรมก็จัดไปเพื่ออย่างนั้น อะไรก็จัดไปเพื่ออย่างนั้น เป็นอย่างนี้กันทั้งโลก นั้นเราคนเดียวมาพูดอยู่อย่างนี้หรือไม่กี่คนมาพูดอยู่อย่างนี้มันก็เป็นเรื่องน่าสงสาร พูดได้ว่ามันน่าสงสาร มีคนเห็นด้วยเพิ่มขึ้นเหมือนกัน ผมก็เห็นว่า แล้วก็สังเกตเห็นว่ามีคนเห็นด้วยเพิ่มขึ้น แต่มันน้อยที่สุด เมื่อเทียบส่วนกันแล้วมันน้อยที่สุด จะต้องเพิ่มขึ้นอีกมากมายอีกนาน กว่าจะพอที่จะมีเสียงดังให้เขาฟัง การจัดสันติภาพในโลกด้วยสงคราม ด้วยเศรษฐกิจ ด้วยการทหาร การเมืองนี้มันเป็นไปไม่ได้ ต้องจัดด้วยธรรมะคือความถูกต้องในทางจิตใจ ความคิด ความนึก การกระทำต่างๆที่มันเป็นไปเพื่อธรรมะ ในศาสนาไหนก็ได้ ธรรมะนี้มันตรงกันทุกศาสนา บรรเทากิเลส บรรเทาความเห็นแก่ตัว รักผู้อื่นเท่ากับตัว หรือยิ่งกว่าตัว ยอมตายได้เพื่อความถูกต้อง หรือแม้แต่ยอมตายได้เพื่อเกิดความสงบขึ้นมา เรายอมแพ้ และยอมตายได้เพื่อให้ส่วนทั้งหมดเกิดความสงบขึ้นมา เขานิยมถึงขนาดนี้ มีหลักถึงขนาดนี้ การทะเลาะวิวาทหรืออะไรกันก็ตาม ยอมแพ้ ยอมเป็นฝ่ายแพ้ ฝ่ายผิด เพื่อให้เรื่องมันสงบไป เขาก็ยังถือว่าเป็นหลักที่ถูกต้อง แต่เดี๋ยวนี้มันไม่มีใครเอา ไม่มีใครถืออย่างนั้น เท่าที่ผมสังเกตเห็น ที่นี้จะมีปัญหาว่าภิกษุในพุทธศาสนาทั้งหมดจะช่วยได้เท่าไหร่ ปัญหามันก็เกิดขึ้นใหม่คล้ายๆกันอีก เมื่อภิกษุในพระศาสนาทั้งหมดนี่ไม่ได้มีความเห็นอย่างเดียวกัน ถ้ามีความเห็นอย่างเดียวกันก็ไม่เกิดหลักการในอย่างของผม หรืออีกทางหนึ่งผมก็ไม่ต้องถูกหาว่าเป็นคนบ้า นั้นแม้ในหมู่ภิกษุด้วยกันแท้ๆนี่ ก็ยังมีพวกที่เห็นว่าผมนี่เป็นมิจฉาทิฐิหรือเป็นบ้า แล้วมันก็ต้องลดลงมาสิ คุณจะเอาภิกษุพวกไหน ชุดไหน เท่าไหร่ ที่จะไปจัดการให้มหาชนพ้นจากเหวแห่งวัตถุนิยม ก็ยังเหลือจำนวนน้อย จำนวนน้อยที่พูดไปได้เท่าไหร่ จะทำให้คนฟังหรือยอมรับได้เท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคลนั้นๆ ซึ่งไม่กี่คน ถูกแล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าคนเดียวก็ทำได้ ถ้าเก่งจริง หรือว่าศัตรูจำนวนน้อยก็ชนะอสัตบุรุษทั้งหมดทั้งโลก ทั้งประเทศได้ก็มีตรัสไว้เหมือนกันนะ แต่มันอยู่ที่เราทำไม่ได้ เรานอกจากจะจำนวนแล้วจะยังไม่เก่งด้วยซ้ำ นั้นมันก็ได้แต่พูดไป พูดไปให้มันรู้กันไว้บ้าง ดีกว่าที่จะไม่มีพูดให้รู้หรือให้เอาไปคิดกันเสียเลย นั้นผมจึงเห็นว่าเวลานี้ โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ยังยากมาก ยังเป็นไปได้ แต่ว่ายากมาก ที่คุณพูดอย่างนี้บางทีไม่มีใครเห็นด้วยว่าโลกกำลังเป็นอันตรายอยู่ในอันตรายของวัตถุนิยม เหมือนกับที่ผมพูดว่าไม่มีใครเห็นด้วยที่พูด ก็ต้องพูดว่ายังไม่หวังน้อย น้อยกว่าจะมีความเก่งกล้าสามารถ ทำนองปาฏิหาริย์อะไรเกิดขึ้น ทำให้คนหันมาฟังเสียง แล้วก็เข้าใจกันมากขึ้นจนกระทั่งเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ทำให้สังคมเห็นว่าวัตถุนิยมนี่เป็นอันตราย เดี๋ยวนี้แทบไม่มีใครเห็นว่าเป็นอันตรายกลับไปชอบ ไปเอาความสุขทางเนื้อหนัง เป็นผลของวัตถุนิยม ต้องการให้มากขึ้นๆไม่มีที่สิ้นสุด นี่จึงเกิดความเห็นแก่ตัว รบกัน เบียดเบียนกัน นั่นการที่จะไปดึงเขามาจากวัตถุนิยมมันยาก เหมือนกับดึงอ้อยจากปากช้าง อย่างที่คนโบราณเขาพูด ดึงอ้อยออกจากปากช้างนี่ยาก เรามือเล็กๆจะไปดึงอ้อยจากปากช้าง นี่ก็เหมือนกันแหละที่จะดึงวัตถุนิยมจากคนหรือจะดึงคนจากวัตถุนิยมมีอาการเหมือนกันแหละดึงอ้อยจากปากช้าง พวกฝรั่งดูแล้วยิ่งหนักกว่าคนไทยเสียอีก ที่ตกเหววัตถุนิยม เขากลัวอย่างยิ่งจะสูญเสียสิ่งที่เขามี เขาไม่ได้กลัวว่ามันเป็นความชั่ว ความผิด ความเลว เขาไม่กลัวและไม่คิด กลัวแต่ที่มันจะสูญเสียสิ่งที่เขามีซึ่งวัตถุนั่นแหละ นี่คุณก็สรุปเอาเองได้ว่า โดยเนื้อแท้ โดยธรรมชาติ โดยหลักการนั้นมันช่วยได้ ศาสนาช่วยได้ เจ้าหน้าที่ศาสนาช่วยได้ หรือมีหน้าที่ที่จะต้องช่วย แต่เดี๋ยวนี้ช่วยไม่ได้ เพราะไม่มีใครนับถือศาสนาอย่างถูกต้องและเพียงพอ เอาหัวใจของพุทธศาสนามาพูดกลายเป็นเรื่องบ้าๆบอๆ เขาเห็นเป็นเรื่องไร้สาระไม่เกี่ยวข้องกัน นี่พูดแต่ว่าจะก้าวหน้าๆๆ คือทางวัตถุนิยม
พูดว่าทางวิญญาณนี่เขาไม่รู้ เลยไม่รู้ว่าปัญหาของมนุษย์มันมีอยู่ในทางวิญญาณ แก้ไขทางจิตใจ เขาไม่ได้แก้ไขด้วยทางวัตถุ เพราะว่ารบกันไปพลางก็ได้ แต่ขอให้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางจิตใจทางวิญญาณกันไปด้วย จนกว่าเมื่อไหร่จะมองเห็นกันแล้วก็หยุดรบได้ เลิกรบกันได้ ทีนี้ยังไม่มองเห็นก็รบกันไป เพื่อวัตถุนิยม การรบนี่เพื่อวัตถุนิยม เพื่อได้มาซึ่งวัตถุ ถ้าต้องการความสุขทางจิตใจ ไม่ต้องรบเลยต่างคนต่างหาได้ ก็จะแก้ปัญหาอื่นได้หมด พูดแล้วไม่น่าเชื่อ คนมีจิตใจดี มนุษย์มีจิตใจดีประกอบด้วยธรรมแม้แต่ปัญหาเรื่องต้องคุมกำเนิดก็จะไม่เกิด ตามความเห็นบ้าๆบอๆของผมก็เห็นว่าปัญหาทุกอย่างเกิดมาจากการขาดธรรมะ เกิดมาจากการที่มันขาดจากการปฏิบัติธรรมะ ขาดธรรมะในส่วนการปฏิบัติ หรือความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงยังเหลือน้อยเต็มที ไอ้ความสำเร็จ ช่องทางความสำเร็จยังเหลือน้อย แต่ว่าในฐานะที่เราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า มันจะเหลือน้อยเท่าไรก็ทำไปๆ เพราะคุณเป็นพุทธบริษัทคุณก็ต้องทำไป ถ้าถามว่าทำอย่างไร ก็ทำอย่างที่พูดกันหลายครั้งหลายหน แม้ในสำหรับฆราวาสก็เท่านั้น ก็มีอย่างนั้น เราภิกษุช่วยได้เท่าไร ผมก็ว่าภิกษุเขาไม่ได้ช่วยคิดกันแล้ว กี่คนกี่องค์
ผู้ถามปัญหา : ที่ท่านอาจารย์บอกว่าพอจะมีวิธีช่วยดึงคนในโลกได้นั้น อยากทราบว่าโดยวิธีไหนบ้าง เช่นว่าจะต้องปรับปรุงกรมการศาสนาหรือไม่
ท่านพุทธทาส : พูดกันคำว่าโลกมันก็หมายถึงทั้งโลก ที่มีพูดถึงกรมการศาสนา กรมการศาสนาในประเทศไทยนี่มันก็ไม่พอ ถ้าเราจะดึงโลกไปทั้งโลกมันก็ต้องมีอะไรมากกว่าเพียงแต่องค์การศาสนาในประเทศไทย เดี๋ยวนี้องค์การศาสนาในประเทศไทยนี้ยังคงตามก้นผู้อื่น ผมมักจะพูดว่าตามก้นฝรั่งๆ องค์การพุทธศาสนาในประเทศไทยนับตั้งแต่สมาคม องค์การต่างๆกระทั่งกรมการศาสนาเถรสมาคมรวมกันทั้งหมดยังไม่สามารถจะดึงโลกทั้งโลกไปได้หรอก แม้แต่ดึงในประเทศไทยมันก็ยังแย่ ผลสุดท้ายมันก็ไปลงอย่างเดียวกันกับที่พูดมาแล้ว จนกว่าเมื่อไรมันจะฟลุ๊คหรือจะบังเอิญเกิดอะไรขึ้นเหมาะสมเข้าใจกันได้ดี ออกไปโดยเร็วมันก็อาจจะเป็นได้เหมือนกัน ที่นี้มันยังไม่เป็นไปได้มันได้แต่ความฝัน เป็นความฝันเสียมากว่า การทำความเข้าใจระหว่างชาติ ระหว่างศาสนายังเป็นความฝัน พยายามไป เพราะเราไม่มีอะไรจะทำ นอกจากสิ่งนี้ทำความเข้าใจระหว่างเพื่อนมนุษย์กันให้กว้างออกไปๆ เรื่องอย่างอื่นก็ไม่เห็นว่าดี หรือน่าทำหรือเป็นบุญเป็นกุศลอะไรที่ไหน ความสำเร็จมันอยู่ที่ว่ามีคนคิดได้อย่างนี้แล้วทำ คือจะไปหวังให้องค์การสมาคมนั้นนี้ทำยิ่งไม่มีทาง เพราะว่ายิ่งองค์การหรือสมาคมมันยิ่งดึงไปในทางตรงกันข้าม คนหนึ่งคนเดียวในองค์การหรือในสมาคมนั้นกล้าทำ มีทางสำเร็จ นี่ผมสังเกตมาสามสิบสี่สิบปีแล้วความเคลื่อนไหวของสมาคมหรือองค์การเหล่านั้นไป มันไปไม่ได้ติดชะงักหมด ขี้ขลาดบ้างอะไรบ้าง ผลสุดท้ายมันก็เนื่องมาจากเห็นแก่ตัว เพราะว่าทำไปมันไม่ได้อะไรเป็นวัตถุเขาก็ไม่ทำ เขากลัวกลายเป็นเสี่ยง อย่างน้อยก็เสี่ยงถูกคนเขาด่านี่ก็ไม่เอาแล้ว สมาคม องค์การนั้นก็ไม่เอา ที่แท้มันต้องยอมยิ่งกว่าเขาด่าจึงจะได้ ไม่ต้องหวังความราบรื่น ต้องหวังในอุปสรรค การฟันฝ่าอุปสรรค นับตั้งแต่ถูกด่าขึ้นไป พระพุทธเจ้าเองเมื่อตรัสรู้และเผยแผ่ประกาศพระศาสนาทางหนึ่งก็เต็มไปด้วยการถูกด่า แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ค่อยมาปรากฏให้ได้ยิน ต้องไปอ่านเอาเองในพระคัมภีร์ ในพระไตรปิฎก มีคนด่าโดยเข้าใจผิดจริงๆ คือด่าโดยบริสุทธิ์ใจจริงๆก็มี ด่าโดยการรับจ้างเพื่อทำลายกันอย่างนี้ก็มี เพราะว่าประโยชน์มันไปขัดกัน กับคนที่เขาต้องการอย่างอื่น ถ้าคุณคิดถึงเรื่องนี้ก็นับว่าดีมาก เพียงแต่คิดก็ได้บุญ แต่ความสำเร็จผมว่ายังอยู่ไกลมาก ใครมีปัญหาอะไรอีก
ผู้ถามปัญหา : ผมอยากทราบว่าในการเจริญสมาธิ การขจัดความชั่วร้ายที่น้อมไปทางฝ่ายต่ำมาเวียนวนอยู่ในปริมณฑลของจิตที่มีอยู่ ๕ อย่างนั้น เราจะปฏิบัติอย่างไร
ท่านพุทธทาส : ก็ถามเรื่องนิวรณ์ ๕ ที่จะถูกละไปเพราะการปฏิบัติสมาธิ รายละเอียดเรื่องนี้ยืดยาว อยู่ในคำบรรยายเรื่องอานาปานสติขั้นที่ ๔ ซึ่งเป็นเรื่องนี้โดยตรง ไปหาอ่านดูหนังสือบรรยายอานาปานสติภาวนาเล่มที่ ๑ อธิบายอานาปานสติขั้นที่ ๔ ชี้ชัดละเอียดเลย ทีนี้พูดกันแต่โดยใจความการปฏิบัติอานาปานสติหรืออะไรก็ตามชนิดที่จะให้เกิดสมาธินี้ มันกำจัดนิวรณ์โดยธรรมชาติ เพราะว่าเมื่อเราทำสมาธิได้สำเร็จก็หมายความว่าเราปลีก สามารถปลีกจิตออกมาจากนิวรณ์นั่นเอง เรื่องกำปั้นทุบดิน ถ้าไม่สามารถปลีกจิตออกมาเสียจากนิวรณ์มันก็ไม่เป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิได้เราประสบความสำเร็จในการควบคุมจิต ดึงจิตออกมาเสียจากนิวรณ์ คือพูดอีกทางหนึ่งซึ่งเป็น logic กว่าก็เพราะเมื่อเราทำสมาธิ ทำจิตให้เป็นสมาธิได้ นิวรณ์ก็ไม่มีทางจะเกิด นิวรณ์คือความรู้สึกชั่วร้ายหลายๆชนิดที่เกิดขึ้นรบกวนจิต ก็เพราะว่าจิตนั้นมันไม่มีการควบคุมมันอ่อนแอ มันตกไปแต่ในทางที่จะเกิดความรู้สึกชนิดนั้น ที่นี้มีการจัดการทำให้จิตชนิดนั้นอยู่ในสภาพอย่างอื่น อยู่ในสภาพที่เรียกว่าเป็นสมาธิ คือไปกำหนดที่สิ่งอื่นเสียให้มั่นคงให้แน่วแน่ ฝึกจิตให้อยู่ในอำนาจของการควบคุม นิวรณ์ก็เกิดไม่ได้ นี้เราพูดให้มันสั้นเข้ามาอีก ถ้าเราตั้งจิตไว้อย่างนี้นิวรณ์เกิดไม่ได้ ถ้าเราเผลอไปอย่างนั้นนิวรณ์ก็เกิดได้ เป็นกฎของธรรมชาติ ตามหลักธรรมชาติ เรามันไม่รู้นี่ เราก็ปล่อยจิตไปตามเรื่องตามราวของคนธรรมดาสามัญ สมัยนี้มันก็มีเรื่องยั่วยวนมากดึงดูดมาก ก็มีนิวรณ์เกิดขึ้นได้มากมาย ถึงสมัยก่อนสมัยโบราณโน้นก็เหมือนกัน มันก็มีทางที่จะเกิดนิวรณ์อยู่แล้วเหมือนกัน แต่คงไม่มากเหมือนสมัยปัจจุบันนี้ ที่มันก้าวหน้าทางวัตถุแล้ว ก้าวหน้าในทางสิ่งที่ยั่วยวนจิตมีมาก จนเราเป็นโรคเส้นประสาทกันมากในโลกนี้ ที่เห็นได้ชัด การที่จิตถูกนิวรณ์รบกวนไม่มีสางสา มีผลเป็นโรคประสาทหรือมากกว่านั้น วัฒนธรรมทางจิตไม่มีใครสนใจ ควบคุมจิตไว้อย่างไร ฝึกฝนจิตอย่างไร หรือว่าหลบจิตมีอย่างไรไม่มีใครสนใจ นี่มันก็ต้องไปตามบุญตามกรรม คือมีนิวรณ์มาก โลกก็ประสาทมาก เพียงแต่จะกำจัดนิวรณ์นั้นมันเพียงสมาธิก็ได้ ไม่ต้องเกี่ยวกับปัญญา ไม่ต้องเกี่ยวถึงขั้นปัญญา นี่สมาธิก็มีอยู่แต่เพียงว่า จิตนั้นกำหนดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งสะดวกและง่ายในการที่จะกำหนดให้จิตไปผูกพันอยู่แต่กับสิ่งนั้น ในการฝึกฝนของเรา เรียกว่าฝึกฝนจิตให้อยู่ในอำนาจ ไม่ใช่ว่าเราจะเอาอะไรจากลมหายใจหรือจากวัตถุอันใดของสมาธิ เพียงเราอาศัยสิ่งนั้นเพื่อการฝึกจิตให้อยู่ในอำนาจของเรา ที่นี้ก็ตามเรื่องจิตไปตามที่เราประสงค์ไม่เกิดนิวรณ์ด้วย แล้วไปทำอะไรได้ดีด้วย นี่เรื่องจะเอามาฝึกจิตชนิดนี้ก็มีอยู่มาก มากมายหลายสิบเรื่องก็แล้วกัน เรียกว่าหลายสิบวิธี หลายสิบเรื่อง ใช้ได้ด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่ดีที่สุด ที่สะดวกที่สุด และได้ผลที่สุดไม่มีอะไรเกิน อานาปานสติ ใช้ลมหายใจเป็นบทเรียนเป็นอุปกรณ์การฝึก ก็ไปหาอ่านเรื่องอานาปานสติ เท่าที่เป็นแต่เพียงสมาธิในกลุ่ม ในหมวดที่ ๑ มีอยู่ ๔ ขั้น กำหนดลมหายใจยาว จนรู้จักธรรมชาติของลมหายใจยาวอย่างดี กำหนดลมหายใจสั้น จนรู้จักธรรมชาติของลมหายใจสั้นอย่างดี แล้วก็กำหนดข้อเท็จจริงที่ว่า ลมหายใจนี่ มันเนื่องกันอยู่กับกาย หรือมันปรุงแต่งกายไปด้วยกันกับกาย ลมหายใจหยาบกายหยาบ ถ้าลมหายใจละเอียด กายก็ละเอียด ก็หมายความว่า ถ้าลมหายใจหยาบ กายกระวนกระวาย ถ้าลมหายใจละเอียดกายก็สงบระงับ นี่ข้อเท็จจริงอันนี้ต้องมองเห็นอยู่ เขาก็มองได้จากการที่ลมหายใจของเราเดี๋ยวสั้น เดี๋ยวยาว เดี๋ยวเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวเป็นอย่างนี้ มองจากของจริงไม่ใช่การคำนวณ ต่อไปถึงขั้นที่ ๔ มันก็ยามทำลมหายใจให้ละเอียด ให้ละเอียดๆๆ กำหนดลมหายใจให้วิธีที่มันละเอียดเข้าๆ ก็เป็นสมาธิไปตามลำดับ กระทั่งเป็นสมาธิถึงที่สุด มีความระงับทั้งกายทั้งจิต รู้สึกเป็นสุขทางกายรู้สึกเป็นสุขทางจิต นิวรณ์ไม่ต้องพูดถึง คือไม่โผล่มาไม่ได้เพราะเดี๋ยวนี้มันมีความสุขทางจิตแล้ว พวกนิวรณ์ต่างๆไม่มีโอกาสจะโผล่มา หมวดที่ ๑ ของอานาปานสตินี้ก็การปฏิบัติ ๔ ขั้น ลมหายใจยาว ลมหายใจสั้น รู้พอให้ลมหายใจปรุงแต่งกาย ควบคุมการปรุงแต่งกายของลมหายใจนั้น ให้มันละเอียดๆๆ หัวข้อมีเท่านั้น เป็นการกำจัดนิวรณ์ไปเสร็จด้วยเลย เป็นการทำให้เกิดความสุข ความสบาย ซึมซาบ อิ่มเอบ อยู่ในเวลานั้นด้วย เรียกว่ากำจัดนิวรณ์พร้อมกันไปในตัว สร้างความสุข ใจความเดียวกัน อธิบายโดยละเอียดมันก็ไม่ไหว ต้องไปอ่านเอาเอง คำบรรยายปีกลายก็มี อานาปานสติ ในชุดนี้ ชุดลิขิต หลายขั้น ยังย่อหรือยังสั้นกว่าที่พิมพ์เป็นเล่มหนังสือ ง่ายกว่า
ผู้ถามปัญหา : ผมอยากทราบว่า อวิชชาที่เป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์นั้น เรากำจัดด้วยวิชชา แต่ถ้าเราไม่มีวิชชา เราจะกำจัดมันได้อย่างไร
ท่านพุทธทาส: ถ้าโดยหลักมันก็พูดอย่างนั้นแหละ กำจัดอวิชชาด้วยวิชชา แต่ตัวจริงมันก็มีอะไรกว้างขวางกว่านั้น มันมีเป็นชั้นๆอยู่ อวิชชาเพราะไม่รู้เอาเสียทีเดียวมันก็มีอยู่ประเภทหนึ่ง เพราะไม่รู้เสียเลยว่าอะไรเป็นอะไร ก็แปลเป็นอวิชชาพื้นฐาน แต่เดี๋ยวนี้เขายังหมายถึงว่า ไอ้สิ่งที่เรารู้ เราเข้าใจที่เรารู้อยู่แล้ว แต่ความรู้นั้นไม่มาในขณะที่มันมีเรื่องเกิดขึ้นแก่เรา เขาก็เรียกว่าอวิชชาเกิด คือได้รับสิ่งเหล่านั้น หรือจัดการกับสิ่งเหล่านั้นผิดไปแล้ว อย่างนี้ก็เรื่องอวิชชาเกิด เมื่อเราได้เห็นรูปอย่างนี้ สมมุติกันไปเลย ตาได้เห็นรูปที่สวยงาม แล้วก็ไปหลงรักเข้า อย่างนี้ก็เรียกว่าอวิชชาเกิด เกิดเวลานั้นเลย เกิดในกรณีนั้น เวลานั้น ก่อนนั้นไปหน่อย อวิชชาไม่ได้เกิด ที่นี้พอเราเห็นรูปสวยเข้า เราเผลอสติไปไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ถูกต้อง ไปหลงรักมันเข้า ก็เรียกว่าอวิชชาเกิด ทางธรรมะก็มี บางคราวเราเห็นรูปอย่างเดียวกัน มีสติทันท่วงทีไม่หลงรัก ก็เรียกว่าอวิชชาไม่ได้เกิด วิชชายังอยู่ๆ อยู่ตามเดิม นี่คุณลองคิดดู จะละอวิชชา ด้วยวิชชานั้นคืออย่างไร เพราะเรื่องโดยมากมันเกิดมาจากเผลอสตินี้ทั้งนั้น ที่อวิชชาเกิดมันก็เผลอสติ พอเราหายเผลอ พอเรานึกได้ อ้าว อันนี้มันเรื่องบ้า ไปหลงรัก หลงเกลียด เป็นเรื่องไม่ถูก ที่นี้มันก็เป็นเรื่องรู้ ทั้งทีรู้อยู่แล้วมันก็เผลอสติจนเกิดอวิชชา ไปหลงรักก็ได้ ในกรณีอย่างนี้ก็เรียกว่า กำจัดอวิชชา ป้องกันอวิชชาได้ด้วยสติ สติที่มาถี่ๆ ที่มาทันท่วงที คือวิชชาที่มาทันถ่วงที ความรู้มาทันถ่วงที เรียกว่า สติ ป้องกันไม่ให้เกิดอวิชชา หรือว่าทำลายอวิชชาที่ได้เกิดขึ้นอยู่เดี๋ยวนี้ ทางตัวหนังสือเขาว่าด้วยญาณ ด้วยวิชชา ด้วยรู้ ด้วยแสงสว่าง แพ้มันด้วยสติต่างหากที่มันพาเอาญาณ อันปัญญา เอาแสงสว่างมาทันแก่เวลา นี้จึงเรียกว่าด้วยสติสัมปชัญญะ พูดภาษาธรรมดาหน่อย ก็ด้วยสติ และปัญญา ปัญญากับสติทำงานร่วมกัน ปัญญาคือรู้แจ้งแทงตลอด คมกริบ สติเป็นเครื่องดึงออกมาทันท่วงที ทันเวลา นั้นคุณหัดทำอย่างนี้ หัดมีสติ เพราะถ้ามีสติมันก็คือมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาสติมันก็ไม่รู้ว่ามีสติยังไง มีไม่ได้ ไอ้เรื่องที่เราจะรู้ว่าความทุกข์เกิดจากปัญหาอุปาทานนี้ เรียนเดี๋ยวเดียวก็รู้ พอรู้ก็รู้แล้ว เป็นอันว่ารู้แล้ว ถ้าแล้วก็ยังเกิดอวิชชาในเรื่องนี้ เรื่องเดียวกันนี้อยู่เรื่อย เพราะสติไม่มา มาไม่ทัน พอมีอะไรมาผ่านตา ผ่านหู ผ่านจมูก ก็เกิดอวิชชา หลงใหล หรือว่ามีความคิดอะไรเกิดขึ้นในใจ กระทบใจ อ้าว มันก็ไปกับใจแล้ว ไปในทางอวิชชา มีความโลภบ้าง มีความโกรธบ้าง มีความอะไรบ้าง ไปเสียไกล กว่าจะรู้สึกตัว สติมาไม่ทันจึงเป็นอย่างนั้น ถ้าสติมาทันก็ไม่เป็นอย่างนั้น การที่จะกำจัดอวิชชาด้วยวิชชาก็คือทำสติให้คล่องแคล่ว ให้สมบูรณ์ พกพาเอาความรู้มาทันเหตุการณ์ อวิชชาไม่อาจจะเกิดหรือเกิดแล้วไม่อาจจะลุกลาม อาจจะหยุด ระงับ หายไป สรุปแล้วปัญหามันก็เหลืออยู่แต่ว่าทำสติยังไง นี้บทเรียนเกี่ยวกับสตินี้ก็หัดโดยหลักที่ว่าไม่ทำอะไรโดยไม่รู้สึกตัว คุณหัดทำอะไรโดยรู้สึกตัวเรื่อยไป ไอ้ยุบหนอ พองหรอ นั่นก็ใช้ได้ แต่มันยังแคบๆ หัดทำอะไรโดยรู้สึกตัวโดยพื้นฐาน โดยทางวัตถุ ทางร่างกายนี้ก่อน เช่นเราเปิดประตูนี่จงเปิดด้วยความรู้สึก อย่าเปิดด้วยความเคยชิน จะถูฟันตอนเช้าก็ถูฟันโดยความรู้สึก สติสัมปชัญญะ อย่าถูไปด้วยความเคยชิน หรือจะอาบน้ำจะกินทุกๆอย่าง หัดทำด้วยความรู้สึกตัวเต็มเปี่ยมร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่าทำไปตามความเคยชิน ทำตามความเคยชินก็ทำได้ ไม่ใช่ทำไม่ได้ เราตื่นนอนขึ้นมาอาจจะลุกขึ้นไปทำอะไรต่างๆได้ครบหมด ไปทำงานออฟฟิตได้ตามความเคยชิน แต่ไม่มีสติสัมปชัญญะไปตามลำดับ จะเปิดประตูมันก็เปิดได้ด้วยความเคยชิน แล้วปิดประตู เปิดกุญแจก็ทำได้ด้วยความเคยชิน แต่ไม่ได้ทำด้วยสติสัมปชัญญะ พอนึกเข้าเปิดยังไง ปิดยังไงก็นึกไม่ออกแล้ว ประตูปิดแล้วหรือยังก็ยังสงสัย ก็สอนให้หัดทำอะไรด้วยความรู้สึกตัวอย่างนี้เรื่อยไปก่อนตั้งแต่เรื่องง่ายๆ เรื่องกิน เรื่องอาบ เรื่องเดิน เรื่องนั่ง เรื่องนอน เรื่องเหยียบ เรื่องอะไรก็ตามแต่ ถี่ยิบเอามาที่ลมหายใจ ยุบหนอ พองหนอ นี่ก็หมายความว่าหัดให้มันไม่มีโอกาสว่างเว้น ก็มีเข้าออกๆอยู่ เราทำอย่างนี้เรื่อยไปเป็นประจำนี่มันเกิดนิสัยใหม่ขึ้นมา ทำอะไรต้องทำด้วยความรู้สึกเต็มที่ เต็มสำนึก เต็มที่ ถ้าเราทำด้วยใต้สำนึกเราก็ทำได้เหมือนกัน ขึ้นสำนึกหรือใต้สำนึกก็ทำได้เหมือนกัน แต่สมรรถภาพน้อยมาก แล้วในที่สุดยอดกุฎของมันมีผลต่างกันมาก ถ้าเราหัดนิสัยทำอะไรด้วยความรู้สึกมาทีแรกทีนี้มันก็เป็นไปตลอดสาย ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดูมกลิ่น แต่ก่อนที่มันจะทำอะไรเราได้ เรารู้สึกก่อนเสมอ ว่าเป็นรูปอะไร เป็นเสียงอะไร คืออะไร คือยังไง จิตก็ไม่กระโดดพรวดไปที่จะเกิดความรัก ความเกลียด ความโกรธ ความกลัว ความอะไร มันป้องกันได้อย่างนั้น ยกตัวอย่างว่าพอคุณล้มลงนอน คุณจะนอนหลับ คุณก็ลองทดสอบดูว่าปิดประตูยังไง เมื่อปิดประตูปิดยังไง ก็ตอบไม่ได้ว่าปิดประตูยังไง แต่ถ้าเราปฏิบัติสติสัมปชัญญะอยู่เสมอเรารู้ว่าเราจะปิดประตูยังไง เรารู้สึกก่อน จึงปิดไป พอถามตัวเองเมื่อตะกี้ปิดประตูยังไงมันก็ตอบได้ เพราะมันทำไปด้วยเต็มสำนึกสัมปชัญญะ นี่ฝึกให้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์นั่นแหละทำลายอวิชชาด้วยอำนาจของวิชชา ที่อยู่ในพวกที่ปฏิบัติได้หรือคนปฏิบัติ เหล่านั้นเป็นทฤษฎีล้วนๆ ทฤษฎีเปล่าๆ ทฤษฎีไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ ไอ้เรื่องการศึกษาเล่าเรียนนั้นให้มันหายโง่นั้น มันเป็นพื้นฐาน ถึงรู้แล้วไม่ช่วยอะไรได้ ถ้าเราไม่มีสติสัมปชัญญะอย่างที่ว่านี้ ให้ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด นั้นคุณดู คุณเองหรือเพื่อนฝูงของคุณ ซื้อหนังสือมาอ่านท่วมหัว ท่วมหู เอาตัวไม่รอด เพราะมันได้แต่อ่านๆๆ เรื่องอะไรก็ไม่รู้ มีปัญญาทางตัวหนังสือแล้วมากมาย แต่แล้วก็ช่วยอะไรไม่ได้ คือไม่มีสติสัมปชัญญะนี่แหละ ศึกษาตำรับตำราหนังสือหนังหาท่วมหัว ท่วมหู ช่วยตัวไม่ได้ ช่วยได้ก็ต้องมีสติสัมปชัญญะฝึกการมีสติสัมปชัญญะ ความรู้ที่มันตรงกับเรื่องนั้น มาช่วยทันท่วงที หรือมันมีอยู่สองขยัก ขยักแรกก็คืออย่าเผลอตัดสินใจอะไร จนกว่าจะรู้สึกตัวว่านี่เกิดขึ้นแล้ว ยังไม่ต้องตัดสิน มันง่ายดีอย่างนี้ พอตั้งตัวได้อย่างนี้แล้ว สติขั้นแรกตั้งตัวได้อย่างนี้แล้วถึงค่อยพิจารณาหรือตัดสินลงไปว่าทำอะไร คือเราหัดทำนองว่า พอตาเห็นรูป ก็ให้สักแต่ว่าเห็นรูปสักทีก่อน ยังไม่ว่ารูปอะไรอย่าไปรัก อย่าไปเกลียดอะไร ให้รู้ว่าเห็นรูปเข้าแล้วเว้ย จึงก็ค่อยว่ารูปอะไร อันตรายหรือไม่อันตราย อย่างนี้มันช่วยได้ นิทานสอนเด็ก สุภาษิต หรือนิทานอิสป เรื่องนับสิบเสียก่อนเป็นนิทานเอาของพวกฝรั่งมา เด็กคนนั้นมันขี้โกรธ ผู้ใหญ่ก็สอนให้นับสิบก่อน ก่อนที่จะคิดอะไรลงไปหรือจะโกรธ มันก็มีผล คือก่อนที่เราจะโกรธ หรือจะอะไรก็ตาม เราจะต้องนับหนึ่งถึงสิบหรือถึงยี่สิบ แล้วแต่เราอยาก นี้คือสำรวมสติสัมปชัญญะซะทีหนึ่งก่อนว่ามันจะมีเรื่องแล้ว อย่าพลุนพลันไปทันควัน ถ้าพูดให้ถูกก็คือสำรวมสติสัมปชัญญะให้เป็นรูปเป็นร่างเสียก่อน แล้วจึงค่อยคิดหรือตัดสินใจอะไรลงไป อย่าเข้าใจว่ามันช้าหรืออืดอาดที่จริงนั่นน่ะคือพอดี ถูกต้อง พอดี ไม่พลุนพลัน แต่ว่าให้มันแวปแล้วไปเลยนั่นน่ะพลุนพลัน แล้วมันเป็นไปแต่ในทางเสีย ทางเกิดกิเลส ถ้าแวป แล้วก็ชะงักไว้นิดหนึ่งก่อน แล้วดูว่ามันเป็นอะไร แล้วค่อยตัดสิน มันก็ผ่าน เพราะเรื่องของจิตมันเร็วมาก มันกินเวลาไม่ถึงวินาทีก็ได้ แต่เราได้สติสัมปชัญญะอยู่กับเนื้อกับตัวก่อนแล้ว แล้วจึงตัดสิน ว่าจะทำอะไร ว่าจะทำอย่างไร ถ้ามันเป็นเรื่องที่ให้โอกาสมากกว่านั้นเราก็ทำได้เต็มที่ รอความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอะไรถูกต้องเสียก่อนจึงตัดสิน แม้ว่ามันเป็นเรื่องกะทันหัน ฉุกละหุกรวดเร็ว มันก็ยังต้องสำนึกตัวให้ได้เสียก่อนแล้วจึงทำไป ถ้าไม่อย่างนั้นมันบ้าจี้ มันมีลักษณะบ้าจี้ สมมุติว่าหมากระโชกเข้ามาจะกัด เราต้องสำรวมสติสัมปชัญญะ ความรู้สึกอะไรให้เรียบร้อยซะก่อน จึงจะทำอะไรแก่หมา ถ้าพอหมาพรวดเข้ามากระโดดโหยงไปเลยมันก็เป็นบ้าจี้ แล้วก็ไม่ค่อยมีผลดี บางทีถูกหมากัดเพราะไอ้อาการบ้าจี้นั้นก็ได้ ถ้าหยุดชะงักอยู่ในลักษณะผู้ที่มีสติสัมปชัญญะเต็มพร้อม หมาก็ไม่กล้ากัด ผมเคยทดลอง เคยสังเกต ขึงตาดูหมา หมามันก็ไม่กล้ากัด แล้วเราอยู่ในสภาพที่เตรียมพร้อม นึกคิดอยู่ว่าจะเล่นงานหมาอย่างไร จะจับหมาอย่างไร จะเตะหมาอย่างไร จะฉีกปากหมาอย่างไร มันก็มีคิดได้ ในลักษณะนั้นหมามันก็ไม่กล้ากัด มันเป็นอำนาจหลายอย่าง ถ้าพูดทางจิตวิทยามันก็มี เพราะจิตของเรากำลังเป็นสมาธิเข้มแข็งกว่าจิตหมา หมาไม่กล้ากัด พูดกันง่ายๆว่า หมาเห็นท่าทางน่ากลัว มันไม่กล้ากัดก็ได้ นี่แม้แต่เรื่องฉุกละหุกกะทันหัน เช่น หมาเข้ามาจะกัด นี่มันก็ต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะทำอย่างไรกับมัน อย่ากระโดดโลดเต้นโวยวายเหมือนคนบ้าจี้ จะถูกหมากัด ถ้าเรื่องมันไม่พรวดพราด ถึงขนาดนั้นเราก็มีทางคิดได้นานกว่านั้น ตัดสินใจได้นานกว่านั้น สติสัมปชัญญะสมบูรณ์กว่า ที่นี้มันเสียแต่ว่ามันเป็นโมหะไปหมดเลย มันไม่นึกได้เสียเลย มันลุ่มหลงไปเสียได้ เห็นของสวยเข้ามาก็รัก เห็นของไม่สวยเข้ามาก็เกลียด มันเป็นเสียอย่างนี้ ไม่ดูว่าอะไรเป็นอะไร นี่มีสติ แล้วมีสติตั้งกระแสแห่งการเกิดของอวิชชา เรื่องปฏิจจสมุปบาท ตาเห็นรูป หูฟังเสียง เป็นต้น สติมาก่อนอวิชชาไม่เกิด อวิชชาไม่เกิด สังขารไม่เกิด วิญญาณไม่เกิด นามรูปไม่เกิด อายตนะไม่เกิด ผัสสะไม่เกิด เวทนาไม่เกิด ตัณหาไม่เกิด อุปาทานไม่เกิด ภพไม่เกิด ชาติไม่เกิด ทุกข์ไม่เกิด เรื่องปฏิจจสมุปบาท จะไม่เกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ขึ้นในขณะนั้น
ผู้ถามปัญหา: เรียนถามอาจารย์ว่า มีใครบ้างไหมที่มีสติอยู่ตลอดเวลา
ท่านพุทธทาส: ถ้าถามว่าใครมีสติอยู่ตลอดเวลานี่มันก็ตอบได้เหมือนกัน ก็ตอบอย่างที่เรียกว่ากำปั้นทุบดินในพุทธศาสนาว่าพระอรหันต์มีสติอยู่ตลอดเวลา แต่แล้วก็จะไม่เข้าใจกัน ทางที่จะเกิดวิชชาอยู่ตลอดเวลาคือพระอรหันต์ คนที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็มีทางที่จะเผลอไม่มากก็น้อย จะเกิดอวิชชา
ผู้ถามปัญหา: ขอเรียนถามต่อไปว่า คนเราจะสามารถละนิสัยปุถุชนหรือสันชาตญาณหรือจิตใต้สำนึก เช่นว่า เวลาเกิด เช่นว่า ไม่เกิดความรำคาญใจเลย ไม่มีความโกรธเลย ไม่น้อยใจเลย หรือไม่อยากได้อยากเป็นเลย ได้อย่างไรบ้าง
ท่านพุทธทาส: ไอ้เรื่องนี้มันก็มีสิ่งที่น่าคิดอยู่มากเหมือนกัน เราพูดอย่าง logic กันว่าไม่เสีย คือไม่ให้มันเสียสภาพปกติของมัน การจะไปรัก ไปโกรธ ไปเกลียด ไปกลัว ไปอะไรก็ตามแต่ อย่างที่ว่านั้นน่ะ มันคือเสียสภาพปกติเดิมของมัน ถ้ามันไม่ทำให้มันเสีย ไม่เปิดโอกาสหรือไม่ทำอะไรให้มันเสียสภาพปกติเดิมของมัน มันก็ไม่เกิดได้ งั้นพูดเอาเสียสั้นว่ารักษาสภาพปกติเดิมของมันไว้ให้ได้ อย่างนี้มันเป็นคำพูดที่ถูกที่สุด แต่มันจะปฏิบัติได้หรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง สภาพปกติเดิม ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง ไม่มีรำคาญ ไม่มีอย่างอย่างนั้นของจิต มันมีเรื่องอื่นอะไรเข้ามาแล้วทำกับมันไม่ถูก จึงเกิดโลภ เกิดหลง หรือรำคาญอะไรขึ้นมา ตรงนี้อยากจะพูดถึงคำประภัสสรด้วย คือมันมีบาลี ที่เรียกกันว่าเป็นพุทธสุภาษิตอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎก ว่าจิตนี้เป็นประภัสสร แล้วก็เป็นจิตเศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่จรเข้ามา หลักมีว่าอย่างนี้ ถ้าอย่ามีอุปกิเลสจรเข้ามา จิตนี้ประภัสสรเรื่อย ประภัสสรนี่ไม่ได้หมายความว่าหลับ หรือโง่ มันมีอยู่ชัดแล้วว่าประภัสสร ตัวหนังสือมันก็ชัดอยู่แล้ว ประภัสสรคือแปลว่าเรืองแสง ประภา แปลว่า แสง สะระ แปลว่า สร้างออกแห่งแสง ก็คือมันเรืองแสง แสงก็คือปัญญา จิตนี้ตามธรรมชาติเป็นประภัสสร ก็เรืองแสงแห่งปัญญา ข้อความถัดไปมันก็กำกับอยู่ชัดแล้วว่า มันเป็นจิตเศร้าหมองเพราะอุปกิเลสซึ่งจรเข้ามา ถ้าไม่มีอุปกิเลสจรเข้ามามันก็เรืองแสงประภัสสร หรือมีปัญญาอยู่นั่น นั้นเราลองรักษาอย่าให้อุปกิเลสมันจรเข้ามา นั่นก็คือสติสัมปชัญญะที่ดีที่สุด เกือบจะไม่ต้องทำอะไรนอกจากจะรักษาสภาพเดิมไว้ให้ได้ สภาพเดิมประภัสสร คือ เรืองปัญญาอยู่ด้วย พร้อมที่จะคิดถูกต้องแล้วก็ตัดสินใจถูกต้อง หรือจะทำถูกต้อง ตัวอย่างเมื่อกี้ว่าเมื่อตาเห็นรูป เช่นรูปผู้หญิง รูปสวย ถ้าจิตยังคงเป็นประภัสสรอยู่ มันตัดสินถูกเลยว่าควรทำอย่างไร แล้วไม่มีโทษ ไม่มีอันตรายอะไรเกิดขึ้น เมื่อจิตมันสูญเสียความเป็นประภัสสร อุปกิเลสจรเข้ามามันเกิดหลงรัก หลงอะไรเข้าไปแล้ว นี่มันก็มีเรื่องแล้ว มีเรื่องที่จะเป็นไปทางความทุกข์ เรารักษาความเป็นสภาพเดิมไว้ให้ได้ ด้วยอำนาจของสติระลึกได้ทันท่วงที นับสิบก่อนนับอะไรก่อนนี่ จะช่วยให้รักษาความประภัสสรเดิมไว้ได้ แล้วตั้งเนื้อตั้งตัวได้ แล้วจึงตัดสินต่อไปว่าจะทำอะไรกับมัน กับสิ่งที่เรากำลังเห็นอยู่นี่ กำลังได้ยินอยู่นี่ ผมว่านี่ดีที่สุด สั้นที่สุด รวบรัดที่สุด คือมีสติสัมปชัญญะทันท่วงทีรักษาสภาพปกติของจิตไว้ได้ อย่าให้สูญเสียสภาพปกติเดิมของมัน แล้วมันจะคิดถูก วินิจฉัยถูก ตัดสินถูก แล้วสั่งการกระทำให้ถูก อะไรถูกหมด เขาเรียกว่าเอาจิตประภัสสรเป็นหลัก และเป็นที่พึ่ง ผู้อื่นจะเรียกว่าจิตเดิมแท้ หรือจิตว่าง หรือจิตอะไรก็ได้นะ เพราะว่าจิตประภัสสรนั้นไม่มีกิเลส ไม่มีตัวกู ไม่ใช่สภาพใหม่ เป็นสภาพปกติตามธรรมชาติ ขอให้ไปพยายามศึกษากำหนดสังเกตดูให้ดี ให้รู้จักจิตที่ปกติที่ไม่มีกิเลสรบกวน จิตประภัสสรหรือจิตเดิมจิตว่างก็ได้ตามใจ เราขยันเอาใจใส่จิตชนิดนี้ให้มากจนเข้าใจให้ดีๆ รักษาเอาไว้ให้ได้ เมื่ออันตรายหรืออะไรพรวดพราดเข้ามาจะต่อสู้หรือรับหน้ามันด้วยจิตที่ประภัสสร คือเรืองแสง เรืองปัญญา ถ้าปัญหามันหมด มันหมดไปหมดเลย อวิชชาก็ไม่เกิด อวิชชาก็ถูกทำลายไป วิชชาก็เกิดอยู่ตามปกติ มันก็เป็นเรื่องกรรมฐานหรือวิปัสสนาชนิดหนึ่ง ดูจิต จิตเป็นอย่างไร จิตมีกิเลสหรือไม่มีกิเลส มีโลภะ หรือไม่มีโลภะ จะฝึกในอานาปานสติหมวดที่ ๓ ที่เรียกว่า จิตตานุปัสสนาก็ได้ เพื่อให้รู้จักจิตชนิดนี้ แล้วต่อไปเรามันก็จะง่ายขึ้น การที่รักษาสภาพจิตชนิดนี้ไว้ให้ได้แม้เผชิญหน้ากับอารมณ์ ที่ทำให้รัก ให้โกรธ ให้เกลียด ให้กลัว ได้ดูกว่าที่ไม่รู้เรื่องนี้ และไม่เคยปฏิบัติ ฝึกฝนอย่างนี้ นี่คือผลดีของการที่เรารู้เรื่องจิต ฝึกฝนจิต ดีกว่าชาวบ้านที่ไม่รู้เรื่องนี้เสียเลย
ผู้ถามปัญหา : เวลาอ่านหนังสือเกี่ยวกับธรรมะแล้วรู้สึกง่วงนอน เบื่อหน่ายเพราะเห็นว่าไม่สนุก มีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง
ท่านพุทธทาส : ก็เราต้องมองลงไปกว้างๆ อย่าไปโทษหนังสือธรรมะอย่างเดียว ไอ้หนังสืออื่นที่อ่านแล้วง่วงนอน ไม่สนุก ไม่มีเสียเลยเหรอ ต้องจับหลักให้ได้ว่า เมื่อมันไม่ถูกความรู้สึกมันไม่จี้เส้นของเรา เรามันง่วงนอนได้ทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าหนังสืออะไร คุณลองไปอ่านตำราเลขสิ มันก็ง่วงนอนได้ นี้ตำรายากๆอย่างอื่นมันก็ง่วงนอนได้ นี้วิธีจะแก้ไขข้อนี้ก็ต้องทำให้มันมีรสมีชาติแก่จิตใจ ผลสุดท้ายก็เพราะเข้าใจๆธรรมะ เขาจะอ่านหนังสือธรรมะไม่ให้ง่วงนอนก็ต้องอ่านในลักษณะที่มันเข้าใจ จับใจ พอใจ ทำตาสว่าง ถ้าอ่านสักแต่ว่าอ่าน เดี๋ยวก็หลับจริงไหม แล้วนิสัยง่วงนอนนี่มันมีอะไรของมันอยู่บ้าง ถ้าว่ามัน มันเริ่มเป็นสมาธิแบบนั้น มันก็ง่วงนอนง่าย ที่เราฟุ้งซ่านนอนไม่หลับ ทำสมาธิให้ถูกแบบที่มันจะหลับได้ มันก็หลับได้ นี่พบจับหนังสือมาอ่าน จิตมันรวมอยู่ที่หนังสือที่อ่านในลักษณะที่มันเป็นสมาธิเพียงตัวง่วงนอนมันก็มีได้ ไม่ได้เป็นสมาธิเพื่อให้เข้าใจแจ่มแจ้ง มันก็ต้องระวังข้อนี้ ตามธรรมดาแล้วหนังสือทุกเล่มใช้ได้ในการที่จะทำให้ง่วงนอน หรือว่านอนหลับ ใช้ได้ด้วยกันทุกหนังสือคือเอาผลดีตรงที่ว่า เราจะอ่านหนังสือให้รู้เรื่องให้พอใจ อ่านให้เข้าใจ เพลินไปไม่ง่วงนอน นี่หมายความว่าร่างกายมันอยู่ในสภาพพอเหมาะสมที่จะไม่ง่วงนอน ไม่เหน็ดเหนื่อยอะไร ควรจะอ่านไปพลางคิดไปพลาง คือที่ดีที่สุด คืออย่าไปนอนอ่าน นั่งอ่าน เดินอ่าน เอาหนังสือวางไว้ที่โต๊ะอ่าน พอได้เรื่องได้ราวบ้างแล้วก็ไปเดินคิดเสียทีหนึ่ง แล้วก็มาอ่านที่โต๊ะอีก อย่างนี้จะได้ความรู้สนุกสนานไม่ง่วงนอน สมัยครั้งพุทธกาล เขาไม่มีหนังสืออ่าน ก็เลยเป็นเรื่องพิจารณากันมาเหมือนกับอ่านใจจึงทำได้ นั่งก็ได้ ยืนก็ได้ เดินก็ได้ นอนก็ไม่แนะนำ เพราะนอนมันก็จะหลับ นั่ง ยืน เดิน พิจารณาธรรมะอยู่ได้ ส่วนอิริยาบถนอนเอาไว้เมื่อเราต้องการพักผ่อนจึงจะนอน แล้วก็ไม่ต้องใช้ในการพิจารณาธรรม เพียงแต่จะรวมสติเพื่อจะนอนให้หลับลงไป จะตื่นเมื่อไหร่เท่านั้นพอ ถ้าจะพิจารณาธรรมเหมือนกับเราอ่านหนังสือกันเดี๋ยวนี้ก็ต้องทำได้ในอิริยาบถนั่ง ยืน เดิน ดีกว่า ที่เดี๋ยวนี้มันหนังสือท่วมหัวท่วมฟ้า เราก็ไม่ค่อยใช้วิธีพิจารณาในใจ ชอบอ่านหนังสือ ผลไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยได้ในทางธรรม ได้ในทางเหลือเฟือเฝ้อหรือเป็นเรื่องในทางโลกไปเลย เพื่อประโยชน์ทางโลกไปเลย ทางธรรมต้องอ่านด้วยจิตใจ ไม่อ่านหนังสือธรรมะก็อ่านแต่ตัวหนังสือบ้าง เพียงไม่กี่บรรทัด ไม่กี่หน้าแล้วก็ไปเดินคิด ยืนคิด นั่งคิด อ่านจริงกันตอนนี้แหละให้เข้าใจความจริงที่มีอยู่ในหนังสือเป็นบรรทัดๆ ถ้าทำอย่างนี้ ทำเวลาอันสั้น อันเล็กน้อยก็ได้ผลมากกว่าที่อ่านหนังสือกันจนเมื่อยตา คำถามของคุณคงตอบว่าอย่านอนอ่านหนังสือเลย ต้องทำด้วยวิธีที่มันรู้รสอร่อยของธรรมะไม่เพลินไป ไม่ง่วง อ่านด้วยจิตใจ ด้วยความเข้าใจความหมายที่ซ่อนอยู่ในตัวหนังสือ ไม่ใช่เพียงอ่านตัวหนังสือแล้วจำได้ ผมไม่ค่อยอ่านหนังสืออะไรมากมาย อ่านเพียงแต่ให้ได้หัวข้อ แล้วคาราคาซังกันไว้ เอาไปไว้คิดเวลาเหมาะๆเวลาใจสบายหรือเวลาตื่นนอน เวลาตื่นนอนสดชื่นขึ้นมาก็หวนกลับไปคิดถึงเรื่องนั้นอีกครั้งหนึ่ง ก็เลยเข้าใจแจ่มแจ้งได้ว่า เมื่อเราถือหนังสืออ่านอยู่นั้นเราก็เข้าใจ เข้าใจบ้างเหมือนกัน เข้าใจโดยวิธีของตรรถ ของพวกเหล่านี้ได้ เข้าใจเท่าที่มันจะตั้งปัญหาทางตรรถขึ้นถาม ขึ้นตอบ แต่ไม่เข้าใจความหมายลึกซึ้ง เมื่อจิตสบายดี จิตเป็นสมาธิดี จึงจะเข้าใจความหมายลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นเรื่องอะไรที่เราอยากรู้ เราเก็บฝากไว้ในใจ เป็นเรื่องคาราคาซัง แล้วบางทีมันก็โพลงมาเองง่ายๆ เมื่อจิตเหมาะสมเป็นสมาธิ เมื่อเราเดินอยู่ เมื่อเราเดินเล่นอยู่หรือนั่งอยู่หรืออะไร หรืออาจจะเป็นได้เหมือนกัน เมื่อนั่งอ่านหนังสืออยู่ แต่ตอนนั้นไม่ได้อ่านหนังสือ ใจมันคิดเลยตัวหนังสือ เข้าใจได้ก็มี ถ้าเหมาะสมอย่างอื่นยังมีอีก คือเมื่อมันรู้สึกว่ามันจะต้องทำให้ได้เพราะทำจิตให้ดี มันก็มีสมาธิพอเหมาะที่จะคิดออกเหมือนกัน แต่ถ้าเราไปกลัวมากแล้วเวลาจำกัด เราก็จะแย่แล้วโว้ยนี่มันคิดไม่ออกเหมือนกัน บางทีมันก็คิดออกเมื่อจับปากกามาถืออยู่แล้ว เรื่องนี้ผมก็เคยประสบมาด้วยตนเองว่าทำไมมันประดังกันเข้ามาจนเขียนไม่ค่อยจะทัน หรือพิมพ์ดีดไม่ค่อยจะทัน เพราะว่ามันฟลุ๊ค มันประจวบเหมาะ มันเหมาะกับเรื่องของจิต ความคิดใหม่ๆออกพรวดพราดๆออกมาจนเขียนไม่ทัน บันทึกไม่ทัน ลืมไปเสียอีกก็มี นั่นพูดยากที่ว่าทำอย่างไร เมื่อไหร่ เท่าไหร่นี่พูดยาก มันตอบได้อย่างรวมๆกำปั้นทุบดินว่าเมื่อมันเหมาะสมที่สุด เมื่อไหร่มันเหมาะสมที่สุดความคิดจะแหลมคมที่สุด แล้วทะลุปรุโปร่งไปโดยไม่น่าเชื่อ ถ้าถึงขนาดจับหนังสือแล้วง่วงนอนอย่าไปทำดีกว่าไม่มีประโยชน์อะไรหรอก ต้องลุกขึ้นๆ เดินไปหาวิธีอื่นใหม่ ตั้งจิตกันใหม่ อะไรกันใหม่ อย่าพยายามที่ว่าจะนอนอ่านหนังสือ แล้วไม่ง่วงไม่หลับ มันผิดเรื่องนะ หลับซะดีกว่า ให้หายง่วง หายง่วงแล้วค่อยมาอ่านกันใหม่ เดี๋ยวนี้คนเราเอาตัวรอดไม่ได้ ทำเรื่องมากนัก เพราะทำเรื่องที่ต้องศึกษาขึ้นมามากเรื่องนัก เทียบกับครั้งโบราณ ครั้งพุทธกาลเขามีเรื่องเดียว มันสนใจคิดกันอยู่แต่เรื่องเดียว มันก็ทำได้ดี สมัยปัจจุบันนี้คนๆหนึ่งมันอยากรู้ร้อยเรื่องพันเรื่อง มันก็พร่าไปหมด ไอ้ที่เรามีหนังสือมากนั่นแหละที่ทำให้พร่า ผมก็รู้สึกด้วยดีนะ เหลวไหลมาก พร่ามาก มีหนังสือหลายแผนก หลายนั่น กลับกันไม่ค่อยจะไหว มันล้วนแต่น่าอ่านน่าสนุกทั้งนั้น สมัยหนึ่งมันบ้าพระไตรปิฎกอย่างเดียว หนังสืออื่นไม่สนใจ มันก็ได้ผลมาก คือว่าซึมซาบในพระไตรปิฎกในเรื่องที่ดีดีในพระไตรปิฎกมาก ต่อมากระทั่งเดี๋ยวนี้มันเปลี่ยน มันมีเรื่องนั้นเรื่องนี้ ผิวเผิน เรื่องที่สำคัญก็เลยกลายเป็นเรื่องบกพร่องไป เพราะมีเพียงเรื่องเดียวที่สนใจที่สุดพอไปจับอ่านเข้าสนุกที่สุด ตาสว่างที่สุด อะไรที่สุด ไม่ง่วงนอน ไม่มีปัญหาแล้วใช่ไหม
ผู้ถามปัญหา : ผมมีปัญหาข้อหนึ่งที่จะเรียนถามท่านอาจารย์ แต่ตอนนี้ผมขอเรียนถามเรื่องของฆราวาส แน่ล่ะถ้าถือศีลห้าครบบริบูรณ์คงจะมีสุขเป็นแท้ แต่มาสมัยนี้ผมคงคิดว่าคงไม่มีความสุขอยากแท้ แต่ต้องมีความทุกข์อยู่เจือปนบ้าง คือ ด้วยการสังคม คนเราจะมีความสุขได้ ก็เพราะอยู่ความสังคม อย่างภาษิตที่ว่า สุขโข สังฆัสสะ สามัคคี บุคคลจะมีความสุขได้เพราะความสามัคคีกัน แต่การสามัคคีโดยบริสุทธิ์ที่มีศีลห้าครบบริบูรณ์คงจะไม่มีสุข คงมีความสุขเจือปนอยู่บ้างเพราะจะสังคมกับคนปัจจุบันนี้ต้องสังคมในวงเหล้า เพราะจะทำอะไรแล้ว สักอย่าง หรือว่าจะสังคม สังสรรค์ สามัคคีกัน ต้องมีการดื่ม การสูบ การฆ่าแกงกันอย่างเอิกเกริก ศีล ๕ นี้ผมเห็นว่าคงจะปฏิบัติไม่ได้ เฉพาะโดยเรื่องคือข้อ ๑ กับข้อ ๔,๕ เลยผมสงสัยมาขอเรียนท่านพระอาจารย์ว่า จะสังคมโดยวิธีใดที่เป็นไปโดยถือศีล ๕ โดยครบบริบูรณ์ทุกข้อ และให้มีความสังคมเป็นอย่างดี จะปฏิบัติโดยวิธีใดบ้าง ขอเรียนถามท่านอาจารย์ เพียงเท่านี้แหละครับ
ท่านพุทธทาส : มันก็บอกอยู่ชัดแล้วว่า สังคมสองประเภท สังคมของคนที่ไม่มีศีล ไม่ถือศีลหรือถือครึ่งๆกลางๆ ประเภทหนึ่ง สังคมของคนที่เข้าถือศีลได้ดีก็มีอีกประเภทหนึ่ง เราก็เลือกเอาแต่สังคมที่ถือศีลกันจริงๆ ส่วนสังคมขี้เมา สังคมไอ้อย่างนั้นก็ตามเรื่องของเขา ความสามัคคีไม่ได้หมายความอย่างนั้น สามัคคีของผู้ที่มีความต้องการอย่างเดียวกัน การกระทำเหมือนกัน สามัคคีทำให้เกิดความสุข เดี๋ยวนี้มันเห็นชัดอยู่แล้วว่าความทุกข์ ความยุ่งยากอันเกิดมาจากไม่มีศีล ไม่มีศีล ๕ ถ้าไปช่วยกันทำเข้าอีกมันก็ผิดแน่ สามัคคีกันในทางที่จะมีศีลนั้นมีมากขึ้นนั้นถูกต้อง ไอ้เรื่องเหล้านั้นไม่ต้องพูดถึง เรื่องของเมาทุกอย่างไม่ต้องพูดถึง มันใช้ไม่ได้โดยประการทั้งปวง หมายความว่าใช้กันอย่างของเมาแล้วมันก็ไม่ได้ใช้อย่างหยูกยาใช้ไม่ได้โดยประการทั้งปวง ไอ้เรื่องฆ่าสัตว์นั้นมันก็ต้องดูเรื่องเจตนาเป็นยังไง ไม่ได้มีเจตนาฆ่าทารุณโหดร้ายไม่เป็นไร เราจะสังคมกับชาวประมงก็ได้ เป็นเรื่องไม่เลวจนเกินไป เขาทำด้วยเจตนาเลี้ยงชีวิตเอาตัวรอด เรื่องปาณาติบาตนี่มีแยกเป็นเจตนาชั่ว เจตนาดี เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่แต่สองข้ออย่างคุณว่า อทินนาทานนี่ก็มีมาก คือที่ไหนมีคอรัปชั่นที่นั่นมีอทินนาทาน ตกแล้วมันก็แย่แล้ว กาเมสุมิจฉาจาร เดี๋ยวนี้ถือกันว่าไม่ผิดศีล ยิ่งมุสาวาท เดี๋ยวนี้ยิ่งมากที่สุด โดยเฉพาะในวงการเมือง มุสาวาทในวงการเมืองมีมากที่สุดกว่าที่ไหน แม้แต่พูดบิดพลิ้วก็ยังมุสาวาท โฆษณาอยู่ทางวิทยุกลุ้มไปทั้งโลก คลื่นวิทยุพูดโกหก พูดโกหก ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะมันเนื่องกับการเมือง นี่ของเมามันไม่ใช่เพียงแต่เหล้า อะไรทำให้เมาแล้วก็ต้องสงเคราะห์ในศีลของนี้นะ จะเมารัก หรือเมาอำนาจวาสนา เมาอะไรก็ตามมันทำให้เสียสติสัมปชัญญะ ที่นี้มันก็เมากันใหญ่ ขอให้ถือเอาใจความของศีลห้าให้กว้าง ศีลข้อที่ห้านี้ ประทุษร้ายสติสมปฤดี เมาเหล้าก็เสียสมปฤดี เมารักก็เสียสมปฤดี เมาอำนาจก็เสียสมปฤดี เมาอะไรก็ตามแต่เสียสมปฤดี ถ้าจะถือศีล ๕ ข้อนี้ให้เคร่งครัดแล้วก็ อย่าเมาอะไรเลย ศีลมุสาวาทก็เหมือนกัน อย่าพูดเท็จโดยประการใดเลย โดยตรง โดยอ้อม โดยทางไหนก็ตามแต่ ไอ้โฆษณาชวนเชื่อนั้นโกหกทั้งนั้น แล้วไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อให้คนทำดียิ่งๆขึ้นไป โฆษณาชวนเชื่อเอาเปรียบฝ่ายอื่นได้ฝ่ายตัว ไอ้เรื่องโฆษณาชวนเชื่อก็ขอให้ปฏิบัตินี่เป็นเรื่องโกหก ไม่น่ากิน โฆษณาส่วนใหญ่ไม่น่ากิน ไม่น่าไปเที่ยวก็จะเน้นว่าน่าไปเที่ยว แต่ไม่ให้เรียกว่าโกหก มันยากแล้วที่จะให้มีศีล ๕ อยู่ในโลกสมัยปัจจุบันนี้ เพราะมนุษย์เอาแต่ความเห็นแก่ตัว ทีนี้ทิ้งลูกระเบิดลงมาให้คนตายทีละหมื่นละแสนกับมีเกียรติ เป็นวีรกรรมเป็นอะไรที่มีชื่อเสียง การให้อภัยเป็นของบ้า การยอมแพ้ให้ระงับไปกลายเป็นของขี้ขลาดเป็นคนบ้า งั้นฆ่ามันให้วินาศไปเลยน่ะถูกต้อง ดูแต่ความหมายส่วนลึกนี้แล้วจะเห็นว่ายิ่งห่างไกลจากการที่จะมีศีลห้า ผมเคยพูดให้ช่วยกันจำว่าศีล ๕ ข้อ ข้อที่ ๑ ปาณา คือ ประทุษร้ายชีวิต ร่างกายผู้อื่น โดยวิธีใดก็ตาม ทินนาข้อที่ ๒ ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของผู้อื่นโดยวิธีใดก็ตาม ประทุษร้ายในสมบัติหรือประโยชน์ของผู้อื่น ข้อที่ ๓ ประทุษร้ายของรักหรือหวงแหนของผู้อื่น ข้อที่ ๔ มุสาวาทประทุษร้ายความเป็นธรรม ความถูกต้องของผู้อื่น ข้อ ๕ สุราประทุษร้ายสติสมปฤดีของตนเอง ของตนเองแท้ๆมันยังประทุษร้ายเลย คุณถือศีล ๕ อย่างนี้ คือบอกคนให้ถือศีล ๕ จึงจะมีศีล ๕ ถ้าถืออย่างอื่นมันเรื่องตลก มีความรู้สำหรับแก้ตัวว่าไม่ขาดศีล ที่แท้มันก็เรื่องไม่มีศีล ขาดศีล ถือหลักต่อไปว่า จงประพฤติธรรมให้สุจริต ธัมมัง สุจริตตัง จะเร พึ่งประพฤติธรรมะให้สุจริต ต้องหมายความว่าถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด ดีเป็นดี ชั่วเป็นชั่ว อย่าเอาไอ้สังคมของเดี๋ยวนี้มาเป็นหลัก อย่างนั้นคือประพฤติธรรมะไม่สุจริต อย่าไปตามใจคนกินเหล้า คนสำมะเรเทเมาเพื่อจะไปสังคมกับเขา นี่มันก็เป็นประพฤติธรรมะไม่สุจริต ประพฤติธรรมะคดโกง อย่าไปเห็นแก่เหตุผลชนิดนั้น มันเป็นความงมงาย ไอ้พวกที่กินเหล้ามันมาบวช แล้วมันก็ไม่กิน แล้วมันสัญญาว่าจะไม่กิน พอสึกออกไปไม่เท่าไหร่มันกินอีก มันว่าเห็นแก่เพื่อน ทนเพื่อนไม่ได้ เห็นแก่สังคม ถ้าเกิดอย่างนี้มันก็กินเหล้าเมาหยำเปไปอีก หรือมันอยู่ที่นี่ไม่สูบบุหรี่ พอมันออกไปไม่กี่วันมันก็สูบบุหรี่อีก เพราะมันเห็นแก่สังคม ทนเพื่อนไม่ได้ ในสังคมชนิดนี้ ใช้ไม่ได้ เป็นความคดโกงประพฤติธรรมะไม่สุจริต ก็บอกเขาตรงๆว่า เราไม่กินเหล้า เราไม่ จะทำอะไรเรา หรือจะโกหกชนิดที่ว่าเดี๋ยวนี้หมอห้ามไม่ให้กินก็ยังดี ยังดีกว่าที่เราไปเห็นแก่สังคม แล้วกินเข้าไป มันโกหกตัวเองจริงๆ ควรจะไม่มีปัญหา ไอ้เรื่องเกี่ยวกับสังคมในทำนองนี้ ส่วนเรื่องที่มันละเอียดนิ่มนวลกว่านี้ก็มันยังมีตามใจ การจะให้ผู้ใหญ่รักก็ต้องทำตามผู้ใหญ่ ชอบผู้ใหญ่กินเหล้า เราก็กินเหล้าด้วย เราจะได้เลื่อนยศเลื่อนชั้นให้เรานี่ผมไม่พูด มันเป็นประโยชน์ส่วนตัวมากเกินไป แต่เท่าที่เคยเห็นมาแล้ว เห็นมาจริงเหมือนกันผู้ใหญ่มันก็ไม่มากถึงอย่างนั้นนะ แต่คนนี้มันไม่กินเหล้าจริงๆก็ยกให้เหมือนกัน นี้เราเหลวไหลเองเข้าๆออกๆ หลุบๆ ล่อๆ
แล้วที่นี้ผมก็จะพูดของผมบ้างแล้ว ไม่มีใครถามอะไรแล้ว เพราะมันสมควรแก่เวลาแล้วก็ อยากจะพูดสักนิดหนึ่งว่า ไอ้ธรรมะทั้งหมด ความรู้ทางธรรมะทั้งหมดที่เราสนใจกันมากมายมหาศาลท่วมหัว ท่วมหูนี้ ก็อยากจะให้สรุปกันสั้นเหลือเพียงว่า ไอ้ธรรมะนั้นก็คือไม่เสียปกติเดิม ไม่สูญเสียภาวะปกติเดิมของจิต คือให้ถือซะว่าเราเป็นสัตว์ที่ถูกต้องและดีอยู่แล้ว เพราะธรรมดาเราก็ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงอยู่แล้ว ที่นี้พอมีอะไรมายั่วให้โลภ อย่าไปโลภ มีอะไรมาโกรธ อย่าโกรธ มีอะไรมายั่วให้หลง ก็อย่าหลง มีเท่านี้ เพียงเท่านี้พอ หมดทั้งพระไตรปิฎก หมดทั้งพระพุทธศาสนาเลย รักษาสภาพเดิมไว้ให้ได้ คือไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง อยู่ตามเดิม นี้ก็คิดดูว่าตัดสินใจไปด้วยความรู้สึกที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ก็ถูกไปหมด นี่เลยไม่ต้องพูดอะไรกัน ไม่ต้องพูดอะไรกันมาก ให้ดูจิตตามสภาพ ตามธรรมชาติแท้ๆ เดิมๆ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ไม่เกลียด ไม่กลัว ไม่อิจฉาริษยา ไม่อะไรหมด แต่พอมีอะไรมายั่วให้เป็นอย่างนั้น มันเอาทันทีเลย ถ้าเราจะตัดบทซะง่ายๆว่า อ้าวไอ้นี่มาอีกแล้ว ไอ้เรื่องร้าย เรื่องเลว เรื่องบ้านี่มาอีกแล้ว ไม่เอากับมัน คงรักษาสภาพเดิมของจิตไว้ได้ ทีนี้ก็เป็นอยู่ถูกต้อง อะไรก็ถูกต้อง จะตัดสินใจในการอะไร ในเรื่องไหนก็ถูกต้อง อวิชชาก็ไม่เกิด เพราะเรารักษาสภาพเดิมไว้ได้ เพราะอวิชชาก็เป็นของเพิ่งเกิดเหมือนกัน ความโง่นี่ก็เพิ่งเกิด อย่าเข้าใจว่าโง่ดักดานมาในนิสัยสันดาน เพราะว่าปล่อยไปตามเรื่องแล้วมันไม่ได้ทำอะไรที่เป็น ไอ้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอะไร ให้ใครเดือดร้อน มันเพิ่งไปทำเมื่อมีอะไรมายั่วให้ทำ มันคุมไว้ไม่ได้ ทีนี้เราก็โตมากแล้ว เห็นอะไรมามากแล้ว ควรจะควบคุมมันได้ดียิ่งขึ้น ให้อยู่ในสภาพที่เรียกว่าประภัสสร คือเมื่ออะไร ก็คือเมื่อตะกี้นี้ อยู่ในสภาพเดิม สภาพประภัสสร สภาพว่างจากตัวกู ของกู นี่ คุณไม่ต้องทำอะไรมากกว่านี้หรอก ก็เป็นธรรมะที่แท้จริงและสมบูรณ์ ใช้ความรู้สึกสามัญสำนึกธรรมดาๆนี่ ไม่ลึกลับอะไร พอมันมาให้โกรธอย่างนี้เห็นอยู่แท้ๆก็อย่าไปโกรธมัน มันมาให้รัก เห็นอยู่สักแปบ ก็อย่าไปรักมัน มีจิตใจปกติถูกต้องเสียก่อน แล้วจึงคิดว่าจะไปทำอะไรกับมัน จะไปทำการสืบพันธุ์กับมันก็ไม่ต้องหลงด้วยเรื่องของกิเลส ทำไปตามหน้าที่ เพียงเท่านี้มันก็หมดปัญหา สำหรับฆราวาส ทีนี้มันแฝงไอ้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอะไรเข้าไปด้วยเต็มที่ จากสิ่งทีเป็นหน้าที่ เช่นหากิน ทำไมไม่หากินโดยปกติ โดยสุจริต จะต้องไปหากินด้วยความโลภ หรือความหลง หรือความอะไร คือจะกินอาหารเข้าไปในปากในท้อง ทำไมไม่กินพอปกติ กินด้วยความหลง ด้วยความเอร็ดอร่อย ความมึนเมาในความเอร็ดอร่อยมันก็ผิดไปหมด ไม่ใช่สภาพปกติ พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนให้มีสติพิจารณาปัจเวก คือสร้างสติ เรียกสติ ในการฉัน บิณฑบาต ในการห่มจีวร ในการใช้สอยเสนาสนะ หรือใช้หยูกยาแก้ไข้ก็ตาม มีสติสัมปชัญญะหมด ก็คือไม่สูญเสียสภาพเดิม สภาพปกติเดิม