แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ของเราวันนี้ วันเพ็ญเดือน ๕ ที่ ๒๐ เมษายน จะได้กล่าวถึงเรื่องอันเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู ต่อไปตามเคย ที่กล่าวมาแล้วส่วนมากไม่ได้...ไม่ค่อยจะได้ชี้ให้เห็นว่าตรงกับในพระคัมภีร์ในบาลีอย่างไรบ้าง? แล้วต่อๆ มาก็ค่อยๆ ชี้ให้เห็นว่ามันตรงกับคำในคัมภีร์หรือพระพุทธภาษิตในพระคัมภีร์อย่างไรบ้างให้มากยิ่งขึ้น เพื่อทุกคนเห็นได้ว่าไอ้เรื่องที่เรากำลังพูดนี้ก็คือเรื่องในบาลี และยังเห็นได้ว่าพระบาลีและข้อความในบาลีนั้นไม่ค่อยจะมีใครเข้าใจ จึงเห็นเป็นว่าไม่ใช่เรื่องที่เอามาพูดนี้ หรือไม่เห็นว่ามันมีเรื่อง ตัวกู-ของกู อยู่ในพระบาลีนั้นๆ ฉะนั้นให้ทุกคนสังเกตดูให้ดี จะพบว่าไอ้เรื่อง ตัวกู-ของกู นั้นก็อยู่ในบาลีพระพุทธภาษิตที่ผ่านสายตาของเราอยู่เป็นประจำวันแล้วๆ เล่าๆ, แล้วๆ เล่าๆ บางบทก็เอามาสวดอยู่เป็นประจำ แต่เราไม่เข้าใจความหมายชัดพอที่จะมองเห็นว่าเป็นเรื่อง ตัวกู-ของกู ตามธรรมดานี่เอง ดังนั้นผมจึงขอร้องให้ตั้งหน้าตั้งตาสังเกตกันต่อไปในข้อที่ว่าบาลีพระพุทธภาษิตที่เรามาใช้เรียนนักธรรม, เรียนเทศน์, หัดเทศน์ อะไรอยู่ก็ตาม ถ้าใครเข้าใจมันดีถึงที่สุดแล้ว จะพบว่าไอ้เรื่องก็เป็นเรื่อง ตัวกู-ของกู ตามธรรมนี้เอง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าถ้าเกิดมันรู้สึกเป็น ตัวกู-ของกู มันก็มีความทุกข์ ถ้ามันไม่รู้สึกความรู้สึกเป็น ตัวกู-ของกู ขึ้นมาก็ไม่มีความทุกข์ มันมีเท่านั้น
เพราะฉะนั้นให้ช่วยกันมองให้เห็นความสำคัญข้อนี้ว่า เมื่อใดจิตมีความรู้สึกปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็น ตัวกู-ของกู เมื่อนั้นสังสารวัฏก็มีอยู่ในจิตนั้น ทีนี้, เมื่อใดจิตมันไม่มีการปรุงแต่งเป็น ตัวกู-ของกู มันว่างจาก ตัวกู-ของกู อยู่ด้วยเหตุใด, ด้วยปริยายใด, ในลักษณะใดก็ตาม สิ่งที่เรียกว่านิพพานก็จะมีอยู่ในจิตนั้น, ในลักษณะนั้น, ปริยายนั้นตามมาก, ตามน้อย, ตามสูง, ตามต่ำ, ตามที่ควรจะเป็นอย่างไร เมื่อใดจิตว่างจาก ตัวกู นิพพานก็มีอยู่ในจิตนั้น เมื่อใดจิตเกิดเป็น ตัวกู สังสารวัฏก็มาเกิดแทนนิพพาน ถ้ามองไม่เห็นอย่างนี้แล้ว-ไม่มีประโยชน์ คือไม่มีหนทางที่จะเข้าใจหลักธรรมในพระพุทธศาสนาแล้วก็จะเป็นเหมือนอื่นๆ ทั่วๆ ไปที่ว่าเอานิพพานไว้สุดโต่งฝ่ายนี้ เอาสังสารวัฏไว้สุดโต่งฝ่ายนู้น หรือบางที แถมห่างกันเป็นร้อยชาติพันชาติ ชาติตามภาษาคนเกิดจากท้องแม่ ตามภาษาคนเอาไว้ห่างกันถึงขนาดนั้น แล้วจะมาเข้าใจเรื่องที่ว่าจิตดวงนี้พลิกมาอย่างนี้เป็นสังสารวัฏ, พลิกมาอย่างนี้เป็นนิพพาน คือเมื่อใดมันปรุงแต่งจนมีความรู้สึกเป็น ตัวกู ก็เป็นสังสารวัฏ เมื่อใดมันว่างจากการปรุงแต่งนี้มันก็เป็นนิพพาน นี่, มันอยู่ที่นี้-เดี๋ยวนี้...ตรงนี้ทั้งนั้น
แล้วมันต่างกันอย่างไร? เมื่อครั้งที่แล้วมาก็เอาพระบาลีมาอธิบายให้เห็นว่ามันเป็นมาร ตัวกู-ของกู เกิดขึ้นเมื่อไร? ก็คือมีมารเกิดขึ้นเมื่อนั้น นี้ก็เป็นโวหารพูดอย่างหนึ่ง ทีนี้โวหารพูดอย่างอื่น อาจจะพูดว่ามารนี้เหมือนกัน มารตามพบ, มารตามไม่พบ อย่างนี้เป็นต้น แต่ว่าข้อสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่คำว่ามารตามพบหรือว่ามารเกิดขึ้น มันอยู่ที่ความทุกข์ ความทุกข์เกิดขึ้น สำหรับคำว่ามารนี่บางทีก็เป็นตัวความทุกข์ บางทีก็เป็นที่ต้นเหตุของความทุกข์ มันแล้วแต่คำพูดที่พูดไว้ในที่นั้นๆ ทีนี้, เราก็จะพูดกันในส่วนที่ว่าจะเกิดความยึดมั่นถือมั่นเป็น ตัวกู-ของกู แล้วก็...ก็จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า มาร เกิดขึ้น หรือตามพบ พระบาลีที่คุ้นกันที่สุดก็พวกเราสวดร้องท่องบ่นกันอยู่ด้วย เนโสหะ มัสมิ นะ เมโส อัตตาติ ฯ นั่นมิใช่ตัวเรา, นั้นมิใช่ของเรา แต่ผมมายักพูดเสียใหม่ว่า นั่น มิใช่ตัวกู, นั่นมิใช่ของกู ที่ว่าผมยักพูดเสียว่า ตัวกู-ของกู ที่แท้ไม่ได้ยักพูด ที่แท้พูดตรงตามใจความของบาลีภาษาบาลีให้มีความหมายตรงตามที่เป็นจริง ไอ้ที่เขาพูดว่านั่นไม่ใช่ตัวเรา, นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นนะเขาพูดตามธรรมเนียม แปลหนังสือในโรงเรียน ในโรงเรียนเราเรียนภาษาต่างประเทศ ภาษาอังกฤษหรือภาษาอะไรก็ตาม เราต้องจะต้องเลือกแปลเอาในระดับกลาง ที่จะแปล ของฉัน, ของเรา อันนี้ตามระดับกลางๆ อันนี้ไม่ต้องสูง-ไม่ต้องต่ำ ไม่ต้องถึงราชาศัพท์ และก็ไม่ต้องถึงคำไพร่, คำคนพาล แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่แปลหนังสือในโรงเรียน เป็นเวลาที่จะพูดกันให้เข้าใจว่าความรู้สึกในใจโดยแท้จริงของคนเรานั้นมันเป็นอย่างไร? ถ้ามันถึงขนาดที่เกิดความทุกข์ หงุดหงิด งุ่นง่าน อยู่แล้วละก็ มัน, เรา อยู่ไม่ได้แล้ว มัน, กู ตามภาษาไทย ในความหมายของภาษาไทย และสิ่งเหล่านี้มันลุกเป็นไฟอยู่ในใจ
ฉะนั้น มัน, ฉัน หรือข้าพเจ้าอยู่ไม่ไหว มันทนไม่ไหว เหมือนการแปลคำๆ นี้ในความหมายอย่างนี้ว่า ตัวกู ว่า ของกู ตรงตามธรรมชาติ ไม่ใช่ว่าแกล้งยักหรือว่าแกล้งแหวกแนวอะไร ให้ถือว่าจะแปลในโรงเรียนสอบไล่ก็แปลอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เราไม่ใช่แปลหนังสือในโรงเรียนเพื่อสอบไล่ เราอธิบายธรรมะกัน เราสอนธรรมะกัน ดังนั้นต้องให้มันตรงตามธรรมชาติที่สุด ในคำว่า เนโสหะ- มัสมิ นะ เมโส อัตตาติ ฯ จึงแปลว่า นั่นมิใช่ตัวกู, นั่นมิใช่ของกู ไม่เหมือนกับในโรงเรียนที่จะต้องแปลว่า นั่นมิใช่เรา, นั่นมิใช่ของเรา นี่ก็ให้เข้าใจกันว่าอย่างนี้
ทีนี้ก็จะย้อนมาหาหลักพื้นฐานกันอีกที คอยกันลืมบ้าง หลักพื้นฐานก็คือความยึดมั่นถือมั่น ทีนี้ ความยึดมั่นถือมั่นถ้าเป็นภาษาธรรมดาก็ว่าอุปาทาน แปลว่าความเข้าไปจับฉวยเอาเรียกว่าความยึดมั่นถือมั่น และถ้าภาษาคำกลอนภาษาร้อยกรองไม่ใช้คำว่าอุปาทานก็มี ไปใช้คำว่า วิรัชชะติ หรือราคะ แทนเสีย ก็มีหนทางให้นักเรียนที่แรกเรียนเข้าใจผิดได้ ในขณะหรือในเรื่องที่ใช้ผูกเป็นคำกลอน คือเป็นคาถา, ถ้อยคำเกิดไม่เป็นประมาณ เช่น คำว่า วิรัชชะติ ก็แปลว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น วิรัชชะติ หรือวิราคะ ก็แปลว่าคลายกำหนัดกันอยู่ตามปกติ แต่ถ้าในกรณีที่คำสอนเหล่านั้นแต่งเป็นกลอนผูกเป็นคำกลอนใช้ว่าอุปาทาน, อุปาทายติ อะไรไม่ได้ก็ใช้ว่า วิรัชชะติ แทนก็ได้ อย่างนี้ก็ต้องรู้ไว้ด้วย นี้เป็นเรื่องแปลในโรงเรียน แต่ทีนี้เรื่องจริงเป็นอย่างไร? แต่ถ้าถามว่าเรื่องจริงนั้นอย่างไร? มันเป็น วิรัชชะติ กับอุปาทายติ มันนี่เหมือนกันหรือไม่? วิรัชชะติ กับ อนุปาทายติ นี่มันเหมือนกันหรือไม่? หรือ รัชชะติ กับ อุปาทายตินี่ มันเหมือนกันหรือไม่? โดยแท้จริงแล้วมันเหมือนกัน ไอ้รัชชะติแปลว่ากำหนัด อุปาทายติ แปลว่าถือเอา คือยึดมั่นถือมั่น ทีนี้ถ้าเข้าใจว่า รัชชะติ คือว่ากำหนัดแล้วจริงๆ กันแล้วก็จะเข้าใจคำว่า ยึดมั่นถือมั่น ว่าหมายถึงความกำหนัดนั่นเอง แต่แล้วความกำหนัดในภาษาไทยมันเปลี่ยนไปเปลี่ยนรูปไป เป็นแต่ความกำหนัดกันในทางกามารมณ์ ในภาษาบาลีแล้วความกำหนัดนั้นทางกามารมณ์ก็ได้, ไม่ใช่ก็ได้, ไม่ต้องเกี่ยวกับกามารมณ์ก็ได้ คือถ้าจิตเข้าไปผูกพันอย่างยิ่งแล้วก็เรียกว่ากำหนัดทั้งนั้น จะด้วยความโง่ หรือจะด้วยความโกรธ หรือด้วยความรู้สึกอย่างอื่นก็ได้
ตามที่สังเกตเห็นชาวบ้านทั่วๆ ไปทั้งที่เป็นชาวกรุงหรือชาวบ้านนอกนี้ เขาไม่เข้าใจคำว่ายึดมั่นถือมั่น พอพูดว่ายึดมั่นถือมั่น เขาก็รู้สึกเป็นไปในทางที่ว่ายึดถือด้วยมือเสียเรื่อยไป นี่เป็นนักศึกษาไปเรียนเมืองนอกเมืองนามีปริญญากลับมาแล้ว พอพูดว่าความยึดมั่นถือมั่นแล้วความเข้าใจของเขา เป็นไปในทางยึดด้วยมือเสมอไป ไม่รู้ว่ายึดด้วยจิต และก็ไม่รู้ว่ายึดด้วยจิตนั่นคือยึดอย่างไร? แต่ถ้าพูดว่ากำหนัดนี่เขาพอจะรู้ ที่จริงมันก็เรื่องเดียวกันหรือคำเดียวกัน เมื่อตาเห็นรูปมันก็เกิดความรู้สึกเป็นลำดับๆ มา ถ้าขณะนั้นไม่มีสติ, ไม่มีปัญญา, ไม่มีสติ มันก็เกิดความรู้สึกปรุงแต่งเป็นลำดับๆ มาจนเกิดความกำหนัด คือจับฉวยเอาเป็น ตัวกู หรือเป็น ของกู นั่นเอง ความรู้สึกที่เข้าไปหมายมั่นเป็น ตัวกู หรือว่า ของกู ก็ตามนั้นเรียกว่าความกำหนัด ในที่นี้จะกามารมณ์หรือไม่กามารมณ์ไม่เกี่ยวกัน และความกำหนัดชนิดนี้เป็นเหตุให้โกรธก็ได้คือจิตหันเข้าไปในความหมายที่เป็น ตัวกู-ของกู ถ้าถูกใจ ตัวกู มันก็รัก ถ้าไม่ถูกใจ ตัวกู มันก็โกรธ นี้เรียกว่าความกำหนัดทั้ง ๒ อย่าง คือมันย้อมใจให้รักก็มี ย้อมใจให้โกรธก็มี รัชชะ หรือ ราคะ นี่รากศัพท์แปลว่าย้อม ย้อมเหมือนเอาสีย้อมผ้า อาการที่สีมันติดผ้าสนิทนั่นละคือกำหนัด หมายความว่าสีกับผ้ามีความกำหนัดหรือสีกำหนัดในผ้า ทีนี้ทางจิตนั้นมันเกิดความรู้สึกที่เป็น ตัวกู หรือเป็น ของกู ขึ้นในจิต-ย้อมจิต เขาจึงเรียกว่ากำหนัด ในกรณีใดเผลอสติในกรณีนั้นจะต้องกำหนัดในรูป เป็นต้น ที่เห็นนั้น ทีนี้ในกรณีที่มีสติปัญญาเพียงพอไม่กำหนัด รู้เท่าทันด้วยแล้วก็รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ก็ทำไปด้วย แต่ไม่ต้องมีอาการที่เรียกว่าความกำหนัด
ทีนี้มีคำอยู่คำหนึ่งที่น่าเอามาเปรียบเทียบกันก็คือคำว่า อภินิเวสายะ อภินิเวสติ อภินิเวสายะ ก็ตาม คำนี้แปลว่าฝังตัวเข้าไปอย่างยิ่ง อภินิเวส แปลว่า เข้าไปอยู่ในนั้นเป็นอย่างยิ่งเลย คำว่า อภินิเวส นี้เราก็แปลกันว่า ยึดมั่น-ถือมั่น เหมือนกันเมื่อจะต้องแปล และที่แปลกันอยู่ในตำรับตำราที่ใช้เรียกกันอยู่นี่คำๆ ว่า อภินิเวส นี้ก็แปลกันว่า ยึดมั่น-ถือมั่น อย่างเดียวกับคำว่า อุปาทาน แล้วผมกำลังบอกอยู่เดี๋ยวนี้ว่าแม้แต่คำว่า รัชชะติ หรือ ราคะ นี่ก็แปลว่า...ที่แปลกันว่า กำหนัด นั้นก็คือ ยึดมั่น-ถือมั่น นั่นเอง เมื่อใดมีความรู้สึกที่เรียกว่ารัชชะติก็ตาม, อุปาทายติก็ตาม, อภินิเวสติอะไรก็ตาม นี้มันเหมือนกันหมด คือเรื่องเดียวกันหมด มันเกี่ยวกับคำที่ใช้ในกรณีพูดอย่างปรกติ ในกรณีที่แต่งเป็นคำกลอน หรือในกรณีที่มันแทนกันได้ก็ตาม นี้อะไรมันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด หรือยึดมั่นถือมั่น หรือฝังตัวเข้าไปนี้ เขาระบุเบญจขันธ์ เขาระบุเบญจขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทีนี้เบญจขันธ์มีอยู่เมื่อไร? มีอยู่แล้วหรือว่าจะมี หรือกำลังมี? นี่, เบญจขันธ์นั้นจะมีต่อเมื่อมีการกระทบทางอายตนะ เช่น ตาเห็นรูป เป็นต้น ตาเห็นรูป, หูฟังเสียง, จมูกได้กลิ่น, ลิ้นได้รส, ผิวกายได้สัมผัสทางผิวหนัง และจิตได้อารมณ์มาครุ่นคิด *ในหกคู่นี่ เมื่อนั้นนะมันจะมีเบญจขันธ์ แต่ครูในโรงเรียนหรือเราที่เป็นครูสอนเขามาแล้วก็ตาม นี่บางคนอาจเป็นครูที่เคยสอนเขามาแล้วก็สอนไปอย่างไม่รับผิดชอบ ก็สอนไปอย่างรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ สอนไปว่าเบญจขันธ์พบอยู่ตลอดเวลา (เสียงพูดเร็วกว่าปกติ)