แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าธรรมปาฏิโมกข์ของเราคือการซักซ้อมเรื่อง ตัวกู-ของกู เป็นประจำวันธรรมสวนะคือวันปาฏิโมกข์ ดังนั้นวันนี้ก็อย่างเดียวกันอีกเรื่องที่จะพูดก็ไม่มีเรื่องอื่นคือเรื่องที่เกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู เสมอ ในเรื่องเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู นี้มีมาก มันมีมากแง่มากมุม คือว่าหลายเหลี่ยมหลายคูมันพูดได้ไม่มีจบ เป็นเรื่องครอบโลกครอบจักรวาลเขาเรียกกันอย่างนั้น จะมองดูกันที่ไหนหรือพูดกันในแง่ไหนมันก็ไม่พ้นไปจากเรื่อง ตัวกู-ของกู ถ้ามองเป็นเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องอะไรก็ตาม มันเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู ทั้งนั้น ถ้าคิดดูก็จะเห็นได้ เช่น ให้ทานนี่ก็เพื่อจะกำจัด ของกู หรือที่มันไม่ให้ทานก็เพราะความรู้สึก ของกู ไอ้เรื่องทุศีลมันก็เป็นเรื่อง ตัวกู เรื่องมีศีลก็เป็นเรื่องควบคุม ตัวกู สมาธิก็เป็นเรื่องควบคุม ตัวกู ถ้า ตัวกู เข้ามามันก็ฟุ้งซ่านไม่เป็นสมาธิ ข้อปฏิบัติทั้งหมดมันก็เนื่องด้วย ตัวกู ทั้งนั้น
ทีนี้, เรื่องอื่นๆ ก็เกี่ยวกับ ตัวกู พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่ก็เกี่ยวกับ ตัวกู (๑) พระพุทธนั้น คือผู้หมด ตัวกู ด้วยตนเอง และสอนเรื่องทำลาย ตัวกู (๒) พระธรรมนี่ก็คือว่าวิธีที่จะทำลาย ตัวกู ตลอดถึงคำบรรยายเรื่องนี้ และผลของการที่ได้รับจากการที่ทำลาย ตัวกู เสียได้ เรื่องพระธรรม ทีนี้, (๓) เรื่องพระสงฆ์ ก็คือผู้ปฏิบัติอยู่เพื่อทำลาย ตัวกู บ้างทำลายได้บ้าง ทำลายแล้วบ้าง ทำลายได้หมดเลยบ้าง
เรื่องกิเลสก็คือเรื่อง ตัวกู โดยตรง ความทุกข์ก็เป็นผลเกิดมาจากการมี ตัวกู นิพพานก็เย็น เพราะหมด ตัวกู เป็นผลเกิดมาจากการทำลาย ตัวกู เสียได้ คุณควรจะหัดมองให้กว้างรอบตัว ครอบโลกครอบจักรวาลแบบนี้ก็จะรู้ได้ว่าทุกเรื่องไม่ว่าเรื่องฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว, ฝ่ายบุญหรือฝ่ายบาป มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ ตัวกู ทั้งนั้น ตัวกู-ของกู ทั้งนั้น เพราะ(ฉะ)นั้นจึงพูดได้ว่าพูดกันสักปี กี่ปี ตลอดชีวิตก็ไม่หมด ดังที่เราได้เคยพูดกันมาแล้วหลายสิบครั้งนี่ก็เอามาให้ฟังบางแง่ เป็นแง่ๆ ไปแต่ละครั้งๆ
สำหรับวันนี้ก็จะพูดเรื่อง ตัวกู-ของกู ที่เกี่ยวกับพญามาร ในขั้นนี้เราถือเอาตามพระพุทธภาษิตใน สคาถวรรค สังยุตตนิกาย มารได้เข้ามาหาพระพุทธเจ้าแล้วกล่าวกับพระพุทธเจ้าว่า ยัง วทันติ มะมะ อิทันติ (นาทีที่ 6.01) คนเขากล่าวสิ่งใดว่าของกู เย วะทันติ อหันติจะ (นาทีที่ 6.17) และกล่าวว่าตัวกู เอทะเจ เต มโนอัตถิ นะเม สมณะโมกขติ (นาทีที่ 6.29) ถ้าจิตของท่านข้องอยู่ในสิ่งเหล่านั้นแล้ว สมณะเอ๋ย, เจ้าจะไม่พ้นจากมือเรา พญามารเขาว่าอย่างนี้ ทีนี้, พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า เยวะทันติ นะตังมัยหัง (นาทีที่ 6.52) เยวะทันติ นะเต อะหัง (นาทีที่ 6.59) คนเขากล่าวสิ่งใดว่าของกู เราไม่กล่าวสิ่งนั้นว่าของกู คนใดกล่าวว่าตัวกู เราไม่ได้กล่าวผู้กล่าวนั้นว่าตัวกู เอวัง ปาปิน ฌวาหิ นเม เอวะ มัคคัมปิทัคคสิ (นาทีที่ 7.14) มารเอย, เจ้าจงรู้จักเราอย่างนี้เถิด และแม้แต่ร่องรอยของเราเจ้าก็มองไม่เห็น พระพุทธเจ้าท่านตอบอย่างนี้แล้วมารก็หายไป พระบาลีมันมีเท่านี้
ทีนี้อยากจะพูดถึงคำแปลกันสักหน่อยว่าทำไมผมจึงแปลคำว่า มะมะ ว่าของกู อหัง ว่าตัวกู นี่ มะมะวิทันติ ว่า นี้ของกู เพราะการแปลอย่างนี้มันแปลเอาตามความจริงหรือตามอารมณ์ ถ้าอารมณ์ร้ายมันก็ของกู ถ้าอารมณ์ดีมันก็ของฉัน ของเรา ของข้าพเจ้า ของข้าพระพุทธเจ้าไป ภาษาบาลีมันเป็นอย่างนี้ เหมือนกับภาษาต่างประเทศอื่นๆ เหมือนกันมันมีคำเดียวเท่านั้นละ ไม่เหมือนภาษาไทยละ ภาษาไทยนี้ประหลาดมีสรรพนามแทนตัวเองนี่หลายคำตามลำดับ, ตามอารมณ์ ส่วนภาษาบาลีไม่ยักมี มีแต่ มะมะ คำเดียว ถ้าของกู จะโกรธ แสนโกรธ ก็มะมะ จะพูดดีแสนดี ก็ มะมะ อยู่นั้นละ ทีนี้ความหมายก็ต้องเปลี่ยนไปตามอารมณ์ ถ้าเป็นเรื่องของกิเลส เราก็แปลเป็นของกู หรืออีกอย่างหนึ่งก็ว่าถ้าเราพูดกับตัวเราแล้วก็มีความหมายว่าเป็นตัวกู ยิ่งเวลาน้อยอกน้อยใจแล้วแม้พูดอยู่คนเดียวก็พูดว่าตัวกูหรือของกู ไม่พูดว่าของเรา ของฉัน ของข้าพเจ้า อะไรหรอก พูดเป็นความหมายเป็น ตัวกู นี่ภาษาไทยดูวิเศษอยู่มากที่มีคำพอใช้กับอารมณ์ต่างๆ ภาษาอื่นมันไม่มีพอ ภาษาอังกฤษก็เหมือนกับภาษาบาลีมีคำเดียวอยู่นั้นละ เอาน้ำเสียง เอาหน้าตาอะไรก็แล้วกัน แต่ภาษาไทยเรานี้ประหลาดมีนับตั้งแต่ ของกู ของตู ของข้า ของฉัน ของเรา ของข้าพเจ้า ของข้าพระพุทธเจ้า ของเกล้ากระหม่อมอะไรเลยไปเลย ทั้งการแปลบาลีอย่างนี้ในลักษณะอย่างนี้แปลว่า ตัวกู นั้นถูก หรือแปลว่า ของกู นั้นถูก ไม่จำเป็นจะต้องแปลว่า ตัวเรา หรือ ของเรา
มันก็ยังแปลว่า “คนเขากล่าวสิ่งใดว่า ของกู และกล่าวว่า ตัวกู ถ้าจิตของท่านข้องอยู่ในสิ่งนั้นๆ สมณะเอ๋ย, เจ้าไม่พ้นจากมือเรา” พระพุทธเจ้าก็กล่าวว่า “คนเขากล่าวสิ่งใดว่าของกู เราไม่กล่าวสิ่งนั้นว่าของกู คนใดกล่าวว่าตัวกู เราไม่ได้กล่าวผู้กล่าวนั้นว่าตัวกู มารเอ๋ย, เจ้าจงรู้จักเราอย่างนี่สิ หรือแม้แต่ร่องรอยของเราเจ้าก็ยังมองไม่เห็น” เมื่อเราถือเอาพระบาลีนี้เป็นหลักแล้วก็เห็นได้ว่าเป็นเรื่อง ตัวกู-ของกู ที่เกี่ยวกับพญามาร พญามารก็พูดอย่างโอหังอย่างท้าทายคือไม่ปิดบัง ก็พูดว่า “ถ้าท่านยังพูดว่า ของกู ,แล้วก็ยังพูดว่า ตัวกู ท่านก็ไม่พ้นจากมือเรา” ก็หมายความว่ายังเป็นคนธรรมดา แต่นี้พระพุทธเจ้าท่านก็รู้ทัน ท่านจึงว่า “เมื่อเขากล่าวกันว่า ของกู เราไม่กล่าว แล้วเมื่อตัวผู้กล่าวเขาเรียกตัวเขาเองว่า ตัวกู เราไม่เรียก เราไม่เรียกว่า ตัวกู” พระพุทธเจ้าก็เป็นคนอย่างอื่น ไม่เหมือนอย่างที่มารเขาตั้งใจไว้
ทีนี้เราจะมองกันในแง่ไหน-ได้ทั้งนั้นเลย แม้แต่เราจะมองว่า ตัวกู-ของกู นี้เป็นเครื่องมือของพญามารที่จะมาผูกมัดคน หรือจับเอาตัวคนไปก็ได้ หรือเราจะมองลงไปว่า ...ไอ้นี่ละคือมาร หรือความรู้สึกเป็น ตัวกู-ของกู นั้นคือมาร...เพราะมันทำให้ตาย มันฆ่าให้ตาย เป็นมารไปก็ได้ แต่ใจความสำคัญมันมีอยู่ที่ว่า ถ้าความรู้สึกในใจมันยังต่ำขนาดรู้สึกเป็น ตัวกู แล้วปากก็กล่าวว่า ตัวกู หรือรู้สึกสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่า ของกู แล้วปากก็กล่าวว่า ของกู อย่างนี้แล้ว ก็แย่ หมายความว่าอยู่ในกำมือของมาร ที่พระพุทธเจ้าท่านกล่าวท่านตอบว่า ...คนทั้งหลาย, เขากล่าวสิ่งใดว่า ของกู เราไม่รู้สึกว่าสิ่งนั้นเป็น ของกู และเราก็ไม่กล่าวว่า ของกู ทีนี้ผู้ใด (ผู้กล่าวนะ) ก็รู้สึกตัวเองว่า ตัวกู เราก็ไม่ถือว่าไอ้ผู้กล่าวนั้นเป็น ตัวกู (คือคนผู้กล่าวนั้นไม่ได้เป็น ตัวกู ผู้กล่าว)... นี้คือเรื่องที่ผมเคยพูดมาทีหนึ่งแล้วว่าถ้าจะถือเอาเป็นหลักแล้วก็เราต้องมีหลักกันอีกอย่างหนึ่ง เพื่อให้เป็นคนปากอย่างใจอย่าง แม้ตามปกติ, ปากจะกล่าวว่า ตัวกู หรือ ตัวเรา หรือ ของเรา ก็ตามใจอย่าเป็น –ใจอย่าเป็นอย่างนั้น เพราะเราต้องพูดกับมนุษย์ธรรมดาสามัญ มันก็ต้องพูด ของฉัน ของท่าน ของข้าพเจ้า หรือตัวข้าพเจ้าอะไรอยู่ แต่ใจนั้นอย่าเป็นอย่างนั้น-อย่ารู้สึกอย่างนั้น นี่หลักของพระพุทธศาสนามีอยู่ว่า จงเป็นคนปากอย่างแล้วใจอย่าง อย่าให้เหมือนกัน แม้ปากมันจะพูดอยู่ทุกวัน วันละหลายครั้งว่า ตัวกู ว่า ของกู อย่างนั้นอย่างนี้ใจก็อย่าเป็นอย่างนั้น ไมได้ยึดถือสิ่งใดในความเป็น ตัวกู-ของกู อยู่ตลอดเวลา อย่างนี้พอใช้ได้และหมดด้วย หมดเท่านี้เอง ถ้าคนใดในใจไม่มีความรู้สึกที่เป็น ตัวกู-ของกู แล้ว แม้ปากจะพูดอยู่ว่า ตัวกู-ของกู กับพวกคนเหล่าอื่นทั้งหลายนี้ก็ไม่เป็นไรเพราะภาษามันเป็นอย่างนั้น ถึงจะเลี่ยงไปว่าอาตมาภาพ เอามาให้อาตมาภาพที มันก็คือ ตัวกู นั้นละ ถึงว่าพระพุทธเจ้าเองท่านก็ตรัสว่า ตถาคตเป็นอย่างนั้น, ตถาคตเป็นอย่างนี้ มันก็คือ ตัวกู นั้นละในความหมายเดียวกันละ ตัวเธอเป็นอย่างนั้น - ตถาคตเป็นอย่างนี้ นี้มันก็คือตัวกูของกู, ตัวท่านของท่าน แต่ท่านปากอย่างใจอย่าง แล้วปากก็พูดไปตามภาษาชาวบ้าน ตามที่ชาวบ้านจะฟังถูก แต่ใจนั้นไม่มีความหมายอย่างนั้นเพียงแต่พูดกันให้รู้เรื่องให้สำเร็จประโยชน์ตามไอ้สิ่งที่จะต้องพูดต้องทำกัน
มันจึงมีคำเราว่า อหัง ว่า ตถาคต อยู่เหมือนกัน ที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงพระองค์เองเต็มไปหมดเลยแต่ละทีอย่างนี้ ทำไมพระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ละ? ทำไมท่านตรัสว่า “คนเหล่าใดเขากล่าวว่าของกู เราไม่กล่าวว่าของกู ตัวผู้กล่าวผู้ใดที่กล่าวอยู่ว่าของกู เราไม่กล่าวผู้นั้นว่าตัวกู ว่าคนเหล่าใดที่กล่าวตัวเองว่าของกู ว่าตัวกู เราไม่กล่าวคนนั้นว่าตัวกู” เขาว่าที่นี้ท่านไม่พูดอย่างภาษาพูดธรรมดาแล้ว คือไม่พูดจะเอาอะไรกับมารแล้ว พูดโต้ตอบข้อธรรมะกันเสียแล้ว พูดภาษาธรรมะกันเสียแล้วไม่ใช่พูดภาษาชาวบ้านเหมือนอย่างโน้น ที่พูดกันอยู่อย่างโน้นเราเรียกว่า ภาษาคน นี่คือภาษาธรรมหมายถึงตอนนี้พูดภาษาธรรม ใครจะพูดว่า ตัวกู-ของกู เราไม่พูด แม้ปากจะพูดใจก็ไม่รู้สึกอย่างนั้น ที่ว่าเราไม่พูดนั่นหมายความว่าใจเราไม่รู้สึกอย่างนั้น แต่ที่แท้ก็พูดอยู่อย่างนั้นพูดตามภาษาธรรมดา ทีนี้เราก็มองเห็นได้ทันทีว่าไอ้คนที่ปากกับใจตรงกันในเรื่องนี้นั้นละคือคนที่ติดบ่วงมาร หรือพญามารคล้องเอาไว้ได้ หรืออยู่ในกำมือของมาร ถ้าปากมันพูดว่า ตัวกู และในใจมันก็รู้สึกเป็น ตัวกู, ถ้าปากมันพูดว่า ของกู ในใจก็รู้สึกว่าเป็น ของกู มันก็คือผู้ที่อยู่ในกำมือของมารติดอยู่ในบ่วงของมาร นี้ถ้าใครมองเห็นแจ้งจนไม่มีอะไรที่รู้สึกว่าเป็น ตัวกู-ของกู แต่ปากก็พูดไว้ว่า ตัวกู-ของกู เป็นคนปากอย่างหนึ่งใจอย่างหนึ่ง คนนี้ไม่ได้ติดอยู่ในบ่วงของมาร รอดไปจากมาร เพราะฉะนั้นพญามารเขาท้าทายโดยเปิดเผยว่า “ถ้าจิตของท่านข้องอยู่ในสิ่งเหล่านั้น” หมายความว่าจิตของท่านยึดมั่นถือมั่นอยู่ในสิ่งเหล่านั้น สิ่งเหล่านั้นคือสิ่งที่กล่าวว่า ของกู รวมทั้งที่กล่าวว่า ตัวกู ...”ท่านไม่พ้นจากมือเรา”... พญามารเขาท้าอย่างนี้เลย ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ระเบิดออกไปว่า “เขากล่าวสิ่งใดว่าของกู เราไม่กล่าวสิ่งนั้นว่าของกู คนที่กล่าวอยู่ว่าตัวกู เราก็ไม่รู้สึกว่าคนนั้นมันเป็นตัวกู เราเป็นคนอย่างนี้เสียแล้ว มารเอย, เจ้าจงรู้จักเราว่าเป็นเราเป็นคนอย่างนี้เสียแล้ว ที่ว่าแม้แต่ร่องรอยของเราเจ้าก็ไม่รู้จัก” คือหมายความว่า มารมันไม่รู้เรื่องของบุคคลที่อยู่เหนือความรู้สึกว่ามี ตัวกู-ของกู ร่องรอยของพระพุทธเจ้านั้นคือ ความพ้น หรืออยู่เหนือจากความมี ตัวกู-ของกู พระพุทธเจ้าท่านก็ท้าออกไปบ้างว่า ...”แม้แต่ร่องรอยของเราเจ้าก็ไม่รู้จัก” นี่, แม้แต่ตรงนี้พระพุทธเจ้าก็พูด ตัวกู-ของกู พระพุทธเจ้าก็บอกว่า “แม้แต่ร่องรอยของกู แกก็ยังไม่รู้จัก” ก็พูดภาษาธรรมดาอย่างนี้คือไม่รู้จักภาวะของความเป็นพระพุทธเจ้าว่ามีอยู่อย่างไร เพราะพญามารมันมีความรู้ต่ำเกินไปจนไม่อาจจะเข้าใจความหมายคำว่า “พุทธเจ้า” หรือผู้หลุดพ้น
พระพุทธเจ้าท่านว่า นะเม มัคคัง ปิทักกสิ (นาทีที่ 21.09) “เจ้าจักไม่เห็นร่องรอยของเราเลย” ถ้าพูดเป็นอย่างอารมณ์ร้ายก็ว่า ของกู เลย ตรงนี้ถ้าคนบางคนไม่ยอมเชื่อว่ามีมาร ที่เป็น เป็นมาร เป็นเทวดา เป็นผี เป็นพญามาร ว่ามีเป็นตัวเป็นตนก็จะหาว่าเรื่องนี้เหลวไหล แม้มีอยู่ในพระไตรปิฎกในรูปพุทธภาษิตหาว่าเหลวไหล เพราะเขาไม่เชื่อว่ามีผี มีเทวดา มียักษ์ มีมารอะไร ถ้าใครไม่เชื่อว่ามีสัตว์ประเภทเป็นยักษ์ เป็นมาร เป็นผี เป็นเทวดาก็ได้เหมือนกัน ก็เอาให้เป็นความรู้สึกอีกฝ่ายหนึ่งที่ได้นึกขึ้นมาขึ้นมาในฐานะตรงกันข้าม เช่น บางทีจิตใจของเรานี่มันนึก มันนึกออกไปเอง หรือนึกเลยไปเองว่าอะไร ๆ มันเกินขอบ หรือนึกอะไรมันเกินขอบเขต ซึ่งไม่ใช่ความนึกคิดของเรา หรือเกี่ยวกับเราก็ยังนึกไปได้ อย่างนี้มันคล้ายๆ กับเราเติมคำว่า ถ้า หรือ ถ้าใครมันคิดอย่างนี้ ก็คือมันไม่รู้อย่างนี้นี่เองอย่างนี้ก็ได้ พอแล้วไอ้หลัก-หลักธรรมะในเรื่องอย่างนี้ก็ยังใช้ได้อยู่ สมมติว่าพระพุทธเจ้าจะทรงดำริว่า ไอ้พวกปุถุชนคนพาลมันต้องพูดอย่างนี้ มาพูดท้าทายพระพุทธเจ้าอย่างนี้ แล้วพระพุทธเจ้าก็จะต้องตอบอย่างนี้ จะเป็นพระพุทธเจ้าองค์ไหนก็ตาม อย่างนี้ก็ได้ ถ้าสมมติว่าคนพวกหนึ่งไม่เชื่อเรื่องมาร เรื่องยักษ์ เรื่องอะไรๆ ที่มียักษ์มีมาร มาโต้กับพระพุทธเจ้านี้ดูไม่น่าเชื่อก็ตามใจเขา แต่ขอให้นึกว่าไอ้หลักมันมีอยู่อย่างนี้ สมมติเอาเป็นว่านึกเล่นๆ ไปว่า ถ้ามีคนมันโง่ขนาดนี้พูดอย่างนี้แล้วก็โต้ตอบไปอย่างนี้ในลักษณะอย่างนี้ ก็ได้เหมือนกัน ก็เรียกว่ามารได้เหมือนกัน
พระพุทธเจ้าเป็นผู้หมดกิเลสแล้วเพราะฉะนั้นกิเลสมารไม่มี แต่เขาก็ยังมีความคิดที่ว่าด้วยการรู้แตกฉานนึกเล่นๆ ไปก็ได้ก็ยังได้ว่า ...ถ้ามารมีมาพูดอย่างนี้ แล้วเราก็ตอบอย่างนี้ ในคัมภีร์สังยุตตนิกาย มีอยู่หลายๆ สังยุตต์หลายๆ หมวด แล้วหมวดหนึ่งเขาเรียกว่า มารสังยุตต์ พูดแต่เรื่องเจ้า พระพุทธเจ้าโต้ตอบกับมารทั้งนั้น รวมทั้งมารเข้ามาล่อ มาลวง มาอะไร สารพัดอย่าง บรรดาเรื่องที่เกี่ยวกับมารหลายร้อยเรื่องมารวมอยู่เป็นสังยุตต์ เรียกว่ามารสังยุตต์ เป็นส่วนหนึ่งของสังยุตตนิกายนี้ เราจะเชื่อว่าจริงตามตัวหนังสือนั้นก็ตามใจ ก็ได้เหมือนกัน ก็มันก็แล้วไป ก็แล้วแต่ เพราะมันก็ไม่สำคัญว่าตัวมารนั้นมีอยู่หรือไม่ แต่มันสำคัญอยู่ที่คำพูด แล้วคำพูดของพญามารก็คือความรู้สึกของคนธรรมดาสามัญ หรือว่าคนที่มุ่งร้าย หวังร้ายเท่าที่เขาจะทำได้อย่างมากเพียงไร นี้ก็ย้ำอีกทีหนึ่งว่าคำว่า มาร ไม่ใช่คนโง่ แล้วมารนั้นไม่ใช่คนขี้เหร่ แต่ชาวบ้านนี่มันรู้กันอยู่ผิดๆ ว่ามารนั้นหน้าตาดุร้ายน่าเกลียดน่าชังแล้วก็โง่เง่า บ้าๆ บอๆ เป็นคนป่าเถื่อนนั้นๆ คือเข้าใจผิด สิ่งที่เรียกว่ามารต้องสวยที่สุดเท่าที่มันจะสวยได้ และต้องฉลาดที่สุดเท่าที่มันจะฉลาดได้ คือฉลาดในการพลิกแพลง ไม่ใช่ฉลาดด้วยปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ เฉลียวฉลาดในการพลิกแพลง เฉโก ที่เขาเรียกว่า เฉโก แปลว่า ปัญญาเฉลียวฉลาด-ฉลาดพลิกแพลง ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า cunning ปัญญาอย่าง cunning นี้ มารมีถึงที่สุดเลย เพราะฉะนั้น, นั่น มาร จึงมีความสามารถหรือเล่ห์เหลี่ยม มาเหนือเมฆที่จะมาหลอกคนนั้นลวงคนนี้กระทั่งลวงพระพุทธเจ้า มันต้องฉลาดพอๆ กันเลย คำว่า ซาตาน ก็เหมือนกัน ต้องอยู่ในรูปที่สวยงามที่สุดฉลาดที่สุดจึงจะมาลวงคนได้ เพราะว่ามาในรูปขี้เหร่ น่ากลัว ดุร้ายแล้ว ใครจะไปเชื่อมันเล่า แล้วใครจะไปผสมโรงกับมันได้
ทีนี้, เราก็พอจะพูดเป็นภาษาคนได้ว่าไอ้มารนี้ก็คือธรรมชาติฝ่ายต่ำที่เฉลียวฉลาดที่สุด แล้วก็ที่ยั่วยวน, ยั่วยวนที่สุด แล้วก็มาในรูปอย่างนี้ ให้คนหลง ให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงหลงเข้าไปอยู่ในอำนาจของมาร มีอีกหลายเรื่องเช่นว่ามารเข้ามาเย้าพระพุทธเจ้าเล่นอย่างเดียวกันนี้อีกว่า “บ่วงของเราว่อนเต็มไปทั้งอากาศ สมณะเอ๋ย, เจ้าไม่พ้นจากมือเราไปได้” พญามารเขาว่าอย่างนั้นก็ รูปา สัททา คันธา รสา อุตภา มโนละมา -- รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เต็มไปทั้งโลก นี้คือบ่วงของเรา เต็มว่อนไปในอากาศ เจ้าไม่พ้นมือเราไปได้ พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า “รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เหล่าใดนั้น เราเพิกถอนได้หมดแล้ว นี่! มารเอ๋ย, เราฆ่าแกตายแล้ว” เพราะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เป็นบ่วงมารนั้นไม่ทำอะไรพระพุทธเจ้าได้ เพราะท่านรู้จัก นี้คือแกหมดท่าแล้ว แกหมดมือ หมดท่าแล้ว พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างนี้
ทีนี้, ถ้าผมจะอธิบายไป เดี๋ยวก็จะหาว่าผมลบหลู่พระพุทธเจ้าหรือเป็นคนไม่เชื่อบาลี อธิบายว่า ...บางทีพระพุทธเจ้าท่านทรงนึกเล่นๆ อย่างเราก็นึกเล่นๆ นึกอะไรเล่นๆ ว่าๆ ถ้ามารมันก็พูดอย่างนี้ แล้วเราก็ต้องพูดอย่างนี้ เท่านี้ก็พอ... ถ้ามารมีมามันก็ต้องพูดอย่างนี้ เราก็ต้องตอบมันอย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน เรียกว่ามารเป็นธรรมาธิษฐาน เป็นความรู้สึกเกิดขึ้นเล่นๆ ในความดำริของพระพุทธเจ้า แล้วท่านก็ตอบมารอย่างนี้เพราะว่าเมื่อก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้นท่านมันโชกโชนช่ำชองด้วยสิ่งเหล่านี้ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรืออะไรต่างๆ นี้ แต่เดี๋ยวนี้ถอนความยึดมั่นความอะไร, ความอะไรได้หมด พอมองดูย้อนหลังก็ แหม พอใจตัวเอง ว่าฉันฆ่าแกตายแล้ว เพราะว่าบ่วงทั้งหลายที่เต็มว่อนอยู่ในอากาศนั้นถูกทำลายหมดเลย ฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่าบ่วงของมารนั้นก็คือสิ่งที่เรียกกันที่นี่ว่า ของกู ใครไปเอาไอ้ๆ บ่วงมารนั้นมาเป็น ของกู มันก็คล้องคอคนนั้นแล้วมันก็อยู่ในอำนาจของมารคือกิเลสจากความทุกข์ จะเป็นรูปทางตาก็ดี เสียงทางหูก็ดี กลิ่นทางจมูกก็ดีอะไรก็ตาม พอใครโง่เผลอไปยึดจนเกิดความรู้สึกเกี่ยวกับ ของกู ขึ้นมาเท่านั้น อันนั้นก็เป็นบ่วงมารขึ้นมาทันที คนนั้นก็ตกอยู่ใต้อำนาจมารทันทีเลย นี่, พญามารก็คุยโตว่า “บ่วงของเราปลิวว่อนอยู่เต็มไปในอากาศ” หมายความว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี้มันเต็มไปหมดทุกหนทุกแห่ง จริงไหม? ก็คุณดูซิคุณนั่งอยู่ที่นี่ มันพร้อมที่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อะไรมาสัมผัสเมื่อไรที่ไหนก็ได้ ฉะนั้นมารเขาจึงคุยโตว่า “บ่วงของเขาเต็มว่อนอยู่ในอากาศ” ที่ใครมันโง่เผลอสติ เช่น ตาเห็นรูปเข้าก็เกิดนึกคิดปรุงไปในทางที่จะยึดครอง หรือยึดครอง-ยึดครองด้วยจิตใจ ก็ติดบ่วงมารทันที นี้เราก็ลืมตาอยู่ตลอดเวลา เห็นอะไรก็ได้ คิดนึกไปทางเป็น ตัวกู-ของกู แล้วก็ติดบ่วงมารทันที ถ้าคิดนึกไปทางความจริง ไม่เกิดรู้สึก ตัวกู-ของกู มันก็ไม่ติดบ่วงมาร คล้องไม่ติดอยู่นั่น
ทีนี้ก็ต้องลองทำมโนคติดูว่า เรานั่งอยู่ที่นี่ในลักษณะอย่างนี้ มันก็หมายความว่านั่งอยู่ท่ามกลางบ่วงมารที่ปลิวว่อนอยู่เต็มไปหมดนานาชนิดนับเป็น ๖ ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ๖ ทางก็จริง แต่ว่าทางๆ หนึ่งมีมากหลายร้อยหลายพัน เป็น ๖ หมวด แต่ว่าหมวดๆ หนึ่งมีหลายร้อย, หลายพัน, หลายหมื่น, หลายแสน อย่างรูปนี้ รูปของอะไรก็ได้ ฉะนั้นไปนั่งในที่สงบสงัดแล้วสำรวมความรู้สึกคิดนึกให้ดี จนมองเห็นบ่วงของมารปลิวว่อนอยู่เต็มไปทั้งอากาศแล้วเราก็ไม่ติดบ่วง หรือบางทีเราก็ติดบ่วง หรือว่าสัตว์ตัวไหนมันติดบ่วงก็ให้รู้ไป มองเห็นอยู่ นี้ก็น่านึกว่าสิ่งที่จะมาเป็น ของกู นั้นปลิวว่อนเต็มไปในอากาศอยู่ตลอดเวลา ไอ้ ของกู มันมีพร้อมอยู่ที่จะไปยึดเอาเป็น ของกู อยู่ตลอดเวลา มันจึงเรียกว่าน่าอันตราย หรือว่าอยู่ในอันตราย เดี๋ยวนี้เราไม่รู้สึกว่าอยู่ในอันตรายนั่นก็คือประมาท หรือถ้าจะไม่ประมาทก็ไปนั่งในที่สงัดพิจารณาดู คือมองดูด้วยตาปัญญา (ตาภายใน) จนกระทั่งเห็นเหมือนกับที่มารเขาคุยอวดว่า “บ่วงของฉันปลิวว่อนอยู่เต็มไปทั้งอากาศ” จริงของมันเว้ย นี้, ถ้าใครมองเห็นอยู่อย่างนี้ แล้วก็ไม่ประมาทอยู่อย่างนี้แล้วก็ไม่สึก-ไม่ต้องสึก ถ้าใครมันโง่ขนาดไม่มองเห็นมันเสียเลย มันก็ถูกมารเอาตัวไปเมื่อไรก็ได้ เพราะมันปลิวว่อนอยู่เต็มไปในอากาศ
ทีนี้คุณไม่เชื่อมาร ไม่เชื่อเรี่องมาร ไม่เชื่อว่ามีตัวมาร เอาละ, ไม่เชื่อในส่วนที่มีตัวพญามาร แต่มองเห็นไหมว่าบ่วงของมันปลิวว่อนอยู่เต็มไปในอากาศ เห็นหรือไม่เห็น? ถ้าเห็นก็พอแล้ว-ใช้ได้ ไอ้ตัวมารจะมีจริงหรือไม่จริงก็ช่างหัวมัน ขอให้เห็นแต่ว่าบ่วงของมันปลิวว่อนเต็มๆ ว่อนอยู่ในอากาศทุกหนทุกแห่งก็ใช้ได้ เรื่องมันมีสำคัญอยู่ที่ตรงนี้ว่ามารจะมีตัวตนอยู่ที่ไหนก็ช่างหัวมัน เราอย่าเอาคอเข้าไปในบ่วงนั้นก็แล้วกัน และระวัง ของกู ไอ้ ของกู, ของกู นั้นมันพร้อมอยู่เสมอ ก็เหมือนกับว่าปลิวว่อนเต็มไปทั้งอากาศ มารเขาท้าว่า “สมณะเอ๋ย, เจ้าไม่พ้นมือเราไปได้ดอก” พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า “บ่วงเหล่านี้ฉันทำลายหมดแล้ว ฉันฆ่าแกแล้ว แกหมดมือ หมดอำนาจ หมดกำลังที่จะทำอะไรฉันแล้ว” ที่นี้พวกเราว่าอย่างไร? พวกเราจะว่าอย่างนั้นได้ไหมว่าๆ ฉันทำลายบ่วงนั้นหมดแล้ว ฉันฆ่าแกแล้วมารเอ๋ย จะพูดได้ไหม? เพราะเรามันยังมีความรู้สึกเป็น ของกู ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่บ่อยๆ นี่มันถึงผิดกันตอนนี้
ทีนี้ ตัวกู-ของกู เกี่ยวกับพญามารอย่างไร? ก็คือนั่นละคือมารละ ไอ้ ตัวกู-ของกู แท้ๆ คือมาร หรือจะเขยิบออกไปอีกนิดก็เรียกว่าบ่วงมาร ไอ้มารมันจะมีความหมายอะไรถ้าไม่มีบ่วงเพราะ(ฉะ)นั้นมันมีความหมายอยู่ที่บ่วง มีบ่วงก็แล้วกัน ก็อย่าไปติดบ่วงก็แล้วกัน ในที่บางแห่ง เขาเรียกว่าดอกไม้ก็มี ดอกไม้ของมาร จะเรียกด้วยทั่วไปว่า มาระทัยยัง (นาทีที่ 28:27 ) คือบ่วงของมาร แล้วบ่วงของมารนี้ก็มีลักษณะเป็นพวงดอกไม้ พวงดอกไม้นั้นมันมีความแต่เพียงว่ามันยั่วยวนที่สุดเท่านั้น แล้วสิ่งใดมีความยั่วยวนที่สุดก็เรียกว่าพวงดอกไม้ได้ เขาจึงเรียกว่าพวงดอกไม้ของมารในบางโอกาส ถ้ามันเป็นบ่วงไฟ บ่วงโลหะ เหลว คว้ามา ใครจะไปคว้ามาเล่า บ่วงนั้น อย่าลืมว่าขึ้นชื่อว่า มาร หรือ บ่วงของมาร แล้วจะต้องยั่วยวนที่สุดเสมอ สวยงามที่สุดเสมอ แล้วเขาก็ใช้มันมาในวิธีการที่ฉลาดอย่างยิ่งเสมอ ฉะนั้นมันจึงได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์คือยั่วยวนจิตใจที่สุด ขึ้นชื่อว่าไอ้บ่วงหรือเครื่องมือของมาร มันต้องยวนใจเสมอ ยวนตา ยวนหู ยวนจมูก ยวนลิ้น ยวนกาย ยวนใจเสมอ
นั่นละ, รู้ให้ดีว่า รู้จักมันให้ดีเถิดว่านั้นคือ ของกู คือสิ่งที่จะอยู่ในรูปของคำว่า ของกู ถ้ามันไม่ยั่วยวนก็ไม่มีใครเกิดความรู้สึกอยากได้หรือยึดถือยึดครอง มันก็ไม่มี, ไม่มี ของกู เช่น เห็นอุจจาระเน่าเหม็นนี่ใครจะไปคิดเล่าว่า ของกู แต่มันคิดนึกไปทางเป็น ตัวกู เมื่อเราเห็นขี้หมาสักกองนี้ก็ไม่อยากได้เป็น ของกู แต่ความคิดปรุงไปในรูป ตัวกู เกลียดมัน นี่ ตัวกู เกิดขึ้นสำหรับจะเกลียดมัน เดือดร้อนขยะแขยงรำคาญกับมัน โกรธมัน แล้วในเรื่อง ของกู, เรื่อง ตัวกู นี้มันมีการพลิกแพลงได้หลายแบบ, หลายชนิด, หลายอย่าง มันจะเกิด ตัวกู ก็ได้ เกิด ของกู ก็ได้แล้วแต่กรณี ถ้าชอบ, ถ้ารัก---มันเกิด ตัวกู เพื่อยึดครองเป็น ของกู ถ้าน่าเกลียด,น่าชัง---มันเกิด ตัวกู ที่จะเกลียดชังมัน จะทำลาย จะเตะมันไปให้กระเด็นไป แต่แล้วก็ไม่พ้นไปจากความยึดมั่นถือมั่นอย่างหนึ่ง มันยึดมั่นถือมั่นในทางจะเอาอย่างหนึ่ง คือยึดมั่นถือมั่นในทางที่จะเกลียดโกรธ ที่จะทำลายมัน เป็นทุกข์เสมอกัน
ฉะนั้นขึ้นชื่อว่า ตัวกู หรือ ของกู แล้วไม่ไหวทั้งนั้น ทีนี้ถ้าว่าเราเห็นขี้หมากองหนึ่งแล้วมีสติสัมปชัญญะพอที่ความรู้ทางธรรมะที่เคยศึกษาเล่าเรียนมามันมีมาเกิดขึ้น มันก็เฉยได้ หรือมันรู้แล้วว่าไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับมัน ก็เดินหลีกไปเสีย ก็หมดเรื่องกัน ไม่ต้องไปอึดอัดขัดใจเพราะเหม็น เพราะอะไร นี้, มันก็ไม่ยากนัก แต่ถ้าไปเห็นของสวยของงามของยั่วยวนแล้วมันยาก มันยากที่จะหลีกไปได้ มันยึดมั่นถือมั่นโดยไม่ทันรู้ตัว เพราะว่าจิตนี้มันไว มันไปยึดครองเป็น ของกู ก็แล้วเสียแล้ว อันนี้มันยากกว่า เพราะ(ฉะ)นั้นพญามารถึงคุยโตว่า “บ่วงของเรานี้เต็มไปทั้งอากาศ คล้องสัตว์ติดๆ เต็มไปทั้งนั้นเลย” เพราะเขาใช้ของสวยงามจนเรียกว่าดอกไม้แห่งมารเป็นบ่วงคล้องสัตว์ พอเห็นเข้ามันแป๊บเดี๋ยวก็ไปยึดครองเป็น ของกู นี้คือติดบ่วง พอติดบ่วงแล้วทีนี้ก็แล้วแต่ว่ามารนั้นจะลากไปทางไหนก็หมายถึงความคิดปรุงแต่งแต่งมันต่อไป มันปรุงแต่งต่อไป ที่จะเอาอย่างนั้น ที่เอาอย่างนี้ ที่จะทำอย่างไหนต่อๆ ไป จนเกิดเป็นการกระทำขึ้นมาตามลำดับ เกิดกิเลส เกิดกรรม เกิดผลของกรรมอะไรขึ้นมาตามลำดับในขณะนั้นจนได้ผลคือความทุกข์ ความมุ่งหมายของบ่วงมารก็คือความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นแก่สัตว์
เอาละ, ทีนี้เราลองพิจารณาดูตัวเราเองบ้างสิ เรารู้สึกว่าเราอยู่ในท่ามกลางบ่วงมารหรือเปล่า? นี่ผมอยากจะให้ทุกคนเอาไปคิดหรือว่าเอาไปทดสอบตัวเอง ตามปกตินี้เรารู้สึกว่าเราอยู่ในท่ามกลางบ่วงมารที่เต็มว่อนอยู่ในอากาศและล้วนแต่ยั่วยวนทั้งนั้นหรือเปล่า? เรารู้สึกคล้ายๆ ว่าไม่มีอะไร คล้ายๆ กับไม่มีอะไร ไม่มีอะไรที่จะทำอะไรเรา นั่นนะมันจึงเรียกว่าอวิชชาก็ได้ เป็นอวิชชาก็ได้ที่ไม่รู้สึกว่าเราอยู่ท่ามกลางแห่งบ่วงมารนี่มันเป็นอวิชชาแท้ๆ ปราศจากความรู้ และปราศจากสติสัมปชัญญะ เพราะอยู่ในท่ามกลางอารมณ์ที่เป็นอันตรายที่สุดเราก็ยังไม่รู้สึก ก็เรียกว่าหลับอยู่ด้วยอวิชชา เป็นผู้หลับอยู่ด้วยอวิชชา นี่, คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องปลุกให้ตื่นจากหลับคืออวิชชา ก็ให้คำจำกัดความเอาไว้อีกอย่างหนึ่งว่าพระพุทธศาสนาหรือคำสอนของพระพุทธเจ้านี่คือเครื่องปลุกให้ตื่นจากหลับคืออวิชชา พอเราตื่น เราก็ลืมตาสิ พอลืมตาเราก็เห็นบ่วงมารเต็มว่อนอยู่ในอากาศ จริงเหมือนพญามารเขาคุย
ทีนี้หน้าที่ต่อไปก็ไม่ติดบ่วง-ทำลายบ่วงเหมือนกับพระพุทธเจ้า เมื่อเรากำจัดบ่วงเหล่านั้นได้หมดแล้ว มารเอย, ฉันฆ่าแกแล้ว อย่างนี้อยู่เรื่อยไป นี่คือตื่นอยู่ด้วยวิชชา ตามปกติของปุถุชนก็หลับอยู่ด้วยอวิชชา พอได้ใช้สติปัญญาธรรมะของพระพุทธเจ้าก็กลายเป็นคนตื่นอยู่ด้วยวิชชา ไม่ติดบ่วงเป็นอันขาดหมายความว่าไม่มีโอกาสที่ ตัวกู-ของกู มันจะเกิดขึ้นมา มันจึงกล้าคุยได้เหมือนกัน เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านคุย “ใครกล่าวว่า ตัวกู ฉันไม่กล่าว และฉันไม่กล่าวผู้กล่าวว่า กู ใครกล่าวว่า ของกู ฉันก็ไม่กล่าว ฉันไม่กล่าวอะไรว่า ของกู หรือ ตัวกู” นี่, อย่างนี้ มันจึงเป็นมารอันละเอียดหมายถึงกิเลสมาร
ไอ้เรื่องมารนี้มีมาก ขันธมาร กิเลสมาร มัจจุมาร เทวบุตรมาร อภิสังขารมาร นี้ก็ไปดูในหลักสูตรนักธรรมที่เราเรียนๆ กันอยู่ อย่างน้อยก็ ๕ มาร มันหมายความต่างๆ กัน เล็งถึงต่างๆ กัน แต่ในที่สุดมันตัวเดียวกันทั้งนั้นเลย ไอ้มาร ๕ ตัวนี้ ไหนๆ เราพูดเรื่องมารแล้วก็พูดไปอีกนิดว่าที่เขาไปแจกมันเป็น ๕ มารนั้น ไปแจกส่วนหนึ่งของอาการมัน มันขึ้นมาด้วย กิเลสมาร, ขันธมาร, มัจจุมาร, เทวบุตรมาร, อภิสังขารมาร
ไอ้กิเลสมารนั้นคือว่าเรามันหลับอยู่ อวิชชานี้มันเป็นกิเลสมารพร้อมที่จะเกิด ตัวกู-ของกู หรือว่าเกิดแล้วก็ได้ เกิด ตัวกู-ของกู ขึ้นในใจแล้วพอเกิด ตัวกู-ของกู ขึ้นในใจแล้วขันธ์ทั้ง๕ --- รูป เวทนา (สัญญา) สังขาร วิญญาณ กลายเป็นมารไปหมด อย่างสำนวนบ้านเขาพูดว่า ก้อนเส้า กลายเป็นเสือขึ้นมาเสียแล้ว ก้อนเส้าในตัวครัวไฟกลายเป็นเสือเสียแล้วนี่อุปาทานว่า ตัวกู-ของกู นี้เป็นกิเลสมาร เพราะเกิดขึ้นแล้วทำให้เบญจขันธ์นั้น กลายเป็นมารไปแล้ว นั้นมันคือตายแล้วนะ หมายความว่ามันคือตายแล้ว คือตายจากธรรมะ ตายจากความดี
ทีนี้, ที่เรียกว่าเทวบุตรมารนี่เขาอธิบายกันไปในทางอื่น ว่าเทวบุตรมาเบียดเบียน ผมก็อยากจะพูดว่า ไอ้อยากดี อยากสวย อยากรวย อยากอะไรนี้ คือเทวบุตรมาร เพราะเวลานั้นที่ ตัวกู-ของกู มันเกิดขึ้นเสียแล้ว มันมีแต่เรื่องอยากสวย อยากดี อยากอร่อย อยากอะไรไปตามเรื่องของมัน ไอ้เรื่องสวยๆ งามๆ มันคือเทวบุตร นี้ในที่สุดก็คือกรรม มโนกรรมสมบูรณ์ มันเกิด ตัวกู-ของกู แล้ว แล้วก็ต้องคิดไปทางกระทำอย่างนั้นกระทำอย่างนี้ แม้ไม่สำเร็จเป็นกายกรรมมันก็สำเร็จเป็นมโนกรรม เมื่อสำเร็จเป็นมโนกรรมแล้วก็เรียกว่ามีกรรมโดยสมบูรณ์ มันจึงเป็น อภิสังขารมาร ปรุงแต่งถึงขนาดเป็นกรรมบริบูรณ์ เป็นมโนกรรม และแกก็รับผลกรรมไปเถอะ ในกรณีหนึ่งๆ นะมีพร้อมทั้ง ๕ มาร อธิบายอย่างนี้ก็ได้ เขาไม่ยอมหรอก พวกที่เขาถือตามตัวหนังสือเขาไม่ยอม ผมพูดอะไร-เขาก็ว่าบ้าทั้งนั้นละ คือว่ามันพูดอย่างที่ไม่มีประโยชน์-เราไม่เอา เราจะพูดอย่างที่มันมีประโยชน์ อย่างที่มันจำเป็นต้องรู้ ไอ้มารทั้ง ๕ มันน่ากลัว แล้วมันก็อยู่ในกระจุกเดียวกันนี้แล้วแต่จะมองกันในแง่ไหน คุณลองทบทวนดู อย่าเอาลำดับตามที่เขาลำดับเรียงลำดับกันนักก็ได้ เพราะว่าไม่รู้ว่าใครเรียง แล้วก็เรียงไปตามเหตุผลอย่างไรก็ไม่ทราบ เราเอาแต่เพียงว่า ถ้าเกิดเป็นความรู้สึกว่าเป็น ตัวกู-ของกู เท่านั้นนะแล้วก็เสร็จเลย
นี้ถ้าเรียงลำดับมาจากข้างหลังจะยิ่งวิเศษเลยนั้นละคือ อภิสังขารมาร อภิ แปลว่า อย่างยิ่ง สังขาระ แปลว่า ปรุงแต่ง การปรุงแต่งอย่างยิ่งนั้นเป็นมาร แล้วไม่มีการปรุงแต่งอย่างไหนจะยิ่งไปกว่าการปรุงแต่งชนิดที่ทำให้เกิด ตัวกู-ของกู เกิดอุปาทานว่า ตัวกู-ของกู อภิสังขารมารเกิด ทีนี้ มาปรุงแต่งในระดับแรกก็เกิดกิเลสมาร เป็นอุปาทาน ตัวกู-ของกูเต็มรูป ทีนี้เมื่อเบญจขันธ์---รูป เวทนา (สัญญา) สังขาร วิญญาณถูกยึดอยู่ด้วยอุปาทานอันนี้ หรืออุปาทานอันนี้มันยึดครองแล้วนี้ขันธ์นั้นก็เลยเป็นมารไปเสีย ฝักฝ่ายเป็นมารไปเสีย ที่จริงเบญจขันธ์นี้ไม่เป็นดีไม่เป็นชั่ว ไม่เป็นของพระของมารอะไรเว้นไว้แต่เมื่ออะไรมันเข้าไปยึดครอง ทีนี้เมื่ออุปาทานมันเข้าไปยึดครอง ขันธ์นี้ก็เลยกลายเป็นฝ่ายของกิเลส ขันธ์นี้เลยกลายเป็นมาร แล้วนั่นละคือตาย มาร แปลว่าผู้ทำให้ตาย จำไว้ด้วยตัวหนังสือว่า มาระ นี่แปลว่าผู้ทำให้ตาย มะระ แปลว่า ตายลง เอาละปัจจัย เป็น มาระ เป็นผู้ทำให้ตาย ทีนี้มันก็ตาย เห็นได้ชัดเลยว่ามันตายจากความสุข ตายจากธรรมะ ตายจากความดี ตายจากสภาพปรกติ สูญเสียสภาพปรกติที่ไม่ทุกข์ไปเสียแล้ว มันก็เป็นความทุกข์ไปเสียแล้วก็เรียกว่ามัจจุมาร ทีนี้เราเอาสวยงามตรงที่บ่วงนั้นละอะไร? ดอกไม้ของมารนั่นนะ คือเทวบุตรมาร---รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ที่ยั่วยวนที่สุดนี้คือเทวบุตรมาร มันส่งมาจากพญามารที่ว่ามารนี่เขาจัดเป็นเทวบุตร เป็นเทวดา นี่เราดูมารทั้ง ๕ มารกันในลักษณะอย่างนี้ จะมีประโยชน์ที่สุดกว่าที่จะพูดกันอย่างอื่น แยกกันไว้คนละทีอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้
เดี๋ยวนี้มันชัดในที่ว่า ที่ไหนหรือเมื่อไรมี ตัวกู-ของกู ที่นั้นละเมื่อนั้นมีมารทั้ง ๕ จริงหรือไม่จริงก็ไปดูเอาเอง นี่ผมท้าด้วยการพิสูจน์ด้วยตนเอง ไม่บังคับให้เชื่อว่าผมพูด ทีนี้เขาพูดๆ กันอยู่ว่ามันเป็นคนละมาร คนละที คนละเรื่องไปเสียหมด เราถือเอาตามพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าโต้ตอบกับมาร อย่างที่เราได้เอามาพูดให้ฟังแล้ว “เมื่อใดมีตัวกู-ของกู เมื่อนั้นแกอยู่ในบ่วงฉัน อยู่ในกำมือฉัน” พญามารเขาว่าอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราดูให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ตัวกู-ของกู ที่เราพร่ำพูดกันมาทุกวันธรรมปาฏิโมกข์ในทุกแง่ทุกมุม โดยเฉพาะวันนี้ดูมันในแง่ที่ว่ามันเป็นมาร หรือเป็นของมาร เป็นตัวมารก็ได้ เป็นบ่วงของมารก็ได้มันมีผลเหมือนกัน แล้วแต่จะพูดอย่างไหน ถ้ามารก็มีบ่วงมารมาคล้องคอเรา นี้เราไม่ต้องสนใจตัวมารสนใจแต่บ่วงมาร มันก็คล้องคอเราไม่ได้เหมือนกัน มันก็รู้จักจัดการกับบ่วงมารก็เลยถือว่าไอ้เทวบุตรมารมันอยู่ที่ความสวยงามนี้เอง อย่าไปโทษผีสาง เทวดา จนเชื่อผีสางเทวดาไปเสีย คนที่โทษผีมันจะไกลออกไปหรือมันจะโง่เข้า ไอ้สิ่งสวยงามใดๆ ที่มันผูกพันจิตใจของเรานั้นละเรียกมันว่าเทวบุตรมาร แล้วก็มองเห็นได้ทันทีว่า แหม มันเต็มว่อนอยู่ในอากาศ เต็มอยู่ในอากาศจริงๆ เหมือนเจ้าของเขาคุย เราโง่นิดเดียว มันพร้อมที่จะคล้องที่จะสวมเอาเมื่อไร, ที่ไหนก็ได้ มันมากเหลือเกิน พอคล้องปั๊บก็หมายความว่าแล้ว ตัวกู-ของกู เกิดแล้ว มารทั้ง ๕ ครบบริบูรณ์แล้วก็ตายไปที่นึง ตายไปจากปรกติภาพที่เราไม่มีความทุกข์ คำว่า ปรกติภาพ หมายความว่าเราอยู่ดีๆ อย่างนี้ไม่มีทุกข์ มันคล้ายๆ กับเป็นธรรมชาติเดิม บริสุทธิ์อยู่นั้นมันไม่เป็นทุกข์ไม่เป็นร้อนอะไร พอเราติดบ่วงมารปั๊บก็คือตายไปทีหนึ่ง ก็เป็นทุกข์ โดยอาการใดอาการหนึ่ง ทุกข์ขม หรือทุกข์หวาน หรือทุกข์อะไรก็ได้ ทุกข์หอม ทุกข์เหม็น มันทุกข์ทั้งนั้น เพราะมันมีได้ทั้งนั้นเลย ถ้าต้นเหตุมาจากความยั่วยวนมันก็จะทุกข์ไปอย่าง ถ้าว่ามันทำให้เกลียดชังอิดหนาระอาใจมันก็ทุกข์ไปอีกอย่างหนึ่ง เห็นได้ชัดว่าเราอยู่ในท่ามกลางทุกข์ นั้น, มันหมายความว่าอะไร? ท่ามกลางสิ่งที่จะทำให้เราเป็นทุกข์ได้ในขณะจิตเดียวในๆ พริบตาเดียว
ทีนี้เราก็มีอะไรเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันแถมยังเป็นเครื่องราง ก็เป็นเครื่องรางของพระพุทธเจ้า คือสติปัญญา ความรู้ โพธิของพระพุทธเจ้านี้เป็นเครื่องทำให้เราเหมือนกับพระพุทธเจ้าไปเสียก็เลยไม่ติดบ่วงมาร แล้วก็ท้าทายมารเหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านท้า นี้คือข้อที่ว่าไอ้ ตัวกู-ของกู มันเกี่ยวกับมาร เกี่ยวกับพญามารอย่างนี้ เกี่ยวจนถึงขั้นที่มันนั้นละคือมาร ตัวกู-ของกู เกิดเมื่อไรก็เป็นมารครบทั้ง๕ ปัญจมารา (มารทั้ง๕) ครบเมื่อนั้น ตัวกู-ของกู เกิดเมื่อไร มารทั้ง๕ เกิดครบเมื่อนั้น ไอ้เราก็แหลกลาญไปพักหนึ่งจนกว่าหมดเหตุหมดปัจจัย ดับไปคืนสู่สภาพปกติอีก แล้วเดี๋ยวก็เผลอไปติดบ่วงมารอีกทางนั้น ทางนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ระวังเอาก็แล้วกัน
ทีนี้เราพูดกันอยู่เสมอๆ ถึงข้อที่ว่า ถ้าเราไปอยู่เสียในที่ๆ สงบสงัดคนเดียวนั้นนะมันโอกาสมีน้อยที่จะเข้าไปในบ่วงมาร แต่พอถ้าเราเกี่ยวข้องกับบุคคล สิ่งของอะไร หรือสังคมนี่ โอกาสมันมีมากที่จะเข้าไปในบ่วงมาร ที่นี้อย่างไหนมันดีกว่า จะมาถือศีลในมุ้ง ยุงไม่กัด หรือว่าจะไปนั่งไอ้ที่ทุ่งนาที่ยุงมันชุมจะถือศีลตรงไหนดี มองให้ดู มองดูให้ดีมันคนละแง่ ถือศีลในมุ้งมันยุงไม่มี มันก็ไม่กัด มันก็ง่าย เป็นเด็กเล่นไปเลย ฉะนั้นถ้าจริงกันสักหน่อยก็ต้องมาถือศีลกันนอกมุ้งสิให้ยุงมันชุมๆ ด้วย ถ้าว่าเราอยากจะผจญมารเหมือนพระพุทธเจ้ากันบ้างก็ลองออกมาสู่สภาพปกติ มีการสังคม มีการไป การมา การดู การแล การอะไรอยู่อย่างนี้นั้นนะมันก็จะได้รบสู้กับมาร จะสนุกหรือไม่สนุก จะแพ้หรือจะชนะมันจะได้รู้กันไป ถ้าไปเก็บตัวอยู่เสียในที่ๆ ไม่ค่อยได้มีอะไรเข้าถึงนักมันก็ของง่าย มันจะทำให้หย่อนสมรรถภาพ ถ้าเราไปอยู่ในที่ๆ ไม่สามารถจะติดต่ออายตนะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เหลืออยู่ทางใจอย่างเดียวมันก็เกิดมารได้อยู่ดี มันวกไปในเรื่องอดีต เรื่องอนาคต ไปเอารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ในอดีตหรือในอนาคตก็ตามมาเป็นบ่วงของมารจนได้ แต่มันน้อยกว่า มันน้อยเข้ามามาก แต่ถ้าเราอยู่โดยชีวิตปกติและยิ่งอยู่ท่ามกลางสังคมที่ยุ่งเหยิงด้วยแล้ว มันก็รวย รวยบ่วงมาร ทีนี้ก็เหลืออยู่แต่ว่า เราจะเป็นนักสู้กันแค่ไหน ถ้าเก่ง, มันต้องเก่งที่นี่ ไม่เก่งอยู่ในมุ้ง
รวมความว่าเอาละรบสู้ผจญมารกันตรงที่มันเกิด ตัวกู-ของกู ละตรงไหนมันเกิด ตัวกู-ของกู ตรงนั้นรบกันกับมาร ผจญมารให้ชนะมารจงได้จึงจะเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าผู้ชนะมาร นี่ เรื่อง ตัวกู-ของกู คือมารมันก็เป็นอย่างนี้ ให้สรุปใจความเอาไว้ให้ได้เป็นหลักอีกอันหนึ่งว่า ตัวกู-ของกู คือมารครบทั้ง๕ เกิดตรงไหนเมื่อไรก็มีตรงนั้น-เมื่อนั้น เพราะว่าบ่วงของมารปลิวว่อนอยู่เต็มไปในอากาศ แล้วระลึกถึงคำพระพุทธเจ้าที่ว่า “ฉันทำลายหมดแล้ว ฉันฆ่าแกแล้ว เพราะฉะนั้น แม้ร่องรอยของฉัน แกก็ไม่รู้จัก เพราะฉันอยู่ในสภาพเหนือ สูงกว่าที่แกจะรู้จักฉันได้” จะอ่านให้ฟังอีกทีว่าพญามารเขาว่า ...”ยัง วทัญติ มะมะ ยิทัญติ (นาทีที่ 1.04.22) คนเขากล่าวสิ่งใดว่าของกู เย วทัญติ อะหันติจะ (นาทีที่ 1.04.29) แล้ว กล่าวผู้ใดว่าตัวกู เอ ทะ เจ เต มโนอัตถิ (นาทีที่ 1.04.37) ถ้าจิตของท่าน ข้องอยู่ในสิ่งเหล่านั้น นะเม สะมะนะโมกขติ (นาทีที่ 1.04.45) สมณะเอ๋ย, เจ้าไม่พ้นมือเราไปได้ดอก” พญามารเขาท้าทายพระพุทธเจ้าอย่างนี้ ทีนี้พระพุทธเจ้าก็โต้กลับไปว่า ...”ยัง วทันติ นตัง มัยหัง (นาทีที่ 1.04.55) คน กล่าวสิ่งใดว่าของกู เราไม่กล่าวสิ่งนั้นว่าของกู เย วะทัญติ นะเต อะหัง (นาทีที่ 1.05.07) คนใดกล่าวตัวว่าตัวกู เรามิได้กล่าวคนนั้น ว่าตัวกู เอวัง ปิ มชานาหิ (นาทีที่ 1.05.15) มารเอย, จงรู้จักเราว่าเราเป็นคนอย่างนี้ นะเม มักคัม ปิทักคติ (นาทีที่ 1.05.24) แม้แต่ร่องรอยของเรา เจ้าก็เข้าใจไม่ได้”
เอาละ หมดแล้ว พอกันที วันนี้